Gate of Hell (1953) Japanese : Teinosuke Kinugasa ♥♥♥♥♡

(14/12/2017) หนังรางวัล Grand Prix (Palme d’Or) และ Oscar: Best Foreign Language Film ที่เกือบสูญหายไปแล้วเรื่องนี้ นำเสนอตัณหาของซามูไรหนุ่ม พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว แต่เธอกลับยึดมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง ต่อให้ต้องลงนรกก็ไม่มีวันที่ฉันจะ…, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น ที่ผมหวนกลับมา Revisit หนังเรื่องนี้ เมื่อครบรอบ 2 ปีเปะๆโดยพอดี (บทความเก่าเขียนวันที่ 15 ธันวาคม 2015) แสดงว่าประตูทางเข้านรก คงกำลังเปิดรอผมอยู่สินะ

Jigokumon หรือ Gate of Hell เป็นภาพยนตร์ที่สวยงามทรงพลังมากๆ ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงตัณหาความใคร่ของซามูไรหนุ่มที่แสดงออกผ่านสีหน้า ท่าทาง การกระทำ ไม่ว่ายังไงฉันต้องได้เธอมาครอบครอง! แต่ทันใดนั้นกับการกระทำของหญิงสาว จะทำให้หัวใจของทุกคนแตกสลายแหลกละเอียดเป็นผุผง

Teinosuke Kinugasa (1896 – 1982) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kameyama, Mie Prefecture เริ่มต้นจากการเป็น Onnagata นักแสดงภาพยนตร์ผู้รับบทตัวละครเพศหญิง [ในช่วงแรกๆของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น จะไม่อนุญาติให้ผู้หญิงแสดง ผู้ชายจึงต้องรับบทเป็นผู้หญิง] แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อผู้หญิงได้รับอนุญาตให้แสดงภาพยนตร์ได้แล้ว Kinugasa เลยผันตัวทำงานเบื้องหลัง กลายเป็นตากล้องให้กับผู้กำกับ Shozo Makino เมื่อเก็บเงินได้เอาไปซื้อกล้องภาพยนตร์ เปิดห้องแลปล้างฟีล์ม และกลายเป็นผู้กำกับหนัง Indy คนแรกๆของญี่ปุ่น

Kinugasa เป็นผู้กำกับที่มีผลงานต่อเนื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Talkie และภาพสี แต่ที่ได้รับการจดจำระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
– หนังเงียบสองเรื่องคือ Kurutta Ippēji (1926) [A Page of Madness] กับ Jujiro (1928) [Crossways]
– และหนังภาพสี Jigokumon (1953) [Gate of Hell] ที่ไปคว้ารางวัล Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ในช่วงยุคทองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะผลงานส่วนใหญ่ของ Kinugasa หายสาปสูญไปจากแผ่นดินไหว สงครามโลก ไม่ก็ความเสื่อมสภาพจากการเก็บรักษาฟีล์มสมัยก่อน, ทั้งสามเรื่องที่ว่ามานี้ก็เคยมีช่วงหนึ่งที่หายสาบสูญไปแล้ว แต่เพราะโชคชะตาโดยแท้ทำให้ได้รับการค้นพบแบบคาดไม่ถึงสุดๆ

Jigokumon เรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะฟีล์มสีสมัยนั้น Three-Strip Technicolor ใช่ว่าจะมีคุณภาพคงทนถาวรเมื่อกาลเวลาผ่านไป สีซีดตกง่าย ความเข้มจืดจางจนแทบมองไม่เห็น แถมนี่เป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Kodak ทำการศึกษาวิจัยเลียนแบบเทคโนโลยีสร้างสีได้สำเร็จ เป็นผลให้ราคาต้นทุนลดต่ำถูกลงมาก ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ไม่ได้ทุนหนาแบบ Hollywood จึงมีโอกาสได้นำมาใช้ แต่คุณภาพก็ใช่ว่าจะยอดเยี่ยมเท่าของแท้ ช่วงประมาณทศวรรษ 80s ถึงเริ่มเห็นผลกระทบ เมื่อมีความพยายามนำหนังเรื่องนี้กลับมาฉายซ้ำ กลับพบว่าหมดสิ้นสภาพโดยสิ้นเชิง นี่สร้างความสั่นสะท้านไปทั่ววงการภาพยนตร์

โชคยังดีที่หนังประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ทำให้สตูดิโอผู้สร้าง Daiei ได้ทำการคัทลอกฟีล์ม Negative ฉบับที่เป็น Master Black-and-White ไว้ด้วย (ฟีล์มขาวดำ จะจืดจางช้ากว่าฟีล์มสี) ทำให้มีรายละเอียดข้อมูลเฉดสี ความเข้มแสงอยู่ครบ การฟื้นฟูบูรณะจึงกระทำได้โดยง่าย ผลลัพท์ที่ออกมา 4K ในปัจจุบัน คงต้องถือว่าอาจจะสวยงามกว่าต้นฉบับฉายเมื่อครั้นกระโน้นอีกนะ

เกร็ด: หนังอีกเรื่องที่โด่งดังไม่แพ้กันในการบูรณะลักษณะนี้คือ The Umbrellas of Cherbourg (1964)

เรื่องราวมีพื้นหลังปี ค.ศ. 1159 ยุคสมัย Heiji Era, เกิดเหตุการณ์ที่ชื่อว่า Heiji Rebellion (19 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์) สงครามกลางเมืองระหว่าง Taira Clan กับ Minamoto Clan เพื่อทำการแย่งชิงอำนาจการปกครอง ซามูไรหนุ่มผู้จงรักภักดี Morito Enda (รับบทโดย Kazuo Hasegawa) ขณะกำลังช่วยเหลืออพยพคนออกจากปราสาท ร้องเรียกหาหญิงสาวผู้พร้อมเสียสละปลอมตัวเป็นน้องสาวของจักรพรรดิ หลอกล่อศัตรูไปอีกทาง ซึ่งนางใน Kesa (รับบท Machiko Kyô) อาสาเป็นผู้เสียสละในการนี้

ภายหลังจากการก่อกบฎล้มเหลว Morito เป็นคนหนึ่งที่ได้รับความดีความชอบอย่างสูง ทูลขอรางวัลจาก  Lord Kiyomori (รับบทโดย Koreya Senda) ให้ได้แต่งงานกับนางใน Kesa ที่ตกหลุมรักในความกล้าหาญ แต่เมื่อค้นพบว่าหญิงสาวแต่งงานแล้วกับ Wataru Watanabe (รับบทโดย Isao Yamagata) ก็ยังคงดื้อรั้นไม่ยอมหยุด พยายามหาทางทำทุกสิ่งอย่าง กระทั่งคิดฆ่าสามีของเธอ เพื่อให้ได้มาครองครอบเป็นเจ้าของ

Kazuo Hasegawa (1908 – 1984) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fushimi, Kyoto ตอนอายุ 5 ขวบถูกผลักกึ่งบังคับให้กลายเป็นนักแสดง Kabuki ไม่รู้มีความชื่นชอบหรือเปล่า แต่ก็เลือกเดินทางสายนั้น พอโตขึ้นผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Shochiku มีผลงานร่วมกับ Kinugasa ตั้งแต่ Jujiro (1928) โด่งดังกับ The Tale of Genji (1951), Dedication of the Great Buddha (1952), Gate of Hell (1953), The Crucified Lovers (1954), The Loyal 47 Ronin (1958), An Actor’s Revenge (1963) ฯ

รับบท Morito Endo ถึงเป็นซามูไรชั้นต่ำ แต่ก็มีอุดมการณ์ความจงรักภักดี ไม่เคยคิดคดทรยศนาย ตรงกันข้ามกับพี่ชาย Moritada ที่เข้าร่วมฝ่ายกบฎ ทำให้ถูกฆ่าตัดคอในสนามรบ, แต่โชคชะตาของเขาหลังจากนั้นกลับไม่แตกต่างจากพี่ชาย เมื่อตกหลุมหลงใหลในรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น กลับต้องการให้หญิงสาวหักหลังสามี ตัวเองถือว่าทรยศต่ออุดมการณ์ซามูไรที่เคยมีมา ทำให้สุดท้ายถูกตัด…

ถ้าคุณเคยรับชมการแสดง Kabuki น่าจะสังเกตเห็นความคล้ายคลึงที่ Hasegawa ใส่ลงไปในตัวละครนี้ ทำปากเบะพูดกดเสียงต่ำ สีหน้าท่าทางการเคลื่อนไหว ชอบโยกหัวไปมาเล็กน้อย ฯ  มีความแตกต่างจากการแสดงโดยปกติทั่วไป สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก Expression ออกมาจากภายในได้อย่างสมจริง ชวนให้ขนหัวลุกเลยละ

เกร็ด: จุดเด่นของการแสดง Kabuki อยู่ที่การแสดงออกทางอารมณ์ของนักแสดง จะถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว ผู้ชมสามารถรับรู้ความรู้สึกของตัวละครได้โดยทันทีจากแค่การมองเห็น

Machiko Kyō (เกิดปี 1924) นักแสดงหญิงจาก Yano Motoko, Osaka ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์เป็นนักเต้น (Revue Dancer) แล้วอยู่ดีๆก็ได้แจ้งเกิดโด่งดังกับ Rashōmon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ตามด้วย Ugetsu (1953), Gate of Hell (1953), Odd Obsession (1959), Floating Weed (1959), The Face of Another (1966) ฯ โกอินเตอร์ประกบ Marlon Brando เรื่อง The Teahouse of the August Moon (1956) ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Supporting Actress

รับบท Lady Kesa นางในผู้มีความกล้าหาญเสียสละ จงรักภักดีต่อประเทศชาติและ ไม่เคยคิดคดทรยศหักหลังใคร ในช่วงสงครามกลางเมืองเอาตัวรอดมาได้ แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับสงครามหัวใจ เสียสละชีพเพื่อคนที่ตนรักด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว

ใบหน้ากลมรูปไข่ของ Kyō ทำให้เธอดูเป็นกุลสตรี ผู้หญิงชนชั้นสูง ท่าทาง การเดิน คำพูดคำจา มีความสุขุมสง่างาม ดั่งกิโมโนที่พับไว้อย่างเรียบร้อย พอได้สวมใส่ก็มีความงดงามยิ่ง และด้วยจิตวิญญาณ อุดมการณ์ชีวิตอันแน่แนวไม่แปรเปลี่ยน มีความกล้าหาญเสียสละ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของ ‘อิสรตรี’ ขึ้นมาโดยทันที

ถ้าคุณรับชมหนังของ Kyō มาหลายๆเรื่อง จะค่อยๆตกหลุมรักหลงใหลในความงามและฝีมือการแสดง เข้าใจเหตุผลที่ทำไมหญิงสาวคนนี้ถึงได้รับการยกย่องจัดอันดับจากนิตยสาร Kinema Junpo: Movie Star of 20th Century ฝั่งนักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น สูงถึงอันดับ 3 (เป็นรองเพียง Setsuko Hara กับ Sayuri Yoshinaga)

Isao Yamagata (1915 – 1996) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่กรุง London เริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแต่ปี 1951 โด่งดังกับ Gate of Hell (1953), Ujô (1957), The Master Spearman (1960) ฯ

รับบท Wataru Watanabe องค์รักษ์รักษาพระองค์ (ซามูไรชั้นสูง) เป็นคนนอบน้อมถ่อมตน สุภาพอ่อนไหว นิสัยดี มีฝีมือ แต่ไม่ค่อยพูดแสดงออกหรืออวดอ้างความเก่งกาจของตนเอง นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Lady Kesa ตกหลุมรักยิ่ง พร้อมเสียสละกายใจมอบให้ทุกสิ่งอย่าง, นับเป็นความโชคร้ายที่ได้พบเจอกับ Morito แต่ตัวเขาก็ยังสามารถให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้นเคือง เก็บกดความทรมานรวดร้าวไว้ภายใน

นี่ถือเป็นตัวละครในอุดมคติเลยก็ว่าได้ ดีแท้ไม่ใช่ดีแตก มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่น่าสามารถครุ่นคิดแสดงออกมาได้อย่างบริสุทธิ์เพียงนี้ แม้ภาพลักษณ์ของ Yamagata จะไม่ได้ดูดีขนาดนั้น แต่ภายนอกที่สงบนิ่ง ปากพูดว่าให้อภัย แต่สายตาสะท้อนความเจ็บปวดที่อยู่ภายในออกมาได้อย่างรวดร้าวราน

ถ่ายภาพโดย Kōhei Sugiyama ที่ร่วมงานกับ Kinugasa ตั้งแต่ Kurutta Ippēji (1926), แม้จะไม่ใช่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยภาพสี แต่เป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยระบบ Eastmancolor และนำออกฉายยังต่างประเทศ

เกร็ด: ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกถ่ายทำด้วยภาพสีคือ Carmen Comes Home (1951) กำกับโดย Keisuke Kinoshita ใช้ระบบ Fujicolor

เกร็ด 2: เทคโนโลยีภาพสี เริ่มได้รับความนิยมใน Hollywood ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 30s เรื่อง Gone With The Wind (1939), The Wizard of Oz (1939) ฯ แต่กว่าจะแพร่หลายสู่ทั่วโลกก็อีกเป็นทศวรรษถัดมา เพราะงบประมาณค่าใช้จ่ายยังสูง แลปล้างฟีล์มที่ยังไม่แพร่หลาย และสงครามโลกครั้งที่ 2

ต้องชมเลยว่า Kinugasa และตากล้อง Sugiyama สามารถลูกเล่นนำ ‘สี’ มาปรับใช้กับการถ่ายภาพสีได้อย่างสวยสดงดงาม โดยเฉพาะกับกิโมโน ออกแบบฉาก และการจัดแสงสี

ขณะเดียวกันเทคนิคลีลาในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวกล้อง Tracking Shot มักถ่ายด้านข้างโน้มเอียงไปข้างหน้า แล้วเลื่อนไหลตามติดตัวละคร ให้สัมผัสที่เหมือนฉาก Prologue ขณะกำลังเลื่อนเปิดม้วนคัมภีร์ไปด้านข้าง

มีสองประตูที่พบเห็นได้ในหนัง
1) ประตูแรกคือ Jigokumon (Gate of Hell) เดิมนั้นประตูนี้สวยงามด้วยภาพวาดของนรก แต่เพราะเวลามีโทษประหารหรือฆ่าตัวตาย มักนำศีรษะของศัตรูมาแขวนคอทิ้งไว้ที่นี่ให้เป็นบทเรียน มันเลยกลายเป็นประตูแห่งนรกเข้าจริงๆ

2) สำหรับประตูที่สองชื่อ Torii ส่วนหนึ่งของ Itsukushima Shrine ศาลเจ้าลอยน้ำในบริเวณเกาะ Miyajima, Hiroshima เป็นวัดในศาสนาชินโต สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของเกาะ เพื่อบูชาลูกสาวทั้งสามคนของ Susano-o เทพแห่งพายุและท้องทะเล และบูชาเทพเจ้าหญิงแห่งดวงอาทิตย์ Amaterasu ในอดีตชาวบ้านสามัญชนจะถูกห้ามไม่ให้ย่างเท้าขึ้นบนเกาะ จึงมีการสร้างศาลเจ้าให้มีลักษณะคล้ายแพลอยอยู่เหนือผืนดินให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมความงามของสถานที่แห่งนี้

ในบริบทของหนังจะถือว่า Torii แทนด้วยประตูแห่งสวรรค์คงได้กระมัง เพราะจะได้ตรงกันข้ามกับ Jigokumon

เกร็ด: ปัจจุบันศาลเจ้าอิสึคุชิมะ ได้กลายเป็นไฮไลท์การท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น สมบัติประจำชาติ และได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก

แถมท้ายให้นิดกับคนที่อาจไม่ทันสังเกต ช็อตสุดท้ายของหนัง มีนักบวชคนหนึ่ง (แนวโน้มสูงมากว่าจะเป็น Morito) เดินผ่านเข้า Jigokumon นี่แปลว่าชีวิตของเขาต่อจากนี้คงกำลังเดินตรงสู่ขุมนรก

ช็อตนี้ถ่ายทำช่วงเวลาโพล้เพล้ (Twilight) ก็ไม่รู้เช้าหรือเย็น แต่คือขณะเปลี่ยนผ่านกลางวัน/กลางคืน เต็มไปด้วยหมอก ให้สัมผัสอันเย็นยะเยือก ซึ่งการเดินผ่านเข้า Jigokumon จะสื่อถึงการปล่อยวาง ทางสายกลาง ที่มุ่งสู่ช็อต The End ที่กลับเป็นภาพท้องฟ้า มีนัยยะถึงสรวงสวรรค์หรือการหลุดพ้นก็ยังได้

ตัดต่อโดย Shigeo Nishida, เริ่มต้นที่ม้วนคัมภีร์ ใช้เสียงบรรยายประกอบการเล่าเรื่องในช่วงแรกๆ หลายครั้งกล้องมักเคลื่อนเลื่อนไปให้เห็นภาพวาดขุมนรกที่ประตู Jigokumon กลางเรื่องตัดกลับมาให้เห็นภาพวาดในคัมภีร์ม้วนอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นก็จะดำเนินไปเรื่อยๆโดยไม่หวนกลับมาอีก (นี่เป็นลักษณะของการแปรสภาพ จากเรื่องเล่าในคัมภีร์ สู่การเล่าเรื่องในภาพยนตร์)

ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนังถือว่าค่อนข้างเยิ่นเย้อ ยืดยาวนานพอสมควร แต่นี่เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการสะท้อนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตคนๆหนึ่ง รู้ตัวว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น จึงพยายามยื้อซื้อเวลาให้ยาวนานออกไปอีกสักนิด หนังทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกตรงนี้ได้ และพอเหตุการณ์ไคลน์แม็กซ์บังเกิดขึ้น ก็จะเข้าใจเหตุผลได้ว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น

เพลงประกอบโดย Yasushi Akutagawa (1925 – 1989) วาทยากร คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น ที่ช่วงหนึ่งแอบลักลอบเข้าสหภาพโซเวียต กลายเป็นเพื่อนสนิทกับ Dmitri Shostakovich, Aram Khachaturian, Dmitri Kabalevsky (ทั้งสามเป็นคีตกวีสัญชาติรัสเซีย ชื่อดังแห่งยุค)

Akutagawa ประพันธ์เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นทั้งหมด อาทิ Biwa, Koto (คล้ายพิณ) ฯ รวมถึงการเต้น Bugaku Dance เพื่อถวายแด่เทพเจ้า Amaterasu และ Susano-o

เกร็ด: Gagaku คือบทเพลงในราชสำนักญี่ปุ่น เคียงคู่กับ Bagaku คือการเต้นต่อหน้าพระพักตร์จักรพรรดิเท่านั้น เพิ่งเริ่มแพร่หลายสู่สาธารณะชนและทั่วโลกก็จากหนังเรื่องนี้ 

บทเพลงของหนังมีความไพเราะทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ให้สัมผัสจินตนาการเห็นภาพสวรรค์/นรก ได้ชัดๆหลายครั้งเลย, ผมขนลุกซู่ในฉากไคลน์แม็กซ์ เสียงรัวกลองค่อยๆทวีความเร็วขึ้น จนเมื่อ Morito กระทำการบางอย่างเกิดความผิดพลาดคาดไม่ถึง เสียงกลองค่อยๆผ่อนลงเป็นจังหวะ ตุบ-ตับ เหมือนเสียงเต้นของหัวใจ

แต่เสียงที่โดดเด่นกว่ากลองก็คือเครื่องลม Hichiriki (ลักษณะคล้ายๆปี่แต่ขนาดเล็กกว่า) ช่างแสบแก้วหูเสียเหลือเกิน ให้สัมผัสที่บาดจิตบาดใจ รวดร้าวทรมานไปถึงทรวง, ที่ผมว่ามันคล้ายปี่เพราะเหมือนเล่นให้คนตายฟัง แต่ในที่นี่เป็นการสะท้อนภาพของขุมนรก ดินแดนแห่งความสิ้นหวังตายอยาก

หนังแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องราวใหญ่ๆ
– เหตุการณ์กบฎ ซามูไรต่อสู้ทำสงครามกลางเมือง เพื่อเข้ายึดอำนาจการปกครอง (ทรยศทางกาย)
– การต่อสู้แย่งชิงความรัก จากหญิงสาวที่มีคู่ครองแล้ว (ทรยศทางใจ)

ใจความของ Jigokumon นำเสนอวิบากกรรมของผู้ที่มีความหลงใหล คลั่งไคล้ ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ (ต้องการอำนาจ, ต้องการหญิงสาว) แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดล้มเหลว ไม่ได้ดั่งใจ ผลกรรมจึงได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและสาสม

ประตู Gate of Hell ถือเป็นสถานที่จุดหมุนของหนัง ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม
– ทหารที่เป็นกบฏ ถูกฆ่าตัดคอประหารชีวิต เสียบประจานที่ Gate of Hell
– Morito ผู้พ่ายแพ้ จมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมานใจ นี่ก็เปรียบได้กับการเดินเข้าสู่ประตูแห่งขุมนรกเช่นกัน

สำหรับช็อต The End ของหนัง คือความพิศวงที่ผมเกริ่นไปคร่าวๆแล้ว ราวกับว่าความตั่งใจของผู้กำกับ Kinugasa ต้องการนำเสนอ เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้จักความสุขทุกข์ เศร้าสมหวัง ดีชั่ว ทั้งสองด้าน ก็สามารถรู้จักการปล่อยวาง เลือกเดินทางสายกลาง และสามารถหลุดพ้นออกจากวงเวียนวัฎจักรสังสารแห่งชีวิตสู่นิพพานได้

รางวัลที่หนังได้รับประกอบด้วย
– Grand Prize (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes [หนังเรื่องแรกจากญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลนี้]
– Oscar: Honorary Award สำหรับ Best Foreign Language Film [เป็นเรื่องที่สองถัดจาก Rashōmon]
– Oscar: Best Costume Design, Color [หนังเรื่องแรกจากญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลนี้]

ตอนที่ผมรับชมหนังเรื่องนี้เมื่อสองปีก่อน ตอนจบอันคาดไม่ถึงทำให้ใจหายวาบ ร่างกายสั่นสะท้าน หมดสิ้นเรี่ยวแรง ตราตรึงฝังใจ, หวนกลับมารอบนี้เพราะยังจดจำตอนจบได้อยู่ อารมณ์จึงไม่พีคขนาดนั้น แต่ก็พบเห็นความสวยงามส่วนอื่นที่ทำให้หลงใหลหนังยิ่งขึ้นกว่าเดิม การแสดงอันทรงพลังสมจริง งานภาพสีสันสวยสดสัน และเพลงประกอบพื้นบ้านญี่ปุ่นสั่นสะท้านจับใจ นี่มันระดับแบบ Masterpiece เลยนะ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังเรื่องนี้เป็นนิทานสอนชาย-หญิง อันทรงคุณค่ามากๆ บทเรียนที่ผมได้รับจดจำฝังใจจนวันตาย “ไม่มีทางที่เราจะสามารถบีบบังคับจิตใจผู้อื่นได้” มันไม่ใช่เรื่องของฐานะ ชนชั้น อำนาจ เงินทอง แต่คือเกียรติและศักดิ์ศรี บางสิ่งอย่างในชีวิต ‘ฆ่าได้หยามไม่ได้’ บุคคลผู้ยึดถือมั่นในอุดมการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็น ‘วีรชน’ โดยแท้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆหนังญี่ปุ่น ชื่นชอบแนว Jidai-geki (Period Drama) เสื้อผ้าหน้าผม การออกแบบฉากสวยๆ งานภาพล้ำๆ เพลงประกอบเพราะๆ รู้จักผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa และนักแสดงดังอย่าง Kazuo Hasegawa, Machiko Kyō ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความรุนแรงบ้าคลั่ง ในตัณหาของพระเอก

TAGLINE | “Gate of Hell นิทานสอนชาย-หญิง ของผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa มีความสวยงาม ทรงพลัง ทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังตกนรกทั้งเป็น”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


Gate of Hell

Gate of Hell (1953)

(15/12/2015) ในยุคทองของภาพยนตร์ญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่ Akira Kurosawa และ Yasujirô Ozu ที่มีบทเด่น ยังมีผู้กำกับอีกหลายคนที่เป็นปรมาจารย์ร่วมยุคนั้น แม้จะโด่งดังไม่เท่า แต่ก็ได้รับความชื่นชมจากผู้ชมทั่วโลก Gate of Hell หรือชื่อญี่ปุ่น Jigokumon หนัง Palme d’Or เรื่องแรกและ Academy Honorary Award สาขา Best Foreign Language Film เรื่องที่สองของญี่ปุ่น น่าจะการันตีความสุดยอดของหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

Teinosuke Kinugasa อาจเป็นผู้กำกับที่เหลือผลงานให้คนรุ่นหลังดูไม่มากนัก ผมก็ไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นของผู้กำกับคนนี้ เห็นว่าเขากำกับหนังเงียบมากว่า 80 เรื่อง (คงหาดูไม่ได้แล้ว) และเขาเป็นนักแสดงด้วย จุดเริ่มต้นของเขาคือการแสดงละครเวที มีเชี่ยวชาญอย่างมากในบทที่เล่นเป็นผู้หญิง ที่เรียกว่า Onnagata สำหรับ Teinosuke นั่นเริ่มต้นทำหนังมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ มายุคขาว-ดำ จนถึงยุคภาพสี มีหนังหลายเรื่องที่เข้าร่วม Cannes Film Festival แต่ที่โด่งดังที่สุดก็ Gate of Hell นี่แหละที่ได้รางวัล Palme d’Or เป็นหนังเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ได้รางวัลนี้ด้วย

ผมลองค้นๆหาประวัติหนังเรื่องนี้ ก็มีไม่ค่อยมากเท่าไหร่ Teinosuke ดัดแปลงบทหนังจากบทละครเรื่อง Kesa’s Husband เขียนโดย Kikuchi Kan ปัจจุบันก็หาดูไม่ได้แล้วนะครับ อาจจะมีต้นฉบับที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเหลืออยู่ ผมค่อนข้างชอบแนวคิดของหนังเรื่องนี้นะครับ ในยุคที่ผู้ชายเป็นเท้าช้างหน้า และผู้หญิงเป็นเท้าช้างหลัง บทบาทของภรรยาต่อสามีนั้น เธอจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสามีของตน ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ นางเอกได้แสดงออกซึ่งหน้าที่ของเธอได้อย่างชัดเจนมาก นำแสดงโดย Machiko Kyō ต้องถือว่าเธอเป็นนักแสดงที่โชคดีมากๆ ที่ได้เล่นในหนัง 3 เรื่องที่สำคัญในยุคทองของภาพยนตร์ญี่ปุ่น คือ Rashomon, Ugetsu และ Gate of Hell เธอได้รับเกียรติสูงสุดก็คือ Lifetime Achievement Award โดย Japanese Academy

สำหรับนำชาย Kazuo Hasegawa เขาเป็นนักแสดงขาประจำของ Teinosuke เคยร่วมงานกันหลายเรื่องทีเดียว ใน Gate of Hell เขาเป็นซามูไรที่โหยหาความรักมาก จากเริ่มต้นเพียงจุดเล็กๆ ความรู้สึกนั้นกลายเป็นความริษยา และตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อตนเอง แต่เมื่อถึงจุดไคลน์แม็กซ์ ก็สำนึกสิ่งที่ตนทำได้อย่างเจ็บปวด ตัวละครนี้ทำให้ผมนึกถึง Bicycle Thief เลยครับ แค่เปลี่ยนจากเรื่องจักรยานหาย มาเป็นการต้องการความรักแทน จุดเหมือนคือ ตัวละครนำทั้งสองได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ว่าไม่ควรทำตอนไคลน์แม็กซ์ของเรื่อง และสำนึกได้ในที่สุด

หนังของ Akira Kurosawa และ Yasujirô Ozu ในยุค 1950 ยังเป็นหนังขาว-ดำอยู่ แต่กับ Gate of Hell นั้นเป็นหนังสีแล้ว ทำให้เราเห็นความสวยงามของฉาก เสื้อผ้า ที่จัดเต็มมากๆ รู้สึกว่าจะได้ Academy Award สาขา Best Costume Design, Color ด้วย แน่นอนว่าเป็นหนังเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ได้สาขานี้

ใน Rashomon มีประตู Rashomon เช่นเดียวกับ Gate of Hell เราก็จะได้เห็น Gate of Hell ด้วย ซึ่งในหนังก็สามารถสื่อได้อีกความหมายหนึ่ง คือสิ่งที่พระเอกทำ ตอนต้นเรื่องเขาเป็นคนดีนะ แต่เพราะความรักที่เกิดขึ้น มันทำให้ขาข้างหนึ่งยืนอยู่ในนรก รู้ทั้งรู้ว่าขาข้างนั้นอยู่ในนรก แต่เขาเต็มใจที่จะย่างเข้าประตูบานนั้นไป แต่เขาจะกลับออกมาได้ไหม บทสรุปให้ไปหาดูในหนังเอาเองนะครับ

งานกำกับภาพ โดย Kōhei Sugiyama ผมหาประวัติของเขาไม่ได้เท่าไหร่ แต่จะบอกว่าหนังเรื่องนี้มีเทคนิคการถ่ายภาพที่ล้ำยุคมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวกล้อง เต็มไปด้วยลูกเล่นมากมาย เป็นการสร้างบรรยากาศได้สมจริงมากๆ นับว่าเป็นหนังสีเรื่องแรกๆที่มีการเล่นกับการเคลื่อนไหวของกล้องแบบนี้ ยุคก่อนหน้านั้นเราเห็นหนังที่ใช้การเคลื่อนไหวของกล้องมามากก็จริง แต่นั่นมันฟีล์มขาว-ดำ นี่หนังสีครับ ผมอยากให้ลองดูฉากเปิดเรื่อง ผมว่ามันสวยงาม ยอดเยี่ยมและคลาสสิคมากๆในทุกองค์ประกอบเลย

สำหรับงานเพลง Yasushi Akutagawa จริงๆแล้วเพลงประกอบหนังไม่ใช่งานหลักของ Yasushi ในยุคที่ยังไม่มีการแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน passport กับ visa ยังไม่เกิดขึ้น Yasushi ก็ได้ไปที่รัสเซียบ่อยครั้ง เขาประพันธ์ทั้ง Orchestra, Ballet มี Opera ด้วย อิทธิพลงานเพลงของเขานั้นมาจากการได้รู้จักกับนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียมากมาย โดยช่วงบั้นปลายชีวิตเขาอุทิศเวลาให้กับวงดนตรี Orchestra สมัครเล่น โดยสร้างค่านิยมที่เรียกว่า The New Symphony Orchestra เป็นแนวทางใหม่ให้กับงานเพลงของญี่ปุ่น Gate of Hell เราจะได้ฟังเพลงบรรเลง Orchestra แบบเต็มๆวง เพราะๆมากมาย

ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับ เพราะดูจบแล้วได้แนวคิดบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ คือตอนดู Bicycle Thief จบแล้วผมไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่กับ Gate of Hell พอมันเป็นเรื่องใกล้ตัวก็คิดหนักเลย คือจบแล้วมันปวดร้าวใจมากๆ ไม่คิดว่าสุดท้ายแล้วจะจบแบบนี้จริงๆ เป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมมากที่เลือกจบแบบนี้ หนังสามารถนำพาอารมณ์ของเราไปถึงจุดสูงสุดของเรื่องได้ ถ้าเทียบกราฟเส้นคือค่อยๆชันไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด ที่ญี่ปุ่นมีชื่อเรียกหนังแนวนี้ว่า jidaigeki film แปลตรงตัวก็คือ Period Drama ในยุค Edo ซึ่งเป็นยุคที่ฮิตมากถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับซามูไร

แนะนำให้ลองหาดูนะครับ หนังฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ก็ใช่ว่าจะ Art จัดจนดูไม่รู้เรื่อง Cannes ยุคก่อน หนังมันไม่ได้เป็นแนวทดลองมากถึงยุคปัจจุบัน แค่บางเรื่องอาจจะดูล้ำยุคสมัยไปหน่อย อย่าง Gate of Hell นี่ก็ถือว่าล้ำยุคมากนะครับ ถ้าไม่บอกว่าหนังยุค 1950 นี่ผมคิดว่าน่าจะเป็นหนังยุค 1970-1980 เสียอีก ซึ่งความล้ำยุคของมัน ถ้าเทียบในปัจจุบันก็ล้าหลังแล้ว แต่ยังมีความ “คลาสสิค” ที่สวยงามและยอดเยี่ยมมากทีเดียว

คำโปรย : “Gate of Hell หนังรางวัล Palme d’Or และ Best Foreign Language Film ของ Academy Award จากญี่ปุ่น กับเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังกลายเป็นความอิจฉาริษยา จนไปสู่การทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ นำแสดงโดย Kazuo Hasegawa และ Machiko Kyō ที่จะพาคุณไปถึงห้วงอารมณ์ ความรู้สึก และตอนจบที่คาดไม่ถึง”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: