Germania anno zero

Germania anno zero (1948) : Roberto Rossellini ♥♥♥

เรื่องสุดท้ายปิดไตรภาค Neorealist Trilogy ของผู้กำกับ Roberto Rossellini ช่างมีความทรงพลังระดับล้างผลาญ เพราะถ่ายทำกรุงเบอร์ลิน ไม่กี่ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงรายล้อมด้วยเศษซากปรักหักพัง นำเสนอผ่านมุมมองเด็กชายวัย 12 ปี จะสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดไปได้เช่นไร

Germany, Year Zero เป็นภาพยนตร์ที่ต้องบอกเลยว่า มีความตราตรึงเสียยิ่งกว่าหนังแนวสงครามยุคสมัยนี้สร้างขึ้นด้วย Visual Effect เป็นไหนๆ เพราะผู้ชมจักสามารถตระหนักรับรู้ได้ ว่านั่นคือภาพจากเหตุการณ์/สถานที่/ผู้คนอาศัยอยู่จริงๆ มันเลยยิ่งใหญ่ทรงพลังระดับล้างผลาญ พาลให้เกิดความเศร้าสลด หดหู่ อกสั่นขวัญหาย

ซึ่งการใช้เด็กชายอายุ 12 ปี คือมุมมองหลักของหนัง เพื่อให้สะท้อนกับการเริ่มต้นนับศูนย์ ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศเยอรมัน ถือเป็นช่วงอายุที่มนุษย์สามารถเริ่มทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง กำลังก้าวย่างสู่วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต ถ้าได้รับการชี้ชักนำทิศทางที่ถูกย่อมอนาคตสุขสดใส ตรงกันข้ามคงมอดไหม้วอดวายดับสิ้นสูญ

ถึงกระนั้นในไตรภาค Neorealist Trilogy ส่วนตัวยังคงหลงใหลประทับใจ Rome, Open City (1945) ยกให้คือผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Roberto Rossellini ตามมาด้วย Paisan (1946) และชอบน้อยสุดคือ Germany, Year Zero (1948) เพราะสร้างความรวดร้าวฉาน หดหู่ระทม ไม่น่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่


Roberto Gastone Zeffiro Rossellini (1906 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุงโรม, Kingdom of Italy แต่ครอบครัวอพยพมาจาก Pisa, Tuscany บิดาเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้าง ต่อมาสร้างโรงภาพยนตร์แห่งแรกในกรุงโรมชื่อ Barberini ทำให้ตั้งแต่เด็ก Rossellini เกิดความหลงใหลในสื่อประเภทนี้ หลังจากพ่อเสียชีวิตเขาจึงเริ่มทำงานเป็นผู้สร้างเสียงให้ภาพยนตร์ ร่วมกับน้องชาย Renzo Rossellini แต่งเพลงประกอบ

เมื่อปี 1937, Rossellini ตัดสินใจเริ่มต้นสู่การเป็นผู้กำกับ สร้างสารคดี Prélude à l’après-midi d’un faune, ตามด้วยช่วยงาน Goffredo Alessandrini ถ่ายทำ Luciano Serra, pilota (1938), สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นแนวชวนเชื่อ The White Ship (1941) ได้ทุนสนับสนุนจากกองทัพเรือของ Fascist Italy ตามต่อด้วย A Pilot Returns (1942), The Man with a Cross (1943) รวมเรียกว่า Fascist Trilogy

หลังจาก Red Army ของสหภาพโซเวียตได้ทำลายกองทัพอิตาลีอย่างราบคาบ ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกครองเกาะ Sicily เมื่อปี 1943 จนทำให้ Benito Mussolenin ถูกปลอดออกจากตำแหน่ง Il Duce อพยพหลบหนีไปจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด Nazi ที่ Repubblica di Salò (ก่อนจะล่มสลายถาวรเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง) นั่นทำให้ Rossellini เป็นอิสระต่อพันธนาการ เตรียมงานสร้างภาพยนตร์ Anti-Fascist เรื่องแรก Rome, Open City (1945) แต่ไปไกลกว่านั้นตรงที่กลายเป็นจุดเริ่มต้น เปิดประเดิมยุคสมัย Italian Neorealism บันทึกสภาพปรักหักพัก ผลกระทบจากสงคราม ใช้นักแสดงสมัครเล่น เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน ความทุกข์ยากลำบากของประชาชนทั่วไป

ชีวิตส่วนตัวของ Rossellini จัดว่าเป็นคนเจ้าชู้พอสมควร จดทะเบียนครั้งแรกปี 1934 กับ Assia Noris นักแสดงสัญชาติรัสเซียที่มาปักหลักวงการภาพยนตร์อิตาลี แต่อยู่กันได้สองปีกลับถูกโมฆะจากทางการ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน) จากนั้นแต่งงานใหม่ทันทีกับ Marcella De Marchis นักออกแบบเครื่องแต่งกาย Costume Designer มีบุตรชายด้วยกันสองคน
– Marco Romano Rossellini เกิดปี 1937 เสียชีวิตปี 1946 จากโรคติดเชื้อภายหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ
– Renzo Rossellini เกิดปี 1941

การเสียชีวิตของลูกชาย Marco Romano สร้างความรวดร้าวฉานให้กับ Rossellini เป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญเพราะผลกระทบหลังสงคราม สาธารณูปโภค อุปโภคบริโภค อาหารการกินยังคงยากไร้ขาดแคลน ตึกรามบ้านช่องมิได้รับการซ่อมแซมสร้างใหม่ ขนาดแค่ผ่าตัดไส้ติ่งที่เหมือนไม่มีอะไรร้ายแรง แต่กลับสามารถคร่าชีวิตเด็กชาย…

ก็ไม่รู้ด้วยเหตุผลนี้หรือเปล่า Rossellini เลยไม่ค่อยอยากกลับบ้าน ลักลอบมีชู้กับ Anna Magnani ถูกภรรยาจับได้เลยฟ้องหย่า แต่ไปๆมาๆแต่งงานครั้งที่สามกับ Ingrid Bergman ซะงั้น!

เมื่อเดือนมีนาคม 1947, ผู้กำกับ Rossellini มีโอกาสเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน พบเห็นสภาพปรักหักพังเลวร้ายยิ่งกว่าอิตาลีเสียอีก เกิดแนวคิดกว้างๆสำหรับภาพยนตร์เรื่องถัดไป นำเสนอต่อโปรดิวเซอร์ Salvo D’Angelo และ Alfredo Guarini สรรหาทุนสร้างจากบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส Union Générale Cinématographique หยิบยืมอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์จากสตูดิโอเยอรมัน Sadfi


Rossellini พัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ Carlo Lizzani (1922 – 2013) ว่าที่ผู้กำกับชื่อดังสัญชาติอิตาเลี่ยน และได้รับการแปลภาษาเยอรมันโดย Max Colpet (1905 – 1998)

เรื่องราวของครอบครัว Köhler อาศัยอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน (Allied-occupied Berlin) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วย
– พ่อ นอนป่วยใกล้ตายอยู่บนเตียงไม่สามารถทำอะไรได้ กลายเป็นภาระให้ลูกหลาน เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต่อต้าน Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
– พี่ชายคนโต Karl-Heinz เป็นพวกส่งเสริมสนับสนุน Nazi สมัครทหารผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งถูกจับคุมขังในค่ายกักกัน เกิดความหวาดหวั่นกลัวเกรง (PTSD) เลยไม่ยอมลงทะเบียนแจ้งยังมีชีวิตกับตำรวจ เลยมิสามารถทำงานเพื่อรับบัตรส่วนแบ่งอาหาร กลายเป็นภาระของครอบครัว เอาแต่หมกตัวอยู่ภายในห้อง
– ภรรยาของพี่ชาย Eva กลางคืนออกเที่ยวเตร่ตามผับบาร์ (คล้ายๆ Hostess) หาผลประโยชน์จากผู้ชายที่ใคร่สนใจในตัวเธอ … แต่เหมือนจะไม่เกินเลยเถิดถึงขั้นขายตัว
– และ Edmund เด็กชายอายุ 12 ปี เพิ่งจะเริ่มรู้ปะสีประสาแต่ยังไม่โตพอสามารถทำงานเอาตัวรอดเองได้ ด้วยเหตุนี้จึงมักถูกส่งไปทำสิ่งผิดกฎหมาย ซื้อขายของตลาดมืด ครั้งหนึ่งโดนชักจูงจากอาจารย์เก่า เหมือนจะล่อลวงไปเสพย์สม (ลักษณะของ Pedophilic) แต่โชคชะตากลับบันดล ให้รอดตัวได้อย่างหวุดหวิดปลอดภัย

สำหรับนักแสดง ทั้งหมดคือมือสมัครเล่นที่ Rossellini ใช้เวลาคัดเลือกสรรหา ออกเดินทางไปทั่วกรุงเบอร์ลินจนกว่าจะได้รับความพึงพอใจจากภาพลักษณ์หน้าตา
– Edmund Moeschke (รับบท Edmund) ค้นพบเจอระหว่าง Rossellini เดินทางไปเยี่ยมชมคณะละครสัตว์ Barlay เห็นเด็กชายนักกายกรรมโลดโผน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงลูกชายแท้ๆที่สูญเสียไป Marco Romano เลยขอให้มาทดสอบหน้ากล้อง และกลายเป็นนักแสดงนำของหนัง
– Ernst Pittschau (รับบทพ่อ) ขณะนั้นนั่งอยู่ตรงสถานสงเคราะห์คนชรา (Retirement Home) หลังจากเข้าไปพูดคุยก็พบว่า เคยเป็นนักแสดงละครเวทีและหนังเงียบ ในชีวิตไม่เคยได้รับการจดจำ กระทั่งมีโอกาสอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
– Franz-Otto Krüger (รับบท Karl-Heinz) เป็นคนที่มีการศึกษาสูง ทำให้ถูกจองจำจาก Gestapo ช่วงระหว่างสงคราม ใบหน้าเต็มไปด้วยอาการเก็บกด ตึงเครียด ว้าวุ่นวายใจ
– Ingetraud Hinze (รับบท Eva) อดีตนักบัลเล่ต์สาว พบเจอระหว่างยืนต่อแถวรอคิวรับเสบียงอาหาร ใบหน้าเต็มไปด้วยความสิ้นหวังหมดอาลัยในชีวิต
ฯลฯ

นักแสดงแทบทั้งหมดในหนังเรื่อง ต่างมีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบากแสนเข็น เมื่อได้รับเลือกก็ถือว่าประสบโชคดี และส่วนใหญ่มีโอกาสเดินทางไปกรุงโรม (เพื่อถ่ายทำเพิ่มเติม) จากเคยผอมแห้งอดอยาก ค่อยๆอิ่มหมีอ้วนพี บางคนพอถ่ายหนังเสร็จ ก็หลบลี้หนีภัยไม่หวนกลับเยอรมันอีกเลย

เกร็ด: Rossellini ไม่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้สักประโยค! เขาสื่อสารผ่าน Max Kolpé และมอบอิสระนักแสดงในการ ‘improvised’ ครุ่นคิดบทพูดสนทนา

ตำนานเล่าว่า: Klaus Kinski ว่าที่นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติเยอรมัน ขณะนั้นยังไร้ชื่อเสียงเรียงนาม เดินทางมาทดสอบหน้ากล้องกับหนังเรื่องนี้ (ไม่มีระบุบทบาท) ระหว่างเฝ้ารอคอยผู้กำกับอยู่นานเป็นชั่วโมง แอบเห็นว่า Rossellini กำลังจ้อโทรศัพท์กับ Anna Magnani เลยเกิดอาการหงุดหงิดหัวเสีย ด่ากราด สาปแช่ง … พอพบเห็นเช่นนั้น เกิดความใคร่สนใจขึ้นมาทันที (แต่ก็ไม่ได้รับเลือกให้แสดง)

“Who is he? Interesting! Arrange for a screen test!”


ถ่ายภาพโดย Robert Juillard (1906 – 1982) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Germany, Year Zero (1948), Forbidden Games (1952), The Count of Monte Cristo (1954) ฯ

แต่ถึงหนังจะอ้างว่าถ่ายทำจากสถานที่จริง ยังกรุงเบอร์ลิน, ประเทศเยอรมัน แต่ก็เฉพาะฉากภายนอกเท่านั้นนะ อีกครึ่งหนึ่งว่ากันว่าผู้กำกับ Rossellini ไม่อยากอยู่ห่างจากชู้รักขณะนั้น Anna Magnani จึงย้ายมาปักถักถ่ายทำฉายภายใน ณ กรุงโรม, ประเทศอิตาลี

แซว: เห็นว่า Rossellini ถ่ายหนังที่เยอรมันไม่ทันเสร็จก็หนีกลับมาก่อน ฝากฝังให้ Carlo Lizzani กำกับดูแลแทนหลายๆฉาก (เป็นการทดลองงานกำกับของ Lizzani ไปในตัว)

เกร็ด: ระหว่างที่ Rossellini ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ มีโอกาสโคจรไปพบเจอ Billy Wilder กำลังถ่ายทำ A Foreign Affair (1948) พอดิบพอดีเช่นกัน

ความดิบ หยาบของงานภาพ ที่แม้ผ่านการ Remaster มาแล้ว แต่ยังเต็มไปด้วยเม็ดทราย (Noise/Gain) นี่ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศสมจริงให้หนังอย่างมาก ผู้ชมรับรู้สึกถึงความยุ่งยาก สัมผัสชีวิตอันลำบาก กอปรกับสภาพปรักหักพัง แลดูช่างหดหู่ หมดสิ้นหวัง

ลีลาการเคลื่อนกล้องของ Juillard ต้องชมเลยว่าโคตรบ้าพลัง! ในพื้นที่คับแคบแต่สามารถแทรกตัวไปมา โยกขยับย้าย ราวกับไร้ซึ่งอุปสรรคขัดขวาง แถมหลายฉากยังเป็น Long Take -ชวนให้ระลึกถึง Raoul Coutard ขึ้นมาเลยละ-

สำหรับเงา/ความมืด ก็ไม่รู้ว่านั่นเกิดจากการจัดแสงหรือใช้ธรรมชาติจากที่มีอยู่ เพราะหลายครั้งในฉากกลางคืน ความมืดถือเป็นตัวแปร ปัจจัยสำคัญ สะท้อนสถานะ/ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้น ได้อย่างประจวบเหมาะทีเดียว


ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma (1900 – 1981) เจ้าของฉายา ‘the neorealist editor’ ขาประจำของ Roberto Rossellini, Vittorio De Sica และ Michelangelo Antonioni.

Opening Credit เริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงสภาพปรักหักพังของกรุงเบอร์ลิน จากนั้นดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองสายตาของเด็กชาย Edmund (และครอบครัว Köhler) ประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆในระยะเวลาน่าจะประมาณ 1-2 สัปดาห์

แม้ความยาวเพียง 78 นาที แต่หนังมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วไวมากๆ จนรู้สึกผิดปกติ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจาก Frame Rate ของกล้องถ่ายทำกับเครื่องฉายไม่ตรงกันหรือเปล่า (คือมันตามมีตามเกิดมากๆ สังเกตแต่ละฉากใช้ฟีล์มได้ผลลัพท์ออกมาไม่เหมือนกันด้วย) หรืออาจเกิดจากไดเรคชั่นของ Rossellini/Da Roma ต้องการให้อะไรๆดูเร่งๆรีบร้อน จนเกิดความสับสน อลม่าน ว้าวุ่นวาย

แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่า การเล่าเรื่องเร็วๆไม่ค่อยเหมาะกับหนังลักษณะนี้เท่าไหร่ ถ้าต้องการสะท้อนความทุกข์ยากลำบากของชีวิต วิธีการเหมาะสมคือนำเสนออย่างเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ชมรู้สึกทุกข์ทรมานจากการรอคอย มากกว่าตัดต่อปุ๊ปปั๊ป นั่นสร้างความสับสนร้อนรน … จะรีบไปตายหรือไง


เพลงประกอบโดย Renzo Rossellini (1908 – 1983) น้องชายของผู้กำกับ ที่ถ้าไม่ใช่ Diegetic Music ก็ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Children Are Watching Us (1944), The Brothers Karamazov (1947), Caligula (1979) ฯ

ความประทับใจแรกของบทเพลงในช่วง Opening Credit นี่มันหนัง Horror หรืออย่างไร! กอปรกับภาพปรักหักพัง มอบสัมผัสแห่งหายนะ ความตาย โลกล่มสลาย มันช่างทรงพลังสั่นสะท้าน ขนลุกขนพอง น่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน

แต่บทเพลงก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญอะไรเท่าไหร่ของหนัง คอยแต่งเติมเสริมบรรยากาศเพียงบางจุด และค่อยๆเคลื่อนคล้อยจิตใจของเด็กชาย ให้ค่อยๆมุ่งสู่หายนะอย่างเชื่องช้า รวดร้าวและเจ็บปวด

หนังมีปัญหาใหญ่ทีเดียวกับการบันทึกเสียง คาดคิดว่าคงเป็นการพากย์ทับภายหลังการถ่ายทำ (เพราะนักแสดงแทบทั้งหมด เดินทางไปกรุงโรม เพื่อถ่ายทำเพิ่มเติม) โดยเฉพาะเสียงของ Edmund เหมือนจะตะโกนโหวกเหวกตลอดเวลาแม้ขณะอยู่ในห้อง นี่อาจสะท้อนความซื่อตรงไร้เดียงสาของตัวละคร แต่ผมรู้สึกว่ามันผิดแผกแปลกจากปกติทั่วไปอยู่นะ รำคาญเล็กๆด้วยเพราะฟังไมได้สดับ


Germania anno zero เป็นภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม ในโลกยุคหลังสงครามหรือเมื่ออารยธรรมล่มสลาย เพื่อให้ตนเองสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด ท้องอิ่ม มีชีวิตอยู่ ‘หลักศีลธรรมจรรยา’ ยังเป็นสิ่งควรค่ายึดถือมั่นต่อไปอีกหรือเปล่า?

บุคคลที่มือถือสากปากถือศีล พบเห็นการกระทำของเด็กชายล้วนปฏิเสธหัวชนฝา นั่นไม่อากัปกิริยาถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย แต่ลองถามตัวเองดูสิว่า เคยตกอยู่ในสถานการณ์อดอยากปากแห้ง ท้องหิวไม่มีอะไรกินแบบนั้นบ้างหรือเปล่า เชื่อเถอะแทบทั้งนั้น ไม่ได้กินข้าวแค่สามวันก็ไม่ต่างอะไรจากหมาข้างถนนแล้ว

ถึงผมเป็นพวกไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ถึงขั้นปฏิเสธความเป็นไปได้ ผู้กำกับ Rossellini ก็คงเฉกเช่นกัน สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่อุทิศให้ลูกชายสุดที่รัก แต่ยังตนเองถ้าตอนนั้นมีความกล้าบ้า ครุ่นคิดตระหนักได้แบบนี้ เลิกสนในศีลธรรมมารยา คงไม่พบเจอความทุกข์โศกสูญเสีย การจากไปที่แสนเจ็บปวดรวดร้าวระทม

แต่มันก็กลายเป็นว่าหลังจากนี้ Rossellini กลายเป็นคนสุดโต่งในแนวคิดดังกล่าวไปเลย โดยเฉพาะเรื่องรักๆใคร่ๆ หลงใหลชื่นชอบพอใครก็เกี้ยวพาราสี เมียมีอยู่แล้วไง หาใช่เรื่องน่าสนใจตรงไหน

ในบางฉบับของหนัง จะมีข้อความเกริ่นก่อน Opening Credit ว่า “บุคคลผู้ทอดทิ้งหลักศีลธรรมจรรยา สุดท้ายมักพบเจอโศกนาฎกรรม”

“When an ideology strays from the eternal laws of morality and of Christian charity which form the basis of men’s lives, it must end as criminal madness”.

สะท้อนเข้ากับเด็กชาย Edmund พูดจาโกหกหลอกลวง ลักขโมยของ ร่วมรักเด็กหญิงสาว นั่นยังแค่เรื่องจิบจ้อยพอจักยินยอมรับได้ แต่เมื่อเลยเถิดไปไกลถึงฆ่าคนตาย นั่นกลายเป็นตราบาปฝังลึกลงในจิตใจ อาการหนังยิ่งเสียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) คลุ้มคลั่งเสียสติแตก แสดงออกด้วยการเดินมุ่งสู่หายนะ และสิ้นสุดลงด้วยโศกนาฎกรรม นั่นคือผลลัพท์สนองกรรม มิอาจฝืนทนไหวต่อการกระทำอันชั่วร้ายเลวทรามของตนเอง

และท้ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบ Edmund เข้ากับ Germany, Year Zero มุมมองของผู้กำกับ Rossellini โศกนาฎกรรมตอนจบสะท้อนว่าประเทศแห่งนี้ได้หมดสูญสิ้นอนาคตไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ ‘ศูนย์’ แต่คือ ‘สูญ’ นี่เป็นคำทำนาย/พยากรณ์ ออกไปในเชิงตำหนิ ด่าทอ ป้ายสีความผิด ถ้าไม่เพราะพวกนายก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ลูกชายของฉันคงไม่ม้วยมรณาก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน!


ตรงกันข้ามกับสองผลงานก่อนหน้า Rome, Open City (1945) และ Paisan (1946) ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม แต่สำหรับ Germany, Year Zero เมื่อตอนออกฉาย ผลลัพท์ค่อนข้างแตกแยก ดีสุดขั้ว-ชั่วสุดขีด

“[Germany, Year Zero] is not a movie but a sketch, a rough draft of a work Rossellini hasn’t given us”.

– Andre Bazin

ขณะที่ผู้กำกับดัง Charlie Chaplin ยกย่องสรรเสริญว่า

“the most beautiful Italian film”.

ฝั่งเยอรมันเคยเข้าฉายรอบเล็กๆเมื่อปี 1951 แล้วถูกนำออกจากสารบบไปเลย ‘Mostly Negative’ ส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจต่อหนังอย่างยิ่ง เพราะนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในทางเสียๆหายๆ

“a terrifying film…not artistically, but because it would be terrifying if the world saw the new Germany as Rossellini does”.

– Hans Habe นักวิจารณ์ชาว Austrian

นั่นทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกทิ้งๆขว้างๆ หารับชมยากยิ่งนัก ถ้าไม่ได้ Martin Scorsese เก็บกู้ฟื้นฟูบูรณะ คาดว่าคงสูญหายไปตามกาลเวลา แต่ถึงอย่างนั้นสภาพฟีล์มหลงเหลือคุณภาพค่อนข้างย่ำแย่ ก็คงได้แค่ทำใจ มีวางขายใน Criterion Collection

ส่วนตัวแค่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ขนลุกขนพอง อึ้่งทึ่งตราตะลึงกับความทรงพลังในความสมจริง! ทำให้ตระหนักถึงผลกระทบของสงคราม มันไม่ได้จบสิ้นสุดแค่การสู้รบผลแพ้ชนะเท่านั้น After Effect หลังจากนั้นนานเท่าไหร่กัน ถึงสามารถฟื้นฟูอะไรให้หวนกลับคืนสู่สภาวะปกติ

แนะนำคอหนัง Neorealist อยากพบเห็นสภาพปรักหักพัง ชีวิตชาวยุโรป/เยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และแฟนๆผู้กำกับ Roberto Rossellini ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับสภาพกรุงเบอร์ลินหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และการดิ้นรนเอาตัวรอดโดยไร้ซึ่งวิถีมนุษยธรรม

คำโปรย | Roberto Rossellini ทำให้ Germania anno zero เริ่มต้นจากศูนย์และมาจบสิ้นที่สูญ
คุณภาพ | ตราตรึงแต่ก็ทำให้บึ้งตึง
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: