Gertrud

Gertrud (1964) Danish : Carl Theodor Dreyer ♥♥♥♥♡

Swan Song ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ที่มีความเป็น ‘pure cinema’ เน้นถ่ายทำ Long Take เพียง 90 คัทในระยะเวลา 116 นาที ตัวละครแค่พูดคุยสนทนา เดินนั่งสลับตำแหน่ง แต่กลับทรงพลังระดับล้างผลาญ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เรื่องราวของหญิงสาวชื่อ Gertrud โหยหาอิสรภาพจากพันธนาการ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต พูดคุยสนทนาต่อรองกับ แฟนเก่า-สามีปัจจุบัน-ชู้รักต้องการหนีไปด้วยกัน สุดท้ายแล้วอนาคตของเธอจะลงเอยเฉกเช่นไร?

ถึงผมตระหนักได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คงดูยากเกินสำหรับผู้ชมทั่วไป แต่สาสน์สาระ Feminist บุรุษพยายามมีอำนาจครอบงำเหนืออิสตรี ถ้าสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้อย่างกระจ่างแจ้ง จักพบเห็นความย้อนแย้งที่ตราตรึงทรงพลัง ปั่นป่วนคลุ้มคลั่งอึดอัดอั้นอยู่ภายใน

จริงๆหนังไม่ได้ดูยากขนาดนั้นหรอกนะครับ แค่ว่าต้องใช้สมาธิและความอดทนสูงมากๆ เพราะทั้งเรื่องมีเพียงบทพูดสนทนา ตัวละครขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าเต่าคลาน แถมบางช็อตก็แช่ภาพค้างนิ่งไว้นานเป็นนาทีๆ คนตระเตรียมตัวมาไม่ดีการันตีฟุบหลับสนิทอย่างแน่นอน


Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาว Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark แม่เป็นคนรับใช้ตั้งครรภ์กับเจ้านาย พยายามทำแท้งลูกคนที่สองแต่ตกเลือดเสียชีวิต สองปีแรกอาศัยอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งว่าได้รับอุปการะเลี้ยงดูแต่พ่อแม่บุญธรรมไม่ใคร่สนใจใยดีสักเท่าไหร่ เสี้ยมสั่งสอนให้สำนึกบุญคุณต่ออาหารอิ่มท้องและหลังคาพักผ่อน ด้วยเหตุนี้พออายุ 16 จึงหนีออกจากบ้าน ด้วยความเฉลียวฉลาดเรียนเก่งเลยได้ทำงานเป็นนักข่าว ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงหนังเงียบ ผลงานยุคแรกๆ The President (1919), Master of the House (1925), The Passion of Joan of Arc (1928) ฯ

น่าเสียดายที่ผลงานของ Dreyer แม้คุณภาพสูงแต่ไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน ด้วยเหตุนี้หลังจาก The Passion of Joan of Arc จึงสร้างหนังได้แค่ทศวรรษละเรื่อง แแต่ก็ล้วนได้รับการยกย่องระดับ Masterpiece ประกอบด้วย Vampyr (1932), Day of Wrath (1943), Ordet (1955) และ Gertrud (1964)

สไตล์ของ Dreyer มีลักษณะของ Minimalist มักเป็น Long Take ด้วยการให้นักแสดงขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า แล้วกล้องติดตามตัวละครไปมาไม่ค่อยหยุดอยู่นิ่ง ขณะที่เรื่องราวมักชักชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า … แต่เห็นว่าจริงๆแล้ว Dreyer มิใช่คนเคร่ง/นับถือศาสนาประการใด

หลังเสร็จจาก Ordet (1955) ผู้กำกับ Dreyer มีความพยายามดัดแปลงสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องทีเดียว อาทิ
– ละครเวทีโศกนาฎกรรมกรีกเรื่อง Medea แต่งโดย Euripides
– นวนิยาย Light in August (1932) แต่งโดย William Faulkner
– Brand (1865) แต่งโดย Henrik Ibsen
– To Damascus (1898) แต่งโดย August Strindberg
– ละครเวที Mourning Becomes Electra (1931) แต่งโดย Eugene O’Neill
– ทั้งยังเคยสนใจชีวประวัติพระเยซูคริสต์

แน่นอนว่าไม่มีโปรเจคไหนกลายเป็นรูปร่าง กระทั่งได้อ่านบทความของ Sten Rein ชื่อว่า Hjalmar Söderbergs Gertrud (1962) กล่าวถึงบทละครเวที Gertrud (1906) แต่งโดย Hjalmar Söderberg (1869 – 1941) นักเขียนสัญชาติ Swedish ว่ามีการใช้บทพูดสนทนาผลักดันเรื่องราวไปข้างหน้า

“I had chosen the work of Hjalmar Söderberg because his conception of tragedy is more modern, he was overshadowed far too long by the other giants, Ibsen and Strindberg. Why did I say he was ‘more modern’? Well, instead of suicide and other grand gestures in the tradition of pathetic tragedy, Söderberg preferred the bitter tragedy of having to go on living even though ideals and happiness have been destroyed…[and he made] conflicts materialize out of apparently trivial conversations”.

– Carl Theodor Dreyer

จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ Dreyer พัฒนาบทภาพยนตร์โดยให้ความสำคัญกับการพูดคุยสนทนา มากกว่าดำเนินเรื่องด้วยภาพ และมีการปรับเปลี่ยนแปลงตอนจบ เพิ่มปัจฉิมบท 30 ปีให้หลัง ประมวลผลสรุปทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวละคร (และชีวิตของผู้กำกับเอง)

พื้นหลัง Stockholm, Sweden ช่วงต้นศตวรรษที่ 20, เรื่องราวของ Gertrud (รับบทโดย Nina Pens Rode) อดีตนักร้องโอเปร่าชื่อดัง แต่งงานกับทนายความ/ว่าที่นักการเมือง Gustav Kanning (รับบทโดย Bendt Rothe) แต่แทนที่ชีวิตจะสุขสมหวัง สามีกลับหมกมุ่นการงานจนแทบไม่มีเวลาว่างให้ เธอจึงคบชู้สู่ชายกับอัจฉริยะนักเปียโนหนุ่ม Erland Jansson (รับบทโดย Baard Owe) ขณะเดียวกันอดีตแฟนเก่า Gabriel Lidman (รับบทโดย Ebbe Rode) ขณะนั้นเดินทางมาร่วมงานเลี้ยง พยายามพูดจาโน้มน้าวชักจูงหญิงสาวให้หวนกลับมาตกหลุมรักตนเองอีกครั้งหนึ่ง


Gertrud หญิงสาวผู้มีความเชื่อว่า ‘Amor Omnia’ รักคือทุกสรรพสิ่ง แต่ความต้องการคือควบคุม ครอบงำ เป็นเจ้าของบุรุษที่ตนคาดหวัง ซึ่งเธอไม่ยินยอมให้ทัศนคติดังกล่าวกลับตารปัตรตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าทั้งแฟนเก่า-สามีคนปัจจุบัน-ชู้ที่ต้องการลักลอบหนีไปด้วยกัน ต่างแสดงออกด้วยการปฏิเสธขัดขืน ท้ายที่สุดเมื่ออะไรๆมิสมหวังดั่งใจ ปลดปล่อยวางผ่อนคลายและครองตัวเป็นโสดจนวันตาย

รับบทโดย Nina Pens Rode (1929 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ Danish แจ้งเกิดโด่งดังจากละครเวที ทั้งชีวิตมีผลงานภาพยนตร์เพียง 5 เรื่องเท่านั้น, สายตาของ Gertrud จับจ้องมองเฉพาะสิ่งที่เธอใคร่สนใจ เช่นกันกับสีหน้า รอยยิ้ม และเสียงร้องเพลงขับขาน ถ้าขณะเบิกบานโลกทั้งใบช่างดูสำราญสุขี ตรงกันข้ามกำลังถูกบีบบังคับก็จักดิ้นรนขัดขืน จิตใจโหยหาความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น! และเมื่อมิอาจค้นพบเจอจึงเหม่อล่องลอยออกไป ถอนหายใจให้กับความเวิ้งว่างว่างเปล่าภายใน

Gustav Kanning สามีของ Gertrud ทำงานทนายความ กำลังได้รับเลือกตั้งเป็นนักการเมือง วันๆง่วนอยู่กับการงานไม่ค่อยเอาใจใส่ภรรยา ตะโกนเรียกออกคำสั่งราวกับขี้ข้าคนรับใช้ จนวันหนึ่งเธอพูดบอกกับเขาขอหย่า แทบไม่เชื่อหูและสายตา พยายามตะล่อมค่อม ต่อรอง ยื้อย่างอย่างถึงที่สุด แต่ก็อาจแก้ไขรอยหมาง บาดแผลเป็นในหัวใจได้สำเร็จ

Bendt Rothe (1921–1989) นักแสดงสัญชาติ Danish เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้ชาย ทำให้ Gustav ไม่ยินยอมเสียหน้าโดยง่ายถ้าต้องหย่าภรรยา Gertrud จึงพยายามใช้คำพูด สายตา โน้มน้าวชักจูง วางอำนาจบาดใหญ่ ไม่รู้สำนึกตนเองต่อเหตุผลที่ทำให้เธอต้องการเลิกร้างรา สุดท้ายแล้วเมื่อไม่อาจหวนย้อนกลับไปแก้ไข คงได้แค่ตรอมใจและผิดหวังในความโง่เง่าของตนเอง

Gabriel Lidman นักกวีผู้มีวาทะศิลป์เป็นเลิศ เคยครองรัก(น่าจะแต่งงาน)อาศัยอยู่กับ Gertrud ได้พบเจอวันนี้ต้องการหวนคืนดีให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ร่องรอยบาดแผลเป็นในหัวใจครั้งนั้น ยังมิอาจลบลืมเลือนรักษาหาย เพราะเหตุใดทำไมถึงเลิกร้ารา ถึงคราได้รับทราบข้อเท็จจริงจากปากเธอเสียที

รับบทโดย Ebbe Rode (1910 – 1998) นักแสดงสัญชาติ Danish คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นยุคหนังพูด, แม้มีคารมคมคาย พูดจาอ่อนน้อมสุภาพ พร้อมยินยอมทำทุกสิ่งอย่าง ก้มหัวอยู่ใต้บัญชาหญิงสาวที่ตนรัก แต่เพราะความมักง่ายหลงระเลินเล่อ แต่งบทกวีดันมีเนื้อหาหยามเหยียด เกลียดตัวกินไข่ ดีแต่พูดเอาใจ ต่อให้แสดงความอ่อนแอร่ำไห้ออกมา ก็ไม่รู้ว่านั่นคือธาตุแท้ตัวตนจริงหรือเปล่า

Erland Jansson นักเปียโนที่ได้รับการขนานนามอัจฉริยะ มาพร้อมกับความเย่อหยิ่งทะนงตนหัวสูง มีว่าที่คู่หมั้น/ภรรยาอยู่แล้วกลับยังคงแสวงหาความสุขสำราญ เกี้ยวพาราสี Gertrud ด้วยจุดประสงค์เดียวเท่านั้นคือเล่นสนุกสนาน สำเร็จสมหมายก็พร้อมอวดอ้างประกาศศักดา หาความเป็นลูกผู้ชายไม่ได้สักนิดเลย

รับบทโดย Baard Owe (1936 – 2017) นักแสดงสัญชาติ Norwegian มีผลงานมากมายในกลุ่มประเทศ Scandinavian ก่อนตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ Denmark ตราบจนเสียชีวิต, ด้วยภาพลักษณ์เทพบุตรสุดหล่อ แน่นอนว่าย่อมทำให้สาวๆไม่ว่าจะวัยไหนตกหลุมหัวปลักหัวปลำ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างแทบเท้าเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกาย แต่ไม่วายเมื่อความจริงกระจ่างแจ้ง พร้อมเดินจากไปไม่เหลียวแล แคร์เฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัวตนเองเท่านั้น!


ถ่ายภาพโดย Henning Bendtsen, ตัดต่อโดย Edith Schlüssel, ทั้งสองเคยร่วมงานผู้กำกับ Dreyer เรื่อง Ordet (1955)

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Dreyer ตอนเช้าจะให้นักแสดงซักซ้อมตระเตรียมการจนพร้อมสรรพ จากนั้นช่วงบ่ายค่อยเริ่มถ่ายทำเพียง 1-2 เทคก็เสร็จสิ้น ซึ่งมักเป็น Long Take ช็อตละหลายนาที เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครไปมารอบห้อง แต่กระนั้นก็พอมีฉากที่ใช้การตัดต่อเพื่อสลับเปลี่ยนมุมมอง รวมแล้วทั้งหมด 90 คัทในระยะเวลา 116 นาที (ถือว่าน้อยกว่า Ordet ที่มี 114 คัท ระยะเวลา 126 นาที)

ความเชื่องช้าของหนังไม่ใช่จากการถ่ายภาพหรือตัดต่อ แต่คือนักแสดงค่อยๆขยับเคลื่อนไปอย่างมีสติ นับก้าว นับจังหวะลมหายใจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศความตึงเครียด หงุดหงิด ร้อนรนให้กับผู้ชม … นี่เรียกว่า ‘Pace’ ลมหายใจของหนัง ซึ่งถือว่ามีความจำเพาะเจาะจงสูงมากๆ สามารถใช้คำเรียก ‘สไตล์ Dreyer’ มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก!

แซว: หนังใช้เวลาถ่ายทำ 3 เดือน (เฉลี่ยวันละเทค) แต่ตัดต่อเพียง 3 วันเสร็จ!

เนื่องจากหนังทั้งเรื่องมีเพียงบทพูดสนทนา ดังนั้นลีลาการเคลื่อนไหลกล้อง ทิศทาง จัดวางตำแหน่ง แสงสี ทุกอย่างจึงมีนัยยะความหมายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ อาทิ ตัวละครเดินจากซ้าย-ขวา ย้ายตำแหน่งหน้า-หลัง ยืนนั่งสูง-ต่ำ และยังเงามืด-แสงสว่าง เหล่านี้คือการสร้างมิติความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ชิดใกล้-ห่างไกล รักมาก-โกรธเกลียด วางอำนาจครอบงำ-กดขี่ข่มเหง ฯ

Gustav เปิดประตูเข้ามาจากด้านหน้า ตะโกนเรียก Gertrud ออกมาจากประตูหลัง สะท้อนถึงสถานะ/ค่านิยมสมัยนั้น บุรุษคือช้างเท้าหน้า ขณะที่อิสตรีไม่ต่างอะไรจากขี้ข้า คนรับใช้เบื้องหลัง (ระยะใกล้-ไกล)

แม้ทั้งสองนั่งระดับความสูงเสมอกัน แต่ Gustav บนเก้าอี้ทำงาน/แท่นพระราชา ผู้อำนาจสูงส่งกว่า นั่นจึงททำให้ Gertrud ไม่เคยที่จะมองหน้าตรงๆสบตา หันไปทิศทางตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ

กระจก คือสัญลักษณ์ที่ใช้สะท้อนตัวตนเอง ในบริบทนี้คือ Gertrud กำลังใคร่สงสัยว่า ฉันเป็นใคร? ต้องการอะไรกันแน่กับชีวิตคู่ต่อจากนี้?

เมื่อ Gertrud พูดบอกข้อเสียของ Gustav เธอเดินไปยืนด้านหลังโต๊ะทำงาน พยายามอธิบายเล่าถึงรายละเอียด แต่สามีที่นั่งอยู่โซฟาด้านหน้า ดูจะไม่แคร์ยี่หร่าสนใจรับฟังสักเท่าไหร่ จนกระทั่งหญิงสาวนั่งลงบนเก้าอี้ (ต้องการเป็นเจ้านายตัวเอง) ต้องการเลิกราหย่าร้าง เมื่อนั้นถึงค่อยเริ่มเหลียวหลังหันมามองดู

ยืนค้ำหัว เป็นมารยาทที่คนไทยเสี้ยมสั่งสอนบุตรหลาน อย่าให้ศีรษะของตนเองอยู่เหนือกว่าผู้มีอายุ วิทยฐานะ หรือชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่า

ทุกครั้งที่ตัวละครยืนค่ำหัวอีกคนหนึ่งอยู่ จะสังเกตเรื่องราวบทสนทนา มักเป็นความพยายามควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ ซักถามข้อเท็จจริง กดขี่ข่มเหงบุคคลที่อยู่ตำแหน่งศีรษะต่ำกว่าตน!

ขณะที่ฉากภายในห้องมักเกี่ยวข้องกับสามี/แฟนเก่า การนัดพบเจอระหว่าง Gertrud และชู้รัก Erland Jansson อยู่ริมสระน้ำ สวนสาธารณะ, นี่เป็นการสะท้อนความรู้สึก/จิตใจของหญิงสาว ราวกับได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกครอบงำด้วยผนังกำแพงที่ราวกับกรงขังคุก

หนังมีการย้อนอดีต Flashback ทั้งหมดสองครั้ง ซึ่งสังเกตโดยง่ายจากความสว่างจร้าของภาพ ดูฟุ้งๆเฟ้อๆ ราวกับกำลังเพ้อฝันถึงสุขสำราญที่เคยผ่านมา

ช่างเป็นความย้อนแย้งกันเองที่แสนเจ็บแสบ! ก่อนหน้านี้ Gustav ต้องการควบคุมครอบงำ Gertrud ภาพช็อตนี้สังเกตว่าหญิงสาวยืนค้ำหัว Erland ซึ่งหัวข้อสนทนาก็พยายามเสี้ยมสอน ชี้ชักนำให้เขาไม่เข้าร่วมงานเลี้ยง

ความต้องการของ Erland Jansson ต่อ Gertrud ถึงขนาดยินยอมคุกเข่าสยบลงแทบเท้า ก็ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น สังเกตจากตำแหน่งศีรษะของเขาสิครับ พอดิบพอดีตรงนั้นเลย!

ในห้องของ Erland ช็อตนี้ มีลักษณะตรงกันข้ามกับฉากย้อนอดีตที่มีความสว่างจร้าฟุ้งเฟ้อ ค่ำคืนที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นสะท้อนการกระทำอันวิปริตของพวกเขา ลักลอบสมสู่ชู้สาว ถือเป็นสิ่งผิดศีลธรรมจรรยา อันจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อไปในวันข้างหน้า

แสงไฟสาดส่องเข้าที่ใบหน้าของ Gertrud สะท้อนถึงความสุขสว่างทางจิตใจของเธอ ได้กระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจตนเองสักที ต่อให้ทุกสิ่งอย่างรอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิทก็เถอะ!

การใช้เงาเพื่อสะท้อนสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป Sex Scene สัมผัสมันคล้ายๆ Nosteratu (1922) ความชั่วร้ายที่คืบคลานเข้ามา หรือจะเรียกว่า Gertrud คือปีศาจสาว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของชายสุดที่รัก

การสูบบุหรี่ คือสัญลักษณ์โคตรคลาสสิกของการมี Sex, ฝ่ายชายเป็นผู้จุดขึ้นก่อนแล้วส่งมอบให้ฝ่ายหญิง ดูดอมเลียแล้วพ่นความเกษมสำราญออกมา

ให้ข้อสังเกตอีกนิดกับเสื้อผ้าของตัวละคร
– Gertrud ชุดสีขาว น่าจะสื่อถึงความตั้งใจบริสุทธิ์ในรักครั้งนี้
– ตรงกันข้ามกับ Erland สวมชุดสีดำ ไม่ได้ต้องการอะไรในรักครั้งนี้ไปมากกว่า ความพึงพอใจทางกาย!

งานเลี้ยงที่เป็นการรับรอง Gabriel Lidman และแต่งตั้ง Gustav Kanning ที่ได้เป็นส.ส. สังเกตว่าพวกเขานั่งตำแหน่่งสูงกว่าใครบนแท่น ได้รับเกียรติเชิดชู ขณะที่ Gertrud นั่งอยู่ข้างๆด้านล่าง แค่เพียง Sideline ตัวประกอบเท่านั้นเอง

ผมไม่แน่ใจว่าคนที่นั่งกึ่งกลางระหว่าง Gabriel กับ Gustav คือนายกรัฐมนตรีหรือเปล่านะ นี่มีลักษณะของ เหนือฟ้ายังมีฟ้า เฉกเช่นเดียวกับเทวรูปปั้นที่พบเห็นอยู่เกลื่อนกราดประดับพื้นหลัง สูงกว่ามนุษย์ก็คือพระผู้เป็นเจ้า … นี่คือลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Dreyer ถึงหนังแทบไม่มีการเอ่ยกล่าวถึง แต่จักล่องลอยเป็นบรรยากาศอยู่ทุกหนแห่ง

ความฝันของ Gertrud ช่างคล้ายคลึงกับรูปภาพวาดพื้นหลัง ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบเธอได้กับหญิงเปลือย ถูกรายล้อมด้วยสุนัขหรือก็คือบุรุษทั้งหลาย ต่างพยายามกรูเข้าหา เคล้าคลอเคลีย เลียและฉีดกัดกิน

Axel Nygren (รับบทโดย Axel Strøbye) คือชายอีกคนที่ตกหลุมรัก Gertrud แต่ไม่เคยเกินเลยมากไปกว่าเพื่อน พวกเขารักษาระยะห่างและตำแหน่ง ไม่พยายามที่จะครอบครองเป็นเจ้าของอีกฝั่งฝ่าย

ช่วงเวลาที่ Gustav พยายามต่อรองร้องขอ Gertrud ยื่นข้อเสนอประเภทไม่ฟังคำเธออยู่ดี เขานั่งอยู่เยื้องด้านหลัง มีเพียงคำพูดล่องลอยมา สุดท้ายก็ไม่ยินยอมมองหน้าสบตา ทำความเข้าใจสิ่งปรารถนาของอีกฝ่าย (นั่งอยู่เก้าอี้คนละตัว)

สำหรับแฟนเก่า Gabriel แม้นั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันแต่รักษาระยะห่าง เคยรักตามด้วยชัง ปัจจุบันแม้มองหน้าไม่ติดแต่ความเป็นมิตรสหายยังคงเดิม

นี่น่าจะเป็น Long Take ยาวนานสุดของหนัง แช่ค้างภาพตำแหน่งนี้ของทั้งสองไว้ เพื่อให้ Gabriel เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อวันก่อน อันเป็นเหตุให้เมื่อความจริงบางอย่างกระจ่างแจ้ง จำต้องลุกไปยืนข้างหลัง แล้วกลับมานั่งหันหน้าไปอีกด้าน ร่ำร้องไห้หมดสิ้นความเป็นชายชาตรี

เมื่อ Gertrud รับรู้จักธาตุแท้ตัวตนของชู้รัก แม้นั่งอยู่แต่ทิศทางขยับเคลื่อนขา ซ้าย-ขวา หันมา-หันกลับ สะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจของเธอ อยากรักแต่ต้องด้วยข้อแม้ ไม่ใช่เหตุผลที่เป็นอยู่

เช่นกันกับขาของ Erland มีการขยับเปลี่ยนทิศทางแต่จะเป็นหน้า-หลัง สะท้อนถึงยินยอมรับได้-ไม่ได้ อยากสนใจแต่มิอาจเปิดเผยความใน

ช็อตการจากไปของ Erland จะพบเห็นสองตัวละครมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่งอยู่-เดินจาก หันหน้า-หันหลัง แม้ครั้งหนึ่งจะเดินย้อนกลับมา แต่เธอก็มิยอมเหลียวแลหันไปสบตา ดูแล้วคงมิได้หวนกลับมาพบเจอกันอีก

เมื่อ Gustav ไปคุยโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรี Gabriel เดินตรงเข้ามาตรงกระจกใบนี้ แล้วจุดเทียนเพื่อเริ่มต้นหวนระลึกความหลังกับ Gertrud (หญิงสาวเดินเข้ามาในกระจก สะท้อนเรื่องราวความทรงจำของเขาต่อเธอ) ซึ่งเมื่อการสนทนาของพวกเขาสิ้นสุดลง หญิงสาวจักเข้ามาเป่าเทียนดับ เลือกที่จักไม่มีทางหวนย้อนกลับสู่อดีต/คนรักเก่าอย่างหัวเด็ดตีนขาด

ตำแหน่งที่ตั้งฉากของทั้งคู่ สะท้อนความคิดจิตใจของพวกเขา ต่างจมปลักอยู่กับ
– Gertrud มองมาด้านหน้า คือสนเพียงอนาคตต่อไปเท่านั้น
– ส่วน Gabriel นั่งด้านหลังหันไปทางซ้าย สะท้อนถึงการจมปลักอยู่กับอดีต มองโลกข้างเดียว (ในมุมของตนเอง) โหยหาต้องการให้หญิงสาวหวนกลับไปครองรักกับตน

Gertrud นั่งบนโซฟาที่อยู่ใกล้โคมไฟจับจ้องมองไปข้างหน้า ตรงกันข้ามกับ Gabriel อยู่ฝั่งใกล้เงาหันเข้าหาหญิงสาว ระยะห่างระหว่างพวกเขามีภาพวาดติดฝาผนัง แม้มองไม่ค่อยเห็นว่าคืออะไร แต่ปกคลุมด้วยความมืดมิดเช่นนี้คงไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่

ฉากย้อนอดีตในอพาร์ทเม้นท์ของ Gabriel งานภาพเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อสว่างจร้าอีกเช่นกัน แต่ให้สังเกตผนังด้านขวาจะมีลักษณะลาดเอียดองศา ดูคล้ายสถาปัตยกรรมของ German Expressionism สะท้อนด้านที่บิดเบี้ยวผิดแผก จิตใจซ่อนความชั่วร้าย/คอรัปชั่น ซึ่งตรงกับสิ่งที่ Gertrud พบเห็นจากข้อความนี้ 

“Woman’s love and man’s work enemies from the start”.

นั่งโซฟาเดิมจนเมื่อยแล้ว เลยต้องลุกย้ายเปลี่ยนมาเป็นตัวนี้แทน ซึ่งช็อตนี้มีสามสิ่งน่าสนใจ
– Gabriel นั่งค่อมขาเก้าอี้ นั่นน่าจะสะท้อนสิ่งที่เขาต้องการจริงๆจากเธอ คือ Sex และความพึงพอใจทางกาย มากกว่าจิตใจ/ความรักบริสุทธิ์
– ด้านข้างของ Gertrud วางด้วยแจกันที่มีลักษณะทรงสูงยาว แลดูเหมือนลึงค์ นั่นก็น่าจะสะท้อนสิ่งที่เธอต้องการเฉกเช่นกัน แต่ในลักษณะที่จับต้องได้มากกว่าเป็นคำพูดป้อยอ ภาพลวงตา
– ภาพวาดประดับผนังพื้นหลังที่อยู่ระหว่างพวกเขา หญิง-ชาย ต่างหันหลังให้กัน … นั่นคือสิ่งที่ทั้งคู่กำลังต้องเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง

ในที่สุด Gabriel ก็ยินยอมพ่ายแพ้ ไม่อาจตอบโต้เถียงต่อรองใดๆ เลยเดินมานั่งบนเก้าอี้เดี่ยว ตัวคนเดียว อยู่เฉียงๆเบื้องหน้า Gertrud อดีตคนรักในความทรงจำที่โหยหา 

ก่อนการจากไป Gabriel ชนแก้วแชมเปญร่ำลานี้ สังเกตว่า ชายสองต่างยืนขึ้นค้ำหัว Gertrud พยายามควบคุมครอบงำ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครได้เธอมาครอบครอง 

ความพยายามครั้งสุดท้ายของ Gustav ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน ยืนอยู่ด้านหลังพยายามเอื้อมมือไขว่คว้า Gertrud ที่นั่งเบื้องหน้า แต่เธอไม่ครุ่นคิดจะหันไปเหลียวแลสนใจ แล้วยังไงทำไมฉันต้องยื้อย่างกับสิ่งที่ฉันไม่ต้องการ

ขณะที่
– Erland เป็นผู้เดินจากไป
– Gabriel นั่งลงอย่างหมดอาลัยเรี่ยวแรง
– Gustav กลับเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด และจับจ้องมอง Gertrud ที่เป็นผู้เดินจากไป

ช็อตที่ Gertrud เดินออกจากอพาร์ทเม้นท์ หลอดไฟคงเป็นสัญลักษณ์ของความหวังใหม่ ขณะที่รูปภาพด้านซ้าย ผมพยายามจับจ้องมองก็ไม่รู้อะไร แต่พอสังเกตได้ว่าคือผู้ใหญ่และเด็ก น่าจะสื่อถึงการเติบโตและอิสรภาพ

เสียงระฆังดังขึ้นมา คงเป็นการส่งสัญญาณบอกว่า หมดเวลาความสนุกแล้วสิ! ซึ่งถ้าใครตั้งใจฟังดีๆจะได้ยินอีกเสียงระฆังหนึ่งดังต่อเนื่อง (มันจะเสียงแหลมต่างกัน) น่าจะสื่อถึงช่วงเวลาดำเนินไป หรือคือการกระโดดสู่ปัจฉิมบท 30 ปีให้หลัง

ปัจฉิมบทของหนัง นำเสนอสามสิบปีถัดไป งานภาพฟุ้งๆชวนฝันอีกเช่นกัน ตัวละครทั้ง Gertrud และเพื่อนสนิทหลงเหลือหนึ่งเดียว Axel ต่างผมหงอกขาวโพลน ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่น พูดคุยสนทนาหวนระลึกความหลัง ขณะเดียวกันก็ไม่พยายามทำอะไรให้มันเกินเลยไปมากกว่านี้

จดหมายที่ไม่ได้อ่าน หมายถึงความทรงจำที่ไม่อยากครุ่นคิดหวนระลึกถึง, ส่งให้เพื่อนเก่าเผาทำลาย มันก็ไม่ได้มีคุณค่าสลักสำคัญใดๆ เหล่านี้เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจ ตัวตนของ Gertrud อยู่ในสภาวะปลดปล่อยวาง ลดละเลิกการยึดติด … แต่ก็ยังเชื่อมั่นในรักคือทุกสรรพสิ่ง

ทิ้งท้ายกับช็อตนี้ ใครรับชมหนังเงียบมาเยอะน่าจะตระหนักได้ทันทีถึงลักษณะของ German Expressionism
– เสากลางห้องมีลักษณะเหมือนบันไดวน สะท้อนถึงวงเวียนวัฏจักรแห่งชีวิต อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เกิด-ตาย เริ่มต้น-สิ้นสุด
– โคมที่ควรมีไฟกลับเป็นกระจาด คงประมาณไร้แสงสว่าง ความหวังนำทางในชีวิต
– เก้าอี้จัดวางสะเปะสะปะ หันคนละทิศละทางรอบด้านสี่ทิศ น่าจะสะท้อนถึงความเข้าใจชีวิตจากหลากหลายมุมมอง
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย Jørgen Jersild (1913 – 2004) นักแต่งเพลง/ครูสอนดนตรีที่ The Royal Danish Academy of Music

นอกจาก Diegetic Music ที่ได้ยินวงดนตรีบรรเลง ตัวละครเล่นเปียโน และขับร้องโอเปร่า, งานเพลงมีลักษณะเหมือนสร้อยต่อท้ายบทกวี มักดังขึ้นช่วงเวลาที่ไม่มีการพูดคุยสนทนา แต่คอยประสานสร้างความต่อเนื่องระหว่างฉาก ซึ่งจะมีท่วงทำนองถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของ Gertrud ณ ช่วงขณะนั้นๆ อาทิ สุขสำเริงราญ (คาริเน็ตหวานๆ) โหยหาคิดถึง (ไวโอลินสี) หม่นหมองรวดร้าวระทม (เชลโล่กรีดกราย) ฯ

สำหรับ Diegetic Music
– โอเปร่า Pagliacci (1892) [แปลว่า ตัวตลก] ประพันธ์โดย Ruggero Leoncavallo (1857 – 1919) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน, หนังนำท่อน Vesti la giubba (แปลว่า Put on the costume) จากองก์หนึ่ง มาแปลเป็นภาษา Danish
– Dichterliebe, Op.48 แต่งโดย Robert Schumann (1810 – 1856) คีตกวีสัญชาติ German นำท่อน Ich grolle nicht แปลและขับร้องภาษา Dutch โดย Heinrich Heine

Gertrud คือหญิงสาวผู้โหยหาอิสรภาพแห่งรัก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของชายคนที่ตนหมายปอง แต่การกระทำของเธอช่างไม่แตกต่างอะไรจากสามีพยายามควบคุมครอบงำตนเอง ซึ่งเมื่อผลกรรมย้อนแย้งตามทันเลยตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เลือกหนทางปลดปล่อยวางเพื่อจักได้ไม่ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป

ตัวละคร Gertrud มีความเป็น Feminist ค่อนข้างสูง! กล้าที่จะครุ่นคิด-พูดบอก-กระทำ เผชิญหน้าต่อกรบุรุษได้อย่างไม่หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว เรียนรู้จักเข้าใจธาตุแท้ตัวตน ปฏิเสธการก้มหัว โอนอ่อนผ่อนตามเผด็จการ พยายามดิ้นรนโหยหาอิสรภาพ แสดงออกจากเสียงเพรียกเรียกร้องของฉันเท่านั้น!

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นเวียนวน บ้างซ้ำรอยเดิม ไม่ก็ตารปัตรหวนกลับมาหา ขึ้นอยู่ที่เราจะสามารถสังเกตเรียนรู้ ครุ่นคิดเข้าถึงสัจธรรมความจริง แล้วเกิดอาการเบื่อหน่ายอ่อนล้า เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็จักสามารถนำพาตนเองหลุดออกจากวังวงแห่งวัฎฎะสังสาร กิเลสราคะ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ปลดปล่อยวางเพียงพอแล้วกับความทุกข์ทรมานที่เคยได้รับมา

ผู้กำกับ Dreyer ไม่น่ารับรู้ตนเองหรอกนะว่า สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าใกล้ถึงปรัชญาพุทธศาสนามากแค่ไหน ทั้งหมดล้วนคือประสบการณ์ที่สะสมเยิ่นยาวนานมาจนสูงวัย ขณะนั้นอายุ 75 ปี หลงเหลือเวลาชีวิตอีก 4 ปี คงตระหนักได้ว่านี่อาจเป็นผลงานเรื่องสุดท้าย ปัจฉิมบทช่วงท้ายจึงถ่ายทอดมุมมองโลกทัศนคติส่วนตน พินัยกรรมบอกทุกคนว่าไม่ต้องเป็นห่วงตน ‘Amor Omnia’ รักคือทุกสิ่งอย่าง

“What I seek in my films…is a penetration to my actors’ profound thoughts by means of their most subtle expressions…This is what interests me above all, not the technique of cinema. Gertrud is a film that I made with my heart”.

– Carl Theodor Dreyer

Carl Theodor Dreyer เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ ที่ Copenhagen, Denmark เมื่อปี 1968 สิริอายุ 79 ปี


เมื่อตอนหนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes มีทั้งคนเดินออกและเสียงโห่ไล่ เช่นเดียวกันกับเทศกาลหนังเมือง Venice แต่ผู้ชมที่หลงเหลือดูจนจบ ต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้หลายนาที และคว้ารางวัล FIPRESCI prize (ของนักวิจารณ์)

เสียงวิจารณ์ตอนออกฉายแตกเป็นสองฝั่งฝ่าย
– นักวิจารณ์ทั่วไปเรียกหนังว่าหายนะ! ต่างพูดถึงความเชื่องช้า ไม่มีอะไรเลยของหนัง
– ‘Masterpiece of Lifetime’ ผู้กำกับ Jean-Luc Godard ยกให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, นิตยสาร Cahiers du cinéma มอบอันดับสองให้รองจาก Bande à part, นักวิจารณ์ Andrew Sarris จัดอันดับสองเช่นกันรองจาก Blowup

“Of all Dreyer’s works, it is the most inward and thus the culmination, if not the crown, of his aesthetic”.

– นักวิจารณ์ Jean Sémolué

กาลเวลาทำให้หนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นตำนาน เพราะความเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ติดอันดับ 43 จัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll เมื่อปี 2012

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้ชื่นชอบผลงานของ Carl Theodor Dreyer สักเท่าไหร่ มักเชิญชักชวนให้เลือกข้างฝั่งฝ่าย ตั้งคำถามเชิงศรัทธาต่อพระเจ้าผู้สร้าง แต่สำหรับ Gertrud เป็นข้อยกเว้นที่บอกเลยว่าคาดคิดไม่ถึง! แถมยังขนลุกขนพอง เกิดความคลุ้มคลั่งไคล้ต่อปรัชญาชีวิตที่ผู้กำกับค้นพบเจอ มันช่างสอดคล้องใกล้เคียงแนวคิดพุทธศาสนาเสียเหลือเกิน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจสาสน์สาระของหนังให้ได้ ถึงอิสรภาพ และเสมอภาคเท่าเทียม
– บุรุษ พยายามครุ่นคิดถึงการกระทำของตนเอง นี่เรากำลังควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำบุคคลที่รักยิ่งอยู่หรือเปล่า (ไม่ใช่แค่ภรรยานะครับ ต่อยอดไปถึงพ่อ-แม่ พี่-น้อง บุตร-หลาน ญาติมิตร-เพื่อนสนิท บริวาร ทุกคนรอบข้าง ฯลฯ)
– อิสตรี ทำความเข้าใจถึงอิสรภาพที่ต้องแลกกับการเสียสละบางสิ่งอย่าง และฝึกฝนตนเองมิให้ขลาดหวาดสะพรึงกลัวต่อการออกไปเผชิญโลกกว้าง

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศความตึงเครียด บุรุษพยายามควบคุมครอบงำ และอิสตรีโหยหาอิสรภาพเสรีด้วยการคบชู้นอกใจ

คำโปรย | อิสรภาพของ Gertrud คือสิ่งที่ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer โหยหามาตลอดชีวิต และได้รับมาก่อนหมดสิ้นลมหายใจ
คุณภาพ |
ส่วนตัว | คลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: