Get Out

Get Out (2017) hollywood : Jordan Peele ♥♥♥♥

สิ่งที่โคตร ‘Horror’ ในหนังเรื่องนี้ คือความน่าสะพรึงกลัวของการเหยียด ‘Racism’ ที่คนผิวขาวมักคอยจ้องจับผิด หาเรื่องดูถูกปฏิเสธต่อต้านคนผิวสีอยู่ตลอดเวลา อาจเพราะความอิจฉาอ่อนด้อยกว่าในเชื้อชาติพันธุ์ ลึกๆแล้วคงอยากถีบส่งขับไล่วิญญาณให้ออกจากร่าง แล้วจะได้เข้าสิงเพื่อใช้ประโยชน์ทางกายภาพแทน

Get Out เป็นภาพยนตร์ที่นิตยสาร Sight & Sound โหวตโดยนักวิจารณ์หลายสำนัก ติดอันดับ 1 ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี 2017

ผมก็แอบเสียดายเล็กๆที่พลาดรับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ (แต่มันก็ไม่เข้าฉายแถวบ้านด้วยละ เลยไม่ค่อยอยากดิ้นรนเข้าเมืองกรุงสักเท่าไหร่) เพิ่งมานึกได้ว่าออกฉายมาสักพักใหญ่ แผ่นออกแล้ว และสามารถรับชมได้ช่องทางอื่น ประจวบกับใกล้เทศกาลประกาศรางวัล Oscar ประจำปีพอดี เลยต้องถือโอกาสสักหน่อย

หลังจากรับชมจบ แม้จะเกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะบทที่มีความเฉียบคมคาย และการแสดงอันโคตรหลอนของแทบทุกตัวละคร แต่ในทัศนะส่วนตัวยังมองว่า CMBYN สวยงามเหนือชั้นกว่ามาก ขณะที่ Get Out คงถูกใจนักวิจารณ์คนอเมริกันมากยิ่งกว่าแน่ๆ

ชาวอินเดียรังเกียจจัณฑาล ยุโรปมีนาซีเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ขณะที่อเมริกาคนผิวขาวเหยียดทุกอย่างที่ไม่ใช่เชื้อชาติพันธุ์สีผิวเดียวกันตนเอง, Racism เป็นสิ่งที่พบเจอได้ในทุกวัฒนธรรมของสังคม จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากการที่มนุษย์มีสมองเฉลียวฉลาดกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เลยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สัตว์ประเสริฐ’ ส่วนอื่นที่เหลือคือเดรัจฉาน การแบ่งแยกครั้งนี้สานต่อมายังความขัดแย้งกันเองระหว่างมนุษย์ แบ่งแยกฝักฝ่ายพรรคพวกตามชาติพันธุ์ วงศ์ตระกูล สีผิว ถิ่นที่อยู่ ฯ รุนแรงบานปลายกลายเป็นสงคราม ดูแล้วคงไม่มีทางที่จะสิ้นสุดยุติลงได้ เพราะมันคือวิถีหนึ่งของชีวิต เกิดมายังมีชาย-หญิง สูง-ต่ำ ดำ-ขาว ไม่มีใครเหมือนกันสักคน เช่นนั้นแล้วจะไปหาความ ‘เสมอภาคเท่าเทียม’ พบเจอได้จากส่วนไหนของโลก

Hollywood ในอดีตก็เช่นกัน Hays Code กฎข้อตกลงร่วมกันในการสร้างภาพยนตร์ช่วงทศวรรษก่อน 60s มีข้อหนึ่งคือห้ามชาย-หญิง มีสัมพันธ์รักกับคนต่างเชื้อชาติพันธุ์

Miscegenation (sex relationships between the white and black races);

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปีที่ Hays Code ล่มสลายพอดิบพอดี และเป็นกระแสรุนแรงมากๆคือ Guess Who’s Coming to Dinner (1967) สร้างโดย Stanley Kramer เมื่อ Katharine Houghton นำพาแฟนหนุ่ม Sidney Poitier ที่เป็นคนผิวสี มาพบพ่อ-แม่ Spencer Tracy กับ Katharine Hepburn ที่บ้าน เรื่องวุ่นๆของการยอมรับ-ไม่ยอมรับ จึงบังเกิดขึ้น

สำหรับภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนผิวสีในปัจจุบัน ส่วนมากยังจมปลักอยู่ในไดเรคชั่น สะท้อนความเหยียด ‘Racism’ พบเห็นได้อยู่เรื่อยๆ -นี่ก็คงเป็นสิ่งที่คงไม่มีวันหมดไปเช่นกัน- แต่น้อยนักที่จะมีผู้กำกับโดดเด่นในวิสัยทัศน์ กล้านำเสนอประเด็นนี้ในรูปแบบของความ ‘Horror’ ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงไม่ค่อยยินยอมรับข้อเท็จจริง กับเรื่องราวและความรู้สึกที่สัมผัสได้นี้

ซึ่งส่วน Comedy ของหนัง มันไม่ใช่การหัวเราะกรามค้างท้องแข็ง แต่คือความ ‘Satire’ สะท้อนเสียดสีข้อเท็จจริงของสังคม นี่เป็นสิ่งเจ็บจี๊ดๆของคนผิวขาว แต่ชาวผิวสีคงกระหยิ่มยิ้มร่า เพราะหนังจบลงด้วย ‘หัวเราะทีหลังดังกว่า!’ ตบโต๊ะอย่างสะใจ

Jordan Haworth Peele (เกิดปี 1979) นักแสดง ตลก ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan เลี้ยงดูโดยแม่ที่เป็นคนผิวขาว แต่งงานกับพ่อที่เป็นคนผิวสี ระหว่างเรียนมหาลัยตัดสินใจออกมาเป็นตลกคู่กับ Keegan-Michael Key ใช้ชื่อ Key & Peele เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับโอกาสออกรายการโทรทัศน์ (2012 – 2015) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากทำรายการตลกมานาน เกิดความสนใจสร้างภาพยนตร์แนว Horror เพราะรู้สึกว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับ Comedy อย่างมาก

“horror and comedy genres are similar in that ‘so much of it is pacing, so much of it reveals'”,

ลักษณะของการเล่นตลก มักเริ่มจากอารัมบทเรียกน้ำย่อย เล่าเรื่องโน่นนี่นั่นที่ดูเหมือนไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ก่อนจะขมวดปมตบมุกที่มักทำให้ผู้ชมหัวเราะขำกลิ้งกรามค้าง, หนังแนว Horror ก็เช่นเดียวกัน เริ่มจากเกริ่นสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมเกิดความหลอนๆ น่าสะพรึง ขนหัวลุกชูชัน พอถึงฉากไคลน์แม็กซ์ ผีออกหรือปรากฎสิ่งทำให้สะดุ้งตกใจกลัว ขวัญหาย … เสียงหัวเราะกับเสียงกรี๊ด ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ในทัศนะของ Peele

นำแรงบันดาลใจจากการรับชมรายการ Talk-Show ตอนพิเศษ Eddie Murphy: Delirious (1983) มีการเล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับหนัง Horror อาทิ Poltergeist (1982), The Amityville Horror (1979) ตั้งคำถามว่าทำไมพวกคนผิวขาวถึงไม่ยอมหนีเมื่อรู้ตัวว่ามีผีอยู่ในบ้าน โดยเขาแซวว่าถ้าตัวเองได้ยินเสียงกระซิบดังกล่าวลอยมาจากไหนก็ตาม ‘get out’ ก็จะรีบแจ้นหนี ไม่มีวันอาศัยอยู่ทันที

ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับรับอิทธิพลมา อาทิ Guess Who’s Coming to Dinner (1967), Rosemary’s Baby (1968), Night of the Living Dead (1968), The Stepford Wives (1975), The Shining (1980), The Silence of the Lambs (1991), Scream (1996), Funny Games (1997) ฯ

เรื่องราวของ Chris Washington (รับบทโดย Daniel Kaluuya) นักถ่ายภาพผิวสี มีแฟนสาว Rose Armitage (รับบทโดย Allison Williams) เป็นคนผิวขาว ชักชวนให้ไปเยี่ยมครอบครัวที่ชนบทในช่วงสุดสัปดาห์วันหยุด แต่สถานที่แห่งนี้กลับเต็มไปด้วยความน่าพิศวงสงสัย คนใช้ผิวสีทั้งสองดูมีพฤติกรรมแปลกๆ ค่ำคืนแรก Chris ถูกแม่ (รับบทโดย Catherine Keener) สะกดจิต ทำให้ราวกับจมดิ่งลงไปสู่ความมืดมิดของจิตใต้สำนึก (The Sunken Place) ขณะที่พ่อ (รับบทโดย Bradley Whitford) เป็นนักประสาทวิทยา … พวกเขามีจุดประสงค์คิดจะทำอะไรกันแน่!

Daniel Kaluuya (เกิดปี 1989) นักแสดงผิวสีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London ครอบครัวอพยพจาก Uganda, ด้วยความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก ได้รับเลือกให้แสดงในภาพยนตร์/ละครซีรีย์ Doctor Who, Black Mirror ฯ ภาพยนตร์เรื่อง Johnny English Roborn (2011), Kick-Ass 2 (2013), Sicario (2015) แจ้งเกิดเต็มตัวกับ Get Out (2017) ล่าสุดสมทบ Black Panther (2018)

รับบท Chris Washington ก็ไม่รู้พบเจอตกหลุมรัก Rose ได้อย่างไร ดูใจกันอยู่ 4-5 เดือน ถึงยินยอมไปพบเจอพ่อ-แม่ ครอบครัวของเธอ, Chris เป็นคนสุภาพนอบน้อม มีจิตใจอ่อนไหว เห็นอกเห็นใจ ตอนรถชนกวางมีสีหน้าทุกข์ทรมานแทน ไม่ชอบมีปัญหา คงเพราะเป็นตากล้องด้วยกระมังเลยช่างสังเกต ขี้สงสัย ปณิธานไหวพริบดีเยี่ยม สันชาติญาณในการเอาตัวรอดสูงมาก

การแสดงของ Kaluuya มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก โดดเด่นอย่างยิ่งกับสายตาที่มักสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา แต่ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือฉากขณะถูกสะกดจิต ลืมตาโพลงแล้วน้ำตาไหลพรากๆ เห็นว่าฉากนี้ถ่ายทำทั้งหมด 5 เทค ซึ่งเขาก็สามารถเรียกน้ำตาออกมาในจังหวะที่พอดีเปะๆ วินาทีนั้นทุกครั้ง ขนาดผู้กำกับ Peele ยังอดเอ่ยปากชื่นชมไม่ได้

เกร็ด: แรกสุดผู้กำกับ Peele อยากได้ Eddie Murphy ให้มารับบทนำ แต่ตอนนี้เขาอายุ 55 แก่เกินแกงไปเสียแล้ว

Allison Howell Williams (เกิดปี 1988) นักร้อง นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Canaan, Connecticut, เป็นลูกสาวของโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ช่อง NBC เรียนจบจาก Yale University เข้าร่วมกลุ่ม Comedy Troupe ชื่อ Just Add Water อยู่ 4 ปี ตามด้วยเป็นนักร้อง นักแสดงซีรีย์ Girls, Peter Pan Live! ภาพยนตร์เรื่องแรก Get Out (2017) แจ้งเกิดโดยทันที

รับบท Rose Armitage หญิงสาวคนรักของ Chris ลึกๆเป็นคนจิตใจเย็นชา (ขับรถชนกวางแต่ไม่รู้สึกอะไร) พยายามโน้มน้าวแฟนหนุ่มบอกไม่ต้องกลัวอะไร ปั้นแต่งสีหน้าคำพูดออกมาได้อย่างแนบเนียน ลึกๆคงชื่นชอบเขาอยู่มาก แต่หน้าที่การงานเก็บแต้ม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า

ช่วงแรกปล่อยสยายผม ยิ้มแย้มร่าเริง ปากหวาน มีความน่ารักอย่างธรรมชาติโลกสวย แต่ครึ่งหลังจะเปลี่ยนมารวบมัดผม ใบหน้าสงบแน่นิ่ง ดวงตาดำขลับ (สะท้อนกับฉากหนึ่งของหนังเรื่อง The Stepford Wives) สวมชุดคอเต่า โหดเหี้ยมร้ายลึก เปลี่ยนไปราวกับคนละคน [ผู้กำกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Roro]

Catherine Ann Keener (เกิดปี 1959) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Miami, Florida เชื้อสาย Irish ในครอบครัว Roman Catholic, ขณะเรียน Wheaton College เข้าร่วมคณะละครเวที จนกลายมาเป็นความสนใจ จบออกมาได้รับเลือกแสดงซีรีย์ ตามด้วยภาพยนตร์ อาทิ Johnny Suede (1991), Walking and Talking (1996) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress สองครั้ง Being John Malkovich (2000), Capote (2005) ฯ

รับบท Missy Armitage แม่ที่เป็นจิตแพทย์เชี่ยวชาญการสะกดจิต ด้วยวิธีเคาะแก้วกระเบื้องสร้างความคุ้นเคยในขณะที่ผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงเวลาจิตใจอ่อนแออ่อนไหวที่สุด คล้ายๆหมาได้ยินเสียงสั่นกระดิ่ง เมื่อไหร่ได้ยินเสียงเคาะนี้ดังขึ้น จะทำให้ตกอยู่ในห้วงภวังค์ ดำดิ่งลงสู่พื้นที่ว่างดำใต้จิตสำนึก

ผมชอบการแสดงออกทางใบหน้าของป้า Keener อย่างมากเลยละ มานิ่งๆแต่ยิ้มแบบโหดลึกชั่วร้ายกาจมากๆ ซึ่งการสะกดจิต ปกติแล้วควรที่จะด้วยการยินยอมของฝ่ายตรงข้าม แต่นี่…

เกร็ด: ฉากสะกดจิต ผู้กำกับ Peele บอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก The Silence of the Lambs (1991) ทั้งวิธีการและไดเรคชั่น (เน้น Close-Up จับจ้องใบหน้าของกันและกัน)

Bradley Whitford (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Madison, Wisconsin, เรียนจบวิจิตรศิลป์จาก Wesleyan University ตามด้วย Juilliard School สาขาการแสดง เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดง Broadway, ซีรีย์ The West Wing, ภาพยนตร์ อาทิ The Cabin in the Woods (2012), Get Out (2017) ฯ

รับบทพ่อ Dean Armitage ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมองและระบบประสาท) เป็นคนพา Chris ทัวร์รอบบ้าน เล่าเรื่องที่ปู่ชื่นชอบการวิ่ง เคยคัดตัวไปโอลิมปิกแต่แพ้ให้ Jesse Owens ที่ไปคว้าเหรียญทอง 1936 Summer Olympics ณ Berlin ต่อหน้า Adolf Hitler เลยเกิดความฝังใจว่า คนผิวสีมักมีร่างกายภาพที่แข็งแกร่งกว่าคนผิวขาว

นี่ก็เป็นตัวละครวางมาดนิ่งๆแต่จิตใจโหดเหี้ยมชั่วร้าย ปากพูดบอกว่าโหวต Obama แต่ก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า, ผมชอบฉากการประมูลราคาด้วยป้าย Bingo เต็มไปด้วยความเงียบ แต่จิกกัดความชั่วร้ายลึกของคนผิวขาวได้อย่างเจ็บแสบ ประมาณว่านี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องพูดกัน มองตาก็รู้ได้โดยสันดาน

ถ่ายภาพโดย Toby Oliver ตากล้องสัญชาติ Australia เลือกใช้กล้อง ARRI Alexa Mini (ขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าปกติ) และเลนส์ Angenieux (หมุนปรับโฟกัสด้วยมือ) ปักหลักถ่ายทำอยู่ที่ Fairhope, Alabama

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ พยายามทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร Chris Washington หลายครั้งจึงเป็นช็อต Close-Up เห็นใบหน้าใหญ่เต็มภาพ ราวกับจะจับจ้องให้ทะลุเข้าไปสัมผัสถึงจิตวิญญาณภายใน (มันก็เข้าไปได้ถึงจริงๆนะแหละ)

ดวงตาของตัวละครมักจะมีแสง หรือภาพสิ่งที่เห็นสะท้อนอยู่ด้วย, อย่างช็อตนี้ขณะที่รถชนกวางตาย จับจ้องมองดีๆก็จะเห็นภาพกวางอยู่ในดวงตาของเขา ภาพหลังเบลอสนิท คือไม่ได้อยู่ในความสนใจแม้แต่น้อย

แต่สำหรับ Close-Up ช็อตนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไหร่ ทำไมย่า Georgina (รับบทโดย Betty Gabriel) ถึงได้น้ำตาไหลพรูออกมา มันราวกับว่าเธออยากแสดงความเสียใจต่อเขาที่กำลังจะสูญเสียจิตวิญญาณของตนเอง

เดิมนั้นเห็นว่าช็อตนี้ตัวละครแค่จะยืนพูดอยู่ข้างนอก ไม่ได้ก้าวเท้ายื่นหน้าเข้ามา(จุ้นจ้าน) แต่เพราะมันจะไม่มีอะไรให้กล่าวถึงตัวละครนี้เลย (นอกจากชอบหวีลูบผม เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด) การเพิ่มให้ตัวละครก้าวเท้าเดินมาประชิดกล้อง ได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมาจากจิตใจของเธอ

ขณะที่ Long Shot มักถูกนำเสนอในลักษณะอันน่าพิศวงสงสัย เหมือนคนแอบด้อมๆมองๆจากระยะไกล บางสิ่งอย่างชั่วร้ายซ่อนแฝงอยู่ในช็อตนั้นๆ, อย่างภาพนี้ก็คือบ้านทั้งหลังนะแหละครับ เป็นทั้ง Establish Shot และแนะนำบ้าน+ตัวละคร พร้อมกันไปในตัว

การวิ่งเข้าหาของปู่คนงานผิวสี นี่กลายเป็นคำท้าที่มีชื่อเรียกว่า ‘Get Out Challenge’ ในกองถ่าย Black Panther (2018) ก็จะมี Lupita Nyong’o, Michael B. Jordan ฯ ต่างวิ่งเข้าหา Kaluuya แล้วต้องหักหลบเปลี่ยนทิศทางให้ได้ในวินาทีสุดท้าย … ก็ไม่รู้มันสนุกยังไงนะครับ คงมีจุดประสงค์เพื่อโปรโมทหนังมากกว่า

ฉากนี้ใช้ประโยชน์ของเลนส์ Angenieux ได้เจ๋งมากๆเลยนะ เพราะตัวละครวิ่งมาจากระยะไกล ทำให้มีการปรับระยะโฟกัสเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นใบหน้าของตัวละครชัดคมกริบตลอดเวลา ขณะที่พื้นหลังก็จะเบลอขึ้นเรื่อยๆ

เกร็ด: ผู้กำกับ Peele ได้แรงบันดาลใจฉากนี้จาก North by Northwest (1959) การวิ่งป่าราบของ Cary Grant

ถ้าอยู่ดีๆมีใครจากไหนก็ไม่รู้ วิ่งปรี่ตรงเข้ามาหาคุณลักษณะนี้ ไม่ให้ตกใจหายวาบก็กระไรอยู่ จะมาพุ่งชน แก้ล้างแค้น หรือทำร้ายอะไรเรากันแน่ อย่างน้อยก็ต้องก้าวถอยหลังไปสักหน่อยก่อน (ว่าไปถ้าเอาไปแกล้งเพื่อนนี่ หัวใจคนถูกแกล้งจะวายแน่)

สำหรับ The Sunken Place ถ่ายทำในสตูดิโอ โดยให้ Kaluuya ลอยต่องแต่งอยู่บนเส้นเชือก ทำเหมือนกำลังตกลงสู่พื้น ใช้ความเร็วประมาณ 200 fps (ภาพ/วินาที) เพื่อสร้าง Slow-Motion ให้สัมผัสเหมือนกำลังจมดิ่งลงสู่โลกใต้ำน้ำ และไปใส่แสงระยิบระยับ (Particles) หลังการถ่ายทำ

The Sunken Place นี่มันคือสถานที่หรืออะไรกัน? คำนิยามของผู้กำกับคือ

“The Sunken Place means we’re marginalized. No matter how hard we scream, the system silences us.”

ผมมองว่าเป็นการเปรียบเปรยกับโลกของจิตใต้สำนึก คำสั่งให้จมลงสู่ The Sunken Place คือการขับไล่ ‘Get Out’ จิตวิญญาณ/ตัวตน ของผู้ถูกสะกดจิต ให้ออกจากการควบคุมครอบครองร่างกาย ร่วงหล่นลงสู่ Limbo ที่ว่างไร้ขอบเขตและกาลเวลา

แซว: สำนวน ‘ใจหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม’ เปรียบเทียบเล่นๆ นี่คือโลกของ ‘ตาตุ่ม’ สิน่ะ!

ตัดต่อโดย Gregory Plotkin, ส่วนใหญ่ของหนังใช้มุมมองของ Chris Washington ในการเล่าเรื่อง แต่มีช่วงขณะหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นของ Rod Williams (รับบทโดย Lil Rel Howery) ที่พยายามสืบสวนสอบส่วนเพื่อนสนิทที่หายตัวไป (จะถือเป็นส่วน Comedy ตลกคลายเครียดของหนังก็ว่าได้)

มีเพียงครั้งเดียวในหนังเองกระมังที่ผมสะดุ้งตกใจ เป็นช่วงเวลาคาดคิดไม่ถึงจริงๆว่าจะมีใครสักคนเดินผ่านด้านหลัง แถมเสียงเพลงก็ดังขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่หลังจากนั้นก็จะเป็นบรรยากาศหลอนๆชวนให้ขนลุกขนพองเสียมากกว่า

หนังให้เวลากับการอารัมบทค่อนข้างนาน ดำเนินเรื่องอย่างเชื่องช้าๆเนิบนาบไม่รีบเร่ง แต่หลายคนอาจรู้สึกตอนจบไม่เต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่ เพราะมันสั้นกระชับรวบรัดเกินไปนิด … แต่จะไปคาดหวังอะไรกับการล้างแค้นเอาคืนละครับ พระเอกก็ไม่ใช่คนโหดเหี้ยมชั่วช้า จะให้ไปทรมานเหล่าผู้ร้ายก็ใช่เรื่อง แค่ย้อนศรในสิ่งที่ตนถูกกระทำมาแค่นั้นก็สาสมเกินพอแล้ว

ลักษณะการตายของแต่ละตัวละคร สะท้อนแนวคิดอะไรบางอย่าง
– Jeremy เก่งการต่อสู้ Jujitsu แต่พลาดพลั้งโดยไม่รู้ตัวถูกลูกบอลทุบหัว แต่ยังไม่ตายหวนกลับมาล็อกคอพระเอก แล้วถูกแทงเข่า (ด้วยส้อม?) ก่อนถูกกระทืบหัวซ้ำ … นี่เป็นการแซวว่า ใช้สมองมากเกินไปก็ใช่ว่าจะเอาชนะได้ พละกำลัง ไหวพริบปณิิธาน โอกาสและดวง ต่างมีผลทั้งนั้น (แต่ตัวละครนี้ไม่ค่อยเหมือนคนใช้สมองเท่าไหร่เลยนะ ปากเก่งอย่างเดียว)
– พ่อ Dean ถูกเขากวางสตั๊ฟแทง/สวมเขาที่คอ นัยยะถึงการเอาคืนของผู้บริสุทธิ์ หมดสิ้นความทะเยอทะยาน
– แม่ Missy ถูกกรีดคอด้วยส้อม? ที่แทงทะลุมือพระเอก หมดสิ้นความทะเยอทะยานเช่นกัน
– ย่า Georgina ถูกรถชนยังไม่ตาย ตั้งใจจะช่วยเหลืออุ้มขึ้นรถ แต่พอคืนสติกลับเสียสติ ทำให้รถชนเข้าข้างทางสิ้นชีวิต
– ปู่ Walter ออกวิ่งเร็วกว่า Jesse Owens จะบีบตาให้ถลนแต่ฟื้นคืนสติ ฆ่าได้หยามไม่ได้ สุดท้ายส่องกระบาลตัวเอง
– แฟนสาวสุดที่รัก Rose โดนยิงเข้าที่ท้องยังไม่ตาย แต่ถูกปล่อยทิ้งไว้แบบไร้เยื่อใยดี ทุกข์ทรมานแสนสาหัส (สะท้อนกับที่พระเอกปล่อยแม่ให้ตาย แต่นั่นโดยไม่รู้ตัวและสำนึกผิด นี่คือด้วยความจงใจเพื่อให้ก้าวข้ามผ่าน Trauma ครั้งนั้น)

Peele เขียนตอนจบไว้อีกแบบคือ Chris ถูกตำรวจ(ผิวขาว)จับข้อหาฆาตกรรมตระกูล Armitages แล้ว Rod ไปเยี่ยมในคุกเพื่อขุดคุ้ยหาข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน แต่ถูกปฏิเสธบอกว่าให้มันหยุดยุติที่เขาตรงนี้, จบแบบนี้สะท้อนความเป็นจริงของการเหยียด Racism ที่คนผิวสีมักไม่กล้าพูดบอกกล่าวอ้างโยนความผิดให้คนผิวขาว เพราะรู้ตัวว่าคงไม่มีทางชนะคดีแน่

เพลงประกอบโดย Michael Abels คีตกวีนักแต่งเพลง Orchestra โดดเด่นกับองค์ประกอบ Blues, Jazz และ Bluegrass ยังไม่เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาก่อน นี่คือผลงานเรื่องแรก

ความต้องการของ Peele ต้องการดนตรีของคนผิวสี เพื่อสะท้อนสัมผัสแห่งความหวังเล็กๆในห้วงสั้นๆ ซึ่งก็มีทำนองคำร้อง Swahili และ Bluegrass ผสมอยู่ด้วย

“I was into this idea of distinctly black voices and black musical references, so it’s got some African influences, and some bluesy things going on, but in a scary way, which you never really hear,

I wanted Michael Abels, who did the score, to create something that felt like it lived in this absence of hope but still had [black roots]. And I said to him, ‘You have to avoid voodoo sounds, too.'”

Soundtrack ส่วนใหญ่ของหนัง (ที่ไม่ได้มีคำร้อง) มักมีห้วงทำนองสั้นๆ อย่างบทเพลง Get Out เสียงเชลโล่กรีดกรายสองโน๊ต ผมได้ยินแต่คำว่า Get Out

มีอีกขณะหนึ่งที่หนังใช้ชื่อทำนอง Get Out เหมือนกัน ช่วงกลางเรื่องเมื่อมีตัวละครหนึ่งพูดกับพระเอก ‘Get Out’ น่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน ฟังเหมือนเสียงเคาะระฆังเพื่อเตือนสติ

ช่วง Prologue ของหนัง คนที่เคยรับชม Halloween (1978) น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สำหรับบทเพลงที่ใช้ Run Rabbit Run (1939) แต่งโดย Ralph T. Butler, Noel Gay ขับร้องโดย Flanagan and Allen ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เกร็ด: เพลงนี้ Flanagan and Allen เวลาออกทัวร์คอนเสิร์ตชอบเปลี่ยนคำร้องจาก Run Rabbit – Run! Run! Run! เป็น Run Adolf (Hitler), Run! Run! Run!

แอบสงสัยเพลงนี้แต่งเพื่อหนังเรื่อง The Rules of the Game (1939) หรือเปล่าเนี่ย! เพราะนัยยะแบบเดียวกันเปะๆเลย เปรียบกระต่ายกับผู้บริสุทธิ์ตาดำๆ ถูกผู้คนไล่ยิงจับกินเป็นอาหาร, กับหนังเรื่องนี้เปลี่ยนจากทหารใน WW2 กลายมาเป็นคนผิวสีแทน

บทเพลงที่ดังขึ้นก่อนเริ่มออกเดินทาง Redbone เขียนโดย Donald Glover, Ludwig Göransson ขับร้องโดย Donald Glover (ในชื่อ Childish Gambino) ผู้กำกับเลือกเพลงนี้เพราะมีสองคำร้องสำคัญ ‘stay woke’ กับ ‘don’t close your eyes.’

บทเพลง Sikiliza Kwa Wahenga ภาษา Swahili แปลว่า listen to your ancestors ประมาณว่าสิ่งที่คนผิวสีเสี้ยมส่อนกันมา คืออย่างสืบข้ามสายพันธุ์ คนผิวสีก็ควรอยู่กับพวกเดียวกัน ไม่ใช่ข้ามไปร่วมรักแต่งงานกับคนผิวขาว

คำร้องของบทเพลง รวมๆแล้วจะมีแค่ “Brother, run! Listen to the elders. Listen to the truth. Run away! Save yourself.” เป็นเพลงที่ดังขึ้นเตือนพระเอก (และผู้ชมที่ฟังออก) จงรีบหนีไปให้ไกล

บทเพลง Hypnosis เริ่มจากค่อยๆสร้างบรรยากาศชวนฝัน(ร้าย) ให้หวนนึกถึงความทรงจำอดีตที่เจ็บปวดรวดร้าว ก่อนที่อยู่ดีๆดนตรีจะเปลี่ยนเป็นเชลโล่ประสานเสียงดังกระหึ่ม ลุ่มลึก จิตวิญญาณหล่นลงสู่ The Sunken Place มีความทรงพลัง ขนลุกขนพอง ราวกับดินแดนแห่งความมืดที่เหมือนจะไม่มีวันหวนกลับคืนขึ้นมา

ทำนองนี้จะดังขึ้นตอนช่วง Auction ด้วยนะครับ ราวกับว่าเป็นการสะท้อน ‘จิตสำนึก’ ของผู้ที่มาประมูล ต่างตกอยู่ในสถานะ Sunken Place เฉกเช่นเดียว

Get Out คือการขับไล่บางสิ่งอย่างออกไป, ใจความของหนังเหมือนว่าคือคำเตือนที่พระเอกได้รับ บอกกล่าวถึงอันตรายถ้ายังขืนพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ก็จะเจอของดีเข้าโดยไม่รู้ตัว

อีกใจความหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือการขับไล่จิตวิญญาณออกจากร่างกาย ให้สูญเสียซึ่งสติสัมปชัญญะ ควบคุมอะไรไม่ได้ ตกอยู่ในสถานที่แห่งความมืดมิดสนิท มิอาจหวนกลับคืนสู่สภาวะปกติของตนเองได้

แต่โดยรวมของหนังและนัยยะสื่อความหมายของผู้กำกับ เหมือนต้องการขับไล่พวกคนที่ยังมีความเหยียด ‘Racism’ ให้ออกไปจากสังคมได้แล้ว มันถึงทศวรรษแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกระดับ ใครก็ตามยังคงรังเกียจขยะแขยงยินยอมรับไม่ได้ สมควรอย่างยิ่งจะถูกประณามจนสูญเสียขายหน้า และหมดสิ้นจุดยืนในสังคม

ในชีวิตของผู้กำกับ Jordan Peele มีแม่เป็นคนผิวขาว ก่อนหน้ากำกับหนังเรื่องนี้ก็เพิ่งแต่งงานกับภรรยาผิวขาวเช่นกัน ไม่สนสิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียม คำแนะนำของบรรพบุรุษที่เคยมีมาแม้แต่น้อย ซึ่งเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้การันตีได้เลยว่า ต้องนำส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ตรงกึ่งอัตชีวประวัติแน่ๆ (คงขณะเดินทางไปพบเจอครอบครัวของแฟนสาวครั้งแรกๆ) แม้มันจะไม่ได้เลวร้ายถึงระดับในหนัง แต่เชื่อได้เลยว่าเป็นความปกติที่ชาว African-American จะได้รับ พบเจอในชีวิตปกติประจำวันอย่างแน่นอน

ซึ่งสิ่งสำคัญสุดของชาวผิวสี ที่จะมีจุดยืนในสังคมได้แบบตัวเขานี้ (ผู้กำกับ Peele) จิตใจต้องมีความกล้าหาญเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวการถูกขับไล่ไสส่ง หรือพ่ายแพ้ด้วยจิตวิญญาณ (คืออย่าฟังคำกรอกหู ถูกหลอกด้วยการดื่มน้ำชา แล้วขายตัวขายวิญญาณให้กับพวกคนผิวขาว) สิ่งที่ต้องรักษาไว้คือตัวตนของเราเอง เพื่อนไม่ทิ้งกัน และไม่ยอมรับความพ่ายแพ้โดยง่าย คนแบบนี้ไม่มีใครเอาชนะได้หรอกนะ

หนังเรื่องนี้พยายามทำให้ผู้ชม -ไม่ว่าจะสีผิวไหน- รับรู้เข้าใจความรู้สึกของคนผิวสี ต่อการอยู่ในโลก All White ของชุมชนคนผิวขาว ที่มักเต็มไปด้วยความ ‘Horror’ นานับประการ แต่ผมพยายามอยากทำความเข้าใจอีกแบบตรงกันข้ามด้วย ในมุมของคนผิวขาวประเภท White Supremacy รับชมหนังเรื่องนี้ พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? (จริงๆคนพรรค์นั่นคงไม่น่าจะดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่แรก) ก็ได้คำตอบว่า พวกเขาคงขยะแขยงรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการยกย่องยอมรับคนผิวสีว่ามีความ ‘เหนือกว่า’ ในหลายๆด้าน ขำไม่ออกกับการพยายามเอาจิตวิญญาณสวมใส่ลงไปในร่างกายพวกเขา ถือว่าเป็นการทรยศต่อชาติพันธุ์และความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ทำไมคนผิวขาว ถึงกลัวคนผิวสี? กรรมสนองกรรม (มั้งนะครับ) คือเมื่อก่อนทำอะไรๆกับพวกเขาไว้มาก ถึงปัจจุบันเลยเกิดความหวาดกลัวได้รับการโต้ตอบสนอง, ในบริบทของหนังเรื่องนี้พยายามนำเสนอถึงลักษณะกายภาพ ที่มีความสวยงามสง่า เข้มแข็งแกร่งทรงพลังกว่า เปรียบเทียบกับ Jesse Owens นักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิก เป็นคนผิวสีที่ใครๆมองว่าต่ำต้อย แต่กลับสามารถวิ่งแข่งเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ต่อหน้า Adolf Hitler นับตั้งแต่นั้นมาภาพลักษณ์ของชาว African-American จึงดูน่าเกรงขาม ราวกับปีศาจที่ยามค่ำคืนที่สามารถแอบย่องเข้ามาบีบคอคนผิวขาวผู้บริสุทธิ์ตาดำๆให้ตายคามือได้

ขณะเดียวกันความหวาดกลัวแปรสภาพกลายเป็นความอิจฉาริษยา ทำไมร่างกายของฉันถึงไม่เกิดมามีศักยภาพ เข้มแข็งแกร่งเทียบเท่าพวกเขา ถ้าสามารถสวมใส่อวตารวิญญาณเข้าไปได้ … แต่เอะ! วิญญาณมันมีแบ่งแย่งขาว-ดำ ด้วยเหรอเนี่ย

นี่นำเข้าสู่อีกประเด็นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากของหนัง Racism มันคือการเหยียดอะไร? ภาพลักษณ์ภายนอก หรือตัวตนภายใน? โลกยุคสมัยนี้เปิดกว้างในด้านเสรีหลายๆด้าน ชาย-หญิง ต่างเชื้อชาติพันธุ์ แต่งงานร่วมรักกันได้ตามรสนิยมความชื่นชอบ แต่ภายในของพวกเขาละเปิดกว้างยอมรับได้จริงๆนะหรือ มันกลายเป็นว่ามีคนขาวอีกจำพวกหนึ่ง ใช้ศักยภาพของคนผิวสีในลักษณะ Sex Slave, แต่งงานมีลูกเพื่อหวังยีนส์ดีๆ ฯลฯ นี่มันอัปลักษณ์พิศดารยิ่งกว่าแต่เก่าก่อนอีกนะ เป็นความชั่วร้ายที่ไม่แสดงออก ปกปิดหลบซ่อนอยู่ภายใน นิ่งๆเงียบๆแบบยุคสมัยนี้แหละน่ากลัวชิบหาย

ในมุมมองประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ ผมรู้สึกว่าประเด็น Racism นี้มันค่อนข้างไร้สาระไกลตัวยังไงชอบกล นั่นอาจเพราะวิถีชีวิตของเราไม่ได้คลุกคลีอยู่กับความแตกต่างขัดแย้งระดับนั้น (แต่ประเทศไทยเราก็มีการเหยียดอยู่นะ แค่ไม่ได้รุนแรงหรือเป็นปัญหาโลกแตกเท่าหลายประเทศอื่น) คนที่เคยไปอยู่อเมริกา เชื่อว่าคงสามารถสัมผัสความไม่เท่าเทียมนี้ได้เข้ากับตัวแน่ๆ ไม่จำเป็นต้อง African-American กับเอเชียผิวเหลืองล้วนมีสภาพไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย แต่ชาวเราไม่ใช่พวกชอบหาเรื่องต่อยตีกับผู้อื่น อยากดูถูกหยามเหยียดหมิ่นแคลนก็ปล่อยไป มันสะท้อนสันดานเลวทรามในจิตใจของพวกเขาออกมา เห็นแล้วก็จดจำไว้ ‘Get Out’ หนีออกมา จะไปคบค้าสมาคมคนพรรค์นั้นทำไมกัน

ด้วยทุนสร้าง $4.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $176 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $255 ล้านเหรียญ ถือเป็นหนังที่ทำกำไรในสัดส่วนสูงสุดของปีเลยก็ว่าได้

เข้าชิง Oscar 4 สาขา
– Best Motion Picture of the Year
– Best Directing
– Best Actor (Daniel Kaluuya)
– Best Original Screenplay

ต้องถือว่าเกินความคาดหมายมากทีเดียว นี่ถ้าไม่เพราะ Moonlight (2016) สร้างความแตกต่างไว้มากเมื่อปีก่อน หนังเรื่องนี้อาจหลุดโผลไม่ได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับ/นักแสดง เสียด้วยซ้ำ, กระนั้นโอกาสที่จะคว้ารางวัล คงมีเพียง Best Original Screenplay ที่ถือว่าเต็งจ๋า เพราะเพิ่งคว้า WGA มาสดๆร้อนๆ แต่อะไรๆก็เกิดขึ้นได้

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดในหนังเรื่องนี้คือ ความเฉียบคมคายของบท สะท้อนเสียดสีจิกกัดได้อย่างเจ็บแสบ แถมหลายอย่างตรงกับยุคสมัยทันโลกปัจจุบันมากๆ, ขณะที่การแสดงของ Daniel Kaluuya น่าจับตามองอย่างยิ่งทีเดียว (ใน Black Panther เหมือนจะไม่ได้ขายการแสดงสักเท่าไหร่) แต่ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Jordan Peele ยังรู้สึกว่าโดยบังเอิญอยู่ ต้องรอดูผลงานเรื่องถัดๆไป จะสามารถกลายเป็นอีกหนึ่งโคตรผู้กำกับแห่งยุคได้หรือเปล่า

แนะนำกับคอหนัง Horror หลอนๆแบบบรรยากาศ สยิวกาย, ชื่นชอบ Satire สะท้อนเสียดสีสังคมอเมริกัน และความ Racism ในมุมมองของคนผิวสี

จัดเรต 18+ กับการเหยียด Racism

TAGLINE | “Get Out แจ้งเกิดทั้งผู้กำกับ Jordan Peele และนักแสดง Daniel Kaluuya สามารถขับไล่ความชั่วร้ายออกไปจากจิตวิญญาณได้หมดจรด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

6
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
5 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลOazsarujOazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

นี่เป็นหนังที่ผมไม่เข้าใจว่าเข้า Top 100 S&S ได้ไง? ด้านเทคนิคมันมีอะไรลึกล้ำ หรือ ทรงอิทธิพลกว่าหนังสยองขวัญเรื่องอื่น หรือ ทรงพลังเหนือ The Tree of Life,Hidden,There Will be Blood,A Separation หรอ? ก็เข้าใจเรื่องอยากพลักดันหนังคนดำแต่คุณภาพไม่ได้ไงไม่ควรติด Top 250 ด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับหนังคนดำนับไม่ถ้วนที่ติด ผมเห็นหนังคนดำกับผู้หญิงอันดับขึ้นตลอด ขณะที่ฝั่งเอเชีย รัสเซีย หรือ หนังยุโรปที่ไม่ใช่ผู้หญิงร่วงอยู่เยอะ น่าเศร้าเหมือนกัน S&S ล่าสุด เอาเรื่องความเท่าเทียมมาเหนือกว่าคุณภาพ อิทธิพล

%d bloggers like this: