Ghost in the Shell

Ghost in the Shell (1995) Japanese : Mamoru Oshii ♥♥♥♥♡

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยี สามารถสร้างขึ้นเพื่อทดแทนทุกสิ่งอย่างของมนุษย์ได้ (Shell) แล้วสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณ (Ghost) จะแอบซ่อนอยู่ตรงไหน? ภาพยนตร์อนิเมชั่นอภิมหาไซไฟเชิงปรัชญา ได้แรงบันดาลใจจาก Blade Runner (1982) และเป็นอิทธิพลให้ The Matrix Trilogy ชวนคุณให้ตั้งคำถามว่า ‘มนุษย์คืออะไร?’

จิต (Consciousness) คือ ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์, ในทางพระพุทธศาสนาคำว่า จิต คือธาตุรู้หรือธาตุคิด ที่มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปตามองค์ประกอบหรือคุณภาพต่างๆ กระบวนการนี้เกิดขึ้นดับไปตามแต่ที่จิตจะเหนี่ยวสิ่งใดขึ้นมาจับไว้

ตามกฎแห่งอนัตตา (ทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่แท้จริง) จะถือว่าจิตเป็นสิ่งไม่จริงแท้ ไม่มีตัวตนอันเป็นแก่น เหมือนต้นไม้ย่อมอาศัยดิน ราก ใบ แสงแดด อากาศ ถึงทำให้มีตัวตนที่เรียกว่าต้นไม้ขึ้น เช่นเดียวกับจิตที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการอิงอาศัยประกอบกันเป็นกระบวนการทำงาน เรียกว่า ธรรมธาตุ ๗ อันประกอบด้วย เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, มโน, จิต และภวังค์ ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีแยกย่อยออกไปอีก อาทิ จิต ประกอบด้วยอารมณ์ 121 อาการ มีหน้าที่ 14 กิจ ฯ

ผมคงไม่ขอลงรายละเอียดไปมากกว่านี้ เพราะนี่เป็นบทความวิจารณ์ไม่ใช่สอนศาสนานะครับ ใครสนใจอยากศึกษาเบื้องต้น ลองพึ่ง wikipedia ไปแล้วกัน
reference: https://th.wikipedia.org/wiki/จิต_(ศาสนาพุทธ)
reference: https://th.wikipedia.org/wiki/ธรรมธาตุ_7

ในความเป็นจริงนั้น จิตวิญญาณมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ปัญญาของมนุษย์ หรือปัญญาประดิษฐ์จะสามารถคิดค้นสร้างขึ้นได้เอง (คงมีแต่ระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่อาจสามารถสร้างจิตขึ้นมาได้ แต่ท่านไม่เคยทำเลยนะครับ เพราะไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร!) เหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่วันเกิดขึ้นได้จริง แต่เพราะมันคือเรื่องแต่ง fiction เพื่อชวนให้เกิดความคิดข้อสงสัย ตั้งคำถามเชิงปรัชญา ก็ขอให้ระลึกถึงจุดนี้ไว้ในใจพอนะครับ

อนิเมชั่นเรื่องนี้มีสองสมมติฐานที่ตั้งขึ้นเป็นพื้นหลังของเรื่องราว
– “ในอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวล้ำหน้า จนสามารถสร้างทุกสิ่งอย่างทดแทนมนุษย์ได้” (กายภาพ)
– “ในอนาคตที่มนุษย์สร้างปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดพูดจนได้จนมีจิตวิญญาณของตัวเองขึ้นมา” (มโนภาพ)

ดัดแปลงจากมังงะสำหรับเด็กโต (Seinen) เรื่อง 攻殻機動隊 (Kōkaku Kidōtai?) ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า Mobile Armored Riot Police แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Ghost in the Shell เขียนโดย Masamune Shirow ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายสัปดาห์ Young Magazine ตั้งแต่ปี 1989 รวมทั้งหมด 3 เล่ม เรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรต่อต้านผู้ก่อการร้ายทางอินเตอร์เน็ต (counter-cyberterrorist organization) มีชื่อว่า Public Security Section 9 (หน่วย 9)
– เล่ม 1 Ghost in the Shell ในปี 2029 หน่วย 9 นำโดย Major Motoko Kusanagi ไล่ล่าค้นหา Puppet Master ผู้ก่อการร้ายไซเบอร์ (cyber-criminal) ที่มีความสามารถ ghost hacking โจรกรรมความคิด/จิตวิญญาณของผู้อื่นผ่าน Cyberbrains สมองกล
– เล่ม 2 Ghost in the Shell 2: Man-Machine Interface เป็นเรื่องราว 5 ปีต่อจากเล่มแรก เมื่อ Major สามารถเอาจิตตัวเองโลดแล่นไปในทุกเครือข่ายบน Cybernet และค้นพบ
– เล่ม 1.5 Ghost in the Shell 1.5: Human-Error Processor รวมเรื่องสั้น 4 เรื่อง เป็นภารกิจของหน่วย 9 ที่มีช่วงเวลาระหว่างเล่ม 1 กับ เล่ม 2

แรกสุดเลย Shirow ต้องการให้มังงะชื่อว่า Ghost in the Shell เพื่อเป็นการให้เกียรติหนังสือของ Arthur Koestler เรื่อง The Ghost in the Machine ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา แต่บรรณาธิการของนิตยสารบอกว่า ชื่อนี้มันไม่หวือหวาเท่าไหร่ เลยกลายมาเป็น Kōkaku Kidōtai (攻殻機動隊?), ในญี่ปุ่นใช้ชื่อไหนคนก็รู้จักเข้าใจนะครับ แต่ถ้านอกญี่ปุ่นคงรู้จักกันแต่ Ghost in the Shell

สรุปย่อๆของสองเล่มแรก
– เล่มแรกนำเสนอแนวคิดที่ว่า เส้นแบ่งของมนุษย์กับหุ่นยนต์คืออะไร? จิตวิญญาณคืออะไร? และปัญญาประดิษฐ์สามารถพัฒนาตัวเองจนมีจิตวิญญาณของตนเองได้ไหม ตอนจบคือการรวมกัน (Merge) ระหว่าง Major (จิตวิญญาณของมนุษย์) กับ Puppet Master (จิตวิญญาณของปัญญาประดิษฐ์) สามารถมองได้ว่าเธอกลายเป็นพระเจ้าในโลก Cybernet ขึ้นมาทันที/หรือจะมองว่า หลุดพ้นก็ได้นะครับ
– เล่มสองนำเสนอสิ่งที่พระเจ้าสามารถกระทำได้ ด้วยการแบ่งตัวเองเป็นหลายๆส่วน ปรากฎอยู่ทุกที่ทุกเวลา และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อได้พบกับพระเจ้าอื่น ที่มีสถานะ/พลังแบบเดียวกับเธอ

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากเล่ม 1 เฉพาะตอน 1, 3, 9 และ 11 (ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ) เป็นบทภาพยนตร์โดย Kazunori Itō ที่มีผลงานดังอย่าง Dirty Pair (1985), Patlabor: The Movie (1989, 1993) ล้วนเป็นอนิเมชั่นไซไฟโลกอนาคต ที่แฝงแนวคิดบางอย่างลึกซึ้ง, น่าเสียดายที่ Itō รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์แค่ภาคนี้ภาคเดียว เพราะหลังจากนี้ก็งานยุ่งตลอด กลายเป็นคนเขียนบท ไตรภาค Gamera, ซีรีย์ .Hack แทบจะทุกภาคตั้งแต่ปี 2002 ฯ

กำกับโดย Mamoru Oshii (เกิดปี 1951) สมัยเรียนมีความชื่นชมหลงใหลในภาพยนตร์ยุโรป โดยเฉพาะ La jetée (1962) หนังสั้นของ Chris Marker ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ 12 Monkey (1995) นอกจากนี้ผลงานของผู้กำกับดัง อาทิ Federico Fellini, Ingmar Bergman, Michelangelo Antonioni, Jean-Pierre Melville รวมถึง Jean-Luc Godard, Andrei Tarkovsky และ Jerzy Kawalerowicz ที่มีอิทธิพลในแง่ภาษาภาพยนตร์ที่จะเห็นอิทธิพลได้ชัด

ผลงานของ Oshii ที่ดังๆนอกจาก Ghost in the Shell ฉบับภาพยนตร์ทั้งสองภาค ยังมี ซีรีย์ Urusei Yatsura (1981–1984), Patlabor: The Movie (1989), Avalon (2001), The Sky Crawlers (2008) ฯ

สไตล์ของ Oshii จะมีลักษณะคล้ายสูตรสำเร็จของหนัง Hollywood แต่ปรับให้เข้ากับตัวเอง ‘create worlds different from our own.’ เริ่มต้นฉากแรกๆมักเป็น Action Sequence เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ จากนั้นจะค่อยปรับจังหวะช้าลง จนช่วงหนึ่งมักไม่มีบทสนทนาอะไรเลย เป็นภาพประกอบเพลง/เพลงประกอบภาพ เพื่อให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศของสถานที่ พื้นหลังเรื่องราว จากนั้นทุกอย่างก็จะค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นอีกครั่งเพื่อ Climax ในแต่ละช่วง

สำหรับ Ghost in the Shell ภาคแรก แม้จะถือว่ามีกลิ่นอายสไตล์ของ Oshii อยู่พอสมควร แต่ถ้าคุณได้ดู Ghost in the Shell 2: Innocence แล้วละก็ จะเห็นความเป็นศิลปินของเขาที่พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจ ด้วยการสอดใส่แนวคิดปรัชญาหลายๆอย่าง อ้างอิงจากพื้นฐานที่มีอยู่ในชีวิตจริงลงไป (คือ Ghost ภาคแรกยังอิงจากมังงะเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคสองนำเอาแนวคิดของตัวเองใส่ลงไปด้วย จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก)

“Oshii’s work… steers clear of such stereotypes in both image and sexual orientation, His movies are dark, thought-provoking, minimalist diatribes with an underlying complexity; at the same time he pushes the perimeters of technology when it comes to the medium itself. Character design plays equitable importance.”

– บทความพูดถึง Mamoru Oshii เขียนโดย Andrez Bergen ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Japan’s Daily Yomiuri ปี 2004

ความตั้งใจของผู้กำกับ Oshii ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากสัญชาติญาณของตนเอง ที่รู้สึกว่าการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอนาคต (futuristic) จะสามารถชี้ชักนำปัจจุบันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ‘My intuition told me that this story about a futuristic world carried an immediate message for our present world.’

ในประเด็นเรื่องอิทธิพลของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่ขณะนั้นกำลังเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลาย ซึ่ง Ghost in the Shell เป็นเรื่องราวที่นำเสนอความสามารถระดับสูงสุดของมัน ก้าวข้ามผ่านขอบเขตเทคโนโลยีไปสู่การมีชีวิตเป็นของตัวเอง (เป้าหมายในอุดมคติของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ คือคิดอ่านเรียนรู้ด้วยตนเอง เฉลียวฉลาดกว่ามนุษย์ และกลายเป็นพระเจ้า)

พื้นหลังของ Ghost in the Shell คือเมืองสมมติที่ชื่อ Niihama แต่ผู้กำกับใช้แรงบันดาลใจจากเกาะฮ่องกง ที่มีการนำถนนจริงๆมาเป็นแบบอย่าง ‘Hong Kong was the perfect subject and theme for the film with its countless signs and the cacophony of sounds.’ สถานที่นี้คือแห่งเดียวของเอเชีย ที่มีความเก่าใหม่ผสมผสานสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

สำหรับสมาชิกในหน่วย 9 ถ้าใครเคยดูฉบับซีรีย์มาจะรู้ว่ามากันไม่ครบ ตัวละครหลักๆมีแค่ Major, Batou, Togusa และหัวหน้า Aramaki เท่านั้น (แอบเห็น Ishikawa อยู่แวบๆ) คงเพราะเวลาของภาพยนตร์มีไม่มาก จึงยากจะนำเสนอสมาชิกให้ครบทุกตัวละคร

Major Motoko Kusanagi (พากย์เสียงโดย Atsuko Tanaka) ขอไม่เล่าพื้นหลังของตัวละครนะครับ อยากรู้ว่าทำไมเธอถึงกลายเป็นหุ่นยนต์ ได้ฉายา Major สนิทกับ Batou ให้หาฉบับซีรีย์มารับชมดูเอง, Kusanagi ร่างกายทั้งตัวของเธอคือหุ่นยนต์ (Full-Body Prosthesis) มีเพียงสมองชิ้นส่วนเล็กๆที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ ส่วนจิตวิญญาณไม่มีใครตอบได้ว่ามันคือของเธอจริงๆไหม หรือเป็นแค่โปรแกรมที่ชื่อ Kusanagi

เกร็ด: ลองสังเกตดวงตาของ Kusanagi เห็นว่าไม่เคยกระพริบเลยนะครับ และมีแววตาที่สะท้อนแสง (ใสเหมือนแก้ว) แตกต่างจากดวงตาของมนุษย์ (ตัวละครไหนที่เป็นหุ่นก็มักจะไม่กระพริบตา และมีแววตาลักษณะเดียวกัน)

หญิงสาวมีงานอดิเรกหนึ่งคือชอบการดำน้ำ -เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำอธิบายเรื่องจิตใต้สำนึกของ Sigmund Freud อธิบายเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร มีเพียงส่วนหนึ่งที่โผล่เหนือน้ำคือจิตรู้สำนึก และส่วนใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำคือจิตไต้สำนึก- ในฉากที่ Kusanagi ดำลงไปในน้ำลึก ขณะลอยขึ้นมาจะเห็นเหมือนภาพสะท้อนตัวเธออยู่บนผิวน้ำ นี่คือคำอธิบายตรงตัวที่สุดของฉากนี้ การดำน้ำคือการค้นหาสิ่งที่อยู่ใต้จิตสำนึกของตนเอง … แต่สำหรับเธอ มันมีหรือเปล่า หรือว่าสูญหายไปแล้ว?

Batou (พากย์เสียงโดย Akio Ōtsuka) [Batou แปลว่า ม้า] เพื่อนและลูกน้องคนสนิทของ Kusanagi เป็นคนตัวใหญ่บ้าพลัง ใจดีขี้เล่น มีบางส่วนของร่างกายที่เป็นหุ่นยนต์ (น่าจะครึ่งๆกับส่วนที่เป็นมนุษย์), Batou เป็นอดีตนายทหาร อยู่หน่วย Ranger ครั้งหนึ่งเคยร่วมปฏิบัติการกับ Kusanagi และเธอได้ช่วยเหลือชีวิตเขาไว้จึงรู้สึกติดหนี้บุญคุณ มันอาจมีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยที่มากกว่าปกติของ Batou กับ Kusanagi แต่อนิเมะทุกฉบับไม่เคยพาทั้งสองไปไกลมากกว่าเพื่อนสนิทร่วมงานกันเลย, ดวงตาที่หลายคนอาจสงสัย นั่นคือตาปลอมที่เป็น Cybernetic Eyes ไม่เคยมีตอนไหนระบุไว้ว่าทำไมถึงต้องใส่ตลอดเวลา แต่เห็นว่าตอนนอนถอดออกนะครับ, บทบาทของ Batou ในภาคนี้เป็นแค่ผู้ช่วยของ Kusanagi และชอบตั้งคำถามเชิงปรัชญาให้คนรอบข้างคิดตอบ

Togusa (พากย์เสียงโดย Kōichi Yamadera) [ตัวละครออกแบบให้มีลักษณะเหมือน gentle lion] สมาชิกคนล่าสุดของหน่วย 9 เป็นคนเดียวที่มีครอบครัวแล้ว และร่างกายยังคงเป็นมนุษย์มีเนื้อหนังอยู่ครบ, Togusa มักเกิดความคับข้องใจ ทำไมตัวเองถึงได้รับเลือกมาทำงานหน่วยนี้ Kusanagi เคยตอบว่า เพราะผลงานการเป็นนักสืบที่โดดเด่น มีอุดมการณ์ไม่คอรัปชั่น และยังมีสภาพเป็นมนุษย์แท้ๆอยู่, ผมจะขออธิบายเหตุผลที่พอฟังขึ้นบ้าง เพราะเทคโนโลยีทุกอย่างใช่ว่าจะมีความสมบูรณ์แบบ เมื่อใดที่เกิดการขัดข้อง ก็ต้องมนุษย์เท่านั้นแหละที่เป็นผู้แก้ไข (การมีตัวตนของ Togusa ถือว่าเป็นส่วนตรงกันข้าม Kusanagi หรือมองว่าเติมเต็มกันก็ได้) เมื่อใดที่ร่างกาย/สมองของคนอื่นๆถูก hack โจรกรรม ก็มี Togusa นี่แหละที่จะไม่ได้รับผลเท่าไหร่ จะคือบุคคลสำคัญที่ช่วยเหลือเพื่อนๆในทีมได้

เกร็ด: Togusa ในฉบับมังงะจริงๆแล้วเหมือนคนอื่นในหน่วย 9 ที่เป็นกึ่ง Cyborg นะครับ แต่ทุกฉบับที่เป็นอนิเมะ ได้เปลี่ยนแปลงตัวละครนี้ให้กลายเป็นมนุษย์ (ยกเว้นสมองที่เป็น Cyberbrain)

สำหรับตัวร้ายภาคนี้ The Puppet Master (พากย์เสียงโดย Iemasa Kayumi) ชื่อก็บอกแล้วว่าคือผู้เชิดหุ่น เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังคอยควบคุมอะไรบางอย่าง (หุ่นในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ robot ร่างของมนุษย์/สมอง ที่เป็น Cybernetic) ได้กระทำการที่เรียกว่า ghost hacking ลักลอบเข้าไปในร่างกาย/สมอง ของผู้อื่น ซึ่งตัวจริงของ Puppet Master กลับไม่ใช่มนุษย์ เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นโดย Sector 6 ด้วยความต้องการให้สามารถคิดพัฒนาตนเองได้ แต่กลับได้ผลลัพท์ล้ำไปกว่านั้น คือมีความเฉลียวฉลาดราวกับมีจิตวิญญาณเป็นของตนเอง ซึ่งเมื่อหลุดเข้าไปในโลกอินเตอร์เน็ตทำให้สามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ ทำได้เกือบทุกสิ่งอย่างและมีตัวตนอยู่ทุกหนแห่ง

เกร็ด: ตอนที่หน่วย 6 กำลังเก็บกู้ Project 2501 ภาษาโปรแกรมที่ Dr. Willis เขียนขึ้นบนหน้าจอ คือภาษา C คนสายคอมน่าจะรู้จักดี

วิธีการไล่จับ Puppet Master ในทางทฤษฎีคือต้องคุมขังร่างต้น/จิตวิญญาณ ในร่างของมนุษย์ที่เป็น Cyborg แล้วตัดการสื่อสารทุกอย่างรอบข้าง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะปัญญาประดิษฐ์ย่อมต้องสามารถทำการ Copy คัดลอกตัวเองหรือทำ backup ไปเก็บสำรองไว้ที่ไหนก็ได้, กระนั้น Puppet Master ตนนี้กลับมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือต้องการตายเพื่อให้ตัวเองออกจากวัฏจักรของ ‘ชีวิต’ แต่ถ้าจากไปง่ายๆ มันคงเสียชาติเกิด จึงมองหาจิตวิญญาณที่สามารถผนวกรวม เพื่อเป็นการส่งต่อความสามารถของตนเองให้กับบุคคลที่คู่ควร ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น Major Motoko Kusanagi นั่นเอง

Kusanagi ถึงตัวจะเป็น Cyborg แต่จิตใจยังถือว่าเป็นมนุษย์ มีข้อจำกัดหนึ่งคือไม่สามารถพาความคิด/จิตวิญญาณ ออกจากร่างล่องท่องไปไหนได้ในโลกอินเตอร์เน็ต (คือสามารถรับข้อมูลข่าวสารเข้าตัวได้ แต่จิตไม่สามารถออกจากร่างได้) การได้รวมร่าง (Merge) กับ Puppet Master ในช่วงท้าย ประหนึ่งว่า เป็นการผสมผสานความสามารถของทั้งสองเข้าด้วยกัน คือ จิตที่เป็นวิญญาณของมนุษย์สามารถท่องไปไหนก็ได้ในโลกอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับแค่ร่างของตนเองต่อไป

จริงๆแล้ว Kusanagi สามารถใช้จิตของตนเองดำดิ่งลงในสมอง/Cyberbrain ของผู้อื่น หรือระบบ Security ที่มีความซับซ้อนได้ แต่ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้กลับเข้าร่าง คือถ้ามีเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น ร่างกายที่ไม่มีจิตวิญญาณจะกลายเป็นซอมบี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และจิตที่ไม่มีร่างอาศัยก็จะค่อยๆหมดกำลังและถูกลบล้างสูญหายไป

การได้รวมร่างของ Kusanagi ได้ทำลายขอบเขตดังกล่าวที่ว่ามา คือไม่จำเป็นต้องมี host ร่างหลักสามารถท่องไปไหนมาไหนก็ได้ อยู่ที่แห่งหนใดก็ได้ ไร้ขอบเขตข้อจำกัด คำเรียกเปรียบเทียบใกล้เคียงสุดของภาษามนุษย์คือ ‘พระเจ้า’ เราสามารถอธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยใจความง่ายๆว่า หนทางสู่การเป็นพระเจ้าในโลกอินเตอร์เน็ตของ Major Motoko Kusanagi

อนิเมชั่นสร้างโดย Production I.G เป็นการผสมผสานระหว่างภาพ 2 มิติ กับ 3 มิติ ถูกเรียกว่า ‘digitally generated animation’ (DGA) ซึ่งใช้การออกแบบบนคอมพิวเตอร์ (Computer Graphic) แล้วนำมาวาดรายละเอียด ใส่สีลงในเซลทีละภาพ (cel animation)

ด้วยเทคนิคนี้ทำให้สามารถออกแบบงานภาพ ให้มีลูกเล่นแหวกแนวไม่เหมือนใคร อาทิ เกิดมิติความโค้งมนลึกให้กับภาพ (เห็นเหมือน 3 มิติ), การจัดแสงที่สามารถควบคุมปริมาณสีเงาของแต่ละฉากได้ จนมีลักษณะคล้ายฟีล์มนัวร์ (film noir), หรือแม้แต่ ‘thermo-optical camouflage’ ภาพการล่องหนหายตัวของ Kusanagi ที่ใช้โปรแกรมทำการ distortions บิดเบือนภาพให้เกิดลักษณะโปร่งแสงได้

เพลงประกอบโด Kenji Kawai (ถ้าเป็นฉบับซีรีย์ จะได้ Yoko Kanno มาทำเพลงให้) สัมผัสของบทเพลงมีลักษณะเหมือนบทสวดมนต์ (เห็นว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นแบบโบราณ) กอปรกับเสียงกลองและระฆัง (อันเล็กๆ) คล้ายๆการสวดไล่ผี วิญญาณร้ายออกจากบ้าน

บทเพลง Making of a Cyborg เห็นว่าเป็นส่วนผสมของ Bulgarian Folk Song กับเสียงร้องภาษาญี่ปุ่น ฟังแล้วให้ความรู้สึกหลอนๆ เหมือนอยู่ในโลกอนาคต Dystopia ที่เย็นชา ไร้จิตวิญญาณ, ในฉาก Opening Title เป็นภาพขั้นตอนการประกอบร่างหุ่นยนต์ของ Kusanagi ตัดสลับกับชื่อเครดิต (ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากเปิดของ The Matrix)

คำร้อง: A ga maeba, kuwashime yoini keri A ga maeba, teru tsuki toyomu nari Yobai ni kami amakudarite Yoha ake, nuedori naku. Tôkamiemitame (x4)
ตำแปล: When you are dancing, a beautiful lady becomes drunken. When you are dancing, a shining moon rings. A god descends for a wedding And dawn approaches while the night bird sings. God bless you (x4)
แปลไทย: เมื่อคุณกำลังเต้น ผู้หญิงสวยๆจะดูเหมือนกลายเป็นคนขี้เมา, เมื่อคุณกำลังเต้น ขณะแสงส่องจากดวงจันทร์ ราวกับพระเจ้าเดินลงมาสู่งานแต่ง, รุ่งอรุณใกล้เข้ามา เสียงนกร้องขับขาน, ขอพระเจ้าอวยพร (x4)

ต้องเปรียบเทียบเพลงประกอบของ Ghost in the Shell กับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Akira (1988) ทั้งสองต่างมีเรื่องราวเดินทางสู่ การเป็นพระเจ้า ของตัวละครหลักเหมือนกัน ซึ่งบทเพลงต่างมีกลิ่นอายสัมผัสคล้ายๆกัน คือหลอกหลอน โหยหวน ฟังแล้วเหมือนเสียงสวดมนต์, นี่คงมีนัยยะแสดงถึงความเชื่อเรื่องพระเจ้าของคนญี่ปุ่น ที่มีส่วนผสมของของศาสนาอยู่ด้วย มันเลยว่าถ้ามีเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า จำต้องใช้เพลงลักษณะนี้

อีกบทเพลงที่ต้องพูดถึงเลย มีสัมผัสของความอ้างว้างโดดเดี่ยว หดหู่ เยือกเยือน ราวกับฉันเป็นคนเดียวในโลก ใช้เสียงหลักคือกีตาร์ดีดโซโล่เบาๆ พื้นหลังเป็นเสียงคีย์บอร์ด/อิเล็กโทน ชื่อเพลง Nightstalker ได้ยินตอน Kusanagi ขณะกำลังดำน้ำค่อยๆลอยขึ้น

Ghost คืออะไร? มีผู้วิเคราะห์กันว่าคือ consciousness สติ/จิตสำนึก การรับรู้ตัวตน, ในภาพยนตร์การนิยาม Ghost จะมีขอบเขตอยู่ที่ความเป็นมนุษยภาพ (humanity) และปัจเจกภาพ (individuality) เหตุที่ Puppet Master ไม่ถือว่าเป็นมนุษย์ ในนิยามของหน่วย 6 เพราะไม่ได้เกิดจากมนุษย์ จึงขาดความเป็นมนุษยภาพ และไร้ตัวตนจึงขาดปัจเจกภาพ

ส่วน Shell นั้นตรงๆเลย คือเปลือกนอก หรือหุ่นยนต์/Robot/Cyborg/Puppet คือร่างเปล่าๆ ที่ไร้จิตวิญญาณอาศัยอยู่ ไม่นับว่ามีชีวิตจนกว่าจะมี Ghost เข้าไปอยู่ เมื่อนั้นถึงจะนับว่ามีชีวิต

ใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการตั้งคำถามในเชิงปรัชญา มนุษย์คืออะไร? จิตวิญญาณคืออะไร? เมื่อเทคโนโลยีสามารถก้าวล้ำระดับแทนที่มนุษย์ได้ เราจะสามารถสร้างจิตวิญญาณขึ้นมาจากอากาศธาตุได้หรือไม่? สำหรับคำตอบนั้นอยู่ที่ความคิดของคุณเอง หนังไม่ได้มีการสรุปใดๆไว้ให้ แต่ได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นผลลัพท์ เมื่อจิตแห่งวิญญาณผสมเข้ากับจิตแห่งปัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นประหนึ่งเสมือนการเกิดขึ้นของพระเจ้าผู้สร้าง ทำได้ทุกสิ่งอย่าง มีตัวตนทุกหนแห่ง

ฉากช่วงท้าย ขณะที่ Kusanagi กำลังต่อสู้กับหุ่นยนต์ มีการยิงปืนไปถูกภาพแกะสลัก Tree of Life คำว่า hominis (ภาษาละติน=มนุษย์) นั้นอยู่บนยอดสูงสุดของต้นไม้ แต่มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือสิ่งมีชีวิตปัญญาประดิษฐ์นั้นไซร์ เมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้วจะวางให้อยู่ตำแหน่งตรงไหน สูงกว่าหรือต่ำกว่ามนุษย์ (สังเกตว่ากระสุนหยุดต่ำกว่า ไปไม่ถึงชื่อบนสุด)

เมื่อปี 2008 ผู้กำกับ Oshii ได้มีการ Re-release/Re-master ภาคนี้ใหม่ในชื่อ Ghost in the Shell 2.0 โดยการปรับปรุงหลายๆฉาก เปลี่ยนให้กลายเป็นภาพ CGI 3 มิติ มีความสมจริงตามยุคสมัย รวมทั้งบันทึกเสียง/เพลงประกอบใหม่ ให้กลายเป็น 6.1 Surround กระหึ่มอลังการ, ก็ไม่รู้จะทำเพื่ออะไรนะครับ ต้นฉบับถือว่าสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว การทำแบบนี้เหมือนเพื่อจงใจทำออกมาขายแฟนเดนตายของซีรีย์นี้เท่านั้น ผมไม่เคยดูสองฉบับนี้เปรียบเทียบกัน แต่คนที่ได้รับชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สู้ต้นฉบับไม่ได้จะทำออกมาทำไม!

มีหนังมากมายที่ถือว่าได้แรงบันดาลใจจาก Ghost in the Shell อาทิ The Matrix Trilogy ของสองพี่น้อง Wachowskis ที่ตอนขอทุนสร้าง เอาภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเปิดให้โปรดิวเซอร์ Joel Silver ดูแล้วพูดว่า ‘We wanna do that for real.’, นอกจากนี้อาทิ AI: Artificial Intelligence (2001) ของ Steven Spielberg, Avatar (2009) ของ James Cameron, Surrogates (2009) ของ Jonathan Mostow ฯ ก็ล้วนได้อิทธิพลจากอนิเมชั่นเรื่องนี้แทบทั้งนั้น

James Cameron เคยพูดชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “the first truly adult animation film to reach a level of literary and visual excellence.”

ส่วนตัวชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์เรื่องนี้ ในความซับซ้อนที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แนวคิดปรัชญาที่ลึกซึ้งแม้จะทั้งรู้ว่าไม่มีทางเกิดขึ้นจริง แต่ก็ได้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ยิ่งค้นหาเหมือนยิ่งได้อะไรที่เป็นประโยชน์

เอาจริงๆปรัชญาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นำไปใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตจริงแทบไม่ได้เลยนะครับ (เพราะคำถามพวกนี้ไม่มีคำตอบในปรัชญาตะวันตก) แต่แค่การได้คิดค้นหาคำตอบหลายๆอย่าง (เหมือนการเรียนหนังสือ) มันย่อมเกิดประโยชน์กับสมองที่ได้ใช้ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ‘ดู Ghost in the Shell ปวดหัวกับการคิดมากกว่าจะเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้น’

แนะนำกับนักปรัชญาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก คออนิเมชั่นชื่นชอบหนังไซไฟคิดเยอะๆ โลกอนาคตล้ำยุคไฮเทค Cyberpunk แนวสืบสวนสอบสวน ไขปริศนา และค้นหาความจริงของชีวิต

จัดเรต 18+ ในบรรยากาศ ภาพความรุนแรงโหดเหี้ยม และแนวคิดเชิงปรัชญา

TAGLINE | “Ghost in the Shell ภาพยนตร์อนิเมชั่นไซไฟปรัชญา ลึกล้ำ ลึกซึ้ง ยากจะเข้าใจ แต่หลงใหลแล้วไม่หลงลืม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: