Ghost in the Shell 2: Innocence (2004)
: Mamoru Oshii ♥♥♥
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากภาคแรก 3 ปี เมื่อมีวิศวกรคนหนึ่งพยายามทำการ Ghost-dubbing อธิบายง่ายๆคือการโคลน/ก็อปปี้ จิตวิญญาณของมนุษย์ใส่ลงในหุ่นยนต์ Cyborg ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต แต่แล้วเรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้น, เรื่องราวของภาคนี้มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง มีการใส่คำพูดปรัชญา (ราวกับหนังของ Jean-Luc Godard) แฝงแนวคิดของผู้กำกับ และงานภาพสามมิติสวยงามเกินคำบรรยาย
ก่อนจะรับชมภาคนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องดู Ghost in the Shell (1995) มาแล้วเท่านั้นนะครับ เพราะจะได้มีความเข้าใจต่อเนื่องจากเรื่องราวเก่า แต่ไม่จำเป็นต้องรับชมซีรีย์ Stand Alone Complex (2002-2004) เพราะถือว่าเป็นคนละจักรวาลกัน, เช่นกันกับถ้าคุณเคยรับชมซีรีย์มาแล้ว ให้ไปเริ่มที่ภาพยนตร์ Ghost in the Shell (1995) ก่อนนะครับ
ตอนจบของ Ghost in the Shell เมื่อ Major Motoko Kusanagi ได้กลายเป็นพระเจ้าในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่เธอหาได้ทอดทิ้งหน่วย 9 โดยเฉพาะ Batou ยังคง(แอบ)ให้การช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ เพราะเธอสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ทุกสถานที่บนโลก(ที่มีอินเตอร์เน็ต)
สำหรับคดีใหม่นี้ Batou จำต้องจับคู่กับ Togusa (ชายคนเดียวในหน่วย 9 ที่ไม่มีร่างกายเป็นหุ่น) เพื่อไขปริศนาการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยหุ่น gynoids ว่าเกิดจากอุบัติเหตุความผิดพลาดทางเทคนิค (malfunction) หรือมีอะไรที่เป็นเบื้องหลังมากกว่านั้น
กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ (The Three Laws of Robotics) ตั้งขึ้นโดย ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย นิยามกฎของหุ่นยนต์ไว้ตั้งแต่ปี 1940 จากจินตนาการอนาคตและพฤติกรรมของหุ่นยนต์ที่ควรจะเป็นเพื่อให้สามารถอยู่กับมนุษย์ได้อย่างสงบสุข โดยกฎเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับหุ่นยนต์ในชีวิตจริงแต่อย่างใด
กฎข้อที่หนึ่ง: A robot may not harm a human being, or, through inaction, allow a human being to come to harm.
หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำอันตรายแก่มนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้
กฎข้อที่สอง: A robot must obey the orders given to it by human beings, except where such orders would conflict with the First Law.
หุ่นยนต์จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ยกเว้นคำสั่งนั้นจะขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่ง
กฎข้อที่สาม: A robot must protect its own existence, as long as such protection does not conflict with the First or Second Law.
หุ่นยนต์จะต้องปกป้องตัวเองด้วยวิธีการใด ๆ ตราบเท่าที่วิธีการนั้นไม่ละเมิดกฎข้อที่หนึ่งและกฎข้อที่สอง
ผมยกกฎของหุ่นยนต์ทั้งสามข้อขึ้นมา เพราะอนิเมชั่นเรื่องนี้มีการกล่าวถึงด้วยนะครับ และเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้น มาจากเหตุการณ์สมมติที่หุ่นยนต์ได้กระทำผิดกฎเหล็กข้อ 1 มันจะเป็นไปได้ยังไง! นี่คือประเด็นที่ Innocence ต้องการค้นหาคำตอบ
ผู้กำกับ Mamoru Oshii ไม่เคยมีแผนที่จะสร้างภาคต่อ Ghost in the Shell ตอนภาคแรกเสร็จพักงานไป 5 ปี ซุ่มพัฒนาผลงานภาพยนตร์คนแสดงเรื่อง Avalon (2001) แต่เพราะเสียงเรียกร้องจากแฟนๆจึงตัดสินใจสร้างภาคต่อ โดยต้องการสร้างความท้าทายในเรื่อง Technical Challenge นำเสนอในสิ่งที่ยิ่งใหญ่อลังการกว่าเดิม แต่งบประมาณต้องมากมายมหาศาลแน่ๆ Oshii จึงไปชักชวน Toshio Suzuki โปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ Ghibli เพื่อจะสามารถขอทุนเพิ่มได้เยอะขึ้น สุดท้ายได้เงินมา $20 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2 พันล้านเยน)
เรื่องราวดัดแปลงแบบคร่าวๆ มาจากมังงะ Kōkaku Kidōtai/Ghost in the Shell ของ Masamune Shirow เล่มแรกในตอนที่ 6 ชื่อ Robot Rondo และบางส่วนของตอน 7 ชื่อ Phantom Fund แต่เพราะทั้งสองตอนความยาวไม่มาก Oshii จึงได้เพิ่มเติมสิ่งต่างๆมากมายลงไป อาทิ แนวคิด ทัศนคติ ปรัชญาชีวิตของตนเอง ผสมคลุกเคล้ากับเรื่องราว เหมือนดั่งที่ Jean-Luc Godard ในยุครุ่งเรืองของ French New Wave ได้ทำการอ้างอิง Quote คำพูดดังๆ จากวรรณกรรม/ผู้มีชื่อเสียง และใส่ความเป็นตัวเองลงไปในหนังของเขา ถือว่าได้สร้างมิติใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ยุคสมัยนั้น
บริษัท Locus Solus ได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า Ghost-dubbing พยายามที่จะสร้างเลียนแบบจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยใช้ Ghost ของเด็กผู้หญิงเป็นแบบ (ที่ต้องใช้ของเด็ก เพราะมีข้อมูล/ความซับซ้อน น้อยกว่าของผู้ใหญ่) นำใส่ลงในหุ่นยนต์เพื่อให้มีชีวิตกลายเป็นเหมือนมนุษย์, แนวคิดนี้คือการสร้าง ‘มนุษย์’ ที่ผิดต่อหลักธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ผลลัพท์แน่นอนว่าไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าไหร่ เพราะเด็กหญิงคนหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ ทำให้หุ่นมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด และความต้องการเอาตัวรอดของเธอ Ghost ได้สั่งให้ Shell ฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย (เพื่อเรียกร้องให้ใครสักคนสนใจสิ่งที่เกิดขึ้น)
เกร็ด: คำว่า Locus Solus (=solitary place, สถานที่โดดเดี่ยวอ้างว้าง) เป็นชื่อนิยายภาษาฝรั่งเศส เขียนโดย Raymond Rousse เมื่อปี 1914
เราสามารถมองพฤติกรรมของเด็กหญิงนี้ว่าเป็น Innocent ตามสร้อยต่อท้ายชื่อหนัง เพราะความไม่รู้เดียงสาที่จะทำอย่างไรเพื่อหลบหนีเอาตัวรอด จึงร้องเรียกความช่วยเหลือจากผู้อื่นภายนอก โดยไม่สนวิธีการและความถูกผิดในด้านจริงธรรมสังคม
แต่ไม่ใช่แค่เด็กหญิงเท่านั้นที่ Innocent ทุกๆตัวละครก็มีความโง่ไร้เดียงสาในตัวเอง
– Batou เลี้ยงหมาพันธุ์ Basset Hound ที่แสนจะไร้เดียงสา (ไม่คิดว่าพี่แกจะมีมุมนี้ด้วย) Gabriel ที่เหมือนเป็นตัวแทนของ Kusanagi ในความโหยหาและเป็นความอ่อนไหวหนึ่งเดียวในใจ, ฉากหนึ่งในร้านขายอาหาร Batou เกือบฆ่าเจ้าของร้าน แต่เพราะสมองเขาถูก Hack จึงมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์
– Togusa นี่ชัดเลยประสบการณ์อ่อนต่อโลกมาก ไปหามามาเฟียตั้งใจว่าจะพูดคุยกันธรรมดาแต่กลับ…
– Ms. Haraday วิศวกรของ Locus Solus สิ่งที่เธอทำเพราะคิดว่าจะสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีความสมบูรณ์แบบได้ แต่กลับมีทัศนะมองเด็กเป็นเหมือนตุ๊กตาของเล่น การกระทำของเธอมันช่างเหมือนเด็กไร้เดียงสาเสียจริง
รวมๆในหลายบริบทแล้ว คำว่า Innocent สามารถมองได้ถึงมนุษย์ทุกคน ที่ต่างก็มีความไร้เดียงสาต่อโลกใบนี้ในมุมที่แตกต่างออกไป
งานภาพอนิเมชั่นของภาคนี้ต้องบอกว่า Breathtaking จริงๆ โดยเฉพาะคาราวานช้างล่องเรือ ที่ใช้การออกแบบภาพสามมิติ จัดแสงสีได้อย่างสวยงามอลังการ เหลืองทองอร่าม สะท้อนแสงเป็นประกายระยิบระยับ และสิ่งที่เหมือนทองคำเปลวปลิวว่อนเป็นสะเก็ดไปทั่วภาพ, เห็นว่าใช้เวลา 1 ปีเต็มกับการสร้าง CG ฉากพาเรดนี้ (ได้อิทธิพลจากประเพณีจริงๆของชาว Taiwan)
งานภาพโดยรวมพัฒนาจาก film noir กลายเป็น Sci-Fi ล้ำยุคแบบเต็มตัว บางฉากมีสีขาวล้วนล้ำยุค บางฉากก็ใช้ Texture แบบสะท้อนแสดง มีความเกินจริงไปมาก แต่ยังพอสามารถเรียกว่า Cyberpunk ได้อยู่
การเคลื่อนไหวอนิเมชั่นก็มีความสมจริงขึ้น อย่างเจ้าหมา Gabriel เหมือนจริงมาก ทั้งหน้าตาและการเคลื่อนไหว นี่ถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Oshii ด้วยนะครับ ที่มักปรากฎเห็นอยู่ในภาพยนตร์ทุกเรื่อง (และต้องเป็นพันธุ์ Basset Hound ด้วยนะ) เขาอธิบายเหตุผลประกอบว่า สุนัขเป็นตัวแทนของอิสรภาพแท้จริงของมนุษย์ ทุกครั้งที่เล่นกับมันก็มักจะหลงลืมว่าตัวเองเป็นใคร(มนุษย์) นั่นแหละคือความเสรีภาพแท้จริง
“This body you see before you is an empty shell. The dog represents my body. Human beings can be free only if they free themselves from their bodies. When I am playing around with my dog, I forget that I am a human being, and it’s only then that I feel free.”
ซีนที่ผมชอบมากๆคือท้องฟ้า ขณะที่ Batou กับ Togusa ยืนคุยกันเตรียมตัวก่อนไปพบ Kim ที่แมนชั่น/คฤหาสถ์แห่งหนึ่ง จะเห็นว่าสีสัน ลักษณะเมฆ และอารมณ์ของภาพเปลี่ยนแปลงไปทั้ง 3+1 รอบวนไม่ซ้ำเดิม นี่น่าจะแทนด้วยอารมณ์ของ Togusa เพราะช่วงนี้ใช้มุมมองของเขาดำเนินเรื่อง (สังเกตสีจะเริ่มที่เทา จืดชืด/ไร้ชีวิต แล้วจะค่อยๆมีสีคมขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเป็นแดงอมน้ำตาล คือการรอดชีวิต มองโลกเปลี่ยนไป)
อนุสรณ์ขาหุ่นยนต์ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่าง/ก้าวกระโดด ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (มีลักษณะยกขึ้นเหมือนกำลังจะเดิน), ภาษาละตินเขียนว่า Homo Ex Machina แปลได้คือ Man from Machine มนุษย์กับหุ่นยนต์
ครั้งแรกเริ่มต้น
ครั้งที่สอง
ครั้งที่สาม (ครั้งนี้เห็นแวบๆ เพราะรีบวิ่งเข้าไป)
ครั้งสุดท้าย หลังเสร็จภารกิจ
เพลงประกอบได้ Kenji Kawai กลับมาทำเพลงให้อีกครั้ง บทเพลง Ballade of Puppets ยังคงมีกลิ่นอายใจความลักษณะคล้ายกับ Making of Cyborg แต่เพิ่มความอลังการเข้าไปช่วงท้ายของบทเพลง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบช่วงแรกของเพลงคือการไล่ผี/เรียกวิญญาณเข้าร่าง ช่วงครึ่งหลังจะคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผีออกจากร่าง/วิญญาณเข้าสิงสำเร็จ
ในคฤหาสถ์/แมนชั่นของ Kim จะได้ยินเสียงกล่องเพลง (Music Box) ดังขึ้น ชื่อเพลง The Doll House ความยาวหลายนาที เห็นว่าทีมงานใช้การสร้างเครื่องดนตรีหีบเพลงนี้ขึ้นมาจริงๆ ด้วยความยาว 80 ตัวโน๊ต ตั้งชื่อชื่อว่า Orpheus สร้างโดย Sankyo Seiki of Japan ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ Oya Stone Museum
เสียงของกล่องเพลงนี้ ต้องถือว่ากึกก้อง สั่นสะท้าน หลอกหลอนเข้าไปในจิตใจ กับเหตุการณ์วนลูป 3 รอบ (Déjà vu) ยิ่งทำให้สยิวกายเข้าไปใหญ่, หลายคนอาจสงสัยฉากนี้ ว่ามีเกิดอะไรขึ้น? มันคือการถูก Hack เข้าไปในสมองเพื่อสร้างภาพหลอนให้เกิดซ้ำ 3 รอบ (คือถ้าครบ 3 รอบเมื่อไหร่ก็จะติดลูป ไม่สามารถวนออกมาได้) คนที่สามารถเจาะเข้าไปได้คือ Kim รอดออกมาได้เพราะ Kusanagi ช่วยให้คำใบ้กับ Batou ทำให้รู้ว่าตัวเองติดลูปอยู่ จึงหาทางหลุดพ้นออกมาได้
การวนสามรอบนี้มีนัยยะถึงการเวียนว่ายตายเกิด (ตามหลักพุทธศาสนา) ที่ต้องสามครั้งคงเป็นเกิดบน โลกมนุษย์-สวรรค์-นรก กระมัง
ใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการนำเสนอแนวคิด ข้อสรุป/ทัศนะของผู้กำกับ ต่อมนุษย์, สัตว์, สิ่งมีชีวิต และหุ่นยนต์ที่ว่า ‘ทุกสิ่งอย่างมีความเท่าเทียมกัน’ และคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะ ‘สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ’
สำหรับประเด็นอื่นที่ได้รับการพูดถึง Rape-Revenge จริงอยู่เราไม่เห็นทั้งการข่มขืน และการเอาคืน (ของหญิงสาว) แต่เราจะเห็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ โดยเฉพาะกับโสเภณีหญิงต้นเรื่องที่ Batou พบเจอ การที่เธอมีสภาพนั้นย่อมเกิดจากความไม่สมยอม และเมื่อดูจนจบจะพบว่า จิตวิญญาณที่อยู่ในร่างนั้นเป็นเพียงเด็กหญิง นี่มองยังไงก็คือการพรากผู้เยาว์ข่มขืนนะครับ และการล้างแค้นคือการหาทางออกเอาตัว (เรียกว่า acts of revenge)
ผู้หญิงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพล ที่ควบคุมพวกเธอให้เป็นเหมือนหุ่นยนต์ไร้จิตวิญญาณ, ในช่วงท้ายขณะที่ Batou บุกเข้าไปล้วนต่อสู้กับหุ่น Cyborg เพศหญิงร่างเปลือยเปล่าที่มีแต่ร่างกายไม่มีจิตใจ ซึ่งถูกควบคุมโดยหุ่น(ผู้ชาย)ที่มีอำนาจสูงกว่า แต่ Shell พวกนี้ไม่สามารถสู้ได้ทั้ง Batou และร่างหุ่นของพระเจ้า Kusanagi แม้แต่น้อย
“It is better to live alone; there is no companionship with a fool. Let a person walk alone with few wishes, committing no wrong, like an elephant in the forest.”
ประโยคนี้อ้างจากคำพูดของพระพุทธเจ้า ในมหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ (พระสุตตันตปิฎก) เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ “หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้ ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง เพราะจะหาความเป็นเพื่อนในคนพาลไม่ได้เลย” (ในประโยคจะไม่มียกตัวอย่าง แบบช้างในป่านะครับ)
ตอนจบที่ Kunasagi พูดกับ Batou ในวินาทีนี้เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าเธอกลายเป็นเหมือนพระเจ้าจริงๆ เพราะมีเพียงตัวคนเดียวเท่านั้นที่สามารถท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ต ส่วน Batou เป็นเพียงผู้ตามที่มองเห็น หรืออัครสาวกที่มีความเชื่อศรัทธาในตัวเธอมากที่สุด
ปล. นี่เองที่ทำให้มีคนเรียก Ghost in the Shell ว่าคือลัทธิ ศาสนาหนึ่งของโลก! … ไร้เดียงสาเสียจริง
Ghost in the Shell 2: Innocence เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้ฉายในสายประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลแต่สร้างความตราตะลึง (และมึน) ให้กับผู้ชมอย่างยิ่ง, คงด้วยความซับซ้อนของเรื่องราว อนิเมชั่นเรื่องนี้ทำเงินในญี่ปุ่น $7.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกได้แค่ $9.7 ล้านเหรียญ ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของทุนสร้าง ถือว่าขาดทุนย่อยยับ
ส่วนตัวแค่ชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ เพราะความซับซ้อนของเรื่องราวที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะการใส่คำพูด Quote ต่างๆมากมาย จนทำให้หลายครั้งไม่สามารถคิดตามได้ทัน ขนาดผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยความลึกล้ำลับ ยากที่ใครสักคนจะขบคิดเข้าใจได้ทั้งหมด
ถ้าคุณเป็นคอหนังอนิเมชั่นไซไฟโลกอนาคต ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์, แนวสืบสวนสอบสวน ไขปริศนา, นักปรัชญา นักทฤษฎีคอมพิวเตอร์ (วิทยาการคอมพิวเตอร์) ไม่ควรพลาดภาคนี้ด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศ แนวคิด และความรุนแรง
Leave a Reply