Gigi

Gigi (1958) hollywood : Vincente Minnelli ♥♥

กวาดเรียบ 9 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี สูงเป็นสถิติแต่ตกต่ำสุดด้านศีลธรรมมโนธรรม, Leslie Caron รับบทลูกสาวโสเภณี ได้รับการเสี้ยมสั่งสอนวิธีเกาะกินผู้ชาย ทีแรกพยายามดิ้นรนขัดขืนแต่สุดท้ายข้ออ้างเพราะรัก อยากทำอะไรกับฉันก็ยินยอม

Gigi (1958) ได้รับการยกย่อง ‘หนังเพลงเรื่องสุดท้ายแห่งยุคคลาสสิก’ แต่ไม่ใช่กระแสนิยมต่อแนว Musical หลังจากนี้จะลดลงนะครับ แค่ว่าการสร้างภาพยนตร์ลักษณะ ‘คลาสสิก’ ที่มักหมกตัวในสตูดิโอ สร้างฉากอลังการใหญ่โต จักเปลี่ยนแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เรื่องราวมีเนื้อหาจับต้องได้มากขึ้น ถ่ายทำยังสถานที่จริง ทิวทัศนียภาพพื้นหลังสวยๆแบบ South Pacific (1958), The Sound of Music (1965)

ผมเกิดความตกตะลึงคาดไม่ถึง ว่าผู้กำกับระดับ Vincente Minnelli จะหาญกล้าสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมมโนธรรม ไร้ข้อคิดสาระประโยชน์ เผชิญหน้ากับ Hays Code แบบไม่หวาดกลัวเกรง! นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งกระมังให้หนังประสบความสำเร็จล้นหลาม กวาดเรียบรางวัลทั้งๆคุณภาพโดยรวมห่างชั้นกับ Meet Me in St. Louis (1944), An American in Paris (1951) หรือแม้แต่ The Band Wagon (1953) อยู่ไกลโข

กาลเวลาแบ่งฝักฝ่ายผู้ชมออกเป็นสองขั้วชัดเจน ชื่นชอบมากๆ-รังเกียจแบบสุดๆ, ผมเป็นแบบหลัง อนาจต่อทิศทางการตัดสินใจ แรกเริ่มตัวละครอยากจะเอาชนะกฎกรอบเกณฑ์บางอย่าง แต่สุดท้ายกลับก้มหัวยินยอมรับได้ แบบนี้มันดีแต่พูด เพ้อเจ้อ “It’s a bore!”


ต้นฉบับ Gigi (1944) คือนวนิยายแต่งโดย Colette ชื่อจริง Sidonie-Gabrielle Colette(1873 – 1954) นักเขียนหญิงชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจาก Yola Henriquet ลูกสาวโสเภณีชั้นสูง ตกถังข้าวสารแต่งงานกับ Louis Eugène Henri Letellier (1868 – 1960) ทายาทมหาเศรษฐี พ่อเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้าง Jacob Delafon, ตัวเขาโตขึ้นร่วมทุนกับน้องชายทำหนังสือพิมพ์ Le Journal (1892 – 1944) และเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Deauville ระหว่างปี 1925–28

ก่อนหน้านี้ได้รับการดัดแปลงเป็น
– ภาพยนตร์ฝรั่งเศส (1949) นำแสดงโดย Danièle Delorme และ Gaby Morlay
– ฉบับละครเวที Broadway นำแสดงโดย Audrey Hepburn (ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการ) รอบปฐมทัศน์ยัง Fulton Theatre วันที่ 24 พฤศจิกายน 1951 จำนวน 219 รอบการแสดง (ถือว่าประสบความสำเร็จ)

โปรดิวเซอร์ Arthur Freed ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์จาก Anita Loos เจ้าของฉบับละครเวทีมูลค่า $87,000 เหรียญ มอบหมายดัดแปลงบทโดย Alan Jay Lerner จากความประทับใจร่วมงาน An American in Paris (1951), Brigadoon (1954) และคาดหวัง Vincente Minnelli กำกับโปรเจคนี้

Vincente Minnelli ชื่อเกิด Lester Anthony Minnelli (1903 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน (เชื้อสายอิตาเลี่ยน) เกิดที่ Chicago พ่อเป็น Musical Conductor อยู่ที่ Minnelli Brothers’ Tent Theater ตั้งแต่เด็กเลยมีความชื่นชอบหลงใหลในเสียงเพลง หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Paul Stone เชี่ยวชาญถ่ายภาพนักแสดง ต่อมาทำงานออกแบบฉาก/ตัดเย็บเสื้อผ้าให้ Chicago Theatre กลายเป็นผู้กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจนได้รับการชักชวนจาก Arthur Freed เข้าร่วม MGM เมื่อปี 1940 ภาพยนตร์เรื่องแรก Cabin in the Sky (1943), โด่งดังกับ Meet Me in St. Louis (1944), Ziegfeld Follies (1945), An American in Paris (1951), Brigadoon (1954), Kismet (1955) ฯ

พื้นหลังปี 1900 ณ กรุงปารีส, ด้วยข้ออ้างประเพณีของครอบครัว Madame Alvarez (รับบทโดย Hermione Gingold) ส่งตัวหลานสาว Gilberte ‘Gigi’ (รับบทโดย Leslie Caron) ไปร่ำเรียนวิชาเข้าสังคมจากน้าทวด Liane d’Exelmans (รับบทโดย Eva Gabor) คาดหวังให้เมื่อเติบโตขึ้นจะสามารถหาเกาะผู้ชายกิน แต่ด้วยความทะเล้นซุกซนจึงไม่ใคร่สนใจอะไรจริงจัง นอกเสียจาก Gaston Lachaille (รับบทโดย Louis Jourdan) แรกๆก็ครุ่นคิดแค่พี่ชาย สนุกสนานครื้นเครงไปวันๆ กระทั่งพบเห็นโดยน้าทวดบอกไม่ได้ไม่เหมาะสม เกินเลยกว่านี้ตั้งหมั้นหมายแต่งงานเท่านั้น!


Leslie Claire Margaret Caron (เกิดปี 1931) นักเต้น/นักแสดงหญิง สัญชาตฝรั่งเศส เกิดที่ Boulogne-sur-Seine, Seine แม่เป็นอดีตนักเต้น Broadway โตขึ้นเลยมีความสนใจด้านนี้ ร่ำเรียนบัลเล่ต์ ได้รับการค้นพบโดย Gene Kelly ระหว่างอยู่ในคณะ Ballet des Champs Elysées แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ An American in Paris (1951) เลยได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับ MGM ตามด้วย The Glass Slipper (1955), Lili (1953), Daddy Long Legs (1955), Gigi (1958), ผลงานเด่นอื่นๆที่ไม่ใช่หนังเพลง อาทิ Fanny (1961), The L-Shaped Room (1962), Chocolat (2000) ฯ

รับบท Gilberte ‘Gigi’ เด็กหญิงสาวยังเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ไม่ใคร่สนใจอะไรนอกจากหาความสุขใส่ตัวไปวันๆ ชื่นชอบเล่นหัวสนุกสนานกับ Gaston Lachaille ไม่เคยครุ่นคิดมากกว่าสัมพันธ์พี่น้อง จนกระทั่งถูกย่า/น้าทวด ครอบงำเป่าหู เสี้ยมสอนสั่งพยายามทำทุกอย่างให้เธอเติบโตสมวัย เริดเชิดหยิ่งยโสโอหัง มีความสามารถปรนปรนิบัติผู้ชาย อนาคตข้างหน้าจักได้สุขสบาย หนูตกถังข้าวสาร

แม้ว่า Audrey Hepburn จะเป็นนักแสดงนำฉบับละครเวที และตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์แล้ว แต่เธอก็ไม่ใช่นักร้องนักเต้น ซึ่งโปรดิวเซอร์ Freed มีความสนใจในตัว Caron มากกว่า ต้องการสานต่อความสำเร็จของ An American in Paris (1951) แม้อายุขณะนั้น 25 เล่นเป็นเด็ก 14-15 คงไม่น่ามีปัญหา

ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงครึ่งแรกของ Caron เด็กสาวจอมแก่น ขี้เล่นสนุกสนาน เต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส แต่พอมาครึ่งหลังแปรสภาพสู่หญิงสาว เปลี่ยนไปราวกับคนละคน! แม้ยังพอพบเห็นความบริสุทธิ์เดียงสา แต่มีความหยาบกร้านโลก นี่มันโสเภณีชัดๆ ต้องทำกันขนาดนี้เลยหรือ!

สังเกต: ลวดลายเก้าอี้เปรียบเทียบตรงๆถึงนกน้อย และเสื้อผ้าลายสก็อต สี่เหลี่ยมเหมือนซี่กรงขังล้อมรอบตัวตน/จิตวิญญาณ

Louis Jourdan ชื่อเกิด Louis Robert Gendre (1921 – 2015) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Marselle โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง École Dramatique จบออกมามีผลงานละครเวที เข้าตาผู้กำกับ Marc Allégret ชักชวนมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Le Corsaire (1939) แต่สร้างไม่เสร็จเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง, ข้ามน้ำข้ามทะเลเซ็นสัญญาในสังกัด David O. Selznick ผลงาน Hollywood เรื่องแรก The Paradine Case (1947), ผลงานเด่นๆ Letter from an Unknown Woman (1948), Madame Bovary (1949), Gigi (1958) ฯ

รับบท Gaston Lachaille หนุ่มหน้าใส หล่อรวย ทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ การเลิกราหญิงสาวที่ตนจีบอยู่ กลายเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งโด่งดังระดับโลก ตกเป็นที่สนใจของใครต่อใคร, ความสนิทสนมกับ Madame Alvarez เรียกเธอว่า Mamita จึงพบเจอเล่นหัว Gigi บ่อยครั้ง โดยไม่รู้ตัวถูกบีบให้แสดงความประสงค์แท้จริง ค่อยๆรับรู้ตนเองว่าตกหลุมรัก แต่จะถึงขั้นแต่งงานไหม นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจ

นอกจากความหล่อเหลาของ Jourdan ผมไม่เห็นด้านการแสดงจะมีฝีมือโดดเด่นอะไร ยังคงสไตล์คลาสสิก ลีลาด้วยคำพูด ท่าทาง พยายามกลั่นอารมณ์แต่สัมผัสไม่ได้ถึงความสับสนปนเป เคมีกับ Caron เข้าขาเพียงตอนเล่นหัวสนุกสนาน ไม่สามารถแปรสภาพสู่รักโรแมนติก อินเลิฟได้เลยสักนิด


Maurice Auguste Chevalier (1888 – 1972) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พ่อเป็นช่างทาสี โตขึ้นรับงานหลากหลาย กระทั่งมีโอกาสขับร้องเพลงยัง Café แห่งหนึ่ง แม้ไม่ได้เงินแต่เกิดความสนใจ กระทั่งมีโอกาสขึ้นเวทียัง l’Alcazar, Marseille ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่างเป็นทหาร ทำให้เรียนรู้จัก Jazz และ Ragtime จากทหารอังกฤษและอเมริกัน หลังจากนั้นเลยมุ่งหน้าสู่ Hollywood กลายเป็นนักแสดงหนังเงียบ A Woman of Paris (1923), เซ็นสัญญา Paramount Pictures โด่งดังกับ The Love Parade (1929), The Big Pond (1930), Monkey Business (1931), The Merry Widow (1934), Love in the Afternoon (1957), Gigi (1958) ฯ

รับบท Honoré Lachaille มีศักดิ์เป็นลุงของ Gaston Lachaille เรียกว่าเพลย์บอยคงไม่ผิดอะไร มากความรู้ประสบการณ์ ฝีปากวิวาทะเป็นเลิศ วันๆเห็นเอาแต่หลีสาว อดีตเคยมีความหลังกับ Liane d’Exelmans แต่ชีวิตขอเป็นโสดดีกว่า และคอยให้ความช่วยเหลือหลานชายผู้ทึ่มทื่อซื่อบื้อในรัก เปิดโลกทัศน์ตนเอง ผู้หญิงไม่ได้มีคนเดียวในโลกนี้!

การวางตัวของ Chevalier แม้สูงวัยกลับยังดูดีมีสไตล์ เรียกว่าเพลย์บอยชั้นสูงก็ยังได้ รอยยิ้มกลั่นออกมาจากใคร ไม่เคยบึ้งตึงโกรธเกลียดเคียดแค้นใคร แถมตัวละครนี้ยังเป็นผู้นำร่องดำเนินเรื่อง ขับร้องเพลงนุ่มๆแต่ลุ่มด้วยความหื่นกระหาย


ถ่ายภาพโดย Joseph Ruttenberg (1899 – 1983) ตากล้องสัญชาติ Russian เชื้อสาย Jews อพยพมุ่งสู่อเมริกัน เริ่มจากเป็นนักข่าวถ่ายภาพ ก่อนได้งานตากล้องถ่ายทำหนังเงียบ สู่ยุค Talkie สามารถคว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 4 ครั้ง จาก The Great Waltz (1938), Mrs. Miniver (1942), Somebody Up There Likes Me (1956) และ Gigi (1958)

สตูดิโอ MGM ร้องขอให้ Minnelli เดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง Paris, France แล้วค่อยหวนกลับมาถ่ายฉากภายในยัง Hollywood เพื่อประหยัดงบประมาณใช้จ่าย (แต่ก็ไม่รู้ลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหนนะ)

Opening Credit ร้อยเรียงภาพวาดการ์ตูนของ Sem หรือ Georges Goursat (1863–1934) เลือกจากช่วงเวลา La Belle Époque (1900-14)

หนังจะไม่มีการพูดคำว่าโสเภณีออกมาตรงๆ แต่ซ่อนเร้นไว้ในภาษาภาพยนตร์ อย่างในห้องของ Madame Alvarez  ผนัง/เฟอร์นิเจอร์สีแดง หมายถึงเลือด Passion ความบริสุทธิ์ของหญิงสาว และการที่ Gigi เดินตรงเข้าไปโอบกอดด้านหลังนี้ สื่อถึงการพึ่งพิงยังไม่สามารถดูแลเอาตัวรอดเองได้

ถ้าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับ Paris เรื่องอื่นๆ จะพบเห็นหอไอเฟลแบบเต็มๆ แต่เรื่องนี้พบเห็นเพียงโครงสร้างเหล็กด้านล่างมุมเงยขึ้นช็อตนี้ ฉายจาก Rear Projection เท่านั้น นี่คงต้องการสะท้อนความตกต่ำทางศีลธรรมของเรื่องราว แม้ตัวละครจะชนชั้นสูง แต่ก็หมกมุ่นวุ่ยวายกับเรื่องรักๆใคร่ๆ ใต้กางเกงเพียงอย่างเดียว

ชุดของ Gigi มีความหลากลายพอสมควร เริ่มต้นด้วยลายสก็อต โค้ทคลุม หมวกใบใหญ่ๆ สะท้อนการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว (ดั่งนกในกรงขัง) กระทั่งเมื่อเวลามาถึงได้รับการแต่งแต้มเปลี่ยนแปลงเป็นสุภาพสตรี มีความสวยสง่า เจิดจรัส (นกโผลบินออกจากรัง)

ไดเรคชั่นที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือบรรดาผู้ชม/ตัวประกอบ ต่างหยุดนิ่ง อึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง จับจ้องมองพร้อมเพรียงต่อบุคคลกำลังเดินเข้ามาในร้าน … นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ Angst essen Seele auf (1974) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ก็ได้นะ

ในบรรดาชุดของ Gigi ส่วนตัวชื่นชอบดอกไม้ปิดปากนี้ที่สุด บอกเป็นนัยๆให้เธอจงเงียบไป ไม่ใช่เวลาแสดงสิทธิ์เสียงความต้องการแท้จริง จำต้องกระทำตามคำสั่งย่า/น้าทวด ห้ามขัดขืน!

ชุดคอสูงของ Gigi แม้มีสีขาวดูสง่างาม แต่สะท้อนความเย่อหยิ่งจองหอง ไฮโซ ชนชั้นสูง นั่นคือสิ่งที่เธอถูกครอบงำบีบบังคับให้กลายเป็น หมดสิ้นแล้วความบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสาแบบเด็กๆ

สุดท้ายแล้ว Gigi ก็ไม่แตกต่างจากหญิงอื่น แม้สวมชุดมีปีกโบยบิน แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยการถูกครอบงำจากกฎเกณฑ์ แบบแผนทางสังคม นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องยินยอมรับเข้าใจ หรือปฏิเสธขัดขืนกันแน่!

การจุดบุหรี่/สูบซิการ์ ระหว่างชาย-หญิง แฝงนัยยะถึงการมี Sex แบบตรงไปตรงมาเลยนะ!

ตัดต่อโดย Adrienne Fazan (1909 – 1986) สัญชาตอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ Minnelli สังกัดสตูดิโอ MGM ผลงานเด่นๆ อาทิ The Tell-Tale Heart (1941), Anchors Aweigh (1945), An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952), Kismet (1955), Gigi (1958) ฯ

แม้หนังชื่อ Gigi แต่เรื่องราวไม่ได้เวียนวนในมุมมองเธอ แต่คือ Honoré Lachaille ผู้บรรยายที่มักสนทนากับผู้ชม จับจ้องมองกล้อง (Break the Fourth Wall) ดำเนินเรื่องผ่านหลานชาย Gaston Lachaille ระหว่างเลิกราแฟนสาวคนแรก ตกหลุมรัก Gigi จนกระทั่งขอเธอแต่งงาน


เพลงประกอบโดย Frederick Loewe (1901 – 1988) สัญชาติ German เชื้อสาย Jews อพยพสู่ New York ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, Loewe มีชื่อเสียงโด่งดังกับผลงานละครเพลงอย่าง My Fair Lady, Camelot แต่คว้า Oscar จาก Gigi (1958)

Main Theme คลุกเคล้ากลิ่นอายฝรั่งเศส (ด้วยเครื่องดนตรี Accordion) แล้วสะท้อนถึงความเพ้อฝันของเด็กหญิงสาว Gigi แม้รายล้อมด้วยชีวิตอันเลิศหรูหราสุขสบาย กลับยังคงโหยหาในอิสรภาพเสรี ต้องการโบยบินออกจากพันธนาการกรงขัง เฝ้ารอคอยวันนั้นไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่กัน

Thank Heaven for Little Girls ขับร้องโดย Maurice Chevalier เสียงร้องแห้งๆของปู่ ฟังดูเซ็กซี่แบบหื่นๆ แถมเนื้อคำร้องแอบเสื่อม โดยเฉพาะตอนพูดคำว่า Gigi สื่อถึงอะไรไปจินตนาการต่อเองแล้วกันนะ

เกร็ด: Thank Heaven for Little Girls ติดอันดับ 56 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs

The Night They Invented Champagne อาจไม่ใช่บทเพลงที่มีความไพเราะโดดเด่นอะไร แต่ไดเรคชั่น Long Take อาจทำให้ใครๆอ้าปากค้าง ต้องซักซ้อมสักเท่าไหร่ถึงออกมาได้อย่างเปะๆแบบนี้

I Remember It Well ขับร้องโดย Maurice Chevalier & Hermione Gingold, แม้บทเพลงนี้จะไม่ใช่ Long Take แต่แสงสีส้มพื้นหลังที่ค่อยๆปรับไปเรื่อยๆ แทนพระอาทิตย์ตกดิน มีความสวยสดงดงามไม่น้อย

นี่เป็นบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง เพราะเนื้อคำร้องสะท้อนความจริงที่ว่า ผู้หญิงจดจำได้ทุกสิ่ง ขณะที่ผู้ชายหลงลืมทุกอย่าง!

บทเพลงรางวัลของหนังคือ Gigi ขับร้องโดย Louis Jourdan, เนื้อคำร้องเป็นการครุ่นคิดทบทวนความสัมพันธ์ต่อ Gigi จากเคยเล่นหัวสนุกสนาน เติบโตวิวัฒนาการ กาลเวลาผ่านไปไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่

ส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบบทเพลงนี้สักเท่าไหร่ แต่ประทับใจภาพพื้นหลังร้อยเรียงฝูงหงส์ รูปปั้น น้ำพุ สวยๆงามๆทั้งนั้น

I’m Glad I’m Not Young Anymore ขับร้องโดย Maurice Chevalier เป็นบทเพลงที่มีความไพเราะมากๆเลยนะ แต่ไดเรคชั่นฉากนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจาก Long Take ตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ ขายความมีสไตล์ลีลาของ Chevalier อย่างเดียวเท่านั้นหรือไร!

Gigi คือเรื่องราวของเด็กหญิงสาว เปรียบดั่งนกในกรงพยายามดิ้นรนโหยหาอิสรภาพ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเติบโตขึ้น รับเรียนรู้ว่าไม่มีทางที่ตนจะโบยบินหนีไปไหนได้ไกล ยินยอมรับเพียงพอใจต่อสิ่งที่มี ได้แต่งงานกับชายคนนี้ชีวิตคงเป็นสุขมากโขแล้ว!

จะว่าไปหลายๆผลงานของผู้กำกับ Vincente Minnelli มักมีลักษณะชี้ชักนำให้เกิดความเพียงพอใจในชีวิต อะไรที่มันเกินตัวก็มักผิดพลาดพลั้งหรือกระทำไม่สำเร็จ ทำไมเราถึงไม่ก้มหัวยินยอมรับระเบียบแบบแผนของสังคม มันไม่น่าเบื่อหน่ายขนาดนั้นหรอกนะ!

ส่วนตัวมองว่าหนังมีความขัดย้อนแย้งกันเองทุกสิ่งอย่าง
– หญิงสาวโหยหาอิสรภาพ แต่สุดท้ายเลือกจมปลักในทิศทางที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ให้
– พระเอกไม่ชอบความเบื่อหน่ายจำเจ สุดท้ายกลับยินยอมรับความซ้ำๆซากๆนั้นได้
– ผู้กำกับ Minnelli เหมือนต้องการท้าทาย Hays Code แต่สุดท้ายก็ยินยอมก้มหัวให้ ไม่มีอะไรเกินเลยนอกจากภาษาภาพยนตร์
ฯลฯ

การที่ตัวละครชื่อ Gigi ก็ด้วยเหตุผลนี้กระมัง ออกเสียงซ้ำสองครั้งหมายถึงเน้นย้ำ ซ้ำๆ ไม่อยากฝืนแต่กลับทำ ภายนอกเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เบื้องลึกกลับร่านราคะ ปากว่าตาขยิบ ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง

ด้วยเหตุผลข้ออ้าง ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ คือมโนทัศนคติอันเลิศหรูหราของชาวตะวันตก แท้จริงไม่ต่างอะไรกับลูกอมอาบยาพิษ ชักชวนให้หมกมุ่นลุ่มหลงใหลยึดติด เวลาหมดสิ้นความรักมันคงกลับตารปัตรพ่ายแพ้ทุกสิ่งอย่าง

เพราะเหตุใดผู้กำกับ Minnelli ถึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้? แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นเกย์ แต่ชายคนนี้แต่งงานกับผู้หญิงถึงสี่ครั้ง อื้อฉาวสุดก็ Judy Garland ว่าไปอาจไม่แตกต่างจาก Gigi สักเท่าไหร่! [Judy กับ Gigi ออกเสียงคล้ายคลึงกันด้วยนะ]


ด้วยทุนสร้าง $3.3 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $6.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $9.7 ล้านเหรียญ ได้กำไรประมาณ $1.983 ล้านเหรียญ และเมื่อฉายซ้ำ Re-Release ปี 1966 รวมรายรับ $13.2 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 9 สาขากวาดเรียบ
– Best Picture
– Best Director
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography, Color
– Best Film Editing
– Best Art Direction, Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Musical Score
– Best Original Song บทเพลง Gigi

แม้กลายเป็นสถิติใหม่ ภาพยนตร์คว้ารางวัล Oscar สูงสุด แต่ก็ได้เพียงปีเดียวเพราะการมาถึงของ Ben-Hur (1959) เข้าชิง 12 สาขา กวาดไป 11 รางวัล

เกร็ดน่ารักๆ: หลังจากหนังคว้าไป 9 รางวัล Oscar ผู้บริหาร MGM สั่งให้พนักงานรับโทรศัพท์ เวลาสายเข้าให้พูดว่า “Hello, M-Gigi-M”

มิใช่แค่ความกลวงๆที่ทำให้ผมไม่ชื่นชอบหนัง แต่ยังไดเรคชั่นของ Vincente Minnelli ดูเร่งๆรีบร้อนไปที ขาดลีลาอันโดดเด่นเป็นสไตล์ และบทเพลงไร้ท่วงทำนองน่าสนใจ ดูไปเลยรู้สึกเพียงเสียเวร่ำเวลา

แนะนำคอหนัง Musical ชื่นชอบผลงานของ Colette, นักออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม แฟชั่นดีไซเนอร์, หลงใหลฝรั่งเศส ถ่ายภาพพื้นหลังสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับ Vincente Minnelli และนักแสดงนำ Leslie Caron, Louis Jourdan ลองหามารับชมดู

จัดเรต 15+ กับความล่อแหลม ไร้ศีลธรรมมโนธรรมของเรื่องราว

คำโปรย | แม้ว่า Gigi คือภาพยนตร์โด่งดัง/ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Vincente Minnelli แต่คือความอัปยศหักหลังต่อจิตสำนึกตนเอง
คุณภาพ | ปอกลอก
ส่วนตัว | เสียเวลา

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: