Gojira

Gojira (1954) : Japan – Ishirō Honda

อสูรกายที่โด่งดังที่สุดในโลก The King of Monster: Gojira หรือ Godzilla ฉบับ Original ถือกำเนิดโดยผู้กำกับ Ishirō Honda ในบรรดาหนังก็อตซิลล่าทั้งหมด เวอร์ชั่นนี้ถือว่ามีความยอดเยี่ยมและแตกต่างที่สุด เพราะมีใจความที่สามารถสื่อถึงต้นกำเนิดของ Godzilla ได้ตรงตามที่ผู้กำกับตั้งใจไว้มากที่สุด

ญี่ปุ่นแพ้สงครามเพราะนิวเคลียร์ นี่เป็นสิ่งที่ไม่เลือนไปจากความทรงจำของผู้คนง่ายๆ อาวุธที่สามารถทำลายล้างมนุษยชาติได้ในพริบตา Gojira ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความรู้สึกนี้ มันมาจากท้องทะเล ตื่นขึ้นเพราะการทดลองระเบิด H-Bomb (นิวเคลียร์) ภาพเมืองที่ถูกทำลายราบเรียบเป็นหน้ากลอง รถถัง เครื่องบินเจ็ต กระแสไฟฟ้าไม่สามารถทำอันตรายมันได้แม้แต่น้อย จะว่า Gojira คือสัญลักษณ์ของระเบิดนิวเคลียร์ หรือมหาอำนาจผู้เป็นเจ้าของอาวุธชิ้นนี้ อเมริกา ก็ไม่ผิด แต่จะให้ถูกเปะๆมันคือ B-29 Superfortress เครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ขับโดย Colonel Paul Tibbets มันมาจากทะเล ไม่มีใครรู้ตัว นี่แหละคือต้นกำเนิดของ Gojira

ผมจำไม่ได้ว่าเคยดูหนัง Godzilla ครั้งแรกเมื่อไหร่ โตขึ้นมาก็รู้จักคุ้นเคยกับอสูรกายตัวนี้เป็นอย่างดี คงเพราะตอนเด็กผมคงชื่นชอบ Godzilla มากๆ สัตว์ประหลาดที่เป็นเหมือนฮีโร่ต่อสู้กับเพื่อปกป้องโลก เมื่อผมโตขึ้นมาและเริ่มรู้อะไรมากๆเข้า ก็ได้ค้นพบความจริงบางอย่าง หนังแนว Tokusatsu สัตว์ประหลาดทั้งหลายมักมีใจความที่มีความหมายแอบแฝงอยู่ เป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่าง ผมได้มีโอกาสดู Gojira ต้นฉบับปี 1954 ครั้งแรกตอนสมัยเรียนมหาลัย ก็เข้าใจได้ทันทีเลย นี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านนิวเคลียร์ ต่อต้านอเมริกา ภาพเมืองที่ถูกทำลายราบเรียบเป็นหน้ากลอง คือภาพผลลัพท์ที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ คนญี่ปุ่นสมัยนั้นที่ดูหนังเรื่องนี้ มันต้องกลายเป็นภาพหลอนติดตาพวกเขาอย่างแน่ๆ ผมรีบหาภาคต่อมาดูทันที เพื่อคิดว่าคงมีอะไรที่อาจจะน่าสนใจยิ่งกว่านี้ แต่พบว่าความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ Gojira ได้เปลี่ยนไป จากที่เป็นผู้ทำลายกลายมาเป็นผู้ปกป้อง มันแปลกๆนะ จากศัตรูกลายมาเป็นมิตร เหมือนญี่ปุ่นเปลี่ยนทัศนคติต่อระเบิดนิวเคลียร์และพยายามง้อเอาใจอเมริกาสุดๆ ตอนที่ hollywood เอา Godzilla ไปสร้าง เห้ย! มันไม่ใช่อ่ะ Gojira ได้เปลี่ยนไป กลายไปเป็นอะไรที่ไม่เหมือนต้นฉบับแรกสุดอีกแล้ว เป็นแค่ ‘สัตว์ประหลาด’ ดาดๆทั่วไป เน้นความใหญ่อลังการ ไม่มีอีกแล้วใจความแฝง ที่ผมเลือกมารีวิววันนี้ก็จะขอพูดแต่ Gojira ที่เป็นต้นฉบับเท่านั้นนะครับ เป็นเวอร์ชั่นที่ผมชอบที่สุด และคิดว่าดีที่สุดในแฟนไชร์นี้

จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น Godzilla แรงบันดาลใจมาจากหนัง hollywood เรื่อง The Beast from 20,000 Fathoms (1953) ผมไม่เคยดูนะครับ เห็นเป็นแนวสัตว์ประหลาด คงเพราะความฮิตของ King Kong (1933) ทำให้ hollywood มีหนังแนวนี้ออกมามากทีเดียว แต่ก็มีไม่กี่เรื่องที่พูดได้ว่าดีและน่าจดจำ แรงบันดาลใจอีกหนึ่งมาจากเหตุการณ์ Daigo Fukuryū Maru ที่ชาวประมงญี่ปุ่น 23 คน เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตรังสีของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา Ishirō Honda ได้รับเลือกให้เป็นผู้กำกับ และ Takeo Murata มาร่วมเขียนบท ตั้งชื่อโปรเจคว่า Project G (G = Giant)

สำหรับการออกแบบอสูรกายแนวคิดแรกมาจาก Eiji Tsuburaya ผู้เป็น Special Effects Director ได้เสนอภาพปลาหมึกยักษ์ที่โจมตีเรือขนส่งในมหาสมุทรอินเดีย, ต่อมาเป็นนักเขียนบทไซไฟ Shigeru Kayama อสูรกายเป็นสัตว์ที่ขึ้นฝั่งมาเพื่อหาอาหารเท่านั้น มีหน้าตาคล้ายกอลลิล่าเพศเมีย, ชื่อ Gojira มาจากส่วนผสมของ gorilla และ whale (go = gorilla, jira = kujira), ตัวที่เราเห็นในหนังออกแบบโดย Teizo Toshimitsu กับ Akira Watanabe มีส่วนผสมของไดโนเสาร์ 3 สายพันธ์ุ ประกอบด้วย Tyrannosaurus, Iguanodon, และ dorsal fins ของ Stegosaurus

หลังจากได้ภาพออกแบบแล้ว การจะสร้าง Gojira นั้นไม่ง่าย ความตั้งใจแรกของ Tsuburaya คือทำเป็น Stop-Motion แบบเดียวกับ King Kong (1933) แต่ถ้าทำแบบนั้นด้วยทีมงานที่มีอยู่คาดว่าคงใช้เวลา 7 ปีขั้นต่ำถึงจะสร้างเสร็จ จึงเปลี่ยนมาใช้การสร้างชุดยางยืดสัตว์ประหลาด (latex) ให้นักแสดงสวมใส่ และสร้างเมืองจำลองสำหรับฉากทำลายล้าง ประมาณการความสูงของ Gojira เวอร์ชั่นนี้คือ 50 เมตร ชุด Gojira แรก ออกแบบโดย Kanji Yagi, Koei Yagi, และ Eizo Kaimai ว่ากันว่าหนักกว่า 100 กิโลกรัม Haruo Nakajima และ Katsumi Tezuka ได้รับเลือกให้เป็นคนสวมชุด Gojira เพราะความอึดและพละกำลัง แต่หลังจาก Nakajima ลองสวมครั้งแรก เขาเป็นลมหมดสติคาชุดแทบจะทันที (เพราะมันหนักมากและหายใจไม่ออก) ในหนังเราจะไม่เห็น Gojira ปรากฏตัวเกิน 3 นาทีต่อซีน เพราะ Nakajima จะอดทนอยู่ได้ไม่เกินนั้น เห็นว่าเขาน้ำหนักลดถึง 20 ปอนด์ (10 kg) หลังจากถ่ายหนังเสร็จ

นำแสดงโดย Akira Takarada, Momoko Kōchi 2 คนนี้ยังได้ปรากฏตัวต่ออีกหลายภาพของ Gojira, Akihiko Hirata แม้ตัวละครของเขาจะตายในภาคนี้ แต่เขาก็กลับมาในภาคหลังๆ (ไม่ตายจริงนี่หว่า!) ส่วน Takashi Shimura กลับมาแค่ภาค 2 ภาคเดียวเท่านั้น

นักแสดงในหนังอาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับ Gojira แต่ก็มีหลากเรื่องราวที่มีการสนทนา ตั้งคำถามที่น่าสนใจ นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) เขาไม่อยากให้ Gojira ถูกฆ่า เพราะถ้าเราศึกษามันจะมีประโยชน์ต่อโลกเป็นแน่, นักวิทยาศาสตร์ (Akihiko Hirata)ได้สร้างอาวุธที่(อาจจะ)ร้ายแรงกว่า H-Bomb เขาไม่อยากเปิดเผยให้โลกรู้ แต่เพื่อเอาชนะ Gojira … ผมมองว่าทางเลือกเป็นคำทางจริยธรรมที่น่าสนใจ กระนั้นคำตอบในหนังไม่ได้แสดงถึงคำตอบที่แท้จริงของญี่ปุ่นนะครับ อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ไม่รู้ในญี่ปุ่นมีกี่แห่ง ถ้าคำตอบของญี่ปุ่นเป็นแบบในหนัง คงไม่มีทางที่จะยอมรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้แน่ๆ (สมัยนั้นคงมีประท้วงกันอยู่ แต่สุดท้ายเพื่อประโยชน์ของชาติจึงยอมรับกันได้), คำพูดสุดท้ายของหนัง โดยตัวละครของ Shimura “ตราบใดที่การทดลอง H-Bomb ยังคงอยู่ Godzilla อาจจะกลับมาอีกก็เป็นได้” ประโยคนี้ถือเป็นความคาดหวังของคนทั้งโลกเลยนะครับ

ผมมีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าคิดนะครับ หนังแนวสงคราม, ไซ-ไฟ, สัตว์ประหลาด สมัยนี้มันเหมือนว่า “นิวเคลียร์” ที่ควรจะเป็นมาตรการตอบโต้ขั้นสุดท้าย กลับมีการใช้กันเกลื่อนมากๆ ถ้าให้นับนี่ผมว่ามีหนังเป็นร้อยๆ พันๆเรื่อง ที่ใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อสู้กับอะไรบางอย่าง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง (ส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ) ไม่รู้ว่านี่เป็นการพยายามสร้างภาพของ “ระเบิดนิวเคลียร์” ให้ประชาชนไม่รู้สึกกลัวเหมือนสมัยก่อนหรือเปล่า ผมคิดว่าเราไม่ควรจะรู้สึกแบบนี้นะครับ มันทำให้เราละเลย เลิกสนใจ และไม่ตระหนักถึงอันตรายที่แท้จริงของนิวเคลียร์อีกต่อไป (ผมละอยากให้มีคนเอานิวเคลียร์ไปทิ้งใส่อเมริกาเสียจริง จะได้สำนึกกันเสียทีว่า ที่ทำมาไม่ใช่เรื่องตลกนะ!)

ถ่ายภาพโดย Masao Tamai ฉาก Special Effect ทั้งหมดถูกสร้างในสตูดิโอ Toho แม้แต่ฉากที่ Gojira ว่ายน้ำเดินลงไปในทะเล สร้างอ่าวกันในสตูดิโอเลย ฉากที่ถ่ายข้างนอก เกาะ Odo ยกไปถ่ายทำกันที่ Toba จังหวะ Mie ส่วนรถถังและยุทโธปกรณ์ของทหารได้ความร่วมมือกับ Japan Self-Defense Forces มีนักแสดงกว่า 2000 คนเข้าร่วมฉาก ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 51 วัน

ตัดต่อโดย Kazuji Taira ผมชอบการเล่าเรื่องที่ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดทีละเล็กๆน้อยๆ Gojira ไม่ใช่อยู่ดีๆก็โผล่มา มันค่อยๆโผล่ เริ่มจากคำพูดปากต่อปาก ความเสียหายก็เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ จากนั้นก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมืองราบเป็นหน้ากลอง การตอบโต้ของมนุษย์ก็รุนแรงตามขึ้นเรื่อยๆ การตายของ Gojira ตอนจบอาจดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่ในบริบทหนังจบแบบนี้ก็พอรับได้นะครับ Oxygen-Destroyer ผมว่ามันเป็นอาวุธในจินตนาการของคนเขียนบทมากกว่า เพราะเขาคงไม่รู้จะหาอะไรมาเอาชนะ Gojira ได้จริงๆ (God=พระเจ้า)

เกร็ด: คำภาษาอังกฤษ Godzilla คนตั้งชื่อไม่ใช่อเมริกันนะครับ แต่เป็นญี่ปุ่นนี่แหละ ขณะที่ Toho เอา Gojira ไปฉายให้ยุโรปกับอเมริกา จะใช้ชื่อ Gojira ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นก็กระไรอยู่ เลยเปลี่ยนมาใช้ Godzilla ซึ่งออกเสียงคล้ายๆกัน แบบนี้ฝรั่งจะจดจำได้มากกว่า ไม่ได้มีนัยยะหรืออะไรมากไปกว่านี้ แต่มันบังเอิญคำว่า God ตรงกับพระเจ้าพอดี Gojira ที่มีพลังเหมือน god-like เลยมักถูกตีความไปต่างๆนานา

เพลงประกอบ นี่สุดยอดเลย! โดย Akira Ifukube และเสียงร้องของ Gojira ก็สร้างโดยเขานะครับ ใช้ถุงมือหนังที่เคลือบด้วยเรซิน สีสาย Double Bass ที่ปล่อยหย่อนไว้ (rubbing a resin-covered leather glove along the loosened strings of a double bass) เกิดเป็นเสียงร้อง Gojira ที่น่าสะพรึงกลัว ตอน Godzilla (2014) ก็ยังใช้สร้างเสียง Godzilla ด้วยวิธีนี้อยู่นะครับ, Main Theme เสียงเพลงสร้างบรรยากาศที่ตื่นเต้น น่ากลัว (Horror) มีจังหวะหนัก-เบา เหมือนเสียงฝีเท้า (ซ้าย-ขาว), หัวใจเต้น (ตุบ-ตับ) นี่เป็น Theme ของ Godzilla ที่ฟังแล้วน่าสะพรึงกลัว และติดหูที่สุด

ในบรรดาหนัง Kaiju, Monster, อสูรกาย ที่ผมจะเริ่มทะยอยปล่อยของสัปดาห์นี้ เปิดประเดิมด้วย The King of Monster: Gojira เป็นหนังสัตว์ประหลาดเรื่องที่ผมชอบที่สุดแล้ว ไม่ใช่เพราะจากความชื่นชอบสมัยเด็กนะครับ แต่เฉพาะกับ Gojira ต้นฉบับเรื่องนี้ เราสามารถมองเห็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้แทน Gojira ได้อย่างชัดเจน เรื่องราวของหนังถือว่ามีการคิดที่(เกือบ)สมบูรณ์แบบ และมีการตั้งคำถามกับผู้ชมที่ให้ข้อคิดได้น่าสนใจมากๆ เหตุนี้ผมจึงจัดหนังให้อยู่ในลิส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรื่องแรกและเรื่องเดียวของหนังแนว Tokusatsu และแฟนไชร์ Godzilla

“Godzilla is a character that is the pride of Japan.” พูดโดย Kenichi Yoshizum นายกเทศมนตรีเมือง Shinjuki (มีหนัง Godzilla ที่ทำลายเมือง Shijuki 3 ภาค) ขณะมอบหมายให้ Godzilla เป็นทูตวัฒนธรรมของญี่ปุ่น (Cultural Ambassador) ประโยคนี้อาจจะดูเกินจริงไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับหนังเรื่องนี้ แต่ถ้าพูดถึงในญี่ปุ่นละก็ อิทธิพลของ Godzilla เทียบเท่ากับ Doraemon ที่เป็น iconic ของการ์ตูนญี่ปุ่นเลย ถ้าคุณไปญี่ปุ่นลองเดินถามดูนะครับ เชื่อว่าไม่มีใครตอบว่าไม่รู้จัก Godzilla และ Doraemon แน่นอน

ถ้าผมรีวิวหนัง Godzilla เรื่องอื่น อาจจะจัดเรตติ้ง PG ให้นะครับ ผู้ใหญ่นั่งดูกับเด็กได้ แต่กับ Gojira ต้นฉบับนี้ จัดเรตที่ PG-13 เพราะ Godzilla ตัวนี้ไม่ได้สู้กับสัตว์ประหลาด เอาแต่ทำลายล้างเมือง เด็กๆดูไปคงไม่พอใจแน่ๆและอาจผิดหวังเพราะมันไม่มีฉากต่อสู้กับสัตว์ประหลาดอื่นเลย แนะนำกับคอหนังเก่าๆ ชอบดูหนังดีๆ การันตีคุณภาพ แฟนพันธุ์แท้ Godzilla ต้องหาเวอร์ชั่นนี้มาดูให้ได้นะครับ เพื่อเห็นจุดเริ่มต้นแรกสุดของอสูรกายในตำนานที่ได้ฉายาว่า The King of Monster

คำโปรย : “Gojira ฉบับนี้คือต้นฉบับ The King of Monster ของแท้ กำกับโดย Ishirō Honda”
คุณภาพ : SUPERB 
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: