goldfinger

Goldfinger (1964) British : Guy Hamilton ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของจอมมฤตยู 007 เปลี่ยนผู้กำกับมาเป็น Guy Hamilton ได้รับการยกย่องว่าเป็น James Bond ภาคที่ยอดเยี่ยมที่สุด, Auric Goldfinger ชายผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในทอง เมื่อได้มาพบกับ James Bond ทำให้เบื้องหลัง ความชั่วร้ายต่างๆ ได้ถูกเปิดเผยออก, Goldfinger ขณะฉายประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกลายเป็นพิมพ์เขียว สูตรสำเร็จของแฟนไชร์นี้

หลังประสบความสำเร็จกับ Dr. No (1962) และ From Russia with Love (1963) มีหรือที่ United Artist จะไม่สานต่อความสำเร็จ ซึ่งก็ได้เพิ่มทุนสร้างให้อีกเป็น $3 ล้านเหรียญ (เท่ากับทุนสร้าง Dr. No และ From Russia with Love รวมกัน)

Goldfinger สร้างขึ้นโดยมองตลาด hollywood เป็นหลัก เพราะนิยายของ Ian Fleming ยังไม่เป็นที่รู้จักในอเมริกาเท่าไหร่, ชาวอเมริกาเพิ่งจะมารู้จักนิยาย James Bond จากตอนที่ ปธน. John F. Kennedy ยก From Russia with Love เป็นหนึ่งในสิบนิยายเรื่องโปรดเมื่อปีก่อนนี้เอง, เรื่องราวของ Goldfiner จึงดำเนินเรื่องในอเมริกาเป็นหลัก ทั้ง Miami, Florida และ Fort Knox, Kentucky และมีตัวละคร Felix Leiter เจ้าหน้าที่ CIA ชาวอเมริกัน ที่เคยปรากฎตัวภาค Dr. No แต่หายไปใน From Russia with Love กลับมาร่วมแสดงด้วย

Terence Young ผู้กำกับสองภาคแรก ตัดสินใจพักการทำหนัง James Bond แล้วไปกำกับหนังเรื่อง The Amorous Adventures of Moll Flanders (1965) ทำให้โปรดิวเซอร์ Broccoli และ Saltzman หันไปติดต่อ Guy Hamilton ที่เคยยื่นข้อเสนอให้ตั้งแต่ Dr. No แต่ตอนนั้น Hamilton ติดงานอื่นอยู่, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Hamilton รู้จักกับ Fleming เป็นการส่วนตัว (ว่ากันว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองลับเหมือนกัน) ซึ่งเขาสามารถเข้าใจมุมมอง แนวคิด แรงบันดาลใจของ Fleming เป็นอย่างดี, ความตั้งใจในการทำหนังเรื่องนี้คือ ต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ James Bond ให้ดูเป็นคนธรรมดามากขึ้น ลดความเหนือมนุษย์ลง

นิยาย Goldfinger เป็นลำดับที่ 7 ของ Ian Fleming ตีพิมพ์เมื่อ 23 มีนาคมปี 1959 ชื่อเดิมของหนังสือคือ The Richest Man in the World, สายลับ James Bond แอบปลอมตัวเข้าไปสืบการลักลอบขนทอง (smuggling) ของ Auric Goldfinger ผู้ซึ่ง MI6 สงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับ SMERSH (ในหนังไม่มีพูดจุดนี้) ซึ่งต่อมา Bond ได้ล่วงรู้ถึงแผนการโจรกรรมครั้งใหญ่ของ Goldfinger ที่ต้องการขโมยทองสำรองของอเมริกาที่ Fort Knox เขาจะสามารถหยุดยั้งแผนการครั้งนี้ได้หรือไม่!

ในนิยายมี plot hole ขนาดใหญ่อยู่จุดหนึ่ง คือการขโมยทองที่ Fort Knox ซึ่งในหนังมีการอธิบายด้วยว่า การขโมยทอง 10,500 ตัน ถ้าให้คน 60 คนขนย้ายทองใส่รถบรรทุก 200 คัน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 วัน แต่ในนิยายอ้างว่าทำสำเร็จใน 2 ชั่วโมง นี่เป็นช่องโหว่ของพล็อต ที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย, Richard Maibaum ผู้ดัดแปลงนิยาย James Bond มาแล้ว 2 ภาคและกลับมาเป็นครั้งที่ 3 เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้เปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่อง จากการขนย้ายขโมยทอง เป็นทำให้ทองเจือปนด้วยกัมมันตรังสี นำไปใช้ไม่ได้แทน

Sean Connery กับการรับบท James Bond ครั้งที่ 3, คราวนี้คืนสู่สามัญ กลายเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มักทำอะไรผิดพลาดอยู่เสมอ และต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์เฉียดตายต่างๆ ซึ่งความซวยพวกนี้ล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ และคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้, ผมละสงสาร Bond Girl ที่ต้องเสียชีวิตเพราะความเย่อหยิ่งจองหองของ James Bond ภาคนี้เป็นที่สุดเลย

ของเล่นในภาคนี้ มีแต่รถ Aston Martin DB5s (ที่ได้กลายรถประจำตัวของ James Bond ไปโดยปริยาย) ซึ่งว่าไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ เอามาเล่นโชว์เท่ห์ๆ และสุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยให้ Bond เอาตัวรอดจากสถานการณ์อันเลวร้ายไปได้เลย

ตัวร้าย Auric Goldfinger รับบทโดย Gert Fröbe ชาว German (บทนี้เคยถูกยื่นข้อเสนอให้ Orson Welles แต่ค่าตัวดันสูงไปหน่อย) เนื่องจากสำเนียงพูดของ Fröbe ไม่เหมือนอเมริกันเท่าไหร่ ทีมงานจึงตัดสินใจใช้การพากย์เสียงทับโดย Michael Collins, รูปลักษณ์ของ Goldfinger ตัวใหญ่ล่ำซำ มั่งคั่ง ร่ำรวย ถือว่าหน้าตา บุคคลิกของ Fröbe นั้นเหมือนมาก (จินตนาการถึง Orson Welles แบบ Touch of Evil ก็ได้เหมือนกัน) นิสัยเป็นคนเย่อหยิ่งยโสโอหัง ก้าวร้าว เอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว หลงใหลในสีทอง (ผู้หญิงของ Goldfinger ก็ผมบลอนด์ทุกคน)

มีฉากหนึ่งที่ Goldfinger อธิบายปฏิบัติการ Grand Slam ในห้องที่มีการทำกลไก presentation แบบ mechanic อลังการเว่อ พอเขาออกจากห้องไป คนทั้งหลายที่มาฟังก็ถูกรมแก๊สพิษม่องเท้งไปทั้งหมด… แล้วที่อธิบายแผนการมา เพื่ออะไรกัน!, Roger Ebert ช่วยแถให้ว่า นี่คงเป็นนิสัยขี้โม้โอ้อวดของ Goldfinger ที่ลงทุนจ้างลูกมือให้ทำกลไกเท่ห์ๆ แล้วมาอวดโชว์ความเจ๋งให้ผู้อื่นฟังก็เท่านั้นแหละ ไม่ได้มีความตั้งใจให้คนพวกนี้ร่วมปฏิบัติการในแผนตนแม้แต่น้อย

นิสัย James Bond ภาคนี้กับ Goldfinger ถือว่าสะท้อนซึ่งกันและกัน มีความเย่อหยิ่งจองหอง ยโสโอหัง เชื่อมั่นในตนเองสูงเหมือนกันเปี๊ยบ!, ในนิยาย การพบกันของทั้ง 2 มีทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่ง Fleming ได้แบ่งออกเป็น 3 part ในหนังสือ ดังคำพูดที่ว่า

Mr Bond, they have a saying in Chicago: “Once is happenstance. Twice is coincidence. The third time it’s enemy action.” Miami, Sandwich and now Geneva. I propose to wring the truth out of you.

Auric Goldfinger

ชื่อตอนในหนังสือ ประกอบด้วย Happenstance (โชคชะตา), Coincidence (บังเอิญ) และ Enemy action (มันต้องมีอะไรแน่ๆ)

Goldfinger ถือเป็นตัวร้ายที่มีเสน่ห์มากๆตัวหนึ่งในแฟนไชร์ ที่ถึงขนาดยกขึ้นเป็นชื่อนิยาย แสดงถึงต้องมีความพิเศษมากๆ, AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains จัดอันดับพระเอก/ตัวร้ายยอดนิยม ยกให้ Auric Goldfinger ติดอันดับ 49 ตัวร้ายผู้โหดเหี้ยม เอาชนะ Ernst Stavro Blofeld, Dr. No, Max Zorin และ Emilio Largo ทั้งหมดเป็นตัวร้ายที่ได้รับความนิยมสูงมากใน James Bond

เกร็ด: Auric เป็นคำ adjective ที่แปลว่า gold

เกร็ด2: Fleming ได้แรงบันดาลใจชื่อ Goldfinger มาจากบัดดี้เล่นกอล์ฟ Ernő Goldfinger

บอดี้การ์ดข้างตัวของ Goldfinger ชื่อ Oddjob นำแสดงโดย Harold Sakata เจ้าของเหรียญเงินยกน้ำหนัก 1948 London Summer Olympic สัญชาติอเมริกัน, ผู้กำกับ Hamilton พูดชื่นชม Sakata ว่าเป็นคนมีเสน่ห์อย่างยิ่ง (absolutely charming man) ใบหน้า ท่าทาง ท่าเดินที่ดูกร่าง ถึงไม่มีบทพูด แต่มองยังไงก็เหมือนผู้ร้าย, ในฉากที่ Oddjob โดนไฟช็อต เห็นว่า Sakata ถูกไฟช็อตจริงๆจนเป็นแผลไหม้ แต่เขาอดทนฝืนความเจ็บปวด เพราะผู้กำกับยังไม่ยอมสั่ง cut ถือว่าเป็นคนที่ทุ่มเทมากจริงๆ, นักวิจารณ์ต่างยกย่อง Oddjob ถึงไม่มีบทพูด แต่ถือว่าเป็นตัวร้ายที่ยิ่งใหญ่ (a wordless role, but one of cinema’s great villains.)

สำหรับ Bond Girl บท Pussy Galore รับบทโดย Honor Blackman เหตุที่ทำให้เธอได้รับบทนี้ เพราะผู้สร้างชื่นชอบการแสดงของเธอในซีรีย์ The Avengers (1961), Pussy เป็นนักบิน ที่ดูเผินๆหลายคนคงรู้ได้ว่าเธอเป็น Lesbian คือไม่ชอบผู้ชาย และในสังกัดกองบิน ก็เป็นหญิงล้วน (จินตนาการเอาเองนะครับว่าเป็นยังไง) นี่ถือเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มาก เพราะสาวบอนด์คนอื่นๆ พอได้พบกับ James Bond แทบจะพุ่งถลาเข้าอ้อมอกของ 007 แต่เธอคนนี้ตอนแรกไม่มีความสนใจใดๆ, ในฉากคอกม้า ลีลารักของทั้งคู่เริ่มจาก จูโด (ในบทหนังไม่มีนะครับ แต่เพิ่มให้เพราะ Blackman รู้สึกจะสายดำ) นี่เป็นสาวบอนด์ที่มีความเปรี้ยวแรง คาดว่าคงไม่เคยผ่านมือชาย นั่นคือเหตุผลที่พอลิ้มรสรักของ James Bond ก็หลงใหล ‘เชื่อง’ ไปโดยทันที

Bond Girl อีกคนที่ต้องพูดถึงคือ Shirley Eaton รับบท Jill Masterson หญิงสาวเคลือบทอง ที่เรือนร่างของเธอกลายเป็นตำนานของ Bond Girl ที่ใครๆต้องจดจำได้, บทของเธอมีไม่มาก ตอนแรกเป็น call-girl ของ Goldfinger แล้วถูก James Bond ใช้เสน่ห์หวานล้อม ลวงเธอเข้ามาเป็นของเขา ไม่ต้องคิดมากก็คงรู้ได้ว่า Goldfinger นะแหละที่เป็นคนแก้แค้น ทำกับเธอแบบนี้ เพราะความอิจฉาหึงหวง

เกร็ด: Skirley Eaton คือคนที่เป็นแบบให้กับ Title Sequence นะครับ

งานถ่ายภาพของ Ted Moore ในภาคนี้ ถือว่าสวยงามขึ้นผิดหูผิดตา ผมว่าอาจเพราะวิสัยทัศน์ของ Hamilton แตกต่างจาก Young พอสมควร ลีลาการเคลื่อนกล้องจึงโดดเด่นมาก มีความไหลลื่นและรวดเร็วขึ้นจากภาคก่อนมาก

สถานที่ถ่ายทำ Switzerland เห็นเทือกเขา Swiss Alps สวยงามสุดๆ, ฉากไฮไลท์ คือบนถนนที่คดเคี้ยวขึ้น-ลงเขา (บริเวณ Furka Pass อยู่ใกล้ๆเมือง Realp) หนังถ่ายจากถนนระดับหนึ่ง ซูมออกให้เห็นว่า Bond กำลังมอง Goldfinger จากถนนชั้นบน แล้วกล้องซูมออกอีกครั้งหนึ่ง เป็นหญิงสาวอีกคนที่อยู่สูงขึ้นไป 2 ชั้นเห็นทั้ง Goldfinger และ Bond, นี่เป็นช็อตสวยงามที่สุดของหนังแล้ว

สำหรับฉากตอนท้ายที่ Fort Knox (ถ่ายสถานที่จริง) Broccoli มีเพื่อนที่เป็น Lt. Colonel จึงได้รับอนุญาติให้เครื่องบิน บินต่ำกว่าระดับ 3,000 ฟุต ผ่านบริเวณนั้นได้ (คือ Security บริเวณนั้นสูงมากๆ ถ้ามีเครื่องบิน บินต่ำมา การันตีได้ว่าโดนยิงตกแน่นอน ทั้งมิสไซล์ ปืนกล ฯ), ส่วนฉากภายใน Fort Knox กลับไปถ่ายที่อังกฤษ ใน Bank of England ที่ขอเข้าไปถ่ายได้ เพราะไม่ค่อยมีของมีค่าอยู่มากนัก (สถานที่ Fort Knox ให้ถ่ายภายนอกได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว ถ่ายภายในยังไงก็ไม่มีทางได้อยู่แล้ว)

ตัดต่อโดย Peter R. Hunt, สองภาคก่อนหน้า ฉาก Intro มักจะมีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลัก แต่ Goldfinger ถือเป็นครั้งแรกของแฟนไชร์นี้ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอะไรกับเนื้อเรื่องหลักเลย เป็นความต้องการ Show-Off เหมือนออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อย นำเสนอภารกิจทั่วไปของ James Bond แล้วตบท้ายด้วยการสั่ง ‘A Martini. Shaken, not stirred’

เกร็ด: นี่เป็นครั้งแรกที่ James Bond สั่ง ‘มาร์ตินนี่ เขย่าแต่ไม่คน’ ซึ่งเป็นคำพูดติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes ลำดับ 90

James Bond ภาคนี้ ว่าไปเป็นเหมือนตัวเสือก แส่หาเรื่องเข้าตัวเองทั้งนั้น ภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายคือสอดแนม สังเกตการณ์ แต่พี่แกกลับพาตัวเอาเข้าไปยุ่งจุ้นจ้านกับเป้าหมาย ทั้งๆที่ปากก็บอกว่า ‘เรื่องงานต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว’ แต่ก็เอาชนะใจตัวเองไม่ได้ นี่เป็นเหตุให้มีหญิงสาวต้องเสียชีวิตเพราะนิสัยส่วนตัวของ James Bond

ผมคิดว่า Goldfinger น่าจะเป็นหนังที่ Bond ถูกคุมขัง เป็นตัวประกันนานที่สุดในเวลาที่หนังฉาย เกือบครึ่งค่อนเรื่อง (แต่ถ้าเป็นตัวประกันระยะเวลานานที่สุด น่าจะเป็น Die Another Day คุ้นว่าระยะเวลาในหนังเป็นปีๆเลย) ซึ่งระหว่างนั้น Bond ก็สรรหาวิธีการ พยายามหนีเอาตัวรอดต่างๆนานา แต่ก็ไปไม่รอดสักครั้ง, ครั้งหนึ่งที่หนีออกมาได้ แต่ดันแอบได้ยินความลับ เป้าหมายของปฏิบัติการ Grand Slam เข้าให้ เขาจึงพยายามที่จะส่งข้อมูลนี้ให้กับสายลับอเมริกัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำได้

หนังมีการหักมุมในช่วงท้ายของหนัง ด้วยวิธีที่คาดไม่ถึง ซึ่งไม่ได้มีครั้งเดียวนะ ยังมีครั้งที่สองตามมาด้วย (หลายคนคงไม่นับว่าการปรากฎตัวอีกครั้งของ Goldfinger คือการหักมุม แต่ผมมองว่ามันคือการคาดไม่ถึงเหมือนกันนะครับ)

กับการตายของ Goldfinger (ตัวร้าย James Bond แทบทั้งนั้นต้องตายตอนจบ นี่คงไม่ถือว่าเป็นการสปอยนะครับ) ขณะอยู่บนเครื่องบิน บอกแล้วว่าอย่าเล่นปืน ลั่นไกโดนกระจกหน้าต่าง แล้วพี่แกก็ถูกลมดูดออกไปนอกเครื่อง ผมเรียกฉากนี้ว่า เทวดาตกสวรรค์ คือ Goldfinger มันร่ำรวยล้นฟ้าดั่งเทวดาบนสวรรค์แล้ว แต่ยังมีความละโมบโลภมากไม่รู้จักพอ ผลลัพท์ของกิเลสนี้คือ ทำให้ตัวเองถูกสูบทุกสิ่งอย่าง ตกสวรรค์ลงมา… น่าจะตายแน่

นี่คือเหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเป็นหนังที่แฝงแนวคิดเกี่ยวกับความละโมบโลภมากไม่รู้จักพอ และคนที่มีนิสัยเย่อยิ่งถือตน ลองสังเกตศึกษาความน่ารังเกียจและผลลัพท์ของคนพวกนี้ดูนะครับ แต่อย่าไปเลียนแบบทำตาม ทั้ง Goldfinger และ James Bond (ช่วงแรกๆ)เอาละ

เพลงประกอบโดย John Barry, นี่เป็นหนัง James Bond เรื่องแรกที่ Barry ได้ควบคุมทำเพลงประกอบทั้งหมด (และเขาบอกว่า นี่เป็น James Bond ภาคที่ชอบที่สุดด้วย) ทั้งเขียนทำนอง เนื้อร้องเพลง Goldfinger (เห็นว่าเขียนทำนองขึ้นก่อนแต่งเนื้อร้อง) ขับร้องโดย Shirley Bassey (เธอยังได้กลับมาร้องเพลงประกอบ James Bond อีก 2 เรื่องคือ Diamonds are Forever และ Moonraker)

หลังจากฟังเพลงนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ ผมรู้สึกว่าทำนองไพเราะสู้ From Russia with Love ไม่ได้ แต่คำร้องถือว่าเฉียบขาด แหลมคมกว่ามากๆ, กับคนที่ฟังออกและแปลได้ จะเห็นถึงสัมผัสของเนื้อร้องที่มีความคล้องจองลงตัว

Goldfinger
He’s the man, the man with the Midas touch
A spider’s touch
Such a cold finger
Beckons you to enter his web of sin
But don’t go in

Golden words he will pour in your ear
But his lies can’t disguise what you fear
For a golden girl knows when he’s kissed her
It’s the kiss of death from

Mister Goldfinger
Pretty girl beware of this heart of gold
This heart is cold

ผมทำตัวหนา/ตัวเอียง/ขีดเส้นใต้ ชุดคำที่สัมผัสไว้นะครับ จะได้เห็นถึงความงดงามที่ต้องบอกว่า เลือกคำสัมผัสได้เหนือชั้นมากๆ สมแล้วที่ใครต่อใครยกเพลงนี้คืออันดับ 1 เพลงประกอบแฟนไชร์ James Bond (แต่ส่วนตัวยังชอบ From Russia with Love มากกว่า), กับวิธีการร้อง จะมีการเน้นคำสัมผัสให้ได้ยินการออกเสียงที่คมชัดเจน นี่สื่อถึงความสำคัญของคำนั้นๆ ที่มีใจความเน้นย้ำ สื่อถึงตัวละครหรือเรื่องราว เช่น sin/in,  ear/fear, gold/cold ฯ

สำหรับ Title Sequence แทบทุกชาร์ทจัดอันดับจะต้องมี Goldfiner ติดอยู่แน่นอน, แม้หญิงสาวที่เป็นแบบจะไม่ได้เต้นหรือเคลื่อนไหวเหมือนหนังภาคอื่น แต่ร่างถูกชุบทองโพสท่าแน่นิ่งเหมือนรูปปั้น และมีภาพเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นฉายบนตัวเธอ นี่ถือเป็นภาพที่งดงามมากๆ, ลองสังเกตเวลาเครดิตชื่อขึ้น เช่น Sean Connery ก็จะมีภาพของเขาฉายขึ้น, ผมชอบสุดก็ช็อตถ่ายใบหน้าแล้วตรงปากเป็นป้ายทะเบียนรถที่หมุนปรับเปลี่ยนได้, ไฮไลท์คงเป็นช่วงท้าย ที่ถ่ายเห็นขณะหญิงสาวหันหลัง/นอนอยู่ แล้วฉายภาพระเบิด/ไฟไหม้ และช็อตสุดท้าย มือของหญิงสาว (มือ=ผู้สร้าง) ฉายภาพ Goldfinger (ตัวร้าย) และเครดิตขึ้นชื่อผู้กำกับ

สิ่งที่ทำให้ Goldfinger ได้รับการยกย่องเหนือ James Bond ภาคอื่นๆ ต้องยกเครดิตให้ผู้กำกับ Guy Hamilton ที่สามารถนำเสนอ ตีความเรื่องราวที่อยู่ในนิยายออกมาได้ น่าจะใกล้เคียงความตั้งใจของ Ian Fleming ที่สุดแล้ว (นี่พูดถึงความตั้งใจที่เป็นจุดกำเนิดเรื่องราวนะครับ ไม่ใช่ดัดแปลงได้ตรงต่อนิยายที่สุด), มุมมองของ Hamilton ถือว่าสดใหม่ และยังไม่มีหนังเรื่องไหนสร้างขึ้นมาก่อน (ผิดกับ Dr. No และ From Russia with Love ที่ได้อิทธิพลมาจาก North by Northwest มาเต็มๆเลย) หลายสิ่งอย่างที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ ได้ยกระดับ สร้างบรรทัดฐานให้กับหนัง James Bond เรื่องอื่นๆ ผมขอเรียกว่า พิมพ์เขียว, หนัง James Bond ทุกภาคหลังถัดจากนี้ จะมีพิมพ์เขียว ที่อย่างน้อยสิ่งหนึ่ง ต้องอ้างอิงมาจาก Goldfinger นี้แหละ

ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกา $51 ล้าน รวมทั่วโลก $124.9 ล้าน ถือเป็นหนัง James Bond เรื่องแรกที่ทำรายได้เกิน $100 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 1 สาขาและได้รางวัล Best Effects, Sound Effects น่าเสียดายที่เพลงประกอบ Goldfinger ไม่ได้เข้าชิง แต่ John Barry ก็มีลุ้น Grammy Award (แต่ก็ไม่ได้รางวัล)

น่าเสียดายที่ Ian Fleming ไม่ได้มีโอกาสรับชมหนังภาคที่ดีที่สุดนี้ เขาเสียชีวิตจากโรคหัวใจเมื่อเดือนสิงหาคม 1964 ก่อนที่หนังจะสร้างเสร็จเพียงเดือนกว่าๆเท่านั้น, ว่ากันว่า Fleming เป็นคนที่สูบบุหรี่จัดและกินเหล้าหนักมาก ทั้งๆที่รู้ว่าหัวใจตนเองไม่ดี แต่ก็ไม่สนใจเท่าไหร่ รวมอายุได้ 56 ปีเท่านั้น

ส่วนตัวชอบหนังภาคนี้ในความคลาสสิก ถ่ายภาพสวย เพลงเพราะ เนื้อเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน แล้วมีหักมุมที่คาดไม่ถึง แต่ส่วนที่ไม่ชอบ คือความที่มันละม้ายคล้ายคลึงกับหนัง James Bond เรื่องอื่นๆมากไป, จริงๆต้องพูดกลับกัน ว่าหนัง James Bond ภาคอื่นๆเหมือนกับ Goldfinger มากเกินไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น สูตรสำเร็จหนัง James Bond ที่เป็นแม่พิมพ์ต้นฉบับพื้นฐานของแฟนไชร์นี้ นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักดูหนังรุ่นใหม่หลายคนดู Goldfinger ไม่ได้อรรถรสเต็มที่ (ผมก็คนหนึ่ง)

Goldfinger ถือว่าคือจุดรุ่งโรจน์สูงสุดของแฟนไชร์ James Bond ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ที่ถ้าเทียบกับปัจจุบันแล้ว Skyfall หนังพันล้านเหรียญเรื่องแรกของแฟนไชร์นี้ ก็เทียบไม่ติด

Goldfinger represents the peak of the series. It is the most perfectly realised of all the films with hardly a wrong step made throughout its length. It moves at a fast and furious pace, but the plot holds together logically enough (more logically than the book) and is a perfect blend of the real and the fantastic.

John Brosnan

แนะนำกับ คนชอบหนังแนวสายลับมาดเท่ห์, เนื้อเรื่องมีความซับซ้อน, เพลงประกอบเพราะๆ และแฟนๆปู่ Sean Connery คงไม่พลาด

จัดเรต PG มีความรุนแรง แต่ไม่เห็นเลือด

TAGLINES | “Goldfinger คือหนังที่เป็นพิมพ์เขียวของแฟนไชร์ James Bond จึงถือว่าเป็นภาคที่ยอดเยี่ยมที่สุด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: