Good Morning

Good Morning (1959) Japanese : Yasujirō Ozu ♥♥♥

สวัสดี, อรุณสวัสดิ์, ขอบคุณ, พบกันใหม่ … มนุษย์พูดจาสื่อสารกันทำไม มีความสำคัญ จำเป็นตรงไหน หนังเรื่องนี้ของ Yasujirō Ozu อาจมีคำตอบ

Ohayo (Good Morning, อรุณสวัสดิ์) เป็นภาพยนตร์สีลำดับที่สองของปรมาจารย์ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Yasujirō Ozu ร่วมเขียนบทกับ Kogo Noda มีเรื่องราวคล้ายๆหนังเงียบ I Was Born, But… (1932) ที่ Ozu เคยสร้างไว้ หลายคนจะถือว่าเป็นการ remake แต่ผมรู้สึกแค่นำแนวคิดบางอย่างมาเท่านั้น

เรื่องราวเกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆชานเมือง ที่ค่อยๆซึมซับรับอิทธิพลจากชาติตะวันตก มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน, เริ่มต้นจากเด็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังนิยมดันหัวแล้วตดดัง (ก็ไม่รู้ทำกันได้ยังไงนะ โคตรไร้สาระเลย) ส่วนผู้ใหญ่ก็กำลังซุบซิบนินทา เพราะเงินส่วนกลางของหมู่บ้านหายไป ใครมุบมิบไว้หรือเปล่า?

การสื่อสารถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อทุกสิ่งมีชีวิตในโลก, นิยามการสื่อสาร คือ กระบวนการสำหรับแลกเปลี่ยนสาร การส่งต่อ ความรู้/ความคิด/ความต้องการ จากบุคคล/สิ่งหนึ่ง ไปสู่ อีกคน/อีกสิ่งหนึ่ง โดยผ่านสื่อกลาง ที่อาจจะเป็น ภาษาพูด/ภาษาเขียน/ภาษากาย ฯ เพราะไม่มีมนุษย์/สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่อยู่ตัวคนเดียวในโลก ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น การสื่อสารจึงมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างสองฝ่ายเป็นต้นไป

การพูด คือ วิวัฒนาการการสื่อสารที่ช่วยการย่นระยะเวลาการรับรู้ด้วยเสียง ให้เกิดความเข้าใจตรงกันได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

เรื่องราวของหนังจะวนเวียนอยู่กับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการพูด ครบวจีกรรม 4
1. มุสาวาท (การพูดปด พูดเท็จ โกหก หลอกลวง)
2. ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด คือพูดยุยงให้เขาแตกแยกกัน)
3. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ)
4. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)

ตั้งคำถามถึงความสำคัญ ความจำเป็น ความยากลำบากเมื่อไม่มีการพูด เพื่อจะทำให้ผู้ชมเข้าใจ เห็นว่าการสื่อสารมีความสำคัญมากแค่ไหนกับชีวิตมนุษย์

ซึ่งคำถามหนึ่งที่เป็นใจความสำคัญของหนังคือ มนุษย์จำเป็นต้องพูดด้วยหรือเปล่า?

ดูหนังนี้ มักทำให้ผมนึกถึงนิทานชาดกเรื่อง เตมีย์ใบ้ อดีตชาติของพระพุทธเจ้า เผื่อใครไม่รู้จะขอเล่าแบบย่อๆ

เตมียราชกุมาร เกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่เห็นราชบุรษลงโทษโจรตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันครั้งบ้าง เอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่างๆนานา ก็อดกลั้นไว้ ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ ทั้งนี้เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ จนพระราชาปรึกษาพวกพรากมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำให้นำราชกุมารไปฝังนอกเมืองเสีย จะได้พ้นกาลกิณี

ในบรรดานิทานชาดกทั้ง 10 เรื่อง ผมชอบที่สุดคือ เตมียชาดก และเวสสันดรชาดก จดจำฝังใจตั้งแต่เด็กไม่ลืมเลือน ซึ่งบทเรียนที่ได้จากชาดกนี้ ทำให้ผมกล้าพูดได้ว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพูด (แต่จำเป็นต้องมีการสื่อสาร)

ผมเคยได้ยินข่าว มีพระที่สมาทาน ชาตินี้จะไม่ขอเปล่งวาจา เว้นตอนสวดมนต์, เวลาสื่อสารกับญาติโยม ท่านใช้การเขียนใส่กระดาษ จริงอยู่มันอาจช้า เสียเวลา แต่การเขียนมันทำให้ต้องคิดไตร่ตรอง การโกหก/ส่อเสียด/พูดหยาบ/เพ้อเจ้อ จึงไม่มีแน่ ใครมีความตั้งมั่นแบบนี้ แล้วปฏิบัติได้ ถือว่าน่าเลื่อมใสในความตั้งใจอย่างยิ่ง

การไม่พูดของเด็กชายในหนัง (จะว่าไปชีวิตจริงผมก็เคยไม่พูดกับพ่อ/แม่ งอนเรื่องไร้สาระอยู่ 3-4 วัน) ถือเป็นการเรียกร้องความสนใจลักษณะหนึ่ง ในช่วงวัย Rebellious Stage (หัวขบถ ขัดแย้ง) มีความดื้อรั้น เอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้ หัวชนฝารุนแรง, ผมยังจดจำเรื่องราวของตนเองขณะผ่านเวลานั้นมาได้เป็นอย่างดี ถือช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิต เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด ‘อุดมการณ์’ บางอย่าง, เด็กที่มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ใหญ่ และเกิดเป็น Rebellious Stage เพราะเขาจะมีความต้องการ/ความตั้งใจบางอย่าง แต่ไม่สามารถแสดงออกได้ นี่จะเป็นสิ่งที่โตขึ้นแล้วจะจดจำฝังใจ ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเคยคิด ตั้งใจจะทำ

ตอนเด็กผมเคยไม่พูดกับแม่อยู่เป็นสัปดาห์ เรื่องที่ไม่อนุญาตให้เพื่อนยืมกีตาร์ไปเล่น ประมาณว่า ‘ซื้อมาก็หลายตัง เล่นได้แปบเดียวเองเบื่อแล้วหรือไง ถึงจะให้คนอื่นยืม’ จำได้ว่าปี้ดแตกเลยละ ทำไมแม่เป็นคนเห็นแก่ตัวขนาดนี้ โตขึ้นจะไม่มีวันเป็นแบบนี้เด็ดขาด, นี่ขอเรียกว่า อุดมการณ์ ความตั้งใจที่ผมจดจำไม่ลืมเลือน นับจากนั้นถ้ามีเพื่อนหรือใครขอยืมของ มีก็ให้แบบไม่เคยหวง ไม่เคยทวง ถ้าจะไม่คืนก็…เรื่องของมัน, มาคิดย้อนกลับในมุมมองของแม่ตอนนั้น ท่านอาจมีความหวังดีที่จะสอนให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งของ รู้จักความเห็นแก่ตัว ไม่ควรเชื่อใจคนอื่นง่ายๆ … นี่เป็นบทเรียนที่ผมต่อต้าน ไม่รับฟัง ขัดแย้ง เห็นต่างโดยสิ้นเชิง

และตอนนั้นทำให้เข้าใจด้วยว่า ชีวิตยากลำบากแค่ไหนกับการไม่พูด ก็เหมือนกับเด็กชายสองคน ที่การไม่พูดลามไปถึงที่โรงเรียน (แต่ตอนนั้นผมไปโรงเรียนก็พูดกับเพื่อน/ครู นะ แค่ไม่พูดกับแม่คนเดียว) แต่พวกเขายังไม่ฉลาดเท่าไหร่ การสื่อสาร ถ้าใช้สื่อที่เรียกว่าคำพูดไม่ได้ มันก็ยังมีอีกมากมายหลายวิธี เช่น การเขียน ทำท่าทาง ส่ง Message ฯ

มันตลกที่ หนังเรื่องนี้ตอนสุดท้าย ทำให้ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายยอมแพ้, การไม่พูดกับพ่อแม่ สำหรับเด็กถือว่าเป็นเหมือนเกมที่ท้าทายตัวเอง ไม่ว่ายังไงตราบใดยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็จะไม่มีวันปริปากแม้แต่คำเดียว ซึ่งหนังเลือกจบด้วย การให้พ่อตัดสินใจซื้อโทรทัศน์เข้าบ้าน เด็กๆจึงรู้สึกเหมือนตัวเองชนะแล้ว จึงยอมพูดคุยด้วยในที่สุด … นี่คือในมุมของเด็กนะครับ

ในมุมของผู้ใหญ่ ก็ตลกเช่นกัน คือพ่อไม่ได้มีความสนใจ เคยแสดงออกต่อต้านต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะโทรทัศน์ แต่พอเพื่อนสนิทข้างบ้านกลายเป็นเซลล์แมน เสนอขายอุปกรณ์ไฟฟ้าตามบ้าน มันจึงเป็นการเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอุดหนุนอะไรสักชิ้น จำใจกลืนน้ำลายตัวเอง ซื้อสิ่งที่ปากบอกไม่อยากได้ แต่เอะ…หรือใจเขาอยากได้อยู่แล้วหรือเปล่า? (จริงๆ จะซื้อเครื่องซักผ้าก็ได้นะ แต่การซื้อโทรทัศน์ เหมือนว่าต้องการยอมให้ลูกๆทางอ้อมด้วย)

ตอนที่ผมยอมพูดกับแม่ เพราะได้ยินจากพ่อ ว่าแม่แอบไปร้องไห้ฟูมฟายประมาณว่า ‘ลูกไม่รักแม่แล้วหรือยังไง ถึงไม่ยอมพูด’ โห จบกัน ยอมคุยก็ได้! ถ้าคุณมีลูกที่อยู่ในช่วง Rebellious Stage นี่เป็นข้อห้ามทำให้เห็นทั้งต่อหน้าลับหลังเลยนะครับ เพราะจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้านมากขึ้นไปใหญ่ เพราะเหมือนใช้กำลังบังคับให้ยอมแพ้ เห็นผิดเป็นชอบ นับจากนั้นมาเวลาผมมีปัญหาอะไรก็ไม่เคยพูดคุยกับแม่อีกเลย

ถ่ายภาพโดย Yūharu Atsuta, ถือว่าเป็นหนังสไตล์ Ozu แบบเต็มตัว มีแต่ช็อตภาพนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนกล้อง ถ่ายระดับ Tatami Shot และจัดวางนักแสดงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ, พอเป็นภาพสี ทำให้หนังมีความสด ยังดูใหม่เอี่ยม และโทนสีน้ำตาล (เสื้อผ้าที่ใส่จะออกไปโทนนี้ ไม่มีสีฉูดฉาด) เป็นเหมือนรูปเก่า ที่เห็นในสมัยปัจจุบันยังมีความคลาสสิก สวยล้ำเหนือกาลเวลา

ตัดต่อโดย Yoshiyasu Hamamura, มีความรวดเร็วฉับไว ลื่นไหลต่อเนื่อง เด่นมากตอนข่าวลือที่บอกต่อ จากบ้านหนึ่งไปบ้านหนึ่ง ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเปิดหนังสือรวมอัลบัมรูป ถ่ายภาพนิ่งเป็นช็อตๆ

เพลงประกอบโดย Toshirō Mayuzumi เป็นคีตกวีที่ขึ้นชื่อเรื่อง Avant-Garde Western, มีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น บรรเลงผสมทำนองเพลงคลาสสิกฝั่งยุโรป น่าจะของ Beethoven เข้าไป (ทำนองคุ้นหูมาก แต่ยังชื่อเพลงไม่ออก) ฯ นี่ทำให้หนังฟุ้งไปด้วยกลิ่นอาย Westernized อิทธิพลจากโลกฝั่งตะวันตก

กับคำพูด สวัสดี, อรุณสวัสดิ์, ขอบคุณ, พบกันใหม่ นี่ถือเป็นมารยาทที่สังคมประดิษฐ์ขึ้น เพื่อเป็นคำเริ่มต้นทักทาย เปิดประโยค/ปิดท้ายการสนทนา ฯ จริงอยู่มันอาจไม่จำเป็น ดูไร้สาระ มีอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด, คนที่เป็นนักพูด เชื่อว่าคงจะเข้าใจเหตุผล และมองคำสร้อยเหล่านี้ว่า ‘ศิลปะ’ เปรียบเทียบกับการวาดรูป ที่ขณะหยิบพู่กัน จุ่มหมึก เริ่มละเลงสี เปรียบได้กับ สวัสดี, ขณะวาดมีผิดพลาด ขอโทษ/ขออภัย, วาดเสร็จ วางพู่กัน ลาก่อน ฯ ศิลปะทางการพูดสามารถมองได้เป็น สุนทรียะ ความงดงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ถ้าโลกขาดหายสิ่งนี้ไป ความน่าสนเท่ห์ของชีวิตจะลดลงมาก … นี่คือคำตอบของหนังนะครับ

เด็กๆ มองคำพูดเป็นของฟุ่มเฟือย ก็เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ ในอดีตไม่จำเป็นต้องมี ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่เห็นตาย แต่ปัจจุบันไม่มีแสดงออกจะเป็นจะตาย, คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของพวกนี้เลยนะครับ โทรทัศน์มีเพื่ออะไร? เครื่องซักผ้ามีเพื่ออะไร? โทรศัพท์? คอมพิวเตอร์? ต้องคนยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน จากไม่เคยมีเป็นมี จะเข้าใจเห็นเหตุผล ความจำเป็นต่อของพวกนี้ … คุณละเข้าใจหรือเปล่า?

ส่วนตัวมองว่า การพูด คือกิเลสอย่างหนึ่งที่เรียกว่า วจีกรรม มนุษย์พูดเพราะต้องการให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา แต่ความเข้าใจไม่จำเป็นต้องเกิดจากการพูดอย่างเดียว ทางกาย ทางสัมผัส ทางความคิด ก็ถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง, ดังที่ผมบอกไป มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพูด แต่ต้องมีการสื่อสาร เพราะไม่มีทางที่เราจะอยู่ตัวคนเดียวได้ในโลกใบนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องสื่อสารกับธรรมชาติ หายใจ รับสัมผัสร้อนหนาว ฯ (การสื่อสารไม่จำเป็นต้อง สิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต เท่านั้น ธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต ก็ถือเป็นการสื่อสารได้เช่นกัน)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ มีความสนุกสนาน เรียบง่าย ผสม Comedy สวยงาม เต็มอิ่มกับสไตล์ Ozu และชื่นชอบเพลงประกอบเป็นพิเศษ แต่ไม่ค่อยประทับใจคำตอบของหนังเสียเท่าไหร่

แนะนำกับแฟนๆ Yasujirō Ozu โดยเฉพาะ และผู้ชื่นชอบหนังแนวตั้งคำถาม ขบคิดวิเคราะห์ถึงปรัชญาการใช้ชีวิต

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน

TAGLINE | “Good Morning ของ Yasujirō Ozu ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิถีการสนทนาของมนุษย์ได้น่าสนใจ แต่คำตอบอาจไม่มีอะไรใหม่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: