Goodbye to Language (2014) : Jean-Luc Godard ♥♥♥
สิ่งที่ทำให้ผู้ชม/นักวิจารณ์ จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้นขนลุกเนื้อเต้น ถึงขนาดต้องมอบรางวัล Jury Prize ให้กับปู่ Jean-Luc Godard คือการบัญญัติไวยากรณ์ใหม่ให้ภาษาภาพยนตร์สามมิติ หลับตาซ้ายเห็นภาพหนึ่ง หลับตาขวาเห็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ประสบการณ์นี้อาจต้องรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้นกระมัง (และอาจเกาหัวจนผมร่วงหมดศีรษะ เพราะไม่เข้าใจว่าหนังต้องการนำเสนออะไร)
จริงๆไวยากรณ์ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่อะไรใหม่เลยนะ ถ้าคุณเคยเล่นแว่นสามมิติที่มีสองสี น้ำเงิน-แดง น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หลับตาซ้ายจะไม่เห็นสิ่งที่เป็นสีน้ำเงิน หลับตาขวามองไม่เห็นสีแดง มองสองตาเหมือนภาพจะลอยออกมา, แต่สำหรับวงการภาพยนตร์ แปลกที่ลูกเล่นมายากลนี้กลับไม่เคยถูกนำมาใช้สักครั้ง (คงเพราะใครๆ ต่างมองข้ามพื้นฐานง่ายๆนี้ไป) แม้จะเคยได้รับความนิยมช่วงสั้นๆในทศวรรษ 50s ขนาดว่า Alfred Hitchcock กำกับสร้าง Dial M for Murder (1954) ตั้งใจให้ฉายในโรงสามมิติ (แต่เหมือนจะไม่ได้ฉาย) สุดท้ายเพราะยุ่งยากวุ่นวาย ขาดความสมจริง เลยค่อยๆเสื่อมถอยความนิยมจนสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว
การกลับมาได้รับความนิยมใหม่ของภาพยนตร์สามมิติในช่วงต้นศตวรรษ 21 ต้องถือว่ามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก เริ่มจากการมาถึงของเครื่องฉายดิจิตอล (ฉายได้ทั้งหนังปกติและสามมิติ) แว่นตาสามารถแยกแยะมิติความลึกได้หลายระดับ ฯ กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ต้องการอรรถรสในการรับภาพยนตร์ที่แตกต่าง ถึงจุดสูงสุดกับ Avatar (2009) ตามด้วย Cave of Forgotten Dreams (2010), Hugo (2011), Life of Pi (2012), Gravity (2013) ต่างพยายามประยุกต์ใช้ความสามารถของเทคโนโลยีสามมิติให้เต็มประสิทธิภาพ
แต่ทั้ง 4-5 เรื่องที่กล่าวมานี้ยังเทียบไม่ได้กับ Adieu au Langage แม้หนังจะต้องหวนกลับไปหารากเหง้าดั้งเดิม ผู้ชมต้องสวมแว่นสามมิติสองสี น้ำเงิน-แดง เพื่อแยกแยะซ้าย-ขวา แต่สองภาพที่ซ้อนกันอยู่มันคนละมุมละด้านกันเลยนะ
ถ้าคุณหลับตาซ้ายจะเห็นภาพมุมนี้
หลับตาขวาจะเห็นภาพอีกมุมหนึ่ง
ให้ตายเถอะ! การันตีได้ว่าไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนในโลกเคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนแน่ ถือเป็นการประยุกต์ใช้ความสามารถของภาพสามมิติได้อย่างเต็มศักยภาพมากที่สุด สร้างไวยากรณ์ใหม่ให้กับภาษาภาพยนตร์ แต่ก็ไม่รู้จะมีใครอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริงได้หรือเปล่านะ
นึกไม่ออกก็ลองรับชมคลิปนี้แล้วจินตนาการดูเองนะครับ นี่คือฉบับ 3D ที่ทำเป็นภาพ 2D ลงแผ่น Blu-Ray เลยเห็นเป็นสองภาพซ้อนกัน (หนึ่งหยุดนิ่ง, สองเคลื่อนไหว) ยังไม่มีชื่อทางการของเทคนิคนี้ เบื้องต้นเรียกว่า Separation Shot ไปก่อน (นักวิจารณ์ David Ehrlich ตั้งชื่อว่า Choose your own adventure ก็เท่ห์ไปอีกแบบ)
Jean-Luc Godard (เกิดปี 1930) นักวิจารณ์ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ หนึ่งในผู้บุกเบิกยุคสมัย French New Wave เกิดที่ Paris แม่มีเชื้อสาย Swiss ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวพาอพยพหลบลี้ภัยไปอยู่ Switzerland, สมัยเด็กไม่ใช่คนชื่นชอบภาพยนตร์นัก สนใจอ่านหนังสือ ถกปรัชญา โต้เถียงเรื่องการเมือง โตขึ้นสมัครคณะมนุษยศาสตร์ University of Paris แต่ไม่เคยเข้าชั้นเรียนสักครั้ง เพราะมัวแต่คบหารวมกลุ่มกับเพื่อนๆชมรมวิจารณ์ภาพยนตร์ สนิทสนมกับ François Truffaut, Jacques Rivette, Claude Chabrol ฯ
“In the 1950s cinema was as important as bread—but it isn’t the case any more. We thought cinema would assert itself as an instrument of knowledge, a microscope… a telescope…. At the Cinémathèque I discovered a world which nobody had spoken to me about. They’d told us about Goethe, but not Dreyer. … We watched silent films in the era of talkies. We dreamed about film. We were like Christians in the catacombs.”
เมื่อ André Bazin ก่อตั้งนิตยสาร Cahiers du cinéma เมื่อปี 1951 ชักชวนให้ Godard มาเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ บทความแรกเขียนถึง No Sad Songs for Me (1950) ค่อยๆมีชื่อเสียงโด่งดังจากคำพูดที่รุนแรงตรงไปตรงมา แสดงทัศนะชื่นชอบอคติพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้กำกับนั้นๆ เช่นว่า ยกย่อง Otto Preminger, Howard Hawks, Jean Renoir ไม่ชอบ Orson Welles, Vittorio De Sica, William Wyler ฯ ประมาณปี 1955 เริ่มเล็งเห็นช่องทางในการสร้างภาพยนตร์ สะสมประสบการณ์จากสารคดี หนังสั้น และ Feature Film เรื่องแรก À bout de souffle (1960) โด่งดังกลายเป็นตำนานโดยทันที
ผลงานเด่นๆ อาทิ Vivre sa vie (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Alphaville (1965) Pierrot le Fou (1965), Weekend (1967), Histoire(s) du cinéma (1988-1998) ฯ
สำหรับ Adieu au Langage เป็นผู้กำกับ Godard ที่ประกาศสร้างครั้งแรกตอนนำ Film Socialisme (2010) มาฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมด้วยพูดแซวเล่นๆอยากให้ Humphrey Bogart กับ Ava Gardner มารับบทพระ-นาง โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสามี-ภรรยา ที่มิได้พูดคุยภาษาเดียวกันอีกแล้ว และก็มีสุนัขตัวหนึ่งอยู่ระหว่างพวกเขา เป็นผู้คอยพูดแทนแสดงออกทั้งหมด
“it’s about a man and his wife who no longer speak the same language. The dog they take on walks then intervenes and speaks.”
และคงเพราะความสำเร็จโด่งดังของ Avatar (2009) ทำให้ Godard มองเป็นความท้าทาย(เชิงประชดประชัน) ทำไมเราไม่ลองสร้างภาพยนตร์สามมิติดูบ้างละ แต่แทนที่จะใช้ทุนมหาศาลอลังการแบบ Hollywood ก็ทำแบบตอนยุคสมัย New Wave งบน้อยทุนต่ำ ถ่ายทำจากสถานที่จริง ใช้แสงธรรมชาติ (ข้อได้เปรียบของยุคสมัยนี้คือกล้องดิจิตอลขนาดเล็กกระทัดรัด ไม่ต้องแบกกล้องหนักๆ หรือล้างฟีล์มให้เสียเวลาวุ่นวาย) แล้วไปท้าทาย Fabrice Aragno (เกิดปี 1970) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Swiss ให้สร้างกล้องสามมิติที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตนได้
หลังจากทดลองใช้กล้องสามมิติแพงๆจากบริษัทชื่อดัง (Panasonic) ปรากฎว่าไม่เป็นที่พึงพอใจในผลลัพท์อย่างยิ่งยวด Aragno เลยลงมือเลื่อยไม้สร้างฐานตั้งกล้อง Canon 5Ds ขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งที่เขาค้นพบมี 2 หลักการ
1) กล้องสองตัวต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร ไม่เช่นนั้นภาพสามมิติที่ออกมาจะตื้นหรือลึกเกินไป
2) และถ้าเบื้องหน้ากับพื้นหลัง มีระยะห่างไกลกันเกินไป นั่นไม่เวิร์คแน่ ในหนังจึงมีระยะทดลองหนึ่ง ไกลสุดที่พอเป็นสามมิติแล้วยังรับรู้ถึงมิติ/ความลึกของภาพ
แซว: Godard นั่งคาบซิการ์สบายใจเฉิบ
เรื่องย่อของหนัง Godard เขียนด้วยลายมือส่งให้นักข่าวโพสรูปลงทวิตเตอร์ แปลได้ว่า
The idea is simple
a married woman and a single man meet
they love, they argue, fists fly
a dog strays between town and country
the seasons pass
the man and woman meet again
the dog finds itself between them
the other is in one
the one is in the other
and they are three
the former husband shatters everything
a second film begins
the same as the first
and yet not
from the human race we pass to metaphor
this ends in barking
and a baby’s cries
ผมจะอธิบายคร่าวๆให้พอเข้าใจกันก่อน, หญิงสาวแต่งงานแล้วเป็นชู้กับชายโสด แรกๆก็รักกันดีแต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มขัดแย้งไม่ลงรอย ฝั่งผู้ชายเสนอให้มีลูกกันสักคนอะไรๆคงดีขึ้น แต่ฝั่งผู้หญิงไม่ต้องการบอกว่าเช่นนั้นเลี้ยงหมาดีกว่า แล้ววันหนึ่งสามีของเธอก็ได้ล่วงรับรู้ความจริง (จะมองว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนตั้งแต่ตอนแรกสุดของหนังเลยก็ได้) ชักปืนจ่อขู่ฆ่า แต่เธอบอกไม่สนใจหันหลังเชิดใส่ ทำให้เขายิงปืนขึ้นฟ้าแล้วขึ้นรถจากไป
ซึ่งตัวละครคู่ชู้รักในหนังมี 2 คู่ แบ่งตามชื่อตอน
1 Nature: คู่ของ Gédéon กับ Josette
2 Metaphor: คู่ของ Marcus กับ Ivitch
สำหรับนักแสดง ตอนแรก Godard ต้องการ Vincent Cassel ประกบ Sophie Marceau แต่เมื่อ Cassel ตอบปัดปฏิเสธ ทำให้เปลี่ยนใจขอเลือกหน้าใหม่ไม่เรื่องมากเลยดีกว่า ซึ่งการคัดเลือกของเขาไม่เน้นหน้าตา มุ่งเน้นที่เรือนรูปร่างคล้ายคลึงกัน น้อยครั้งที่หนังจะถ่ายให้เห็นใบหน้าของพวกเธอ ส่วนใหญ่เป็นเรือนร่างตั้งแต่หน้าอกลงมา คงเพื่อสะท้อนว่านั่นคือใครก็ได้เพศหญิง/ชาย ไม่เจาะจงที่ตัวบุคคล
การทำงานของ Godard ยังคงคล้ายๆสมัยหนุ่มแน่น คือวางแผนเตรียม Scenario วาด Storyboard คร่าวๆไว้แล้วว่าวันนี้จะถ่ายทำอะไร แต่บทพูดสนทนาการกระทำ ล้วนสดๆออกจากเตาครุ่นคิดเมื่อเช้านี้ เวลาซักซ้อมมีไม่มากนัก (ตอนรอตั้งกล้อง) และเมื่อถึงขณะถ่ายทำจริงๆ จะไม่อนุญาตให้นักแสดงทำการแก้ไขปรับปรุง ‘improvise’ ใดๆทั้งนั้น
สถานที่ถ่ายทำปักหลังอยู่ Switzerland (Godard เลือกมาใช้ชีวิตวัยชรา ยังสถานที่ที่เขาเติบโตขึ้น) อุปกรณ์ยัดใส่รถตู้หนึ่งคัน ทีมงานไม่นับนักแสดงมีเพียง 4 คน ประกอบด้วย Godard (นอกจากกำกับแล้วยังเป็นผู้บันทึกเสียง และถือร่มให้ตากล้อง), ผู้ช่วย Jean-Paul Battaggia, ตากล้อง Aragano และชายหนุ่มคนหนึ่ง/คนขับรถ ที่คอยดูต้นทางไม่ให้ใครเดินผ่านเข้ามาติดกล้องระหว่างถ่ายทำ
ในขั้นตอน Post-Production ปักหลักทำงานที่บ้านของ Godard ซึ่งเจ้าตัวจะทำการตัดต่อภาพแบบ 2 มิติ ‘rough cut’ ให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นส่งต่องานภาพสามมิติ ทำ Color Correction และผสมเสียงให้กับ Aragno เห็นว่าใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นเองก็เสร็จสิ้นพร้อมฉาย (ไปเสียเวลาตรงหางบประมาณและถ่ายทำ ที่สูญไปเกือบๆ 4 ปี)
ภาพยนตร์ที่มีการแทรกใส่อ้างอิงถึง ประกอบด้วย
– Only Angels Have Wings (1939) กำกับโดย Howard Hawks (ฉากเปิดเรื่อง)
– By the Bluest of Seas (1936) กำกับโดย Boris Barnet (ฉายในโทรทัศน์)
– Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1931) กำกับโดย Rouben Mamoulian (ฉายในโทรทัศน์)
– The Snows of Kilimanjaro (1952) กำกับโดย Henry King (ฉายในโทรทัศน์)
– Testament of Orpheus (1960) กำกับโดย Jean Cocteau (มาเป็นเสียงตอนฉายในโรงหนัง)
– Les Enfants terribles (1950) กำกับโดย Jean-Pierre Melville
– Ladoni (1994) กำกับโดย Artur Aristakisyan
– Metropolis (1927) กำกับโดย Fritz Lang
– People on Sunday (1930) กำกับโดย Robert Siodmak
– Piranha 3D (2010) กำกับโดย Alexandre Aja
โดยทั่วไปปกติ ชาย-หญิง เวลามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งทุบต่อยตบตี ก็มักจะนำเสนอภาพการต่อสู้ขัดแย้งของพวกเขาออกมาตรงๆ หลบมุมกล้อง เพื่อให้รับรู้ว่ามีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สำหรับหนังของ Godard ด้วยลีลาและความกวนประสาท หลายครั้งแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นำภาพฟุตเทจที่เป็นภาพสงคราม การเดินขบวนต่อสู้รบ ประท้วง ไฟไหม้ เหล่านี้มีนัยยะถึง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้น สามารถใช้สื่อสะท้อนแทนฉากการตบตีของนักแสดงได้เลย
สำหรับเพลงประกอบ เริ่มต้นด้วย Folk Song ชื่อ The Witch Hunt ขับร้องโดย Pino Masi แต่ที่เหลือเลือกใช้บทเพลงคลาสสิกมีชื่อ อาทิ
– Ludwig van Beethoven: Symphony no. 7, Second Movement
– Giya Kancheli: Abii Ne Viderem
– Dobrinka Tabakova: Suite in Old Style, Part II
– Pyotr Ilyich Tchaikovsky: Slavic March
– Arnold Schoenberg: Transfigured Night
– Jean Sibelius: Symphony No. 2 กับ Valse triste
– Valentyn Sylvestrov: Holy God
การจะทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ คงต้องเริ่มจากเหตุผลของการเลือกถ่ายทำด้วยภาพสามมิติ หลับตาซ้ายเห็นอย่างหนึ่ง หลับตาขวาเห็นอีกอย่างหนึ่ง (ฝั่งหนึ่งอยู่นิ่ง อีกฝั่งหนึ่งเคลื่อนไหว) แต่ถ้าลืมตาสองข้างจะเห็นภาพเหลื่อมล้ำซ้อนทับกัน 2-3 มุมมองที่แตกต่างกันนี้สามารถสะท้อนเข้ากับ
– ฝั่งหนึ่งผู้ชาย(โสด) ฝั่งหนึ่งผู้หญิง(แต่งงานแล้ว) อยู่ร่วมกันกลายเป็นคู่รัก แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็คิดหย่าร้างแยกจาก
– สิ่งที่น่าสนใจสุดของคณิตศาสตร์ คือเลขศูนย์ (Zero) และอนันต์ (Infinity) บางครั้งมันก็คือสิ่งๆเดียวกัน
– ในประเทศ Switzerland บริเวณที่ Godard เติบโตอาศัยอยู่ คำว่า Adieu มีความหมายทั้ง Goodbye และ Hello ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและโทนเสียงของผู้พูด
ฯลฯ
พูดถึงการลำดับภาพ/ตัดต่อ หลายครั้งจะมีขณะสโลโมชั่น ภาพกระตุก เล่นซ้ำ 2 ครั้ง (คุ้นๆว่าจะไม่มี Replay เกินกว่า 2 ครั้ง) เหล่านี้เพื่อเน้นย้ำเจาะจง ให้ผู้ชมทดลองหลับตาซ้ายทีขวาที ตรวจสอบตนเองให้ทันพบเห็นอะไรผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า, แนวคิดนี้ Godard นำจากคำสอนของอาจารย์ Hitchcock ที่เคยพูดว่า
“When you want something to be understood, you say it at least twice”.
ในโลกทัศนคติ/ปรัชญาของผู้กำกับ Godard มองว่าใดๆในโลกล้วนประกอบด้วย
1) Nature สิ่งที่เป็นพื้นผิวเบื้องหน้า ตามธรรมชาติ ภาพจริงๆที่เกิดขึ้น
2) Metaphor สิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อหนัง ข้อเท็จจริงที่อยู่ในใจของพวกเขา
และ 3) ส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ใช้ชื่อตอนว่า Memory/Historical Misfortune ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์แห่งความโชคร้าย
ภาพช็อตนี้เป็นการอ้างอิงถึงคำพูดของ Godard ที่เคยเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Une Vie (1958) ของผู้กำกับ Alexandre Astruc
“Showing a forest, easy. But showing a room with a forest nearby, difficult”.
การถ่ายภาพป่าเขาเป็นเรื่องง่าย เพราะมันคือธรรมชาติอยู่ภายนอกอาบด้วยแสงสว่างจากพระอาทิตย์ แต่การถ่ายภาพภายในห้อง/ในจิตใจมนุษย์นั้นแสนยากยิ่ง ต้องมีการจัดวางตำแหน่งโน่นนี่นั้น ใช้แสงสว่างจากหลอดไฟสาดส่องให้พอ ถึงสามารถมองเห็นบางสิ่งอย่างหลบซ่อนอยู่ใต้
เมื่อชายโสด (ผู้กำกับ Godard) กับหญิงแต่งงานแล้ว (ผู้ชมภาพยนตร์) เริ่มพูดคุยสนทนาสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง (ภาพยนตร์ คือการสื่อสารลักษณะหนึ่ง, นี่หมายถึงหนังของ Godard ผู้ชมส่วนใหญ่คงดูไม่รู้เรื่อง) ก็อยู่ที่ว่าตัวคุณเองจะฝืนทนคบหากันต่อไป ใช้สุนัขเป็นตัวกลางสื่อสาร หรือเลิกราแยกจาก
มีนักวิจารณ์ที่รู้จักสนิทสนมกับ Godard วิเคราะห์หนังถึงความเป็นส่วนตัวของเขา กับคู่ขาคนรักที่อยู่ร่วมกันมานาน Anne-Marie Miéville แต่ปัจจุบันเหมือนว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันแล้ว อาจเพราะความเบื่อหน่ายและเริ่มพูดคุยสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง กระนั้นพวกเขาต่างเป็นเจ้าของน้องหมา Roxy ที่โดยไม่รู้ตัวคือผู้เชื่อมโยงให้พวกเขายังพอที่จะไปมาหาสู่กันอยู่บ้าง ไม่ใช่ร้างราจากกันไปเลยเหมือนภรรยาคนก่อนๆ
(ว่าไปถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ชื่อหนัง Goodbye to Language อาจสื่อได้ถึง Goodbye my love Miéville)
ความมหัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้ ต้องถือว่าคือเจ้าหมาเพศเมีย Roxy Miéville พบเห็นมันออกวิ่งพร่านไปโดยรอบ ป่าไม้ (ตอนอยู่ร่วมกัน) -> ลำธาร (สองฝั่งแยกจาก) -> ริมทะเล (จากกันชั่วนิรันดร์) แม้ไม่ได้ใช้ความสามารถอะไรนอกจากวิ่งโลดเล่นตามคำสั่งนาย เกลือกลิ้งดิ้นไปมาโดนแอบถ่าย แต่ดูแล้วน่าจะสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ มองไม่เห็นด้วยตา ต้องใช้ใจสัมผัสเนื้อใน
รวมๆแล้วหนังเรื่องนี้มันบ้าอะไรกัน? มีคำเรียกว่า Essay Film คือภาพยนตร์ที่ไม่ได้เล่าเรื่องราว แต่ทำการประมวลผลนำเสนอบางสิ่งอย่างตามหัวข้อความสนใจของผู้สร้าง รวบรวมเรียบเรียงร้อย ปะติดปะต่อคล้ายๆบทเรียงความหนึ่ง ทุกสิ่งอย่างมีความสอดคล้องคล้ายคลึง สามารถอ้างอิงสื่อถึงกันและกันได้ ซึ่งในกรณีของหนังเรื่องนี้ หัวข้อที่ผู้กำกับ Godard ต้องการนำเสนอ คงเป็นการสื่อสารของคนสองคน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่ภาษามิอาจพูดคุยทำความเข้าใจกันได้แล้ว บางสิ่งอย่างที่เป็นความสัมพันธ์อยู่ในภายใต้เนื้อหนัง (สุนัขหรือเด็กน้อย) นั่นคือสิ่งที่สามารถวาดภาพจิตนาการชีวิตคู่ของพวกเขาให้สามารถคงอยู่ต่อไปได้
หมาเห่าเด็กร้องไห้ ว่าไปมันก็คือเสียงเดียวกันหรือเปล่า มีความน่ารำคาญแต่สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ใส่ซื่อไร้เดียงสา (เรียกร้องความสนใจ) เป็นบทสรุปตอบจบถึงสิ่งสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล ไม่จำเป็นต้องด้วยภาษาพูดสื่อสาร Goodbye to Language ใช้ใจสัมผัสก็รับรู้ได้
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล
– Jury Prize (ถือเป็นรางวัลที่ 3 ถูกใจคณะกรรมการ) ได้ร่วมกับหนังเรื่อง Mommy (2014)
– Palm Dog – Jury Prize (เพิ่งรู้ว่ามีด้วยนะ มอบให้น้องหมา Roxy Miéville)
ทั้งๆที่ Godard ก็เป็นขาประจำของเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่นี่คือครั้งแรก รางวัลแรกที่ได้รับ ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ ขณะที่อีกสองเทศกาลหนัง Big 3 กวาดมาเรียบแล้ว Golden Bear และ Golden Lion
ผลงานของ Godard ทศวรรษหลังๆ ค่อนข้างจะมีความส่วนตัว เห็นแก่ตัว ขวางโลก กวนส้นตีน เลวร้ายกว่ายุคแรกๆสมัย New Wave เสียอีกนะ ซึ่งสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลยในหนังเรื่องนี้ คือการแสดงทัศนะต่อความเสมอภาคเท่าเทียม หญิงสาวพูดคุยประเด็นนี้กับชายหนุ่มที่กำลังนั่งขี้อยู่ในห้องน้ำ มันจะมีเสียงอุจาระไหลดังขึ้นด้วย นี่แปลตรงตัวเลยนะครับว่า ‘Equality is shit!’
แนะนำกับคอหนัง Art House แนวทดลอง, หลงใหลในภาพสามมิติ, แฟนๆผู้กำกับ Jean-Luc Godard ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับภาพโป๊เปลือย
Leave a Reply