GoodFellas (1990) hollywood : Martin Scorsese ♥♥♥♥

ช่วงเวลาสามทศวรรษแห่งการเป็นมาเฟีย ทำให้ Ray Liotta รับรู้ตัวเอง ต่อให้กลายเป็น ‘GoodFellas’ กับ Robert De Niro และ Joe Pesci แต่แค่ความผิดพลาดล้มเหลวเพียงคราเดียว ชีวิตก็อาจจะตกอยู่ในอันตรายได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คำว่า ‘GoodFellas’ หมายถึงคนดี เพื่อนสนิท มิตรแท้ที่พึ่งพาได้ แต่ในบริบทของหนังเรื่องนี้ สื่อถึงเฉพาะช่วงเวลาที่พวกเขามีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกันเท่านั้น เมื่อไหร่เกิดความหวาดระแวงขัดแย้ง มันจะไปเข้าสำนวนนี้มากกว่า ‘ไม่มีสัจจะในหมู่โจร’ ย่องมาเงียบๆเข้าข้างหลังรัดคอ ตีหัว ส่องกระบาน ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น

ด้วยระยะเวลา 145 นาที เอาจริงๆเหมือนดูหนังความยาว 5 ชั่วโมง ที่ถูกตัดเล็มโน่นนี่นั่นออกไป รวบรัดนำเสนอ ‘ชีวประวัติ’ เฉพาะเหตุการณ์สำคัญหลักๆเท่านั้น เข้าไปในหัว มุมมองความคิดของเจ้าพ่อมาเฟีย นี่ทำให้ GoodFella กลายเป็น Milestone อีกหนึ่งหลักไมล์เรื่องสำคัญของภาพยนตร์แนวอาชญากรรม (Crime) ยิ่งใหญ่ไม่ย่อหย่อนไปกว่า The Godfather Trilogy

ว่าไป GoodFella ออกฉายก่อนหน้า The Godfather Part III (1990) เพียงประมาณสี่เดือน แน่นอนถูกเปรียบเทียบกันทุกอย่าง ต่างทำกำไรได้ไม่มากเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับทุสร้าง) เข้าชิง Oscar ปริมาณก็พอๆกัน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้คนยกย่องจดจำ GoodFella ได้มากเสียกว่าภาคสามของ The Godfather เสียอีก

Martin Charles Scorsese (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Queen, New York City ก่อนย้ายไปที่ Little Italy, Manhattan ครอบครัวอพยพจาก Palermo, Sicily นับถือ Roman Catholic ที่เคร่งครัด, ป่วยเป็นโรคหอบหืดตั้งแต่เด็กทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬา หรือออกไปสนุกสนานกับเพื่อนๆได้ พ่อแม่พี่ชายจึงได้แค่พาเขาไปดูหนัง ไม่ก็เช่าฟีล์มมาดูที่บ้าน โตขึ้นเข้าเรียน Washington Square College (ปัจจุบันชื่อ College of Arts and Science) จบปริญญาสาขาภาษาอังกฤษเมื่อปี 1964 และต่อโทที่ School of the Arts (ปัจจุบันชื่อ Tisch School of the Arts) สาขา Master of Fine Arts (วิจิตรศิลป์) เมื่อปี 1966

ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยมีโอกาสทำหนังสั้นหลายเรื่อง จบออกมาสร้างหนังยาวเรื่องแรก Who’s That Knocking at My Door (1967) ต่อมาคบหาสนิทสนมกับ ‘movie brats’ อาทิ Brian De Palma, Francis Ford Coppola, George Lucas, Steven Spielberg เริ่มมีชื่อเสียงจาก Mean Streets (1973), Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), Taxi Driver (1976), Raging Bull (1980) ฯ

ระหว่างกำลังสร้าง The Color of Money (1986) ผู้กำกับ Marty มีโอกาสได้อ่านหนังสือของ Nicholas Pileggi เรื่อง Wiseguy: Life in a Mafia Family (1986) เกิดความชื่นชอบหลงใหลเป็นอย่างมาก แม้จะเคยพูดสาบานบอกจะไม่สร้างหนัง Gangster อีกแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ โทรศัพท์ติดต่อหา Pileggi

“I’ve been waiting for this book my entire life.”

ขณะที่ Pileggi ตอบกลับว่า

“I’ve been waiting for this phone call my entire life.”

คงเพราะ Marty สมัยเด็กป่วยเป็นโรคหอบหืด วันๆเอาแต่นั่งนอนเล่นอยู่ในห้อง ไม่ได้ทำอะไรก็เหม่อมองออกมานอกหน้าต่าง พบเห็นผู้คนมากหน้าหลายตา รับรู้ทุกความเคลื่อนไหวเป็นไป โดยเฉพาะบ้านตรงข้ามฝั่งถนน เหมือนจะเป็นสถานที่สุงสิงของเหล่า Italian Gangster สนใจใคร่อยากเข้าร่วมแต่ร่างกายไม่ค่อยพร้อม ชีวิตถ้าไม่ได้กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ดูแล้วก็คงไต่เต้ากลายเป็นมาเฟียนี่แหละ

สำหรับ Nicholas Pileggi (เกิดปี 1933) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City พ่อเป็นชาวอิตาเลี่ยนอพยพจาก Calabria โตขึ้นทำงานเป็นนักข่าวให้กับ New York Magazine เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมกว่าสามทศวรรษ ทำให้มีความรู้เบื้องลึกในด้านนี้เป็นอย่างดี เขียนหนังสือ Wiseguy: Life in a Mafia Family (1986) ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Goodfellas (1990), เรื่อง Casino: Love and Honor in Las Vegas (1995) วางขายพร้อมภาพยนตร์ Casino (1995) ฯ

ในตอนแรก Marty ตั้งใจสร้าง Wise Guy (Working Title ของหนัง) ขึ้นก่อน The Last Temptation of Christ (1988) เพราะคิดว่าคงหาทุนสร้างให้โปรเจคศาสนานี้ไม่ง่ายแน่ แต่ไปๆมาๆกลับหาเงินได้ก่อนเลยสูญเวลาไปสองปีเต็มกับหนังเรื่องนั้น, แต่เขาก็มิได้ละทิ้งโปรเจคนี้ ร่วมกับ Pileggi พัฒนาปรับปรุงบทให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เห็นว่ากว่ายี่สิบฉบับร่าง แลกเปลี่ยนแนวคิดไอเดียของกันและกัน พอมีอะไรใหม่น่าสนใจกว้าก็ปรับเปลี่ยนทิศทางของเรื่องราวโดยทันที

“The book Wise Guys gives you a sense of the day-to-day life, the tedium – how they work, how they take over certain nightclubs, and for what reasons. It shows how it’s done”.

ซึ่ง Marty ทำการโน้มน้าม Pileggi บอกว่า เราไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องแบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป (Traditional Narrative) ความตั้งใจของเขาอยากให้หนังมีลักษณะเป็นตอนต่อตอน อาจเริ่มต้นที่กลางเรื่องแล้วถอยหลัง-เดินหน้า ฉากไหนไม่สำคัญก็ทำให้มันกระชับรวบรัดสั้นเข้าไว้ [เลียนแบบฉากเปิดเรื่องของ Jules and Jim (1962)] ซึ่งวิธีการที่พวกเขาใช้พัฒนาบทร่วมกัน คือแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆบล็อคๆ อันหนึ่งอาจเป็นจากแนวคิดของ Marty อีกอันของ Pileggi แล้วนำมาเรียงร้อยต่อกัน

“To begin Goodfellas like a gunshot and have it get faster from there, almost like a two-and-a-half-hour trailer. I think it’s the only way you can really sense the exhilaration of the lifestyle, and to get a sense of why a lot of people are attracted to it.”

เกร็ด: หนังเปลี่ยนชื่อจาก Wise Guy เป็น GoodFellas เพื่อจะไม่ซ้ำซ้อนกับซีรีย์เชิงอาชญากรรมเรื่อง Wiseguy (1897 – 1990)

เริ่มต้นปี 1955 เรื่องราวตามติดชีวิตของ Henry Hill (รับบทโดย Ray Liotta) เริ่มต้นทำงานให้กับหัวหน้ากลุ่มอิตาเลี่ยนมาเฟีย Paul Cicero (รับบทโดย Paul Sorvino) ไต่เต้าขึ้นจนกลายเป็นตำนานระดับเดียวกับ James Conway (รับบทโดย Robert De Niro) และ Tommy DeVito (รับบทโดย Joe Pesci) ร่วมกันปล้นเครื่องบิน ฆ่าคน ใช้ชีวิตอาชญากรรม ครั้งหนึ่งถูกจับติดคุกหลายสิบปี หลังได้ทัณฑ์บนออกมากลายเป็นผู้ค้าเสพโคเคน ติดงอมแงมจนเกิดความหวาดระแวง พลาดพลั่งครั้งใหญ่ถูก ป.ป.ส. จับได้ รู้ตัวเองว่าอาจถูกเก็บเลยตัดสินใจให้การสารภาพ เข้าสู่โปรแกรมปกป้องพยาน (Witness Protection Program) เปิดโปงรายชื่อ ทรยศผู้อยู่เบื้องหลังในวงการทั้งหมด

Raymond Allen Liotta ชื่อเดิม Raymond Julian Vicimarli (เกิดปี 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Newark, New Jersey รู้ตั้งแต่เด็กว่าตัวเองถูกรับเลี้ยงมา พ่อ-แม่บุญธรรมมีเชื้อสาย Italian และ Scottish นับถือ Roman Catholic แบบไม่เคร่งครัดนัก, โตขึ้นสอบเข้า University of Miami สาขา Fine Arts เรียนการแสดงกับ Robert ‘Buckets’ Lowery แสดงละครเพลงอยู่หลายเรื่อง หลังเรียนจบมุ่งสู่ New York City ได้งาน Bartender อยู่ที่ Shubert Theaters ประมาณหกเดือนถึงมีโอกาสเป็นนักแสดงแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก มุ่งสู่ Hollywood ภาพยนตร์เรื่องแรก The Loney Lady (1983), รับบทนำมีชื่อเสียงกับ Something Wild (1986), โด่งดังขีดสุดใน GoodFellas (1990), แต่หลังจากนั้นกลายเป็น Typecast ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในวงการสักเท่าไหร่

รับบท Henry Hill, Jr. มีเชื้อสาย Irish-Italian ตั้งแต่เด็กมีความสนใจอยากจะเป็นมาเฟีย ร่ำรวยเงินทอง มีผู้นับหน้าถือตามากมาย ถึงขนาดโดดเรียนทำงานเป็นลูกน้องของ Paul Cicero เรียนรู้วิถี ค่อยๆไต่เต้าจนสนิทสนมกับ James Conway และ Tommy DeVito สามสหายที่มักให้การช่วยเหลือ ร่วมหัวจมท้ายกันตลอดเมื่อมีปัญหา แต่หลังจากเริ่มเสพยามีปัญหาความหวาดระแวงผู้อื่น และเมื่อถูกจับโดย ป.ป.ส. หลงคิดเข้าใจไปว่าตัวเองอาจถูกเก็บ จึงทำการเก็บคนอื่นเข้าคุกเสียก่อน

Hill เป็นคนไม่ค่อยพูด สุขุมเงียบขรึม ชอบรับฟังเรื่องเล่าของผู้อื่น เวลาหัวเราะก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่อย่าให้โกรธเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรง (แต่เหมือนจะไม่เคยฆ่าใครเลยในหนัง), สำหรับชีวิตคู่ ตอนแรกไม่เคยคิดจีบใคร เมื่อพบเห็นหญิงสาวเล่นตัวแล้วน่ารักน่าชังจึงเกิดความหลงใหล แต่งงานแล้วแต่ยังแอบมีชู้รัก ปรนเปอพวกเธอด้วยสิ่งของเงินทอง ใช้ชีวิตสองสามโลกเสเพลแบบไม่สนใคร ลูกสาวโตแล้วก็พึ่งพาไม่ได้สักนิด

บทบาทนี้ใช้การคัดเลือกนักแสดงอยู่เป็นปีๆ ซึ่ง Liotta ไปเข้าตา Marty หลังจากรับชม  Something Wild (1986), Field of Dreams (1989) ได้มีโอกาสพูดคุยพบเจอกันที่เทศกาลหนังเมือง Venice ขณะที่ผู้กำกับถูกห้อมล้อมด้วย Bodyguard (เพราะถูกขู่ฆ่าจากการสร้างหนัง The Last Temptation of Christ) กำลังแทรกตัวเข้าไปพูดคุยแต่ถูกกันไว้ ซึ่งเขาไม่ได้แสดงความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดออกมา แต่เป็นความสุขุมเงียบขรึม Marty หันมาเห็นรับรู้โดยทันที นี่แหละ Henry Hill ที่ต้องการ, เห็นว่า Liotta หลังจากได้รับคัดเลือก ตัดสินใจบอกปัดบท Harvey Dent เรื่อง Batman (1989) เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

Marty จงใจไม่ให้ Liotta พบเจอกับ Henry Hill ตัวจริง เพราะไม่ต้องการให้เกิดการเลียนแบบ หรือรับอิทธิพลบางอย่างสู่ตัวละคร แต่เขาก็ได้ฟังเทปสัมภาษณ์ระหว่าง Pileggi กับ Hill ก่อนหน้าจะนำมาเขียนหนังสือ Wise Man ซึ่งเสียงหนึ่งที่ดังมากในเทปคือ การเคี้ยวมันฝรั่งทอด

กว่าครึ่งของหนังที่เราจะเห็นด้านหลังของ Liotta (ก็แน่ละ หนังเล่าเรื่องตามเสียงบรรยายของตัวละครนี้) ส่วนใหญ่จะเงียบขรึมไม่ก็หัวเราะแบบบ้าคลั่ง แต่ไฮไลท์อยู่ที่ช่วงเริ่มเสพยา ตาบวมแดงกล่ำ สติสัมปชัญญะล่องลอยไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เต็มไปด้วยความร้อนรนหวาดระแวง เกรี้ยวกราดในเรื่องไร้สาระ โดยเฉพาะตอนลงไม้ลงมือกับภรรยา สนแต่การชีวิตสุขสบายเสเพลของตนเองอย่างเดียวเท่านั้น

ตัวจริงของ Hill เหมือนจะไม่ได้รู้สำนึกอะไรเลยนะ ทำทุกอย่างด้วยความเห็นแก่ตัว ที่สารภาพเข้าโปรแกรมปกป้องพยานก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองเท่านั้น ได้ค่าลิขสิทธิ์จากหนังสูงถึง 550,000 เหรียญ แต่ยังรำพันเทียบไม่ได้กับเงิน 15,000 – 40,000 เหรียญต่อสัปดาห์ที่เคยทำได้ตอนเป็นมาเฟีย เรียกชีวิตตนเองขณะนี้ว่า Schnook (ภาษา Yiddish แปลว่า Sheep, เด็กเลี้ยงแกะ), เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2014 นี้เอง

Robert Anthony De Niro Jr. (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York พ่อมีเชื้อสาย Irish-Italian ประกาศตนว่าเป็นเกย์หย่าขาดกับแม่ตอน De Niro อายุได้ 2 ขวบ เติบโตขึ้นในบริเวณ Little Italy เคยแสดงละครเวทีงานโรงเรียน รับบทเป็น Cowardly Lion เรื่อง The Wizard of Oz ทำให้เริ่มมีความสนใจด้านนี้ พออายุ 16 มุ่งสู่ HB Studio, Stella Adler Conservatory และ Actors Studio กลายเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Lee Strasberg, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wedding Party (1963) ของผู้กำกับ Brian De Palma แนะนำให้รู้จักจนกลายเป็นขาประจำกับ Martin Scorsese ร่วมงานครั้งแรก Mean Streets (1973) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Godfather: Part II (1974) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, Taxi Driver (1976), The Deer Hunter (1978), Raging Bull (1980) ** คว้า Oscar: Best Actor, Cape Fear (1991), Silver Linings Playbook (2012) ฯ

รับบท James ‘Jimmy the Gent’ Conway หัวขโมยระดับตำนาน ไต่เต้าจากปล้นรถบรรทุก ไฮไลท์ในอาชีพคือการปล้นเครื่องบิน Air France เป็นคนเจ้าอารมณ์เล็กๆ แต่ไม่ถึงขั้นควบคุมไม่ได้แบบ DeVito รักษาภาพลักษณ์หน้าตาของตนเองเป็นอย่างดี (เลยได้ฉายา the Gent) ครั้งหนึ่งเกิดความหวาดระแวงในพวกพ้อง นำเงินไปจับจ่ายใช้สอยแบบไม่กลัวตำรวจ ทำให้ตามไล่เก็บจนแทบไม่เหลือใครสาวมาถึงตัว ซึ่งนั่นทำให้ Henry Hill มีความหวาดกลัวชายผู้นี้มาก ถ้าตนเองทำอะไรผิดพลาด หลงคิดว่าคงไม่รอดตัวแน่

เดิมนั้น Marty ต้องการ Al Pacino ให้รับบทนี้ แต่พี่แกกลัวเป็น Typecast และกำลังเล่น The Godfather Part III อยู่ด้วยเลยบอกปัด (เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ทีหลังว่าเสียดายที่ปฏิเสธบทนี้) นักแสดงคนอื่นๆอาทิ John Malkovich, William Petersen ฯ หาใครไม่ได้ก็ลงเอยที่เพื่อนเก่าแก่ De Niro ร่วมงานกันเป็นครั้งที่ 6

แม้ De Niro จะทุ่มเทเต็มที่ในการรับบทนี้ แต่น่าเสียดายตัวละครไร้ซึ่งพัฒนาการใดๆ และค่อนข้างเล่าเรื่องแบบผ่านๆ ล่องลอยไปมา (คงเพราะเป็น Idol ของ Hill ที่เป็นผู้เล่าเรื่อง) ใบหน้าค่อนข้างสงบนิ่งแต่จิตใจลึกร้าย เกรี้ยวกราดเมื่อเห็นคนอื่นทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ อย่าเผลอให้ชายคนนี้อยู่ด้านหลังเลยนะ เพราะอาจถูกแว้งกัดรัดคอโดยไม่รู้ตัว

เกร็ด: Jimmy Burke ตัวจริงที่ติดคุกอยู่ขณะนั้น ว่ากันว่าพอรับรู้ Robert De Nero แสดงเป็นตัวเองดีใจเนื้อเต้นอย่างมาก โทรศัพท์จากในคุกมาให้คำแนะนำเป็นการส่วนตัว

เกร็ด 2: Burke ยังไม่ทันถึงปี 2004 ที่ได้รับการปล่อยตัว เสียชีวิตในคุกจากมะเร็งปอดปี 1996

Joseph Frank Pesci (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Newark, New Jersey ตั้งแต่อายุ 10 ขวบเป็นพิธีกร/แขกรับเชิญประจำของรายการ Startime Kids ตอนวัยรุ่นสนิทสนมกับ Frankie Valli และ Tommy DeVito [นักร้องนะครับไม่ใช่นักเลง] เป็นคนแนะนำให้พวกเขาก่อตั้งวงดนตรี The Four Seasons แต่ตัวเองกลับไปทำอย่างอื่น เริ่มจากทำงานเป็นช่างตัดผม เล่นกีตาร์ตามไนท์คลับ ออกอัลบัมพอเอาตัวรอดได้ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Death Collector (1976) แล้ววันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จาก Martin Scorsese ชักชวนให้มารับบทประกบ De Niro เรื่อง Raging Bull (1980) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor และสามารถคว้าได้สำเร็จกับ GoodFellas (1990), ผลงานเด่นอื่นๆ Once Upon a Time in America (1984), Home Alone (1990), Lethal Weapon Series, JFK (1992), Casino (1995) ฯ

รับบท Tommy DeVito จากวัยรุ่นหัวรุนแรง เริ่มจากเด็กขัดรองเท้ากลายเป็นมาเฟียร่วมกลุ่ม สนิทสนมกับทั้ง Jimmy และ Hill แม้จะเป็นคนชอบพูดคุยเล่นสนุกสนาน แต่ปากจัด โกรธง่าย ไม่ชอบการดูถูกประชดประชัน ฉุนเฉียวเมื่อไหร่มักควบคุมตัวเองไม่ค่อยอยู่ แถมไม่สนใครเป็นใครทั้งนั้น, เพราะความที่มีเชื้อสาย Italian สืบค้นได้ จึงมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ‘Made Man’ บุคคลต้องห้ามผู้ทรงอิทธิพล แต่แล้ว…

เกร็ด: นักแสดงที่รับบทแม่ของ Tommy คือ Catherine Scorsese แม่ของผู้กำกับเอง เธอชอบทำสปาเก็ตตี้มาเลี้ยงคนในกองถ่าย

การแสดงของ Pesci ส่วนใหญ่มาจากการ ‘improvise’ คิดสดตอนซักซ้อม (Rehearsal) ตรงไหนถูกใจผู้กำกับก็จะจดบันทึกไว้และเลือกนำไปใช้จริง ซึ่งบางครั้งอย่างฉาก ‘Am I funny?’ สร้างปฏิกิริยาอึ้งทึ่งจริงๆให้กับทีมงานและตัวประกอบ จะเอายังไงของแกว่ะ!

แต่ก็มีหลายครั้งที่ Pesci ไม่เข้าใจตรรกะของตัวละครนี้สักเท่าไหร่ อย่างฉากยิง Spider ขนาดว่าต้องบีบบังคับตัวเองให้ยกปืนขึ้นมายิง หาคำตอบไม่ได้ว่าในใจของ DeVito กำลังครุ่นคิดอะไรอยู่

จากคำบอกเกล่าของ Henry Hill ระบุว่า Pesci รับบท Tommy ได้ใกล้เคียงกับตัวจริง Tommy DeSimone ประมาณ 99% เว้นแต่ตัวจริงของหมอนี่ร่างกายใหญ่โตบึกบึน (นั่นเป็นสิ่งที่ Pesci ไม่สามารถทำอะไรได้สินะ)

เกร็ด: คำว่า fuck ในบทหนังเห็นว่ามีประมาณ 70 กว่าครั้งเท่านั้น แต่เพราะวิธีการของผู้กำกับ ให้นักแสดง ‘improvise’ บทพูดด้วยงตัวเอง กว่าครึ่งมาจากตัวละครของ Pesci รวมแล้วทั้งเรื่องมี 321 ครั้ง เฉลี่ย 2.04 คำต่อนาที กลายเป็นสถิติสูงสุดขณะนั้นไปโดยปริยาย (มีหนังของ Marty อีกเรื่องที่ทุบสถิติ ‘fuck’ คือ The Wolf of Wall Street ทั้งหมด 596 คำ)

เพราะรายละเอียดที่มีมากของหนัง ทำให้หลายครั้งมีแต่ภาพการเคลื่อนไหว ไร้ซึ่งบทพูดสนทนา (แต่จะมีเสียงบรรยายของตัวละครเล่าเรื่องต่อเนื่อง) จึงเป็นการยากถ้าไม่ใช่ฉากสำคัญๆ ที่นักแสดงจะสวมบทบาท ถ่ายทอดอารมณ์อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้

ถ่ายภาพโดย Michael Ballhaus (1935 – 2017) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ German ขาประจำของ Rainer Werner Fassbinder หลังจากอพยพสู่อเมริกากลายเป็นขาประจำของ Martin Scorsese นับตั้งแต่ The Color of Money (1986), The Last Temptation of Christ (1988), GoodFellas (1990), The Age of Innocence (1993), The Departed (2006) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งไม่เคยได้รางวัล Broadcast News (1987), The Fabulous Baker Boys (1989), Gangs of New York (2002)

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Queens, New York, New Jersey, บางส่วนใน Long Island

แทบจะไม่มีวินาทีหยุดนิ่ง ไม่มี Establish Shot มาถึงก็เริ่มเข้าเรื่องเลย กล้องขยับขับเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่มีอยู่ยิบย่อยเต็มไปหมด แต่จะมีสองสามครั้งเมื่อตัวละคร Henry Hill มาถึงจุดสูงสุด/ต่ำสุดของชีวิต นำเสนอเป็นภาพนิ่ง ‘Freeze Frame’ เหมือนบันทึกรูปถ่ายแห่งความทรงจำที่มากค่าและไร้ค่า (เน้นๆสองครั้งคือตอนไป Honeymoon และถูกจับติดคุก)

ฉาก Long Take ที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญและเป็นไฮไลท์ คือ Copacabana Nightclub จริงๆเพราะทีมงานไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางลับของร้าน จึงต้องเดินเข้าจากด้านหลังทะลุผ่านห้องครัวไปจนถึงหน้าเวที ซึ่งมีนัยยะสะท้อนชีวิตของตัวละคร เริ่มต้นจากเป็นคนใช้เบ๊รับส่งของ ค่อยๆไต่เต้าจนกลายเป็นที่นับหน้าถือตา สามารถนั่งหน้าเวทีได้โดยไม่ต้องรอคิวหรือจองก่อน (ฉากนี้ถ่ายทำทั้งหมด 8 ครั้ง)

ท้าทายสุดที่ผู้กำกับ Marty เอ่ยถึง คือช่วงวันสุดท้ายของการเป็น Wise Guy ต้องทำให้สภาวะทางจิตใจของ Hill เต็มไปด้วยความวิตกกังวล หวาดระแวง อันเกิดจากการเสพติดยาและขาดสติ ถ่ายทอดออกมาผ่านการเคลื่อนกล้อง จะมีความเร็วขึ้นกว่าปกติ Fast-Panning, Fast-Tracking ตัวละครเงยหน้ามองท้องฟ้าบ่อยครั้ง ตัดสลับไปมาเร็วๆรัวๆ (เบรครถเกือบชน) ฯ

เกร็ด: สำหรับภาพวาดหมา เป็นผลงานของแม่ Nicholas Pileggi (ไม่ใช่แม่ของ Marty ที่รับบทตัวละครนี้นะครับ) ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่าย National Geographic ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1978, นัยยะของภาพนี้สะท้อนความสะเปะสะปะของชีวิต ทิศทางตรงกันข้ามของหมาสองตัว/คนสองคน

ตัดต่อโดย Thelma Schoolmaker เพื่อนสนิทขาประจำหนึ่งเดียวของ Marty เรื่องนี้ทำให้เธอได้เข้าชิง Oscar: Best Edited พลาดรางวัลให้กับ Dances with Wolves (1990) อย่างไม่น่าเป็นไปได้

เกร็ด: สามีของ Schoolmaker ผู้กำกับ Michael Powell เสียชีวิตระหว่างเธอกำลังตัดต่อหนังเรื่องนี้

ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องด้วยมุมมองราวกับในหัวสมองของ Henry Hill พร้อมเสียงบรรยายประกอบความคิด/รู้สึก แต่หลายครั้งจะได้ยินเสียงของตัวละคร Karen แฟนสาว/ภรรยา แทรกมาประกอบด้วย ซึ่งเรื่องราวนั้นก็จะเป็นในมุมมองสายตาของเธอ, Marty พูดถึงการเล่าเรื่องผ่านหลายมุมมองตัวละคร (ทั้งๆที่หนังควรจะมีแค่ในหัวสมองของ Hill เท่านั้น) มันผิดอะไรที่จะทำเช่นนั้น!

“So if you do the movie, you say, ‘I don’t care if there’s too much narration. Too many quick cuts?—That’s too bad.’ It’s that kind of really punk attitude we’re trying to show”.

เพราะรายละเอียดของหนังที่มีมากมายมหาศาล เกินครึ่งใช้การตัดต่อเล่าเรื่องแบบรวดรัดฉับไว หลายครั้งเป็น Jump Cut กระโดดไปมาในช่วงที่ไม่ค่อยสำคัญๆนัก แต่เมื่อไหร่ต้องการเน้นย้ำเรื่องราว ก็จะให้เวลายืดยาวกับมันอย่างเต็มที่ไม่รีบเร่ง, ลักษณะการตัดต่อเช่นนี้ สะท้อนตัวตนของ Henry Hill ที่เต็มไปด้วยความฉาบฉวย คิดตัดสินใจอะไรแบบไม่สนแคร์ใคร ภรรยา/ชู้/โสเภณี เรื่องของกรูจะทำไม!

Prologue เริ่มต้นที่ New York, 1970 สามหนุ่มขับรถไปทำอะไรบางอย่าง จากนั้นย้อนเรื่องราวย้อนกลับไป Brooklyn, 1955 แล้วดำเนินไปข้างหน้า บรรจบกับปี 1970 ช่วงกลางเรื่อง ต่อไปจนถึงปี 1980 และวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 1980 คือไคลน์แม็กซ์

แม้เวลาจะไม่ใช่สิ่งสำคัญนักในหนัง แต่เพื่อไม่ให้ผู้ชมสับสนกับภาพลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร/สถานที่มากไป จึงมีการขึ้นเวลาวันที่เพื่อบอกว่าขณะนี้เรื่องราวเกิดขึ้นถึงไหนแล้ว ซึ่งไฮไลท์หลักๆคือวันสุดท้ายของการเป็น Wise Guy ที่จะขึ้นเน้นบอกนาฬิกาอยู่เรื่อยๆ เหมือนเป็นการนับถอยหลังจุดสิ้นสุดประชิดตัวเข้ามา ซึ่งก็มีลางบอกเหตุบางอย่าง แต่ตัวละครดันไม่เชื่อคาดคิดไม่ถึงเอง ผลลัพท์จึงลงเอยเช่นนั้น

Epilogue เมื่อทุกสิ่งอย่างจบสิ้น มีการ ‘Break a Fourth Wall’ ตัวละครมองกล้องห้นหน้าเดินเข้ามาพูดกับผู้ชม ซึ่งช็อตรองสุดท้ายของหนัง ภาพของ Jimmy ยิงปืนเข้าสู่หน้าจอ เป็นการเคารพคารวะหนังแนวอาชญากรรมเรื่องแรกของโลก The Great Train Robbery (1903)

นัยยะของฉากจบยังมองได้อีกอย่างหนึ่ง แม้วันนั้น Henry Hill ยังมีชีวิตอยู่ในความคุ้มครองป้องกัน แต่เมื่อเขาหมดบารมีเมื่อไหร่ ใครสักคน … (อาจเป็นวิญญาณของ Jimmy) จักตามมาทวงคืน ยิงปืนเข้าข้างหลัง จัดการเข่นฆ่าชายผู้นี้ให้เสียชีวิต

สำหรับเพลงประกอบ Marty จงใจเลือกบทเพลง Pop มีชื่อโด่งดังของยุคสมัย ที่มักมีคำร้องสอดคล้องตรงกับเรื่องราวฉากนั้นๆ นี่มีทั้งครุ่นคิดหาได้ตอนเขียนบท และพบเจอตอนกำลังตัดต่อ Post-Production, มันมีประมาณ 40+ กว่าเพลงกระมังที่อยู่ในหนัง แทบจะทุกหัวโค้งของเรื่องราว ต้องมีดนตรีเป็นสิ่งสร้างสัมผัสทางอารมณ์ ขอเลือกเฉพาะ 3-4 เพลงเด่นๆมานำเสนอแล้วกัน

Rags to Riches (1953) ขับร้องโดย Tony Bennett แต่งโดย Richard Adler กับ Jerry Ross ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ท Billboard ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ยอดขาย Gold Record ดังขึ้นเมื่อ Henry Hill นึกถึงอดีด เสียงบรรยายขึ้นว่า (ประโยคนี้ติดอันดับ 20 ของ The 100 Greatest Movie Lines” โดยนิตยสาร Premiere ปี 2007)

“As far back as I can remember, I always wanted to be a gangster.”

บทเพลง Then He Kissed Me (1963) แต่งโดย Phil Spector, Ellie Greenwich, Jeff Barry ขับร้องโดยวง The Crystals แม้จะขึ้นสูงสุด Billboard แค่อันดับ 6 แต่ได้รับการยกย่อง 100 Greatest Girl Group Songs of All Time ติดอันดับ 8

ดังขึ้นในฉาก Long Take ตอน Henry Hill พาแฟนสาว Karen จากด้านหลังหลังเดินไปถึงนั่งหน้าเวที

เริ่มต้นของวันที่ 11 พฤษภาคม 1980 เวลา 6:55 น. ด้วยบทเพลง Jump into the Fire ขับร้อง/แต่งโดย Harry Nilsson ติด Billboard สูงสุดอันดับ 27

สำหรับ Ending Credit ในตอนแรกต้องการ My Way ฉบับคลาสสิกที่ Frank Sinatra ขับร้อง แต่กลับถูกปัดปฏิเสธไม่อนุญาต เลยเลือกฉบับติดยาของ Sid Vicious เจ้าของฉายา Prince of Punk! ที่มีการใช้กีตาร์ไฟฟ้าและการร้องแบบว่า … ‘He did it his way!’

แอบได้ยินเสียง Shepard Tone วนๆอยู่ช่วงต้นเพลง … วิถีของไอ้เด็กเวรนี่มันก็วนเวียนอยู่เช่นนี้สินะ

บทเพลง Layla แต่งโดย Eric Clapton, Jim Gordon บรรเลงโดย Derek and the Dominos ในสไตล์ Blues Rock นุ่มๆเพราะๆ, เห็นว่าแรงบันดาลใจการแต่งเพลงนี้ของ Clapton มาจากการอ่านบทกวีเรื่องรักเมื่อศตวรรษที่ 7 ของชาวอาหรับ The Story of Layla and Majnun ชาวหนุ่ม Majnun ตกหลุมรักอย่างสิ้นหวังกับหญิงสาวสวย Layla และกลายเป็นบ้าเสียสติแตกเพราะไม่ได้แต่งงานกับเธอ

เพลงนี้ดังขึ้นสองครั้งในหนัง
– ตอนภาพศพของทุกคนกระจัดกระจายอยู่ทั่ว New York
– Ending Credit หลังบทเพลง My Way จบลง

GoodFellas คือภาพยนตร์แนวชีวประวัติที่พาผู้ชมเข้าไปในหัวของอาชญากร Henry Hill เรียนรู้จักแนวคิด ทัศนคติ ชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น ไต่เต้า จนถึงความรุ่งโรจน์ชัชวาลย์ประสบความสำเร็จ แต่วัฎจักรของชีวิต เมื่อถึงจุดสูงสุดย่อมค่อยๆพบความตกต่ำต้อยลงเรื่อยๆ จนแทบเอาตัวไม่รอด มาครุ่นคิดสำนึกได้ตอนจบก็เกือบสายเกินไปเสียแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นคงจมอยู่กับความขมขื่น สิ้นหวังไร้ค่า อยากคิดทำอะไรก็ไม่ได้รับโอกาสอีกต่อไป รอคอยวันสิ้นลมหายใจเปลืองอากาศโลกเสียเปล่าๆ

หนังแนวนี้มักจะชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม ‘เรื่องราวชีวิตของตัวละคร สอนอะไรพวกเราได้บ้าง?’
– ในมุมกว้างสุดคงคือเรื่องกฎแห่งกรรม เคยทำอะไรกับใครไว้ย่อมไม่มีทางหลีกหนีหลบพ้น
– การซื้อความสุขภายนอกด้วยเงินทองของมีค่า หาได้สร้างความสุขใจให้เกิดขึ้นภายในแม้แต่น้อย

สิ่งที่ผมมองเห็นคือ ‘อิสรภาพแลกมาด้วยความรับผิดชอบ’ การกระทำทุกสิ่งอย่างของ Henry Hill ล้วนเกิดจากความต้องการจากภายในจิตใจของเขา ไม่ว่าจะดีหรือชั่วล้วนเต็มไปด้วยอิสรภาพไร้ขอบเขต แต่ทุกสิ่งอย่างนั้นล้วนส่งผลกลับมาด้วยกฎแห่งกรรม คือความรับผิดชอบต่อการกระทำ … นี่แปลว่าในวัฏฏะสังสารโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่า ‘อิสรภาพ’ จริงๆหรอกใช่ไหม

ต่อให้เป็น ‘GoodFellas’ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะมีมิตรแท้ในหมู่โจร พวกเขาสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้รวมญาติ ร่วมงานเคารพรักกันดีเมื่อมีผลประโยชน์ร่วม แต่เมื่อไหร่ฝ่ายใดหนึ่งเกิดความผิดใจ เคลือบคลางแคลงสงสัยหรือทำให้สูญเสียประโยชน์ ต่อให้สนิทกันมากแค่ไหนย่อมสามารถย่องเข้าข้างหลังเงียบๆ รัดคอ ตีหัว ส่องกระบาน นี่คงถือเป็นความมีมนุษยธรรมที่สุดของคนพวกนี้แล้วละ ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวตักเตือน ฆ่าให้ตายแบบไร้ความทรมาน หมดสิ้นโอกาสเอาตัวรอดหวนกลับมาล้างแค้นเอาคืน

การเรียกตัวเองว่า Wise Guy หรือ GoodFellas ในหนังเรื่องนี้ เป็นการกลับตารปัตรความคิด สิ่งใดที่ผิดกลับมองว่าเป็นสิ่งถูก เพราะในทัศนะของคนนอกทั่วไป พวกเขาเหล่านี้คือ Stupid/Dumb Guy หรือ BadFellas ไม่น่าคบหาอย่างยิ่งยวด

ในความตั้งใจของผู้กำกับ Marty ให้สัมภาษณ์บอกว่า

“I think the audience should get angry at him and I would hope they do—and maybe with the system which allows this”.

ความสำนึกรู้สึกผิด คือสิ่งที่ Marty พยายามถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละคร เพื่อสะท้อนทุกสิ่งที่เขาเคยกระทำมา สุดท้ายแล้วเป็นเพียงสิ่งไร้คุณค่าความหมาย ทำให้ชีวิตปัจจุบันแทบจบสิ้นยุติลง ไหนละเพื่อนที่เคยร่วมทุกข์สุข วินาทีนี้ไม่หลงเหลือใครเคียงข้างสักคนเดียว

กระนั้นตัวจริงของ Henry Hill ไม่ได้มีทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปต่อสิ่งที่เขาเคยทำ แค่ว่าปัจจุบัน(ขณะนั้น)เต็มไปด้วยความขื่นขมเพราะความตกต่ำของชีวิต

“He has no change of heart, except that he’s bitter about having fallen. Which is probably more accurate, you know?”

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ามาได้สามรางวัล
– Silver Lion: Best Director
– Audience Award
– Filmcritica ‘Bastone Bianco’ Award

ด้วยทุนสร้าง $25 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $46.8 ล้านเหรียญ เหมือนจะแค่เท่าทุนแต่เป็นตัวเลขไม่รวมตลาดโลก ซึ่งน่าจะได้กำไรนิดๆหน่อย, เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Joe Pesci) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Lorraine Bracco)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– Best Film Editing

ในบรรดา 5 เรื่องเข้าชิง Oscar ปีนั้น Dances with Wolves, Awakenings, Ghost, GoodFellas, The Godfather Part III กาลเวลาผ่านไปแต่ยังมีความอมตะได้รับการพูดถึงสูงสุดก็คือ GoodFellas แต่ปีนั้นกลับถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะ Dances with Wolves ของผู้กำกับ Kevin Costner สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง ในลักษณะ Hollywood ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน (คงเป็นประเด็นของการเมืองล้วนๆเลยละ)

สิ่งน่าคับแค้นข้องใจ SNUB ที่สุดคือการพลาด Oscar: Best Director ของ Martin Scorsese นี่คือครั้งที่เขามีโอกาสสูงสุด (ก่อนได้รับกับ The Departed) เพราะเป็นปีที่ทางโล่งมากๆ แต่กลับพ่ายให้ Kevin Costner ที่เพิ่งกำกับหนังเรื่องแรกแล้วควบหมาป่างับแย่งรางวัลนี้ไป

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เคยรับชมมาประมาณ 2-3 ครั้งแล้ว รู้สึกเฉยๆ เพราะความเร็วติดจรวดเกินไปตามแทบไม่ทัน แต่ครั้งนี้เมื่อสามารถปรับตัวได้ พบเห็นไดเรคชั่นที่คงไม่มีผู้กำกับคนไหนจะมีพลังสร้างภาพยนตร์ได้เทียบเท่า Martin Scorsese อย่างแน่แท้

ใครชื่นชอบ The Wolf of Wall Street ไม่ควรพลาด GoodFellas เลยนะ เพราะไดเรคชั่นของการนำเสนอมีความคล้ายคลึงกันมาก แทบจะสูตรเดียวกันเลย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เป็นบทเรียนสำหรับคนต้องการอยากเข้าสู่แวดวงอาชญากรรม ลักขโมย ฆ่าคน เสพขายยา จดจำไว้ว่าไม่มีมิตรแท้ในหมู่โจร และผลกรรมชั่วที่เคยทำไว้ทั้งหลาย สักวันย่อมหวนกลับคืนตามสนอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอหนังอาชญากรรม, ชื่นชอบเรื่องราวของมาเฟีย Gangster, หลงใหลในยุคสมัย บทเพลงทศวรรษ 50s-80s, นักเรียน/ผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะนักตัดต่อ, แฟนๆผู้กำกับ Martin Scorsese และนักแสดง Robert De Nero, Joe Pesci ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับอาชญากรรม ความรุนแรงทุกรูปแบบ

TAGLINE | “Martin Scorsese ได้ทำให้ GoodFellas กลายเป็นมาเฟียเพื่อนสนิทสอนใจผู้ชม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: