Great Expectations

Great Expectations (1946) British : David Lean ♥♥♥♥♡

ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกอมตะของ Charles Dickens ที่มีความโดดเด่นล้ำในการผสมผสานหลากแนวเข้าด้วยกัน Gothic Horror, Historical, Crime, Comedy, Satire, Melodrama, Romance ฯ สร้างโดยผู้กำกับ David Lean ได้ยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

การผสมผสานหลากหลายแนว (Multi-Genre) ในวงการวรรณกรรม นักเขียนผู้ได้รับการยกย่องกล่าวถึงคนแรกๆคือ Walter Scott (1771 – 1832) สัญชาติ Scottish มีผลงานดังอย่าง Ivanhoe, The Lady of the Lake ฯ ส่งอิทธิพลต่อสองวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องในความหลากหลายสูงสุดแห่งศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วย
– Wuthering Heights (1847) แต่งโดย Emily Brontë
– และ Great Expectations (1861) เขียนโดย Charles Dickens

วงการภาพยนตร์มีความพยายามดัดแปลงสร้าง Great Expectations หลายครั้ง
– แรกสุดหนังเงียบ Great Expectations (1917) กำกับโดย Robert G. Vignola
– หนังพูดครั้งแรก Great Expectations (1934) กำกับโดย Stuart Walker
– Great Expectations (1946) กำกับโดย David Lean
– Great Expectations (1974) กำกับโดย Joseph Hardy
– Great Expectations (1989) ฉบับฉาย Disney Channel กำกับโดย Kevin Conner นำแสดงโดย Anthony Hopkins, John Rhys-Davies
– Great Expectations (1998) กำกับโดย Alfonso Cuarón นำแสดงโดย Ethan Hawke, Gwyneth Paltrow
– Great Expectations (2012) กำกับโดย Mike Newell นำแสดงโดย Ralph Fiennes, Helena Bonham Carter
ฯลฯ

แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ต้องอาศัยผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ ฝีมือ และความสามารถควบคุมไดเรคชั่นหลากหลายแนวได้ ส่วนใหญ่จึงพบเจอแต่ความล้มเหลว ซึ่งก็มีเพียงแค่ Great Expectations (1946) ของผู้กำกับ David Lean ได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับดัดแปลงวรรณกรรมของ Charles Dickens เคารพคารวะต้นฉบับ และมีรูปแบบ สไตล์ ภาษาภาพยนตร์อย่างมีเอกลักษณ์คลาสสิกเฉพาะตัว

ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความคาดหวังอย่างสูง และได้รับการเติมเต็มที่อิ่มหนำ พบเจอความหลากหลายที่มีมากมายจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แถมยังกลมกลืนไปกับเนื้อเรื่องราวอย่างลงตัว
– คฤหาสถ์ของ Miss Havisham ชื่อ Satis House หลอนแบบ Gothic
– ขบขันกับความไม่เจียมตัวของ Herbert Pocket
– เสียดสีสะท้อนค่านิยมของสังคมคนชั้นสูง/ไฮโซ
– ช่วยเหลือ Abel Magwitch พานักโทษอาชญากรรมหลบหนี
– รักโรแมนติกกับ Estella
ฯลฯ

แต่สิ่งสำคัญสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ผมมองเห็น คือจิตสำนึกความดีงามของ Pip ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ชอบให้การช่วยเหลือบุคคลตกทุกข์ได้ยาก ไม่ทอดทิ้งมิตรสหายหรือผู้มีพระคุณ กล้าเอ่ยกล่าวคำขอโทษ ยินยอมรับความผิดพลาดของตนเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาเป็นผู้ดีแท้ (จากภายในไม่ใช่ภาพลักษณ์หรือการศึกษา) และสามารถเติมเต็มความคาดหวัง ‘Great Expectations’ ที่ใครๆต่างฝากฝังมีให้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ขอกล่าวถึงผู้แต่งก่อนสักนิด Charles John Huffam Dickens (1812 – 1870) นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษในยุค Victorian Era เกิดที่ Landport, Portsea Island (Portsmouth) พ่อเป็นเสมียนในกองทัพเรือ ที่รักใคร่ชื่นชอบของผู้คน แต่กลับมีปัญหาการเงินอันเกิดจากความไม่รับผิดชอบของตนเอง ทำให้หนี้มหาศาลจนถูกจับติดคุก ขณะที่แม่และพี่น้องคนอื่นๆหนีทิ้งพ่อไป แต่ Charles Dickens กลับตัดสินใจทำงานในโรงงานโกโรโกโสแห่งหนึ่ง (เป็นงานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับรองเท้า) เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว

หลังพ่อออกจากคุกจึงมีโอกาสกลับเข้าเรียนที่ Wellington House Academy จบมาเป็นเสมียนในโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง จากนั้นได้งานนักข่าวอิสระให้สมาคมทนายความ คบหญิงสาวสวยแต่ต้องแยกทางเพราะครอบครัวไม่ยอมรับฐานะที่แตกต่าง ต่อมาทำงานนักข่าวที่รัฐสภา เขียนบทความลง The Morning Chronicle และตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกลงใน The Monthly Magazine ใช้นามปากกาว่า Boz

Dickens เป็นคนทำงานหนักหามรุ่มหามค่ำ มีผลงานสม่ำเสมอต่อเนื่อง แถมไม่เคยส่งเรื่องช้ากว่ากำหนด ความสนใจมักเป็นเรื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคม รณรงค์ต่อต้านความชั่วร้ายรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง (เรียกว่านำเอาประสบการณ์ทั้งหลายที่พบเจอใส่ลงไปในผลงาน) ผลงานเด่นๆอาทิ Oliver Twist (1839), A Christmas Carol (1843), David Copperfield (1850), A Tale of Two Cities (1859), Great Expectations (1861) ฯ

เมื่อปี 1956 หลังจากหย่าขาดกับภรรยา Catherine Thomson Hogarth ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมากว่า 20 ปี (ว่ากันว่า Dickens แอบมีชู้กับ Ellen Ternan นักแสดงรุ่นเด็ก อายุห่างกันเกือบ 30 ปี) เพราะความโง่เง่าไม่รู้จักเจียมตัวเอง เพื่อให้หลงลืมความเจ็บปวดรวดร้าวทรมาน ออกเดินทางทัวร์พบปะผู้อ่าน ในรอบปีปรากฎตัว 129 ครั้งจาก 49 เมือง ในประเทศอังกฤษ, Scotland และ Ireland นั่นทำให้ร่างกายเริ่มอิดๆออดๆด้วยความอ่อนล้า เขียนหนังสือสองเล่ม A Tale of Two Cities (1859) กับ Great Expectations (1861) เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

Great Expectations เป็นผลงานลำดับที่ 13 เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ All the Year Round ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 1860 ถึงสิงหาคม 1861 ตีพิมพ์รวมเล่มกับสำนักพิมพ์ Chapman & Hall เมื่อเดือนตุลาคม 1861 ทั้งหมด 3 เล่ม

เรื่องราวมีพื้นหลังที่เมือง Kent ในช่วงต้นทศวรรษที่ 19 เมื่อเด็กชาย Pip ได้ให้การช่วยเหลือนักโทษหลบหนี Abel Magwitch ขณะกำลังถูกขนส่งไปยังประเทศอาณานิคม(คุก) Australia ด้วยความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ จึงตัดสินใจส่งเสียให้เขามีโอกาสกลายเป็นผู้ดียังกรุง London ตกหลุมรักหญิงสาว Estella ที่โดยไม่รู้ตัวเป็นลูกแท้ที่สูญหายไปของ Magwitch

Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กชอบเพ้อฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำงานเป็นนักบัญชีผู้ช่วยพ่อแต่ก็ทนได้ไม่นานก็ออกไปสานฝันของตนเอง ที่เริ่มต้นจากของขวัญวันเกิดจากลุงตอนอายุ 10 ขวบ ได้มอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกที่คลั่งไคล้ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์

เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี 1930 มีผลงานอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942) [สองเรื่องหลังของ Powell & Pressburger] กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942), ผลงานถัดๆมา Brief Encounter (1945) คว้า Grand Prize (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และเข้าชิง Oscar 3 สาขา (รวมถึง Best Director) ทำให้ชื่อของ David Lean กลายเป็นที่รู้จักโด่งดังทั่วโลก ได้รับการจับตามองอย่างยิ่ง

Lean ไม่ใช่นักอ่าน ตัวเขาไม่เคยใคร่สนใจวรรณกรรมของ Charles Dickens กระทั่งประมาณปี 1939 แฟนสาว(ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคนที่สอง) Kay Walsh ลากพาตัวไปรับชมการแสดงละครเวที Great Expectations ที่ West End เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด ในตอนแรกติดต่อ Clemence Dane นักเขียนนิยายชื่อดังสัญชาติอังกฤษให้ลองดัดแปลงบท แต่ผลลัพท์ออกมาเลวร้ายเกินบรรยาย (คงเพราะเธอเป็นนักเขียนนิยาย ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการดัดแปลง), ขอให้ Ronald Neame ที่ขณะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์ Brief Encounter ติดต่อหานักเขียนได้ Anthony Havelock-Allan กับ Cecil McGivern ใช้เวลาร่วมเดือนปักหลักอาศัยอยู่ที่ Ferry Boat Inn, Fowey พัฒนาบทภาพยนตร์จนเสร็จ

แต่เพราะหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างยาวมากทีเดียว 544 หน้า มีหลายเรื่องราวถูกตัดออกไป และตอนจบเจ้าปัญหา เห็นว่า Dickens มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายครั้ง เพราะความตั้งใจแรกสุดไม่มีใครลงเอยกับใคร แต่บรรณาธิการบอกว่ามันเศร้าสลดโหดร้ายเกินไป เลยมาลงเอยที่ Pip บังเอิญพบเจอกับ Estella ที่คฤหาสถ์ Satis House แต่ก็ไม่ได้สรุปว่าพวกเขาได้ครองรักแต่งงานอยู่ด้วยกันหรือเปล่า เพราะประโยคสุดท้ายของนิยายมีการปรับเปลี่ยนแก้คำเล็กน้อย

ขณะตีพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์

“I could see the shadow of no parting from her.”

รวมเล่มแก้เป็น

“I saw no shadow of another parting from her”.

สองประโยคนี้มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย, ประโยคแรกคำว่า ‘could see’ แปลว่ามันยังมีโอกาสเล็กๆ 0.01% ที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่ประโยคหลัง ‘saw’ นี่คืออนาคต ‘เงาแห่งการแยกจาก’ ไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน

ซึ่งฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้เครดิตตอนจบกับ Kay Walsh ลบความคลุมเคลือนี้ออกไป กระชากทุกสิ่งอย่างลงมากองที่พื้น ให้ผู้ชมได้รู้สึกเติมเต็มอิ่มกับอารมณ์ความคาดหวัง ผลลัพท์ของการเลือกเส้นทางนี้ของตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Sir John Mills ชื่อเดิม Lewis Ernest Watts Mills (1908 – 2005) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Felixstowe, Suffolk พ่อเป็นผู้จัดการโรงละครเวที ทำให้มีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีที่ London Hippodrome มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Midshipmaid (1932) พอเริ่มเป็นที่รู้จักก็เข้าสู่สงครามโลก สมัครเป็นทหารฝ่ายวิศวกร ปลดประจำการออกมาได้รับบทนำจาก Great Expectations (1946) ของผู้กำกับ David Lean ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Hobson’s Choice (1954), War and Peace (1956), Tunes of Glory (1960) [คว้า Volpi Cup for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice]

รับบท Phillip ‘Pip’ Pirrip จากเด็กกำพร้าเลี้ยงดูโดยพี่สาวและพี่เขย ครั้งหนึ่งให้การช่วยเหลือนักโทษหลบหนี Abel Magwitch ทั้งๆที่หวาดกลัว แต่แสดงถึงจิตใจอันดีงาม ทำให้ชีวิตได้รับโอกาสอันคาดไม่ถึง 2 ครั้ง
– กลายเป็นเพื่อนเล่น Estella ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ของ Miss Havisham
– ได้รับการสนับสนุนทุนจากผู้ไม่ออกนาม (Benefactor) ให้กลายเป็นผู้ดี มีภาพลักษณ์เหมือนคนชนชั้นสูงในสังคม

ตัวละครนี้ควรอายุประมาณ 20-25 แต่ Mills ขณะนั้นล่วงไป 38 มีร่องรอยตีนกาปรากฎขึ้นแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เห็นชัดเกินสักนิด กระนั้นในเรื่องการแสดงต้องชมว่า เสียงพูดอันมีเสน่ห์ สามารถถ่ายทอดตัวตน ความรู้สึกดีงามออกมาจากภายในได้อย่างน่าหลงใหล

กระนั้นตัวเอกในวรรณกรรมของ Dickens มักจะเป็นเพียงผู้บรรยาย/มุมมองหนึ่ง แค่คนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราว มักไม่ได้มีสีสันอะไรมากจนโดดเด่น ดูจืดชืดธรรมดาไปเสียด้วยซ้ำ

สำหรับ Pip วัยเด็ก รับบทโดย Anthony A. ‘Tony’ Wager (1932 – 1990) มาจากการคัดเลือกนักแสดง คงเพราะสายตาที่สะท้อนความบริสุทธิ์ออกมาอย่างใสซื่อเป็นประกาย ทำให้ได้รับการชื่นชมอย่างสูง แต่เพราะยังวัยวุฒิยังน้อยโอกาสประสบความสำเร็จตามมาเลยค่อนข้างต่ำ พอโตขึ้นย้ายไปอยู่ Sydney, Australia พอจะได้รับโอกาสแสดงอยู่บ้าง

Jean Merilyn Simmons (1929 – 2010) นักร้องนักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Lower Holloway, London, เริ่มสนใจการร้องเล่นเต้นตั้งแต่เด็ก หลังสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเข้าเรียน Aida Foster School of Dance ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Val Guest รับบทเล็กๆใน Give Us the Moon (1944), ตามด้วย Caesar and Cleopatra (1945), โดดเด่นกับบท Estella ตอนเด็ก ใน Great Expectations (1946) และ Ophelia ใน Hamlet (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ The Robe (1953), Guys and Dolls (1955), Spartacus (1960), The Happy Ending (1969) ฯ

รับบท Estella วัยเด็กสาว มีความแก่นแก้ว เริดเชิดหยิ่งยโสโอหัง ไร้ซึ่งความเกรงใจและสามัญสำนึกถูกผิด ชื่นชอบการกลั่นแกล้งพูดจาประชดประชันต่อว่า Pip แม้หลายครั้งดูไม่น่ารักเสียเลย แต่ก็น่าชังอย่างมาก

Baroness Profumo หรือ Babette Valerie Louise Hobson (1917 – 1998) นักแสดงหญิงสัญชาติ Irish เกิดที่ Larne, County Antrim, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ His Lordship (1932) ได้รับการจดจำครั้งแรกกับ Bride of Frankenstein (1935), Werewolf of London (1935) เพราะเคยแสดงในฉบับละครเวที Great Expectations เลยได้รับการชักชวนกลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์ (แต่เห็นว่าถูกตัดออกไปหลายฉากทีเดียว), ปี 1954 แต่งงานกับ John Dennis Profumo หรือ Baron Profumo ทำให้เธอได้คำเรียก Baroness จากนั้นจึงรีไทร์จากวงการภาพยนตร์

รับบท Estella วัยโต ในภาพลักษณ์สุภาพสตรีไฮโซที่มีความสง่างาม แต่ไม่แก่นแก้วเท่าแต่ก่อน วันๆเอาแต่โปรยยิ้มกว้าง พูดจาแง่งอนกับ Pip ต้องการแต่งงานกับคนรวยมีฐานะ แต่เมื่อได้รับการเปิดเผยเบื้องหลังจริงๆทำให้ถูกปฏิเสธ ตั้งใจมีชีวิตตามรอย Miss Havisham ได้รับการช่วยเหลือโดยเพื่อนรักตั้งแต่เด็ก เปิดโลกทัศน์แห่งแสงสว่างสู่เบื้องลึกในจิตใจ

Simmons รับบท Estella วัยเด็กได้อย่างมีเสน่ห์ น่าหลงใหลยิ่งกว่า Valerie Hobson (ที่แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย) เพราะถึงจะปากจัดทำตัวสูงส่ง แต่ลึกๆแล้วแสดงออกถึงว่าเธอก็มีใจให้เขา แค่ยังไม่รู้ตัวเองเท่านั้น

ขณะที่ Hobson ไม่ค่อยพึงพอใจการร่วมงานกับ Lean สักเท่าไหร่ ต่อว่าที่ไม่เคยชี้นำกำกับอะไรเธอเลย ราวกับไม่มีตัวตนในกองถ่าย

“[Lean is] a cold director – he gave me nothing at all as an actress”.

นั่นคงเพราะ Lean มารู้ตัวว่าเลือก Hobson ได้ ‘miscast’ แต่ผมก็ดูไม่รู้ว่าเธอไม่เหมาะสมกับตัวละครอย่างไร เพราะปริมาณฉากที่ออกมีน้อยนัก ส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีอะไรผิดสังเกตเสียด้วยซ้ำ

Martita Edith Hunt (1900 – 1969) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Buenos Aires ใช้ชีวิตยี่สิบปีแรกในอาร์เจนติน่า เดินทางกลับอังกฤษพร้อมครอบครัว เข้าเรียน Queenwood Ladies’ College, Eastbourne เพื่อกลายเป็นนักแสดงละครเวที สำหรับภาพยนตร์มักได้รับบทสมทบ โด่งดังกับ The Wicked Lady (1945) ติดภาพลักษณ์หญิงแก่อมทุกข์ระทม ทำให้ได้รับเลือกเล่น Great Expectations (1946)

รับบท Miss Havisham หญิงโสดฐานะมั่งคั่ง ถูกทิ้งขณะกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน ทำให้มีความคับแค้นเกรี้ยวกราดต่อผู้ชายทุกคนในโลก อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ Satis House ปล่อยทิ้งทุกอย่างหยุดเวลาให้อยู่ในสภาพคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แล้วตนเองจมปลักตัวเองอยู่ในความเจ็บปวดเคียดแค้น รับบุญธรรมเด็กหญิง Estella เลี้ยงดูสนับสนุนส่งเสริม (Benefactor) ส่งไปเรียนเป็นผู้ดี เสี้ยมสอนให้เธอพร้อมหักอกผู้ชาย แต่ขณะเดียวกันการได้รู้จัก Pip ทำให้ทัศนคติหลายๆอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป

ตัวละครนี้มักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความ ‘ตกต่ำ’ ของคนชนชั้นสูงในสังคมประเทศอังกฤษ อดีตที่เคยรุ่งโรจน์ชัชวาลย์ ปัจจุบันค่อยๆทรุดโทรมหลงเหลือแต่ฝุ่น หยากไย้และความมืดมิด กำลังมุ่งสู่จุดจบหายนะ (แต่ยังอีกเป็นศตวรรษ ที่ระบอบชนชั้นจะค่อยๆเสื่อม/เลือนลางลงในประเทศอังกฤษ)

Hunt เป็นอีกหนึ่งนักแสดงละครเวที ได้รับชักชวนให้กลับมารับบทเดิม ภาพลักษณ์เหมือนราชินีแห่งบ้านผีสิง วางมาดหวีผมแต่งกายเนี๊ยบเหมือนผู้ดี แต่ดวงตาเต็มเปี่ยมด้วยความเศร้าโศกาและเกรี้ยวกราดโกรธแค้น ซึ่งวินาทีที่สำนึกผิดรับรู้ตัวเองได้ ‘นี่ฉันทำอะไรลงไป’ เกิดความหวาดกลัวสั่นสะท้าน เพราะยังหมกมุ่นอยู่ในเพลิงราคะ ทำให้ถูกไฟครอกตายตกนรกทั้งเป็น

ทั้ง Sequence คฤหาสถ์และตัวละคร เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Billy Wilder สร้าง Sunset Boulevard (1950) อย่างแน่นอน

Finlay Jefferson Currie (1878 – 1968) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Edinburgh, Midlothian, โตขึ้นเป็นนัก Organist ขับร้องคอรัสออกทัวร์อยู่ถึงสิบปี ผันมาเป็นนักแสดงละครเวที แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Old Man (1931) โด่งดังสุดคือ Great Expectations (1946)

รับบท Abel Magwitch นักโทษหลบหนีจากเรือขนส่งสู่ Australia ได้รับการช่วยเหลือจาก Pip ซาบซึ้งในน้ำใจของเด็กชาย แม้ถูกจับนำไปใช้แรงงานยังต่างแดน แต่ได้ตัดสินใจส่งเงินเดือนของตนเองมอบให้ผ่านทนาย เลี้ยงดูให้เขามีโอกาสกลายเป็นผู้ดีชั้นสูงใน London แล้ววันหนึ่งตัดสินใจหลบหนีกลับมาเพื่อพบเจอชายหนุ่ม Pip ยอมรับเป็นพ่อคนที่สอง/พ่อบุญธรรม

เนื่องจากหนังไม่ได้เล่าย้อนหลังถึงตัวละครนี้มากนัก ขอเล่าเนื้อหาจากต้นฉบับวรรณกรรมให้ทราบคร่าวๆแล้วกัน Abel Magwitch พบเจอชายชื่อ Compeyson ที่มีภาพลักษณ์ของผู้ดี ครั้งหนึ่งทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าขโมยเอกสารสำคัญของทางการ แต่แทนที่ทั้งสองจะใช้ทนายคนเดียวกัน Compeyson กลับเลือกทนายอีกคน แต่ตัวโก๋หรูมาให้การ ผู้พิพากษาจึงตัดสินโบ้ความผิดใส่ Magwitch ให้ถูกตัดสินจำคุก ด้วยความเคียดแค้นเพราะรู้ว่าตัวเองกลายเป็นแพะ เลยทิ้งรอยบากบาดแผลเป็นไว้ที่ใบหน้าของอดีตเพื่อนหักเหลี่ยมโหด

ใครจะไปคิดว่า ชายผู้มีภาพลักษณ์ดูยังไงก็เหมือนผู้ร้ายคนคุก แต่กลับมีจิตใจที่ทรงคุณธรรม เต็มเปี่ยมด้วยความดีงามซาบซึ้ง รู้สำนึกบุญคุณคน ยิ่งได้การแสดงที่โคตรสมจริงของ Currie เรียกน้ำตาใครต่อใครได้ไม่ยาก

ทิ้งทายกับบทแจ้งเกิดของ Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) เพราะเคยรับบท Herbert Pocket ในฉบับละครเวที ทำให้ได้รับการตัดต่อให้หวนกลับมารับบทนี้ในฉบับภาพยนตร์, ด้วยภาพลักษณ์เย่อหยิ่งทะนงตนในความเป็นผู้ดี (สวมวิก) แต่นั่นเป็นเพียงภายนอกเท่านั้น จิตใจของตัวละครแทบไม่ต่างกับ Pip เมื่อได้กลายเป็นเพื่อนก็สนิทชิดเชื้อ ช่วยเหลือกันและกันโดยตลอดมา

มันไม่ใช่ว่า Guinness กลายเป็นเพื่อนสนิทกับ Lean ตั้งแต่หนังเรื่องนี้ แต่เพราะความดื้อด้านเห็นช่องทางดังของพระเอกหนุ่ม เห็นได้ชัดตอน Oliver Twist ที่ทำให้ผู้กำกับรับรู้ตัวเอง ว่าได้พบเจอโคตรแห่งนักแสดงยอดฝีมือคู่บุญบารมี ไม่มีใครคนไหนจะสง่างามยิ่งใหญ่ไปกว่า Guinness อีกแล้ว

Guinness เล่าถึงไดเรคชั่นของ Lean ครั้งหนึ่งที่เขาไม่สามารถอยู่ดีๆหัวเราะร่าต่อหน้ากล้องได้ วิธีการคือแอบส่งสัญญาณกับตากล้อง แล้วเดินเข้ามาพูดคุยเรื่องตลกกับเขาทำให้หลุดหัวเราะออกมา แล้วอยู่ดีๆก็สั่ง ‘Cut!’

“So he got this shot on a totally false premise… but thank God. I don’t think I would have ever achieved it otherwise”.

ถ่ายภาพโดย Guy Green (1913 – 2005) ตากล้อง/ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ ร่วมงานกับ Lean สองครั้งกับ Great Expectations (1946) และ Oliver Twist (1948)

ส่วนใหญ่ของหนังสร้างฉากในสตูดิโอ Denham Film Studios, Buckinghamshire ด้วยวิธีการคล้ายๆกับ The Archers ของสองผู้กำกับ Powell & Pressburger ใช้ Matte Painting วาดภาพบนกระจกเป็นพื้นหลัง ออกแบบศิลป์โดย John Bryan ซึ่งสิ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกตเห็น คือสัดส่วนมีขนาดเล็กกว่าความจริงมากๆ

ภาพวาดโบสถ์ข้างหลังนี้ ว่ากันว่่าความสูงแค่สามเมตรเท่านั้น (บางคนอาจดูไม่ออกด้วยซ้ำว่านั้นคือภาพวาด) สาเหตุที่ต้องทำให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ ก็เพื่อว่าจะสามารถบีบเข้าภาพทั้งช็อตนี้ได้ทั้งหมด ภาษาเทคนิคเรียกว่า ‘forced perspective’ จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในหนัง

คฤหาสถ์บ้านผีสิง Satis House ปกครองโดยราชินี Miss Havisham ทั้งๆก็ไม่ใช่หนัง Horror แต่บรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ชวนให้ขนลุกซู่ เต็มไปด้วยความมืดมิด ฝุ่น และหยากไย่ ใช้เพียงเทียนไขเล็กๆนำทาง

สถานที่แรงบันดาลใจคือ Restoration House, Rochester นี่อ้างอิงจาก Dickens เองเลย

เกร็ด: เห็นว่ามีครั้งหนึ่งในหนัง ด้วยความไม่ระวังตัว Jean Simmons ถือเทียนไขไหม้ชุดของตนเอง … โชคดีไม่ได้ร้ายแรงอะไรมาก

อย่างเนียนๆแบบหลายคนคงดูไม่ออก นี่เป็นฉากถ่ายทำในสตูดิโอ พื้นหลังคือภาพวาดท้องฟ้า (และอาจจะแม่น้ำด้วย) ลงบน Matte Painting หลอกสายตาได้ไกลสุดลูกหูลูกตาจริงๆ

ผมค่อนข้างพิศวงกับ Bernard’s Inn ช็อตนี้อย่างมาก ทำไมต้องออกแบบตึกด้านหลังให้ดูเหมือนเอียงๆไม่สมประกอบ? คาดว่าคงเป็น Expressionist ลักษณะหนึ่ง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกบีบอัด กดดัน ต่อความคาดหวัง (ตรงกับข้ามกับบ้านชนบทของ Joe ที่เป็นทุ่งโล่งทุกสารทิศ เป็นอิสระไร้ซึ่งความคาดหวังใดๆ) ไปทางไหนก็พบเจอทางตัน ราวกับ ‘คุก’ ก็ไม่ปาน

กระจกเป็นอุปกรณ์คลาสสิกที่ใช้สะท้อนภายในตัวตนของตัวละคร, ฉากหนึ่งหลังจาก Joe มาเยี่ยม Pip ที่ห้องใน London ตัวเขาแสดงอาการเคอะเขินไม่เข้ากับสถานที่ รับรู้ตัวเองว่าต้องต่ำไม่เหมาะสมคู่ควรกับคนไฮโซชั้นสูง นี่สร้างความกระอักกระอ่วนให้ชายหนุ่มอย่างมาก ไม่รู้ตัวเองว่าจะแสดงออกอย่างไร ซึ่งพอ Joe กลับไป Pip มองที่กระจกทันที ราวกับจะตั้งคำถามให้ตัวเอง … นี่ฉันเป็นใคร? (ยังสวมชุดนอนอยู่เลยนะ ในสภาวะสะลึมสะลือ เหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่น)

ฉากในห้อง Ballroom Dance ของไฮโซคนชั้นสูง จัดเต็มการออกแบบ เสื้อผ้าหน้าผม และการเต้นอย่างพร้อมเพียง (วงดนตรีบรรเลงเล่นอยู่ชั้นสอง) เป็นอีกช็อตที่เห็นครบทุกสิ่งอย่าง ‘forced perspective’

สิ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งสังเกตพบเห็นกับไดเรคชั่นบนโต๊ะอาหาร เมื่อมีสามคน สองคนหน้ามักจะพูดคุยสนทนา ปล่อยทิ้งให้คนนั่งอยู่ด้านหลัง มักไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมครุ่นคิด/ตัดสินใจสักเท่าไหร่

ช็อตนี้ Pip พูดคุยกับ Mr. Wemmick ขณะที่ชายด้านหลัง (พ่อของ Wemmick) มีปัญหาด้านการได้ยิน นั่งประดับเป็นพื้นหลัง แต่ต้องคอยหันไปพยักหน้ายิ้มให้ … ภาษาโปรแกรมเรียกว่า ‘การประกาศตัวแปร’ เป็นการบอกว่าฉากลักษณะนี้ บุคคลที่ประดับอยู่ด้านหลังมักไม่มีสิทธิ์พูดคุยหรือเรียกร้องทำอะไร นอกจากพยักหน้าเห็นคล้องตามสองบุคคลที่พูดคุยหันหน้าเข้าหากันนี้

ซึ่งการใช้ตัวแปรที่ประกาศมานี้ เกิดขึ้นในฉากถัดไปอย่างรวดเร็วมากกับช็อตนี้, บนโต๊ะอาหาร Pip กำลังพูดคุยหาข้อสรุปกับ Pocket ขณะที่ Abel Magwitch ประดับเป็นพื้นหลัง ถึงมีพูดบางอย่างได้ก็มิได้มีสิทธิ์ออกเสียงประการใด

จริงๆยังมีอีกหลายช็อตที่ใช้ไดเรคชั่นเดียวกันนี้ แต่ขอนำอีกไฮไลท์ที่ค่อนข้างมีความน่าสนเท่ห์ ถึงไม่ได้นั่งบนโต๊ะอาหาร แต่มี 3 ระดับ คือ ยืน (Pip) นั่งบนเก้าอี้ (Miss Havisham) และนั่งบนพื้น (Estella) ไม่แน่ใจว่าฉากนี้จงใจสื่อถึงความแตกต่างระหว่างสามชนชั้น สูง-กลาง-ต่ำ หรือเปล่า เพราะถ้ามองที่ภาพลักษณ์ภายนอกจะกลับกันตารปัตร แต่พิจารณาจากภายในจะถือว่าใกล้เคียง
– Pip ในวินาทีนี้ จิตใจของเขาถือว่าสูงส่ง ยินยอมเสียสละความรักหญิงสาวเพื่อช่วยเหลือ Abel Magwitch ให้หนีพ้นเอาตัวรอด
– Miss Havisham อยู่กึ่งกลาง ไม่ได้มีผลได้เสียกับใคร
– Estella ทำตัวต่ำต้อยไร้จิตใจ เกี้ยวหลอกชายมีฐานะผู้หนึ่งเพื่อแต่งงาน

Pip บอกความในใจต่อ Estella (ทั้งสองอยู่ใกล้กล้องมากกว่า) ขณะที่ Miss Havisham นั่นอยู่ ถือว่าเป็นผู้ประดับฉาก ไม่สามารถตัดสินใจช่วยเหลืออะไรได้

แสงเทียน/แสงสว่าง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการนำทาง อนาคตที่สดใส
– แรกเริ่มสุด Estella จะเป็นคนถือเทียนนำทาง Pip สู่เป้าหมาย
– กลางเรื่อง Pip ถือเทียนด้วยตนเอง
– ช่วงท้าย Pip ยังคงถือเทียน แต่เป็นผู้ชี้ชักนำให้ Estella เปิดใจยอมรับตนเอง นำทางมุ่งสู่แสงสว่าง

ตัดต่อโดย Jack Harris ขาประจำในยุคแรกๆของผู้กำกับ Lean, หนังใช้การเล่าเรื่องในมุมมองของ Pip ประกอบเสียงบรรยายที่มาจากการเปิดหนังสืออ่าน (เป็นเสียงของ Pip ตอนโต) ประกอบเรื่องราวที่เกิดขึ้น

เสียงบรรยายของ Pip ทำให้ผู้ชมรับรู้ช่วงเวลาที่ดำเนินไป และรวบรัดกระชับเหตุการณ์ให้สั้นขึ้น อาทิ ขณะวางแผนเตรียมการช่วยเหลือ Abel Magwitch ทางเรือ ก็ไม่รู้กี่วันกี่เดือนผ่านไป แต่น่าจะนานแน่ๆกว่าเตรียมการจักพร้อมพรรค

Cross-Cutting ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับการย่นย่อระยะเวลาของหนัง ช่วงเวลากระโดดข้ามเรื่องราวด้วยเสียงบรรยาย จะมีความนุ่มนวลต่อเนื่องเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวชีวิตของชายชื่อ Pip สามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ
ตอนเป็นเด็ก
– Prologue ให้การช่วยเหลือ Abel Magwitch
– เดินทางไปเล่นยังคฤหาสถ์บ้านผีสิง Satis House
ตอนเป็นผู้ใหญ่
– ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ไม่ออกนาม เดินทางไป London เป็นเพื่อนกับ Pocket
– กลับมาเยี่ยมเยือน Miss Havisham พบเจอ Estella ตกหลุมรักอีกครั้ง
– การมาถึงของ Abel Magwitch ทำให้รับรู้ความจริง หาทางช่วยเหลือให้หนีพ้น
– ไคลน์แม็กซ์, การจากไปของ Estella, ความสูญเสีย Miss Havisham และแผนที่ล้มเหลว ความตายของ Abel Magwitch
– Epilogue พบเจอ Estella ในคฤหาสถ์ Satis House

เพลงประกอบโดย Walter Goehr นักแต่งเพลงสัญชาติ German เชื้อสาย Jews อพยพย้ายสู่ London ปี 1937 ได้เป็นวาทยากรประจำ London Philharmonic Orchestra โด่งดังสุดกับผลงาน Great Expectations (1946)

บทเพลงมีความเป็น Classical Style ด้วยเทคนิครูปแบบคล้าย Fugue เรียงร้อยเติมแต่งจากเสียงที่เป็นอิสระจากกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่เฉพาะตัว อาทิ จังหวะครึกครื้นสนุกสนาน ลุ้นระทึกตื่นเต้น หลอกหลอนสั่นประสาท และซาบซึ้งกินใจสะอื้นไห้ มีความสอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์ในแต่ละฉากนั้นๆ

Great Expectations แค่ชื่อก็บ่งบอกถึง ‘ความคาดหวัง’ นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างมี
– เริ่มจากตนเอง คาดหวังอยากทำ เป็น ในสิ่งที่เพ้อฝันวัยเด็ก (Pip อยากเป็นสุภาพบุรุษ จะได้เสมอภาคเท่าเทียม และสามารถสู่ขอ Estella แต่งงานได้)
– พ่อ-แม่ แม้ไม่มีโอกาสเห็นลูกตนเองได้ดี แต่ก็คาดหวังให้เป็นคนดีในสังคม ประสบความสำเร็จในอาชีพชีวิตก้าวหน้า ร่างกายแข็งแรง มีชีวิตปลอดภัย แต่งงานเป็นฝั่งฝา ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง (คาดหวังมากไปหรือเปล่า)
– เพื่อนๆ คาดหวังความเท่าเทียม สนิทสนม พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันได้
– สังคม คาดหวังจากภาพลักษณ์ หน้าตา และชนชั้นฐานะ, คนรวยมีเงินไฮโซชั้นสูงก็ควรอยู่กับพรรคพวกพ้องของตนเอง ขณะที่คนชนแรงงานชั้นล่างสมควรต้องเจียมตัวเอง ไม่ทำตัวเกินเลยสถานภาพหรือเข้ามาก้าวก่าวจุ้นจ้าน
– บ้านเมืองประเทศชาติมีขื่อมือแปร คาดหวังให้ประชาชนอยู่ในความสงบเรียบร้อย ยึดถือมั่นรักษากฎหมาย คนกระทำความผิดเลวชั่ว ต้องถูกจับทำโทษชดใช้ ติดคุกหรือไม่ก็ประหารชีวิต

ผมเพิ่งหวนกลับไปรับชม A Brighter Summer Day (1991) ของผู้กำกับ Edward Yang ไปเมื่อหลายวันก่อน แม้ Great Expectations จะมิได้ครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง ยิ่งใหญ่เทียบเท่าหนังเรื่องนั้น แต่ถือว่ามีความกว้าง/หลากหลายมากมี พยายามนำเสนอทุกสิ่งอย่างให้คลอบคลุมชีวิตชายคนหนึ่ง ราวกับเป็น Time Capsule บันทึกช่วงเวลาขณะหนึ่งของประวัติศาสตร์ไว้ (แม้จะเป็นเรื่องแต่งก็เถอะนะ)

ความเป็น ‘สุภาพชน’ วัดกันที่ตรงไหน? ภายนอกแต่งตัวดูดีมีสง่าราศี กิริยาท่าทางการแสดงออก ร่ำรวยฐานะเงินทอง หรือสถานะทางสังคม? ในมุมของชาวตะวันตก ที่กล่าวมานี่ใช่ทุกอย่างเลยนะครับ เพราะนี่เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถใช้ ‘สายตา’ ในการวัดเช็คตรวจสอบกันได้ แต่มันถูกต้องจริงๆหรือในสามัญสำนึกของคน

ฟังดูเหมือนจำเป็นคำกล่าวอ้างของคนชนชั้นกลางเสียมากกว่า ‘สุภาพชน’ วัดกันที่ความดีงาม คุณค่าทางจิตใจ พบเห็นไม่ใช่แค่การแสดงออก แต่คือความตั้งใจในสิ่งที่ทำ เหล่านี้เป็นสิ่งไม่มีใครสามารถมองด้วยตาแล้วตัดสินได้ ต้องใช้ใจมองใจเท่านั้นถึงจะพบเจอ

ตัวละครที่ถือว่าเป็น ‘สุภาพชน’ ในหนังเรื่องนี้
– ทั้งภายนอกและภายใน รู้สึกจะมีเพียง Pip, Pocket
– ภาพลักษณ์ไม่ใช่ แต่จิตใจสูงส่งมาก คือ Abel Magwitch และ Joe Gargery (ทั้งคู่ต่างถือเป็นพ่อเลี้ยง/บุญธรรมของ Pip)
– ภายนอกคือไฮโซ แต่ภายในโลว์คอสสุดๆ Miss Havisham, Estella, Mr. Jaggers และศัตรูคู่อาฆาตของ Magwitch (ในหนังไม่ได้มีการเอ่ยชื่อ Compeyson)

พอมาแยกแบบนี้ทำให้ผมเห็นภาพเข้าใจบางสิ่งอย่างที่ Dickens ต้องการนำเสนอมากขึ้น นั่นคือ บุคคลที่จะกลายเป็น ‘สุภาพชน’ มักมาจากบรรยากาศครอบครัวที่ พ่อ-แม่ พี่-น้อง มีจิตใจดีงามสูงส่ง ขณะที่ภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเพียงสิ่งลวงตา มีเงินซื้อขายย่อมสามารถปั้นปรุงแต่งให้กลายเป็นคนชั่นสูง มีผู้คนนับหน้าถือตาได้

ซึ่งนี่เป็นการสะท้อนเสียดสีรุนแรงมากๆของนิยายเล่มนี้ เพราะแทนที่ Abel Magwitch คนคุกจะมีความชั่วช้าเลวทราม กลับมีจิตใจดีงามสูงส่ง ถูกใส่ร้ายป้ายสีกลายเป็นแพะโดยบุคคลที่แต่งตัวโก้หรูมีราคา … สังคมมันวัดกันด้วยภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้เลยจริงๆ

ประเด็นความรักของคู่พระ-นาง ก็เช่นกัน ความแตกต่างทำให้พวกเขาปฏิเสธที่จะยินยอมรับต่อกัน ทั้งๆที่จิตใจ … ก็เหมือนจะมีใจให้กันตั้งแต่เด็ก (เพราะวัยเด็ก ความแตกต่างทางชนชั้นมักไม่ค่อยมีผลนัก พวกเขาไม่สนใจเรื่องพรรค์นี้อยู่แล้ว) พอเติบโตขึ้น เรียนรู้จัก ถูกเสี้ยมสอนโดยบริบทของสังคมรอบข้าง จนกว่าจะรู้ซึ้งเข้าถึงสัจธรรมด้วยตนเอง จำต้องหลงเดินวนเวียนอยู่ในความมืด รอคอยใครสักคนฉุดรั้งนำพาให้พบกับแสงสว่างและประตูทางออก

สำหรับผู้กำกับ David Lean สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เหมือนว่าต้องการสะท้อนความตกต่ำ ใกล้สิ้นสุดของระบอบชนชั้น อาณานิคมนิยมของประเทศอังกฤษ/สหราชอาณาจักร และปลุกใจให้ผู้คนในช่วงเวลาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รู้จักเปิดอกใช้ใจเข้าหากัน แสดงออกด้วยความดีงาม นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการใส่หน้ากากปลอมตัว ถึงเวลาแล้วที่โลกควรจะเข้าสู่ยุคแห่งความเป็น ‘สุภาพชน’ วัดกันที่จิตใจไม่ใช่ภาพลักษณ์หน้าตา

แต่ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของ Lean ก็มิอาจประสบพบเป็นจริงได้ดั่งฝัน เพราะทศวรรษถัดจากนั้น 50s โลกได้มุ่งเข้าสู่ยุคสมัย Great Depression ช่วงเวลาแห่งความ ‘Horror’ หวนกลับมาหลอกหลอนเป็นภาพติดตาผู้คน นี่ยิ่งทำให้พวกเขาตบแต่งหน้าตา ปกปิดด้วยเครื่องสำอางค์ แบ่งชนชั้นวรรณะกันด้วยฐานะความร่ำรวย ทุนนิยมกลายเป็นลัทธิใหม่ ช่องว่างระหว่างชนชั้นยิ่งกว้างใหญ่ขึ้นกว่าเดิม, จริงๆจะถือว่าเป็นความผิดคาดหวังที่สุดน่าจะตรงกว่า

ด้วยทุนสร้างประมาณ ₤375,000 ปอนด์ ไม่มีตัวเลขรายรับในอังกฤษ แต่ระบุว่าทำเงินสูงสุดอันดับสามแห่งปี, ขณะที่ในอเมริกา ทำเงินได้ประมาณ $2 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White ** คว้ารางวัล

หนังคว้า Oscar: Best Picture ปีนั้นคือ Gentleman’s Agreement (1946) ของผู้กำกับ Elia Kazan เป็นตัวเลือกที่ยอมรับได้ในปีนั้น แต่กาลเวลาผ่านไป Great Expectations กลับได้รับการยกย่องทรงคุณค่าเหนือกว่า

สิ่งที่ทำให้ส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้มากๆเลย คือความคาดไม่ถึงในอะไรหลายๆอย่าง แบบเดียวกับ Pip ไม่ผิดเพี้ยนเมื่อได้เขารับรู้ความจริง นั่นทำให้ผมสะอื้นเกือบหลั่งน้ำตาในฉากสูญเสีย และตอนจบเป็นสุขเอ่อล้นเติมเต็มอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มนุษย์เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกมองข้ามไม่สนใจ หรือเติมเต็มความคาดหวังของผู้อื่น แต่ถ้าทำอย่างหลังสิ่งที่คุณจะได้รับ คือความเป็นคนชนชั้นสูงจากภายใน ไม่ใช่ภาพลักษณ์ภายนอก หน้าตา หรือฐานะทางสังคม

แนะนำอย่างยิ่งกับผู้ชื่นชอบหลงใหลในวรรณกรรมของ Charles Dickens, คอหนังคลาสสิก แฟนๆผู้กำกับ David Lean และนักแสดง John Mills, Alec Guinness, Jean Simmons ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความน่าสะพรึงกลัวในหลายๆอย่าง

TAGLINE | “Great Expectations ของผู้กำกับ David Lean สร้างได้ยิ่งใหญ่ความคาดหมายทุกประการ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: