Green Book

Green Book (2018) hollywood : Peter Farrelly ♥♥♥♡

ใครจะไปคิดว่าผู้กำกับหนังตลกอย่าง Peter Farrelly (Dumb and Dumber, There’s Something About Mary) จะสามารถทำหนังดราม่า Road Movie ปรุงสูตรสำเร็จ แล้วกลายเป็นเต็งหนึ่งลุ้นรางวัล Oscar: Best Picture

2018 เป็นปีที่ภาพรวมของ Hollywood ค่อนข้างน่าผิดหวังพอสมควร ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนโดดเด่นจริงจัง งดงามทรงคุณค่าในแง่ศิลปะ ผลงานได้รับการยกย่องส่วนใหญ่คือแนวตลาด ขายความบันเทิง คัทลอกสูตรสำเร็จ หาความแปลกใหม่ไม่ได้สักเท่าไหร่

Green Book เป็นผลงานที่ส่วนตัวรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง คือมัน Feel Good นะใช่ แต่ไร้ซึ่งความแปลกใหม่น่าสนใจ ใครดูหนังแนวนี้มามาก จักสามารถคาดเดาสิ่งต่างๆได้โดยง่าย ชื่อผู้กำกับก็มิได้ขายความโดดเด่นด้านงานสร้างอะไร หลักๆคือเคมีสองนักแสดงประชันกันไม่มีใครยอมใคร และเรื่องราวสอดคล้องเข้ากับยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ผลลัพท์ออกมาลงตัวกลมกล่อม บันเทิงชั้นยอด แค่นั้นแหละ!

พูดถึงหนัง Road Movie ของ Hollywood เริ่มต้นจาก It Happened One Night (1934), Stagecoach (1939), The Grapes of Wrath (1940) ตำนานต้องยกให้ Bonnie and Clyde (1967), Easy Rider (1969), Thelma & Louise (1991) แต่มีอีกหนึ่งไฮไลท์ Driving Miss Daisy (1989) สามารถคว้า Oscar: Best Picture แต่กลับถูกด่ากราดว่าไม่คู่ควรรางวัล ซึ่งถ้า Green Book สามารถคว้า Oscar: Best Picture ปีนี้ได้ ชะตากรรมอาจไม่แตกต่างกัน


Peter John Farrelly (เกิดปี 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่  Phoenixville, Pennsylvania เติบโตขึ้นที่ Cumberland, Rhode Island สำเร็จการศึกษาจาก Kent School และ Providence College ใฝ่ฝันเป็นนักเขียนนิยาย ก่อนผันมาเขียนบทภาพยนตร์ มีน้องชาย Bobby ร่วมงานขาประจำ Farrelly Brother โด่งดังจากกำกับ/สร้างภาพยนตร์แนว Comedy อาทิ Dumb and Dumber (1994), Kingpin (1996), There’s Something About Mary (1998), The Heartbreak Kid (2007), Dumb and Dumber To (2014) ฯ

สำหรับ Green Book จุดเริ่มต้นจาก Nick Vallelonga ลูกชายของ Frank ‘Tony Lip’ Vallelonga ร่วมกับ Brian Hayes Currie ซุ่มพัฒนาบทภาพยนตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับนักดนตรีผิวสี Donald Walbridge Shirley ที่เคยเป็นโชเฟอร์ขับรถ ระหว่างออกทัวร์คอนเสิร์ตยังรัฐทางใต้ช่วงทศวรรษ 60s

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อนข้างน่าสนใจมากๆทีเดียว เพราะทศวรรษนั้นคนขาว-ผิวสี ต่างเต็มไปด้วยความขัดแย้ง โกรธขุ่นเคืองกันมาแต่ชาติปางก่อน ซึ่ง Tony Lip ก็เริ่มต้นด้วยความเกลียดชังเช่นกัน แต่ระหว่างการเดินทางทริปแรก วิวัฒนาการของจดหมายที่ส่งกลับมาบ้าน 67 ฉบับ ทั้งแม่และลูกๆต่างสามารถตระหนักรับรู้ความเปลี่ยนแปลงไปของพ่อได้โดยทันที

ขอกล่าวถึง Tony Lip ก่อนแล้วกัน ชื่อจริง Frank Anthony Vallelonga Sr. (1930 – 2013) เชื้อสายอิตาเลี่ยน เติบโตขึ้นที่ Bronx ได้รับชื่อเล่น ‘Lip’ เพราะความสามารถในการพูดเกลี้ยกล่อมเกลาจนใครๆหลงเชื่อยินยอมใจ โตขึ้นสมัครเป็นทหารบก ประจำการอยู่ประเทศเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลก กลับบ้านทำงานเป็นบริกรยังไนท์คลับ และมีโอกาสรับงานโชเฟอร์ขับรถให้นักเปียโน Don Shirley รวมระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี 3 เดือน หลังจากนั้นก็ยังคงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรจนวันตาย

หลายคนอาจมักคุ้นกับ Tony Lip เคยแสดงเป็นตัวประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ
– แขกงานแต่งงาน The Godfather (1972)
– ตำรวจที่สนามบิน Dog Day Afternoon (1975)
– เจ้าของไนท์คลับ Raging Bull (1980)
– Frankie the Wop เรื่อง Goodfellas (1990)
– Philly Lucky เรื่อง Donnie Brasco (1997)
ฯลฯ

สำหรับ Donald Walbridge Shirley (1927 – 2013) นักเปียโน/แต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pensacola, Florida ครอบครัวอพยพจาก Jamaican ได้รับการสอนเปียโนตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ฉายแววอัจฉริยะจนได้รับโอกาสเข้าเรียนดนตรียัง Leningrad Conservatory of Music แต่เมื่อเติบโตขึ้นไม่ค่อยได้รับโอกาสแสดงสักเท่าไหร่ (เพราะนักดนตรีผิวสียังไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่) เลยเรียนต่อสาขาอื่น จบปริญญาเอกด้านดนตรี จิตวิทยา และ Liturgical Arts

เมื่อตอนเรียนจบด็อกเตอร์ด้านจิตวิทยา เคยทำงานเป็นจิตแพทย์อยู่ที่ Chicago และได้ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรเด็กและบทเพลงร่วมสมัย ทำให้เกิดความสนใจทดลองดนตรีรูปแบบใหม่ๆ เข้าตาค่าย Cadence Records ออกอัลบัม Experimental Jazz&Classic บทเพลง Water Boy ขึ้นสูงสุดอันดับ 40 ชาร์ท Billboard Hot 100

ช่วงทศวรรษ 60s ด้วยความตั้งใจ ‘ปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติของชาวใต้’ ตัดสินใจออกทัวร์คอนเสิร์ตยัง Deep South/Cotton States อาทิ Georgia, Alabama, South Carolina, Mississippi, Louisiana, Texas, Alabama และทำการว่างจ้าง Tony Lip ให้เป็นทั้งคนขับรถและ Bodyguard ประจำตัว

ลูกชาย Nick พัฒนาบทหนังโดยไม่เคยปรึกษาอะไรพ่อ แต่ถูกร้องขอให้สร้างหลังตนเองเสียชีวิตไปแล้ว รวบรวมรายละเอียดจากความทรงจำตนเอง บันทึกเทปประจำวัน (คล้ายๆไดอารี่ แต่ใช้การบันทึกเสียงผ่านเครื่องเล่น) และจดหมายทั้ง 67 ฉบับที่แม่เก็บไว้ให้

ประมาณปี 1961, ไนต์คลับ Copacabana สถานที่ทำงานของ Frank Vallelonga (รับบทโดย Viggo Mortensen) ปิดปรับปรุงกิจการหลายเดือน ทำให้เขาต้องหางานอื่นทำแก้ขัด กระทั่ง Don Shirley (รับบทโดย Mahershala Ali) นักเปียโนผิวสี ต้องการว่าจ้างโชเฟอร์ขับรถ เพื่อออกทัวร์คอนเสิร์ตยัง Deep South ของสหรัฐอเมริกา แต่ประเด็นมีอยู่ว่าบริเวณตอนใต้ของประเทศ ผู้คนคงเต็มไปด้วยความรังเกลียดชังคนผิวสี ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆพร้อมกันมากมาย


สำหรับนักแสดงนำ ผู้กำกับ Peter Farrelly หมายมั่นปั้นมือ Viggo Mortensen และ Mahershala Ali เป็นตัวเลือกแรก ซึ่งหลังจากพวกเขาอ่านบทก็ตบปากรับคำโดยทันที โชคดีมากๆ

Viggo Peter Mortensen Jr. (เกิดปี 1958) นักแสดงสัญชาติ Danish-American เกิดที่ New York City แม่เชื้อสายอเมริกัน ส่วนพ่อชาว Danish พบเจอที่ Norway ครอบครัวมักออกเดินทางไปทำธุรกิจยัง Venezuela, Denmark, ก่อนตัดสินใจปักหลักที่ Argentina แต่หลังจากหย่าร้างอาศัยอยู่กับแม่ที่ New York เรียนจบจาก St. Lawrence University ทำงานหลากหลาย ขายดอกไม้ ขับรถบรรทุก แสดงละครเวที ว่ากันว่าภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Purple Rose of Cairo แต่ฉากดังกล่าวถูกตัดออกไป ผลงานสร้างชื่อคือไตรภาค The Lord of the Rings, เข้าชิง Oscar: Best Actor จากเรื่อง Eastern Promise (2007), Captain Fantastic (2016)

รับบท Frank ‘Tony Lip’ Vallelonga เชื้อสายอิตาเลี่ยน เป็นคนดิบๆเถื่อนๆ ตรงไปตรงมา หัวใจนักเลง ใครดีมาดีตอบ ใครร้ายมาร้ายตอบ พูดจาหว่านล้อมคนเก่ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยี่ยม เรื่องกินขอให้บอก ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ใส่สูทคับๆติดกระดุมพุงกาง เดินแบบกร่างๆ

แม้เริ่มต้นมาหนังจะพยายามชี้ชักนำว่า Tony Lip เป็นคนเหยียดผิว (ด้วยการทิ้งแก้วน้ำของพนักงานซ่อมผิวสี) แต่เมื่อทำงานเป็นโชเฟอร์ขับรถให้ Don Shirley (เพื่อเงิน) แปรสภาพดั่ง Chameleon อ้างว่ารับได้ทุกอย่าง ซึ่งระหว่างทางทำให้เขาค่อยๆรับเรียนรู้จักเปิดมุมมองโลกทัศน์หนึ่ง ทิวทัศน์สหรัฐอเมริกาที่งดงามกลับยังมีด้านมืดมิดอีกมากมาย จนสุดท้ายมิตรภาพของพวกเขากลายเป็นสิ่งมั่นคงยืนยงตราบจนวันตาย

Mortensen เป็นนักแสดงติดภาพลักษณ์ดิบ เถื่อน รับบทตัวละครชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่พอเรื่องนี้ขุนตัวเองเพิ่มน้ำหนักกว่า 40-50 ปอนด์ ทำให้ใบหน้าดูอ่อนโยนลง และพัฒนาการจากเคยหยาบกระด้างก้าวร้าว ค่อยๆพัฒนาตนเองจนดูดี จิตใจหล่อเหลา

แม้ตอนแรก Mortensen จะมีความหวั่นวิตกเล็กน้อยเพราะตนเองไม่ใช่เชื้อสายอิตาเลี่ยน แต่เป็นผู้กำกับยืนกรานว่าไม่จำเป็น และหลังจาก 6 ชั่วโมงแรกพูดคุยกับครอบครัว Vallelonga ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มเพิ่มน้ำหนัก ก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงนิสัยใจคอ อิ่มจนพุงกาง หมดจานต่อจาน ทำเอาขึ้นอืดอยู่เป็นชั่วโมงๆกว่าอาหารจะเริ่มย่อย

“It almost destroyed me because I hadn’t gained the weight yet – I hadn’t expanded my stomach… It was almost lethal… I said goodbye. I limped to my rental car and I made a big show of ‘oh, I’m driving back to Manhattan!’ And I drove around the corner, parked the car, leaned my seat back, undid my belt and lay there for an hour, just groaning”.

– Viggo Mortensen

แซว: Mortensen เป็นนักแสดงประเภท Perfectionist แสดงอะไรแสดงจริงสมบทบาท กินฮอทด็อกเห็นว่าซัดไป 15 ชิ้น ดื่มนมสามขวด และหนังมีฉากกินเยอะมาก พักกลางวันมักขอตัวไปพัก ไม่เคยทานอาหารกองถ่าย (เพราะกินอาหารเข้าฉากอิ่มแปล้)


Mahershalalhashbaz Ali (เกิดปี 1974) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oakland, California, พ่อเป็นนักแสดง Broadway ตัวเขาโตขึ้นเข้าเรียนสาขาการสื่อสารมวลชน St. Mary’s College of California ระหว่างนั้นพัฒนาความสนใจด้านการแสดง เข้าศึกษาต่อยัง California Shakespeare Theater จบปริญญาโทการแสดงจาก New York University, ผลงานสร้างชื่อ อาทิ The Curious Case of Benjamin Button (2008), The Hunger Games: Mockingjay (2014-15), คว้า Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง Moonlight (2016)

รับบท ‘Doc’ Don Shirley อัจฉริยะนักเปียโนผิวสี เพราะความรู้สูงเลยกลายเป็นคนเย่อหยิ่งทะนงตนในเกียรติ ศักดิ์ศรี ชื่นชอบเชิดเงยหน้า ถนอมปากถนอมคำพูด ทุกอย่างต้องเปะ เลิศหรูมีระดับ แต่ลึกๆในใจเต็มไปด้วยความอ้างว้างว่างเปล่า โดดเดี่ยวเหงาหงอย เคยแต่งงานเลิกรา (และว่ากันว่าอาจเป็นเกย์)

เหตุผลการออกทัวร์คอนเสิร์ตทางตอนใต้สหรัฐอเมริกา เพื่อต้องการพิสูจน์ตนเองในสังคมคนขาว ว่าชาวผิวสีมีศักยภาพความสามารถไม่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเดินลงจากเวที เขาก็เพียงนิโกรคนดำ ยุคสมัยนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนส่วนใหญ่

เทพ Ali เป็นนักแสดงโดดเด่นใน บุคลิกภาพ การวางตัว เหมือน ‘ผู้ดี’ ของคนผิวสี ซึ่งบทบาทนี้แม้ไม่ตราตรึงเท่า Moonlight (2016) แต่พบเห็นมิติของตัวละคร ไม่ใช่แค่เบื้องหน้าที่แข็งกระด้าง จิตใจภายในยังสะท้อนผ่านสีหน้า ท่าทาง และลีลาการแสดงคอนเสิร์ต

ถ้า Ali ไม่เคยคว้า Oscar: Best Supporting Actor เมื่อสองปีก่อน ครานี้จะคือเต็งหนึ่งแน่ๆ ถึงกระนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ และถ้าคว้ารางวัล จะเทียบเท่า Denzel Washington (นักแสดงผิวสีคนเดียวที่คว้า Oscar สาขาการแสดงสองครั้ง)

สำหรับนักแสดงสมทบ เห็นว่าญาติๆ ครอบครัว Vallelonga มาร่วมรับเชิญเป็นพี่ๆน้องๆของ Tony Lip ซึ่งพวกเขาถือว่าขากินเลยละ! เล่นเอาอาหารเตรียมไว้เข้าฉากไม่เคยพอ แถมผู้กำกับสั่งคัทก็ยังกินกันต่อไม่ยอมหยุด!


ถ่ายภาพโดย Sean Porter สัญชาติอเมริกัน, ใครช่างสังเกตจะพบว่าขนาดของงานภาพไม่ใช่ Widescreen (16:9) หรือ Anamorphic (2.39:1) แบบปกติทั่วไป แต่คือ Univisium (2.00:1) ผลิตโดย Universal Picture เริ่มใช้ตั้งแต่ Jurassic World (2015) ซึ่งปี 2018 ถือเป็นภาพยนตร์ลำดับสามของสตูดิโอ ถัดจาก Hereditary (2018) และ A Simple Favor (2018)

แม้ว่าเรื่องราวจะคือการออกเดินทางสู่รัฐตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่หนังทั้งเรื่องถ่ายทำยัง New Orleans, Louisiana และหนึ่งวันยังกรุง New York City

ผมชอบการเลือกสีรถ 1962 Cadillac Sedan DeVilles เพราะมันออกสีเขียวเป็ดน้ำ (Teal) ซึ่งสอดคล้องกับชื่อหนังและสมุดปกเขียว (Green Book) มีทั้งหมด 3 คัน ใช้จริงสอง อีกหนึ่งสำหรับขนของ อุปกรณ์ถ่ายทำ และหลังคาเปิดออกได้ (สำหรับถ่ายทำฉากบนถนน)

วิวัฒนาการของจดหมาย สะท้อนตัวตนภายในของ Tony Lip แรกๆเต็มไปด้วยความหยาบกระด้าง ต่อมาถูกบีบบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากค่อยๆเรียนรู้จนเกิดพัฒนาการ จนในที่สุดราวกับเกิดใหม่ สามารถเขียนให้เนื้อหาภายในให้มีความหวานแหววโรแมนติกซาบซ่าน

ช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง ถ่ายให้เห็น Don Shirley หลบซ่อนตัวตนเองอยู่ใต้เปียโนแกรนด์ แล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาผ่านการเล่นดนตรี

ตัดต่อโดย Patrick J. Don Vito, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Frank ‘Tony Lip’ Vallelonga อารัมบทด้วยการแนะนำตัว นำเสนอวิถีชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด กระทั่งมาพบเจอ Don Shirley ทีแรกสนใจเพียงค่าจ้าง แต่ระหว่างออกเดินทาง ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอะไรๆไปทีละเล็กละน้อย

เนื่องจากระยะเวลาในหนังประมาณ 2 เดือน จึงเต็มไปด้วย Time Skip รวบรัดตัดตอน กระโดดข้ามเมืองไปเมือง ระหว่างเดินทาง-เข้าโรงแรมที่พัก-การแสดงคอนเสิร์ต ตัดสลับการเขียนจดหมายถึงภรรยา โดยข้อความปรากฏขึ้นมีเพียงสถานที่แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาชัดเจน ซึ่งก็ไม่ได้มีความสลักสำคัญเท่าไหร่ … รู้แค่ว่าหนังต้องจบลงตรงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้นเอง

เกร็ด: Mortensen เป็นคนแนะนำผู้กำกับไม่ให้มี Opening Credit หรือ Title Card ต้นเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมหลงลืมเลือนไปเลยว่ากำลังรับชมภาพยนตร์อยู่ ดำเนิน/นำพาสู่เรื่องราวโดยทันที


สำหรับเพลงประกอบ ถ้าไม่เป็น Diegetic Music แทบทั้งหมดคือการ Adaptation Score โดย Kris Bowers นักเปียโน/แต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน

หลายๆบทเพลงมักมีใจความ ชื่อเพลง หรือเนื้อหา สื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์ เกี่ยวกับคนผิวสี อย่าง That Old Black Magic (1942) แต่งโดย Harold Arlen & Johnny Mercer ต้นฉบับประกอบภาพยนตร์ Star Spangled Rhythm (1942) ขับร้องโดย Johnny Johnston ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song เสียด้วยนะ

ทุกการแสดงของ Don Shirley บทเพลง ท่วงทำนอง อารมณ์ ลีลาท่าทาง จักถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกตัวละคร ณ ขณะนั้นออกมาอย่างตรงไปตรงมา (ถ้าสามารถจับได้) ยกตัวอย่างเช่น
– ช่วงขณะที่เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ใส่ความรุนแรง หน้านิ่วคิ้วขมวดกับบทเพลง Blue Skies แต่งโดย Irving Berlin
– หนึ่งในบทเพลงที่ได้ยิน Happy Talk แต่งโดย Richard Rodgers & Oscar Hammerstein II ประกอบละครเวที South Pacific (และภาพยนตร์) ซึ่งเนื้อหาใจความของเรื่องราว ก็เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติพันธุ์เช่นกัน
– เล่นในคลับ Frédéric Chopin: Etude op. 25, no. 11 in A Minor (Winter Wind) เป็นบทเพลงเกรด 9 เล่นยากมากๆ [ใครเคยรับชม Kimi no Uso/Your Lie in April น่าจะจดจำบทเพลงไคลน์แม็กซ์นี้ได้]
ฯลฯ

เกร็ด:Bowers เป็นผู้สอน Ali ในการเล่นเปียโนคลาสสิก ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่ามือไม่ตรงกับเสียหรอก แต่อารมณ์สีหน้าท่าทางนั้นใช่เลย (ส่วนฉากที่ทำการ Close-Up มือ นั่นเป็นของ Bowers เองเลย)

บทเพลงดังสุดของ Don Shirley Trio จะพลาดได้อย่างไรกับ Water Boy (1961) แต่ฉบับเรียบเรียงโดย Kris Bowers เหมือนจะสู้ Original ไม่ค่อยได้ เลยนำต้นฉบับมาให้รับฟังดีกว่า

Ending Credit นำบทเพลงบรรเลงโดย The Lonesome Road (1927) บทเพลงแนว African-American Folk Song แต่งโดย Nathaniel Shilkret ที่ Don Shirley บันทึกไว้

แถมท้ายกับ Orpheus in the Underworld (1956) อัลบัมเพลงที่ Tony Lip บอกว่าภรรยาซื้อมา เจ้าตัวครุ่นคิดว่าเกี่ยวกับเด็กรอบกองไฟ แต่ที่ไหนได้แท้จริง

เกร็ด: Jacques Offenbach คือผู้ประพันธ์ Opéra Bouffon (Comic Opera) เรื่อง Orphée aux enfers (1858) ดัดแปลงจากเทพนิยายกรีก ซึ่งองก์ 2 ฉาก 2 ชื่อตอน Infernal Galop มีบทเพลงอมตะที่หลายคนอาจคุ้นเคยท่อน Can-Can

พัฒนาการของชาวผิวสีในศตวรรษ 20 ที่มากกว่าแค่ทาสคนขาว ทำให้สามารถซื้อรถ ทำธุรกิจ นักกีฬา ฯ ออกเดินทางไปยังรัฐต่างๆทั่วสหรัฐอเมริกา แต่เพราะแถบ Deep South ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมาย Jim Crow Laws ทำให้มีข้อห้ามมากมาย หนังสือ The Negro Motorist Green Book หรือ The Negro Travelers’ Green Book เรียกย่อๆว่า Green Book รวบรวมที่พัก ร้านอาหาร สำหรับผู้จำต้องออกเดินทางไปต่างรัฐ โดย Victure Hugo Green บุรุษไปรษณีย์ชาว New York City ตีพิมพ์ช่วงระหว่างปี 1939-66 (1965 คือปีสุดท้ายก่อนยกเลิกใช้ Jim Crow Laws)

“To give the Negro traveler information that will keep him from running into difficulties, embarrassments and to make his trip more enjoyable”.

หนังสือ Green Book ดูเหมือนไม่มีความสลักสำคัญสักเท่าไหร่ในการออกเดินทางครั้งนี้ เพราะต่อให้ Don Shirley พักอาศัยในโรงแรม/สถานที่เต็มไปด้วยคนผิวสี แต่ตัวเขาถือว่านอกคอก ‘แกะขาว’ แตกต่างจากพวก อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท ถูกจับ และติดคุก

สูตรสำเร็จของภาพยนตร์แนว Buddy – Road Movie สองตัวละครมักมีความแตกต่างขั้วตรงข้าม ภาพลักษณ์ บุคลิก นิสัย มุมมอง ความคิดอ่าน โลกทัศนคติ เมื่อต้องออกเดินทางร่วมทริป แรกเริ่มมักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่ต่างค่อยๆปรับตัวเข้าหา ยินยอมรับตัวตนอีกฝ่าย ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ จนที่สุดเกิดความเห็นพ้องบางประการ ปรับเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ภายในชั่วนิรันดร์

แม้ไม่มีอะไรใหม่ในโครงสร้างเล่าเรื่อง แต่ประเด็นเนื้อหารายล้อมและหัวข้อที่หนังนำเสนอ คนขาว-ผิวสี ยังคงเป็นสิ่งสดใหม่ในสังคมอเมริกัน ที่แม้ปัจจุบันควรยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกันได้แล้ว กลับยังพบเห็น ‘Racism’ ปรากฎทั่วไปในชีวิตประจำวัน (และบางรัฐทางตอนใต้ ผู้คนคงฝังรากลึกความโกรธเกลียดเคียดแค้น ไม่รู้จากชาติปางไหน!)

Jim Crow Law ถือเป็นยุคมืดของชาวผิวสีที่อาศัยอยู่รัฐทางตอนใต้สหรัฐอเมริกา ด้วยแนวคิด “Separate, but Equal” สร้างกฎหลายอย่างเพื่อแบ่งแยก ลิดรอนสิทธิ ห้ามออกจากบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน ฯ น่าเสียดายที่หนังจับประเด็นนี้น้อยไปเสียหน่อย มุ่งนำเสนอความสัมพันธ์ตัวละคร ให้เรียนรู้ เติบโต และเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงมุมมองสู่โลกทัศน์ใหม่

ปกติแล้วคนขาวมักคือเจ้านาย ชาวผิวสีเป็นคนใช้ แต่ถ้าโลกมันกลับตารปัตรตรงข้าม นี่คล้ายกับการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ใครก็ตามสามารถครุ่นคิดได้เช่นนี้ ความเหยียดหยาม ‘Racism’ ดูถูกต่อว่าผู้อื่นจักลดลงจนแทบไม่มีเหลือ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับสำนวน “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง” มนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา ล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียม หาได้สูงต่ำแตกต่างกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆของหนัง ปกติเราจะพบเห็นแต่คนขาวผู้มีความเย่อหยิ่งผยอง จองหองอวดดี แต่เรื่องนี้นำเสนอชาวผิวสีที่ก็แสดงออกไม่แตกต่างกัน … นี่เป็นการสะท้อนความอวดดีหัวสูงของมนุษย์ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากชาติพงศ์พันธุ์ แต่คือองค์ความรู้ สามารถ พรสวรรค์/แสวง และอำนาจเงินตรา เมื่อเราถูกสิ่งเหล่านี้ครอบงำ ก็มักแสดงความเห็นแก่ตัวเองออกมา


หนังเข้าฉาย Toronto International Film Festival เมื่อเดือนกันยายน 2018 คว้ารางวัล People’s Choice Award เรียกว่าถูกใจผู้ชมอย่างมาก

ด้วยทุนสร้าง $23 ล้านเหรียญ ทีแรกคาดกันว่าคงไม่ได้ทุนคืนสักเท่าไหร่ แต่ไปๆมาๆเมื่อเสียงวิจารณ์ดีเยี่ยม กวาดรางวัลจากหลายสำนัก ก็ค่อยๆสะสมรายรับจนปัจจุบันใกล้เท่าทุนเต็มแก่ และคาดว่าคงได้เพิ่มโรงฉายในช่วงเทศกาล Oscar และถ้าคว้า Best Picture ก็มีสิทธิ์ลุ้นยาวๆถึง $50-$60 ล้านเหรียญ

Farrelly มาจากสายหนัง Comedy ซึ่งสิ่งชี้ชัดความสำเร็จคือปฏิกิริยาของผู้ชม หัวเราะ ยิ้มแย้ม สนุกสนาน ซึ่งเรื่องนี้แม้เป็นดราม่า ผู้กำกับก็ใช้วิธีทางเดียวกับรอบทดลองฉาย/ปฐมทัศน์ และถึงกับอึ้งทึ่งไปเลยเมื่อพบเห็นหลายๆ รอยยิ้มเสียงหัวเราะในจังหวะคาดไม่ถึง บางคนร่ำไห้คราบน้ำตา หลังฉายจบตรงเข้ามาพูดชื่นชม ขอบคุณ ขอลายเซ็นต์ นี่ล้วนเป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขามาก่อนหน้านี้

“You know, when you make Dumb & Dumber, you don’t ever expect to get an award. I don’t need awards. This award to me is like Warren Buffett winning the lottery”.

– คำกล่าวสุนทรพจน์ของ Peter Farrelly ขณะคว้ารางวัล PGA

ระหว่างเดินสายประชาสัมพันธ์ Mortensen เผลอหลุดปากพูดคำว่า Nigger ด้วยความละเอียดอ่อนของยุคสมัยทำให้ถูกตำหนิต่อว่าจากสื่อ (ปัจจุบันนี้ถือเป็นคำหยาบรุนแรง ถ้าคนขาวพูดกับคนดำจะถูกมองว่าเป็นการเหยียดผิว ตรงกันข้ามกับคนดำพูดกันเอง คำนี้กลับไม่เลวร้ายประการใด) เจ้าตัวถึงขนาดต้องออกจดหมายขอโทษ

“Although my intention was to speak strongly against racism, I have no right to even imagine the hurt that is caused by hearing that word in any context, especially from a white man. I do not use the word in private or in public. I am very sorry that I did use the full word last night, and will not utter it again”.

– Viggo Mortensen

ก็ขนาดว่า สำนักข่าวบางฉบับลงบทความชี้ชักนำว่า Mortensen คงพลาดรางวัล Oscar: Best Actor เพราะการพลั้งปากพูดครั้งนี้

สำหรับ Ali ก็โดนเช่นกัน จากลูกสาวของ Edwin Shirley III ตำหนิต่อว่า พ่อไม่ใช่คนแบบนี้

“If I have offended you, I am so, so terribly sorry. I did the best I could with the material I had. I was not aware that there were close relatives with whom I could have consulted to add some nuance to the character”.

– Mahershala Ali

เกร็ดไร้สาระ: หนังเรื่องนี้อุทิศให้ Larry the Crow อีกาตัวหนึ่งที่ถูกรถชน แล้ว Mortensen นำมาเลี้ยงไว้ในกองถ่าย จนเป็นที่รักใครๆของทุกๆคน

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนัง ประทับใจในการแสดง เคมีขั้วตรงข้ามที่เข้าขากันดีระหว่าง Viggo Mortensen กับ Mahershala Ali และบทเพลงประกอบเพราะๆของ Kris Bowers ถ่ายทอดสิ่งหลบซ่อนเร้นภายในตัวละครได้อย่างทรงพลัง

แนะนำคอหนัง Road Movie แนว Racism คนขาว-ผิวสี, คอเพลงคลาสสิก ชื่นชอบผลงานของ Don Shirley, แฟนๆผู้กำกับ Peter Farrelly และนักแสดงนำ Viggo Mortensen กับ Mahershala Ali

จัดเรต 13+ กับความรุนแรง และการเหยียดผิว

คำโปรย | Green Book ได้กลายเป็น Green Pass ของ Peter Farrelly ส่งให้ Viggo Mortensen กับ Mahershala Ali เจิดจรัสในมุมมืดมิดของอเมริกา
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: