Grey Gardens

Grey Gardens (1975) hollywood : David Maysles, Albert Maysles, Ellen Hovde, Muffie Meyer ♥♥♥♥

Sunset Boulevard (1950) กับ What Ever Happened to Baby Jane? (1962) อาจชิดซ้ายไปเลยเมื่อเทียบสารคดีถ่ายทำจากเรื่องจริงของแม่-ลูก Bouvier Beale อดีตเคยเป็นนักร้อง/นักเต้น แวดวงไฮโซ แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ Grey Gardens, East Hampton สภาพรกร้าง เต็มไปด้วยแมว และตัดขาดโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ความหลอกหลอนของสารคดีเรื่องนี้ ไม่ใช่อารมณ์ที่บีบเค้นคั้น หรือบรรยากาศน่าขนลุกขนพองแบบ Sunset Boulevard (1950) และ What Ever Happened to Baby Jane? (1962) แต่คือการตระหนักได้ว่า สิ่งรับชมพบเห็นอยู่นี้ ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง!

Grey Gardens เป็นสารคดีที่จะทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร ทำไม สาเหตุผลใด สองแม่-ลูกคู่นี้ถึงได้กล้ำกลืนฝืนทนอยู่ร่วมอาศัย ทั้งๆแต่ละวันมีเรื่องให้โต้เถียงขัดแย้งอยู่ประจำ Little Edie ปากพร่ำอยากได้รับอิสรภาพ แต่กลับไม่สามารถพลัดพรากแยกจากกันได้เกินห้านาที

แต่รับชมจนจบก็ไม่มีคำตอบ/อธิบายใดๆ บทความนี้ผมวิเคราะห์ให้ได้แค่สมมติฐาน ที่เหลือคือมุมมองความเข้าใจของคุณเอง จักสามารถเข้าถึงบทเรียนชีวิตของทั้งสองเพียงไหน เห็นคุณประโยชน์หรือโทษ เพ้อใฝ่ฝันอยากได้หรือทำบางสิ่งอย่างเพื่อมิให้กลายเป็น


Albert Maysles (1926 – 2015) และ David Maysles (1931 – 1987) สองพี่น้องผู้สร้างสารคดี สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boston, Massachusetts ครอบครัวเชื้อสาย Jews บิดาเป็นชาว Ukraine มารดามาจาก Poland
– Albert แรกเริ่มต้นการเป็นนักวิจัย ครูสอนจิตวิทยา หลังรับใช้ชาติสงครามโลกครั้งที่สอง เรียนจบปริญญาตรี Syracuse University ต่อด้วยปริญญาโท Boston University และได้เป็นอาจารย์สอนอยู่สามปี พร้อมๆกับผู้ช่วยวิจัยโรงพยาบาลจิตเวช Massachusetts General Hospital จากนั้นมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานยังรัสเซีย ถ่ายทำสารคดี Psychiatry in Russia (1955) เริ่มรู้สึกอยากหันมาเอาดีด้านนี้มากกว่า
– David เดินตามรอยพี่ชาย ร่ำเรียนจิตวิทยาจบปริญญาตรี Boston University แล้วสมัครเป็นทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำการอยู่ West Germany หลังจากครบกำหนดกลับมาได้งานเป็นผู้ช่วยด้านโปรดักชั่นที่ Hollywood ในกองถ่าย Bus Stop (1956) และ The Prince and the Showgirl (1957) เกิดความลุ่มหลงใหลในสื่อภาพยนตร์

เมื่อพี่-น้องมีความสนใจด้านเดียวกัน เลยหันมาร่วมงานถ่ายทำสารคดี Russian Close-Up (1957) และ Youth in Poland (1957) ออกอากาศทางช่อง BBC สร้างชื่อให้กับพวกเขาจนสามารถก่อตั้งบริษัทของตนเอง Maysles Films, Inc. ผลงานเด่นๆได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ อาทิ Salesman (1969), Gimme Shelter (1970), Grey Gardens (1975) ฯ

ภาพยนตร์แนวสารคดี ก่อนหน้าการมาถึงของสองพี่น้อง Maysles มักมีลักษณะคำถาม-ตอบ พูดคุยสนทนา (ระหว่างทีมงาน-ผู้ให้สัมภาษณ์) ไม่ก็มีเสียงบรรยายประกอบภาพ หรือปรากฎขึ้นข้อความ (Intertitles) และใส่บทเพลงสำหรับเสริมสร้างบรรยากาศ

สองพี่น้อง Maysles ได้ทำการบุกเบิก/ปฏิวัติหลากหลายแนวคิดของภาพยนตร์สารคดียุคสมัยนั้น มีคำเรียกว่า ‘Direct Cinema’ คือถ่ายทำภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สัมภาษณ์หรือมีการแทรกแซง พูดคุยซักถามจากทีมงานเบื้องหลัง (นอกจากพวกเธอหันมาพูดคุยกับพวกเขาเอง) ไร้เสียงบรรยายหรือปรากฎข้อความใดๆ ใช้การตัดต่อดำเนินไปเรื่อยๆแทน และไม่มีบทเพลงประกอบ นอกจากการบันทึกสดๆตรงนั้น (Diegetic Music)

การทำงานของสองพี่น้อง Maysles เพียงแค่เข้าหาหัวข้อที่พวกเขาต้องการถ่ายทำ Albert ถือกล้อง (16mm แบกไว้บนบ่า) David ถือไมค์ (และเครื่องบันทึกเสียง) อะไรจะเกิดขึ้นก็บันทึกไว้ แล้วค่อยไปว่ากันภายหลังการตัดต่อ

เกร็ด: Jean-Luc Godard ให้คำยกย่อง Albert Maysles ว่าเป็น ‘the best American cameraman’

จุดเริ่มต้นของ Grey Garden เกิดจากคำชักชวนของ Caroline Lee Radziwill (1933 – 2019) หรือ Princess Lee Radziwill น้องสาวคนเล็กของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง Jacqueline Bouvier Kennedy ที่ต้องการให้สองพี่น้อง Maysles สร้างสารคดีเกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยเด็กของตนเอง เมื่อครั้นเคยอาศัยอยู่ East Hampton นำพาพวกเขาเดินทางไปยัง Grey Gardens แนะนำให้รู้จักน้า Edith ‘Big Edie’ Ewing Bouvier Beale และลูกพี่ลูกน้อง Edith ‘Little Edie’ Bouvier Beale  ที่ปัจจุบันนั้นอยู่ร่วมกันในบ้านที่มีสภาพรกร้าง ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่

Grey Gardens ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ East Hampton, Long Island ติดกับ Georgica Pond ไม่ห่างจากมหาสมุทรแปซิฟิกสักเท่าไหร่ พื้นที่ 4.5 เอเคอร์ ความสูง 2 ชั้น (ไม่รวมห้องใต้หลังคา) จำนวน 28 ห้อง ออกแบบโดยสถาปนิก Joseph Greenleaf Thorp ด้วยสถาปัตยกรรม Shingle style (ได้รับความนิยมในยุค Victorian) สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1897

Edith ‘Big Edie’ Ewing Bouvier Beale (1895 – 1977) เกิดที่ Nutley, New Jersey มีศักดิ์เป็นน้าของ Jacqueline Kennedy, วัยเด็กชื่นชอบการร้องเพลง เข้าสังคม ต่อมาได้แต่งงานกับนักการเงิน/ทนายความ Phelan Beale มีบุตรสามคน เมื่อปี 1923 ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ Grey Gardens และปี 1946 ได้รับโทรเลขขอหย่าจากสามีส่งจาก Mexico

Edith ‘Little Edie’ Bouvier Beale (1917 – 2002) เกิดที่ New York City วัยเด็กเคยได้เป็นนางแบบ (เสื้อผ้าเด็ก) มีความชื่นชอบด้านการแสดง (แต่แม่พยายามผลักดันให้เธอเป็นนักร้อง) โตขึ้นออกเดินทางสู่ Manhattan แต่เหมือนจะไม่สามารถหาหนทางเข้าวงการได้ เลยตัดสินใจย้ายกลับมาปักหลัก Grey Gardens ตั้งแต่กรกฎาคม 1952

เกร็ด: Little Edie ไม่เพียงสายตาสั้นมาก (ต้องใช้แว่นขยายอ่านหนังสือ และใช้กล้องส่องดูน้ำหนักตัว) ยังเป็นโรคผมร่วง ทำให้เธอมักสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะตลอดเวลา

ระหว่างที่สองพี่น้องกำลังจัดเก็บข้อมูล ถ่ายทำฟุตเทจเพื่อตระเตรียมงานสร้าง พอดิบพอดีกับหน่วยงานสาธารณะสุข (Suffolk County Health Department) ได้รับการร้องเรียงให้เข้ามาตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของ Grey Gardens ซึ่งเต็มไปด้วยขยะ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ขึ้นรกรุรัง ไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจกลายเป็นแหละเพาะเชื้อโรค สร้างความรังเกียจเดียจฉันท์ให้ผู้อยู่อาศัยรอบข้าง … ถึงขนาดกลายเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ National Enquirer และบทความเล็กใน New York Magazine จนทำให้ Jacqueline Kennedy (และ Lee Radziwill) ต้องอาสาออกทุนกว่า $30,000 เหรียญ สำหรับซ่อมแซมปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้ผ่านหลักเกณฑ์การตรวจสอบ

จากเหตุการณ์นั้นทำให้สองพี่น้อง ใคร่สนใจในตัวแม่-ลูก Big Edie และ Little Edie มากกว่าสารคดีวัยเด็กของ Lee Radziwill เสียอีก! พยายามต่อรอง โน้มน้าว แต่กลับสร้างความไม่พึงพอใจให้เธอ จนขอยกเลิกสัญญา ถอนทุนสร้าง และยึดฟีล์มถ่ายทำทั้งหมดไว้กับตัวเอง

ด้วยเหตุนี้สองพี่น้อง Maysles เลยตัดสินใจสรรหาทุนสร้างโปรเจคนี้ด้วยตนเอง ติดต่อโปรดิวเซอร์ Susan Froemke และยังได้ Ellen Hovde กับ Muffie Meyer เข้ามาช่วยเหลือในช่วงระหว่างการตัดต่อฟุตเทจกว่า 70 ชั่วโมง (เลยมอบเครดิตกำกับร่วมให้ รวมเป็นทั้งหมด 4 คน) ส่วนพวกเขาก็ใช้เวลา 4 เดือน แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยือน ถ่ายทำสารคดี


อะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์หมกมุ่น ครุ่นยึดติด ไม่สามารถปล่อยวางจากอดีต จมปลักอยู่กับความทรงจำ เพ้อใฝ่ฝันถึงวันวาน?

สำหรับ Big Edie ผมครุ่นคิดว่าคงคือความผิดหวังต่อสามี เพราะเคยรักมาก แต่งงานมีบุตรกันถึงสามคน แต่วันดีคืนดีส่งโทรเลขมาขอหย่า นั่นทำให้ชีวิตเธอมาถึงจุดจบสิ้น ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อีก เลยตัดขาดจากโลกภายนอก เลือกใช้ชีวิตจมปลักอยู่กับอดีต โหยหาวันวาน ภายใต้หลังคา Grey Gardens ตราบจนวันตาย

ส่วน Little Edie คาดว่าเพราะความล้มเหลว ไม่สามารถกลายเป็นนักแสดง/นักเต้น ประสบความสำเร็จดั่งเพ้อฝันใฝ่ (ก็ดูลีลาท่าเต้นของเธอ มีนักวิจารณ์เรียกว่า ‘The best worst dance performance’) เลยตัดสินใจหวนกลับบ้าน เพราะมิอาจเผชิญหน้าความผิดหวัง สร้างกำแพงข้ออ้างขึ้นมาขวางกั้น ปากพร่ำว่าอยากได้รับอิสรภาพ แต่ประตูนั้นเปิดออกอยู่แล้ว ไม่กล้าก้าวออกไปเผชิญหน้าโลกความจริงเสียมากกว่า

ในมุมของผม คนที่ถูกขังอยู่ใน Grey Gardens มีเพียงแม่ Big Edie เพราะไม่สามารถก้าวออกไปไหนได้จริงๆ (ทั้งในเชิงรูปธรรม-นามธรรม) แต่สำหรับลูกสาว Little Edie เป็นเธอที่เข้ามาหลบซ่อนตัว ขังตนเอง หวังพึ่งใบบุญเพื่อปกป้องกันภยันตรายจากโลกภายนอก เคยเผชิญหน้าแล้วไม่สามารถดิ้นรนต่อกร ปัจจุบันยังคงโหยหาต้องการได้รับชัยชนะ แต่งตัวให้ดูเทรนด์แฟชั่น หลอกตนเองไปวันๆว่าอยากได้รับอิสรภาพ สักวันหนึ่งจะกลายเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง (และได้แต่งงานกับหนุ่มราศีธนู)

“Tea for two, and two for tea …”

– บทเพลง Tea for Two (1924) แต่งโดย Vincent Youmans คำร้องโดย Irving Caesar ได้ยินครั้งแรกในละครเพลง No, No, Nanette

ผมไม่คิดว่าแม่ Big Edie จะรับรู้ตัวหรอกนะว่า การขับร้องบทเพลงนี้จะสามารถสื่อได้ถึงตนเองและลูก เกิดมาเคียงคู่ ไม่สามารถพลัดพรากแยกจาก แถมหลายๆฉากในหนังเมื่อ Little Edie นำพาสองพี่น้อง Maysles ไปถ่ายทำยังห้องอื่นๆ มักได้ยินเสียงเพรียกเรียกหาจาก ‘Edie, Come here a minute. Hurry!’ ล่องลอยมาไม่ขาดสาย

เช่นกันกับชื่อบ้านหลังนี้ Grey Garden ฟังดูหดหู่ หมองหม่น แทนที่สวนควรจะสีเขียวฉอุ่ม ชุ่มชื่น พบเห็นเกิดเบิกบานสำราญใจ กลับใช้สีเทา โทนเศร้าๆ ราวกับโลกคนละใบ … ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไมถึงตั้งชื่อบ้านเฉกเช่นนี้ แต่มีความเข้ากับชื่อหนังอย่างมาก (ชื่ออาถรรพ์หรือเปล่าเนี่ย!)

‘เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแลฯ’ กลอนของสุนทรภู่ จากบทประพันธ์พระอภัยมณี ในบริบทนี้ก็สามารถใช้ได้เหมือนกันนะ, แม่-ลูก เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยาวนาน ล่วงรับรู้ตัวตน/สันดาน การแสดงออกของพวกเขาจึงไม่ใช่ป้อยอสุภาพหวาน เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบกระด้าง กระแนะกระแหน ประชดประชัน ไม่กลัวเสียน้ำใจ (เพราะไม่มีอะไรจะให้เสียอยู่แล้ว) ผมถือว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความรักที่บริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา เยือกเย็นชาแต่อิ่มอกอุ่นใจ

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถปล่อยวางจากอดีต? คำตอบของผมจากบริบทของหนังคือ ‘ความคาดหวัง’ ที่ทั้งแม่-ลูกคู่นี้ต่างรู้สึก ‘ผิดหวัง’ กับตนเอง ครอบครัว และโลกภายนอก ทำให้พวกเธอเลือกที่จะตัดขาด ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ อยู่ไปวันๆแบบไร้เป้าหมาย เฝ้ารอคอยความตาย หมดสิ้นลมหายใจสุดท้าย เผื่อว่าอะไรๆอาจดีขึ้นกว่าปัจจุบัน


หลังจากสารคดีออกฉายไม่นาน แม่ Big Edie เสียชีวิตจากไปด้วยโรคปอดบวม กุมภาพันธ์ 1977, จึงเป็นโอกาสของ Little Edie ที่อายุย่าง 60 พยายามแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงคาบาเร่ต์ แต่เสียงตอบรับที่ย่ำแย่ เลยเล่นได้แค่ 6 รอบการแสดง, ปี 1979 ตัดสินใจขาย Grey Garden ในราคา $220,000 เหรียญ (ปี 2018 =$759,000 เหรียญ) ให้กับ Ben Bradlee บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Washington Post ได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ (จับแมวได้ทั้งหมด 52 ตัว) ส่วนเธอย้ายมาอาศัยอยู่ Bal Harbour, Florida จนกระทั่งเสียชีวิต มกราคม 2002

แซว: Little Edie เข้าร่วมรับชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ สวมใส่ชุดเดรสสีแดง แต่ในลักษณะกลับหน้า-หลัง ซิบอยู่ข้างหน้า

กระแส Cult ของสารคดีเรื่องนี้ ค่อยๆได้รับความนิยมสูงขึ้นในยุคสมัยการมาถึงของ Home Video ทำให้มีการดัดแปลงเป็น
– ละครเพลง Grey Gardens: A New Musical สร้างโดย Doug Wright, เพลงประกอบ Scott Frankel และทำนอง Michael Korie, เปิดการแสดงที่ Playwrights Horizons เมื่อปี 2006 เข้าชิง Tony Award หลายสาขา (กลายเป็นละครเพลง Broadway เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ดัดแปลงจากสารคดี)
– ละครเวที Little Edie & The Marble Faun (2008)
– ช่อง HBO ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ นำแสดงโดย Jessica Lange ประกบ Drew Barrymore ออกฉายวันที่ 18 เมษายน 2009 คว้า 6 รางวัล Emmy Award (รวมไปถึง Outstanding Made for Television Movie) และอีก 2 รางวัล Golden Globes (รวมไปถึง Best Miniseries or Motion Picture Made for Television)
– และสารคดีภาคก่อน (Prequal) จากการค้นพบฟุตเทจที่ Lee Radziwill ยึดฟีล์มต้นฉบับไป กลายมาเป็น That Summer (2018) กำกับโดย Göran Olsson

เกร็ด: นิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับ Greatest Documentaries of All Time เมื่อปี 2014 ปรากฎว่า Grey Gardens ติดอันดับ 9 (คะแนนเท่า Dont Look Back)

ความขนลุกขนพองที่ผมได้จากสารคดีเรื่องนี้ สร้างความรวดร้าวฉานไปถึงทรวงในเสียยิ่งกว่า Sunset Boulevard (1950) และ What Ever Happened to Baby Jane? (1962) ที่ก็รู้ว่าทั้งสองเรื่องดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง แต่เพราะได้รับการปรุงปั้นแต่ง ‘ภาพยนตร์’ จากผู้กำกับ มันเลยยังมีความบันเทิงรมณ์สอดแทรกอยู่บ้าง .. Grey Gardens คือความทรมานล้วนๆเลยนะ เพราะทุกภาพที่เห็นคือตัวตนแท้จริง ไม่ได้ใส่ขิงข่าปรุงปั้นแต่งใดๆ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” รับชมไว้เป็นบทเรียนสอนใจ จดจำตราฝังให้ถึงทรวงใน ครุ่นคิดถึงวันข้างหน้า เมื่อมากอายุแก่ชรา … ก็แล้วแต่มุมมองคุณเองนะ เห็นการมีชีวิตแบบแม่-ลูกคู่นี้คือสุขสำราญ-หายนะ เพ้อใฝ่ฝันโหยหา หรือต้องการทำบางสิ่งอย่างไม่ให้ดำเนินรอยตาม

จัดเรต 15+ กับการจมปลักอยู่กับอดีตวันวาน

คำโปรย | Grey Gardens สารคดีเกี่ยวกับแม่-ลูกที่จมอยู่กับอดีต เต็มไปด้วยความหลอกหลอน สั่นสยองไปถึงทรวงใน
คุณภาพ | -ถึงทรวงใน
ส่วนตัว | ขนลุกขนพอง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: