Gunga Din

Gunga Din (1939) hollywood : George Stevens ♥♥♥♡

ดัดแปลงจากบทกวีของ Rudyard Kipling เรื่องราวของคนแบกน้ำสัญชาติ Indian วีรบุรุษผู้ได้ช่วยเหลือทหารอังกฤษก่อนถูกยิงเสียชีวิต แต่หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Soldiers Three คล้ายๆสามทหารเสือ ประกอบด้วย Cary Grant, Victor McLaglen และ Douglas Fairbanks, Jr. ในรูปแบบ Screwball Adventure

เชื่อว่าก่อนรับชมหนังเรื่องนี้ หลายคนคงฉงนสงสัยชื่อ Gunga Din นี่มันอะไรกัน? กับชาวอังกฤษคงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะสำนวน “You’re a better man than I am, Gunga Din” ใช้กันอย่างแพร่หลายติดปาก แต่สำหรับคนไทยอาจต้องในแวดวงวรรณกรรมถึงมีโอกาสรู้จัก

ผมเองก็เพิ่งรู้จัก Gunga Din จากหนังเรื่องนี้ ทีแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นชื่อคน หลงคิดไปว่าเป็นสถานที่หรือขุมสมบัติ พอได้ยินเรียกชื่อตัวละครหนึ่งเท่านั้นก็ร้องอ๋อเลยละ แต่เอะ? คนแบกน้ำเนี่ยนะเป็นถึงชื่อหนัง แถมไม่ได้เล่าเรื่องในมุมมองของเขาด้วย กว่าจะเริ่มเข้าใจเหตุผลก็ผ่านไปกว่าครึ่งเรื่อง นี่คือเรื่องราวของคนรับใช้ชั้นต่ำ สัญชาติอังกฤษก็ไม่ใช่ แต่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ถึงขนาดเสียสละชีพเพื่อเจ้านาย ทำให้ได้รับการยกย่องเทียบเท่าวีรบุรุษ

Joseph Rudyard Kipling (1865 – 1936) นักเขียน กวีสัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม เกิดที่ Bombay, British India โด่งดังทั่วโลกกับผลงาน The Jungle Book (1894), Kim (1901), ประพันธ์บทกวี Gunga Din ขึ้นเมื่อปี 1890 ใครอยากอ่าน ผมค้นเจอฉบับภาษาอังกฤษ ไม่ยาวเท่าไหร่ มีความไพเราะอย่างยิ่ง
Gunga Din Poem: https://www.poetryfoundation.org/poems/46783/gunga-din

ตอนที่ Kipling ประพันธ์กวีบทนี้ ตัวเขาเพิ่งจะแต่งงาน ย้ายมาปักหลักถาวรอยู่ที่ London ไม่ได้ยังอาศัยอยู่ในอินเดียแบบตอนจบของหนัง หรือแต่งกลอนนี้ขึ้นต่อหน้าร่างของ Gunga Din (จริงก็ไม่มีใครยืนยันได้ด้วยซ้ำว่า Gunga Din เป็นคนจริงๆ หรือในจินตนาการของ Kipling) ซึ่งเหตุผลในการประพันธ์กวีบทนี้ มองเผินๆเหมือนจะพยายามยกย่องสรรเสริญวีรบุรุษ แต่แท้จริงกลับมีนัยยะตำหนิติเตียน เสียดสีชาวอาณานิคมอังกฤษ ที่ยกตนข่มท่าน วางตัวเหนือกว่าผู้อื่น แถมกลับมิได้ทำตัวให้มีค่าน่ายกย่องเหมือนชายชื่อ Gunga Din แม้แต่น้อย

ลิขสิทธิ์กวีบทนี้ถูกซื้อโดยโปรดิวเซอร์ Edward Small ให้กับ Reliance Picture เมื่อปี 1936 ในราคาสูงถึง ₤4,700 ปอนด์ RKO เลยเข้าไปขอมีส่วนร่วม มอบหมายให้ Howard Hawks เป็นผู้กำกับ ติดต่อสองนักเขียนขาประจำ Ben Hecht กับ Charles MacArthur ให้มาร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์ ซึ่งก็ได้หยิบเอาอีกหนึ่งเรื่องสั้นของ Kipling มาใช้ประกอบด้วยคือ Soldiers Three (1888) เรื่องราวของสามทหารอังกฤษ ที่เป็นเพื่อนสนิทไปไหนไปด้วยกันตลอด และชอบสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่วทุกสารทิศ

โปรดักชั่นตั้งใจจะเริ่มตั้งแต่ปี 1937 แต่ด้วยความล่าช้าในการคัดเลือกตัวนักแสดง และ Hawks มัวแต่สนใจ Bringing Up Baby (1938) แต่กลับล้มเหลวไม่ทำเงิน ถูกถูกไล่ออกจากโปรเจค หาผู้กำกับใหม่ได้ George Stevens มาพร้อมนักเขียนอีกชุด Joel Sayre กับ Fred Guiol

George Cooper Stevens (1904 – 1975) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท และตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oakland, California พ่อ-แม่เป็นนักแสดงละครเวที ทำให้เรียนรู้จักการแสดงตั้งแต่เด็ก แต่พอโตขึ้นตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นตากล้องถ่ายทำหนังสั้นหลายเรื่อง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Kentucky Kernels (1934), มีชื่อเสียงจาก Alice Adams (1935) นำแสดงโดย Katharine Hepburn, ตามด้วย Swing Time (1936) ของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Gunga Din (1939), A Place in the Sun (1951), Shane (1953), Giant (1956), The Diary of Anne Frank (1959) ฯ

ประมาณปี 1880 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย กองทัพอังกฤษขาดการติดต่อกับด่านหน้า (Outpost) ที่เมือง Tantrapur ทำให้ต้องส่งสามจ่าทหารประกอบด้วย MacChesney (รับบทโดย Victor McLaglen), Cutter (รับบทโดย Cary Grant), Ballantine (รับบทโดย Douglas Fairbanks, Jr.) เพื่อไปซ่อมแซมสายโทรเลข และค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำให้ได้พบเจอกลุ่มอินเดียหัวรุนแรง Thuggee ที่วางแผนต่อสู้ขับไล่ทหารอังกฤษให้ออกจากแผ่นดินอินเดีย

Victor Andrew de Bier Everleigh McLaglen (1886 – 1959) นักแสดงสัญชาติ British เกิดที่ Stepney, East London ในครอบครัวมีพี่น้อง 8 คน ตอนอายุ 14 แอบไปสมัคร British Army ได้ประจำการเป็น Life Guards อยู่ที่ Windsor Castle แต่ถูกบังคับให้ออกเมื่อมีการสืบค้นรู้อายุที่แท้จริง, ย้ายมาอยู่ Canada เป็นนักมวยปล้ำ นักมวยรุ่น Heavyweight มีชื่อเสียงพอสมควร ต่อมาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ Hollywood เริ่มจากรับบทขี้เมา นักเลง มีผลงานดังอย่าง What Price Glory? (1926), ร่วมงานกับ John Ford ครั้งแรก The Lost Patrol (1934), คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Informer (1935), ผลงานเด่นอื่นๆ Gunga Din (1939), The Quiet Man (1952) ฯ

รับบท Sgt. ‘Mac’ MacChesney เนื่องจากมีประดับเหรียญติดหน้าอกมากสุดในสามคน จึงน่าจะถือว่ามียศสูงกว่า (จริงๆเป็นจ่าทหารเท่ากันหมด แค่ Mac เหมือนจะแก่สุด) เป็นคนบ้าพลังช้างสาร แต่ขี้โอ่เหมือนเด็กน้อย ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนักจึงมักถูกเอาเปรียบน้ำใจจากเพื่อนรักทั้งสองโดยง่าย

ภาพลักษณ์ของ McLaglen คงเริ่มติดตาจากหนังเรื่องนี้ ชายร่างใหญ่บ้าพลัง หมัดหนัก ใจนักเลง แต่กลับมีด้านอ่อนไหวที่ไม่ค่อยเข้ากับความหยาบกระด้างของตัวเองสักเท่าไหร่, ใครเคยรับชม The Quiet Man (1952) น่าจะเข้าใจเลยว่าทำไมผู้กำกับ John Ford ถึงยืนกรานให้ McLaglen ต้องต่อยกับ John Wayne หมัดเดียวทำเอา Cary Grant สลบเลย

Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904 – 1986) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เซ็นสัญญากับ Paramount Picture ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ต่อมากับ Columbia Picture โด่งดังกับ The Awful Truth (1937), แม้จะไม่ประสบความสำเร็จกับ Bringing Up Baby (1938) แต่ได้รับคำวิจารณ์ดีล้นหลามจนกลายเป็นที่ต้องการตัว

รับบท Sgt. Archibald Cutter คาดว่าเหตุผลที่สมัครเป็นทหารเพราะชื่นชอบการผจญภัย เดินทางมาอินเดีย หวังจะค้นพบขุมสมบัติ ที่จะทำให้ตนเองร่ำรวยเป็นเศรษฐี ชีวิตจะได้สะดวกสบาย สนิทสนมกับ Gunga Din แต่จริงๆคงต้องการแค่หลอกล่อต้มตุ๋นให้เผยที่ซ่อนขุมทรัพย์ แต่เมื่อเห็นความทุ่มเทเสียสละ จงรักภักดี อดไม่ได้ที่จะต้องยกย่องนับถือชื่นชม

คงเพราะตอนแรก Howard Hawk คุมบังเหียรโปรเจคนี้ เลยดึง Cary Grant ที่ร่วมงานกันตอน Bringing Up Baby ให้รับบท Ballantine แต่เจ้าตัวกลับไม่ชอบบทบาทนั้นเท่าไหร่ ขอแลกกับ Douglas Fairbanks, Jr. ที่ได้บท Cutter นี้ไป ตอนแรกมีหรือเจ้าตัวจะยินยอมเพราะบทนี้เด่นกว่า แต่ผู้กำกับคนใหม่ Stevens บอกให้โยนเหรียญตัดสิน ปรากฎว่า Grant ทายถูกเลยได้ไป

Grant ช่วงแรกๆในวงการ กำลังค้นหา ‘persona’ เอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยความยังหนุ่มแน่น มีพละกำลังเต็มเปี่ยม พอไปได้กับหนังเบาสมอง Screwball Comedy ที่ใช้ร่างกายค่อนข้างมาก ค่อยๆเรียนรู้พัฒนาตัวเอง ก็ไม่รู้กี่เรื่องติดๆกัน ประสบความสำเร็จโด่งดังจนกลายเป็น ‘Star’ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักก่อนจะได้เพิ่มคำ Super- ใส่หน้าดาวดวงนี้

Douglas Fairbanks Jr. (1909 – 2000) นักแสดงที่ต่อมากลายเป็นทหารเรือ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York เป็นลูกคนเดียวของ Douglas Fairbanks Sr. นักแสดงหนังเงียบผู้โด่งดังระดับ Icons แห่งยุค, เพราะชื่อเสียงของพ่อทำให้ตอนอายุ 14 ได้เซ็นสัญญากับ Paramount Picture เล่นหนังเรื่อง Stephen Steps Out (1923) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว], โด่งดังกับ Little Caesar (1931), Gunga Din (1939) ฯ แต่โดยรวมถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้านนี้เท่าไหร่ สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยสมัครเป็นทหารเรือ ประดับเหรียญเกียรติยศมากมาย อยู่ต่อหลังสงครามจบจนกระทั่งปลดประจำการได้ยศกัปตัน

รับบท Sgt. Thomas ‘Tommy’ Ballantine เพราะตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง เลยต้องการลาออกจากทหารไปแต่งงาน แต่กลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดทั้งสอง ใช้กลยุทธ์โน้มน้าวหน่วงเหนี่ยว เมื่อเพื่อนคนหนึ่งตกอยู่ในสถานการณ์คับขันเป็นตาย มีหรือจะแล้งน้ำใจปฏิเสธไม่ยอมไปช่วย เพราะครั้งนี้อาจเป็นภารกิจสุดท้ายแล้วจริงๆของพวกเขา

เหตุที่ผู้กำกับ Hawks เล็ง Fairbanks Jr. สำหรับบท Cutter เพราะเป็นตัวละครมีความโลดโผน ใช้พละกำลังร่างกายค่อนข้างมาก สามารถใช้นามสกุล Fairbanks ขายออกได้ แต่เมื่อโยนหัวก้อยแพ้ต่อ Grant เลยเป็นความโชคร้ายที่ทำให้เขามิได้แจ้งเกิดในวงการสำเร็จสักที แถมบทบาทของ Tommy ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนอกจากความหล่อเหลา แถมคอยเป็นลูกล่อลูกชน ให้เพื่อนรักจูงจมูกเดินเสียมากกว่า

Sam Jaffe (1891 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York ครอบครัวเป็นชาว Jews อพยพมาจาก Russia วัยเด็กอาศัยอยู่ที่ Greenwish Village อพาร์ทเม้นท์เดียวกับเด็กชาย John Huston ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท แถมยังเคยร่วมงานส่งให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Asphalt Jungle (1950), ช่วงทศวรรษ 50s ถูก Blacklist จากการเข้าร่วมพรรค Communist แต่กลับยังมีผลงานอมตะอย่าง The Day the Earth Stood Still (1951), Ben-Hur (1959) ฯ

รับบท Gunga Din คนรับใช้ที่มีความเพ้อฝัน อยากเป็นทหารสวมเครื่องแบบ สามารถตะเบะผู้บังคับบัญชาของตนเองได้ แต่คงเพราะความผิดปกติทางร่างกายอะไรสักอย่าง ทำให้เป็นได้เพียงคนแบกน้ำ (Water-Bearer, ภาษาฮินดีคือ Bhishti) มีความชื่นชอบน้ำใจของ Sgt. Archibald Cutter ให้การช่วยเหลือ และยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น

เดิมนั้นตัวละครนี้วางไว้ให้ Sabu Dastagir นักแสดงหนุ่มน้อยสัญชาติอินเดียที่โด่งดังจากสารคดี Elephant Boy (1937) เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาปักหลักเป็นนักแสดงที่ประเทศอังกฤษ น่าจะคิวไม่ว่างเพราะกำลังถ่ายทำ The Thief of Bagdad (1940) บทจึงมาตกเป็นของ Sam Jaffe, มีนักข่าวสัมภาษณ์ถาม แสดงบทบาทนี้อย่างไรถึงได้สมจริงเหลือเกิน คำตอบของ Jaffe คือ ‘นึกถึง Sabu ไว้ในใจ’

การแสดงของ Jaffe โดดเด่นเกินหน้าเกินตาสามทหารเสืออีกนะ ดูทึ่มๆทื่อๆ ป่ำๆเป๋อๆ รูปร่าง ท่าทางการเดินก็ไม่ค่อยสมประกอบสักเท่าไหร่ (เป็นการบอกว่าตัวละครนี้เหมือนจะมีความผิดปกติบางอย่างถึงไม่ได้เป็นทหาร) เห็นตัวละครนี้ชวนให้นึกถึง John Turturro ขึ้นมาเลยละ

Eduardo Ciannelli (1888 – 1969) นักแสดง นักร้องโอเปร่าสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ที่ Ischia เรียน University of Naples ตั้งใจเป็นหมอผ่าตัด แต่ด้วยความชื่นชอบโอเปร่าและการแสดง ตัดสินใจเปลี่ยนไปเป็นนักร้อง Baritone ออกแสดงทัวร์ทั่วยุโรป รวมถึงอเมริกา ประสบความสำเร็จใน Broadways (เคยคว้า Tony Award: Best Featured Actor) สำหรับภาพยนตร์มีชื่อเสียงจาก Marked Woman (1937), Gunga Din (1939), Strange Cargo (1940), Foreign Correspondent (1940), The Chase (1966) ฯ

รับบท Guru ผู้นำกลุ่มอินเดียหัวรุนแรง Thuggee รวมรวบสมัครพรรคพวก ฝึกซ้อมสอนการต่อสู้จนเชี่ยวชำนาญ เป้าหมายเพื่อกำจัดขับไล่ทหารอังกฤษออกจากประเทศอินเดีย

ให้ตายเถอะ เอานักแสดงอิตาเลี่ยนมารับบทตัวละครสัญชาติอินเดียน โบะผิวให้เข้ม (หลายคนอาจแยกไม่ออก เพราะหนังถ่ายภาพขาว-ดำ) แต่สิ่งเลวร้ายที่สุดของตัวละครนี้ คือมีลักษณะคล้ายกับ Mahatma Gandhi (ที่ไม่ใส่แว่น) คำพูดจาหลักแหลมคมคาย ความคิดอ่านเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ พร้อมเสียสละตัวเองเพื่ออุดมการณ์ของชาติ ตรงกันข้ามแค่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา กับชาวอินเดียที่สังเกตจุดนี้ออก เชื่อว่าคงหัวเสียฉุนขาดอย่างแน่นอน ทั้งๆที่มันเป็น Screwball Comedy ก็ตามเถอะ

“You seem to think warfare an English invention. Have you never heard of Chandragupta Maurya? He slaughtered all the armies left in India by Alexander the Great. India was a mighty nation then while Englishmen still dwelt in caves and painted themselves blue.”

เกร็ด: พระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ (Chandragupta Maurya) ประวัติความเป็นมาไม่แน่ชัด รู้ว่าเป็นศิษย์เอกของพราหมณ์ชื่อจาณักยะ ได้ทำการยุยงให้ยึดอำนาจจากราชวงศ์นันทาและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตรย์ แต่จนแล้วจนรอดก็มิอาจตีเมืองปาตลีบุตรแตกเสียที, ครั้งเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้าตีอาณาจักรเปอร์เซียสำเร็จแล้ว ยกทัพข้ามเขาฮินดูกูฏถึงทางเหนือของอินเดีย ยึดครองเมืองตักสิลาและแคว้นปัญจาปได้ ก็เดินทัพเรื่อยมาจนถึงลุ่มน้ำสินธุ หมายเข้าตีเมืองปาตลีบุตร พอจันทรคุปต์ได้ข่าวก็รีบเข้าไปเจรจาต่อรองให้ช่วยตี แต่มิรู้ผิดใจกันท่าไหนถูกจับขังคุกแต่ก็หนีเอาตัวรอดออกมาได้ ส่วนกองทัพมาซีโดเนียจำใจต้องเดินทางกลับ เพราะเหล่าทหารหาญเริ่มแข็งข้อขัดขืน ปฏิเสธจะย่างเท้าก้าวเดินทางต่อ จันทรคุปต์จึงฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีเก็บตกเมืองเล็กเมืองน้อยที่อเล็กซานเดอร์เคยได้ไว้ในการครอบครอง แล้วค่อยหวนกลับมาตีเมืองปาตลีบุตรแตกสำเร็จ สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ (หรือเมารยะ) ครองราชย์ปี พ.ศ. ๒๒๑ – พ.ศ. ๒๔๕

เกร็ด 2: พระเจ้าจันทรคุปตเมารยะมีศักดิ์เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าพินทุสาร และพระอัยกา (ปู่) ของพระเจ้าอโศกมหาราช

ถ่ายภาพโดย Joseph H. August (1890 – 1947) ตากล้องสัญชาติอเมริกา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง American Society of Cinematographers (ASC) เมื่อปี 1919 เจ้าตัวมีผลงานถ่ายภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบปี 1916 ผลงานเด่นๆอาทิ Two Arabian Knights (1928), Up the River (1930), Gunga Din (1939), The Hunchback of Notre Dame (1939), Portrait of Jennie (1948) ฯ

สถานที่ถ่ายทำคือ Alabama Hills, Mount Whitney อยู่บริเวณ Inyo County, California ไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำไกลถึงอินเดียนะครับ, ส่วนฉากภายในถ่ายทำใน Sound Stage ของสตูดิโอ RKO

ภาพถ่ายขาว-ดำ ของหนังเรื่องนี้มีความสวยงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทิวทัศน์ธรรมชาติกว้างใหญ่ไพศาล เห็นเทือกเขาตระหง่านไกลลิบลับ เรียกว่าระดับ Epic โคตรอลังการเลยก็ว่าได้ ซึ่งว่าไปก็มีความคล้ายคลึงทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ที่ใกล้กับเทือกเขาหิมาลัยอยู่มากทีเดียว

สิ่งที่ผมประทับใจสุดของหนังคือ การจัดกระบวนทัพทหารและยาตราสวนสนาม กล้องมักถ่ายภาพจากมุมสูงทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด (ตัวประกอบกว่า 600 คน) นักแสดงขี่ควบม้าเรียงหน้ากระดานรี่เข้ามา มีการจัดวางตำแหน่ง คำนวณระยะภาพได้อย่างลงตัวพอดิบพอดี

ตัดต่อโดย Henry Berman สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอย่าง Swing Time (1936), A Damsel in Distress (1937), Grand Prix (1966), ซีรีย์ The Man from U.N.C.L.E. (1964) ฯ

ถึงหนังจะชื่อ Gunga Din แต่ดำเนินเรื่องในมุมมองของสามทหารเสือ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในสายตาของ Archibald Cutter เจ้านายที่มิได้รังเกียจเดียดฉันท์ ซ้ำยังส่งเสริมสนับสนุน (แม้จะดูเหมือนทีเล่นทีจริงก็ตามเถอะ)

เพลงประกอบโดย Alfred Newman, บทเพลงสร้างสีสันให้หนังค่อนข้างมากทีเดียว แม้จะไม่ค่อยออกอินเดียสักเท่าไหร่ แต่กลิ่นอายผจญภัยกับ Screwball จัดเต็มไปเลย

ผมประทับใจบทเพลงตอนจบของหนังมากๆ หวนนึกถึง It’s a Wonderful Life (1946) ขึ้นมาทันที ที่มีการเลือกใช้ Aung Lang Syne (สามัคคีชุมนุม) บทเพลงสำหรับการจากลาแต่ไม่ใช่ลาจาก เพราะคนอย่าง Gunga Din ถึงแม้จะเสียชีวิตจากไปแล้ว แต่การกระทำของเขา จักสถิตย์อยู่ในใจผู้คนตราบชั่วนิจนิรันดร์

คุณค่าของคนวัดกันที่อะไร? คนสมัยก่อนคงนิยมตอบกัน คือ ฐานะ ชนชั้นทางสังคม และชาติกำเนิดวงศ์ตระกูล แต่เชื่อว่าคนสมัยนี้น่าจะมีความคิดเฉลียวฉลาดมากพอที่จะบอกว่าได้ว่า นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง ‘การกระทำเพื่อผู้อื่น’ นั่นอาจเป็นคำตอบหนึ่ง แต่ที่ผมคิดว่าถูกต้องที่สุดคือ ‘ความดีชั่วที่อยู่ในจิตใจ’

คำพูด/การกระทำ ถือเป็นสิ่งง่ายสุดที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นและใช้ตัดสินคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ แต่อย่าลืมว่าทั้งสองสิ่งนี้สามารถที่จะแอบอ้าง กระทำไม่ตรงกับคำพูดความคิดก็ยังได้ คนที่ทั้งโลกมองว่าเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงการแอบอ้างสร้างภาพฉาบหน้า เนื้อในกลับเหมือนดั่งอสรพิษโหดโฉดชั่วร้าย หวังแต่ผลประโยชน์ความสุขของตนเองหน่ายเดียว

สำหรับ ‘ความดีชั่วที่อยู่ในจิตใจ’ นี่เป็นสิ่งคนทั่วไปมิอาจมองเห็น ประเมินค่า หาข้อสรุปได้ (เว้นแต่ตัวของเขาเองจะเป็นผู้ตัดสิน) แต่ใช่จะไม่มีวิธีการท้าพิสูจน์ แค่มันอาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนหัว’วิทยาศาสตร์’เสียเท่าไหร่ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่จะแอบอ้างสร้างภาพฉาบหน้ากันได้โดยง่าย, ลองสังเกตคนอย่าง Gunga Din ทำไมผู้ชมถึงสามารถรับรู้จิตใจอันบริสุทธิ์ดีงามของชายคนนี้? เพราะเราไม่ได้ใช้ตามองทำความเข้าใจการกระทำ แต่ใช้จิตใจมองเห็นสิ่งที่เขาแสดงออก สัมผัสได้ว่ามาจากภายในตัวตนแท้จริงของชายคนนี้

‘ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน’ การเสียสละของ Gunga Din แลกมาด้วยชีวิต แต่สามารถทำให้ทหารอังกฤษจากที่กำลังจะเสียเปรียบพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน เปลี่ยนเป็นได้รับชัยชนะเหนือกลุ่มอินเดียหัวรุนแรง Thuggee นี่ถือเป็นผลงานอันใหญ่ยิ่ง สะท้อนถึงคุณค่าที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ทุกคนสามารถมีความกล้ากระทำการนี้ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ชายคนนี้ได้รับการยกย่องพูดถึง น่าจะเหนือกาลเวลาไปแล้ว

“You’re a better man than I am, Gunga Din!”

ประโยคสุดท้ายของหนัง นำจากกวีท่อนสุดท้ายของ Rudyard Kipling คือการยกย่องสรรเสริญบุคคลผู้เสียสละตนเองเพื่อส่วนรวมและสังคม ว่ามีคุณค่ายิ่งใหญ่เหนือกว่าตนเอง (แต่สมัยนี้มันคงฟังดูเหมือนการประชดประชันยังไงชอบกล)

แต่มันหาใช่การกระทำหรือผลลัพท์ ที่ทำให้ Gunga Din กลายเป็นสัญลักษณ์เหนือกาลเวลา แต่คือจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี และการเสียสละเพื่อผู้อื่น สามารถเป็นแบบอย่างข้อคิด คติสอนใจให้กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย ทุกยุคทุกสมัย ตราบเท่าที่ยังมีคนรู้จักเรื่องเล่าของชายคนนี้

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $1.915 ล้านเหรียญ (สูงสุดของสตูดิโอ RKO ขณะนั้น) เกินจากที่ตั้งไว้ตอนแรกกว่าห้าแสนเหรียญ (นั่นเพราะหนังถ่ายทำเพิ่มฉากสงครามช่วงท้าย) ออกฉายทำเงินได้ $2.8 ล้านเหรียญ ถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียว แต่ขาดทุนประมาณ $193,000 เหรียญ, เข้าชิง Oscar สาขา Best Cinematography, Black-and-White พ่ายให้กับ Wuthering Heights (1939)

ส่วนตัวมองว่าหนังค่อนข้างล้มเหลวใน Screwball Comedy คือไม่ค่อยตลกขบขันเสียเท่าไหร่ แต่การถ่ายภาพ ความอลังการของการสู้รบ และเรื่องราวของ Gunga Din ที่ค่อนข้างกินใจ กลบเกลื่อนความฝาดเฝือนได้หมด มอบรสสัมผัสของความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และแฝงสาระคุณค่าความเป็นมนุษย์

แนะนำกับคอหนัง Screwball Comedy, ชื่นชอบการผจญภัยต่อสู้ มีความอลังการคลาสสิก, พื้นหลังประเทศอินเดีย ความเชื่อในพระแม่กาลี, แฟนๆผู้กำกับ George Stevens นักแสดงนำอย่าง Cary Grant, Victor McLaglen, Sam Jaffe และโผล่มาแวบๆกับ Joan Fontaine ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg สำหรับฉากสงครามและความตาย แต่เด็กๆดูได้เพลิดเพลินแฝงสาระ

TAGLINE | “Gunga Din เรื่องราวของการต่อสู้ผจญภัยที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และแฝงสาระคุณค่าความเป็นมนุษย์”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: