Hacksaw Ridge

Hacksaw Ridge (2016) hollywood : Mel Gibson ♥♥♥♥

Desmond Doss วีรบุรุษจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ไม่เคยจับปืนฆ่าคน แต่สามารถช่วยชีวิตเพื่อนทหารจนได้รับเหรียญกล้าหาญขั้นสูงสุด (Medal of Honor) ในยุทธการ Battle of Okinawa, Mel Gibson กลับมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบสิบปี นำเสนอสงคราม ความรุนแรง และศรัทธาพระเจ้า นำแสดงโดย Andrew Garfield เข้าชิง Oscar 6 สาขา

ว่าไปหนังแนวสงครามในศตวรรษนี้ มีชะตากรรมไม่ต่างจากหนังเพลง คือไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่แล้ว แต่ก็ยังมีผู้สร้าง/ผู้กำกับ หลายคนที่ขยันสร้างหนังแนวนี้ออกมาปีละ 2-3 เรื่องไม่ขาดสาย, คงเพราะมนุษย์ขาดความขัดแย้งไม่ได้ หลายครั้งหลายสถานการณ์มันใกล้เต็มทีที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เหล่าผู้สร้างภาพยนตร์จึงพยายามออกมาย้ำเตือน  นำเสนอความเลวร้ายของการเกิดสงคราม ให้คนสมัยใหม่ตระหนักระลึกได้ ขออย่าให้มันเกิดขึ้นอีกเลย! แต่ผมเชื่อว่าสักวันยังไงมันก็ต้องเกิด และประเทศอเมริกาต้องเป็นจุดศูนย์กลางพายุลูกใหม่นี้แน่

ยุทธการโอะกินะวะ (Battle of Okinawa) หรือชื่อรหัส ปฏิบัติการภูเขาน้ำแข็ง (Operation Iceberg) เป็นการสู้รบระหว่างทหารอเมริกากับทหารญี่ปุ่น เข้ายึดเนินเขาสูงชัน 350 ฟุต Maeda Escarpment (หรือ Hacksaw Ridge) หมู่เกาะ Ryukyu จังหวัด Okinawa เพื่อเตรียมใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศสำหรับบุกโจมตีญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ (อยู่ห่างออกไปแค่ 340 ไมล์) ตอนสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่สอง กินเวลายาวนานถึง 82 วัน นับตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 22 มิถุนายน 1945

นี่เป็นปฏิบัติการรบสะเทินน้ำสะเทินบก ใช้กองทัพเรือโจมตีนำร่องตามด้วยกองทัพบก มีอีกชื่อเล่นเรียกของยุทธการนี้ว่าไต้ฝุ่นเหล็ก (Typhoon of Steel) ที่มาจากความโหดร้ายในการรบ กระสุนระเบิดปลิวว่อนไปทั่วอาณาบริเวณ เป็นการรบที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสูงที่สุดในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นสูญเสียทหารมากกว่า 100,000 นาย ฝ่ายสัมพันธมิตรมีทหารบาดเจ็บล้มตายมากกว่า 50,000 นาย และประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต บาดเจ็บ ฆ่าตัวตายมากกว่า 100,000 คน

ว่ากันตามตรง ผมไม่คิดว่ายุทธการโอะกินะวะมันจะมีอะไรยิ่งใหญ่น่ายกย่องเชิดชูเลยนะครับ ควรถือว่าเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ความอัปยศเลวร้ายของมนุษยชาติต่อการสงคราม ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากเพื่ออุดมการณ์ … อะไรไร้สาระก็ไม่รู้

ปัจจุบันกองทัพอากาศของอเมริกา ยังคงประจำการอยู่ที่โอะกินะวะ ตามคำร้องขอของรัฐบาลญี่ปุ่น (แถมจ่ายเงินเป็นค่าปกป้องประเทศให้ด้วย) นี่เพื่อถ่วงดุลเสถียรภาพทางทหาร ของประเทศจีน, เกาหลี และประเทศอื่นๆในผืนแผ่นดินเอเชีย

ถ้าไม่มีสงครามวีรบุรุษก็จะไม่เกิด ในความเลวร้ายของปฏิบัติการนี้ มีชายฝั่งอเมริกันคนหนึ่ง ผู้ไม่เคยฆ่าใครตายในสนามรบ หลบซ่อนตัวอยู่หลังการล่าถอยของฝ่ายพันธมิตร แอบช่วยเหลือพรรคพวกที่ได้รับบาดเจ็บถูกทิ้งไว้ให้นอนรอความตาย การกระทำของเขาได้รับการยกย่องด้วยเหรียญกล้าหาญขั้นสูงสุด (Medal of Honor) คนแรกและคนเดียวที่ต่อต้านความรุนแรง (Pacifist) แล้วได้รางวัลนี้

Desmond Thomas Doss (1919 – 2006) นายทหารหน่วยแพทย์ สังกัดกองทหารราบที่ 77 เข้าร่วมสู้รบในยุทธการโอะกินะวะ สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังได้รับยศสิบโท และเหรียญกล้าหาญขั้นสูงสุด รับมอบจากประธานาธิบดี Harry Truman เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1945

จริงอยู่ Desmond Doss เป็นบุคคลน่ายกย่องในความกล้าหาญและศรัทธาที่มั่นคง แต่การเข้าร่วมสงครามถึงไม่จับอาวุธ ก็ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการสงครามแล้ว ปากอ้างว่าต้องการสันติแต่เข้าร่วม มันคือการกระทำที่ขัดแย้งต่อคำพูดอย่างยิ่ง, นี่ถือเป็นอีกประเด็นความน่าสนใจ คนส่วนใหญ่คงมัวแต่ยกย่องเสียจนลืมตั้งคำถามกลับว่า การกระทำของชายคนนี้สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษหรือเปล่า?

มีความพยายามดัดแปลงเรื่องราวนี้เป็นภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2001 เมื่อโปรดิวเซอร์/นักเขียนบท Gregory Crosby ได้เกลี้ยกล่อม Desmond Doss จนสำเร็จ เขียน Treatment ส่งให้โปรดิวเซอร์ David Permut เพื่อจัดหาทุนสร้าง

ปี 2004 ผู้กำกับ Terry Benedict ได้รับสิทธิ์ในการสร้างสารคดีเรื่อง The Conscientious Objector (2004) มีการสัมภาษณ์ Desmond Doss และผู้เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนั้น (มีฟุตเทจบางส่วนปรากฎอยู่ช่วงท้ายของหนัง) แต่ยังไม่ทันมีโอกาสสร้างภาพยนตร์ Doss เสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 2006 เป็นเหตุให้โปรเจคถูกวางขึ้นหิ้งไร้ผู้สานต่อ

LINK: สารคดี The Conscientious Objector (2004) บน Youtube [Click]

โปรดิวเซอร์ Bill Mechanic ประมูลลิขสิทธิ์สร้างภาพยนตร์ได้ พยายามติดต่อ Mel Gibson ให้มากำกับหนังเรื่องนี้ เพราะชื่นชอบการนำเสนอความรุนแรงผสมผสานกับศรัทธาได้อย่างลงตัวใน The Passion of the Christ (2004) แต่ได้รับการปฏิเสธถึงสองครั้งสองครา (แบบเดียวกับที่เขาเคยปฏิเสธ Mechanic เมื่อตอน Braveheart-1995) จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ไม่รู้เพราะอะไร Gibson จึงได้ยอมตกลงเป็นผู้กำกับ

หลังเสร็จจาก Apocalypto (2006) Mel Gibson ก็แทบหายหน้าหายตาไปจากวงการ มีแต่ข่าวฉาวออกมาเรื่อยๆ อาทิ ติดเหล้า, ปากเสีย, มีเรื่องทะเลาะวิวาทจนติดคุก, เมาแล้วตบตีทำร้ายร่างกายภรรยา (เห็นว่า Gibson เป็น Manic Depressive/Bipolar Disorder คือเมาแล้วนิสัยเปลี่ยน) จนในที่สุดหย่ากับภรรยา Robyn Moore ที่อยู่ด้วยกันกว่า 30 ปี ตัวเขาถูก blacklist จากหลายๆสตูดิโอใน hollywood ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย, แต่ผู้กำกับ George Miller ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ Mad Max สมัยยังหนุ่มๆ บอกว่าถ้าคุณรู้จักตัวจริงของ Gibson จะรู้ว่าเป็นคนที่น่ารักมากๆ เพียงแต่ชื่อเสียงความสำเร็จมันทำให้เขาอึดอัดจนระเบิดออกมา

ก็หวังว่า Mel Gibson จะยังสามารถอดทน ปรับตัวเข้ากับโลกสมัยนี้ได้นะครับ ผมว่าเขาคือสุดยอดนักแสดง/ผู้กำกับ ที่มีวิสัยทัศน์มากฝีมือคนหนึ่ง ยังคงอยากเห็นผลงานต่อไปอยู่เรื่อยๆ (ปี 2016 เพิ่งจะอายุ 60 เอง ยังทำอะไรได้อีกเยอะ)

เกร็ด: Mel Gibson คือชายคนแรกที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็น Sexiest Man Alive ของนิตยสาร People เมื่อปี 1985

นำแสดงโดย Andrew Garfield หนุ่มหน้าเด็กสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Lions for Lambs (2007) ก่อนเป็นที่รู้จักจาก The Social Network (2010) และกลายเป็น Peter Parker ในทวิภาค The Amazing Spider-Man, ปี 2012 ได้แสดงนำละคร Broadway เรื่อง Death of a Salesman ได้เข้าชิง Tony Award: Best Actor ในปี 2016 มีหนังถึงสองเรื่องติดที่ได้รับบทลักษณะคล้ายๆกัน คือ Hacksaw Ridge กับ Silence (2016)

รับบท Desmond T. Doss ชายหนุ่มผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์/ศรัทธา (สองอย่างนี้ต่างกันนิดเดียว คือ ศรัทธาจะเชื่อในบางสิ่งอย่าง ส่วนอุดมการณ์คือเชื่อในตนเอง) ตอนเป็นเด็กหัวรุนแรง ชื่นชอบการต่อสู้ทะเลาะวิวาท แต่ครั้งหนึ่งที่ทำให้พี่ชายเกือบตาย จึงรู้สำนึกและพอเห็นบทบัญญัติข้อที่ 6 ‘ห้ามฆ่าคน’ (ไม่แน่ใจจากพระคำภีร์ไหน เพราะบางเล่มบัญญัตินี้คือข้อ 5 ไม่ก็ข้อ 7) จดจำฝังใจ ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระเจ้า, ส่วนเหตุผลของการไม่จับปืนนั้นเป็นอีกปมประเด็นหนึ่ง ผมไม่ขอพูดถึงแล้วกันจะได้ไม่เป็นการสปอยหนังมากเกินไป

การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามของ Doss สร้างความอลม่านให้กับบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ครอบครัว แฟนสาว เพื่อนทหารร่วมรุ่น ผู้ฝึก รวมถึงผู้บัญชาการ ต่างไม่มีใครยอมรับในอุดมการณ์/ศรัทธาของเขา มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ เพราะในสงครามถ้าพระเจ้าอยู่ที่นั่นจริง คงไม่นำพาผู้คนให้มาเข่นฆ่ากันตายเป็นเบือแบบนี้, แต่เหตุผลที่ Doss อดทนอดกลั้นต่อมารที่ขัดขวางอุดมการณ์ของเขา เหมือนเพราะต้องการพิสูจน์ตัวเอง ในสถานการณ์เช่นนั้นจะยังคงเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นคง กลับมาแล้วไม่กลายเป็นแบบพ่อของตนได้หรือเปล่า

การแสดงของ Garfield ไม่น่าเชื่อสามารถแบกหนังทั้งเรื่องได้ ภายนอกดูเจี๋ยมเจี้ยมบอบบางอ่อนแอ แต่ภายในกลับเข้มแข็งหนักแน่นทั้งร่างกายและจิตใจ, Garfield มีสืบเชื้อสาย Jews จากพ่อ เติบโตขึ้นในสังคมที่เคร่งครัดศาสนา ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทสนม เข้าใจความหมายของศรัทธาความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นอย่างดี (นามสกุลเดิมของเขาคือ Garfinkel) เหตุนี้กระมังที่ทำให้บทบาทเกี่ยวกับตัวละครที่ตั้งคำถามเรื่องศรัทธา ผู้ชมจะสามารถสัมผัสได้ถึงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าสุดใจของเขา, นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึง Claude Laydu นักแสดงนำจากหนังเรื่อง Diary of a Country Priest (1951) ผู้ได้รับการยกย่องว่า ‘เป็นคนที่สมควรไปสวรรค์ที่สุด’ ถ้า Garfield สามารถรักษาภาพลักษณ์ของตนเองนี้ไว้ได้จนแก่ตาย ไม่แน่อาจกลายเป็นอีกคนที่ชาวคริสต์ยกย่องว่า สมควรไปสวรรค์มากที่สุด

แซว: Garfield เคยให้สัมภาษณ์ประมาณว่า ‘I found the idea of playing a real superhero much more inspiring.’ นี่เพราะเขาเคยรับบท Superhero เป็น Spider-Man มาก่อน แล้วรู้สึกเทียบไม่ได้เลยกับฮีโร่ตัวจริงของหนังเรื่องนี้

Teresa Palmer นักแสดงสาวชาว Australian ที่มีผลงานใน hollywood อยู่เรื่อยๆ พอจะชื่อเสียง (แต่ผมกลับไม่รู้จักมาก่อน) อาทิ The Sorcerer’s Apprentice (2010), Warm Bodies (2013), Point Break (2015) ฯ รับบท Dorothy Schutte ภรรยาของ Doss จริงๆตัวละครนี้ไม่มีอะไรน่าพูดถึงเท่าไหร่ แต่ผมประทับใจในศรัทธาของเธอ ไม่ใช่แค่กับพระเจ้าแต่รวมถึง Doss คนอย่างเขานี่หนึ่งในล้าน รักจริงมั่นคงไม่มีวันแปรเปลี่ยน หญิงสาวที่พบเจอแล้วไม่รีบไขว่คว้าเอาไว้ถือว่าโง่บรม

(แต่ชีวิตจริง หลัง Dorothy เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ Doss ก็แต่งงานใหม่นะครับ)

Hugo Weaving นักแสดงสัญชาติ British-Australian มีผลงานดังจาก The Matrix Trilogy และ Lord of the Ring Trilogy ถือเป็นนักแสดงยอดฝีมือที่มักได้บทเป็นตัวร้าย/พระรอง ไม่ค่อยเห็นรับบทนำ และยังไม่เคยมีชื่อเข้าชิงรางวัลจากสถาบันใดๆของอเมริกาเลย

รับบท Tom Doss พ่อของ Desmond ที่เป็นโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ, ปมของตัวละครนี้คือ กลับจากสงครามแล้วไม่สามารถลืมภาพสนามรบ การตายของเพื่อนสนิทคนรู้จักที่จากไปต่อหน้าต่อตา วิธีการหลีกหนีความเครียดของเขาคือกินเหล้าให้เมามายไร้สติ จนบุคลิกนิสัยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ถ้าฉันตายตั้งแต่ตอนนั้นในสนามรบ คงไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้

การแสดงของ Weaving ถือว่าล้ำลึก สมจริง ไม่รู้เขาเพิ่มน้ำหนักเองหรือใช้การแต่งหน้าแต่งตัวเข้าช่วย แต่ภาพลักษณ์นี้เหมือนมากๆ ชายสูงวัยกร้านโลกที่อยากตายเต็มแก่ เบื่อโลก ใช้ชีวิตไปวันๆ อยากฆ่าตัวตายยังใจไม่กล้า (คงกลัวบาป) เห็นการแสดงนี้แล้ว ผมรู้สึกสงสารมากกว่าสมเพศเวทนา

อะไรมันจะเหมือนกันขนาดนี้ ผู้กำกับ Mel Gibson กับตัวละคร Tom Doss นึกว่าเอาชีวิตจริงของผู้กำกับใส่ลงไป กินเหล้าแล้วนิสัยเปลี่ยน ทะเลาะวิวาท ทุบตีภรรยา ฯ นี่กระมังคืออีกเหตุผลหนึ่งที่ Gibson ตัดสินใจกำกับเรื่องนี้ เพราะเขาอยากบอกว่า Tom Doss ถึงจะดูไม่มีอะไรดี แต่เขาก็ยังมีบางสิ่งอย่าง รักลูกรักครอบครัว ไม่แน่ว่าหลังจาก Doss กลับจากสงคราม ตัวเขาอาจกลับตัวเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้

นักแสดงสมทบอื่นๆ
– Vince Vaughn รับบท Sergeant Howell, ผมไม่สามารถลบภาพตลกหน้าตายของ Vaughn ได้เลยนะครับ คือเห็นเขาตะโกนโหวกเหวก ทำหน้าเครียดจริงจังแล้วรู้สึกขบขันโดยทันที (นี่อาจเป็นความตั้งใจของ Gibson ที่อยากให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลายความเครียดลงบ้างเมื่อเห็นตัวละครนี้)
– Sam Worthington รับบท Captain Jack Glover ผู้บัญชาการของ Doss ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของเขา และพยายามหาทางกำจัดให้พ้นสายตา, ไม่คิดว่า Worthington จะมีอะไร Worth ให้กล่าวถึงนะครับ เป็นนักแสดงที่น่าจะโด่งดังกว่านี้ แต่ไม่รู้เพราะอะไร เรื่องมาก? ไม่ค่อยได้โอกาส? หรือภาพลักษณ์มีข้อจำกัดเกินไป? สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือ ใบหน้าของ Worthington ดูไม่ค่อยยี่หร่ากับอะไรเท่าไหร่ (แข็งทื่อ มีบุคลิกเดียว)
– Luke Bracey รับบท Smitty Riker เพื่อนทหารร่วมรุ่นที่ตอนแรกเกลียดขี้หน้า Doss เข้าไส้ (เป็นคู่แข่งที่ฝีมือพอๆกัน) แต่พอได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในสงคราม ทำให้เขายอมรับ Doss จนกลายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดและเพื่อนตาย

ถ่ายทำโดย Simon Duggan ตากล้องชาว New Zealand มีผลงานส่วนใหญ่เป็นหนัง Blockbuster อาทิ I, Robot (2004), Live Free or Die Hard (2007), The Great Gatsby (2013), Warcraft (2016) ฯ

หนังถ่ายทำที่ Australia เป็นหลัก (เพราะเป็นช่วงการลดภาษีให้กับภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศ) จริงๆ Gibson เกิดที่ New York แต่พ่อแม่อพยพครอบครัวมาอยู่ Sydney ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ก็ปักหลักอยู่ที่นั่นเลยจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีความคุ้นเคยกับประเทศเป็นอย่างดี ทีมงานหลายๆคนของหนังก็เป็นชาว Australia/New Zealand นะครับ (เรียกว่า ใช้บริการคนท้องถิ่น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ)

งานภาพของหนัง แบ่งออกได้เป็นสองส่วน
– ครึ่งแรก ที่บ้าน/เตรียมตัวไปสู้รบ ที่นี่เปรียบได้กับ Paradise สรวงสวรรค์ราวกับความฝัน มีแสงสว่างจ้า ให้สัมผัสที่อบอุ่นผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวจะช้าๆไม่เร่งรีบร้อน และมีเรื่องราว Romantic
– ครึ่งหลัง ช่วงสงคราม ที่นี่คือโลกความจริงที่โหดร้าย แสงสีเข้มขึ้น (นิดนึง) ให้สัมผัสที่จริงจัง เยือกเย็น หดหู่ การเคลื่อนไหวจะรวดเร็วฉับไว (ตัดต่อเร็วมาก) และมีเรื่องราว Tragic

ถึงสเกลหนังสงครามจะมีขนาดใหญ่ แต่หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 59 วัน (ฉากสงครามใช้เวลาถ่ายทำเพียง 19 วันเท่านั้น) นั่นเพราะทุกอย่างของหนังมีการใส่’กรอบ’ วางแผนไว้ทุกๆช็อตเป็นอย่างดีแล้ว อะไรๆจึงสามารถถ่ายทำเสร็จได้อย่างรวดเร็ว, ลองสังเกตในฉากสงคราม งานภาพส่วนใหญ่จะเป็นระยะใกล้ Medium-Long Shot มีนักแสดง/ตัวประกอบอยู่ในแต่ละช็อตจำนวนไม่มาก (ส่วนใหญ่เป็นภาพตัวประกอบโดนยิง หัวกระจุย แขนขาขาด) พื้นหลังตลบอบอวลไปด้วยฝุ่นควันระเบิด มองอะไรไกลๆแทบไม่เห็น นี่คือการใส่กรอบที่ผมบอกไป คือเราจะเห็นภาพเฉพาะในมุมจำกัดที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอเท่านั้น นี่ทำให้การถ่ายทำดำเนินไปอย่างรวดเร็ว (เพราะถ่ายช็อตหนึ่งเสร็จก็ไปต่อเลย ไม่ต้องรอคิวนักแสดงให้ครบหรือเตรียมการอะไรนานๆ)

เหตุที่หนังต้องใช้ความสมจริงในประเด็นต่อต้านสงคราม เพราะคนสมัยนี้ภูมิต้านทานทางอารมณ์สูงมาก มันไม่ได้เหมือนสมัยก่อนที่ All Quiet on the Western Front (1930) หนังสงครามไม่ต้องมีฉากรบที่ยิ่งใหญ่ แต่สัมผัสได้ถึงความน่ากลัวขนลุกขนพอง หรือ Psycho (1960) ที่ไม่เห็นการแทง แต่ผู้ชมกรี๊ดสลบ ฯ กับหนังสมัยนี้ ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมได้ ก็จะไม่มีทางรับรู้ ตระหนักถึงพิษเภทภัยของการสงคราม และความหวาดกลัวที่ต้องเสียดแทงฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ถึงจะสามารถทำให้จดจำ รำลึกขอให้มันอย่าเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นอีกเลย

ตัดต่อโดย John Gilbert ชาว New Zealand ที่เป็นคนตัดต่อ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001) [เฉพาะภาคแรกภาคเดียว] นอกจากนี้ยังมีผลงานที่พอมีชื่อเสียงอย่าง อาทิ The World’s Fastest Indian (2005), Bridge to Terabithia (2007), The Bank Job (2008) ฯ

การตัดต่อถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลย ในฉากสงครามมีความรวดเร็วฉับไวอย่างบ้าคลั่ง เพราะการถ่ายภาพที่จัดอยู่ในกรอบ เมื่อเกิดการระเบิด/หัวกระจุย/แขนขาด มันต้องเร็วที่สุดที่จะไม่ทำให้ผู้ชมเห็นแล้วแสดงอาการแหวะอยากอ๊วกออกมา ซึ่งในเสี้ยววินาทีนั้น ยังไม่ทันที่สมองยังรับรู้อะไร ภาพที่เห็นก็จะเปลี่ยนไปแล้ว, ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 วินาทีต่อช็อต เร็วกว่าการกระพริบตา ไม่เช่นนั้นผู้ชมขยะแขยงคลั่งตายแน่ๆถ้าเห็นอะไรเน่าๆเฟะๆเละๆพวกนี้นานๆ

แต่ไม่ใช่แค่ความเร็วเท่านั้น มีหลายจังหวะที่หนังใช้การสโลโมชั่น ในช่วงเวลาที่พระเอกต้องการจดจำ ระลึกภาพเหตุการณ์นั้นติดตาไว้ให้นานที่สุด เมื่อนั้นหนังจะใช้การสโลโมชั่น พบเห็นบ่อยในช่วงครึ่งแรกของหนัง (ระหว่างจีบสาว), นี่แสดงว่าช่วงการตัดต่อเร็วๆแบบครึ่งหลัง หมายถึง สิ่งที่ไม่อยากจดจำ ต้องการให้มันผ่านไปเร็วๆ

การผสมเสียง (Mixed Sound) คงต้องพูดถึงสักหน่อย เพราะมันกระหึ่มได้ทรงพลังมาก ถ้ามีโอกาสรับชมในโรงภาพยนตร์ที่เครื่องเสียงดีๆ หรือใน IMAX แนะนำเลยนะครับ จะสัมผัสได้ถึงความสั่นสะเทือน ยิ่งการถ่ายภาพระยะใกล้ ช็อตที่มีระเบิดก็จะใกล้ตัวมากๆ, ความสมจริงของเสียงที่ได้ยิน ราวกับว่าเรากำลังวิ่งอยู่ในสมรภูมิรบ สองข้างทางมีแต่เสียงปืน/ระเบิดอยู่รอบด้าน, ผมเกิดอาการจุกแน่นอกในฉากสงคราม เพราะมันเต็มหูเต็มตาเต็มจอภาพยนตร์ ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นในระยะการมองเห็นของเรา อย่างช็อตการยิงปืนใหญ่นำร่อง (จากเรือ) ภาพระเบิดปูพรมมันกินพื้นที่เต็มสองตา และเสียงระเบิดก็เต็มสองรูหู

หนังสงคราม อยากให้ได้สมจริงต้องโรงภาพยนตร์เท่านั้น!

เพลงประกอบโดย Rupert Gregson-Williams น้องชายของ Harry Gregson-Williams, มีผลงานอย่าง Hotel Rwanda (2004), Over the Hedge (2006), เป็นขาประจำหนังของ Adam Sandler อาทิ Click (2006), You Don’t Mess with the Zohan (2008), Grown Ups (2010) ฯ ว่าไปผลงานสู้พี่ไม่ได้เลยนะ

ใช้วงออเครสต้าจัดเต็มด้วยนักดนตรี 70 คน นักร้อง Choir อีก 36 คน จากปริมาณก็รู้สึกได้ว่ามีความอลังการ แต่… มีใครจดจำเพลงประกอบของหนังได้ไหมเอ่ย? ผมระลึกได้แต่เสียงปืนกับระเบิดตูมตาม เลยต้องค้นหาเพลงประกอบมานั่งฟัง ถึงค่อยพบว่ามีความไพเราะยิ่งใหญ่อลังการ

นำ Main Theme ของหนังมาให้ฟัง ชื่อเพลง Okinawa Battlefield ให้สัมผัสหลอกหลอนแต่มีความสวยงาม (Haunting, but beautiful.) ภายนอกสงบนิ่งแต่ภายในสุดอลม่าน (Intense, but calm.) หดหู่เศร้าหมองแต่แฝงด้วยความหวัง (Somber, but hopeful.) กลิ่นอายคล้ายๆ Lord of the Ring ยังไงชอบกล

ว่าไปบทเพลงของหนังให้ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คือสัมผัสถึงการมีตัวตนพระเจ้า ด้วยเสียงวิโอล่าหรือเปล่าไม่แน่ใจ (เสียงแหลมกว่าไวโอลิน) และเสียง Chorus ที่ต้องตั้งใจฟังเสียหน่อยถึงจะได้ยิน (คงสามารถเปรียบ Chorus ได้กับเสียงของพระเจ้า ที่ถ้าตั้งใจฟังถึงได้ยิน ถ้าไม่ก็เป็นเหมือนสายลมพัดผ่านไป)

ภาพรวมของเพลงประกอบ มีความไพเราะอลังการ แต่ไม่ค่อยน่าจดจำเสียเท่าไหร่ ช่วงครึ่งแรกของหนังจะพอได้ยินเข้าหูบ้าง สร้างบรรยากาศโรแมนติกให้คู่พระนางได้รักกัน ฟังแล้วเหมือนอยู่ในสรวงสวรรค์, ส่วนครึ่งหลัง ผมจับใจความไม่ได้เท่าไหร่ คือเสียงปืน/ระเบิด กลบหมด มีเพียง Intro ก่อนเริ่มต้นเข้าสู้รบที่สร้างความฮึกเหิม ลุ้นระทึกตื่นเต้น และหลังสงครามคงเหลือแต่ความหลอกหลอนจับใจ

ศรัทธา เปรียบได้กับ ความรัก, ศรัทธาในพระเจ้า รักในหญิงสาว, ยึดมั่นในศรัทธา มั่นคงในความรัก ฯ ครึ่งแรกกับครึ่งหลังของหนังไม่ได้สะท้อนอะไรกัน แต่มองได้คือการพิสูจน์ศรัทธาและความรัก

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการตั้งคำถามแล้วทำการท้าพิสูจน์ ไม่ใช่ประเด็นว่าพระเจ้ามีจริงไหม แต่คือมนุษย์สามารถยึดมั่น ธำรงรักษาศรัทธาในอุดมการณ์ของตนเองได้มากน้อยเพียงไหน โดยเฉพาะในสถานการณ์เป็นตาย จะพลีชีพเพื่ออุดมการณ์หรือรักษาชีวิตเพื่อตนเอง

เหตุการณ์ช่วงท้ายที่ Doss เตะระเบิด ผมมองว่านี่คือวินาทีที่เขาทำผิดศรัทธาของตัวเองโดยไม่รู้ตัว ปากบอกว่าไม่จับปืนฆ่าผู้อื่น แต่การกระทำนี้เพื่อปกป้องรักษาชีวิตตนเองและผู้อื่น ระเบิดลูกนั้นได้ย้อนกลับไปหาทหารญี่ปุ่นที่ขว้างมา เท่ากับเป็นการ’ฆ่า’โดยไม่จงใจ ซึ่งมันควรถือว่า’ผิด’ตามอุดมการณ์’ไม่ฆ่า’แท้ๆของ Doss, นี่เป็นประเด็นที่ผมขอตั้งคำถามไว้ให้ถกเถียงกันนะครับ ว่าการกระทำนี้ผิดต่อศรัทธาอุดมการณ์หรือเปล่า?

ย้อนกลับไปประเด็นที่ผมตั้งคำถามไว้ตอนต้น Desmond Doss สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษหรือเปล่า? ผมคิดว่าถ้าเขายึดมั่นในอุดมการณ์ ‘ไม่ฆ่าคน’ แบบถึงเนื้อแท้ วินาทีนี้ควรที่จะกระโดดเข้าไปเอาตัวกำบัง ยอมสละชีพเพื่อคนอื่น แต่เพราะว่าสันชาติญาณไม่ใช่คนประเภทนั้น นี่คือการประณีประณอม โดยถือว่าวินาทีนี้ชีวิตตัวเองสำคัญที่สุด

แล้วท่านละ คิดว่า Desmond Doss ทำผิดอุดมการณ์ของตนเองหรือเปล่า?

ด้วยทุนสร้าง $40 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลกไปแล้ว $164.1 ล้านเหรียญ ถือว่าใช้ได้ทีเดียว, เข้าชิง Oscar 6 สาขา ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Andrew Garfield)
– Best Edited
– Best Sound Mixing
– Best Sound Edited

เขียนขึ้นก่อนประกาศรางวัล Oscar: ดูแล้ว Hacksaw Ridge ไม่น่ามีลุ้นรางวัลอะไรนะครับ แต่ถือว่าก็ควรค่ากับที่ได้เข้าชิงหลายสาขา นอกจากถ้าโชคหล่นใส่ จะมีลุ้นในสาขา Sound Mixing และ Sound Edited เพราะหนังสงครามมักมีการผสมเสียงและตัดต่อเสียงที่มักได้รับการยอมรับว่า สมจริงทรงพลังกว่าหนังแนวอื่น

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในภาพความบ้าคลั่งของสงครามระดับเต็มพิกัด, ผมไม่ค่อยชอบส่วนโรแมนติก/ดราม่าของหนังเสียเท่าไหร่ แต่พอเริ่มสงครามก็สัมผัสได้ถึงความสมจริงอลังการ ระยะความใกล้ชิดของเสียงปืนระเบิด ราวกับกำลังวิ่งอยู่ในสนามรบจริงๆ หัวใจสั่นไหวเต้นระริกรัว เกิดความหวาดหวั่นวิตก กลัวว่าอาจโดนกระสุนลูกหลงยิงหัวกระจุยไม่รู้ตัว

แนะนำกับคอหนังสงคราม สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, ชื่นชอบฉากการรบอลังการ เลือดสาดไส้ทะลัก, ผู้มีศรัทธาเชื่อในพระเจ้า ลองตั้งคำถามการมีตัวตนของพระองค์ในการสงคราม, แฟนหนัง Mel Gibson, Andrew Garfield, Hugo Weaving ฯ ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 18+ กับระเบิด การตาย ไส้ทะลัก และความท้าทายศรัทธา

คำเตือนกับความรุนแรง: ไม่เหมาะกับเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนขวัญอ่อน

TAGLINE | “Hacksaw Ridge ของ Mel Gibson นำเสนอความบ้าคลั่งของสงคราม และท้าทายศรัทธาความเชื่อในพระเจ้า โดยมี Andrew Garfield เป็นตัวตายตัวแทน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: