Happy Together (1997) : Wong Kar-Wai ♥♥♥
สิ่งน่าสนใจที่สุดของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ความสัมพันธ์รักโรแมนติกขาดกันไม่ได้ของชายสองคน หรือการรำพันใกล้ถึงเวลาที่ Hong Kong จะกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่คือวิธีการที่ผู้กำกับ Wong Kar-Wai หลอกล่อ Tony Leung Chiu-Wai กับ Leslie Cheung ให้มาเล่นหนังเรื่องนี้ โดยพวกเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นหนังเกย์
คนส่วนใหญ่เวลานึกถึงภาพยนตร์ของ Wong Kar-Wai มักจะเรียกว่าเจ้าพ่อหนังเหงา (อารมณ์หว่อง) พระ-นาง มักต้องมีเรื่องให้พลัดพรากแยกจากไม่ได้อยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดอารมณ์โหยหา ใคร่คิดคำนึง หวนระลึกถึง มันก็ไม่ผิดอะไรจะมองหน้าหนังลักษณะนี้นะครับ แต่ในความตั้งใจจริงของผู้กำกับ ต้องการสะท้อนอารมณ์รำพันของตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกง จีน และอังกฤษ
กับหนังเรื่องนี้ ออกฉายปี 1997 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ฮ่องกง เพราะครบรอบ 99 ปีสัญญาครอบครองเกาะฮ่องกงของสหราชอาณาจักร ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 1997 โดยจะมีพิธีส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน วันถัดมา 1 กรกฎาคม 1997
หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนจะมีการทำสัญญา ฮ่องกงได้รับสิทธิ์ในฐานะ ‘เขตปกครองตนเอง’ เป็นระยะเวลา 50 ปี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสมบูรณ์, ซึ่งผู้กำกับ Wong Kar-Wai ได้เติมเต็มเรื่องราวนี้กับ 2046 (2004)
Wong Kar-Wai (เกิดปี 1958) ผู้กำกับสัญชาติ Hong Kong เกิดที่ Shanghai พออายุได้ 5 ขวบเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (Cultural Revolution) ครอบครัวตัดสินใจอพยพย้ายสู่เกาะ Hong Kong อาศัยอยู่บริเวณ Tsim Sha Tsui เพราะความที่พูดได้แต่ภาษา Mandarin ทำให้มีชีวิตวัยเด็กอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง
“The only hobby I had as a child was watching movies.”
สมัยเรียนมีความสนใจด้าน Graphic Designer จบออกมาทำงานที่สถานีโทรทัศน์ TVB ผันตัวเป็นคนเขียนบทจนเริ่มมีชื่อเสียง ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก As Tears Go By (1987) ค่อยๆพัฒนาสไตล์ของตนเองจนกลายเป็น Days of Being Wild (1990) โด่งดังกับ Chungking Express (1994), Happy Together (1997), และไฮไลท์ในอาชีพคือ In the Mood for Love (2000)
การทำงานของ Kar-Wai เป็นคนชื่นชอบแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ (improvise) ไม่เคยมีบทภาพยนตร์เสร็จสิ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มถ่ายทำ (แต่ก็มีไกด์ไลน์เล็กๆสำหรับหลอกล่อนักแสดงและผู้ให้ทุนสร้าง) ค้นหาแรงบันดาลใจจากบทเพลง สถานที่ เงื่อนไขการทำงาน และความสามารถของนักแสดง ด้วยเหตุนี้หนังบางเรื่องจึงใช้เวลาถ่ายทำหลายปีก็สร้างไม่เสร็จสักที
หลังเสร็จจากสร้าง Fallen Angels (1995) ประกาศผลงานเรื่องถัดไป Happy Together ตั้งใจให้ออกฉายในปีที่มีการส่งมอบเกาะฮ่องกง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความกดดันจากผู้คนรอบข้าง เลือกประเทศอาร์เจนติน่าเป็นเป้าหมายสำหรับถ่ายทำ ส่งไกด์ไลน์บทหลอกๆให้ Tony Leung Chiu-Wai ลวงให้เดินทางข้ามทวีป พอถึงแล้วค่อยบอกว่าจริงๆเป็นหนังเกย์ มีฉาก Sex Scene ชาย-ชาย จะเดินทางกลับก็ไม่ทันแล้ว, ส่วน Leslie Cheung ขณะนั้นเหมือนว่ากำลังออกทัวร์คอนเสิร์ตยังทวีปอเมริกา แล้วมาพักร้อนอยู่แถวๆอาร์เจนติน่า บังเอิญพบเจอกันในภัตราคารอาหารจีนแห่งหนึ่ง ก็เลยฉุดคร่ากึ่งบังคับดึงตัวให้มาเล่นหนังเรื่องนี้โดยพลัน
Lai Yiu-fai (รับบทโดย Tony Leung Chiu-wai) และแฟนหนุ่ม Ho Po-wing (รับบทโดยLeslie Cheung) เดินทางจาก Hong Kong มาถึง Argentina เพื่อที่จะสานสัมพันธ์รักให้เข้มแข็งขึ้น แต่ปรากฎว่ากลับยิ่งร้าวฉานหนักกว่าเดิม จำต้องแยกกันอยู่แล้วก็หวนกลับมารักกันใหม่ ซ้ำๆอยู่หลายรอบจนเริ่มเหนื่อยหน่ายเอือมระอา ประกอบกับการเริ่มคิดถึงบ้าน Lai Yiu-fai เลยกำหนดเป้าหมายชีวิตให้ตนเอง ก่อนกลับต้องเดินทางไปน้ำตก Iguazu ให้สำเร็จจงได้
Tony Leung Chiu-wai (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติ Hong Kong ที่ถือว่าประสบความสำเร็จสุดในเอเชีย วัยเด็กเป็นคนหัวรุนแรงเพราะเห็นพ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง แต่พอพ่อของเขาหายตัวไปทำให้นิสัยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นคนเงียบๆ ขรึม ใช้การแสดงเพื่อเป็นระบายออกทางอารมณ์ของตนเอง, ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ทำงานเป็นเด็กส่งของ ตามด้วยเซลล์แมน ฝึกงานที่ TVB กลายเป็น Host เล่นละครซีรีย์ จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Mad, Mad 83 (1983), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Love Unto Waste (1986), โด่งดังระดับเอเชียเรื่อง A City of Sadness (1989), Hard Boiled (1992), ยิ่งใหญ่ระดับโลกจากการร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ตั้งแต่ Days of Being Wild (1991) ก็กลายเป็นขาประจำเรื่อยมา ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Chungking Express (1994), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), Infernal Affairs (2002), 2046 (2004), Lust, Caution (2007) ฯ
รับบท Lai Yiu-fai หนุ่มขี้เหงาที่แม้จะปากร้ายแต่จิตใจน่ารัก อ่อนโยน รักใครจริงจัง โกรธไม่นานเดี๋ยวก็ใจอ่อนให้อภัย ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาทุกข์หนักเมื่อเห็นแฟนหนุ่มเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ครั้งหนึ่งถูกทรมานปางตายก็ทะนุถนอมปกป้อง แต่เมื่อความหวนคิดถึงบ้านทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ถึงเวลาต้องตัดสินใจเลือก
ตัวละครของนี้หลายคนคงเดาได้ว่าแทนด้วยประเทศ Hong Kong (จริงๆก็ทุกเรื่องของหนัง Wong นะแหละ เพราะ Tony Leung Chiu-wai คือร่างอวตารของเขา) ในช่วงเวลาที่ใกล้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จำต้องแยกจากคนรักเก่า เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ (กับคนรักใหม่?)
การแสดงของพี่ Leung ยังคงมาดนิ่ง ตาคม เรือนร่างเซ็กซี่ มองภายนอกผู้ชมจะแทบไม่รู้สึกถึงตัวตนแท้จริงภายในของเขา จนกระทั่งถึง Flashback การกระทำลับหลังอันโคตรน่ารัก ห่วงใยเอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม … ถึงขั้นนั้นเลย
Leslie Cheung Kwok-wing (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติ Hong Kong บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop, เกิดที่ Kowloon พ่อเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อ Leslie เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อป่วย เซ็นสัญญากับ Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลย Flop ดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที
สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987) ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991) นี่ทำให้ Leslie Cheung ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ทั้งวงการเพลงและภาพยนตร์
รับบท Ho Po-wing แฟนหนุ่มที่มีความโคตรเห็นแก่ตัว อารมณ์ขึ้นๆลงๆตามใจยาก อยากทำอะไรต้องได้ คิดอะไรต้องทำ แต่คงเพราะความน่ารักน่าเอ็นดู เลยทำให้ Lai Yiu-fai มิอาจตัดใจจากไปง่ายๆได้, ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มสั่นคลอนจากการเข้ามาของ Chang (รับบทโดย Chang Chen) จนกระทั่ง Lai Yiu-fai ตัดสินใจทางกลับ Hong Kong ทิ้งเขาไว้ที่ Argentina หลงเหลือแต่ความทุกข์โศกเศร้า เพิ่งมาระลึกได้ว่ารักมากแค่ไหนก็สายเกินไปแล้ว
ตัวละครนี้แทนด้วยประเทศอังกฤษ ที่ก็ทำตัวดีบ้างเลวบ้างกับ Hong Kong คบเพื่อนหลากหลาย บอบช้ำจากสงครามจนต้องเลียแผลให้ แต่เพราะความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากถึง 99 ปี ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าต้องถึงเวลาจากกันจริงๆ แบบนี้ใครที่ไหนจะทำใจได้
ทั้งๆที่อายุย่างเข้าหลัก 40 แต่ Leslie Cheung ยังคงมีใบหน้าอ่อนเยาว์ดูเด็กยิ่งนัก หล่ออมตะจริงๆ (ขณะที่พี่ Leung ตีนกาเริ่มขึ้นแล้ว) ด้านการแสดงยังคงตราตรึง ชอบทำหน้ายียวนกวนๆ เวลามีอารมณ์ก็หื่นซะ แต่กลับน่ารักสุดๆซะงั้น
Chang Chen (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese เกิดที่ Taipei เข้าสู่วงการจากการเป็นนักแสดงเรื่อง A Brighter Summer Day (1991) ของผู้กำกับ Edward Yang สมทบ Happy Together (1997), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), The Go Master (2006), Red Cliff (2008-2009), The Assassin (2015) ฯ
รับบท Chang เพื่อนร่วมงานร้านอาหารของ Lai Yiu-fai เป็นคนง่ายๆ ตรงไปตรงมา มีแนวโน้มสูงจะเป็นเกย์ (เคยปฏิเสธสาวที่ชวนออกเดท) ทั้งสองน่าจะไม่มีสัมพันธ์อะไรลึกซึ้ง (แต่พวกเขาคงต่างอยากมีอยู่) เป้าหมายชีวิตต้องการออกเดินทางสู่ปลายสุดของทวีปอเมริกา (Cape Horn) โดยไม่รู้ตัว Chang เป็นแรงบันดาลใจ ช่วยเหลือให้ Lai Yiu-fai ได้กระทำตามเป้าหมายของตนเองสำเร็จ และสามารถเดินทางกลับ Hong Kong ลาจาก Lai Yiu-fai ชั่วนิรันดร์
เพราะมาจากไทเป เลยถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศ Taiwan ที่มีความโดดเดี่ยวเดียวดายอ้างว้างไม่ต่างจาก Hong Kong เพราะประเทศนี้พยายามแยกตัวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่มิได้รับการยอมรับแถมถูกล็อบบี้จากนานาประเทศไม่ให้ออกเสียงสนับสนุน, การมีอยู่ของตัวละครนี้ คงเพื่อต้องการเปรียบเทียบสถานะของ Hong Kong กับ Taiwan ที่มีความไม่แน่นอนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เพราะเมื่อ Hong Kong กลับคืนสู่แผ่นดินจีนแล้ว Taiwan ยังคงเดินทางต่อ รอคอยความหวังที่ก็ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่
การแสดงของ Chang Chen ไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าไหร่ นอกจากใบหน้าอันหล่อเหลา มาพร้อมลักษณะนิสัยที่เรื่อยเปื่อย ล่องลอย ไร้จุดหมาย แต่ลึกๆก็มีความต้องการที่รุนแรงไม่ต่างกัน
การหายไปของตัวละครที่มีนัยยะสื่อถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างความฉงนให้ผมพอสมควร แต่เราสามารถมองได้ว่าดินแดนบ้านเกิด Hong Kong ของพระเอก เมื่อขณะที่เขาหวนกลับไป คงได้คืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีนเรียบร้อยแล้ว นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ Wong Kar-Wai เลือกใช้แผ่นดินแดนประเทศ Hong Kong แทนด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน (แต่หนังไม่มีถ่ายทำที่ Hong Kong เลยนะครับ ตอนจบข้ามไป Taiwan แทนเลย)
ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle ขาประจำของ Wong Kar-Wai ร่วมงานกันตั้งแต่ Days of Being Wild (1991), Chungking Express (1994), In the Mood for Love (2000) ฯ
เป็นความติสต์ของผู้กำกับ เลือกถ่ายหนังด้วยภาพขาว-ดำ และภาพสีที่ใช้ฟิลเลอร์หรือน้ำยาล้างเอาน้ำเงินออก (เน้นกับเหลือง-แดง) ให้สัมผัสของความเก่า สนิทเขรอะ อดีตที่กำลังผ่านพ้นไป เป็นเพียงเรื่องราวของความทรงจำ, สีเหลือง-แดง ยังสะท้อนถึง ขี้-เลือด เกย์ ความโสมม จินตนาการกันไปเอาเองนะครับ
ทำไมต้องไปถ่ายทำถึงอาร์เจนติน่า? ประเทศนี้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน (Spain Empire) เมื่อครั้นยุคสมัยล่าอาณานิคม คงมีสถานะไม่แตกต่างจาก Hong Kong สักเท่าไหร่
เหตุผลที่พระเอกต้องไป Iguazu Falls? เพราะได้ซื้อโคมไฟอันหนึ่งมีรูปน้ำตกแห่งนี้อยู่ จึงเกิดความสนใจ ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากที่จะไปพบเห็น, น้ำตกเป็นสถานที่ที่น้ำไหลจากสูงลงต่ำ เริ่มต้น-สิ้นสุด อดีต-อนาคต สองสิ่งบรรจงกัน เปรียบได้ตรงกับเหตุการณ์วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 เมื่อสหราชอาณาจักร ส่งคืนเกาะฮ่องกง สู่สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ใช่ว่าเมื่อสายน้ำตกลงสู่เบื้องล่างแล้วจะหยุดนิ่งจบสิ้น มันยังคงเคลื่อนไหลไปต่อ ก็เหมือนชีวิตที่ยังคงดำเนินอยู่ แต่ก็เสมือนการเริ่มต้นโลกใบใหม่
เกร็ด: น้ำตก Iguazu Falls (แปลว่า สายน้ำอันยิ่งใหญ่) ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลกับประเทศอาร์เจนตินา เป็นน้ำตกมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะสายน้ำไหลจากขอบที่ราบสูงขนาดใหญ่ลงสู่พื้นที่ราบต่ำกว่า ด้วยแนวยาวกว่า 4 กิโลเมตร สูงกว่า 269 ฟุต
ตัดต่อโดย William Chang กับ Wong Ming-lam ใช้การเล่าเรื่องประกอบคำบรรยาย ส่วนใหญ่เป็นคำพูดของ Lai Yiu-fai แต่ก็มีหลายครั้งตั้งแต่การมาถึงของ Chang เล่าเรื่องในมุมมองของเขา
หนังของ Wong Kar-Wai ผู้ชมจะไม่มีทางรับรู้เลยว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว (นอกจากจะมีการนำเสนอพูดออกมาตรงๆ) แต่เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราวของหนัง แฝงนัยยะเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน ดังนี้
– ช่วงแรกภาพขาว-ดำ เทียบช่วงเวลาก็ตั้งแต่สหราชอาณาจักรได้ครอบครองเกาะฮ่องกง จนกระทั่งสูญเสียให้ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
– ช่วงภาพสี เมื่อคนรักหวนคืนกลับมาในสภาพบอบช้ำ นี่คงตั้งแต่หลังสงครามโลก
– การมาถึงของ Chang เทียบได้กับความพ่ายแพ้ของเจียงไคเช็คต่อเหมาเจ๋อตุง อพยพหนีสู่เกาะไต้หวัน ต้องการแยกตัวจากจีนแผ่นดินใหญ่แต่ไม่ได้รับการยินยอม จึงเริ่มมีสถานะเดียวกับเกาะ Hong Kong
– ช่วงท้ายหลังจากพระเอกเดินทางสู่น้ำตก เปรียบได้กับฮ่องกงกำลังกลับคืนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับเพลงประกอบ แทบทั้งหมดเลือกโดยผู้กำกับ Wong Kar-Wai จากรสนิยมที่เขาชื่นชอบ อย่างชื่อหนัง มาจากบทเพลง Happy Together (1967) แนว Psychedelic Pop แต่งโดยคู่หู Alan Gordon, Garry Bonner ขับร้องโดยวง The Turtles สามารถไต่ขึ้นอันดับ 1 ถึงสามสัปดาห์ใน Billboard Hot 100 ถีบเพลง Penny Lane ของ The Beatles ที่เพิ่งขึ้นอันดับหนึ่งได้เพียงสัปดาห์เดียวลงได้
หลายบทเพลงของหนังนำมาจาก Astor Piazzolla (1921 – 1992) นักแต่งเพลง Tango สัญชาติ Argentine โดยเฉพาะกับ Bandoneon (มีลักษณะคล้าย Accordian แต่ขนาดเล็กกว่า ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศ Argentina, Uruguay, Lithuania)
ถือได้ว่า Bandoneon เป็นเครื่องดนตรีที่เข้ากับโทนอารมณ์ บรรยากาศของหนังเรื่องนี้อย่างมาก ให้สัมผัสของความสับสนอลม่าน หดหู่รวดร้าว ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดี สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของ Lai Yiu-fai ได้อย่างชัดเจน
Happy Together หน้าหนังคือเรื่องราวความรักของสองคนเหงาๆ ที่เวลาเงี่ยนก็โหยหาซึ่งกันและกัน แต่พอหายอยากก็ลีลา เล่นตัว แยกจาก แต่ชีวิตคนมันไม่ได้เหมือนหมูหมากาไก่ Sex ต้องมาพร้อมความสัมพันธ์ และความมั่นคงยืนยาว เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องมีสักคนที่กล้าตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
ใจความตามความตั้งใจของผู้กำกับ Wong Kar-Wai นำเสนอประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของชาว Hong Kong ต่อเหตุการณ์ส่งมอบคืนดินแดน สู่อ้อมอกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ในอารมณ์ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai ที่สะท้อนออกมาในหนัง คงรู้สึกเสียดายเล็กๆที่ Hong Kong ต้องแยกจากสหราชอาณาจักร เพราะอยู่ด้วยกันมานานเลยมีความโหยหาอยู่บ้าง แต่ชีวิตมันต้องก้าวเดินหน้าต่อหยุดนิ่งไม่ได้ ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ เศร้า หดหู่ เริ่มต้นใหม่ ยิ้มแย้มโอบกอดรับอนาคต มันอาจมีบางสิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้นก็ได้ ใครจะไปรู้
ทำไมต้องเป็นหนังชายรักชาย? ปกติแล้วหนังอารมณ์ Wong จะชายหรือหญิงก็สะท้อนสื่อความหมายได้เหมือนกัน แต่เมื่อเป็น ชายกับชาย ผู้ชมส่วนใหญ่จะเกิดอาการกระอักกระอ่วน รุกรี้รุกรน รับไม่ค่อยได้เท่าไหร่กับความสัมพันธ์แบบนี้ นี่ถือเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่ผู้กำกับต้องการสะท้อนออกมา (กระนั้นนักแสดงทั้งสองมีความมืออาชีพมากๆ ผมไม่รู้สึกถึงความตะขิดตะขวง กลัวเกรง ราวกับเป็นคนรักกันจริงๆ)
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้ผู้กำกับ Wong Kar-Wai คว้ารางวัล Best Director ถือเป็นคนแรกของประเทศจีน/ฮ่องกง คนที่สองของเอเชียถัดจาก Nagisa Oshima เรื่อง Empire of Passion (1978)
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะความซับซ้อน อลม่าน และบรรยากาศอันแห้งแล้ง น่าขยะแขยง โสมม นี่ไม่ใช่เพราะผมมีอคติอะไรกับหนังชายรักชายนะครับ แต่รสนิยมความ Stylish นี้ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai ไม่ได้มีความหลงใหลสักเท่าไหร่
แนะนำกับคอหนังรัก โรแมนติก Stylish ชายรักชาย, แฟนๆผู้กำกับ Wong Kar-Wai และนักแสดงนำอย่าง Tony Leung Chiu-Wai, Leslie Cheung ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหนัง Sex Scene และความสัมพันธ์ที่เร่าร้อนรุนแรง
Leave a Reply