Hard Boiled (1992)
: John Woo ♥♥♥♡
ทะลักจุดแตก คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ John Woo ในศตวรรษ 20 ก่อนข้ามน้ำข้ามทะเลมาประสบความสำเร็จกับการสร้างหนัง Hollywood แต่ไม่ใช่ว่าเขาถึงจุดแตกหักกับวงการบันเทิงฮ่องกงประการใด แค่ว่าแนว Heroic Bloodshed ในประเทศบ้านเกิดเริ่มไม่ได้รับความนิยม เลยทิ้งท้ายด้วยความบ้าระห่ำระดับมหากาพย์ ไคลน์แม็กซ์ 45 นาที กับฉากยิงกันในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย แม้แต่เด็กทารกก็ไม่เว้น
Hard Boiled เป็นภาพยนตร์ต้องถือว่าเดือดสมชื่อ ไม่ใช่แค่ตัวละครของ Chow Yun-fat ถูกผู้ร้ายตั้งฉายาว่า Hard-Boiled (ตำรวจเดือด) แต่ยังอารมณ์ของผู้ชมจักเดือดพร่านคลุ้มคลั่งนั่งไม่ติดเก้าอี้ เพราะการมีเด็กทารกน้อยเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง นี่มันก้าวข้ามผ่านขอบเขต The Wild Bunch (1969) ของผู้กำกับ Sam Peckinpah ไปไกลโขแล้วนะ
แน่นอนว่าต้องมีพวกที่ชื่นชอบระดับคลั่งไคล้ และกลุ่มคนรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง, ผมอยู่ประมาณกลางๆไม่ค่อยชอบแต่ก็เข้าใจเหตุผลที่ผู้กำกับต้องการสื่อ แทนทารกน้อยด้วยคนรุ่นถัดไปของฮ่องกง ที่ตอนนี้พวกเขายังไม่รู้เดียงสา แต่ต้องเติบโตขึ้นท่ามกลางความสับสนวุ่นวายอลม่านของสังคม การกลุ่มต่อสู้เข่นฆ่าทำล้างของผู้ใหญ่สองกลุ่ม เช่นนั้นแล้วอนาคตของพวกเขาต่อไปจะกลายเป็นเช่นไร นี่คงไม่มีใครคาดคิดจินตนาการได้แน่
ในส่วนที่ไม่ค่อยชอบ เพราะผมรู้สึกเหมือนเป็นความพยายามแข่งขันสร้างหนังให้มีความรุนแรงบ้าคลั่งกว่ากัน อย่าง Body Count นับศพคนตาย จนถึงปัจจุบัน Hard Boiled ก็ยังคงครองสถิติมีตัวประกอบเสียชีวิตด้วยปืนกับระเบิดมากที่สุด 307 ศพ [ไม่นับ Grindhouse ที่รวมสองเรื่องแล้วได้ 310 ศพ]
reference: http://www.moviebodycounts.com/Top-Movies.htm
และเมื่อเทียบกับหลายๆผลงานก่อนหน้าของ John Woo อาทิ A Better Tomorrow (1986) หรือ The Killer (1989) มันยังพอมีสาระข้อคิดสอนใจติดกลับไปบ้าง แต่สำหรับ Hard Boiled ค่อนข้างเจือจางเลือนลางอย่างทีเดียว มุ่งเน้นแต่ขายแอ๊คชั่นความบันเทิง จนแทบหาคุณประโยชน์อะไรไม่ได้ (แต่ก็พอมีซ่อนแฝงอยู่นะครับ ไม่ได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิง)
John Woo ชื่อจริง Wu Yu-seng (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีน เกิดที่ Guangzhou ความพ่ายแพ้ของเจียงไคเชกในช่วงสงครามกลางเมือง ทำให้ครอบครัวตัดสินใจอพยพมุ่งสู่ Hong Kong อาศัยอยู่ในสลัมเกาลูน ที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ความรุนแรง เสียงปืนและคนตาย แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก แต่ครอบครัวก็เลี้ยงดูให้ Woo เกิดศรัทธาในศาสนาคริสต์ วาดฝันโตขึ้นได้เป็น Christian Minister แต่โชคชะตานำพาเขาสู่โลกภาพยนตร์ หลงใหลหนังเพลงของ Fred Astaire, The Wizard of Oz, แนว Western อาทิ Butch Cassidy and the Sundance Kid และผลงานของ Jean-Pierre Melville, Martin Scorsese
“When I was 11, even though we were poor, my mother was a fan of movies from the west. She used to bring me to the theatre. At that time, a parent could bring a child to the theatre for free. I was fascinated by the musicals, I think they influenced me the most. Also a lot of Fred Astaire…I loved movies and I wanted to be a filmmaker some day.”
แม้จะไม่มีเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ Woo ก็หาทางเดินตามฝันสำเร็จ ได้ทำงาน Script Supervisor กับ Cathay Studios เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ Shaw Bros. Studios ภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Dragons (1974) ประสบความสำเร็จใช้ได้ เลยถูกดึงตัวสู่ไต้หวัน Golden Harvest Studio สร้างภาพยนตร์แนว Martial Arts อยู่หลายเรื่องจนรู้สึกเบื่อหน่าย ทิ้งท้ายผลงาน Heroes Shed No Tears (1983) เปลี่ยนแนวมาเป็นสงครามเวียดนาม เต็มไปด้วยความรุนแรงมาเกินจนสตูดิโอไม่ยอมนำออกฉาย หลังจากเดินทางกลับ Hong Kong ด้วยนึกว่าเส้นทางอาชีพนี้จะจบสิ้นลงแล้ว แต่บังเอิญพบเจอกับฉีเคอะ หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติความเห็นข้ามคืน ได้ข้อสรุปลงเอยที่จะหาทุนให้สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป A Better Tomorrow (1986) ตามด้วยภาคต่อ A Better Tomorrow II (1987) และร่วมงานครั้งสุดท้าย The Killer (1989)
หลังจากสร้างหนังที่พระเอกคือนักฆ่า มาเฟีย มาหลายเรื่อง ก็ถึงคราที่ Woo จะตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจขึ้นบ้าง ซึ่งความชื่นชอบหลงใหลของเขามาจากภาพยนตร์สองเรื่อง
– Bullitt (1968) กำกับโดย Peter Yates นำแสดงโดย Steve McQueen
– Dirty Harry (1971) ของผู้กำกับ Don Siegel นำแสดงโดย Clint Eastwood
เรียกย่อๆในความสนใจคือ Hong Kong-style Dirty Harry เทียบตรงๆก็คือตัวละครของ Chow Yun-fat มีความเข้มแข็ง หัวรั้น ถึก ไม่ยอมก้มหัวให้ใครง่ายๆ แค่ส่วนชื่นชอบในดนตรี Jazz มาจากความหลงใหลของผู้กำกับเอง ที่เคยถูกทัดทามไว้ตอน The Killer แต่เมื่อออกจากร่มเงาของฉีเคอะ ก็ไม่มีใครทักท้วงหักห้ามอีกต่อไป
มอบหมายให้ Barry Wong ชื่อจริง Wong Ping-Yiu พัฒนาบทภาพยนตร์ขึ้น ในตอนแรกตั้งใจให้ตัวละครของ Tony Leung Chiu-Wai เป็นตัวร้ายโรคจิตที่วางยาพิษใส่อาหารเด็ก เจ้าตัวอ่านแล้วยินยอมพร้อมใจจะเล่น แต่ Chow Yun-fat ส่ายหัวบอกรับไม่ได้มากเกินไป ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องราวใหม่ ซึ่งก็เปลี่ยนให้พี่เหลียงกลายมาเป็นสายสืบนอกเครื่องแบบ แต่ Wong พลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อนแก้ไขบทเสร็จ ผู้กำกับ Woo เลยเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นวันๆไป ไม่ได้จ้างใครใหม่มาเขียนบทเพิ่ม
เรื่องราวของ Tequila Yuen (รับบทโดย Chow Yun-fat) ตำรวจเจ้าของฉายา Hard-Boiled ที่แฝงตัวเข้าไปในโรงน้ำชาร่วมกับคู่หู Benny (รับบทโดย Bowie Lam) เพื่อจับกุมกลุ่มลักลอบขนอาวุธปืนเถื่อนขณะกำลังทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ระหว่างนั้นก็มีอีกกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาต่อต่อสู้โจมตี ทำให้การปะทะดวลปืนบังเกิดขึ้น จนทำให้ Benny ถูกยิงเสียชีวิต ด้วยความเคียดแค้น Tequila เลยจัดการสังหารมันทุกคนแทนการจับเป็น สร้างความฉุนเฉียวให้ผู้กำกับการ Pang (รับบทโดย Philip Chan) เพราะหนึ่งในคนที่เสียชีวิตคือตำรวจนอกเครื่องแบบที่ปลอมตัวเข้าไปเป็นสายลับ
แม้ผู้กำกับการจะสั่งให้ Tequila ออกจากการสืบสวนครั้งนี้ แต่ไม่วายที่เขาจะแสร้งทำเป็นไม่สนใจ จนมีโอกาสได้พบเจอกับ Alan (รับบทโดย Tony Leung Chiu-Wai) ตอนแรกนึกว่าคงเป็นสมาชิกหนึ่งของกลุ่มมาเฟีย แต่เพราะหลายครั้งได้ช่วยชีวิตเขาไว้จึงสารู้แก่ใจ ว่าชายคนนี้ต้องคือตำรวจนอกเครื่องแบบเป็นแน่ พวกเขาจึงได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้เอาชนะ Johnny Wong (รับบทโดย Anthony Wong) เจ้าพ่อค้าอาวุธผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง และสถานที่ที่เขาเก็บซ่อนสะสมคลังอาวุธอยู่ใต้โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อใดบังเกิดความผิดพลาด ก็พร้อมกดระเบิดทำลายล้างทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนอะไรทั้งนั้น
Chow Yun-Fat, โจวเหวินฟะ (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง ได้รับการเปรียบเทียบเท่า Cary Grant ที่หล่อบึกบึนจัดจ้านกว่า เกิดที่ Lamma Island นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง มีชีวิตเด็กที่ยากไร้ พ่อเคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ) แต่โชคดีที่ได้เรียนจบวิทยาลัย มีโอกาสเป็นนักแสดงฝึกหัดยังสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับละครโทรทัศน์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980) ขณะที่ภาพยนตร์ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งได้รับเลือกให้มาแสดงใน A Better Tomorrow (1986) โด่งดังชั่วข้ามคืน, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ An Autumn’s Tale (1987), The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ โกอินเตอร์กับ Anna and the King (1999), Pirates of the Caribbean: At World’s End (2007) ฯ
รับบท Tequila Yuen สารวัตรจอมเดือด เพราะชื่นชอบดื่ม Tequila (ผสมเกลือ แล้วตอก) เลยได้รับชื่อเล่นนี้ เป็นคนมีทักษะความสามารถเฉพาะตัวสูง อึดถึก ยิงปืนแม่น แต่เป็นคนมี Ego สูง ไม่ชอบฟังคำสั่งหัวหน้า มักทำอะไรตามใจเสมอ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนตามมาอยู่เรื่อยๆ, สมัยเด็กเพ้อฝันอยากเป็นนักดนตรี ชื่นชอบเล่น Clarinet สะท้อนความอ่อนโยนที่อยู่ลึกๆภายใน ซึ่งเมื่อขณะช่วยเหลือเด็กทารกน้อยคนสุดท้ายในโรงพยาบาลก่อนระเบิด ก็มีการร้องเพลงแร็ปกล่อม ตัวจริงคงเป็นคนตลกสินะ
หลังจาก Tequila ได้รับรู้ตัวตนแท้จริงของ Alan พวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิท คู่หู ช่วยเหลือเติมเต็มกันและกันขณะต่อสู้กับเหล่าวายร้าย ถึงขนาดว่าตอนจบของไคลน์แม็กซ์เมื่ออยู่ในสถานการณ์เป็นตาย ยินยอมที่จะนั่งลงคุกเข่าสูญเสียเกียรติของตนเอง เพราะไม่อยากให้เพื่อนรักต้องถูกฆ่าตายจากไปอีกคน
มีสองฉากที่ผมเลือกไม่ได้ จะชอบความเท่ห์ตอนไหนของ Chow Yun-fat มากกว่ากัน
– ต้นเรื่องร้านน้ำชา ไถลลงจากกับบันได กราดยิงศัตรูที่อยู่เบื้องล่าง เมื่อถึงพื้นก็ตายเรียบ (เห็นว่าฉากนี้ Chow Yun-fat เป็นคนเสนอไอเดียขึ้นเองเลย)
– อีกฉากก็ขณะอุ้มทารกน้อยแล้วหันไปกราดยิงปืน จบฉากด้วยการกระโดดโหนสายไฟลงมาจาก … ก็ไม่รู้ชั้นไหนลงพื้น
Tony Leung Chiu-wai (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติ Hong Kong ที่ประสบความสำเร็จสุดในเอเชีย วัยเด็กเป็นคนหัวรุนแรงเพราะเห็นพ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง แต่พอพ่อของเขาหายตัวไปทำให้นิสัยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นคนเงียบขรึม ใช้การแสดงเพื่อเป็นระบายออกทางอารมณ์ของตนเอง, ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ทำงานเป็นเด็กส่งของ ตามด้วยเซลล์แมน ฝึกงานที่ TVB กลายเป็น Host เล่นละครซีรีย์ จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Mad, Mad 83 (1983), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Love Unto Waste (1986), โด่งดังระดับเอเชียเรื่อง A City of Sadness (1989), Bullet in the Head (1990), Hard Boiled (1992), ยิ่งใหญ่ระดับโลกจากการร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ตั้งแต่ Days of Being Wild (1991) ก็กลายเป็นขาประจำเรื่อยมา ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Chungking Express (1994), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), Infernal Affairs (2002), 2046 (2004), Lust, Caution (2007) ฯ
รับบท Alan สายสืบนอกเครื่องแบบที่สามารถไต่เต้าจนกลายเป็นนักฆ่าได้รับความเชื่อมือจากกลุ่มมาเฟีย แรกสุดอาศัยอยู่กับนายคนหนึ่งแต่ถูกทำให้ต้องทรยศหักหลังมาเข้าพวกกับ Johnny Wong แอบช่วยเหลือ Tequila ไว้หลายครั้งจนความแตก กระนั้นพวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนสนิท และร่วมมือกันต่อสู้รบจัดการกับศัตรู
ทุกครั้งที่ฆ่าคนตาย Alan จะพับนกกระเรียนเพื่อเป็นการไว้อาลัย ความฝันของเขาคือหลังเสร็จภารกิจนี้จะล่องเรือไปยังทวีปแอนตาร์ติกา (ก็ไม่รู้ไปทำไม) นี่คงสะท้อนความเยือกเย็นที่ชอบแสดงออกมา เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เริ่มไม่รู้ว่าตัวเองเป็นตำรวจหรือมาเฟีย ที่อดทนทำอยู่นี่เพื่ออะไร เมื่อไหร่จะถึงจุดสิ้นสุด
ถึงพี่เหลียงจะไม่ค่อยมีช่วงจังหวะเท่ห์ๆแบบโจวเหวินฟะ แต่การแสดงของเขามีความลุ่มลึกทรงพลังกว่ามาก โดยเฉพาะตอนถูกขอให้ฆ่าเจ้านายเก่า ความสับสนว้าวุ่นวายใจมันปั่นป่วนคลั่งทะลักออกมาจนสัมผัสได้ ด้วยเหตุนี้ว่ากันเรื่องการแสดง Tony Leung >>> Chow Yun-Fat อยู่หลายขุม
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Woo ยังคงชื่นชอบการ improvise ในทุกฉากต่อสู้แอ๊คชั่นวันต่อวัน แต่คราวนี้เพราะบทก็ไม่เสร็จดีด้วยเลยต้องช่วยกันระดมความคิดหลากหลาย ระหว่างทำก็มีเพิ่มเติม อาทิ
– ตัวละครไอ้หมาบ้า/Mad Dog รับบทโดย Philip Kwok ดั้งเดิมไม่มีในบท ทำงานในกองถ่ายเป็นสตั๊นแมน แต่เพราะผู้กำกับรู้สึกว่าตัวร้ายคนเดียวสู้กับพระเอกสองเหมือนโดนรุม ก็เลยต้องเพิ่มตัวร้ายรองเข้ามาเพื่อให้เกิดความสูสี และต้องยอมรับเลยว่าสร้างสีสันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อสุดๆ
– Chow Yun-fat รู้สึกว่าตัวละครของตนเองไม่ค่อยมีพัฒนาการสักเท่าไหร่ เลยเพิ่มฉากสนทนากับอดีตตำรวจตอนนี้เป็นบริกรอยู่ไนท์คลับที่เขาเล่นดนตรี นำแสดงโดย John Woo ซึ่งก็ได้พูดประโยคเจ๋งๆ
“If he really was my friend, I wouldn’t hesitate for a moment, whether he was right or wrong”
ถ่ายภาพโดย Wong Wing-hang ขาประจำของ John Woo ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ A Better Tomorrow (1986) แต่ก็ไม่ได้โกอินเตอร์ไปด้วยกัน (เจ้าตัวไม่ยอมเดินทางไป Hollywood เอง อยากทำงานแค่ใน Hong Kong)
ใช้เวลาถ่ายทำ 123 วัน นี่น่าจะยาวนานสุดของ Woo ขณะนั้น หมดกระสุนไปกว่า 100,000 นัด จากปืน 200 กระบอก ของจริงทั้งหมดนะครับ เพราะทางการ Hong Kong เข้มงวดมากๆเรื่องการใช้อาวุธ ปืนต้องนำเข้าจากประเทศอังกฤษ มีรหัส Serial Number และตำรวจฮ่องกงจริงๆคอยเฝ้ารักษาความสงบอยู่ในกองถ่าย
หนังของ Woo ไม่ได้ใช้การบันทึกเสียง Sound-On-Film นักแสดงพากย์ทับหลังการถ่ายทำ สาเหตุที่ใช้วิธีนี้เพราะทีมงานจะได้ไม่ต้องเสียเวลาครุ่นคิดวุ่นวายว่าจะต้องตั้งหลบไมค์ตรงไหน เพราะฉากแอ๊คชั่นมันความเสี่ยงสูงที่อุปกรณ์จะเสียหายได้ง่าย
ลีลาของ Woo เวลาถ่ายทำแอ๊คชั่นมักมีภาพสโลโมชั่นสลับไปมากับความเร็วปกติ (รับอิทธิพลจาก Peckinpah-style) ท่าทางการยิงปืนก็มีลักษณะคล้ายท่าเต้นรำ มีความชดช้อย … เรียกว่าเท่ห์ดีกว่าไหม! หลายครั้งดูเว่อวังอลังการ เวลายิงปืนก็ต้องกราดหรือรัวหลายๆนัด (ท่าเหมือนต่อยมวย) ถ้าไม่ใช่ช็อตระดับเป็นตายก็จะไม่ค่อยแม่นสักเท่าไหร่, คำเรียกที่ผมโคตรชื่นชอบ จากนักวิจารณ์ต่างประเทศคือ Bullet-Ballet กระสุนมันเต้นได้จริงๆนะ!
ฉากยิงกันในร้านน้ำชาต้นเรื่อง เห็นว่าถ่ายทำกันก่อนที่บทจะเริ่มต้นพัฒนาขึ้นเสียอีก (ถ่ายทำประมาณ 10 วัน) เพราะทีมงานได้ยินว่าสถานที่แห่งนี้กำลังจะถูกรื้อถอนทำลายในอีกไม่ช้า เลยรีบติดต่อขอใช้ถ่ายทำโดยทันที, นกในหนังของ John Woo เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของมนุษย์ ถูกคุมขังในกรงก็คือชีวิตที่ถูกบีบบังคับให้อยู่ในข้อกำหนดกฎกรอบ หรืออาชีพตำรวจนั่นเอง ซึ่งจะมีวินาทีหนึ่งที่พระเอกถีบกรงนกให้พังทลาย นั่นแหละคือตัวตนของเขา ไม่ชอบอยู่ในกรอบที่ใครวางไว้
นี่คือช็อตติดตาผู้ชมที่สุดในหนังแล้ว ตัวละครของ Chow Yun-fat ไถลสไลด์ลงมาจากบันได ราวกับพระเจ้า … ซึ่งตอนกลางเรื่องจะมีคำพูดหนึ่งของผู้กำกับการ
Give a guy a gun, he thinks he’s Superman. Give him two and he thinks he’s God.
ประเด็นคือพี่แกคาบไม้ขีดไฟทั้งฉาก (ชอบเป็นคนจุดชนวน เล่นกับไฟ, นี่หวนระลึกถึงหนัง A Better Tomorrow ขึ้นมาเลย) ก่อนถ่มถุยใส่ศัตรูคนสุดท้ายที่เขาฆ่าตาย เออเว้ยเห้ยแม้งเท่ห์ประไร (ช็อตที่ตัวละครคลุกแป้งจนตัวขาว นั่นก็ Chow Yun-fat คิดขึ้นเองเช่นกัน)
ฉากในโกดังนี่เว่อชิบหาย Chow Yun-fat ห้อยโหนลงมาจากหลังคา (เห็นภาพของ Mission Impossible ลอยมา) กราดยิงฝูงผู้ร้ายตายเป็นเบือ แต่ที่โคตรไร้สาระยิ่งกว่า คือลูกกระจ๊อกคิดจะทำอะไรของมัน ขี่มอเตอร์ไซด์ยกล้อ กระโดดทะยานเหินหาว กลายเป็นเป้านิ่งให้พระเอกยิงสอยไฟลุกท่วม (ถึงพระเอกไม่ได้ขี่มอไซด์ แต่ก็กระโดดโชว์ ยิงตูมเดียวเจ๋งกว่าตั้งเยอะ)
ฉากในโรงพยาบาล ดัดแปลงปรับปรุง Warehouse หลังหนึ่งตั้งชื่อว่า The Coca-Cola Factory (เพราะอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตโค้ก) ใช้เวลาถ่ายทำ 40 วัน ก็แทบไม่รู้คืนวัน ทีมงาน/ตัวประกอบ อาศัยหลับนอนอยู่ในนั้นนะแหละ
โคตรไฮไล์คือ Long-Take ความยาว 2 นาที 43 วินาที มีคำเรียกว่า ‘Hallway Shootout’ ใช้กล้อง Hand-Held ถ่ายทำเพียงเทคเดียวเพราะไม่ค่อยมีเวลากันมาก ตัวละครของ Chow Yun-fat และ Tony Leung ต้องหาทางต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อหาทางไปช่วยเหลือตัวประกัน, จัดเต็มใน Special Effect ระเบิด ควัน สตั๊นกระโดดดิ้นไปมาอย่างเมามัน ผลัดกันยิง Double Action เจ๋งระดับ ‘Groundbreaking’ ได้รับการยกย่องว่าคือหนึ่งใน Action Sequence ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก
จริงๆฉากนี้ตั้งใจให้ยาว 5 นาที (ต่อเนื่องกับตอนช่วยเหลือตัวประกัน) แต่เพราะเวลาเตรียมการมีไม่มากพอเลยเอาแค่เท่าที่ได้ และสำหรับลิฟท์ที่เหมือนว่าขึ้นจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง จริงๆไม่ได้ขยับเคลื่อนไปไหน ให้พระเอกทั้งสองค้างอยู่ข้างใน พูดคุยสนทนากันประมาณ 20 วินาที เพื่อให้ทีมงานด้านนอกทำการขนย้ายเปลี่ยนฉากพื้นหลัง ให้ดูเหมือนลิฟท์ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง (นี่คือสิ่งที่เรียกว่า มายากลของภาพยนตร์)
ทารกน้อยคนสุดท้าย จงใจเหลือไว้ให้กลายเป็นคู่ขวัญกับ Chow Yun-fat นี่ชวนให้ผมระลึกถึงซามูไรพ่อลูกอ่อนขึ้นมาเลยนะ มันมีมุกหนึ่งที่โคตรเจ๋ง (กว่าร้องแรป) ขณะหนึ่งขากางเกงของพระเอกติดไฟ กำลังหาทางดับอยู่ แล้วอยู่ดีๆทารกน้อยดันฉี่ราดดับให้เสียงั้น ผมหัวเราะน้ำตาเล็ดเลยละ
จริงๆแล้วตอนจบ ผู้กำกับ Woo ตั้งใจฆ่าตัวละครของพี่เหลียง คือก็เห็นฟุบไปแล้วละนึกว่าไม่รอดแน่ แต่เพราะทีมงานต่างร้องขอผู้กำกับได้โปรดให้ช่วยไว้ชีวิต เลยพบเห็นอีกทีตอน Epilogue กำลังล่องเรือสู่แอนตาร์กติกาตามความฝัน … สรุปคือไม่ตายซะงั้น!
ตัดต่อโดย John Woo, David Wu, Kai Kit-wai, Jack Ah
หนังใช้มุมมองของ Tequila ตามด้วย Alan ที่มาในจดหมายและรหัสลับ พบเจอตัวจริงคิดว่าเป็นหนึ่งในมาเฟีย แต่สักกลางเรื่องก็จะได้รับรู้ความจริง ว่าคือตำรวจสายสืบที่ปลอมตัวเข้าไปล้วงลึกข้อมูลภายใน
ความเร็วฉับไวในการตัดต่อ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ประจำตัวของผู้กำกับ John Woo และหลายครั้งยังมีลีลาตัดสลับไปมาของสิ่งอย่างที่ดำเนินไปพร้อมกัน อาทิ ฉากไคลน์แม็กซ์ในโรงพยาบาล มีประมาณ 3-4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
– Tequila กับ Alan ลงไปสู่ห้องใต้ดิน ถูกขัง แล้วต้องหาทางกลับขึ้นมา
– ตัวร้าย Johnny Wong ประจำอยู่ในห้องบัญชาการ
– ตำรวจที่ปลอมตัวอยู่ในโรงพยาบาล ขณะหนึ่งถูกจับเป็นตัวประกัน แต่เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว แฟนพระเอกก็ไปช่วยขนย้ายเด็กทารกออกนอกโรงพยาบาล
– และหน้าโรงพยาบาล ตำรวจปะทะกับผู้ร้าย มักจะขณะที่มีคนไข้วิ่งกรูกันออกมาภายนอก
การลำดับเรื่องราวดังกล่าวแม้จะดูสับสนวุ่นวาย แต่ไม่เคยมั่วเลยนะครับ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น (มักนำร่องโดยคู่หูพระเอก) จะส่งผลกระทบต่อหลายๆเหตุการณ์ตามมา จากภายในสู่ภายนอก แล้ววกกลับเข้าไปข้างในอีกครั้ง หมุนวนเวียนเป็นลักษณะเช่นนี้ตลอด 40 นาที ใครทำความเข้าใจไดเรคชั่น Sequence นี้ได้ จะรับรู้ว่าคือ Masterpiece ของการตัดต่อเลยละ
ทุกครั้งที่ฉากไคลน์แม็กซ์ของหนังเรื่องใดมีความยาวเว่อๆขนาดนี้ จะทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Leopard (1963) ของผู้กำกับ Luchino Visconti ที่ใช้เวลาชั่วโมงสุดท้าย (จากสามชั่วโมง) เวียนวนอยู่แต่ในงานเลี้ยงเต้นรำจนจบ ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นคือการประมวลผลสรุป 2 ชั่วโมงแรกของหนัง และนำเสนอคำตอบของอะไรหลายๆอย่าง, สำหรับ Hard Boiled ผมก็รู้สึกว่าใช้แนวคิดคล้ายๆกัน เป็น 40 กว่านาทีที่ประมวลผลสรุปบางสิ่งอย่าง นัยยะคือการจำลองย่อประเทศ Hong Kong ความคอรัปชั่นของผู้นำบริหาร จะนำพาประเทศและคนรุ่นใหม่สู่ความหายนะย่อยยับล่มจม
เพลงประกอบโดย Michael Gibbs นักแต่งเพลงจากประเทศ Southern Rhodesia (ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา) เชี่ยวชาญด้าน Orchestral Jazz คงเป็นที่หลงใหลคลั่งไคล้ของผู้กำกับ Woo อย่างยิ่งเลยละ
บทเพลง Jazz กับหนัง Action เหมือนเป็นอะไรที่ไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ แต่ใช่ว่าจะดังขึ้นตอนฉากบู๊หรือขณะกราดยิง มักในช่วงเวลาที่ตัวละครอยู่ในวันๆปกติ สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก และจิตวิญญาณของพวกเขาออกมาได้อย่างหรูหราระดับ และสากลมากๆ
ขณะที่ฉากแอ๊คชั่น ก็ใช่ว่าบทเพลงจะดังกระหึ่มกลบหมดทุกสิ่งอย่าง มีลักษณะเป็น Subtle เน้นเสียงเครื่องกระทบบรรเลงประกอบเป็นพื้นหลัง คอยช่วยเสริมสร้างบรรยากาศตื่นเต้นลุ้นระทึก แล้วไปมุ่งเน้น Sound Effect ให้เด่นดังชัดกว่า
Hard Boiled คือเรื่องราวของตำรวจนายหนึ่ง ที่แม้จะดื้อรั้นก้าวร้าวหัวแข็งขนาดไหน แต่ก็เฉพาะกับอาชญากรผู้ร้าย ศัตรูคู่อาฆาตแค้นเท่านั้น กับมิตรสหายเพื่อนตำรวจ หรือแม้แต่สายสืบที่ปลอมตัวเป็นโจร ความเป็นพี่น้องพวกเดียวกันมันอยู่ในสายเลือดเข้มข้น พร้อมยินยอมเสียสละทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อช่วยเหลือปกป้องให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย
ใจความของหนังนี้ ผู้กำกับ Woo คงต้องการสะท้อนให้ชาว Hong Kong รู้จักความหมายของ ‘คนเชื้อชาติเดียวกัน’ อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียว พูดจาภาษาคุยรู้เรื่อง คนจีนเหมือนกันแทนที่จะรักใคร่กลมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวปึกแผ่น แต่ไฉนในสังคมกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง คอรัปชั่น คดโกงกิน (เห็นว่าตอนถ่ายทำฉากในร้านน้ำชา มีแก๊งมาเฟียหนึ่งมาเรียกร้องขอเงินค่าคุ้มกัน ก็ไม่รู้จ่ายไปหรือเปล่านะ เรื่องแบบนี้สมัยนั้นยังพบเจออยู่ได้เรื่อยๆ)
การจำลองฉากในโรงพยาบาลให้เป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง ถือเป็นการสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมในหลายๆระดับ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ (ผู้นำประเทศ?) พยายามทำทุกสิ่งอย่างไม่สนหัวของประชาชน หรือแม้แต่เด็กทารก (คนรุ่นถัดไป) ถ้าฉันต้องสูญเสียประโยชน์ส่วนตน ทุกคนก็จะต้องล่มจมถูกทำลายไปด้วยกัน
เมื่อปี 1984 ประเทศจีนยืนกรานไม่ต่อสัญญาให้สหราชอาณาจักร หลังจากครบกำหนด 99 ปี ทำให้เมื่อถึง ค.ศ. 1997 เกาะ Hong Kong จะหวนกลับคืนสู่ดินแดนการปกครองของจีน มีสองสิ่งใหญ่ๆที่เกิดขึ้นตามมา
– เหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989 นำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ประชาชนกว่าแสนคนลุกฮือกันเพื่อโค่นล้มการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ลุกลามบานปลายนำไปสู่การนองเลือด สุดท้ายก็ล้มเหลวพ่ายแพ้ไม่เป็นท่า ข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,500 คน บาดเจ็บ 7,000-10,000 คน
– เพราะความล้มเหลวในการปฏิวัติครั้งนั้น สร้างความหวาดหวั่นกลัวให้ชาว Hong Kong เป็นอย่างมาก เกิดปรากฎการณ์สมองไหล ผู้คนอพยพสู่หลายๆประเทศ อาทิ อังกฤษ, อเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย ประมาณการณ์ว่ากว่า 5 แสนคน ในช่วงสิบปีก่อนถึงการส่งมอบ
ที่ผมยกประเด็นนี้มา เพราะคาดคิด(ในความเห็นส่วนตัว)ว่าอาจเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Woo สะท้อนใส่เข้ามาในหนัง คุ้นๆว่าหลายตัวละครพูดประมาณ ‘ฉันจะอยู่ Hong Kong นี่แหละ ไม่ย้ายไปไหน’ ราวกับต้องการสื่อถึงประเด็นสมองไหลนี้ และฉากไคลน์แม็กซ์กับความตายไร้สาระของผู้บริสุทธิ์ ก็เป็นไปได้สูงจะสะท้อนเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยผู้ร้าย Johnny Wong ก็คงคือตัวแทนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อคงอำนาจของตนเองไว้เพียงผู้เดียว
เอะ! ผู้กำกับ John Woo ไม่ใช่ว่าก็สมองไหลไปอเมริกาหรอกหรือ หลังจากหนังเรื่องนี้ก็มุ่งสู่ Hollywood ปักหลักอาศัยอยู่เกือบๆสองทศวรรษ … ก็น่าจะเรียกได้เช่นนั้น อุตส่าห์พูดผ่านตัวละครอย่างมั่นเหมาะว่า ฉันไม่หนีไปไหนหรอก แต่กลับ
แต่ใช่ว่าจะไปแล้วไปลับ รอดูเชิงช่วงการส่งมอบเกาะฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีนเรียบร้อย มีการต่อเวลา 50 ปี ให้ปกครองกันเองไปก่อน ระหว่างนั้นก็ค่อยๆหาข้อสรุปจะเอายังไงต่อ … พอมันกลายเป็นแบบนี้ ก็เท่ากับฮ่องกงยังไม่ได้กลายเป็นของจีนโดยสมบูรณ์แบบ Woo จึงเดินทางกลับเพื่อสร้าง Red Cliff (2008) เปรียบฮ่องกงกับฝ่ายเล่าปี่ ขณะที่โจโฉผู้พ่ายแพ้อย่างเสียหน้าในยุทธการผาแดงคือประเทศจีน ก็น่าจะเป็นไปได้!
ด้วยทุนสร้าง $4.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในฮ่องกง HK$19.7 ล้านเหรียญ ($2.8 ล้านเหรียญ) เทียบไม่ได้เลยกับผลงานเก่าๆของ Woo นี่แสดงถึงว่าภาพยนตร์แนวนี้เริ่มไม่ได้รับความนิยมในประเทศแล้ว, กระนั้นเมื่อนำออกฉายต่างประเทศ ตามเทศกาลหนังต่างๆ ได้รับเสียงตอบรับดีล้นพ้นจากผู้ชมฝั่งยุโรป/อเมริกา ผู้ชมกระทืบเท้า ส่งเสียงตะโกนเชียร์กันแบบกระหึ่มโลก ติดต่อขอซื้อไปจัดฉายจนน่าจะคืนทุนล้นหลาม ทำเอาโปรดิวเซอร์และผู้กำกับต่างคาดไม่ถึงในผลลัพท์ดังกล่าว
“I found out Western audiences love it more than The Killer. The critics liked The Killer more because it mixed the action with the art. But movie lovers liked Hard Boiled.”
– John Woo
ขณะรับชมผมไม่รู้มาก่อนว่าไคลน์แม็กซ์จะคือฉากในโรงพยาบาล ตอนเห็นหนังให้ความสนใจกับเด็กทารกเป็นพิเศษก็เกิดความฉงนสงสัยอย่างรุนแรง มันจะมีอะไรขึ้นหรือเปล่า! ซึ่งสิ่งที่เกิดถัดมาก็ทำเอาช็อคไปเลยละ ไม่ชอบเท่าไหร่ที่นำเด็กเล็กขนาดนั้นมาเป็น prob ประกอบฉาก แม้จะเข้าใจนัยยะเหตุผลแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชื่นชอบหนังขึ้นมาสักนิด หักลบกลบความเท่ห์ของหลายๆฉาก เลยให้ความชื่นชอบส่วนตัวแค่ SO-SO
สำหรับคะแนนคุณภาพของหนัง ต้องบอกว่าตัดสินให้ยากอยู่นะ ถึงเรื่องราวจะไร้ซึ่งความสมเหตุสมผล พัฒนาการตัวละครแทบไม่มี ผู้ร้ายก็แค่สองมิติ แต่การออกแบบฉากต่อสู้ แอ๊คชั่น ความเท่ห์ บ้าระห่ำ Special Effect นั่นมันระดับ Masterpiece เลยนะ, ก็เลยมาครุ่นคิดว่า หนัง Action ถ้าสามารถทำให้ผู้ชมเกิดความลุ้นระทึกนั่งไม่ติดเก้าอี้ อะดรีนาลีนหลั่งคลั่ง และมีความสดใหม่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แค่นั้นก็เพียงพอจะถือว่ามีคุณค่ายิ่งใหญ่ระดับตำนานแล้ว
แนะนำกับคอหนัง Action Thriller ทางฝั่ง Hong Kong, เกี่ยวกับตำรวจ สายสืบ มาเฟีย, ชื่นชอบความรุนแรง ฆ่ากันตายโหดๆ เลือดสาด, แฟนๆผู้กำกับ John Woo และนักแสดง Chow Yun-fat, Tony Leung Chiu-Wai ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ความตาย จ่อยิง เลือดนอง
Leave a Reply