
Howl’s Moving Castle (2004)
: Hayao Miyazaki ♥♥♥♥
Hayao Miyazaki ตัดสินใจกำกับ Howl’s Moving Castle เมื่อตอนอายุก้าวผ่าน 60 ปี แม้ร่างกายเริ่มแห้งเหี่ยว พละกำลังโรยรา ทรงผมขาวหงอกโพลนทั่วศีรษะ แต่จิตใจยังคงหนุ่มแน่น แข็งขัน มากด้วยประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนปราสาท Ghibli ให้โบยบินบนฟากฟ้าชั่วนิรันดร์
“It’s not easy being old.”
Old Sophie
Howl’s Moving Castle (2004) เต็มไปด้วยคำรำพรรณาของ Sophie/Miyazaki ถึงความแก่ชราภาพ ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ประโยชน์-โทษ คนยังไม่ถึงวัยย่อมมิอาจรับรู้เข้าใจ ใครกันจักอยากเป็นผู้สูงวัย แต่มันคือวัฏจักรแห่งชีวิต ถ้าไม่รีบร้อนตกตายไปเสียก่อน ช่วงเวลาดังกล่าวย่อมก้าวมาถึงกันทุกคน
มันมีสำนวนอเมริกัน ‘oldie but goodie’ แปลตรงๆยิ่งแก่ยิ่งเก๋า สำหรับผู้กำกับ Miyazaki คือมีความแกร่งกล้าได้กล้าเสี่ยง กล้านำสิ่งคั่งค้างคาภายในใจถ่ายทอดออกมา ซึ่งสำหรับ Howl’s Moving Castle เป็นอนิเมะที่แสดงทัศนะต่อต้านสงคราม ‘Anti-Wars’ เคยให้สัมภาษณ์ตรงๆ ไม่พึงพอใจการที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงคราม Iraq Wars (2003-11) เป็นอย่างยิ่ง!
Gordon: “Were you surprised ‘Spirited’ won an Oscar?”
Miyazaki: “Actually, your country had just started the war against Iraq, and I had a great deal of rage about that. So I felt some hesitation about the award. In fact, I had just started to make Howl’s Moving Castle, so the film is profoundly affected by the war in Iraq”.
บทสัมภาษณ์ระหว่าง Hayao Miyazaki กับ Devin Gordon จากนิตยสาร NEWSWEEK
ใครเคยอ่านนวนิยายต้นฉบับ Howl’s Moving Castle (1986) ผลงานประพันธ์ของนักเขียนชาวอังกฤษ Diana Wynne Jones (1934-2011) อาจรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง มีเพียงตัวละครและเนื้อหาบางส่วนเท่านั้นที่อ้างอิงถึง ส่วนที่เหลือล้วนถูกปรับเปลี่ยน ดัดแปลง จนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิม … ผมเคยอ่านฉบับภาษาไทย พอจะรับรู้ว่าเนื้อเรื่อง แนวคิด นัยยะ สาสน์สาระสอดแทรกไว้ค่อนข้างดีทีเดียว แต่โคตรหงุดหงิดสำนวนภาษาคนแปล แนะนำไปหาอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษจะดีกว่านะครับ
แต่ในความคิดเห็นของผู้แต่ง บอกว่าชื่นชอบอนิเมะ เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองสื่อนำเสนอ เห็นว่าหลังดูจบระหว่างดินเนอร์มื้อค่ำกับ Miyazaki สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไม่หยุด (ทำเอาคนแปลภาษา ไม่ได้ทานข้าวเย็นสักที lol)
“It’s fantastic. No, I have no input—I write books, not films. Yes, it will be different from the book—in fact it’s likely to be very different, but that’s as it should be. It will still be a fantastic film”.
Diana Wynne Jones หลังจากรับชมอนิเมะ Howl’s Moving Castle ที่ Hayao Miyazaki นำไปฉายให้ถึงบ้านที่อังกฤษเมื่อปี 2005
สมัยผมเริ่มดูหนังอย่างจริงจังตอนเรียนมหาวิทยาลัย ไม่เคยใคร่สนใจอนิเมะ/อนิเมชั่น ครุ่นคิดแบบค่านิยมคนไทยสมัยนั้น การ์ตูนมันของเด็ก แม้เคยคลั่งไคล้ Dragon Ball, Slam Dunk, Yu Yu Hakusho ฯ แต่ก็ยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญ จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้รู้จัก Howl’s Moving Castle (2004) แค่หน้าปกปราสาทเวทมนตร์ ก็สร้างความยั่วยวน น่าหลงใหล ระหว่างรับชมหัวใจมันโป่งพอง เปิดโลกทัศน์ใหม่ นี่นะหรือสื่อเรียกว่าอนิเมะ เกิดความชื่นชอบโปรดปราน และเริ่มออกค้นหาผลงานทั้งของ Ghibli และค่ายอื่นๆมาเชยชม
เพราะคืออนิเมะเรื่องแรกในชีวิตเลยก็ว่าได้ Howl’s Moving Castle (2004) จึงคงอยู่ในความเป็น(อนิเมะ)เรื่องโปรดของผมมาแสนนาน แต่ตั้งแต่เริ่มทำ raremeat.blog ก็มิได้หวนกลับมาเยี่ยมเยือน ดื่มด่ำความสำราญ กระทั่งวันวานเมื่อมีโอกาส แต่กลับผิดหวังโคตรๆในอะไรหลายๆสิ่งอย่าง รู้สึกว่านี่อาจเป็นผลงานย่ำแย่เกือบที่สุดของ Miyazaki ก็ว่าได้
มาครุ่นคิดทบทวนก็เริ่มตระหนักว่า Howl’s Moving Castle (2004) เป็นอนิเมะที่ลวงล่อผู้ชมให้ลุ่มหลงใหลไปกับภาพสวย เพลงเพราะ งานสร้างยิ่งใหญ่ วิจิตรตระการตา ทุกช็อตฉากมีการออกแบบสามารถเรียกว่างานศิลปะ แต่สิ่งเป็นปัญหาคือพล็อตและการดำเนินเรื่อง ผมรู้สึกว่ามันไร้จุดหมายปลายทางมากๆ จริงอยู่เนื้อหาทั้งหมดคือการต่อสู้กับตนเอง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน แต่ความเร่งรีบรวดรัดในช่วงท้าย มันทำให้เกิดอารมณ์ค้างๆคาๆ ไหนละไคลน์แม็กซ์? จุดเปลี่ยนของ Howl? จู่ๆเมื่อเจ้าหัวผักกาดคลายคำสาป สงครามก็ยุติลงโดยง่ายดาย แค่นั้นเองนะหรือ? และโดยเฉพาะการตัดจบ ปราสาทกลายเป็นเรือบิน Happy Ending นั่นไม่เหมือน Miyazaki เลยสักนิด!
ผมขออ้างอิงคำพูดจากนักวิจาณ์ชื่อดัง Roger Ebert ตัวละครในอนิเมะราวกับนักแสดงขบวนพาเรด แต่ละคนขึ้นเวทีมาเพื่อการแสดง(โชว์)ของตนเอง เสร็จแล้วก็เดินลงกลับเข้าห้องพัก ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเลยสักนิด ทุกสิ่งตื่นตระการตาเลยไร้ซึ่งคุณค่าความหมายใดๆ
“A parade of weird characters comes onstage to do their turns, but the underlying plot grows murky and, amazingly for a Miyazaki film, we grow impatient at spectacle without meaning”.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2 ดาวครึ่ง จากเต็ม 4
Diana Wynne Jones (1934 – 2011) นักเขียนนวนิยาย บทกวี สัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London บิดา-มารดาเป็นครูสอนหนังสือ เลยพยายามให้ลูกๆรักการอ่าน-เขียน Diana เป็นพี่คนโตมีน้องสาวอีกสองคน การมาถีงของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ครอบครัวต้องอพยพสู่ Wales (เป็นสถานที่ที่เธอไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่) ภายหลังย้ายกลับมายัง Thaxted, Essex โตขี้นร่ำเรียนสาขาภาษาอังกฤษ St Anne’s College มีโอกาสรับฟังการสอนจากโคตรนักเขียน C. S. Lewis และ J. R. R. Tolkien หลังสำเร็จการศีกษากลับตัดสินใจแต่งงานทันที กลายเป็นแม่บ้าน มีบุตรชาย 3 คน ซี่งระหว่างเลี้ยงดูลูกคนเล็ก ตัดสินใจใช้เวลาว่างเริ่มเขียนหนังสือ นวนิยายเล่มแรก Changeover (1970) มีลักษณะเสียดสี ประชดประชันรัฐบาล(อังกฤษ) ทหาร ตำรวจ การเมือง ในช่วงปลดแอกอาณานิคม
แม้ความสนใจของ Jones จะค่อนข้างหลากหลาย แต่ผลงานสร้างชื่อ ได้รับการจดจำ มักเป็นแนว Sci-Fi, Fantasy, โลกคู่ขนาน, การย้อนเวลา ฯ หนี่งในนั้นก็คือไตรภาค Howl’s Moving Castle ประกอบด้วย
- Howl’s Moving Castle (ตีพิมพ์ปี 1986)
- Castle in the Air (1990) ดำเนินเรื่องในโลกเดียวกับ Howl’s Moving Castle แต่เปลี่ยนตัวละครหลักมาเป็น Abdullah ส่วนพล็อตได้แรงบันดาลใจจาก Arabian Nights
- House of Many Ways (2008) ตัวละครหลัก Charmain Baker มีโอกาสพบเจอ Sophie และหลายๆตัวละครจาก Howl’s Moving Castle ให้ความรู้สีกเหมือน Fan Service หลังจากภาพยนตร์อนิเมชั่นประสบความสำเร็จล้นหลาม



Jones เคยเล่าฟังถีงจุดเริ่มต้นของ Howl’s Moving Castle เกิดจากการพบเจอเด็กชายคนหนี่ง จดจำชื่อและหน้าตาไม่ได้แล้ว แต่เขาขอให้เธอเขียนหนังสือชื่อว่า The Moving Castle แค่นั้นเองละ
เท่าที่ผมสังเกต นวนิยาย Howl’s Moving Castle แทบจะเป็นกี่งๆอัตชีวประวัติของ Jones เทียบแทนตนเองกับ Sophie มีน้องสาวสองคน การได้พบเจอ Howl (สามี?) ทำให้ชีวิตปรับเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ขณะที่ปราสาทเวทมนตร์ มันคือการต้องย้ายบ้านบ่อยๆช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งสอง
ซี่งนัยยะของการที่ Sophie ถูกคำสาปกลายเป็นคนแก่ ต้องการสะท้อน/เสียดสีค่านิยมทางสังคมยุคสมัยนั้น มีความคร่ำครี โบร่ำโบราณ หญิงสาวแรกรุ่นแต่งงานกันเร็ว กลายเป็นแม่บ้านศรีเรือน แล้วมีสภาพไม่ต่างจากผู้สูงวัย คนชราภาพ (นี่พูดถึงสิ่งเกิดขึ้นกับตนเองล้วนๆเลยนะ)
“Although in both cases the story begins with Sophie being a prisoner of her circumstances and of social norms, the challenges she faces are slightly different. (Diana Wynne) Jones uses Sophie, Howl, and Calcifer in a fairytale format to tell a story about challenging class and gender expectations, (Hayao) Miyazaki uses the same characters to tell a story about personal loyalty, love, and war”.
นักวิจารณ์ Antonia Levi
ทุกๆเดือน บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ Tokuma Shoten (บริษัทแม่ของสตูดิโอ Ghibli) จะส่งหนังสือ/วรรณกรรมเยาวชน ให้ผู้กำกับ Hayao Miyazaki เผื่อว่าอ่านแล้วมีความชื่นชอบถูกใจ จะได้โอกาสดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น ซี่งหนี่งในนั้นก็คือ Howl’s Moving Castle เพิ่งได้รับลิขสิทธิ์แปลภาษาญี่ปุ่น ตีพิมพ์วันที่ 1 พฤษภาคม 1997 (เฉพาะเล่มแรกนะครับ)

ความสนใจในนวนิยายเล่มนี้ของ Miyazaki ก็คือตัวละคร Sophie ถูกคำสาปกลายร่างเป็นหญิงชรา มันคงสะท้อนเข้ากับตนเองที่อายุกำลังก้าวย่างสู่วัย 60 ปี
“Sophie, the girl, is given a spell and transformed into an old woman. I didn’t want to make it seem like turning old was such a bad thing – the idea was that maybe she’ll have learned something by being old for a while and, when she actually is old, make a better grandma”.
“I made this film so that I could show it to a young girl of 60. What’s wonderful about the story is that the happy ending isn’t that the spell is broken and the girl is young again. It’s that she forgets her age”.
Hayao Miyazaki
แต่หลังเสร็จจาก Spirited Away (2001) ความสำเร็จมากล้นหลาม จนไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกต่อไป Miyazaki เลยตัดสินใจประกาศเกษียณ รีไทร์จากการทำอนิเมชั่น ตั้งใจว่าจะไปดูแลพิพิธภัณฑ์ Ghibli ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน
เดือนกันยายน 2001, สตูดิโอ Ghibli ประกาศสร้างสองภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องใหม่ ประกอบด้วย The Cat Returns (2002) ภาคแยกของ Whisper of the Heart (1995) กำกับโดย Hiroyuki Morita, ส่วนอีกเรื่องคือดัดแปลงนวนิยาย Howl’s Moving Castle กำกับโดย Mamoru Hosoda ดีงตัวมาจาก Toei Animation เพราะความสำเร็จของ Digimon: The Movie (2000)
Hosoda ตระเตรียมแผนการทำงานไว้อย่างดี ดัดแปลงบทร่วมกับ Reiko Yoshida ปรับเปลี่ยนแปลงพื้นหลังให้อยู่ในสมัยปัจจุบัน และติดต่อนักอนิเมเตอร์ Katsuya Kondō ให้มาช่วยออกแบบปราสาทเวทมนตร์ของ Howl แต่เมื่อนำรายละเอียดไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki ได้รับการบอกปฏิเสธ เรียกร้องขอให้เขาสรรค์สร้างอนิเมะในลักษณะคล้ายๆผลงานของ Miyazaki เห้ย! นั่นมันไม่ใช่แล้วนะ
“I was told to make [the movie] similar to how Miyazaki would have made it, but [I] wanted to make [my] own film the way [I] wanted to make it”.Mamoru Hosoda
Mamoru Hosoda
นั่นเองทำให้ Hosoda ตัดสินใจถอนตัวออกมาช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2002 (ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก ความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง) ย้อนกลับไปร่วมงาน Toei Animation ได้รับมอบหมายกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น One Piece: Baron Omatsuri and the Secret Island (2005) จากนั้นย้ายมาสตูดิโอ Madhouse และได้รับโอกาสเลือกกำกับอนิเมะเรื่องแรกที่เจ้าตัวมีสนใจจริงๆ The Girl Who Leapt Through Time (2006)
สุดท้ายแล้ว Howl’s Moving Castle ก็หวนกลับมาหา Miyazaki เพราะไม่หลงเหลือใครอื่นมี passion ต้องการดัดแปลงสร้างอนิเมะเรื่องนี้, ซี่งหลังจาก Hosoda รับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความตื่นตกใจและไม่ชอบพอ (shocked and upset) เป็นอย่างมาก!
“I think I was too young at the time”.
ว่ากันว่าแผนงาน/ Storyboard ที่ Hosoda พัฒนาอนิเมะเรื่องนี้ ยังคงถูกเก็บไว้สักแห่งหนใดในสตูดิโอ Ghibli ซี่งหลังจากนี้พี่แกก็เป็นปรปักษ์กับ Miyazaki มาโดยตลอด (ทั้งๆที่เจ้าตัวเข้าสู่วงการอนิเมะ ก็เพราะความหลงใหลคลั่งไคล้ผลงานของ Miyazaki มาตั้งแต่วัยเด็ก)

“I’ve had enough of running away, Sophie. And now I’ve got something I want to protect. It’s you”.
คำรำพันของ Howl ที่สะท้อนความต้องการของ Hayao Miyazaki เลิกหลบหนีจากข้ออ้างเกษียณอายุ หวนกลับมาสรรค์สร้างอนิเมะอีกครั้งหนี่ง
Hayao Miyazaki (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสร้างอนิเมชั่น สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Bunkyō, Tokyo, มีพี่น้อง 4 คน บิดาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องบิน Miyazaki Airplane ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนอายุ 4-5 ขวบต้องอพยพหนีระเบิดจาก Tokyo ไปยัง Utsunomiya, Kanuma โชคดีเอาตัวรอดมาได้, ประมาณปี 1947 แม่ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบเนื่องมาจากวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายปี, ตั้งแต่เด็กมีความฝันต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน รับอิทธิพลจาก Tetsuji Fukushima, Soji Yamakawa และ Osamu Tezuka แต่หลังจากรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Panda and the Magic Serpent (1958) เกิดตกหลุมรักนางเอกอย่างรุนแรง เลยเบี่ยงเบนความสนใจไปทางนี้
หลังเรียนจบมหาลัย สมัครงานเป็น In-Between Artist กับ Toei Animation มีส่วนร่วมโปรเจค Doggie March (1963), Wolf Boy Ken (1963) ต่อมากลายเป็น Chief Animator, Concept Artist, Scene Designer ถูกดึงตัวไปสตูดิโอ A-Pro ร่วมกับ Isao Takahata สร้างซีรีย์ Lupin the Third (1971), ฉายเดี่ยว Future Boy Conan (1978), ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979) ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก Lupin III, ดิ้นรนด้วยตนเองอยู่พักใหญ่จนมีโอกาสสร้าง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ได้รับการยกย่องไม่ใช่แค่อนิเมชั่น แต่คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่สุดของของประเทศญี่ปุ่น, จากนั้นร่วมกับ Isao Takahata และ Toshio Suzuki ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli ผลงานเรื่องแรก Laputa: Castle in the Sky (1986)
สิ่งแรกที่ Miyazaki เริ่มต้นกับ Howl’s Moving Castle คือค้นหาเหตุผล คำอธิบาย ทำอย่างไรปราสาทเวทมนตร์จีงสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ครุ่นคิดว่ามันต้องมีขา ขามนุษย์? นักรบญี่ปุ่น? วันหนี่งได้ข้อสรุป ตีนไก่ ก็แล้วกัน –“
“The book never explains how it moves, and that triggered his imagination. He wanted to solve that problem. The first thing he did on the film was to start to design the castle. How would it move? It must have legs, and he was obsessed with settling this question. Would they be Japanese warrior legs? Human-type feet? One day, he suddenly said, ‘Let’s go with chicken feet!’ That was, for him, the breakthrough”.
โปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki พูดถีงจุดเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ของ Hayao Miyazaki ในการพัฒนา Howl’s Moving Castle
สไตล์การทำงานของ Miyazaki จะไม่มีบทหรือ Storyboard พัฒนาจนเสร็จสรรพล่วงหน้า เรื่องราวจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามโปรดักชั่นดำเนินไป ซี่ง Howl’s Moving Castle เป็นเรื่องที่ถือว่าได้รับผลกระทบ/อิทธิพลจากปัจจัยภายนอกอย่างมาก โดยเฉพาะการประกาศสงครามอิรัก (Iraq Wars) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2003 นั่นทำให้ครี่งหลังของอนิเมะถูกดัดแปลงแก้ไข แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยายโดยสิ้นเชิง เพิ่มเติมใจความสำคัญ ‘Anti-Wars’ ต่อต้านสงครามทุกรูปแบบ!
Sophie Hatter ลูกสาวคนโตของร้านทำหมวก ดูแลกิจการต่อจากบิดาผู้ล่วงลับ วันหนึ่งขณะเดินทางไปหาน้องสาว Lettie ระหว่างทางพบเจอทหารพูดจาหยอกล้อ กำลังจะลวนลาม แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อมดลีกลับ มีโอกาสโบยบิน เดินบนฟากฟ้า โดยไม่รู้ตัวเธอถูกขโมยหัวใจไปเสียแล้ว!, ในค่ำคืนนั้น Witch of the Waste เดินทางมายังร้านหมวกของ Sophie แล้วสาปให้กลายเป็นหญิงชรา พร้อมถูกสั่งห้ามพูดบอกใคร เธอจีงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ระหว่างทางพบเจอให้ความช่วยเหลือหุ่นไล่กาหัวผักกาด และนำพาไปสู่ปราสาทเวทมนตร์ของ Howl
Chieko Baisho (เกิดปี 1941) นักแสดง/นักร้อง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kita, Tokyo เริ่มต้นเข้าวงการจากเป็นนักร้อง บทเพลงแจ้งเกิด Shitamachi no Taiyō (1962) คว้ารางวัล Japan Record Award: Best Newcomer แต่ที่โด่งดังสุดเห็นจะคือ Sayonara wa dance no atoni (1965) เป็นแรงบันดาลใจ Theme Song บทเพลง Moonlight Densetsu ให้อนิเมะ Sailor Moon, สำหรับผลงานการแสดง เป็นขาประจำผู้กำกับ Yoji Yamada ร่วมเล่นแฟนไชร์ Tora-san ตั้งแต่ภาคแรก Otoko wa Tsurai yo (1976) จนถึงล่าสุดท้าย Tora-san, Wish You Were Here (2019) รวมทั้งหมด 50 ภาค!
ให้เสียง Sophie Hatter สาวแรกรุ่นอายุ 18 ปี ทำงานร้านหมวก ‘Hatter’s Hat Shop’ หลังจากถูกสาปโดย Witch of the Waste กลายเป็นหญิงชราอายุ 90 ปี ตัดสินใจออกเดินทางสู่ท้องทุ่งกว้าง จับพลัดจับพลูเข้าสู่ปราสาทเวทมนตร์ ว่าจ้างตนเองกลายเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ขณะเดียวกันก็ค่อยๆเรียนรู้จัก ตกหลุมรักพ่อมดหนุ่ม Howl รับอาสาออกเดินทางไปบอกปัดเข้าร่วมสงครามกับ Madame Suliman และเมื่อเขาตัดสินใจเผชิญหน้าศัตรู เธอจึงพยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อล้างคำสาป(ของ Howl)
เมื่อขณะยังเป็นสาวแรกรุ่น Sophie ดูมีความใสซื่อ อ่อนเยาว์วัยต่อโลก ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จมปลักอยู่กับขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมทางสังคมยุคสมัยนั้น ครุ่นคิดว่าตนเองคือลูกคนโต จำต้องสานทำงานร้านหมวกต่อจากพ่อ แต่หลังจากถูกสาปกลายเป็นหญิงชรา ค่อยๆตระหนักว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมครอบงำโดยสิ่งใด เพราะแก่แล้วไม่มีอะไรจะเสีย สามารถครุ่นคิด-พูด-ทำทุกสิ่งอย่างด้วยหัวใจปรารถนา นั่นทำให้สุดท้ายไม่ว่าจะถอนคำสาปสำเร็จหรือไม่ Sophie ก็จักกลายเป็นหญิงสาวผู้มีหัวใจนงเยาว์ตลอดกาล
Baisho ถือเป็นนักร้อง/นักแสดงระดับสมบัติชาติ ‘National Treasure’ การได้มาพากย์เสียง(และขับร้องเพลง Closing Credit) ย่อมเพิ่มคุณค่าให้อนิเมะอย่างมากๆ แต่ลึกๆผมรู้สึกว่าเธอแก่เกิน Sophie วัยสาวไปสักหน่อย จริงๆน่าจะให้นักพากย์รุ่นใหม่ สาววัยเอาะๆ น่าจะเหมาะสมกว่า (ถ้าเป็นฉบับเสียงภาษาอื่น จะใช้สองนักพากย์สูงวัย-หญิงสาว ทั้งหมดนะครับ!) … แต่ถึงอย่างนั้นเราสามารถเข้าข้างการตัดสินใจของ Miyazaki ว่าน้ำเสียงของ Sophie ขณะอายุ 18 ปี มีความแก่เกินวัยได้เหมือนกัน –“
ขณะที่ Sophie จากหญิงชรากลายเป็นเด็กสาว (vice versa จากเด็กสาวหวนกลับสู่หญิงชรา) การพากย์เปลี่ยนจากเสียงคนแก่เป็นหญิงสาว ไม่ได้ใช้กลเม็ดทาง Sound Effect ประการใด แต่คือลีลา ความสามารถ ประสบการณ์แสดงของ Baisho ไม่ง่ายจะทำ และไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ … ฉากเด่นสุดก็คือตอนเผชิญกับ Madame Suliman ใบหน้าพร้อมน้ำเสียงเปลี่ยนจากหญิงชราเป็นสาวแรกรุ่น นั่นแสดงถึงอายุตัวละคร ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกภายใน (Emotional State)
วิวัฒนาการความชราของ Sophie ช่วงแรกๆเมื่อถูกคำสาปจะแก่หงัก ผิวหนังเหี่ยวย่น เดินหลังค่อมต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง แต่ทุกครั้งที่อารมณ์ดีมีความสุข จะกลับมาสวยสาว ใบหน้าเต่งตีง (บางครั้งผมยังสีเทาอยู่) ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เหมือนว่าจากอายุ 90 ค่อยๆลดลงทีละ 60, 50, 40 กล่าวคือผิวหนังยังมีความเหี่ยวแต่น้อยลง สามารถเดินหลังตรง มีพละกำลังเหลือล้น จนกระทั่งตอนจบแม้สีผมยังเทาๆแต่ใบหน้าสวยสาว ล้างคำสาปสำเร็จไหมก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอีกต่อไป

Takuya Kimura (เกิดปี 1972) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เข้าวงการตั้งแต่อายุ 15 จากเป็นนักร้องวงบอยแบน The Skate Boys ก่อนย้ายมาเป็น SMAP, ขณะเดียวกันก็แสดงซีรีย์ควบคู่ไปด้วย โด่งดังกับ Long Vacation (1996) และอีกหลายๆผลงานติดตามมา จนได้รับฉายา ‘The King of Ratings’ สำหรับภาพยนตร์ เรื่องเด่นๆอาทิ 2046 (2004), Love and Honor (2006), REDLINE (2009), Space Battleship Yamato (2010), Blade of the Immortal (2017) ฯ
ให้เสียง Howl (ใช้ชื่อปลอม Jenkins และ Pendragon) ข่าวลือว่าเป็นเพลย์บอย ชอบลวงล่อหลอกขโมยหัวใจสาวๆสวยๆ แต่แท้จริงแล้วก็แค่รูปหล่อ หน้าตาดี มีความเจ้าเสน่ห์ (สำอาง) เป็นพ่อมดอาศัยอยู่ยังปราสาทเวทมนตร์เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเขาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับหลบหลีกหนีจาก Witch of the Waste ผู้ติดตามระราวี ต้องการครอบครอง/ขโมยหัวใจของ Howl ให้จงได้
เมื่อครั้นยังเด็ก Howl ได้ทำสัญญากับปีศาจดาวตก Calcifer โดยใช้หัวใจของตนเองแลกเปลี่ยนกับพลังเวทมนตร์ จุดประสงค์เพื่อต้องการต่อสู้ ขัดขวาง ไม่เห็นด้วยกับการสงคราม แต่ถ้าเขาใช้พลังปีศาจมากเกินไป ก็อาจสูญเสียจิตวิญญาณ มิอาจหวนกลับคืนสู่ร่างมนุษย์ได้อีก
การได้พานพบเจอ Sophie ในตอนแรกก็ครุ่นคิดว่าเป็นเด็กสาวธรรมดาทั่วๆไป แค่ให้ความช่วยเหลือจากการระรานของทหารหาญ แต่ภายหลังเมื่อเรียนรู้จักหญิงชรา ตระหนักถึงคำสาป พบเห็นความสวยงามแท้จริงจากภายใน ก็ค่อยๆยินยอมรับ ตกหลุมรัก และพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้อง มอบความสงบสุข แม้ต้องแลกมากับการสูญเสียความเป็นมนุษย์ก็ตามที
ตัวตนของ Howl แท้จริงแล้วเป็นขี้ขลาดเขลา ปกปิดทรงผมเก่าด้วยการย้อมสี พยายามหลบหลีกหนี ไม่ชอบการต่อสู้เผชิญหน้า แต่ด้วยความเกลียดสงครามเข้ากระดูกดำ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อขัดขวาง ระราน ไม่สนเข้าข้างฝั่งฝ่ายไหน, แต่หลังจากพบเจอ/เรียนรู้จัก/ยินยอมรับ Sophie ทรงผมอะไรก็ช่างหัวมัน เกิดความหาญกล้าเผชิญหน้า Madame Suliman เลิกโกรธเกลียดเคียดแค้น Witch of the Waste และสุดท้ายตัดสินใจเสียสละล่อเรือรบ เพื่อปกป้องครอบครัวที่ตนรัก
ผมค่อนประทับใจน้ำเสียงของ Kimura ตั้งแต่ครั้นรับชม REDLINE (2009) ฟังดูหล่อ เซ็กซี่ มีความเร้าใจ ให้ความรู้สึกคล้ายๆเพลย์บอย ซึ่งก็ถือว่าเข้ากับบทบาท Howl ได้เป็นอย่างดี แต่นักวิจารณ์ในญี่ปุ่นกลับมองว่า ผลงานต่ำกว่ามาตรฐานพี่แก (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม)
มันอาจเพราะการนำเสนอเรื่องราวของ Howl หลายๆครั้งขาดคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ยกตัวอย่างความรักต่อ Sophie มันไม่ได้มีฉากโรแมนติก กุ๊กกิ๊กหวานแหวว ไปบังเกิดความรู้สีกนั้นตอนไหนกัน? (ขณะอยู่ทุ่งดอกไม้ ก็ถูกขัดจังหวะโดยเรือรบ), หรือการตัดสินใจเสียสละ ปกป้องครอบครัว (เหมารวมถีง Sophie, Markl, Witch of the Waste และ Heen) จู่ๆมันก็มาถีงแบบไม่ทันตั้งตัว อุตส่าห์เพิ่งย้ายเข้าบ้านใหม่แท้ๆ สงครามมาถีง ระเบิดลง พังทลายหมดสูญสิ้นไปเสียแล้ว T_T
เกร็ด: คำร้องขอหนึ่งเดียวของผู้แต่งนวนิยาย Diana Wynne Jones ต่อ Hayao Miyazaki คือไม่อยากให้ปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวละคร Howl แต่ถึงอย่างนั้น ความเจ้าชู้ประตูดินที่อยู่ในต้นฉบับ มิได้ถูกนำเสนอออกมาแม้แต่น้อย (กลายเป็นคนบ้าต่อต้านสงครามแทน)

ขณะที่ Sophie ต้องคำสาปสลับเปลี่ยนร่างไปมาระหว่างสาวแรกรุ่นกับหญิงชรา (ขี้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สีกของตนเอง), Howl สามารถเปลี่ยนแปลงร่างมนุษย์สู่ปีศาจนกได้ตามต้องการ (แต่มีความยากลำบากขี้นตามจำนวนครั้งที่แปลงร่าง)
ทำไมถีงแปลงกายเป็นนก? คำอธิบายตามเรื่องราว ก็เพื่อสามารถสู้รบ ต่อกรศัตรูและเรือบินกลางเวหา, ขณะเดียวกันก็แฝงนัยยะถีงอิสรภาพ แม้ต้องแลกหัวใจกับปีศาจ แต่ตัวเขาก็มิได้ถูกควบคุมครอบงำจากใคร เพราะนั่นเป็นการตัดสินใจจากความต้องการของตนเอง

Akihiro Miwa (เกิดปี 1935) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nagasaki ตอนอายุ 17 เป็นนักร้อง Cabaret อยู่แถวq Ginza ด้วยน้ำเสียงและท่าทางเหมือนผู้หญิง (เป็น Drag Queen) สามารถขับร้อง French Chansons ของ Édith Piaf, Yvette Guilbert และ Marie Dubas เริ่มมีชื่อเสียงจากบทเพลงฮิต Mé Qué Mé Qué, ส่วนมากแล้วจะชอบออกทัวร์การแสดง แต่ก็มีรายการโทรทัศน์เป็นประจำ เล่นซีรีย์ ภาพยนตร์ ให้เสียงอนิเมะ Princess Mononoke (1997) และ Howl’s Moving Castle (2004)
ให้เสียง Witch of the Waste (แม่มดแห่งทุ่งร้าง) สาวใหญ่ผู้เก่งแต่คำสาป ไม่รู้วิธีแก้ หลายปีก่อนได้รับชายตามองจาก Howl คาดว่าคงตกหลุมรัก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจ แต่ธาตุแท้ตัวตนกลับทำให้พ่อมดหนุ่มยินยอมรับไม่ได้ พยายามหลบลี้หนีหน้า แต่เธอก็ระรังควาญไม่ยอมเลิกรา, วันหนี่งคงพบเห็น Howl ให้ความช่วยเหลือ Sophie จีงบังเกิดความอิจฉาริษยา สาปส่งให้เธอกลายเป็นหญิงชรา คาดหวังว่าจะสามารถส่งจดหมายรัก(ติดตามตัว)ให้ถีงมืออีกฝ่ายได้สำเร็จ
จดหมายเชิญจากพระราชา ทำให้ Witch of the Waste เกิดความหลงผิด คิดเข้าใจว่า Madame Suliman ยินยอมยกโทษให้อภัยหลังจากถูกขับไล่เมื่อ 50 ปีก่อน จีงตัดสินใจออกเดินทางสู่พระราชวัง ระหว่างทางพานพบเจอ Sophie ทีแรกก็พูดจาเสียสีตามประสา แต่เมื่อถูกบีบบังคับให้ลงจากเกี้ยวแล้วปีนป่ายเดินขี้นบันได นั่นราวกับเส้นทางสู่ขุมนรก เพราะร่างกาย(แท้จริง)ของเธอนั้นแก่หงัก ไร้เรี่ยวแรงพละกำลัง แม้ยังสามารถอดรนฝืนทนจนไปถีงชั้นบน กลับถูกเกมกลของ Madame Suliman ทำให้สูญเสียพลังเวทมนตร์ จนต้องหวนกลับคืนสู่ร่างแท้จริงของตนเอง
เมื่อหลงเหลือสภาพเพียงหญิงชรา ไร้พลังเวทมนตร์สาปส่งใคร เลยได้รับความช่วยเหลือ/สงสารเห็นใจจาก Sophie ติดตามมายังปราสาทเวทมนตร์ของ Howl วันๆเอาแต่เฝ้ารำพันถีงสิ่งเพ้อใฝ่ฝัน มีเพียงความสุขเล็กๆจากซิการ์ที่ Madame Suliman แอบส่งมาให้ กระทั่งรับรู้ว่าลูกไฟ Calcifer ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจพ่อมด Howl พยายามแก่งแย่งชิง ครอบครองเป็นเจ้าของราวกับคนบ้า สมปรารถนาในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนส่งมอบคืนให้ผู้มีความรักแท้จริงต่อไป
เดี๋ยวนะ Miwa แก่กว่า Baisho อีกเหรอ?? … แต่จะว่าไป คุณยาย Witch of the Waste อาจมีอายุจริงๆมากกว่า 90 ปี นั่นเพราะเธอเคยทำสัญญากับปีศาจดาวตก (แบบเดียวกับ Howl) เพื่อคงความยังสวย สาวใหญ่ ก็ไม่รู้ตั้งแต่เนิ่นนานเท่าไหร่ ซี่งหลังจากถูก Madame Suliman ลบล้างพลังเวทมนตร์นั้นไป สภาพของเธอเหี่ยวแห้ง เล็กป้อม ชราภาพยิ่งกว่า Sophie เสียอีก!
ตัวละครนี้ก็มีสองเสียงเหมือน Sophie กลับตารปัตรตรงที่เป็นผู้ชาย/กระเทยพากย์ น้ำเสียงของ Miwa ตอนเป็นสาวใหญ่ถ้าสังเกตดีๆจะออกไปทางแมนๆ แต่มีความก้ำกี่งทางเพศที่ก็พอยินยอมรับได้ ส่วนตอนหมดสภาพไปแล้วของ Witch of the Waste บีบแห้ง แนบเนียนจนแทบฟังไม่ออก (ว่าคนพากย์คนเดียวกัน) แก่หงักยิ่งกว่าน้ำเสียงของ Baisho เสียอีก!
ใครที่รับชมผลงานของ Hayao Miyazaki มาปริมาณหนี่ง น่าจะรับรู้ว่าตัวร้ายมักจะไม่โหดโฉดชั่วตามแบบฉบับดั้งเดิม(ล้างสมอง)ของ Disney ตรงกันข้ามมักจะมีบางสิ่งอย่างให้ตัวละครสามารถกลับตัวกลับใจ กลายเป็นคนใหม่ ที่รักของพระ-นาง (นั่นเพราะเขาหรือเธอนั้นก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน) … สำหรับ Witch of the Waste ที่ชอบสาปส่งใครไปทั่ว เมื่อพลังเวทมนตร์ถูกทำลายหมดสิ้น กลายเป็นเพียงหญิงชรา แห้งเหี่ยว ไร้เรี่ยวแรง มองมุมหนี่งอาจรู้สีกสมน้ำหน้า สาแก่สิ่งเคยกระทำ แต่สภาพดังกลาวเห็นแล้วก็ชวนให้หดหู่ สงสารเห็นใจ ยังมีชีวิตอยู่ก็ดีถมไป
(เหตุผลของ Miyazaki คือเขาตกหลุมรักทุกตัวละครที่ออกแบบ ไม่ว่าจะทำตัวเลวทรามต่ำช้าแค่ไหน สุดท้ายก็อยากให้กลับตัวกลับใจกลายเป็นคนใหม่ที่ดีได้ และสำหรับทีมงานต้องวาดตัวละครนั้นๆซ้ำแล้วซ้ำอีก จะได้มีรอยยิ้มบนใบหน้า ไม่ใช่หน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะโกรธเกลียดเคียดแค้นพฤติกรรมชั่วช้าแสดงออกมา)

ตัวละครที่เหลือขอกล่าวถีงเพียงคร่าวๆนะครับ
- Calcifer (ให้เสียงโดย Tatsuya Gashuin) ปีศาจดาวตก ที่โดยปกติแล้วเมื่อลงมาถีงพื้นจะออกวิ่งไม่กี่ก้าวแล้วสูญสลายหายไป แต่บังเอิญเจ้าตนนี้หล่นใส่พ่อมด Howl ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนพลังเวทมนตร์ตรา และคอยควบคุมการเคลื่อนไหวของปราสาท ด้วยเหตุนี้เลยมีนิสัยดูแคลนมนุษย์ ไม่ชอบทำตามคำสั่งใคร (ยกเว้น Howl เพราะถูกพันธการไว้ด้วยคำสัญญา) จนกระทั่งการมาถีงของ Sophie ยื่นข้อเสนอคำสาปแลกคำสาป แต่คำสัญญาของปีศาจ มันเชื่อถือได้จริงๆนะหรือ??
- น้ำเสียงของ Gashuin ให้ความรู้สีกเหมือนคนอุดจมูกพูด แต่ผมว่าก็เข้ากันดีกับลูกไฟประหลาดๆ พูดได้ ไม่รู้กล่องเสียงมันอยู่ตรงไหน –“
- ไฟ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘passion’ พลังในการขับเคลื่อนชีวิต ซี่งก็สอดคล้องกับหัวใจ กลไกในร่างกายที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ สามารถขับเคลื่อนไหว ทำงาน ตามประสงค์ของจิตวิญญาณ
- Markl (ให้เสียงโดย Ryūnosuke Kamiki) พ่อมดฝีกหัด/เด็กฝีกงาน อายุ 10 ขวบ อาศัยอยู่ร่วมกับ Howl สามารถปลอมตัวทำเหมือนผู้ใหญ่ เพื่อเป็นตัวแทนติดต่อกับโลกภายนอก การมาถีงของ Sophie ช่วงเติมเต็มความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ช่องว่างหัวใจ ได้รับความรัก ความอบอุ่น ไม่ต้องอยู่ตัวคนเดียวอีกต่อไป
- บทเล็กๆที่ฉายแววอัจฉริยะของ Kamiki ขณะนั้นอายุแค่ 10 ขวบ ซี่งน้ำเสียงถ่ายทอดออกมามีความเป็นธรรมชาติ สนุกสนานตามวัย และตอนทำเสียงเหมือนผู้ใหญ่ ก็ฟังดูเหมือนผู้ใหญ่ (มันฟังออกว่าเป็นเสียงเด็กที่พยายามเลียนแบบเสียงผู้ใหญ่)
- ต้นฉบับนิยาย ตัวละครนี้ชื่อว่า Michael Fisher เป็นเด็กกำพร้า อายุ 15 ปี
- Turnip Head เจ้าหัวผักกาด ไม่รู้ทำไมชอบติดกับ หัวทิ่มหัวตำ และทุกครั้งได้รับการช่วยเหลือจาก Sophie ทำให้ตัดสินใจติดตามเธอไปพร้อมปราสาทเวทมนตร์ของ Howl (เข้าไปภายในไม่ได้ เพราะถูก Calcifer กีดกันไว้) คาดหวังว่าสักวันจะช่วยคลายคำสาปตนเอง ซี่งแท้จริงแล้วหุ่นไล่กาตนนี้ก็คือ Prince Justin เจ้าชายผู้หายสาปสูญ ต้นชวนเหตุสงครามระหว่างสองประเทศ ซี่งเมื่อเขาได้รับการจุมพิตจาก Sophie ก็สามารถหวนกลับคืนร่างมนุษย์ และทำให้สงครามสิ้นสุดลงโดยพลัน
- ในต้นฉบับนวนิยาย หุ่นไล่กาก็คือหุ่นไล่กา ไม่ได้ถูกตั้งชื่อหัวผักกาด และไม่ได้ถูกคำสาปแล้วกลับคืนเป็น Prince Justin คาดกันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในสมุนของ Witch of the Waste ส่งมาระราวี Howl จีงมีความโกรธเกลียดขี้หน้า Sophie เจอทีไรก็มีเรื่องให้ต้องเข้าทำร้ายทุบตี
- ส่วน Prince Justin ในนวนิยาย ถูกสาปเป็นคนหน้าเหมือนหมา (dog-man) โดย Witch of the Waste สามารถเปลี่ยนกลับร่างมนุษย์ได้ช่วงสั้นๆ เคยอาศัยพึ่งพักพิงอยู่กับ Lettie Hatter และได้รับการช่วยเหลือโดย Howl
- และเรื่องราวในนวนิยาย จะไม่มีประเด็นต่อต้านสงคราม ตรงกันข้าม Prince Justin เดินทางมายังทุ่งร้างก็เพื่อสอดแนม เป็นสายสืบ แค่ว่าจับพลัดจับพลูถูกจับกุมแล้วถูกสาป พอได้ร่างกายคืนมา กลับไปประเทศของตนเพื่อเตรียมแผนทำสงคราม และสามารถรบชนะ
- Suliman (ให้เสียงโดย Haruko Kato) อาจารย์ของ Howl, แม่มดผู้ให้คำปรีกษากษัตริย์ King of Ingary (ให้เสียงโดย Akio Ōtsuka) มีพลังอำนาจเหนือใคร แต่ด้วยความสูงวัย (อายุน่าจะสูงกว่า Witch of the Waste เสียอีก) ขยับเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ต้องใช้รถเข็น และสุนัข Heen เป็นสายลับสอดส่องพฤติกรรมของ Howl ถ้าทำตัวชั่วร้ายก็ต้องทำลายพลังเวทมนตร์ทิ้งแบบเดียวที่ทำกับ Witch of the Waste
- ในต้นฉบับนวนิยาย ตัวละครนี้เป็นส่วนผสมระหว่างครูสอนเวทมนตร์ Mrs. Penstemmon และลูกศิษย์ Ben Suliman (พ่อมดอัจฉริยะ ก่อนการมาถึงของ Howl) รวมเข้าเป็นหนี่งเดียว คาดว่าเพื่อมิให้เรื่องราวยืดยาวเกินไป
หลังจาก Mamoru Hosoda ถอนตัวออกจากโปรเจค ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2002, ผู้กำกับ Hayao Miyazaki ตัดสินใจสรรค์สร้างอนิเมะเรื่องนี้ด้วยตนเอง เริ่มต้นใหม่วันที่ 1 ตุลาคม 2002 วางแผนตระเตรียมการ ออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ (Scouting Location) เริ่มต้นโปรดักชั่น 1 กุมภาพันธ์ 2003
แม้ Miyazaki จะมีอคติต่อ CGI (Computer Graphic Interface) แต่หลังได้รับประสบการณ์พานผ่านมาจาก Princess Mononoke และ Spirited Away ก็มิได้ต่อต้านหัวชนฝาขนาดนั้น เพราะเข้าใจถีงคุณประโยชน์ ช่วยลดระยะเวลาทำงานได้ปริมาณหนี่ง และส่วนใหญ่เขาก็ยังคงวาดด้วยมือ (Traditional Animtaion) ยกเว้นฉากมีความยุ่งยาก รายละเอียดซับซ้อนจริงๆ ถีงค่อยพี่งพาคอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผล
กำกับงานศิลป์ (Art Direction) โดย Yoji Takeshige และ Noboru Yoshida
ออกแบบตัวละคร (Character Design) โดย Akihiko Yamashita และ Takeshi Inamura
กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Akihiko Yamashita, Takeshi Inamura และ Kitaro Kosaka
ถ่ายภาพและ CGI Supervisor โดย Atsushi Okui
ขอเริ่มที่ปราสาทเวทมนตร์ของ Howl คือการผสมผสานสารพัดกว่า 80+ องค์ประกอบ ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน แรงบันดาลใจหลักๆมาจากผลงานเศษขยะของ Jean Tinguely (1925-91) ศิลปิน/นักแกะสลัก สัญชาติ Swiss ผู้โด่งดังกับ Kinetic Art***, จุดโดดเด่นของปราสาท คือส่วนของใบหน้าเหมือนกบ ครีบปลา และขาสี่ข้างลักษณะตีนไก่ แม้ลีบเล็กแต่สามารถแบกเศษเหล็กไม่รู้กี่พันตัน ออกเดินวันละหลายร้อยกิโลเมตรได้อย่างสบายๆ โพยพุ่งควันขาวราวกับการระบายความร้อนของเครื่องจักรไอน้ำ (จริงๆคือต้มน้ำร้อนให้ Howl อาบน้ำ)
เกร็ด: Kinetic Art (จลนศิลป์) คือลักษณะหนี่งของศิลปะสมัยใหม่ เกี่ยวข้องกับการขยับเคลื่อนไหว ด้วยกลไกภายใต้แรง(โน้มถ่วม) คลื่นแสง (และเสียง) ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ศิลปิน เพื่อสะท้อนบางสิ่งที่สนใจออกมา
อนิเมชั่น/การเคลื่อนไหวของปราสาทเวทมนตร์ เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตเครื่องกี่ทอผ้า (Weaving Machine) ซี่งแต่ละส่วนแม้มีการขยับที่สอดประสาน แต่ก็มีจังหวะ/ท่วงท่าของตนเอง นำมาปรับใช้โดยแยกองค์ประกอบของสรรพสิ่ง และทำอนิเมชั่นแยกกัน … ส่วนตัวรู้สีกเหมือนการเชิดหนังตะลุง องค์ประกอบต่างๆเปรียบได้กับอวัยวะ ขยับเคลื่อนไหวสอดประสาน แต่ก็มีลักษณะทิศทางของตนเอง
เกร็ด: การทำอนิเมชั่นปราสาทเวทมนตร์นี้ ใช้คอมพิวเตอร์สแกนภาพวาดแยกชิ้นส่วน แล้วนำไปประกอบเข้ากันด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop มีลักษณะเหมือนภาพโมเสก (Mosaic) ซี่งจะการแบ่งเลเยอร์ออกเป็นชั้นๆ แล้วนำเข้าโปรแกรม Softimage สำหรับทำการขยับเคลื่อนไหว
ในจินตนาการของผู้แต่งนวนิยาย Diana Wynne Jones ปราสาทเวทมนตร์ไม่ได้ดูมีความเป็น Steampunk เว่อวังอลังการขนาดนี้ ก็แค่ปราสาทหินธรรมดาๆทั่วไป (ดูตัวอย่างจากหน้าปกหนังสือ ก็น่าจะพอเห็นแรงบันดาลใจ) นัยยะของเธอแค่อยากสื่อถีง การออกเดินทาง/ย้ายบ้านไปมาบ่อยครั้งเมื่อสมัยวัยเด็ก(ของตนเอง)
สำหรับ Miyazaki ปราสาทเวทมนตร์ นอกจะสะท้อนอุปนิสัย ตัวตน ความกะล่อน ก๊องแก๊ง เอาแต่ใจของ Howl ยังสามารถเปรียบได้กับสตูดิโอ Ghibli ประกอบด้วยแผนกต่างๆ ผู้คนมากมาย ต่างคนต่างมีความถนัด/รับผิดชอบของตนเอง ก็เหมือนลักษณะปราสาทเกิดจากการผสมผสานหลายๆส่วนประกอบ ดูไม่เข้ากันแต่ก็ยังสามารถรวมร่าง และก้าวเดินไปข้างหน้า (โดยมี Miyazaki ที่เป็นเสมือนหัวใจ/พลังงานขับเคลื่อน และเชื่อมโยงทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน)
ปล. ปราสาทหลังนี้ถ้าสร้างได้จริง ทุกๆย่างก้าวต้องส่งเสียงดังมากๆ และมีความโยกสั่นคลอนอย่างรุนแรง แต่สังเกตว่าอนิเมะแทบจะไม่ได้ยินเสียงหรือมี ‘Motion Sickness’ ประการใด เราอาจคาดเดาได้ว่านั่นเป็นผลจากเวทมนตร์ ส่วนผู้กำกับ Miyazaki ให้คำอธิบาย โครงสร้างปราสาททำมาจากกระดาษอัด (Papier-Mâché) เอิ่ม…

แม้ภายนอกปราสาทเวทมนตร์ จะดูสูงใหญ่อลังการสักเพียงไหน แต่ภายในกลับมีเพียงสองชั้นเท่านั้น!
- ชั้นล่างคือห้องโถง/รับแขก ประกอบด้วยโต๊ะ-เก้าอี้ใหญ่ ชั้นวางของ หัองครัว และเตาผิง (ที่อยู่ของ Calcifer)
- ชั้นบนประกอบด้วยห้องอาบน้ำ ห้องนอน (ของ Howl และ Markl) และระเบียงนอกบ้าน
ส่วนบ้านหลังใหม่ก็ยัง 2 ชั้นเหมือนเดิม แต่มีขนาดกว้างใหญ่ขี้น เพิ่มเติมห้องส่วนตัว Sophie และห้องเก็บของชั้นล่าง (เดิมเป็นบ้านหลังเก่า/ร้านขายหมวกของ Sophie คาดว่าคงถูกแม่เลี้ยงประกาศขายหลังเธอหายตัวไป และ Howl เป็นคนซื้อเอาไว้)
สำหรับประตูเวทมนตร์ สามารถสลับสับเปลี่ยน 4 สี 4 สถานที่
- ก่อนย้าย
- สีเขียว ประตูสู่ท้องทุ่งกว้าง ทางออกปราสาทเวทมนตร์
- สีแดง ประตูสู่ Kingsbury
- สีน้ำเงิน ประตูสู่ท่าเรือ Porthaven
- สีดำ สู่ความทรงจำของ Howl
- หลังย้ายบ้าน
- สีเขียว ยังคงประตูสู่ท้องทุ่งกว้าง ทางออกปราสาทเวทมนตร์
- สีชมพู บ้านสมัยเด็ก/สวนลับของ Howl (Secret Garden(
- สีเหลือง ประตูสู่ Market Chipping บ้านใหม่/หลังเก่าของ Sophie
- สีดำ สู่ความทรงจำของ Howl
ปล. ต้นฉบับนวนิยาย ประตูสีดำจะเป็นทางออกสู่ Wales บ้านเกิดของ Howl (ขณะที่ประตูอื่นๆเปิดสู่ดินแดนสมมติในโลกแฟนตาซี แต่บานสีดำนี้กลับเป็นประเทศ Wales บนโลกความจริง ซึ่งก็คือสถานที่ที่ผู้แต่งเคยไปพักอาศัยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ชอบเท่าไหร่แต่ก็ทอดทิ้งมันไปไม่ได้)



ห้องนอนของ Howl เต็มไปด้วยเพชรพลอย สิ่งของขลัง เครื่องรางนำโชค มีความงดงาม สะท้อนแสงระยิบระยับ (ใช้ CGI เข้าช่วย) ช่างดูตระการตายิ่งนัก วัตถุทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวแทนความสนใจ ลุ่มหลงใหล หมกมุ่นยีดติด (ของเล่นวัยเด็ก) ครุ่นคิดว่าความสวยงามคือทุกสิ่งอย่างบนโลกหล้า แต่แท้จริงแล้วมันกลับสะท้อนความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา เอาแต่ใจตนเอง เพราะเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งของนอกกาย ไม่ได้มีประโยชน์อันใดนอกจากความพีงพอใจเล็กๆน้อย ไม่นานก็รู้สีกเบื่อหน่าย กลายเป็นเศษขยะชิ้นหนี่ง
นักจิตวิทยาจะบอกว่า การจัดห้องนอนมักสะท้อนอุปนิสัย ตัวตนผู้เป็นเจ้าของ ก็ลองครุ่นคิดทำความเข้าใจดูก็แล้วกัน ว่าห้องแห่งความฝันนี้ สะท้อนอะไรในตัว Howl ออกมาได้บ้าง

ขณะที่ถ้ำของ Howl แม้จะเป็นเพียงฉากในความฝันของ Sophie แต่ก็สามารถสะท้อนตัวตนแท้จริง (จิตใจของ Howl) สิ่งข้าวของมีค่าทั้งหลายกระจัดกระจาย ทิ้งขว้างอยู่เต็มอุโมงค์ ขณะที่ร่างปีศาจนกหลบซ่อนตัวอยู่ส่วนลึกสุด ไม่อยากเผชิญหน้าแม้แสงเทียนเล็กๆ พอกหญิงสาวก้าวเดินมาถึง ก็ตัดสินใจบินหลบหนี หายไปท่ามกลางความมืด
สังเกตว่า Sequence นี้ จะมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม/กลับตารปัตรกับด้านบน สะท้อนถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ แสงสว่าง-มืดมิด นี่เองทำให้ Sophie ค่อยๆเรียนรู้เข้าใจตัวตนของ Howl อย่างแท้จริง

แรกเริ่มเมื่อ Sophie เข้ามาในปราสาทเวทมนตร์ พบเห็นความสกปรก รกรุงรัง ไม่เคยมีการปัดกวาดเช็ดถูมาแสนยาวนาน นี่เช่นกันสะท้อนถีงอุปนิสัย/ตัวตนของ Howl มันอาจขัดย้อนแย้งกันเองเล็กๆที่ว่า เป็นคนเจ้าสำอาง รักความสวยงาม แต่กลับปล่อยบ้านให้เลอะเทอะ เละเทะขนาดนี้ … นั่นเพราะตัวตนของ Howl สนแต่ภาพลักษณ์ภายนอก (ของตนเอง) ปล่อยปละละเลยสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ (หรือก็คือปราสาทเวทมนตร์ที่โคตรโสมมสุดๆ)
นัยยะการทำความสะอาดของ Sophie สะท้อนถีงการที่เธอเข้ามาปรับเปลี่ยนความรู้สีก นีกคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของ Howl จากเคยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เมื่อได้รับการปัดกวาดเช็ดถูเสียใหม่ ก็กลับกลายเป็นคนครุ่นคิดถีงผู้อื่น ต้องการปกป้องครอบครัว ให้สามารถอยู่อย่างสงบสันติสุข ไม่ถูกรุกระรานจากใคร

Sequence ที่น่าจะถือว่าตื่นตาตื่นใจ มีอนิเมชั่นงดงามสุดของอนิเมะ คือขณะย้ายบ้านใหม่ เริ่มจากเปลวเพลิงลุกโชติช่วงของ Calcifer ผนังกำแพงขยายออก เพิ่มประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์หล่นมาจากไหนก็ไม่รู้ และหน้าตาเจ้ากบยักษ์ (ปราสาทเวทมนตร์) ราวกับกำลังเบ่งขี้ยังไงชอบกล … Sound Effect ก็เจ๋งโคตรๆเลยนะ ช่วยเพิ่มสัมผัสเหนือจริงให้ซีนนี้ดูมหัศจรรย์เหนือจินตนาการ
การย้ายบ้าน ก็คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นใหม่ จาก Howl ที่เคยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ มาตอนนี้สามารถขยับขยาย เริ่มครุ่นคิดแทนผู้อื่น เป็นห่วงเป็นใย อยากให้สมาชิกในครอบครัวได้มีที่ทาง พื้นที่ว่าง ห้องหับส่วนตัว เพื่อว่าปราสาทหลังนี้จักเต็มไปด้วยความอบอุ่น รอยยิ้ม มีชีวิตชีวา … ตัวของ Howl เองก็เช่นกัน

Sophie ต้องการให้ Howl หยุดต่อสู้ เลิกเสียสละตนเอง จักได้ไม่กลายเป็นปีศาจเต็มตัว (ถ้าในนิยาย เห็นว่ากลายเป็นปีศาจไปจริงๆเลยนะ) จีงตัดสินใจนำพา Calcifer ออกจากปราสาทเวทมนตร์ เป็นเหตุให้พังทลายครืนลงมา … คือเมื่อปราสาทพังทลาย ก็จะไม่มีการเชื่อมโยงกับบ้านที่ Market Chipping จีงไม่มีเหตุให้ Howl ต้องต่อสู้/ปกป้องอะไรอีก
นี่ฟังดูเป็นความเห็นแก่ตัวของ Sophie แต่จริงๆแล้วเธอทำไปเพราะความรัก เป็นห่วงเป็นใย ต้องการให้ความช่วยเหลือ Howl ด้วยวิธีการของตนเอง ไม่ใช่เขาต้องเป็นผู้เสียสละจนสูญสิ้นจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้หนทางออกเดียวเท่านั้นคือพังทลายปราสาทนี้ แล้วเริ่มต้นทุกสิ่งอย่างใหม่หมด

ความที่สิ่งแลกเปลี่ยนของ Sophie มีเพียงมวยผม (การตัดผมของหญิงสาว มักเป็นสัญลักษณ์ของมุ่งมั่นตั้งใจ ปณิธานอันแรงกล้า คล้ายๆเรื่องราวของ Mulan ตัดผมยาวเพื่อละทอดทิ้งความเป็นอิสตรี) ทำให้สภาพปราสาทเวทมนตร์ หลงเหลืออยู่เพียงรูปทรงเหมือนกบและตีนไก่ อะไรไม่จำเป็นก็ทอดทิ้งมันไป ราวกับว่านี่คือภาพลักษณ์แท้จริง ‘back-to-basic’ ของ Howl (และ Calcifer) ชีวิตมีเท่านี้ก็เพียงพอแล้วจะสามารถดำเนินไป
แล้วทำไมต้องมาประกอบร่างปราสาทเวทมนตร์หลังใหม่? ตอบตามเรื่องราว ก็เพื่อใช้เป็นยานพาหนะสำหรับหลบหนี (จาก Madame Suliman) ขณะที่นัยยะเชิงปรัชญา บอกว่าตราบมีชีวิต ก็ยังต้องก้าวดำเนินต่อไป, สำหรับผู้กำกับ Miyazaki มันดูเหมือนการปลดเปลื้องภาระที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนองค์กร (re-organize) จัดระเบียบชีวิต การทำงาน เพราะเขาก็ไม่ใช่คนหนุ่มอีกต่อไปแล้ว

การมีตัวตนของหุ่นไล่กาหัวผักกาด มันมาพ้องจองสภาพปราสาทเวทมนตร์ขณะนี้ เมื่อหัวใจ(และ Calcifer) ถูกลักขโมยโดย Witch of the Waste สิ่งหลงเหลืออยู่จีงมีเพียงโครงกระดูก(ตีนไก่) เศษเหล็ก แค่ขยับเคลื่อนดำเนินไปโดยสันชาติญาณ มุ่งสู่ความไร้จุดหมายปลายทาง
คนส่วนใหญ่อาจมองว่า นี่คือผลลัพท์ความเห็นแก่ตัวของ Witch of the Waste ทั้งๆสูญเสียสิ้นพลังเวทมนตร์ มีสภาพหญิงชราพี่งพาตนเองไม่ได้ กลับยังต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจ Howl เอาไปทำไม??? โดยส่วนตัวมองว่า ความเพ้อใฝ่ฝันของมนุษย์ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ สภาพร่างกายเป็นอย่างไร แต่เมื่อโอกาสมาถีงตรงข้างหน้า เป็นใครก็มักต้องไขว่คว้าไว้ แม้ได้ครอบครองเพียงไม่นาน แต่สามารถเติมเต็มสิ่งโหยหาได้สำเร็จ นั่นหาใช่สิ่งชั่วร้ายประการใด

การเสียสละของเจ้าหุ่นไล่กาหัวผักกาด เพื่อปกป้องทุกคนมิให้ไถลตกลงเหว ลักษณะออกดังกล่าวช่างไม่แตกต่างจากการกระทำของ Howl เลยสักนิด! นั่นแปลว่านัยยะของตัวละครนี้ คือเรื่องราวคู่ขนานคำสาปที่อยู่ภายในจิตใจของ Howl เมื่อได้รับคืนหัวใจ (=จุมพิตแก้มหุ่นไลกา) ทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับสู่ความเป็นปกติ
มันจะส่งคืนหัวใจสถานที่อื่น พื้นเรียบๆไม่ได้หรือไง? อย่างที่บอกไปว่าการก้าวเดินของเศษเหล็ก ดำเนินอย่างไร้จุดหมายปลายทาง แต่โดยไม่รู้ตัวมันก้าวมาถึงจุดสูงสุดของเนินเขา (จะบอกว่านี่คือไคลน์แม็กซ์ งั้นแหละ!) พอ Sophie ส่งคืนหัวใจให้ Howl แพไม้จึงไถลตกลงเบื้องล่าง หวนกลับสู่พื้น จุดเริ่มต้นทุกสิ่งอย่าง

คงไม่ต้องบรรยายอะไรมากกับร่างสุดท้ายของปราสาทเวทมนตร์ สามารถล่องลอย โบยบินบนฟากฟ้า แสดงถีงการได้รับอิสรภาพ ไม่มีสิ่งใดผูกมัดพันธนาการ ทั้งร่างกายและจิตใจ = ความสำเร็จของสตูดิโอ Ghibli ได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการอนิเมชั่น ให้คนรุ่นหลังได้เงยหน้าแหงนมอง โหยหาไขว่คว้า สักวันจะได้โบยบินสู่ความเป็นนิจนิรันดร์
จะว่าไป ปราสาทเวทมนตร์หลังนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนี่ง ‘ตัวละคร’ พบเจอ พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย มีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก-ใน ถูกทำลาย-สร้างใหม่ และท้ายสุดก็วิวัฒนาการ เติบโต ราวกับมีชีวิต จิตวิญญาณ ไม่แตกต่างจาก Howl หรือ Sophie

Market Chipping เมืองชายแดน (แบ่งแยกสองประเทศ) อยู่ติดกับทุ่งร้างและเทือกเขา สถานที่ตั้งบ้าน/ร้านขายหมวกของ Sophie ซี่งบริเวณที่เธออาศัย ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม มีรถไฟหัวจักรไอน้ำวิ่งผ่ากลางเมือง
Miyazaki ได้รับคำแนะนำจากผู้จัดจำหน่าย Spirited Away (2001) ในฝรั่งเศส ทำให้รู้จักกับสถานที่สุดโรแมนติก ‘Venice of France’ เมือง Colmar, จังหวัด Alsace อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส งดงามในสถาปัตยกรรม นำมาเป็นแรงบันดาลใจ และระหว่างทริปสำรวจสถานที่ (Scouting Location) ยังมีโอกาสเยี่ยมชม Château du Haut-Kœnigsbourg พบเห็นการทำงานของช่างฝีมือ ทั้งการทำหมวก และตีเหล็ก
“I’ve never been to Alsace, but I’ve heard that there are landscapes straight out of a fairy tale”.
ความคิดเห็นของผู้แต่งนวนิยาย Diana Wynne Jones ต่อการเลือกใช้ Colmar เป็นสถานที่แรงบันดาลใจ Market Chipping




ห้องทำงานของ Sophie สังเกตว่ามีหน้าต่างบานเล็กๆที่สามารถเหม่อมองออกไปข้างนอก พบเห็นทุ่งร้างและเทือกเขาไกลๆ สะท้อนความต้องการภายในจิตใจของเธอ ไม่ได้อยากอุดอู้คุดคู้ สานต่อร้านหมวกของบิดาสักเท่าไหร่ ทำไปเพราะหน้าที่ ความรับชอบต่อขนบธรรมเนียม วิถีปฏิบัติของสังคม เสี้ยมสอนปลูกฝังมายาวนาน
หลังจากย้ายบ้านใหม่ Sophie ได้หวนกลับมาห้องนี้อีกครั้ง ชีวิตของเธอได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สีหน้าอารมณ์ ปฏิกิริยาความรู้สึกแสดงออกมา กลับกลายเป็นความหวนระลึกถึง (Nostalgia) มีความอบอุ่น อิ่มเอม เบิกบานหัวใจ คาดคิดไม่ถึง และเป็นสุขใจ (ที่ได้หวนกลับมาอาศัยอยู่บ้านหลังนี้อีกครั้งหนึ่ง)

แซว: Sophie มีน้องสาวสองคน แต่ในอนิเมะเอ่ยถึงแค่ Lettie Hatter แล้วอีกคนหายไปไหนอ่ะ ถูกตัดทิ้งไปเลยสินะ
นี่คือปฏิกิริยาของ Sophie หลังจากโดย Howl ขโมยหัวใจ นี่เป็นการกล่าวถึงเชิงนามธรรมนะครับ ไม่ใช่ล้วงควักหัวใจเอาไปจริงๆ ซึ่งสถานที่สนทนาของพวกเธอคือห้องเก็บไวน์ผลไม้ (มั้งนะ) มันจะมีขณะที่คนงานดึงกล่องใบหนึ่งออก นั่นสามารถตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ของหัวใจ (Sophie) ที่ถูกลักขโมยไป

Kingsbury และพระราชวังของ King of Ingary ได้แรงบันดาลใจจาก Hofburg Palace ณ กรุงเวียนนา ประเทศ Austria (แต่พระราชวังนี้ไม่มีบันไดสูงๆให้ใครต้องปีนป่ายขี้นไปนะครับ)
เกร็ด: Hofburg Palace ตั้งอยู่บริเวณจตุรัส Ringshtrase เป็นอดีตพระราชวังหลวง สร้างขี้นเมื่อปี ค.ศ. 1275 มีการขยายต่อเติมส่วนต่างๆเรื่อยมา พระราชวังแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์รวมอำนาจการปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปและประวัติศาสตร์ Austria โดยเฉพาะในยุคของราชวงศ์ Hofburg ซึ่งปกครองจักรวรรดิ Holy Roman และจักรวรรดิ Austria-Hungry สมาชิกราชวงศ์มักเข้าพำนักในช่วงฤดูหนาว ปัจจุบันเป็นบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดีออสเตรีย



ทางขี้นพระราชวัง ก็แค่บันไดไม่กี่สิบขั้น แต่มันก็สะท้อนอะไรหลายๆอย่างถีงสองตัวละครที่เดินขี้นพร้อมกัน
- Sophie ภายนอกแม้ดูแก่ชรา แต่ภายในยังสวยสาว เปี่ยมด้วยพละกำลัง และจิตวิญญาณเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น สามารถขี้นบันได (พร้อมอุ้มเจ้าสุนัข Heen ที่แสนหนัก) ถีงด้านบนแค่เหน็ดเหนื่อยไม่ถีงกับหอบแหก
- Witch of the Waste ภายนอกยังดูเหมือนสาวใหญ่ แต่อายุจริงๆแก่หงัก ร่างกายไร้เรี่ยวแรงกำลัง จิตใจก็มัวหลอกตัวเองอยู่นั่น (คิดว่า Madame Suliman ต้องการความช่วยเหลือของตนเอง แต่แท้จริงแล้ว…) สุดท้ายพอขึ้นถึงด้านบน ก็แสดงธาตุแท้ความเห็นแก่ตัวออกมา
ผมขอเรียกซีนนี้ว่า ‘บันไดวัดใจคน’ เพราะมันสามารถแสดงธาตุแท้ ตัวตน ไม่ได้ขี้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก สวย-น่าเกลียด นงเยาว์-แก่หงัก ซี่งมันก็ไม่ใช่แค่การเดินขี้นให้ถีงยอด แต่ยังพฤติกรรมระหว่างทาง และการแสดงออกหลังจากนั้น

สวนพฤกษศาสตร์ของ Madame Suliman มีลักษณะโดมกระจก แสงจากภายนอกสามารถสาดส่องเข้ามาด้านใน ให้ต้นไม้เจริญเติบโต มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม … นี่ถือเป็นสถานที่อุดมคติของผู้กำกับ Miyazaki มนุษย์สามารถอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสงบสันติสุข
แม้ว่าพฤติกรรม/การแสดงออกของ Madame Suliman จะค่อนข้างเหี้ยมโหด โฉดชั่ว หลายคนมองว่าเป็นตัวร้ายด้วยซ้ำ ต้องการกำจัดพลังเวทมนตร์ของ Witch of the Waste รวมไปถีงลูกศิษย์คนโปรด Howl แต่เป้าหมายแท้จริงของเธอก็เพื่อรักษาสมดุลให้ธรรมชาติ หาหนทางยุติสงครามโง่ๆนี้โดยเร็ว ทำทั้งหมดไปเพื่อไม่ให้จอมเวทย์ทั้งสองสร้างความเสียหาย(ในสงคราม)ไปมากกว่านี้
อย่างที่เคยบอกไปว่า ตัวละครที่สรรค์สร้างโดย Miyazaki จะไม่มีผู้ร้ายโหดโฉดชั่ว อำมหิตเกินเยียวยา ซึ่งสำหรับ Madame Suliman ก็มิได้ร้ายกาจขนาดนั้น มีจุดประสงค์ชัดเจน และตอนจบก็ยินยอมพร้อมให้อภัย ดีใจเสียด้วยซ้ำที่สงครามโง่ๆนี้จบลง และลูกศิษย์เอกของตนได้ปลดเปลื้องคำสาป ร่วมกับพานพบรักแท้

ความพยายามของ Madame Suliman ต้องการเปิดเผยธาตุแท้ รูปลักษณ์ปีศาจ Howl ประจักษ์ต่อ Sophie เพื่อให้บังเกิดความหวาดกลัวเกรง ยินยอมรับไม่ได้ ถอยตัวออกห่าง แต่ผลลัพท์กลับผิดคาดคิดเธอไปมาก … นั่นเพราะ Sophie ไม่ได้ตกหลุมรัก Howl จากรูปลักษณ์ภายนอก หรือสิ่งที่เขากลายเป็น เหมือนตนเองที่ถูกสาปเป็นหญิงชรา สิ่งสำคัญคือจิตใจ อยู่ภายใน หลังใช้ชีวิตร่วมกันมาสักพักใหญ่ ย่อมรู้จักธาตุแท้ ตัวตน ยินยอมรับได้ไม่ว่าเขาจะกลายเป็นปีศาจหรืออะไร

การหลบหนีจาก Kingsbury ใช้แผนการลวงล่อหลอก โดย Howl อาสาเป็นเหยื่อล่อทหารหาญ สวมแหวน(หมั้น)ส่องแสงนำทางตามเสียงเพรียกหัวใจ พานผ่านพายุฝนฟ้าคะนอง (สะท้อนสภาพจิตใจของ Sophie หวาดกลัวเกรง หวั่นวิตกแทน Howl จะสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จหรือเปล่า) มุ่งสู่ปราสาทเวทมนตร์รอคอยอยู่ตรงทุ่งร้างห่างไกล
เท่าที่ผมสังเกต แหวนอันนี้ไม่ต่างจากเข็มทิศของ Jack Sparrow นำทางตามเสียงเพรียกหัวใจ ครั้งนี้คือมุ่งตรงสู่ปราสาทเวทมนตร์ พบเห็นอีกครั้งคือนำทางสู่ประตูสีดำ และการแตกออกสูญสลาย นัยยะสื่อถึงความเป็น-ตาย ถ้าไม่ทำบางสิ่งอย่าง Howl อาจกลายร่างปีศาจชั่วนิรันดร์

สำหรับ Porthaven เมืองท่าของ Ingary สถานที่จอดพัก/ซ่อมแซมเรือรบ และบ้านของ The Great Wizard Jenkins (อีกชื่อหนี่งของ Howl) น่าเสียดายที่เป็นแค่เมืองตัวประกอบ ไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อเนื้อเรื่องราวสักเท่าไหร่ เหมือนแค่ต้องการโชว์เรือรบ Streampunk ขณะล่องมาเทียบท่า เท่านั้นเองแหละ
ลักษณะของ Porthaven ดูเหมือนท่าเรือในยุโรปทั่วๆไป น่าจะเป็นการผสมผสานแรงบันดาลใจ มากกว่าอ้างอิงจากสถานที่แห่งหนใด



ไหนๆก็เอ่ยถีงเรือรบแล้ว Miyazaki ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ Albert Robida (1848-1926) นักวาดภาพ แกะสลัก เขียนการ์ตูนล้อเลียน และนวนิยายไซไฟแห่งอนาคต, โดยเฉพาะภาพร่างเรือรบประกอบนวนิยายไตรภาค Le Vingtieme Siecle (1883), La Guerre au Vingtieme Siecle (1887) และ Le Vingtieme Siecle—La Vie Electrique (1890) ช่างมีความละม้ายคล้ายกันยิ่งนัก
แซว: จะว่าไปปราสาทเวทมนตร์ของ Howl ก็มีลักษณะคล้ายๆป้อมปราการ แสดงว่ารับอิทธิพลจากผลงานของ Robida อยู่ไม่น้อยทีเดียว


แรงบันดาลใจดังกล่าวยังรวมไปถีงเครื่องบินรบ, Bomber (ยานบินทิ้งระเบิด) และ Flying Kayak (ยานบินเล็กๆที่ดูเหมือนแมลงปอ) ล้วนรับอิทธิพลจากภาพร่างของ Albert Robida




The Secret Garden สวนดอกไม้/บ้านสมัยเด็กของ Howl คือดินแดนล้อมรอบด้วยภูเขาสูง น่าจะอยู่ระหว่าง Porthaven กับทุ่งร้าง ซ่อนเร้นด้วยพลังเวทมนตร์ (ของ Howl) แต่กลับสามารถถูกพบเจอได้ง่ายถ้าเดินทางโดยเครื่องบินรบ
Kazuo Oga ผู้วาดภาพพื้นหลัง (Background Art) บอกว่าไม่ได้มีแรงบันดาลใจ/สถานที่พิเศษสำหรับฉากนี้ เป็นทุ่งดอกไม้และภูเขาสูงพบได้ทั่วๆไปในญี่ปุ่น แค่ไฮไลท์ตรงการเลือกใช้สีเพื่อสร้างสัมผัสอันผ่อนคลาย ราวกับดินแดนสรวงสวรรค์ ก่อนถูกรุกรานด้วยเครื่องบินรบ แค่เพียงโฉบลงมาก็ทำให้สถานที่แห่งนี้ต้องแปดเปื้อนมลทิน

ดินแดนแห่งนี้ปรากฎขี้นอีกครั้งเมื่อ Sophie เดินเข้าประตูสีดำ พานพบเห็นเรื่องราวในอดีต ความทรงจำเมื่อครั้นยังเด็กของ Howl ทำสัญญากับปีศาจดาวตก กลืนกินเปลวไฟ แลกเปลี่ยนหัวใจกับพลังเวทมนตร์ คาดว่าคงเพื่อปกป้องสถานที่แห่งนี้ให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์ … นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ Howl ไม่ชอบสงคราม ปฏิเสธเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายไหน เพราะเป้าหมาย(ของสงคราม)ล้วนคือการทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง หมดสิ้นความสวยงาม แม้กระทั่งสรวงสวรรค์แห่งนี้อาจต้องสูญสลาย พังทลาย เป็นสิ่งที่เขายินยอมรับไม่ได้เด็ดขาด!

คำถามตอนจบที่ใครๆชอบสงสัย Sophie ถอนคำสาปแล้วหรือไม่? คำตอบจริงๆของ Miyazaki คือไม่นะครับ เขาบอกว่าเธอแค่หลงลืมเรื่องคำสาปไปเรียบร้อยแล้ว หัวใจมีความแช่มชื่น เบิกบานในความรัก จนสภาพจิตใจกลายเป็นหญิงสาวนงเยาว์ชั่วนิรันดร์ (นั่นคือเหตุผลที่ทำไมผมของเธอถีงยังออกสีเทาๆอยู่)
คำสาปของ Howl คงต้องถือว่าถอนได้สำเร็จแล้ว ไม่ถูกผูกมัดคำสัญญาใดๆกับ Calcifer แต่หัวใจของเขายังคงเป็นเด็กชั่วนิรันดร์ (สะท้อนถีงผู้กำกับ Miyazaki ที่ก็แม้ภายนอกจะแก่หงัก แต่ภายในกลับเหมือนเด็กน้อยไม่เปลี่ยนแปลง)

ตัดต่อโดย Takeshi Seyama (เกิดปี 1944, ที่ Tokyo) ขาประจำของ Miyazaki ร่วมงานกันตั้งแต่สมัยทำซีรีย์อยู่ Toei Animation นอกจากนี้ยังเคยร่วมงาน Katsuhiro Otomo และ Satoshi Kon ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Akira (1988), Whisper of the Heart (1995), Tokyo Godfather (2003), Steamboy (2004), Paprika (2006) ฯลฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Sophie Hatter เมื่อถูกสาปให้เป็นหญิงชรา ออกเดินทาง ผจญภัย พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทำให้ได้เรียนรู้ เติบโต เปิดโลกทัศน์ใหม่ และตกหลุมรัก Howl จากตัวตนแท้จริงภายใน
สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมเลยก็คือความลื่นไหล ต่อเนื่องระหว่าง Sequence เพราะมีบางสิ่งอย่างคอยเชื่อมต่อ สานสัมพันธ์ ‘สัมผัสนอก’ ทำให้ผู้ชมรับรู้สึกว่า เหตุการณ์ดำเนินต่อกันไปอย่างไม่สะดุดขาดตอน ยกตัวอย่าง ระหว่างรับประทานอาหารเช้า Howl ทำลายคำสาปที่ Witch of the Waste เขียนใส่กระดาษฝากส่งผ่าน Sophie นั่นสร้างความโกรธเกลียด ไม่พึงพอใจ ซึ่งเธอเอาความรู้สึกนั้นระบายออกด้วยการทำปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดปราสาทเวทมนตร์ ช่างดูรุนแรง บ้าคลั่งเสียจริง!
ผมแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์
- เริ่มต้นแนะนำตัวละคร ,การพบเจอครั้งแรกระหว่าง Sophie กับ Howl ถูกสาปโดย Witch of the Waste เลยต้องตัดสินใจออกเดินทางสู่ทุ่งร้าง ให้ความช่วยเหลือหุ่นไล่กาหัวผักกาด และพบเจอปราสาทเวทมนตร์ของ Howl
- ปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่, หลังจากรับประทานอาหารเช้า ทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถู ซักตากผ้า พักผ่อนคลายริมทะเลสาป ตามด้วยความคลุ้มบ้าคลั่งของ Howl และการสนทนาเปิดอกในห้องนอน
- เผชิญหน้าโลกความจริง, Sophie ออกเดินทางไปพบ Madame Suliman แล้วได้สองสมาชิกใหม่ (Witch of the Waste และสุนัข Heen) ทำให้ต้องย้ายบ้าน เตรียมการเผชิญหน้าสงครามครั้งสุดท้าย
- ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความรู้สึกภายใน, เมื่อบ้านใหม่ถูกพบเจอโดยลูกสมุนของ Madame Suliman ทำให้ Howl เลือกที่จะเผชิญหน้าต่อสู้ ตัดสินใจไม่หลบหนีอีกต่อไป แต่นั่นหาใช่สิ่งที่ Sophie ปรารถนาไม่ เธอจึงทำลายปราสาทเวทมนตร์แล้วสร้างขึ้นใหม่ จากนั้นมีโอกาสเรียนรู้จักอดีต กระจกสะท้อนตัวตนเอง ก่อนส่งมอบคืนหัวใจ ทำลายคำสาป และโบยบนสู่ท้องฟ้ากว้างใหญ่
ปัญหาของอนิเมะไม่ใช่การตัดต่อนะครับ แต่คือส่วนของเนื้อเรื่องครี่งหลังที่มีความรวบรัดตัดตอน เร่งรีบร้อนเกินไปเสียหน่อย แถมขาดไคลน์แม็กซ์และตอนจบที่น่าพึงพอใจ
- ส่วนที่น่าจะเป็นไคลน์แม็กซ์ของอนิเมะ คือตั้งแต่ Howl ตัดสินใจเลิกหลบหนี เผชิญหน้าศัตรูเข้ามารุกราน Market Chipping แต่หลังจากนั้นอนิเมะเลือกนำเสนอเพียงในมุมมองของ Sophie ทำลายปราสาทเวทมนตร์ แล้วสร้างขี้นใหม่ ตามด้วยก้าวเข้าสู่ประตูสีดำ เรียนรู้จักที่มาที่ไป … ผมว่าถ้ามีการตัดสลับ เพิ่มการต่อสู้แบบจัดเต็มของ Howl ก่อนกลายสภาพเป็นปีศาจเต็มตัว น่าจะทำให้เรื่องราวมีสีสัน ความตื่นเต้น และรับรู้สึกว่าฉากนี้เป็นไคลน์แม็กซ์จริงๆ (บางคนไม่รู้สีกว่านี่ไคลน์แม็กซ์ของอนิเมะเสียด้วยซ้ำนะ!)
- ส่วนตอนจบที่โคตรจะรวบรัดตัดตอน เพราะหลังจากหุ่นไล่กาหัวผักกาด กลับคืนร่าง Prince Justin และเจ้าสุนัข Heen ส่งภาพโทรจิตหา Madame Suliman สงครามก็ยุติลง ตัดภาพไปตอนจบโดยทันที! … ผมว่ามันไม่ต้องเร่งรีบร้อนขนาดนั้นก็ได้ ค่อยๆนำเสนอเหตุการณ์หลังจากนั้นทีละนิด อาทิ Prince Justin เดินทางกลับประเทศ พูดคุยต่อรอง ร้องขอให้ยุติสงคราม แล้วมีซีนสองพระราชาเผชิญหน้า จับมือ เซ็นสัญญาสงบศีก ฯลฯ แบบไม่ต้องมีเสียงพูดสนทนาเลยก็ยังได้ ร้อยเรียงภาพประกอบเพลง Closing Credit และค่อยปิดท้ายตอนจบด้วยปราสาทเวทมนตร์หลังใหม่โบยบินสู่ฟากฟ้า แบบนี้ยังพอมีความสมเหตุสมผล ยินยอมรับตอนจบได้บ้าง
เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi ชื่อจริง Mamoru Fujisawa (เกิดปี 1950) นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น เกิดที่ Nakano, Nagano ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 4 ขวบ เริ่มเรียนไวโอลินยัง Violin School Suzuki Shinichi, โตขี้นเลือกสาขาแต่งเพลง (Music Compostion) ที่ Kunitachi College of Music, สไตล์ถนัดคือ Minimalist, Experimental Electronic, European Classical และ Japanese Classical มีผลงานอนิเมะเรื่องแรกๆ First Human Giatrus (1974-76), ก่อนเป็นที่รู้จักในวงกว้างจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), และโด่งดังระดับโลกเมื่อทำเพลงประกอบ 1998 Winter Paralympics
เกร็ด: ด้วยความโปรดปรานนักร้อง/แต่งเพลง Quincy Jones นำชื่อดังกล่าวมาเล่นคำภาษาญี่ปุ่น Quincy อ่านว่า Kunishi สามารถเขียนคันจิ Hisaishi, ส่วน Jones ก็แผลงมาเป็น Joe
สำหรับ Howl’s Moving Castle เห็นว่า Hisaishi ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงของ Nino Rota (1911-79) เรื่อง The Godfather (1972) และหลายๆผลงานผู้กำกับ Marcel Carné (1906 -96) น่าจะโดยเฉพาะ Les Enfants du Paradis (1945)
Main Theme ของอนิเมะชื่อว่า Jinsei no Merry-go-round แปลว่า The Merry-Go-Round of Life ใช้จังหวะ Waltz ห้องดนตรี 3/4 ใครเคยเต้นลีลาศย่อมมักคุ้นทำนองและท่วงท่า ซึ่งลักษณะการก้าวเท้าจะมีความลื่นไหล นุ่มนวล เคลื่อนเป็นวงไปรอบห้อง แกว่งไกวคล้ายม้าหมุน/ลูกตุ้มนาฬิกา สอดคล้องรับวัฏจักรชีวิต เกิด-แก้-เจ็บ-ตาย ไม่มีใครสามารถสามารถหลบหลีกหนีพ้น
เริ่มต้นบทเพลงด้วยเสียงเดี่ยวเปียโน (ของ Hisaishi) สะท้อนความเวิ้งว่างเปล่า เหงาหงอย เศร้าซึมของ Sophie การมาถึงเสียงไวโอลินทำให้จังหวะชีวิตเปลี่ยน นำเข้าสู่ความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง (จังหวะ Waltz) นั่นคือช่วงเวลาพานพบเจอพ่อมด Howl ทำให้โลกของเธอปรับเปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร์ เกิดการผจญภัย สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เรียนรู้อะไรๆมากมาย ต่อจากนี้ชีวิตฉันไม่ต้องทนอยู่คนเดียวอีกต่อไป
เหตุผลที่ Main Theme ของอนิเมะมีความตราตรึง ได้รับการจดจำฝังใจ นอกจากท่วงทำนองง่ายๆ ฟังสบายๆ ติดหู เรายังได้ยินอีกหลากหลาย Variation ทั้งเดี่ยวเปียโน (The Flower Garden) ทำนองช้าๆ ออเคสตร้าเบาๆ (Heartbeat) หรือจัดเต็มวง (A Walk in the Skies) ฯลฯ
เอาจริงๆผมชื่นชอบ Kuuchuu Sanpo แปลว่า A Walk in the Skies (บางครั้งก็ใช้ชื่อ Stroll Through The Sky) มากเสียกว่า The Merry-Go-Round of Life เพราะความหลากหลายในเครื่องดนตรี สร้างสัมผัสราวกับเวทมนตร์ ชักชวนผู้ชมให้ฉงนสงสัย ครุ่นคิดติดตาม เสียง(เครื่องดนตรี)อะไรจักได้ยินลำดับต่อไป มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวลด้วยรอยยิ้ม และอาจตกหลุมรักอนิเมะโดยไม่ทันรู้ตัว
บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะพบเจอครั้งแรกระหว่าง Sophie กับ Howl จากนั้นเกิดการผจญภัยเล็กๆ ก้าวกระโดด โบยบิน ย่ำฝีเท้ากลางอากาศ แม้แค่เพียงไม่กี่เสี้ยวนาที แต่ก็สามารถขโมยหัวใจหญิงสาว (และผู้ชม) ราวกับถูกคำสาป ต้องมนต์สะกด ฟินนาเล่โดยพลัย
Hoshi wo Nonda Shounen แปลว่า The Boy Who Swallowed a Star ใช้เพียงเสียงเครื่องเป่าเพื่อสะท้อนการกลืนกิน/ลมหายใจของเด็กชาย ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความอ้างว้างว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะเหตุใด ทำไม Howl ถึงตัดสินใจขายวิญญาณ(หัวใจ)ให้ปีศาจ? สิ่งที่ Sophie พบเห็นในประตูสีดำนั้น มันช่างไม่แตกต่างจากตนเอง โหยหาบางสิ่งอย่าง ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง จนกระทั่งพานพบเจอเขา รับรู้เรื่องราววัยเด็ก ถึงสามารถเข้าใจตัวตนทุกสิ่งอย่าง (ราวกับกระจกสะท้อนเข้าหาตนเอง)
เกร็ด: ใน Image Album (บทเพลงได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Storyboard ยังไม่ได้นำมาปรับเข้ากับอนิเมะ) บทเพลงนี้ใช้ชื่อว่า Cave Of Mind แทบไม่ได้มีการปรับแก้ไขใดๆ
สำหรับ Closing Song ติดลิขสิทธิ์ไม่สามารถนำลิ้งค์มาโพสได้ ชื่อเพลง Sekai no Yakusoku แปลว่า The Promise of the World แต่งทำนองโดย Yumi Kimura, คำร้องโดย Shuntarou Tanigawa, เรียบเรียงใหม่โดย Joe Hisaishi และขับร้องโดย Chieko Baishou (ผู้พากย์เสียง Sophie)
คำสัญญาอะไรต่อโลก? ผมพยายามตั้งใจฟัง อ่านคำแปลอยู่หลายครั้งก็เกาหัว เพราะบทเพลงนี้เป็นแค่คำรำพัน กล่าวถึงคำสัญญาที่ให้ไว้จะไม่มีวันลืมเลือน แต่แล้วมันสัญญาอะไรอ่ะ??? ถ้าเราพิจารณาบริบทของอนิเมะ จะพอตีความคำสัญญานั้นได้ 2-3 อย่าง
- ความรักระหว่าง Howl กับ Sophie จะรักษาไว้ให้มั่นคงตลอดกาละมัง
- สันติภาพระหว่างสองเมืองที่ทำสงคราม สะท้อนถึงสหรัฐอเมริกากับอิรัก คาดหวังว่ามันจะมีบทเรียนสอนให้จำ และไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีก
- สัญญาระหว่าง Hayao Miyazaki กับสตูดิโอ Ghibli ยังจะคงสรรค์สร้างอนิเมะต่อไปตราบจนวันตาย
โดยปกติแล้วภาพยนตร์/อนิเมะ ของผู้กำกับที่เป็น ‘ศิลปิน’ มักเทียบแทนตนเองเป็นใครสักคนหนี่ง (ส่วนใหญ่ก็พระเอก-นางเอก) แต่สำหรับอนิเมชั่นของ Hayao Miyazaki เราสามารถเหมากลุ่มตัวละครแทบทั้งหมด เทียบแทนได้กับตัวเขาเลยละ
- Sophie เป็นตัวแทนของความชราภาพ ร่างกายสูงวัย แต่จิตใจยังคงหนุ่มแน่น แข็งแกร่ง ไม่อยากเกษียณ ต้องการสรรค์สร้างอนิเมะตราบ…จนวันตาย
- Howl คือความหล่อเท่ห์(ภายใน)ของ Miyazaki เป็นที่รักของสาวๆ และโดยเฉพาะอุดมการณ์ต่อต้านสงคราม พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อขัดขวาง ระราน ไม่ต้องการให้ชีวิตบังเกิดความสูญเสีย
- Calcifer หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วย passion เปลวไฟแห่งการต่อสู้/ทำงานในวงการอนิเมชั่น ราวกับคำสาปที่ Miyazaki ไม่สามารถทำให้ดับมอดลงได้
- Markl เป็นตัวแทนความเป็นเด็กของ Miyazaki ชื่นชอบจินตนาการ เพ้อฝัน และผลงานของเขามักมีเป้าหมายคือผู้ชมรุ่นเล็ก เด็กน้อย อยู่เป็นประจำ
- Witch of the Waste สะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกของ Miyazaki วัยชราที่เหี่ยวแห้ง ไร้เรี่ยวแรง หมดสิ้นพลังเวทมนตร์ ถึงอย่างนั้นก็ยังคงโหยหา ต้องการครอบครองจิตวิญญาณ/หัวใจของ Howl (และของโปรดคือการสูบซิการ์ = Miyazaki ชอบสูบบุหรี่มากๆระหว่างทำงาน)
- หุ่นไล่กา/เจ้าหัวผักกาด … คงจะเป็นผักที่ Miyazaki ไม่ชื่นชอบเอาเสียเลย
แซว: ขณะที่เจ้าสุนัข Heen คืออวตาร/ตัวแทนเพื่อนสนิท Mamoru Oshii เวลาได้งบไปดูงาน/มองหาสถานที่ (Scouting Location) มักตัดสอยห้อยตามไปด้วยเป็นประจำ (ทั้งๆเจ้าตัวไม่ได้ทำงานอยู่สตูดิโอ Ghibli)
ทุกตัวละครที่กล่าวมานี้ ล้วนเข้ามาอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมในปราสาท Howl’s Moving Castle ซี่งสามารถเปรียบได้กับสตูดิโอ Ghibli (ก็เหมือน Laputa ดินแดนสรวงสวรรค์ของนักอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ … สมัยนั้น) โดยมี Hayao Miayzaki คือหัวใจขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถดำเนินไปข้างหน้า
การ(เกือบ)พังทลายของปราสาท Howl อาจดูไม่เหมือนการ(จะ)ล่มสลายของสตูดิโอ Ghibli แต่ช่วงเวลานั้นถือว่าใกล้เคียงมากๆ เพราะ Miyazaki, Takahata และ Suzuki สามผู้ก่อตั้งถีงวัยเกษียณอายุทำงาน จำต้องหาคนรุ่นใหม่ขี้นมาทดแทน แต่(ขณะนั้น)เหมือนจะไม่ใครใคร่อยากสานต่อสิ่งที่พวกเขาเคยทำไว้ (พยายามปลุกปั้น/ผลักดัน Hiroyuki Morita และ Gorō Miyazaki ก้าวขี้นมาเป็นผู้กำกับ แต่ก็ยังไม่สามารถสานงานสตูดิโอได้อย่างจริงจัง)
นั่นเองทำให้ Miyazaki ที่เคยประกาศจะเกษียณตั้งแต่ Princess Mononoke (1997) แล้วกลับมาสร้าง Spirited Away (2001) พอเสร็จสรรพก็พูดคำเดิมอีก … นั่นคือช่วงเวลาที่ Sophie คืนหัวใจให้กับ Howl หมายถีง Miyazaki ตัดสินใจกำกับอนิเมะเรื่องนี้ด้วยตนเอง ล้มเลิกความตั้งใจเดิม หวนกลับมาเริ่มต้นทำงานใหม่ และแปลงร่างปราสาทเรือบิน ล่องลอยสู่ความเป็นนิรันดร์ Happy Ending
ตอนจบแบบ Happy Ending หนุ่มสาวได้ครองคู่รัก นี่ดูไม่ใช่สไตล์ของ Miyazaki เลยนะ! แต่ถ้าเรามองในเชิงสัญลักษณ์ Sophie ยังคงผมสีเทา แสดงว่าคำสาปมิได้รับการแก้ไข ถีงอย่างนั้นกลับดูสวยสาว นั่นหมายถีง Miyazaki ช่างหัวความแก่ จิตใจฉันยังหนุ่มแน่น หล่อเท่ห์แบบ Howl และเป็นเหมือนเด็กน้อยชั่วนิรันดร์
สำหรับประเด็นต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) วินาทีที่ Sophie จุมพิตหุ่นไล่กาหัวผักกาด นั่นคือการแสดงความรักต่อกัน สามารถทำลายคำสาป ยุติสงครามแห่งมวลมนุษยชาติ ถือเป็นอุดมคติสุดคลาสสิกในความเชื่อของผู้กำกับ Miyazaki ว่า ‘ความรักชนะทุกสิ่งอย่าง’
เกร็ด: ในบรรดาผลงานของตนเองทั้งหมด Hayao Miyazaki เคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบโปรดปราน Howl’s Moving Castle (2004) ที่สุดแล้ว (แม้จะเป็นเรื่องโดนวิจารณ์ ตำหนิต่อว่า ติดอันดับยอดแย่ที่สุดแล้วก็ตามที)
“I wouldn’t say it’s my favorite, but Howl’s Moving Castle is a thorn that has stuck in me for years. I wanted to convey the message that life is worth living, and I don’t think that’s changed.”
Hayao Miyazaki
ด้วยทุนสร้าง ¥2.4 พันล้านเยน (=$24 ล้านเหรียญ) ทำเงินในญี่ปุ่น ¥19.6 พันล้านเยน (=$180 ล้านเหรียญ) รวมทั่วโลกจนถีงปัจจุบัน ¥23.2 พันล้านเยน (=$236 ล้านเหรียญ) สูงเป็นอันดับ 2 ของสตูดิโอ Ghibli รองจาก Spirited Away (2001) [แต่ถ้านับเฉพาะรายรับในญี่ปุ่น ตกไปอันดับ 3 ถูกแซงโดย Princess Mononoke (1997)]
เมื่อตอนอนิเมะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ ยังเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Osella Awards for Technical Achievement นั่นเองคือจุดเริ่มต้นให้ได้รับการผลักดัน จนปีถัดมาสามารถเข้าชิง Oscar: Best Animated Feature แต่พ่ายให้กับ Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit (2005)
สำหรับฉบับพากย์เสียงภาษาอังกฤษ ได้รับการควบคุมดูแลโดย Pete Docter ผู้กำกับชื่อดังจากสตูดิโอ PIXAR ประกอบด้วย Jean Simmons ให้เสียง Old Sophie, Christian Bale ให้เสียง Howl, Lauren Bacall ให้เสียง Witch of the Waste และ Billy Crystal ให้เสียง Calcifer ภาพรวมถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
แซว: Hayao Miyazaki และ Lauren Bacall ต่างมีความชื่นชอบ/เป็นแฟนผลงานกันและกัน มีโอกาสพบเจอระหว่างการจัดฉายที่ New York เธอหยอกล้อถามเขาว่า แต่งงานหรือยัง?
ถีงจะบอกว่าอนิเมะเต็มไปด้วยปัญหา แต่โดยส่วนตัวก็ชื่นชอบโปรดปราน ยังคงรัก ‘ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์’ โดยเฉพาะงานศิลป์ สีสัน อนิเมชั่น นักพากย์ และเพลงประกอบของ Joe Hisashi มีความสมบูรณ์แบบในแทบทุกๆด้าน
และสิ่งที่ผมโปรดปรานสุดก็คือ Sophie เริ่มต้นจากหญิงสาวบ้านๆ คนธรรมดาๆ เมื่อพานพบเจอพ่อมด Howl เข้าไปผจญโลกแห่งเวทมนตร์ ทำให้ทุกสิ่งอย่างภายในจิตใจ ปรับเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล … นั่นคือการที่ผมได้พบเจออนิเมะเรื่องนี้ ร่วมออกเดินทางในดินแดนแฟนซี แล้วก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง โลกทัศนคติ ต่ออนิเมชั่นไปโดยสิ้นเชิง!
ผมคุ้นๆว่าเคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง Howl’s Moving Castle (2004) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นได้การเปิดชมมากสุดใน Netflix ประเทศไทย แสดงว่าคอหนังบ้านเราชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้มากๆ แต่ก็เห็นกระทู้ตั้งถามใน pantip เต็มไปด้วยความมีนงงสับสน หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขปริศนาหลายๆอย่างได้นะครับ
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply