Havoc In Heaven

Havoc in Heaven (1961, 64) Chinese : Wan Laiming ♥♥♥♥

อนิเมชั่นภาพสีขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศจีน แต่เป็นผลงานสุดท้ายของ Wan Brothers ก่อนการมาถึงของ Culture Revolution ดัดแปลงจากนวนิยายจีนคลาสสิก ไซอิ๋ว เฉพาะตอนเห้งเจีย/ซุนหงอคงอาละวาดแดนสวรรค์ ตั้งฉายาตัวเองว่ามหาเทพเสมอฟ้า งดงาม อลังการ พริ้วไหวเหมือนการแสดงงิ้ว เรียกได้ว่า Masterpiece

สองปีก่อนที่ได้รับชม Princess Iron Fan (1941) อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศจีน ผมก็เฝ้ารอโอกาสเหมาะที่จะหาดู Havoc in Heaven ไม่ใช่ภาคต้นหรือภาคต่อ ความน่าสนใจคือจากผู้สร้างเดียวกันสี่พี่น้อง Wan อนิเมเตอร์รุ่นแรกของประเทศจีน โดยเฉพาะพี่ใหญ่ Wan Laiming เรียกได้ว่า ‘บิดาแห่งวงการอนิเมชั่นจีน’

จะบอกว่าคาดไม่ถึงเลยสักนิด คุณภาพความยอดเยี่ยมของ Havoc in Heaven พัฒนายกระดับจาก Princess Iron Fan แทบจะฟ้ากับเหว! สืบเนื่องจากอิสรภาพ-ความกดดัน งบประมาณทุนสร้าง และสำคัญสุดน่าจะคือประสบการณ์ทำงาน ก้าวมาถึงจุดสูงสุดแห่ง ‘Golden Age of Chinese Donghua’

เกร็ด: 动画, Dònghuà ภาษาจีน แปลว่าการ์ตูน อนิเมชั่นเคลื่อนไหว

ความน่าเสียดายบัดซบ เกิดขึ้นจากการมาถึงของ Culture Revolution (1966-76) การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ นั่นทำให้วงการอนิเมชั่นจีน ถือเป็นของต่างชาติ มีความฟุ่มเฟือย ถูกริดรอนบ่อนทำลายล้าง ทำให้องค์ความรู้ทั้งหลายสามารถที่เคยสะสมพัฒนาการกันมา พลันสูญเสียหายสิ้นไปโดยสิ้นเชิง

ผมจินตนาการไม่ออกเลยนะ ถ้าประเทศจีนไม่เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรร วงการอนิเมชั่นจะได้รับการพัฒนา’ต่อเนื่อง’ก้าวไกลไปถึงระดับไหน อาจเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาเลยก็เป็นได้


Wan brothers สี่พี่น้องชาวจีน เกิดที่ Nanjing พ่อเป็นนักธุรกิจค้าไหม ส่วนแม่เป็นนักออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า เลี้ยงดูลูกๆให้ต่างมีความลุ่มหลงใหลในงานศิลปะ การวาดภาพ
– Wan Laiming (1900 – 1997)
– Wan Guchan (1900 – 1995)
– Wan Chaochen (1906 – 1992)
– Wan Dihuan (1907 – ?) ไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมหลัง Culture Revolution

ในบรรดาสี่พี่น้อง Wan บุคคลที่คือหัวแรงใหญ่ ตัวตั้งตัวตีทุกสิ่งอย่างคือพี่คนโต Wan Laiming (แฝดกับ Guchan แต่คลอดออกมาก่อน) ความที่วัยเด็กมีโอกาสรับชมภาพยนตร์การ์ตูนนำเข้าจากต่างประเทศ เกิดความลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ พอโตขึ้นเข้าทำงานแผนกออกแบบศิลป์ Shanghai Commercial Press จนเข้าใจวิธีการสร้างสรรค์อนิเมชั่น ใช้ห้องใต้หลังคาร่วมกับน้องๆ วาดภาพแมวไล่จับหนูในหนังสือเล่มหนาๆ ทดลองทำโน่นนี่นั่นจนกระทั่งสามารถสร้างโฆษณาอนิเมชั่นชิ้นแรกของประเทศจีนได้สำเร็จ Shuzhendong Chinese Typewriter (1922)

ปี 1924, Laiming และ Guchan ได้รับคำชักชวนจาก Great Wall Film Company ให้มาทดลองทำภาพยนตร์อนิเมชั่น เสร็จสำเร็จเรื่องแรกคือ Uproar in the Studio (1926) [สูญหายไปแล้ว], ต่อด้วยอนิเมชั่นเสียงเรื่องแรก The Camel’s Dance (1935) [สูญหายไปแล้วเช่นกัน]

การมาถึงของสงคราม Second Sino-Japanese War กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองเซี่ยงไฮ้ ได้นำภาพยนตร์จากตะวันตกเข้ามาฉาย นั่นรวมถึง Snow White and the Seven Dwarfs (1939) อนิเมชั่นภาพวาดสองมิติขนาดยาว เรื่องแรกของโลก! เมื่อพี่น้อง Wan มีโอกาสรับชมจึงมิอาจรอช้าอยู่ใย ต้องการสร้างสรรค์ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวสัญชาติจีน เพื่อไม่ให้เป็นการน้อยหน้านานาอารยะ หลบๆซ่อนๆรอดพ้นรอดพ้นสายตาทหารญี่ปุ่น ใช้เวลาสามปีสำเร็จเป็น Princess Iron Fan (1941) แม้คุณภาพไม่เท่าไหร่ แต่ได้เสียงตอบรับล้นหลาม คืนทุนสร้างได้อย่างสบายๆ

ด้วยเหตุนี้พี่น้อง Wan จึงต้องการสานต่อโปรเจคถัดไปโดยทันที แต่ทหารญี่ปุ่นเริ่มมีความเข้มงวดกวดขัน แถมนายทุนถอนตัวหลบลี้หนีเอาตัวรอด เป็นเหตุให้ต้องขึ้นหิ้งโปรเจคไว้ แยกย้ายไปทำงานอื่นเอาตัวรอดจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Shanghai Animation Film Studio เริ่มต้นจากอนิเมชั่นสีขนาดสั้นก่อน Why is the Crow Black-Coated (1956) ตามด้วยสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ Cut-Out Animation เรื่อง Pigsy Eats Watermelon (1958)

และ 大闹天宫, Dà nào tiān gōng แปลภาษาอังกฤษ Havoc of Heaven ดัดแปลงจากนวนิยายจีนคลาสสิก ไซอิ๋ว จุดกำเนิดเห้งเจีย/ซุนหงอคง วานรหินเกิดจากศิลาวิเศษซึ่งปริแตก ณ ดินแดนตงเซิ่งเสินโจว, ภูเขาฮัวกั่วซาน กลายเป็นอ๋อง/กษัตริย์ปกครองอยู่ถ้ำม่านน้ำ (จุ๊ยเลียมต๋อง) สำเร็จวิชาแปลงกายเจ็ดสิบสองอย่าง อาวุธที่ใช้คือกระบองสารพัดนึกได้จากวังมังกร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ออกอาละวาดแดนสวรรค์ ตั้งฉายาตัวเองว่ามหาเทพเสมอฟ้า ก่อนถูกพระยูไลสะกดไว้ใต้ภูเขาเบญจคีรี รอการช่วยเหลือห้าร้อยปีให้หลังจากพระพระถังซัมจั๋ง


Laiming และ Guchan ต้องการท้าทายขีดจำกัดวงการอนิเมชั่นอย่างถึงขีดสุด เดินทางไปศึกษาร่ำเรียนศิลปะพื้นบ้าน วาดภาพ สถาปัตยกรรมเพิ่มเติมถึงกรุงปักกิ่ง ใช้ศิลปินไม่น้อยกว่า Princess Iron Fan รังสรรค์ภาพวาด 70,000 เฟรม ด้วยเหตุนี้เลยต้องแบ่งออกเป็นสองภาคฉายห่างกันสามปี โดยครึ่งหลังได้ Chaochen และ Dihuan หวนกลับมาร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง

ไดเรคชั่นของอนิเมะ รับอิทธิพลเต็มๆจากการแสดงงิ้วปักกิ่ง ออกแบบให้เห้งเจียดูเหมือนนักแสดงสวมหน้ากากโค้งมน แสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทาง ร่างกายขยับเคลื่อนไหว มือยกไกวตลอดเวลา จังหวะลีลาคล้ายการเริงระบำ สอดคล้องรับท่วงทำนองเพลงงิ้วได้อย่างลงตัว

แซว: ตรงกันข้ามกับเห้งเจีย คือเง็กเซียนฮ่องเต้ (Jade Emperor) ใบหน้านิ่งเหลี่ยม นั่งตระหง่านสูงใหญ่อยู่บนบัลลังก์ แทบไม่พบเห็นขยับเคลื่อนไหวร่างกายแต่ประการใด

ออกแบบศิลป์เห็นปุ๊ปดูออกทันทีว่ามีความเป็นจีนแท้! รับอิทธิพลจากภาพวาดจีนโบราณ ใส่ลวดรายละเอียด ความโค้งมนสลับเหลี่ยมคม (แทนความอ่อนไหว/เข้มแข็ง) สถาปัตยกรรมอ้างอิงจากสถานที่สำคัญๆอย่าง พระราชวังต้องห้าม ฯ

โทนสีสันแบ่งเฉดตามสถานที่ สวรรค์-โลกมนุษย์-บาดาล หรือขึ้นกับพลานุภาพคู่ต่อสู้ของเห้งเจีย มีความหลากหลายจนน่าจะครบทุกสีเลยกระมัง, พื้นหลังระบายสีน้ำ และใช้เทคนิคภาพยนตร์ แพนนิ่ง ซูมมิ่ง ซ้อนภาพเข้าช่วย อาจดูหยาบๆไม่ค่อยสมจริงบ้าง แต่เสริมแต่งความแฟนตาซีได้อย่างดี

ฉากการต่อสู้ที่ผมถือว่าคือ Masterpiece ของอนิเมะเรื่องนี้เลย! เห้งเจีย vs. เทพเจ้าสามตาเอ้อหลางเสิน (Erlang Shen)** ที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างไปเรื่อยๆ จากนกเป็นปลาเป็นพังพอนเป็นโน่นนี่นั่น คู่ต่อสู้ก็สามารถพลิกแพลง ตลบแตลง ตอบโต้แก้ทางกลายร่างเป็นสัตว์อื่นที่ได้เปรียบกว่า ถ้าตัวต่อตัวกันไปเรื่อยๆใครจะเป็นผู้ชนะละเนี่ย โคตรอยากรู้!

เกร็ด: ตามตำนานเล่าว่า เทพเอ้อหลางเสินสามารถแปลงร่างได้ 72 ท่าเหมือนเห้งเจีย แต่สาเหตุที่ราชาลิงพ่ายแพ้ให้เพราะตอนสู้มาถึงท่าที่ 72 ไม่ยอมแปลงเป็นร่างสุนัข(รับใช้)


ราชาลิง ก็อยู่ของมันดีๆอย่างสงบสุขสบาย แต่เป็นจตุรเทพทั้งสี่ของเง็กเซียนฮ่องเต้ ต่างพยายามครุ่นคิดหาวิธีควบคุม ครอบงำ ให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของสวรรค์ ความไม่บริสุทธิ์ใจดังกล่าวนั้น มิใช่เรื่องยากจะได้รับการค้นพบเปิดเผยออก เป็นเหตุให้เห้งเจียรู้สึกถึงความทรยศหักหลัง ครุ่นคิดหาวิธีการโต้ตอบกลับ ตาต่อตาฟันต่อฟัน สติปัญญาสู้ไม่ได้ก็พละกำลัง เปลี่ยนแปลงร่างไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งใดพ่ายแพ้

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปรียบเทียบเง็กเซียนฮ่องเต้ พระราชวังบนสรวงสวรรค์ได้กับระบอบการปกครองดั้งเดิมของจีน และราชาลิงสามารถเทียบแทนด้วยท่านประธานเหมาเจ๋อตุง ได้ออกอาละวาด ก่อกวน ทำลายล้าง เพราะถูกลวงล่อหลอก รุมล้อมจับกุม ทัณฑ์ทรมานให้ตายทั้งเป็น … แต่คนอย่างฉันเป็นอมตะไม่มีวันตาย อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่มีวันสูญสลาย สุดท้ายเมื่อไม่มีใครต่อกรได้ ก็เผ่นแนบหางจุกตูดหนี

สาเหตุที่อนิเมะจบสิ้นแค่ตรงนั้น ก็เพราะสาเหตุนี้นะครับ สะท้อนเข้ากับนัยยะยกย่องเชิดชูท่านประธานเหมา จะให้ถูกฝ่ามือพระยูไลสะกดไว้ใต้ภูเขาเบญจคีรีก็กระไรอยู่!

 

อนิเมชั่นแบ่งออกเป็นสองภาค เสร็จสำเร็จปี 1961 ตามด้วย 1964 ตั้งแต่ปี 1965 ถึงได้ฉายควบต่อเนื่อง เสียงตอบรับจากผู้ชมชาวจีนดีล้นหลาม แต่การมาถึงของ Culture Revolution ทำให้ถูกแบนห้ามฉายเพราะถูกมองว่ามีใจความ anti-Maoist ซะงั้น! (คือประมาณว่า ราชาลิงสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นมากกว่าชัยชนะแห่งอิสรภาพ!)

หลังการสิ้นสุดของ Culture Revolution อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่ Re-Release ทั่วผืนแผ่นดินจีน แถมยังแพร่หลายโด่งดังไปทั่วโลก แต่พี่น้อง Wan ก็ถึงวัยโรยราชราภาพ หมดสิ้นเรี่ยวแรงกำลังใจ ตัดใจไม่หวนกลับสู่วงการอนิเมชั่นอีกเลย

ส่วนตัวชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้มากๆ สนุกสนาน เพลิดเพลิน ดื่มด่ำไปกลับการเคลื่อนไหว/เพลงประกอบ ที่รับอิทธิพลจากการแสดงงิ้ว หลงใหลสุดคือออกแบบงานศิลป์ นี่แหละจีนแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์!

แนะนำคออนิเมชั่นสองมิติ ชื่นชอบการต่อสู้ผจญภัยแฟนตาซี นวนิยายไซอิ๋ว เห้งเจีย, หลงใหลงานศิลปะ อนิเมชั่นสไตล์จีน รับอิทธิพลการแสดงงิ้ว, และคนทำงานอนิเมเตอร์ วาดภาพการ์ตูน ไม่ควรพลาดเลย!

จัดเรตทั่วไป

คำโปรย | Havoc in Heaven ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ทำลายทุกความคาดหวังบนสรวงสวรรค์ สมบูรณ์แบบ และเป็นจีนแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์!
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: