Häxan

Häxan (1922) Swedish : Benjamin Christensen ♥♥♥♥

(6/11/2022) โคตรหนังเงียบที่ราวกับบทเรียนประวัติศาสตร์แม่มด เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้นพระเจ้าสร้างโลก วิวัฒนาการความเชื่อศรัทธา อคติต่อบุคคลครุ่นคิดเห็น/แสดงพฤติกรรมแตกต่าง มาจนถึงปัจจุบัน(ยุคสมัยนั้น)เมื่อวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ความจริงหลายๆอย่าง

ในความเข้าใจของผู้กำกับ Benjamin Christensen แม่มดยุคสมัยก่อนไม่ใช่แค่อิสตรี หรือเพศหญิง แต่เน้นย้ำว่า ‘poor women’ ทั้งยากจน ทั้งโชคร้าย ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร จู่ๆโดนจับกุมตัว ถูกทัณฑ์ทรมาน ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส เลยต้องยินยอมรับสารภาพผิด(ที่ไม่ได้ก่อ) และชี้ตัวบุคคลอื่นไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นอะไรด้วยเลยสักนิด!

In the span of a few centuries, over eight million women, men and children were burned as witches.

แต่แทนที่จะสร้างเนื้อเรื่องราวแบบ ‘narrative film’ กลับนำเสนออกมาในลักษณะคล้ายๆความเรียง ‘essay film’ บทเรียนสอนประวัติศาสตร์แม่มด พร้อมสอดแทรกมุมมองความคิดเห็นส่วนตน โดยอ้างอิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อชี้นำความเข้าใจของผู้รับชมภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน

[Häxan (1922)] is a cultural history lecture in moving pictures.

Benjamin Christensen

ทีแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะหวนกลับมา Revisit เรื่องนี้หรอกนะครับ แต่หลังจากเขียนถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่มดมาหลายเรื่องติดๆ เลยเกิดความคิดอยากรับชม/ปรับปรุงบทความ Häxan (1922) ที่ถือเป็นเสาหลักไมล์ต้นแรก(ของหนังแนวแม่มด)อีกสักครั้ง!

ไม่ใช่ว่า Häxan (1922) คือภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่มดเรื่องแรกของโลกนะครับ แต่ถือเป็นผลงานที่ทำให้โลกทัศน์ของผู้ชมต่อ ‘แม่มด’ ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! ไม่ใช่ปีศาจร้าย หรือบุคคลอันตราย นำเอาความเชื่อผิดๆของคนสมัยก่อนมาอธิบายให้กระจ่างแจ้ง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองพวกเธอเหล่านี้คือมนุษย์ไม่แตกต่างกัน!

เกร็ด: Häxan (1922) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของผู้กำกับ Guillermo del Toro เปรียบเทียบดังรูปแกะสลัก Witches’ Sabbath ของศิลปิน Pieter Bruegel the Elder (1525/30-69) และภาพวาดขุมนรกของ Hieronymus Bosch (1450-1516) ที่ต่างเลื่องลือชาในผลงานเกี่ยวกับสวรรค์-นรก แม่มด ปีศาจร้าย

Häxan is the filmic equivalent of a hellish engraving by Bruegel or a painting by Bosch. It’s a strangely titillating record of sin and perversity that is as full of dread as it is of desire and atheistic conviction, and a condemnation of superstition that is morbidly in love with its subject.

Guillermo del Toro

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่มดเรื่องแรกของโลก เท่าที่ผมค้นพบเจอก็คือ La Fée Carabosse ou le Poignard fatal (1906) แปลตรงตัว The Carabosse Fairy or the Fatal Dagger แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Witch กำกับโดย Georges Méliès ความยาวเต็มๆ 15 นาที หลงเหลือถึงปัจจุบันแค่ 12 นาที ส่วนสีสันที่เห็นจากในคลิปเกิดจาก ‘Hand-Colored Prints’ ลงสีด้วยมือทั้งหมด รวมอยู่ในคอลเลคชั่น DVD/Blu Ray ชื่อว่า Méliès: Fairy Tales in Color เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อปี 2018 นี้เองนะครับ

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่มด นับเรื่องไม่ถ้วนในยุคสมัยหนังเงียบ แต่ส่วนใหญ่ก็หายสาปสูญไปแล้ว

  • La Jeteuse de sort (1906) แปลว่า The Village Witch ไม่รู้ใครกำกับ
  • La maison ensorcelée (1908) แปลว่า The Witch House กำกับโดย Segundo de Chomón
  • The Witch (1908) กำกับโดย Van Dyke Brooke
  • The Witch of Salem (1913) กำกับโดย Raymond B. West
    ฯลฯ

Benjamin Christensen (1879-1959) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติ Danish เกิดที่ Viborg, Denmark เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้อง 12 คน ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย คาดหวังให้บุตรชายสำเร็จวิชาการแพทย์ แต่เขากลับออกจากโรงเรียนเตรียมเพื่อเดินตามความฝันนักร้องอุปรากร แต่ล้มป่วยอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเส้นประสาท จึงเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงละครเวที กลับยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้กล่องเสียง จนกระทั่งปี 1912 ค่อยเรียนรู้จักวงการหนังเงียบที่กำลังได้รับความนิยม เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง (เพราะไม่ต้องใช้เสียง) ก่อนผันตัวผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Sealed Orders (1914)

เสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมของผลงานลำดับที่สอง Blind Justice (1916) ทำให้มีโอกาสเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ครั้งหนึ่งมีโอกาสฉายหนังในเรือนจำ Sing Sing ณ Ossining, New York แล้วพบเห็นนักโทษหลายคนมีปฏิกิริยารุนแรงระหว่างรับชม จึงเข้าไปพูดคุยกับผู้คุมเล่าถึงประสบการณ์ต่ออาญากรเหล่านี้ ต่อให้เป็นบุคคลโฉดชั่วร้ายสักเพียงไหน แต่ถ้าได้รับการชี้แนะนำทางที่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมสามารถกลับตัวกลับใจกลายเป็นคนใหม่

Christensen began to think about how a belief in absolute evil caused mankind to dehumanize and persecute those with mental illness, deformity, and in poverty.

Steve Haberman ผู้แต่งหนังสือ Silent Screams: The History of the Silent Horror Film (2010)

เมื่อปี 1919 ในร้านหนังสือแห่งหนึ่งที่กรุง Berlin, ผู้กำกับ Christensen ได้ค้นพบคัมภีร์ Malleus Maleficarum (1487) หรือ Witchhammer เรียบเรียงโดยเสมียนชาวเยอรมัน Heinrich Kramer (1430-1505) สำหรับใช้พิจารณาตัดสินคดีความ เค้นหาตัวแม่มดมาลงโทษถูกเผาให้ตกตายทั้งเป็น!

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นให้ผู้กำกับ Christensen ใช้เวลาถึงสองปีเต็มในการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแม่มด การล่าแม่มด รวมถึงงานศิลปะเกี่ยวกับแม่มด ในตอนแรกก็ครุ่นคิดสร้างเรื่องราว ‘narrative film’ แต่เพราะถูกต่อต้านจากบรรดาที่ปรึกษา เลยครุ่นคิดวิธีการนำเสนอรูปแบบใหม่ ยุคสมัยนั้นยังไม่มีคำเรียกเพราะถือเป็นครั้งแรกของภาพยนตร์แนวความเรียง ‘essay fim’ หรือจะเรียกว่าสารคดี ‘documentary’ ก็ได้เช่นกัน

เกร็ด: Häxan เป็นภาษา Swedish, Heksen เป็นภาษา Danish, ส่วนภาษาอังกฤษคือ The Witches

แต่แทนที่จะหาทุนสร้างจากในประเทศ ผู้กำกับ Christensen เดินทางไปพูดคุยกับสตูดิโอ Svensk Filmindustri ของสวีเดน น่าจะด้วยสองสามเหตุผลหลักๆ

  • Svensk Filmindustri เป็นสตูดิโอขนาดใหญ่ที่สุดในแถบ Scandinavian ยุคสมัยนั้น (ปัจจุบันก็น่ายังเช่นเดียวกัน) จึงมีเงินทุนหนา ขอมาสักล้านสองล้านโครนาสวีเดน คงไม่ใช่ปัญหาอะไร
  • การได้งบประมาณจากสตูดิโอต่างประเทศ แล้วโปรดักชั่นถ่ายทำใน Denmark จักทำให้ไม่ถูกควบคุมครอบงำ หรือมีใครเข้ามายุ่งวุ่นวาย
  • แต่จริงๆแล้ววงการภาพยนตร์สวีเดนขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นสุดๆ จนต่อมามีคำเรียกยุคสมัย The Golden Age of Swedish Cinema (1917-24) จึงมอบอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงาน ‘artistic freedom’ อย่างไร้ขีดจำกัดอยู่แล้ว

เกร็ด: ไม่ใช่แค่ Benjamin Christensen แต่ยัง Carl Theodor Dreyer ที่เป็นผู้กำกับชาว Danish เคยของบประมาณจากสตูดิโอ Svensk Filmindustri เพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์ The Parson’s Widow (1920)


หนังแบ่งออกเป็น 7 ตอนละ 10-12 นาที (ตามความยาวม้วนฟีล์มยุคสมัยนั้น) ประกอบด้วย

  • ตอนที่ 1: นำเสนอวิชาการเกี่ยวกับพระเจ้าสร้างโลก ต้นกำเนิดปีศาจ-แม่มด วิวัฒนาการความเชื่อศรัทธา ด้วยการร้อยเรียงภาพวาด ภาพถ่าย ภาพแกะสลัก รวมถึงทำการสาธิตด้วยกลไก หรือใช้นักแสดงประกอบการแสดง
  • ตอนที่ 2: นำเสนอจินตนาการ แฟนตาซีของมนุษย์ที่มีต่อปีศาจ-แม่มด เวทย์มนต์คาถา (witchcraft) การทำน้ำยารัก (Love Potion) ซาตานพยายามลวงล่อหลอกหญิงสาว และเข้าฝันหญิงชรา
  • ตอนที่ 3-5: พื้นหลังยุคสมัย Middle Age นำเสนอการปฏิบัติต่อบุคคลผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแม่มด โดยยกเรื่องราวของนักพิมพ์หนุ่ม Jesper จู่ๆพลันล้มป่วยนอนอยู่บนเตียง ภรรยา Anna ใส่ร้ายป้ายสีหญิงชรา Maria กล่าวหาว่าคือแม่มด ซึ่งหลังจากโดนจับกุม ถูกทัณฑ์ทรมาน จึงยินยอมรับสารภาพ แล้วเล่าเหตุการณ์ Witches’ Sabbath จากนั้นชี้ตัวบุคคลอื่น จนกระทั่งทางการหวนกลับมาจับกุม Anna (เพราะโดนกล่าวหาโดยใครก็ไม่รู้ว่าเป็นแม่มด) และตัดสินโทษแผดเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น
  • ตอนที่ 6: นำเสนอคำสารภาพต่างๆของผู้ถูกตีตราว่าแม่มด หลังได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสจากการถูกทัณฑ์ทรมาน ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผิดธรรมชาติ ผิดมนุษยมนา
  • ตอนที่ 7: ย้อนรอยจากตอนที่ 6 แต่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์/แพทย์แผนปัจจุบัน มาอธิบายเรื่องราวที่ผิดธรรมชาติ ผิดมนุษยมนา และให้ข้อสรุปถึงแม่มด ตามความคิดเห็นของผู้กำกับ

สำหรับนักแสดง ส่วนใหญ่คือตัวประกอบที่ป้วนเปี้ยนตามกองถ่ายภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ ที่น่าสนใจนั้นมีอยู่สองสามคน

  • ผกก. Christensen นอกจากพบเห็นขณะแนะนำผู้กำกับ (ตอนที่ 1) ยังสวมบทบาทซาตาน (The Devil) แต่งหน้าแต่งตัวให้เหมือนปีศาจร้าย พยายามลวงล่อหลอกหญิงสาวยามค่ำคืน เข้าไปอยู่ในความเพ้อฝันหญิงชรา รวมถึงโชว์แก้มก้นให้ใครต่อใครจุมพิต ดูท่าทางสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ไม่น้อย
    • และนอกจากนี้ก็ยังรับบทพระเยซูคริสต์ ด้วยเช่นเดียวกัน
  • Astrid Holm (1893 – 1961) นักแสดงสัญชาติ Danish เกิดที่ Sorø Municipality, วัยเด็กร่ำเรียนเต้นที่ Royal Danish Ballet แต่ไปๆมาๆมีความสนใจด้านการแสดงมากกว่า ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้เป็นนักแสดงประจำ Det Ny Teater ติดตามมาด้วย Royal Danish Theatre เข้าตาสตูดิโอภาพยนตร์ Nordisk Film จับเซ็นสัญญา แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติกับ The Phantom Carriage (1921), Häxan (1922), Master of the House (1925) ฯลฯ
    • รับบท Anna ศรีภรรยาของนักพิมพ์ Jesper เมื่อพบเห็นสภาพของสามี และได้รับฟังคำเตือนของหมอ จึงเกิดอาการหวาดสะพรึงกลัวต่อแม่มด ใส่ร้ายป้ายสีหญิงชราคนหนึ่ง จนสุดท้ายผลกรรมหวนกลับคืนสนอง
    • แม้เป็นเพียงบทบาทเล็กๆ แต่ต้องชมการแสดงปฏิกิริยาสีหน้าท่าทาง ถ่ายทอดอาการหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวได้อย่างน่าประทับใจ
  • ขณะที่ไฮไลท์ต้องยกให้หญิงชรา Maren Pedersen รับบท Maria the weaver เห็นว่าเธอคือคนขายดอกไม้อยู่ริมถนน น้ำซุปที่เห็นยกซดพร้อมคราบน้ำตา เพราะเป็นอาหารมื้อแรกในรอบหลายวัน, หรือฉากเล่าเรื่องปีศาจ นั่นคือสิ่งที่เธอกล่าวอ้างว่าเคยพบเห็นจริงๆ นั่งอยู่เคียงข้างเมื่อตื่นขึ้นมายามดึกดื่น

ถ่ายภาพโดย Johan Ankerstjerne (1886-1959) สัญชาติ Danish เกิดที่เมือง Randers ในครอบครัวช่างซ่อมนาฬิกา ต่อมาเข้าร่วมสตูดิโอ Nordisk Film กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ August Blom ได้รับคำชมอย่างมากเรื่อง Atlantis (1913), จากนั้นมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Benjamin Christensen โด่งดังระดับนานาชาติ Blind Justice (1916), Häxan (1922) ฯลฯ น่าเสียดายหลังจากนั้นผันตัวไปเป็นเจ้าของกิจการ Johan Ankerstjerne A/S ก่อนเปลี่ยนเป็น Nordish Films Kompagni แลปล้างฟีล์มชื่อดังในประเทศ Denmark

เพื่อสร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ งานภาพของหนังเต็มไปด้วยลูกเล่น มายากล (คงจะรับอิทธิพลไม่น้อยจาก Georges Méliès) คละคลุ้งด้วยหมอกควัน Special Effect รวมถึงเทคนิคภาพยนตร์ อาทิ การซ้อนภาพ (Double Exposure), สตอปโมชัน (Stop-Motion), การเคลื่อนไหวย้อนกลับ (Reverse Motion) ฯลฯ

ผู้กำกับ Christensen ได้ติดต่อขอซื้อสตูดิโอร้าง Astra Film ตั้งอยู่เมือง Hellerup, Denmark แล้วทำการก่อสร้างทุกสิ่งอย่างขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่ถ่ายทำตอนกลางคืน ในสถานที่ปิด เพื่อสร้างบรรยากาศให้ทีมงาน/นักแสดง และผลลัพท์งานภาพออกมามีโทนสีเข้มๆ (Dark Hue)

เกร็ด: หนังเริ่มถ่ายทำเดือนกุมภาพันธ์ ถึงตุลาคม ค.ศ. 1921 และใช้เวลาหลังถ่ายทำ (Post-Production) อีกเกือบปีสำหรับเทคนิคพิเศษ สามารถออกฉายช่วงปลายปี ค.ศ. 1922


นี่คือชื่อหนังเต็มๆนะครับ Häxan: Ett kulturhistoriskt föredrag i levande bilder i 7 avdelningar. แปลตามซับไตเติ้ลว่า The Witches: A Cultural and historical presentation in moviing pictures in seven parts. และช็อตถัดมาจะปรากฎภาพใบหน้าชายคนหนึ่ง นั่นก็คือผู้กำกับ Benjamin Christensen เพื่อให้ผู้ชมสามารถจดจำว่าใครคือบุคคลสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

การนำเอาใบหน้าตนเองแทรกใส่เข้ามาตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็เพื่อจะบอกว่า Häxan (1922) ไม่ใช่ภาพยนตร์ประเภท ‘narrative film’ แบบทั่วๆไป ซึ่งเนื้อหาของข้อความบน Title Card ให้ความรู้สึกเหมือนเขากำลังพูดคุย บรรยายให้ผู้ชมได้รับรู้ในสิ่งกำลังนำเสนอออกมา (คือถ้าเป็นหนัง Talkie ก็คงได้ยินเสียงพูดแล้วละ แต่นี่คือหนังเงียบก็เลยทำได้เพียงขึ้นข้อความแทนคำสนทนา)

แซว: ใครเคยรับชมภาพยนตร์ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard อาทิ Vivre Sa Vie (1962), Masculin Féminin (1966) ฯ น่าจะมักคุ้นชื่อเต็มยาวๆ การแบ่งโครงสร้างออกเป็นตอนๆ และสามารถมองเป็น ‘essay film’ ได้เช่นเดียวกัน

วิธีการที่ผู้กำกับ Christensen ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แลดูเหมือนการบรรยายวิชาการ ก็คือการตัดสลับระหว่างข้อความ Title Card (คำบรรยาย) กับภาพคำอธิบาย ในช่วงแรกๆมักจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย โมเดลจำลอง หรือใช้นักแสดงสมมติเหตุการณ์

อย่างการนำเสนอจุดเริ่มต้นของแม่มด ก็ต้องเท้าความไปถึงจุดกำเนิดของโลก ตามความเชื่อคนโบราณตั้งแต่ Ancient Greek, Ancient Roman ฯลฯ ซึ่งจะมีมุมมองที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ยกตัวอย่างด้วยโมเดลจำลองเพื่อให้ผู้ชมพบเห็นภาพ บังเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน

ภาพซ้ายคือความผสมผสานระหว่างนักแสดงยืนเรียงราย (ในตำแหน่งของพระเจ้า) ล้อมรอบแผนภูมิจักรวาลที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง ได้แรงบันดาลใจจากภาพขวาที่เรียกว่าแบบจำลอง Geocentric Model หรือ Ptolemaic system ตามความเชื่อของคนยุคสมัยก่อน

แผนภูมิดังกล่าวเริ่มต้นมีการพัฒนามาตั้งแต่ Anaximander (6 B.C.) สู่ Pythagoras (4 B.C.) ตามด้วย Aristotle & Plato, จนมาถึง Ptolemy (ค.ศ. 100-170) ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยการให้พระอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรรอบโลก (เลยได้รับการให้เกียรติตั้งชื่อ Ptolemaic system) ก่อนจะมาเป็นภาพสมบูรณ์ที่สุดในช่วงยุคกลาง ตามความเชื่อทางศาสนาว่าพระเป็นเจ้าอยู่เหนือทุกสรรพสิ่งอย่าง

ผมเลือกเฉพาะภาพที่สามารถหาข้อมูลได้ พอมีชื่อเสียงสักหน่อย มาแนะนำให้รับรู้จักกัน

  • Blockes-Berges Verrichtung, Leipzig (1668) โดย Johannes Praetorius (1630-80) นักเขียน/นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ชื่นชอบการรวบรวมเรื่องเล่า ตำนาน นิทานพื้นบ้าน
    • โดยภาพแกะสลักนี้นำเสนอพิธีกรรม Witches’ Sabbath ในค่ำคืน Walpurga’s night
  • St. James the Greater at Hermogenes (1565) ผลงานของ Pieter the Elder Bruegel (1525/30-69)
  • Witches’ Sabbath on Walpurgis Night on the Blocksberg (1626) ดั้งเดิมเป็นภาพวาดของ Michael Herr (1591-1661) ก่อนได้รับการแกะสลักโดย Matthäus Merian the Elder (1593-1650)

สำหรับคนที่ช่างสังเกตคงตระหนักไม่ยากว่า แทบจะทุกภาพวาด/ภาพแกะสลักพบเห็นในตอนแรกของหนัง ล้วนถูกนำไปดัดแปลง สร้างสถานการณ์ ‘Live Action’ เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นภาพเหตุการณ์ถ้ามันสามารถเกิดขึ้นจริง … ผมเลือกเอาภาพหญิงสาวจุมพิตบั้นท้ายซาตาน เลียนแบบออกมาได้ใกล้เคียงพอสมควร (ภาพจากตอนที่สี่)

ฉากทัณฑ์ทรมาน Maria the weaver แน่นอนว่ามันไม่ได้มีการกระทำอะไรที่เลวร้ายรุนแรง เพียงตัดสลับระหว่างใบหน้านักแสดงอาการเจ็บปวด และภาพอุปกรณ์สำหรับทำทัณฑ์ทรมาน ยุคสมัยนั้นพบเห็นเพียงเท่านี้ก็สร้างความรวดร้าวให้ผู้ชม แต่ปัจจุบันมีการเปรียบเทียบ The Passion of Joan of Arc (1928) เลยไร้ซึ่งอารมณ์ร่วมใดๆ … ซึ่งหนังก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมรับรู้สึกใดๆอยู่แล้วนะครับ เพียงเข้าใจว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเท่านั้นเอง

ในบรรดา Visual Effect ที่ผมรู้สึกว่ามีความตื่นตระการตาที่สุดของหนังก็คือ การซ้อนภาพ (Double Exposure) พบเห็นแม่มดกำลังขี่ไม้กวาดโบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่เราอย่าลืมว่ายุคสมัยนั้นยังไม่มีการใช้สลิงห้อยโหน แค่ครุ่นคิดก็ปวดหัวแล้ว เลยไม่ขออธิบาย ไปจินตนาการเบื้องหลังเอาเองแล้วกัน!

ตัดต่อโดย Edla Hansen (1883-1979) สัญชาติ Danish เกิดที่ Copenhagen เริ่มต้นเป็นคนตัดฟีล์มที่ Nordisk Film จากนั้นได้รับชักชวนจาก Johan Ankerstjerne มาเข้าร่วม Johan Ankerstjerne A/S แจ้งเกิดโด่งดังกับผลงาน Häxan (1922) ที่ทำการแบ่งเรื่องราวออกเป็น 7 ส่วน ผสมผสานฟุตเทจถ่ายทำ, ภาพวาด/ภาพถ่าย, เทคนิคภาพยนตร์ รวมถึงข้อความ (Title Card) ได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล

My films consist of a series of episodes that—as part of a mosaic—give expression to an idea.

Benjamin Christensen

ช่วงตอนแรกๆกับตอนท้ายๆ แทบเป็นการตัดสลับระหว่างข้อความ (title card) <> ฟุตเทจ/ภาพถ่าย แทบจะช็อตต่อช็อต เพื่อให้มีลักษณะของการบรรยายวิชาการ (lecture) ผู้ชมสามารถรับรู้เข้าใจ และพบเห็นสิ่งที่ผู้สร้างพยายามนำเสนอออกมา

แต่ระหว่างตอน 3-5 ที่มีเนื้อเรื่องราวในช่วงยุคสมัย Middle Age มักไม่ค่อยปรากฎข้อความอธิบายใดๆ นอกจากอารัมบทเข้าเรื่องราว และขณะพูดคุยสนทนา พยายามใช้ภาษาภาพยนตร์ในการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากหญิงชราโดนจับกุม ถูกทัณฑ์ทรมาน และพิธีกรรม Witches’ Sabbath

ความน่าสนใจโคตรๆของหนัง คือการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์/เหตุการณ์จริง คลุกเคล้ากับแฟนตาซี/เรื่องราวที่ผู้กำกับครุ่นคิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอดีต-ปัจจุบัน ความเชื่อ-วิทยาศาสตร์ และการใช้เทคนิคภาษาภาพยนตร์ (โดยเฉพาะการซ้อนภาพความจริง-เพ้อฝัน) ปะติดปะต่อกันได้อย่างลงตัวกลมกล่อม

One of Häxan’s masterstrokes is the way it places together, on the same level of cinematic depiction, fact and fiction, objective reality and hallucination.

นักวิจารณ์ Chris Fujiwara จากบทความใน Criterion

การนำเสนอประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแม่มด ทำให้ผู้ชมเรียนรู้จักวิวัฒนาการ ‘ความเชื่อ’ ของมนุษย์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง ปรากฎการณ์(เหนือ)ธรรมชาติ หรือพฤติกรรมผิดแผกแปลกประหลาดของใครต่อใคร ทำให้เกิดความหวาดสะพรึงกลัว ครุ่นคิดว่ามันอาจเป็นสิ่งชั่วร้าย บุคคลอันตราย ต้องหาหนทางกำจัดไม่ให้กลายเป็นภัยสังคม

The belief in evil spirits, sorcery, and witchcraft is the result of naive notions about the mystery of the universe.

Benjamin Christensen

วิทยาศาสตร์ได้ทำให้มนุษย์บังเกิดความเข้าใจอะไรๆมากมาย หลายสิ่งอย่างได้รับการทดลอง พิสูจน์ ตั้งเป็นกฎ-ทฤษฎีบท ที่ได้รับการยินยอมรับสากล นั่นทำให้ ‘ความเชื่อ’ ต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง ปรากฎการณ์(เหนือ)ธรรมชาติที่สืบต่อองค์ความรู้กันมา เสื่อมถอยหมดศรัทธา แม้ยังมีอะไรๆอีกมากที่มนุษย์ไม่สามารถไขปริศนาของจักรวาล แต่อย่างน้อยก็ทำให้โลกทัศน์เกี่ยวกับแม่มด ซาตาน ปีศาจร้าย ถึงคราหมดสูญสิ้นไป

ความตั้งใจหลักๆของผู้กำกับ Christensen คือต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงความเสื่อมของความเชื่อศรัทธา(ศาสนา) หาได้เป็นสิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อการมาถึงของวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแม่มด หรือปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติอื่นๆ ก็ถึงเวลาที่เราควรเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เลิกหลงเชื่องมงายกับคำจอมปลอมหลอกลวง … เป็นภาพยนตร์ที่แฝงใจความ Anti-Religious อย่างชัดเจน!

พฤติกรรมผิดปกติของคนสมัยก่อนที่ถูกตีตราว่าเป็นแม่มด ว่าไปไม่แตกต่างจากสภาพร่างกายของผู้กำกับ Christensen ทำให้ไม่สามารถเติมเต็มความเพ้อฝัน อยากเป็นนักร้องอุปรากร นักแสดงละครเวที ฯลฯ ทำไมโลกใบนี้มันช่างไม่มีความยุติธรรมเอาเสียเลย! … นั่นน่าจะคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาค่อนข้างอคติ ต่อต้านพระเจ้าอย่างรุนแรง และช่วงเวลาสั้นๆในโรงเรียนเตรียมแพทย์ ทำให้เข้าถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์แม่มด ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ทั้งคริสตจักรและปีศาจร้าย ต่าง(เป็นบุรุษ)ที่ใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ลวงล่อหลอกอิสตรี โดนจับกุม ถูกทัณฑ์ทรมาน บีบบังคับให้แถลงไขโน่นนี่นั่น จริง-เท็จไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่ความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส ย่อมทำให้มนุษย์ยินยอมศิโรราบต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง

Christensen focuses on the history of witchcraft in order to show the way that the oppression of women takes on different guises in different historical periods. Using ideas from the psychoanalytic theory that was emerging at the time, Christensen suggests a link between contemporary diagnoses of hysteria and the European witch hunts of the medieval and early modern eras. This connection casts the twentieth-century physician who would confine troubled young women in his clinic in the role of inquisitor.

นักวิชาการ Chloé Germaine Buckley ให้ข้อสังเกตถึงความเกือบจะเป็น ‘feminist’ ของหนัง

ปัจจุบันนี้แม่มดได้กลายเป็น ‘archetype’ ที่ได้รับความนิยมในสื่อสมัยใหม่ ด้วยเอกลักษณ์มักสวมหมวกปลายแหลม มีเวทย์มนต์คาถา ถือไม้เท้า ขี่ไม้กวาด ปรุงยาในหม้อต้มใบใหญ่ แมวสีดำอยู่เคียงข้างกาย และเป็นที่หวาดกลัวของคนทั่วไป … ถ้าเป็นทางฝั่งเอเชีย แม่มดในการ์ตูนจะมีตั้งแต่เด็กน้อยถึงชราภาพ นิสัยดี-ชั่วคละเคล้ากันไป ไม่ได้ถูกตีตราว่าโฉดชั่วร้ายเหมือนฝั่งยุโรป/อเมริกัน ยุคสมัยนี้ยังไม่สามารถลบเลือนภาพจำจากอดีต

และพลังเวทย์มนต์ (witchcraft) ของแม่มด ยังถูกตีความถึงการสำแดงพลังของเพศหญิง ระบายความอึดอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา เพราะยุคสมัยนี้เมื่อบุรุษ-อิสตรี สามารถมีความเสมอภาคเท่าเทียม จึงไม่จำเป็นต้องเก็บกดดันอะไรๆอีกต่อไป … ใครเคยรับชมอนิเมชั่น Frozen (2013) ก็น่าจะเข้าใจนัยยะดังกล่าวนะครับ


ด้วยทุนสร้าง SEK 2 ล้านโครนาสวีเดน ถือเป็นงบประมาณสูงสุดในยุคสมัยนั้นของภาพยนตร์แถบ Scandinavian เสียงตอบรับใน Sweden และ Denmark ถือว่าค่อนข้างดี แต่การนำออกฉายประเทศอื่นๆล้วนติดปัญหากองเซนเซอร์ โดยเฉพาะภาพโป๊เปลือย ทัณฑ์ทรมาน และปีศาจร้าย ถูกต่อต้านจากคริสตจักร ที่ยุคสมัยนั้นยังมีคนเข้าใจผิดๆครุ่นคิดว่าเป็นเรื่องจริง! ผลลัพท์ทำให้หนังขาดทุนย่อยยับเยิน จนต้องล้มเลิกแผนการสร้างไตรภาคที่เคยครุ่นคิดไว้ The Witches, The Saint และ The Spirits (เห็นว่าถ่ายทำ The Saint ไปแล้วนิดๆหน่อยๆ แต่ก็ต้องล้มเลิกแผนงานทั้งหมด)

หนังเข้าฉายสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1968 ซึ่งได้ทำการตัดต่อใหม่ ใส่เพลงประกอบ Jazz-Violin และเปลี่ยนชื่อเป็น Witchcraft Through the Ages เพื่อให้ล้อกับอีกโคตรหนังเงียบ Intolerance: Love’s Struggle Throughout the Ages (1916)

สำหรับนักวิจารณ์ยุคสมัยใหม่ มักทำการเปรียบเทียบ Häxan (1922) กับผลงานของผกก. Jean-Luc Godard ที่ต่างนิยมใช้โครงสร้างทำลายความต่อเนื่องของเรื่องราว-อารมณ์ และบ่อยครั้งที่ทำเหมือนกำลังสนทนากับผู้ชม (ผ่านข้อความ Title Card) เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่านี่คือสื่อภาพยนตร์

Part earnest academic exercise in correlating ancient fears with misunderstandings about mental illness and part salacious horror movie, Häxan is truly a unique work that still holds power to unnerve, even in today’s jaded era.

Steven Jay Scheider ให้เหตุผลของการรวม Häxan (1922) อยู่ในหนังสือ 1001 Movies You Must See Before You Die

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะมาแล้วถึงสามครั้ง! โดย Swedish Film Institute เพื่อคงคุณภาพฟีล์มหนังให้อายุยืนยาวนานที่สุด

  • ครั้งแรกปี ค.ศ. 1976 tinted photochemical restoration (ลงสีบนฟีล์ม และปรับปรุงคุณภาพ)
  • ครั้งสองปี ค.ศ. 2007 tinted photochemical restoration (ลงสีบนฟีล์ม และปรับปรุงคุณภาพ)
  • ครั้งล่าสุด ค.ศ. 2016 tinted digital restoration 2K (ทำการลงสีและบูรณะผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

ฉบับล่าสุดของ Criterion Collection มีดนตรีบรรเลงนำจากโน๊ตเพลงของ Rudolf Sahlberg ที่ใช้รอบปฐมทัศน์เมื่อปี 1922 (เป็นฉบับที่ผู้กำกับ Christensen เอ่ยปากชื่นชม) มาเรียบเรียงใหม่โดย Gillian B. Anderson (ลดเครื่องดนตรีลงจาก 50 ชิ้น ให้เหลือเพียง 11 ชิ้น) ร่วมกับ Czech Film Orchestra สามารถหารับชมทาง Criterion Collection

I would like to take the opportunity to offer my warmest praise for the musical arrangement done for the picture by the conductor Rudolf Sahlberg. It is simply ideal. At first, I myself wanted to have the film run without music, but Mr. Sahlberg has made the music follow the images in a masterly fashion. It is quite simply the best musical arrangement I have ever heard for a film!

Benjamin Christensen กล่าวหลังรอบฉายปฐมทัศน์

กลับมารับชมรอบนี้รู้สึกว่าชื่นชอบหนังขึ้นพอสมควร คงเพราะเข้าใจถึงโครงสร้าง วิธีการนำเสนอ เลยสามารถเตรียมความพร้อม เข้าใจรายละเอียด สังเกตพบเห็นอะไรหลายๆอย่างที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ ต้องถือว่าสร้างความแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น และกลายเป็นอิทธิพลให้วงการภาพยนตร์รุ่นหลังๆโดยไม่รู้ตัว

เกร็ด: ผู้สร้างภาพยนตร์ The Blair Witch Project (1999) ตั้งชื่อสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเองว่า Haxan Films เพื่อเป็นการเคารพคารวะโคตรหนังเงียบเรื่องนี้โดยเฉพาะ

จัดเรต pg สำหรับการไล่ล่าแม่มด ภาพปีศาจร้าย

คำโปรย | Häxan ไม่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์แม่มด แต่ยังผสมผสานความเป็นจริง-เหตุการณ์สมมติ ด้วยภาษาภาพยนตร์ได้อย่างกลมกล่อม
คุณภาพ | วัติตร์
ส่วนตัว | เพลิดเพลิน


Häxan

Häxan (1922) Swedish : Benjamin Christensen ♥♥♥

(25/8/2017) หนังเงียบกึ่งสารคดีเรื่องนี้ นำเสนอประวัติศาสตร์’แม่มด’โดยย่อ จากอดีตสู่ยุคทอง Middle Ages มาจนถึงปัจจุบัน (ต้นศตวรรษ 20) สร้างความตกตะลึง สะพรึงกลัว หวั่นวิตกให้กับผู้ชมนักวิจารณ์สมัยนั้น เพราะหลายคนยังแยกไม่ออก หลงคิดไปว่านี่คือเรื่องจริง!

สร้างโดย Benjamin Christensen (1879 – 1959) ผู้กำกับ-นักเขียน-นักแสดง สัญชาติ Danish เกิดที่ Viborg, Denmark ตั้งใจว่าจะเรียนหมอ แต่จับพลัดจับพลูเข้าเรียนการแสดงที่ Det Kongelige Teater (Royal Danish Theatre) ในเมือง Copenhagen กลายเป็นนักแสดงละครเวทีมืออาชีพ พอเบื่อผันตัวเป็นนายหน้าขายไวน์, ปี 1911 เปลี่ยนอาชีพอีกครั้งเป็นนักแสดงภาพยนตร์ และกลายเป็นผู้กำกับ มีผลงานเรื่องแรก Det hemmelighedsfulde X หรือ The Mysterious X (1914)

สำหรับ Häxan หรือ Heksen แปลว่า The Witches หรือ Witchcraft Through the Ages (เป็นชื่อที่ล้อกับหนังเรื่อง Intolerance: Love’s Struggle Throughout the Ages) Christensen ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลพื้นหลังเกี่ยวกับการใช้เวทย์มนต์คาถา (Necromancy) อยู่ถึง 2 ปี ตั้งแต่ 1918 พบเจอกับหนังสือ Malleus Maleficarum (แปลว่า Hammer of Witches) ของชาว German เป็นคู่มือของนักบวช Catholic เขียนโดย Heinrich Kramer ที่ใช้สืบสวนสอบสวนตัดสินผู้เป็นแม่มด ตีพิมพ์เมื่อปี 1487

เกร็ด: Malleus Maleficarum เป็นหนังสือขายดี Bestseller อันดับ 2 ของโลก รองจากคำภีร์ไบเบิ้ล

หนังได้ทุนสร้างจากสตูดิโอ Svensk Filmindustri (ของสวีเดน) แต่เพราะ Christensen เป็นชาวเดนมาร์ก มีความต้องการถ่ายทำโปรดักชั่นในประเทศตัวเอง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม 1921 ร่วมกับตากล้อง Johan Ankerstjerne ถ่ายทำเฉพาะตอนกลางคืน ในสตูดิโอพื้นที่ปิด เสร็จสิ้นแล้วใช้เวลา Post-Production อยู่อีกเกือบปี รวมทุนสร้างสูงถึง 1.5-2 ล้าน kronos กลายเป็นหนังเงียบทุนสูงสุดในแถบประเทศ Scandinavian ไปโดยพลัน

ลักษณะการดำเนินเรื่อง แบ่งออกเป็น 7 ตอน (7 reel) นำเสนอในลักษณะกึ่งสารคดี กึ่งดำเนินเรื่อง ซึ่งถ้าแบ่งเรื่องราวออกเป็นส่วนๆ จะพบว่ามีเพียง 4 องก์เท่านั้น
– Prologue (ตอนที่ 1) เริ่มจากยุคสมัยโบราณ ความเชื่อแนวคิดต่อการมีตัวตนของโลก นับตั้งแต่สมัย Persia, Egypt ตัดสลับ Title Card คำอธิบาย กับรูปภาพ(จากหนังสือ)/รูปปั้น/โมเดลจำลอง ฯ มีดินสอชี้บอกให้เห็นรายละเอียดชัดเจน จนกระทั่งมาถึงยุคกลาง Middle Age ความเชื่อต่อพระเจ้าและปีศาจ จนกลายมาเป็นพิธีกรรมของแม่มด นอกรีต
– Introduction (ตอนที่ 2) ต่อจาก Prologue นำเสนอปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้น, พฤติกรรมแปลกๆ (สาปแช่งแล้วเป็นจริง), ความเชื่อพิธีกรรมต่างๆ (ขายยา Love Potion), รวมถึงภาพลักษณ์ของซาตาน (ผู้กำกับ Benjamin Christensen สวมบทซาตานนี้เองเลย)
– The Witch (ตอนที่ 3-6) หญิงสูงวัยคนหนึ่งได้รับการกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ถูกจับไต่สวนทรมานให้สารภาพความจริง สิ่งที่เธอเล่ามาจะประกอบด้วย
> ตอนที่ 4 ขณะถูกทรมานจนยอมรับสารภาพ มีการเล่าเรื่องราวพิธีกรรมที่ชื่อว่า Witches’ Sabbath
> ตอนที่ 5 เอ่ยนามหญิงสาวอีกสองคน ทำให้พวกเธอถูกจับทั้งๆที่อาจไม่รู้อีโน่อีเน่อะไรด้วยเลย นำมาทรมานให้สารภาพความจริงก่อนถูกนำไปเผา
> ตอนที่ 6 พฤติกรรมแปลกๆของแม่มด เช่น แปลงร่างเป็นสัตว์, ถูกปีศาจเข้าสิง, กลุ่มแม่ชีผู้เสียสติ ฯ
– Epilogue (ตอนที่ 7) เป็นการสรุปทุกสิ่งอย่างไล่ย้อนกลับไปถึงตอน 1 เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับการค้นพบในยุคสมัยปัจจุบัน คำอธิบายสามารถลบล้างพฤติกรรม ความเชื่อ เรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ ได้แทบทั้งหมดด้วยหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

ตอนที่หนังออกฉาย ได้รับเสียงตอบรับอย่างหวาดหวั่นวิตกกลัว เพราะผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่สมัยนั้น สนใจแต่เนื้อหาใจความของหนัง มิได้สนใจความสวยงามทางศิลปะที่ปรากฎขึ้นสักเท่าไหร่ ‘it is absolutely unfit for public exhibition.’ หรือ

“the satanic, perverted cruelty that blazes out of it, the cruelty we all know has stalked the ages like an evil shaggy beast, the chimera of mankind. But when it is captured, let it be locked up in a cell, either in a prison or a madhouse. Do not let it be presented with music by Wagner or Chopin, […] to young men and women, who have entered the enchanted world of a movie theatre.”

ด้วยกระแสวิจารณ์มาร้าย ขัดแย้ง Controversy แบบนี้ ยิ่งทำให้ผู้ชมในยุโรปเกิดความใคร่สนใจ หนังทำเงินได้ค่อนข้างสูงทีเดียว แม้จะไม่ได้ฉายในอเมริกา (ถูกแบนห้ามฉาย เพราะมีภาพนู้ด เครื่องทรมาน และเรื่องราวส่อทางเพศ)

แต่เมื่อเวลาผ่านไป Häxan ได้รับการยกย่องโดยนักวิจารณ์ในระดับ Masterpiece ผลงานยอดเยี่ยมที่สุุดของ Benjamin Christensen ลึกล้ำนำหน้ากาลเวลาแห่งยุคสมัย สามารถนำเสนอประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับความเชื่อ Special Effect ดำเนินเรื่องได้อย่างสวยงามลงตัว และแฝงข้อคิดช่วงท้ายได้อย่างมีสติ ถึงจะมีความแปลกประหลาดแต่ตราตะลึง น่าสะพรึง หัวใจสั่นไหว

หนังหารับชมได้ใน Youtube แบบไร้ลิขสิทธิ์นะครับ แต่ถ้าอยากได้คุณภาพดีๆ Soundtrack เพราะๆ ลองหาจาก Criterion ดูได้เลย

ส่วนตัวค่อนข้างเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ รู้สึกแอบเบื่อเพราะดำเนินเรื่องลักษณะกึ่งสารคดี มันจึงขาดอารมณ์ ความน่าสนใจไปพอสมควร กระนั้นความสวยงามในเชิงศิลปะ ลีลา direction และ Special Effect มีความน่าทึ่งและยังคงทรงพลังอยู่ไม่น้อยแม้จะเป็นหนังเงียบก็เถอะ

แนะนำกับคอหนัง Horror แม้อาจจะไม่หลอนๆแบบสะดุ้งตกใจหรือบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว แต่มีความน่าสนใจว่าจะเป็นอย่างไร (ผมรับชมหนังเรื่องนี้ก็เพราะความน่าสนใจนี้แหละ) ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแม่มด ยุคสมัย Middle Age ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับภาพนู้ด เครื่องทรมาน และเรื่องราวส่อทางเพศ

TAGLINE | “Häxan ของผู้กำกับ Benjamin Christensen มีแนวคิดการนำเสนอน่าสนใจ ผสมผสานประวัติศาสตร์และ Special Effect ในยุคหนังเงียบได้อย่างลงตัว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: