He Who Gets Slapped (1924) : Victor Sjöström ♥♥♥♥
อีกหนึ่งหนังเงียบ Masterpiece ที่ให้คำนิยาม ‘ตัวตลก’ (Clown) ได้อย่างลึกล้ำ โดยทุกครั้งที่ Lon Chaney ถูกตบหน้า กายคงไม่เจ็บเท่าไหร่ แต่จิตใจมันรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส
ขอเตือนไว้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่หนัง Comedy ที่จะทำให้คุณหัวเราะจนตกเก้าอี้ แต่คือ Psychological Expressionist ที่จะทำให้คุณขำไม่ออก ตอนผมดูนี่กุมขมับปวดหัวตุบๆ ครุ่นคิดตามหัวแทบแตก เกือบจะไม่เข้าใจว่าหนังต้องการนำเสนออะไรจนกระทั่งข้อความ Title Card แผ่นสุดท้ายปรากฎขึ้น
What is Death?
What is Life?
What is Love?
ไม่ใช่ว่าหนังจะมีคำตอบอะไรให้นะครับ เรื่องราวทั้งหมดที่นำเสนอมา เป็นการชักชวนให้เกิดคำถาม ความตายคืออะไร? ชีวิตคืออะไร? ความรักคืออะไร? เมื่อถึงภาพช็อตสุดท้าย ลูกโลกหมุน ตัวตลกหลายสิบคนยืนเรียงจ้องมอง จับโยนร่างของ HE ลงไปเบื้องล่าง นี่เป็นการ ‘ทิ้ง’ ให้ผู้ชมแสวงค้นหาคำตอบของปรัชญาชีวิตด้วยตนเอง
Victor David Sjöström ในอเมริกาใช้ชื่อ Victor Seastrom (1879 – 1960) ผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกสัญชาติ Swedish (จะเรียกว่าคือ D. W. Griffith ของประเทศสวีเดนเลยก็ได้) เกิดที่ Årjäng, Värmlands län ขณะนั้นยังเป็น United Kingdoms of Sweden and Norway ย้ายตามพ่อไปอเมริกาตั้งแต่อายุ 1 ขวบ พอแม่เสียกลับมาอยู่กับญาติที่ Stockholm เริ่มเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่อายุ 17 เมื่อภาพยนตร์เริ่มเข้าสู่สวีเดนก็เกิดความสนใจหลงใหล จนถึงปี 1923 กำกับภาพยนตร์ 41 เรื่อง แต่ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว
ความสนใจของ Sjöström ในยุคแรกๆ คือการนำเสนอภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม ผู้คน สังคม ประเพณี ชนบทพื้นบ้านของประเทศสวีเดน (เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก) ขณะเดียวเรื่องราวก็มักเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา สะท้อนจิตวิทยาความคิดความต้องการ พื้นฐานของมนุษย์, Sjöström ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคนิค Continuity Editing คือการร้อยเรียงตัดต่อแต่ละฉาก/ซีน/ช็อต เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางเรื่องราว ไม่ชอบใช้ Title Card ข้อความขึ้นคั่นเสียเท่าไหร่
เมื่อเดือนมกราคม 1923, Sjöström ได้รับคำชักชวนจาก Louis B. Mayer ให้เดินทางมาสร้างภาพยนตร์ Hollywood ตั้งใจว่าคงอยู่ไม่นานแค่เปิดโลกทัศน์ตัวเองสัก 1-2 เรื่อง แล้วค่อยกลับ แต่กลายเป็นปักหลักทำงานอยู่อเมริกาหลายปี ได้ชื่อเรียกใหม่อ่านง่าย Victor Seastrom โดยผลงานเรื่องแรก Name the Man (1924) ประสบความสำเร็จล้นหลามทั้งคำวิจารณ์และรายรับ
เมื่อ Metro Pictures รวมกับ Goldwyn Pictures และบริษัทของ Louis B. Mayer กลายเป็น MGM (Metro-Goldwyn-Mayer) วันที่ 14 เมษายน 1924 โปรดิวเซอร์ Mayer จึงขอให้ Sjöström สร้างภาพยนตร์เปิดปฐมฤกษ์ให้กับสตูดิโอ เลือกดัดแปลงบทละครเวที Тот, кто получает пощёчины (1914) [แปลว่า He Who Gets Slapped] ของนักเขียนสัญชาติรัสเซีย Leonid Andreyev (1871 – 1919) แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Gregory Zillboorg เปิดการแสดงที่ Garrick Theater, New York เมื่อปี 1922 จำนวน 182 รอบการแสดง
เกร็ด: He Who Gets Slapped คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ MGM ที่มีการใช้โลโก้ Leo the Lion แต่จริงๆแล้วนี่เป็นตราสัญลักษณ์ของสตูดิโอ Goldwyn Pictures Corporation ตั้งแต่ปี 1916 ออกแบบโดย Howard Dietz สิงโตชื่อ Slats จากสวนสัตว์ Dublin Zoo
เกร็ด2: ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าเจ้าสิงโตในโลโก้ MGM ตัวนี้ มันแค่หันมองไปมาซ้ายขวา ไม่มีทำท่าหรือส่งเสียงคำรามแต่อย่างใด คงเพราะนี่เป็นหนังเงียบด้วยกระมัง ซึ่งพอถึงยุคหนังพูดเจ้าสิงโตตัวต่อไป มันก็คำรามลั่นเลยละ
ทั้งๆที่ทศวรรษนั้นของ Hollywood ขึ้นชื่อเรื่องความวุ่นวายของเหล่าโปรดิวเซอร์ ชอบเข้ามาก้าวก่ายงานของผู้กำกับ แต่หนังเรื่องนี้เป็นข้อยกเว้นที่น่าทึ่ง ขนาดว่า Sjöström เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า เพราะเหตุนี้แหละทำให้หนังมีความโดดเด่นแตกต่าง ‘unique’ จากเรื่องอื่นๆในทศวรรษนั้น
“It was like making a picture back home in Sweden. I wrote the script without any interference, and actual shooting went quickly and without complications.”
เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์โนเนมชื่อ Paul Beaumont (รับบท Lon Chaney) ทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าหาแนวคิดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ ได้รับทุนช่วยเหลือสนับสนุนจาก Baron Regnard (รับบทโดย Marc McDermott) วันหนึ่งเมื่อได้ข้อสรุปในทฤษฎีของตนเอง ขณะกำลังจะนำเสนอต่อ Academy of the Sciences แต่กลับถูก Baron ผู้นี้ชิงตัดหน้าขโมยผลงาน โดนตบหน้าต่อที่สาธารณะ อีกทั้งภรรยายังลอบเป็นชู้นอกใจตนเอง ทำให้ตัวเขาเสียสติแตกแทบกลายเป็นคนบ้า
ห้าปีต่อมา Beaumont ผันตัวเองกลายเป็นตัวตลก (Clown) เจ้าของฉายา ‘HE Who Gets Slapped’ เรียกเสียงหัวเราะจากการถูกตบหน้าวันละหลายสิบร้อยพันครั้ง เจ็บกายแค่นี้เทียบไม่ได้หรอกกับความเจ็บปวดทรมานทางใจที่เคยได้รับ, แล้ววันหนึ่งเขาได้พบเจอตกหลุมรัก Consuelo (รับบทโดย Norma Shearer) นักขี่ม้าไร้อาน (Bareback Rider) แต่หญิงสาวกลับสนใจแต่ Bezano (รับบทโดย John Gilbert) ชายหนุ่มนักขี่ม้าไร้อานคู่หูของตนเอง กระนั้นพ่อของเธอ Count Mancini (รับบทโดย Tully Marshall) กลับวางแผนขายลูกสาวให้แต่งงานกับ Baron Regnard เรื่องไปเข้าหู Beaumont ที่พร้อมแล้วจะเผชิญหน้ากับอดีตของตนเอง
Leonidas Frank ‘Lon’ Chaney (1883 – 1930) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา ‘ชายพันหน้า’ (The Man of a Thousand Faces) เกิดที่ Colorado Springs ครอบครัวอพยพมาจากอังกฤษ พ่อ-แม่เป็นคนใบ้ทั้งคู่ (แต่ Chaney ไม่ได้เป็น) เลยเชี่ยวชาญภาษามือ ละครใบ้ (Meme) เริ่มต้นทำงานเป็นนักแสดงละครเวที ค่อยๆมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ จนปี 1913 เคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลืนสารปรอทแต่ไม่สำเร็จ ทำให้ถูกคนในวงการปฏิเสธ เลยผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ ดิ้นรนอยู่หลายปีจนเริ่มมีชื่อเสียงจาก The Miracle Man (1919) รับบทเป็นกบ (The Frog) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แต่งหน้าแต่งตาเองด้วย หลังจากนี้ก็มีแต่จะรุ่งขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการจดจำจากภาพลักษณ์ที่ไม่เคยซ้ำเดิม Oliver Twist (1922), The Hunchback of Notre Dame (1923), He Who Gets Slapped (1924), The Phantom of the Opera (1925), The Unknown (1927), London After Midnight (1927) ฯ น่าเสียดายที่ Chaney อายุสั้นไปเสียหน่อย น่าจะเพราะจากความพยายามฆ่าตัวตายครั้งนั้น ทำให้เขากลายเป็นมะเร็ง ตกเลือดในลำคอเสียชีวิต เพิ่งจะมีผลงานหนังพูดได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ The Unholy Three (1930)
ช่วงแรกรับบท Paul Beaumont นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องไว้หนวด เป็นคนมีมานะอุตสาหะ ทั้งยังเฉลียวฉลาดรอบรู้ สามารถครุ่นคิดไขข้อสรุปทฤษฎีต้นกำเนิดของมนุษย์ (Origin of Mankind) แต่กลับมิได้เข้าใจจิตวิญญาณตัวตนแท้จริงของผู้อื่นแม้แต่น้อย
ช่วงหลังทำงานในคณะละครสัตว์ รับบทตัวตลก HE ที่เหมือนคนเสียสติ เปิดการแสดงให้คนอื่นๆเรียงเข้ามาตบหน้าตนเอง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้มากมาย เหตุที่กลายเป็นเช่นนี้มองได้เสมือนการลงโทษตัวเอง ในความโง่เง่าเต่าตุ่นไร้เดียงสาไม่ทันคน, วันหนึ่งเมื่อได้พบเจอตกหลุมรักหญิงสาว จิตใจจึงเริ่มโอนอ่อนผ่อนให้อภัยตนเอง แต่อดีตก็รีบแจ้นหวนกลับคืนมาหาอย่างทันควัน จำเป็นอย่างยิ่งต้องเอาชนะก้าวผ่านอุปสรรคเก่านี้ไปให้ได้เสียก่อน ชีวิตถึงจะดำเนินเดินต่อไปได้
Chaney เป็นนักแสดงที่แตกต่างตรงกันข้ามกับ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd ฯ ในทศวรรษหนังเงียบ ดาราดังมักมีภาพลักษณ์ ‘Persona’ ของตนเองที่โดดเด่นจนกลายเป็นฉายาติดตัว อาทิ
– Chaplin กับ Little Tramp
– Keaton กับ Stone Face
– Lloyd กับ หนุ่มแว่น
ฯลฯ
ขณะที่ Chaney กลับรับบทบาทไม่เคยซ้ำเดิม เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ใบหน้าของตนเองไปเรื่อยๆ จนได้ฉายา ‘ชายพันหน้า’ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจมตัวเองให้อยู่ภายใต้เครื่องสำอางค์ Make-Up อันหนาเตอะ กลายเป็นเหมือนสัตว์ประหลาด มีความอัปลักษณ์พิศดาร บางครั้งหลอกหลอนน่ากลัวเข้ากระดูกดำ ฯ
ซึ่งกับ He Who Gets Slapped ก็เช่นกัน ช่วงแรกใส่วิกติดหนวดเคราจดจำแทบไม่ได้ ช่วงหลังพอกหน้าขาวโพลนกลายเป็นตัวตลก (แค่หนังเรื่องเดียวก็มี 2-3 ภาพลักษณ์แล้ว) กระนั้นเฉพาะกับหนังเรื่องนี้มีบางสิ่งที่แตกต่างออกไป เพราะสีหน้าของ Chaney มีการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก Expression ค่อนข้างมากกว่าปกติ อาจถือว่าเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้
ปกติแล้ว Chaney เป็นนักแสดงขาประจำของผู้กำกับ Tod Browning ที่มักให้ความใส่ใจภาพลักษณ์การแต่งหน้า ให้ตัวละครดูอัปลักษณ์พิศดารน่าหวาดกลัว แต่กับเรื่องนี้ที่ร่วมงานกับ Sjöström ผู้กำกับที่มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศและเรื่องราว สิ่งน่าหวาดกลัวไม่ใช่ภาพลักษณ์ภายนอก แต่คือความอัปลักษณ์ที่อยู่ข้างในจิตใจมนุษย์, นี่มันคนละระดับความกลัวเลยนะครับ ส่วนตัวมองว่าแบบหลังมันสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว สะท้านตราตรึงถึงใจกว่ามาก
จะว่าไปเหตุผลที่ Chaney แสดงบทบาทนี้ออกมาได้อย่างสมจริงมากๆ เพราะมันสะท้อนเข้ากับชีวิตตัวเขาเอง ครั้งหนึ่งเคยพยายามฆ่าตัวตายแต่กลับรอดชีวิต อับอายขายหน้าแทบแทรกแผ่นดินหนี เลยมักปกปิดหลบซ่อนอยู่ภายใต้เครื่องสำอางค์อันหนาเตอะ ทรมานตัวเองเพื่อขายเสียงหัวเราะความบันเทิงให้กับผู้อื่น
Edith Norma Shearer (1902 – 1983) นักแสดงหญิงสัญชาติ Canadian เจ้าของฉายา ‘First Lady of MGM’ เกิดที่ Montreal, Quebec โตขึ้นเดินทางสู่ New York มีโอกาสเป็นตัวประกอบหนังเรื่อง Way Down East (1920) เล่นหนังเกรด B จนไปเข้าตา Louis B. Mayer จับเล่นหนัง He Who Gets Slapped (1924) เซ็นสัญญาระยะยาวกับ MGM เอาตัวรอดในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูด คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The Divorcee (1930) ผลงานเด่นๆ อาทิ Their Own Desire (1930), A Free Soul (1931), Romeo and Juliet (1936), Marie Antoinette (1938) [คว้า Volpi Cup for Best Actress] ฯ
รับบท Consuelo หญิงสาวแรกรุ่น สวยใสมีเสน่ห์น่าหลงใหล ใครๆต่างชื่นชอบคลั่งไคล้ ชายถึง 3 คนต้องการสารภาพตกหลุมรัก แต่มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เธอมีใจมอบให้
ความสดใสวัยเยาว์ของ Shearer ช่างมีเสน่ห์เหลือล้น แม้เธอจะไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยสักเท่าไหร่ แต่ความสง่างามดูดี ‘noble’ เหมือนคนมีระดับชนชั้นสูง ทำให้หนุ่มๆทั้งหลายเกิดความเคลิบเคลิ้มไหลงใหลคลั่งไคล้โดยง่าย
John Gilbert หรือชื่อจริง John Cecil Pringle (1899 – 1936) นักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา หนึ่งในดาราประสบความสำเร็จที่สุดในยุคหนังเงียบ จนได้รับฉายาว่า ‘The Great Lover’, เกิดที่ Logan, Utah วัยเด็กครอบครัวพาเขาเดินทางไปทั่วประเทศ จนสุดท้ายมาปักหลักอยู่ California โตขึ้นได้งานเป็นตัวประกอบในสตูดิโอ Thomas Ince Studios กลายเป็นคนโปรดของ Maurice Tourneur ที่ได้จ้างให้เป็นนักเขียนบท กำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง ในที่สุดก็กลายเป็นนักแสดงนำประกบ Mary Pickford เรื่อง Heart o’ the Hills (1919)
ปี 1921, Gilbert เซ็นสัญญา 3 ปีกับ Fox Film Corporation ที่ซึ่งเขากลายเป็นนักแสดงนำในหนังโรแมนติกหลายเรื่อง อาทิ Monte Cristo (1922), The Wolf Man (1924) [นี่ไม่ใช่หนัง Horror นะครับ] ฯ หลังหมดสัญญาได้รับการชักชวนจาก Irving Thalberg เซ็นสัญญากับ MGM ที่นี่เองทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักแสดงค่าตัวสูงสุดของ Hollywood ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ He Who Gets Slapped (1924), The Merry Widow (1925), The Big Parade (1925), La Bohème (1926) ได้ประกบ Greta Gabo เป็นทั้งคู่รักในและนอกจอเรื่อง Flesh and the Devil (1926), Love (1927), A Woman of Affairs (1928) ฯ เห็นว่า Gilbert ขอ Gabo แต่งงานด้วยแต่โดนเธอเล่นตัวเชิดใส่
รับบท Bezano หนุ่มหน้าใสไร้เดียงสา นักขี่ม้าไร้อาน เมื่อพบเจอตกหลุมรักแรกพบ Consuelo ทุ่มเทกายใจ มอบรอบจูบแรกให้ และ…
นี่เป็นบทบาทเล็กๆที่ไม่มีอะไรเลยนะ แต่เพราะความหล่อเหลาในวัยสดใสของ Gilbert เชื่อว่าคงทำให้สาวๆหัวใจหลอมละลาย ฉากโรแมนติกเล็กๆแค่กอดจูบวิ่งไล่ แต่ก็ถือว่าทรงพลังอย่างมากในยุคสมัยนั้น
ถ่ายภาพโดย Milton Moore
ตัดต่อโดย Hugh Wynn
หลายครั้งมีการจัดวางองค์ประกอบ ที่สามารถซ้อนทับระหว่างสองภาพได้อย่างลงตัวพอดี อาทิ ผู้ชมในเวทีคณะละครสัตว์ กับบรรดาคณาจารย์ของ Academy of the Sciences, ลูกโลกที่หมุนไปกับเวทีคณะละครสัตว์, แหวนของ Baron Regnard กับมงกุฎดอกไม้ของ Bezano ฯ
การตัดต่อสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ น่าจะเรียกว่าเป็นลายเซ็นของผู้กำกับ Sjöström ก็ว่าได้ นับตั้งแต่ The Phantom Carriage (1921) [หรืออาจจะตั้งแต่ก่อนหน้านั้นไม่รู้] อย่างฉากโรแมนติกระหว่าง Consuelo กับ Bezano มีความสดใสร่าเริงเป็นธรรมชาติรัก สะท้อนตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ Baron Regnard กับ Count Mancini อยู่ในห้องอุดอู้คุดคู้มืดหม่น ต่อรองในความคอรัปชั่นฝืนธรรมชาติ
ฉากสิงโตทวงคืนความยุติธรรม สังเกตว่าจะไม่เห็นขณะที่มันขย้ำเหยื่อ (ก็แน่ละจะถ่ายให้เห็นได้ยังไง!) แต่เราจะเห็นการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ของตัวตลก HE ที่ชวนให้ผู้ชมจินตนาการตามไปได้เองเลยว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง, เหตุการณ์ช่วงนี้จะตัดสลับกับการแสดงโชว์ของคณะละครสัตว์ ทำให้เกิดความลุ้นระทึกว่าเรื่องราวไหนจะเสร็จสิ้นลงก่อน พวกคนเลวจะถูกสิงโตขย้ำกินไหม หรือมีใครเข้ามาช่วยเหลือได้ทัน
ตั้งแต่ฉากแรกของหนัง จะมี Recurring Scene ช็อตที่มีตัวตลกยืนหมุนลูกโลกกลมๆอยู่ พบเห็นแทรกอยู่บ่อยครั้ง คอยคั่นระหว่างเรื่องราวเพื่อชวนให้ผู้ชมหวนระลึกถึงอะไรบางอย่าง, นัยยะของลูกโลกหมุนๆ เปรียบได้กับชีวิต/เวลา ที่ดำเนินผ่านไป
[กับฉากที่มีการแทรกใส่มาเรื่อยๆลักษณะนี้ ชวนให้ระลึกถึง The Eternal Motherhood ของเรื่อง Intolerance (1916)]
ตบหน้า คือการกระทำเพื่อตักเตือน หรือเรียกสติของผู้ถูกตบให้หวนคืนกลับมา จากสภาวะล่องลอย หวาดกลั่วสั่นเทิ้ม จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ควบคุมตนเองไม่ได้, ก็ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน วินาทีที่คนโดนตบหน้า มักจะหยุดนิ่งไม่ไหวติง เกิดความสงบ (แล้วจ้องหน้าผู้ตบ) กลับเป็นตัวของตนเองโดยทันที!
ผมคิดว่าจะมีใครในโลกอยากถูกตบหน้าหรอกนะ เพราะเป็นสิ่งที่ถ้าผู้อื่นพบเห็น จะเกิดความอับอายรับไม่ได้ ประมาณว่าบุคคลผู้ถูกตบนั้นคงต้องกระทำตัวไร้สาระขาดสติบางอย่าง ทำให้ต้องใช้ความรุนแรงในการตักเตือน สงบสติอารมณ์ นี่เป็นสิ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจคนอย่างมาก
มันไม่ใช่เรื่องตลกเลยนะ สำหรับการถูกตบหน้า ถึงผมไม่เคยประสบพบเห็นกับตา แต่ก็คิดว่าตัวเองขำไม่ออกแน่ๆ ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนคนรู้จักก็จะรีบวิ่งเข้าไปหักห้าม เพราะต้องเป็นคู่กรณีมีความขัดแย้งรุนแรงเท่านั้นถึงต้องแสดงออกด้วยการใช้กำลัง ให้มายืนจับจ้องมอง เยาะเย้ยสมน้ำหน้า หรือหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายคลิป คงมีแต่พวกจัญไรไร้น้ำใจ หาใช่เรื่องของกรูก็ไม่สนใคร
อย่างที่บอกไปตอนต้น He Who Gets Slapped ไม่ใช่หนัง Comedy หาความตลกขบขันไม่ได้สักนิด แต่คือ Psychological Expressionist นำเอาความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร ถ่ายทอดออกมาตรงๆผ่านการกระทำภายนอก ให้ผู้อื่นทุบตบตีใบหน้า (ส่วนใหญ่ก็ตบจริงนะไม่ได้ใช้มุมกล้อง แค่อาการสะดิ้งกลิ้งกระโดดมันแบบเว่ออลังการมาก) เป็นความพยายามสื่อว่า เจ็บกาย=เจ็บใจ
แต่หลายคนน่าจะเข้าใจได้ว่า ความเจ็บปวดทางกาย หาได้เทียบเท่ากับ ความทุกข์ทรมานทางใจ บาดแผลจากอุบัติเหตุ เจ็บทรมานแค่วันแรกๆ ไม่นานเดี๋ยวก็หายอย่างมากก็แผลเป็น แต่อาการอกหักช้ำรัก ถูกทรยศหักหลัง ทางใจนี่สิรักษายังไงก็ไม่หาย จนกว่าจะเกิดความเข้าใจยอมรับ ให้อภัยตนเอง หรือพบเจออีกความรู้สึกที่สามารถหักล้าง ซึ่งหนังใช้ประเด็น รักครั้งใหม่กับหญิงสาวนงคราญ ที่ทำให้ชายหนุ่มก้าวข้ามผ่านเอาชนะอดีต Trauma อันชอกช้ำทางใจนี้ไปได้
ชีวิตคืออะไร? โชคชะตาของพระเอกช่างมีความผกผันเหลือเกิน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สุขทุกข์ หาความยั่งยืนอะไรในชีวิตไม่ได้สักอย่าง
ความรักคืออะไร? ครั้งหนึ่งพระเอกเคยมอบกายใจให้หญิงสาวคนหนึ่งแต่กลับถูกเธอทรยศหักหลัง ขณะที่รักครั้งใหม่แม้จะไม่ได้รับการตอบสนองคืนมา แต่กลับอยากให้เธอได้มีชีวิตราบรื่นปลอดภัย
ความตายคืออะไร? สิ่งที่พระเอกค้นพบในช่วงแรกคือต้นกำเนิดของมนุษย์ แต่เขายังมิสามารถหาคำตอบได้ว่า ทำไมทุกสิ่งมีชีวิตต้องพบกับจุดจบ
สามคำถามนี้ คือความจงใจทิ้งไว้ให้ผู้ชมได้ใคร่ขบคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเอง กระนั้นหนังก็ได้นำเสนอมุมมองหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ, ต่อให้เราสามารถคิดค้นหาข้อสรุปคำตอบของชีวิตได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่านั่นจะคือความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เพราะความหลงระเริงเหลิงไปเช่นนั้น ทำให้มีสภาพเหมือน ‘ตัวตลก’ ได้รับเสียงหัวเราะเยาะเย้ยจากคนทั่วไป ไหนว่ารู้ทุกสิ่งอย่างไม่ใช่เหรอ ทำไมคำถามง่ายๆ เรื่องแค่นี้กลับตอบไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาแสดงความขบขันออกมา ล้วนสะท้อนถึงความโง่เขลาเบาปัญญา โลกแคบ กบในกะลาของพวกเราเอง
รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Slapstick Comedy แนวหนังที่มักมีคำเรียกว่า ‘ตลกเจ็บตัว’ หรือ ‘ตลกโครมคราม’ เป็นความบันเทิงลักษณะหนึ่ง ผู้ชมหัวเราะขบขันสนุกสนานจากความผิดพลาด โดยบังเอิญ/ตั้งใจ การเจ็บตัวของนักแสดง, ก็น่าคิดนะครับว่า ความสนุกสนานขบขันในลักษณะนี้ เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรหรือเปล่า? ผมมีความเชื่อว่า ถ้านั้นเป็นสิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจนำเสนอ วางแผนเตรียมการมาอย่างดี และไม่ระรานสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้ใคร ย่อมถือว่ายินยอมรับได้ แต่ถ้าไม่แบบ Jackass หรือรายการแอบถ่ายแกล้งคน ขอว่าอย่าไปสนับสนุนพวกมันเลยนะครับ
หนังสร้างเสร็จตั้งแต่กลางปี แต่เก็บไว้เพื่อนำไปฉายช่วงวันหยุดปลายปี รอบปฐมทัศน์วันที่ 3 พฤศจิกายน 1924 ที่ Capitol Theatre, New York ด้วยคำโปรย ‘big production of circus life.’ เพียงวันแรกทุบสถิติทำรายรับเปิดตัว $15,000 เหรียญ รวมตลอดโปรแกรมการฉาย $881,000 เหรียญ (ปี 2017 = $12.5 ล้านเหรียญ) จากทุนสร้าง $172,000 เหรียญ
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจอย่างยิ่งในการแสดงของ Lon Chaney และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Victor Sjöström มีความลึกล้ำไม่ธรรมดาทีเดียว แต่เรื่องราวอาจลึกล้ำซับซ้อนไปเสียหน่อย และคำถามที่อุตส่าห์ตั้งมามันไม่ชวนให้น่าค้นหาคำตอบสักเท่าไหร่
แนะนำกับคอหนังเงียบ คลาสิก, ชื่นชอบการแสดงของคณะละครสัตว์, นักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ, แฟนๆผู้กำกับ Victor Sjöström นำแสดงนำ Lon Chaney, Norma Shearer, John Gilbert ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ เพราะการตบหน้าผู้อื่น หาใช่สิ่งน่าหัวร่อขบขันแม้แต่น้อย
Leave a Reply