Heaven’s Gate (1980) hollywood : Michael Cimino ♥♥♡

ผู้กำกับ Michael Cimino ทำสัญญาปีศาจเพื่อสรรค์สร้างโปรเจคในฝัน Heaven’s Gate (1980) ใส่ใจทุกรายละเอียดถ่ายทำ 50+ กว่าเทค ได้ฟีล์มความยาวประมาณ 1.3 ล้านฟุต (220 ชั่วโมง) งบประมาณบานปลาย 4 เท่าตัว เมื่อนักวิจารณ์ส่ายหัว ผู้ชมไม่เอาด้วย เลยถูกตีตรา ‘Worst Movie of All-Time’ แต่ตัวหนัง Director’s Cut ความยาว 216 นาที ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น

the most scandalous cinematic waste I have ever seen.

นักวิจารณ์ Roger Ebert จากหนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times

ด้วยทุนสร้าง $44 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินได้เพียง $3.5 ล้านเหรียญ (อาจดูกระจิดริดเมื่อเทียบกับหนังสมัยนี้ ทุนสร้าง $100 ล้านเหรียญ ทำเงินไม่ถึง $10 ล้านเหรียญ ก็ยังมี!) แต่ยุคสมัยนั้นเกือบทำให้ United Artists ต้องยื่นฟ้องล้มละลาย กลายเป็นต้นสาเหตุให้สตูดิโออื่นๆเริ่มปิดกั้นโปรเจค ‘director’s driven’ หันกลับมาพัฒนาภาพยนตร์ที่อยู่ในความควบคุม ‘studio control’ ของโปรดิวเซอร์เป็นหลัก … เรียกว่าสร้างความเสียหายต่อ Hollywood ในวงกว้าง อย่างรุนแรงมากๆด้วย

ฉบับของ Heaven’s Gate (1980) ที่โดนตีตราว่าเป็นหนึ่งใน ‘Worst Movie of All-Time’ ได้ถูกตัดทอนจากต้นฉบับดั้งเดิม 219 นาที หลงเหลือเพียงความยาว 149 นาที ชั่วโมงกว่าๆที่สูญหายไป มันจะคงคุณภาพตามวิสัยทัศน์ผู้กำกับได้อย่างไร?

ซึ่งหลังจากที่ผู้กำกับ Cimino นำหนังฉบับตัดต่อใหม่ Director’s Cut มาฉายยังเทศกาลหนังเมือง Venice Classics เมื่อปี 2012 ความยาว 216 นาที ก็มีเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดีขึ้นมากๆ บ้างถึงขนาดยกย่องระดับ Masterpiece

so much of Heaven’s Gate is patently splendid that it is mind-boggling that anyone could pronounce it an ‘unqualified disaster’. And the scenes which were slammed in 1980 as being symptomatic of waste and excess are the scenes which take your breath away.

นักวิจารณ์ Nicholas Barber ตีพิมพ์ลงในเว็บไซด์ BBC

ผมมีโอกาสรับชมฉบับล่าสุด 216 นาที ก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนังมีความเลวร้ายระดับ ‘Worst Movie of All-Time’ คุณภาพสูๆสีๆกับ Dune (1984) สร้างโดยผู้กำกับที่เอ่อล้นด้วยวิสัยทัศน์ แต่มีส่วนที่ทั้งประทับใจและน่าผิดหวัง ซึ่งปัญหาหลักๆมาจากสตูดิโอภาพยนตร์ เมื่อตระหนักถึงความล้มเหลว เจ๊งแน่ๆ ก็พยายามเข้ามายุ่งวุ่น เจ้ากี้เจ้าการ พลัดพรากทารกน้อยไปจากอ้อมอกผู้ให้กำเนิด

แต่ความล้มเหลวส่วนหนึ่งของ Heaven’s Gate (1980) ก็ต้องโทษว่ากล่าวผู้กำกับ Cimino ด้วยนะแหละ ผมสัมผัสได้ถึงความหลงระเริง เหลิงลืมตน เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป และเรื่องราวก็ด้านมืดสหรัฐอเมริกาสุดๆ นักวิจารณ์/ผู้ชมทางฝั่งอเมริกันก็เลยยินยอมรับความจริงดังกล่าวไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ … จะว่าไปมันก็สะท้อน ‘ความเป็นอเมริกัน’ ของคนยุคสมัยนั้นได้ชัดเจนมากๆเช่นกัน


Michael Cimino (1939-2016) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ครอบครัวมีเชื้อสาย Italian-American วัยเด็กได้รับยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะ แต่กลับชื่นชอบเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียนจบ Graphic Arts ที่ Michigan State University แล้วสามารถสอบเข้าคณะวิจิตรศิลป์ Yale University ระหว่างนั้นอาสาสมัครพลทหารสำรอง (U.S. Army Reserve) ฝึกฝนห้าเดือนที่ Fort Dix, New Jersey ติดตามด้วย Fort Sam, Houston

เมื่อปี 1963 หลังเรียนจบปริญญาตรี-โท Yale University ทำงานเป็นผู้กำกับโฆษณาโทรทัศน์ มีผลงานให้ Kool cigarettes, Eastman Kodak, United Airlines, Pepsi ฯลฯ ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม, ปี 1971 ออกเดินทางสู่ Los Angeles เริ่มต้นอาชีพนักเขียนบทภาพยนตร์ Silent Running (1972), Magnum Force (1973) แล้วได้รับโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก Thunderbolt and Lightfoot (1974) ส่งให้ Jeff Bridges เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ก่อนติดตามด้วย The Deer Hunter (1978) คว้ารางวัล Oscar: Best Picture และ Best Director

ความสำเร็จล้นหลามของ The Deer Hunter (1978) ทำให้ Cimino ได้รับการติดต่อจาก United Artists มอบอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป จึงนำเสนอโปรเจคที่ครุ่นคิดพัฒนามาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ The Johnson County War แต่ไม่มีสตูดิโอไหนให้ความสนใจ เพราะสเกลงานสร้างขนาดใหญ่ และไร้นักแสดงมีชื่อ ‘big-name’ ให้ความสนใจ

เรื่องราวของหนังได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง Johnson County War (1892-93) เกิดที่ Johnson County, Wyoming ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของปศุสัตว์ (Cattlemen) vs. ผู้อยู่อาศัย (Homesteader) เป็นเหตุให้มีการบังคับใช้กฎหมาย โดยทางฝั่ง Wyoming Stock Growers Association ว่าจ้างมือปืนกว่า 200 คน เข่นฆ่าสังหารบุคคลตามใบสั่ง ทำให้บรรดาชาวบ้านทั้งหมดร่วมกันลุกฮือขึ้นต่อสู้ความอยุติธรรม

เกร็ด: แม้ว่าผู้กำกับ Cimino จะอ้างว่าพัฒนาเรื่องราวของหนังขึ้นโดยไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งใด แต่ก่อนหน้านี้ก็มีนวนิยาย Riders of Judgment (1957) แต่งโดย Frederick Manfred ซึ่งก็มีเนื้อหาคล้ายๆกัน อาจเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งก็เป็นได้


เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1870, สองเพื่อนสนิท Jim Averill (รับบทโดย Kris Kristofferson) และ Billy Irvine (รับบทโดย John Hurt) สำเร็จการศึกษาจาก Harvard College ต่างเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น เพ้อฝัน ทะเยอทะยาน ต้องการพัฒนาประเทศแห่งนี้ให้กลายเป็นดินแดนแห่งความศิวิไลซ์

ยี่สิบปีต่อมา Averill กลายเป็นนายอำเภอประจำ Sweetwater, Johnson Country ระหว่างเดินทางผ่าน Casper, Wyoming ได้รับทราบข่าวความขัดแย้งระหว่าง Wyoming Stock Growers Association กำลังจะออกกฎหมายกวาดล้างผู้อยู่อาศัย (Homesteader) ว่าจ้างมือปืนเข่นฆ่าสังหารบุคคลตามใบสั่ง บรรดาผู้อพยพที่เพิ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานจำนวน 125 คน สร้างความหมดสิ้นหวังให้กับ Irvine นี่นะหรืออนาคตที่ฉันเคยเพ้อใฝ่ฝัน

ที่ Sweetwater, Johnson Country มีซ่องโสเภณีแห่งหนึ่งดูแลโดย Ella Watson (รับบทโดย Isabelle Huppert) เป็นที่รักสามเส้าของ Averill และ Nate Champion (รับบทโดย Christopher Walken) ลูกจ้าง/ผู้บังคับใช้กฎหมายของ Wyoming Stock Growers Association ต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ พยายามโน้มน้าว ชักชวนให้มาอาศัยอยู่ร่วม แต่เธอกลับยื้อยักเล่นตัว ไม่เชื่อในคำเตือนของ Averill (ว่าเธอมีชื่อในใบสั่งฆ่า) จนกระทั่งมือปืนสังหาร Champion (เพราะปฏิเสธทำตามใบสั่งขององค์กร) จึงหลงเหลือเพียงหนทางออกเดียวเท่านั้น

ชาวเมือง Sweetwater ส่วนใหญ่เป็นผู้เพิ่งอพยพมาจากยุโรป ส่วนใหญ่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ เมื่อรับทราบการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพราะไร้ซึ่งหนทางออกอื่น จึงตัดสินใจลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้ากับบรรดามือปืนรับจ้าง กลายเป็นสงครามที่ Powder River Country มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยกว่าคน


Kristoffer Kristofferson (เกิด 1936) นักร้อง นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brownsville, Texas พ่อเป็นทหารอากาศ ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ ก่อนมาปักหลักที่ San Matero, California ชื่นชอบเล่นกีฬา แถมเรียนเก่งจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้ทุนเข้าศึกษาต่อ Oxford University ระหว่างนั้นก็เป็นนักร้อง นักดนตรี ตั้งใจว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จจะออกมาเขียนนิยาย ดิ้นรนอยู่สักพักจนประสบความสำเร็จล้นหลามกับบทเพลงแนว Country, สำหรับวงการภาพยนตร์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอตัว อาทิ Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), The Sailor Who Fell from Grace with the Sea (1976), A Star is Born (1976), Convoy (1978), Heaven’s Gate (1980), Flashpoint (1984), Blade Trilogy ฯ

รับบท Jim Averill นายอำเภอประจำ Sweetwater, Johnson Country เป็นคนมั่งมี ฐานะร่ำรวย (น่าจะตั้งแต่ก่อนเป็นนายอำเภอ) แม้มีความชื่นชอบหลงใหล Ella Watson พร้อมปรนเปรอทุกสิ่งอย่าง แต่เพราะยังคงรักมั่นต่อภรรยา จึงปฏิเสธไม่สามารถขอเธอแต่งงาน นั่นคือเหตุผลให้หญิงสาวตอบตกลงกับ Nate Champion ภายหลังเมื่อซมซานกลับมาหา พร้อมพาเธอออกเดินทางออกจากสถานที่แห่งนี้ไปด้วยกัน

Kristofferson เป็นบุคคลที่มีพลังในการแสดง Charisma สูงมากๆ ภาพลักษณ์แค่ไว้หนวดเคราก็ดูยิ่งใหญ่ เกรงขาม น่าเสียดายบทบาทนี้ไม่ได้มีจุดขายอะไรทั้งนั้น เพียงล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย มึนเมาไม่เว้นวัน ตื่นขึ้นมาก็พร้อมหาเรื่องชาวบ้าน ไร้ซึ่งพัฒนาการตัวละครที่น่าติดตามเลยสักนิด! … เอาจริงๆผมไม่ได้ผิดหวังต่อ Kristofferson แต่เป็นบทหนังและไดเรคชั่นของผู้กำกับ Cimino ที่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากเกินไป จนมองไม่เห็นภาพรวมของตัวละครว่าควรมีพัฒนาการเช่นไร

แม้ในกองถ่าย Kristofferson จะสนิทสนมเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับ Cimino ถึงขนาดเตรียมแผนสร้างใหม่ The Fountainhead (1949) ให้ตนเองรับบทนำหลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ผลลัพท์ของนักวิจารณ์ แถมหนังยังขาดทุนย่อยยับเยิน ทำให้แผนการดังกล่าวต้องล้มเลิกโดยพลัน

ความล้มเหลวของหนัง โดยไม่รู้ตัวยังทำให้ชื่อเสียงของ Kristofferson ป่นปี้ไปด้วย ไม่ค่อยมีใครว่าจ้างงาน โอกาสทางการแสดงลดน้อยลง (เอาจริงๆมันไม่เกี่ยวอะไรกับ Kristofferson เลยนะ!) หลังจากนี้พี่แกเลยหันไปเอาดีด้านการร้องเพลงเป็นหลัก


Christopher Walken ชื่อจริง Ronald Walken (เกิดปี 1943) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City บิดาเป็นชาวเยอรมัน ส่วนมารดาเชื้อสาย Scottish ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Methodist, ตั้งแต่เด็กได้รับการส่งเสริมจากมารดา เพ้อฝันอยากให้ลูกๆเป็นดาวดารา กลายเป็นตัวประกอบซีรีย์/วาไรตี้ ออกรายการโทรทัศน์มากมาย กระทั่งค้นพบความหลงใหลต่อ Elvis Presley ถึงเกิดความตั้งใจเอาจริงเอาจังด้านการแสดง เริ่มมีชื่อเสียงจาก Off-Broadway เรื่อง Best Foot Forward ร่วมงานกับ Liza Minnelli, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจากบทสมทบ The Anderson Tapes (1971), Annie Hall (1977), กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Deer Hunter (1978) คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆหลังจากนั้น อาทิ The Dead Zone (1983), A View to a Kill (1985), Sleepy Hollow (1999), Catch Me If You Can (2002), Hairspray (2007) ฯ

รับบท Nate Champion ลูกจ้างของ Wyoming Stock Growers Association เคยเป็นเพื่อนสนิท/ให้ความเคารพนับถือ Jim Averill แต่หลังจากตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน Ella Watson ก็ทำให้พวกเขาไม่ค่อยลงรอยกันสักเท่าไหร่ พยายามก่อร่างสร้างตัว เก็บสะสมเงินทอง เพื่อว่าสักวันจะได้สู่ขอแฟนสาว กระทั่งใบสั่งของ Wyoming Stock Growe Association ได้สร้างความขัดแย้งไม่ลงรอย ตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง ทั้งๆหาใช่บุคคลเคยกระทำสิ่งผิดกฎหมายอะไร

ผู้ชมสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังคงจดจำภาพลักษณ์ของ Walken ติดตามาจาก The Deer Hunter (1978) ดูเหมือนคนบ้า วิกลจริต ผิดกับหนังเรื่องนี้ที่ดูเป็นปกติ ไม่ได้มีความคลุ้มคลั่งประการใด แต่ภายนอกก็ยังดูดิบเถื่อน บ้านนอกคอกนา … แต่ผมว่าพี่แกหล่อ Sexy เกินบทบาทนี้ไปสักหน่อย

Walken เป็นคนที่มีความแน่นิ่งในการแสดงสูงมากๆ พูดน้อยต่อยหนัก เต็มไปด้วยลับลมคมใน แต่การเล่นบทโรแมนติก ผมว่าเคมีเข้าขากับ Kristofferson มากยิ่งกว่า Huppert ถึงขนาดมีนักวิจารณ์พูดเล่นๆแบบจริงจัง ทำไมชายสองคนนี้ไม่ถาโถมเข้าใส่ กอดจูบ ‘gay sex’ ยังดูสมจริงกว่าแก่งแย่งรักสามเส้าเสียอีก –“

เอาจริงๆผมรู้สึกผิดหวังต่อ Walken มากกว่าบทบาทที่ได้รับอีกนะครับ เพราะพี่แกดูแล้วไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมของตนเองเลย! (คงเชื่อมือผู้กำกับ Cimino เพราะเพิ่งคว้า Oscar มากระมัง) นี่เป็นตัวละครที่ต้องแสดงออกปฏิกิริยาความรู้สึกอย่างรุนแรง มีดราม่าให้ต้องเผชิญหน้าอยู่หลายครั้ง แต่ความแน่นิ่ง สีหน้าทึ่มทื่อ สร้างความจืดชืด ไร้อารมณ์ ผู้ชมสัมผัสไม่ได้ถึงความขัดแย้งภายในใดๆ … นี่ไม่ใช่บทบาทที่มีความเหมาะสมกับภาพการแสดงของ Walken เลยสักนิด!


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), La Dentelliere (1977) คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบท Ella Watson เจ้าของซ่องโสเภณีแห่ง Sweetwater ตกหลุมรักกับชายสองคน Jim Averill และ Nate Champion แม้ได้รับคำเตือนจาก Averill แต่เพราะยังยึดติดอยู่กับสถานที่แห่งนี้ เลยตอบตกลงแต่งงานกับ Champion แต่ยังไม่ทันมีโอกาสทำอะไรก็ถูกไล่ล่าโดยมือปืนของ Wyoming Stock Growers Association ทำให้ต้องซมซานกลับมาหา พร้อมที่จะออกเดินทางเริ่มต้นชีวิตใหม่

เกร็ด: ตัวจริงของชื่อ Ellen Liddy Watson (1860-1889) ฉายา Cattle Kate เธอไม่ได้เป็นโสเภณี เปิดร้านอาหาร ขายของทั่วไป เคยมีความสัมพันธ์กับ Jim Averill ต่อมาอาศัยอยู่กับ Albert Bothwell แต่ถูกกล่าวหาว่าลักขโมยปศุสัตว์ เลยโดนลักพาตัวไปแขวนคอเสียชีวิต(ร่วมกับสามี)

มีนักแสดงหญิงมากมายที่ได้รับการติดต่อ อาทิ Jane Fonda, Sally Field, Diane Keaton, Raquel Welch, Ali MacGraw, แต่ผู้กำกับ Cimino กลับหักหน้าสตูดิโอด้วยการเลือกนักแสดงยังไม่เป็นที่รู้จัก Isabelle Huppert เพราะความประทับใจจาก Violette (1978) แถมเธอยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้อีกต่างหาก

แม้ว่าอนาคตของ Huppert จะเจิดจรัส แจ่มจร้า คือหนึ่งใน Superstar แห่งวงการภาพยนตร์! แต่ผลงานเรื่องนี้เธอยังขาดทั้งภาพลักษณ์ พลังการแสดง ไม่สามารถเป็นบุคคลที่ทำให้สองพระเอก Kristofferson และ Walken สมควรค่าแก่การแก่งแย่งชิง กำแพงด้านภาษาอาจเป็นประเด็นหนึ่ง แต่การตีความบทบาทถูกทำให้หลงเหลือเพียง ‘วัตถุทางเพศ’ มันก็น่าเศร้าใจอยู่เล็กๆ … สะท้อนมุมมองของผู้กำกับ Cimino ต่อประเด็น Feminist ได้ชัดเจนมากๆ (ก็ตั้งแต่ The Deer Hunter (1978) แล้วละนะ)

แซว: พบเห็นตัวละครของ Isabelle Huppert ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ชวนให้ระลึกถึง Elle (2016) เหมือนเธอจะมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ด้านนี้สูงมั๊กๆ และยังเป็นฉากน่าประทับใจสุดของเธอในหนังเรื่องนี้อีกต่างหาก


Sir John Vincent Hurt (1940 – 2017) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chesterfield, Derbyshire บ้านของเขาอยู่ตรงข้ามกับโรงหนัง แต่ครอบครัวไม่อนุญาติให้เขาเข้าไปรับชมหรือเป็นเพื่อนกับเด็กๆแถวบ้าน กระนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art เริ่มจากเป็นตัวประกอบ The Wild and the Willing (1962) รับบทนำครั้งแรก A Man for All Seasons (1966) โด่งดังกับ 10 Rillington Place (1971), Midnight Express (1978), Alien (1979), The Elephant Man (1980) ฯ

Billy Irvine คือประธานนักเรียนรุ่น 70s แห่ง Harvard College เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น เพ้อฝัน มักใหญ่ใฝ่สูงที่จะเปลี่ยนแปลงสหรัฐอเมริกา แต่ 20 ปีถัดมาก็พบว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของผู้คน ทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวัง หลังจากนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น

นี่เป็นอีกบทบาทที่โคตรเสียดายของและนักแสดง เริ่มต้นมาน่าสนใจมากๆ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆเจือจาง เลือนลาง จนแทบหมดสิ้นความน่าสนใจ ช่วงท้ายกลายเป็นนักพากย์/แสดงความคิดเห็นกวนๆ ยียวนระหว่างการสงคราม ไร้ซึ่งความจำเป็น ตัดทิ้งไปเลยก็ได้ คาดว่าคงหาจุดจบตัวละครไม่ได้กระมัง

Hunt เป็นนักแสดงที่มีความจัดจ้าน ทั้งฝีไม้ลายมือ และลีลาการกล่าวสุนทรพจน์ มีความน่าจดจำ ประทับใจ ผมเองยังแทบอยากยืนปรบมือให้ แต่หลังจากนั้น … อย่าไปพูดถึงมันเลยดีกว่า เอาจริงๆคือไม่มีอะไรให้พูดถึงอีกต่อไป

เกร็ด: เพราะความล่าช้า เสียเวลาว่างๆไม่ได้ทำอะไรในกองถ่าย John Hurt เลยตัดสินใจรับอีกงานแสดงควบคู่ไปด้วยเรื่อง The Elephant Man (1980) ขนาดว่าถ่ายทำเสร็จแล้ว ยังหวนกลับมาเล่นหนังเรื่องนี้ต่ออีกหลายสัปดาห์


ถ่ายภาพโดย Vilmos Zsigmond (1930-2016) สัญชาติ Hungarian อพยพสู่สหรัฐอเมริกาในช่วง 1956 Hungarian Revolution กลายเป็นขาประจำ American New Wave อาทิ Robert Altman, Steven Spielberg, Brian De Palma, ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน Michael Cimino เรื่อง The Deer Hunter (1978)

การทำงานของผู้กำกับ Cimino จะมีความหมกมุ่นในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ‘Perfectionist’ ถึงขนาดได้รับฉายา The Ayatollah (คำเรียกตำแหน่งผู้นำศาสนาอิสลาม/ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน) บางวันถ่ายทำได้เพียงช็อตเดียว จำนวนกว่า 50+ เทค สร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายให้ทีมงาน จากแผนโปรดักชั่นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ล่าช้าเกือบๆ 6 เดือน ระหว่าง 16 เมษายน – 2 ตุลาคม 1979

งานภาพของหนังมีความโดดเด่นในการจัดเก็บภาพบรรยากาศ สถานที่ ทิวทัศน์สวยๆ ตึกรามบ้านช่อง รถรา ผู้คนเดินทางไปมาขวักไขว่ ทำให้ท้องถนนเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ตลบอบอวล ใช้เพียงโทนสีน้ำตาล มอบสัมผัสเก่าๆ กลิ่นอาย Western และการจัดแสงภายใน หลายๆฉากทำออกมาได้ลุ่มลึก สลับซับซ้อน (กว่าเรื่องราวของหนังเสียอีกนะ!)

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm ระบบ Panavision (Anamorphic) สี Technicolor อัตราส่วน 2.39:1 แล้วทำการ Blow-Up กลายเป็นฟีล์ม 70mm อัตราส่วน 2.20:1 ซึ่งก็ต้องชมว่าสามารถเก็บรายละเอียด ภาพมุมกว้าง ทั้งฉากในเมือง หรือทิวทัศน์ธรรมชาติ ท้องฟ้า ให้ความรู้สึกเต็มอิ่มหนำมากๆ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือ Glacier National Park อยู่ทางตะวันออกของ Kalispell, Montana พบเห็นทิวทัศน์ภูเขาด้านหลัง Painted Tepee Peak มีการก่อสร้างเมือง ถนนหนทาง รางรถไฟ และเห็นว่ามีการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่รอบสอง เพราะไม่ตรงตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ สิ้นเปลืองงบประมาณและระยะเวลาถ่ายทำไปไม่น้อยเลยละ!

ส่วนฉากในมหาวิทยาลัย ตอนแรกก็ตั้งใจจะถ่ายทำยัง Harvard University แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะความจู้จี้จุกจิกของผู้กำกับ Cimino เลยเปลี่ยนมาเป็น University of Oxford ซึ่งฉากในลานกว้างก็ไปตัดต้นไม้รอบๆทิ้งอีกนะ เพื่อให้สามารถเต้นระบำ ทำกิจกรรมต่างๆโดยไม่มีอะไรกั้นขว้าง

สำหรับคนช่างสังเกตอาจพบเห็นว่า Sequence เริงระรำในลานกว้าง มีการจัดสถานที่ให้ล้อกับฉากสงครามไคลน์แม็กซ์ที่ Powder River Country ต้นไม้ใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบริเวณกึ่งกลาง (=มือปืนว่าจ้างโดย Wyoming Stock Growers Association) หนุ่มสาวเริงระบำไปรอบๆ (=ชาวเมือง Sweetwater ควบขี่ม้าไปรอบๆ) นี่เป็นการเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างดินแดนที่มีอารยะ vs. ไร้ความศิวิไลซ์ มีความละม้ายคล้ายที่แตกต่างกัน

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของปศุสัตว์ (Cattlemen) vs. ผู้อยู่อาศัย (Homesteader) สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น (ชนชั้นกระฎุมพี vs. ชนชั้นทำงาน) เชื้อชาติพันธุ์ (ชาวอเมริกัน vs. ผู้อพยพจากยุโรป) รวมไปถึงทัศนคติทางการเมือง (ประชาธิปไตย vs. อนาธิปไตย) ซึ่งบุคคลผู้มีอำนาจสามารถใช้ข้ออ้าง ออกกฎหมาย เข่นฆ่ามนุษย์ราวกับปศุสัตว์ นั่นคือสิ่งที่หนังพยายามเปรียบเปรยถึงศพแรก ตำแหน่งที่ชายคนนี้เสียชีวิต แนบชิดวัวลักลอบขโมยมา

ฉากภายในของหนังต้องชมเลยว่างดงามมากๆ นั่นเพราะมักมีความฟุ้งจากฝุ่นควัน ทำให้แสงดูสลัวๆ ขมุกขมัวๆ ภาพออกมาดูหยาบกระด้าง สะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละคร Jim Averill ไม่ว่าขณะไหนล้วนเต็มไปด้วยความหมองหม่น ไร้สีสัน ขาดชีวิตชีวา อย่างฉากนี้แสงจากภายนอกลอดผ่านบานเกล็ด มีบางสิ่งอย่างควบคุมครอบงำจิตวิญญาณของเขาไว้ ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นพันธการ นกในกรงขัง

ผมครุ่นคิดว่ามันอาจคืออดีตของ Averill ที่ยังคงหวนระลึก ครุ่นคำนึงถึงช่วงเวลาแห่งความสุข เกษมกระสันต์ ตระหนักว่าโลกความจริงหาได้เป็นแบบเคยครุ่นคิดไว้ ช่างเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย ภยันตราย ความตายรายล้อมรอบทุกทิศทาง

20 ปีก่อน Jim Averill และ Billy Irvine ต่างเป็นเพื่อนสนิท นักศีกษาจบใหม่จาก Harvard College ต่างเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น เพ้อฝัน ทะเยอทะยาน อยากที่จะปรับเปลี่ยนแปลงวิถีของโลกใบนี้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ชีวิตไม่ต่างจากเกมกีฬาสนุ๊กเกอร์ (แต่เหมือนพวกเขากำลังเล่นบิลเลียดนะครับ) สังเกตว่า Averill แทงลงหลุมทุกลูก (สื่อถึงชีวิตดำเนินไปตามเป้าหมาย) ขณะที่ Irvine เล็งอะไรไว้ก็ผิดพลาดไปเสียหมด (ไม่มีอะไรได้ดั่งใจในชีวิตสักเท่าไหร่)

ฉากชนไก่ใน Stillwater สะท้อนการต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย ตัวขาว-ดำ ธรรมะ-อธรรม หรือคือเจ้าของปศุสัตว์ (Cattlemen) vs. ผู้อยู่อาศัย (Homesteader) แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวไหนเป็นผู้ชนะ

เกร็ด: หนังถูกองค์กรเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ American Humane Association (AHA) โจมตีอย่างหนักเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสรรพสัตว์ นี่เป็นผลพวงมาจากการฆ่าวัวของ Apocalypse Now (1979) ทำให้ข่าวอื้อฉาวลักษณะนี้มีความอ่อนไหวมากๆ เหมือนจะถูกเซนเซอร์ห้ามฉายในบางรัฐ (โดยเฉพาะฉากชนไก่นี้แล)

ในหนังจะมีสถานที่แห่งหนึ่งตั้งชื่อว่า Heaven’s Gate ห้องโถงสำหรับรวมพลชาวเมือง Sweetwater มีการร้อง-เล่น-เต้นโรลเลอร์สเก็ต เต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้นเครง (ราวกับสรวงสวรรค์) ขณะเดียวกันยังใช้เป็นที่ประชุม โต้ถกเถียง เรียกร้อง และตัดสินใจบางสิ่งอย่าง ซึ่งมักเป็นเรื่องร้ายๆ เตรียมตัวเผชิญหน้าความเป็น-ตาย (ไม่ต่างจากขุมนรก)

หลังการเริงระบำระหว่าง Jim Averill และ Ella Watson ในห้องโถง Heaven’s Gate ทั้งสองเดินออกมาภายนอก (น่าจะเป็นครั้งเดียวที่เห็นป้ายชื่อ Heaven’s Gate) ตรงไปยังทะเลสาป กล้องแพนนิ่งติดตาม จนเห็นทิวทัศน์ที่ชวนให้ตกตะลึง อ้าปากค้าง งดงามราวกับสรวงสวรรค์ … ใช้ประโยชน์จาก Panavision ได้งดงามมากๆ

บอกตามตรง ผมโคตรรำคาญนักกายกรรมข้างนอกหน้าต่างอย่างรุนแรง แม้จะแฝงนัยยะถึงความอลวลของ ‘รักสามเส้า’ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Ella Watson ที่มีต่อ Jim Averill และ Nate Champion (นี่เป็นฉากที่ Champion เข้ามาต่อรองร้องขอ Watson จาก Averill) แต่มันไม่ได้มีความสมเหตุสมผลว่าทำไมต้องมาโยนเล่นอยู่ตำแหน่งนั้น แถมไม่ยินยอมเคลื่อนย้ายไปไหนด้วยนะ ดึงดูดสายตา แก่งแย่งความสนใจผู้ชมไปจนหมดสิ้น

กระท่อมน้อยกลางนาของ Nate Champion มีสภาพที่ผมเองยังคาดไม่ถึง! ปฏิกิริยาของ Ella Watson ก็คงตกตะลึง ลึกๆอาจรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจครั้งนี้ แต่แปลกที่เธอกลับยังดื้อรั้น ดึงดัน เชื่อมั่นในดินแดนแห่งนี้ว่ายังสามารถมอบความสุข เติมเต็มสิ่งที่ตนโหยหา

ภายในกระท่อมตกแต่งฝาผนังด้วยวอลเปเปอร์ แท้จริงแล้วคือป้ายประกาศ กระดาษหนังสือพิมพ์ ดูเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้ได้ (แบบเดียวกับๆห้องโถงของ Heaven’s Gate ซึ่งสามารถตีความใจเชิงมหภาค-จุลภาค) แฝงนัยยะถึงการบันทึกข่าวสาร เหตุการณ์สำคัญ ประวัติศาสตร์ชาติ (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งสร้างอิทธิพล แผ่ปกคลุม หล่อหลอมให้บุคคลกลายเป็น ‘อเมริกัน’

ซึ่งการที่กระท่อมหลังนี้ถูกเผาทำลาย มอดไหม้วอดวาย เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ Cimino ถึงการล่มสลายของความเป็น ‘อเมริกัน’ Champion ถูกทรยศหักหลังโดย Wyoming Stock Growers Association (แต่ในมุมขององก์กรนี้ Champion ถือเป็นคนทรยศหักหลังพวกเขาก่อน)

ฉากรุมข่มขืน กระทำชำเรา Ella Watson นอกจากสื่อถึงความป่าเถื่อน ไร้อารยะธรรมของชาว Western ยังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการฉกฉวยโอกาสจากความชอบธรรมของกฎหมาย เพราะเธอคือหนึ่งในรายชื่อบนใบสั่งตาย มันผิดอะไรที่มือสังหารเหล่านี้จะกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ แล้วค่อยเข่นฆ่าปิดปาก แถมได้รางวัลค่าตอบแทนอีกต่างหาก

นี่คือฉากตวัดแส้ในตำนาน ใช้ระยะเวลาทั้งวันถ่ายทำ 52 เทค! ซึ่งก่อนหน้านั้น Kris Kristofferson ต้องไปร่ำเรียนการตวัดแส้จนเชี่ยวชำนาญ เพื่อสามารถเล่นฉากนี้ได้ด้วยตนเอง ปรากฎในหนังแค่เพียงเศษเสี้ยววินาที –“

ถ้าอ้างอิงตามประวัติศาสตร์ สถานที่เผชิญหน้าระหว่างเจ้าของปศุสัตว์ (Cattlemen) vs. ผู้อยู่อาศัย (Homesteader) คือบริเวณ Powder River Country ทุ่งกว้างทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Wyoming, ส่วนสถานที่ถ่ายทำในหนังก็บริเวณ Glacier National Park เห็นว่าทีมงานต้องตื่นตั้งแต่ประมาณตีสามครึ่ง ใช้เวลาออกเดินทาง 3 ชั่วโมงเต็มๆบนทางลูกรังขรุขระ พอมาถึงก็ไม่มีอะไรเตรียมพร้อมสักอย่าง ไร้ซึ่งสตั๊นแมน หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ฝุ่นควันที่พบเห็นก็นักแสดงควบขี่ม้าเข้าฉากจริงๆ ระเบิดตูมตามห่างแค่เอื้อมมือเท่านั้นเอง

การต่อสู้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

  • ยามเย็น, ชาวเมือง Stillwater ควบขับม้าพุ่งตรงเข้ามาบริเวณลานกว้าง วิ่งวนล้อมรอบกลุ่มมือปืนรับจ้าง ที่สามารถรวมกลุ่มบริเวณกึ่งกลาง ต่างฝ่ายต่างพยายามยิงตอบโต้ แต่ประชาชนทั่วไปจะสามารถต่อกรนักสู้มืออาชีพได้อย่างไร
  • ยามเช้า, ความช่วยเหลือของ Jim Averill ครุ่นคิดแผนการโดยใช้รถลาก (ตามแบบโรมัน) ค่อยๆบุกเคลื่อนเข้าไประยะประชิด สร้างความได้เปรียบ แต่ก็แลกมากับความสูญเสียไม่น้อย

นัยยะของสงครามครั้งนี้คือการต่อสู้กับความอยุติธรรม ประชาชนรวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นเผชิญหน้าความไม่ชอบธรรมของรัฐ ในช่วงแรกๆย่อมไม่สามารถต่อกรเอาชนะ แต่เมื่อสามารถรวมกลุ่ม ครุ่นคิดแผนการ ผลักดันตนเองเข้าไปทีละนิด ย่อมมีแนวโน้มที่จะโค่นล้นอำนาจเผด็จการลงได้ในที่สุด

ผู้กำกับ Cimino จงใจนำเสนอฉากนี้เพื่อตอกย้ำถึงหายนะของสงคราม ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ ผลลัพท์คือการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการต่อสู้ทั้งนั้น

ดั้งเดิมนั้นหนังไม่มีอารัมบท-ปัจฉิมบท แต่สตูดิโอ United Artists ไม่รู้ทำไมใจป้ำมอบอีก $3 ล้านเหรียญ สำหรับถ่ายทำทั้งสอง Sequence ในตอนแรกผู้กำกับ Cimino เรียกร้องขอเพิ่มเป็น $5.2 ล้านเหรียญ แต่สตูดิโอไม่ยินยอมเขาจึงพอแค่นี้ก็ได้ (เห็นว่าถ้า Cimino ยืนกรานต้อง $5.2 ล้านเหรียญ UA ก็จะล้มเลิกไม่เอาแล้วอารัมบท-ปัจฉิมบท)

สำหรับปัจฉิมบท Fast Forward ไปยังปี ค.ศ. 1903 ในช่วงเวลา Golden Hour (พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่ยังหลงเหลือแสงสีทองอร่ามบนท้องฟ้า) บนเรือยอร์ช Averill ออกเดินทางร่วมกับภรรยา แต่เหมือนว่าเขาไม่หลงเหลือถ่านไฟให้คุกรุ่น เพียงเธอที่ยังคงสุขสำราญกับการสูบบุหรี่ใต้ท้องเรือแต่เพียงลำพัง

คำถามคือพวกเขากำลังเดินทางไปไหน? ลองครุ่นคิดกันดูก่อนนะครับ คำตอบที่น่าเป็นไปได้มีอธิบายช่วงท้าย

เมื่อหนังถ่ายทำเสร็จเข้าสู่กระบวนการ Post-Production ว่ากันว่าผู้กำกับ Cimino ถึงขนาดเปลี่ยนกุญแจห้องตัดต่อไม่ให้ผู้บริหารสตูดิโอเข้าไปยุ่งวุ่นวาย มีเพียงเขาและนักตัดต่อ William H. Reynolds (1910-97) ที่มีผลงานเด่นๆอย่าง The Sound of Music (1965), The Godfather (1972), The Sting (1973) ฯ ใช้เวลาสามเดือนแล้วเสร็จฉบับร่างแรก ‘Workprint’ ความยาว 325 นาที (5 ชั่วโมง 25 นาที)

เกร็ด: ความยาวฟีล์มถ่ายทำ 1.3 ล้านฟุต (ประมาณ 400,000 เมตร) ว่ากันว่าทำลายสถิติเดิมของ Apocalypse Now (1979) ที่ประมาณ 1 ล้านฟุต อย่างไม่เห็นฝุ่น สตูดิโอประเมินค่าใช้จ่ายสูงถึง $200,000 เหรียญต่อวัน

แน่นอนว่าสตูดิโอ UA ย่อมไม่ยินยอมรับฉบับ ‘Workprint’ เรียกร้องให้ผู้กำกับ Cimino ตัดต่อเพิ่มเติมจนกระทั่งหลงเหลือความยาว 219 นาที (3 ชั่วโมง 39 นาที) นำออกฉายรอบปฐมทัศน์ปลายปี 1980 แต่เสียงตอบรับที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เลยยังถูกกดดันให้ลดระยะเวลาลงอีกจนเหลือเพียง 149 นาที จนสามารถออกฉายเดือนเมษายน 1981

หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร Jim Averill เป็นหลัก โดยเริ่มจากนอนหลับฝันหวานถึงอดีตอันสุขสำราญ เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาจาก Harvard College แต่เมื่อตื่นขึ้นก็ต้องเผชิญหน้าโลกความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยอันตราย หายนะ ความตายรายล้อมรอบ และสิ้นสุดลงที่อนาคต เหมือนจะค้นพบความสุขสงบ หรือเปล่า?

  • อารัมบท, ค.ศ. 1870 เมื่อครั้ง Jim Averill และ Billy Irvine สำเร็จการศึกษาจาก Harvard College
  • องก์หนึ่ง, Casper, Wyoming
    • Averill เดินทางมาถึง Casper, Wyoming ออกเดินชมเมืองที่มีความเจริญ รถราสัญจร ผู้คนพลุกพร่าน
    • Wyoming Stock Growers Association กำลังหารือ ลงมติที่จะว่าจ้างมือปืนสำหรับสังหารเป้าหมายตามใบสั่ง
  • องก์สอง, Sweetwater, Johnson County
    • Averill เดินทางมาถึง Sweetwater พบเจอแฟนสาว Ella Watson พยายามโน้มน้าวให้เธอไปจากสถานที่แห่งนี้
    • การเผชิญหน้าระหว่าง Averill กับ Champion
    • Champion สู่ขอแต่งงาน Ella พาไปยังกระท่อมกลางป่า
  • องก์สาม, อารัมบทสงคราม
    • เหตุการณ์ข่มขืนกระทำชำเรา Ella
    • Champion ปฏิเสธใบสั่งของ Wyoming Stock Growers Association เลยถูกรุมล้อม กำจัดให้พ้นภัยทาง
  • องก์สี่, การต่อสู้ ณ Powder River Country
    • การเผชิญหน้าระหว่าง Cattlemen vs. Homesteaders
    • เช้าวันถัดมา Averill ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน สามารถต่อกรอีกฝั่งฝ่ายจนเกือบได้รับชัยชนะ
  • ปัจฉิมบท, ค.ศ. 1903 เรือยอร์ชกำลังแล่นออกจากฝั่ง Jim Averill ลงไปหาภรรยาใต้ท้องเรือ แต่สิ่งที่หลงเหลือมีเพียงความเวิ้งว่างเปล่า แทบไม่มีเยื่อใยสัมพันธ์อันใดต่อกัน

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Cimino นิยมใช้สถานที่ถ่ายทำเป็นจุดหมุนของซีนนั้นๆ แล้วเก็บรายละเอียด บรรยากาศรอบข้าง ปฏิกิริยาตัวประกอบ ตัดสลับระหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง ผู้กระทำ-ถูกกระทำ ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ทำให้ฉากที่ควรแค่ 5-10 นาที เยิ่นยาวไปกว่า 20-30 นาที

ใน The Deer Hunter (1978) ไดเรคชั่นดังกล่าวประสบความสำเร็จเพราะมันมีเหตุการณ์ ‘ไคลน์แม็กซ์’ เกิดขึ้นก่อนจบแต่ละฉากนั้นๆ ทำให้ช่วงเวลาที่เยิ่นเย้อยืดยาว ไม่ได้สูญสิ้นเสียเปล่าสักเท่าไหร่ แต่สำหรับ Heaven’s Gate (1980) เพราะทุกๆ Sequence ถูกนำเสนอในลักษณะเดียวกันนั้น จนกระทั่งหนังมีความยาวเกินกว่า 3 ชั่วโมง! มันสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายในการรับชมเกินไป แถมบางครั้งจบซีนแล้วก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ตัดทิ้งไปเลยก็ยังได้ มันเลยรู้สึกเหมือนแค่ต้องการโชว์ ‘งานสร้าง’ เท่านั้นเอง

ยกตัวอย่างฉากตอนต้นเรื่อง Casper, Wyoming เอาจริงๆสถานที่นี้แทบจะไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรต่อเรื่องราว แต่หนังเหมือนต้องการพาผู้ชมออกทัวร์ไปรอบๆเมือง (ผ่านสายตาของ Averill) สูญสิ้นเวลาไปกว่า 20 นาที เพื่อพบเห็นความพลุกพล่านผู้คน ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา สัญจรไปมาขวักไขว่ … แค่นั้นอ่ะนะ?


เพลงประกอบโดย David Mansfield (เกิดปี 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน มีชื่อเสียงจากการร่วมงาน Bob Dylan, The Alpha Band, ได้รับการชักชวนจากผู้กำกับ Cimino เริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ Heaven’s Gate (1980) และร่วมงานกันอีกหลายครั้ง

Mansfield คือนักกีตาร์ มีความถนัดในเครื่องสาย สไตล์เพลง Country ต้องถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับหนังมากๆ เพราะพื้นหลังดำเนินเรื่องช่วงทศวรรษ 1890s และแนว Western ย่อมต้องใช้ดนตรี Country บรรเลงด้วยกีตาร์เป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้ทำการผสมผสานท่วงทำนองพื้นบ้าน (American Folk Song) บางครั้งก็เรียบเรียงบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ สร้างบรรยากาศหลากหลายอารมณ์ ถือเป็นส่วนผสมกลมกล่อมลงตัวที่สุดของหนังแล้วละ

ท่วงทำนองเศร้าๆเหงาๆของบทเพลง Slow Water สามารถเทียบแทนทั้งความรู้สึกของ Jim Averill และวิถีของชาว Western ใช้ชีวิตอยู่บนความโดดเดี่ยวเดียวดาย ท่ามกลางผืนแผ่นดินเวิ้งว่างเปล่า ท้องฟ้ากว้างใหญ่ ความตายอยู่ไม่ห่างไกล

Song of ’70 เสียงกีตาร์บรรเลงอย่างเชื่องช้า เต็มไปด้วยบรรยากาศโหยหา ‘Nostalgia’ ครุ่นคำนึงถึงอดีตเมื่อครั้นยังเป็นหนุ่มแน่น เคยมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานเริงร่า ไม่ต้องยี่หร่าอะไรใคร แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไป ก้าวออกจากมหาวิทยาลัยเผชิญโลกกว้าง มันกลับไม่มีอะไรสมประสงค์ดั่งใจหวังสักอย่าง โลกความจริงมันช่างเหี้ยมโหดร้าย รายล้อมรอบด้วยความป่าเถื่อน ภยันตราย และความตายอยู่ห่างไกลแค่เอื้อมมือ

ช่วงท้ายของหนังท่วงทำนองเดียวกันนี้จะได้ยินอีกครั้งในชื่อบทเพลง The Yacht หลังจากที่ Jim Averill สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย หวนกลับไปหาภรรยา แต่ก็ไม่ได้มีความกระตือรือร้น เพียงแค่ชีวิตยังคงต้องล่องลอย ดำเนินต่อไป

บทเพลงที่ผมถือเป็น Main Theme ของหนังก็คือ Heaven’s Gate Waltz ดังขึ้นขณะ Jim Averill เต้นระบำเพียงเราสองกับ Ella Watson ที่ลาน Heaven’s Gate แห่ง Sweetwater, Johnson County นั่นคือช่วงเวลาที่มีความสุข หรรษา เริงร่าที่สุดของสองตัวละคร ก่อนหนังจะเปิดเผยให้ผู้ชมรับรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา แค่เพียงฝั่งหนึ่งของรักสามเส้า

มีหลายๆบทเพลงคลาสสิกชื่อดัง อาทิ The Blue Danube, Battle Hymn of the Republic ฯลฯ ได้ยินทั้งต้นฉบับออเคสตร้า (ตอนอยู่ Harvard College) และถูกนำมาเรียบเรียงบรรเลงด้วยกีตาร์/เครื่องสาย (ช่วงที่อยู่ Sweetwater) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองสถานที่ ดินแดนศิวิไลซ์ vs. ไร้อารยธรรม

บทเพลงจังหวะสนุกสนานก็มี Mamou Two Step เมื่อนักไวโอลินสวมโรลเลอร์สเก็ต บรรเลงพร้อมโลดแล่นไปรอบลาน Heaven’s Gate ชักชวนให้ผู้คนร่วมเข้ามาโยกเต้น (บนโรลเลอร์สเก็ต) ล้มลุกคลุกคลาน เรียกเสียงหัวเราะ สร้างความบันเทิงเริงใจ นี่เป็นช่วงเวลาที่ชาวเมือง Sweetwater ยังไม่ต้องยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น

Sweetwater, Johnson County หาได้มีความเป็นสรวงสวรรค์เลยสักนิด! ตรงกันข้ามสถานที่แห่งนี้ราวกับขุมนรก กำลังถูกรุกรานจากปีศาจร้าย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดบุคคลผู้มีความครุ่นคิดเห็นต่าง สร้างความถูกต้องชอบธรรมให้ตนเอง โดยไม่สนหลักมนุษยธรรม ดี-ชั่วประการใด

อคติต่อสงครามเวียดนามของผู้กำกับ Michael Cimino ยังคงต่อเนื่องมาจาก The Deer Hunter (1978) แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจของรัฐ กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ใครครุ่นคิดเห็นต่างย่อมคือศัตรูภัยพาล พร้อมต่อสู้ด้วยกำลังทหาร เผชิญหน้ายึดครอบครองอีกฝั่งฝ่าย … นี่คือวิถี/สันดานธาตุแท้ของสหรัฐอเมริกา เป็นมาตั้งแต่โบราณกาล ยุคบุกเบิกสร้างชาติ

แม้ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาก็ยังพยายามยุแยง สร้างความหวาดระแวง แตกแยกให้บังเกิดขึ้นบนโลก ปั่นป่วนจีน รัสเซีย ตะวันออกกลาง ฯ พร้อมสู่รบทำสงครามเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก คาดหวังธำรงสถานะมหาอำนาจ จ้าวโลก ทุกคนต้องยินยอมศิโรราบอยู่แทบเท้า

ข้ออ้างกฎหมาย ศีลธรรม หรือประชาธิปไตย มันช่างเป็นสิ่งโป้ปดหลอกลวง เพียงการสร้างภาพให้ดูดี แท้จริงแล้วไม่ต่างจากเผด็จการ พวกบ้าอำนาจ เรียกร้องให้ผู้คนกระทำตามโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว แต่เมื่อไหร่ความอยุติธรรมมาถึงจุดที่สังคมไม่สามารถยินยอมรับไหว ประชาชนก็พร้อมลุกฮือขึ้นตอบโต้ เผชิญหน้า สู้จนตัวตาย โดยไม่สนอะไรทั้งนั้น

สุดท้ายแล้วทุกสิ่งอย่างก็พังทลาย ล่มสลาย หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง ความทรงจำที่ว่างเปล่า และชีวิตล่องลอยคอไปยังสักแห่งหนไหน


ชื่อหนัง Heaven’s Gate เชื่อว่าหลายคนย่อมนึกถึงคัมภีร์ไบเบิ้ล กล่าวถึงใน Gospel of Matthew ฉบับพันธสัญญาใหม่ เส้นทางสำหรับมุ่งสู่สรวงสวรรค์จะมีสองประตูขนาดเล็ก-ใหญ่ คนทั่วไปมักเลือกเข้าประตูใหญ่ซึ่งนำทางสู่หายนะ น้อยคนถึงเลือกประตูเล็ก (บางครั้งก็ขนาดเท่ารูเข็ม) สามารถนำทางสู่จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่

Enter through the narrow gate. For wide is the gate and broad is the road that leads to destruction, and many enter through it. But small is the gate and narrow the road that leads to life, and only a few find it.

Matthew 7:13-14

นัยยะดังกล่าวคงต้องการสื่อถึง ‘การเลือก’ ของตัวละครต่างๆในหนัง ล้วนนำทางสู่หายนะ ความตาย นั่นรวมไปถึง Jim Averill แม้สามารถเอาตัวรอดชีวิต แต่ก็มีสภาพตกตายทั้งเป็น ล่องลอยคออย่างเรื่อยเปื่อย ไร้จุดมุ่งหมายปลายทาง หรือจะมองว่าเขากำลังออกเดินทางมุ่งสู่ Gate of Heaven ก็ได้เช่นกัน


นอกจากการอ้างถึงคัมภีร์ไบเบิ้ล ใครชื่นชอบ William Shakespeare อาจรู้จักโคลง Sonnet 29 ซึ่งก็มีการกล่าวถึง Heaven’s Gate ผู้พูดรำพันถึงความเศร้าโศกเสียใจ ท้อแท้หมดอาลัยตายอยาก หลังจากได้กระทำบางสิ่งอย่างผิดพลาดพลั้ง ประสบความล้มเหลว แต่เมื่อครุ่นคิดถึงหญิงสาวคนรัก สภาพจิตใจก็ฟื้นคืนชีพ มีกำลังใจในชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง … นี่เป็นลักษณะของ ‘love poem’ เชื่อว่าความรักสามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

Heaven’s Gate ในโคลงบทนี้สื่อถึงสถานที่ในอุดมคติ จุดสูงสุดของศรัทธาในความรัก สามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเคยทุกข์เศร้าโศก คลายความวิปโยค กลับมาฟื้นคืนชีพ มีกำลังใจในการใช้ชีวิตอีกครั้ง

When, in disgrace with fortune and men’s eyes,
I all alone beweep my outcast state,
And trouble deaf heaven with my bootless cries,
And look upon myself, and curse my fate,

Wishing me like to one more rich in hope,
Featur’d like him, like him with friends possess’d,
Desiring this man’s art and that man’s scope,
With what I most enjoy contented least;

Yet in these thoughts myself almost despising,
Haply I think on thee, and then my state,
Like to the lark at break of day arising
From sullen earth, sings hymns at heaven’s gate;

For thy sweet love remember’d such wealth brings
That then I scorn to change my state with kings.

Shakespeare: Sonnet 29

เรื่องราวทั้งหมดของหนังล้วนคือความผิดพลาด ประสบความล้มเหลว พ่ายแพ้ในการต่อสู้ ทำให้ต้องสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง แต่สำหรับ Jim Averill ที่สามารถเอาตัวรอดชีวิต สิ่งหลงเหลือสำหรับเขาคือหญิงสาวคนรัก ซึ่งจักนำทางสู่ประตูแห่งสรวงสวรรค์ … ตอนจบของหนังก็คือการเดินทางมุ่งสู่ Heaven’s Gate


Heaven’s Gate ในความเข้าใจของผมนั้น ‘สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ’ ไม่ใช่สถานที่หรือเป้าหมายปลายทางของหนัง แต่คือความครุ่นคำนึง โหยหาถึงบางสิ่งอย่างของตัวละคร Jim Averill

  • เริ่มต้นเพ้อฝันถึงความสุขสนานครื้นเครงเมื่อครั้นยังร่ำเรียนมหาวิทยาลัย
  • พอเติบโตขึ้นก็ต้องการให้ Ella Watson ออกไปจาก Sweetwater, Johnson County
  • และช่วงท้ายหวนกลับไปหาภรรยา แต่สิ่งหลงเหลือระหว่างพวกเขากลับมีเพียงความเวิ้งว่างเปล่า

สิ่งที่อยู่ภายในอกของ Jim Averill คงคือความรู้สึกของผู้กำกับ Michael Cimino ต่อสภาพสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น

  • สมัยเรียนหนังสือ ชีวิตคงเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน ต้องการทำโน่นนี่นั่นตามใจคาดหวังมากมาย
  • เมื่อเรียนจบเผชิญหน้าโลกความจริง กลับพบเจอแต่สิ่งเลวร้าย การใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ (รวมถึงสตูดิโอภาพยนตร์ด้วยกระมัง) ลึกๆย่อมต้องการดิ้นหลบหนีออกไปจากประเทศแห่งนี้ แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้
    • เหตุผลที่ Ella ไม่ยินยอมหลบหนีไปไหน ย่อมคือคำตอบของผู้กำกับ Cimino เองนะแหละ
  • แม้ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ Cimino จะได้ครอบครองทุกสิ่งอย่างจากความสำเร็จของ The Deer Hunter (1978) แต่เหตุการณ์ช่วงท้ายใน Heaven’s Gate (1980) มันราวกับพยากรณ์สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งทำให้เขาต้องสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง หลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ล่องลอยคออย่างไร้จุดหมาย … ดูแล้วคงไม่มีโอกาสไปถึง Gate of Heaven อย่างแน่แท้

หนึ่งในคำวิจารณ์เมื่อหนังออกฉายที่ผมชื่นชอบสุดๆ เปรียบเปรยผู้กำกับ Cimino ราวกับขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อความสำเร็จอันล้นหลามของ The Deer Hunter (1978) แต่หลังจากนั้นก็ถูกเรียกคืน ชดใช้หนี้สินจนหมดสิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อสรรค์สร้าง Heaven’s Gate (1980)

it fails so completely that you might suspect Mr. Cimino sold his soul to the devil to obtain the success of The Deer Hunter and the Devil has just come around to collect.

Vincent Canby จากหนังสือพิมพ์ The New York Times

หนังได้รับอนุมัติทุนสร้าง $11.6 ล้านเหรียญ ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงในยุคสมัยนั้น แต่ก็ไม่รู้ทำไมสตูดิโอ United Artists ถึงบ้าจี้ยินยอมสมทบทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนสิ้นสุดยัง $44 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2020 = $118 ล้านเหรียญ) เป็นรองเพียง Superman (1978) ใช้งบประมาณ $55 ล้านเหรียญ

กำหนดฉายแรกของหนังพฤศจิกายน ค.ศ. 1980 แต่หลังจากรอบปฐมทัศน์ที่ New York City ได้เสียงตอบรับย่ำแย่เกินเยียวยา จึงล้มเลิกโปรแกรมฉายดังกล่าวเพื่อตัดต่อใหม่ จากความยาว 219 นาที หลงเหลือเพียง 149 นาที แล้วเสร็จสิ้นเมษายน 1981 สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $3.5 ล้านเหรียญ จาก 810 โรงภาพยนตร์ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน! … ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar: Best Art Direction-Set Decoration พ่ายให้กับ Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark (1981)

เมื่อตอนที่หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes (เดือนพฤษภาคม 1981) เสียงตอบรับจากนักวิจาณ์ฝั่งยุโรปถือว่าค่อนข้างดีทีเดียว ได้รับการยกย่อง ‘great innovation’ และกลายเป็นหนึ่งในหนังแนว Western ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

one of the few authentically innovative Hollywood films … It seems to me, in its original version, among the supreme achievements of the Hollywood cinema.

นักวิจารณ์ Robin Wood

ความย่อยยับของ Heaven’s Gate (1980) ไม่ใช่จุดเริ่มต้นการล้มสลายของสตูดิโอ United Artists นะครับ! เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายผลงานเจ๊งสะสมมาหลายเรื่อง แต่ก็มีแฟนไชร์ James Bond, The Pink Panther, Rocky ที่สามารถค้ำจุนสถานะทางการเงิน แต่เพราะหนึ่งในบริษัทผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ Transamerica Corporation มองความล้มเหลวของหนังเรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย เลยตัดสินใจรีบขายต่อ UA ให้กับสตูดิโอ M-G-M เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย

แต่สำหรับ Michael Cimino ความล้มเหลวของภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะคือจุดจบในอาชีพการงานเลยละ ไม่ค่อยมีสตูดิโอไหนอยากให้ความไว้วางใจอีกต่อไป แม้เคยได้รับการติดต่อให้สรรค์สร้าง Footloose (1984) แต่เสนองบประมาณมากเกินเลยถูกเปลี่ยนตัวผู้กำกับ, ผลงานเรื่องถัดมา Year of the Dragon (1985) เข้าชิง Razzie Award ถึง 5 สาขา, The Sicilian (1987) ทุนสร้าง $16 ล้านเหรียญ ทำเงินเพียง $5 ล้านเหรียญ, Sunchaser (1996) แม้ได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes กลับถูกส่งตรงลง Home Video

ผมไม่แน่ใจนักว่าจะเรียกกระแสคัลท์ได้หรือเปล่า เพราะกาลเวลาทำให้ Heaven’s Gate (1980) ที่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะ ‘Worst Movie of All Time’ ค่อยๆได้รับการยกย่อง ชื่นชม โดยเฉพาะฉบับ Director’s Cut ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice Classics เมื่อปี 2012 มีนักวิจารณ์เรียกว่า ‘second coming … legendary work of art’

หนังฉบับ Director’s Cut ความยาว 216 นาที ปัจจุบันได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition กลายเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection


ใครเคยรับชม The Deer Hunter (1978) น่าจะสัมผัสถึงไดเรคชั่นของผู้กำกับ Cimino ที่เด่นชัดเจนมากๆใน Heaven’s Gate (1980) พบเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสร้างความประทับใจให้ผมอย่างมากๆ แต่พอนำเข้าสู่เรื่องราวหลัก ความสัมพันธ์ตัวละครที่ยุ่งเหยิง กอปรการตัดต่อซ้ำไปซ้ำมาจนน่าหงุดหงิด รำคาญใจ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เริ่มออกอาการเบื่อหน่าย มันจะยืดยาวนานถึงไหน จับประเด็นสาระไม่ค่อยจะได้ แม้ตอนจบคาดไม่ถึงโคตรๆ เอาจริงๆความยาว 2 ชั่วโมงกว่าๆก็เกินพอแล้วละ

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมได้บทเรียนถึงความเชื่อมั่นที่มีมากเกิน อาจนำสู่ผลลัพท์ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เราควรมองหาความเพียงพอดี ครุ่นคิดทบทวนให้ถี่ถ้วน รอบคอบ รู้จักลดละทิฐิ ความเย่อหยิ่งทะนงตน เพราะยังมีคนอีกมากที่เก่งกาจกว่าเรา อ่อนน้อมถ่อมตนไว้บ้าง อย่าครุ่นคิดว่าฉันเก่ง หลงระเริง เหลิงลืมตัว ปลาตายน้ำตื้นมากมายถมไป

แนะนำคอหนัง Epic Western, หลงใหลวิถีอเมริกันยุคบุกเบิก (Old American), ชื่นชอบการต่อสู้ ดวลปืน ใช้ความรุนแรง ดิบเถื่อน, ประเด็นรักสามเศร้า โสเภณี ข่มขืน, ความอยุติธรรมของกฎหมาย vs. การลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ของประชาชน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งตากล้อง นักออกแบบสร้างฉาก ชื่นชมทิวทัศน์สวยๆ สิ่งก่อสร้างอลังการ

และแฟนๆนักแสดงชื่อดังอย่าง Kris Kristofferson, Christopher Walken, John Hurt, Isabelle Huppert, Jeff Bridges, Joseph Cotten, Mickey Rourke, Willem Dafoe บางคนสมทบบทเล็กๆ บางคนเล่นบทใหญ่ๆ ลองสอดส่องสังเกตหากันดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับการข่มขืน เข่นฆาตกรรม กฎหมายอยุติธรรม และความเป็นตะวันตก (Western)

คำโปรย | แม้หนังจะชื่อ Heaven’s Gate แต่ผู้กำกับ Michael Cimino กลับทำสัญญาปีศาจเพื่อสรรค์สร้างสรวงสวรรค์จอมปลอม เปิดประตูสู่ขุมนรกเสียมากกว่า
คุณภาพ | ไม่ได้แย่ปานนั้น แต่ก็ไม่ได้ดีเลิศเลอ
ส่วนตัว | เหนื่อยหน่าย

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: