Help! (1965) : Richard Lester ♥♥♥♡
สี่เต่าทองใช้เวลาช่วงเช้าก่อนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ สูบมาลีฮวนน่า (กัญชา) อาการมึนๆเมาๆ คาดว่าพวกเขาคงสนุกสนานกันน่าดู แต่ผู้ชมคงได้เกาหัว อะไรของมันว่ะ ใครก็ได้ช่วยฉันทำความเข้าใจที!
ไม่ใช่ว่าหนังดูยากเกินเข้าใจนะครับ แต่ผู้ชมจะเกิดอาการมึนๆเมาๆ เพราะเอาจริงๆเนื้อเรื่องราวแทบไม่มีอะไรสักอย่าง เป็นเพียงการประติดประต่อร้อยเรียง Music Video ของบทเพลงในอัลบัม Help! เข้าด้วยกันเท่านั้นเอง
ซึ่งความสำเร็จอันล้นหลามของ A Hard Day’s Night (1964) ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง Help! (1965) ในแง่คุณภาพถือว่าไม่ตราตรึงเท่า แม้แต่ John Lennon ยังรู้สึกว่าเกินการควบคุม
“The movie was out of our control. With A Hard Day’s Night, we had a lot of input, and it was semi-realistic. But with Help!, Dick Lester didn’t tell us what it was all about”.
- John Lennon พูดถึงหนังตอนออกฉาย
แต่พอสิบปีเคลื่อนผ่าน มองย้อนกลับไป Lennon แสดงความเห็นว่า Help! เป็นหนังที่มาก่อนเวลามากๆ
“I realize, looking back, how advanced it was. It was a precursor to the Batman ‘Pow! Wow!’ on TV—that kind of stuff. But [Lester] never explained it to us. Partly, maybe, because we hadn’t spent a lot of time together between A Hard Day’s Night and Help!, and partly because we were smoking marijuana for breakfast during that period. Nobody could communicate with us, it was all glazed eyes and giggling all the time. In our own world. It’s like doing nothing most of the time, but still having to rise at 7 am, so we became bored”.
- John Lennon พูดถึงหนังสิบปีผ่านไป
สิ่งที่ผมชื่นชอบมากๆคือสูตรสำเร็จของ Music Video มักเริ่มจากอารัมบทเหตุการณ์วุ่นๆ <-> The Beatles ขับร้องเพลง <-> สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้ทุกครั้งครา … ประเด็นคือ แทบทุกแก๊กมันตลกจริงๆ ขำกลิ้ง ยิ้มกว้าง นี่น่าจะได้กระแส Cult ติดตามมา
หลังเสร็จจาก A Hard Day’s Night (1964) ความต้องการของ The Beatles อยากเล่นหนัง Western โดยมีพื้นหลัง Texas เรื่องราวเกี่ยวพวกเขาทั้งสี่ต้องต่อสู้แก่งแย่งชิงลูกสาวสุดสวยเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ เห็นว่ามีการถ่ายรูปโปรโมท สวมชุดคาวบอย ขึ้นขี่ม้า แต่เพราะไม่มีใครไหนสนใจโปรเจคดังกล่าว เลยต้องหวนกลับมาหา Richard Lester
Richard Lester Liebman (1932-) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ครอบครัวเชื้อสาย Jews มีความเฉลียวฉลาดระดับอัจฉริยะ อายุ 15 เข้าเรียน University of Pennsylvania แต่กลับเลือกทำงานวงการโทรทัศน์ ไต่เต้าจากผู้ช่วย กลายเป็นผู้กำกับซีรีย์ Action in the Afternoon (1953-54), อพยพสู่กรุง London กลายเป็นนักเขียนบท ซีรีย์ หนังสั้น The Running Jumping & Standing Still Film (1959), ภาพยนตร์เรื่องแรก It’s Trad, Dad! (1962) และแจ้งเกิดโด่งดังกับ A Hard Day’s Night (1964)
United Artists ประทับใจในความสำเร็จของ A Hard Day’s Night (1964) เลยมอบทุนสร้างเพิ่มให้เกือบๆ 3 เท่า เหตุนี้จึงได้ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี และตอบสนองข้อเรียกร้องของสี่หนุ่ม ออกเดินทางท่องเที่ยว(พร้อมถ่ายทำ)ยังสถานที่ไม่เคยไปมาก่อน อาทิ Salisbury Plain, Austrian Alps (เล่นสกีครั้งแรกในชีวิต) และ Bahamas (เกาะสวาทหาดสวรรค์)
สำหรับบทภาพยนตร์ ทำการดึงตัว Marc Behm ที่เพิ่งมีผลงานฮิต Charade (1963) และขัดเกลาโดย Charles Wood ซึ่งกำลังช่วย Lester พัฒนาอีกโปรเจค The Knack …And How To Get It (1965) ควบคู่ไปด้วย ตอนแรกตั้งชื่อหนังว่า Eight Arms to Hold You เปลี่ยนมาเป็น Ticket to Ride ลงเอยที่ Help! คือเพลงที่ Lennon แต่งขึ้นแล้วมีเนื้อใจความเหมาะสมที่สุด
Eastern Cult นำโดย Clang (รับบทโดย Leo McKern) กำลังทำพิธีบูชายัญหญิงสาวสังเวยพระแม่กาลี แต่เธอคนนั้นกลับไม่ได้สวมใส่แหวนบวงสรวง พยายามออกค้นหากลับพบเห็นสวมอยู่บนนิ้วของ Ringo Starr นักกลองวง The Beatles ที่กำลังแสดงคอนเสิร์ตในโทรทัศน์ ด้วยเหตุนี้จึงออกเดินทางมุ่งสู่ London เพื่อหาหนทางลักขโมยคืนกลับมา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จสักที
หลังจากที่ Ringo รับรู้ตัวเองว่า แหวนอันนี้จะนำเภทภัยมาสู่ตนเอง พยายามดึงแต่ทำอย่างไรก็ไม่หลุดออก เลยเดินทางไปหาร้านเพชร ตามต่อด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Foot (รับบทโดย Victor Spinetti) และผู้ช่วย Algernon (รับบทโดย Roy Kinnear) ซึ่งก็จนปัญญาหมดหนทาง แต่กลับแปรสภาพเป็นความหมกมุ่น ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแหวนนี้ให้จงได้
สี่หนุ่มเลยต้องหลบหลี้หนีสู่ Austrian Alps ต่อด้วย A Well Known Palace (ไม่ได้พูดชื่อออกมาตรงๆ แต่ดูก็รู้ว่า Buckingham Palace) พึ่งพา Scotland Yard โดยผู้กำกับการ Gluck (รับบทโดย Patrick Cargill) รู้สึกเสียหน้าเมื่อถูก Clang และ Foot ลักลอบบุกเข้ามา จึงจัดกำลังไม่ได้จะปกป้อง The Beatles แต่ใช้เป็นเหยื่อล่อเพื่อติดตามตัวอาชญากรมารับโทษทัณฑ์
สำหรับสี่หนุ่ม เพราะความที่ผู้กำกับ Lester ประทับใจใน George Harrison และ Ringo Starr เมื่อครั้น A Hard Day’s Night (1964) เลยเพิ่มบทบาทให้พวกเขาโดดเด่นกว่า John Lennon และ Paul McCartney (จะมองว่าผลัดกันเด่นก็ได้กระมัง)
โดยเรื่องราวมีจุดหมุนอยู่ที่แหวนบวงสรวงของ Ringo Starr ทำให้ผู้ชมต้องคอยชายตา ติดตามหา ขณะนั้นอยู่แห่งหนตรงไหน ลุ้นระทึกว่าพวกที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ จะทำอย่างไรถึงดึงหลุด หรือสามารถลักพาได้ถูกตัวหรือเปล่า (หลายครั้งผิดตัว เพราะจำแนกแยกไม่ออกจากทรงผมทั้งสี่ โคลนมาเหมือนกันเปะ)
แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสี่ก็ไม่ได้มีบทเด่นไปกว่านักแสดงสมทบอื่นที่คอยแย่งซีน สร้างความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะอยู่เรื่อยๆ … พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นตัวประกอบในหนังตนเอง!
“I felt like extras in [my] own movie”.
– John Lennon
นักแสดงแย่งซีนสุดในหนังคือ Leo McKern ชื่อจริง Reginald McKern (1920 – 2002) สัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney, New South Wales เมื่อตอนอายุ 15 สูญเสียตาขวา โตขึ้นฝึกงานเป็นวิศวกร ได้เป็นทหารขุดอุโมงค์ในสังกัด Royal Australian Engineers ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปลดประจำการออกมาตกหลุมรักนักแสดง Jane Holland ย้ายสู่ประเทศอังกฤษเพื่อแต่งงานกับเธอ และได้กลายเป็นนักแสดงละครเวที, ภาพยนตร์เรื่องแรก Murder in the Cathedral (1952), ผลงานเด่นๆ อาทิ Help! (1965), A Man for All Seasons (1966), Ryan’s Daughter (1970), The Blue Lagoon (1980), The French Lieutenant’s Woman (1981), Ladyhawke (1985) ฯ
รับบท Clang ผู้นำทำพิธีบูชายันต์สังเวยพระแม่กาลี เพราะความยึดถือเชื่อมั่นในวิถีปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แค่เพียงแหวนบวงสรวงก็มีความจำเป็น มิอาจตกหล่นขาดหายไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คืนจาก Ringo เมื่อถอดไม่ได้เลยตัดสินใจจะให้เขากลายเป็นผู้สังเวย แต่ก็ยังเรื่องมากต้องสาดเทสีแดงใส่ก่อน ความวุ่นวายเลยไม่จบลงโดยง่ายสักที
เกร็ด: ชื่อ Clang สามารถเขียนว่า Klang ซึ่งพ้องกับ Kali พระแม่กาลี
ความจริงจังที่แสดงออกมาทางสีหน้าของ McKern ไม่โอนอ่อนผ่อนปรนต่อพิธีกรรมของลัทธิ ต้องให้ได้ตามขั้นตอนถูกต้องเท่านั้น สร้างความขบขันทุกครั้งที่ประสบความล้มเหลว ผิดแผนการ เป็นตัวละครสะท้อนได้กับประเทศอังกฤษ เลื่องลือชาในแนวความคิดอนุรักษ์นิยม ยึดถือมั่นในกฎกรอบ วิถีปฏิบัติอย่างเคร่งครัดรัดตัวแน่น … ท้ายสุดก็เลยถูกย้อนแย้งเข้าหาตนเองอย่างสาสมควร
Eleanor Bron (เกิดปี 1938) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Stanmore, Middlesex โตขึ้นเข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงที่ Cambridge Footlights, ภาพยนตร์เรื่องแรก Help! (1965) ซึ่งชื่อเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ Paul McCartney แต่งเพลง Eleanor Rigby, ผลงานเด่นๆ อาทิ Alfie (1966), Women in Love (1969), A Little Princess (1995) ฯ
รับบท Ahme สมุนมือขวาของ Clang แต่เพราะน้องสาวกำลังตกเป็นเครื่องบูชายันต์ให้พระแม่กาลี เลยลักลอบขโมยแหวนบวงสรวง ส่งแนบจดหมายไปถึง The Beatles แล้วแอบให้ความช่วยเหลือพวกเขา เพื่อสามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากแผนการชั่วร้ายกาจของเจ้านาย จนสุดท้ายเมื่อโชคชะตาหวนกลับมาเข้าที เหมือนจะกลายเป็นผู้นำคนใหม่ของลัทธิ
ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจตัวละครนี้สักเท่าไหร่ เห็นเล่นหูเล่นตากับ Paul McCartney แต่แท้จริงแล้วคือมีแผนการซ่อนเร้น ให้ความช่วยเหลือสี่หนุ่มก็เพื่อผลประโยชน์ตนเองล้วนๆ แม้จะเต็มไปด้วยความเปิ่น ทำอะไรผิดพลาดบ่องครั้ง แต่ทุกสิ่งอย่างก็ยังสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
แซว: ความที่นี่คือผลงานเรื่องแรกของ Bron ยังไร้ประสบการณ์ใดๆ ครึ่งหนึ่งได้รับมาลีฮวนน่าจาก Lennon ชักชวนให้ลองสูบ แต่ก็กล้าๆกลัวๆ เพียงหนึ่งลมหายใจแล้วก็ส่งคืน
“John did once offer me a joint. And I obligingly tried to take a little puff. I knew there was some special way of doing it – but I don’t smoke anyway. So I took a little puff and then thought, ‘This is so expensive. I mustn’t waste it!’ And gave it back to him. So that’s your definition of naïve, I think”.
- Eleanor Bron
ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925 – 2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ บุคคลแรกที่ใช้เทคนิค Bounce Light ให้เกิดแสงนุ่มๆ (Soft Light) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Knack …and How to Get It (1965), Chariots of Fire (1981), Yentl (1983), Out of Africa (1985) ฯ
แม้จะถ่ายทำด้วยฟีล์มสี แต่ผู้กำกับ Lester ยังคงใช้ไดเรคชั่นเดียวกับ A Hard Day’s Night (1964) มีคำเรียก Cinéma Vérité หรือ Observational Cinema ถ่ายทำทุกโอกาสเป็นไปได้ เลือกมุมกล้องประหลาดๆ ใช้แสงธรรมชาติ ทำงานด้วยความรวดเร็วไว (แม้ทุนสร้างจะได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมก็ตามที)
คือผมก็ไม่ทันสังเกตแหวนหรอกนะครับ เพราะมันไม่ได้มีความโดดเด่นชัดขนาดนั้น (คือถ้าจอโทรทัศน์ปรากฎสีขึ้นมา มันอาจสังเกตเห็นโดยง่ายก็ได้) แต่อยู่ดีๆปาลูกดอกใส่หน้า Ringo เป็นคนแรก มันต้องมีลับลมคมในกับเขาแน่ๆ
อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันแท้ๆ แต่กลับเข้าคนละประตูใครประตูมัน นี่คงต้องการล้อเลียนความเป็นส่วนตัวของ The Beatles ที่ใครๆครุ่นคิดว่าคงตัวติดกัน ไปไหนไปด้วยตลอด ไม่เคยพบเห็นแยกกันอยู่
แหวนบวงสรวง/บูชายันต์ มองในเชิงสัญลักษณ์ถึง ชื่อเสียง/ความสำเร็จของ The Beatles คือสิ่งอยู่ติดตัวพวกเขา(ขณะนั้น) ไม่สามารถพลัดพราก ทำให้หลุดออกจาก เป็นที่ต้องการของใครๆ (โดยเฉพาะแฟนคลับ) ไม่ว่าอยู่แห่งหนไหนจักติดตามไป
แซว: จริงๆแล้วเหตุผลที่แหวนอยู่ติดนิ้ว Ringo ก็เพราะชื่อพี่แกคือ Ring-o นะแหละครับ
มุกเดียวกับที่ Ringo เคยทำให้หญิงสาวคนหนึ่งใน A Hard Day’s Night (1964) ตกหลุม(รัก) มาเรื่องนี้ได้ประสบพบกับตนเองหลายครั้งทีเดียว เลื่อยพื้น, ประตูลับ (ตอนยกแก้วเบียร์) ฯ เรียกได้ว่าโชค(ร้าย)ตกใส่
การที่ Paul McCartney กลายเป็นผู้โชคร้ายถูกฉีดยาย่อขนาด น่าจะเป็นการสะท้อนว่า หมอนี่มักโดดเด่นเป็นหน้าเป็นตากว่าใครเพื่อนในกลุ่ม (ถือว่าพอๆกับ John Lennon ละนะ) เลยถูกกลั่นแกล้ง ลดความสำคัญ ลองเป็นคนไม่มีความสำคัญเช่นนี้บ้างเป็นไร แช่น้ำแร่ในที่เขี่ยบุหรี่
จริงๆฉากนี้ไม่ได้ใช้เทคนิคภาพยนตร์อะไรเลยนะครับ หลอกตาผู้ชมด้วยการออกแบบฉากให้มีความใหญ่โตอลังการ (เมื่อเทียบกับขนาดของ McCartney) และใช้มุมกล้องถ่ายก้มลงมาเท่านั้นเอง
ก่อนจะทำพิธีกรรม ต้องมีการสาดสีแดง(เลือด) เข้าใส่ผู้ถูกสังเวย นี่อาจไม่ได้มีนัยยะอะไรเป็นพิเศษนอกจากสะท้อนความยึดถือเชื่อ ตามลำดับขั้นตอนในวิถีปฏิบัติของลัทธิ … ประมาณว่า เพื่อให้เกิดจุดเด่น สามารถฆ่าได้ถูกคน แค่นั้นแหละ!
เนื้อคำร้องของหลายๆบทเพลง ก็มักจะมีความสอดคล้องกับการกระทำขณะนั้น นี่น่าจะเรียกว่า ‘Match Cut’ อย่างเช่นบทเพลง Ticket to Ride ท่อนฮุคจะร้องว่า
“She’s got a ticket to ride”
วินาทีนั้นปรากฎภาพ Paul ขี่ควบม้า ติดตามมาด้วยสมาชิกทั้งสามกำลังนั่งรถลาก
หนึ่งในเทคนิคที่หนังใช้สร้างตลกขบขัน คือให้ตัวละครหันมาสบตา/พูดคุยต่อหน้ากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ พบเห็นอยู่บ่อยครั้งทีเดียว
ผมเรียกเทคนิคของซีนนี้ว่าการ ‘เออออห่อหมก’ คือว่า Clang เล่นสกีเพื่อติดตามล่าสี่หนุ่ม The Beatles แต่เขาถูกหลอกให้เลี้ยวผิด เลยกระโดดทะยาน Ski Jumping ปรากฎว่าได้สูงกว่าใครเพื่อน พอลงมาถึงพื้นเลยถูกลากพาตัวมารับรางวัลเหรียญทอง … นี่ฉันไม่ได้มาแข่งขันอะไรกับใครนะ หลังจากดิ้นรนอยู่สักพัก ก็ได้ว่ะ เออออห่อหมก ยินยอมรับรางวัลอย่างภาคภูมิใจ –”
หนึ่งในมุกที่ผมขำกลิ้งสุดๆ เมื่อสี่หนุ่มเดินทางไปขอพึ่งใบบุญ Scotland Yard เรียกร้องขอการอารักขา แต่ผู้กำกับการ Gluck (รับบทโดย Patrick Cargill) เมื่อจวนตัวโทรศัพท์พูดว่า
“I need my protection!”
คือแบบที่พวกเอ็งเรียกร้องมา ไม่สำคัญเท่าความปลอดภัยของข้าเพียงผู้เดียว
Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง ต่อเนื่องจากผู้กำกับการ Gluck สั่งกองกำลังอารักขา The Beatles ส่วนตัว ถ่ายทำที่ Salisbury Plain คือแบบว่าเว่อมากๆ เอารถถังมาห้อมล้อมทุกทิศทาง แต่ที่เด่นๆคือบทเพลง The Night Before และ I Need You จะมีมุมกล้องแปลกๆเยอะมาก ถ่ายเอียง แนวนอน โดยเฉพาะจากหัวกีตาร์ช็อตนี้ สมแล้วที่ Richard Lester ได้ฉายา ‘Father of Music Video’
การย้อมสีที่ Bahamas ประกอบบทเพลง Another Girl เพื่อสะท้อนความหลากหลาย(คน) เต็มไปด้วยแฟนคลับผู้คลั่งไคล้ต้องการแหวนของ Ringo
เหตุผลที่หนังยกกองมาถ่ายทำยัง New Providence Island และ Paradise Island ของประเทศ Bahamas เพราะทศวรรษนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร เลยสามารถลดหย่อนภาษีการถ่ายทำได้
Ringo สลัดแหวนหลุดสำเร็จในช่วงขณะไม่มีใครคาดคิดถึง นี่คงจะสื่อถึงการเลิกรา เพียงพอแล้วกับชื่อเสียง/ความสำเร็จ (ของ The Beatles) ก็แค่ตัดสินใจโยนทอดทิ้งมัน ก็แค่นั้นแหละ! แล้วส่งต่อให้ผู้อื่นสวมใส่ จะได้รับโชคชะตากรรมแบบพวกตนเองต่อไป
ผมคิดว่ามุกสุดท้ายของหนัง อุทิศให้ Mr. Elias Hown ผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้ายี่ห้อ SINGER เพราะคำนี้มันสามารถแปลได้ว่านักร้อง ซึ่งก็คือ The Beatles นะแหละ!
ตัดต่อโดย John Victor-Smith สัญชาติอังกฤษ ที่จะกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Lester ผลงานเด่นๆคือ The Guns of Navarone (1961), The Three Musketeers (1973), Superman II (1980) ฯ
การดำเนินเรื่องมีลักษณะเป็นตอนๆ (เป็นเพลงๆ) แบ่งแยกด้วยสถานที่/ประเทศ โดยมีสี่หนุ่ม The Beatles คือจุดศูนย์กลาง จากนั้นจะมีผู้ไล่ล่าติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากลัทธิ Eastern Cult, นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง และตำรวจ Scotland Yard
โดยปกติคงใช้เสียงพูดบรรยาย แต่ผู้กำกับ Lester เลือกขึ้นข้อความสำหรับการอธิบายอะไรหลายๆที่บังเกิดขึ้น นั่นทำให้หนังแลดูมีความ ‘สไตล์ลิสต์’ พอสมควรเลยละ
เมื่อเทียบกับ A Hard Day’s Night (1964) การตัดต่อจะไม่มีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไวเทียบเท่า เรื่อยๆมาเรียงๆ แต่จะเน้นๆในช่วง Music Video ร้อยเรียงมุมกล้องได้อย่างน่าสนเท่ห์ขึ้นเรื่อยๆ
ไฮไลท์คือฉากที่ Salisbury Plain มีการตัดสลับระหว่าง The Beatles ขับร้องเพลง The Night Before แต่วิทยุของ Ahme กลับเปิดบทเพลง She’s a Woman ถือว่ามีความเข้ากันอย่างมาก และลงตัวที่สุดของหนัง (คือฉากท้ายๆ พอมี 3-4 กลุ่มที่ตัดสลับไปมา รู้สึกว่ามันดูมั่วๆ สับสนอลเวงชอบกล)
สำหรับเพลงประกอบ ทั้งหมดแต่งโดย John Lennon และ Paul McCartney ซึ่งใช้เวลาพร้อมๆไประหว่างการถ่ายทำ ด้วยเหตุนี้หลายๆเนื้อคำร้องจึงสามารถทำให้มีความสอดคล้องกับเรื่องราว ภาพเหตุการณ์ของหนัง ซึ่งลักษณะการใช้คำ ฉัน เธอ ล้วนสื่อนัยยะความหมายได้อีกอย่างหนึ่งเลย
บทเพลงที่เป็นชื่อหนัง Help! ไม่เพียงสะท้อนเหตุการณ์แรกสุด แต่ยังคือ The Beatles ที่ถูกไล่ล่าติดตามโดยบุคคลผู้หวังร้าย/แฟนคลับทั้งหลาย ช่วยฉันด้วย จะทำอย่างไรให้สามารถหลบลี้หนีเอาตัวรอดพ้น
บทเพลง You’re Going to Lose That Girl ไม่ได้จะสื่อถึงการสูญเสียหญิงสาวหรือคนรัก ในบริบทของหนังคือแหวนของ Ringo ที่เป็นที่ต้องการของใครๆ สักวันเขาต้องสูญเสียมันไปอย่างแน่นอน
Ticket to Ride คือบทเพลงที่ The Beatles ได้รับตั๋วสำหรับออกเดินทางสู่ Austrian Alps เล่นสกีที่พวกเขาไม่เคยมีโอกาสเล่นมาก่อน และสูบมาลีฮวนน่า เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าต่อการขับขี่เสียจริง
บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในหนังคือ The Night Before แต่ไม่ได้จะสื่อถึงเมื่อคืนก่อนหรอกนะ ขณะนี้แหละที่สงคราม/ขัดแย้ง กำลังจะปะทุระเบิดขึ้นในอีกไม่ช้านาน
Another Girl เป็นบทเพลงที่สื่อถึง Bahamas เปรียบได้กับหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่ The Beatles ออกเดินทางมา เพื่อหลบลี้หนีภัยจากผู้หวังร้ายทั้งหลาย
นอกจากบทเพลงคำร้องของ The Beatles ยังมี Soundtrack อื่นๆโดย Ken Thorne ประกอบด้วย Sitar เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย (และฮินดู) เล่นนอง A Hard Day’s Night, James Bond Theme และบทเพลงคลาสสิกอย่าง
– Wagner: Lohengrin, Prelude to Act III (1850)
– Pyotr Ilyich Tchaikovsky: 1812 Overture (1980)
– Ludwig van Beethoven : Symphony No. 9 in D minor, Op. 125 (1824)
– Gioachino Rossini: Overture from the Barber of Seville (1816)
Ending Theme เลือกบทเพลง Overture from the Barber of Seville (1816) ประพันธ์โดย Gioachino Rossini ที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน ยียวนกวนประสาท สัมผัสคล้ายๆหนูวิ่งไล่จับแมว ประกอบภาพสะท้อนซ้อนในเพชรระยิบระยับ ช่วงชักชวนให้อยากลักขโมย โจรกรรม ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของเสียจริง!
ชื่อเสียง ความสำเร็จที่ไล่ล่าติดตาม The Beatles ไม่มีใครไหนสามารถให้ช่วยเหลือได้ ต่อให้หลบลี้หนีไปไกลสุดปลายขอบฟ้า ก็ยังถูก(บรรดาแฟนคลับ)ติดตามมาจนพบเจอตัว นอกเสียจากพวกเขาด้วยตนเอง เกิดความเบื่อหน่ายเพียงพึงพอใจเมื่อไหร่ สลัดทุกสิ่งอย่างทอดทิ้งไป อะไรๆก็จักหวนกลับสู่ความปกติสุข(กระมัง)
เนื้อในใจความของหนังก็เท่านี้แหละ เพื่อเปรียบเปรย ล้อเลียน ความยากลำบากในการเป็น The Beatles การจะเป็นคนดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย … แต่การเป็นคนดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน!
ลึกๆแล้ว Help! มีบางสิ่งอย่างต่อเนื่องกับ A Hard Day’s Night
– Alun Owen ผู้เขียนบท A Hard Day’s Night ได้ให้นิยามวิถีชีวิต The Beatles ราวกับเป็น ‘นักโทษ’ ที่ถูกจองจำจากชื่อเสียงความสำเร็จของตนเอง
– ขณะที่ Help! นำเสนอเรื่องราวของการหลบลี้หนี ดิ้นรนเอาตัวรอด ไปให้ไกลสุดปลายขอบฟ้า เพื่อหวังว่าจะได้หลุดพ้นจากพันธนาการกรงขัง
นี่อาจเช่นเดียวกันกับ Richard Lester ตัวเขาอาจรู้สึกเต็มอิ่ม เบื่อหน่าย พอกันที The Beatles อยากเริ่มต้นครุ่นคิดทำอะไรใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าขัดแย้งเกิดอคติอะไรต่อกันนะ คงต้องการดิ้นหลุดจากสัญญา(ทาส) ข้อเรียกร้องสตูดิโอ ให้ตนเองได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกผูกยึดติดกับความสำเร็จซ้ำๆเดิมอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ Help! กลายเป็นผลงานร่วมกันครั้งสุดท้ายของ Richard Lester กับ The Beatles และยังคือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของสี่หนุ่ม (หลังจากนี้จะเป็นสารคดี/อนิเมชั่น ไม่ได้มีเนื้อเรื่องราวที่เกิดจากปรุงแต่งเขียนบท แสดงนำอีกต่อไป)
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลก $12.1 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จพอๆกับ A Hard Day’s Night (1964) แต่ได้กำไรน้อยกว่า (เพราะทุนสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิม)
และได้เข้าชิง BAFTA Awards สองสาขา
– Best British Cinematography (Colour)
– Best British Costume (Colour)
ส่วนตัวชื่นชอบหนังพอสมควร พึงพอใจในมุกตลกตกเก้าอี้ มุมกล้องแปลกๆตา และลีลาไดเรคชั่น Richard Lester น่าเสียดายที่ภาพรวมไม่ได้ตราตรึงระดับเดียวกับ A Hard Day’s Night (1964)
นอกจากแฟนๆ The Beatles แนะนำสำหรับผู้ชื่นชอบหนังตลกสไตล์อังกฤษ เสียดสีล้อเลียน James Bond นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง และอาชญากรกิ๊กก๊อกจับไม่ได้ไล่ไม่ทันพระเอกสักที
จัดเรต PG กับความกิ๊กก๊อก ท่าจะบ๊องของอาชญากร
Leave a Reply