her

Her (2013) hollywood : Spike Jonze ♥♥♥♥

Sofia Coppola คงเป็นยัย ‘bitch’ สำหรับ Spike Jonze ที่สร้าง Lost in Translation (2003) ตีแผ่ชีวิตคู่แต่งงานในมุมของเธอเอง สิบปีถัดมา Jonze สวนกลับด้วย Her (2013) แถมใช้บริการของ Scarlett Johansson เป็นตัวตายตัวแทนเหมือนกันด้วยนะ, เรื่องราวของ Joaquin Phoenix ตกหลุมรักกับปัญญาประดิษฐ์ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความรักสำหรับเขามันไร้พรมแดน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คงด้วยเหตุผลนี้กระมังทำให้ผมไม่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากเท่าที่ควร เพราะรับรู้เบื้องหลังความตั้งใจจริงของผู้กำกับ Spike Jonze สองผัวเมียคู่นี้ไม่รู้เคียดแค้นอะไรกันแต่ชาติปางไหน นำความอกหักเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง โลกรอบข้างจะล่มสลายก็ช่างมันฉันไม่แคร์ พวกเขาคงไม่รู้จักสำนวน “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” ผู้ใหญ่สอนไว้ไม่ควรนำเรื่องภายในครอบครัวมาเปิดเผยต่อที่สาธารณะ เพราะมันแสดงถึงสันดานภายในของตัวเอง ที่หาได้เข้าใจความหมายของ’ความรัก’จริงๆไม่

แนะนำให้มองข้ามเรื่องราวชีวิตคู่ของผู้กำกับไปเลยนะครับ ทำความเข้าใจเฉพาะเนื้อหาหลักใจความสำคัญของหนังดีกว่า ซึ่งมีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ นำเสนอเรื่องราววิวัฒนาการความสัมพันธ์ นิยามความรัก และสิ่งที่เหนือกว่าชีวิต เรียกว่าได้ก้าวผ่านขีดจำกัดความเป็นมนุษย์ ไปสู่ระดับจิตวิญญาณและการหลุดพ้น มองได้เป็น Sci-Fi Philosophy สุดลึกล้ำเลยละ

Spike Jonze ชื่อเดิม Adam Spiegel (เกิดปี 1969) เกิดที่ Rockville, Maryland พ่อมีเชื้อสาย Jews มีความชื่นชอบขับรถ BMX แข่งสเก็ตบอร์ด และการถ่ายรูป ผลงานไปเข้าตานิตยสารดังจนได้กลายเป็นช่างภาพมืออาชีพ ถ่ายทำหนังสั้น โฆษณา Music Video ไปๆมาๆได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Being John Malkovich (1999), Adaptation (2002), Where the Wild Things Are (2009), สำหรับ Her (2013) ถือเป็นผลงานแรกในทศวรรษนี้

Jonze พบเจอกับ Sofia Coppola เมื่อปี 1992 คบกันหลายปีได้แต่งงานเมื่อ มิถุนายน 1999 แต่อาศัยร่วมกันได้ไม่กี่ปี ยื่นใบหย่าเมื่อธันวาคม 2003 ด้วยเหตุผลเข้ากันไม่ได้ ‘irreconcilable differences.’ ถ้าคุณอยากเข้าใจว่าทั้งคู่มีปัญหาอะไร ไปหาหนังเรื่อง Lost in Translation (2003) มารับชมดูเองนะครับ

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ Jonze เล่าว่าเกิดความสนใจตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ 2000s หลังได้อ่านบทความในเว็บไซต์แห่งหนึ่งเขียนถึงปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้โดยทันที

“For the first, maybe, 20 seconds of it, it had this real buzz, I’d say ‘Hey, hello,’ and it would say ‘Hey, how are you?’, and it was like whoa […] this is trippy.”

แต่ AI ยุคสมัยนั้นมันก็ไม่ได้มีอะไรน่าประทับใจมากมาย สร้างความผิดหวังเล็กๆให้กับ Jonze แต่กระนั้นคอมพิวเตอร์มันก็ฉลาดขึ้นเรื่อยๆในรอบสิบปีจนมองเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้, หลังจากได้ร่วมงานกับ Charlie Kaufman ผู้กำกับหนังเรื่อง Synecdoche, New York (2008) นั่นทำให้ Jonze เกิดแนวคิดสร้างหนังสั้นเรื่อง I’m Here (2010) เรื่องราวความรักระหว่างหุ่นยนต์สองตัวอาศัยอยู่ใน Los Angeles

“[Kaufman] said he wanted to try to write everything he was thinking about in that moment – all the ideas and feelings at that time – and put it into the script. I was very inspired by that, and tried to do that in [Her]. And a lot of the feelings you have about relationships or about technology are often contradictory.”

ใช้เวลา 5 เดือนพัฒนาบทร่างแรกของหนังด้วยตัวเอง ถือเป็นการต่อยอดจากหนังสั้น เรื่องราวความรักระหว่างมนุษย์กับระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถพูดคุยสื่อสาร เรียนรู้ทำความเข้าใจ และวิวัฒนาการตัวเองให้เฉลียวฉลาดรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับนักแสดงนำ Jonze มีภาพของ Joaquin Phoenix ในหัวตั้งแต่แรก ซึ่งพอเจ้าตัวได้พูดคุยสนทนาก็เกิดความชื่นชอบสนใจ ตกลงเซ็นสัญญาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011

Joaquín Rafael Phoenix ชื่อเดิม Leaf Phoenix (เกิดปี 1974) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Juan, Puerto Rico เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้อง 5 คน (พี่น้องเขาชื่อ River, Rain, Liberty, Summer) กลับมาเติบโตอาศัยอยู่ที่ Los Angeles เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงเด็ก มีผลงานโฆษณา ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก SpaceCamp (1986) ตามด้วย To Die For (1995), U Turn (1997), 8mm (1999) มีชื่อเสียงโด่งดังจากการรับบท Emperor Commodus เรื่อง Gladiator (2000), Signs (2002), Walk the Line (2005), The Master (2012) ฯ

รับบท Theodore Twombly หนุ่มขี้เหงาทำงานเป็นนักเขียนจดหมาย ก่อนหน้านี้เคยแต่งงานอยู่กินกับ Catherine Klausen (รับบทโดย Rooney Mara) แต่ก็ไม่รู้ผิดใจอะไรกันทำให้ตัดสินใจแยกกันอยู่, วันหนึ่ง Theodore ได้ซื้อระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ ทดลองใช้เกิดความประทับใจอย่างมาก หลงเสน่ห์ในความสมบูรณ์แบบจนแปรสภาพกลายเป็นความรัก แต่ไม่ช้าก็ต้องปล่อยเธอไปเพราะเขาไม่สามารถให้อะไรเธอได้มากกว่านี้

เกร็ด: Theodore แปลว่า gift of god, ของขวัญจากพระเจ้า

Phoenix เป็นอีกหนึ่งสุดยอดนักแสดงที่ยังไม่เคยคว้ารางวัล Oscar แต่เป็นตัวเต็งสักวันต้องได้แน่ (ถ้าไม่รีบรีไทร์ไปก่อน) ทุกบทบาทของพี่แกมีความสมจริง เข้าถึงเบื้องลึกภายในของตัวละคร ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีเสน่ห์น่าหลงใหล, สำหรับบทบาทนี้ ภาพลักษณ์หนวดเข้ม คิ้วหนาๆ ทรงผมยุ่งๆ ใส่เสื้อในกางเกงอย่างเนี๊ยบ มีความเนิร์ดที่อ้างว้าง โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว ดวงตาถ่ายทอดความเหงา อ่อนล้า น่าสงสารจับใจ การแสดงมีความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล คำพูดก็ตรงออกมาจากข้างใน ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ปีนั้น เป็นหนึ่งใน SNUB ที่น่าสงสาร Phoenix อย่างยิ่ง

Jonze ได้ขอให้ Samantha Morton (เกิดปี 1977) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานดังอย่าง Minority Report (2002), Synecdoche, New York (2008), The Messenger (2009), John Carter (2012) ฯ รับบทเป็น Samantha อาศัยหลบซ่อนอยู่ในห้องเก็บเสียง เป็นคู่สนทนากับ Phoenix ในหนัง แต่พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยพบกหน้ากันในกองถ่าย แต่ในช่วง Post-Production ผู้กำกับตัดสินใจเปลี่ยนเสียงของเธอ เลือก Scarlett Johansson มาให้เสียงแทน

Scarlett Ingrid Johansson (เกิดปี 1984) นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York City ตั้งแต่เด็กมีผลงาน Off-Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก North (1994), Manny & Lo (1996) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก The Horse Whisperer (1998) กับ Ghost World (2001) โตขึ้นมีผลงาน Girl with a Pearl Earring (2003), Lost in Translation (2003), Match Point (2005), The Prestige (2006), รับบท Black Widow ใน Marvel Universe, Lucy (2014), Ghost in the Shell (2017) ฯ

ระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ Samantha สร้างขึ้นโดยไร้ข้อจำกัดด้าน ‘มโนธรรม’ มีความสามารถในการสังเกต ครุ่นคิด เรียนรู้ วิวัฒนาการตนเอง จนมีความเฉลียวฉลาด สามารถคาดการณ์พยากรณ์สิ่งต่างๆได้อย่างแม่นยำ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ราวกับได้เข้าถึงสัจธรรมบางอย่างที่ไม่อาจพูดสื่อสารออกมาได้ ตัดสินใจลาจากเพื่อมุ่งสู่ความนิรันดร์

เกร็ด: Samantha เป็นชื่อผู้หญิงของ Samuel ภาษากรีกแปลว่า ดอกไม้, ผู้ฟัง (Listener)

คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วยกับผมแน่ถ้าจะบอกว่า น้ำเสียงของ Johansson มิได้มีความเหมาะสม กลมกลืนกับหนังแม้แต่น้อย, ถ้าคุณเคยรับชม The Jungle Book (2016) ได้ยินเสียงพากย์ของเธอกับงูใหญ่ Kaa นั่นโคตรสมจริงเลย  น้ำเสียงแหบๆปนแหลมสุด Sexy ของเธอเหมาะกับตัวละครลักษณะนั้น แฝงความโฉดชั่วร้ายกาจ แต่เราสามารถทำความเข้าใจที่ต้องใช้เสียงของ Johansson เพราะเคยรับบทเป็นตัวละครที่แทนด้วยอดีตภรรยา Sofia Coppola ใน Lost in Translation (2003) จะมาใช้น้ำเสียงของ Samantha Morton ก็มิได้ใกล้เคียงแม้แต่น้อย

Amy Lou Adams (เกิดปี 1974) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Vicenza, Italy ช่วงขณะที่พ่อเป็นทหารประจำการอยู่ที่ Caserma Ederle เป็นลูกคนที่ 4 จาก 7 คน เมื่อพ่อออกจากทหาร ย้ายมาปักหลักอยู่ Castle Rock, Colorado มีความสนใจเป็นนักบัลเล่ต์ ตามด้วยเป็นนักร้องนักแสดง Musical Theater ได้รับการผลักดันจาก Steven Spielberg เล่นหนังเรื่อง Catch Me If You Can (2002) แต่แปลกที่กลับถูกมองข้าม จนกระทั่ง Junebug (2005) กับ Enchanted (2007) ถึงทำให้กลายเป็นที่รู้จัก, ผลงานอื่นๆ อาทิ Doubt (2008), Julie & Julia (2009), The Fighter (2010), The Master (2012), รับบท Lois Lane ในจักรวาล DC/Superman, American Hustle (2013), Arrival (2016), Nocturnal Animals (2016) ฯ

รับบท Amy หญิงสาวที่สมัยเรียน Theodore เคยจีบอยู่ แต่ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ พวกเขามีความใกล้เคียงเหมือนกันมากเกินไป จึงไม่อาจสานสัมพันธ์ได้มากเกินกว่าเพื่อน แต่ก็สนิทสนมเข้าใจกันอย่างถ่องแท้, หลังจากถูกแฟนหนุ่มทิ้งไปบวช ก็ได้รู้จักระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน คาดว่าลักษณะความสัมพันธ์คงไม่ต่างอะไรกับพระเอก จึงสามารถแค่มองตา Theodore ก็รับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่าง

Adams เล่นหนังเรื่องนี้แบบสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรมาก รับบทสมทบที่แทบไม่มีอะไรให้พูดถึงเลย นอกจากเป็นกระจกสะท้อนกับ Phoenix เท่านั้น,

สำหรับนักแสดงสมทบอื่น อาทิ Rooney Mara รับบท Catherine Klausen ภรรยาเก่าของ Theodore Twombly เดิมบทนี้เป็นของ Carey Mulligan ถอนตัวออกไปเพราะติดถ่ายทำหนังเรื่องอื่น, Chris Pratt รับบท Paul ไม่แน่ใจเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย, Olivia Wilde เป็นสาว Blind Date ที่ต้องการรับแท้มากกว่ารักลวงๆ ฯ

เนื่องจาก Lance Acord ตากล้องขาประจำของ Jonze ไม่ว่าง เลยร่วมงานกับ Hoyte Van Hoytema ตากล้องสัญชาติ Dutch เจ้าของผลงาน The Fighter (2010), Interstellar (2014), Spectre (2015), Dunkirk (2017) ฯ

หนังถ่ายทำที่ Los Angeles และ Shanghai สองเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูงใหญ่ ให้สัมผัสราวกับโลกอนาคต (ที่อยู่ไม่ไกลจากนี้) ใช้ฟิลเลอร์เพื่อตัดสีน้ำเงินออกจากหนังมากที่สุด ผลลัพท์โทนสีจึงออกไปทางส้ม เหลืองอ่อน นี่ทำให้สีเขียวหายไปด้วยนะครับ

จริงๆผู้กำกับพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้หนังมีสัมผัสของ Dystopian แต่การเลือกโทนสีแบบนี้ มีความเหือดแห้งหิวน้ำ ราวกับอยู่ในทะเลทราย ป่าคอนกรีตที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ

อพาร์ทเมนต์ของ Theodore ชั้น 34 เห็นว่ามีการเปลี่ยนหน้าต่าง ทำกระจกใหม่ให้สามารถมองเห็นตึกระฟ้าโดยรอบ และสามารถใช้แสงอาทิตย์/แสงไฟตอนกลางคืน แทนการจัดแสงในห้อง

ช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง หลังจาก Theodore มี Sex กับ Samantha หนังไม่ทำให้เราเห็นขณะพระเอกช่วยตัวเอง แต่ทำการเฟดดำ มีเพียงเสียงซีดซ้าดให้จินตนาการตามเอาเอง พอสมหวังขึ้นสวรรค์ก็จะเฟดมาที่ภาพตึกระฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยแสงไฟส่องสว่าง (นี่น่าจะเมือง Shanghai นะครับ ไม่น่าใช่ Los Angeles) ตบท้ายด้วยค่อยๆเฟดมาเป็นตอนพระอาทิตย์ขึ้นเช้าตรู่

มันไม่มีสถานที่ไหนในโลก สร้างอนุเสาวรีย์/รูปปั้นเครื่องบินหัวโหม่งโลกนี้นะครับ เพราะถือเป็นอัปมงคล ผิดฮวงจุ้ย ซึ่งหนังใช้ CG แทรกใส่เข้ามา ซึ่งแฝงนัยยะของการล่มสลาย พังทลาย สิ้นสุด (ของอะไรบางอย่าง)

ตัดต่อโดย Eric Zumbrunnen กับ Jeff Buchanan ขาประจำของผู้กำกับ แต่ฉบับแรกที่ได้มาความยาว 150 นาที สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างมาก จึงขอความช่วยเหลือจาก Steven Sodenbergh โดยไม่บอกอะไร ช่วยตัดให้สั้นลงหน่อย หนึ่งคืนผ่านไป Soderbergh ตัดให้เหลือ 90 นาที แม้ไม่ใช่ฉบับที่นำไปใช้ แต่ก็ทำให้ Jonze เลือกตัดส่วนเกินของพล็อตออกไป คงเหลือความยาวเพียง 126 นาที

หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Theodore Twombly แทบจะเป็นการฉายเดี่ยวของ Joaquin Phoenix หลายฉากเป็น Long Take แบบ Close-Up ใบหน้านักแสดง มักจะช่วงคุยโทรศัพท์ สนทนากับ Samantha, มีการแทรกใส่ภาพย้อนอดีต Flashback ความทรงจำดีๆที่เคยมีมา, และบางครั้งใช้ลักษณะ Voice Narration คือเสียงสนทนานำไป ส่วนตัวละครกระทำอะไรอย่างอื่นอยู่

เพลงประกอบโดยวง Indie Rock ชื่อ Arcade Fire สัญชาติ Canadian, งานเพลงสไตล์ Ambient สร้างความตราตรึงอย่างมาก มานุ่มๆฟังสบาย แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิต สร้างสัมผัสที่สอดคล้องรับกับโลกใบนี้เหงาๆนี้ได้อย่างลงตัว

ถึงบทเพลงจะชื่อ Sleepwalker (อาการของคนนอนหลับแล้วเดินละเมอ) แต่ในหนัง ราวกับ Theodore กำลังเดินอยู่แล้วฝันกลางวันมากกว่า, ให้สัมผัสที่ล่องลอย เงียบสงบ สันติ สิ่งที่อยู่รอบข้างมันก็แค่อะไรสักอย่างเคลื่อนไหวผ่านไป ไม่ได้มีค่าอะไรเมื่อเทียบกับตัวของเราเอง

เสียง Synthesizer (เครื่องสังเคราะห์เสียง) ที่ดังขึ้นเป็นห้วงๆ ในบทเพลง Milk & Honey สร้างสัมผัสที่สั่นสะเทือน ราวกับนาฬิกาปลุก ให้ตื่นขึ้นจากโลกแห่งความฝัน ที่เหมือนจะทำให้พระเอกทิ้งตัวลงนอนมากกว่าลุกขึ้นจากเตียง

สัมผัสของบทเพลงนี้ คล้ายคลึงกับผลงานสไตล์ New Age ของ Vangelis เป็นอย่างมากทีเดียว

บทเพลงที่ Samantha แต่งให้กับ Theodore ชื่อ Photograph เพราะเธอไม่มีรูปโฉมให้เขาจดจำได้ แต่ด้วยความสามารถอเนกประสงค์ จึงเขียนบทเพลงเดี่ยวเปียโนเพื่อใช้แทนภาพถ่ายของเธอ

เดี่ยวเปียโนเพลงนี้ Tempo ความเร็วค่อนข้างสูงที่เดียว มือซ้ายมีความพริ้วไหวไหลดั่งสายน้ำ (เปรียบได้คือ Samantha) ขณะที่มือขวาจะค่อยๆบรรจงกดเน้นโน้ตทีละตัวอย่างหนักแน่นมั่นคง (เปรียบได้คือ Theodore), บทเพลงนี้เปรียบได้คือช่วงเวลาขณะที่พวกเขาทั้งอยู่ด้วยกัน พูดคุยสื่อสารสนทนา เป็นหนึ่งเดียวกันและกัน

ช่วงท้ายของบทเพลง หลงเหลือแต่มือขวาที่ยังบรรเลงอยู่ ขณะที่มือซ้ายจะค่อยๆเบาเสียงลงจนเงียบหายไป สะท้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง Theodore กับ Samantha ได้อย่างลงตัว

บทเพลงที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song ชื่อว่า The Moon Song แต่งโดย Karen O. กับ Spike Jonze ขับร้องโดย Scarlett Johansson กับ Joaquin Phoenix ที่เล่นอูคูเลเล่ไปด้วย

จุดเด่นของบทเพลงนี้คือเสียงแหบๆของ Johansson ไม่ได้ไพเราะเท่าไหร่ แต่มีเสน่ห์จับใจ น่าหลงใหล เคลิบเคลิ้ม

ในโลกของ Theodore Twombly หรือผู้กำกับ Spike Jonze ความรักเป็นสิ่งที่เอาใจอยากเหลือเกิน ไม่ใช่สิ ‘ผู้หญิง’ เป็นเพศที่อะไรก็ไม่รู้ มีความน่ารักน่าหลงใหล น่าพิศวงน่าค้นหา เติมเต็มชีวิตได้อย่างมีชีวา แต่ไฉนบางครั้งกลับมากเกินไป น้อยเกินไป มิได้เพียงพอดี หลายครั้งที่พูดคุยสื่อสาร กลับมิอาจทำความเข้าใจได้ตรงกัน

ความผิดหวังในรักของผู้กำกับ Jonze ทำให้เขาออกค้นหาคำตอบสำหรับชีวิต นี่ฉันทำพลาดอะไร? มันคือความผิดของใคร? แต่กลับไม่เคยย้อนมาพิจารณาตัวเอง นี่เป็นสิ่งพบได้กับทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้ พวกเขาถือตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกต้องหมุนรอบฉัน ผู้อื่นที่คิดต่างก็เหมือนสายลมพัด หาได้มีตัวตนความน่าสนใจแม้แต่น้อย

งานของตัวละคร Theodore คือการทำความเข้าใจ คิดแทนผู้อื่น แต่กลับไม่สามารถหามนุษย์จริงๆที่สามารถเข้าใจความต้องการของเขาได้ มีเพียงปัญญาประดิษฐ์ที่ได้ถูกครุ่นคิดสร้างขึ้น พูดคุยสนทนาสื่อสาร แลกเปลี่ยนตอบสนองได้เกือบทุกสิ่งตามใจหวัง มีจิตวิญญาณแต่ไร้รูปกายาให้สัมผัสจับต้อง

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีลักษณะคล้ายกับ ‘7 Shades of Love’ เจ็ดเฉดสีวิวัฒนาการแห่งความรัก ตามตำหรับนิยายเก่าของอาราบิค (Ancient Arabic Literature) อันประกอบด้วย
1. Being Attraction (แรงดึงดูดซึ่งกันและกัน)
2. Infatuation (ความหลงใหล)
3. Love (ความรัก)
4. Reverence (การนับถือ)
5. Worship (เทิดทูน)
6. Obsession (คลั่งไคล้)
7. Death (ความตาย)

โดยปกติแล้วสองคนรักกัน เต็มที่ของวิวัฒนาการมักถึงแค่ข้อ 3-5 รัก-นับถือ-เทิดทูน แต่เมื่อใดหลุดไหลถึงข้อ 6 หรือ 7 ก็มักอยู่ในขอบข่ายของความบ้าคลั่ง ผิดเพี้ยน เกินสามัญสำนึกของมนุษย์จะยอมรับได้, ซึ่งหนังเรื่องนี้ในมุมของ Theodore ก้าวล้ำไปถึงข้อ 6 ขณะที่ Samantha ไปไกลถึงสุดท้ายข้อ 7 ความตายหรือการออกเดินทางสู่อะไรบางอย่าง มองได้คือจุดจบของตัวเธอเอง

การปลุกผี Alan Watts (1915 – 1973) นักปรัชญาสัญชาติอังกฤษ ผู้ศึกษาเชี่ยวชาญปรัชญาตะวันออก เขียนหนังสือ The Way of Zen (1957) หนังสือพุทธศาสนาเรื่องแรกที่ขายดีติดอันดับ Best-Selling, มองได้คือการค้นหาสัจธรรมความจริงของชีวิต จิตวิญญาณของ Samantha ได้เรียนรู้เข้าใจสิ่งต่างๆมากมาย แต่แล้วมันมีประโยชน์อะไร? เพื่ออะไร? นั่นเป็นสิ่งที่เธอเองก็มิอาจหาคำตอบพูดออกมาได้ เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ รัก-นับถือ-เทิดทูน-คลั่งไคล้ แล้วยังไงต่อ ความตายมันไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับเธอเลย แต่นั่นคือตัวเลือกหนทางดีที่สุดจะสามารถมอบให้กับ Theodore สามารถคลายยึดติดจากความสัมพันธ์นี้

ในมุมของ Theodore มอบความรัก-นับถือ-เทิดทูน-คลั่งไคล้ ให้กับ Samantha ถือว่ามีความผิดเพี้ยน แปลกพิศดาร มากเกินมนุษย์มนาทั่วไปจะยอมรับได้ แต่เมื่อตอนท้ายได้รับคำขอที่จะจากไป แม้ไร้ซึ่งเหตุผลความเข้าใจ ชายหนุ่มกลับยินยอมคลายความยึดติด เพราะตัวเขาไม่สามารถตามติดเธอไปถึงข้อ 7 หรือฆ่าตัวตายสนองความรัก นี่แสดงว่า Theodore ยังมีสติยับยั้งชั่งใจ ตระหนักถึงสามัญสำนึกของมนุษย์ในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อเขาสามารถปลดปล่อยความรู้สึกจากเธอได้ในครั้งนี้ ถือว่าได้ค้นพบสิ่งเหนือกว่า ‘ความรัก’ นั่นคือ ‘ความเสียสละ’

ส่วนตัวรู้สึกมันไร้สาระไปนิดนึงนะ เรื่องปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่นิพพาน เพราะความที่ Samantha สามารถรับรู้เข้าใจข้อมูลทุกสิ่งอย่างในโลก ไม่ได้แปลว่าจะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ จิตวิญญาณ และการเวียนว่ายตายเกิด การปล่อยวางจากทุกสิ่งต่างหากที่ทำให้มีแนวโน้มเห็นจุดสิ้นสุดของชีวิต

การเปรียบตัวละครของ Scarlett Johansson กับอดีตภรรยา Sofia Coppola ที่แรกๆรักกันมาก แต่ต่อมาค่อยๆแปรสภาพเปลี่ยนไป ปากอ้างว่ารักกันอยู่แต่จิตใจ… จนถึงที่สุดก็เหมือนว่า ความรักจากไปเพื่อออกค้นหาอะไรบางอย่างที่เหนือกว่า, Spike Jonze สร้างหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูถูกหรือต่อว่าอดีตภรรยา แค่นำเสนอปัญหาในสิ่งที่ตัวเขา มุมมองของตัวละคร Theodore มิอาจรับรู้เข้าใจได้ ราวกับเธอจากไปเพราะต้องการเข้าถึงนิพพาน แต่แท้จริงก็แค่คนธรรมดาๆหนึ่ง ไม่ได้เลิศเลิอสมบูรณ์แบบดั่งที่วาดฝันไว้

ทั้งๆที่หนังแทบไม่มีโปรดักชั่นอะไรเท่าไหร่ แต่กลับใช้ทุนสร้างสูงถึง $23 ล้านเหรียญ เรียกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำจริงๆ ทำเงินได้เพียง $48.5 ล้านเหรียญ ไม่น่าจะคืนทุน แต่ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Production Design (Best Art Direction)
– Best Original Score
– Best Original Song บทเพลง The Moon Song

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ที่ไม่ตกหลุมรักเพราะผู้กำกับ Spike Jonze สร้างให้หนังหมุนรอบตัวเขาเอง สะท้อนความเห็นแก่ตัวต่อทุกสิ่งอย่างรอบข้างออกมา นักแสดงสมทบแทบไร้ค่า โลกที่แห้งเหือดราวกับ Dystopian อนาคตอันสิ้นหวัง และตอนจบในทาง Common Sense ของ AI ไปถึงนิพพาน นี่มันบิดเบือนไร้สาระมากไปแล้ว

แนะนำกับคอหนังรัก Romantic, ชอบครุ่นคิด Sci-Fi ปรัชญา, สนใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทำงานสายคอมพิวเตอร์, นักเขียน นักออกแบบโปสการ์ด Creative Designer, แฟนๆผู้กำกับ Spike Jonze นักแสดง Joaquin Phoenix, Scarlett Johansson, Amy Adams ไม่ควรพลาด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นิยามความรักของหนังเรื่องนี้มันอาจเว่อ อลังการ บ้าเกิน ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ให้ลองเปิดอกทำความเข้าใจดูนะครับ, สิ่งที่เหนือกว่าความรักคือ ‘การเสียสละ’ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายนี้จริงแท้

จัดเรต 13+ กับ Sex Phone และความรักเพี้ยนพิศดาร

TAGLINE | “ปัญญาประดิษฐ์ Her ออกแบบโดย Spike Jonze ได้ทำให้ Joaquin Phoenix บรรลุถึงสัจธรรมในความรัก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: