Hero

Hero (2002) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥♡

(24/5/2022) ระหว่างฉินอ๋องเข่นฆ่าประชาชนบริสุทธิ์มากมายเพื่อรวบรวมแว่นแคว้นให้กลายเป็นปึกแผ่น กับนักฆ่าผู้ยินยอมเสียสละตนเองด้วยการไว้ชีวิตว่าที่จักรพรรดิจีน ใครกันสมควรได้รับยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ! … หรือผู้กำกับจางอี้โหมวที่สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กันแน่?

Hero, วีรบุรุษ คือคำเรียกที่มวลมนุษย์ประดิษฐ์สร้างขึ้นสำหรับยกย่องสรรเสริญบุคคลทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ เป็นต้นแบบอย่างความดี ใครต่อใครชื่นชมศรัทธา บังเกิดความภาคภูมิใจ ใคร่อยากกระทำตามอย่าง สักวันจักได้รับการยกย่องเทียบเคียง (หรือยิ่งใหญ่กว่า)

ทางฝั่งโลกตะวันตกมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง จิ๋นซีฮ่องเต้สมควรได้รับการยกย่องเป็นมหาบุรุษหรือไม่? แม้สามารถทำการรวบรวมประเทศจีนให้กลายเป็นปึกแผ่น แต่ก็เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์นับชีวิตไม่ถ้วน เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ไร้ซึ่งมนุษยธรรม! แต่สำหรับชนชาวจีน ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะมีอคติต่อประวัติศาสตร์ชาติตนเองหรอกนะครับ ตรงกันข้ามมองการเสียสละของคนสมัยนั้น ก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วม และอนาคตลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ผู้กำกับจางอี้โหมว เคยแต่มีผลงานดราม่า สะท้อนปัญหาสังคม วิพากย์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน การที่จู่ๆจะมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อสู้ กำลังภายใน ประวัติศาสตร์ย้อนยุคสมัย แม้แต่ Quentin Tarantino ยังไม่มีความเชื่อมั่นใจ แต่เมื่อได้รับชม ‘blow my mind’ กลายเป็นตัวตั้งตัวตี ผลักดันให้ Hero (2002) ออกฉายวงกว้างในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จถล่มทลายไม่ด้อยไปกว่า Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

ผมเคยโปรดปราน Hero (2002) ที่สุดในบรรดาผลงานผู้กำกับจางอี้โหมว ปัจจุบันยังคงชื่นชอบอยู่แต่ไม่ได้คลุ้มคลั่งไคล้เท่าเก่าก่อน เพราะเริ่มตระหนักถึงสาสน์สาระ ‘ชวนเชื่อ’ มองเห็นอีกฟากฝั่งเหรียญสองด้าน มันผิดอะไรที่มนุษย์จะมีความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ? และฉบับ Director’s Cut ที่เพิ่งได้รับชม รู้สึกว่าห่วยกว่าต้นฉบับ (Original’s Cut) อย่างน่าหงุดหงิดใจ

(น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเลยนะที่ผมรู้สึกว่า Director’s Cut ทำออกมาได้ย่ำแย่กว่าต้นฉบับ แม้รายละเอียดหลายๆอย่างมีความกระจ่างชัดขึ้น แต่กลับเพิ่มความอืดอาด ยืดยาด เยิ่นยาวเกินกว่าเหตุ (แม้แค่สิบกว่านาทีก็เถอะ!))


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) โดยอังลี่ที่เป็นชาวไต้หวัน ย่อมสร้างความหวาดหวั่น ข้อครหาต่อบรรดาผู้กำกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำไมไม่มีใครหาญกล้าสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวต่อสู้ กำลังภายใน แบบเดียวกันนี้บ้างเลยหรือ? … ปกติหนังแนวนี้จะได้รับความนิยมทางฝั่งฮ่องกง ตั้งแต่ยุค Shaw Brothers มายังบรูซลี เฉินหลง หงจินเป่า หยวนเปียว ฯลฯ

หลังเสร็จจาก Happy Times (2000) แม้จางอี้โหมวจะไม่เคยกำกับหนังต่อสู้กำลังภายในมาก่อน แต่ก็มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ต้องการเผชิญหน้าท้าทาย Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) เพื่อพิสูจน์ว่าผู้กำกับจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวนี้ได้เหมือนกัน (หรือยิ่งใหญ่กว่า)

ในตอนแรกครุ่นคิดจะดัดแปลงนวนิยายกำลังภายในของกิมย้ง ไม่ก็เนี่ยอู้เซ็ง (ใครเป็นแฟนๆนวนิยายกำลังภายในจีน ย่อมต้องคุ้นชื่อกันดีนะครับ) แต่จนแล้วจนรอดไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ เลยตัดสินใจพัฒนาบทหนังขึ้นมาเองโดยร่วมงานกับนักเขียนเฝิงลี่ และบินหวัง (ทั้งสองยังร่วมกันพัฒนาบท House of Flying Daggers (2004))

บทร่างแรกๆของหนังไม่ได้เจาะจงพื้นหลัง ตั้งใจเว้นว่างไว้เพื่อสื่อถึงฮ่องเต้ทุกยุคทุกสมัย (ล้วนเคยถูกนักฆ่าลอบสังหารทั้งนั้น) จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากโปรดิวเซอร์ให้เลือกฉินอ๋อง เพราะคือ(ว่าที่)ปฐมจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ และยังเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง (จากการริเริ่มสร้างกำแพงเมืองจีน และเลื่องลือในความเหี้ยมโหดร้าย)

สำหรับไร้นาม (Nameless) ได้แรงบันดาลใจจากจิงเคอ, 荊軻 หนึ่งในมือสังหารที่เคยลอบปลงพระชมน์ฉินอ๋อง เมื่อปีที่ 227 ก่อนคริสต์ศักราช, มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้มีด ปลอมตัวเป็นทูตแคว้นเยี่ยนพร้อมกับผู้ช่วยชื่อฉินอู่หยาง ออกเดินทางไปยังเมืองเซียนหยาง (เมืองหลวงของแคว้นฉิน) พร้อมบรรณาการคือแผนที่เมืองจีซาน (เมืองหลวงของแค้นเยี่ยน) พร้อมกับศีรษะของฝานอี๋ว์ชี ซึ่งเป็นศัตรูคนสำคัญของฉินอ๋อง, ทางฝ่ายแคว้นฉินไม่ทราบมาก่อนว่านี่คือแผนลอบสังหาร จึงจัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จิงเคอเดินนำถือกล่องใส่ศีรษะฝานอี๋ว์ชี ขณะที่ฉินอู๋หยางถือม้วนแผนที่เดินติดตามหลัง แต่อากัปกิริยาของทั้งคู่ต่างดูตื่นตระหนก มีพิรุธอย่างผิดสังเกต ฉินอ๋องเลยสั่งหยุดยืนอยู่ห่างๆ แล้วเรียกจิงเคอนำแผนที่มาคลี่ให้ทอดพระเนตร ปรากฏว่ามีดสั้นซุกซ่อนโผล่แล่บออกมา ทำให้แผนการลอบสังหารล้มเหลวโดยพลัน!

เกร็ด: ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์เรื่อง The Emperor and the Assassin (1998) กำกับโดยเฉินข่ายเกอ ที่นำเสนอเรื่องราวการลอบสังหารฉินอ๋องของจิงเคอ นำแสดงโดยกงลี่, จางเฟิงอี้ และหลี่เสฺวียน


ในยุคจ้านกว๋อ (475-221 ปีก่อนคริสตกาล) แผ่นดินจีนได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 แคว้น ฉิน, เจ้า, ฮั่น, เว่ย, หยาน, ชู และฉี เป็นช่วงเวลาหลายปีที่แคว้นต่างๆ ได้ทำการต่อสู้รบสงครามอย่างบ้าคลั่ง เพื่อแก่งแย่งชิงอำนาจ ยังผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องล้มตาย ทนทุกข์ทรมานนานนับทศวรรษ

ในบรรดาทั้ง 7 แคว้นฉินนั้นแข็งแกร่งที่สุด ด้วยแสนยานุภาพของพลธนู ฉินอ๋อง (รับบทโดย เฉินต๋าวหมิง) มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า ต้องการครอบครองผืนแผ่นดินทั้งหมด เพื่อสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมจักรพรรดิ ด้วยเหตุนี้จึงตกเป็นเป้าสังหารของอีกทั้ง 6 แคว้น โดยบรรดายอดฝีมือทั้งหลายมี 3 จอมยุทธสร้างความหวาดสะพรึงที่สุดประกอบด้วย กระบี่หัก (รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย), หิมะเหิน (รับบทโดย จางม่านอวี้) และฟ้าเวิ้ง (รับบทโดย เจินจื่อตัน หรือดอนนี่ เยน)

ผู้ใดก็ตามที่สามารถเอาชนะสามยอดฝีมือนี้ได้ ฉินอ๋องจะพระราชทานยศศักดิ์, สินทรัพย์เงินทองกองเท่าภูเขา และได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ จนกระทั่งการมาถึงของชายไร้นาม (รับบทโดย หลี่เหลียนเจี๋ย หรือเจ็ทลี) นายอำเภอผู้มีทีท่าน่าสงสัย มาขอเข้าเฝ้าพร้อมหลักฐาน ซึ่งคืออาวุธประจำกายของทั้งสามมือสังหาร ขณะนั่งอยู่ในท้องพระโรง ระยะห่างจากพระองค์เพียง 10 ก้าว จึงเริ่มต้นแถลงไขถึงเรื่องราวอันโลดโผนที่ไม่มีใครคาดคิดถึง


หลี่เหลียนเจี๋ย, Jet Lee (เกิดปี 1963) นักแสดงชาวจีน (ปัจจุบันถือสัญชาติสิงคโปร์) เกิดที่กรุงปักกิ่ง พออายุ 8 ขวบ ได้รับการฝึกฝนวิชากังฟู (หรือวูซูในภาษาจีนกลาง) สนิทสนมกับเพื่อนร่วมรุ่นเจิ้นจื่อตัน (ดอนนี่ เยน) ต่อมาได้กลายเป็นนักกีฬาวูซู ครองแชมป์เยาวชน 5 ปีซ้อน จนมีโอกาสไปแสดงศิลปะการต่อสู้ต่อหน้าประธานาธิบดี Richard Nixon, จากนั้นผันตัวเป็นโค้ชทีมกีฬา เข้าสู่วงการแสดงตอนอายุ 20 ปี เริ่มมีชื่อเสียงจาก Shaolin Temple (1982), Once Upon a Time in China (1991), Swordsman II (1992), Fist of Legend (1994), โกอินเตอร์เรื่อง Lethal Weapon 4 (1998), Romeo Must Die (2000), ผลงานอื่นๆ อาทิ Hero (2002), Fearless (2006), The Forbidden Kingdom (2008), Mulan (2020) ฯลฯ

รับบทไร้นาม ข้าราชการระดับล่างมาขอเข้าเฝ้าฉินอ๋อง อ้างว่าได้ทำการเข่นฆ่าสามมือสังหารตามประกาศหมายจับ โดยนำหลักฐานอาวุธประจำกายทั้งสามชิ้นมาแสดงให้ประจักษ์ จึงอนุญาตให้เข้าเฝ้าและเล่าเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น

แท้จริงแล้วนี่เป็นแผนการของไร้นาม ที่ต้องการจะลอบสังหารฉินอ๋อง เพราะในอดีตต้องสูญเสียครอบครัวจากสงคราม กลายเป็นเด็กกำพร้าไร้บ้าน เลยเกิดความเคียดแค้นอาฆาต ฝึกฝนเพลงดาบให้มีความแม่นยำจนสามารถเข่นฆ่าคนได้ภายในสิบก้าว แล้วใช้การโน้มน้าวมือสังหารทั้งสามเพื่อหยิบยืมอาวุธ มาใช้เป็นหลักฐานในการเข้าประชิดตัวฉินอ๋อง

แต่ด้วยอัจฉริยภาพของฉินอ๋องสามารถคาดการณ์แผนการของไร้นาม แม้จะผิดแผกแตกต่างไปบ้าง แต่ก็สร้างความตกตะลึงไม่น้อย เขาจึงยินยอมเล่าความจริงทั้งหมดจนทำให้ว่าที่องค์จักรพรรดิหลั่งน้ำตาออกมา ยินยอมมอบดาบให้เขาเพื่อตัดสินว่าตนเองสมควรตายหรือมีชีวิตอยู่เพื่อเป้าหมายอุดมการณ์

บทบาทนี้ในต้นฉบับแรกๆ นอกจากไร้นามยังไร้บทพูด แต่สามารถสื่อสารผ่านการคัดตัวอักษรจีน (Calligraphy) เห็นว่าผู้กำกับจางอี้โหมวชื่นชอบแนวคิดดังกล่าวมากๆ ต้องการจะเอาให้ได้แต่ก็ถูกโปรดิวเซอร์ทัดทาน เพราะกลัวว่าอาจไม่มีนักแสดงคนไหนยินยอมรับบทที่ไม่มีบทพูด

ผิดกับชื่อตัวละครไร้นาม บทบาทนี้ไม่สามารถสรรหานักแสดงไร้ชื่อเสียง หรือไร้พื้นฐานเกี่ยวกับการต่อสู้ คือต้องเป็นที่รู้จัก และมี Charisma พานผ่านหนังต่อสู้กำลังภายในมาไม่น้อย ตอนแรกแสดงความสนใจเฉินหลง แต่บุคลิกและอายุเหมือนจะไม่ค่อยเข้ากับตัวละครสักเท่าไหร่ หลงเหลือเพียงเจ็ทลี เมื่อได้อ่านบทประทับใจเรื่องราวของหนังมากๆ ถึงขนาดยินยอมลดค่าตัวให้เลยละ

แม้นี่เป็นบทบาทที่เจ็ทลีมีความภาคภูมิใจในการได้มีส่วนร่วมมากๆ เพราะเรื่องราวมากกว่าแค่การต่อสู้ เล่นคิวบู๊ แต่ยังสอดใส่ปรัชญา ตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ การเสียสละเพื่อชาติบ้านเกิด! แต่ตัวละครกลับมีความจืดชืด จืดจาง แทบไร้ปฏิกิริยาอารมณ์ร่วม (เพราะหนังใช้ไร้นามแทนมุมมองผู้เห็นเหตุการณ์ หรือคือผู้ชมภาพยนตร์ก็ได้เช่นกัน) มีเพียงสีหน้ากระยิ่มยิ้มหลังคำตอบของการตัดสินใจ แม้กำลังก้าวเดินออกไปเผชิญหน้าความตาย กลับเอ่อล้นด้วยความรู้สึกภาคภูมิในตนเอง


เหลียงเฉาเหว่ย, Tony Leung Chiu-wai (เกิดปี 1962) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง วัยเด็กเป็นคนหัวรุนแรงเพราะพบเห็นบิดา-มารดาทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง แต่หลังจากพ่อของเขาหายตัวไปทำให้นิสัยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นเด็กเงียบๆ เคร่งขรึม หันมาพึ่งพาการแสดงระบายออกทางอารมณ์ของตนเอง, ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ทำงานเป็นเด็กส่งของ ตามด้วยเซลล์แมน ฝึกงานที่ TVB กลายเป็น Host เล่นละครซีรีย์ จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Mad, Mad 83 (1983), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Love Unto Waste (1986), โด่งดังระดับเอเชียเรื่อง A City of Sadness (1989), Hard Boiled (1992), Cyclo (1995), ยิ่งใหญ่ระดับโลกจากการร่วมงานผู้กำกับกับหว่องกาไว ตั้งแต่ Days of Being Wild (1991), Chungking Express (1994), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), The Grandmaster (2013), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Hero (2003), Infernal Affairs (2002), Lust, Caution (2007), Red Cliff (2008-09), Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021) ฯ

รับบทกระบี่หัก คนรักของหิมะเหิน เคยรับปากจะช่วยแก้ล้างแค้นศัตรูที่ทำให้ตระกูลเธอล่มสลาย บุกฝ่าเข้าไปในพระราชวัง เข่นฆ่าทหารตกตายนับพัน จนกระทั่งเผชิญหน้าต่อสู้ฉินอ๋อง แม้วิทยายุทธของเขาจักสูงส่งเหนือกว่า แต่เสี้ยววินาทีหนึ่งตระหนักถึงสัจธรรมบางอย่าง เลยล้มเลิกแผนการลอบสังหาร สร้างความไม่พึงพอใจให้หญิงคนรัก ปฏิเสธพูดคุยสนทนาจนกระทั่งการมาถึงของไร้นาม

เหตุผลการตัดสินใจของกระบี่หัก เกิดขึ้นระหว่างการคัดตัวอักษรจีน (Calligraphy) เพราะได้เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ครุ่นค้นพบสิ่งสำคัญสุดไม่ใช่การเข่นฆ่าล้างแค้น สนองความต้องการส่วนบุคคล แต่คือการเสียสละเพื่อส่วนรวม ผืนแผ่นดิน ใต้หล้า แม้สงครามต้องมีคนตายนับหมื่นแสนล้าน แต่เมื่อประเทศชาติถูกรวบรวมกลายเป็นปึกแผ่น วิถีชีวิตของประชาชนจักค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ

ผู้กำกับจางอี้โหมว มองหาโอกาสร่วมงานกับเหลียงเฉาเหว่ยมานานมากๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสจึงรีบติดต่อ ชักชวน ตอบตกลงโดยยังไม่ทันอ่านบทด้วยซ้ำ (เฮียเหลียงจะไม่ค่อยเรื่องมากถ้าได้รับการติดต่อจากผู้กำกับมีชื่อ)

ในบรรดาตัวละครทั้งหมด กระบี่หัก ถือเป็นบทบาทมีความสลับซับซ้อนที่สุดแล้ว! เพราะทั้งสามเรื่องเล่าต่างมีบุคลิก การแสดงออกที่แตกต่างกันไป

  • เรื่องเล่าของไร้นาม, เป็นชายผู้มีความหมกมุ่นในความรัก แม้มีความเหินห่างจากหิมะเหินแต่ก็ยังรักมากอยู่ เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาเมื่อรับรู้ว่าความสัมพันธ์ของเธอกับอดีตคนรักฟ้าเวิ้ง จงใจหลับนอนกับลูกศิษย์สาวเพื่อให้สร้างความอิจฉาริษยา ก่อนถูกแทงข้างหลังหมดสิ้นใจ (ตายจริงๆ)
  • การคาดการณ์ของฉินอ๋อง ไม่เชื่อว่ากระบี่หักกับหิมะเหินจะมีความขัดแย้งอะไรกัน ทั้งสองน่ายังครองรักกันดี ต่างไม่ต้องการให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นผู้เสียสละ และความตายของหญิงคนรัก ทำให้เขาจมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก (ยังมีชีวิตแต่ตรอมใจ)
  • เหตุการณ์จริง, กระบี่หักคืออัจฉริยะด้านการต่อสู้ จนสามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต เลยปฏิเสธลอบสังหารฉินอ๋อง แถมพยายามขัดขวางไม่ให้ไร้นามกระทำการใดๆ ผิดกับหิมะเหินที่ยังเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเกลียดแค้น ยินยอมให้ความช่วยเหลือแผนการดังกล่าว (ยินยอมรับความตาย)

แต่ทั้งสามเรื่องเล่า เฮียเหลียงก็ยังคงเป็นเฮียเหลียง ชอบทำหน้าเครียดๆ ซึมเศร้า เก็บกดความรู้สึก ไม่ยินยอมเปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยง่าย โดยไฮไลท์คือตอนจมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก หลังการสูญเสียหญิงคนรัก นั่นคือลายเซ็นต์การแสดงเลยก็ว่าได้!


จางม่านอวี้, Maggie Cheung Man-yuk (เกิดปี 1964) นักแสดงหญิงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง บิดา-มารดาเป็นคนเซี่ยงไฮ้ (คงอพยพมาตอนสงครามกลางเมืองจีน) ตอนเธออายุ 8 ขวบ ติดตามครอบครัวย้ายไป Bromley, London ประเทศอังกฤษ ก่อนหวนกลับมาฮ่องกงตอนอายุ 18 ตั้งใจแค่มาท่องเที่ยววันหยุด กลับเข้าตาแมวมอง ได้ทำงานโมเดลลิ่ง ตัดสินใจเข้าประกวด Miss Hong Kong คว้ารางวัลที่สองและขวัญใจช่างภาพ ติดตามด้วย Miss World สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ, เซ็นสัญญาสถานี TVB เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, แจ้งเกิดภาพยนตร์ Police Story (1985), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว As Tears Go By (1988), Days of Being Wild (1990), Ashes of Time (1994), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Center Stage (1991), New Dragon Gate Inn (1992), Irma Vep (1996), Comrades: Almost a Love Story (1996), Hero (2002), Clean (2004) ฯลฯ

ตระกูลของหิมะเหิน ถูกกวาดล้างเข่นฆาตกรรมโดนฉินอ๋อง จึงเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น เลือดขึ้นหน้า เลยมักแสดงออกด้วยความเยือกเย็นชา (เหมือนหิมะ) ในอดีตบังเกิดความคาดหวังจากคำสัญญาของกระบี่หัก บุกฝ่าเข้าไปในพระราชวังจนถึงห้องโถงรับรอง แต่สุดท้ายเขากลับเปลี่ยนใจกลางคัน ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง ปฏิเสธพูดคุยเผชิญหน้า จนกระทั่งการมาถึงของไร้นาม

คงไม่มีหญิงสาวคนไหนเหมาะสมเหลียงเฉาเหว่ย ไปมากกว่าจางม่านอวี้! เชื่อได้เลยว่าผู้กำกับจางอี้โหมวต้องเคยรับชม In the Mood for Love (2000) แล้วพัฒนาสองบทบาทนี้ให้มีลักษณะ ‘แม้อยู่ชิดใกล้ แต่จิตใจกลับเหินห่าง’ ในตอนแรกจางม่านอวี้ตั้งใจบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่เคยแสดงหนังต่อสู้กำลังภายในมาก่อน แต่เหมือนได้รับการโน้มน้าวจากเฮียเหลียงเลยยินยอมตอบตกลง (ก็คงไม่มีใครโน้มน้าวเธอได้ดีกว่านี้แล้วละ)

บทบาทของจางม่านอวี้ก็เหมือนเหลียงเฉาเหว่ย มีทั้งหมดสามบุคลิกตามสามเรื่องราว แตกต่างที่จะมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรงกว่า

  • เรื่องเล่าของไร้นาม, หิมะเหินค่อยๆเหินห่างความสัมพันธ์กับกระบี่หัก แต่ก็ยังชอบแอบถ้ำมองอีกฝั่งฝ่ายยามค่ำคืน (เพราะยังคร่ำครวญหา) กระทั่งการมาถึงของไร้นามเปิดเผยความตายของอดีตคนรักฟ้าเวิ้ง สร้างความอิจฉาริษยาให้กระบี่หัก จงใจหลับนอนกับลูกศิษย์เพื่อแสดงท่าทีประชดรัก เธอเลยแทงเข้าข้างหลัก แล้วแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งในการประลองกับไร้นาม (รอดชีวิตแล้วเผชิญหน้ากับลูกศิษย์ของกระบี่หัก)
  • การคาดการณ์ของฉินอ๋อง ไม่เชื่อว่ากระบี่หักกับหิมะเหินจะมีความขัดแย้งอะไรกัน ทั้งสองน่ายังครองรักกันดี ต่างไม่ต้องการให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นผู้เสียสละ แต่เพราะหิมะเฉินสามารถฉกชิงความได้เปรียบ เลยกลายเป็นผู้เสียสละยินยอมตายในการต่อสู้กับไร้นาม (เสียชีวิตจากการประลอง)
  • เหตุการณ์จริง, หิมะเหินมีความหมกมุ่นอย่างแรงกล้าในการแก้ล้างแค้นฉินอ๋อง ให้ความร่วมมือไร้นามในการหยุดยับยั้งกระบี่หัก แต่หลังจากภารกิจล้มเหลวบังเกิดความไม่พึงพออย่างรุนแรง จึงระบายความเกรี้ยวกราดด้วยการต่อสู้แล้วพลั้งมือเข่นฆ่าชายคนรัก มิอาจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ฆ่าตัวตายตาม)

ทั้งสามเรื่องราว หิมะเหินจะต้องมีความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่างจากกระบี่หัก เป็นชนวนเหตุให้เกิดการเผชิญหน้าต่อสู้ ฝั่งฝ่ายหนึ่งตกตาย ตรอมใจ พลัดพรากจากกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยังรักอีกฝ่ายมากอยู่ จึงมิอาจยินยอมรับบทสรุปที่บังเกิดขึ้น


ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle (เกิดปี 1952) ตากล้องสัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney พออายุ 18 ออกเดินทางท่องเที่ยวทำงานยังหลายๆประเทศ อาทิ ขุดน้ำมันที่อินเดีย, เลี้ยงวัวที่อิสราเอล, แพทย์แผนจีนที่ประเทศไทย, ระหว่างอาศัยอยู่ไต้หวันค้นพบความชื่นชอบด้านการถ่ายภาพ จนกลายมาเป็นตากล้องภาพยนตร์ That Day, on the Beach (1983) ของผู้กำกับ Edward Yang, โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำหว่องกาไว อาทิ Days of Being Wild (1991), Chungking Express (1994), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานอื่นๆ อาทิ Temptress Moon (1996), Hero (2002), Perhaps Love (2005), Invisible Waves (2006) ฯ

ผมครุ่นคิดว่าจางอี้โหมว คงประทับใจลีลาการถ่ายภาพของ Doyle จากหลายๆผลงานร่วมกับหว่องกาไว ที่มีความจัดจ้านด้านลูกเล่นแสงสีสัน ซึ่งสำหรับ Hero (2002) เพราะมีการเล่าเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง(คล้ายๆ Rashômon (1950)) จึงต้องการแบ่งแยก’มุมมอง’ออกด้วยเฉดสีสัน (Color Palette) ไม่ได้อ้างอิงนัยยะตามทฤษฎีใดๆ แต่ใช้ความรู้สึกอธิบายความหมายของการเลือก หรือเรียกว่า ‘สีของอารมณ์’

We knew that one section should be red, but we weren’t sure what the other colors were. And so we wandered around China looking for spaces that were interesting or unexpected or perhaps hadn’t been shot before. And we said, ‘Oh, this might work for this, therefore this section is this color.’ It kind of evolved organically.

Christopher Doyle
  • สีดำ เรื่องราวหลักระหว่างไร้นามกับฉินอ๋อง ทั้งสองต่างมีจิตใจที่ดำมืดมิด ครุ่นคิดแต่กระทำชั่วร้าย ฝ่ายหนึ่งคือมือสังหาร อีกฝั่งฝ่ายคือกษัตริย์ผู้เข่นฆ่าประชาชนนับไม่ถ้วน
  • สีเทา การต่อสู้ระหว่างไร้นามกับฟ้าเวิ้ง ท่ามกลางหยาดฝนพรำ โดยเฉพาะในจินตนาการภาพขาว-ดำ สร้างบรรยากาศอึมครึม ลึกลับ ปริศนาใดๆยังไม่ได้รับการไขกระจ่าง
  • สีเแดง แทนเรื่องเล่าแรกของไร้นาม ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ตัณหา ความอิจฉาริษยาที่รุนแรง เกี่ยวกับการคบชู้นอกใจ ทรยศหักหลังระหว่างกระบี่หักและหิมะเหิน
  • สีเหลือง การต่อสู้ระหว่างหิมะเหินกับปานเดือน มอบสัมผัสความแห้งเหี่ยวสิ้นหวัง (ของฤดูใบไม้ร่วง) เพราะต้องการเข่นฆ่าล้างแค้นแทนอาจารย์/คนรัก แต่ก็มิอาจเผชิญหน้า พ่ายแพ้จนหมดสิ้นสภาพ
  • สีน้ำเงิน คือจินตนาการของฉินอ๋อง ‘สะท้อน’ ความครุ่นคิดด้วยเหตุผล (ฉากต่อสู้บนทะเลสาบ จึงพบเห็นผืนน้ำแน่นิ่งเหมือนกระจก) มิตรภาพระหว่างกระบี่หักกับหิมะเหิน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งสองก็ไม่ยินยอมเหินห่างจากกัน
  • สีขาว สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไร้มลทิน(ความเท็จ)ใดๆแปดเปื้อน หรือคือเรื่องเล่าความจริงของไร้นาม หลังตระหนักว่าฉินอ๋องรับทราบถึงแผนการลอบสังหาร จึงไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดอีกต่อไป
  • สีเขียว ย้อนอดีตการพบรักครั้งแรกระหว่างกระบี่หักกับหิมะเหิน สานความสัมพันธ์ตามครรลองธรรมชาติชีวิต จนกระทั่งพวกเขาบุกฝ่าเข้าไปยังพระราชวัง เผชิญหน้าต่อสู้ฉินอ๋อง และวินาทีผ้าทุกผืนถูกตัดขาด ทำให้ชายหนุ่มบรรลุสัจธรรมบางอย่าง

แซว: สีหลักๆที่สูญหายไปก็คือสีชมพู มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรัก โรแมนติกชาย-หญิง ซึ่งไม่มีช่วงเวลาดังกล่าวในหนังเลยนะครับ (นี่ก็แอบสื่อว่าเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีความสำคัญใดๆต่อผลประโยชน์ส่วนรวม)


สถานที่ถ่ายทำหลักๆก็คือ Hengdian World Studios โรงถ่ายหนังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก! ได้รับฉายา ‘Hollywood แดนตะวันออก’ ตั้งอยู่เมืองเหิงเติ้น มณฑลเจ้อเจียง เพิ่งเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1996 กินอาณาบริเวณเกือบๆ 500,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 30 ฉากภายนอก, 130 สตูดิโอภายใน, นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร เปิดสาธารณะให้เข้าเยี่ยมชม (ถ้าไม่ติดกำลังถ่ายหนัง) … ผมอ่านเจอว่าถ้าใครอยากไปท่องเที่ยว ควรวางโปรแกรมอย่างน้อย 3 วันนะครับ!

สำหรับพระราชวังอาฝางกงของจิ๋นซีฮ่องเต้ มีการก่อสร้างเมื่อปี 1997 เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ The Emperor and the Assassin (1998) ซึ่งก็มีปรับปรุงพอสมควรให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ผู้กำกับจางอี้โหมว … พระราชวังแห่งนี้ยังใช้ถ่ายทำหนัง/ซีรีย์ หลังจากนี้อีกหลายเรื่องเลยนะครับ เป็นจุดเช็คอินที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆเลยละ

ส่วนสถานที่ถ่ายทำอื่นๆ ประกอบด้วย

  • ทะเลทรายทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ติดพรมแดนประเทศคาซัคสถาน
  • ทะเลสาบในอุทยานแห่งชาติจิ่วจ้ายโกว (九寨沟, Jiuzhaigou) ทางตอนเหนือมณฑลเสฉวน ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมื่อปี 1992
  • ป่าในทะเลทราย Ejina Desert Poplar Forest อยู่ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia)

นอกจากความโดดเด่นในเรื่องแสงสีสัน ที่ทำให้ผู้ชมสามารถแบ่งแยกแยะเรื่องราวออกเป็นตอนๆได้อย่างชัดเจน เทคนิคการนำเสนอ/ไดเรคชั่นในแต่ละองก์ก็จะมีความแตกต่างออกไปด้วย

เริ่มที่เรื่องราวหลักระหว่างไร้นาม vs. ฉินอ๋อง นอกจากโทนสีดำ จะมีการนำเสนอแบบเผชิญหน้า ตรงไปตรงไปตรงมา จัดองค์ประกอบให้มีความสมมาตรซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าเฝ้า

สำหรับกองทัพฉิน ว่าจ้างทหารเกณฑ์จากกองทัพปลดปล่อยประชาชน (Chinese People’s Liberation Army) คาดการณ์ประมาณ 18,000 คน นั่นทำให้ผมรู้สึกเอะใจเล็กๆว่า ช็อตนี้ใช้ CGI (Computer Graphic Interface) ร่วมด้วยหรือไม่? เพราะจากตัวเลขมันก็มีความเป็นไปได้ว่าไม่จำเป็นอยู่นะครับ!

เท่าที่ผมดูในเครดิต Visual Effect พบเห็นร่วมงานอยู่สามบริษัท

  • Animal Logic สตูดิโออนิเมชั่น (และ Visual Effect) สัญชาติ Australian ที่มีผลงานดังๆอย่าง Happy Feet (2006), The Lego Movie (2014), ส่วนงาน VFX อาทิ The Matrix (1999), The Great Gatsby (2013), Captain Marvel (2019) ฯ
  • Tweak Films สตูดิโอสัญชาติอเมริกันอายุสั้นเพียง 6 ปี แต่ก็เคยร่วมสรรค์สร้างผลงาน อาทิ The Matrix Reloaded (2003), The Lord of the Rings: The Return of the King (2003), The Day After Tomorrow (2004), Spider-Man 3 (2007) ฯ
  • The Orphanage สตูดิโอสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งโดยอดีตสมาชิก Industrial Light & Magic เริ่มมีผลงานตั้งแต่ Vanilla Sky (2001), The Day After Tomorrow (2004), Sin City (2005), แฟนไชร์ Pirates of the Caribbean, Superman Returns (2006), Iron Man (2008) ฯลฯ

ห้องโถงรับรองแห่งนี้ทำการก่อร่างสร้างขึ้นใหม่ (แตกต่างจากที่พบเห็นในภาพยนตร์ The Emperor and the Assassin (1998)) ดูแล้วคงเพื่อให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ผู้กำกับจางอี้โหมว ด้วยการทาสีดำ เสาทุกต้น และราชบัลลังก์ แกะสลักแผ่นเหล็กลวดลายมังกร เน้นความโอ่โถง รโหฐาน แต่มอบสัมผัสเวิ้งว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดาย (บรรยากาศคล้ายๆคฤหาสถ์ Xanadu ของ Citizen Kane (1942)) เพราะฉินอ๋องไม่ยินยอมให้ใครเข้าใกล้ตนเองในระยะ 10 ก้าว กลัวการถูกลอบสังหารเข้ากระดูกดำ

ดั้งเดิมนั้นบทบาทฟ้าเวิ้งมีการติดต่อนักแสดงโรบิน โชว, Shou Wan-por แต่กลับถอนตัวออกไปโดยไม่มีใครทราบเหตุผล หลี่เหลียนเจี๋ย (เจ็ทลี) เลยแนะนำเจินจื่อตัน (ดอนนี่ เยน) เพื่อนสนิทที่รับรู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยเป็นนักกีฬาวูซู ก้าวสู่วงการภาพยนตร์ในเวลาไล่เรี่ย เคยร่วมงานกันบ่อยครั้ง แต่แทบไม่ได้พบเจอหน้าตั้งแต่ Once Upon a Time in China II (1992)

แม้จะเป็นบทบาทเล็กๆและมีเพียงคิวบู๊ไม่กี่นาที แต่ต้องถือว่าทั้ง Sequence อารัมบททิศทางฉากต่อสู้ของหนัง ไม่ใช่แค่ตัวละครต่อสู้กัน ยังมีการสานสัมพันธ์สิ่งต่างๆรอบข้าง หยาดฝน บทเพลง พิณบรรเลง แม้แต่ท่วงท่าทางยังมีความชดช้อย ราวกับกำลังเริงระบำ เดี๋ยวเร็ว-เดี๋ยวช้า สโลโมชั่น ตัดไป-ตัดมา เพื่อเป็นการสร้างสัมผัสที่เรียกว่า ‘กวีภาพยนตร์’

ออกแบบคิวบู๊ (Action Director) โดยเฉิงเสี่ยวตง, Ching Siu-tung (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/นักแสดง/ออกแบบการต่อสู้ เกิดที่มณฑลอานฮุย, บิดา Ching Kang คือหนึ่งในผู้กำกับ/นักเขียนบทสังกัด Shaw Brothers Studios ส่งบุตรชายไปร่ำเรียนงิ้วตั้งแต่เด็ก แต่กลับเลือกทำงานกำกับภาพยนตร์ Duel to the Death (1982), A Chinese Ghost Story (1987), The Swordsman (1990) ฯ และยังออกแบบฉากต่อสู้ Shaolin Soccer (2001), Hero (2002), House of Flying Daggers (2004), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

ภาพยนตร์แนวมหากาพย์ (Epic) ที่มีฉากสงคราม แทบทั้งนั้นจะต้องมีภาพมุมสูง ‘Bird’s Eye View’ ถ่ายจากโดรน เครน หรือเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นความยิ่งใหญ่อลังการ ตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่ใช่สำหรับ Hero (2002) ที่จะเริ่มจากช็อตระดับแนวสายตา ให้ตัวประกอบยืนเรียงแถวจนเต็มความกว้างของภาพแล้วค่อยๆกรีธาทัพเข้าหาหน้ากล้อง ส่วนภาพมุมกว้างก็ยังคงถ่ายจากภาคพื้นดิน พบเห็นความเป็นระเบียบเรียงแถว ไกลสุดลูกหูลูกตาเช่นเดียวกัน

เหตุผลของการถ่ายทำลักษณะนี้ น่าจะเพราะผู้กำกับจางอี้โหมวต้องการนำเสนอผ่าน ‘มุมมอง’ ทหาร-ประชาชน คนระดับล่าง ไม่ใช่จากเบื้องบน สรวงสวรรค์ (จักรพรรดิ/ฮ่องเต้) มองลงมาฟากฟ้า

แต่หนังก็สร้างความอึ้งทึ่งให้ผู้ชม ด้วยการนำเสนอมุมกล้อง ‘Arrow’s Eye View’ ติดตามลูกธนูที่ถูกยิงออกคันสาย พุ่งตรงไปยังเมืองหลวงของรัฐจ้าว ทะลุผ่านหลังคาเข้าไปภายใน เข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน ผู้คนตกตายจากห่าธนูมากมายนับไม่ถ้วน

หลายคนอาจรู้สึกฉงนสงสัย ลูกธนูมันรวดเร็ว รุนแรง ปริมาณเว่ออลังการไปไหม? นั่นคือความจงใจของผู้กำกับจางอี้โหมว ในการนำเสนอแสนยานุภาพของกองทัพรัฐฉิน ไม่ได้ต้องการความสมจริง แต่เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้ายของการสงครามยุคสมัยนั้น

ห้องสมุด คือสถานที่สำหรับเก็บสะสมตำรับตำรา คัมภีร์วิชาความรู้ บันทึกประวัติศาสตร์ชาติจีน ซึ่งทั้งสามครั้งของหนังใช้เป็นสถานที่สำหรับพูดคุยแผนการ แสดงความสามารถของไร้นาม และตัดสินใจเลือกว่าใครจะเป็นผู้เสียสละ

  • เรื่องเล่าพกลมของไร้นาม อาบฉาบโทนสีแดง สังเกตว่ากระบี่หักนั่งลงบนพื้น ส่วนหิมะเหินยืนพิงเสา เพื่อสื่อถึงความแตกต่าง/ขัดแย้ง ไม่ยินยอมแม้จะมองหน้าสบตา
    • ส่วนการตัดสินใจจะยังไม่ใครพูดบอกแสดงออก แต่ไปทรยศหักหลังกันในค่ำคืนกำลังจะมาถึง
  • ความครุ่นคิดของฉินอ๋อง อาบฉาบโทนสีน้ำเงิน ทั้งกระบี่หักและหิมะเหินต่างนั่งลงบนพื้นระดับเดียวกัน สื่อถึงการให้เกียรติ ความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ได้มีอคติขัดแย้งแตกต่าง พร้อมอาสาเสียสละตนเองเพื่อภารกิจลอบสังหาร หลังจากไร้นามขึ้นไปแสดงความสามารถตัดเชือกมัดคัมภีร์จากทิศทางรอบห้อง
    • หลังจากร่วมรักหลับนอนค่ำคืนสุดท้าย เช้าวันถัดมากระบี่หักประลองยุทธกับหิมะเหิน ต่างไม่ต้องการให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นผู้เสียสละ
  • สำหรับเหตุการณ์จริง อาบฉาบโทนสีขาว ทั้งกระบี่หัก หิมะเหิน และคนสนิทของพวกเขายืนอยู่ห่างๆ (สื่อถึงว่า นี่ไม่แค่เรื่องของคนสอง) ไร้นามขึ้นไปแสดงความสามารถด้วยการทิ่มแทงแท่งพู่กันขาวเพียงอันหนึ่งเดียว (แสดงถึงความแน่วแน่ มุ่งมั่น เพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียวเท่านั้น)
    • กระบี่หักต้องการขัดขวางแผนการของไร้นาม แต่หิมะเหินไม่ยินยอมเลยเกิดการต่อสู้กัน และเมื่อไร้นามเข้ามาช่วยเหลือ ก็เพียงพอให้ตัดสินผู้ชนะเพียงเสี้ยววินาที

แซว: ผมละโคตรสงสัยเลยนะ? ในหนังพบเห็นการคัดตัวอักษรจีนลงบนกระดาษ แต่ในห้องสมุดกลับยังเต็มไปด้วยคัมภีร์ไม้ไผ่

หนังมี Sex Scene อยู่สองฉากที่ต้องชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์บรรเจิด เลิศล้ำมากๆ งดงามดั่งบทกวี แถมนำเสนอในลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม โทนสีแดง-น้ำเงิน อารมณ์เร่าร้อน-สัมผัสนุ่มนวล ปกปิด-เปิดเผย จอมปลอม-รักบริสุทธิ์

  • กระบี่หักร่วมรักกับปานเดือน ด้วยความเร่าร้อนรุนแรง กอดรัดฟัดเหวี่ยงภายใต้ผืนผ้าห่มสีแดง ปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้มิให้หิมะเหินพบเห็น … แต่ผมรู้สึกว่านี่แค่การเล่นละคอนตบตา ทั้งสองไม่น่าจะมีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ เพียงเพื่อต้องการทำร้ายจิตใจผู้มาแอบถ้ำมองเท่านั้น
  • กระบี่หักร่วมรักกับหิมะเหิน นำเสนอ Sex Scene ในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการให้ทั้งสองเดินเข้าหา กล้องถ่ายผ่านมู่ลี่สองอันกำลังเคลื่อนที่แทรกสอด (สัญลักษณ์ของการรวมตัวเป็นหนึ่ง) แล้วมีการปรับโฟกัสให้เห็นพวกเขาหลับนอนอยู่บนเตียงสีน้ำเงิน

การต่อสู้ระหว่างปานเดือน vs. หิมะเหิน ถ่ายทำยังป่าในทะเลทราย Ejina Desert Poplar Forest อยู่ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ก็ตามชื่อป่าในทะเลทราย ใบไม้จึงมีสีเหลืองส้ม ดูราวกับฤดูใบไม้ร่วง สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจทั้งสองสาว ต่างตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ฝั่งหนึ่งเพราะกระทำการเข่นฆ่าชายคนรัก อีกฝั่งฝ่ายต้องล้างแค้นให้อาจารย์ (หรือเรียกว่าชายคนรักก็คงได้เช่นกัน)

แซว: เพราะฉากนี้มีการใช้ไม้ใบจำนวนมาก แต่ทางอุทยานไม่อนุญาตให้เด็ดจากต้น ผู้กำกับจางอี้โหมวเลยว่าจ้างคนท้องถิ่นให้เก็บใบไม้ จัดแยกเฉดสี เพื่อใช้ประกอบฉากต่างๆกัน

แต่ไฮไลท์ของ Sequence นี้คือภาพเคลื่อนไหวที่ผมนำมา Visual Effect วินาทีการเสียชีวิตของปานเดือน ทำให้ใบไม้จากสีเหลืองแปรสภาพเป็นเลือดแดงฉาน เพราะคำพูดทิ้งท้ายจี้แทงใจดำ ทำให้หิมะเหินตระหนักว่ากระบี่หักยังคงลุ่มรักตนเองไม่เสื่อมคลาย แล้วที่ฉันเข่นฆ่าชายคนรักไปเพื่ออะไร??

เปลวไฟแห่งอารมณ์ นี่น่าจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเลยนะ เพราะสามารถตรวจจับความตั้งใจของไร้นาม (สร้างขึ้นด้วย CGI อย่างแน่นอนนะครับ) ทำให้ฉินอ๋องสามารถอ่านความต้องการที่ซุกซ่อนเร้นไว้ … ต้องชมเลยว่า คิดได้ไง!

  • เมื่ออารมณ์ผันแปรเปลี่ยน มีบางสิ่งเคลือบในใจแอบแฝง เปลวเทียนจะพริ้วไหวไปในทิศทางเดียวกัน
  • ถ้าเกิดความโล้เล้ลังเล (ช่วงของการตัดสินใจ) จะมีลักษณะพริ้วไหวไปมา สะเปะสะปะไร้ทิศทาง
  • แต่ถ้าเมื่อไหร่ค้นพบความแน่วแน่ มุ่งมั่น ตั้งใจจริง ก็จะสงบหยุดนิ่ง ไม่สั่นไหวติง

การต่อสู้ระหว่างกระบี่หัก vs. ไร้นาม ถ่ายทำยังทะเลสาบในอุทยานแห่งชาติจิ่วจ้ายโกว (九寨沟, Jiuzhaigou) ทางตอนเหนือมณฑลเสฉวน ใช้เวลาทั้งหมด 3 สัปดาห์! ด้วยความต้องการให้พื้นผิวน้ำสงบแน่นิ่งดูเหมือนภาพสะท้อนกระจกเงา แต่สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ทะเลสาบปิด จึงมีกระแสน้ำเคลื่อนไหลยกเว้นเพียง 2 ชั่วโมง (ระหว่าง 10 โมงเช้าถึงเที่ยง) ที่ไม่รู้เกิดปรากฎการณ์อะไรถึงทำให้พื้นผิวน้ำสงบแน่นิ่งไม่ไหวติง

ทีมงานต้องตื่นเช้าตั้งแต่ตีห้ามาตระเตรียมตัว 5 ชั่วโมง เพื่อถ่ายทำอย่างเร่งรีบเพียง 2 ชั่วโมงในแต่ละวัน ครั้งหนึ่งทำให้เฮียเหลียงได้รับบาดเจ็บเส้นเอ็น รักษาตัวหนึ่งวันไม่รู้หายดีหรือยัง แต่ตัดสินใจกลับมาถ่ายทำต่อทันที

เชื่อว่าหลายคนอาจถกเถียงกันว่าระหว่างการต่อสู้ท่ามกลางใบไม้ในป่าทะเลทราย vs. บนพื้นผิวน้ำ ฉากไหนงดงามกว่ากัน? ผมเองก็ตอบไม่ได้ (เพราะส่วนตัวชอบฉากดีดพิณ ต่อสู้กันในจินตนาการมากสุด) แต่อยากให้ลองสังเกตความแตกต่างที่มีลักษณะตรงกันข้ามเลยนะ

  • ตั้งแต่โทนสีแดง(เหลือง) vs. น้ำเงิน
  • ด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด โกรธเกลียด เคียดแค้น vs. ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครอยู่ในอารมณ์อยากประลอง
  • เต็มไปด้วย Visual Effect สายลมพริ้วไหว vs. ต่อสู้ท่ามกลางผืนน้ำหยุดนิ่ง แทบไม่มีอะไรเคลื่อนไหวติง
  • ผลลัพท์คือคือความตาย ทำให้อีกฝั่งฝ่ายคลุ้มบ้าคลั่ง vs. ต่างฝ่ายต่างไว้ชีวิตกันและกัน จากไปด้วยความเคารพยำเกรง

เพียงน้ำหนึ่งหยดกระทบบนใบหน้าหิมะเหิน ก็ทำให้กระบี่หักหยุดการต่อสู้แล้วรีบตรงไปหาเธอ ไร้นามเมื่อตระหนักสิ่งบังเกิดขึ้นพยายามเบี่ยงดาบจนเสียจังหวะ มือกระแทกพื้นผิวน้ำสาดกระเซ็นเปียกปอนเต็มใบหน้า (น้ำหลายหยด) นี่เป็นแฝงนัยยะถึงการมองเห็นความสำคัญของ

  • กระบี่หัก ขณะนี้ให้ความสนใจหิมะเหินเพียงหนึ่งเดียว ไม่ต้องการอะไรอื่นไปมากกว่านี้
  • ไร้นาม เกิดความตระหนักถึงภารกิจ เป้าหมายเพื่อผู้คน สาธารณะชน ใต้หล้าบังเกิดความสันติสุข

อาวุธ(และชื่อ)ของตัวละครก็แฝงนัยยะความหมายบางสิ่งอย่าง

  • ไร้นาม ใช้กระบี่มีช่องว่างตรงกลาง นอกจากเพื่อสร้างสมดุลในการทิ่มแทง หรือสอดใส่อาวุธศัตรูเพื่อทำให้เสียจังหวะ ยังสามารถสื่อถึงจิตวิญญาณที่สูญหายไป ในชีวิตสนเพียงการเข่นฆ่าล้างแค้นฉินอ๋อง ไม่เคยเบี่ยงเบนเป็นอย่างอื่นจนกระทั่งได้รับคำชี้นำจากกระบี่หัก และเผชิญหน้ากับเป้าหมาย
  • กระบี่ของฉินอ๋องแม้รูปทรงธรรมดาทั่วไป (ไม่ได้เหมาะกับจักรพรรดิเลยนะ) แต่เพราะทรงโยนมันให้ไร้นาม เติมเต็มช่องว่างตรงกลาง/จิตวิญญาณที่สูญหาย ให้เขาเป็นคนครุ่นคิดตัดสินใจ จะลงมือสังหารหรือไว้ชีวิต?
  • กระบี่หัก ก็ตรงตามชื่อใช้กระบี่สีดำที่ปลายหัก สามารถสื่อถึงการสูญเสียเป้าหมาย อดีตเคยตั้งใจต้องการเข่นฆ่าฉินอ๋อง แต่สุดท้ายกลับไว้ชีวิต, แต่ผมครุ่นคิดว่ายังสามารถตีความถึงการค้นพบ(เป้าหมาย)สัจธรรมแห่งชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงสามารถใช้อะไรก็ได้เป็นอาวุธ (กระบี่อยู่ที่ใจ) และเมื่อ(ปลาย)กระบี่สูญหาย ก็จักพบเจอความสงบสุขภายใน
  • หิมะเหิน ใช้กระบี่หยกสีขาว (สีของหิมะ) สะท้อนเข้ากับบุคลิกตัวละครจริงๆที่มีความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา มั่นคงในความรัก แม้หมกมุ่นในเรื่องความแค้นก็ยังงดงามบริสุทธิ์
  • ฟ้าเวิ้ง ใช้หอก(หรือทวนก็ไม่รู้นะ) สำหรับฟาดฟันไปยังจุดตาย แต่การสูญเสียสายตา ทัศนวิสัย จึงทำให้เวิ้งว้าง มองไม่เห็นเป้าหมายทิ่มแทง
  • ปานเดือน อาวุธดาบคู่มีอยู่สองอัน ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเธอเองกับกระบี่หัก ลูกศิษย์-อาจารย์ หรือในบางครั้งชู้รัก โดยมีหิมะเหินคือคู่ปรับหัวใจ

ผืนผ้าใบสีเขียว คือสิ่งบดบังทัศนียภาพในห้องโถงแห่งนี้ ซึ่งเมื่อถูกคมดาบเชือดเฉือน ทำให้ค่อยๆเคลื่อนตกหล่น เปิดเผยความรโหฐาน ยิ่งใหญ่อลังการที่แท้จริง หรือคือการค้นพบสัจธรรมของกระบี่หัก ตระหนักถึงแผนการของฉินอ๋อง ไม่ได้สักแต่จะเข่นฆ่าผู้คนบริสุทธิ์ จนกว่าทุกแว่นแคว้นรวบรวมกลายเป็นหนึ่งปึกแผ่น ประชาชนถึงค้นพบความสงบสุข ลูกหลานมีอนาคตอย่างแท้จริง

สำหรับนักออกแบบเครื่องแต่งกาย ในตอนแรกจางอี้โหมวอยากได้ William Chang Suk-ping ขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว แต่ติดพันภาพยนตร์ 2046 (2004) โปรดิวเซอร์เลยแนะนำ Emi Wada (1937-2021) แฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของผลงานอมตะ Ran (1985) และเคยออกแบบเสื้อผ้าให้หนังจีนย้อนยุคอยู่หลายเรื่อง! ความท้าทายคือการย้อมสีผ้า เพราะแดงไม่ใช่แค่แดง น้ำเงินไม่ใช่แค่น้ำเงิน เขียวไม่ใช่แค่เขียว (ขาว&ดำน่าจะง่ายสุดนะ) ทุกเฉดสีต้องมีการทดลองผิดลองถูก เทียบกับสีของสถานที่ถ่ายทำ ปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้งจนกว่าจะออกมาสวยสดงดงามขนาดนี้

劍, Sword หนึ่งในตัวอักษรจีนที่มีความสลับซับซ้อน สามารถเขียนได้หลากหลายวิธีการ ซึ่งหนังใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความแตกต่างทางภาษา ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้คนตามแว่นแคว้นต่างๆ ซึ่งหลังจากฉินอ๋องรวบรวมประเทศให้กลายเป็นปึกแผ่น ตั้งใจที่จะสร้างมาตรฐานจีนกลาง (แมนดาริน) รวมถึงวัฒนธรรมประจำชาติ เพื่อให้ชนชาวจีนทั้งหมดสามารถดำเนินชีวิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน!

ความเข้าใจในความหมายตัวอักษรดาบของฉินอ๋อง ประกอบด้วย

  1. มนุษย์ ตัวอักษร เพลงกระบี่ หรือแม้แต่ใบหญ้า ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน
  2. คมกระบี่ไม่ได้อยู่ในมือ (ขณะนั้นก็ไม่ได้อยู่ในคมฝักของฉินอ๋องแล้วนะครับ โยนมันให้กับไร้นาม) แต่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจผู้ใช้ ต่อให้ไม่มีอาวุธก็สามารถเข่นฆ่าคนตาย
  3. และเมื่อกระบี่สูญหายไปจากจิตวิญญาณ ความต้องการทุกสรรพสิ่งอย่างก็จักหมดสูญสิ้น หลงเหลือเพียงสงบสันติสุขบังเกิดขึ้นภายใน (นั่นคือสภาวะที่ฉินอ๋องเข้าถึงเมื่อส่งมอบกระบี่ให้ไร้นามเป็นคนครุ่นคิดตัดสินใจ จะลอบสังหารหรือไว้ชีวิต?)

I have just come to a realization! This scroll by Broken Sword contains no secrets of his swordsmanship. What this reveals is his highest ideal.

In the first state, man and sword become one and each other. Here, even a blade of grass can be used as a lethal weapon.

In the next stage, the sword resides not in the hand but in the heart. Even without a weapon, the warrior can slay his enemy from a hundred paces.

But the ultimate ideal is when the sword disappears altogether. The warrior embraces all around him. The desire to kill no longer exists. Only peace remains.

ฉืนอ๋องตรัสถึงความเข้าในใจความหมายของ 劍

แม้คำอธิบายจะกล่าวถึงตัวอักษรและเพลงกระบี่ แต่เราก็สามารถเปรียบเทียบแทนถึงการสงคราม (ตามข้อ 1 ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน) ฉินอ๋องไม่จำเป็นต้องลงมือ เพียงออกคำสั่งก็สามารถเอาชนะศัตรู (ตามข้อ 2 คมกระบี่ไม่ได้อยู่ที่มือ) และเมื่อรัฐฉินครอบครองทุกแว่นแคว้น สันติภาพก็จักบังเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ (ตามข้อ 3 ณ จุดสูงสุดจักพบเจอความสงบสุข)

โชคชะตากรรมของกระบี่หักและหิมะเหิน สะท้อนอุดมการณ์ที่แตกต่างขั้วตรงกันข้าม

  • กระบี่หัก เพราะเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ตระหนักว่าการกระทำเพื่อผู้อื่นสำคัญกว่าตนเอง เขาจึงยินยอมเสียสละชีพให้หญิงหิมะเหินทิ่มแทง เพื่อเธอจักได้ยุติความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียดแค้น
  • หิมะเหิน เป็นคนหมกมุ่นยึดติดในความเคียดแค้นส่วนตัว และมั่นคงในรักต่อกระบี่หัก เมื่อตระหนักว่าเขาปล่อยให้ตนเองถูกทิ่มแทงจนเสียชีวิต คร่ำครวญรำพัน ทำไมถึงไม่ป้องกันตนเอง (เรียกว่าไม่ได้สนอะไรอื่นนอกจากตนเอง) ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจเข่นฆ่าตัวตายตาม

พื้นหลังของฉากนี้สังเกตว่าเต็มไปด้วยภูเขาทราย มีลักษณะคล้ายกำแพงในสภาพปรักหักพัก สามารถสะท้อนถึงสภาพจิตใจของทั้งคู่ ที่ไม่หลงเหลือเหตุผลในการดำรงชีวิตอยู่ต่อบนโลกใบนี้

การตัดสินใจของไร้นามทำให้เขาไม่สามารถหลบหนีออกจากพระราชวัง ยินยอมรับโทษทัณฑ์ด้วยการเดินตรงไปยังประตูทางออก ยิ้มกริ่มอย่างภาคภูมิ พึงพอใจ หันมาเผชิญหน้าโดยไม่หลบหลีกหนี/ป้องกันตัว ขณะที่ฉินอ๋องถูกข้าราชบริพารบีบบังคับให้ต้องออกคำสั่ง ลูกธนูนับพันหมื่นแสนพุ่งตรงเข้าหา หลงเหลือเพียงร่องรอยช่องว่าง ยืนเสียชีวิตอย่างสง่าผ่าเผย การเสียสละดังกล่าวได้กลายรากฐานแห่งอนาคตให้คนรุ่นหลัง (ที่อยู่ด้านหลัง)

ลูกธนูแต่ละดอก สามารถตีความเชิงสัญลักษณ์ถึงความเจ็บปวดทิ่มแทง ประชาชนผู้เสียสละ (ธนูหนึ่งดอกสามารถเข่นคร่าหนึ่งชีวิตมนุษย์) การยืนบดบังลูกธนู ก็เพื่ออนาคตลูกหลาน คนรุ่นหลัง จักมีพื้นที่ว่างปลอดภัย และพบเจอความสงบสันติสุขต่อไป

จะว่าไปศัตรูครั้งนี้มีเพียงไร้นาม ลูกธนูจึงเรียงรายอย่างสวยงาม ผิดกับตอนต้นเรื่องที่กองทัพฉินกราดยิงใส่รัฐจ้าว จึงมีความสะเปะปะไร้เป้าหมาย, นี่สามารถสื่อนัยยะถึงของการมีผู้นำสูงสุด องค์จักรพรรดิ ย่อมสร้างความสมัครสมานฉันท์ บังเกิดทิศทางเป้าหมายอันหนึ่งเดียวกัน!

ก่อนจะขึ้นข้อความตอนจบ ช็อตสุดท้ายของหนังนำเสนอภาพฉินอ๋องยืนอยู่ตรงบัลลังก์ในห้องโถงรับรองเพียงผู้เดียว นั่นไม่ดูเหมือนความสงบสันติสุขสักเท่าไหร่ แต่เป็นความเวิ้งว้างว่างเปล่า เปล่าเปลี่ยวเดียวใจ เพราะได้สูญเสียบุคคลที่เข้าใจพระองค์เองมากที่สุด ลึกๆคงอยากไว้ชีวิตด้วยซ้ำ แต่ก็มิอาจต่อต้านทานกระแสข้าราชบริพาร เลยหลงเหลือเพียงความขื่นข่ม และอนาคตต้องแบกรับผิดชอบภาระหน้าที่ เพื่อการเสียสละของวีรบุรุษนี้จักไม่ถูกหลงลืม สูญเสียเปล่า

ใครกันคือวีรบุรุษ? แม้ในกองถ่ายหนังเอง ตากล้อง Christopher Doyle เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า มีการโต้ถกเถียงจะให้ชื่อหนัง Hero หรือ Heroes เพราะมีมากกว่าหนึ่งตัวละครที่สามารถเรียกว่าวีรบุรุษ ฉินฮ่อง, ไร้นาม, กระบี่หัก, หิมะเหิน หรือแม้แต่ฟ้าเวิ้งก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะต่างคนต่างมีแนวคิด และการกระทำที่สมควรค่าวีรบุรุษ (Heroic)

  • ฉินอ๋อง คือว่าที่จักรพรรดิผู้มีอุดมการณ์รวมผืนแผ่นดินจีนให้กลายเป็นปึกแผ่น
  • ไร้นาม ตัดสินใจไว้ชีวิตฉินอ๋อง เพราะเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออนาคตประเทศชาติที่ยิ่งใหญ่ (ด้วยการเสียสละตนเองรับลูกธนูนับพันหมื่นแสน)
  • เช่นเดียวกับ กระบี่หัก หิมะเหิน และฟ้าเวิ้ง ต่างถือเป็นวีรบุรุษที่ยินยอมเสียสละตนเอง เพื่อมอบโอกาสให้ไร้นามได้เผชิญหน้าตัดสินโชคชะตาของฉินอ๋อง

เช่นนั้นแล้วทำไปหนังใช้ชื่อ Hero ไม่ใช่ Heroes นั่นเพราะความเป็นวีรบุรุษสามารถปรากฎอยู่ในทุกบุคคล ไม่จำเป็นต้อง 4-5 ตัวละครของหนัง แค่เพียงเรากระทำบางสิ่งอย่างเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ แม้เล็กๆน้อยๆอย่างช่วยเหลือชายตาบอดข้ามถนน ก็ถือเป็น ‘ฮีโร่’ ได้เหมือนกัน! (ไม่ต้องมีพลังเหนือธรรมชาติแบบ Superhero ก็สามารถเป็นยอดมนุษย์ได้)

คำที่กระบี่หักเขียนลงบนพื้นทรายให้กับไร้นามคือ 天下 อ่านว่า Tianxia (เทียนเซี่ย) แปลตรงตัวคือ (all) under heaven, ภายใต้สวรรค์ แต่ฉบับที่นำออกฉายสหรัฐอเมริกานั้น เพราะเพิ่งพานผ่านเหตุการณ์ 9/11 มาไม่นาน ผู้กำกับจางอี้โหมวเลยเปลี่ยนเป็น Our Land, แผ่นดินของเรา ซึ่งฟังดูไม่ชวนเชื่อจนเกินไป แต่ยังบังเกิดความรักชาตินิยมขึ้นมา

If you ask me if ‘Our land’ is a good translation, I can’t tell you. All translations are handicapped. Every word has different meanings in different cultures.

ผู้กำกับจางอี้โหมว กล่าวถึงการเปลี่ยนความหมายของ 天下

สำหรับภาษาไทยมีการให้คำแปลว่า ‘ใต้หล้า’ ซึ่งผมรู้สึกว่าไพเราะงดงาม ความหมายลุ่มลึก ตราตรึงฝังใจอย่างที่สุด โดยไม่รู้ตัวก่อให้เกิดพลังขึ้นภายใน รักผืนแผ่นดิน รักประเทศชาติ อยากเสียสละทำบางสิ่งอย่างเพื่อผู้อื่น ก่อบังเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นมา

การตัดต่อมีสองเครดิต คาดคิดว่า Zhai Ru คงดูแลในส่วนโครงสร้าง ทิศทางดำเนินเรื่อง ขณะที่ Angie Lam นำประสบการณ์จากหนัง Wuxia มาใช้ตัดต่อฉากต่อสู้ คิวบู๊ ให้มีความตื่นเต้นรุกเร้าใจ

  • Zhai Ru (1963-2006) นักตัดต่อชาวจีน เจ้าของฉายา ‘Golden Scissors’ โด่งดังจากการร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมว อาทิ Not One Less (1999), The Road Home (1999), Hero (2002) ฯ
  • Angie Lam (เกิดปี 1965) นักตัดต่อจากฮ่องกง เลื่องชื่อในการผลงานต่อสู้ กำลังภายใน อาทิ แฟนไชร์ Once Upon a Time in China, Iron Monkey (1993), Tai Chi Master (1993), Kung Fu Hustle (2004), Red Cliff (2008-09) ฯลฯ

ใครเคยรับชม Rashômon (1950) น่าจะมักคุ้นเคยกับวิธีดำเนินเรื่องผ่าน ‘มุมมอง’ ที่ผันแปรเปลี่ยนไป เหตุการณ์เดียวกันกลับไม่มีใครครุ่นคิดเห็นเหมือนกัน! สำหรับ Hero (2002) จะใช้การนำเสนอผ่าน เรื่องเล่าโกหก, ความคิดเห็นอีกฝั่งฝ่าย และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

  • อารัมบท, ไร้นามเดินทางมาขอเข้าเฝ้าฉินอ๋อง เพื่อกราบทูลรายงาน เล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
  • เรื่องเล่าพกลมของไร้นาม
    • การต่อสู้ระหว่างไร้นาม vs. ฟ้าเวิ้ง
    • ไร้นามเดินทางมาถึงรัฐจ้าว ขอให้กระบี่หักเขียนตัวอักษรดาบ (劍)
    • แสนยานุภาพของพลธนูในกองทัพรัฐฉิน
    • ความอิจฉาริษยาระหว่างกระบี่หักกับหิมะเหิน นำพาสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม
    • การล้างแค้นของปานเดือน vs. หิมะเหิน ท่ามกลางใบไม้ร่วงหล่น
  • ความครุ่นคิดเห็นของฉินอ๋อง
    • กระบี่หัก vs. หิมะเหิน เพื่อหาว่าใครจะเป็นผู้เสียสละต่อสู้กับไร้นาม
    • การต่อสู้ระหว่างไร้นาม vs. หิมะเหิน ท่ามกลางวงล้อมกองทัพรัฐฉิน
    • ความตายของหิมะเหิน ทำให้ไร้นาม vs. กระบี่หัก ยังพื้นผิวทะเลสาปที่สะท้อนภาพการต่อสู้ระหว่างพวกเขา
  • ข้อเท็จจริงจากไร้นาม
    • กระบี่หักต้องการขัดขวางแผนการของไร้นาม แต่ถูกขัดขวางโดยหิมะเหิน
    • หลังการต่อสู้กับหิมะเหิน ไร้นามได้มีโอกาสสนทนากับกระบี่หัก รับฟังเรื่องเล่าย้อนอดีต
      • (Flashback) เมื่อครั้งกระบี่หักครองรักกับหิมะเหิน ร่วมกันบุกฝ่าเข้าไปยังพระราชวัง เผชิญหน้าต่อสู้กับฉินอ๋อง แล้วเกิดการรู้แจ้งบางอย่างทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจ
  • การตัดสินใจของไร้นาม
    • หลังจากฉินอ๋องรับฟังเรื่องเล่าดังกล่าว ก็บังเกิดความซาบซึ้งต่อศัตรู โยนดาบให้ไร้นามครุ่นคิดตัดสินใจว่าทำการเช่นไร ส่วนตัวเองหันหลังจับจ้องมองตัวอักษรดาบ จนบังเกิดความรู้แจ้งในสัจธรรม
    • การเสียสละของไร้นามหลังตระหนักว่าความเคียดแค้นส่วนตัว มิอาจเทียบเท่าผลประโยชน์ของผืนแผ่นดิน และอนาคตรุ่นลูกๆหลานๆ
    • เมื่อหิมะเหินรับทราบข่าว ควบขี่ม้าต้องการไปเผชิญหน้าฉินอ๋อง แต่ถูกขัดขวางโดยกระบี่หัก ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อให้เธอบังเกิดสติ หยุดยับยั้งแผนการดังกล่าว

สำหรับไฮไลท์การตัดต่อ หลายคนอาจมองที่ฉากต่อสู้ ร้อยเรียงคิวบู๊ได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล แต่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดๆกลับคือการจ้องหน้าสบตา ตัดสลับไปมาระหว่างฉินอ๋องกับไร้นาม เพราะสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน อึดอัดอั้น โดยเฉพาะช่วงไคลน์แม็กซ์การตัดสินใจฆ่า-ไม่ฆ่า ซึ่งยังแทรกภาพกองทัพฉินกำลังตรงรี่มายังห้องโถง (พร้อมการลุ้นระทึกของกระบี่หัก และหิมะเหิน) ผู้ชมย่อมต้องมิอาจอดใจรอผลลัพท์สุดท้ายเช่นเดียวกัน

ผมจดจำได้ว่าตอนแรกรับชม Rashômon (1950) ดูยังไงก็ดูไม่รู้เรื่อง มันชวนหงุดหงิด สับสนมึนงง แต่ไม่ใช่กับ Hero (2002) ที่แม้ยังคงสร้างความสับสนอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยสามารถแยกแยะความแตกต่างจากโทนสีสัน มีความเด่นชัดเจนถ้าไม่ตาบอดสี! (จริงๆแต่ละองก์ของ Rashômon (1950) ก็มีความแตกต่างที่ชัดเจนนะครับ แต่ผู้ชมทั่วไปอาจไม่ทันสังเกตเพราะภาพขาว-ดำ ผิดกับ Hero (2002) พอเห็นภาพสีอะไรๆก็แจ่มชัดขึ้นทันตา)

เหตุผลที่หนังแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสามส่วน 1)เรื่องเล่าโกหก 2)ความคิดเห็นอีกฝั่งฝ่าย 3)ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดสติ รู้จักขบครุ่นคิด ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะมีสิ่งต่างๆมากมายในโลกนี้ที่ลวงหลอก ปอกลอก เหมือนนโยบายสร้างภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายนอกทำให้ประชาชนเห็นว่าดูดียิ่งใหญ่ แต่ข้างในเละเทะเน่าเฟ่ะ เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นมากมาย … เปรียบเทียบกับภาพยนตร์ดีกว่านะครับ 1)สิ่งที่เราพบเห็นด้วยตาคือ ‘หน้าหนัง’ 2)แต่ละคนย่อมมีความครุ่นคิดเข้าใจที่แตกต่างกัน 3)ส่วนความตั้งใจแท้จริงของผู้สร้างนั้น อาจผิดแผกแตกต่างจากที่เราสามารถวิเคราะห์ได้

หนังฉบับ Director’s Cut จะมีเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ก็ไม่ได้สลักสำคัญมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นฉากต่อสู้ คิวบู๊ที่เยิ่นเย้อยืดยาวเกินไป โดยเฉพาะ ปานเดือน vs. หิมะเหิน (องก์แรก) และขณะไร้นาม vs. หิมะเหิน (องก์สอง) … คือผมรู้สึกว่าต้นฉบับมีความพอดิบพอดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมอะไรเข้าไปอีก แต่ผู้กำกับจางอี้โหมวคงเสียดายที่ถ่ายทำไว้มากมายกระมัง


เพลงประกอบโดย ถันตุ้น, Tan Dun (เกิดปี 1957) คีตกวี นักแต่งเพลงชาวจีน เกิดที่ชานเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ในครอบครัวชาวนา ใช้เวลาว่างหัดเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ต่อมาได้หลบหนีเข้าเมืองร่ำเรียนวิโอล่ากับวงดนตรีคณะอุปรากรปักกิ่ง จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อ Central Conservatory of Music และได้ทุนปริญญาเอก Columbia University, เริ่มมีผลงานจากการประพันธ์อุปรากรจีน Symphony, Concerto, Chamber Music, Soundtrack ประกอบภาพยนตร์ อาทิ Don’t Cry, Nanking (1995), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Hero (2002), The Banquet (2006) ฯลฯ

การเลือกถันตุ้น ค่อนข้างชัดเจนจากความประทับใจผลงาน Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ต้องการ(เลียนแบบ)บทเพลงที่มีความร่วมสมัย ส่วนผสมระหว่างดนตรีสากล & เครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน (Western & Eastern) และไฮไลท์คือนักดนตรีชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยเปลี่ยนจากนักเชลโล่ Yo-Yo Ma มาเป็นนักไวโอลิน Itzhak Perlman … ถือเป็นตัวเลือกที่ทัดเทียมจริงๆนะครับ คอเพลงคลาสสิกย่อมต้องรับรู้จักอย่างดี!

เกร็ด: Itzhak Perlman (เกิดปี 1945) นักไวโอลินสัญชาติ Israeli เกิดที่ Tel Avivi เชื้อสาย Jewish ครอบครัวเป็นชาว Polish, เมื่อตอนสี่ขวบล้มป่วยโปลิโอ ทำให้ขาเล็กลีบ ต้องใช้ไม้เท้าในการเดิน เลยฝึกฝนไวโอลินด้วยการนั่งเก้าอี้ เมื่อโตพอสามารถเข้าเรียน Shulamit Conservatory ติดตามด้วย Academy of Music (ปัจจุบันคือ Buchmann-Mehta School of Music) ขึ้นเวทีการแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ขวบ และพออายุ 13 เดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าศึกษา Juilliard School, ผลงานนอกจากออกอัลบัม แสดงคอนเสิร์ต ยังร่วมงานภาพยนตร์ อาทิ Schindler’s List (1993), Fantasia 2000 (1999), Hero (2002), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

ขณะที่บทเพลงของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) นำเสนออารมณ์ความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากสภาวะทางจิตใจตัวละคร, Hero (2002) มุ่งเน้นสร้างความยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อสื่อว่าการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มีความสูงส่งทรงคุณค่ากว่าสิ่งอื่นใด

ใครเคยรับชม/รับฟังการแสดงของ Perlman จะตระหนักถึงลีลาที่มีความลื่นไหล พริ้วไหว สามารถบทเพลงเล่นโคตรๆยาก ทำให้ดูเหมือนเด็กเล่นง่ายๆ บรรยากาศสบายๆ (อาจเพราะการต้องนั่งเล่นไวโอลิน ทำให้เขาครุ่นคิดพัฒนาเทคนิค ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ … นี่คือระดับอัจฉริยะเลยนะครับ!)

For The World เสียงไวโอลินของ Perlman มีความพริ้วไหวประดุจสายน้ำ ล่องลอยตั้งแต่เสียงทุ่มต่ำ ค่อยๆไล่ระดับไปจนแหลมสูง พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ คลอประสานเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ เมื่อจบรอบหนึ่งก็ขึ้นรอบสอง เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุด

ประสานเสียงคอรัส จัดเต็มวงออร์เคสตรา (โดยเฉพาะเสียงเครื่องเป่า) มอบความยิ่งใหญ่อลังการให้กับ At Emperor’s Palace ไม่มีสถานที่แห่งหนใดในโลกจะสามารถเปรียบเทียบเคียง ทั้งภาพและเสียง สร้างความขนลุกขนพอง ชักชวนให้ผู้ชมตกตะลึง อ้างปากค้าง

แต่ ณ ตำแหน่งสูงสุด ในห้องโถงของพระราชา กลับเต็มไปด้วยพื้นที่ว่างเปล่า คนธรรมดาสามัญย่อมไม่สามารถเข้าประชิดใกล้ เพียงเสียงโหยหวน และระฆังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ นี่นะหรือสถานที่อยู่อาศัยที่ใครๆต่างขวนขวายไขว่คว้า ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ใต้หล้า

บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดไม่ใช่ Main Theme แต่คือ In The Chess Court บรรเลงโดยกู่ฉิน (พิณจีน) คลอประกอบไวโอลิน ในฉากประลองยุทธระหว่างไร้นาม vs. ฟ้าเวิ้ง ซึ่งจะมีการตัดต่อทุกสรรพสิ่งอย่างให้สอดคล้องเข้ากับจังหวะ & ท่วงทำนอง และเมื่อเสียงรัวกลองไทโกะดังขึ้นก็จักยิ่งสร้างความเร่งเร้า ฟาดฟันในจินตนาการ กระทั่งเมื่อสายพิณขาด ทั้งสองก็ลืมตาขึ้นเมื่อพิฆาตอีกฝั่งฝ่าย

เกร็ด: คนไม่มักคุ้นเครื่องดนตรีจีน อาจสับสนระหว่างกู่ฉินกับกู่เจิง ความแตกต่างที่เห็นชัดสุดคือปริมาณและขนาด กู้ฉินมีขนาดเล็กกว่า 7 สาย ความยาว 120 เซนติเมตร, กู่เจิงใหญ่กว่าพอสมควร 21 สาย 160 เซนติเมตร

เกร็ด2: ส่วนกลองไทโกะ (Taiko Drum) คือเครื่องกระทบของญี่ปุ่น ซึ่งว่ากันว่าอาจมีต้นกำเนิดจากกลองโบราณ Jiegu เคยได้รับความนิยมทางตอนใต้ของจีน ยุคสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)

การต่อสู้ในแต่ละฉากจะมีท่วงทำนองเพลงที่ต่างออกไป ขึ้นอยู่กับสถานที่และเหตุผลของการต่อสู้นั้นๆ Above Water เป็นการประลองระหว่างกระบี่หัก vs. ไร้นาม บนพื้นผิวท้องทะเลสาบ มอบสัมผัสแห่งความเวิ้งว้างว่างเปล่า สภาพจิตใจของทั้งสองต่างไม่ได้อยากสู้รบปรบมือกันสักเท่าไหร่ ฝั่งหนึ่งเต็มไปด้วยความโหยหวน ระทมทุกข์ทรมาน อีกฝั่งฝ่ายก็รู้สึกสงสารเห็นใจ ทำไปเพราะคำสัญญาเคยให้ไว้เท่านั้น

และสำหรับ Theme Song ของหนังชื่อบทเพลง Hero แต่งโดย Zhang Yadong กับ Lin Xi, ขับร้องโดยเฟย์หว่อง จะได้ยินใน Ending Credit เฉพาะฉบับประเทศจีน/เอเชีย เท่านั้นนะครับ (เหมือนจะติดลิขสิทธิ์บางอย่าง เลยถูกนำออกจากฉบับฉายยุโรปและสหรัฐอเมริกา)

ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของผู้กำกับจางอี้โหมวเช่นกัน ที่มีการทำเพลง Theme Song แรงบันดาลใจก็จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) เห็นอะไรดีก็ลอกเลียนแบบตามหมด!

มีความสัมพันธ์หลายๆอย่างระหว่างปฐมจักรพรรดิจีน ฉินฉื่อหฺวังตี้, 秦始皇帝 (260-210 ก่อนคริสตกาล) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้ (สถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อ 220-210 ก่อนคริสตกาล) กับท่านประธานเหมาเจ๋อตุง, 毛泽东 (1893-1976) แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

  • ฉินอ๋อง ทำสงครามรบพุ่งกับ 7 แว่นแคว้นเพื่อรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น
    • หลังจากเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โค่นล้มราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1912 ภายในประเทศจีนมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อีกทั้งการรุกรานจากญี่ปุ่น ทำให้เกิดสงครามภายนอก-ใน จนที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถรวบรวมประเทศให้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1949
  • เมื่อฉินอ๋องรวบรวมประเทศสำเร็จ สั่งให้มีการจัดระเบียบประเพณี เผาตำราฝังบัณฑิต ครุ่นคิดภาษาจีนกลางใช้กันทั่วประเทศ
    • ประธานเหมาเจ๋อตุงออกนโยบายการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ทุบทำลายอดีตเพื่อสร้างอนาคตใหม่ เผาตำรา ส่งปัญญาชนไปใช้แรงงานหนัก … แต่ผลลัพท์กลับแตกต่างตรงกันข้าม
  • และทั้งจิ๋นซีฮ่องเต้และพรรคคอมมิวนิสต์ ต่างเลื่องลือชาในความเผด็จการ ใช้ความรุนแรงกับผู้ต่อต้าน กำจัดใครก็ตามที่ครุ่นคิดเห็นต่าง โดยไม่สนหลักมนุษยธรรม ศีลธรรม เข่นฆ่าประชาชนตกตายนับไม่ถ้วน

นี่คือประเด็นหลักๆที่จางอี้โหมวใช้เรื่องราวประวัติศาสตร์ มาเปรียบเทียบถึงประเทศจีนยุคสมัยปันั้น ซึ่งถ้าใครติดตามผลงานของผู้กำกับมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ก็น่าจะตระหนักถึงอคติ ต่อต้าน (Anti-Communist) เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด (Red Sorghum (1988), Ju Dou (1990)) แต่กาลเวลาก็ทำให้ความรุนแรงค่อยๆเบาบางลง (To Live (1994), The Road Home (1999)) มาจนถึง Hero (2002) ราวกับว่าเขาเพิ่งบรรลุสัจธรรมแห่งชีวิต ตระหนักถึงสิ่งสำคัญสูงสุดของมนุษย์ชาติ

Hero (2002) ไม่ว่าผมจะมองในแง่มุมไหนก็คือภาพยนตร์ ‘propaganda’ แต่มันเป็นมากกว่าแค่การชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ เพราะเป้าหมายขอจางอี้โหมว ต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของส่วนรวมมากว่าตัวบุคคล ต่อให้ต้องแลกมาซึ่งหายนะ สูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน แต่การเสียสละเพื่อผืนแผ่นดิน ประเทศชาติบ้านเกิด ย่อมยิ่งใหญ่กว่าความเห็นแก่ตนเอง

เอาจริงๆความเห็นแก่ตัวมันไม่ได้ผิดอะไรนะครับ เหมือนเหรียญสองด้านที่ฝั่งหนึ่งเชื่อว่าทำประโยชน์เพื่อสาธารณะยิ่งใหญ่ที่สุด ขณะที่อีกฝั่งฝ่าย(โดยเฉพาะชาติตะวันตก)จักตั้งคำถาม กระทำสิ่งตอบสนองตามความพึงพอใจมันผิดอะไร? ผมขอเปรียบเทียบในสิ่งที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ พระพุทธเจ้ามีอยู่สองประเภท

  • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศพระศาสนา
  • พระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ได้ประกาศพระศาสนา

มุมมองชาวพุทธส่วนใหญ่ย่อมยกย่องสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเสียสละ ประกาศพระศาสนา เผยแพร่หลักธรรมคำสอนให้กับมวลมนุษย์ แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าละ? ทั้งๆก็ทรงสามารถตรัสรู้หลุดพ้น บรรลุถึงนิพพานด้วยพระองค์เอง เพียงแค่ไม่ประกาศพระศาสนา ไม่มีใครรับรู้จัก ไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ นั่นแปลว่าพระองค์ทรงเห็นแก่ตัวงั้นหรือ?

ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่สิ่งผิดนะครับ เอาจริงๆเป็นสันชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อไหร่ที่เราสามารถเรียนรู้ที่จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม นั่นคือสิ่งที่จะช่วยยกระดับจิตใจ ให้บังเกิดเมตตาธรรม และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสงบสันติสุข


ด้วยทุนสร้าง $31 ล้านเหรียญ มากกว่า $20 ล้านเหรียญ สถิติเดิมของ The Emperor and the Assassin (1998) กลายเป็นหนังจีนใช้งบประมาณสูงสุด! เข้าฉายช่วงปลายปี 2002 เพียงสัปดาห์แรกทำเงินกว่า 100 ล้านหยวน เป็นเรื่องแรกที่ทำได้! รวมรายรับทั้งหมด 250 ล้านหยวน (=$30 ล้านเหรียญ) บางแหล่งข่าวบอกว่า สร้างสถิติภาพยนตร์ ‘สัญชาติจีน’ ทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้น! (แต่ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในจีนขณะนั้นคือ Titanic (1997) ที่ 360 ล้านหยวน) และถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้น Blockbuster เรื่องแรกของจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

ลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ตกเป็นของสตูดิโอ Miramax ที่เลื่องลือชาในการตัดแต่งฟีล์มจนเละเทะ แต่เพราะความคลั่งไคล้ของผู้กำกับ Quentin Tarantino พยายามโน้มน้าวผู้บริหารจนสามารถนำออกฉายเมื่อปี 2004 โดยไม่มีฉากใดๆสูญเสียหาย แถมใช้ซับไตเติ้ลบรรยายภาษาอังกฤษด้วยนะ! (ไม่มีการพากย์เสียงทับ) สัปดาห์แรกทำเงิน $18 ล้านเหรียญ สามารถไต่ขึ้นอันดับ 1 (เป็นภาพยนตร์ภาษาจีนเรื่องแรกที่ทำได้) รวมรายรับตลอดโปรแกรมฉาย $53 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับ 4 ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น!

ส่วนรายรับทั่วโลก $177.4 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศทำเงินสูงเป็นอันดับสามขณะนั้นรองจาก Life is Beautiful (1997) และ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) (ไม่นับ The Passion of the Christ (2004) เพราะเป็นหนังสัญชาติอเมริกัน)

นอกจากความสำเร็จด้านรายรับ ช่วงปลายปีหนังยังได้ลุ้นรางวัลมากมาย ประกอบด้วย

  • Oscar: Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Nowhere in Africa (2001)
  • Golden Globe Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Talk to Her (2002)

ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ มีแค่ Director’s Cut จัดจำหน่ายเมื่อปี 2010 จากความยาว 96 นาที เพิ่มมาเป็น 107 นาที แต่ผมแนะนำให้หารับชมต้นฉบับ (Original Cut) เพราะมีความกระชับลงตัว กลมกล่อมกว่า

ส่วนคนกำลังมองหาซื้อแผ่นหนัง DVD/Blu-Ray แนะนำให้ศึกษาเปรียบเทียบจากเว็บ dvdbeaver.com ล่วงหน้าก่อนเลยนะครับ เพราะภาพยนตร์เรื่องมีหลากหลายค่ายจัดจำหน่ายมากๆ ส่วนใหญ่มีการปรับคุณภาพ โดยเฉพาะสีสันได้บรมห่วยสุดๆ เลวร้ายยิ่งกว่า To Live (1994) เสียอีกนะ!

LINK: http://www.dvdbeaver.com/film/DVDCompare7/hero.htm

เมื่อตอนสมัยวัยรุ่น ผมเคยหลงใหลคลั่งไคล้ Hero (2002) เพราะความลุ่มลึกของคำว่า ‘ใต้หล้า’ รู้สึกว่าการได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มันช่างทรงคุณค่า ยิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด! แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เลือด’รักชาติ’ก็ค่อยๆเจือจางหาย เพราะยุคสมัยนี้คนชั่วแม้งเต็มบ้านเต็มเมือง มองไปทางไหนก็พบเห็นแต่ความคดโกง คอรัปชั่น ทำดีอะไรไปก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ยิ่งต่อสู้ดิ้นรนก็ยิ่งทนทุกข์ทรมาน

โลกปัจจุบันนี้ก้าวสู่ยุคสมัยที่ผู้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง จึงสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ พึงพอใจส่วนตนเป็นหลัก ความสมัครสมานฉันท์จึงลดน้อยลงไป ยิ่งได้ผู้นำแย่ๆ กลายเป็นต้นแบบอย่างความคอรัปชั่น หมกมุ่นในกามคุณ คนเก่งๆก็จักเริ่มสมองไหลออกนอกประเทศ แสงสว่างแห่งความหวังช่างเลือนลาง ผมเลยเลิกเชื่อในคำลมๆแล้งๆ แล้วแสวงหาความสุขสงบภายในจิตใจตนเองดีกว่า

แนะนำคอหนังต่อสู้ (Action) กำลังภายใน (Wuxia) อ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historical) อลังการงานสร้าง (Epic), นักปรัชญา นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม, ทหาร ตำรวจ องค์กรพิทักษ์สันติราษฎ์/ปกป้องชายแดนทั้งหลาย, โดยเฉพาะอย่างยิ่งตากล้อง ช่างภาพ นักออกแบบศิลป์ ทำงานเกี่ยวกับแสงสีสัน ฟินไปกับความจัดจ้านอย่างมีนัยยะสำคัญของ Christopher Doyle

แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว นักแสดงนำหลี่เหลียนเจี๋ย (เจ็ทลี), เหลียงเฉาเหว่ย, เจินจื่อตัน (ดอนนี่ เยน), จางม่านอวี้, จางจื่ออี๋, และเพลงประกอบโดยถันตุ้น ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับความฉูดฉาดทางอารมณ์ แผนการลอบสังหาร

คำโปรย | วีรบุรุษที่สมควรได้รับการสดุดีอย่างแท้จริงของ Hero (2002) ก็คือผู้กำกับจางอี้โหมว
คุณภาพ | วีบุรุ
ส่วนตัว | สดุดี


Hero (2002) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥♡

(18/11/2016) อีกหนึ่ง Masterpiece ของ Zhang Yimou, ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์พยายามลอบสังหารกษัตริย์แคว้นฉิน ของจิงเคอ (Jing Ke) ที่พอล้มเหลว กษัตริย์ผู้นี้สามารถรวมประเทศจีนให้กลายเป็นปึกแผ่น สถาปนาตนเป็นปฐมจักรพรรดิ สร้างกำแพงเมืองจีน และทรงพระนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมรู้จักชื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้ จากเมื่อตอนเด็กๆได้อ่านนวนิยายเรื่อง ‘เจาะเวลาหาจิ๋นซี’ แต่งโดยหวงอี้ แปลไทยโดย น.นพรัตน์ มีทั้งหมด 8 เล่ม พ่อผมจะรีบไปร้านดอกหญ้าทันที เมื่อได้ยินข่าวว่าออกเล่มใหม่ ตอนนั้นอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกสนุก น่าติดตาม มีการเล่นถ้อยเล่นคำ ได้สำบัดสำนวนอย่างมาก, นี่มันก็เกือบ 20 ปีแล้วนะครับ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537) ถ้าคุณเป็นคอนวนิยายจีนแล้วยังไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ น่าจะถือว่าเสียชาติเกิดแล้วละ

สมเด็จพระจักรพรรดิฉินที่ 1 หรือ ฉินชื่อหวง (秦始皇, Qín Shǐ Huángdì) มีพระนามเดิมว่า เจิ้ง (政) สันนิษฐานว่าประสูติเมื่อ พฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 283 (260 B.C.) และสวรรคตเมื่อ กันยายน พ.ศ. 333 (210 B.C.) เป็นกษัตริย์แคว้นฉิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 297 (247 B.C.) ถึง พ.ศ. 322 (221 B.C.) จากการรวมประเทศในสมัยราชวงศ์นี้ ทำให้กลายมาเป็นคำเรียกติดปากว่า จีน ในภาษาไทย และ China ในภาษาอังกฤษ (เพราะมาจากคำว่า Chin หรือ Qin)

การที่จะรวบรวมประเทศ แผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นได้นั้น จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ยกกองทัพไปตีแคว้นต่างๆทั้ง 6 ทำการปฏิรูปมากมาย อาทิด้านการเมือง ภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาความคิด โดยหลังจากทรงยึดแคว้นใหญ่น้อยต่างๆได้ ก็เผาทำลายหนังสือ สังหารนักปราชญ์ไปจำนวนมหาศาล เนื่องจากทรงมีดำริว่า ถ้าต่างแคว้นต่างมีวัฒนธรรมความคิดของตนเองแล้ว การที่จะทำให้แผ่นดินเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวนั้นไม่มีทางเป็นไปได้

พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างผลงานชิ้นเอกที่โลกต้องตะลึง นั่นคือ กำแพงเมืองจีน (Great Wall of China) สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของชนเผ่าทางเหนือ ชาวฮันและชาวเติร์ก, ด้วยระยะทางหลายหมื่นลี้ ประเมินความยาวในปัจจุบันอยู่ที่ 21,196.18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 15 มณฑลทั่วประเทศ จนได้รับยกย่องให้ถิอเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง ที่มองเห็นได้จากดวงจันทร์ (ประโยคสุดท้าย ไม่จริงนะครับ เป็นความเชื่อผิดๆของคนจีน ความจริงแค่มองจากชั้นบรรยากาศโลกก็มองไม่เห็นแล้ว ไม่ต้องไปไกลถึงดวงจันทร์หรอก)

จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิที่ชาวโลกจดจำว่า เป็นผู้โหดเหี้ยม หรือทรราชย์ แต่ชาวจีนก็ยังคงยกย่องให้เป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น หรือ “ปฐมจักรพรรดิฉิน”

มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ จิ๋นซีฮ่องเต้ ทั้งหมด 3 เรื่องที่ผมหาได้
– The Emperor’s Shadow (1996) กำกับโดย Zhou Xiaowen นำแสดงโดย Jiang Wen และ Ge You
– The Emperor and the Assassin (1998) กำกับโดย Chen Kaige นำแสดงโดย Gong Li, Zhang Fengyi และ Li Xuejian ได้รางวัล Technical Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– และ Hero (2002) กำกับโดย Zhang Yimou

ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากเขียนอีกสองเรื่องที่เหลือด้วยนะครับ เพราะทั้ง 3 เรื่องนี้ เห็นว่าเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดของ จีนแผ่นดินใหญ่ ในปีที่ทำการสร้างทั้งหมดเลย

Zhang Yimou ผู้กำกับรุ่นที่ 5 ของจีนแผ่นดินใหญ่ ช่วงแรกๆของการทำงานและยุค 90s ผลงานจะเน้นนำเสนอภาพความจริง ลำบาก ทุกข์ยากแสนสาหัสของประชาชนในระดับรากหญ้า (เปรียบได้คล้ายๆกับยุค Chinese Neorealist) แต่พอเข้าสู่ศตวรรษใหม่ นับจาก Hero (2002) ถือว่า Yimou ยกตัวเองไปเล่าเรื่องในระดับสูงขึ้น อาทิ กษัตริย์, ผู้นำประเทศ นำเสนอเรื่องราวแฝงปรัชญาในระดับอุดมการณ์มากขึ้น, นี่คงเพราะความสำเร็จของ Yimou ในทศวรรษก่อน ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนายทุน กล้าทุ่มงบประมาณให้มากขึ้น ทำให้เขาสามารถสร้างหนังที่มีโปรดักชั่นใหญ่อลังการขึ้นได้, ผมคิดว่าความตั้งใจของ Yimou ก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน เพราะตั้งแต่จีนเปิดประเทศ แนวคิดในของเขาก็เปลี่ยนไปเป็นเพื่อนำเสนอความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน สู่สายตาชาวโลก (ไม่ใช่ตีแผ่ความจริงเหมือนยุคก่อนอีกแล้ว)

นำแสดงโดย
– Jet Lee รับบท ไร้นาม (Nameless) มีความสามารถพิเศษ ชื่อว่า Death at Ten Paces สามารถแทงดาบได้ตรงเป้าที่สุดในรัศมี 10 ก้าว
– Tony Leung Chiu-wai รับบท กระบี่หัก (Broken Sword) มีความสามารถเขียนตัวอักษร (Calligrapher) เป็นเลิศ และสามารถเข้าถึงวิถีสูงสุดของกระบี่
– Maggie Cheung รับบท หิมะเหิน (Flying Snow) คนรักของกระบี่หัก
– Chen Daoming รับบท กษัตริย์แคว้นฉิน หรือ ฉินอ๋อง
– Donnie Yen รับบท ฟ้าเวิ้ง (Long Sky) ใช้หอกเป็นอาวุธ
– Zhang Ziyi รับบท ปานเดือน (Moon) ลูกศิษย์ผู้จงรักภักดีของ กระบี่หัก ใช้ดาบคู่เป็นอาวุธ

การเล่าเรื่องจะใช้ลักษณะรูปแบบที่เรียกว่า Rashômon Style คือการเล่าเรื่องเหตุการณ์เดียว แต่หลายมุมมอง และมีความแตกต่างกันในการเล่าแต่ละครั้ง, ซึ่งวิธีการสังเกตแยกเรื่องราวก็แสนง่าย เพราะหนังใช้โทนสีของการออกแบบ งานภาพเข้าช่วย

ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle โทนสีที่ใช้ในหนังประกอบด้วย
สีเทา/ดำ แทนด้วยพระราชวังของฉินอ๋อง
สีแดง แทนด้วยเหตุการณ์ตามคำบรรยายแรกของชายไร้นาม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่รุนแรง (ชู้ ทรยศ หักหลัง)
สีน้ำเงิน แทนการคาดการณ์สิ่งที่ควรเกิดขึ้นจริง โดยจินตนาการของฉินอ๋อง (ฉากต่อสู้บนทะเลสาบ ที่น้ำนิ่งเหมือนกระจก ก็แสดงถึงการสะท้อนความคิดนี้)
สีขาว แทนความจริงที่เกิดขึ้น เล่าโดยชายไร้นามเมื่อตระหนักได้ว่าฉินอ๋องล่วงรู้ความจริงของตน จึงไม่มีอะไรต้องปกปิดอีก เล่าเรื่องด้วยความบริสุทธิ์ใจ
สีเขียว แทนด้วยการพบกันครั้งแรกของ กระบี่หักกับหิมะเหิน ทั้งสองได้บุกฝ่าเข้าไปในพระราชวังและได้ต่อสู้กับฉินอ๋อง ซึ่งในวินาทีที่ผ้าทุกผืนตัดขาด กระบี่หักก็ได้บรรลุถึงสัจธรรมบางอย่าง

โทนสีที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่แสงสี บรรยากาศของภาพนะครับ แต่ยังรวมถึงเสื้อผ้าหน้าผม สถานที่ถ่ายทำ (สีน้ำเงิน มีฉากต่อสู้บนทะเลสาบ, สีขาว มีฉากต่อสู้ท่ามกลางลมหิมะ ฯ) อีกทั้งนัยยะของเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร ฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้บรรยากาศตามโทนสีนั้นทั้งหมด

นอกจากจากโทนสีของหนังแล้ว ความโดดเด่นในงานภาพคือความอลังการ ในการจัดกรอบฉาก, กับหนัง Lord of the Ring ความยิ่งใหญ่ที่เราเห็นขณะกองทัพสู้รบกัน คือการเคลื่อนไหวของกล้องที่มีความโฉบเฉี่ยว พุ่งเข้าไป เกิดอารมณ์เคลื่อนคล้อย ลื่นไหลตามไปกับภาพที่เราเห็น, ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน Hero ไม่มีความโฉบเฉี่ยวมากนัก นำเสนอความตรงไปตรงมา ถ่ายภาพหน้าตรง ให้ทหารเดินเรียงหน้ากระดานเต็มความยาวของภาพเข้าหากล้อง ผมเรียกงานภาพลักษณะนี้ว่า ‘การจัดกรอบล้อมฉาก’ นี่ให้ความอลังการแบบเต็มตา เห็นทหารเป็นตัวเป็นๆ จับต้องได้ (ไม่เห็นเหมือนมดแบบ Alexander, Troy) ไม่ต้องพึ่ง Special Effect ในฉากพวกนี้มากด้วย

ในบรรดาฉากต่อสู้ดวลกระบี่ ท่ามกลางสายฝน, ใบไม้ร่วงหล่น, ผืนทะเลทราย, บุกเข้าไปในพระราชวัง ฯ ผมชอบฉากสู้กันสะเทินน้ำสะเทิ้นบกที่สุดแล้ว, ความชื่นชอบนี้แล้วแต่รสนิยมของคุณเองนะครับ ผมชอบฉากนี้เลยขอพูดเฉพาะฉากนี้ ไม่ใช่ฉากอื่นไม่สวย แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบโทนสีเย็น มันให้ความรู้สึกสบายตากว่า และผิวน้ำที่สงบนิ่ง สะท้อนภูเขา วิวทิวทัศน์บริเวณนั้น เหมือนกระจกส่องเห็นอีกโลกหนึ่งและอีกด้านของหัวใจ, ฉากนี้ได้ยินว่า Yimou ใช้เวลาถ่ายเกือบ 3 สัปดาห์ เพราะต้องการให้ผิวน้ำนิ่งสนิทที่สุด ไม่ให้มีการกระเพื่อมเลยระหว่างถ่ายทำ แต่มันจะทำอย่างนั้นได้ง่ายเสียที่ไหน ธรรมชาติยังไงก็มีน้ำขึ้นน้ำลง ใน 1 วันเห็นว่าจะมีเวลาแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้นที่ผืนน้ำจะนิ่งสนิทตอน 10 โมงเช้า ทีมงานต้องตื่นตี 5 เตรียมการ 5 ชั่วโมงรอเวลาน้ำนิ่งที่สุดถึงได้ถ่ายทำ และวันไหนล่วงเลยเวลาไปแล้ว ก็กลับบ้านนอนรอวันใหม่ได้เลย

Visual Effect เมื่อเทียบกับสมัยนี้ ไม่ถือว่ามีความเนียลสมจริงมากนัก แต่ก็ไม่ถึงขั้นยอมรับไม่ได้, ที่รู้สึกขัดๆคงเป็นธนูหลายหมื่นหลายแสนดอก ไม่ค่อยมีความสมจริงเสียเท่าไหร่ แต่ฉากต่อสู้ขณะดวลท่ามกลางสายฝน ใครอ่านนิยายกำลังภายในจีนมาเยอะคงรู้สึกเท่ห์ระเบิด (ผมไม่รู้ฉากพวกนี้ฝรั่งเห็นจะเป็นยังไง คงคิดว่าเว่อระดับพวกเหนือมนุษย์ จริงๆมันแค่ฝึกฝน วิชากำลังภายใน บรรลุถึงปรัชญา ก็อาจเพียงพอถึงระดับสู้กันในจิตใจได้)

ตัดต่อโดย Angie Lam นอกจาก Rashômon Style แล้ว การตัดต่อยังมีลักษณะสะท้อนกันแบบหยิน-หยาง, ภายใน-ภายนอก, แสงสว่าง-ความมืด, โดดเดี่ยว-โดยกลุ่ม, เข้มแข็ง-อ่อนแอ, ใส่เสื้อผ้า-เปลือย, ใกล้-ไกล, มีอาวุธ-ตัวเปล่า, สูง-ต่ำ ฯ จะเห็นได้ชัดคือระหว่าง ไร้นามกับฉินอ๋อง ที่แทบไม่มีช็อตไหนอยู่ร่วมกันเลย เห็นครั้งเดียวคือ ช็อตการตัดสินใจของไร้นาม ที่ฉิ๋นอ๋องยืนมองดูอักษร ‘ดาบ’ แล้วไร้นามเข้ามาด้านหลัง พูดประโยคเท่ห์ๆ เพื่อขอเป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง

เพลงประกอบโดย Tan Dun เจ้าของรางวัล Oscar: Best Original Score คนแรกของจีน จากการทำเพลงประกอบ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2001) ผมดูในเครดิต Tan Dun ไม่ค่อยรับงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์เสียเท่าไหร่ (คือเลือกงานมากๆ) ส่วนใหญ่จะชอบประพันธ์เพลง Symphony, Concerto, Opera ฯ คือเป็นสายคีตกวีดนตรีคลาสสิกโดยแท้

ใน Hero เพลงประกอบถือว่ามีกลิ่นอายของความเป็น จีน อยู่ครบ เน้นอารมณ์โหยหวนด้วยเครื่องสาย อลังการด้วยเครื่องเป่า และระทึกด้วยกลอง, ที่เด่นที่สุดคงเป็นขณะชายแก่ตาบอดดีดกู่ฉิน (Guqin) ที่มีลักษณะคล้ายจะเข้ จากคำพูดที่ว่า ‘บทเพลงและเพลงดาบ ตั้งอยู่บนพื้นฐานและจิตวิญญาณเดียวกัน’ ความตื่นเต้นรุกเร้าของดนตรี สะท้อนออกมาด้วยเพลงดาบโจมตี ป้องกัน โต้กลับ ชายสองคนไม่จำเป็นต้องสู้กันทางกาย แต่มองเห็นการต่อสู้จากข้างในจิตใจ

ผมเลือกเอาเสียงกู่ฉิน In The Chess Court มาให้ฟังกันนะครับ (จริงๆมันควรเป็น In The GO Court นะครับ เพราะผมเห็นเล่นหมากล้อม ไม่ใช่หมากรุก)

เริ่มต้น ไร้นามออกเดินทางเข้าวังด้วยเป้าหมายจะฆ่าล้างแค้นฉินอ๋องเพื่อตนเองและครอบครัว แต่ตอนจบเป้าหมายของเขากลับตารปัตรโดยสิ้นเชิง ในมุมของภาพยนตร์นี่คือความสมมาตรที่มีใจความ แนวคิดสะท้อนซึ่งกันและกัน (หยิน-หยาง) ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยน มันเกิดจากในใจเบื้องลึกที่แท้จริงของไร้นาม มีแสงสว่างเล็กๆ สิ่งที่เขาต้องการที่สุด มันไม่ใช่ทำเพื่อตนเองหรือเพื่อครอบครัว, จุดเริ่มต้นการแปรเปลี่ยนความคิดของไร้นาม มาจากกระบี่หัก ที่ครั้งหนึ่งก็เคยมีเป้าหมาย ความต้องการเหมือนกับเขา แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ถึงได้รับฟังคำแนะนำแต่จิตใจยังลังเล เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่หลังจากได้พบกับฉินอ๋อง ได้การสนทนาเรียนรู้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงอย่างถ่องแท้ นั่นทำให้ไร้นามไร้ข้อกังขา บรรลุข้อสงสัยของตนเอง และทำการตัดสินใจเสียสละเพื่อสิ่งที่ตนเรียนรู้ ว่าเหนือกว่าแค่ตนเองและครอบครัว

“Remember those who gave their lives for the highest ideal. No more killing. Peace for all men.”

คำพูดสุดท้ายของไร้นาม แสดงถึงการเสียสละเพื่อจุดประสงค์ในอุดมการณ์สูงสุด ฆ่าเพื่อไม่ให้ถูกฆ่า ฆ่าเพื่อสันติ แล้วเมื่อนั้นความสงบสุขจะบังเกิด

ตอนที่ฉินอ๋องได้ยิน ไร้นามพูดว่า ตัวอักษร ‘ดาบ’ มีทั้งหมด 19 วิธีเขียน (นี่เป็นการเปรียบเปรยถึงก๊ก แคว้น เหล่า ชนเผ่า ฯ ความแตกแยกของชาวจีนที่มีหลากหลายภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาความคิด) พระองค์ทรงตรัสว่า สักวันจักแก้ปัญหานี้ (ในประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงเผาทำลายหนังสือ สังหารนักปราชญ์ไปจำนวนมหาศาล เนื่องจากทรงดำริว่าถ้าต่างแคว้นต่างมีวัฒนธรรมความคิดของตนเองแล้ว การที่จะทำให้แผ่นดินเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวนั้นไม่มีทางเป็นไปได้)

สาเหตุที่ฉินอ๋องโยนดาบให้ไร้นามเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเมื่อพระองค์พิจารณาถึงความพยายามที่น่ายกย่องของไร้นาม และการได้รับรู้คำตอบ เหตุผลที่ตนเองคาดไม่ถึงเมื่อครั้งกระบี่หักและหิมะเหิน เข้ามาลอบสังหารตน, ความรู้สึกประทับใจ ตื้นตัน จนเข้าถึงวิถีสูงสุด เกิดเป็นความปล่อยวาง การได้รับรู้คนที่สามารถเข้าใจตนได้ดีที่สุดคือศัตรูของตนเอง พระองค์จึงตัดสินใจมอบชีวิตของตนให้กับไร้นามเป็นผู้ตัดสิน ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องหรือไม่ สมควรยังมีชีวิตต่อไปหรือเปล่า

หลังจากโยนดาบให้แล้ว หันไปเพ่งพินิจ พิจารณาอยู่นาน ในที่สุดฉินอ๋องก็กระจ่าง ถึงตัวอักษร 劍 ที่กระบี่หักมอบให้

I have just come to a realization! This scroll by Broken Sword contains no secrets of his swordsmanship. What this reveals is his highest ideal.
– In the first state, man and sword become one and each other. Here, even a blade of grass can be used as a lethal weapon.
– In the next stage, the sword resides not in the hand but in the heart. Even without a weapon, the warrior can slay his enemy from a hundred paces.
– But the ultimate ideal is when the sword disappears altogether. The warrior embraces all around him. The desire to kill no longer exists. Only peace remains.

ตัวอักษร ‘ดาบ’ หาได้มีความลับของเพลงดาบอยู่เลย นั่นเพราะกระบี่หักเขียนขึ้น โดยใส่อุดมการณ์ความเชื่อของตนเองลงไป, ปรัชญาของคำว่า ‘ดาบ’ นี้มีความลึกซึ้งอย่างมาก สามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่ความสามารถทางวรยุทธ์ ที่เป็นการตีความในเชิงรูปธรรม, ในเชิงนามธรรม ผมขอนำเสนอแนวคิด ‘ดาบ’ ในความหมายของสิ่งที่เป็น ‘พลังอำนาจ’ สามารถใช้ฆ่าฟัน ทำลายล้าง ควบคุม ปกครองผู้อื่น
– คนที่มีอำนาจอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ทำอะไรก็ได้ดั่งใจ (มีอำนาจก็ใช้ไป ไม่สนอะไร)
– คนที่ตระหนักถึงอำนาจที่มีอยู่ในใจ ย่อมสามารถทำให้ทุกอย่างรอบกาย กลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจได้ (มีอำนาจ ใช้เป็น)
– แต่ที่สุดแล้ว คนที่มีอำนาจและเข้าใจว่าแท้จริงตนเองไม่มีอำนาจอะไร ย่อมสามารถมองเห็นวิธีการใช้อำนาจให้เกิดประสิทธิผลที่สุด (มีอำนาจ ใช้เป็นและเข้าใจ)

ในทางเต๋านั้น ระดับสุดท้ายจะเป็นการเปรียบเทียบถึงตัวตนกับจักรวาล มองว่า มนุษย์ทุกคนก็เหมือนกันเท่าเทียมกันหมด ไม่มีใครเป็นมิตรหรือศัตรู สูงศักดิ์หรือด้อยค่ากว่ากัน ซึ่งใครสามารถเข้าใจจุดนี้ได้ ก็จะมองเห็นความสงบสุขสันติของโลกและจักรวาลที่เป็นหนึ่งเดียว

เหตุที่ฉินอ๋องเข้าใจความหมายของ ‘ดาบ’ นี้ได้ สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านั้นที่ได้เข้าใจตัวตนของกระบี่หัก แล้วพระองค์เกิดอารมณ์ปล่อยวาง โยนดาบให้ไร้นามเป็นผู้ตัดสินชีวิต, ขณะที่พระองค์ครุ่นคิดในคำว่าดาบ ก็เกิดการประจักษ์แก่ตน ว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่คืออุดมการณ์ นี่คือช่วงเวลาขณะตรัสรู้ของลัทธิเต๋าเลยนะครับ เข้าถึงจุดสูงสุดของหลักธรรมคำสอน

สำหรับคำที่กระบี่หัก เขียนบทพื้นทราย Tiānxià (天下) ซับไตเติ้ลทุกฉบับจะแปลว่า ‘Our Land’ ฟังดูมีนัยยะ ความหมายที่ลึกซึ้ง ถึงการรักชาติ รักแผ่นดินของเรา, แต่จริงๆแล้วคำนี้ถ้าแปลตรงตัวจากภาษาจีน จะแปลว่า ‘Under heaven’ หรือ ‘The World’ ภาษาไทยมีคำหนึ่งที่ตรงมากคือ ‘ใต้หล้า’, จากที่ผมเคยพูดไป ว่าแนวคิดการทำหนังของ Zhang Yimou เปลี่ยนไปในศตวรรษ 21 คือต้องการนำเสนอความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งคำนี้มันชัดเลยนะครับ ว่ามีนัยยะถึง ‘การครอบครองโลก’, แต่เนื่องจากปีก่อนหน้านั้น เกิดเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ถ้าหนังฉายประเทศโลกตะวันตกด้วยแปลคำนี้ มันมีนัยยะที่เป็นภัยคุกคามที่ค่อนข้างอันตราย Yimou เลยตัดสินใจสั่งให้การแปลทุกฉบับ ใช้คำว่า ‘Our Land’ ที่ถือว่าปลอดภัยไว้ก่อน, ซึ่งนักข่าวที่อ่านภาษาจีนออก เคยถาม Yimou ว่าทำไมถึงแปลเช่นนั้น ซึ่งเขาก็พยายามเลี่ยงไม่ตอบเหตุผล (If you ask me if ‘Our land’ is a good translation, I can’t tell you. All translations are handicapped. Every word has different meanings in different cultures.)

Christopher Doyle เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง บอกว่า มีการโต้เถียงกันในทีมงานว่าจะให้หนังชื่อ Hero หรือ Heroes นี่ถือเป็นประเด็นใหญ่มากของหนัง, กับข้อสรุปที่ได้แค่ Hero แล้วนี่หมายถึงใครกัน? … นี่เป็นสิ่งที่ผมก็ตอบไม่ได้ว่าใคร, กับตัวละครที่มีแนวโน้มเป็น Hero มีนักดาบทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย ฉินอ๋อง, ไร้นาม, กระบี่หัก, หิมะเหิน และฟ้าเวิ้ง แต่ละคนถือว่ามีแนวคิดและการกระทำที่เป็นฮีโร่ (Heroic) ในตัวเอง, ฉินอ๋อง คือว่าที่กษัตริย์ที่จะกลายเป็นฮีโร่, ไร้นาม คือ ฮีโร่ที่ตัดสินใจเพื่อส่วนรวม, เช่นกันกับ กระบี่หัก หิมะเหิน และฟ้าเวิ้ง ต่างก็ถือว่าเป็น ฮีโร่ที่ยอมเสียสละตนเอง, กระนั้นถ้ามองทั้ง 5 ว่าเป็นฮีโร่เหมือนกัน ก็ควรใช้ Heroes สิ ไม่ใช่ Hero

ผมคิดว่าการเลือกใช้คำว่า Hero ที่เป็นเอกพจน์ไม่ได้ต้องการสื่อถึงตัวบุคคลใดๆ แต่เป็นอุดมการณ์ของคนทั้ง 5 ที่สุดท้ายแล้วเป็นไปในทาง (Heroic) เดียวกัน คือการเสียสละตนเองเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ประเทศชาติ โลกและสากลจักรวาล

นี่แสดงถึงว่า Hero เป็นหนังชวนเชื่อประเภทหนึ่งนะครับ ที่มีใจความค่อนข้างชัดถึง ‘การเสียสละเพื่อส่วนรวม’ หรือ ‘อุดมการณ์สำคัญกว่าตัวตน’ ซึ่งนี่คือปรัชญาการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน, เพื่อชาติจะได้พัฒนา ยั่งยืน มั่นคงเป็นปึกแผ่นและกลายเป็นใต้หล้า (คือยิ่งใหญ่เหนือชาติใด) ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจ เหมือนดังฮีโร่ที่ต่อสู้เสียสละเพื่อประเทศชาติในครั้งอดีต แม้ปัจจุบันจะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเกิดขึ้นแล้ว แต่การต่อสู้นั้นยังไม่ได้จบสิ้น แค่เปลี่ยนรูปแบบวิธีการไป แต่แนวคิด อุดมการณ์เพื่อชาติยังคงเหมือนเดิม

หนังได้เข้าฉายในอเมริกาปี 2004 และสามารถขึ้นอันดับ 1 Boxoffice สำเร็จ (ปกติหายากนะครับ หนังที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแล้ว ทำรายได้ประจำสัปดาห์ในอเมริกาสูงถึงอันดับ 1) ทำเงินสัปดาห์แรก $18 ล้านเหรียญ รวมรายได้รับในอเมริกา $56 ล้านเหรียญ ถือเป็นอันดับ 3 หนังต่างประเทศทำเงินสูงสุดในอเมริกาขณะนั้น, ด้วยทุนสร้าง $31 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $177.4 ล้านเหรียญ ได้เข้าชิง
– Oscar: Best Foreign Language Film (แพ้ให้กับ Nowhere in Africa ตัวแทนจาก Germany)
– Golden Globe Award:  Best Foreign Language Film (แพ้ให้กับ Talk to Her ตัวแทนจาก Spain)
– ฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้รางวัล Alfred Bauer Award (รางวัล Silver Bear พิเศษ มอบให้กับหนังที่เปิดมุมมอง โลกทัศน์ของวงการภาพยนตร์) [แพ้ Golden Bear ให้กับ In This World หนังสัญชาติ British)
– Hong Kong Film Award เข้าชิง 14 ได้มา 7 รางวัล
– Golden Rooster Awards ได้มา 4 รางวัล

ส่วนตัวหลงรัก ประทับใจหนังเรื่องนี้อย่างมาก มี 3 เหตุการณ์ที่ทำให้ผมขนลุก
1. จังหวะที่ฉินอ๋อง สามารถเข้าใจความหมายของตัวอักษร ‘ดาบ’ และอธิบายออกมา ถ้าคุณสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีจะขนลุกซู่เลยละ ถ้าไม่… ก็ดังที่ผมอธิบายไป
2. ขณะที่ไร้นาม ตัดสินใจฆ่า/ไม่ฆ่าฉินอ๋อง และคำพูดสุดท้ายของเขา
3. สีหน้าของฉินอ๋องที่จำใจต้องยกมือสั่งประหาร และวาระสุดท้ายของไร้นาม ที่หันหน้ากลับมา ยิ้มรับธนูเรือนแสนโดยไม่สะทกสะท้าน

Zhang Yimou ทำให้ 3 วินาทีนี้ของหนัง มีความทรงพลัง อลังการ ยิ่งใหญ่ที่สุด และแฝงปรัชญาอันลุ่มลึกล้ำ โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ

ผมจัดความยากของหนังอยู่ที่ระดับ Professional กับคนที่เคยดู Rashômon มาจนเข้าใจแล้วอาจไม่มีปัญหานัก แต่ถ้าไม่ คุณอาจหัวเสียกับการเล่าเรื่องที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ไม่เข้าใจความหมายของตัวอักษร ‘ดาบ’ และเกิดข้อสงสัยทำไมตัวละครของ Jet Lee ถึงตัดสินใจอย่างนั้น, นี่ถือเป็นหนังเข้าใจค่อนข้างยากทีเดียว ต้องใช้การคิดวิเคราะห์พอสมควร ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจได้โดยทันที

แนะนำกับคอหนังจีน กำลังภายใน (Wuxia), สนใจประวัติศาสตร์ ยุคสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (คงไม่ค่อยได้ความรู้เท่าไหร่), นักปรัชญา ผู้ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ คนทำงานสายภาพยนตร์ มีอะไรในหนังให้ศึกษาเยอะเลย

แฟนหนัง Zhang Yimou นักแสดง Jet Lee, Tony Leung Chiu-Wai, Maggie Cheung, Zhang Ziyi (ตัวประกอบ), Chen Daoming, ฉากต่อสู้สวยๆของ Donnie Yen และถ่ายภาพโดย Christopher Doyle

จัดเรต 13+ กับฉากต่อสู้ ความรุนแรง และความตาย

TAGLINE | “Hero คือหนึ่งใน Masterpiece ของ Zhang Yimou แฝงปรัชญาลึกซึ้ง มีงานภาพออกแบบสวยอลังการ และนักแสดงประชันฝีมือชั้นเลิศ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: