Hets (1944)
: Alf Sjöberg ♥♥♥♡
บทภาพยนตร์เรื่องแรกของ Ingmar Bergman มอบให้ Alf Sjöberg เป็นผู้กำกับ, ใช่ว่าเด็กทุกคนจะชอบเรียนหนังสือ และใช่ว่าครูทุกคนจะเป็นคนดี, Ingmar Bergman เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตนเอง นำเสนอความทรมาน (Hets=Torment) ขณะเป็นนักเรียน ที่มักถูกอาจารย์กดดัน บังคับขู่เข็นให้ตั้งใจเรียน โดยไม่แยแสใยดีต่อความต้องการแท้จริงของตน
Ingmar Bergman เรียก 12 ปี ตอนเป็นนักเรียนว่า ’12-year hell’ เขาเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน สนใจละคร ชื่นชอบการแสดง ด้วยเหตุผลว่า ไม่ชอบที่จะต้องตื่นมาแต่เช้า ทำการบ้าน อ่านหนังสือ ตอบผิดถูกทำโทษ ทำข้อสอบเพื่อเลื่อนชั้น ฯ เรียกว่าเกลียดระบบการศึกษาเข้าไส้เลยก็ว่าได้
ความทรงจำ สอดแทรกทัศนคติ ได้พัฒนาขึ้นเป็นบทหนังเรื่องแรกในชีวิตของ Bergman ที่ขณะนั้นเซ็นสัญญา 1 ปีกับ Svensk Filmindustri (SF) มีหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์
Alf Sjöberg ชื่อของผู้กำกับชาว Swedish นี้ อาจไม่ใช่ที่รู้จักเสียเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนแรกที่ได้ Palme d’Or ถึง 2 ครั้ง (ตอนสมัยรางวัลยังชื่อ Grand Prix) ถือว่าเป็นผู้กำกับที่คอหนังควรจดจำชื่อไว้เลยนะครับ และถ้าไม่มี Sjöberg ก็มีความเป็นไปได้ ว่าอาจไม่มี Ingmar Bergman (Sjöberg ในสวีเดนถือว่าเป็น Idol ของ Bergman เลยละ)
ครูสอนภาษาละตินที่โคตร Sadist จนได้รับฉายาว่า Caligula (รับบทโดย Stig Järrel) มีความเข้มงวดกวดขันจริงจังกับการสอนหนังสืออย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับ Jan-Erik Widgren (รับบทโดย Alf Kjellin) นักเรียนที่ไม่ได้ชื่นชอบการเรียนหนังสือนัก มีความฝันอยากทำโน่นทำนี่ตามใจตนเอง แต่เขาอาจเรียนไม่จบเพราะอาจารย์ผู้ไร้ความปราณีคนนี้
เกร็ด: กาลิกุลา (Caligula) เป็นชื่อเล่น/ฉายา ของ Gaius Julius Caesar Augustus Germanicus จักรพรรดิแห่งโรมัน ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 37 – ค.ศ 41 ในยุคสมัยนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความเผด็จการแบบเกรี้ยวกราด รุนแรง, Caligula ในภาษาโรมันแปลว่า รองเท้าน้อย แผลงมาจากคำว่า Caliga ซึ่งเป็นรองเท้าแตะสานของทหารโรมัน
Caligula เป็นตัวละครที่มีความพิศวงมาก เพราะอะไรเขาถึงกลายเป็นคน Sadist หนังไม่ได้อธิบายตรงๆ แต่ใช้การอ้างว่าป่วย (เป็นโรคอะไรละ?) และเรื่องเล่าถึงอดีต ชีวิตวัยเด็กเคยถูกแมวกัดที่ข้อมือ แต่แทนที่ไม่โกรธเคืองถือสา กลับจับแมวถ่วงน้ำ ฆ่าให้ตายทั้งเป็น … คือก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับชายคนนี้นะครับ ความคอรัปชั่นลักษณะนี้ มักมีปมมาจากพ่อ/ครอบครัว ที่ตอนวัยเด็กถูกปลูกฝังให้ทำอะไรแบบต้องเปะ จริงจัง ทำให้โตขึ้น ไม่สามารถทนเห็นความเหยาะแหยะ ไม่จริงจังของคนอื่นได้, การแสดงของ Stig Järrel ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ ถึงเราไม่ค่อยได้เห็นสีหน้าของเขาใกล้ๆ แต่ท่าทาง การกระทำ น้ำเสียง และเงาของเขา มันเหมือน คนโรคจิต (แบบหนังเรื่อง M ไม่ผิดเพี้ยน)
Widgren นักเรียนหนุ่ม (น่าจะ ม.6) ถือว่าเป็น Idealist ยึดมั่นในความฝัน อุดมการณ์ สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่เรียนสูงๆ/ทำงานร่ำรวย ฯ แต่คือความสุขจากการใช้ชีวิต เป็นนักดนตรี (เห็นเล่นไวโอลิน) และมีแฟนสาวที่มอบความรักอันอบอุ่น ฯ การได้เป็นนักเรียนของ Caligula ถือว่าโคตรซวย เพราะเป็นอาจารย์ที่ไม่สนใจลูกศิษย์แม้แต่น้อย เช่นกันกับพ่อที่เข้มงวด แต่การได้พบกับ Bertha Olsson (รับบทโดย Mai Zetterling) หญิงสาวขายบุหรี่ ด้วยความบังเอิญ ทำให้เขาได้พบกับความสุขแรกในชีวิต … แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลาย เพราะ Caligula ก็หลงรักผู้หญิงคนนี้เช่นกัน, การแสดงของ Stig Järrel เป็นภาพของชายหนุ่มไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก (ไม่รู้ไก่อ่อนด้วยหรือเปล่า) เขาคงเป็นตัวแทนของ Ingmar Bergman ด้วยละ เพราะมีความกล้าคิด/ทำอะไร ตามความต้องการของตนเอง
เกร็ด: ถ้าตั้งใจฟังให้ดี จะมีชื่อเรียก Bergman และ Sjöberg ในกลุ่มนักเรียนด้วย (ไม่รู้ตัวจริงของทั้งคู่แสดงเองด้วยหรือเปล่า)
นักแสดงอีกคนที่ต้องพูดถึงเลยคือ Olof Winnerstrand รับบทครูใหญ่ ผู้ซึ่งตรงข้ามกับ Caligula ทุกประการ เป็นกันเอง สนุกสนาน รัก/เข้าใจเด็กๆ ถือว่าวางตัวค่อนข้างเป็นกลาง เข้าใจมุมมองของผู้ใหญ่ด้วย, ภาพลักษณ์ของ Winnerstrand ชายแก่หัวฟูๆ เฉลียวฉลาดเหมือน Albert Einstein, สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ตัวละครนี้ยึดมั่นในอุดมการณ์มาก คือ อนาคตของลูกศิษย์ แม้ตอนที่ Widgren จะถูกไล่ออกไปแล้ว แต่ก็ยังหาวิธี ไปพูดให้คำแนะนำ ‘เพราะชีวิตไม่ใช่แค่ในหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ คงเป็นบทเรียนให้เธอต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน’
ถ่ายภาพโดย Martin Bodin, งานภาพของหนังเรื่องนี้มี 3 ระดับ มุมก้ม มุมเงย และระดับสายตา
– ภาพที่ถ่าย Caligula มันจะมีลักษณะเป็นมุมก้ม (มองลงมาจากข้างบน)
– ภาพที่ถ่ายนักเรียน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นมุมเงย (มองจากข้างล่าง)
– ภาพที่ถ่ายกับครูใหญ่ มักจะมีระดับสายตา
ผลลัพท์ของงานภาพมัน จะกลับตารปัตรกับเหตุผลที่ถ่ายนะครับ นี่ทำให้ผู้ชมอาจรู้สึกแปลกๆ เพราะอย่าง Caligula ที่ควรเป็นภาพมุมเงย กลับมักเป็นภาพที่ถ่ายจากด้านบน คงมีจุดประสงค์แทนมุมมองของตัวละครนี้ ที่ชอบมองตัวจากที่สูง ข่มคนอื่น, เช่นกับกับภาพของนักเรียนที่มักเป็นมุมเงยขึ้นนิดๆ คงมีจุดประสงค์ถึงแทนมุมมองความต่ำต้อย ไร้ค่า (เมื่อเทียบกับสายตาผู้ใหญ่ หรือ Caligula)
จุดเด่นของงานภาพคือ การใช้เงา (สงสัยได้แรงบันดาลใจจาก Nosferatu-1922) กับช็อตที่ผมชอบมากๆ คือ ตอนที่ Widgren กำลังแยกจากแฟนสาว แล้วภาพถ่ายให้เห็นเงาที่เป็นมือของ Caligula อยู่ด้านหลัง พร้อมเสียงดนตรีที่อยู่ดีๆก็ดังขึ้นมา แบบนี้ก็สะดุ้งสิครับ
มีอีกช็อตหนึ่ง ที่เห็นเป็นเงาของมือ Caligula อีกเหมือนกัน นี่มีความหมาย กาย+ใจ (มือจริงๆ=กาย, เงา=ใจ) สิ่งที่ Caligula ทำก็คือ พยายามครอบงำหญิงสาว คือทั้งกายและใจ
ตัดต่อโดย Oscar Rosander, หนังไม่ได้ใช้มุมมองไหนเป็นพิเศษ มีการตัดสลับระหว่างเรื่องราวของทั้ง Caligula และ Widgren น่าจะพอๆกันเลย
เพลงประกอบโดย Hilding Rosenberg, เสียงเพลงให้บรรยากาศหลอนสะดุ้ง โดยเฉพาะฉากที่ใช้เงาประกอบเรื่องราว เหมือนว่าจะเน้นความเจ็บปวด โหดร้าย ที่อยู่ข้างในจิตใจของตัวละครออกมา
ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการสะท้อนภาพวิถีของโรงเรียนในประเทศสวีเดน ระหว่างครูกับนักเรียน ที่ไม่ใช่ว่า ครูทุกคนจะเป็นคนดี และเด็กทุกคนอยากเรียนหนังสือ, ครูที่ดีเป็นอย่างไร… นักเรียนที่ดีเป็นยังไง… กับเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน ควรปฏิบัติอย่างไร… หนังทิ้งคำถามไว้ให้มากมาย แต่ไม่มีคำตอบ ผู้ชมต้องฉุกคิดขึ้นมาคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง จากชีวิตจริง
ทุกโรงเรียนก็คงมีแบบนี้นะครับ ครูที่ดูยังไงก็ไม่ได้มีความตั้งใจสอนหนังสือเด็กเลย, ครูที่ทุ่มเทให้นักเรียนมากๆ เป็นมิตร พูดคุยเล่นด้วยได้, เช่นกันกับนักเรียน คงมีคนที่ตั้งใจเรียนมากๆ, คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ฯ คนส่วนใหญ่ที่ดูหนังเรื่องนี้ มักจะเป็นผู้ใหญ่ ผมจึงขอแนะนำเฉพาะกับบรรดาครูทั้งหลาย พยายามนึกถึงตอนสมัยคุณเป็นนักเรียนให้มาก เคยชื่นชอบอาจารย์คนไหนเป็นพิเศษ ลองพินิจ พิจารณาดูสิ ว่าทำไมท่านถึงเป็นที่รักของนักเรียน และเป็นไปได้ไหมที่ตนจะแสดงออก กระทำแบบนั้น
แต่ก็คงมีครูที่คิดว่า ถ้าไม่เข้มงวดกับเด็กให้มาก แล้วโตขึ้นจะดีได้ยังไง, บางทีอาจเพราะหน้าที่ เช่น ครูปกครอง ยังไงก็ต้องเข้มงวด เรื่องนี้ผมก็เข้าใจ ว่าทุกโรงเรียนต้องมีเหมือน Good Cop/Bad Cop ตำรวจดี/ตำรวจเลว ครูดี/ครูเลว (ไม่ใช่เลวนะครับ แต่แบบ ครูที่โหด จริงจัง) คำแนะนำของผมยังไงคงได้แค่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ก็อยากบอกไว้ว่า ถึงคุณจะเป็น Bad Cop แต่ก็ให้มีบางมุมที่เป็น Good Cop แสดงออกให้เด็กๆเห็นบ้าง, คือถ้าเลวแท้ 100% ก็จะเหมือนนักเรียนคนหนึ่งในหนัง ที่พอวันเรียนจบ ขณะเดินจับมือกับอาจารย์ พอถึงครูคนนี้ คำพูดสั้นๆง่ายๆ Swine! (=สุกร, น่าขยะแขยง) ถ้าคุณเคยแสดงมุมอ่อนไหวให้เด็กๆเห็น เชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง พวกเขาก็จะเข้าใจคุณนะครับ ว่านั่นเป็นเพียงหัวโขนที่ใส่ตามหน้าที่ พอเรียนจบแยกย้าย พวกเขาก็จะพูดถึงคุณด้วยความเคารพรัก ไม่เสียๆหายๆแบบแช่งให้ตายกันไปข้าง
สำหรับเด็กที่ไม่สนใจการเรียน ว่ากันตามตรง มีไม่กี่คนหรอกที่เป็นได้แบบ Ingmar Bergman ส่วนใหญ่เด็กที่เกเร มักจะออกนอกลู่นอกทางไปไกล กู่ไม่กลับ หน้าที่ของครูไม่ใช่ไปเข้มงวดกวดบังคับ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าทำไม อาจเพราะปัญหาครอบครัว/สังคม/สิ่งแวดล้อม หรือความสนใจของเขาที่ไม่ใช่การเรียน ถ้าคุณไปบังคับขู่เข็นมาก เด็กมันก็ไม่เห็นความสำคัญ ยิ่งต่อต้านหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อนั้นอาชญากรรมเกิดง่ายมาก รับฟัง ทำความเข้าใจ คุยกับพ่อแม่ เพื่อน ฯ ถ้าเขามีความสนใจอื่น ก็หาทางนั้นให้นะครับ อย่าไปฝืน ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนในโลกอยากเรียนหนังสือ ต่อให้คุณคิดว่า มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เรียนจบมันก็แค่ใบปริญญา กับคนที่ยังเรียนอยู่ผมมีคำแนะนำแค่ว่า ‘อดทน’ ไปก่อนนะครับ เพราะ ‘โอกาส’ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัจจุบันคุณอาจไม่เห็นค่า แต่พอแก่ตัวรู้สึกเสียดาย มันก็สายเกินไปแล้ว, ซึ่งพอเรียนจบเมื่อไหร่ ทีนี้อยากทำอะไร ก็อิสระเสรีไม่มีใครห้ามได้แล้วละ รอจนตอนนั้นมัน ไม่สาย แน่นอนนะครับ (ที่พูดถึงนี่ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนนะครับ ชีวิต/การแต่งงาน ฯ)
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ติดใจอะไรมากเพราะดูแล้วรู้สึกทรมาน (ดั่งชื่อหนังเลย) เรื่องราวถือว่าค่อนข้างคาดเดาได้ง่ายไปเสียนิด แต่ก็มีความหวือหวา ที่สะท้อนตัวตนของผู้เขียน (Ingmar Bergman) ออกมาได้อย่างสมจริง
หนังเรื่องนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า คนอย่าง Ingmar Bergman นี่อาจจะ 1 ในหลายสิบล้าน ที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ได้ยึดติดกับกฎระเบียบ เพราะความที่เป็นคนหัวขบถ จึงมีความสนใจในสิ่งที่แตกต่าง และเขาสามารถพัฒนาจุดนั้น พิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่ หนังสือเรียน ครูอาจารย์ ทั้งหลาย ไม่มีวัน และไม่มีใครสอนได้
หลังดูหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึง The Class (2008) และ 3 Idiots (2009) ที่มีลักษณะคล้ายๆกัน เสียดสี พูดถึงระบบการศึกษา มองได้ในมุมของทั้งนักเรียนและอาจารย์, ถ้าใครชื่นชอบเรื่องราวลักษณะนี้ ก็ลองหามารับชมดูนะครับ แนะนำอย่างยิ่งเลยกับครูอาจารย์ ผู้บริหาร และคนที่มีอาชีพสอนทั้งหลาย
หนังดราม่าเข้มขันขายการแสดง และแฟนหนัง Ingmar Bergman ไม่ควรพลาดเช่นกัน
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศที่ค่อนข้างเครียด และความ Sadist ของอาจารย์คนหนึ่ง
Leave a Reply