High and Low (1963) : Akira Kurosawa ♥♥♥♥
ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รับอิทธิพลหลายอย่างจากชาติตะวันตกเพื่อฟื้นฟูพัฒนาประเทศ การมาถึงของแนวคิดทุนนิยม ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้น คนรวยกับคนจนมีระยะห่างกว้างมากขึ้น นี่รวมถึงจิตสำนึกมโนธรรมของมนุษย์ที่ค่อยๆตกต่ำลงด้วย ขณะที่ตัวละครของ Toshiro Mifune เสพสุขราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ Tsutomu Yamazaki เงยหน้าขึ้นไปมีแต่เพียงความอิจฉาริษยา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในญี่ปุ่นต่างยกย่องหนังเรื่องนี้ว่าคือ Masterpiece เพราะสามารถสะท้อน ตีแผ่ วิพากย์ปัญหาสังคมของประเทศ จากการเข้ามาถึงของแนวคิดทุนนิยมได้อย่างลึกซึ้งทรงพลัง, แต่สำหรับทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักจดจำ Akira Kurosawa คือผู้กำกับ Typecast แนวซามูไร พอมาสร้างภาพยนตร์ที่มีพื้นหลังยุคสมัยปัจจุบัน เลยไม่ค่อยให้ความกระตือรือล้นสนใจมากนัก
แต่มันก็แปลกอย่างหนึ่ง เพราะต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Kurosawa นำมาดัดแปลงสร้าง King’s Ransom (1959) แต่งโดย Ed McBain นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีพื้นหลัง New York City นั่นแสดงถึงว่าสิ่งที่อ้างอิงเป็นแรงบันดาลใจ นำจากเรื่องราวของอเมริกันชนโดยแท้ (คงเพราะพอเปลี่ยนพื้นหลังเป็นญี่ปุ่น ก็ถือเป็นเรื่องไกลตัวเองไปเสียแล้ว)
นอกจากเรื่องราววิพากย์ปัญหาสังคมที่โดดเด่นแล้ว การแสดงของ Toshiro Mifune ต้องชมเลยว่าทรงพลังไร้ที่ติ และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Akira Kurosawa เน้นมากกับตำแหน่งตัวละคร การหันหน้า เดินเคลื่อนไหวไปมา เพื่อสะท้อนมุมมองทิศทางของสังคม ต่อปัญหา สิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้น นี่อาจทำความใจยากสักนิด แต่ความลื่นไหลเป็นธรรมชาติอาจทำให้หลายๆคนไม่ทันสังเกตสักเท่าไหร่
ผมเคยรับชม High and Low เมื่อครั้นนานมาแล้ว จดจำได้แค่ Mifune ขายรองเท้า … เอาว่าไม่เคยดูมาก่อนเสียดีกว่า สิ่งคาดหวังก่อนรับชมคือ อะไรบางอย่างที่สะท้อนตรงกันข้าม สวรรค์-นรก ไฮโซ-โลโซ ก็เป็นไปตามที่จินตนาการไว้พอสมควร แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ผมเองคาดคิดไม่ถึง นั่นคือแรงจูงใจของตัวละครทั้งสองยังสะท้อนตรงกันข้ามเช่นกัน
Akira Kurosawa (1910 – 1998) ปรมาจารย์ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ōmori, Tokyo ในครอบครัวที่พ่อเคยเป็นซามูไร มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย สอนให้ลูกๆเปิดรับแนวคิด อิทธิพล วัฒนธรรมของชาติตะวันตก ทำให้เด็กชาย Kurosawa มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบ แต่ความสนใจแรกของเขาคือเป็นจิตรกรนักวาดรูป ซึ่งก็ได้มุ่งไปทางนั้น หัดเรียนเขียนแบบ คัดตัวหนังสือ และเคนโด้ ควบคู่กันไป, โตขึ้นพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดรูปแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที ปี 1935 มีสตูดิโอเกิดขึ้นใหม่ Photo Chemical Laboratories หรือ P.C.L. (ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Toho หนึ่งในสตูดิโอใหญ่สุดของญี่ปุ่นในปัจจุบัน) เปิดรับสมัครตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ Kurosawa ที่ไม่เคยสนใจทำงานดังกล่าว ลองยื่นใบสมัครพร้อมส่ง Essay แสดงความเห็นเรื่องข้อบกพร่องพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้เขียนเชิงประชดประชันตอบไปว่า ถ้าข้อบกพ่องคือพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ คงไม่มีทางแก้ไขได้แน่ ปรากฎว่าผู้กำกับ Kajirō Yamamoto อ่านแล้วเกิดความสนใจ เรียกมาสัมภาษณ์งาน และว่าจ้างให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัว
ความสามารถของ Kurosawa มีความหลากหลาย เรียนรู้งานไว ส่อแววอัจฉริยะ คือทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สร้างฉาก ออกค้นหาสถานที่ จัดแสง พากย์เสียง ตัดต่อ ก้าวหน้าจากผู้ช่วย (third assistant) กลายเป็นหัวหน้า (chief assistant) ในระยะเวลาไม่ถึงปี โดยเฉพาะผู้กำกับ Yamamoto ทั้งส่งเสริม ปลุกปั้น เป็นอาจารย์ (mentor) ให้คำชี้แนะนำ ซึ่งหนังเรื่อง Horse (1941) จริงๆจะถือว่า Kurosawa ได้กำกับภาพยนตร์เต็มตัวเรื่องแรกก็ได้ เพราะเขาทำงานแทน Yamamoto แทบทั้งหมด, ใช้เวลากว่า 2 ปี ค้นหาเรื่องราวน่าสนใจสำหรับกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ก็ได้พบกับ Sanshiro Sugata (1942) เขียนโดย Tsuneo Tomita เพิ่งตีพิมพ์ได้ไม่นานยังไม่เป็นที่รู้จักวงกว้าง Kurosawa อ่านจบปุ๊ปขอให้ Toho ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงปั๊ป นิยายขายดีทันที สตูดิโออื่นสนใจยื่นขอซื้อต่อแต่ช้าไปแล้ว
ไม่เหมือนผู้กำกับคนไหนในญี่ปุ่นขณะนั้น Kurosawa หลังจากอ่านนิยาย/บทภาพยนตร์ จะเกิดภาพจินตนาการในหัว (Visual Image) ด้วยความสามารถทางศิลปะที่ตนมี วาดภาพสิ่งนั้นออกมาเป็น Storyboard ใส่ครบทุกรายละเอียด ทิศทางมุมกล้อง ฉาก/พื้นหลัง อุปกรณ์ประกอบ หรือแม้แต่ตัวละคร การกำกับนักแสดง ฯ รายละเอียดยิบในระดับที่ใครมาอ่านก็เห็นภาพ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เองได้โดยทันที
ช่วงทศวรรษ 60s เปิดประเดิม The Bad Sleep Well (1960) ไม่ค่อยสวยนัก แต่สองไฮไลท์ถัดมาในอาชีพ Yojimbo (1961) และ Sanjuro (1962) ทุบสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่น ทำให้อำนาจต่อรองของ Kurosawa ต่อสตูดิโอ Toho จึงมีสูงมาก ติดต่อขอให้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยาย King’s Ransom ราคา $5,000 เหรียญเรื่องราวเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็ก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ Kurosawa มองว่าคืออาชญากรรมเลวร้ายที่สุด ‘worst crime’) มอบหมายดัดแปลงบทให้ Ryuzo Kikushima (ร่วมงานตั้งแต่ Throne of Blood), Hideo Oguni (ร่วมงานตั้งแต่ Ikiru, Seven Samurai ฯ) และ Eijiro Hisaita (เคยร่วมงาน The Idiot กับ The Bad Sleep Well)
เรื่องราวของ Kingo Gondo (รับบทโดย Toshiro Mifune) หนึ่งในผู้บริหารบริษัท National Shoes ออกแบบขายรองเท้าสตรี ช่วงเวลาที่กำลังจะกวาดซื้อหุ้นเพื่อฮุบบริษัทเป็นของตนเอง ถูกเรียกร้องค่าไถ่จากการลักพาตัวลูกชายเป็นจำนวนสูงถึง ¥30 ล้านเยน ซึ่งถ้าเลือกจ่ายตัวเขาจะสูญเสียสิ้นทุกอย่าง แต่บังเอิญเด็กชายที่โดนลักพาตัวกลับเป็นลูกของคนขับรถ แม้จะทำให้ Gondo โล่งอกโล่งใจแต่เขาก็ถูกโน้มน้าวด้วยเกมจิตวิทยา ระหว่างชีวิตคนกับเงินทองที่ถึงจะสูญเสียไปแต่เดี๋ยวก็หาใหม่ได้ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจ
ขณะเดียวกัน Chief Detective Tokura (รับบทโดย Tatsuya Nakadai) ผู้เข้ามาควบคุมการสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ ในตอนแรกก็ไม่ได้ชื่นชอบ Kingo Gondo ที่เหมือนจะเป็นคนหน้าเงิน แต่ไปๆมาๆเริ่มรับรู้และเข้าใจถึงหัวอก ทุ่มกำลังตำรวจทั้งหน่วยออกสืบค้นหาผู้ร้ายคดีนี้ จนได้บุคคลต้องสงสัยหนึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ฝึกหัด Ginjirô Takeuchi (รับบทโดย Tsutomu Yamazaki) มีความเฉลียวฉลาดอนาคตไกล แต่กลับคิดสั้นเลือกทางลัด ใช้วิธีการอันโหดเหี้ยมฆ่าปิดปากเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิด เมื่อถูกจับได้ก็ยังคงดื้อด้านปากแข็ง เพียงเพราะความอิจฉาริษยาเท่านั้นเองที่ทำให้เขากลายเป็นอาชญากร
Toshirô Mifune (1920 – 1997) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Qingdao, Shandong ประเทศจีน (Japanese-Occupied Manchuria) ปู่เป็นหมอสมุนไพร พ่อทำงานเป็นช่างถ่ายภาพ ตอนเป็นเด็กเก่งกีฬาคาราเต้ ยิงธนู และฟันดาบ จนพออายุ 19 จับได้ใบแดงเลือกทหารอากาศ เป็นนักถ่ายภาพ Aerial Photography ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้ปลดประจำการออกมา จึงสมัครทำงานที่ Toho Production ตำแหน่งผู้ช่วยตากล้อง แต่แล้วโชคชะตาเกิดพลิกผัน เมื่อบรรดานักแสดงในสังกัดสตูดิโอประท้วงไม่ทำงาน ย้ายไปอยู่สตูดิโอใหม่ Shin Toho ทำให้มีการเปิดรับนักแสดงหน้าใหม่จำนวนมาก เพื่อนของ Mifune แอบส่งใบสมัครพร้อมรูปถ่ายโดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่องมาก่อน จำใจต้องมา Audition พร้อมแสดงความเกรี้ยวกราดต่อหน้าผู้กำกับ Kajirō Yamamoto แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบประทับใจ จับเซ็นสัญญาและส่งต่อให้ผู้กำกับ Senkichi Taniguchi นำแสดงในผลงานเรื่องแรก Snow Trail (1947)
Kurosawa หนึ่งในผู้กำกับของสตูดิโอ Toho ในตอนแรกพยายามหลีกเลี่ยงไม่อยากเสียเวลาไปกับการ Audition ครั้งนั้น แต่เพราะได้รับคำยั่วยวนจากผู้กำกับ Hideko Takamine ว่ามีคนหนึ่งน่าสนใจมากๆ ทำให้เขาได้พบกับ Mifune เป็นครั้งแรก เกิดความตกตะลึง อึ่งทึ่ง ในพลังความเกรี้ยวกราดที่ราวกับสัตว์ป่าพยายามดิ้นให้หลุดจากกรงขัง
“a young man reeling around the room in a violent frenzy … it was as frightening as watching a wounded beast trying to break loose. I was transfixed.
I am a person rarely impressed by actors, but in the case of Mifune I was completely overwhelmed.”
– Kurosawa พูดถึง Mifune ในการพบเจอครั้งแรก
ทั้งสองได้ร่วมงานครั้งแรก Drunken Angel (1948) ประสบความสำเร็จไปด้วยกันกับ Rashōmon (1950), Seven Samurai (1954), Throne of Blood (1957), The Hidden Fortress (1958), Yojimbo (1961) จนครั้งสุดท้าย Red Beard (1965) รวมทั้งสิ้น 16 เรื่อง มักได้รับบทซามูไร, โรนิน, ยากูซ่า จนกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตา กระทั่งว่านิตยสาร Kinema Junpo จัดอันดับนักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ 20 ชื่อของ Toshiro Mifune ติดอันดับ 1 แบบไร้ข้อกังขา
รับบท Kingo Gondo (King Gondo) จากเคยออกแบบทำรองเท้าขายเองกับมือ ไต่เต้าจนกลายเป็นผู้บริหารบริษัท National Shoes สร้างบ้านอยู่บนเขาราวกับเป็นพระราชา มองเห็นเมือง Yokohama โดยทั่ว, วันหนึ่งได้รับการล็อบบี้จากอีกสามผู้บริหารให้ช่วยสนับสนุนเสียงโหวตในที่ประชุมผู้ถือหุ้น จักได้มีทิศทางการบริหารใหม่ที่ลดต้นทุนเน้นกำไรมากขึ้น แต่ Gondo ไม่ยอมลงเล่นเกมการเมืองนี้ด้วย เพราะตนเองมีแผนการที่จะกวาดซื้อหุ้นส่วนอื่นๆเพื่อฮุบกิจการเข้าเป็นของตนเองเพียงผู้เดียว แต่แล้วโชคชะตากลับพลิกผันทำให้เขาต้องเลือกตัดสินใจระหว่างจะนำเงินก้อนนั้นจ่ายค่าไถ่เพื่อช่วยเหลือเด็กชายลูกคนขับรถส่วนตัว หรือซื้อหุ้นที่ติดต่อไว้แล้ว จะได้ไปถึงความสำเร็จก้าวหน้าสูงสุดของชีวิต
เรื่องเงินเป็นสิ่งกล้ำกลืนพูดยากของคนยุคสมัยทุนนิยม ราวกับปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิต จำเป็นต้องมีเพื่อจับจ่ายใช้สอยครองชีพเอาตัวรอด ความลังเลใจของ Gondo เป็นสิ่งเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าเป็นลูกของเขาจริงๆที่ถูกลักพาตัว ร้อยทั้งร้อยจ่ายแน่ๆไม่พึ่งตำรวจด้วย แต่พอเป็นลูกคนอื่นสามารถเลือกไม่จ่ายก็ได้ กระนั้นด้วยมโนธรรมจิตสำนึกอันดี ภรรยา/คนรอบข้าง (หรือแม้แต่ผู้ลักพาตัว) ยังรับรู้เข้าใจ มันจึงเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้นที่จะใจอ่อน
Mifune เป็นนักแสดงที่มีความหลากหลายในการรับบทมากๆ ทั้งเป็นคนบ้าๆบอๆ, สงบนิ่งคมในฝัก, มาดเท่ห์โรแมนติก ฯ กับหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยความปั่นป่วนลังเลใจ แสดงออกผ่านทางสีหน้า ท่าทาง (ถูมือไปมา) การเคลื่อนไหว (เดินไปมา) และคำพูดจา (ร้อนรน) มีความทรงพลังเอ่อล้นสัมผัสออกมาได้นอกจอ แม้เรื่องนี้จะมีบทเด่นๆแค่ครึ่งแรก แต่จะทำให้หัวใจคุณเต้นไม่หยุด สงสารทรมานแทน ลุ้นให้สามารถผ่านวันๆอันเลวร้ายนี้ไปได้อย่างปลอดภัย
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดของ Mifune ไม่ใช่ช่วงกระแทกอารมณ์ทั้งหลาย แต่คือตอนให้ภรรยานำกระเป๋าอุปกรณ์ช่างมาให้ แล้วทำการแก้ไขเปิดช่องกระเป๋า ‘In the old days, shoemakers made cases too.’ นั่นทำให้ผู้ชมและทุกคนในฉากนั้นรับรู้เลยว่า ก่อนที่ตัวละครจะประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทองระดับนี้ ครั้งหนึ่งก็เริ่มจากเป็นคนธรรมดาใช้แรงงานไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ นั่นคือเงินที่เขาสรรหามาด้วยหงาดเหงื่อแรงกายของตนเองทั้งนั้น ทุกคนในฉากลุกขึ้นยืนอึ้งทึ่งแบบคาดไม่ถึง
ความเจ๋งของช็อตนี้คือการถ่ายมุมเงยขึ้นเล็กน้อย รองเท้าวางกองอยู่ด้านหน้า และ Mifune นั่งอยู่ด้านหลัง ไล่ระดับขึ้นไป นัยยะไม่ได้สื่อถึงแค่ตัวละครมีอาชีพทำรองเท้าเท่านั้น แต่การเงยขึ้นยังหมายถึงการไต่เต้าขึ้นสูง (รองเท้าเป็นของต่ำ ใบหน้าคนเป็นของสูง)
Tatsuya Nakadai (1932 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น, เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวที่ยากจนมาก ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง มีความชื่นชอบ John Wayne และ Marlon Brando จากเคยเป็นตัวประกอบเล็กๆ ซามูไรเดินผ่านใน Seven Samurai (1954), มีผลงานประสบความสำเร็จ อาทิ The Human Condition Trilogy, Harakiri (1962), Samurai Rebellion (1967), Kwaidan (1965) ฯ ร่วมงานกับ Kurosawa ทั้งหมด 5 ครั้ง Yojimbo (1961), Sanjuro (1962), High and Low (1963), Kagemusha (1980) และ Ran (1985)
รับบท Chief Detective Tokura หัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนการลักพาตัวครั้งนี้ แม้แรกๆจะไม่ได้ใคร่เห็นใจ Kingu Gondo แต่เมื่อพบเห็นตัวตนก็ยอมรับนับถือในน้ำใจ พยายามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แม้ช่วงแรกจะไล่ไม่ทันอาชญากรสักเท่าไหร่ รอคอยจนผู้ต้องสงสัยทำผิดพลาดตามติดจนพบเจอ และใช้วิธีการไม่ใช่แค่จับได้ วางแผนให้เขาก่ออาชญากรรมอีกคดี จะได้ให้โทษอย่างหนักรุนแรงที่สุด
หลายคนคงจดจำภาพลักษณ์ของ Nakadai ตัวร้ายโคตรโหดโฉด จาก Yojimbo กับ Sanjuro แต่เรื่องนี้รับบทเป็นคนดี นายตำรวจผู้ให้การช่วยเหลือฝั่งเดียวกับ Mifune วางมาดนิ่งเยือกเย็น น้ำเสียงเรียบๆราวกับคนไร้อารมณ์ความรู้สึก นี่คงเป็นลักษณะวางตัวเป็นกลาง ไม่เอาอารมณ์ผสมเข้าใส่ในการทำคดี กระนั้นวัดจากโทนเสียงเมื่อเริ่มยอมรับนับถือ Gondo ทำคดีนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและตอบแทนน้ำใจอันดีงามที่หาได้ยากยิ่งในสังคม (และเพื่อไม่ให้คนชั่วช้าสามานย์ขนาดนี้ลอยนวลรอดพ้นไปได้ด้วย)
Tsutomu Yamazaki (เกิดปี 1932) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsudo, Chiba เข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง Westward Desperado (1960) โด่งดังกับการรับบทตัวร้ายใน High and Low (1963) ร่วมงานกับ Kurosawa อีกสองครั้ง Red Beard (1965) และ Kagemusha (1980) ผลงานเด่นอื่นๆ The Funeral (1984), The Funeral (1984), Farewell to the Ark (1984), Tampopo (1985), Go (2001), Departures (2008), Space Battleship Yamato (2010) ฯ
รับบท Ginjirô Takeuch นักเรียนแพทย์ฝึกหัด (Intern) อนาคตไกล แต่กลับคิดสั้นด้วยการวางแผนเรียกร้องค่าไถ่จากการลักพาตัวลูกชายของ Kingu Gondo แม้จะผิดตัวแต่ก็สถานการณ์ยังคงเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ กระนั้นด้วยตัวเลือกผู้ช่วยที่เขาใช้คือคนติดยา (เฮโรอีน) คงมองว่านี่คือเศษสวะของสังคม จับมาทดลอง ใช้งานเสร็จแล้วกำจัดทิ้งก็ไม่รู้สึกผิดอะไร
กระนั้นในความเป็นจริง Takeuch เป็นเพียงชายหนุ่มขี้อิจฉา เพียงเพราะพบเห็นบ้านของ Kingu Gondo ที่หรูหราสะดวกสบายราวกับสรวงสวรรค์ เทียบตนเองที่อยู่ในสลัมเหมือนขุมนรก จึงเกิดความโลภละโมบอยากได้แบบนั้นบ้าง โดยมิได้ครุ่นคิดสนหัวใจ ว่าเงินเหล่านั้นมาจากไหนต้องใช้ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากสักเท่าไหร่ เมื่อถูกจับได้ไล่ทันก็ยังดื้อรั้นปฏิเสธ แต่นั้นก็เพียงลมปาก เพราะร่างกายแสดงความหวาดหวั่นกลัวตาย สั่นสะท้านออกมาจากข้างในจนมิอาจควบคุมได้
ผมเคยรับชมผลงานของ Yamazaki แต่ในช่วงสูงวัย เป็นชายชราที่มักเป็นผู้ช่วยพระเอก และมี Charisma อันน่าเคารพเกรงขาม ไม่ยักรู้ว่าจุดเริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้ที่เป็นตัวร้าย ก่ออาชญากรรมโดยไร้จิตสำนึก โหดโฉดชั่ว แต่พอถูกจับได้ก็แสดงความหวาดหวั่นกลัวสั้นสะท้านออกจากภายใน ควบคุมไม่ได้จึงแทบบ้าคลั่งเสียสติ ทรงพลังไม่ย่อหย่อนไปกว่าตอนที่ Mifune หวาดกลัวขี่เยี่ยวเร็ดราดจากหนังเรื่อง Throne of Blood (1957)
เกร็ด: ฉากจบเดิมในนิยาย พระเอกได้เงินคืนแล้วนำไปกวาดซื้อหุ้นของตนเองคืนมา จะไม่มีพบเจอในคุกแบบตอนจบของหนัง ซึ่งต้องบอกเลยว่าทรงพลังเจ๋งกว่ามาก
ถ่ายภาพโดย Asakazu Nakai ตากล้องขาประจำของ Kurosawa, ปกติแล้วจะใช้กล้องหลายตัวเก็บภาพจากหลายมุมมองในคราเดียว แต่หนังเรื่องนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน ก็ไม่รู้จะไปหลบมุมกล้องตรงไหน
ฉากภายนอกถ่ายทำยังสถานที่จริงตามท้องถนน Yokohama, Kanagawa ส่วนฉากภายในทั้งหมดสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Toho ที่ Tokyo
นี่อาจสร้างความฉงนให้ผู้ชมเล็กๆ เพราะอย่างช็อตนี้ที่บ้านของ Kingu Gondo ใครๆย่อมคิดว่าถ่ายทำสถานที่จริง หรือไม่ก็เป็นการฉายภาพจาก Rear Projection, แท้จริงแล้วเป็นโมเดลจำลองขนาดเล็ก สร้างขึ้นเลียนแบบเมือง Yokohama ขึ้นมาเลย แถมยังมีกลไกลูกเล่นมากมาย (ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะช่วงขณะถ่ายทำหิมะกำลังตกหนัก ไม่สามารถควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศได้เลย)
ช็อตนี้ถ้าใช้ Rear Projection คงออกมาไม่สวยเท่าแน่ เพราะเมื่อเป็นโมเดลจำลอง จุดแสงที่มองเห็นทั้งหมดย่อมมาจากการใช้หลอดไฟดวงเล็กๆ ติดตั้งในโมเดลบ้าน
และฉากที่ถ่ายทำด้วยฟีล์มสีช็อตเดียวของหนัง แล้วไปทำการชะล้างออกด้วยสารเคมีบางตัว (เพื่อลบสีอื่นออกให้หลงเหลือแค่ควันแดงโพยพุ่ง) ที่พอด้านหลังเป็นโมเดลจำลอง ก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ในการเตรียมการ ถ้าเก็บภาพจากสถานที่จริง กว่าจะขออนุญาตสำเร็จคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆแน่นอน
เกร็ด: เทคนิคนี้ภาพช็อตนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบอย่างให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Schindler’s List (1993), Sin City (2005) ฯ
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Kurosawa ในครึ่งแรกของหนัง โดดเด่นมาในเรื่องทิศทาง ตำแหน่ง การหันหน้า และเคลื่อนไหวของตัวละคร ใช้ประโยชน์จากภาพ Tohoscope (Anamorphic Widescreen) ได้อย่างเต็มที่
สองตัวละครยืนคนฝั่งของหน้าภาพ สะท้อนถึงความเป็นความเป็นคนละขั้วทางจิตใจ
นี่เป็นช็อตสมบูรณ์แบบที่สุดของหนัง แต่ละคนแบบว่าหันหน้าคนละทิศละทาง เลือกตำแหน่งได้น่าพิศวงมาก
– สองตัวละคร Aoki (คนขับรถ) และ Kingu Gondo หันหน้าเข้าหาผ้าม่าน/กำแพง (ชีวิตพบเจอทางตันหาทางออกไม่ได้)
– ภรรยา Gondo ก้มหน้าก้มตาร้องไห้
– ตำรวจนักสืบทั้งหลายหันหลังให้ พวกเขายังอยู่ในสภาวะไม่ยอมรับ Kingu Gondo
– มีเพียง Kawanishi (ลูกน้องของ Gondo) ที่หันหน้าเข้าข้าหา มองอย่างเหนื่อยหนักจิตหนักใจแทน
หลายครั้งของหนังมีลักษณะของการจัดเฟรมฉาก ตัวละครกลุ่มหนึ่งแอบอยู่ข้างๆ ในสายตาพวกเขามองเข้าไป (ในกรอบรูป) พบเห็นเรื่องราวของตัวละครอีกกลุ่มหนึ่ง
บรรดาตำรวจสายสืบมองเข้าไปในห้อง พบเห็นขณะที่ Gondo ตัดสินใจช่วยเหลือลูกของคนขับรถ
นี่ก็เหล่าตำรวจสายสืบมองเข้าไปอีกห้อง พบเห็น Gondo กำลังสูญเสียตำแหน่งการงานของตนเอง
ช่วงประมาณกึ่งกลางเรื่อง ภาพบ้านพักของ King Gondo เมื่อสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง สะท้อนกับผิวน้ำในลำธารที่มีความสกปรกโสโครก มีนัยยะถึงจากเคยอาศัยอยู่ในสรวงสวรรค์ ถูกฉุดดึงให้ตกต่ำลงนรกบนดินไปเรียบร้อยแล้ว
ในการทำงานของตำรวจ ฉากในห้องประชุมเป็นอะไรที่ร้อนมาก … แต่เดี๋ยวนะหนังถ่ายทำในช่วงฤดูหนาวไม่ใช่เหรอ ไฉนภาพที่เห็นกลับตารปัตรกันขนาดนั้น
ไดเรคชั่นช็อตนี้เจ๋งใช้ได้เลย ขณะที่นักสืบคนหนึ่งกำลังนั่งฟังเทปบันทึกเสียงสนทนาโทรศัพท์ ภาพถ่ายผ่านม่านไม้ไผ่ แต่พอถึงวินาทีที่เขาคิดว่าได้เบาะแสอะไรบางอย่าง กล้องเคลื่อนต่ำลงเห็นใบหน้าแบบชัดๆไม่มีอะไรบดบัง เป็นการสะท้อนนัยยะถึงความกระจ่างแจ้ง ไร้สิ่งกั้นขวางบดบังข้อเท็จจริง
ความนัวร์ของหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นใน Sequence ติดตามผู้ต้องสงสัย Ginjirô Takeuchi โดดเด่นเรื่องการจัดแสงเงาและภาพสะท้อนจากแว่นตาดำ เป็นการมุ่งสู่จุดจบ/ความมืดของ Takeuchi
เกร็ด: เรื่องราวช่วงนี้มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับโคตรหนังนัวร์อย่าง Double Indemnity (1944), Out of the Past (1947) แต่ถ้าจะไล่ย้อนกลับไปไกลสุดคงคือ M (1931)
ตำรวจในรถไล่ล่า (นึกว่าโจรนะเนี่ย) ใช้เฉพาะไฟสป็อตไลท์สาดส่องจากด้านหลัง ทำให้ใบหน้าของพวกเขาย้อนแสง มืดมิดสนิทมองไม่เห็นใครเป็นใคร (แต่ก็พอคาดเดาได้ เพราะแต่ละคนมีเอกลักษณ์เด่นชัดเหลือเกิน), ช็อตนี้มีนัยยะถึง สิ่งที่พวกเขาทำอยู่มันผิดกฎหมาย แต่เพราะคนร้ายหมอนี่มันโฉดชั่วจริงๆ สมควรต้องคาหนังคาเขา จะทำให้ได้รับโทษรุนแรงสูงสุด
(มาครุ่นคิดดูดีๆ ตำรวจพวกนี้ก็แอบคอรัปชั่นอยู่เหมือนกันนะเนี่ย!)
ผมคิดว่าฉากนี้คงใช้การซ้อนทับ หรือไม่ก็ตัดฟีล์มออกเฉพาะตำแหน่ง เป็นเทคนิคเดียวกับที่ Alfred Hitchcock ซ้อนภาพสะท้อนกล้องส่องทางไกลในหนังเรื่อง Foreign Correspondent (1940)
ฉากสุดท้ายของหนัง การเผชิญหน้ากันระหว่าง Gondo กับ Takeuchi สิ่งที่โดดเด่นมากๆคือภาพสะท้อนกันและกันในกระจก เหมือนว่าพวกเขาอยู่ในช็อตเดียวกัน (แต่ต่างคนต่างอยู่ในฝั่งของตนเอง) นัยยะของมันคือ พวกเขาทั้งสองราวกับเป็นคนๆเดียวกัน ซึ่ง
– ในช็อตของ Gondo ภาพสะท้อนของ Takeuchi จะอยู่ด้านหลัง
– แต่ถ้าเป็นช็อตของ Takeuchi ภาพสะท้อนของ Gondo จะอยู่ด้านหน้า
ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Takeuchi จะยื่นหน้าเข้าใกล้
– ทำให้ในช็อตของ Gondo ภาพสะท้อนของ Takeuchi จะย้ายมาอยู่ด้านหน้า
– และช็อตของ Takeuchi ภาพสะท้อนของ Gondo จะอยู่ด้านหลัง
การสลับตำแหน่ง สะท้อนถึงช่วงขณะที่ Takeuchi ลักพาตัวเด็กชายเรียกร้องค่าไถ่ เสมือนว่ามีไพ่ในมือเหนือกว่า แต่ไม่นานถัดจากนั้นทุกสิ่งอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม เมื่อ Takeuchi หวนกลับไปพิงพนัก ตำแหน่งของพวกเขาก็จะกลับมาเหมือนตอนแรกสุด
ตัดต่อโดย Akira Kurosawa, หนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน จะเรียกว่า High กับ Low เลยก็ยังได้
ครึ่งแรกช่วง High ในมุมมองของ Kingu Gondo เรื่องราวจะวนเวียนอยู่ในห้อง/บ้านพักบนเนินเขาสรวงสวรรค์ และการตัดสินใจช่วยหรือไม่ช่วยเหลือเด็กชาย (ราวกับเป็นการต่อสู้ขัดแย้งทางความคิดของตัวละคร)
ครึ่งหลังช่วง Low หล่นลงมาจากสวรรค์ เป็นมุมมองของตำรวจสายสืบไม่ระบุคน ออกเดินทางไปทั่วเพื่อติดตามหาเบาะแส และหลายครั้งในสายตาของผู้ร้าย Ginjirô Takeuchi มักเงยหน้ามองขึ้นไปด้านบน
สิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างสองส่วน คือคณะตำรวจสายสืบ ซึ่งตัวละคร Gondo ที่มีบทบาทมากในครึ่งแรก แทบจะไร้ความสำคัญใดๆในช่วงหลัง ขณะที่ผู้ร้าย Takeuchi จากเคยได้ยินแค่เสียง ก็จักพบเห็นตัวตน รับรู้เรื่องราวพื้นหลัง ข้อเท็จจริง และปิดท้ายด้วยแรงจูงใจในการกระทำ
ช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนังกับการไล่ล่าติดตามผู้ร้ายของเหล่าตำรวจสายสืบ มีการตัดสลับเปลี่ยนมุมมอง/หลากหลายตัวละคร ผู้ร้าย-สายสืบที่ออกติดตาม-หัวหน้าที่นั่งอยู่ในรถ ไม่ได้ตัดอย่างรวดเร็วฉับไวนัก แต่ควบคู่กับการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่มีลีลาต่อเนื่อง เพิ่มสัมผัสความตื่นเต้นลุ้นระทึก Suspense ผู้ชมมิอาจคาดเดาได้ถูก ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
เพลงประกอบโดย Masaru Sato (1928 – 1999) จากที่เคยเป็นวาทยากรกำกับวงออเครสต้าให้ Fumio Hayasaka ตอน Seven Samurai (1954) ปีถัดมาหลังจาก Hayasaka เสียชีวิตขณะกำลังทำ I Live in Fear (1955) เลยได้รับโอกาสให้สานงานต่อ จากนั้นกลายเป็นขาประจำของ Kurosawa ตั้งแต่ Throne of Blood (1957) จนถึง Red Beard (1965)
ความบ้าคลั่งของ Main Theme ที่ทำให้ผู้ชมขนหัวลุกซู่ชูชันตั้งแต่วินาทีแรก คือเสียงกรีดร้องโอเปร่าแหลมปี๊ดสั่นสะท้าน ความสูงของน้ำเสียงและพิณ น่าจะแทนด้วยความ High สรวงสวรรค์ของคนชนชั้นสูงตรงๆเลยละ แต่สัมผัสช่วงนี้ยิ่งสูงยิ่งหนาว หลอนๆยังไงชอบกล, ขณะที่ Low คงเปรียบได้กับเสียงโน๊ตต่ำ ทุ้มเบสทั้งหลาย ให้สัมผัสของบางสิ่งอย่างที่พยายามเอื้อมไขว่คว้าสิ่งที่อยู่สูงกว่าให้ได้มาครอบครอง และอยู่ดีๆก็มีท่อนหนึ่งดังแปร๋นขึ้นมา ราวกับความสำเร็จ จุดตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง High และ Low แต่มันคืออะไรกันละ??
ความติสต์จัดของ Sato ยังไม่หมดลงเท่านี้ นี่ผมก็ไม่รู้จะเรียกสไตล์เพลงลักษณะนี้ว่ากระไรดี Avant-Garde? หยอดเหรียญใส่ตู้เพลง แล้วเสียงดนตรีนี้ดังขึ้น พากันไปเต้นรำเหมือนคนเมายา แต่ไม่ใช่เสพติด สะท้อนถึงความลุ่มหลงในเงามายาของเงินทอง และระบอบแฟชั่นทุนนิยม
บทเพลงไม่ใช่องค์ประกอบที่โดดเด่นสักเท่าไหร่ของหนัง เหมือนว่าผู้กำกับจะมุ่งเน้นความสมจริงของเรื่องราวและการแสดงออกมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นใช้จะเป็นในช่วงตัวละครไม่ได้มีบทพูดคุยสนทนา หรือในผับบาร์ เพื่อเติมเต็มฉากและเสียงที่ขาดหายไปในบางครั้ง
“success isn’t worth losing your humanity,”
คำพูดหนึ่งของ Reiko ภรรยาของ Kingu Gondo นี่คงเป็นสาสน์ที่ผู้กำกับ Akira Kurosawa นำเสนอเป็นใจความสำคัญของหนัง
– Gondo พยายามดื้อรั้นทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สูญเสียฐานะเงินทอง การงาน ชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่สุดท้ายเขาเลือก ‘Humanity’ ความมีมนุษยธรรมเหนือสิ่งใด, สังเกตว่าหลังจากเหตุการณ์นั้น แม้จะกลายเป็นคนตัดหญ้าในสวน ถูกไล่ออกจากงาน กำลังจะสูญเสียบ้าน แต่ตัวเขาช่างมีความสงบสุขุม ทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น
– ตรงกันข้ามกับ Ginjirô Takeuchi จากที่เป็นคนเคยเฉลียวฉลาด รอบคอบ เล่นเกมจิตวิทยากับ Gondo ได้อย่างลึกล้ำ แต่หลังความสำเร็จจากการลักพาตัวครั้งนี้ ทำให้เขาค่อยๆสูญเสียทุกสิ่งอย่าง เกิดความหวาดระแวง ร้อนรน จนสุดท้ายเมื่อถูกจับได้อยู่ในคุก ร่างกายสั่นสะท้านบ้าคลั่งจนมิอาจควบคุมสติให้คงอยู่
สิ่งที่เกิดขึ้นใน High and Low สามารถสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งเสรีทุนนิยม เงินทองทำให้มนุษย์เกิดความโลภละโมบเห็นแก่ตัว เพราะเจ้าสิ่งนี้ได้ถูกปลูกฝังเสี้ยมสอนสู่คนรุ่นใหม่ตามค่านิยมยุคสมัย อ้างว่าสามารถนำไปแลกซื้อความสุขสำราญ สะดวกสบาย ท้องอิ่มหนำ ปรนเปรอกิเลสตัณหาความต้องการได้แทบทุกสิ่งอย่าง นี่มันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ‘มิจฉาทิฏฐิ’ หรอกหรือ?
มิจฉาทิฏฐิ คือการความเห็นผิดเป็นชอบ เป็นคำเรียกเหมารวมบุคคลผู้ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม นรก-สวรรค์ ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาครุ่นคิด ปล่อยให้อวิชชาครอบงำ กระทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองกิเลสตัณหาความต้องการของตนเพียงหน่ายเดียว
คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า Takeuchi คือบุคคลผู้เต็มเปี่ยมด้วยมิจฉาทิฏฐิ เกิดแนวคิดความเข้าใจอะไรผิดๆมากมาย ถลำลึก พยายามปฏิเสธต่อต้านขัดขืน แต่สุดท้ายก็มักมิอาจฝืนต่อความจริงที่อยู่ภายในจิตใจตนเอง เมื่อวาระสุดท้ายมาเยี่ยมเยือน สำนึกผิดเอาตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว (รอชดใช้กรรมเสร็จ ชาติถัดๆไปก็แล้วกัน)
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Gondo จะไร้ซึ่งความมิจฉาทิฏฐิ ตัวเขาถือเป็นคนหนึ่งที่ถูกอิทธิพลของระบอบทุนนิยมเข้าครอบงำ ซึ่งมันก็พยายามเหนี่ยวรั้งอย่างเต็มที่ไม่ยอมให้จากไป แต่สุดท้ายแล้วเมื่อจิตใจรับได้ในโชคชะตาความซวยของตนเอง ปลดปล่อยวางความทุกข์ทรมานที่เหนี่ยวรั้งไว้ ทำให้คลายจากความยึดถือมั่น พบเจอความสุขสงบขึ้นภายในจิตใจเล็กๆ ล้มแล้วลุกขึ้นสู่ใหม่ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งวงจรวัฏจักรชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องได้พบเจอ
ทัศนคติของมนุษย์ยุคทุนนิยมสมัยนี้ ต่างใหลในเงินทอง ชื่อเสียง ความสุขสบาย ราวกับปัจจัยที่ห้า สำคัญยิ่งกว่าจิตสำนึกมโนธรรมที่มีให้ต่อกันเสียอีก … คือมันก็ไม่ผิดอะไรที่มนุษย์จะมีความหลงใหลในสิ่งพวกนี้นะครับ แต่ศาสนาพุทธมีคำเรียกคนเหล่านี้ว่าคือ ‘ผู้ตกอยู่ในความประมาท’ เพิ่งมารู้สำนึกตอนเสียชีวิตตายไปแล้ว เมื่อตัวเองทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่ในนรกเป็นหมื่นๆล้านๆปี นั่นก็สายเกินใครผู้ใดจะช่วยเหลือได้นะ
High and Low สูง-ต่ำ สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว หยิน-หยาง สองขั้วตรงกันข้ามคล้าย เกิด-ตาย วนเวียน-เวียนวน คือวัฎจักรแห่งชีวิต ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถหลีกหนีเอาตัวรอดได้พ้น เป็นคนรวยก็ใช่ว่าจักพบเจอความสุขสบายตลอดเวลา ยิ่งมีเงินมากก็อาจยิ่งทุกข์หนัก ขณะที่คนจน ทุกข์เพราะความอยากมี หิวโหยทำให้ทรมาน, แล้วจะมีหนทางอะไรไหนที่ทำให้เราสามารถค้นพบความสุขแท้ได้บ้าง
สิ่งที่ผู้กำกับ Kurosawa ครุ่นคิดให้คำตอบกับปัญหานี้ นำเสนอออกมาในฉากสุดท้าย การเผชิญหน้าระหว่างสองขั้วตรงข้าม Gondo-Takeuchi ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ชมเลือกข้างใดฝั่งหนึ่ง แต่จับจ้องมองค้นหาความสมดุลกึ่งกลางของพวกเขา อะไรดีธำรงไว้ อะไรชั่วเก็บกดซ่อนเร้น
มนุษย์ทุกคนล้วนมีดีชั่วผสมปะปนเปอยู่ในตนเอง แต่การใช้ชีวิตแสดงออก ‘สติ’ เท่านั้นจักสามารถควบคุมทั้งสองด้านของตนเองให้อยู่ในความสมดุล เมื่อเรารู้จักความเพียงก็จะไม่ต้องการอะไร พอแล้วชีวิตจักพบเจอความสงบสุข มันอาจไม่ใช่ชั่วนิรันดร์ แต่แค่เบื้องต้นชาตินี้ไม่ทุกข์ทรมาน ก็เพียงพอแล้วมิใช่ฤา
เกร็ด: ชื่อหนังภาษาญี่ปุ่น Tengoku to Jigoku แปลว่า Heaven and Hell
ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่สามารถทำเงินทุบสถิติ Sanjuro (1962) กลายเป็นภาพยนตร์รายรับสูงสุดในญี่ปุ่น สามเรื่องติดของผู้กำกับ Kurosawa
แม้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในระดับนานาชาติ แต่ได้เข้าชิง Golden Globes สาขา Best Foreign Film พ่ายให้กับ Any Number Can Win (1963) หนังสัญชาติฝรั่งเศสของผู้กำกับ Henri Verneuil
หลังหนังออกฉาย โดยไม่รู้ตัวปลุกกระแสอาชญากรลักพาตัวเด็กๆให้เพิ่มสูงขึ้น ขนาดว่าผู้กำกับ Kurosawa ยังเคยได้รับจดหมายข่มขู่ว่าจะลักพาตัวลูกสาวของเขา
“With High and Low, I wanted to inspire tougher sentences on kidnappers. Instead, I was criticized for their increase.”
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในการแสดงของ Toshiro Mifune และไดเรคชั่นการกำกับของ Akira Kurosawa สะท้อน ตีแผ่ วิพากย์ปัญหาสังคมได้อย่างสมจริง
ลึกๆแล้วผมไม่ค่อยชอบที่หนังยาวเกินไปพอสมควร ครอบคลุมหลายอย่างมากเกินไป โดยเฉพาะช่วงของการสืบสวนติดตามคดี มีหลายประเด็นไม่สำคัญเท่าไหร่สามารถตัดออกได้เยอะ แต่เหมือน Kurosawa กลัวว่าผู้ชมจะไม่ได้รับสัมผัสถึงความ ‘ยาก’ ในการทำงานของตำรวจ เลยใส่มาทุกสิ่งอย่าง (แต่หลายคนอาจชื่นชอบส่วนนี้ของหนังมากๆ ถือเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวไปนะครับ)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ระหว่างรับชมผมเกิดสองคำถาม
– ลูกหลาน/ภรรยา/เครือญาติคนรู้จักถูกลักพาตัว ถ้าเรามีเงินจะยินยอมจ่ายค่าไถ่หรือเปล่า?
– คนไม่รู้จัก/เพื่อนร่วมงาน ไม่ได้สนิทชิดเชื้อมากนัก ขอความช่วยเหลือยืมเงิน/จ่ายค่าไถ่ จะยอมให้หรือเปล่า?
ผมนึกถึงหนังอีกเรื่องที่กำลังจะเข้าฉาย All the Money in the World (2017) ของผู้กำกับ Riley Scott ที่ตัวละครหนึ่งร่ำรวยล้นฟ้า แต่กลับปฏิเสธยืนกรานกร้าว ไม่มีวันจ่ายค่าไถ่ให้ลูกหลานของตนเองเป็นอันขาด!
ผมไม่ขอตอบแล้วกันนะครับว่าตัวเองคิดตัดสินใจได้คำตอบอย่างไรในประเด็นนี้ อยากให้เป็นเรื่องของวิจารณญาณของคุณเอง นี่แหละโลกทุนนิยม เงินกลายเป็นสิ่งมีคุณค่าเหนือคุณธรรมจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ ผู้สืบสวนคดี, ชื่นชอบภาพยนตร์แนวอาชญากรรม มีส่วนผสม Film Noir, แฟนๆผู้กำกับ Akira Kurosawa และนักแสดง Toshiro Mifune, Tatsuya Nakadai, Tsutomu Yamazaki ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความคอรัปชั่น บรรยากาศกดดัน บีบคั้น และความชั่วช้าสามานย์ของตัวร้าย
Leave a Reply