Hiroshima mon amour

Hiroshima mon amour (1959) French : Alain Resnais ♥♥♥♥♡

เมื่อแทนตัวละครของ Emmanuelle Riva ด้วยประเทศฝรั่งเศส และ Eiji Okada คือประเทศญี่ปุ่น ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปรียบได้กับจดหมายรัก ที่เขียนบอกว่าเราจะไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Hiroshima เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Alain Resnais ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสาตอม่อ (Cornerstone) แห่งยุคสมัย French New Wave ด้วยการทดลองที่เรียกว่า Nonlinear Narrative อยากเล่ายังไงก็เล่า เอาโน่นนี่มาตัดแปะประติดประต่อ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต มิได้เรียงลำดับต่อเนื่องกัน โดยมีลักษณะหวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต (troubled memory และ imagined past)

Alain Resnais (1922 – 2014) ผู้กำกับและนักเขียนบทสัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นจากการเป็นนักตัดต่อในช่วงกลางทศวรรษ 40s ได้รับโอกาสกำกับหนังสั้น/สารคดีสั้น ที่มีชื่อเสียงคือ Night and Fog (1955) ความยาว 32 นาที นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันของนาซี (Holocaust documentary) ซึ่งถือว่าเป็นสารคดี/ภาพยนตร์สั้น เรื่องแรกๆของโลกที่นำเสนอ ‘horrors of war’ ความโหดร้ายของสงคราม

แม้คนส่วนใหญ่จะถือว่า Resnais เป็นหนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave แต่เจ้าตัวกลับรู้สึกไม่เข้าพวกเท่าไหร่ แค่บังเอิญกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในช่วงเวลาที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแนวคิดของภาพยนตร์ขึ้นเท่านั้น

“Although I was not fully part of the New Wave because of my age, there was some mutual sympathy and respect between myself and Rivette, Bazin, Demy, Truffaut … So I felt friendly with that team.”

Resnais ถือตัวเองเป็นพวก Left Bank (ขวาจัด) เสียด้วยซ้ำ พวกเดียวกับ Agnès Varda, Chris Marker ฯ สำหรับผลงานที่จัดว่ามีลักษณะอยู่ในยุคสมัยนี้ มีทั้งหมด 3 เรื่อง Hiroshima mon amour (1959), Last Year at Marienbad (1961) และ Muriel (1963)

เกร็ด: ผู้กำกับในยุค French New Wave มีทั้งหมด 3 กลุ่มย่อย
1. ที่มาจากสายนักวิจารณ์ของ Cahiers du cinéma อาทิ Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, Éric Rohmer (บางทีเรียกว่า Right Bank)
2. ผู้กำกับฝั่ง Left Bank (ทำหนังแฝงการเมืองฝั่งขวา) อาทิ Henri Colpi, Jacques Demy, Chris Marker, Alain Resnais, Agnès Varda ฯ
3. ที่ไม่เข้าพวก อาทิ Claude Lelouch, Jean-Pierre Melville, Jean Eustache, Luc Moullet ฯ

ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะโชคชะตาวาสนาล้วนๆ คือหลายวันก่อนที่เขียนถึง Amour (2012) ของผู้กำกับ Michael Haneke นำแสดงโดย Emmanuelle Riva ที่มีผลงานเรื่องนี้เรื่องแรกที่โด่งดังสุด (ว่ากันว่าเหตุที่ Haneke เลือก Riva เพราะประทับใจการแสดงของเธอจากเรื่องนี้) และภาพยนตร์อนิเมชั่น 3 เรื่องถัดมาที่ผมเขียนคือ In This Corner of the World (2016), Grave of the Fireflies (1988), Barefoot Gen (1983) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และ Hiroshima ทั้งหมดเลย จึงเกิดความรู้สึกที่ว่าต้องหา Hiroshima mon amour มารับชมให้ได้

นี่เป็นหนังที่ดูค่อนข้างยาก มีความเข้าใจอย่างหนึ่งถ้าคุณสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่องก็จะรับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นก็มักคิดว่าเป็นหนังรักโรแมนติกของหญิงชาวฝรั่งเศสกับหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่มีพื้นหลังเรื่องราวเกิดขึ้นที่ Hiroshima หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธรรมดาแค่นี้, มันไม่ผิดนะครับที่จะเข้าใจแบบนี้ แต่มันแปลว่าคุณยังห่างไกลความเข้าใจ ความตั้งใจแท้จริงของผู้กำกับอยู่มากนัก

จริงๆหนังมีคำใบ้เฉลยอยู่ตอนจบแล้วด้วยนะครับ เมื่อทั้งสองพูดประโยคสุดท้ายว่า
หญิงสาว: Hi-ro-shi-ma. Hiroshima. That is your name.
ชายหนุ่ม: Yes, that is my name. And your name is Ne-vers. Ne-vers, in France.

ถึงจุดนี้มันก็โต้งๆเป็นคำอธิบายของหนังแล้วนะครับ ว่านี่ไม่ใช่หนังรักโรแมนติกของหนุ่มสาว แต่มีนัยยะถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Hiroshima และประเทศฝรั่งเศส, ดูรอบเดียวไม่เข้าใจลองกลับไปรับชมใหม่อีกรอบ แล้วแทนตัวละครทั้งสองด้วยสิ่งที่ผมว่ามาตั้งแต่ต้น หลายๆอย่างจะดูสมเหตุสมผล กระจ่างชัดขึ้นมามากทีเดียว

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจาก Resnais ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโปรเจคสารคดีสั้นเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู ได้รับทุนสร้างร่วมระหว่างฝรั่งเศสกับญี่ปุ่น แต่เขาไม่อยากซ้ำรอย Night and Fog (1955) ที่เคยสร้างมาก่อนหน้า ด้วยการแค่เปลี่ยนพื้นหลังเรื่องราวเฉยๆ จึงได้เข้าไปคุย (แบบเล่นๆ) กับโปรดิวเซอร์ว่าโปรเจคนี้ต้องได้ Marguerite Duras เป็นผู้เขียนบทเท่านั้นถึงจะสร้างได้ ซึ่งปรากฎว่า Duras ยอมตกลงเข้ามาพัฒนาบทภาพยนตร์ให้

เกร็ด: เดิมนั้น Marguerite Duras เป็นนักเขียนนิยาย แต่เพราะถูก Resnais ชักชวนให้มาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่อมาเธอจึงได้กลายเป็นผู้กำกับ Left Bank ฝั่งเดียวกับเขา

ความคับข้องใจของ Resnais เกิดจากการที่เขาไม่เคยไปญี่ปุ่น ไม่เคยรู้จักคนญี่ปุ่นสักคน นี่แตกต่างจากนาซีที่ถือว่าใกล้ตัวมากๆ รับรู้พบเห็นความชั่วร้ายมากับตาตัวเอง นั่นทำให้เกิดคำถามที่จะเราจะได้ยินซ้ำไปซ้ำมาในหนังช่วงแรก “You saw nothing in Hiroshima. Nothing.” แม้หญิงสาวจะพูดว่า “I saw everything. Everything.” นี่เป็นคำพูดที่มีนัยยะบอกว่า ต่อให้เราเห็นสิ่งต่างๆอะไรมากมายที่เกิดขึ้นใน Hiroshima แต่เพราะการไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ประสบพบเจอสิ่งต่างๆด้วยตนเอง นี่แปลว่าคุณไม่มีวันรู้เห็นเข้าใจอะไรทั้งนั้น

แล้วมันจะมีวิธีอะไรที่สามารถนำเสนอสื่อสารทางภาพยนตร์ แล้วทำให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ จดจำ มองเห็นเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแท้จริงกับ Hiroshima นี่ต้องอาศัยส่วนของดราม่าเข้าช่วย คือเรื่องราวอดีตของนางเอกที่สะท้อนและมีอะไรหลายๆอย่าง คล้ายคลีงกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน Hiroshima

กับชาวยุโรปการเปรียบกับนาซีคงเป็นเรื่องเข้าใจง่ายที่สุด หญิงสาวตกหลุมรักหนุ่มทหารชาวเยอรมัน แต่เพราะพวกเขาเป็นศัตรูของฝรั่งเศส จึงถูกต่อต้านขับไล่(ยิงตาย) เมื่อสงครามจบเธอถูกจับทำประจาน ตราหน้าว่าเป็นคนขายชาติ เรื่องราวลักษณะนี้แหละครับที่สะท้อนกับความทรงจำอันเจ็บปวดรวดร้าวของชาว Hiroshiman ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

นำแสดงโดย Emmanuelle Riva ในหนังไม่มีชื่อเรียกนะครับ แต่จะได้ยินภาษาฝรั่งเศสว่า Elle ที่เป็นคำสรรพนามเรียกแทน She/Her/เธอ, นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Riva ก่อนหน้านี้เคยเป็นนักแสดงละครเวที และมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์

สิ่งที่ทำให้ Haneke สนใจ Riva จนอยากได้มาแสดงนำใน Amour (2012) เพราะดวงตาอันกลมโตของเธอ สะท้อน’ความทรงจำ’ที่เจ็บปวดรวดร้าว ออกมาได้อย่างรันทดถึงใจ, กับการแสดงใน Hiroshima mon amour มีหลายครั้งทีเดียวที่กล้องจับจ้องใบหน้าของเธอ เห็นดวงตากลมโตไม่กระพริบ เหมือนคนเห็นภาพหลอน มันหลอกผู้ชมได้ถึงขั้วหัวใจ

อาชีพของหญิงสาวคือนักแสดง เดินทางมา Hiroshima เพื่อแสดงหนังเกี่ยวกับสันติภาพ เราจะไม่เห็นขณะถ่ายทำ แต่สังเกตจากชุดน่าจะรับบทเป็นพยาบาลที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจากการฉากการเดินรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ หนังที่แสดงน่าจะมีช่วงเวลาหลังสงครามจบไม่นาน

ตัวละครนี้มีอดีตที่จดจำฝังใจ พยายามที่จะหวนระลึกคิดอยู่ตลอดเวลา จมปลักอยู่กับมันไม่ต้องการที่จะก้าวเดินไปไหน เพราะเมื่อใดที่ได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก็เท่ากับระยะห่างระหว่างปัจจุบันกับอดีตจะกว้างมากขึ้น อันทำให้เริ่มลืมเลือนสูญเสียภาพความทรงจำเหล่านั้นไป

Eiji Okada ในหนังจะได้เรียกยินว่า Lui เป็นคำสรรพนามภาษาฝรั่งเศสเช่นกันแปลว่า He/ผู้ชาย, นี่ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ระดับนานาชาติเรื่องแรกของ Okada ก่อนจะโด่งดังสุดๆกับ The Ugly American (1963), Woman in the Dunes (1964) ฯ

เกร็ด: เห็นว่า Okada พูดฝรั่งเศสไม่ได้ แต่ใช้การท่องจำเป็นคำๆ จนพูดออกมาฟังดูเหมือนภาษาฝรั่งเศสจริงๆ และไม่ได้ใช้การพากย์ทับนะครับ ในหนังเป็นเสียงของเขาจริงๆเลย

อาชีพของชายหนุ่มคือ Architect นักออกแบบตึกรามบ้านช่อง ที่เปรียบได้กับโครงสร้างรากฐานของเมือง เป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมาทดแทนบ้านเมืองที่สูญเสียไปในช่วงสงคราม

สายตาของ Okada มีความโหยหา ต้องการบางสิ่งบางอย่าง, มันเหมือนว่าตัวละครนี้ไม่ต้องการจดจำสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นผ่านไปแล้วในอดีต (เหมือนภรรยาของเขาที่ได้แค่เอ่ยถึง แต่อาจไม่มีตัวตนเสียชีวิตไปแล้วก็ได้) ถ้าเป็นไปได้อยากที่จะหลงลืมอดีตและเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อคนทั้งสองมาพบเจอกัน คนหนึ่งเห็นเขาแล้วหวนระลึกถึงอดีต ส่วนอีกคนเห็นเธอแล้วเหมือนชีวิตได้เริ่มต้นใหม่ แต่แบบนี้… มันจะไปกันได้ยังไง!

ถ่ายภาพโดย Michio Takahashi กับ Sacha Vierny คนแรกเป็นชาวญี่ปุ่น (ถ่ายในญี่ปุ่น) คนหลังเป็นชาวฝรั่งเศส (ถ่ายในฝรั่งเศส) ที่ต้องแบ่งเช่นนี้ เพราะเป็นสัญญาการร่วมทุนของสตูดิโอทั้งสอง คือถ่ายทำประเทศไหนก็ต้องเลือกใช้ทีมงานของประเทศนั้น

ตัดต่อโดย Jasmine Chasney, Henri Colpi [อีกหนึ่งที่กลายเป็นผู้กำกับยุค French New Wave] และ Anne Sarraute

เพลงประกอบโดย Georges Delerue [เจ้าของฉายา Mozart of cinema] และ Giovanni Fusco [ขาประจำของ Michelangelo Antonioni]

เปิดเรื่องมาเป็นการนำเสนอฟุตเทจสารคดี นำเสนอภาพวิถีชีวิตผู้คน/ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Hiroshima หลังสงครามผ่านไปกว่าสิบปี พร้อมเสียงบรรยายประกอบของสองตัวละครหลัก ที่จะตัดสลับให้เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของพวกเขาโอบกอดรัดกันแน่นอย่างใกล้ชิด และเสียงดนตรีที่เต็มไปความพิศวงสงสัย นี่มันเรื่องราวอะไรกัน (ใช้เครื่องเป่าสลับกับเปียโน)

ด้วยความยาวกว่า 15 นาทีของฉากเปิดเรื่องนี้ เชื่อว่าต้องมีคนยอมแพ้เพราะไม่เข้าใจว่าหนังนำเสนออะไรแน่ๆ ผมแนะนำให้ลองเพลิดเพลินผ่อนคลายไปกับช่วงเวลานี้ เหมือนกำลังรับชมสารคดีความรู้เกี่ยวกับ Hiroshima ปรับอารมณ์ของตนเองให้เข้ากับ direction ของหนัง สังเกตการเคลื่อนกล้อง บทเพลง และเสียงบรรยายอันชวนให้เกิดข้อสงสัยนานัปประการที่ยังไม่มีคำตอบ วินาทีที่ฉากนี้จบลง กล้องจะเคลื่อนไหวแบบเร็วมาก (Whip pan) เพื่อบอกว่าจบแล้วนะ ต่อไปนี้จะเข้าส่วนเรื่องราวของหนังแล้ว

เหตุผลหนึ่งที่ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ คือการเคลื่องกล้องแบบ Whip pan และการตบหน้าที่เป็นการเรียกสติกลับคืน ในช่วงเวลาใกล้ๆหลับ 2-3 ครั้งในหนัง, บางครั้งเวลาเราหวนคิดถึงเหตุการณ์อะไรในอดีต มันจะระลึกถึงอารมณ์ของตอนนั้นได้ด้วย เช่นว่า เมื่อต้องพูดเล่าเหตุการณ์ที่แฟนหนุ่มถูกฆ่า การนึกถึงช่วงเวลานั้นทำให้เกิดความเจ็บปวดเศร้าเสียใจร้องไห้ฟูมฟายบ้าคลั่ง วิธีเดียวที่จะเรียกสติกลับคืนมาได้ ฉาดเดียว! ตื่นเลยละครับ

งานภาพมีความโดดเด่นมากในการเลือกมุมกล้อง ที่มีการใช้อย่างหลากหลายและทุกระดับ
– ภาพ Close-Up ในทุกสัมผัสของชายหญิง มีความใกล้ชิดสนิทแนบแน่น ไม่ใช่แค่เป็นของกันและกัน แต่ราวกับเป็นสิ่งเดียวกัน
– Long Shot ในฉากย้อนอดีตถึงคนรักเยอรมันครั้งแรกของหญิงสาว เปรียบได้กับระยะห่างของความทรงจำที่รู้สึกยาวไกลเหลือเกิน (กว่าจะวิ่งมาพบกัน)
– หลายครั้งจะเป็นมุมเงยถ่ายให้เห็นตึกรามบ้านช่อง ท้องฟ้าเบื้องบน (เห็นการเติบโตของเมืองโดยรอบ)
– หลายครั้งเป็น long-take กล้องเคลื่อนไปเรื่อยๆอย่างช้าๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็น สัมผัสซึมซับ วิถีของผู้คนรอบเมือง Hiroshima ราวกับกำลังเดินเที่ยวเล่นอยู่ในเมือง

การเล่าเรื่องถือว่าใช้มุมมองของหญิงสาวเป็นหลัก (แทนด้วยมุมมองของผู้กำกับ/ประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งการตัดต่ออยู่ดีๆก็จะกระโดดไปมา กำลังเล่าเรื่องอยู่ปัจจุบันก็นำภาพย้อนอดีตใส่เข้ามา บางครั้งกำลังเดินไปเรื่อยๆเกิดการกระโดดข้าม นี่ถือเป็นการทดลองแรกๆของ jump cut ก่อน Jean-Luc Godard จะเลื่องชื่อกับ Breathless (1960)

ช่วงท้ายในบาร์ที่ชื่อ Casablanca ภาพแรกที่เห็นชื่อบาร์นี้ ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Casablanca (1942) โดยทันที ถ้าคุณจดจำเรื่องราวของหนังเรื่องนั้นได้ จะพบว่ามีใจความถึง ‘กาลเวลาผ่านไป หลายสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลง แต่ความทรงจำยังคงเหมือนเดิม’ ความคล้ายคลึงกันกับหนังเรื่องนี้มาก, นี่คือสิ่งที่หนังสะท้อนหนัง สะท้อนความทรงจำของผู้ชม เหมือนหญิงสาวหวนระลึกถึงคนรักในอดีต และชาวญี่ปุ่นที่หวนระลึกถึง Hiroshima

ผมขอ Quote ท่อนหนึ่งจากบทเพลง As time goes by ในหนังเรื่อง Casablanca (1942) มาให้หวนระลึกกันสักหน่อยนะครับ

It’s still the same old story
A fight for love and glory
A case of do or die
The world will always welcome lovers
As time goes by

กาลเวลาผ่านไป ความทรงจำเลือนหาย ผู้คนหลงลืม สุดท้ายถูกลืม นี่เป็นความจริงยากยิ่งจะปฏิเสธ ‘Forgetting so much love is terrifying.’ ซึ่งการมาของอนาคตเป็นสิ่งที่ทำให้อดีตค่อยๆหมดความสำคัญลงไป ต่อให้เราพยายามตั้งใจจดจำสักแค่ไหนก็ต้องมีวันลืมเลือน, เช่นกันกับ Hiroshima เมื่อผ่านยุคสมัยของคนที่เคยมีชีวิตผ่านมา คนรุ่นใหม่ย่อมได้แค่มองเห็น รู้จัก แต่ไม่เข้าใจถึงความรู้สึกแท้จริงของคนที่มีชีวิตอยู่สมัยนั้น นี่คือใจความของหนังเรื่องนี้ที่มีความต้องการบอกว่า อย่าลืมเลือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ Hiroshima

มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกสนเท่ห์มากๆ คือชื่อเมือง Ne-vers คำภาษาฝรั่งเศสที่ดันไปคล้องกับคำภาษาอังกฤษ Never ที่แปลว่า ไม่มี
ชายหนุ่ม: Does it mean anything else in French, “Ne-vers”?
หญิงสาว: No, nothing.

นี่อาจเป็นความจงใจที่มีนัยยะถึง การไม่มี จริงๆก็ได้ (แต่เมืองเนอแวร์ มีจริงๆนะครับ) ซึ่งถ้าเราแทนหญิงสาวด้วยความไม่มี อาจเปรียบได้กับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น แต่ได้ถูกลบลืมเลือนไปหมดสิ้น ไม่มีทางหวนระลึกกลับคืนมาได้อีก

หนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลอะไร แต่ได้รับการยกย่องเทียบเคียงกับ The 400 Blows (1959) ของ François Truffaut ที่ได้เปิดโลกทัศน์อะไรใหม่ๆให้กับวงการภาพยนตร์ [ปีนั้น เรื่องที่ได้ Palme d’Or คือ Black Orpheus]

เข้าชิง Oscar 1 สาขา Best Writing, Story and Screenplay ไม่ได้รางวัล

การที่หนังเปรียบเรื่องความทรงจำกับความรัก ถือว่าโดนใจผมมากๆ เชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ต้องเคยตกหลุมรัก/อกหัก มาแทบทั้งนั้น ความทรงจำ ความรู้สึกพวกนี้เมื่อนึกย้อนกลับไป วันที่เราดีใจ/เศร้าเสียใจ มันช่างมีอารมณ์ที่รุนแรงเสียเหลือเกิน แต่พอเวลาผ่านไป อะไรๆเริ่มเลือนลาง ทุกสิ่งอย่างค่อยๆจางหายจนหมดสิ้นไป มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจยิ่งนัก นี่หรือความมั่นคงของมนุษย์ ไร้ความจีรังยั่งยืน ครั้งนั้นรักมากแทบตาย แต่วันนี้ไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว โอ้ละหนอชีวิต!

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมหลงใหลมากๆ นั่นคือการสัมผัสระหว่างชายหญิงของหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ผมจีบหญิงมาบอกตามตรงไม่เคยมีภาษากายแบบนั้นเลย ก็ไม่รู้คุณผู้หญิงจะชอบการสัมผัส ใกล้ชิดขนาดนั้นหรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามันแสดงถึงความแนบแน่น จริงใจ เป็นของกันและกันอย่างแท้จริง

แนะนำกับนักคิด นักปรัชญาทั้งหลาย ค้นหานิยามของ ‘ความทรงจำ’, นักประวัติศาสตร์ หรือผู้สนใจศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นของ Hiroshima ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, คนทำหนัง นักดูหนังที่ชื่นชอบยุคสมัย French New Wave และแฟนหนัง Eiji Okada กับ Emmanuelle Riva ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับภาพความสยดสยองอันเกิดจากผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์

TAGLINE | “Hiroshima mon amour ของ Alain Resnais คือจดหมายรัก ที่ย้ำเตือนไม่ให้ผู้ชมลืมเลือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Hiroshima นำแสดงโดย Emmanuelle Riva และ Eiji Okada”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: