Hobson's Choice

Hobson’s Choice (1954) British : David Lean ♥♥♥♡

บิดาร่างท้วม Charles Laughton นิสัยดื้อรั้น-ขี้เมา-เอาแต่ใจ มีบุตรสาวสามคนอยากแต่งงานออกจากบ้าน แต่กลับถูกทัดทานเพราะไม่ต้องการจ่ายสินไหมแต่งงาน เลยโดนพวกเธอเอาคืนอย่างเจ็บแสบกระสันต์ เสียดสีสภาพสังคมอังกฤษสมัยนั้นได้อย่างคันๆ, คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ผู้กำกับ David Lean เป็นคนเลื่องชื่อเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน (ใน Wikipedia เขียนว่าแต่งงานถึง 6 ครั้ง!) แต่เขากลับไม่ค่อยชอบสรรค์สร้างภาพยนตร์โรแมนติก กุ๊กกิ๊ก หวานแหวว มักต้องทำให้มีอุปสรรคขวากหนาม บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวาง หรือความสัมพันธ์ขัดแย้งต่อวิถีทางสังคม เพื่อให้ท้ายที่สุดถ้าหนุ่ม-สาวได้ครองคู่รัก จะตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของกันและกัน … นี่ฟังดูขัดแย้งต่อความเป็นจริงมากๆเลยนะ

Hobson’s Choice (1954) เป็นผลงานที่ผมรู้สึกว่าแปลก ครั้งแรกครั้งเดียวที่ผกก. Lean กำกับหนังรอม-คอม (ก่อนหน้านี้เคยกำกับ Blithe Spirit (1945) แนวแฟนตาซี-คอมเมอดี้) พยายามผสมผสานความขบขันเข้ากับการนำเสนอภาษาภาพยนตร์ ผลลัพท์ออกมาถือว่าน่าสนใจ แต่มันมีความเป็นอังกฤษมากเกินไป … ใครเคยรับชม Ealing comedies ก็น่าจะเกิดการเปรียบเทียบอยู่ไม่น้อย

ไฮไลท์คือทีมนักแสดงตั้งแต่ Charles Laughton ชวนให้นึกถึง W.C. Fields แต่เหนือชั้นกว่าเยอะ, John Mills ทึ่มๆทื่อๆ ซื่อๆบื้อๆ แต่โคตรหล่อจากภายใน, และ Brenda de Banzie เรียกได้ว่าขุ่นแม่ Katharine Hepburn แห่งเกาะอังกฤษ ทั้งสามประชันฝีมือกันอย่างได้เข้มข้ม เฉือนคม ขำจนกลิ้งตกเก้าอี้


Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากทำงานเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสจาก Noël Coward ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ผกก. Lean สนิทสนมกับโปรดิวเซอร์/นักเขียนบท Norman Spencer มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 30s (เมื่อครั้น Lean ยังเป็นนักตัดต่อ, Spencer เป็น Gofer ในสังกัด Denham Studios) เมื่อตอนสรรค์สร้าง In Which We Serve (1942) ยังได้รับเครดิตในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistant Director), หลังจากนั้นก็ร่วมงานขาประจำ ดัดแปลงวรรณกรรม Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), The Sound Barrier (1952) ฯลฯ ครั้งหนึ่ง Lean เล่าให้ฟังถึงความชื่นชอบละครเวทีของ Harold Brighouse (1882-1985)

David Lean: What do we want to make a little Lancashire comedy for?
Norman Spencer: I think it will be damn good.

พวกเขานำแนวคิดไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ Alexander Korda แห่งสตูดิโอ London Films Productions เสนอแนะให้ดัดแปลงบทละครเรื่อง Hobson’s Choice เคยทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Princess Theatre, New York วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 จำนวน 135 รอบการแสดง และเคยได้รับการดัดแปลงเป็นหนังเงียบ Hobson’s Choice (1920) กำกับโดย Percy Nash

เกร็ด: Hobson’s choice ถ้าแปลตรงตัวจะหมายถึงหนทางเลือกของนาย Hobson, แต่ในความเป็นจริงนั้นนี่คือวลี/สำนวนของชาวอังกฤษ แปลว่าการไม่ตัวเลือกแม้แต่น้อย (no choice at all!), โดยจุดเริ่มต้นมาจากชายชื่อ Thomas Hobson (1545–1631) ผู้เป็นเจ้าของคอกม้าย่าน Cambridge สำหรับให้เช่าขับขี่/ขนส่งสินค้า เวลามีลูกค้ามาขอใช้บริการ เขาจะบอกให้เลือกม้าตัวที่อยู่ใกล้ประตูทางออกเท่านั้น ถ้าไม่ชอบใจก็ไม่ต้องเอา “I’ll give you a choice: take it or leave it!” … จุดประสงค์แท้จริงเพื่อสลับการใช้งาน ไม่ให้เลือกแต่ม้าตัวดีๆทำงานหนักเกินไป


พื้นหลัง ค.ศ. 1880 ณ เมือง Salford, Greater Manchester เรื่องราวของ Henry Horatio Hobson (รับบทโดย Charles Laughton) เจ้าของกิจการร้านขายรองเท้า มีบุตรสาวสามคนในวัยกำลังแต่งงาน แต่เขาไม่อยากจะจ่ายค่าสินไหม (Marriage Settlements) เลยปฏิเสธหาคู่ครองให้พวกเธอ

บุตรสาวคนโต Maggie Hobson (รับบทโดย Brenda de Banzie) ด้วยวัยย่างสามสิบใกล้จะขึ้นคาน จึงตัดสินใจหมั้นหมาย ยืนกรานจะแต่งงานกับลูกจ้าง/พนักงานทำรองเท้า Will Mossop (รับบทโดย John Mills) ที่มีทางท่าทึ่มทื่อ ซื่อบื่อ แต่ได้รับการยอมรับในฝีมือด้านการทำรองเท้า ทั้งสองจึงพากันออกมาเปิดกิจการของตนเอง

การจากไปของพี่สาวคนโต Maggie สร้างความวุ่นวายให้กับครอบครัว Hobson เพราะน้องๆทั้งสองต่างก็มีภาระหน้าที่ ไม่สามารถทำงานแทนที่พี่สาว จนเรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นกับบิดา ดื่มสุรามึนเมาพลัดตกลงทางเท้า ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บังเอิญโจกท์และทนายต่างคือแฟนหนุ่มของน้องๆทั้งสอง พี่สาว Maggie จึงครุ่นคิดแผนการตลบหลังบิดาได้อย่างแสบกระสันต์


Charles Laughton (1899 – 1962) นักแสดงร่างใหญ่ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Scarborough, North Riding of Yorkshire, โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art โดยมีอาจารย์ Claude Rains, เริ่มต้นแสดงละครเวที Barnes Theatre มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเล่น Broadways, สมทบหนังเงียบ ก้าวสู่หนังพูด The Old Dark House (1932), The Sign of the Cross (1932), The Private Life of Henry VIII (1933) ** คว้า Oscar: Best Actor, Mutiny on the Bounty (1935), The Hunchback of Notre Dame (1939), Hobson’s Choice (1954), Witness for the Prosecution (1957) ฯลฯ

รับบท Henry Horatio Hobson นิสัยดื้อรั้น-เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ ชอบใช้อำนาจบาดใหญ่ พูดจาไม่ยี่หร่าอะไรใคร วันๆชอบแวะเวียนไป The Moonraker พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง ดื่มเหล้าจนมึนเมามาย ปล่อยกิจการร้านขายรองเท้าให้บุตรสาวทั้งสามคอยดูแล กระทั่งวันหนึ่ง Maggie ตัดสินใจหมั้นหมายกับลูกจ้าง Will Mossop สร้างความไม่พึงพอใจ ขับไล่ผลักไส ถึงขนาดสาปส่งให้กิจการล้มเหลว แต่การจากไปของบุตรสาวคนโต นำพาหายนะมาให้เขาโดยไม่รับรู้ตัว

ในตอนแรกผู้กำกับ Lean อยากได้นักแสดงขาประจำ Roger Livesey แต่เป็นเพื่อนนักเขียน Spencer เสนอแนะนำ Charles Laughton เพราะรูปลักษณ์อวบอ้วน บุคลิกชอบบงการ และที่สำคัญคือเป็นชาว Yorkshireman สามารถพูดสำเนียงท้องถิ่นอย่างไม่ผิดเพี้ยน

เกร็ด: Charles Laughton เมื่อครั้นเป็นวัยรุ่น เคยทำการแสดงบทบาท Hobson ยังโรงละครแถวบ้านเกิด Scarborough

Laughton เป็นนักแสดงที่เหมาะกับบทบาทยียวน กวนบาทา เฉียบคมในคำพูด แสดงออกทางสีหน้า ขณะเดียวกันรูปร่างอวบอ้วนทำให้ท่าทางขยับเคลื่อนไหวดูน่าขบขัน แวบแรกผมนึกถึงนักแสดงตลกชาวอเมริกัน W. C. Fields แต่ก็ตระหนักว่าระดับของทั้งสองอยู่คนละชนชั้น (Laughton มีความเป็นผู้ดีอังกฤษ, W. C. Fileds คือสถุลของชาวอเมริกัน)

แซว: ฉากเดินซวนเซไปเซมาจนตกท่อ ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ/สไตล์คอมเมอดี้ของ Charlie Chaplin อยู่ไม่น้อยเลยนะ! (ถ้าผมจะไม่ผิด Deleted Scene ของ City Light (1930) มีฉากที่ Chaplin เดินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา เกือบตกท่ออยู่หลายครั้งครา)

แม้เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1880 แต่ผมครุ่นคิดไปมา ตัวละครนี้มีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายนายกรัฐมนตรี Winston Churchill (เป็นนายกสมัยสองระหว่าง ค.ศ. 1951-55) นั่นอาจคือสิ่งที่ผู้กำกับ Lean ต้องการสะท้อนเสียดสี เปรียบเทียบถึงความคร่ำครึ หัวโบราณ เผด็จการ เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ นั่นคือสไตล์การเป็นผู้นำของ Churchill ก็ว่าได้!

เกร็ด: Winston Churchill บางคนอาจยกย่องว่าวีรบุรุษที่สามารถนำพาประเทศอังกฤษพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทัศนคติของชายคนนี้เอาจริงๆแทบไม่ต่างจาก Adolf Hitler เชื่อว่าคนผิวขาวยิ่งใหญ่กว่าชนชาติอื่น โดยเฉพาะกับอินเดีย “ผมเกลียดชาวอินเดีย พวกเขาเป็นพวกป่าเถื่อนที่นับถือศาสนาป่าเถื่อน ออกลูกออกหลานเหมือนกระต่าย” นอกจากนี้ยังสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ฆาตกรสังหารหมู่ รวมถึงคือต้นเหตุทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในอินเดีย


Brenda Doreen Mignon de Banzie (1909-81) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manchester, Lancashire เป็นบุตรของวาทยาการ/ผู้กำกับเพลง Edward Thomas de Banzie ทำให้มีความชื่นชอบด้านการขับร้องเพลง เมื่อตอนอายุ 16 มีชื่อเสียงจากเป็นนักร้องคอรัสการแสดง Du Barry Was a Lady (1942), โด่งดังจากละครเวที West End เรื่อง Venus Observed ร่วมกับ Laurence Olivier, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจาก The Lond Dark Hall (1951), Hobson’s Choice (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), The Entertainer (1960), The Pink Panther (1963) ฯลฯ

รับบท Maggie Hobson บุตรสาวคนโตในครอบครัว Hobson อายุย่าง 30 แต่ยังถูกบิดาเพิกเฉยใกล้จะขึ้นคาน เลยตัดสินใจมองหาคู่ครองโดยไม่สนฐานะชนชั้น ตัดสินใจเลือกลูกจ้าง Will Mossop เพราะฝีมือในการทำรองเท้าได้รับคำชื่นชม วาดฝันว่าจักร่วมเปิดกิจการร้านค้า จนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง

แซว: แม้ตัวละครอายุ 30 ปี แต่ Brenda de Banzie ขณะนั้นอายุย่าง 44 ปี เอาจริงๆรับบทเป็นภรรยาของ Charles Laughton ก็ยังได้!

ในสังคมผู้ดีอังกฤษที่บุรุษเป็นช้างเท้าหน้า การถูกสตรีชี้นิ้วบงการคือสิ่งยากจะยินยอมรับ ตัวละครนี้ย่อมสร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ชมสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็ยังเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ตั้งคำถามว่าทำไมหญิงสาวถึงจะมีสิทธิ์เสียง แสดงความครุ่นคิดเห็น กระทำเรื่องพรรค์นี้ไม่ได้กันเล่า?

การแสดงของ de Banzie ถือเป็นความตลกร้าย/ขำไม่ออกในยุคสมัยนั้น ทั้งความคิด-คำพูด-การกระทำ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น หนักแน่น สีหน้าเอาจริงเอาจัง เพราะไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยบิดา (ทนมากว่า 30 ปี) จึงวางแผนแต่งงานที่แม้ไม่ได้ด้วยรัก แต่จักทำให้เธอได้รับอิสรภาพ เป็นตัวของตนเอง และแก้เผ็ดอีกฝ่ายให้เข็ดหลากจำ … นี่ถือเป็นตัวละครหญิงเข้มแข็งแกร่งที่สุดในหนังของผกก. Lean เลยก็ว่าได้ ชวนให้นึกถึงการแสดงของ Katharine Hepburn เรื่อง Bringing Up Baby (1938)

ในมุมมองผู้ชมสมัยใหม่ การกระทำของตัวละครอาจดูไม่ค่อยน่ายกย่องนับถือสักเท่าไหร่ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออิสรภาพ แต่ใช้วิธีการควบคุมครอบงำสามี ชี้นิ้วออกคำสั่งแทบทุกสิ่งอย่าง ต่อให้อ้างว่าทำด้วยความปรารถนาดี แต่มันก็ไม่ใช่วิธีการถูกต้องเหมาะสม (ในมุมมองของคนสมัยนี้)


Sir John Mills ชื่อจริง Lewis Ernest Watts Mills (1908-2005) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ North Elmham, Norfolk ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่หกขวบ หลังเรียนจบมัธยมเข้าศึกษายัง Zelia Raye’s Dancing School เริ่มจากคาบาเร่ต์ เข้าร่วมคณะการแสดงที่ออกทัวร์เอเชีย ได้รับการค้นพบโดย Noël Coward ระหว่างการแสดงที่สิงคโปร์ จนกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงขาประจำ สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก The Midshipmaid (1932), พอมีชื่อเสียงกับ Born for Glory (1935), You’re in the Army Now (1937), โด่งดังกับ In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Great Expectations (1946), So Well Remembered (1947), Hobson’s Choice (1954), War and Peace (1956), Tunes of Glory (1960), Swiss Family Robinson (1960), The Family Way (1966), Ryan’s Daughter (1970) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor

รับบท Will Mossop พนักงานทำรองเท้าอยู่ชั้นใต้ดินร้าน Hobson วันหนึ่งได้รับคำชื่นชมจากลูกค้า ทำให้โชคชะตาผันแปรเปลี่ยน ถูกชักจูงจมูกโดย Maggie บีบบังคับให้แต่งงาน แล้วลาออกเพื่อร่วมเปิดกิจการร้านรองเท้า ทีแรกก็กลัวๆกล้าๆ อ้ำๆอึ้งๆ แต่จักค่อยๆบังเกิดความเชื่อมั่น กล้าทำในสิ่งที่ตนเองไม่เคยคิดฝัน

ดั้งเดิมนั้นผู้ได้รับบทบาทนี้คือ Robert Donat แต่ต้องถอนตัวไปเพราะอาการป่วยโรคหอบหืด, ผู้กำกับ Lean จึงจำต้องมองหานักแสดงคนใหม่ ก่อนจะติดต่อได้ขาประจำ John Mills

ใบหน้าตาที่ดูแสนธรรมดาของ Mills ทำให้เขามักเป็นตัวแทนชายใดๆ ‘everyman’ ชอบตีหน้าเซ่อ ทำตัวเอ๋อเหรอ สงบเสงี่ยมเจียมตน เพราะเป็นแค่คนทำรองเท้า ไม่เคยร่ำเรียนหนังสือ หรือเคยครุ่นคิดทะเยอทะยาน จึงมักถูกใครสักคนกดขี่ข่มเหง ชี้นิ้วบงการ ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายกลายเป็นสามีของ Maggie Hobson แต่ก็ทำให้เขาลืมตาอ้าปาก เรียนรู้จักโลกกว้าง มีร้านขายรองเท้าของตนเอง ไต่เต้าขึ้นมาเสมอภาคเท่าเทียมกับอดีตนายจ้าง Henry Hobson

แม้บทบาทจะดูธรรมดาๆ แต่การแสดงของ Mills ถือว่าล้ำเลิศ บุคลิกภาพขั้วตรงข้ามกับ Laughton พูดน้อยแต่ต้องคอยแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางป้ำๆเป๋อๆ ขาดความเชื่อมั่น พร่ำคำอุทาน ‘by gum!’ ถึงอย่างนั้นเมื่อได้รับการชี้แนะนำจากภรรยา ก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัวเปลี่ยนแปลง แสดงความเข้มแข็ง กลายเป็นลูกผู้ชายขึ้นมาทีละนิด


ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard (1908-1990) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการเมื่อปี ค.ศ. 1934 เริ่มจาก Focus Puller มาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ Pygmalion (1938), ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Henry V (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Caesar and Cleopatra (1945), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Sundowners (1960), Battle of the Bulge (1965), Casino Royale (1967) ฯลฯ

แม้ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นการพูดคุยสนทนา ต่อล้อต่อเถียง แต่ก็เต็มไปด้วย ‘Mise-en-scène’ ที่สร้างความเพลิดเพลินให้คนช่างสังเกต พร้อมลูกเล่นเล็กๆน้อยๆพอหอมปากหอมคอ เพื่อพยายามผสมผสานความขบขันเข้ากับลีลาภาษาภาพยนตร์

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำยังสตูดิโอ Shepperton Studios ยาวนานถึง 10 สัปดาห์ แล้วออกไปยังสถานที่จริง ท้องถนนเมือง Salford, Greater Manchester ด้วยระยะเวลาเพียง 8 วัน ซึ่งถือว่าโชคดีมากๆเพราะย่านนั้นกำลังจะถูกทุบเพื่อเตรียมสร้างแฟลตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า


ช็อตแรกและสุดท้ายของหนัง พบเห็นป้ายรองเท้าแขวนอยู่เหนือศีรษะหน้าร้าน แต่มีความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างกลางวัน-กลางคืน กล้องเคลื่อนถอยหลัง-เลื่อนลงแนวดิ่ง และสถานะเจ้าของ (จากเดิมคือร้าน Henry Hobson Boot Maker กลายมาเป็น Mossop & Hobson Boot Maker) แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นกับสถานที่แห่งนี้

มันอาจดูสุดตรีนไปสักหน่อย! แต่เราสามารถเปรียบเทียบร้านขายรองเท้าแห่งนี้กับประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย

  • เจ้าของ/หัวหน้าครอบครัว Henry Hobson เทียบกับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น Winston Churchill ทั้งรูปร่าง แนวคิด อุปนิสัย และมึนเมามายในอำนาจของตนเอง
  • ภายในร้านมีการแบ่งแยกชั้นบน-ล่าง สามารถเปรียบเทียบถึงสถานะทางสังคม Middle Class vs. Working Class

ซีนเล็กๆระหว่างที่บิดา Hobson กำลังจะเดินขึ้นบันได กลับต้องตั้งท่า เล่นลีลา พร้อมเสียงรัวกลอง ราวกับต้องการอวดอ้าง แสดงให้เห็นความสำคัญของตนเอง แต่ขณะเดียวกันมันช่างดูยุ่งยากลำบาก (Struggle) หรือคือการรักษาสถานะหัวหน้าครอบครัวในปัจจุบัน

ใครจะไปครุ่นคิดว่าการกลั่นแกล้งเล่นของบิดา ยกมือถือเชิงเทียนของ Maggie ทำท่าเหมือนอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ซึ่งเรื่องราวต่อๆมา เธอก็จักพยายามทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพ ปลดแอกจากบิดา

นี่อาจดูเป็นช็อตธรรมดาๆทั่วไป แต่รายละเอียด ‘Mise-en-scène’ คือขณะที่บิดา Hobson กำลังกล่าวถึงการเลือกคู่ครองให้บุตรสาวทั้งสองที่ยืนอยู่ฟากฝั่งหนึ่ง แต่กลับไม่ได้พูดถึงบุตรสาวคนโต Maggie ที่ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง นี่เป็นการใช้ตำแหน่งแบ่งแยกสถานะของพวกเธอทั้งสาม สามสิบแล้วไม่ได้แต่งงานถือว่าขึ้นคาน (ยึดติดกับโลกทัศน์โบร่ำราณ)

การมาถึงของ Mrs Hepworth เธอคือคุณนายชนชั้นสูง (High Class) สังเกตว่าเธอสามารถอยู่ร่วมเฟรมครอบครัว Hobson ได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนน้อม ตรงกันข้ามกับลูกจ้าง Will Mossop (ที่ถือเป็นตัวแทน Working Class) ไม่มีช็อตไหน(ในขณะนี้)ร่วมเฟรมเดียวกับคุณนาย Mrs Hepworth ทำได้เพียงโผล่ขึ้นมาชั้นล่าง จับจ้องมองรองเท้า และรับนามบัตรมาเท่านั้น

สถานะทางชนชั้น เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่สังคมอังกฤษ(และมนุษยชาติ)มาช้านาน ต่อให้ยุคสมัยปัจจุบันที่ใครๆต่างพยายามเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม แต่มันก็ไม่เคยเป็นได้จริงในทางปฏิบัติ หนำซ้ำระยะห่าง/ความแตกต่างกลับยิ่งๆกว้างออกไป

แม่น้ำที่ทั้งสองจับจ้องมองอยู่ขณะนี้คือ River Irwell ในสวนสาธารณะ Peel Park ในอดีตเมื่อช่วงก่อนศตวรรษ 1800s ยังเคยมีสัตว์น้ำชุกชุม กระทั่งการมาถึงของปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ย่านนี้เต็มไปด้วยโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ, ค.ศ. 1862 ถึงค่อยมีการจัดตั้ง River Conservancy Committee ออกกฎหมาย Rivers Pollution Prevention Act เมื่อปี ค.ศ. 1876 แต่มันก็สายเกินไปแล้ว

แซว: จนปัจจุบันน้ำในแม่น้ำ River Irwell ก็ยังคงสกปรก เต็มไปด้วยมลพิษ ไร้สัตว์น้ำดำรงชีวิต

ผมรู้สึกว่าซีเควนซ์ที่ Will Mossop พา Maggie แวะเวียนกลับไปหาแฟนสาว มันไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นอกเสียจากการแทรกมุก “Beware the Wrath to Come” พบเห็นระหว่างถูกขับไล่ออกมาภายนอก แล้วไม่ทันไรเขาก็ประสบเรื่องร้ายๆ (แค่โดนตบหน้า ก็ไม่ได้เลวร้ายสักเท่าไหร่)

ณ สถานที่ที่ดูเหมือนทางลาดขึ้นสู่สรวงสวรรค์ Maggie ท้าทายให้ Will จุมพิตกับตนเอง แต่เขากลับยื้อๆยักๆ กลัวๆกล้าๆ แล้วตัดสินใจเดินกลับออกมาอีกทาง ปฏิเสธโอกาสขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ซะงั้น!

เมื่อครั้น Maggie พูดบอกกับบิดาว่ากำลังจะแต่งงานกับ Will Mossop รายละเอียด ‘Mise-en-scène’ ของซีนนี้น่าสนใจไม่น้อย เลยนำมาอธิบายให้ฟัง

  • บิดาแสดงอาการไม่พึงพอใจ พูดบอกไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมรับ ยืนอยู่เหนือศีรษะ Maggie พยายามจะควบคุมครอบงำ บงการโน่นนี่นั่น
  • เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Maggie ลุกขึ้นจากเก้าอี้ ยืนระดับศีรษะเดียวกับบิดา พยายามต่อรอง ต้องการเรียกร้องข้อตกลงบางอย่าง
  • ตัดสลับฝั่งบิดา พยายามปฏิเสธรับฟังคำต่อรองของ Maggie
  • แต่หลังจากเธอจี้แทงใจดำบางอย่าง เขาทรุดนั่งลงบนเก้าอี้ รับฟังข้อเรียกร้องที่ไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่

การขึ้นจากหลุมใต้ดินของ Will Mossop ทำให้เขามีโอกาสอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับ Mrs Hepworth ระหว่างพยายามติดต่อรองขอกู้ยืมทุนสำหรับเปิดกิจการร้านขายรองเท้า สังเกตตำแหน่งการนั่งของพวกเขา มีระยะใกล้-ไกล แบ่งแยกสถานะ(ทางสังคม)อย่างชัดเจน

  • Mrs Hepworth อยู่ประชิดใกล้กล้องมากที่สุด แสดงถึงความเป็นบุคคลมีอำนาจ ชนชั้นสูงในสังคม สามารถให้ยืมเงินสำหรับเปิดกิจการร้านขายรองเท้า
  • Will Mossop อยู่ห่างออกไปแต่นั่งหันหน้าเข้าหา สื่อถึงการเผชิญหน้า ต่อรอง บุคคลอยู่ในความสนใจ (ของ Mrs Hepworth)
  • ขณะที่ Maggie แม้อยู่ไกลสุดถัดจาก Will (สะท้อนสถานะของสตรีคือช้างเท้าหลัง) แต่เธอกลับพูดต่อรอง เป็นกระบอกเสียง ให้การสนับสนุนหลัง (แต่รู้สึกเหมือนชักใยบงการอยู่เบื้องหลังมากกว่า)
    • และถ้ามองมุมของภาพ ตำแหน่งของเธออยู่กึ่งกลางซ้าย-ขวา บุคคลเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง Mrs Hepworth และ Will Mossop

ร้านใหม่ของ Will Mossop ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน นี่คือสัญลักษณ์การเริ่มต้นจากจุดต่ำสุด จากนั้นค่อยๆไต่เต้าจนสามารถลืมตาอ้าปาก ยืนด้วยลำแข้ง ใช้หนี้คืนสิน จากดินสู่ดาว … เป็นสถานที่เหมาะแก่การก่อร่างสร้างตัว เริ่มจากศูนย์ยิ่งนัก!

บาร์ชื่อ The Moonrakers เลยไม่แปลกที่เมื่อดื่มจนมึนเมามาย จะพบเห็นพระจันทร์เต็มดวง ทั้งบนฟากฟ้า (แต่สังเกตดีๆจะมีสลิงห้อยลงมา แสดงว่าถ่ายทำในสตูดิโอ) และภาพสะท้อนแอ่งน้ำบนท้องถนน ซึ่งสามารถสื่อถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หัวสูงส่งของ Henry Hobson ครุ่นคิดว่าตนเองเหนือกว่าบุตรสาว Maggie และลูกเขย Will Mossop พูดจาดูถูก ย่ำเหยียดหยาม ไม่มีทางที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จ เอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว Henry Hobson เองต่างหากละที่มึนเมามายกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ โดยไม่สนท้องถนนหนทางห้ามเดินผ่าน ซึ่งการพลัดตกท่อระบายน้ำ สามารถสื่อถึงความตกต่ำของชีวิต กำลังจะถูกคิดบัญชีจากลูกๆทั้งสาม (ตรงกันข้ามกับ Will Mossop ที่กำลังไต่เต้าสู่ความสำเร็จ)

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมช็อตนี้ถูกดูเหนือจริง ไม่เพียงถ่ายติดพระจันทร์ แต่ตกท่อยังไงท่านั้น แถมยัง Slow-Motion คำตอบคือหนังใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพที่ถ่ายทำไว้ก่อนแล้วขึ้นฉากหลัก แล้วนักแสดงก็ทำท่าเหมือนกำลังตกท่ออยู่ด้านหน้า ใครกันจะให้นักแสดงหล่นมาจริงๆ … ซึ่งความรู้สึกเหนือจริงของช็อตนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงนัยยะเชิงธรรมของการตกท่อ = ชีวิตที่กำลังตกต่ำของ Henry Hobson

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าทศวรรษนั้น ผลงานของปรมาจารย์ Yasujirô Ozu เดินทางไปถึงประเทศอังกฤษแล้วหรือยัง ช็อตนี้ช่างดูละม้ายคล้ายกันมากๆ แต่นัยยะอาจแตกต่างกันพอสมควร คือการเผชิญหน้าระหว่าง Henry Hobson และคู่กรณีพร้อมทนาย (ที่ต่างเป็นแฟนหนุ่มของบุตรสาว) โดยมี Will Mossop นั่งเป็นตัวแทนอยู่กึ่งกลาง (และภรรยา Maggie บงการอยู่เบื้องหลัง)

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบฉากนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผู้ชมคาดเดาได้อยู่แล้วว่าจะมีอะไรบังเกิดขึ้น ซึ่งผู้กำกับ Lean จงใจใช้ความยื้อยัก ชักช้า เพื่อสร้างความหวาดหวั่น วิตกกังวลให้กับ Will Mossop กลัวๆกล้าๆ เพราะกำลังจะได้ใช้เวลาค่ำคืนแรกหลังแต่งงานกับภรรยา Maggie

ความยื้อยักชักช้า เมื่อไหร่จะเข้าห้องหอสักที จักทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดนัยยะในเชิงนามธรรม ค่ำคืนแรกของการแต่งงาน = จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเมื่อจากตื่นเช้าขึ้นมา ทุกสิ่งอย่างก็จักปรับเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่งในภาพหลอนจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholic) ของ Henry Hobson คือภาพหนูตัวใหญ่ จะหมายถึงอะไรกัน? ในเมืองใหญ่ๆ หนูมักอาศัยอยู่ตามท่อระบายน้ำ บริเวณชั้นใต้ดิน หากินกับเศษขยะ อาหารเหลือทิ้ง ซึ่งสามารถสื่อถึงความตกต่ำของชีวิต/กิจการร้านค้า บางคนอาจมองว่าจิตใจที่สกปรก (เหมือนหนู) สนแต่กอบโกยกิน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว

เนื่องจากผมขี้เกียจอธิบาย ‘Mise-en-scène’ ของทั้งซีเควนซ์ไคลน์แม็กซ์นี้ เลยตัดมาเฉพาะช่วงสำคัญๆระหว่างกำลังตั้งชื่อร้านใหม่

  • แรกเริ่ม Will ครุ่นคิดชื่อ “William Mossop, late Hobson” นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Maggie ทำให้เธอย้ายข้างยืนจากฝั่งสามีไปเคียงข้างบิดา
  • Maggie พยายามต่อรอง “Hobson and Mossop” ระหว่างยืนเคียงข้างบิดา
  • แต่หลังจาก Will ยืนกรานว่าต้องเป็น “Mossop and Hobson” นั่นทำให้ Maggie เดินกลับหาเผชิญหน้าสามี ด้วยดวงตาหวานฉ่ำ พร้อมบทเพลงสุดแสนโรแมนติก แสดงถึงการยินยอมรับ ตกหลุมรัก ประทับใจ ในที่สุดเขาก็สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง

และขอทิ้งท้ายกับปฏิกิริยาของ Henry Hobson เมื่อตกอยู่ในสภาพ Hobson’s Choice คือไม่สามารถต่อรองอะไรกับ Will Mossop ทำได้แค่เพียงงอนตุ๊บป่อง เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง สงบสติอารมณ์สักพัก ก่อนยินยอมรับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะกำลังบังเกิดขึ้น … สำหรับคนที่มีความดื้อด้าน หัวรั้น นิสัยเอาแต่ใจ ลองให้เวลาเขาสักพัก อธิบายด้วยเหตุ แสดงให้เห็นผล เมื่อไร้หนทางเลือกลักษณะนี้ ก็จักสามารถยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้เอง

ตัดต่อโดย Peter Taylor (1922-97) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Hobson’s Choice (1954), Summertime (1955), The Bridge on the River Kwai (1957), This Sporting Life (1963), La Traviata (1983), Otello (1986) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้ครอบครัว Hobson เป็นจุดศูนย์กลาง โดยมุมมองหลักๆจะเป็นบิดา Henry และบุตรสาวคนโต Maggie สามารถแบ่งออกเป็น …

  • กิจวัตรประจำวันของ Henry Hobson
    • กลับบ้านดึกดื่น เช้าตื่นขึ้นมาพร่ำบ่นกับลูกๆ ชี้นิ้วสั่งคนงาน จากนั้นเดินทางไป The Moonrakers ดื่มเหล้ากับผองเพื่อนจนมึนเมามาย
  • แผนการของ Maggie Hobson
    • เรียกตัว Will Mossop เล่าความต้องการ พาไปออกเดท หมั้นหมายแต่งงาน
    • หลังจากบิดารับรู้ แสดงความไม่พึงพอใจ ขับไล่ทั้งสองออกจากบ้าน
    • Maggie กู้ยืมทุนจาก Mrs Hepworth เตรียมเปิดกิจการร้านขายรองเท้าของตนเอง
  • คืนวันก่อนแต่งงาน
    • Maggie แวะเวียนกลับมาบ้าน เพื่อมอบชักชวนน้องๆมาร่วมงานแต่งงาน
    • บิดาออกไปดื่มเหล้ายัง The Moonrakers มึนเมามายจนพลัดตกท่อ
  • วันแต่งงานของ Maggie Hobson และ Will Hossop
    • ยามเช้า Maggie ทราบข่าวคราวของบิดา จึงครุ่นคิดวางแผนบางอย่าง
    • ยามบ่ายเข้าพิธิสมรสในโบสถ์, บิดาตื่นขึ้นมาถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
    • ยามค่ำเลี้ยงรับประทานอาหาร จากนั้นบิดาเดินทางมาหา ต่อรองแผนการสำเร็จ
  • การหมดทางเลือกของ Henry Hobson
    • เช้าวันหนึ่งบิดาตื่นขึ้นพบเห็นภาพหลอน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสุราเรื้อรัง
    • บิดาพยายามเรียกร้องให้บุตรสาวดูแลตนเอง แต่กลับมีเพียง Meggie และ Will Hossop ทำการต่อรองควบกิจการร้านขายรองเท้า

ผมรู้สึกว่าหนังดูเยิ่นเย้อ ยืดยาวนานไปนิด หลายๆฉากไม่ค่อยมีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เสียงหัวเราะเหือดแห้งลงไป อย่างตอนกำลังจะเข้าห้องหอของ Will Hossop กว่าจะถอดชุด เปลี่ยนเสื้อผ้า ยื้อๆยักๆ รั้งๆรีรออยู่นั่น จริงอยู่ฉากนี้ต้องการสื่อถึงความหวาดกังวล วิตกจริต แต่มันคือสิ่งที่ผู้ชมรับรู้อยู่แล้ว มันจึงไม่ได้สร้างความรู้สึกขบขันสักเท่าไหร่

อีกฉากที่ควรเป็นไฮไลท์ของหนัง คือขณะบิดา Henry Hobson มึนเมาเหยียบเงาจันทร์ แรกๆก็ดูเพลิดเพลินดี แต่ความยื้อๆยักๆ โยกไปโยกมา กลับสร้างความเบื่อหน่ายในไม่ช้า เห็นหลุมบ่อข้างหน้าก็คาดเดาได้ว่าต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แต่ผิดกับ Slapstick Comedy ของ Charlie Chaplin ที่มีอะไรๆเกิดขึ้นมากมาย Hobson’s Choice (1954) แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักสิ่งอย่าง


เพลงประกอบโดย Sir Malcolm Henry Arnold (1921-2006) คีตกวีชาวอังกฤษ เกิดที่ Northampton, Northamptonshire ในตระกูลช่างทำรองเท้า แต่บิดาเป็นนักเปียโน ปู่ทวดคือนักแต่งเพลงชื่อดัง William Hawes, ตั้งแต่เด็กหลังเกิดความหลงใหลในทรัมเป็ตหลังจากพบเห็นการแสดงของ Louis Armstrong, ตอนอายุ 17 สอบได้ทุนศึกษาต่อ Royal College of Music (R.C.M.) ร่ำเรียนการแต่งเพลงกับ Gordon Jacob, จากนั้นเข้าร่วม London Philharmonic Orchestra (LPO) ในตำแหน่งนักทรัมเป็ต, พออายุ 30 ถึงเริ่มมาเอาจริงเอาจังด้านการแต่งเพลง มีผลงานซิมโฟนี่ ออร์เคสตร้า คอนแชร์โต, Choral Music, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Sound Barrier (1952), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score

Arnold เลือกดัดแปลงบทเพลงจากอุปรากรของตนเอง The Dancing Master มาทำเป็น Main Theme ที่เมื่อใครได้ยิน (ตั้งแต่ Opening Credit) ย่อมเกิดความตระหนักว่าต้องเป็นหนังแนวคอมเมอดี้ มีความหยอกเย้า ยียวน กวนบาทา ซึ่งท่วงทำนองลักษณะนี้จักแทรกแซมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เพื่อสร้างรอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะ ตลบอบอวลด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย

แต่ไฮไลท์ไม่ได้เกิดจากบทเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน ในฉากบิดา Henry Hobson กำลังมึนเมา พบเห็นดวงจันทร์ และภาพหลอนอื่นๆ ทีแรกผมนึกว่าเครื่องสังเคราะห์ Theremin กลับใช้ Musical saw หรือ Singing saw มันคือเลื่อยที่นำมาสีเหมือนไวโอลิน แล้วเกิดเสียงวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน (Theremin เสียงออกทุ้มๆ, Musical saw จะแหลมบาดหูกว่า)

Hobson’s Choice (1954) นำเสนอเรื่องราวที่ไม่มีทางเลือกของนาย Henry Hobson ทั้งๆเป็นหัวหน้าครอบครัว ก่อร่างสร้างกิจการร้านขายรองเท้าจนมั่นคง เลี้ยงดูแลบุตรสาวจนเติบใหญ่ แต่เพราะอุปนิสัยดื้อรั้น-เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เขาจึงจำต้องยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับครอบครัว

ไม่ใช่แค่ Henry Hobson ที่ไร้หนทางเลือก ลูกจ้างช่างทำรองเท้า Will Mossop ก็เฉกเช่นเดียวกัน! ถูกควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง ปรับเปลี่ยนจาก(หัวหน้า) Henry มาเป็น(ภรรยา) Maggie แม้ช่วงแรกๆรู้สึกไม่อยากเต็มใจ แต่ก็ค่อยๆยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมครุ่นคิดว่ามีจุดเริ่มต้นจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ. 1952 นั่นไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มันเลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศอังกฤษ สังคมที่บุรุษคือช้างเท้าหน้า แต่เมื่อประมุขของชาติคือราชินี นี่อาจเป็นยุคสมัยที่อิสตรีจักสามารถลุกขึ้นมามีสิทธิ์เสียง ความเสมอภาคเท่าเทียมแล้วกระมัง … ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

แต่หนังไม่ได้จะเปรียบเทียบ Queen Elizabeth II กับตัวละคร Maggie Hobson (Mossop) ใกล้เคียงสุดน่าจะคือ Mrs Hepworth ที่กล่าวคำชื่นชมฝีมือตัดเย็บรองเท้าของ Will Mossop และกลายเป็นอิทธิพลให้ Maggie ครุ่นคิดตัดสินใจ ลุกขึ้นมาทำบางอย่างด้วยตัวตนเอง

ขณะที่ Henry Hobson อย่างที่ผมเปรียบเปรยไปแล้วถึง Winston Churchill ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยสอง ค.ศ. 1951-55 (เป็นช่วงคาบเกี่ยว Queen Elizabeth II ขึ้นครองราชย์พอดิบดี) ปกครองประเทศอังกฤษหรือก็คือร้านขายรองเท้า Hobson (เป็นการเปรียบเทียบ เสียดสี ที่สุดตรีนแท้จริง!) ซึ่งดูคร่ำครึ ล้าหลัง ยังมีการแบ่งแยกชนชั้นบน-ล่าง สะท้อนสถานะทางสังคม Middle Class vs. Working Class

วิถีของโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) การศึกษาสามารถสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเพศหญิง-ชาย ฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ ล้วนสามารถประกอบธุรกิจ เริ่มต้นกิจการ ยืนด้วยลำแข้งตนเอง โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำของใครอีกต่อไป

การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ เปรียบได้ดั่ง ‘Hobson’s Choice’ คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหยุดยับยั้ง หรือเลือกไม่ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง! มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพัฒนาตัวเอง ถ้ามัวเพิกเฉยเฉื่อยชา หยุดนิ่งเฉยๆ สักวันก็อาจถูกแซงหน้า กลายเป็นหมาหัวเน่า ถูกทิ้งขว้างอยู่เบื้องหลัง … เหมือนร้านขายรองเท้า Hobson ที่ค่อยๆเสื่อมโทรมลงหลังการจากไปของ Maggie & Will Mossop กระทั่งวันหนึ่งถูกควบรวมกิจการกลายเป็น Mossop & Hobson

แม้ว่า Hobson’s Choice (1954) อาจดูไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ผกก. Lean เพียงความชื่นชอบหลงใหล Lancashire comedy ต้องการเสียดสีวิถีชาวอังกฤษ vs. การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นผลงานทิ้งทวน เรื่องสุดท้ายถ่ายทำในสตูดิโอ(ที่อังกฤษ) นำเสนอช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ตระเตรียมขึ้นขบวนรถไฟ มุ่งหน้าสู่เวนิสใน Summertime (1955) หลังจากนั้นก็จะออกท่องเที่ยวโลกกว้าง … นั่นคือหนทางเลือกสู่อิสรภาพ David Lean’s Choice


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง สามารถทำเงินในอังกฤษ £206,579 ปอนด์ ได้รับคำนิยม ‘money maker’ น่าจะแปลว่าได้กำไรพอสมควร และนอกจากคว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ยังเข้าชิง BAFTA Award อีกหลายสาขา

  • Berlin International Film Festival
    • Golden Berlin Bear ** คว้ารางวัล
  • BAFTA Award
    • Best Film (from any source) พ่ายให้กับ The Wages of Fear (1953)
    • Best British Film ** คว้ารางวัล
    • Best British Actor (John Mills)
    • Best British Actress (Brenda de Banzie)
    • Best British Screenplay

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย BFI National Archive โดยได้รับทุนจาก David Lean Foundation และ StudioCanal คุณภาพ High-Definition เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 (ในโอกาสครบรอบ 60 ปี) จัดทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection และ Vintage Classics

ในตอนแรกผมไม่รับรู้ว่า Hobson’s Choice (1954) คือหนังตลก แต่แค่พอได้ยินบทเพลง Opening Credit ก็สร้างความสนอกสนใจขึ้นโดยทันที ไม่เคยครุ่นคิดมาก่อนว่าผกก. Lean จะสามารถสร้างภาพยนตร์แนวนี้! แม้ผลลัพท์ยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบ แต่ก็บังเกิดความโคตรๆประทับใจ หลายๆฉากสามารถทำให้หัวเราะท้องแข็ง ขำกลิ้งตกเก้าอี้

แนะนำคอหนังที่ชื่นชอบ ‘British Comedy’ ประเทศที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นในความเฉียบคม คำพูดแดกดัน แต่ก็มีการใช้ถ้อยคำที่สระสรวยอย่างมีชั้นเชิง และมักเสียดสีความเป็นผู้ดีอังกฤษ เติมแต่งลายเซ็นต์ผกก. Lean ยิ่งสร้างความลึกล้ำ สะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น/หลังสงครามโลกครั้งที่สอง … จะมองว่าเป็น Feminist Film ก็ได้เช่นกัน

จัดเรต pg กับถ้อยคำหยาบคาย ดื่มเหล้าจนมึนเมา

คำโปรย | Hobson’s Choice ตัวเลือกของผู้กำกับ David Lean ในการทำหนังรอม-คอม ถือว่าประสบความสำเร็จและกลายเป็นคลาสสิก
คุณภาพ | คลาสสิก
ส่วนตัว | ขำกลิ้ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: