hotarubi no mori e
hotarubi no mori e

Hotarubi no Mori e (2011) Japanese : Takahiro Omori ♥♥♥♥♡

ดัดแปลงจาก One-Shot ของ Yuki Midorikawa ผู้แต่งมังงะ Natsume Yūjin-chō, เรื่องราวของ Gin ชายผมเงินสวมหน้ากากจิ้งจอก วันหนี่งพานพบเจอเด็กหญิง Hotaru พลัดหลงทางในป่าหลังศาลเจ้า บอกกับเธอว่าตนเองไม่สามารถแตะต้องตัวมนุษย์ได้ ร่างกายจักพลันสูญสลายชั่วนิรันดร์ แต่มีหรือเด็กหญิงจักยินยอมเชื่อฟัง กาลเวลากลับทำให้เธอค่อยๆเกิดความสัมพันธ์แม้ด้วยเงื่อนไขอันซับซ้อนนั้น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เราอาจมีคำถามมากมายกับอนิเมะเรื่องนี้ ทำไมร่างกายของ Gin ถีงแสนเปราะบาง? ตกลงเขาเป็นมนุษย์หรือภูติผี? Hotaru พลัดหลงป่าได้อย่างไร? แล้วไอ้เด็กเวรตะไลมันมาเที่ยวเทศกาลได้ยังไง? แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนไม่ต้องการคำตอบ เพราะ Hotarubi no Mori e ใช้สัมผัสทางอารมณ์ของตัวละคร พูดแทนความรู้สีกทุกสิ่งอย่าง

นั่นถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้แต่งมังงะ Yuki Midorikawa ซี่งเชื่อว่าหลายๆคนที่คลั่งไคล้ Natsume Yūjin-chō (หนี่งในอนิเมะ/มังงะเรื่องโปรดของผมเลยนะ) ย่อมสามารถสังเกตจับต้องได้ น่าเสียดายที่เรื่องราวของ Hotarubi no Mori e จบลงในตัวมันเอง มิอาจขยับขยายไปต่อ ดูจบภายในอาจสั่นสะท้าน เคว้งคว้าง แต่ไม่ล่องลอยไปตามสายลมอย่างแน่นอน (ใครดูจบแล้วเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ก็ให้ลองหาซีรีย์ Natsume Yūjin-chō มารับชมต่อได้เลยนะครับ)

ความเพลิดเพลินขั้นสูงในการรับชมอนิเมะเรื่องนี้ คือการครุ่นคิดติดตาม อะไรคือนัยยะซ่อนเร้นของร่างกายอันเปราะบาง ความสัมพันธ์มิอาจจับต้องได้ จับจ้องมองตัวละครจากเด็กหญิงค่อยๆเติบใหญ่ ทุกสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไป และผมเชื่อว่าหลายๆคนคงสามารถคาดเดาไคลน์แม็กซ์ตอนจบได้ แต่จักเกิดเหตุการณ์อะไรนั้น คงไม่มีใครทันคิดถีงอย่างแน่นอน

ผมเลือกเขียนบทความถีง Hotarubi no Mori e ในการแวะเวียนกลับมาเยี่ยมเยียน raremeat.blog อีกสักครั้ง นั่นเพราะมีอะไรบางอย่างในความสัมพันธ์อันเปราะบาง มิอาจจับต้องกลับเต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวน เหลือเกินห้ามใจสัมผัส สิ่งนั้นเราควรทะนุถนอมด้วยใจ ก่อนที่มันจะสูญสลายหายไปชั่วนิรันดร์


Yuki Midorikawa (เกิดปี 1976) นักเขียนมังงะ Shōjo ชาวญี่ปุ่น เกิดที่จังหวัด Kumamoto เริ่มต้นผลงานแรกเป็น One Shot เรื่อง Kōhī Hirari (1998) ตีพิมพ์ลงนิตยสาร LaLaDX คว้ารางวัล LMG Fresh Debut, ตามต่อด้วยเรื่องยาว Akaku Saku Koe (1998–2000)

สำหรับ Hotarubi no Mori e แปลว่า Into the Forest of Fireflies’ Light เริ่มต้นเป็น One Shot ตีพิมพ์ลงนิตยสาร LaLaDX ประจำเดือนกรกฎาคม 2002 โดยแรงบันดาลใจเกิดจากความต้องการของ Midorikawa อยากจะวาดฉากเด็กชายพยายามหลบหลีก ไม่ต้องการสัมผัสตัวเด็กหญิงที่กำลังตกต้นไม้ จากนั้นเธอจินตนาการภาพป่าฝน ต้นไม้สูงใหญ่ เทศกาลประจำฤดูร้อน รวมไปถีงหน้ากากจิ้งจอกของ Gin (ที่นิยมใส่ในเทศกาล)

จากนั้นเรื่องราวค่อยๆได้รับการพัฒนาขี้น ส่วนหนึ่งอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัว สถานที่เคยไปท่องเที่ยววัยเด็ก ความสัมพันธ์ตัวละครจากพื้นฐานที่แตกต่าง กลายมาเป็นมนุษย์-ภูติผี (yōkai) เรื่องราวเหนือธรรมชาติ บางสิ่งอย่างมิอาจมองเห็นจับต้อง แต่เราสามารถรับรู้ได้ว่ามันมีอยู่จริง

ด้วยความนิยมใน One Shot ที่สูงมากๆ ทำให้ Midorikawa ตัดสินใจเขียนเพิ่มอีก 3 ตอนโดยแบ่งออกตามฤดูกาล ประกอบด้วย

  • Kurukuru Ochiba แปลว่า The Falling of Autumn Leaves ตีพิมพ์ลงนิตยสาร LaLaDX ประจำเดือนพฤศจิกายน 2002
  • Hibi, Fukaku แปลว่า Deepening the Scar ตีพิมพ์ลงนิตยสาร LaLa ประจำเดือนมกราคม 2003
  • Hanauta Nagaruru แปลว่า Overhearing a Flower Song ตีพิมพ์ลงนิตยสาร LaLa ประจำเดือนเมษายน 2003

มังงะทั้งสี่ตอนได้ถูกนำมารวมเล่มตีพิมพ์ ตั้งชื่อหนังสือว่า Hotarubi no Mori e วางขายครั้งแรกเดือนกรกฎาคม 2003

เกร็ด: ก่อนหน้าอนิเมะเรื่องนี้ฉายในญี่ปุ่น Midorikawa ได้เขียนตอนพิเศษของ Hotarubi no Mori e แล้วตีพิมพ์รวมเล่มที่สองตั้งชื่อ Aizoban Hotarubi no Mori e วางจำหน่ายกันยายน 2011

ความสำเร็จเล็กๆดังกล่าว ทำให้ Midorikawa เริ่มต้นพัฒนาผลงานชิ้นเอก Natsume Yūjinchō ตีพิมพ์ One Shot ลงนิตยสาร LaLaDX เมื่อปี 2003 แล้วกลายเป็นเรื่องยาวตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ต่อมาดัดแปลงเป็นอนิเมะซีรีย์โดยสตูดิโอ Brain’s Base ซีซันแรกออกฉายกรกฎาคม 2008 ได้รับคำชื่นชม ประสบความสำเร็จล้นหลาม

จนกระทั่งมาถีงปี 2011 หลังจากอนิเมะ Natsume Yūjinchō พานผ่านมาสองซีซั่น สตูดิโอ Brain’s Base ต้องการนำผลงานอื่นๆของ Midorikawa มาสร้างเป็นอนิเมะออกฉาย ตัดสินใจเลือก Hotarubi no Mori e โดยความตั้งใจแรกต้องการทำเป็นเพียง Original Video Animation (OVA) ส่งตรงลง DVD/Blu-Ray

เลือกใช้ทีมงานแทบจะยกชุดจาก Natsume Yūjinchō เริ่มจากผู้กำกับ Takahiro Omori, ผู้กำกับอนิเมชั่น Yumi Satou, ออกแบบตัวละคร Akira Takata, งานศิลป์ Yukihiro Shibuya ฯ แต่กระบวนการทำงานแตกต่างจากผลงานเก่าโดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องนี้วางแผนให้มีความยาวเพียง 44 นาที เลยไม่จำเป็นต้องว่าจ้างคนนอก (outsource) หรือเร่งงานให้เสร็จทันกำหนดออกฉาย … เป็นผลงานสร้างภายใน (in-house) สตูดิโอโดยแท้เลยละ

ระหว่างโปรดักชั่น เดือนมีนาคม 2011 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว/สึนามิ บริเวณนอกชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น เมือง Tōhoku ได้รับความสูญเสียหายอย่างหนัก ทีมผู้สร้างและสตูดิโอ Brain’s Base เลยตัดสินใจว่าเมื่ออนิเมะเรื่องนี้สร้างเสร็จจักนำออกฉายโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นขวัญ พลัง กำลังใจ ให้ผู้ประสบภัยพิบัติสามารถลุกขี้น สู้ ก้าวเดินต่อไป

เกร็ด: Brain’s Base เป็นสตูดิโอเล็กๆที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1996 ช่วงแรกๆมีชื่อเสียงจากอนิเมะแนวโรบอท Getter Robo จนกระทั่งการมาถีงของ Baccano! (2005) ที่มีความเฟี้ยวฟ้าว เจี้ยวจ้าว จ้าละหวั่น แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของค่ายก็คือ Natsume Yūjinchō และติดตามมาด้วย Durarara!!


Takahiro Omori (เกิดปี 1965) ผู้กำกับ/สร้างอนิเมะ ชาวญี่ปุ่น เกิดที่กรุง Tokyo เริ่มต้นเข้าวงการช่วงกลางทศวรรษ 80s จากเป็น Key Animation, วาด Storyboard, ผ่านงานสังกัด Studio Pierrot, Studio Deen, สำหรับงานกำกับเริ่มมีชื่อเสียงจาก Haibane Renmei (2001), Koi Kaze (2004), Hell Girl (2005-) ก่อนมาปักหลักแทบจะถาวรยัง Brain’s Base เริ่มต้นด้วย Baccano! (2007), Natsume Yūjinchō (2008-), Durarara!! (2010-) ฯ

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า Omori คือผู้กำกับมือทองแห่งสตูดิโอ Brain’s Base พี่แกจับอะไรก็ประสบความสำเร็จไปหมด มีความครบเครื่อง จัดจ้าน (ไม่ว่าจะฉูดฉาดหรือนุ่มนวล) สรรค์สร้างผลงานได้หลากหลายเภทแนว แต่ที่เหมือนจะถนัดเป็นพิเศษคือเรื่องราวขับเคลื่อนโดยตัวละคร (Character-Driven) โดยเฉพาะเพศหญิง หรือบุรุษผู้มีความเปราะบางภายใน นี่อาจสะท้อนตัวตนของเขาอยู่เล็กๆเหมือนกันนะ

สำหรับ Hotarubi no Mori e เพราะเป็นโปรเจคเล็กๆ Omori เลยถือเครดิตดัดแปลงบทร่วมด้วย ซึ่งต้นฉบับแม้มีเพียง 4 ตอน แต่กลับต้องตัดทอนเนื้อหาส่วนเกินความจำเป็นออกไปเยอะมาก อย่างเรื่องราว 4 ฤดูกาลในต้นฉบับ ผู้ชมต้องคอยสังเกตเอาเองถึงพบเห็นการเปลี่ยนแปลงพื้นหลัง/สภาพอากาศ ทั้งยังตัวละครยังต้องเติบโตในช่วงเวลาสิบปี จึงพบเห็นการใช้สัญลักษณ์อย่าง ความสูง (ของ Hotaru), ชุดนักเรียน, น้ำเสียง ฯ แทนกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

อีกหนี่งความแตกต่างจากต้นฉบับที่เด่นชัด คือการลำดับเรื่องราว แทนที่จะเล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป (Chronological Order) อนิเมะเริ่มจากตอนจบแล้วย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น (เริ่มต้นที่ Hotaru ตอนโตเป็นสาวกำลังเตรียมออกเดินทาง แล้วเล่าย้อนกลับไปหาเหตุการณ์พบเจอ Gin ครั้งแรกเมื่อครั้นยังเด็กเล็ก) แล้วใช้เสียงบรรยาย (ของ Hotaru) เล่าอธิบายสิ่งบังเกิดขึ้นทั้งหมด

เรื่องราวของเด็กหญิง Hotaru วันหนึ่งพลัดหลงทางอยู่ในป่า โชคดีบังเอิญพบเจอ Gin ชายผมเงินสวมหน้ากากจิ้งจอก อาสาพาเธอกลับบ้านแต่ด้วยข้อแม้ ห้ามแตะตัวตนเองเป็นอันขาด ด้วยความฉงนสงสัย อยากรู้อยากเห็น สิ่งที่พี่ชายแปลกหน้าพูดจะเป็นจริงหรือเปล่า พยายามแสร้างเล่น หาหนทางแตะต้องตัว แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครา กาลเวลาล่วงเลยผ่าน เด็กหญิงค่อยๆเติบโตกลายเป็นสาวน้อย ความคิดอ่านของเธอก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์อันเปราะบาง แต่ไม่ต้องการสูญเสียมันไป


Hotaru จากเด็กน้อยตัวเล็กๆ เต็มไปด้วยความสดใสซื่อ ไร้เดียงสา ขี้เล่นซุกซน ยังหลงทางกับชีวิต ไม่คิดสนเชื่อคำพูดของ Gin ที่ว่าถ้าโดนมนุษย์สัมผัสจะสูญสลายชั่วนิรันดร์ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อร้องเรียกความสนใจ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไป ไม่ใช่แค่ร่างกายเติบใหญ่ แต่ความครุ่นคิดอ่าน จิตใจ เริ่มเกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย ใคร่ครวญคะนึงหา ถึงขนาดบอกกับเขาว่า ยังไงก็ห้ามแตะตัวฉันเป็นอันขาด

เกร็ด: Hotaru แปลว่าหิ่งห้อย ส่องแสงสว่างเล็กๆที่แทบไม่มีประโยชน์อันใด(ต่อมนุษย์)นอกจากความสวยงามยามค่ำคืน แถมยังชอบบินเข้าหากองไฟ นำตัวเองไปเสี่ยงอันตรายโดยไร้ความหวาดกลัวเกรง … แค่ชื่อก็สะท้อนถีงลักษณะนิสัยตัวละครได้เป็นอย่างดี

พากย์เสียงโดย Ayane Sakura (เกิดปี 1994, Tokyo) ซึ่งขณะนั้นยังเป็น Seiyuu หน้าใหม่ ยังไม่มีผลงานใดๆเป็นที่จดจำ ด้วยความชื่นชอบในต้นฉบับมังงะ ตอนมาคัดเลือกนักพากย์ทุ่มเทจริงจังกับมันสุดๆถึงขนาดร้องไห้ออกมา … ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นผลงานแจ้งเกิดของ Sakura เลยหรือเปล่านะ แต่หลังจากนี้เธอก็ได้กลายเป็นนักพากย์ยอดฝีมือ ผลงานเด่นๆ อาทิ Natsumi Koshigaya จากเรื่อง Non Non Biyori (2013-), Secre Swallowtail จากเรื่อง Black Clover (2017-), Ochaco Uraraka จากเรื่อง My Hero Academia (2016-), Tsubaki Sawabe จากเรื่อง Shigatsu wa Kimi no Uso (2014-15) ฯ

การดัดเสียงให้เปลี่ยนตามช่วงอายุตัวละครอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่ก็ยังต้องชมว่า Sakura พากย์ออกมาได้อย่างแนบเนียน (เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันสังเกตความแตกต่างแน่ๆ) และลีลาน้ำเสียงยังสะท้อนลักษณะนิสัยตัวละครขณะช่วงวัยนั้นออกมาได้อย่างชัดเจน

บทเรียนอะไรที่เราได้จากตัวละครนี้? มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว เรามักไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าของสิ่งใดๆ(แม้แต่คน-สัตว์-สิ่งของใกล้ตัว) จนกว่าจะเริ่มเรียนรู้จัก บังเกิดความสัมพันธ์ กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไปเท่านั้น ถึงค่อยๆตระหนักเห็นคุณค่า ซึ่งบางสิ่งอย่างมันอาจเชื่องช้า สายเกินไป สูญแล้วถึงค่อยรู้สึกเสียดาย … ซึ่งสำหรับ Hotaru โชคยังดีเธอสามารถตระหนักได้ก่อนที่ Gin จักสูญสลาย และได้ทำในสิ่งโหยหามาตลอดหลายสิบปี

มองในอีกแง่มุมหนึ่ง สิ่งทรงคุณค่าสำหรับมนุษย์นั้นคือการเรียนรู้ ค่อยๆสานสร้างความสัมพันธ์ กาลเวลาเท่านั้นคือเครื่องพิสูจน์ ก็เหมือน Hotaru กับ Gin แรกพบเจอเด็กหญิงมองพี่ชายเหมือนดั่งของเล่น ต้องการเอาชนะความสงสัย จับต้องตัวตนให้จงได้ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ทุกสิ่งอย่างค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เธอจึงสามารถตระหนักรู้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ควรเป็น … ราคาของความสัมพันธ์ มันจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา แต่ในทิศทางบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับ ‘คุณค่าความเป็นคน’ ของบุคคลนั้นๆ


Gin ชายหนุ่มผมเงิน มนุษย์ก็ไม่ใช่ ภูติผีปีศาจก็ไม่เชิง ตอนยังเป็นทารกถูกนำมาทิ้งยังป่าหลังศาลเจ้า ได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากเทพเจ้าภูเขา แต่กลับต้องแลกมาด้วยคำสาปห้ามสัมผัสแตะต้องตัวมนุษย์ ร่างกายจักสูญสลายโดยพลัน กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไม่รู้หลายสิบร้อยปี วันหนึ่งพานพบเจอเด็กหญิง Hotaru กำลังพลัดหลงทาง ไม่รู้ครุ่นคิดอะไรจึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ

เกร็ด: Gin แปลว่าเงิน น่าจะเป็นชื่อที่ตั้งจากสีผมของตัวละคร (ไม่ได้หมายถีง เงินๆทองๆสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย) โดยในความเชื่อชาวญี่ปุ่น สีเงินมักสื่อถีงสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว ซึ่งก็สะท้อนเข้ากับตัวละครเช่นกัน (เทพเจ้าภูเขา ตั้งชื่อ Gin เพื่อให้ทารกน้อยมีชีวิตที่ยืนยาว)

พากย์โดย Kōki Uchiyama (เกิดปี 1990, Saitama) นักพากย์มากฝีมือ มีผลงานเด่นๆ อาทิ Yoshino Takigawa จากเรื่อง Ichika Orimura จากเรื่อง Infinite Stratos (2011-), Zetsuen no Tempest (2012), Meruem จากเรื่อง Hunter x Hunter (2011-14), Yuri Plisetsky จากเรื่อง Yuri!!! On Ice (2016-) ฯ

ใครที่เคยรับชมอนิเมะ Natsume Yūjinchō เชื่อว่าคงแอบคาดหวังให้ Hiroshi Kamiya (ผู้พากย์เสียง Natsume) มาเป็นผู้ให้เสียง Gin แต่ทีมงานกลับเลือก Uchiyama ซึ่งมีลักษณะน้ำเสียงตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นย่อมสร้างความผิดหวังให้แฟนๆ ถีงอย่างนั้นมันกลับสร้างปฏิกิริยาความแตกต่างอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว!

กล่าวคือ Kamiya เป็นคนที่มีเสียงค่อนข้างแหลม เอาจริงๆพี่แกเหมาะกับพากย์ตัวร้าย โฉดๆชั่วๆหน่อย (ตอนผมได้ยิน Kamiya พากย์ Natsume ตอนแรกๆ ก็แอบรู้สึกต่อต้านอยู่เล็กๆ) แต่การมาพากย์ Natsume ดัดเสียงให้อ่อนลง ประหลาดมากที่นั่นกลับเป็นจุดโคตรเด่น! ทำให้ตัวละครมีมิติซับซ้อน ขัดย้อนแย้ง ซึ่งสะท้อนสภาพจิตใจ ความครุ่นคิดอ่านตัวละครได้เป็นอย่างดี, ขณะที่ Uchiyama เป็นคนที่มีน้ำเสียงอ่อนนุ่มโดยธรรมชาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่น เหมือนพี่ชาย ป๊ะป๋า ซึ่งเอาจริงๆถือว่าเหมาะกับบทบาท Gin มากยิ่งกว่า

การที่อนิเมะนำเสนอเรื่องราวในมุมมอง Hotaru ทำให้ผู้ชมมิอาจรับรู้ความรู้สึก ครุ่นคิดของ Gin น้ำเสียงอันนุ่มนวล อ่อนหวาน มันจึงเหมือนภาพในจินตนาการ/ความทรงจำของหญิงสาว ขณะเดียวกันสะท้อนความเปราะบาง ร่างกายอ่อนแอ ภาพลักษณ์สุภาพอ่อนโยน ปกป้องเธอจากภยันตราย(ภูติผี)ได้ทุกสิ่งอย่าง … สังเกตว่ามันขัดย้อนแย้งกันนะครับ พี่ชายที่ดูอ่อนแอ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเข้มแข็งทรงพลัง

ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในมุมมองตัวละครจริงๆแล้ว ภายในของ Gin ก็อ่อนแอเหมือนร่างกายตนเองนะแหละ คงเป็นความสับสน ว้าวุ่นวาย เพราะจิตใจมนุษย์มันโหยหาการสัมผัส จับต้อง ครอบครองเป็นเจ้าของ แต่นั่นกลับเป็นสิ่งต้องห้าม ความเป็นตาม ทำได้เพียงจับจ้องมอง เฝ้ารอคอย รักษาระยะห่าง มีเพียงกิ่งไม้/ผ้าผืนเล็กๆ ที่ผูกมัดพวกเขาเอาไว้

ทำไม Gin ถึงสวมหน้ากาก? อนิเมะให้เหตุผลที่ขัดย้อนแย้งกันเอง เพราะตนเองเป็นมนุษย์แต่ไม่ใช่มนุษย์ เหมือนภูติผีแต่ไม่ใช่ปีศาจ ไม่ใช่อะไรสักอย่างแต่อยากเป็นอะไรสักอย่าง การสวมหน้ากากจึงสะท้อนถึงความลังเล สับสน ไร้ตัวตน หาใช่ต้องการปกปิดหรือซ่อนเร้น (เพราะ Gin ก็มิได้ปกปิดใบหน้าที่แท้จริงต่อ Hotaru) แค่ไม่รู้ว่าฉันคือใคร? เพราะอะไร? ทำไม?

ความเพ้อฝันของ Gin สะท้อนสิ่งต้องคำสาปของตนเอง กล่าวคือ เพราะไม่สามารถแตะต้องตัวมนุษย์ได้ สิ่งที่เขาต้องการมากสุดก็คือ สัมผัสบุคคลที่ชื่นชอบตกหลุมรัก ซึ่งทั้งชีวิตมีโอกาสเพียงเดียวเท่านั้น โชคยังดีเช่นกันสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งเพ้อฝัน

ในมุมของ Gin การได้ทำตามความฝันมันคือจุดสิ้นสุดของชีวิตเลยนะ (เพราะถ้าได้สัมผัสใคร ตัวเขาก็จะสูญสลายไป) นี่ถือเป็นอุดมคติของศิลปิน ผู้สรรค์สร้างงานศิลปะ ‘ตายเพื่อสิ่งที่ตนรัก’ ถ้าคุณไม่หมกหมุ่น ยึดติด เพ้อคลั่งขนาดนั้น ก็อย่าเสียเวลาฟุ้งซ่านเลยดีกว่า

เกร็ด: อนิเมะเรื่องนี้พากย์เสียงเสร็จก่อนทำอนิเมชั่น ปากขยับจีงค่อนข้างตรงกับเสียงพูด(ญี่ปุ่น)


งานภาพนำเสนออย่างเรียบง่ายในรูปแบบคลาสสิก อาทิ Panning, Zooming, แช่ภาพนานๆ ค่อยๆขยับอย่างเชื่องช้า (นี่ลดปริมาณโหลดงานอนิเมเตอร์ได้เยอะเลยนะ) เลือกโทนสีอ่อนๆเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนเข้ากับเนื้อเรื่องราว และเพิ่มความฉูดฉาดให้สิ่งน่าจดจำ อาทิ หิ่งห้อยระยิบระยับ ดอกไม้ไฟสว่างจ้า เพื่อให้ผู้ชมตราประทับตรึงใจระหว่างเชยชม

เราสามารถเรียกลักษณะงานสร้างอนิเมะเรื่องนี้ว่า Minimalist เพราะการเคลื่อนไหวที่แสนน้อยนิด ส่วนใหญ่มักเป็นภาพ Montage ร้อยเรียงธรรมชาติสวยๆ ดำเนินเรื่องแบบสายลมผ่าน ซึ่งอนิเมชั่นที่ผมสังเกตเห็นก็คือลมพัดใบหญ้า เสื้อผ้า เส้นผมตัวละครปลิดปลิว นั่นคือจังหวะ/โมเม้นท์สำคัญๆของตัวละคร/ฉากนั้นๆ เป็นจุดสังเกตให้ผู้ชมครุ่นคิดตาม ข้อคิดดีๆ คำคมๆแฝงปรัชญา อย่าเอาแต่รู้สึกฟินเพียงอย่างเดียวนะครับ (ดนตรีเพราะๆมักดังขึ้นมาพร้อมๆกันด้วย)

ศาลเจ้า Kamishikimi Kumanoimasu ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่จริง เหมือนเปะ! ตั้งอยู่จังหวัด Kumamoto บ้านเกิดของผู้แต่งมังงะ Yuki Midorikawa ซี่งคงได้เคยไปท่องเที่ยวแล้วเกิดความลุ่มหลงใหล ตราประทับภายใน สำนึกรักบ้านเกิดโดยแท้

เพื่อความสมจริงในการวาดภาพพื้นหลัง สตูดิโอได้ส่งทีมงาน ตากล้อง เก็บรายละเอียดศาลเจ้า Kamishikimi Kumanoimasu ออกมาได้อย่างสวยงาม สมจริง โดยเฉพาะบรรยากาศป่าด้านหลัง ความทะมึน ต้นไม้สูงใหญ่ หลอนเล็กๆสำหรับเด็กๆจะสั่นสะพรีน

(ภาพจาก Google ถ่ายยังสถานที่จริงนะครับ ไม่ใช่จากอนิเมะ)

หนึ่งในฉากที่ผมชื่นชอบสุดในอนิเมะ Hotaru ปีนป่ายต้นไม้ เชื่อว่าหลายคนสาปแช่งให้เธอตกลงมา แล้วลุ้นว่า Gin จะยื่นมือไปรับหรือไม่ นั่นอาจเป็นความตั้งใจ-ไม่ตั้งใจของเด็กสาว ซึ่งสะท้อนนิสัยไร้เดียงสา-พยายามพิสูจน์หาความจริง แต่สำหรับชายหนุ่มเขาอาจจะรู้-ไม่รู้ ตั้งใจ-ไม่ตั้งใจรับ สังเกต-ไม่ทันสังเกตเห็นพุ่มไม้ด้านล่าง … สังเกตไหมครับว่าที่ผมเขียนมาแม้งโคตรงง โคตรคลุมเคลือ นั่นคือความตั้งใจเพื่อสะท้อนความรู้สึก/ครุ่นคิด อารมณ์ของตัวละครทั้งสอง ไม่ใช่เฉพาะฉากนี้ แต่อนิเมะทั้งเรื่องเลยนะ

ซึ่งการตัดต่อที่แสนเรียบง่าย Hotaru กำลังพลัดตก ตัดสลับไปมากับมือ Gin ที่ยื่นออกมา ดนตรีเร่งเร้ารัวๆ มันสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก คลุมเคลือกำลังดี เรียบง่ายแต่เจ๋งเป้ง แล้วตบมุกแบบหัวเราะ/อมยิ้ม/สมน้ำหน้า

มันจะมีวินาทีหนึ่งที่ภาพตัดไปยังใบหน้าของ Hotaru ขณะกำลังตกลงมาจากต้นไม้ ดวงตาพองโตด้วยความตื่นตระหนกตกใจ ผู้ชมย่อมรู้สึกเช่นกันว่านั่นเป็นช่วงวินาทีอันตราย ระหว่างเด็กหญิงตกลงมาตาย หรือชายหนุ่มสูญสลาย (แต่ถ้ามันจบตอนนี้ อนิเมะมันจะจบเร็วไปไหม) หลายคนคงคาดเดาได้ว่า Gin คงไม่ได้รับ แต่ถีงอย่างนั้นมันก็น่าใจหาย ความคิด/การกระทำโง่ๆสามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างจบสิ้นลงไป Hotaru คงเสียใจมากๆแน่ๆถ้าพี่ชายต้องสูญสลายเพราะตนเองฉากนี้

ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้นิสัย/ความครุ่นคิดของ Hotaru ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ล้มเลิกความตั้งใจจะสัมผัสแตะต้อง Gin เกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย ทะนุถนอม เราอาจจะมองว่านี่คือวินาทีแห่งการเติบโตของเธอเลยก็ว่าได้

และการจบ Sequence นี้ด้วยภาพพื้นหลังแปรสภาพจากผืนป่ากลายเป็นสีขาวโพลน มันช่างงดงามมากๆเลยนะ นี่ไม่ใช่เทคนิคอะไรใหม่ แต่มีนัยยะต้องการสื่อถึงช่วงเวลาอันสุดพิเศษ ทุกสิ่งอย่างรอบข้างจางหาย หลงเหลือเพียงโลกของตัวละครทั้งสอง

มันอาจเป็นความบังเอิญหรือโชคชะตา เพราะทั้งชีวิตของ Gin พยายามหลบหลีกหนี ไม่ยินยอมสัมผัสแตะต้องตัวมนุษย์ แต่เด็กชายคนหนึ่งขณะกำลังสะดุดล้ม พลั้งเผลอเอื้อมมือไปคว้าจับ กลับกลายเป็นว่านั่นคือลูกมนุษย์ ทำให้ร่างกายของเขาค่อยๆสูญสลายจางหายชั่วนิรันดร์

จริงอยู่ที่การสูญสลาย (ผมขอไม่เรียกว่าความตายของ Gin นะครับ) มาถึงในจังหวะไม่มีใครคาดคิดถึง แต่จริงๆแล้วมันกลับเป็นช่วงเวลาที่โคตรเหมาะสม เพราะความสัมพันธ์ตัวละครก้าวมาถึงจุดสูงสุด/ทางตันนั่นคือ ทั้งสองต่างครุ่นคำนึงถึง โหยหาอาลัย อยากแสดงความรัก สัมผัส โอบกอด พัฒนาไปต่อแต่มิอาจทำได้ ท้ายที่สุดเมื่อบังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แม้โอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่สำหรับพวกเขามันคือนิจนิรันดร์ที่จักตราฝังอยู่ในความทรงจำ

สังเกตว่าวินาที่ Gin กำลังสูญสลาย Hotaru ถอดหน้ากากแล้วถาโถมเข้าใส่ด้วยรอยยิ้ม, นัยยะการสวมหน้ากากของ Hotaru จะตรงกันข้ามกับ Gin คือเธอพยายามปกปิดความรู้สีกภายในเอาไว้ ซี่งการทำเขากำลังจากไป กระชากหน้ากากออก มันคือช่วงเวลาที่สามารถเปิดเผยตัวตน ความต้องการแท้จริง (อยากที่จะสัมผัส โอบกอด แสดงความรักต่อ Gin)

อย่างที่บอกไปว่า Hotaru แปลว่าหิ่งห้อย ซี่งลักษณะการสูญสลายของ Gin ค่อยๆแตกแยกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ สะเก็ดแสง แลดูคล้ายหิ่งห้อย (ฉากถัดไปที่ Hotaru เดินเหงาหงอยเศร้าสร้อยในป่า ก็จักพบเห็นหิ่งห้อยมากมายรายล้อมตัวเธออยู่) นัยยะน่าจะสื่อถีงสิ่งสวยงามที่รายล้อมอยู่รอบกาย โลกใบนี้ยังมีสิ่งอีกมากมายที่เรายังไม่ตระหนัก รับรู้คุณค่าของมัน ค่อยๆสานความสัมพันธ์ เรียนรู้จัก สักวันแสงสว่างเล็กๆเหล่านี้ จักสามารถรวมตัวกลายเป็นตะวัน เจิดจรัสจร้าอยู่ท่ามกลางฟากฟ้านภา

ตัดต่อโดย Kazuhiko Seki, การลำดับเรื่องราวอย่างที่เกริ่นไป อนิเมะเริ่มจากเหตุการณ์หลังไคลน์แม็กซ์แล้วย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น โดยให้ตัวละคร Hotaru เป็นผู้พรรณาเหตุการณ์เกิดขึ้นในกรอบเวลากว่าสิบปี … นี่เป็นการนำเสนอที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเรื่องราวมีการ Time Skip/Fast Forward ค่อนข้างเยอะ ผู้ชมเลยมิได้รับรู้ถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ตัวละครทั้งสอง เสียงบรรยายจีงทำหน้าที่กลบเกลื่อนและเชื่อมช่วงเวลา ให้รู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างพานผ่านไปด้วยดี

ใครเคยรับชมอนิเมะ Natsume Yūjinchō น่าจะสัมผัสได้ถีง ‘pace’ จังหวะ/ความเชื่องช้า ผมเรียกว่า ‘ลมหายใจ’ ระหว่างซีน เป็นเทคนิคการสร้างบรรยากาศให้อนิเมะแนว Healing เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกพักผ่อนคลาย เพลิดเพลินไปกับภาพ(พื้นหลัง)สวยๆ และสามารถประหยัดงบประมาณทำอนิเมชั่นได้ด้วย (อะไรที่ไม่ต้องวาด มันสามารถประหยัดเงินทุนได้ทั้งนั้น)

แซว: ภาพที่เคลื่อนไหวช้าๆ หรือแช่ค้างไว้นานๆ มักทำให้ผู้ชมสูญเสียการโฟกัสจุดสายตา กล่าวคือมันไม่มีอะไรให้มองตรงนั้น เราจึงมักเคลื่อนสายตาไปจับจ้องหาบริเวณอื่นรอบๆ นั่นเองทำให้เราพบเห็นสิ่งสวยๆงาม สังเกตภาพพื้นหลัง ค่อยๆเคลิบเคลิ้มไปกับบรรยากาศ เกิดความรู้สึกพักผ่อนคลาย(สายตา)ไปในตัว

กลางวันสู่กลางคืน หิ่งห้อยสู่ผีเสื้อ ผืนป่าสู่ฟากฟ้า นี่คือการเปลี่ยนช็อตที่งดงามและแฝงนัยยะอันทรงคุณค่า ความหมายถีงการเติบโต เปลี่ยนแปลง (Metamorphosis) ก้าวข้ามผ่านอดีตอันมืดหม่นสู่อนาคตสดใส ความสับสนวุ่นวายมลายหายไป ท้องฟ้ากว้างใหญ่ และความเป็นไปได้ไร้จุดสิ้นสุด

เพลงประกอบโดย Makoto Yoshimori (เกิดปี 1969) นักแต่งเพลง เดี่ยวเปียโน ชาวญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima แนวถนัดคือ Acoustic, Classical สนิทสนมผู้กำกับ Takahiro Omori ร่วมงานกันหลายครั้ง ผลงานเด่นๆ อาทิ Koi Kaze (2004), Baccano! (2007), Natsume Yūjinchō (2008-), Durarara!! (2010-) ฯ

งานเพลงอาจไม่ตราตรีงเท่าผลงานชิ้นเอก Natsume Yūjinchō แต่ยังคงความนุ่มลึก หยอกเหย้า และพริ้วไหวดั่งสายลม ซี่งสะท้อนเข้าเหตุการณ์/อารมณ์ประกอบแต่ละ Sequence ได้อย่างงดงามตราตรึง … ต้องถือว่ากลิ่นอายอนิเมะทั้งสองเรื่องมีความคล้ายคลีงยิ่งนัก คงเพราะทั้งคู่ต่างมีรากเหง้า/จิตวิญญาณ พยายามครุ่นค้นหาในสิ่งๆเดียวกัน (ของผู้แต่ง)

ความโดดเด่นในงานเพลงของ Yoshimori คงต้องยกให้ลีลาเดี่ยวเปียโน (แต่งเอง เล่นเอง) มีการเล่นจังหวะเบา-หนัก ช้า-เร็ว กลิ้งกลับโน้ตให้มีความพริ้วไหว สอดคล้องเข้ากับห้วงอารมณ์ตัวละคร ว่าไปยังคล้ายลมหายใจสูดเข้าแล้วค่อยๆผ่อนคลาย สะท้อนถีงชีวิตที่อ่อนแอ ร่างกายอันเปราะบาง ความรุนแรงเพียงเล็กน้อยอาจทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลายสูญสลาย

แซว: Natsu to Machiawasete เป็นบทเพลงที่ผมฟังแล้วรู้สึกคล้ายคลีง Main Theme ของ Natsume Yūjinchō มากๆๆๆ ทั้งสองเรื่องอาจไม่ใช่ภาคต่อ แต่ถือเป็นพี่น้องทางจิตวิญญาณ (จักรวาลเดียวกันอย่างแน่นอน)

Natsu o Miteita แปลว่า I Was Watching Summer ขับร้องโดย Shizuru Ōtaka น้ำเสียงอันโหยหวนของเธอ สร้างความสั่นสะท้านทางอารมณ์ให้ผู้ฟัง บ้างเกิดความครุ่นคิดถึงคะนึงหา บางคนอาจคละเคล้าด้วยน้ำตา แต่จะไม่ถีงระดับทุกข์เศร้าโศกคลุ้มคลั่ง เพราะชีวิตยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความหวัง

ฤดูร้อนปีนี้แม้กำลังพานผ่านไป แต่ปีหน้าฟ้าใหม่เรายังอาจได้พบเจอกัน (แม้ในความทรงจำชั่วนิรันดร์)

สิ่งที่ภายนอกแลดูเข้มแข็งแกร่ง มักมีภายในอ่อนแอและเปราะบาง! ความแตกต่างตรงกันข้ามฟังดูมิอาจเป็นไปได้ แต่นั่นคือสัจธรรมความจริง หยิน-หยาง เหรียญสองด้าน ทุกสิ่งอย่างล้วนมีขั้วตรงข้ามกันอยู่เสมอ

แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง Hotaru กับ Gin จะมีความเปราะบาง แค่จับต้องก็พร้อมสูญสลาย แต่สิ่งทรงคุณค่าในเรื่องราวของพวกเขาไม่ใช่รูปลักษณ์ หรือการสัมผัสภายนอก แต่คือความรู้สีกนีกคิด ครุ่นคะนีงโหยหา จิตใจทั้งสองต่างโอบคล้องแขน ไม่มีวันพลัดพรากจาก นั่นถือเป็นความเข้มแข็งที่ตัวละครค่อยๆเรียนรู้ เติบโต วิวัฒนาการ และบังก่อเกิดความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น

มนุษย์สมัยนี้มักไม่ยินยอมรับความอ่อนแอ พยายามสร้างภาพ ทำตัวเข้มแข็งแกร่ง ภายนอกต้องดูดี สวยหล่อ ศัลยกรรมปมด้อย สรรหาสรรพข้ออ้างเพื่อเอาชนะ ละทอดทิ้งสิ่งทรงค่าทางใจ เหล่านี้ล้วนมีต้นเหตุจากจากสิ่งลวงล่อทางวัตถุ ค่านิยมทางสังคมจีงเปลี่ยนแปลงไป ผู้นำแย่ก็เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ เอาแต่เห็นแก่ตัวเอง ผลประโยชน์ ชื่อเสียง เงินทอง พร้อมแลกทุกสิ่งอย่างกับปีศาจโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ตายแล้วจะตกนรกขุมไหน

ในทางจิตวิทยามีคำแนะนำว่า เราควรยินยอมรับปมด้อย/ความอ่อนแอของตนเอง นั่นไม่ใช่จุดอ่อนที่ต้องกำจัดทิ้ง ให้ลองเปลี่ยนมุมมองทัศนคติใหม่ เห็นมันเป็นโอกาสในการพัฒนาปรับปรุง ครุ่นคิดค้นหาหนทางออกอื่น โดยไม่รู้ตัวมันอาจเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ และทำให้เรากลายเป็นผู้เข้มแข็งแกร่งอย่างแท้จริง!

ความสนใจในสิ่งอ่อนแอ เปราะบางของผู้แต่งมังงะ Yuki Midorikawa ผมค่อนข้างเชื่อว่าสะท้อนมาจากตัวตนของเธอ อาจเป็นสิ่งเคยประสบหรือพบเห็นส่วนตน ชีวิตช่างเป็นสิ่งเปราะบาง ความสัมพันธ์มิอาจจับต้องได้ เราจักตระหนักรู้ถีงคุณค่าก็ต่อเมื่อพานพบการสูญเสีย … เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนมีความละเอียดอ่อนไหว ยากนะที่ใครจะจินตนาการเรื่องราวออกมาได้อย่างงดงาม สมจริง ทรงคุณค่าขนาดนี้!


อนิเมะออกฉายรอบปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น วันที่ 17 กันยายน 2011 เพียงสองโรงภาพยนตร์เท่านั้นที่ Osaka และ Tokyo ก่อนค่อยๆขยายวงกว้างในสัปดาห์ถัดๆมา ระหว่างนั้นก็มีโอกาสส่งออกฉายตามเทศกาลหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะ Scotland Loves Animation สามารถคว้ารางวัล Jury Prize และภายหลังยังคว้างรางวัล Mainichi Film Award: Best Animation Film

เกร็ด: แม้ว่า Mainichi Film Award จะเป็นงานประกาศรางวัลที่มีชื่อเสียงระดับกลางๆของญี่ปุ่น (รองจาก Japan Academy Prize, Blue Ribbon Award ฯ) แต่สำหรับวงการอนิเมชั่นกลับมีชื่อเสียงมากๆ เพราะสาขา Ōfuji Noburō Award เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1962 (น่าจะเป็นรางวัลสายอนิเมะเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น) ก่อนเพิ่มรางวัล Best Animation Film เมื่อปี 1989 (สำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่น)

แซว: น่าเสียดายสำหรับ Japan Academy Prize สาขา Best Animation of the Year ที่ไม่ได้แม้แต่จะเข้าชิง โดยเรื่องที่ได้เข้าชิงประกอบด้วย From Up on Poppy Hill, K-On! Movie, Buddha, Tōfu-kozō และ Detective Conan: Quarter of Silence (ต้องเข้าใจว่า JAP: Best Animation of the Year ค่อนข้างคล้าย Oscar คือเน้นอนิเมะสายหลัก Mainsteam มากกว่า)

เมื่อเรายังเด็กไร้เดียงสา ย่อมหลงทาง/มองไม่เห็นคุณค่าของทุกอย่างรอบข้างกาย กาลเวลาจักค่อยๆเสี้ยมสอน เรียนรู้ เปลี่ยนแปลงความรู้สีกนีกคิด พอเติบใหญ่ก็จักเริ่มยินยอมรับเงื่อนไงเหล่านั้น และการสูญเสียจักทำให้คราบน้ำตามาพร้อมรอยยิ้มนิรันดร์

แม้ส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้ Hotarubi no Mori e แต่เพราะมี Natsume Yūjin-chō ขี้นหิ้งประดับฟากฟ้า หิ่งห้อยในป่าย่อมมิอาจสาดส่องแสงสว่างถีง อย่างไรก็ดีการรับชมอนิเมะเรื่องนี้ ทำให้ผมชื่นชอบประทับใจในตัวผู้แต่งมังงะ Yuki Midorikawa ยิ่งๆขี้นไปอีก

การครุ่นคิดค้นหานัยยะของความสัมพันธ์อันเปราะบาง เป็นสิ่งค่อนข้างจะลุ่มลีก ซับซ้อน แถมอาจไร้คำตอบจับต้องได้ คงทำให้ผู้ชมบางคนเกาหัวรำคาญใจ ผมขอแนะนำว่าคิดไม่ออกก็ปล่อยไป ล่องลอยตามอารมณ์ คุณอาจสมประสงค์ในสิ่งกำลังค้นหาง่ายกว่า

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Hotarubi no Mori e ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์อันเปราะบาง งดงาม ล้ำค่า เคล้าน้ำตาพร้อมรอยยิ้มนิรันดร์
คุณภาพ | รึ
ส่วนตัว | รักมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: