Hour of the Wolf

Hour of the Wolf (1968) Swedish : Ingmar Bergman ♥♥♡

หนังแนว Gothic Horror ที่เป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Ingmar Bergman โดยมี Max von Sydow เป็นตัวตายตัวแทน และชู้สาวที่รักมากขณะนั้น Liv Ullmann เป็นภรรยา, นี่แปลว่าจิตใจของผู้กำกับขณะนั้น มีความหวาดหวั่นกลัว อกสั่นขวัญผวาต่อบางสิ่งบางอย่าง แต่จะคืออะไรละ?

ถือว่าผมโชคดีที่ได้ศึกษาค้นคว้า อ่านผ่านตาชีวประวัติของผู้กำกับ Ingmar Bergman มาพอสมควร จึงสามารถรับรู้ได้เลยว่านี่คือหนังกึ่งอัตชีวประวัติ มีหลายสิ่งอย่างนำมาจากเรื่องเล่าอดีตอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าคุณจับจุดนี้ได้แล้วนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ ก็อาจพอเข้าใจได้ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร

Ernst Ingmar Bergman (1918 – 2007) ปรมาจารย์ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Swedish เกิดที่ Uppsala ทางตะวันตกของประเทศ พ่อ Erik Bergman เป็นพระผู้สอนศาสนาในนิกาย Lutheran ของชาวเดนมาร์ก (ต่อมาได้กลายเป็น Chaplain/อนุศาสนาจารย์ของกษัตริย์สวีเดน) ส่วนแม่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย, ชีวิตวัยเด็กไร้ความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเคร่งครัด เคยถูกพ่อขังในตู้เสื้อผ้าที่มืดมิดหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ผลงานภาพยนตร์ของ Bergman จึงมักตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็น ศาสนา-ความเชื่อ-ศรัทธา บทบาทของพ่อ และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของลูกชาย ซึ่งเพื่อนที่ดีที่สุดขณะนั้นก็คือแม่ของเขาเอง

ในวัย 10 ขวบ Bergman ได้เริ่มสร้างตุ๊กตาเพื่อจัดแสดงในโรงละครหุ่นชัก โดยได้แสดงครั้งแรกในปี 1935 ซึ่งเริ่มแสดงให้เห็นพรสวรรค์ทางด้านศิลปะของเขา ก่อนที่จะไปศึกษาด้านวรรณกรรมและศิลปะ เรียนวาดรูปที่ Stockholm College (ปัจจุบันชื่อ Stockholm University) แต่กลับเบี่ยงเบนความสนใจในการละครและภาพยนตร์แทน, เมื่อเรียนจบก็เริ่มฝึกงานด้านการกำกับที่โรงละคร Stockholm พร้อมๆกับเขียนเรื่องสั้น บทละครอีกหลายเรื่อง จนอายุ 26 ปี ก็กลายเป็นผู้จัดการโรงละครที่อายุน้อยที่สุดในยุโรป

ประมาณช่วงฤดูใบไม้ผล (Autumn) ปี 1964, Bergman ได้พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ตั้งชื่อว่า The Cannibals ตั้งใจเปิดกล้องถ่ายทำปีถัดมา แต่กลับล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม เข้านอนโรงพยาบาลอยู่หลายเดือน ทำให้โปรเจคนี้ต้องขึ้นหิ้งค้างไว้ก่อน และขณะกำลังทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ได้เกิดแนวคิดโปรเจคใหม่เรื่อง Persona ซึ่งหลังออกจากโรงพยาบาลก็เดินหน้าสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นก่อน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece

หลังเสร็จสิ้นจาก Persona (1966) ผู้กำกับก็ได้หวนนำเอา The Cannibals มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่เป็น Hour of the Wolf โดยให้คำนิยาม ‘ชั่วโมงหมาป่า’ นี้ว่า

“The hour of the wolf is the hour between night and dawn. It is the hour when most people die, when sleep is the deepest, when nightmares feel most real. It is the hour when the demons are most powerful. The hour of the wolf is also the hour when most children are born.”

ประเทศสวีเดน เป็นดินแดนในแถบสแกนดิเนเวียที่ถูกขนานนามว่า ‘ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน’ (Midnight Sun) อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน (ระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม) บริเวณนี้จะได้รับแสงสว่างตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ตรงกันข้ามกับช่วงฤดูหนาว ก็จะมืดมิดสนิทตลอด 24 ชั่วโมง, ซึ่งช่วงเวลาระหว่างรอยต่อนั้น บางวันพระอาทิตย์ตกชั่วโมงเดียว/ขึ้นชั่วโมงเดียว อาศัยอยู่ประเทศแถบนี้ดูฤกษ์โมงยามจากพระอาทิตย์ไม่ได้แน่นอน

‘ชั่วโมงของหมาป่า’ ก็ไม่รู้ช่วงเดือนไหนของประเทศนี้ ที่พระอาทิตย์จะตกดินมืดมิดเพียงไม่กี่ชั่วโมง (นับตั้งแต่หลังเที่ยงคืนจนถึงหกโมงเช้า) ถือเป็นระยะเวลาที่สั้นแต่ทรมานแทบขาดใจ, ตามตำนานเล่าว่า ช่วงเวลาขณะนี้เหล่าปีศาจ/หมาป่า จะครึกครื้น เริงร่า แผ่ซ่านพลังความชั่วร้ายสูงสุด (เพราะช่วงฤดูร้อนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ทำให้ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ ซึ่งพอถึงช่วงพระอาทิตย์เริ่มตกดิน แม้แค่ชั่วโมงเดียวก็ได้เวลาออกมายืดเส้นยืดสาย ปลดปล่อยความชั่วของตนเองได้สักที) ซึ่งกับบุคคลที่มีบางสิ่งอย่างเก็บกดปกปิดซ่อนเร้นไว้ข้างใน ย่อมมีความหวาดเกรงกลัวภัยต่อความมืดมิด เพราะช่วงเวลานี้อะไรๆก็เกิดขึ้นได้

เกร็ด: หมาป่ากับชาวสแกนดิเนเวีย ถือว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์แสดงถึงความชั่วร้าย แบบเดียวกับ นิทานหนูน้อยหมวกแดง, ลูกหมูสามตัว ฯ ที่ต่างให้หมาป่าเป็นตัวร้ายทั้งสิ้น

เรื่องราวของ Johan Borg (รับบทโดย von Sydow) จิตรกรวาดรูปที่คงมีชื่อเสียงพอสมควร ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาสาว Alma (รับบทโดย Liv Ullmann) ที่เกาะเล็กๆห่างไกลผู้คน แต่แล้วเหตุการณ์แปลกประหลาดต่างๆนานาก็เริ่มเกิดขึ้น หลังจากพวกเขาได้รับเชิญไปงานเลี้ยงเล็กๆที่ปราสาทของ Baron von Merkens (รับบทโดย Erland Josephson) อดีตที่ตามมาหลอกหลอน ความฝันกลับกลายเป็นความจริง สุดท้ายแล้ว Johan จะเลือกใคร ระหว่างภรรยาสาว Alma กับหญิงสาวในภาพวาด Veronica Vogler (รับบทโดย Ingrid Thulin)

Max von Sydow หรือ Carl Adolf von Sydow (เกิดปี 1929) นักแสดงในตำนานสัญชาติ Swedish หนึ่งในขาประจำของ Bergman ที่มีผลงานภาพยนตร์หลายชาติหลายภาษา, เกิดที่ Lund ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย พ่อเป็นศาสตราจารย์ นักชาติพันธุ์วิทยา ประจำ University of Lund ส่วนแม่เป็นครูสอนหนังสือ สืบเชื้อสายมาจาก German, ตอนเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนา Lund Cathedral School โตขึ้นเลือกเรียนโรงเรียนสอนการแสดง Royal Dramatic Theatre ที่ Stockholm รุ่นเดียวกับ Lars Ekborg, Margaretha Krook, Ingrid Thulin ฯ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ในหนังของ Alf Sjöberg เรื่อง Only a Mother (1949) และ Miss Julie (1951)

ปี 1955, Sydow ย้ายไปอยู่ที่เมือง Malmö ที่ซึ่งได้พบเจอกับ Ingmar Bergman ทั้งสองร่วมงานกันในละครเวทีเรื่อง Malmö Municipal Theatre และกลายมาเป็นขาประจำในภาพยนตร์ อาทิ The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), The Virgin Spring (1960) ฯ

รับบท Johan Borg ชายผู้มีสีหน้าอมทุกข์ อึดอัดอั้นด้วยปมอดีตบางอย่างฝังลึกในใจ ไม่อาจหลงลืมถอนตัวกลับขึ้นได้ ทำให้ปัจจุบันเกิดความหวาดทุกข์ทรมาน หวาดกลัวความมืดมิด จนแล้วจนรอดในที่สุดก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องย้อนกลับคืนไปหา แต่มันเพราะจริงๆแล้ว นั่นอาจคือสิ่งที่ตนรักยิ่ง รักมากที่สุด (กว่าภรรยาคนปัจจุบันของตนเองอีก)

ใครๆหลายคนคงรับรู้ได้ ว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนของผู้กำกับ Ingmar Bergman ที่เคยถูกกักขังในตู้เสื้อผ้ามืดมิด, ชื่นชอบการวาดรูป (แต่ชอบภาพยนตร์/การแสดงมากกว่า), เคยมีปมอดีตกับผู้หญิง และสำคัญที่สุดคือปัจจุบันขณะนั้นกำลังตกหลุมรักคลั่งอยู่กับ Liv Ullmann

Liv Johanne Ullmann (เกิดปี 1938) นักแสดง/ผู้กำกับหญิงสัญชาติ Norwegian เกิดที่ Tokyo, ประเทศญี่ปุ่น เพราะขณะนั้นพ่อที่เป็นชาวนอร์เวย์ ทำงานวิศวกรการบินอยู่ที่ญี่ปุ่นพอดี ช่วงวัยเด็กจึงมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก ก่อนมาปักหลักอาศัยอยู๋ที่ Trondheim, Norway หลังจากพ่อเสียชีวิต, Ullmann เริ่มมีผลงานจากการเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Norway ก่อนไปเข้าตาผู้กำกับ Bergman ชักชวนเกี้ยวพาจนได้ร่วมงานกันและมีลูกนอกสมรสหนึ่งคน ผลงานเด่นของพวกเขา อาทิ Persona (1966), The Passion of Anna (1969), Cries and Whispers (1972) Autumn Sonata (1978) ฯ เคยคว้ารางวัล Golden Globe Award: Best Actress จากหนังเรื่อง The Emigrants (1971)

รับบท Alma ภรรยาสาวที่รักสามีมาก ขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์ พยายามทำทุกอย่างให้เขาสนใจรักตอบ แต่จนแล้วจนรอดเมื่อได้แอบอ่านไดอารี่ส่วนตัว ก็ค้นพบความจริง สิ่งที่ Johan รักที่สุดกลับไม่มีวันเป็นเธอ

Bergman แต่งงานกับภรรยาคนที่สี่ นักเปียโน Käbi Laretei เมื่อปี 1959 ช่วงแรกๆก็ไปด้วยกันดี มีลูกชายสุดหล่อหนึ่งคน แต่พอถูกจับได้ว่าลักลอบเป็นชู้กับ Ullmann ตั้งแต่ปี 1965 เธอก็พยายามฟ้องหย่า กว่าจะสำเร็จก็ปี 1969, ตอน Bergman พัฒนาบทหนังเรื่องนี้ ความรักของเขากับ Laretei อยู่ในช่วงสั่นคลอนร้าวรานอย่างรุนแรง มองเห็นทุกสิ่งอย่างรอบตัวราวกับสัตว์ประหลาดในจินตนาการ กอปรกับการล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่เพราะได้ Ullmann มาช่วยเยี่ยวยารักษาแผลใจ ทำให้ผ่านช่วงเวลาเจ็บปวดทรมานที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตไปได้

Ullmann เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ไม่แต่งงานกับ Bergman แต่มีลูกด้วยกันหนึ่งคน คงเพราะเธอเข้าใจนิสัยเจ้าชู้ประตูดินของเขาเป็นอย่างดี จึงไม่อยากเสียเวลา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทั้งคู่ก็แยกจากกันเมื่อปี 1970, ในบรรดาหญิงสาวทั้งหลายที่เข้ามาในชีวิตของผู้กำกับ เคยบอกว่า Ullmann คือคนที่เขารักมากที่สุด

ถ่ายภาพโดย Sven Nykvist ขาประจำที่สุดของ Bergman, อาจมีคนคุ้นๆสถานที่ถ่ายทำ Hovs hallar ที่เมือง Hallandsåsen เป็นสถานที่เดียวกับ The Seventh Seal (1957) เห็นว่า Bergman เคยชักชวน Andrei Tarkovsky มาพักร้อนที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง The Sacrifice (1986) [และถ่ายภาพโดย Sven Nykvist]

การออกแบบภายในปราสาท มีความบิดเบี้ยวแปลกประหลาด คล้ายๆกับสไตล์ Gothic ผสม German Expressionist และเมื่อถูกจัดให้เข้ากับมุมกล้อง การจัดแสง ได้ช่วยเพิ่มความลึกลับพิศดาร สยองขนหัวลุก ทั้งๆที่บางฉากก็ไม่มีอะไรเลยเป็นห้องว่างๆ แต่ตัวละครกลับสามารถเดินไต่พนังเกาะเพดาน (มนุษย์แมงมุม) หรืออีกฉากที่มีฝูงนกเกาะเต็มไปหมด (มนุษย์นก) ฯ เห็นแล้วอกสั่นขวัญหา เสียววูบวาบในหัวใจ

ผมค่อนข้างชอบ direction ถ่ายภาพรอบโต๊ะอาหาร งานเลี้ยงที่ปราสาทช่วงกลางเรื่องเป็นอย่างยิ่ง, กล้องเคลื่อนหมุนรอบโต๊ะให้เห็นทุกตัวละครทั้งด้านหลังด้านหน้า ซึ่งแต่ละคนจะมีบทสนทนาเด่นของตัวเองดังขึ้นแบบก็ไม่รู้ว่าพวกเขา/เธอ กำลังพูดคุยสนทนากับใคร, จากนั้นถ่ายภาพด้านหน้า ซึ่งตำแหน่งที่ Johan กับ Alma นั่ง จะมีใครสักคนคั่นขวางอยู่ กล้องเคลื่อนหมุนกลับไปกลับมา โคลงเคลงราวกับนั่งอยู่บนเรือ (แต่ไม่ใช่แนวดิ่งนะครับ เป็นแนวนอนหมุนรอบโต๊ะ) วิธีการนี้ชวนให้เกิดความสับสน มึนงง เหมือนจะมั่ว … ซึ่งผมว่าก็มั่วจริงๆนะแหละ, ความตั้งใจของฉากนี้คงให้ผู้ชมเกิดความใคร่สงสัย สังเกตเห็นความผิดปกติของคนกลุ่มนี้ ว่าต้องมีลับเล่ห์คมในบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นอยู่

อีกฉากที่ต้องพูดถึงเลยคือในป่าโกงกาง น่าจะเป็นการเซตฉากขึ้นถ่ายในสตูดิโอ ต้นไม้มีลักษณะเต็มไปด้วยกิ่งก้าน หนามแหลม คดเคี้ยว ราวกับเส้นเลือดในสมองที่โยงใยกันอย่างยุ่มย่าม, เรื่องราวในฉากนี้เป็นมุมมองของ Alma (เหมือนเป็นภาพในจินตนาการของเธอ) ต่อการหายตัวไปของสามี ถูกกลุ่มคนที่มีความแปลกประหลาดพิศดารทำร้ายลักพาตัวไป แต่จะว่าไปสถานที่ราวกับเส้นทางรอยต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกปีศาจ

ตัดต่อโดย Ulla Ryghe ขาประจำช่วงทศวรรษ 60s ของ Bergman, ถ้าใครสังเกตในช่วง Opening Credit เสียงที่ได้ยินทีแรกผมคิดว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อก่อนการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก แต่กลับกลายเป็นเสียงในกองถ่าย กำลังเตรียมพร้อมเริ่มต้นจะถ่ายทำภาพยนตร์ Ready Action! … นี่มิใช่นัยยะแฝงที่บ่งบอกว่า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับ ‘ภาพยนตร์’ และผู้กำกับ Ingmar Bergman หรอกหรือ!

หนังใช้การเล่าเรื่องแบบย้อนอดีต (Flashback) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถแบ่งองก์ประกอบของหนัง ได้ทั้งหมด 7 ช่วง
1. Prologue เริ่มต้นมีลักษณะการให้สัมภาษณ์ของตัวละคร Alma ต่อเหตุการณ์หายตัวไปของสามี Johan
2. Arrival การมาถึงของคู่รักสองสามีภรรยา ช่วงแรกเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสันต์ แต่ภายหลัง Johan เปลี่ยนไปเป็นคนละคร จากการได้จินตนาการพบเจอคิดฝันถึงสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด
3. The Diary หญิงชราคนหนึ่ง (อ้างว่าอายุกว่า 200 ปี) พูดบอกกับ Alma ให้อ่านบันทึกของสามี, ขณะ Alma อ่านไดอารี จะตัดให้เห็นภาพจินตนาการย้อนอดีตที่เกิดขึ้นกับ Johan ที่ได้พบปะผู้คนต่างๆ (จนอาจเป็นเหตุให้เก็บเอามาคิดฝัน)
4. The Party นี่เป็นงานเลี้ยงที่แปลกประหลาดมาก แม้จะมีคนไม่เยอะแต่คำพูดคำจา ท่าทางการแสดงออก บ่งบอกว่ามีบางสิ่งอย่างที่ผิดเพี้ยนแตกต่างจากคนปกติ แต่จริงๆอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้
5. The Hour of the Wolf เมื่อ Johan ตัดสินใจเล่าบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเขาในอดีต กับการเผลอฆ่าเด็กชายคนหนึ่งแล้วโยนทิ้งไว้ริมฝั่งมหาสมุทร นี่คือจุดเริ่มต้นของความหวาดระแวง หลอนคลั่งไร้สติ และความกลัวต่อความมืดใน Hour of the Wolf
6. The Shattering ในมุมมองของ Johan ตัดสินใจเดินทางกลับไปที่ปราสาท พบว่าทุกสิ่งอย่างที่คิดพูดจินตนาการไว้ เกิดขึ้นกลายเป็นจริงทั้งหมด รวมทั้ง Veronica Vogler
7. Epilogue บทสัมภาษณ์ส่งท้าย ในมุมมองของ Alma ครุ่นคิด/ออกค้นหาไปถึงป่าโกงกาง พบว่า Johan ถูกคนกลุ่มหนึ่ง (ที่พบเจอในปราสาท) ฆาตกรรม/ลักพาตัวไป

ความจริง-ความฝัน อดีต-ปัจจุบัน หนังใช้การผสมคลุกคละเคล้าปะปนกันไปหมดในการเล่าเรื่อง (นี่ได้อิทธิพลจาก 8 1/2 ของ Fellini แน่ๆ) ซึ่งสององก์สุดท้ายของหนัง ฉากในปราสาทและป่าโกงกาง ก็แล้วแต่ผู้ชมจะคิดมองทำความเข้าใจเองเลยนะครับ ว่านั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็นเพียงจินตนาการความคิดเพ้อฝันของ Johan และ Alma แบบไหนก็ถือว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ได้มีความสำคัญต่อใจความแท้จริงของหนัง

เบื้องต้นสำหรับคนที่มีความต้องการจะเข้าใจให้ได้ ผมแนะนำให้มองสององก์สุดท้าย เป็นในความคิดจินตนาการของทั้ง Johan และ Alma
– องก์ที่ 6 ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น เป็นในความคิดจินตนาการของ Johan ทั้งหมด ซึ่งเราสามารถใช้หลักจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud เข้ามาช่วยครุ่นคิดพิจารณาหาคำตอบได้, เพราะความที่นิสัยของตัวละคร เป็นคนไม่ชอบวุ่นวายกับผู้อื่น แต่ใครต่อใครมากมายต่างพยายามเข้ามาจุ้นจ้านกับเขา จึงเก็บเอาภาพคนพวกนั้นมาฝัน จินตนาการให้อัปลักษณ์พิศดารเหมือนสัตว์ประหลาด และสุดท้ายตัวเองก็ถูกกลืนกิน กลายเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น

มีจุดสังเกตหนึ่ง ณ ช็อตสุดท้ายตอนจบองก์ที่ 6 ภาพถ่ายให้เห็นพื้นผิวน้ำพริ้วไหว สถานที่ที่ Johan เล่าว่าเขาฆาตกรรมเด็กชายและทิ้งจมลงริมทะเล แต่น่าคิดว่าการแทรกใส่ภาพนี้เข้ามาตำแหน่งนี้ อาจมีนัยยะสื่อถึง การเสียชีวิตของ Johan อาจเดินผ่านมาถึงแล้วถูกฆ่า/ลื่นหกล้ม/จงใจฆ่าตัวตาย และกำลังจมลงใต้น้ำ ณ ตำแหน่งนี้นี่แหละ

– องก์ที่ 7 เพราะการหายไปของ Johan ทำให้ Alma เกิดความเคว้งคว้างล่องลอยคิดทำอะไรไม่ถูก เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง(และลูก)จึงคิดเพ้อจินตนาการ หาข้อสรุปขึ้นมาเองว่า ในป่าโกงกางแห่งหนึ่ง สามีถูกกลุ่มคนที่เธอเคยพบเจอจากปราสาท ฆาตกรรม/ลักพา/หายตัวไป (นี่ก็ใช้หลักจิตวิเคราะห์มองได้เช่นกัน)

ความเห็นส่วนตัว: ผมคิดว่า ในองก์ที่ 5 เหตุการณ์ที่ Johan เล่าให้ Alma ฟังว่าเขาฆ่าเด็กชายคนหนึ่ง … นี่อาจจะเป็นในความฝันก็ได้เช่นกัน ซึ่งตัวเขาอาจเกิดความสับสนปนเป แยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความฝัน, มันมีประเด็นนิดนึงที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา เพราะเด็กชายเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ตัวเขาไม่ได้มีจิตคิดกระทำร้ายต่อใคร แค่ฉงนสงสัยในการกระทำของ Johan แต่แค่การมีตัวตนป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น ทำให้ชายหนุ่มเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ สุดท้ายทนไม่ได้ใช้หินทุบหัวให้ตาย นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนปกติทั่วไปกระทำกันแน่ ต้องเป็นคนไร้ซึ่งสติขาดจิตสำนึก … นั่นแหละครับ ที่ทำให้ผมเอะใจขึ้นมา มันเหมือนว่าบางสิ่งบางอย่างได้ตายจากไปในตัวตนของ Johan ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนเพ้อ บ้าคลั่ง เสียสติโดยสิ้นเชิง

เพลงประกอบ ยังคงเหมือนหนังหลายๆเรื่องของ Bergman ที่ใช้แค่บทเพลงคลาสสิกของคีตกวีชื่อดังยุคก่อน, กับหนังเรื่องนี้ ที่โด่งดังสุดคงเป็น Opera เรื่อง ขลุ่ยวิเศษ (The Magic Flute) ประพันธ์โดย Wolfgang Amadeus Mozart นี่คืออุปรากรที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เป็นผลงาน Masterpiece น่าจะชิ้นสุดท้ายของ Mozart ก่อนเสียชีวิตหลังจากเริ่มเปิดการแสดงเพียงสองเดือนเท่านั้น ไว้มีโอกาสผมจะเขียนถึงโอเปร่าเรื่องนี้แน่นอน (และ Bergman ก็ได้ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากอุปรากรเรื่องนี้ด้วยนะครับ)

สำหรับหุ่นเชิดชักที่เห็นในหนัง น่าจะคือผลงานการสร้างของ Bergman เองเลยละ เป็นความชอบส่วนตัวตั้งแต่สมัยเด็ก แต่การเคลื่อนไหวมีความสมจริงอย่างมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำได้ยังไง

ภาพยนตร์คืองานศิลปะ เฉกเช่นเดียวกับการวาดภาพ –> ซึ่งการที่ตัวละคร Johan วาดภาพ ก็เสมือน Bergman สร้างภาพยนตร์ –> ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่หลงใหลคลั่งไคล้ในผลงานของ Johan ก็คือคนดู/นักวิจารณ์/ผู้สร้างภาพยนตร์ ฯ –> การที่พวกเขากลายร่างเป็นกลุ่มของมนุษย์กินคน (Cannibals) อาทิ
– Spider-Man คนที่ปีนกำแพงได้ (มีหลายขา สัญลักษณ์ของความอิจฉาริษยา)
– The Lady With a Hat พอถอดหมวก เนื้อหนังมังสาได้ร่วงโรยหล่น ถอดลูกตาออกมา (การแสดงออกภายนอก ตรงกันข้ามกับภายใน)
– Bird-Man เป็นผู้แต่งองก์ทรงเครื่องให้ Johan ชี้ชักนำพา ส่วนตัวเองกางปีกโผลบิน (คล้ายนักข่าวที่ชอบปั้นแต่งสร้างเรื่องราว ตัวเองมีอิสระบินไปไหนก็ได้ตามใจ)
– The Insect แมลงตัวเล็กๆ ซุบซิบนินทาน่ารำคาญ
– The Meat-Eaters
– The Schoolmaster
ฯลฯ

เหล่านี้คือจินตนาการความอัปลักษณ์ต่อมนุษย์ทุกคนรอบข้าง ที่เกิดขึ้นในจิตใจของ Ingmar Bergman, ก็ไม่รู้เพราะอะไรผู้กำกับถึงมองโลกในแง่ร้ายได้ขนาดนี้ ความเครียด เพ้อคลั่ง วิตกจริต ผิดหวังกับชีวิตคู่แต่งงาน ผลงานภาพยนตร์ได้รับการตอบรับไม่ดี ฯ หลายๆอย่างคงสุมรวมอยู่เต็มอก ไม่ได้รับการระบายผ่อนคลายออก (เลยต้องมาลงกับภาพยนตร์ที่สร้าง) แต่คนที่คิดมองผู้อื่นด้วยภาพลักษณะนี้ จิตใจของเขาย่อมต้องเต็ฒไปด้วยความอัปลักษณ์ ชั่วร้าย ราวกับปีศาจก็ไม่ปาน

Veronica Vogler หญิงสาวที่ในหนังบอกว่าเป็นคนรักเก่าของ Johan เริ่มต้นเธอเป็นเพียงภาพวาด ต่อมากลับกลายมาชีวิต ซึ่งเราสามารถเปรียบตัวละครนี้ได้กับ ‘ภาพยนตร์’ ทั้งหลายที่ Bergman สร้างขึ้น ซึ่งเขารักยิ่ง … ยิ่งกว่า Alma (ภาษาสเปน แปลว่า จิตวิญญาณ) หรือ Liv Ullmann ที่เขากำลังรักอยู่ขนาดนี้เสียอีก แม้ต้องถูกหัวเราะเยาะเย้ย ถากถาง พูดจาแสดงความสมน้ำหน้า จากเหล่าปีศาจผู้ชั่วร้ายทั้งหลาย แต่ก็ไม่วายยินยอมรับได้ เพราะนี่คือสิ่งที่เขารักยิ่งอย่างแท้จริง

“Is it true that a woman who lives a long time with a man, eventually winds up being like that man? “

ตอนจบของหนังเมื่อ Johan ถูกแทงน่าจะเสียชีวิตแต่กลับหายตัวลับไป ราวกับพิธีกรรมที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนพวกนั้น, นี่เทียบเท่าผู้กำกับ Bergman ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับผลงานภาพยนตร์ที่เขาสร้าง กล่าวคือ ‘เป็นอมตะ’

‘ชั่วโมงหมาป่า’ คาดว่าเป็นช่วงเวลาที่ Ingmar Bergman มีความอึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานใจที่สุดเป็นอย่างยิ่ง, คุ้นๆว่าเขาเคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง นับตั้งแต่ตอนสร้าง The Seventh Seal (1957) นั่นก็ครึ่งหนึ่งแล้ว ตอนสร้าง Persona (1966) ก็อีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยเป็นความผิดหวังที่เกิดจาก’ผู้หญิง’แทบทั้งสิ้น ก็ไม่รู้จะเห็นใจ สงสาร หรือสมน้ำหน้าดี ซึ่งการสร้างภาพยนตร์เปรียบได้กับการบำบัดความใคร่ ระบายความทุกข์ลักษณะหนึ่ง, เอาว่าถ้าสร้างหนังออกมาแล้ว ทำให้ตัวเองไม่ต้องฆ่าตัวตายก็ทำไปเถอะครับ นี่คืออิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีผลอย่างยิ่งต่อคนสมัยก่อน สูงสุดคือระดับแยกกันไม่ออกระหว่างชีวิต ความจริง ความฝัน และภาพยนตร์ นี่แหละที่ใครๆต่างยกย่อง Ingmar Bergman ว่าเป็นโคตรศิลปิน ปรมาจารย์แห่งผู้กำกับ และหนึ่งในเสาหลักของวงการภาพยนตร์

ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีความลึกลับสลับซับซ้อนเกินไปอย่างมากๆ เพราะต่อให้คุณรับชมครุ่นคิดหนังในแนวทางของ Gothic Horror ก็ยังอาจเกิดความไม่แน่ใจในแนวคิด จุดประสงค์เหตุผล เป้าหมายของหนัง, เพราะความตั้งใจจริงของผู้กำกับ Bergman ต้องการแสดง Expression ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจของเขาต่อช่วงเวลานั้นออกมา มันจึงแทบจะเป็นคนละเรื่อง ถ้าคุณจะพยายามเข้าใจหนังในรูปแบบอื่น

ส่วนตัวเลยไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แม้จะครุ่นคิดได้ว่าคืออะไร มีสิ่งใดแอบซ่อนแฝงอยู่ แต่ใครกันจะไปอยากรับรู้เห็นความอัปลักษณ์ดำมืดที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ … แต่ก็คงมีเยอะอยู่ ผู้ที่ชื่นชอบหนังแนว Horror สยดสยอง อัปลักษณ์ เลือดสาด ซึ่งผมคงไปต่อว่ารสนิยมเหล่านั้นของพวกคุณมิได้ แค่จะบอกไม่ใช่แนวชื่นชอบส่วนตัวเท่านั้น

แนะนำกับคอหนัง Gothic Horror ที่สามารถครุ่นคิด วิเคราะห์ เข้าใจหนัง Art House, ชื่นชอบความสยดสยอง หลอกหลอน ทั้งแนวคิดและบรรยากาศ, แฟนๆผู้กำกับ Ingmar Bergman นักแสดงนำอย่าง Max von Sydow และ Liv Ullmann ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความอัปลักษณ์ Horror, Expression ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหนัง

TAGLINE | “Hour of the Wolf ชั่วโมงแห่งความเป็นตายของ Ingmar Bergman ที่ได้แสดงความอัปลักษณ์ในจิตใจตนเองออกมา แต่ใครที่ไหนจะอยากเห็นเข้าใจกัน!”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: