House (1977)
: Nobuhiko Obayashi ♥♥♥♡
ออกฉายปีเดียวกับ Suspiria (1977) แต่ยิ่งใหญ่หลอกหลอนไม่แพ้กัน, หญิงสาววัยรุ่น 7 คน เดินทางไปพักร้อนยังบ้านผีสิง เรื่องราวไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่วิธีการนำเสนอ ‘โลกสวย’ นั้นสุดแปลกประหลาด การันตีว่าคุณต้องไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อนแน่
ประมาณสักนาทีแรกผ่านไป ผมเริ่มเกิดข้อสงสัยว่าดูหนังผิดเรื่องหรือเปล่า ไม่ใช่ว่านี่แนว Horror หรอกหรือ แต่ทำไมวัยรุ่นโลกสวยขนาดนี้ ก็หลงคิดไปว่ามันคงไม่นานหรอก แต่ที่ไหนได้กลับทั้งเรื่องเลย ซึ่งพอถึงตอนพวกเธอทั้งหลายเดินทางพบเจอกับเรื่องราวสิ่งต่างๆในบ้านผีสิง โอ้มายก็อด! มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ?
ลักษณะที่เหมือนจะไม่เข้ากันแบบนี้ มองได้ว่าเป็น Cult Film แนวสุดประหลาดพิศดารเกินกว่าหลายคนจะยอมรับได้ ตอนออกฉายได้รับเสียงวิจารณ์ย่อยยับ แต่กาลเวลาผ่านไปค่อยๆได้รับการยกย่อง จัดเป็นความบันเทิงเฉพาะกลุ่มที่ ถ้าไม่ชอบมากก็มักเกลียดเข้าไส้
นี่ทำให้ผมขอยกย่อง House (1977) มีความยิ่งใหญ่ ‘หลอกหลอน Stylish’ ไม่ย่อหย่อนไปกว่า Suspiria (1977) ของผู้กำกับ Dario Argento เลยละ
Nobuhiko Obayashi (เกิดปี 1938) ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น โด่งดังกับโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีความโฉบเฉี่ยว Surreal แปลกแตกต่างไม่เหมือนใคร เกิดที่ Onomichi, Hiroshima ตั้งแต่เด็กมีความสนใจหลากหลาย อาทิ วาดรูป เขียนหนังสือ เล่นเปียโน ตามด้วยมังงะ อนิเมชั่น ฯ พ่อเป็นหมอ อยากให้ลูกชายคนโตเดินตามรอย แต่เขาตัดสินใจเลือกสาขาศิลปะ เข้าเรียนที่ Seijo University เริ่มต้นสร้างหนังแนวทดลอง 8mm กับ 16mm จบออกมาเริ่มต้นจากทำงานโฆษณาทางโทรทัศน์ เคยร่วมงานกับดาราดังๆอย่าง Kirk Douglas, Charles Bronson ฯ เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก House (1977) ชื่นชอบสนใจแนว Coming-of-Age ที่มีส่วนผสมของภาพแฟนตาซี และงานภาพแปลกประหลาดพิศดารเกินจริง, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Girl Who Leapt Through Time (1983), The Drifting Classroom (1987), Sada (1998) ฯ
จากความสำเร็จของภาพยนตร์ Hollywood เรื่อง Jaws (1975) สตูดิโอ Toho มีความต้องการให้ Obayashi พัฒนาบทหนังที่มีลักษณะคล้ายๆกัน แต่ไม่จำเป็นต้องฉลาม อะไรก็ได้ที่สร้างความหวาดสะพรึงกลัวพอๆกับ, เพื่อหาแรงบันดาลใจได้พูดคุยกับลูกสาว Chigumi Obayashi เสนอแนะสิ่งที่เธอค้นพบด้วยตนเอง
“[adults] only think about things they understand … everything stays on that boring human level while children can come up with things that can’t be explained”.
สิ่งที่ Chigumi จินตนาการขึ้น อาทิ
– บ้านที่สามารถกลืนกินเด็กหญิงสาวได้
– ภาพสะท้อนในกระจกสามารถเคลื่อนไหว โจมตีทำร้ายผู้ส่องอยู่ได้
– ขณะดึงแตงโมขึ้นจากบ่อน้ำ กลับกลายเป็นหัวมนุษย์
– ที่นอนหมอนตกจากชั้นบน หล่นมาถูกทับตาย
– เด็กหญิงติดอยู่ข้างในนาฬิกาขนาดใหญ่ เสียงดังมากด้วย
– ขณะกำลังเล่นเปียโน ถูกแท่นที่ปิดหล่นทับนิ้วขาด
ฯลฯ
นำหลายสิ่งที่ลูกสาวพรรณามา ไปพูดคุยร่วมกับนักเขียน Chiho Katsura ซึ่งก็ได้หวนระลึกถึงเรื่องสั้น Seaton’s Aunt ของ Walter de la Mare (1873 – 1956) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เรื่องราวเกี่ยวกับหลานชายที่เดินทางไปอาศัยอยู่กับป้าสูงวัยในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ถูกหลอกว่าบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยวิญญาณผีสิง
ความที่ Obayashi เป็นคน Hiroshima หลังจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยคในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อนวัยเด็กทั้งหมดได้สูญสิ้นเสียชีวิตจากไป เขาจึงพัฒนาตัวละครป้า ให้มีพื้นหลังเฝ้ารอคอยวันคนรักกลับมาจากสงครามโลก ด้วยความเจ็บแค้นขมขื่นจากการสูญเสีย พอตัวตายแล้วจึงกลายเป็นวิญญาณปีศาจ ที่คอยหลอกหลอนกลืนกินเด็กหญิงสาว ที่ยังสดใสบริสุทธิ์ มิเคยรับรู้หรือได้รับผลกระทบจากสงครามโลก
ในตอนแรกตั้งชื่อโปรเจคว่า Hanagatami ก่อนเปลี่ยนเป็น Housu (คำอ่านภาษาญี่ปุ่นของ House) มีความตั้งใจใช้ชื่อต่างประเทศว่า Taboo แต่สุดท้ายก็เลือกใช้ชื่อเดียวกัน
แต่เพราะ Obayashi ยังไม่เคยกำกับสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวขึ้นมาสักเรื่อง (แต่เคยกำกับสป็อตโฆษณามาแล้วหลายเรื่อง) ติดต่อสรรหาผู้กำกับอื่นใดก็บอกปัดปฏิเสธ ต่างมีทัศนะมองว่านี่คงเป็นผลงานที่ทำให้อาชีพการงานดับสิ้นสูญเป็นแน่ ระหว่างนั้นก็ได้พัฒนาบทหนังนี้เป็นหนังสือการ์ตูน (Manga) ละครวิทยุ (radio drama) รออยู่ถึง 2 ปี กว่าสตูดิโอจะยินยอมอนุญาตให้ Obayashi กำกับภาพยนตร์ Debut เรื่องนี้ด้วยตนเอง
หญิงสาวชื่อเล่น Angel/Gorgeous (รับบทโดย Kimiko Ikegami) วางแผนปิดเทอมนี้อาศัยพักร้อนกับพ่อ (รับบทโดย Saho Sasazawa) ผู้กำกับหนังที่ขณะนั้นกำลังทำเพลงประกอบอยู่ Italy วันหนึ่งกลับบ้านมาเซอร์ไพรส์ พร้อมแนะนำภรรยา/แม่เลี้ยงคนใหม่ Ryoko Ema (รับบท Haruko Wanibuchi) สร้างความไม่พึงพอใจให้เด็กหญิงสาวเป็นอย่างมาก, ด้วยเหตุนี้เธอจึงเขียนจดหมายถึงป้า (รับบทโดย Yōko Minamida) ขออนุญาตไปพักอาศัยอยู่ในช่วงวันหยุด ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประกอบด้วย
– Gari/Prof (Ai Matsubara) สาวแว่นที่มีความเฉลียวฉลาด ชอบอ่านหนังสือ แต่พอแว่นตก ถูกอะไรก็ไม่รู้ลากลงจมน้ำตาย (ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด)
– Merodî/Melody (Eriko Tanaka) นักเปียโนเล่นเพลงได้อย่างไพเราะ ถูกแท่นที่ปิดทับนิ้วขาด มือขาด
– Kunfû/Kung Fu (Miki Jinbo) นักกังฟูสาว รู้สึกจะออกลีลามากไปหน่อย หัวติดกับหลอดไฟช็อตเสียชีวิต
– Makku/Mac (Mieko Sato) เด็กหญิงร่างท้วมๆ แบกแตงโมขึ้นมาแต่ไม่ทันได้กิน น่าจะถูกตัดคอทิ้งไว้ในบ่อ ส่วนร่างการกลายเป็นอาหารของ…
– Suîto/Sweet (Masayo Miyako) ชอบทำความสะอาด ถูกที่นอนหมอนหล่นทับ กลายร่างเป็นตุ๊กตา พบเจออีกทีิติดอยู่ในเรือนนาฬิกาขนาดใหญ่ ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นเลือดพุ่งกระจาย
– Fanta/Fantasy (Kumiko Oba) เป็นคนช่างเพ้อฝันจินตนาการ รับรู้ความผิดปกติได้ตั้งแต่แรก ถูกฆ่าคนสุดท้าย ไม่รู้เหมือนกันว่าตายยังไง เป็นสุขในอ้อมอกแม่?
สำหรับนักแสดงของหนัง ส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่นที่เคยร่วมงานกับ Obayashi ในสป็อตโฆษณา หนังสั้นแนวๆที่เคยสร้าง, เห็นว่าระหว่างถ่ายทำ ผู้กำกับก็มักผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยร้องเพลง เล่นเกม เล่นไพ่ พูดคุยกับพวกเธออย่างสนุกสนาน คิกคัก แต่เพราะความไม่เป็นมืออาชีพของพวกเธอ ทำให้ไม่สามารถคาดหวังการแสดงอันสมจริงมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการเปิด Soundtrack ของหนังพร้อมไปด้วย บรรยากาศในกองถ่ายจึงความผ่อนคลายอย่างมาก
(แต่ทีมงานของหนัง กลับรู้สึกว่านี่เป็นการทำงานที่ non-sense มากๆ)
ถ่ายภาพโดย Yoshitaka Sakamoto ที่คงเคยร่วมงานกับผู้กำกับ มีประสบการณ์ทำงานสป็อตโฆษณา เรียนรู้จักเทคนิคต่างๆมากมาย นำมาใช้กับภาพยนตร์ได้อย่างหลากหลาย โดดเด่นกับ ฟิลเลอร์ย้อมสี, เลนส์ชนิดต่างๆ, ซ้อนภาพ, ตัดแปะ, Stop Motion, Slow Motion, Reverse Shot, หมุนกล้อง ฯ ไฮไลท์คงเป็น Blue-Screen โดยเฉพาะท้องฟ้าพื้นหลัง เพราะทุกฉากถ่ายในสตูดิโอของ Toho
เกร็ด: ฉากพวกแขนขาลำตัวขาด ใช้การทาสีน้ำเงิน เพื่อสามารถลบล้างตัดออกในกระบวนการ Post-Production ของ Blue-Screen ได้
ความตั้งใจของ Obayashi ต้องการให้ Special Effect ออกมาไร้ซึ่งความสมจริง (Unrealistic) ดูเหมือนกับความฝันของเด็กๆหญิงสาว สีสันเลยมีความฉูดฉาด สอดคล้องเข้ากับความสดใสร่าเริงของพวกเธอ
ไดเรคชั่นที่ผมชื่นชอบที่สุดคือตอนที่ Gari/Prof ออกเดินนำเป็นวงกลม ครุ่นคิดไขปริศนาที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ ตามด้วย Kunfû/Kung Fu และ Merodî/Melody กับ Fanta/Fantasy เดินเกาะกันเป็นขบวน กล้องจะใช้การแพนนิ่ง หมุนตาม 360 องศา ฉากนี้น่ารักดีจริง สะท้อนตัวละคร Gari/Prof ครุ่นคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ไปเสียหน่อย มันเลยดูเพ้อเจ้อไร้สาระเหมือนเด็กๆ
ตัดต่อโดย Nobuo Ogawa, ใช้มุมมองของ Angel/Gorgeous ดำเนินเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาถึงบ้านของคุณป้า ถือว่าเหมาๆรวมๆกัน ในมุมมองของบ้านหลังนี้เสียมากกว่า
ถือว่าการตัดต่อมีความบ้าพลังอย่างมาก รวดเร็วเฉียบคมฉับไว ดำเนินเรื่องทันใจวัยรุ่นโดยแท้ ไม่มีช่วงเวลาให้พักผ่อนหยุดหายใจเลย แถมเพลงประกอบยังจะดังขึ้นตลอดเวลา ควบคุมอารมณ์ บรรยากาศ โทนหนังไว้ได้อย่างอยู่หมัด (แต่ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง)
เพลงประกอบโดย Asei Kobayashi กับ Mickie Yoshino,
– Kobayashi เป็นขาประจำที่เคยร่วมงานกับ Obayashi ในสป็อตโฆษณาหลายตัว เขียนบทเพลงที่บรรเลงด้วยเปียโน Main Theme ของหนัง
– Yoshino ร่วมกับวง Godiego ที่มีชื่อเสียงจากดนตรีแนว Psychedelic, Rock, Fusion แต่งเพลงคำร้องอิงจากทำนองเพลงของ Kobayashi
Main Theme เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนนุ่มๆ ราวกับบทเพลงกล่อมเด็กเข้านอน แต่แน่ใจหรือเปล่าว่าฟังแล้วจะหลับฝันดี ทำนองให้สัมผัสหลอนลึก ราวกับจะได้พบเจอฝันร้ายเสียมากกว่า,
เชื่อว่าหลายคนได้ยินแล้ว จะหวนระลึกถึงดนตรีของวง Goblin ที่เป็นขาประจำของผู้กำกับ Dario Argento แม้ทำนองจะไม่ได้ละม้ายคล้ายกันสักเท่าไหร่ แต่ให้สัมผัสของความแนว Stylish ส่งเสริมสร้างบรรยากาศหนัง Horror ได้ชวนขนลุกขนพอง หลอนแบบสุดๆเลย
ถ้าคุณไม่รู้มาก่อนฟังบทเพลงนี้ Cherries were made for Eating ขับร้องโดย Yukihide Takekawa ไม่มีทางคิดว่าประกอบหนังแนว Horror แน่ๆ (น่าจะเป็นแนววัยรุ่นสดใส) แต่จะบอกว่าเพราะบทเพลงลักษณะนี้แหละ ทำให้หนังหลอนแบบชิบหาย มันขัดแย้งกับสิ่งที่ปรากฎอยู่ในหนังโดยสิ้นเชิง
Sweet Dreams of Days Gone by ในหนังจะมีการนำเอาเสียงแมวร้องมาสแครช โยกๆ และมีภาพขณะกำลังเดินอยู่บนเปียโน แล้วมีการ Reverse Shot ถอยหลัง-เดินหน้า-ถอยหลัง ไปมาอย่างกวนประสาท
บทเพลงให้สัมผัสของการสิ้นสุดวันใหม่ ด้วยเสียงแซ็กโซโฟนอันนุ่มนวล หอมหวาน มีนัยยะการบอกว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขกำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว
กับบทเพลงเดี่ยวเปียโน In the Evening Mist ให้สัมผัสหวนระลึก โหยหาอาทร รำพึงพันถึงอดีต ความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง ทำให้ชีวิตจมปลักอยู่กับอดีต ราวกับมีเมฆหมอกบดบังยามค่ำคืน ไม่สามารถก้าวเดินผ่านสู่อนาคตวันใหม่ได้
แถมทิ้งท้ายกับบทเพลง Ending Credit ชื่อ Love Theme ขับร้องโดย Ken Narita ตบท้าย Epilogue ด้วยการเดินทางมาเยี่ยมเยือน Angel/Gorgeous ของแม่เลี้ยงคนใหม่ แต่โดยไม่รู้ตัวว่าสถานที่แห่งนี้มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อยามค่ำคืน ราวกับสำนวน ‘เนื้อเข้าปากเสือ’
จินตนาการของเด็กหญิงสาว (ถือว่าผู้เป็นแรงบันดาลใจหนังเรื่องนี้ คือลูกสาวของผู้กำกับ Obayashi) มีความแปลกประหลาดพิศดารอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้เว่ออลังการอะไร สังเกตให้ดีจะพบว่าเป็นสิ่งที่เด็กตัวเล็กๆ มักเกิดความหวาดระแวงกลัว คิดมากเกิน ซึ่งเมื่อนำมาใส่ในภาพยนตร์แล้ว ถ้าทำให้เป็นอุบัติเหตุธรรมดาๆ มันคงมิได้มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ แต่พอใส่ความแนวๆ Stylish เข้าไป ถึงดูไร้สาระ แต่พิลึกกึกกือหน้าดู ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร
เรื่องราวของหนัง สามารถมองได้ว่าคือในความเพ้อฝัน จินตนาการของ Angel/Gorgeous เพราะเธอมีความผิดหวังอย่างรุนแรงในแม่คนใหม่ที่อยู่ดีๆก็ปรากฎโผล่เข้ามา ไม่สามารถยินยอมรับปรับตัวได้โดยทันที นั่นอาจเพราะฮอร์โมนวัยรุ่นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำเกิดการครุ่นคิดเปรียบเทียบความรู้สึกของตนเองเทียบกับแม่ที่เสียชีวิตจากไป จึงปฏิเสธการกระทำของพ่อ ที่ไม่เคยอยู่เคียงข้างรับฟัง เข้าใจหัวอกความต้องการของเธออย่างแท้จริง
สังเกตว่าห้องของนางฟ้า Angel/Gorgeous ลวดลาย Wallpaper ฝาผนังเต็มไปด้วยดอกกุหลาบขนาดใหญ่ๆ โลกของเธอช่วงสวยงามสดใสจริงๆ (ออกจะเกินไปสักหน่อย) ชักชวนนำพาเพื่อนๆทั้ง 6 เดินทางไปยังบ้านของป้า แต่ก็ยังแสดงความเห็นแก่ตัว อาบน้ำก่อน แสร้างทำเป็นโทรศัพท์ไม่ติด ออกจากบ้านทิ้งทุกคนไว้ เดินลัลล้าล่องลอยหาได้สนใจอะไร ราวกับบุคคลผู้เสียสติจากความไม่สมหวัง เฝ้ารอยคอยอะไรบางอย่างที่ไม่มีทางหวนคืนกลับมา
เมื่อสะสมความเกลียดชัง คับเคียดแค้นเคืองโกรธ มากๆนานเข้า ก็มักกลายสภาพเป็นยัยเซิ้ง คนบ้าเสียสติ ตายแล้วไม่สามารถไปผุดไปเกิดใหม่ ว่ายวนเวียนอยู่ในบริเวณสถานที่แห่งนั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่
อะไรที่สูญเสียไปแล้ว เราควรรู้ที่จัก ‘ปล่อยวาง’ อย่าไปครุ่นคิดยึดติดกับสิ่งที่ไม่มีวันหวนคืนกลับมา แต่นี่อาจเป็นสิ่งพูดง่ายทำยากสำหรับหลายๆคน แถมบางครั้งกาลเวลาก็มิอาจช่วยอะไรได้ด้วย พยายามหลีกหนีพึ่งสุรานารี แต่พอว่างโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวเมื่อไหร่ก็จักหวนกลับมาระลึกนึกถึงอีก ถ้ามันถึงขั้นยึดติดมากขนาดนี้ แนะนำให้ไปบวชชี บวชพระยาวๆเลยนะครับ ไม่ต้องลืมมันหรอก อยากครุ่นก็คิดไป เอาตัณหานั้นมาเป็นสิ่งยึดถือมั่นในจิตใจ เวลานั่งสมาธิก็ท่องระลึกไป โกรธหนอ เกลียดหนอ เศร้าหนอ เสียใจหนอ แล้วสักวันหนึ่งอาจสักสิบปี ยี่สิบปี คุณจะเริ่มรู้สึกเองว่าแม้งหนักว่ะ ไร้สาระชีวิตมากด้วย เมื่อนั้นก็จะเข้าใจความหมายของ การปล่อยวาง โดยถ่องแท้
ตอนแรกๆ ผมเกิดความลังเลสงสัยพอสมควร ว่าจะสามารถรับชมหนังเรื่องนี้ได้จนจบ แต่เมื่อเริ่มปรับตัวรับกับแนวทาง วิธีการนำเสนอได้เริ่มรู้สึกว่า เจ๋งว่ะ! มันเป็นความ Contrast ที่จี๊ดจ๊าด จัดจ้าน แจ่มแมว ผสมคลุกมะนาว น้ำตาล น้ำปลา และพริกเผา เคล้ากันได้อย่างลงตัว เหมือนได้กินต้มยำกุ้ง 4 รส เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ครบทุกอรรถรส
ถึงจะบอกว่าเป็นหนังโลกสวย แต่ไม่เหมาะกับคนโลกสวยนะครับ แนะนำกับคอหนัง J-Horror ชื่นชอบความ Cult เรื่องราวเหนือธรรมชาติ บ้านผีสิง, หลงรักวัยรุ่นสาว Kawaii น่ารักสุดๆ, แฟนๆผู้กำกับ Nobuhiko Obayashi ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความ Contrast อันแปลกประหลาด การตาย และภาพโป๊เปลือย
Leave a Reply