House of Flying Daggers (2004) : Zhang Yimou ♥♥♥♡
ท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์ เรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างหลิวเต๋อหัว และทาเคชิ คาเนชิโร่ ใครจะได้ครอบครองดอกไม้งาม ‘นางล่มเมือง’ จางจื่ออี๋ ต่างฝ่ายต่างเหมือนถูกคมมีดบินทิ่มแทงกลางใจ ถ้ามิได้ใช้ชีวิตกับหญิงคนรัก ฆ่ากันให้ตายเสียยังดีกว่า!
โดยปกติแล้วภาพยนตร์แนวกำลังภายใน (Wuxia) มักมีพล็อตเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับการพิสูจน์ตนเอง ต่อสู้ศัตรู ไม่ก็เข่นฆ่าล้างแค้น คิดคดทรยศหักหลังพวกพ้อง House of Flying Daggers (2004) ไม่ได้มีความแตกต่างจากสูตรสำเร็จสักเท่าไหร่ เพิ่มเติมคือมุ่งเน้นนำเสนอสัมพันธ์รักชาย-หญิง และเพื่อนสนิท (รักสามเส้าที่มีพล็อตเรื่องละม้ายคล้าย Notorious (1946)) จนกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่สร้างความชอกช้ำระกำใจ มองผิวเผินเหมือนไม่มีนัยยะอะไรซุกซ่อนเร้น แต่ความขัดแย้งระหว่างบ้านมีดบิน-ราชสำนึก (สมัยราชวงศ์ถัง) ยังชักชวนผู้ชมให้ตั้งคำถามถึงการเสียสละเพื่อส่วนร่วม vs. กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน … ในทิศทางตารปัตรตรงกันข้ามกับ Hero (2002)
อีกสิ่งที่หนังเรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์แนวกำลังภายในสมัยก่อน ก็คือไดเรคชั่นของผู้กำกับจางอี้โหม่ว ครึ่งแรกทำออกมาได้น่าติดตามมากๆ โดยเฉพาะตัวละครของทาเคชิ คาเนชิโร่ ดั่งสายลมพริ้วไหว อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนไป ค่อยๆบังเกิดความขัดแย้งภายใน ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างภารกิจ vs. หญิงสาวที่อยู่ตรงหน้า, แต่หลังจากความจริงหลายๆอย่างได้รับการเปิดเผย ‘หักมุม’ กลับทำให้ความรู้สึกผู้ชมต่อตัวละครเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือ-หลังมือ ฟ้ากับเหว ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถยินยอมรับ ปรับตัว อดรนทนไหว
นั่นเองทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มักมองข้ามเนื้อหาสาระของหนัง เพราะเต็มไปด้วยความสับสนงุนงง หลายฉากไม่สมเหตุสมผล ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่ต้องชื่นชมความงดงามของฉากต่อสู้ เริงระบำ แมกไม้นานาสายพันธุ์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพโดยจ้าวเสี่ยวติ้ง เป็นตากล้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่คนที่สามได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถัดจาก Gu Changwei เรื่อง Farewell My Concubine (1993) และ Lü Yue เรื่อง Shanghai Triad (1995)
ถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสปอยเลยนะครับ เพราะมันอาจทำให้สูญเสียอรรถรสในการรับชมอย่างแน่นอน!
จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง
ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
ช่วงระหว่างการถ่ายทำ Hero (2002) คาดว่าคงเกิดความสนใจในเรื่องราวความรักระหว่างกระบี่หัก กับหิมะเหิน ที่สามารถเปรียบเทียบแทนถึง การเสียสละเพื่อส่วนรวม vs. กระทำสิ่งตอบสนองความเห็นแก่ตัว จึงร่วมกับสองนักเขียนเฝิงลี่ และบินหวัง (ที่ช่วยกันพัฒนาบท Hero (2002)) แบ่งเวลาสองชั่วโมงในทุกๆวันมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนพัฒนากลายมาเป็น House of Flying Daggers (2004)
ชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 อ่านว่า Shí Miàn Mái Fú แปลตรงตัวว่า Ambushed From Ten Directions, ถูกซุ่มโจมตีจากสิบทิศ หรือศัตรูรอบด้าน, ดั้งเดิมคือชื่อบทเพลงในอุปรากรฌ้อปาอ๋อง บรรเลงโดยผีผา (เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน) ฉากที่เซี่ยงอวี่ (ณ้อปาอ๋อง) ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) ใช้กองทัพทหารดักซุ่มห้อมล้อมจากทุกทิศทาง จนไร้หนทางหลบหนี ก่อนร่ำลานางสนมแล้วบุกฟันฝ่าหลบหนีออกไปได้สำเร็จ (แต่ก็ไม่รอดชีวิตอยู่ดี) ปัจจุบันกลายเป็นสำนวนจีน ใช้เปรียบเทียบสถานการณ์ตกที่นั่งลำบาก มีปัญหารอบด้าน คนรอบข้างจ้องกระทำร้ายเมื่อเราทำอะไรผิดพลาดพรั้ง ซึ่งเป็นการย่ำเตือนสติในการครุ่นคิดหน้าคิดหลัง มีความรอบคอบรัดกุม ใจเย็นๆให้มากกว่านี้
อีกแรงบันดาลใจหนึ่งของหนัง นำจากบทกวี ‘นางล่มเมือง’ ประพันธ์โดย Li Yannian, 李延年 (150-90 ก่อนคริสตกาล) มีชีวิตในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 9, ค.ศ. 25–220) ครั้งหนึ่งมีโอกาสขับร้องต่อหน้าพระพักตร์ จักรพรรดิฮั่นอู่ (ครองราชย์ 156-87 ก่อนคริสตกาล) ทรงตรัสไม่เชื่อว่าอิสตรีดังกล่าวมีอยู่จริง แต่พระขนิษฐาของพระองค์ทูลบอกว่า กวีบทนี้ได้แรงบันดาลใจจากน้องสาว Li Furen เมื่อเรียกตัวเข้าเฝ้า แต่งตั้งเป็นนางสนม (ภรรยาคนที่สอง) โดยทันที!
北方有佳人, From the north comes a ravishing maiden,
佳人曲 อ่านว่า Jiarenqu แปลว่า The Beauty Song
絕世而獨立. Whose beauty stands alone.
一顧傾人城, One look at her, cities fall,
再顧傾人國. On the second glance, empires collapse.
寧不知傾城與傾國. Care not whether cities fall or empires collapse,
佳人難再得. Such beauty never comes around twice.
ค.ศ. 859 สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรม ฮ่องเต้ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ขุนนางกังฉินฉ้อราษฎร์บังหลวง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า บ้านมีดบินคือสำนักของกลุ่มกบฏที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราชสำนัก ด้วยอุดมการณ์แรงกล้าที่จะโค่นล้มราชบัลลังก์
เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเจ้าสำนักบ้านมีดบินคนก่อน ถูกทางการลอบสังหาร เจ้าบ้านคนใหม่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นอย่างลับๆ ราชสำนักจึงมีคำสั่งให้สองมือปราบ หลิว (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) และจิน (รับบทโดย ทาเคชิ คาเนชิโร่) ออกติดตามหาเบาะแสเจ้าสำนักคนใหม่ และสถานที่ตั้งของสำนักบ้านมีดบิน
เจ้าหน้าที่หลิวมีความสงสัยเสี่ยวเม่ย (รับบทโดย จางจื่ออี๋) นางรำตาบอดแห่งศาลาดอกโบตั๋น อาจมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับบ้านมีดบิน จึงวางแผนให้จินแอบปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์นามว่าวายุ ใช้มารยาเสน่ห์เกี้ยวพาราสี พร้อมให้การช่วยเหลือเสี่ยวเม่ยออกมาจากที่คุมขัง คาดหวังว่าเธอจะนำพาไปยังที่ตั้งสำนักบ้านมีดบิน
จางจื่ออี๋, 章子怡 (เกิดปี 1979) หนึ่งในสี่ ‘Four Dan’ นักแสดงหญิงสัญชาติจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง ฝึกฝนการเต้นรำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากนั้นเข้าโรงเรียน Beijing Dance Academy เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ National Youth Dance Championship จึงมีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ แสดงโฆษณา สามารถเข้าเรียนต่อ Central Academy of Drama และต้องตาแมวมองของผู้กำกับจางอี้โหมว แจ้งเกิดโด่งดังจากภาพยนตร์ The Road Home (1999) ติดตามด้วย Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Rush Hour 2 (2001), Hero (2002), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Memoirs of a Geisha (2005), Forever Enthralled (2009), The Grandmaster (2013) ฯลฯ
รับบทเสี่ยวเม่ย นางรำตาบอดแห่งศาลาดอกโบตั๋น ถูกคาดการณ์ว่าอาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับบ้านมีดมิน โดยเฉพาะลีลาการเต้นที่มีความชดช้อยเหมือนท่วงท่าวิทยายุทธ ซึ่งเมื่อเธอแสดงตัวต้องการเข่นฆ่ามือปราบหลิว เลยถูกจับกุมควบคุมขัง ได้รับความช่วยเหลือจากจอมยุทธ์นามวายุ ที่ดูเคลือบแคลง น่าสงสัย แถมพยายามใช้มารยาเสน่ห์ ยั่วเย้าให้ตกหลุมรัก กระทั่งเมื่อเขายินยอมเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับทหารติดตาม เธอจึงเริ่มมีความรู้สึกมอบให้
แท้จริงแล้วเสี่ยวเม่ยไม่ได้ตาบอด การกระทำของเธอคือแผนการของบ้านมีดบิน เพื่อล่อลวงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นายพลให้ออกติดตามไล่ล่า หลายปีก่อนเคยมอบความรักแก่หลิว (ที่ถูกส่งไปเป็นไส้ศึกในกองปราบ และต้องคอยพบเห็นเธอพรอดรักกับจิน) แต่เพียงระยะเวลาสามวันกับวายุ (หรือมือปราบจิน) ก็พร้อมละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่ออยู่เคียงข้างเขา
ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับจางอี้โหมวพัฒนาอีกบทบาท เพื่อให้เหมยเยี่ยนฟาง, Anita Mui Yim-fong (1963-2003) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง ที่เพิ่งตรวจพบโรคมะเร็งปากมดลูก ตั้งใจจะเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย แต่ยังไม่ทันได้เริ่มถ่ายทำเธอกลับพลันด่วนเสียชีวิตไปก่อน ด้วยเหตุนี้เขาเลยปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวละครใหม่หมด อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์การให้เกียรติแก่เธอ และช่วงท้ายยังคงขึ้นชื่อบนเครดิต
สำหรับบทบาทใหม่ก็เล็งมิเชล โหยว, หลินชิงเสีย ก่อนตัดสินใจเลือกนักแสดงขาประจำจางจื่ออี๋ เพื่อให้เธอมีโอกาสแสดงความสามารถด้านการเต้นรำ (ที่อุตส่าห์ร่ำเรียน) นอกจากนี้ยังเห็นว่าทุ่มเทโปรเจคนี้สุดๆ ด้วยการอาศัยอยู่กับหญิงสาวตาบอดนานถึง 2 เดือน ศึกษากิริยาท่าทาง การใช้ชีวิตของเธอ นำมาปรับใช้ในบทบาทได้อย่างสมจริง
I did everything with her so that I could make the way she led her life a part of my lifestyle as well. I studied the way she touched a person’s face to learn how to emulate it.
จางจื่ออี๋ กล่าวถึงการใช้ชีวิตอยู่กับสาวตาบอดเพื่อเตรียมตัวรับบท
ส่วนตัวชื่นชอบการแสดงของจางจื่ออี๋ขณะเป็นสาวตาบอดมากๆ ลีลาการเต้นชดช้อยนางรำ คำพูดนุ่มนวลอ่อนหวาน สามารถชักชวนให้บุรุษหนุ่มเคลิบเคลิ้มหลงใหล ขณะเดียวกันก็ดูน่าสงสารเห็นใจในความพิการ แต่หลังจากเปิดเผยตัวตนแท้จริง คนส่วนใหญ่มักเกิดอาการกระอักกระอ่วน รู้สึกเหมือนโดนลวงล่อหลอก หมดสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธา ไม่อยากยุ่งเกี่ยวอะไรกับเธออีกต่อไป นั่นทำให้ช่วงระหว่างการตัดสินใจเลือกชายคนรัก กลายเป็นไร้น้ำหนัก ไร้อารมณ์ร่วม อยากจะลงเอยกับใครก็ตามสบาย หรือตกตายได้เสียก็ดี!
ผมโคตรๆเสียดายการแสดงของจางจื่ออี๋ เธอเล่นบทบาทนี้ได้สมจริง ตราตรึง ครึ่งแรกยอดเยี่ยมมากๆ แต่เรื่องราวครึ่งหลังนำพาให้ตัวละครสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อผู้ชม เลยไม่มีใครใคร่อยากสนความกะล่อนปลิ้นปล้อน(ของตัวละครนี้)อีกต่อไป
หลิวเต๋อหัว, Andy Lau Tak-wah (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB เริ่มมีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1998), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ
รับบทมือปราบหลิว ครุ่นคิดแผนการให้เพื่อนสนิทจิน ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์วายุ เข้าไปเที่ยวเล่นหอนางโลม ตีสนิทนางรำตาบอดเสี่ยวเม่ย ส่วนตนเองแสร้งว่าบุกเข้าไปจับกุม แล้วจัดกองกำลังออกไล่ล่า แอบให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ กระทั่งการมาถึงของนายพล ส่งทหารฝนสังกัดออกติดตามด้วยตนเอง ทำให้ทุกสิ่งอย่างบานปลายจนไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีก
ตัวตนแท้จริงของหลิวคือสายลับจากบ้านมีดบิน ปลอมตัวมารับราชการตำรวจเพื่อหาหนทางกวาดล้างขุนนางกังฉิน ก่อนหน้านี้เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเสี่ยวเม่ย แทบอดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นจินพรอดรักกับเธอ พยายามย้ำเตือนเพื่อนสนิทว่าอย่าจริงจัง แต่หลังจากทุกสิ่งอย่างเปิดเผย เขาก็มิอาจอดรนทนต่อชายโฉดหญิงชั่วได้อีกต่อไป
Because I was already familiar with the basics of the action sequences, I was able to devote most of my time to my acting. My character is very complex; he is a man that believes his love is true, but he believes in this so strongly that it eventually becomes his own downfall.
หลิวเต๋อหัว กล่าวถึงบทบาทหลิว
ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ชอบความไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยของมือปราบผู้นี้ จู่ๆก็มาเปิดเผยว่าคือ(อดีต)คนรักของเสี่ยวเหม่ย ทำให้เรื่องราวทุกสิ่งอย่างก่อนหน้านี้ล้วนเป็นการเล่นละคอนตบตา แต่เพราะความจืดจางในครึ่งแรก (ที่พบเห็นแค่ไม่กี่ฉาก) หลายคนเลยไม่ค่อยอคติต่อตัวละครสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับตอนเปิดเผยตัวตนของเสี่ยวเหม่ย)
ทางฝั่งนักวิจารณ์ประเทศจีน/ฮ่องกง ก็ไม่ค่อยประทับใจการแสดงของเฮียหลิวสักเท่าไหร่ มองว่าปฏิกิริยาแสดงออกทางใบหน้ามีความตื้นเขินเกินไป สัมผัสไม่ได้ถึงความขัดแย้งทางอารมณ์ที่อยู่ภายใน ท่าทางก็ดูแข็งทื่อ ไร้จิตวิญญาณ เป็นบทบาทก้าวถอยหลังลงคลองครั้งใหญ่
แต่บอกตามตรงผมกลับรู้สึกว่าเฮียหลิวเล่นบทเก็บกดได้เข้มข้นมากๆ ใบหน้าดูเคร่งขรึม ถมึงทึง ขมวดคิ้วแทบตลอดเวลา ที่มันไม่เอ่อล้นเพราะต้องปกปิดซ่อนเร้น เล่นละคอนตบตาจิน แต่ก็เพียงพอให้สัมผัสถึงอารมณ์อันซับซ้อนที่อยู่ภายใน สำหรับท่าทางแข็งกระด้างเหล่านั้น แสดงถึงความตึงเครียด เก็บกดดัน ร่างกายจะขยับเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติได้อย่างไร
ทาเคชิ คาเนชิโร่ ชื่อจีน จินเฉิงอู่ (เกิดปี 1973) นักแสดงลูกครึ่งไต้หวัน-ญี่ปุ่น เกิดที่กรุงไทเป บิดาเป็นชาวญี่ปุ่น ก้าวสู่วงการแสดงตั้งแต่อายุ 15 ปี ได้รับคัดเลือกให้เป็น Pop Idol ของไต้หวัน ออกอัลบัมชุดแรก Heartbreaking Night (1992), ด้วยความสามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา (จีนกลาง, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, ญี่ปุ่น และอังกฤษ) เลยมีโอกาสทางการแสดงที่หลากหลาย ผลงานเด่นๆ อาทิ Chungking Express (1994), Fallen Angels (1995), House of Flying Daggers (2004), Perhaps Love (2005), The Warlords (2007), Red Cliff (2008-09) ฯ
รับบทมือปราบจิน ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์เพลย์บอยวายุ พยายามเกี้ยวพาราสีนางรำตาบอดเสี่ยวเหม่ย ทั้งยังให้ความช่วยเหลือหลบหนีออกจากห้องคุมขัง เพราะครุ่นคิดว่าเธอจะนำพาเขาไปยังสำนักบ้านกระบี่บิน แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลาย นายพลส่งกองกำลังส่วนตัวออกไล่ล่าติดตาม ทำให้ต้องเข่นฆ่าพรรคพวกพ้องเดียวกัน โดยไม่รู้ตัวนั่นสร้างความประหลาดใจให้หญิงสาว ไม่ครุ่นคิดว่าชายหนุ่มจะยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อตนเอง
เมื่อความจริงของเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย สร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง แต่เขาก็ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง พยายามโน้มน้าวชักชวนเธอให้หลบหนีไปอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน กระทั่งถูกขัดขวาง/เผชิญหน้ากับเพื่อนสนิทหลิว ก่อเกิดการต่อสู้ที่มีศักดิ์ศรีเรื่องความรักเป็นเดิมพัน!
ในบรรดาสามตัวละครหลัก บทบาทของทาเคชิ คาเนชิโร่ มีการแสดงออกทางอารมณ์เด่นชัดเจนที่สุดแล้ว ตั้งแต่เล่นเป็นเพลย์บอย (หล่อขนาดนี้ ดูยังไงก็โคตรสมจริง) ถูกยั่วยวนกลับ (บังเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจ ระหว่างภารกิจ vs. เสียงเรียกร้องของหัวใจ) ตกตะลึงเมื่อพบเห็นความจริง (จากอ้ำๆอึ้งๆ กลายเป็นพูดไม่ออกบอกไม่ถูก) และฉากที่ผมชื่นชอบมากๆคือพยายามปั้นหน้าด้วยรอยยิ้ม ชักชวนเธอหลบหนีไปด้วยกัน ก่อนจบลงด้วยความเงียบงัน (แล้วควบขี่ม้าจากไป)
แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์ชาวจีน ส่วนใหญ่มองว่าบทบาทนี้ดูทึ่มทื่อ เถรตรง หลงตัวเอง บทพูดดูตลกขบขันมากกว่าเกิดความโรแมนติก น่าหลงใหล อีกทั้งเคมีกับจางจื้ออี๋ก็ไม่ได้เข้ากันสักเท่าไหร่ … ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างพยายามเล่นละคอนตบตา ไม่ต้องการปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงติดกับ (ฝ่ายชายยังคงยึดมั่นในหน้าที่การงาน, หญิงสาวครุ่นคำนึงถึงชายคนรักเก่า)
I have no shame in saying I had the most difficult time. I had to spend a whole month just learning the difference between the weapons. I thought I would be simply taught step-by-step the action sequences, but I had to learn the basic disciplines first. Then, we would go on location and actually create each technique and shoot with the weather and time in check.
ทาเคชิ คาเนชิโร่ กล่าวถึงความท้าทายในการซักซ้อมฉากต่อสู้
เกร็ด: ทาเคชิ คาเนชิโร่ ครั้งหนึ่งได้รับบาดเจ็บตกจากหลังม้า รักษาตัวไม่ทันหายดีต้องรีบกลับมาถ่ายทำต่อ ด้วยเหตุนี้ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าหลายๆฉากตัวละครจะยืนแน่นิ่ง ไม่ค่อยก้าวเดิน ขยับเคลื่อนไหว (ถ้าจำเป็นต้องเดินไปไหนมาไหนหรือฉากควบขี่ม้า ก็จะใช้นักแสดงแทนโดยถ่ายไม่ให้เห็นใบหน้า)
ถ่ายภาพโดย จ้าวเสี่ยวติ้ง, Zhao Xiaoding (เกิดปี 1968) ตากล้องชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beijing Film Academy สำเร็จการศึกษาปี 1989 จากนั้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ผู้ช่วยตากล้อง (Camera Assissantant) จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวถ่ายทำคลิปโปรโมทการประมูลจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000, เลยได้เป็นผู้ช่วย Christopher Doyle ถ่ายทำ Hero (2002), และได้รับเครดิตถ่ายภาพ House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006), The Flowers of War (2011), Shadow (2018) ฯ
งานภาพของหนังแม้ไม่มีความฉูดฉาดด้านสีสันเทียบเท่า Hero (2002) แต่ก็ผันแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ (ฤดูกาล) และสถานที่ถ่ายทำที่เต็มไปด้วยต้นเบิร์ช (Birch) ต้นไผ่ (Bamboo) ทุ่งดอกไม้ ฯ เรียกว่าเต็มไปด้วยแมกไม้หลากหลายสายพันธ์ุ
สถานที่ถ่ายทำของหนัง ประกอบด้วย
- ป่าเบิร์ช และทุ่งดอกไม้ เดินทางไปถ่ายทำยัง Hutsulshchyna National Park (บ้างเรียกว่า Kossiv National Park) เทือกเขาด้านหลังคือ Carpathian Mountains ตั้งอยู่ประเทศยูเครน
- ป่าไผ่ถ่ายทำยัง Tea Mountain Bamboo Sea อยู่ที่จังหวัดหยงซวน นครฉงชิ่ง (หนึ่งในสี่นครที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลาง อีกสามแห่ง คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน)
- ส่วนฉากภายในและศาลาดอกโบตั๋น ถ่ายทำยัง Beijing Film Studio
ศาลาดอกโบตั๋น (Peony Pavillion) ใช้เวลาก่อสร้างนาน 2 เดือน สูญเงินไปกว่า 2 ล้านหยวน ประกอบด้วย 50 โคมไฟ แกะสลักลวดลายไม้กว่า 400-500 ชิ้น ภายใต้พื้นเวทีและโดยรอบสถานที่แห่งนี้จะมีแสงไฟส่องสว่าง พานผ่านลวดลายพื้น-ผนัง(ดอกไม้และผีเสื้อ)ทำจาก fiberglass เพื่อให้สามารถเรืองแสง ไม่มีระบุขนาดของห้องโถง แต่ใหญ่พอให้วางเรียงรายกลองจำนวน 40 อัน
เกร็ด: ดอกไม้โบตั๋น (Peony) ในสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อปี ค.ศ. 1903 ได้มีการประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ มีความหมายถึงความเจริญมั่งคั่ง ร่ำรวย มียศศักดิ์ (แต่พอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยประกาศดอกไม้ประจำชาติอย่างเป็นทางการ) นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องสวยๆงามๆของผู้หญิง เกี่ยวกับความรัก ซื่อสัตย์มั่นคง ดึงดูดเพศตรงข้ามให้เกิดความลุ่มหลงใหล
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Emi Wada (1937-2021) แฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของผลงานอมตะ Ran (1985) ก่อนหน้านี้เพิ่งร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวเรื่อง Hero (2002) แต่ครานี้ต้องชมเลยว่า ออกแบบเสื้อผ้าตัวละครได้อย่างน่าตกตะลึงยิ่งนัก! โดยเฉพาะชุดระหว่างทำการแสดงของเสี่ยวเหม่ย (มีสองชุดนะครับ) มีความละเมียด ละเอียดอ่อน ละลานตาอย่างที่สุด
แซว: ผมไม่คิดว่าสถานที่แห่งนี้จะมีอยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆหรอกนะ เป็นการนำเสนอให้ดูสวยงามแบบเว่อวังอลังการ เพื่อขายศิลปะวัฒนธรรม (และจินตนาการผู้สร้าง) แต่ก็ชวนให้ระลึกถึงหนัง Bollywood ที่ชอบทำอะไรตื่นตระการตาลักษณะนี้
ภาพแรกของสองเพื่อนสนิทมือปราบ จิน vs. หลิว แม้ต่างนั่งอยู่แต่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม คนหนึ่งกำลังกินถั่ว ท่าทางผ่อนคลาย แสดงถึงนิสัยเจ้าสำราญ, อีกฝั่งฝ่ายกำลังเช็ดคมดาบ ดูเคร่งขรึม คิ้วขมวด ตระเตรียมตัวพร้อมต่อสู้ตลอดเวลา
มือปราบหลิวเล่าให้ฟังถึงภารกิจใหม่ มอบหมายให้จินปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์ชื่อวายุ แสร้งว่าเข้าไปท่องเที่ยวยังศาลาดอกโบตั๋น สังเกตการณ์พนักงานคนใหม่ อาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับบ้านมีดบิน
เกมชักเหย่อระหว่างจิน (ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์วายุ) กับสาวๆในศาลาดอกโบตั๋น สามารถสื่อความถึงความขัดแย้งในหลายๆระดับ เริ่มจากภายในจิตใจตัวละคร (จินต้องเลือกระหว่างภารกิจ vs. หญิงสาวต่อหน้า(เสี่ยวเหม่ย)) หรือระหว่างเพื่อนสนิท (จิน vs. หลิว) รวมไปถึงบ้านมีดบิน vs. ราชสำนัก … ซึ่งการที่หนังนำเสนอผู้แพ้-ชนะในเกมชักเย่อนี้ บอกใบ้ถึงการตัดสินใจของตัวละครในฉากต่อๆไป (เลือกกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง ไม่ยินยอมเสียสละเพื่อผู้อื่นอีกต่อไป)
The first idea that came to me was the dance scene. I employed a dance trainer for two months and had intended it to be a choreographed, traditional dance. But my initial vision was changed by the inspirations I got from action director Tony Chung Siu-Tung, and I decided to make the scene more of an action scene. I believe this is the first time that a historical Chinese dance was directed by an action director.
ผู้กำกับจางอี้โหมว กล่าวถึงท่วงท่าเต้นระบำ
ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับจางอี้โหมว ครุ่นคิดจะให้ฉากการเต้นรำก็แค่การเต้นระบำพื้นเมืองทั่วๆไป (ไม่ได้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ยุคไหน) แต่ระหว่างพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักออกแบบคิวบู๊ (Action Director) เฉิงเสี่ยวตง เลยเกิดแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างท่วงท่า ให้มีลักษณะเหมือนลีลาการต่อสู้ (ท่ารำวิทยายุทธ)
เฉิงเสี่ยวตง, Ching Siu-tung (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/นักแสดง/ออกแบบการต่อสู้ เกิดที่มณฑลอานฮุย, บิดา Ching Kang คือหนึ่งในผู้กำกับ/นักเขียนบทสังกัด Shaw Brothers Studios ส่งบุตรชายไปร่ำเรียนงิ้วตั้งแต่เด็ก แต่กลับเลือกทำงานกำกับภาพยนตร์ Duel to the Death (1982), A Chinese Ghost Story (1987), The Swordsman (1990) ฯ และยังออกแบบฉากต่อสู้ Shaolin Soccer (2001), Hero (2002), House of Flying Daggers (2004), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ
ด้วยเหตุนี้ท่วงท่าการรำของจางจื่ออี๋จึงมี 2 ชุดการแสดงที่แตกต่างตรงกัน
- หลังถูกวายุที่กำลังมึนเมา ถอดเสื้อคลุมออก เหลือเพียงชุดชั้นในโทนสีน้ำเงิน (แต่ก็ยังสวมทับอีกหลายชั้น) ออกลีลาที่เชื่องช้า เนิบนาบ เน้นท่วงท่าชดช้อยนางรำ มีความนุ่มนวลละอ่อนหวาน บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีผีผา และขับร้องโดยจางจื้ออี๋
- ถูกบีบบังคับให้ทำการแสดงโดยมือปราบหลิว เปลี่ยนมาสวมใส่ชุดโทนสีแดง (เอาว่ามีลักษณะตรงกันข้ามกับเพลงแรก) มีลีลาอันเร่งรีบเร้าร้อน ท่วงท่าเหมือนจอมยุทธ์ กระโดดโลดเต้นตามจังหวะเสียงรัวกลอง เคาะตามเม็ดถั่ว (Echo Game) ที่มือปราบหลิวเขวี้ยวขว้างออกไป
การรำทั้งสองครั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์/ความรู้สึกที่เสี่ยวเหม่ยมีให้ต่อชายคนรักทั้งสองด้วยนะครับ
- วายุ/มือปราบจิน มีความนุ่มนวลละอ่อนหวาน เอ็นดูทะนุถนอม เอาอกเอาใจใส่ ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ไม่ต้องการให้เธอได้รับบาดเจ็บใดๆ
- ขณะที่หลิวออกไปทางเร่าร้อนรุนแรง เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ ‘passion’ มรสุมแห่งความคลุ้มคลั่ง พร้อมกระทำร้ายถ้าเธอคบชู้นอกใจ
บ่อน้ำ/แอ่งน้ำ คือสถานที่แห่งโชคชะตาของเสี่ยวเหม่ย ผมสังเกตพบสามครั้งในสามสถานการณ์สำคัญๆ
- ครั้งแรกขณะถูกจับโดยมือปราบหลิว ด้วยการกดศีรษะให้จมอ่างอาบน้ำ
- ครั้งสองระหว่างกำลังถูกไล่ล่า (โดยลูกน้องของมือปราบหลิว) วิ่งหลบหนีมาจนถึงแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง แล้วได้รับการช่วยเหลือจากวายุ แสดงความสามารถด้านการยิงธนูได้อย่างแม่นยำ
- และครั้งสุดท้ายคืออาบน้ำชำระล้างร่างกาย ในบ่อที่ปกคลุมด้วยใบไม้
ผมครุ่นคิดว่าทั้งสามครั้งนี้น่าจะสื่อถึงการชะล้างทัศนคติบางอย่างของตัวละคร
- ครั้งแรกสื่อถึงความเย่อหยิ่งความทะนงตนของเสี่ยวเหม่ย ครุ่นคิดว่าจะสามารถเอาชนะมือปราบหลิว แต่ก็มิอาจต่อกร พ่ายแพ้ด้วยการถูกจับกดน้ำ ให้ตื่นขึ้นจากอาการหลงตัวเอง
- ความเป็นจริงแล้ว เสี่ยวเหม่ยอาจแค่ต้องการประลองฝีมือกับ(อดีต)คนรัก นี่แค่เป็นการหยอกล้อเล่นของพวกเขาเท่านั้นเอง
- ครั้งสองเธอแสร้งว่าทำเหมือนไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ถูกห้อมล้อมต้อนจนมุมจากมือปราบทั้งสี่ เฝ้ารอคอยพระเอกมาช่วย ‘damsel in distress’ เมื่อรอดชีวิตก็เริ่มมีจิตใจที่อ่อนโยนต่อเขา
- การไล่ล่าดังกล่าวเป็นเพียงการเล่นละคอนตบตา (แบบเดียวกับเสี่ยวเหม่ยที่แสร้งว่าตาบอด) หลอกลวงน้ำขุ่นๆ
- ครั้งสุดท้ายเสี่ยวเหม่ยอาบน้ำชำระล้างร่างกาย แต่วายุที่แสร้งว่าอยู่ห่างออกไป แท้จริงแล้วแอบจับจ้องมองอยู่เคียงใกล้ ซึ่งเธอก็พูดอ่อยเหยื่อให้เขาตายใจ หลังแต่งตัวเข้ามาพรอดรัก กอดลูบไล้ แต่ก็ตัดสินใจยังไม่ถึงเวลาเชยชม (ต่างมีกำแพงความรู้สึกกีดกั้นขวางพวกเขาไว้)
หลังจากหลบหนีออกจากสรวงสวรรค์ (ในเมือง) หนังดำเนินเรื่องพานผ่านแมกไม้สามสายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ประกอบด้วย
- ป่าเบิร์ชมีลำต้นที่แข็งแกร่งมั่นคง เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ เป็นสัญลักษณ์แทนการถือกำเนิด (rebirth) เริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือคือวายุ/จินให้การช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยออกจากห้องคุมขัง พานผ่านป่าแห่งนี้ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน
- ทุ่งดอกไม้คือพืชล้มลุก (เรียกว่าวัชพืชน่าจะถูกต้องกว่า) เริ่มต้นคือดินแดนแห่งอิสรภาพ หนุ่มสาวพรอดรัก โรแมนติกหวานฉ่ำ จากนั้นไม่นานค่อยๆถูกห้อมล้อมโดยศัตรูรอบทิศทาง กลายเป็นสถานที่แห่งการตัดสินใจ ระหว่างเสียสละเพื่อส่วนรวม/ประเทศชาติ หรือกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของหัวใจ และไคลน์แม็กซ์ยังเป็นสถานที่แห่งการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย
- ป่าไผ่แม้ลำต้นสูงใหญ่แต่มีความโอนเอนเอียง ยืดหยุ่น สามารถโน้มลงจากด้านบน (ต้นไม้ของ Zen) ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ สถานที่แห่งความจริง เปิดเผยสิ่งซุกซ่อนเร้นไว้ หรือจะมองว่าตัวละครได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิตก็ได้เหมือนกัน
ลีลาการถ่ายภาพยังสามสถานที่แห่งนี้ต้องชมเลยว่าสวยสดงดงาม บ่อยครั้งจะพบเห็นกล้องเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครขณะวิ่งหลบหนีพานผ่านแมกไม้ ราวกับว่าพืชพันธุ์เหล่านี้สามารถเทียบแทนสภาวะจิตใจตัวละครขณะนั้นๆ หนักแน่นมั่นคง (ป่าเบิร์ช) -> สวยงามบอบบาง (ทุ่งดอกไม้) -> โอนอ่อนคล้อยตาม (ป่าไผ่)
ไคลน์แม็กซ์ของการหลบหนีทั้งสามแมกไม้นั้น วายุและเสี่ยวเหม่ยต่างต้องถูกห้อมรอบล้อม ตอนจนกรอบ ไร้หนทางออก และได้รับการช่วยเหลืออย่างหวุดหวิด ทันท่วงที เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นตาย
- ป่าเบิร์ช เสี่ยวเหม่ยถูกกองกำลังของมือปราบหลิวเข้าห้อมล้อม 4 ลุม 1 ได้รับการช่วยเหลือจากวายุ/มือปราบจิน ยิงธนูได้อย่างแม่นยำ เข้าตรงเป้าโดยไม่ได้เข่นฆ่าพวกเขาให้ตกตายไป
- ทุ่งดอกไม้ จินและเสี่ยวเหม่ยถูกหน่วยไล่ล่าของนายพลเข้าห้อมล้อม 8 ลุม 2 ได้รับการช่วยเหลือจากขอนไม้บินลึกลับ (จริงๆแล้วเป็นของมือปราบหลิว แอบช่วยเหลืออยู่ห่างๆ)
- ป่าไผ่ จินเข้ามาช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยพาหลบหนี แต่กองกำลังของนายพลมีมากมายนับไม่ถ้วน 10 ลุม 2 (ยังไม่รวมที่อยู่บนต้นไผ่) ได้รับความช่วยเหลือจากบ้านมีดบิน เขวี้ยงขว้างทำลายทุกสิ่งราบเรียบหน้ากลอง
ทั้งสามเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่สื่อถึงชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 (ที่แปลว่าถูกห้อมล้อม, ศัตรูรอบด้าน) แต่มันคือความซ้ำซากจำเจของคนที่ไม่รู้จักครุ่นคิดแก้ปัญหา ปล่อยให้เหตุการณ์(หมา)จนตรอกเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เจ็บไม่จำ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม แถมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนนอก ถึงสามารถดิ้นรนเอาชีพรอด
ดั้งเดิมนั้นทีมงานกวาดซื้อเมล็ดดอกทานตะวัน (รวมราคากว่า $2,000 เหรียญ) แล้วว่าจ้างให้ชาวบ้านแถวนั้น (ชาว hutsul) ทำการเพาะปลูกยังเนินเขาแห่งหนึ่ง แต่การแพร่ระบาดของโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) ช่วงระหว่างพฤศจิกายน 2002 ถึงสิงหาคม 2003 ทำให้โปรเจคล่าช้า ไม่มีใครมาดูแล รดน้ำใส่ปุ๋ย เมื่อยกกองไปยังสถานที่ดังกล่าวก็พบว่าไม่สามารถใช้งานได้! แต่ห่างออกไปไม่ไกล พวกเขาก็ค้นพบทุ่งดอกไม้วัชพืชนี้ที่ใช้ในการถ่ายทำ
ดอกสีเหลืองที่เหน็บแซมผมของเสี่ยวเหม่ย ชื่อเรียกของมันคือ บัวตอง (Tree Marigold) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก อายุยืนยาวหลายปี สามารถสูงได้ถึง 5 เมตร ออกดอกช่อเดียว บริเวณปลายกิ่งมีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวันแต่มีขนาดเล็กกว่า ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นบนยอดดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
เกร็ด: บัวตองเป็นพืชที่มักสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ แต่ต้องระดับความสูงเกินกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป เมืองไทยจึงพบในแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย
หรือนัยยะของฉากนี้จะไม่ได้ต้องสื่อว่า เสี่ยวเหม่ยมีความงดงาม เบิกบานดั่งดอกทานตะวัน (นี่น่าจะเป็นความตั้งใจแรกเริ่มของผู้สร้างเลยนะ) แต่คือวัชพืชตัวปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนในรักสามเส้า
เกร็ด: คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดว่าวัชพืชคือพืชไร้ค่า เจริญเติบโตขึ้นมาเพื่อแก่แย่งสารอาหารจากต้นไม้ใหญ่ สมควรกำจัดให้สิ้นซาก แต่ประโยชน์ของมันก็เยอะอยู่นะครับ สามารถใช้เป็นอาหาร ทำปุ๋ยอินทรี ยึดเกาะหน้าดิน ออกดอกสวยๆก็มีนำมาประดับตกแต่งสถานที่ … วัชพืช มิใช่พืชไร้ค่าอีกต่อไปแล้วนะครับ
น่าสนใจทีเดียวกับการนำเสนอมุมกล้องถ่ายภาพหญิงสาวลอดระหว่างขาบุรุษ สามารถสื่อถึงอิสตรีที่ถูกควบคุมครอบงำภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ใบบริบทของหนังสามารถสื่อถึงหลิว&จิน ที่ต่างต้องการได้เธอมาอยู่เคียงชิดใกล้ เช่นเดียวกับบ้านมีดบิน&ราชสำนัก กำหนดโชคตะกรรมของผู้อยู่ใต้สังกัด ออกคำสั่งกำจัดอีกฝั่งฝ่ายให้ตกตายไป … ไม่ว่าจะมองทิศทางไหน โชคชะตากรรมของหญิงสาวล้วนถูกห้อมล้อม ไร้หนทางออกสู่อิสรภาพ!
เครื่องแบบของบ้านมีดบิน ชวนให้นึกนัยยะสีเขียวของ Hero (2002) อยู่ไม่น้อยเลยละ! เกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ พยายามทำตัวให้กลมกลืนกับต้นไผ่ (สะท้อนลักษณะของนักฆ่า ที่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบข้าง) เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต หรือคือเรื่องราวหลังจากนี้จะเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงของตัวละครหลักๆ
เอาจริงๆมันไม่มีความจำเป็นที่เจ้าสำนัก (ตัวปลอม) ต้องเล่นละคอนตบตา พูดจาโน้มน้าว คุกเข่าคำนับ ให้วายุ/จินยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับเสี่ยวเหม่ย แต่ที่ทำไปทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่สร้างกับดักให้ตายใจ (จักได้จับกุมตัวง่ายๆ) ผู้ชมก็รู้สึกเหมือนถูกลวงล่อหลอกเช่นเดียวกัน!
ฉากนี้ถือเป็นจุดหมุนของหนังที่ยังสะท้อนการดำเนินเรื่องราวตั้งแต่ต้น! เริ่มจากสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ตัวละคร(และผู้ชม) เมื่อรู้สึกผ่อนคลายก็เปิดเผยข้อเท็จจริง หลังจากนี้สภาพจิตใจ(ของจินและผู้ชม)ย่อมหลงเหลือเพียงความหมดสิ้นหวัง
แซว: แต่จะว่าไป ผมครุ่นคิดว่าเจ้าสำนัก (ตัวปลอม) คงอยากคุกเข่าคำนับเพื่อเป็นการขอบคุณที่วายุ/จิน ให้ความช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยเอาตัวรอดมาจนถึงป่าไผ่แห่งนี้ โดยไม่หลุดคาแรคเตอร์สาวตาบอด (เป็นจินและผู้ชมเองต่างหาก ที่ตามืดบอด มองไม่ออกว่าเธอคนนี้เล่นละคอนตบตา)
หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหลิวกับเสี่ยวเหม่ย จู่ๆก็ปรากฎขึ้น ดูเหมือนการยัดเยียดยังไงชอบกล แถมไม่อธิบายเรื่องราวความเป็นไป หรือใส่ฉากย้อนอดีต (Flashback) เล่าความหลังเลยสักนิด!
I don’t want audiences to wonder when and how the love began. The point is that there is this instantaneous love, and that love is oppressed because it is not just between two people; it has the third pair of eyes constantly watching them from afar.
ผู้กำกับจางอี้โหมวกล่าวถึงประเด็นรักสามเส้า
ล้อกับตอนต้นเรื่อง มือปราบหลิวเล่น Echo Game โยนเมล็ดถั่วไปถูกกลองไหน สาวตาบอดเสี่ยวเหม่ยจะเริงระบำสัมผัสกลองนั้น มาคราวนี้ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม เสี่ยวเหม่ยโยนก้อนหินถูกต้นไผ่ไหน สายลับหลิวที่ปิดตาอยู่ จะโยนมีดบินไปยังต้นไผ่นั้น
เช่นเดียวกับวายุหลังจากรับชมการเริงระบำของสาวตาบอดเสี่ยวเหม่ย พยายามฉุดกระฉากลวนลาม (แต่ไม่สำเร็จ) กลับตารปัตรเมื่อเสี่ยวเหม่ยได้รับคำสั่งให้จัดการมือปราบจิน ลากพาเขายังทุ่งดอกไม้ (ปิดตาไว้) แล้วตัดสินใจปลดปล่อย ยินยอมร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของกันและกัน … ครั้งแรกครั้งสุดท้าย
นี่ก็เป็นอีกสองช็อตที่ล้อกันและกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
- เสี่ยวเหม่ย(ขณะตาบอด) ปฏิเสธร่วมรักกับวายุ (ท่ามกลางใบไม้แห้งเหี่ยว) เพราะจิตใจยังคงยึดมั่นคงต่อ(อดีต)คนรักหลิวแม้พานผ่านระยะเวลา 3 ปี
- เสี่ยวเหม่ย(ขณะตาไม่บอด) ปฏิเสธร่วมรักกับหลิว (ท่ามกลางใบไผ่เขียวขจี) เพราะจิตใจยังคงครุ่นคิดถึงวายุ/จิน มิอาจละวางความรู้สึกแม้พบเจอเพียง 3 วัน
ชุดของเสี่ยวเหม่ยไม่ใช่แค่โทนสีเขียวเข้ม->เขียวแก่ แต่ยังมีลักษณะเหมือนเพศชาย->เพศหญิง, เต็มไปด้วยลวดลายเครื่องป้องกัน -> ผืนผ้าสีพื้นๆเบาบาง พริ้วไหวไปตามสายลม
ฉากร่วมรักระหว่างจินกับเสี่ยวเหม่ย ท่ามกลางท้องทุ่งที่ปกคลุมด้วยวัชพืชขาวโพลน (สื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดๆแปดเปื้อน) ตัดกับทิวทัศน์เทือกเขาด้านหลัง ต้นไม้เต็มไปด้วยสีสันเขียว-เหลือง-ส้ม ของฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) สามารถเทียบแทนโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกต่าง การต่อสู้แก่งแย่งชิง คิดคดทรยศหักหลัง ประเทศชาติเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ใกล้ประสบหายนะ วันโลกาวินาศ
เมื่อเริ่มถ่ายทำฉากไคลน์แม็กซ์ที่ประเทศยูเครน เดือนตุลาคมปีนั้นคาดไม่ถึงว่าฤดูหนาว/หิมะตกเร็วกว่าปกติ ผิดจากความตั้งใจดั้งเดิมมากๆ (ที่มีแค่ต่อสู้กันท่ามกลางทุ่งดอกไม้) แต่ผู้กำกับจางอี้โหมวก็ครุ่นคิดปรับเปลี่ยนแผนการ ให้เสมือนว่าสองตัวละครกำลังต่อสู้กันตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วง จนสิ้นสุดกลางฤดูหนาว และสามารถเพิ่มช็อตเลือดสาดกระเซ็นบนพื้นหิมะ แฝงนัยยะ ‘เลือดนองแผ่นดิน’
มันจะมีช็อตน่าทึ่งก็คือ สภาพภูมิทัศน์ด้านหลังที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนจากสีสันของฤดูใบไม้ร่วง มาเป็นขาวโพลนด้วยหิมะ แต่ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าหลายๆช็อตโคตรไม่แนบเนียน ตั้งแต่ Special Effect พายุหิมะที่ไม่ทั่วถึง และ Visual Effect บางมุมยังพบเห็นต้นไม้หลากลายสีสัน (คงเพราะหิมะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างตั้งแต่แรก เลยขาดทั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ และทุนทำ VFX ด้วยกระมัง)
ทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างส่ายหัวไม่เข้าใจ มีดทิ่มแทงหัวใจทำไมเสี่ยวเหม่ยยังรอดชีวิต ฟื้นคืนชีพขึ้นได้อย่างไร โคตรจะไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด! ถ้าเราสามารถมองข้ามอคติดังกล่าว ครุ่นคิดซะว่ามันคือแรงผลักดัน ลมปราณเฮือกสุดท้ายของหญิงสาว ต้องการเสียสละตนเองอีกสักครั้งเพื่อชายคนรัก ด้วยเหตุนี้มีดบินที่เขวี้ยงขว้างออกไป จึงมอบคำตอบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง!
สถานการณ์ขณะนี้ก็คือ หลิวหยิบมีดบินที่ปักค้างอยู่ข้างหลัง (จากเจ้าสำนักบ้านมีดบิน สื่อตรงๆถีงการทรยศหักหลัง) ตั้งใจจะเขวี้ยงขว้างใส่จิน -> เสี่ยวเหม่ยคว้าจับมีดที่ปักอก ต้องการปกป้องชายคนรัก แต่ถ้าชักมันออกมาตนเองก็จะสูญเสียเลือด ตกตายทันที! -> จินที่ไม่มีอาวุธใดๆในมือ ไม่ต้องการให้เสียวเหม่ยสละชีวิตเพื่อตนเอง ขอยินยอมตายจากคมมีดบินของหลิวดีกว่า
จากสถานการณ์ดังกล่าวบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกก็คือเสี่ยวเหม่ย ความเป็นไปได้ในกรณีนี้ก็คือ
- เสี่ยวเหม่ยเขวี้ยงขว้างมีดบินใส่หลิว แต่ถ้าทำเช่นนั้นจินก็โดนมีดบิน (ของหลิว) กลายเป็นตายเรียบทั้งสามคน
- เสี่ยวเหม่ยเขวี้ยงขว้างมีดบินกระทบมีดบินที่หลิวโยนใส่จิน นั่นจะทำให้เธอกลายเป็นผู้เสียสละเพียงคนเดียว
- แต่เหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นกลับคือ หลิวทำท่าเขวี้ยงแต่กลับไม่ขว้างออกไป ขณะที่เสี่ยวเหม่ยชักมีดบินโยนออกไป ปกป้องเพียงหยดเลือดที่สาดกระเด็นกระดอนมาถึง แล้วเธอก็หมดสิ้นลมหายใจ … นั่นเป็นสิ่งคาดไม่ถึงอย่างมากๆทีเดียว เพราะเป็นการสื่อว่าเธอพยายามปกป้องจิน (ชายคนรัก) โดยไม่ต้องการเข่นฆ่าหลิว (อดีตคนรัก)
หนังจบลงด้วยภาพหิมะตกหนัก สภาพอากาศหนาวเหน็บ จินโอบกอดเสี่ยวเหม่ย ส่วนหลิวเดินจากไป แต่โชคชะตาของทั้งสามผู้กำกับจางอี้โหมวอธิบายใน Commentary บอกเลยว่า ทั้งหมดต่างตกตาย ไม่มีใครรอดชีวิต นั่นสามารถสื่อถึงการต่อสู้ที่ไร้หนทางออกนี้ ผลลัพท์จึงมีเพียงหายนะ โศกนาฎกรรม
แซว: จางอี้โหมวเคยคิดอยากใส่การหักมุมตอนจบอีกครั้ง ว่าจินคือสายลับบ้านมีดบิน ส่งมาเพื่อวัดใจทั้งหลิวและเสี่ยวเหม่ย แต่ตัดสินใจทอดทิ้งประเด็นดังกล่าวเพราะมันคงสลับซับซ้อนเกินเยียวยา
ตัดต่อโดย Long Cheng อดีตนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า University of Shanghai for Science and Technology แล้วไปเรียนต่อภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา Temple University เคยคว้ารางวัล Music Video ยอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัย เดินทางกลับประเทศจีนกลายเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Time to Remember (1988), House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ
สองในสามของเรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองตัวละครจิน/วายุ ตั้งแต่ครุ่นคิดวางแผนร่วมกับเพื่อนมือปราบหลิว แรกพบเจอเสี่ยวเหม่ย ให้ความช่วยเหลือออกจากห้องคุมขัง ออกเดินทางหลบหนีการไล่ล่า พานผ่านป่าเบิร์ช ทุ่งดอกไม้ มาจนถึงป่าไผ่ ซึ่งหลังจากความจริงได้รับการเปิดเผย ก็จักสลับมุมมองมายังเสี่ยวเหม่ย เพื่ออธิบายเหตุผลทั้งหมด จนกระทั่งตัดสินใจเลือก
- ศาลาดอกโบตั๋น
- มือปราบหลิวเล่าแผนการเปิดโปงบ้านมีดบิน
- จินปลอมตัวเป็นวายุ เข้าไปก่อกวนศาลาดอกโบตั๋น เพื่อให้เพื่อนสนิทฉกฉวยโอกาสจับกุมตัวเป้าหมาย
- มือปราบหลิวเล่าแผนการต่อเนื่อง ให้วายุทำการช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยแล้วพาหลบหนี
- แมกไม้นานาพันธุ์
- ครั้งแรกคือแสร้งว่าถูกไล่ล่า คนของมือปราบหลิวเล่นละคอนตบตาเสี่ยวเหม่ย
- เสี่ยวเหม่ยอาบน้ำชำระร่างกาย แล้วได้รับการยั่วเย้า พรอดรักจากวายุ
- เมื่อมาถึงทุ่งดอกไม้ ครานี้ถูกไล่ล่าโดยกองกำลังของนายพล (ไม่ได้อยู่ในแผนการ) เป็นเหตุให้จินต้องเข่นฆ่าพวกเดียวกันเอง
- ชายหนุ่มเต็มไปด้วยความสับสน จึงปฏิเสธพรอดรักกับเสี่ยวเหม่ย เธอเลยต้องการร่ำลาจากเขา
- แต่หลังจากหญิงสาวถูกห้อมล้อมในป่าไผ่ วายุจึงเข้ามาปกป้อง ลากพาหลบหนี จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากบ้านมีดบิน
- สำนักบ้านมีดบิน
- ในตอนแรกจินได้รับการโน้มน้าวให้แต่งงานกับเสี่ยวเหม่ย แต่พอตอบตกลงก็ถูกจับมัด แล้วได้รับทราบข้อเท็จจริง
- มือปราบหลิวถูกลากตัวไปฆ่า แต่กลับได้รับการปล่อยตัว แล้วความจริงบางอย่างก็ปรากฎ
- หลิวพรอดรักกับเสี่ยวเหม่ย แต่เธอกลับปฏิเสธต่อต้าน แถมยังถูกขัดขวางโดยเจ้าสำนักมีดบิน
- เสี่ยวเหม่ยได้รับมอบหมายให้จัดการจิน แต่เธอกลับต้องการปล่อยตัวเขาให้รอดชีวิต
- การต่อสู้พานผ่านฤดูกาล
- จินพยายามโน้มน้าวให้เสี่ยวเหม่ยหลบหนีไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอกลับไม่พูดตอบใดๆจนเขาควบม้าจากไป
- หลังจากครุ่นคิดทบทวนได้สักพัก เสี่ยวเหม่ยตัดสินใจควบม้าติดตาม แต่ถูกขัดขวางโดยหลิว มีดบินทิ่มแทงหัวใจ
- หลังจากครุ่นคิดทบทวนได้สักพัก จินตัดสินใจหันหลังกลับมาพบเจอร่างของเสี่ยวเหม่ย และค้นพบความจริงเกี่ยวกับเพื่อนสนิทหลิว จึงเกิดการต่อสู้ที่ไม่มีใครยอมใคร
ช่วงระหว่างที่ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของจิน/วายุ ผมรู้สึกว่าลีลาตัดต่อทำออกมาได้น่าติดตาม มีความต่อเนื่องลื่นไหล กระทั่งเมื่อถึงการหักมุมครั้งแรก ความจริงเกี่ยวกับเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย ผู้ชมเริ่มบังเกิดความสับสน คาดไม่ถึง รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง แถมมันยังไม่จบลงแค่นั้น ตัวตนแท้จริงของมือปราบหลิวก็ถูกเฉลยออกมาติดๆกัน มันเหมือนอาการช็อคสองชั้น แม้ครั้งหลังจะไม่เกรี้ยวกราดรุนแรงสักเท่าไหร่ ก็ทำให้ความน่าติดตามของหนังลดน้อยลงอย่างมากๆ
เอาจริงๆการหักมุมมันก็มีแบบนุ่มนวล แข็งกระด้าง วิธีการของผู้กำกับจางอี้โหมวคือเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่าจี้แทงใจดำผู้ชมอย่างไม่ประณีประณอม ซึ่งเป็นการสร้างอคติให้ตัวละคร จากเคยตกหลุมรักก็พลันสูญสิ้นความเชื่อศรัทธา แถมยังต่อด้วยการเฉลยคนรักเก่า แล้วพวกเขาก็ถาโถมเข้าโอบกอดจูบ หมดกันเด็กเลี้ยงแกะ ใครไหนจะอยากเป็นกำลังใจให้อีกต่อไป
แต่มีครั้งหนึ่งที่ผมโคตรตกตะลึง แม้คนส่วนใหญ่อาจมึนตึง เข้าไม่ถึง ทำไมระหว่างการต่อสู้ของมือปราบหลิว vs. จิน จู่ๆแทรกภาพกองกำลังทหารเข้าโอบล้อมรอบสำนักบ้านมีดบิน แถมจบลงแค่นั้นด้วยนะ ไม่นำเสนอการปะทะ ต่อสู้ หรือผลลัพท์บังเกิดขึ้นแต่อย่างใด? คำอธิบายง่ายสุดก็คือแค่เป็นการเปรียบเทียบเหตุการณ์คู่ขนาน แต่เราสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย (หลิว=บ้านมีดบิน, จิน=ทหารรัฐถัง) ส่วนผลลัพท์ก็ตามที่วิเคราะห์ไปก่อนหน้า
เพลงประกอบโดย Shigeru Umebayashi (เกิดปี 1951) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kitakyushu, Fukuoka จากเคยเป็นหัวหน้าวงร็อค EX หลังจากยุบวงจึงหันมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Yumeji (1991), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Fearless (2006), Curse of the Golden Flower (2006), Hannibal Rising (2007), The Grandmaster (2013) ฯ
ขณะที่บทเพลงประกอบ Hero (2002) ของถันตุ้น มุ่งเน้นสร้างความยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อสื่อถึงการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มีความสูงส่งทรงคุณค่ากว่าสิ่งอื่นใด! House of Flying Daggers (2004) จะทำการบีบเค้นคั้นอารมณ์ ราวกับคมมีดกรีดแทงหัวใจ เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ฉันจะเสียสละเพื่อผู้อื่นไปใย ถ้าไม่สามารถเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องภายในของตนเอง
ผมขอเลือกเพลงโปรดมาให้รับฟังกันก่อนเลยแล้วกัน ชื่อว่า Lovers เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นเคย Main Theme จากภาพยนตร์ The Godfather (1972) แต่ก็แค่โน๊ตบางตัวเท่านั้นนะครับ ได้แรงบันดาลใจ ไม่ใช่คัทลอกเลียนแบบมา, ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความพริ้วไหว หัวใจสั่นสะท้าน ตั้งแต่พบเจอเธอฉันก็อ่อนเรี่ยวแรง อยากครอบครอง อยากอยู่เคียงคิดใกล้ ทั้งรู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมควร เพราะเป็นการทรยศหักหลัง(อดีต)คนรัก รวมทั้งองค์กรในสังกัด แต่ใครกันจักสามารถควบคุมความต้องการของหัวใจ
เกร็ด: ฉบับเข้าฉายในญี่ปุ่น หนังไม่ได้ใช้ชื่อ House of Flying Daggers แต่เรียกสั้นๆแค่ว่า LOVERS (ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด) ตามชื่อบทเพลงนี้เลยนะครับ
น้ำเสียงนุ่มๆ เนิบนาบ อย่างอ่อนน้อม อาจไม่ได้ทรงเสน่ห์ยั่วเย้ายวน แต่ก็ไม่ได้ร้องผิดคีย์ ระริกระรี้ หรือเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง หลงตนเองเหมือนกงลี่ (จากเรื่อง Shanghai Triad (1995)) สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมากๆกับบทเพลง Jiarenqu หรือ The Beauty Song นำคำร้องจากบทกวี ‘นางล่มเมือง’ มาเรียบเรียงท่วงทำนองขึ้นใหม่ โดยใช้ผีผาเป็นเครื่องดนตรีหลัก
แซว: ตอนได้ยินจางจื่ออี๋ขับร้องบทเพลงนี้ ไม่รู้ทำไมผมนึกถึง Andrey Hepburn ตอนขับร้อง Moon River อาจเพราะทั้งคู่ต่างเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ขับร้องเหมือนนกน้อยส่งเสียงจิบๆ เล็กแหลม แต่ไพเราะจับใจ
สำหรับ Echo Game ที่มีแต่เพียงเสียงรัวกลอง ถ้าหลับตาฟังอาจครุ่นคิดว่าเป็นฉากต่อสู้ รบทัพจับศึก ข้าศึกกำลังบุกเข้ามาโจมตี แต่ที่ไหนได้ฉากนี้กลับเป็นการเล่นเกม เริงระบำ หลับตาทายกลองสี่สิบใบ (ไม่แน่ใจลักษณนามนะครับ) เมล็ดถั่วถูกเขี้ยวขว้างโดนกลองใบไหนบ้าง
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ผู้กำกับจางอี้โหมววิวัฒนาการฉากเต้นระบำ ให้กลายเป็นการแสดงวิทยายุทธ ซึ่งล้อกับ Hero (2002) ที่ใช้การคัดอักษรจีน (Calligraphy) สามารถเทียบเท่าการร่ายรำเพลงกระบี่ เมื่อสามารถเข้าถึงจุดสูงสุด ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน
Battle in the Forest เมื่อเสียงรัวกลอง (สัญลักษณ์ของการย่ำเท้า ควบม้า ออกไล่ล่า) ดังขึ้นคลอประกอบพื้นหลัง (สื่อถึงการติดตามที่ไม่ยอมลดละ) เป็นการสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงให้ผู้ชมและเสี่ยวเหม่ย เมื่อตระหนักว่าศัตรูกำลังใกล้เข้ามา เสี่ยวเหมยเลยตัดสินใจออกวิ่ง หาหนทางหลบหนี ลุ้นระทึกว่าเมื่อไหร่วายุจะหวนกลับมา นาทีแห่งความเป็นตาย รอดหรือไม่รอด? ทันท่วงทีหรือไม่? ทำเอาหัวใจบีบเต้นแรงจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้!
ผมอดไม่ได้ที่นำบทเพลง Flower Garden ท่วงทำนองเดียวกับ Lovers แต่เปลี่ยนเครื่องดนตรีหลักเป็นซอเอ้อหู สามารถมอบสัมผัสแตกต่างออกไป ซึ่งสะท้อนพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างวายุ/จิน กับเสี่ยวเหม่ย โดยไม่รู้ตัวค่อยๆมีความสนิทสนม แนบชิดใกล้ขึ้นตามลำดับ
แซว: เพลงนี้ดังขึ้นระหว่างวายุ/จิน ทำการควบขี่ม้าโน้มตัวลงไปเด็ดดอกไม้ … เดินเก็บก็ได้เน้อ จะโชว์เว่อไปถึงไหน
No Way Out เป็นบทเพลงที่ล้อกับ Battle in the Forest ก่อนหน้านี้เพียงแค่แสร้งว่าไล่ล่า vs. แต่มาขณะนี้ต้องต่อสู้เข่นฆ่ากันจริงๆ เพราะการมาถึงของเจ้าหน้าที่ระดับสูง คาดไม่ถึงว่าสถานการณ์มันจะเลยเกินเลยเถิดได้ถึงขนาดนี้
เสียงกลองที่เคยตีรัวตามจังหวะรุกไล่ล่า กลับกลายมาเป็นเชื่องช้า แต่หนักแน่น มั่นคง แสดงถึงความเข้มแข็งแกร่ง ไม่ง่ายจะเผชิญหน้าต่อสู้ ทั้งยังความขัดแย้งภายในของวายุ/จิน สองจิตสองใจจะเข่นฆ่าพรรคพวกเดียวกันเองไหม แต่พอตัดสินใจอย่างแน่วแน่หลังหันไปมองเสี่ยวเหม่ย ท่วงทำนองออร์เคสตรา Jiarenqu (The Beauty Song) ดังขึ้นอย่างกึกก้องสั่นสะท้าน เพราะเธอผู้นี้คือ ‘นางล่มเมือง’ ทำให้เขายินยอมพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ … นั่นทำให้จินสูญเสียความเป็นตัวของตนเองไปสักพักใหญ่ๆเลยละ
ขณะที่บทเพลง Through The Bamboo Forest ของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) มีความเนิบนาบ ลุ่มลึก บรรเลงด้วยโทนเสียงทุ้มต่ำ เป็นการสื่อถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด เข้าถึงสัจธรรมชีวิต
Bamboo Forest ของ House of Flying Daggers (2004) ใช้เสียงร้องคอรัสแทนความโหยหวน และ Sound Effect ก็ยิ่งช่วงสร้างบรรยากาศหมดสิ้นหวัง หลังจากเสี่ยวเหม่ยถูกศัตรูห้อมล้อมทุกทิศทาง สถานการณ์เรียกว่ามืดแปดด้าน แม้ได้รับความช่วยเหลือจากวายุ แต่ก็แค่ยื้อยักได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง … ถึงอย่างนั้นถ้าทั้งสองต้องตกตายจากไป พวกเขาก็คงไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง เพราะต่างมีเขา-เธออยู่เคียงข้างกาย
แม้เป็นบทเพลงบรรเลงในป่าไผ่เหมือนกัน แต่นัยยะความหมายคนละเรื่อง! หนึ่งมีความลุ่มลึกแฝงปรัชญาการใช้ชีวิต ไปให้ถึงจุดสูงสุด, สองสนเพียงห้วงอารมณ์ พยายามต่อสู้ดิ้นรน แม้มีเพียงความสิ้นหวังภายในจิตวิญญาณ
Ambushed From Ten Directions แปลไทยจะแค่มืดแปดด้าน แต่คงเหมือนผู้ชนะสิบทิศ ที่นอกจาก 8 ทิศหลัง ยังรวมบน-ล่าง สรวงสวรรค์-เทวโลกเข้าไปด้วย! ใช้เครื่องดนตรีผีผา ค่อยๆดีดรัวเร่งจังหวะ (เหมือนเสียงเคาะระฆังเพล) จากนั้นสร้างความรู้สึกเหมือนไม่ว่าจะหันมองไปทิศทางไหน ก็ไม่สามารถดิ้นรนหลบหนี หาหนทางเอาตัวรอดไปจากสถานที่แห่งนี้
บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะความจริงเกี่ยวกับเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย เดินเข้ามาเสิร์ฟน้ำชา ซึ่งจังหวะดีดรัวผีผา จะมีความสอดคล้องกับปฏิกิริยาอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึงของวายุ/จิน นี่ฉันไม่ได้ฝาดไปใช่ไหม เธอมองเห็นทุกสิ่งอย่างหรือนี่ นั่นไม่ใช่แค่สร้างความมืดแปดด้านให้กับตัวละคร ผู้ชมเองก็เฉกเช่นเดียวกัน ใครจะไปคาดคิดถึง!
Charactor’s Song ของมือปราบหลิว เพราะเต็มไปด้วยเชื่อมั่นต่อเสี่ยวเหมย แม้ต้องเหินห่างยาวนานถึงสามปี ก็ยังคงความรู้สึกจงรัก ภักดี เพ้อใฝ่ฝันถึงวันเวลาที่จักได้ครองคู่อยู่เคียงข้างกัน … นี่เป็นบทเพลงนำเสนอความอดกลั้นที่สวยงามของหลิว ได้อย่างเนิบนาบ มั่นคง ไม่มีอะไรสามารถทำให้เขาผันแปรเปลี่ยนใจ
แต่สำหรับเสี่ยวเหม่ย เสียงเป่าขลุ่ยจีนของบทเพลงนี้มอบความรู้สึกโล้เล้ลัง ไม่แน่ใจในตนเอง นั่นเพราะการมาถึงของวายุ/จิน ทุกการกระทำของเขาล้วนทำให้หัวใจสั่นไหว จนเริ่มไม่สามารถควบคุมตนเอง มิอาจยืนหยัดมั่นคงต่อ(อดีต)คนรักหลิวได้อีกต่อไป
ไคลน์แม็กซ์ของหนังชื่อเพลง Until the End ประสานเสียงคอรัส มอบสัมผัสแห่งการต่อสู้ที่เยิ่นยาวนาน จากฤดูกาลหนึ่งผันแปรเปลี่ยนไปยังอีกฤดูกาลหนึ่ง เพียงเพื่ออิสตรีคนรัก สองบุรุษถึงกับละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สนอะไรใครอื่น องค์กรในสังกัด หรือต่อให้ประเทศชาติล่มสลาย ขอแค่ได้กำจัดศัตรูหัวใจ แล้วครองคู่อยู่กับเธอตราบชั่วนิจนิรันดร์
ทิ้งท้ายกับบทเพลงคำร้อง Lovers ขับร้องโดย Kathleen Battle (เกิดปี 1948) นักร้องเสียงโซปราโน สัญชาติอเมริกัน (ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษนะครับ) สร้างความสั่นสะท้านทรวงใน หัวใจเต้นระริกรัว โดยเฉพาะขณะไล่ระดับเสียงขึ้นสูง “Your voice still echoes in my heart” มีความกึกก้องกังวาล จิตวิญญาณล่องลอยถึงสรวงสวรรค์
There was a field in my old town
Where we always played hand in hand
The wind was gently touching the grass
We were so young, so fearlessThen I dreamt over and over
Of you holding me tightly under the stars
I made a promise to my dear lord
I will love you foreverTime has passed
So much has changed
But the fear remains in my heart
Oh, where are you?
I need to tell you I still love you
So I reach out for you
You fly around me like a butterflyYour voice still echoes in my heart
You are my true loveThere was a field in my old town
Where in Spring all flowers blossomed wide
We were chasing butterflies
Hand in hand ’till close of day
Your voice still echoes in my heart
แซว: ในบรรดาเพลงขับร้องประกอบภาพยนตร์ Wuxia ทั้งสามเรื่อง A Love Before Time และ Hero ล้วนเทียบไม่ติดกับ Lovers เพราะเสียงร้องของ Kathleen Battle นำพาอารมณ์ผู้ชมล่องลอยขึ้นถึงสรวงสวรรค์
พื้นหลังของ House of Flying Daggers (2004) นำเสนอเรื่องราวกลุ่มกบฏบ้านมีดบิน ที่ต้องการกำจัดขุนนางกังฉิน (แปลว่า คดโกง, ไม่ซื่อตรง, ไม่ซื่อสัตย์) ดูแล้วน่าจะวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์ด้วยเลยกระมัง แน่นอนว่าทางการย่อมไม่ยินยอมเพิกเฉย พยายามหาทางกำจัดศัตรูให้หมดสิ้นซาก กลายเป็นสงครามขัดแย้งภายในที่มีลักษณะ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ จนกว่าอีกฝั่งฝ่ายตกตายสูญสิ้น ก็จักไม่มีวันยุติเลิกรา
เปรียบเทียบเรื่องราวระหว่างมือปราบหลิว และมือปราบจิน ฝ่ายหนึ่งสามารถมองว่ามีพฤติกรรมกังฉัน (เพราะเป็นสายลับจากบ้านมีดบิน) คิดคดทรยศหักหลังพวกพ้อง แต่ทั้งสองต่างตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน ช่วงท้ายเลยเกิดการต่อสู้แก่งแย่งชิง ทอดทิ้งภาระหน้าที่ เลิกเสียสละเพื่อประเทศชาติ หลงเหลือเพียงความต้องการเข่นฆ่าอีกฝั่งฝ่าย เมื่อตกตายไปจักได้อยู่เคียงข้างเธอแต่เพียงผู้เดียว
- มือปราบหลิว คือสายลับจากบ้านมีดบิน อดีตเคยครองรักกับเสี่ยวเหม่ย แต่หลังจากพลัดพรากเพราะภารกิจเสียสละเพื่อชาตินานหลายปี กลับพบว่าเธอมีใจให้ชายอื่น … ไม่ต้องการให้ชายโฉดหญิงชู้ไปครองคู่สุขเกษมสันต์ เลยเข่นฆ่าอดีตคนรักให้ตกตายด้วยเงื้อมมือตนเอง แล้วระบายความอัดอั้นต่อสู้กับเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
- ยินยอมเสียสละเพื่อชาติ แต่กลับถูกหญิงคนรักทรยศหักหลัง
- มือปราบจิน คือเจ้าพนักงานของรัฐ ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์เพื่อปฏิบัติภารกิจลวงล่อหลอก เกี้ยวพาราสีเสี่ยวเหม่ย โดยไม่รู้ตัวมิอาจหักห้ามใจ จนในที่สุดตกหลุมรักใคร่ เลยถูกไล่ล่าโดยพรรคพวกเดียวกันเอง เลยตัดสินใจจะทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ … เมื่อตระหนักถึงตัวตน พบเห็นการกระทำของมือปราบหลิว มิอาจอดกลั้นความโกรธเกลียด ต้องการเข่นฆ่าล้างแค้นอีกฝั่งฝ่าย (ที่เข่นฆาตกรรมเสี่ยวเหม่ย)
- ยินยอมเสียสละเพื่อหญิงคนรัก แต่กลับถูกประเทศชาติทรยศหักหลัง
แซว: ทั้งสามตัวละครหลักหลิว, จิน และเสี่ยวเหม่ย ต่างมีทั้งตัวจริงตัวปลอม เล่นละคอนตบตา แสร้งว่าเป็นบุคคลอื่น ลวงล่อหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจ
ขณะที่ Hero (2002) กระทำการ ‘ชวนเชื่อ’ ว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มีความยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใดใต้หล้า, House of Flying Daggers (2004) กลับบอกว่านั่นอาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสียทีเดียว เพราะทั้งสองตัวละครหลักต่างกระทำการเสียสละตนเองเพื่อบางสิ่งอย่าง แต่ผลลัพท์กลับถูกคิดคดทรยศหักหลัง มันจึงไม่หลงเหลือคุณค่าใดๆให้ยึดถือมั่น พวกเขาจึงสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนบุคคล ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร
ผมมีความสองจิตสองใจ ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าผู้กำกับจางอี้โหมวต้องการเปรียบเทียบถึงการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น (จีนแผ่นดินใหญ่ vs. ไต้หวัน) หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล vs. ประชาชน (เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ของเสี่ยวเหม่ย = ผืนแผ่นดินจีน) แต่นั่นก็ยังหาใช่เนื้อหาสาระสำคัญของหนังนะครับ
การต่อสู้ระหว่างหลิว vs. จิน ช่างเยิ่นยาวนานจนฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน ต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ คราบเลือดสาดกระเซ็นเต็มพื้นหิมะ ไม่มีใครยินยอมใคร จนท้ายที่สุดเมื่อทั้งสองฝ่ายพบเห็นการเสียสละของเสี่ยวเหม่ย จึงต่างเลิกราฆ่าฟัน ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ หลงเหลือเพียงหายนะ ความสิ้นหวัง โศกนาฎกรรม (และผู้กำกับจางอี้โหมวให้คำตอบว่า ทุกคนตายหมดเกลี้ยงหลังจากนั้น)
ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น พานผ่านมาหลายทศวรรษจนคนรุ่นนั้นตกตายแทบหมดสิ้น แล้วมันยังมีประโยชน์อะไรที่จะดื้อรั้นขัดขืน ต่อต้านการรวมประเทศเป็นหนึ่ง จะปล่อยให้การต่อสู้ เลือดนองแผ่นดินไปอีกนานแค่ไหน (นี่ในมุมมองผู้กำกับจางอี้โหมว/ชาวจีนแผ่นใหญ่นะครับ เพราะถ้าจากมุมคนนอกอย่างเราๆ ส่วนใหญ่คงสนับสนุนพันธมิตรชาไข่มุก อ้างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย)
เช่นเดียวกับความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาล vs. ประชาชน เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1989 คือสิ่งไม่สมควรบังเกิดขึ้น เพราะมันมิได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อฝั่งฝ่ายไหน มีแต่การจะสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต-ทรัพย์สิน ความขัดแย้งไม่รู้จักจบสิ้น (ผู้กำกับจางอี้โหมวเคยไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชน แต่กาลเวลาก็ทำให้เขาปรับเปลี่ยนมุมมอง มันไม่ควรมีการชุมนุมประท้วงมาตั้งแต่แรกแล้ว!)
สรุปแล้วความตั้งใจของผู้กำกับจางอี้โหมว ดูเป็นการมองหาสันติสุข ต่อต้านความรุนแรง (Anti-Violence) เมื่อบังเกิดความคิดเห็นแตกต่าง ทำไมถึงไม่ประณีประณอม ยินยอมรับฟังเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย ถ้าเราสามารถเปิดใจ เผื่อแผ่ความรักให้กัน ปมขัดแย้ง ความรุนแรง การชุมนุมประท้วง สงครามก็คงไม่บังเกิดขึ้น!
“Andy Lau once asked me if his character is a good or an evil one. But in the end it does not matter if the character is evil or good. What’s expressed is the humanity of the character. The point of the film is that the characters are all human beings simply in love.
ผู้กำกับจางอี้โหมว กล่าวถึงตอนจบของหนัง
ชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 ยังสามารถสื่อถึงสองบุรุษหนุ่มท่ามกลางสมรภูมิแห่งรัก บังเกิดความขัดแย้งที่ไร้ซึ่งหนทางออก ต้องตัดสินด้วยการเผชิญหน้าต่อสู้ จนกว่าจะมีใครผู้หนึ่งสูญสิ้นลมหายใจ (สำนวนนี้ไม่จำเป็นต้องถูกห้อมล้อมสิบทิศโดยบุคคลเท่านั้นนะครับ สามารถสื่อความเชิงนามธรรมถึงการไร้หนทางแก้ปัญหาก็ได้เช่นกัน) นั่นคือบทเรียนสำหรับเสี้ยมสอนผู้ชม ทำอย่างไรไม่ให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น?
หนังเข้าฉายนอกสายการประกวด (Out of Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือ (Standing Ovation) นานถึง 20 นาที น่าจะเป็นสถิติยาวที่สุดจนกระทั่ง Pan’s Labyrinth (2006) ทำได้ 22 นาที!
ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ (ลดลงจาก Hero (2002) กว่าเท่าตัว) รายรับในจีนแผ่นดินใหญ่ 153 ล้านหยวน (สูงอันดับสองของปีรองจาก Kung Fu Hustle (2004)), ส่วนสหรัฐอเมริกาทำเงิน $11 ล้านเหรียญ, รวมทั้งหมดทั่วโลก $92.8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว
แม้หนังได้เป็นตัวแทนประเทศจีน ลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่กลับหลุดโผไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ (เป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังจะได้เข้าชิง แต่ไม่ใช่ตัวเต็งคว้ารางวัล) ถึงอย่างนั้นกลับสร้างความประหลาดใจ ด้วยการเข้าชิงสาขาถ่ายภาพ
- เข้าชิง Academy Award: Best Cinematography พ่ายให้ The Aviator (2004)
- เข้าชิง Golden Globe Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้ The Sea Inside (2004)
- เข้าชิง Critic’s Choice Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้ The Sea Inside (2004)
- BAFTA Award ได้เข้าชิงถึง 9 สาขา (ไม่ได้สักรางวัล)
- Best Film not in the English Language
- Best Actress (จางจื่ออี๋)
- Best Cinematography
- Best Editing
- Best Production Design
- Best Costume Design
- Best Make Up/Hair
- Best Sound
- Best Special Visual Effects
ยอดขาย CD/DVD Blu-Ray ของหนังเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา เห็นว่าได้รับความนิยมระดับถล่มทลาย! ไม่มีรายงานตัวเลขแต่ประเมินกันว่าอาจมากกว่ารายรับตอนฉายโรงภาพยนตร์ถึง 50% เช่นเดียวกับยอดผู้ชมทางโทรทัศน์ Channel 4 ของประเทศอังกฤษ มีรายงานตัวเลขเมื่อปี 2007 สูงถึง 1.7 ล้านคน! แบบนี้เรียกกระแสคัลท์ได้เลยกระมัง!
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ (ท่าทางจะคิวยาว) เท่าที่ผมสังเกตจาก dvdbeaver.com พบเห็นปัญหาแบบเดียวกับ Hero (2002) คือแต่ละค่าย DVD/Blu-Ray มีการปรับโทนสี และคุณภาพการสแกนที่แตกต่างออกไป ตาดีได้ตาร้ายเสีย ‘เลือกหนังผิดแผ่นชีวิตเปลี่ยน’
ผมไม่ได้รับชม House of Flying Daggers มาเกินกว่าสิบปีแล้วกระมัง จดจำได้ว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แค่ภาพสวยเพลงเพราะ ตราตรึงฉากต่อสู้ในป่าไผ่ … มีโอกาสดูหนังครั้งนี้เหมือนจะชื่นชอบขึ้นพอสมควร เพราะสามารถทำความเข้าใจเรื่องราว (แต่ก็ตระหนักถึงความไม่สมเหตุสมผลหลายๆอย่าง) ซึมซับบรรยากาศ สังเกตเห็นความสวยสดงดงามของธรรมชาติ แมกไม้นานาพันธุ์ ต้องชมลีลาถ่ายภาพของจ้าวเสี่ยวติ้ง น่าประทับใจจริงๆ
จุดบกพร่องของหนังก็มีค่อนข้างเยอะ เรื่องราวที่ดูสะเปะสะปะ ขาดที่มาที่ไป หลายๆฉากไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ นำพาให้ผู้ชมบังเกิดอคติต่อตัวละคร (นักแสดงทั้งหมดเล่นได้สมบทบาทอยู่นะ) โดยเฉพาะเสี่ยวเหม่ย (ของจางจื่ออี๋) เมื่อเปิดเผยตัวตนแท้จริง อารมณ์ร่วมกับผู้ชมก็หมดสูญสิ้นไป บางคนคงขนาดสาปแช่งให้ตกตาย เช่นนั้นแล้วเธอจะเป็น ‘นางล่มเมือง’ ได้อย่างไร?
แนะนำคอหนังโรแมนติก รักสามเส้า โดยมีพื้นหลังคือการต่อสู้ กำลังภายใน (Wuxia), สนใจประวัติศาสตร์จีนโบราณ ศึกษาท่าเต้นพื้นบ้านยุคสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907), ตากล้อง ช่างภาพ หลงใหลในการถ่ายภาพ ทิวทัศน์สวยๆ แมกไม้นานาสายพันธุ์, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงนำหลิวเต๋อหัว, ทาเคชิ คาเนชิโร่ และจางจื่ออี๋ ลองหามาชมดูนะครับ!
จัดเรต 13+ จากการทรยศหักหลัง โศกนาฎกรรมความรัก
Leave a Reply