How Green Was My Valley

How Green Was My Valley (1941) hollywood : John Ford ♥♥♥♥

ความคับข้องครหาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้า Citizen Kane (1941) ทำให้ผู้ชมสมัยนี้มองข้ามไม่สนใจใยดี ทั้งๆที่คือโคตรหนังดราม่าน้ำดีเรื่องหนึ่ง ในหมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่ ครั้งหนึ่งเคยเขียวขจีสดใส แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปกับอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน ควันดำที่พวยพุ่งออกมาได้ปกปิดคลุมทุกสิ่งอย่าง แถมยังลุกลามเข้าไปถึงภายในจิตใจของคน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เกร็ด: ในบรรดาผลงานของตนเอง ผู้กำกับ John Ford ยกให้ How Green Was My Valley คือเรื่องโปรดชื่นชอบที่สุด

ค่อนข้างน่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ ทำให้ผู้ชมพลาดโอกาสที่จะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเขียวชอุ่ม แปรสภาพกลายเป็น เทาดำมืดหม่นเพราะมลภาวะจากเหมืองถ่านหิน ซึ่งในความตั้งใจแรกของผู้สร้าง Darryl F. Zanuck โปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ Fox มอบหมายให้ผู้กำกับ William Wyler ตั้งใจใช้ภาพสี Technicolor ออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ถ่ายทำยังประเทศอังกฤษ แต่กลับติดปัญหาเพราะขณะนั้นยุโรปกำลังพัวพันอันตรายกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนสร้างฉากถ่ายทำในอเมริกา สร้างความไม่พอใจให้ Wyler ถอนตัวออก กลายมาเป็นผู้กำกับ John Ford เข้ามาคุมบังเหียน แต่แสงสีและดอกไม้ที่นำมาประกอบฉาก กลับแตกต่างจากประเทศอังกฤษโดยสิ้นเชิง เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ปล่อยให้เป็นจินตนาการของผู้ชมเห็นภาพความงดงามของธรรมชาติเอาเอง

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยกระมัง ที่ทำให้ผู้ชมสมัยนี้มองข้าม How Green Was My Valley ไปโดยสิ้นเชิง เพราะหนังพูดถึงสีเขียวสดใส แต่ทั้งเรื่องกลับเป็นภาพขาว-ดำ แล้วมันเขียวยังไง?? ผมเองก็จินตนาการไม่ออกเช่นกัน

แต่ความคลาสสิกของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ จากครั้งหนึ่งเคยมีมิตรไมตรีน้ำใจงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่างมีความเขียวมรกตเป็นประกาย แต่เมื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้าง กระซิบกระซาบที่ถึงมีมูลแต่ไร้ความจริง แพร่กระจายไปทั่วราวกับสายลม จิตใจของพวกเขาค่อยๆเปลี่ยนแปรสภาพ ปกคลุมด้วยความมืดหมองหม่นดำมณีนิล อัปลักษณ์น่ารังเกียจจนแทบรับไม่ได้ นี่เป็นสิ่งอันตรายชั่วร้ายยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติเสียอีกนะ

Citizen Kane (1941) โคตรหนังของอัจฉริยะผู้กำกับ Orson Welles ว่าไปก็เป็นภาพยนตร์ที่คล้ายๆกับ How Green Was My Valley เล่าเรื่องผ่านการย้อนอดีต Flashback แถมตีแผ่ด้านมืดในจิตมนุษย์เหมือนกันอีก แตกต่างที่เรื่องหนึ่งใช้สัมผัสของการหวนระลึกโหยหา (Nostalgia) อีกเรื่องท้าทายด้วยภาษาและเทคนิค, ถ้าคุณคุ้นเคยกับการประกาศผลรางวัล Oscar เป็นอย่างดี น่าจะรับรู้ได้แล้วว่าคณะกรรมการ Academy เลือกภาพยนตร์ชนะรางวัล Best Picture จากความชื่นชอบ ตราตรึง ประทับใจ (แฝงประเด็นการเมือง) นานๆครั้งถึงค่อยสนใจความอลังการ แปลกใหม่ ด้านเทคนิค ดังนั้น Citizen Kane ที่ถึงจะแตกต่างใหม่เอี่ยมมาจากไหน มีหรือจะเทียบ How Green Was My Valley เรื่องความสวยงาม อิ่มเอิบสุขใจกว่าได้

กาลเวลาได้ทำให้บรรดานักเรียนภาพยนตร์ นักวิจารณ์ ผู้ชมที่เริ่มดูหนังเป็น หงุดหงิดหัวเสียไม่พึงพอใจกับผลลัพท์นี้โดยสิ้นเชิง ทำไมคนสมัยนั้นถึงมืดบอด โง่เง่าเต่า ไม่เห็นคุณค่าความยิ่งใหญ่ ทรงอิทธิพลของ Citizen Kane ที่ได้กลายเป็นอมตะเหนือตำนานไปแล้ว ส่วน How Green Was My Valley ปัจจุบันแทบไม่เห็นมีใครพูดเอ่ยกล่าวถึง

ความชื่นชอบเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว ผมเองบอกเลยว่าไม่ได้ชื่นชอบ Citizen Kane เสียเท่าไหร่ เคยเปรียบเทียบเหมือนหนังสือตำราเรียน อ่านรับชมได้ประดับความรู้ แต่ก็มิได้หลงใหลคลั่งไคล้เทิดทูลว่ายิ่งใหญ่ที่สุด คือถ้าผมเป็นคณะกรรมการ Academy ในปีนั้น ก็คงจะเลือก How Green Was My Valley ที่สร้างความประทับใจ อิ่มเอิบ สุขล้นมากกว่าแน่ๆ

How Green Was My Valley ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ปี 1939 แต่งโดย Richard Llewellyn (1906 – 1983) นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hendon, Middlesex ในครอบครัวเชื้อสาย Welsh เป็นคนชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัยไปเรื่อยๆ เช่าห้องเขียนหนังสือ นิยาย เงินไม่มีก็เป็นคนงานเหมือนถ่านหิน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยศกัปตันประจำ Welsh Guard หลังสงครามกลายเป็นนักข่าว เคยเขียนบทภาพยนตร์ให้สตูดิโอ MGM

นิยายของ Llewellyn มักมีพื้นหลัง Welsh-Theme โด่งดังสุดก็ How Green Was My Valley (1939) ที่เจ้าตัวอ้างว่าเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติของตนเอง แต่จริงๆแล้วเหมือนจะไม่ใช่ มีการสืบค้นจนพบว่าช่วงวัยเด็กของเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวในประเทศอังกฤษ ซึ่งเรื่องราวนี้คงเป็นจากเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตช่วงหนึ่ง ที่เคยทำงานเหมืองที่ Gilfach Goch

เกร็ด: Gilfach Goch (แปลว่า Red Nook) เป็นอดีตเหมืองถ่านหิน ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้าน Borough of Rhondda Cynon Taf, ทางตอนใต้ของประเทศ Wales ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ประมาณ 1860s สายถ่ายหินหมดทศวรรษถัดมาปี 1960, นำภาพอดีตการทำเหมืองที่เมืองแห่งนี้มาให้รับชม

ดูจากลักษณะการสร้างบ้าน หนังค่อนข้างรับแรงบันดาลใจมาพอสมควร

นิยายใช้การเล่าเรื่องผ่านตัวละคร Huw Morgan ซึ่งจะมีภาคต่ออีก 3 เล่ม แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเหมืองถ่านหินนี้อีกแล้ว
– Up Into the Singing Mountain (1960) – Huw ออกเดินทางผจญภัยสู่ประเทศอาณานิคมของ Wales ที่ Patagonia, Argentina
– Down Where the Moon is Small (1966) – ช่วงชีวิตของ Huw ที่อาศัยอยู่ในประเทศ Argentina
– Green, Green My Valley Now (1975) – เรื่องราว Huw ขณะเดินทางกลับประเทศ Wales

John Ford ชื่อเดิม John Martin ‘Jack’ Feeney (1894 – 1973) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cape Elizabeth, Maine มีความสนใจด้านภาพยนตร์ตามรอบพี่ชาย Francis Ford สู่ Hollywood เริ่มต้นจากเป็น Stuntman, นักแสดงสมทบ แล้ว Universal จับเซ็นสัญญาให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก The Tornado (1917) [สูญหายไปแล้ว] ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ The Iron Horse (1924), Three Bad Men (1926) มีผลงานหนังพูดเรื่องแรก Mother Machree (1928), ถือสถิติคว้า Oscar: Best Director ถึง 4 จาก 5 ครั้งที่ได้เข้าชิง ประกอบด้วย The Informer (1935), Stagecoach (1939) ** เรื่องเดียวที่ไม่ได้รางวัล, The Grapes of Wrath (1940), How Green Was My Valley (1941), The Quiet Man (1952)

ในรอบสามปีนี้ (1939-1941) ของผู้กำกับ Ford น่าจะเรียกได้ว่าจุดสูงสุดของชีวิต เริ่มจากความสำเร็จของ Stagecoach (1939), Young Mr. Lincoln (1939), ปีถัดมาคว้า Oscar: Best Director ครั้งที่สองจาก The Grapes of Wrath (1940), ขณะที่ The Long Voyage Home (1940) ปฏิวัติวงการด้วยเทคนิค Deep-Focus, จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ควบรางวัล Oscar ทั้ง Best Picture และ Best Director

โปรดิวเซอร์ Zanuck ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายเล่มนี้ราคาสูงถึง $300,000 เหรียญ มอบหมายให้ Philip Dunne (1908 – 1992) นักเขียนบทสัญชาติอเมริกา ขาประจำของสตูดิโอ Fox เคยเป็นผู้นำ Screen Writer Guild (SWG) และหนึ่งในแกนนำร่วมก่อตั้งกลุ่มต่อต้านพรรค Communist รวบรวมชื่อผู้เข้าร่วมจัดให้เป็น Hollywood Blacklist ช่วงทศวรรษ 40s – 50s, ผลงานเด่นๆ อาทิ How Green Was My Valley (1941), The Ghost and Mrs. Muir (1947), The Robe (1953), The Agony and the Ecstasy (1965) ฯ

พื้นหลังที่หมู่บ้านเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่ง ทางตอนใต้ของ Wales ในทศวรรษการปกครองของ Queen Victoria (1837 – 1901), เรื่องราวของครอบครัว Morgans เล่าผ่านสายตาของลูกชายคนเล็ก Huw Morgan ในวันที่กำลังจะออกเดินทางออกจากหมู่บ้านแห่งนี้ที่ไม่หลงเหลืออะไรแล้ว ย้อนหวนระลึกถึงอดีตเมื่อครั้นวัยเด็ก

Donald Crisp ชื่อเดิม George William Crisp (1882 – 1974) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bow, London เรียนจบจาก University of Oxford สมัครเป็นทหาร Tropper ในสงคราม Boer War เดินทางขึ้นเรือ SS Carmania ถึงอเมริกาปี 1906 ด้วยเสียงร้อง Opera Impresario อันโดดเด่น ได้งานใน Grand Opera, New York รู้จักร่วมงานเป็นผู้จัดการให้กับ George M. Cohan, เข้าสู่ Hollywood โดยการชักชวนของ D. W. Griffith ผลงานดังคือ The Birth of a Nation (1915), Broken Blossoms (1919) ฯ ช่วงทศวรรษนั้นกำกับหนังเงียบด้วย อาทิ The Navigator (1924) นำแสดงโดย Buster Keaton, Doc Q, Son of Zorro (1925) นำแสดงโดย Douglas Fairbanks, ในยุคหนังพูดหวนกลับมาเป็นนักแสดงอีกครั้ง แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้มักได้รับบทสมทบ อาทิ Mutiny of the Bounty (1935), Wuthering Heights (1939), คว้า Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง How Green Was My Valley (1971) ฯ

รับบท Gwilym Morgan พ่อของ Huw เป็นคนหัวโบราณที่ยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติดั้งเดิม ค่อนข้างเผด็จการเอาแต่ใจ ดื้อรั้นหัวแข็ง พยายามเสี้ยมสอนลูกๆให้ยึดถือมั่นในกฎระเบียบของสังคม และสนใจเฉพาะสุขทุกข์ปากท้องของตนเองเป็นพอ

จริงๆผมก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ ทำไมบทพ่อที่แสนจะโดดเด่นกลับเป็นเพียงตัวประกอบ (แล้วให้คู่หนุ่มสาว Walter Pidgeon กับ Maureen O’Hara เป็นพระนาง) ภาพลักษณ์ของ Crisp ขณะสูงวัยมีความน่าเกรงขามไม่น้อย เมื่อต้องรับบทพ่อผู้มีจริงจังกับชีวิต ก็แสดงออกมาได้อย่างเข้มข้นทรงพลัง พยายามใช้ใบหน้า ความไม่สนใจ ปกปิดความรู้สึกแท้จริงที่แอบซ่อนอยู่ภายใน แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะรับสัมผัสอารมณ์ของตัวละครได้อยู่แล้ว

Sara Allgood (1879 – 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติ Irish พี่สาวของนักแสดง Maire O’Neill เกิดที่ Dublin, ประเทศ Ireland โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Abbey Theatre ตามด้วย Irish National Theatre Society เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการเล่นหนังของ Alfred Hitchcock ในยุคแรกๆเรื่อง Blackmail (1929), Sabotage (1936) ฯ ทำให้มีโอกาสรับงานที่ Hollywood อาทิ How Green Was My Valley (1941), Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1941), Jane Eyre (1943) ฯ

รับบท Beth Morgan แม่ผู้อุทิศตน ทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่างให้กับครอบครัว สามี และลูกๆทั้งหลาย แม้เป็นคนไร้การศึกษา ชอบพูดจาเรื่อยเปื่อย อารมณ์ขึ้นๆลงๆ แต่ใครๆคงสามารถสัมผัสรับเข้าใจความรักของแม่ ส่งถึงกันได้อยู่แล้ว

ผมชอบการพูดซ้ำๆของตัวละครนี้เสียเหลือเกิน (เหมือนแม่ที่บ้านอย่างยิ่ง) ฟังดูเหมือนเป็นการประชดประชัน แต่ก็ไม่ได้มีความเข้าใจหรอก มองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจมากกว่า ถือว่านี่คือการแสดงความรักอย่างหนึ่งของแม่กระมัง

น่าเสียดายทีเดียวที่ Allgood ได้แค่เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress พ่ายให้กับ Mary Astor จากเรื่อง The Great Lie (1941) ไม่เคยรับชมเลยบอกไม่ได้ว่าสมควรหรือเปล่า

Walter Davis Pidgeon (1897 – 1984) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Saint John, New Brunswick, โตขึ้นเข้าเรียนกฎหมายที่ University of New Brunswick แต่ต้องออกลางคันเพื่อเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ทันได้ออกรบประสบอุบัติเหตุพักรักษาตัวนานถึง 17 เดือน ปลดประจำการออกมาเดินทางสู่ New York กลายเป็นนักแสดง Broadway เล่นหนังเงียบหลายเรื่อง แต่เริ่มมีชื่อเสียงจากหนังพูด The Bride of the Regiment (1930), ผลงานเด่นๆ อาทิ How Green Was My Valley (1941), Mrs. Miniver (1942), Madame Curie (1943), The Bad and the Beautiful (1952), Executive Suite (1954), Funny Girl (1968) ฯ

รับบท Mr. Gruffydd บาทหลวงประจำหมู่บ้าน ตอนต้นเรื่องเพิ่งเดินทางมาถึงทันงานแต่งของ Ivor Morgan (รับบทโดย Patric Knowles) พี่คนโตของ Huw และ Bronwen (รับบทโดย Anna Lee) ระหว่างกำลังทำพิธีหันไปพบเจอ Angharad Morgan (รับบทโดย Maureen O’Hara) ตกหลุมรักแรกพบ แม้เธอจะมีใจให้ แต่ก็ไม่เคยเกินเลยไปมากกว่ากอดจูบ

Mr. Gruffydd ถือว่าเป็นอาจารย์/พ่อคนที่สองของ Huw ผู้ชี้แนะนำให้กำลังใจ สั่งสอนแนวคิดถูกผิด และเป็นแบบอย่างอุดมการณ์ชีวิตอันแน่แนว โดยเฉพาะตอนที่เขาประสบอุบัติเหตุเดินไม่ได้อยู่หลายเดือน ทำให้มีความกล้าที่จะคิดตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง จนเมื่อกึ่งๆถูกขับออกจากหมู่บ้าน ราวกับว่าทำให้เด็กชายเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่โดยทันที

การแสดงของ Pidgeon ทำให้ตัวละครมีความผิดที่ผิดทาง ทัศนคติความคิดอ่าน กระทำอะไรแตกต่างจากคนอื่นๆในหมู่บ้านนี้พอสมควร นี่คือความโดดเด่นนะครับไม่ใช่ข้อเสีย เพราะเป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองสายตาบุคคลภายนอกเข้ามากับสังคมปิดแห่งนี้ ที่จะเห็นว่าได้ถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

Pidgeon เป็นนักแสดงที่มีฝีมือยอดเยี่ยมใช้ได้อยู่ แต่ภาพลักษณ์ไม่เหมือนบุคคลผู้ที่สามารถเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น เป็นบาทหลวงนี่หลุดไปไกลแล้ว คงได้รับการคัดเลือกมาเพราะเคมีเข้ากับ O’Hara มองตาก็หลงใหลปานจะกลืนกิน

Maureen O’Hara ชื่อเดิม Maureen FitzSimons (1920 – 2015) นักร้องนักแสดงสัญชาติ Irish เจ้าของฉายา ‘red-headed O’Hara’ เกิดที่ Ranelagh, County Dublin, ประเทศ Ireland เป็นลูกคนที่ 2 จาก 6 คน (เป็นคนเดียวที่ผมสีแดง) รับความงามและลูกคอจากแม่ที่เป็นอดีตนักร้อง Contralto ปรากฎพรสวรรค์ด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียน/เป็นนักแสดงละครเวทีที่ Rathmines Theatre Company ตามด้วย Abbey Theatre มีอาจารย์คือ Lennox Robinson, สู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานตัวประกอบเล็กๆเรื่องแรก Kicking the Moon Around (1938) ถูกผลักดันโดย Charles Laughton ให้ได้รับบทสมทบ My Irish Molly (1938) แสดงนำเรื่องแรก Jamaica Inn (1939) กำกับโดย Alfred Hitchcock ตามด้วย The Hunchback of Notre Dame (1939) [ทั้งสองเรื่องนำแสดงโดย Laughton], ร่วมงานกับ Ford ครั้งแรกคือ How Green Was My Valley (1941), ไฮไลท์ในอาชีพคงเป็น The Quiet Man (1952) ประกบ John Wayne

รับบท Angharad Morgan พี่สาวของ Huw มีความน่ารักร่าเริงสดใสสมวัย กำลังเปร่งปรั่งเมื่อพบเจอตกหลุมรัก Mr. Gruffydd แม้หัวใจจะโหยหายแต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ จึงต้องแต่งงานกับลูกชายไฮโซของเจ้าของกิจการเหมืองทั้งๆที่ไม่ได้รัก เดินทางไป Honeymoon อาศัยอยู่แอฟริกาใต้ หวนกลับมาบ้านคนเดียวตั้งใจจะหย่า แต่ยังไม่ทันถึงตอนนั้นเรื่องราวนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่วหมู่บ้าน ทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรทั้งนั้น

O’Hara ในวัย 19-20 ปี กำลังน่ารักสดใสเบิกบาน มีความแก่นแก้ว กล้าคิดทำอะไรตามใจ ตกหลุมรักใครก็พร้อมทะยานไปมา แต่เพราะตัวละครยังติดอยู่ในกรอบธรรมเนียมวัฒนธรรมแนวคิดดั้งเดิมของสังคม พยายามอย่างยิ่งที่จะฝืนต่อสู้แต่ไม่อาจได้รับชัยชนะ, บทบาทนี้ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับ The Quite Man พอสมควร คงเพราะภาพลักษณ์ของเธอเป็นตัวแทนของหญิงสาวรุ่นใหม่ ที่ยังจมปลักติดอยู่ในโลกยุคเก่า

ผู้กำกับ Ford เป็นจอมเผด็จการเบ็ดเสร็จในกองถ่าย แต่มีครั้งหนึ่ง O’Hara สังเกตพบว่าตะกร้าที่เธอถือมันไม่เหมือนของใช้ในทศวรรษที่ 19 พูดย้อนแย้งขึ้นระหว่างการถ่ายทำ สร้างความหงุดหงิดฉุนเฉียวให้ผู้กำกับอย่างมาก หยุดกองถ่ายเป็นชั่วโมงไล่ให้ O’Hara ไปนั่งรออยู่ตีนเขา ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีมงามที่จัดของผิดพลาด

Roddy McDowall (1928 – 1998) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Heme Hill, London แม่เป็นนักแสดงละครเวที ทำให้ตัวเขามีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้ปะทุ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกัน พออายุ 12 ได้รับเลือกให้รับบทในหนังเรื่อง How Green Was My Valley (1941) ตามด้วย Lassie Come Home (1943), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Longest Day (1962), The Greatest Story Ever Told (1965), Planet of the Apes (1968), The Poseidon Adventure (1972), Fright Night (1985) ฯ

รับบท Huw Morgan เด็กชายผู้มีแววตาสดใสไร้เดียงสา ทั้งๆที่ตัวเองมีความเฉลียวฉลาดสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้ แต่กลับสนใจต้องการเป็นคนเหมืองถ่านหินแบบพ่อและพี่ๆทั้งหลาย

แม้จะยังเด็กอยู่ แต่ McDowall ก็ได้ฉายแววการแสดงที่น่าจับตามองทีเดียว ดวงตาของเขาสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในใจออกมาได้อย่างลึกล้ำ ช่วงแรกเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ตามด้วยหลงใหลคลั่งไคล้ (ในรักแรกพบ Bronwyn) วุ่นวายสับสน มีประกายความหวัง สุดท้ายสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก

กระนั้นส่วนตัวมองว่า McDowall ยังดูเด็กเกินไปที่จะเข้าใจอะไรๆของชีวิต ควรจะมีอย่างน้อยนักแสดงสองต่างช่วงวัยกันนิดๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวละคร (คือเรื่องราวของหนังมันดำเนินไปประมาณ 2-3 ปี แต่ McDowall ยังไม่โตขึ้นเลยนะครับ)
– อายุ 9-10 ขวบ ช่วงครึ่งแรกที่ยังใสซื่อไร้เดียงสา
– อายุ 14-15 หลังหายจากอาการบาดเจ็บ เข้าโรงเรียน เริ่มทำงานเหมือง

สำหรับเสียงบรรยายของ Huw Morgan ในตอนแรกผู้กำกับเล็งไว้คือ Rhys Williams แต่กลัวว่าผู้ชมจะจดเสียงของเขาได้ เพราะรับบทนักมวย Dai Bando ร่วมด้วย สุดท้ายเลยเปลี่ยนเป็นเสียงของ  Irving Pichel

แซว: ทั้งที่หนังมีพื้นหลังที่ Wales แต่มีนักแสดงเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สัญชาติ Welsh คือ Rhys Williams

ในฉบับนิยาย เห็นว่ามีตัวละครมากกว่านี้อีกนะ พี่สาวคนรองชื่อ Ceridwen Morgan, น้องสาวคนเล็ก Olwen Morgan ครอบครัวนี้ขยันปั๊มลูกเสียจริง แต่เพราะตัวละครมากล้นเกินไปหนังคงได้ยาวเกิน 3 ชั่วโมงแน่ เลยจำเป็นต้องตัดหลายเรื่องราวและบางตัวละครออกไป

เดิมนั้นโปรดิวเซอร์ Zanuck ตั้งใจจะไม่ตัดอะไรออกเลย ต้องการให้โปรเจคนี้มีความยิ่งใหญ่อลังการ Epic ความยาว 4 ชั่วโมงแบบเดียวกับ Gone With the Wind เหมือนว่าจะขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายเล่มอื่นมาด้วยแล้วกระมัง แถมเล็ง Tyrone Power ให้เตรียมรับบท Huw Morgan ตอนโต แต่ก็เปลี่ยนแผนกลางคันเพราะติดช่วงสงครามโลก เลยทุ่มงบประมาณหมดไปกับการสร้างฉากเสียส่วนใหญ่

ถ่ายภาพโดย Arthur C. Miller (1895 – 1970) ตากล้องสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Roslyn ตอนอายุ 13 เป็นเด็กส่งม้าที่ Hollywood จับพลัดจับพลูกลายเป็นสตั๊นแมนขี่ม้า ตามด้วยผู้ช่วยผู้กำกับ Fred J. Balshofer พออายุ 19 เลือกงานเป็นตากล้อง ปักหลักอยู่สตูดิโอ Fox ขาประจำของ Shirley Temple ผลงานเด่นๆ อาทิ The Song of Bernadette (1944), Anna and the King of Siam (1947) ฯ คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง How Green Was My Valley (1941)

เพราะความที่ไปถ่ายทำยุโรปไม่ได้ ผู้กำกับ Ford เลยสั่งสร้างทั้งหมู่บ้านขึ้นกินพื้นที่ 80 เอเคอร์ (ประมาณ 200 กว่าไร) ที่บริเวณ Brent’s Crags ตีนเขา Santa Monica ใกล้ๆกับ Malibu, California แรงงาน 150 คน ก่อสร้างอยู่ 6 เดือน สิ้นงบประมาณไป $110,000 เหรียญ

ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อย จะพบเห็นวิวัฒนาการของเมืองแห่งนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ตามฤดูกาลและระยะเวลา ลองสังเกตจับผิดดูนะครับ

ครอบครัว Morgan ยืนเฝ้ารอคอยต้อนรับหนุ่มๆทั้งหลายกลับบ้าน, ต้นไม้มีใบเต็มต้น

ช่วงฤดูหนาวหิมะตกเป็นหย่อมๆ ขณะที่ใบไม้ร่วงโรยเหลือแต่กิ่งก้าน

หลายปีถัดมา เมื่อ Huw Morgan ตัดสินใจออกเดินทางทิ้งบ้านจากเมืองนี้ (จริงๆนี่คือช็อตแรกๆ ของหนัง ก่อนเริ่มย้อนเล่าเรื่อง Flashback เสียด้วยซ้ำ)

ต้นไม้หายไป! สีดำๆข้างๆนั่นคงเป็นดินถล่ม (เห็นว่าทาสีให้ภูเขากันเลยนะ) บ้านด้านซ้ายมือจากเคยสีขาวกลายเป็นดำขลับ ป่องไฟเหมืองมีปริมาณเพิ่มขึ้นคงเร่งการผลิต และถนนหนทางรกร้างว่างเปล่า

สิ่งที่ต้องชมมากๆคือการออกแบบฉาก ช็อตเดียวแทบจะมองเห็นครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง สร้างเหมืองให้อยู่ตำแหน่งบนเนินเขา สะท้อนถึงความสำคัญจำเป็นสูงสุดต่อหมู่บ้านแห่งนี้ ขณะที่โบสถ์เหมือนว่าจะอยู่กึ่่งกลางพอดี ติดกับบ้านของครอบครัว Morgan (ประมาณว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดศาสนาที่สุด)

เกร็ด: สำหรับควันดำมาจากการเผาถ่านหินจริงๆนะครับ แต่ใช้การแบกขึ้นไป เพราะภูเขาลูกนี้ไม่มีเหมืองซ่อนอยู่

ตัดต่อโดย James B. Clark (1908 – 2000) จากนักตัดต่อเกือบคว้ารางวัล Oscar: Best Edited จาก How Green Was My Valley (1941) ไม่นานนักผันตัวกลายเป็นผู้กำกับ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์

ทั้งหมดของหนังจะเล่าเรื่องผ่านมุมมอง เสียงบรรยายของตัวละคร Huw Morgan ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ หวนระลึกถึงเหตุการณ์ความทรงจำต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตวัยเด็ก, การดำเนินเรื่องมีลักษณะกระโดดไปข้างหน้าเรื่องๆ Time Skip/Time Jump ก็ไม่รู้ระยะเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ (ตั้งแต่ก่อนพี่ชายแต่งงาน จนท้องคลอดหลาน ไม่น่าต่ำกว่าปีแน่ๆ)

ผมค่อนข้างขัดใจขณะทำการ Cross-Cutting เพื่อเริ่มต้นฉากย้อนอดีต Flashback แทนที่ผู้กำกับจะเลือกใช้ช็อตมุมกล้องเดียวกัน เปรียบเทียบปัจจุบันกับอดีต ผู้ชมจะได้รับรู้มองเห็นเปรียบเทียบความแตกต่าง แต่กลับเลือกมุมกล้องอื่นมาแทนซึ่งกว่าจะวนมา Master Shot ที่ผมนำเสนอไปด้านบน ก็แทบจดจำไม่ได้แล้วว่ามันแตกต่างกันแค่ไหน

เพลงประกอบโดย Alfred Newman (1901 – 1970) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน หนึ่งในสามที่ได้รับการยกย่องว่า ‘Three Godfathers of film music’ ผลงานเด่นๆอาทิ Wuthering Heights (1939), The Hunchback of Notre Dame (1939), The Mark of Zorro (1940), All About Eve (1950), The King and I (1956), How the West Was Won (1962), Airport (1970) ฯ

บทเพลงให้สัมผัสของความหวนระลึกโหยหาอดีต (Nostalgia) มันคือความทรงจำที่สวยงาม ตราตรึง คิดถึงทีไรเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สุขกายใจ

Newman ได้รับคำชมมากๆในการเลือกใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Welsh หลากหลายชิ้น แถมเลือกใช้บริการนักร้องสัญชาติ Welsh น่าจะแทบทุกคนเลยกระมังที่อาศัยอยู่ใน California

Cwm Rhondda แปลว่า Bread of Heaven ขับร้องในภาษา Welsh เป็นบทเพลงสวด (Hymn Song) เพื่อสรรค์เสริญขอบคุณพระเจ้า ที่ได้ประทานชีวิต การงาน และเงินทองหาเลี้ยงชีพ

How Green Was My Valley คือภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมเกิดอารมณ์หวนระลึกโหยหา (Nostalgia) อดีตในความทรงจำเป็นสิ่งสวยงามล้ำค่าเสมอ ต่อให้มันถูกแปดเปื้อนหรือเต็มไปด้วยความชั่วร้าย แต่เพราะมันผ่านมาแล้วย่อมไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้ ก็คงได้แต่ยิ้มรับจดจำเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิต

Huw Morgan เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด ใครๆต่างรักใคร่เอ็นดู แต่โดยไม่รู้ตัวกลับหลงใหลยึดติดในสถานที่และผู้คน ไม่ใช่เพราะมีใครเสี้ยมสอน น่าจะเป็นผลจากทั้งหมดของทุกสิ่งอย่างที่ตัวเขาประสบพบเจอ ชีวิตได้รับแต่ความสุขล้นเอ่อเพียงพอไม่ต้องการอะไรอื่น พ่อพี่ชายทั้งหลายเคยทำอะไรมา ก็อยากเจริญเดินตามรอยเท้า ขอเป็นลูกไม้หล่นใกล้ต้น ก็เพียงพอแล้ว

แต่ความรักยิ่งในผืนแผ่นดินเกิด มุมมองหนึ่งคือความซื่อสัตย์มั่นคงจงรักภักดี แต่อีกมุมหนึ่งตรงกันข้ามคือความมืดบอดตอแหลโลกสวย สะท้อนกับงานทำเหมืองถ่านหิน อาชีพที่วันๆต้องเปรอะเปื้อนตัวดำ เสี่ยงชีวิตความตายแลกเงินเพียงไม่กี่เหรียญ ในมุมของคนรุ่นใหม่นี่ย่อมเป็นอาชีพที่โง่เง่าเต่า เต็มไปด้วยปัญหา ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แต่สำหรับคนไร้ความรู้ความสามารถ ขอแค่ทำอะไรก็ได้เงินอิ่มท้อง ตัวเองได้ผลประโยชน์ ระบบนิเวศจะทรุดโทรมเสื่อมสภาพ ปนเปื้อนมลภาวะก็ช่างหัวมัน

อันนี้ก็แล้วแต่คุณเองจะมองว่า Huw Morgan คือคนที่รักในผืนแผ่นดินบ้านเกิดสุดหัวใจ หรือเป็นเพียงไอ้เด็กโง่ที่มองไม่เห็นอนาคตตนเอง สุดท้ายแล้วจึงไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้นนอกจากความทรงจำสีเขียวขจี

“How green was my Valley then, and the Valley of them that have gone.”

ประโยคสุดท้ายของหนัง ผู้กำกับ Ford เลือกดึงมาจากประโยคสุดท้ายของนิยาย เพื่อเป็นคำอธิบายชื่อหนัง ในรูป Past Tense ย่อมหมายถึงทุกสิ่งอย่าง สีเขียวที่เคยมีในหมู่บ้านของฉัน ปัจจุบันไม่หลงเหลือหมดสิ้นไปแล้ว เอาจริงๆถ้านิยายไม่มีภาคต่อ จุดนี้สามารถสื่อถึง ‘ความตาย’ ก็ยังได้

สีเขียวที่ถึงมองไม่เห็นจากภาพแต่ก็สามารถจินตนาการตามได้ ไม่ใช่แค่สีของต้นไม้ใบหญ้า แต่รวมถึงความดีงามของจิตใจคน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีมิตรไมตรี เอื้อเฟือกรุณาต่อกัน นี่คือเขียวมรกตที่เปร่งประกายมีค่ายิ่ง

แต่เมื่อชีวิตค่อยๆถูกปนเปื้อนด้วยความคิดอันชั่วร้าย มันแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าหมอกควันดำของถ่านหินเสียอีก เปรียบจิตใจของมนุษย์ได้กับสีดำมณีนิล โลกที่เต็มไปด้วยบุคคลเช่นนั้นมันจะน่าอยู่ประการใด?

Huw Morgan คงใช้เวลาทั้งชีวิต พยายามอย่างเต็มที่ ปกป้องรักษาผืนแผ่นดินบ้านเกิดของตนนี้ไว้ให้คงความเขียวขจี แต่ผ้าสะอาดเมื่อถูกแปดเปื้อนก็ไม่มีวันซักแล้วขาวใหม่เหมือนเดิม ขยี้เต็มแรงสุดท้ายมันก็ขาดไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้วคงเข้าใจสักที ถึงคราที่จะต้องเก็บข้าวของออกเดินทาง ใช้เวลาช่วงขณะสุดท้ายหวนระลึกความทรงจำในอดีตทั้งหมด

แม้ชีวิตของเราจะจมปลักอยู่กับอดีตไม่ได้ตลอดไป แต่เพียงเสี้ยวเวลาสั้นๆ นานๆครั้ง พูดคุยพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่า เปิดไดอารี่รูปภาพทบทวนหวนระลึก แค่นี้ก็เพียงพอให้เกิดรอยยิ้มเบิกบานสำราญใจ เพลิดเพลินเคลิบเคลิ้มหลงใหล โอ้ชีวิต มันช่างน่าหลงใหลพิศวงเสียเหลือเกิน

Nostalgia-Theme เป็นแนวที่ผู้กำกับ John Ford นิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง The Quiet Man (1952) ก็ออกสำรวจใจความแนวคิดคล้ายๆกัน เปลี่ยนจาก Welsh เป็น Irish ต้นกำเนิดบรรพบุรุษของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เขาออกค้นหานี้น่าจะคือคำตอบของคำถาม จุดเริ่มต้นของชีวิตคืออะไร?

ด้วยทุนสร้างประมาณ $800,000 เหรียญ ทำเงินได้ $2.8 ล้านเหรียญ ถือว่าไม่เลวทีเดียวในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามา 5 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture คว้ารางวัล
– Best Director **คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Donald Crisp) 
คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Sara Allgood)
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Interior Decoration, Black-and-White 
คว้ารางวัล
– Best Music, Scoring of a Dramatic Picture
– Best Recording Sound

เกร็ด: นี่คือหนังเรื่องโปรดของ นักแสดง/ผู้กำกับ Clint Eastwood

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก (ชอบมากกว่า Citizen Kane) ประทับใจยิ่งยวดกับอารมณ์หวนระลึกโหยหา (Nostalgia) สร้างความอิ่มเอิบสุขใจผ่อนคลาย, Maureen O’Hara สดใสน่ารักแก่นแก้ว และเรื่องราวแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสมจริง

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ ควรที่จะต้องมีความเกรงอกเกรงใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่พูดตำหนิต่อว่าร้ายผู้อื่น ควรรู้จัก ‘ฟังหูไว้หู’ เชื่อได้แต่ควรรู้จักให้อภัย, สำหรับขี้ปากชาวบ้าน แม้มันจะไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาใส่ใจ แต่เมื่อแพร่กระจายขยายออกไปในวงการ ย่อมสะท้อนความเห็นแก่ตัวของคนในสังคมขึ้นมาทันที เห็นชัดเลยว่าโลกแบบนี้ไม่ได้มีความน่าอยู่สักนิดเดียว!

แนะนำกับคอหนัง Drama ที่มีข้อคิดสอนการใช้ชีวิต, ชื่นชอบสัมผัสหวนระลึกโหยหา (Nostalgia), นักอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม เคยทำงาน หรือกำลังประท้วง เหมืองถ่านหิน, แฟนๆผู้กำกับ John Ford และนักแสดง Maureen O’Hara ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ค่อยๆมืดหม่น ชั่วร้ายขึ้นเรื่อย

TAGLINE | “How Green Was My Valley ผู้กำกับ John Ford ชักชวนให้คุณหวนระลึกโหยหา ความทรงจำอันเขียวฉอุ่มสดใส เมื่อครั้นเด็กหนุ่มสาวได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: