Howards End

Howards End (1992) British : James Ivory ♥♥♥♥

ขณะที่ Emma Thompson (ในบทคว้ารางวัล Oscar: Best Actress) สามารถให้อภัยชายคนรักจากความผิดพลาดทุกสิ่งอย่างในอดีต แต่ Anthony Hopkins กลับปฏิเสธยกโทษน้องสะใภ้ Helena Bonham Carter เพียงเพราะตั้งครรภ์โดยไม่รู้ใครเป็นพ่อของเด็ก, วรรณกรรมชิ้นเอกของ E. M. Forster สู่ภาพยนตร์มาสเตอร์พีซของ James Ivory

แม้ผมจะไม่ค่อยประท้บใจเรื่องราวของ A Room with a View (1908) ผลงานก่อนหน้าของ E. M. Forster เพราะเต็มไปด้วยอารมณ์ ‘passion’ ในการนำเสนออุดมคติความรักวัยรุ่นหนุ่ม-สาว แต่สำหรับ Howards End (1910) คือผลงานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเติบโต ก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ มีความครุ่นคิดที่สลับซับซ้อนขึ้นมากๆ สามารถอธิบายเรื่องราวด้วยเหตุและผล ด้วยที่มาที่ไป ไม่รู้สึกยัดเยียดหรือบีบบังคับชวนเชื่อ ถือเป็นผลงานลงตัวสมบูรณ์แบบ ยอดเยี่ยมพอๆกับ A Passage of India

นั่นเพราะ Howards End ไม่ได้แค่ทำการเปรียบเทียบตัวละคร (A Room with a View ให้หญิงสาวต้องเลือกระหว่างชายสองคนที่มีลักษณะขั้วตรงข้าม อนุรักษ์นิยม vs. เสรีชน) แต่ยังใช้พื้นเพครอบครัว และสถานที่อยู่อาศัย ในการแบ่งแยกความแตกต่างทางชนชั้นฐานะ อาชีพการงาน เชื้อชาติวงศ์ตระกูล เพื่อนำเสนอแนวความคิด ทำไมคนรวย-จนถึงมีโลกทัศนคติที่แตกต่างกัน?

รับชม Howards End (1992) ทำให้ผมระลึกนึกถึง Parasite (2019) อยู่ไม่น้อยทีเดียว! แม้ไดเรคชั่นการนำเสนอจะไม่มีความละม้ายคล้ายคลึง แต่เนื้อหาสาระต้องการแสดงให้เห็นถึงช่องว่าง ระยะห่าง ความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคม เหตุผลที่คนรวยไม่สามารถคลุกคลีกับคนจน ขณะที่ฝั่งฝ่ายหนึ่งสามารถให้อภัยทุกสิ่งอย่าง แต่อีกฟากฝั่งเมื่อเหตุการณ์ย้อนกลับตารปัตร กลับยังคงแสดงออกอย่างเห็นแก่ตัว ปฏิเสธการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

Henry might have gotten Jacky pregnant, but if Jacky’s husband dares get Henry’s sister-in-law pregnant, he must be made to pay. Henry thinks he is dealing with a moral offense, but actually he is dealing with temerity: Leonard Bast must not be allowed to behave the way Henry Wilcox is entitled to, because, well, Leonard is poor, and there it is.

นักวิจารณ์ Roger Ebert มอบคะแนน 4/4 และยกให้เป็น Great Movie

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Edward Morgan Forster (1879-1970) นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ เกิดที่ Marylebone, Middlesex บิดาเป็นสถาปนิก เสียชีวิตโรคปอดบวมตอนบุตรชายอายุได้ 2 ขวบ มารดาจึงพาไปอาศัยอยู่ยัง Rocks Nest ใกล้กับ Stevenage Hertfordshire (บ้านที่เป็นแรงบันดาลใจเขียนนวนิยาย Howards End) ช่วงระหว่างศึกษาอยู่ King’s College, Cambridge ได้เป็นสมาชิกชมรม Apostles ถกเถียงปรัชญา ตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งต่อมารวมกลุ่มกันในชื่อ Bloomsbury Group

หลังเรียนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับสอง) Forster ออกเดินทางท่องเที่ยว-ทำงานยังหลายๆประเทศในยุโรป กรีซ, อิตาลี, เยอรมัน, อิยิปต์ ฯ เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก Where Angels Fear to Tread (1905) ติดตามด้วย The Longest Journey (1907), A Room with a View (1908)

สำหรับ Howards End (1910) ได้แรงบันดาลใจจากสองพี่น้อง Vanessa (1879-1961) และ Virginia Stephen (1882-1941) เพื่อนสมาชิก Bloomsbury Group ที่มีโอกาสรับรู้จัก สนิทสนม รับฟังเล่าเรื่องเล่าจากอดีต เมื่อครั้นเคยอาศัยอยู่ Hyde Park Gate, Westminster ช่วงระหว่างปี 1882–1904

  • Vanessa มีความหลงใหลในงานศิลปะ ชื่นชอบวาดรูป ออกแบบภายใน แต่งงานกับ Clive Bell (1881-1964) นักวิจารณ์ศิลปะ พบเจอระหว่างเป็นสมาชิก Bloomsbury Group
  • Virginia เป็นนักเขียนแนว Modernist และยังเข้าร่วมกลุ่มการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรี แต่งงานกับ Leonard Woolf (1880-1969) สมาชิก Bloomsbury Group อีกเช่นกัน

นวนิยาย Howards End (1910) ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม (Social Novel) พานผ่านสามครอบครัวชนชั้นกลาง (Middle Class) มีความแตกต่างทางฐานะ อาชีพการงาน รสนิยมความสนใจ รวมถึงโลกทัศนคติที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง และอิทธิพลจากสังคมรอบข้าง

  • Wilcoxes ตัวแทนของ Upper-Middle Class (หรือจะเรียกว่า Plutocrats) เป็นตระนักธุรกิจ ฐานะมั่งคั่ง เป็นเจ้าของคฤหาสถ์หรู อวดร่ำอวดรวย ชื่นชอบสะสมผลงานศิลปะ แต่สมาชิกทุกคนต่างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน
  • Schlegels ตัวแทนของ Middle-Middle Class (มีคำเรียก Bohemian Intellectuals) ครอบครัวเป็นลูกครึ่งผู้ดี มีความชื่นชอบด้านสุนทรียะ ดนตรี บทกวี นวนิยาย ผลงานศิลปะ
    • Margaret Schlegel แต่งงานกับ Henry Wilcox เลื่อนขึ้นเป็น Upper-Middle Class แม้มีชีวิตอย่างสุขสบาย แต่ต้องคอยต่อรองรับอารมณ์สามีที่ผันแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ
    • Helen Schlegel ตั้งครรภ์กับ Leonard Bast เลื่อนลงเป็น Lower-Middle Class แม้มีชีวิตทนทุกข์ยากลำบาก แต่ไม่ต้องการพึ่งพาใครอื่นใด สามารถกระทำสิ่งอะไรก็ได้ตามใจ
  • Basts ตัวแทนของ Lower-Middle Class ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ทำงานหาเช้ากินค่ำ เสมียนเงินเดือนน้อยนิด ถ้าธุรกิจไม่ค่อยดีก็มีแนวโน้มเลหลัง แม้มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่ก็มักโดนดูถูกเหยียดหยาม จนมิอาจหาหนทางขวนขวายไขว่คว้า ได้แค่เดินติดตามดาวดารามุ่งหน้าสู่โศกนาฎกรรม

Forster มีความหึงหวงนวนิยายของตนเองมากๆ ไม่ค่อยยินยอมมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นสื่ออื่น กระทั่งการเสียชีวิตเมื่อปี 1970 ลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งหมดตกเป็นของ King’s College (เพราะเจ้าตัวไม่ได้แต่งงาน หรือตั้งทายาทดูแลกองมรดก) ช่วงปีแรกๆผู้จัดการลิขสิทธิ์ยังคงบอกปัดบรรดาผู้กำกับดัง Joseph Losey, Ismail Merchant & James Ivory, Waris Hussein ต้องการเคารพความต้องการของผู้เขียน, สิบปีให้หลังเมื่อศาสตราจารย์ Bernard Williams ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินคนใหม่ ด้วยความชื่นชอบหลงใหลสื่อภาพยนตร์ จึงพร้อมเปิดกว้างให้บรรดาผู้ที่มีความสนใจเข้ามาพูดคุย แสดงวิสัยทัศน์


James Ivory (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Berkeley, California โตขึ้นเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ University of Oregon School of Architecture and Allied Arts ติดตามด้วยปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ University of Southern California School of Cinematic Arts, ระหว่างนั้นได้รู้จัก/ตกหลุมรักโปรดิวเซอร์สัญชาติอินเดีย Ismail Merchant ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Merchant Ivory Production ตั้งแต่ปี 1964-2005 รวมเวลา 44 ปี เป็นคู่ขา(คู่รัก)ที่ร่วมงานกันยาวนานสุดในวงการภาพยนตร์ (บันทึกโดย Guinness World Records), เข้าชิง Oscar: Best Director สามครั้งไม่เคยได้รางวัล A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) แต่ช่วงบั้นปลายเพิ่งมาคว้า Oscar: Best Adapted Screenplay จาก Call Me by Your Name (2017)

หลังเสร็จจาก A Room with a View (1985) และ Maurice (1987) ผู้กำกับ Ivory (และคู่ขา Merchant) แสดงความสนใจดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ E. M. Forster เรื่อง Howards End (1910) ยินยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงถึง $250,000 เหรียญ เพราะต้องเกทับสตูดิโอใน Hollywood ที่ก็กำลังขวนขวายไขว่คว้า

แต่พอได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงกลับไม่มีสตูดิโอไหนอยากออกทุนสร้าง นั่นเพราะ Ivory ตั้งงบประมาณไว้สูงถึง $8 ล้านเหรียญ! ด้วยเหตุนี้ระหว่างเตรียมงานสร้าง ติดต่อมองหานายทุน เลยหันไปทำภาพยนตร์เรื่องอื่น Slaves of New York (1989) และ Mr. & Mrs. Bridge (1990)

ความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของ Maurice (1987) ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ Merchant Ivory ลองมองหาโอกาสระดมทุน ปรากฎว่ามีหลายๆบริษัท(ที่ญี่ปุ่น)แสดงความสนใจ Sumitomo Corporation, Japan Satellite Broadcasting (JBS), Imagica Corporation และการเข้ามาของ Sony Pictures Classics (บริษัทลูกของ Sony Pictures เพิ่งก่อตั้งขึ้นแทนที่ Orion Classics และจัดจำหน่าย Howards End เป็นเรื่องแรก) ทำให้ได้รับเงินทุนเพียงพอพร้อมเริ่มโปรดักชั่นทันที!

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Ruth Prawer Jhabvala (1927-2013) นักเขียนนวนิยาย/บทภาพยนตร์ เกิดที่ Cologne, Germany บิดามีเชื้อสาย Jewish ทำให้ต้องอพยพครอบครัวสู่อังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งสอง, เข้าศึกษาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ Queen Mary College, แต่งงานกับสามีชาวอินเดีย Cyrus Jhabvala ย้ายมาปักหลัก New Delhi จนมีบุตรสาวสามคน ระหว่างเป็นแม่บ้านก็เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก To Whom She Will (1955), จนกระทั่ง The Householder (1960) ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์โดย Merchand Ivory ทำให้มีความสนิทสนม กลายเป็นเพื่อนสนิท ร่วมงานขาประจำ

แม้ก่อนหน้านี้ Ruth Prawer Jhabvala เคยปฏิเสธดัดแปลงบท Maurice (1987) เพราะรู้สึกลำบากใจในเนื้อหารักร่วมเพศ สร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงต่อผู้กำกับ Ivory แต่ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของพวกเขา จึงไม่มีปัญหาใดๆติดตามมา


พื้นหลังยุคสมัย Edwardian (1901-10), เรื่องราวของสองพี่น้อง Margaret (รับบทโดย Emma Thompson) และ Helen Schlegel (รับบทโดย Helena Bonham Carter) บังเอิญมีโอกาสรับรู้จัก Ruth Wilcox (รับบทโดย Vanessa Redgrave) เลยได้รับการชักชวนให้ไปพำนักอาศัยยังบ้านต่างจังหวัด Howards End

การเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนของ Ruth ทอดทิ้งพินัยกรรมให้สามี Henry Wilcox (รับบทโดย Anthony Hopkins) ต้องการส่งมอบ Howards End เป็นของขวัญแก่ Margaret แต่เขาและลูกๆกลับไม่เต็มใจสักเท่าไหร่ แสร้งทำเป็นว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้นระหว่างที่ Henry พบเจอ รับรู้จัก Margaret โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก แล้วก็สู่ขอเธอแต่งงาน

ส่วน Helen ครั้งหนึ่งระหว่างรับฟังงานสัมมนา Music and Meaning บังเอิญหยิบร่มผิดคัน เลยมีโอกาสรับรู้จัก Leonard Bast (รับบทโดย Samuel West) เสมียนหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน อาศัยอยู่กับ Jacky (รับบทโดย Nicola Duffett) ที่เคยเป็นชู้รักของ Henry แต่ถูกเขาทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย, Leonard ไม่ได้มีความรักใคร่ชอบพอ Jacky เพียงสงสารเห็นใจที่เห็นเธอถูกทอดทิ้งขว้าง ถึงอย่างนั้นเขาก็แอบมีความสัมพันธ์กับ Helen จนเธอตั้งครรภ์

เมื่อครั้นที่ Henry หวนกลับมาพบเจอ Jacky บังเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงจนเกือบจะเลิกรา Margaret แต่เธอยินยอมพร้อมให้อภัยทุกความผิดพลาดในอดีต ถึงอย่างนั้นเมื่อตอน Helen ตั้งครรภ์กับ Leonard เขากลับปฏิเสธหัวชนฝา ไม่ยินยอมให้หญิงโฉดคนนี้พำนักอาศัยอยู่ยัง Howards End แม้เพียงค่ำคืนเดียว!

แซว: ผมรู้สึกว่าวงศ์ตระกูลของตัวละครเหมือนจะเคลือบแอบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง

  • Wilcox ฟังดูคล้องจองกับคำว่า Cock สะท้อนถึงความครุ่นคิด โลกทัศนคติของตระกูลนี้ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ
  • Schlegel คาดคิดว่าคงนำจาก Friedrich Schlegel (1772-1829) นักเขียน นักกวีชาวเยอรมัน ซึ่งสอดคล้องเข้ากับพี่น้อง Margaret และ Helen
  • Bast น่าจะมาจากเต็มๆคำว่า Bastard ซึ่งทั้ง Leonard และ Jacky ก็ต่างเป็นบุคคลที่โดนดูถูก เหยียดหยาม ว่ามีความต่ำทราม

Dame Emma Thompson (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London ในครอบครัวที่ทุกคนต่างเป็นนักแสดง มีความหลงใหลในวรรณกรรม เรียนจบเอกภาษาอังกฤษจาก Newnham College, Cambridge จากนั้นเข้าร่วมกลุ่ม Comedy Troupe เปิดการแสดงที่โรงละคร Footlights ต่อมามีผลงานโทรทัศน์ วาไรตี้โชว์ มินิซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Tall Guy (1989), Henry V (1989), โด่งดังกับ Howards End (1992) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Actress, The Remains of the Day (1993), In the Name of the Father (1993), Sense and Sensibility (1994), Love Actually (2003), Saving Mr. Banks (2013) ฯ

รับบท Margaret Schlegel หญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษ-เยอรมัน มีความเฉลียวฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตน เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม จึงกลายเป็นรักของ Mrs. Wilcox ช่วยให้ช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตอบอุ่นด้วยแสงสีสัน เมื่อพบเจอ Mr. Henry Wilcox ก็สามารถสร้างตราประทับจนถึงกับสู่ขอแต่งงาน แต่ตลอดระยะเวลาใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม กลับสร้างความเหน็ดเหนื่อย น่าเบื่อหน่าย อ่อนเปลี้ยเพลียใจ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างน้องสาว Helen และสามี ทำไมต่างคนต่างไม่สามารถยินยอมความกันและกัน

มีนักแสดงหลายคนได้รับการติดต่อไปหา อาทิ Phoebe Nicholls, Natasha Richardson, Miranda Richardson, Tilda Swinton จนมาถึง Emma Thomspon (ได้รับการแนะนำจาก Simon Callow) พออ่านบทก็ตอบตกลงโดยทันที

จะว่าไป Thompson ถือเป็น Typecast กับบทบาทลักษณะนี้! ตัวละครที่มีสภาพเก็บกด ปกปิดบัง ซุกซ่อนเร้นหลายสิ่งอย่างไว้ภายใน ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาผ่านสีหน้าสายตา การขยับเคลื่อนไหวของอวัยวะ ยักคิ้วหลิ่วตา เบะปาก ย่นจมูก แต่เธอก็สามารถสร้างความแตกต่างโดยไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกซ้ำซากจำเจ มองหาความท้าทายด้วยมิติการแสดงอันลุ่มลึก สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นๆตามกาลเวลา

ฉากที่ผมรู้สึกว่าการันตีรางวัล Oscar: Best Actress ของ Thompson มีด้วยกันสองฉาก

  • ครั้งแรกหลังจากจู่ๆถูก Henry บอกตัดขาดความสัมพันธ์ (หลังความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Jacky) เมื่อส่งแขกเธอเดินขึ้นห้องไปร่ำไห้ เศร้าโศกเสียใจ จากนั้นแสร้งว่าทำเป็นไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น เข้าไปพูดคุยกับสามี ยินยอมรับและพร้อมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง
  • ส่วนอีกฉากจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม ระหว่างพยายามร่ำร้องขอ Henry เพียงแค่ค่ำคืนนี้ต้องการให้น้องสาวพำนักอาศัยอยู่ยัง Howards End ทั้งๆมันไม่ควรเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวายใหญ่โต แต่คำปฏิเสธดื้อรั้นหัวชนฝาของเขา ทำเอาตัวละครมาถึงจุดแตกหัก ทำไมสิ่งที่ฉันเคยยกโทษให้อภัย เขากลับไม่สามารถแสดงออกแบบเดียวกันได้!

แม้ลึกๆผมจะชื่นชอบ Thompson จากบทบาท The Remains of the Day (1993) และ Sense and Sensibility (1994) มากกว่าเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมรับสองฉากที่กล่าวมา มีความตราประทับติดตรึง ยากยิ่งจะลืมเลือน ยังไม่มีฉากอื่นในภาพยนตร์เรื่องไหนบีบเค้นคั้นอารมณ์ได้ยอดเยี่ยมกว่า


Helena Bonham Carter (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London เมื่อตอนอายุห้าขวบ พบเห็นมารดาแสดงอาการสติแตก (nervous breakdown) ต้องรักษาตัวอยู่หลายปี ส่วนบิดาหลังผ่าตัดเนื้องอกกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก แต่โชคดีที่ครอบครัวมีฐานะ เลยไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิต, ด้วยความที่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด สอบได้เกรด A ทุกวิชา สามารถสอบเข้าเรียนต่อ King’s College, Cambridge แต่ตอนสัมภาษณ์บอกว่าอนาคตอยากเป็นนักแสดง ทางมหาวิทยาลัยกลัวเธอจะดรอปเรียนเลยปฏิเสธรับเข้าศึกษา จากนั้นได้รับโอกาสแสดงโฆษณา, ตัวประกอบซีรีย์ A Pattern of Roses (1983), เล่นบทนำครั้งแรก Lady Jane (1986), แจ้งเกิดโด่งดัง A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Wings of the Dove (1997), Fight Club (1999), ขาประจำ(อดีต)สามี Tim Burton ตั้งแต่ Big Fish (2003), Charlie and the Chocolate Factory (2005), Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007), Alice in Wonderland (2011), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ แฟนไชร์ Harry Potter (2007-11) บทบาท Bellatrix Lestrange, The King’s Speech (2010), Les Misérables (2012) ฯลฯ

รับบท Helen Schlegel หญิงสาวมีความแก่นแก้ว โรแมนติก เชื่อในโชคชะตาฟ้าลิขิต เมื่อรับรู้สิ่งบังเกิดขึ้นกับ Leonard Bast ก็แสดงความไม่พึงพอใจต่อ Henry ตระหนักว่าตนเองมีส่วนร่วมรับผิดชอบเลยต้องการให้ความช่วยเหลือ จนปล่อยตัวปล่อยใจปล่อยให้ตั้งครรภ์บุตรของเขา เลยต้องการหลบลี้หนีไปให้แสนไกล ไม่อยากถูกควบคุมครอบงำหรือพึ่งพาบุคคลอื่นใด

Bonham Carter เป็นตัวเลือกไม่ยากนักของผู้กำกับ Ivory เพราะเคยร่วมงานกันมาแล้วถึงสองครั้ง A Room with a View (1985) และ Maurice (1987) เพียงเอ่ยปากชักชวนก็ตอบตกลงโดยทันที

แม้เริ่มต้น Bonham Carter จะยังดูเหมือนภาพจำ ‘English Rose’ ที่มีความสวยใส อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสา แต่หลังจากพบเห็นความวิปลาสของตระกูล Wilcox ก็เริ่มหน้านิ่วคิ้วขมวด มิอาจอดรนทน ควบคุมตนเอง เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด หงุดหงิดไม่พึงพอใจ ทั้งๆที่เจ้าตัวไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำใดๆ เพียงรู้สึกผิดต่อชีวิตอันล้มเหลวของ Leonard Bast (คงเพราะเธอตกหลุมรัก Leonard ด้วยกระมัง เลยยินยอมทำทุกสิ่งอย่างให้เขาแทนคำขอโทษ)


Sir Philip Anthony Hopkins (เกิดปี 1937) นักแสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์/ละครเวที สัญชาติ Welsh เกิดที่ Margam, Glamorgan สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจงานศิลปะ วาดรูป เล่นเปียโน ตอนอายุ 15 มีโอกาสพบเจอเกิดความประทับใจใน Richard Burton เลยสมัครเข้า Royal Welsh College of Music & Drama จากนั้นเป็นทหารสองปี ย้ายสู่ London เรียนต่อยัง Royal Academy of Dramatic Art จนได้รับโอกาสแสดงละครเวทีที่ Palace Theatre, Swansea ไม่นานนักพบเจอโดย Laurence Olivier ชักชวนมาเข้าร่วม Royal National Theatre จนประสบความสำเร็จโด่งดัง แต่ความเบื่อหน่ายในการเล่นบทบาทเดิมซ้ำ เลยเบี่ยงเบนความสนใจมาสู่วงการภาพยนตร์/โทรทัศน์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Lion in Winter (1968), A Bridge Too Far (1977), The Elephant Man (1980), The Silence of the Lambs (1991) ** คว้า Oscar: Best Actor, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Bram Stoker’s Dracula (1992), The Remains of the Day (1993), Nixon (1995), Amistad (1997), The Mask of Zorro (1998), Meet Joe Black (1998), Thor (2011) ฯ

เทคนิคการแสดงของ Hopkins จะมีการซักซ้อมบทพูดให้บ่อยมากครั้งที่สุด (เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า สูงสุดน่าจะเกิน 200 รอบ) จนกว่าประโยคดังล่าวจะมีความลื่นไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับไม่ได้ครุ่นคิดอะไร ‘do it without thinking’

รับบท Henry Wilcox ชายวัยกลางคน เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ครอบครองคฤหาสถ์น้อย-ใหญ่ ชื่นชอบสะสมผลงานศิลปะ แต่เพราะภรรยาร่างกายเจ็บป่วยอิดออดๆ ไม่สามารถพึ่งพาในช่วงเวลาจิตใจอ่อนแอ จึงพลั้งเผลอปล่อยตัวปล่อยใจให้หญิงสาวชนชั้นต่ำ Jacky พอฟื้นตื่นจึงพยายามขับไล่ผลักไส ทอดทิ้งเธอคนนั้นให้ห่างไกล เต็มไปด้วยอคติต่อต้านคนจน

The poor are the poor. One is sorry for them, but there it is.

Henry Wilcox

ภายหลังจากภรรยาเสียชีวิต ในตอนแรก Henry เต็มไปด้วยอคติต่อ Margaret Schlegel แต่เมื่อได้รับรู้จักก็ทำให้จิตใจชุ่มชื่น รู้สึกกระฉับเฉงมีชีวิตชีวา เลยตัดสินใจสู่ขอเธอแต่งงาน พร้อมปรนเปรอปรนิบัติทุกสิ่งอย่าง เพียงปฏิเสธไม่ต้องการมอบบ้านชนบท Howards End (ต้องการให้บุตรชายคนโต Charles ครอบครองบ้านหลังนี้)

ผู้กำกับ Ivory ครุ่นคิดว่ามีเพียง Anthony Hopkins ที่สามารถรับบทนำ แต่ไม่อยากส่งผ่านนายหน้า (เพราะกลัวว่าอาจไม่ถือมือนักแสดง) เลยไหว้วานผ่านคนรู้จัก(ทำงานเป็น Sound Editing)ในกองถ่าย The Silence of the Lambs (1991) เมื่อมีโอกาสอ่านบทก็แสดงความสนใจโดยทันที

ผมรู้สึกว่าบทบาท Henry Wilcox มีความเลือดเย็นชาไม่น้อยไปกว่า Hannibal Lecter (แค่ว่าไม่ได้เข่นฆ่าใครตายเท่านั้นเอง) เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง ด้วยทัศนคติของคนรวย ดูถูกเหยียดหยามผู้ยากไร้ พร้อมถีบส่งบุคคลชาติกำเนิดต่ำต้อยกว่า ปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียม แถมยังมีพฤติกรรมดั่งคติธรรมสอนใจของท่านพุทธทาสภิกขุ

โทษผู้อื่นแลเห็นเป็นภูเขา
โทษของเราแลไม่เห็นเท่าเส้นผม
ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเราเหลือทน
ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร

มนต์คลายโกรธ พุทธทาสภิกขุ

สำหรับคนที่ช่างสังเกตจะพบว่า Hopkins ไม่ค่อยสบสายตากับผู้คน (ยกเว้นภรรยาและลูกๆ) มักหันเฉียงๆเข้าหากล้อง หรือเวลาพูดบอก/กระทำสิ่งน่าอับอายก็จะยกมือขึ้นมาปิดป้องใบหน้า แสดงออกภาษากายว่าไม่สามารถยินยอมรับความจริงเหล่านั้น นี้แสดงถึงการปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ติดตัวกลายเป็นสันชาติญาณ (ลูกๆหลานตระกูล Wilcox ก็ไม่แตกต่างกัน) มีความยึดถือมั่นในเกียรติ วงศ์ตระกูล เชื่อว่าตนเองเป็นผู้เลิศเลอ สูงศักดิ์ เหนือกว่าใครอื่นใด สามารถกดขี่ข่มเหง ถีบไสส่งบุคคลต่ำต้อยกว่า

ถ้าปีก่อน Hopkins ไม่ได้คว้ารางวัล Oscar: Best Actor จาก The Silence of the Lambs (1991) (ปีนี้เลยกลายมาเป็นผู้ประกาศรางวัล Best Actress มอบให้กับ Emma Thompson) ก็อาจมีลุ้นอย่างน้อยน่าจะได้เข้าชิง แต่พอต้องเปรียบเทียบกับ Hannibal Lecter บทบาทเรื่องนี้เลยดูจืดชืด ธรรมดาๆ ไม่ค่อยได้รับการพูดกล่าวถึงเท่าที่ควร


Dame Vanessa Redgrave (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ‘Triple Crown of Acting’ เกิดที่ Blackheath, London เป็นบุตรของ Sir Michael Redgrave และ Rachel Kempson ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับวงการละครเวทีตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Central School of Speech and Drama จากนั้นเข้าร่วมโรงละคร Shakespeare Memorial Theatre ติดตามด้วย Royal Shakespeare Company, ภาพยนตร์เรื่องแรก Behind the Mask (1958) ติดตามด้วย Morgan – A Suitable Case for Treatment (1966), A Man For All Seasons (1966), Blowup (1966), Camelot (1967), Isadora (1968), Mary, Queen of Scots (1971), Murder on the Orient Express (1974), Julia (1977) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, Little Odessa (1994), Mission: Impossible (1996), Atonement (2007) ฯ

รับบท Ruth Wilcox เป็นเจ้าของบ้านชนบท Howards End อาศัยใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิด ปัจจุบันร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ (ไม่มีระบุโรคภัย) ลากสังขารมาร่วมงานแต่งงานบุตรชายยังกรุง London อาศัยอยู่แฟลตตรงกันข้ามกับ Margaret ถือโอกาสพูดคุย เล่าเรื่องโน่นนี่นั่น พาไปช็อปปิ้ง ทำให้เธอบังเกิดรอยยิ้มประทับใจ พอได้รับรู้ว่า Hyde Park (แฟลตของ Margaret) กำลังจะถูกรื้อถอน หมดสิ้นสัญญาเช่าอยู่อาศัย เลยมีความต้องการจะมอบ Howards End เป็นของขวัญตอบแทนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต (แต่กลับถูกสามีและลูกๆ แสร้งว่าไม่เคยพินัยกรรมฉบับนั้น)

Redgrave มีความเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าตนเองเล่นเป็น Margaret จนกระทั่งวันถ่ายทำถึงค่อยได้รับการแจ้งจากช่างแต่งหน้าว่าแท้จริงแล้วคือบทบาท Mrs. Wilcox ทำให้เธอต่อรองค่าตัวใหม่ (ตอนเริ่มถ่ายทำ Anthony Hopkins ยังไม่ได้คว้ารางวัล Oscar จาก The Silence of the Lambs (1991) จึงทำให้ Redgrave เป็นนักแสดงมีค่าตัวสูงสุด ‘Top Bill’)

แม้ปรากฎตัวแค่ไม่กี่นาที Redgrave ถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมากๆ ไม่ใช่แค่ถ้อยคำพูดอย่างเชื่องช้า หรือท่าทางเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า (เหมือนผู้ป่วยอาการหนัก) แต่ไฮไลท์ต้องบอกเลยว่าผมเองก็คาดไม่ถึง นั่นคือลักษณะ ‘queer’ ของตัวละคร!

ผมสังเกตเห็นว่า Mrs. Wilcom มักส่งสายตาอันหวานแหวว รวมถึงการสัมผัสแตะเนื้อต้องตัว ดูสนิทสนมชิดใกล้กว่าความเป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้อง (มันเหมือนคนรัก ด้วยสัมผัสอันโรแมนติก) ซึ่งความคลุมเคลือดังกล่าวสะท้อนรสนิยมทางเพศของผู้แต่งนวนิยาย E. M. Forster, ผู้กำกับ James Ivory และสร้างมิติให้ตัวละครได้อย่างเหลือล้นน่าค้นหามากๆ … ซึ่งอาจคือเหตุผลหนึ่งด้วยกระมังที่ทำให้ Mrs. Wilcom ต้องการส่งมอบบ้านชนบท Howards End ให้กับหญิงคนรัก Margaret


ถ่ายภาพโดย Tony Pierce-Roberts (เกิดปี 1945) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Merchant Ivory ผลงานเด่นๆ อาทิ A Room with a View (1986), Mr. and Mrs. Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ค่อยมีเทคนิค ลวดลีลา แต่ต้องชมในการใช้แสงธรรมชาติ ถ่ายวิวทิวทัศน์ออกมาระยิบระยับ สวยงามตา โดดเด่นในการจัดวางองค์ประกอบ ออกแบบฉาก เลือกใช้สถานที่ถ่ายทำ ซึ่งล้วนมีนัยยะสำคัญซุกซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง

นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้กำกับ Ivory ถ่ายทำหนังด้วยกล้อง Super 35 อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.39:1) ซึ่งมีความกว้างยาว สามารถเก็บรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่า (อาจเพราะสมัยนั้นกำลังได้รับความนิยมกระมัง)

ต้นแบบ Howards End ในนวนิยายก็คือบ้านชนบท Rooks Nest House ตั้งอยู่ Stevenage, Hertfordshire เคยเป็นบ้านพักของ E. M. Forster ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก อาศัยอยู่ช่วงระหว่าง 1883-93 ซึ่งเจ้าของดั้งเดิมคือตระกูล Howards มีชื่อเสียงและร่ำรวยอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 18th

ในสมุดจดบันทึก ‘Rooksnest memoir’ ของ E. M. Forster เริ่มเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1894 (ตอนอายุ 15 ปี) กล่าวถึงเจ้าของบ้านเช่า Wilkinson ที่ไม่รู้มีปัญหาอะไรกับมารดา เลยถูกบีบบังคับให้ย้ายออก (ทั้งๆก็ไม่มีใครมาเช่าอาศัยอยู่ต่อ) ด้วยเหตุนี้เขาจึงเต็มไปด้วยอคติ(ต่อเจ้าของบ้านเช่าทุกแห่งหน) กลายเป็นแรงบันดาลใจตัวละคร Charles และ Ruth Wilcox

แต่สำหรับสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำ Howards End กลับคืน Peppard Cottage ตั้งอยู่ที่ Rotherfield Peppard, Oxfordshire สาเหตุเพราะเจ้าของขณะนั้นเป็นคนรู้จักของทีมงาน Production Designer เลยได้ค่าเช่าสถานที่ที่ถูกลงมากๆ … มองจากภายนอกก็มีความละม้ายคล้าย Rooks Nest House อยู่ไม่น้อยเลยนะ

ถ้าใครช่างสังเกตย่อมพบเห็นวิวัฒนาการของบ้านหลังนี้ด้วยนะ จะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและผู้พักอาศัย ช่วงถูกปล่อยให้รกร้างพบเห็นเพียงรากไม้ชอนไชตามผนัง, การมาถึงของ Margaret เต็มไปด้วยดอกไม้นานาสายพันธุ์ ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันตาเห็น

สำหรับสถานที่ถ่ายทำอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุง London ประกอบด้วย

  • แฟลตของครอบครัว Schlegel ถ่ายทำที่ Victoria Square, Westminster
  • แฟลตของตระกูล Wilcox ถ่ายทำที่ St James Court Hotel, Buckingham Gate
  • อพาร์ทเม้นท์ของ Leonard Bast ถ่ายทำยัง Park Street, Southwark
  • สถานที่สัมมนา Music and Learning ถ่ายทำยัง Oxford Town Hall, Oxfordshire
  • ห้างสรรพสินค้าช็อปปิ้ง Fortnum & Mason’s, Piccadilly
  • ธนาคารที่ทำงานของ Leonard Bast คือ The Baltic Exchange, St. Mary Axe
  • โรงพยาบาลที่ Margaret ไปเยี่ยมเยียน Mrs. Wilcox ถ่ายทำยัง Founder’s Building ที่ University of London
  • สถานีรถไฟ St. Pancras Station, St. Pancras และ Bewdley Station, Worcestershire
  • งานเลี้ยงแต่งงาน ถ่ายทำยัง Brampton Bryan Castle, Brampton Bryan
  • พายเรือในแม่น้ำ Henley-on-Thames, Oxfordshire

ฉากแรกของหนังชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Cries and Whisper (1972) เริ่มต้นที่ Mrs. Wilcox ก้าวออกเดินอย่างเรื่อยเปื่อยไปรอบๆบ้านชนบท Howards End แสดงถึงความเพ้อรำพัน ใฝ่ฝันถึงบางสิ่งอย่างที่ตนเองไม่เคยได้รับ มองเข้าไปภายในห้องหับพบเห็นสามีพร้อมแขกเหรื่อ ดูอบอุ่น พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน แต่เธอกลับยืนอยู่ภายนอกอย่างโดดเดี่ยวลำพัง หนาวเหน็บถึงขั้วหัวใจ

เมื่อรับชมไปเรื่อยๆหนังก็จะอธิบายว่า Mrs. Wilcox เป็นผู้หญิงที่ยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี เมื่อแต่งงานก็พร้อมเป็นช้างเท้าหลัง เพียงให้การสนับสนุนสามีอยู่เบื้องหลัง ไม่เคยมีสิทธิ์เสียง เข้าไปมีส่วนร่วม สนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ ทำให้บ้านหลังนี้มีเพียงความหนาวเหน็บ ไร้ชีวิตชีวา และปัจจุบันเมื่ออายุเพิ่มขึ้นมากๆ ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ เลยแค่เพ้อฝันล่องลอย จ้องมองความสุขที่ไม่เคยได้รับมา

ใครเคยอ่านหรือรับชม A View in the Room น่าจะตระหนักถึงความสำคัญของการจุมพิต แสดงถึง ‘passion’ การกระทำสิ่งตอบสนองเสียงเพรียกเรียกร้องของจิตใจ ซึ่งมักขัดต่อขนบประเพณีของสังคมยุคสมัยนั้น ด้วยเหตุนี้ตัวละคร Paul และ Helen จึงต้องแอบหลบออกมาภายนอกบ้าน (สถานที่แห่งกฎกรอบ ห้อมล้อมด้วยข้อบังคับทางสังคม) อยู่ท่ามกลางแมกไม้ พืชพันธุ์ (เพื่อสื่อถึงธรรมชาติของชีวิต)

สถานที่ที่ Paul บอกเลิกรากับ Helen ก็คือโรงรถ (สมัยนั้นเรียกว่า Motorcar) เพื่อสื่อถึงการเดินทางของฝ่ายชาย อธิบายด้วยเหตุผลว่าตนเองกำลังจะออกเดินทางไปไนจีเรีย บลา บลา บลา นั่นคือดินแดนทุรกันดาร ป่าเถื่อน ห่างไกลความเจริญ ไม่เหมาะสมกับหญิงผู้ดีอังกฤษ

จริงอยู่ไนจีเรียสมัยนั้นอาจไม่ใช่ประเทศที่มีความเจริญมั่งคั่ง แต่คำพูดดังกล่าวสะท้อนมุมมองของกลุ่มคนระดับสูงและ Upper-Middle Class มักแสดงออกด้วยการดูถูก เหยียดหยาม ‘Racism’ นี่เป็นสิ่งพบเห็นในหนังบ่อยครั้งทีเดียว!

แซว: วินาทีที่ Helen ถูกบอกเลิกรา สังเกตว่ามือกำลังลูบไล้ไฟหน้ารถ มันจะสื่อถึงอะไรเสื่อมๆนะ??

The goblin signifies the spirit of negation.
Panic and emptiness.
That is what the goblin signifies.

คำอธิบายของวิทยากร (แบบเดียวกับไนจีเรียที่เพิ่งอธิบายไป) สะท้อนมุมมองของกลุ่มคนระดับสูงและ Upper-Middle Class ต่อชนชั้นต่ำต้อยกว่า หรือบุคคลผู้ไม่มีความรู้ ความสนใจในศาสตร์ ศิลปะ วิทยาธร หรือสุนทรียะใดๆ ถือเป็นคำพูดดูถูกเหยียดหยาม ‘Racism’ สร้างความแตกแยกให้คนในสังคม

เมื่อ Helen ได้รับฟังคำอธิบายดังกล่าว เธอคงตระหนักว่านั่นเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง (เหมือนเป็นการดูถูกผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วยนะ!) เลยตัดสินใจรีบเผ่นหนีออกจากสถานที่แห่งนั้นโดยไม่สนว่าหยิบร่มใครต่อใคร

แฟลตของครอบครัว Schlegel แม้ดูแออัด คับแคบ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด (หนังสือ ภาพวาด ของสะสมมากมาย) รกรุงรังจนแทบไม่มีช่องว่างทางเดิน แต่สามพี่น้องก็อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น สนิทสนมชิดใกล้ เข้าใจกันและกัน … แต่หลังจากสูญเสียแฟลตหลังนี้ ทั้งสามต่างแยกย้าย กระจัดกระจาย ไม่มีโอกาสพบเจอพร้อมหน้ากันอีก

อพาร์ทเม้นท์ของ Leonard Bast มีสภาพเก่าๆ ชำรุดทรุดโทรม ค่าเช่าคงราคาไม่สูงมาก (เป็นห้องพักเหมาะสมกับชนชั้นฐานะ Lower-Middle Class) โทนสีแดงเข้มๆ (แสดงถึงอันตราย ความโชคร้าย ชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย) และยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ทำให้บ่อยครั้งได้ยินเสียง แสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา และทั้งห้องพักสั่นสะเทือนเลือนลั่น (สามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละครที่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นกลัว ตัวสั่นเทา ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จักมีข้าวกิน เอาตัวชีพรอดได้อย่างไร)

เพราะต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น Leonard Bast จึงมีที่พึ่งพิงคือหนังสือและจินตนาการ เพ้อใฝ่ฝันถึงการก้าวออกเดินไปตามทุ่งดอกไม้ ไล่ล่าดาวดาราบนฟากฟ้า (ล้อกับการเดินของ Mrs. Wilcox และภาพยนตร์ Cries and Whisper (1972)) คาดหวังว่าสักวันหนึ่งตนเองจักถูกปลดปล่อย ได้รับอิสรภาพ อยากทำอะไรก็ตามใจคาดหวัง

ดอกสีน้ำเงินที่พบเห็นก็คือ Bluebell หรือระฆังสีน้ำเงิน มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ ด้วยรูปลักษณะเหมือนระฆังคว่ำ สามารถสื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน แทนคำขอบคุณ จงรักภักดี นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของความหงอยเหงา เศร้าซึม (น่าจะเป็นความหมายที่ตรงกับฉากนี้มากกว่า)

แฟลตของครอบครัว Wilcox ในกรุง London ดูหรูหราด้วยลวดลายสไตล์ Edwardian เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์มากมาย ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ สะสมภาพวาดงานศิลปะ ฯ แสดงถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง มีระดับชนชั้น แต่ผู้อยู่อาศัยกลับพบเห็นเพียง Mrs. Wilcox และคนรับใช้ นั่งอยู่ข้างเตาผิงอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เฝ้ารอคอยวันตาย

หลังการเสียชีวิตของ Mrs. Wilcox จะมีการร้อยเรียงภาพดอกไม้หลากหลายสีสัน นานาสายพันธุ์ มันคงมีนัยยะความหมายของมันแต่ผมขี้เกียจหาข้อมูล เหมารวมแค่ว่าคือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ (หลังความตาย) หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น Howards End

เกร็ด: ภาพสุดท้ายที่พื้นหลังถ่ายติดบ้านชนบท Howards End แลดูเหมือนดอก Forget Me Not (ไม่รู้ใช่หรือเปล่านะ)

สภาพของ Howards End ภายหลังการเสียชีวิตของ Mrs. Wilcox มีความรกร้างว่างเปล่า สิ่งข้าวของถูกเก็บออกไปหมด ไม่หลงเหลืออะไรทั้งภายนอก-ใน แต่ปัญหาคือพินัยกรรมที่ต้องการส่งมอบบ้านหลังนี้ให้กับใครก็ไม่รู้ Margaret Schlegel สมาชิกในตระกูล Wilcox ต่างลงมติไม่เห็นด้วยทั้งหมดสิ้น

เป็นความบังเอิญระหว่างที่ Leonard Bast กำลังจิบน้ำชาอยู่ในแฟลตของครอบครัว Schlegel แล้วจู่ๆ Henry Wilcox เดินทางมาถึงแบบไม่มีใครเชื้อเชิญ นั่นสร้างความกระอ่วนเมื่อทั้งสองพบเจอหน้า สังเกตว่าต่างยืนอยู่คนละประตู คนหนึ่งกำลังจะออก อีกคนเพิ่งเดินเข้ามา เรียกว่ามีแตกต่างตรงกันข้าม ไม่สนหัว ไม่ต้องการสบตา

Henry: I’m asking you to be my wife.
Margaret: Yes. I know. I know.

โดยปกติแล้วการสู่ขอแต่งงาน มักถูกทำให้ความโรแมนติก คุกเข่า สวมแหวน พร่ำเพ้อรำพัน บังเกิดความซาบซึ้งกินใจ เพราะนี่คือเหตุการณ์สำคัญสุดในชีวิต! แต่สำหรับ Henry ผู้มีเย่อหยิ่งทะนงตนอันสูงส่ง หยุดยืนอยู่เบื้องบนบันได (ภาพด้านคือแมกไม้ผืนป่า กำลังแสดงออกในสิ่งที่เป็นพื้นฐานแห่งชีวิต) พูดกล่าวถ้อยคำง่ายๆมาเป็นภรรยากันไหม? Margaret ก็ตอบตกลงเหมือนไม่ได้รับรู้สึกอะไร แล้วก้าวเดินขึ้นไปจุมพิตเบาๆ (ภายในจิตใจคงปั่นป่วนพลุกพร่าน แต่เธอปฏิเสธที่จะเปิดเผยแสดงออกมา)

มันช่างกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่องที่ Paul ขอแต่งงาน Helen ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ‘passion’ จุมพิตกันอย่างดื่มด่ำ เร้าร้อน ร่านราคะ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์สามารถสะท้อนมุมมอง ความแตกต่างทางชนชั้นฐานะ

  • Upper-Middle Class มักจะควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงออกความต้องการออกมาตรงๆ แต่เต็มไปด้วยพิธีรีตรอง ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอน ยึดถือมั่นในความถูกต้องตามมโนธรรม/จริยธรรมทางสังคม
  • Lower-Middle Class แสดงออกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา หมกมุ่นมักมากในกามคุณ อ้างในอิสรภาพชีวิต โดยไม่สนใจอะไรใครอื่นนอกจากความพึงพอใจส่วนตน

หลังจากบิดา Henry หมั้นหมายกับ Margaret ฉากต่อไปลูกๆหลานๆตระกูล Wilcox มาซุบซิบรวมตัวยังสวนหลังบ้านชนบท Howards End และพบเห็น Charles (และภรรยา) กำลังกล่อมทารกน้อยให้หยุดร่ำร้องไห้

นี่เป็นซีนเล็กๆที่ทำให้ผมอมยิ้ม เพราะมันคือปฏิกิริยาของสมาชิกตระกูล Wilcox ที่ไม่พึงพอใจต่อบิดา/ปู่ จู่ๆหมั้นหมายกับหญิงสาวชนชั้นต่ำกว่า (ขณะที่บรรดาผู้ใหญ่เอาแต่พร่ำบ่น โบ้ยป้ายสีความผิดใส่ผู้อื่น ทารกน้อยไม่สามารถพูดเอ่ยคำใดๆก็เลยร่ำร้องไห้งอแงไม่ยอมหยุด)

Don’t take a sentimental attitude toward the poor. The poor are the poor. One is sorry for them, but there it is.

Henry Wilcox

คำพูดของ Henry คือจุดแตกหักความสัมพันธ์กับ Helen เพราะเธอไม่เห็นด้วยกับทัศนคติดังกล่าว จริงอยู่คนจนก็คือคนจน ไม่มีทางเราจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาทุกคน แต่ถ้าคุณคือบุคคลทำลายชีวิตเขาคนนั้น (Helen มองคำแนะนำของ Henry คือสิ่งที่ทำให้ Leonard ต้องตกงาน) ก็ควรต้องแสดงความรับผิดชอบ มิใช่แสร้งว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น!

ฟันหมู(ป่า)ที่ต้นเกาลัด จากเรื่องเล่าของ Mrs. Wilcox มาจนถึง Margaret ได้มีโอกาสพบเห็นเมื่อเดินทางมาถึง Howards End เจ้าสิ่งนี้สามารถมองในสัญลักษณ์ของเรื่องเล่า ปรับปรา วิถีความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา คล้ายๆขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี เป็นสิ่งที่บุคคลชนชั้นสูงมักหมกหมุ่นยึดติด กัดไม่ปล่อย เข้าใจทำให้มนุษย์มีความอารยะ แบ่งแยกชนชั้นวรรณะสูง-ต่ำ คุณค่าความเป็นคนออกจากกัน

ฉากงานแต่งงานของ Evie Wilcox จัดขึ้นที่คฤหาสถ์ Shropshire ถ่ายทำยังปราสาท Brampton Bryan Castle, Herefordshire ซึ่งจะพบเห็นซากปรักหักพังของป้อมปราการ สามารถสื่อถึงสถานะตระกูล Wilcox ที่กำลังค่อยๆแตกแยก ล่มทลาย ลูกๆหลานๆเริ่มระหกระเหิน แต่งงานแยกย้ายออกจากบ้าน

ด้วยความใคร่รู้ใคร่ฉงนสงสัยของ Margaret เลยก้าวออกไปสำรวจ (สังเกตว่าเธอมักจับกระโปรงขึ้นเพื่อให้เดินสะดวก ซึ่งแฝงนัยยะถึงการยกระดับชนชั้นฐานะ) หนังถ่ายทำให้เห็น Charles (และภรรยา) กำลังแอบซุบซิบนินทาอยู่เบื้องบน ส่วนหญิงสาวกำลังเดินไปเดินมาอยู่บริเวณด้านล่าง (ช็อตสุดท้ายของปราสาทหลังนี้จะมีมุมเงยขึ้นด้านบน สื่อถึงความเริดเชิดเย่อหยิ่งของตระกูล Wilcox ที่ยังคงหลงระเริง ครุ่นคิดว่าตนเองสูงส่งเหนือใคร)

เมื่อครั้น Margaret มีเรื่องต้องไหว้วานร้องขอ Henry เธอถึงกับนั่งลงกับพื้น ราวกับบริพาร ข้ารับใช้เจ้านาย แสดงตนว่าต่ำต้อยกว่า นอกจากนี้สังเกตจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

  • ฝั่งของ Henry มีกระดานหมากรุก สื่อถึงการเป็นนักวางแผน จอมบงการ ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆตามกฎกรอบเกณฑ์ที่สามารถสนองผลประโยชน์ส่วนตน
  • ส่วนฝั่ง Margaret พบเห็นต้นไม้สีเขียว ปล่อยทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ ครรลองของชีวิต

หลังจากที่ Henry เผชิญหน้ากับ Jacky บังเกิดความขี้ขลาด หวาดสะพรึงกลัว ปฏิเสธจะยินยอมรับความจริง ว่าในอดีตเคยปล่อยตัวปล่อยใจ คลุกคลีกับหญิงสาวชนชั้นต่ำ ไม่เชื่อมั่นว่า Margaret จักสามารถให้อภัยตนเอง ด้วยเหตุนี้หลังร่ำลาแขกเหรี่อ เสร็จแล้วพวกเขาจึงเดินแยกย้ายคนละทิศทางตั้งฉาก |__

ทางฝั่ง Margaret เดินขึ้นบนห้องพัก ทรุดลงร่ำร้องไห้อยู่หน้ากระจก แต่ผมไม่คิดว่าเธอรับไม่ได้กับความสัมพันธ์ดังกล่าวหรอกนะ แต่เป็นปฏิกิริยาแสดงออกของ Henry ที่จู่ๆก็ขับไล่ผลักไส ปฏิเสธพูดบอกอะไร แล้วฉันจะรับรู้ได้ยังไงว่าเคยมีสิ่งอันใดบังเกิดขึ้น

หลังจากสงบสติอารมณ์ได้แล้ว Margaret เข้าไปในห้องของ Henry เพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ แต่หนังบอกเล่าเรื่องราวจากอดีตเพียงคร่าวๆ แล้วทำการ Fade-In/Out รวบรัดตัดตอน นำเสนอเฉพาะคำพูดตอกย้ำๆซ้ำๆอยู่สองสามครั้ง จนพอสังเกตได้ว่าหญิงสาวมีสีหน้าเหน็ดเหนื่อยหน่ายอยู่เล็กๆ แค่ต้องการบอกว่าสามารถยินยอมรับ พร้อมให้อภัยทุกสิ่งอย่างจากอดีต ที่แล้วมาก็ผ่านพ้นไป ไม่ติดใจอะไรใครทั้งนั้น

  • เมื่อ Margaret เปิดประตูเข้ามาในห้อง สังเกตว่า Henry ยืนอยู่ตรงเตาผิง กำลังหมุนปรับนาฬิกา สามารถสื่อถึงต่อจากนี้กำลังจะเล่าเรื่องราวย้อนอดีต (Flashback) เหตุการณ์ทั้งหมดที่เคยบังเกิดขึ้น … ซึ่งเมื่อเล่าจบก็จะเดินวนกลับมาปิดหน้าปัตรนาฬิกานี้อีกครั้ง
  • ช่วงระหว่างการเล่าเรื่องย้อนอดีตของ Henry จะปฏิเสธมองหน้าสบตา Margaret ถ้าไม่ยกมือขึ้นมาปกปิดตรงๆ ก็เดินเวียนวนไปรอบห้อง
  • เมื่อทั้งสองสามารถพูดคุยปรับความเข้าใจ มองหน้าสบตา ภาพช็อตขวาสุดสังเกตพื้นด้านหลังจะมีภาพวาดสะพาน (พวกเขาสามารถเชื่อมโยง เข้าใจกันและกัน) และกระจกสะท้อนภาพวาดหญิงสาว (เธอจักอยู่ภายในจิตใจฉันตลอดไป)

ใครเคยรับชม Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir น่าจะมักคุ้นเคยกับฉากนี้ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของ(กลุ่มเคลื่อนไหว) Impressionist เรือพาย ริมตลิ่ง หนุ่มสาวพรอดรัก มันช่างหวานแหววโรแมนติก และมีความคลาสสิก!

ความสัมพันธ์ระหว่าง Leonard กับ Helen ถือว่าขัดต่อกฎหมาย หลักศีลธรรมจรรยา ขนบประเพณีทางสังคม เพราะฝ่ายชายแต่งงานอยู่กินกับ Jacky นี่เท่ากับเป็นการคบชู้นอกใจภรรยา แต่สำหรับหนุ่ม-สาวทั้งสองนี่คือการกระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ มิอาจหยุดยับยั้ง ควบคุมของตนเอง เพราะต่างฝ่ายต่างมีความโดดเดี่ยวอ้างว้าง บุคคลอยู่เคียงชิดใกล้กลับไม่สามารถเป็นที่พึ่งพักพิงอะไร (สองจิตวิญญาณเหงาๆมาพายเรือตามลำพัง มีหรือจะไม่ถาโถมเข้าใส่กัน)

ขณะที่พี่สาว Margaret ลงหลักปักฐานแต่งงานกับ Henry, น้องสาว Helen กลับระหองระแหง ออกเดินทางท่องเที่ยวยุโรป ไปจนถึงเยอรมนี พยายามหลบหลีกหนี ไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครๆรับรู้ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ (บิดาคือ Leonard เมื่อครั้นพายเรือริมตลิ่ง) โดยเธอจัดส่งโปสการ์ดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือภาพนี้ที่แอบบอกใบ้ว่าตนเองกำลังจะมีทารกน้อย

นี่เป็นซีนเล็กๆระหว่างพี่สาว Margaret กับน้องชาย Tibby สถานที่คือโขดหินริมหาด สายน้ำสาดกระเซ็นพัดเข้าหาชายฝั่ง สามารถสื่อถึงความปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง(ดั่งคลื่นลม)ภายในจิตใจทั้งสอง หวาดกลัวกันว่าอาจมีอะไรเลวร้ายบังเกิดขึ้นกับ Helen ถึงพยายามตีตนออกห่าง ปฏิเสธพบเจอหน้าคาดตา … จินตนาการไปไกลถึงล้มป่วย มีปัญหาทางจิตเวช

ถ้าผมดูไม่ผิด ดอกไม้ที่ขึ้นเป็นพุ่มๆอยู่ด้านหลังของ Helen น่าจะคือไฮเดรนเยีย (Hydrangea) สามารถสื่อถึงความนุ่มนวลน่าสัมผัส อีกทั้งยังมีความหมายแฝงแทนคำขอบคุณที่เข้าใจกัน หรือขอบคุณที่อยู่เคียงข้างกันตลอดมา (ทว่าบางคนบอกว่าดอกไม้ชนิดนี้สื่อถึงความเย็นชา เนื่องจากสามารถทนกับสภาพอากาศหนาวได้ดี)

หลังจากที่ Margaret เข้าใจสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Helen ต้องการร่ำร้องขอเพียงแค่ค่ำคืนนี้ให้เธอพำนักอาศัยอยู่ยัง Howards End แต่กลับกลายเป็นว่า Henry ปฏิเสธหัวชนฝา! มันอาจดูเหมือนไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ แต่การยืนกรานของเขาเพราะไม่ต้องการคลุกคลีหญิงสาวที่ตนเองตีตราว่าชั้นต่ำ กระทำสิ่งยินยอมรับไม่ได้ … นี่คือลักษณะของการดูถูก เหยียดหยาม ‘Racism’ ผ่านการปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียม

นี่เป็นฉากที่มีการลำดับความเป็นไปของตัวละครได้อย่างลุ่มลึกล้ำ สมบูรณ์แบบ!

  • เริ่มจาก Henry เชื้อเชิญให้ Margaret นั่งสงบสติอารมณ์ตรงเก้าอี้ ส่วนตัวเขายืนค้ำศีรษะอยู่ด้านหลัง แล้วพยายามพูดโน้มน้าว ควบคุมครอบงำ แสดงวิธีการแก้ปัญหาของตนเองออกมา
  • เมื่อ Henry เล่าความต้องการของตนเองจบลงก็เดินมานั่งตรงเก้าอี้ตัวข้างๆ แต่ Margaret กลับลุกขึ้นด้วยความไม่พึงพอใจ
  • จากนั้นนั่งลงเคียงข้างแล้วพูดข้อเรียกร้องของตนเอง ต้องการให้ Helen พำนักอาศัยค้างคืนยัง Howards End แต่ Henry กลับตอบปัดปฏิเสธ
  • เมื่อความพยายามโน้มน้าวไม่สำฤทธิ์ผล Margaret จึงลุกขึ้นก้าวเดินออกมา แต่ Henry ก็ตามมาข้างหลังติดๆเพื่อยื้อยักเธอเอาไว้
  • Margaret พยายามพูดโน้มน้าวอีกครั้ง ด้วยการยกตัวอย่างเรื่องที่ตนเองเคยยินยอมให้อภัยความสัมพันธ์กับ Jacky แต่แล้ว Henry กลับหันหลังให้ ขณะกำลังจะเดินจากไปหันมาบอกความต้องการตนเองคือสิ้นสุด ไม่ยินยอมให้ Helen พำนักค้างคืนยัง Howards End

สลิ่มก็คือสลิ่มวันยังค่ำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถตำหนิต่อว่าคนอื่น แต่ถ้าฉันเป็นผู้กระทำจักไม่เคยยินยอมรับความผิดประการใด เต็มไปด้วยความสองมาตรฐาน ใช้ชีวิตบนหอคอยงาช้าง ราวกับเทวดาบนดิน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน!

ความฝันสุดท้ายของ Leonard ครุ่นคิดถึง Helen ในวันฝนพรำ แต่ตัวเขาถูกกักขังไว้ตรงประตู ไม่อาจเอื้อมมือไขว่คว้า ร้องเรียกให้เธอกลับมา ก่อนตื่นขึ้นเพราะเสียงปลุกขบวนรถไฟ … ในความฝันนี้เหมือนหญิงสาวกำลังจะจากไป แต่การตีความ’นิมิต’ของตัวละคร มันกลับตารปัตรว่าเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตเคียงข้างเธอ หรือคือจุดสิ้นสุดการเดินทาง (เสียงรถไฟที่ปลุกตื่น ยังคือสัญลักษณ์ของการออกเดินทาง(สู่โลกหลังความตาย))

ระหว่างที่ Leonard กำลังเดินเท้าจากสถานีรถไฟ โดยไม่รู้ตัวพานผ่านท้องทุ่งดอกระฆังน้ำเงิน (Bluebell) ราวกับว่าชีวิตจริง-เพ้อฝัน กำลังบรรจบซ้อนทับ (หรือจะมองแค่ว่า Leonard กำลังจินตนาการถึงทุ่งดอก Bluebell ก็ได้เช่นกัน) โดยที่บ้านชนบท Howards End ได้กลายเป็นเป้าหมายปลายทาง(ชีวิต)

ความตายของ Leonard ไม่ได้เกิดจากถูกดาบทิ่มแทงฟาดฟัน แต่คือชั้นวางหนังสือหล่นทับใส่ สามารถสื่อถึงความเพ้อฝันที่พังทลาย (เพราะเขาชื่นชอบอ่านหนังสือ จินตนาการ ก้าวออกเดินในความฝัน เหม่อมองดาวดาราบนท้องฟากฟ้าอยู่เป็นประจำ)

แม้ว่า Margaret จะมีความตั้งใจไปจาก Henry ภายหลังคดีความนี้สิ้นสุด แต่ปฏิกิริยาแสดงออกอย่างสิ้นหวังของสามี ทั้งการยินยอมนั่งลงบนพื้นหญ้า (สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจที่ตกต่ำ หรือจะมองว่าเขาได้สูญเสียทิฐิ ความเย่อหยิ่งทะนงตน แทบไม่หลงเหลือสิ่งอื่นใด) และยกมือขึ้นปกปิดใบหน้า (แสดงถึงความอับอาย ยินยอมรับตนเองไม่ได้) ทำให้เธอมิอาจตัดใจทอดทิ้งเขาได้ลง

การนำเสนอด้วยภาพสโลโมชั่น เพื่อเน้นย้ำบทสรุปของ Charles เมื่อถูกควบคุมตัว สวมใส่กุญแจมือ กำลังค่อยๆก้าวย่างขึ้นขบวนรถไฟ ออกเดินทางไป(สู่ขุมนรุก)ดำเนินคดีความยังกรุง London คาดว่าคงถูกตัดสินจำคุกหัวโต ยังไม่รู้สาสำนึกผิดแก่ใจ

แม้มีหลายสิ่งอย่างที่พวกคนรวย ชนชั้นสูง (Upper-Middle Class) ได้รับอภิสิทธิ์เหนือสามัญชนทั่วไป แต่การเข่นฆ่าคนตายถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย สิ่งที่สังคมไม่สามารถยินยอมรับไหว (เอาจริงๆถ้ามีเส้นสายก็อาจลดโทษ เอาตัวรอดได้อยู่นะ!)

ปัจฉิมบท ชวนให้ระลึกนึกถึง Citizen Kane (1941) อยู่ไม่น้อยเลยละ! โดยเฉพาะภาพช็อตนี้ที่ถ่ายจากภายในบ้าน พบเห็น Helen กำลังเล่นสนุกสนานกับลูกๆอยู่นอกหน้าต่าง แต่พวกเธอไม่ต่างจากบุคคลภายนอก ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ไม่มีอำนาจในการครุ่นคิดตัดสินใจ เพียง Henry ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในบ้าน กำลังเล่าถึงแผนการอนาคตต่อไปของ Howards End

ภาพสุดท้ายของหนังมีลักษณะเป็น Long Take ใช้การเคลื่อนเลื่อนกล้องด้วยเครน เพื่อแสดงให้เห็นถึงแม้อาศัยอยู่ในบ้านชนบท Howards End แห่งเดียวกัน แต่กลับมีการแบ่งแยก/พบเห็นความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ Margaret vs. Helen ราวกับอยู่คนละโลกใบเดียวกัน

  • กล้องถ่ายระยะใกล้ เริ่มจาก Henry กับ Margaret ก้าวเดินออกจาก Howards End โบกมือร่ำลาลูกๆที่เดินทางกลับด้วยรถยนต์
  • ภาพมุมสูงถ่ายจากระยะไกล พบเห็นอีกฝากฝั่งตรงข้ามถนน Helen กำลังเล่นสนุกสนานกับลูกๆ และมีคันไถเทียมม้ากำลังตัดหญ้าให้เรียบเตียน

ตัดต่อโดย Humphrey Dixon (เกิดปี 1944) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Merchant Ivory เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Guru (1969) ก้าวขึ้นมามีผลงานเด่นๆ อาทิ Heat and Dust (1983), A Room with a View (1986), Mr. and Mrs. Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ

หนังไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด แต่เวียนวนสลับไปมาระหว่างสามตระกูลหลัก Wilcox, Schlegel และ Bast โดยมี Margaret และ Helen Schlegel คือศูนย์กลางที่จะคอยเชื่อมโยงระหว่าง Henry Wilcox กับ Leonard Bast (ซึ่งสองคนนี้ต่างไม่ยินยอมพบเจอหน้า สบตากันเสียด้วยซ้ำ!)

  • อารัมบท ณ บ้านชนบท Howards End
    • Helen กำลังจะหมั้นหมายกับ Paul แต่เช้าวันถัดมาถูกเขาล้มเลิกแผนการ
  • เรื่องราวของ Mrs. Wilcox
    • Helen ลักขโมยร่มของ Leonard ทำให้มีโอกาสพบเจอ รับรู้จัก
    • ตระกูล Wilcox มาพำนักพักอาศัยอยู่แฟลตตรงกันข้าม Margaret เข้าไปสานความสัมพันธ์ Mrs. Wilcox ชักชวนมารับประทานอาหาร เดินช็อปปิ้ง ก่อนพบว่าเธอป่วยหนัก และเสียชีวิต
  • Henry Wilcox และ Margaret Schlegel
    • ครอบครัว Wilcox ปฏิเสธจะส่งมอบ Howards End ให้กับ Margaret
    • แต่หลังจากที่บิดา Henry ได้มีโอกาสพบเจอรับรู้จัก ตกหลุมรัก เลยตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน
  • Leonard Bast และ Helen Schlegel
    • ชีวิตของ Leonard ค่อยๆตกต่ำลง ถูกไล่ออก ไม่สามารถหางานทำ
    • การเผชิญหน้าระหว่าง Henry กับ Jacky ทำให้เหตุการณ์ในอดีตถูกขุดคุ้ยออกมา
    • Leonard พายเรือไปกับ Helen จากนั้นก็แอบมีความสัมพันธ์ชู้สาว
  • สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงของ Henry Wilcox และโศกนาฎกรรมของ Leonard Bast
    • Helen ออกเดินทางไปเยอรมัน หลบลี้หนีหน้า Margaret เพราะไม่ต้องการเปิดเผยว่าตนเองตั้งครรภ์
    • แต่เมื่อ Margaret รับรู้ถึงความจริง พยายามโน้มน้าว Henry แต่เขากลับปฏิเสธต่อต้านหัวชนฝา
    • โศกนาฎกรรมของ Leonard
  • ปัจฉิมบท ณ บ้านชนบท Howards End
    • Henry ตัดสินใจส่งมอบ Howards End ให้กับ Margaret

การดำเนินเรื่องของหนังมีลักษณะก้าวกระโดดไปข้างหน้า นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ ส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องราวหลักเท่านั้น ยกเว้นเพียงอารัมบท-ปัจฉิมบทที่จะมีปรากฎข้อความ หลายเดือนถัดไป! และหน้าร้อนถัดไป! สำหรับแบ่งแยกแยะจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด เวียนวนหวนกลับมาบรรจบครบรอบ

หลายครั้งในฉากเดียวกันนั้น จะมีการใช้เทคนิค Fade-Out และ Fade-It เพื่อย่นย่อการสนทนาอันเยิ่นยาว ไม่จำเป็นที่ผู้ชมต้องรับรู้รายละเอียดทั้งหมด(ที่ไม่น่าสนใจ) เพียงบทสรุป เหตุและผลการตัดสินใจ ซึ่งก็จะเวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่สองสามครั้ง พอหอมปากหอมคอ … ผมเชื่อว่าฉากสนทนาเหล่านั้นคงมีการถ่ายทำแบบเต็มๆ แต่พอเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ ค้นพบว่ามันเยิ่นยาวเกินความจำเป็นเลยต้องหาทางย่นย่อ ตัดออก เพราะแค่นี้ก็ 142 นาทีเข้าไปแล้ว!

แซว: ไดเรคชั่นการตัดต่อ มีความละม้ายคล้ายภาพยนตร์ของ Martin Scorsese อยู่ไม่น้อยเลยนะครับ!


เพลงประกอบโดย Richard Robbins (1940-2012) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Merchant Ivory ผลงานเด่นๆ อาทิ Heat and Dust (1983), A Room with a View (1985), Maurice (1987), Mr & Mrs Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ

งานเพลงของ Robbins เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา หลากหลายอรรถรส สไตล์เพลงและเครื่องดนตรี อาทิ แอคคอร์เดียน, แมนโดลิน, ไวโอลิน, เชลโล่, โอโบ, คาริเน็ต ฯลฯ เพื่อมอบสัมผัสระยิบระยับ สถานที่แห่งอุดมคติเพ้อฝัน บางครั้งแทนเรื่องราวอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ รสชาติหวานขม โอ้ละหนอชีวิต!

สำหรับ Main Theme เลือกใช้บทเพลง Bridal Lullaby (1914) แต่งโดย Percy Grainger (1882-1961) คีตกวีสัญชาติ Australian เกิดที่ Brighton, Colony of Victoria แล้วเดินทางมาร่ำเรียนดนตรียัง Hoch Conservatory, Frankfurt หลังจากนั้นทำงานอยู่ London ก่อนอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1916

เกร็ด: Bridal Lullaby คือบทเพลงที่ Percy Grainger ประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นของขวัญแต่งงานให้(อดีต)หญิงสาวคนรัก Karen Holten ที่กำลังจะครองรักกับชายอื่น ท่วงทำนองจึงมีความหวานขม อมเศร้าโศก แต่ก็อำนวยอวยพรขอให้เธอประสบโชคดีมีชัย

Helen and Paul Call it Off บทเพลงมอบสัมผัสอันน่าพิศวง ชวนให้สับสน ค่ำคืนก่อน Helen ตอบตกลงหมั้นหมายกับ Paul แต่แค่เพียงเช้าวันถัดมากลับถูกบอกเลิกรา ไม่รู้จะหัวร่อหรือเศร้าโศกเสียใจ เพราะไม่ทันจะมีปฏิกิริยาอารมณ์ใดๆเกิดขึ้นทั้งนั้น

Music and Meaning บรรยายโดยใช้บทเพลง Beethoven: Symphony No. 5 หรือที่รู้จักในชื่อ Victory Symphony มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ท่อน แต่ที่มีการกล่าวถึงในหนังคือ III. Scherzo, Allegro (ท่วงทำนองของผู้พ่ายแพ้) ซึ่งจะมีความนุ่มนวล ละอ่อนไหว แต่ในสายตาของวิทยากรกลับมองว่าคือท่วงทำนองของก็อบลิน สิ่งมีชีวิตที่น่าสมเพศเวทนา ไม่มีความสลักสำคัญใดๆ เพียงความเวิ้งว่างเปล่า ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ

บทเพลงที่เป็นตัวแทนของตระกูล Bast สัมผัสได้ถึงความท้อแท้ ห่อเหี่ยว หมดสิ้นหวังอาลัย ชีวิตแทบไม่ได้รับโอกาสใดๆ ประสบแต่เรื่องร้ายๆ พบเจอภยันตรายรอบทิศทาง ไม่รู้เหมือนกันว่าสองสามี-ภรรยา Leonard & Jacky จักสามารถอดรนทนไปอีกนานแค่ไหน ปัจจุบันแค่พร่ำเพ้อฝัน สักวันจักสามารถขวนไขว่คว้าดาวดารา ค้นพบเจอหนทางออกของชีวิตเสียที

หนึ่งในบทเพลงที่ผมรู้สึกว่ามีความน่าสนใจมากๆก็คือ An Unexpected Proposal ฉากที่ Henry นำพา Margaret เดินเยี่ยมชมคฤหาสถ์หลังใหญ่ แล้วจู่ๆพูดขอแต่งงานแบบไม่มีพิธีรีตรองอะไร โดยปกติการสู่ขอควรมีทำนองตื่นเต้น เต็มไปด้วยชีวิตชีวา แต่บทเพลงนี้กลับบรรยากาศหม่นๆ แม้สัมผัสระยิบระยับในบางครั้งครา แต่ก็ไม่ค่อยน่าอภิรมณ์เริงใจ ซุกซ่อนไว้ด้วยภยันตราย สิ่งชั่วร้ายคืบคลานเข้าใกล้

หลังการเผชิญหน้าระหว่าง Henry กับ Jacky เช้าวันถัดมา Leonard พายเรือพา Helen ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ บทเพลง On the River รำพันถึงความระทมทุกข์ (ของ Leonard) เล่าเรื่องราวชีวิตให้กับ Helen ชายหนุ่มตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง หญิงสาวก็รู้สึกสงสารเห็นใจ เมื่อพวกเขามาถึงริมชายฝั่ง ก็มิอาจอดกลั้นความต้องการของจิตใจ

Leonard’s Death เป็นบทเพลงที่สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่ท่อน

  • เริ่มต้นด้วย Beethoven: Symphony No. 5, III. Scherzo, Allegro ท่วงทำนองของผู้พ่ายแพ้
  • จากนั้นก้าวย่างออกเดินทาง ด้วยกลิ่นอายบทเพลงสไตล์ Philips Glass
  • มุ่งหน้าสู่บ้านชนบท Howards End สถานที่ที่ราวกับสรวงสวรรค์ แต่สิ่งพบเจอกลับคือการเผชิญหน้าความขัดแย้ง
  • นำพาสู่การต่อสู้ ก่อเกิดโศกนาฎกรรม หายนะที่ไม่มีใครคาดคิดถึง

Ending Credit นำอีกบทเพลงของ Percy Grainger ชื่อว่า Mock Morris (1910) ประพันธ์ไว้สองฉบับ เดี่ยวเปียโน และเครื่องสายออร์เคสตรา (ปัจจุบันมีการเรียบเรียงฉบับเครื่องเป่าออร์เคสตรา เหมือนว่าจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามใน Youtube) ท่วงทำนองมีความสนุกสนานครื้นเครง ผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดของหนัง ถ้าบ้านชนบท Howards End ได้รับการส่งมอบให้ Margaret ตามพินัยกรรมตั้งแต่แรก เรื่องวุ่นๆวายๆ โศกนาฎกรรมทั้งหลายคงไม่มีโอกาสบังเกิดขึ้นแน่แท้

บ้าน คือสถานที่สำหรับพักอาศัย ใช้หลับนอน อยู่ร่วมชายคาเดียวกันของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมักได้รับการเปรียบเทียบระดับจุลภาคของประเทศชาติ ที่ประชาชนต่างประกอบสัมมาอาชีพ ดำรงชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน!

Howards End คือบ้านชนบทห่างไกล สามารถเปรียบเทียบได้ประเทศอังกฤษ เป็นสถานที่ราวกับมีชีวิต (ขึ้นอยู่กับสมาชิกผู้พักอาศัย) เจ้าของดั้งเดิมคือ Mrs. Wilcox อาศัยมาตั้งแต่ถือกำเนิด เธอมีความคร่ำครึ หัวโบราณ ยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี แต่กลับเขียนพินัยกรรมต้องส่งมอบบ้านหลังนี้ให้ใครก็ไม่รู้ Margaret Schlegel หญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษ-เยอรมัน สร้างความไม่พึงพอใจแก่สามีและลูกหลาน

Henry Wilcox ผู้มั่งคั่งร่ำรวย ชนชั้นสูง (Upper-Middle Class) เป็นเจ้าของบ้าน คฤหาสถ์หลายหลัง ไม่ต่างอะไรจากพฤติกรรมจักรวรรดิอังกฤษ ครอบครองประเทศอาณานิคมมากมาย ปกครองใต้หล้าโดยไม่ใคร่สนความถูกต้อง หลักมโนธรรม/ศีลธรรม สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการพึงพอใจส่วน และมักแสดงอคติรังเกียจเหยียดหยามบุคคลต่ำต้อยกว่า (คงเพราะได้รับการปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง มาตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นเด็ก เลยสืบต่อไปถึงลูกหลาน)

Margaret แม้ชนชั้นฐานะต่ำต้อยกว่า Henry แต่เพราะเป็นคนมีความรู้ความสามารถ เข้าใจสถานภาพของตนเอง รู้จักการใช้มารยาหญิง อีกทั้งยังหลงใหลศาสตร์ศิลปะ วิทยาธร และสุนทรียะในการใช้ชีวิต จึงทำให้เขาชื่นชอบหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ คาดหวังจะได้ครองคู่แต่งงาน … แม้ต้องแลกกับการก้มหัวศิโรราบ ก็ไม่ได้ขัดขืนต่อต้านประการใด

ปัญหาของ Margaret ก็คือน้องสาว Helen ที่มีความเห็นอกเห็นใจ Leonard เลยเต็มไปด้วยอคติต่อต้าน Henry เธอจึงพยายามทำตัวเป็นสื่อกลาง เชื่อมโยงบุคคลทั้งสองชนชั้นเข้าหากัน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต่างฝ่ายต่างมีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ปฏิเสธมองหน้าสบตา ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ จนนำพาให้บังเกิดโศกนาฎกรรม

Leonard คือตัวแทนกลุ่มคนชนชั้นล่าง (Lower-Middle Class) แม้เต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่เพราะฐานะยากจน ทำให้ชีวิตต้องต่อสู้ดิ้นรน ไร้หนทางในอาชีพการงาน กลายเป็นของเล่น/บันไดเหยียบย่ำสำหรับชนชั้นสูงกว่า แม้ได้รับความช่วยเหลือจาก Helen กลับเลือกศักดิ์ศรี ไม่ต้องการติดหนี้บุญคุณ กระทั่งอารมณ์ชั่ววูบทำหญิงสาวตั้งครรภ์ นั่นนำพาให้เขาประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

โศกนาฎกรรมของ Leonard มองมุมหนึ่งเกิดจากความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่เจียมตน ลุ่มหลงระเริงในอารมณ์กระทำสิ่งขาดสติ นอกใจภรรยาจน Helen ตั้งครรภ์, ส่วนอีกแง่มุมตรงกันข้ามถือเป็นเรื่องของโชคชะตา ค่านิยมสังคม อคติทางชนชั้นที่ถูกเสี้ยมสอนปลูกฝัง เต็มไปด้วยความรังเกียจเหยียดหยาม ‘Racism’ ไม่เห็นคุณค่า ความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ หรือเรียนรู้จักการให้อภัย

การล่มสลายของตระกูล Wilcox คือคำพยากรณ์ของผู้แต่ง E. M. Forster (เขียนนวนิยายเล่มนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910) เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งในอนาคต สหราชอาณาจักรต้องสูญเสียประเทศราช อาณานิคม จนต้องซมซานหวนกลับบ้าน แล้วถูกยึดครอบครองโดยชนชั้นกลาง (Middle Class) ไม่ใช่ขุนนาง นายทุน หรือกลุ่มคนชั้นสูง (Upper-Middle Class) อีกต่อไป == Margaret แท้จริงแล้วเธอคือเจ้าของบ้านชนบท Howards End โดยชอบธรรมที่ Mrs. Wilcox ต้องการส่งมอบต่อให้ แต่ Henry และลูกๆต่างยื้อยัก แสร้งทำเป็นไม่รับรู้ พยายามต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นผลสุดท้ายแห่งโชคชะตากรรม สถานที่แห่งนี้ก็ยังตกเป็นของ Margaret อยู่วันยังค่ำ!

ขณะที่ A Room with a View มีเพียงการเลือกข้างของหญิงสาวระหว่างอนุรักษ์นิยม vs. เสรีชน, Howards End พยายามแสดงให้เห็นถึงอคติของสองฟากฝั่ง ไม่ใช่แค่อนุรักษ์นิยม-เสรีชน ยังเพิ่มเติมความแตกต่างทางฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ (Upper-Middle Class vs. Lower-Middle Class) ที่ดูแล้วปัญหาสังคมดังกล่าวคงไม่มีหนทางปรับเปลี่ยนแก้ไข สลิ่มก็ยังเป็นสลิ่มวันยังค่ำ!

โลกปัจจุบันนี้ไม่ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมเลยนะครับ! ความขัดแย้งโดยเฉพาะระหว่างชนชั้นกลับยิ่งทวีความแตกต่าง เลวร้ายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดูอย่างประเทศสารขัณฑ์ที่บรรดาชนชั้นผู้นำต่างเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน สนเพียงพรรคพวกพ้อง ถึงขนาดสร้างข้อกฎหมายเพื่อกำจัดบุคคลคิดเห็นต่าง ไม่เห็นหัวประชาราษฏร์ ปล่อยให้ประสบโศกนาฎกรรมไปวันๆ


หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในสายการประกวด (In-Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes แต่เหมือนว่าคณะกรรมการปีนั้นไม่รู้จะมอบรางวัลอะไร เลยจัดให้ 45th Anniversary Prize (ก็ไม่รู้ว่ามันมีค่ามากหรือน้อยกว่า Palme d’Or)

แซว: ทุกๆ 5-10 ปี ของเทศกาลหนังเมือง Cannes มักมีการมอบรางวัลครบรอบอะไรสักอย่างนี้อยู่บ่อยครั้งเลยนะ ล่าสุดก็ 75th Anniversary Prize ให้กับสองพี่น้อง Jean-Pierre และ Luc Dardenne จากผลงาน Tori and Lokita (2022)

ด้วยทุนสร้าง $8 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั้งหมด $26.3 ล้านเหรียญ ถือว่าทำกำไรกลับคืนมาไม่น้อยทีเดียว! ช่วงปลายปีก็มีโอกาสลุ้นรางวัลมากมาย ประกอบด้วย

  • Academy Awards เข้าชิง 9 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
    • Best Picture พ่ายให้กับ Unforgiven (1992)
    • Best Director
    • Best Actress (Emma Thompson) ** คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actress (Vanessa Redgrave)
    • Best Adpated Screenplay ** คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
    • Best Art Direction ** คว้ารางวัล
    • Best Costume Design
    • Best Original Score
  • Golden Globe Awards เข้าชิง 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
    • Best Motion Picture – Drama
    • Best Director
    • Best Actress – Drama (Emma Thompson) ** คว้ารางวัล
    • Best Screenplay
  • British Academy Film Awards เข้าชิง 11 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
    • Best Film ** คว้ารางวัล
    • Best Direction
    • Best Actress (Emma Thompson) ** คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (Samuel West)
    • Best Supporting Actress (Helena Bonham Carter)
    • Best Adapted Screenplay
    • Best Cinematography
    • Best Editing
    • Best Production Design
    • Best Costume Design
    • Best Make Up Artist

เหมือนว่าหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ แต่มีการสแกน High-Definition ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Tony Pierce-Roberts และผ่านการอนุมัติโดยผู้กำกับ James Ivory สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

หลังจากความผิดหวังในการรับชม A Room with a View (1985) ผมเลยไม่ได้คาดหวังอะไรกับ Howards End (1992) แต่ก็ต้องบอกเลยว่าคาดไม่ถึง! เพราะเรื่องราวที่สลับซับซ้อน รายละเอียดยิบย่อยกว่ามากๆ ภาพสวย เพลงเพราะ ตัดต่อน่าสนใจ โคตรการแสดงของ 1) Emma Thompson 2) Anthony Hopkins 3) Vanessa Redgrave 4) Helena Bonham Carter ไม่มีใครย่อหย่อนกว่าใคร และโดยเฉพาะไดเรคชั่นผู้กำกับ James Ivory เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา ก้าวมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพการงานเลยก็ว่าได้

ความชื่นชอบส่วนตัวต่อนวนิยายของ E. M. Forster ประกอบด้วย Howards End >= A Passage of India > Maurice > A Room with a View

ส่วนความชื่นชอบต่อฉบับดัดแปลงภาพยนตร์ มีสลับตำแหน่งกันนิดหน่อย A Passage of India (1985) >= Howards End (1992) > Maurice (1987) >> A Room with a View (1985)

แนะนำคอหนังดราม่า โรแมนติก ย้อนยุคสมัย Edwardian (1901-10), นำเสนอประเด็นสังคม ความแตกต่างทางชนชั้นฐานะ, ตากล้อง ช่างภาพ ศิลปิน จิตรกร มีทิวทัศน์ภาพถ่าย ภาพวาดศิลปะสวยๆมากมาย, แฟชั่นดีไซเนอร์ สถาปนิก นักออกแบบ, โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบดอกไม้ นักจัดสวน และแฟนๆนวนิยาย E. M. Forster ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต 13+ จากความสุดโต่งในโลกทัศน์ของคนรวยต่อคนจน และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | ผู้กำกับ James Ivory ได้ก่อร่างสร้างคฤหาสถ์ Howards End ให้กลายเป็นเกียรติยศสูงสุดในอาชีพการงาน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: