Hugo (2011)
: Martin Scorsese ♥♥♥♥♡
นี่เป็นหนังไม่เหมือนเรื่องไหนของ Martin Scorsese น่าจะใกล้กับจิตใจ สะท้อนชีวิตวัยเด็กของเขามากที่สุด, เรื่องราวของศิลปินผู้สร้าง’ภาพยนตร์’ เล่าผ่านมุมมองของเด็กชายที่ยังไร้เดียงสา อดีตมันคือความทรงจำยิ่งใหญ่หรือจะเพียงแค่ความเพ้อฝันอันขมขื่น, เข้าชิง Oscar 11 สาขา ได้มา 5 รางวัล “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมมีโอกาสรับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ 3 มิติ (IMAX) รู้สึกเต็มอิ่มคุ้มค่ามากๆ สมคำร่ำลือที่ใครต่อใครว่าไว้ เป็นหนังที่ใช้ความสามารถของเทคโนโลยี 3 มิติได้คุ้มค่าที่สุดในขณะนั้น [ขนาด James Cameron ที่ได้รับชมรอบปฐมทัศน์ยังพูดชื่นชม เรียกว่า ‘Masterpiece’ โดยเฉพาะงานภาพสามมิติสวยงามกว่า Avatar ของตนเป็นไหนๆ] แต่ถ้าเทียบถึงสมัยปัจจุบัน 2017 ผมคิดว่า Gravity (2013) น่าจะเลิศที่สุดนะ
ปัจจุบันคงเป็นไปได้ยากแล้วที่จะหารับชมหนังเรื่องนี้ในคุณภาพสมบูรณ์แบบที่สุด ผมเคยเห็นแผ่น Blu-Ray ที่เป็นแบบสามมิติ แต่ว่ากันตามตรง นำมารับชมกับโทรทัศน์หรือโปรเจคเตอร์ มันจะสวยงามยิ่งใหญ่อลังการกว่าบนจอภาพยนตร์ได้อย่างไร
GK Films ได้ลิขสิทธิ์นิยายเรื่อง The Invention of Hugo Cabret เขียนโดย Brian Selznick มาตั้งแต่ปีที่วางขาย 2007 ในตอนแรกเซ็นสัญญาให้ Chris Wedge เป็นผู้กำกับแต่ภายหลังได้ถอนตัวไป, Martin Scorsese ได้รับหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญวันเกิดจากลูกสาว Francesca Scorsese ที่แอบหวังว่าจะเห็นพ่อดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และแอบกระซิบบอกว่าต้องเป็น 3 มิติเท่านั้นด้วย
เมื่อ Martin Scorsese อ่านนิยายเรื่องนี้ เขาเกิดความประทับใจต่อติดกับนิยายเรื่องนี้อย่างมาก คงเพราะมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริงสมัยวัยเด็ก ต้องการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ต่อจาก Shutter Island (2010) ทันที มอบหมายให้ John Logan ดัดแปลงบทภาพยนตร์ และตั้งใจให้ Sir Ben Kingsley รับบท Georges Méliès เท่านั้น
เกร็ด: ผู้เขียน Brian Selznick เมื่อได้ยินว่า Marty จะเป็นผู้ดัดแปลงภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดีใจมาก บอกว่า ‘แน่นอนต้องกำกับโดย Martin Scoresese เท่านั้น’
ณ กรุง Paris ปี 1931 เด็กชายกำพร้า Hugo Cabret อาศัยหลบซ่อนอยู่ในสถานีรถไฟ Gare Montparnasse เรียนรู้ที่จะซ่อมนาฬิกาและกลไกทุกสิ่งอย่าง มีความต้องการทำให้หุ่น Automation ที่พ่อเหลือทิ้งไว้ก่อนเสียชีวิตทำงานได้ แต่การผจญภัยค้นหาก็ต้องพบกับอุปสรรค อันประกอบด้วยชายแก่พิศวงเจ้าของร้านขายของเล่น ที่จับได้ว่าเขาเป็นคนขโมยของ, นายตำรวจประจำสถานีรถไฟร้อมกับหมาพันธุ์ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) ที่แสนดุ ฯ เด็กชายจะสามารถค้นพบความลับและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้หรือไม่
นำแสดงโดย Asa Butterfield เด็กชายชาวอังกฤษ เกิดปี 1997 ที่ London เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่เริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง The Boy in the Striped Pyjamas (2008) ตามมาด้วย The Wolfman (2010), Nanny McPhee and the Big Bang (2010) ฯ
รับบท Hugo Cabret แววตาของเด็กชายเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้า เขาเสียพ่อที่ตนรักยิ่งไปกับอุบัติเหตุไฟไหม้ ลุงขี้เมาก็แทบไม่เคยสนใจ ปัจจุบันอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในวังวนกลไกของสถานีรถไฟ เหมือน’หนู’ที่อาศัยอยู่ตามท่อน้ำใต้ดิน, ปมของเด็กชายคือ เขาต้องการใครสักคนที่สามารถเป็นเพื่อน/ครอบครัว พึ่งพิงทางใจได้ สิ่งที่เขาออกตามหาคือกุญแจรูปหัวใจ ซึ่งเป็นสิ่งไขความลับของหุ่น Automation แต่จะสามารถค้นหาพบได้หรือเปล่า?
เกร็ด: ของเล่นที่ Méliès ใช้หลอกล่อ Hugo ในฉากแรกคือหุ่นหนู นี่เรียกว่าเป็นแผนไล่จับหนูหัวขโมยสินะ
Chloë Grace Moretz สาวน้อยมหัศจรรย์สัญชาติอเมริกัน เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผลงานที่ทำให้เป็นที่รู้จักคือ The Amityville Horror (2005), (500) Days of Summer (2009), Kick-Ass (2010), Let Me In (2010) ฯ มักได้รับบทเด็กหญิงจอมแก่น ที่ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้านไปทั่ว
รับบท Isabelle ที่มีคาแรคเตอร์ตรงตาม Moretz เลยละ เพียงแต่คราวนี้เธอเป็นหนอนหนังสือ ที่มีความอยากรู้อยากเห็นอยากตื่นเต้นผจญภัย ตามแบบเรื่องราวจินตนาการในหนังสือที่อ่าน, การพบกับ Hugo ได้ตอบสนองความต้องการในใจของตน และเธอเป็นผู้ครอบครองบางสิ่งอย่าง ที่เป็นกุญแจไขความลับของหุ่น Automation ตนนี้, ชีวิตจะไปสนุกอะไรถ้าเอาแต่คิดจินตนาการ พบเจอเรื่องราวในโลกความจริงต่างหากคือสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิต
เกร็ด: ในระหว่างที่ Isabelle เดินตาม Hugo เข้าไปในรังลับของเขา เธอพูดว่า ‘I feel just like Jean Valjean!’ ผมบังเอิญดูหนังเรื่อง Les Míserables (2012) มาเมื่อหลายวันก่อนเลยนึกขึ้นมาได้ ว่าไปตัวละครของ Sacha Baron Cohen ก็คล้ายๆ Inspector Javert ที่คอยตามจองเวรจองกรรม Jean Valjean จนถึงที่สุด, แต่เดี๋ยวนะ Sacha Baron Cohen ก็มีบทใน Les Misérables (2012) ที่เล่นเป็นนักต้มตุ๋น Thernardier คู่กับ Helena Bonham Carter
เกร็ด: บทกวีที่ Isabelle ร่ายขึ้นชื่อว่า A Birthday เขียนขึ้นโดย Christina Georgina Rossetti เมื่อปี 1861 มีใจความพรรณาถึงความรักต่ออะไรสักอย่าง (คนทั่วไปจะคิดว่าคือผู้ชาย แต่ผมอ่านเจอว่าอาจเป็นความเชื่อศรัทธาต่อศาสนา)
My heart is like a singing bird
Whose nest is in a water’d shoot;
My heart is like an apple-tree
Whose boughs are bent with thickset fruit;
My heart is like a rainbow shell
That paddles in a halcyon sea;
My heart is gladder than all these
Because my love is come to me.
Raise me a dais of silk and down;
Hang it with vair and purple dyes;
Carve it in doves and pomegranates,
And peacocks with a hundred eyes;
Work it in gold and silver grapes,
In leaves and silver fleurs-de-lys;
Because the birthday of my life
Is come, my love is come to me.
Sir Ben Kingsley นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ชื่อตอนเกิดคือ Krishna Bhanji มีผลงานการแสดงต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ได้ Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง Gandhi (1982) รับยศแต่งตั้งเป็นอัศวิน ท่านเซอร์เมื่อปี 2002 เคยร่วมงานกับ Marty เรื่อง Shutter Island (2010)
รับบท Georges Méliès นักมายากล/ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นบุกเบิก Special Effect ที่มีผลงานกว่า 500 เรื่อง แต่ได้สูญหายไปกว่าครึ่ง, Méliès ในช่วงชีวิตหนึ่งรู้สึกเหมือนตัวเองถูกทอดทิ้งจากสังคม เหตุเกิดจากสงครามโลกที่ทำให้ไม่มีใครสนใจผลงานของเขาอีกแล้ว จนคิดไปว่าตนถูกหลงลืม ปลักอยู่กับความทุกข์โศก และกีดกันทุกสิ่งอย่างที่ทำให้หวนนึกถึงอดีต
ปัจจุบันในหนัง Méliès เป็นเจ้าของร้านขายของเล่นแห่งหนึ่งในสถานีรถไฟ Gare Montparnasse เมื่อได้พบกับ Hugo เห็นแบบร่างหุ่น Automation ที่ตนสร้างขึ้น เกิดความหวาดกลัวต่ออดีตที่กลับมาหลอกหลอน ตั้งใจจะทำลายหนังสือเล่มนั้นแต่ไม่สามารถทำได้ (แต่หนังสือเล่มนั้นก็หายไปเลยนะครับ ไม่โผล่ออกมาอีกเลย) การได้พบกับเด็กชาย เป็นเหตุให้อดีตที่อยากหลงลืมถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอีกครั้ง
แถมให้อีกคนกับ Sacha Baron Cohen รับบท Inspector Gustave Dasté ผลกระทบจากสงครามโลกทำให้ขาข้างหนึ่งเป็นอัมพาตพิการถาวร ต้องใช้เครื่องช่วยเดินที่ไม่ได้มีคุณภาพนัก (ต้องหยอดน้ำมัน ให้หมาเลียข้อต่ออยู่เรื่อยๆ) พื้นหลังจริงๆคงเป็นเด็กกำพร้า เรียนรู้การอยู่ด้วยตัวคนเดียวอย่างทุกข์ยาก เพราะเหตุนี้เวลาเห็นเด็กขอทานไร้ที่อยู่ จึงจับมาขังกรงแล้วส่งให้สถานที่รับเลี้ยง เพราะจะได้ไม่กลายเป็นปัญหาต่อผู้อื่น
เกร็ด: ฉากเปิดของหนัง มีตัวละครบางตัว ที่ถ้าสังเกตดีๆจะมีใบหน้าคล้ายกันบุคคลผู้มีชื่อเสียงในอดีต อาทิ Django Reinhardt, James Joyce, Winston Churchill ฯ
เกร็ด: ฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ตอนท้ายของหนัง มีหลายคนมา Cameo รับเชิญในฉากนี้ Michael Pitt, Marty เองก็มา, รวมถึงผู้เขียนนิยาย Brian Selznick ใส่แว่นแอบอยู่หลังตัวละคร Méliès
สำหรับหุ่น Automaton ตัวที่เห็นในหนัง ได้แรงบันดาลใจมาจากหุ่นกลไกของครอบครัว Jaquet-Droz ที่มีทั้งหมด 3 ตน นักดนตรี, นักวาดภาพร่าง draughtsman, และนักเขียน สร้างขึ้นระหว่างปี 1968 – 1774 เพื่อใช้โปรโมทร้านขายนาฬิกาของตนเอง ปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้อยู่ จัดแสดงอยู่ที่ Musée d’Art et d’Histoire of Neuchâtel ประเทศ Switzerland
เจ้าหุ่นตัวนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการสร้าง’ชีวิต’ จากจินตนาการให้มีตัวตนสามารถเคลื่อนไหวได้ เปรียบได้กับผลงานภาพยนตร์ของ Georges Méliès ที่ได้สร้างเรื่องราวจากจินตนาการให้จับต้องได้ ราวกับมีชีวิต
เกร็ด: หุ่นนี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนแต่งขึ้นนะครับ ไม่มีหลักฐานอะไรบันทึกว่า Méliès ได้สร้างหุ่น Automaton ขึ้นมา
ถ่ายภาพโดย Robert Richardson ชาวอเมริกัน ได้ Oscar: Best Cinematographer มาแล้ว 3 ครั้งจาก JFK (1991), The Aviator (2004) และ Hugo ผลงานอื่นที่เด่นๆ อาทิ Platoon (1986), Born on the Fourth of July (1989), Inglourious Basterds (2009), The Hateful Eight (2015) ฯ
ความโดดเด่นอย่างแรกที่ต้องพูดถึงคือการใช้โทนสีสร้างบรรยากาศหนัง ซึ่งมีทั้งอบอุ่นโทนร้อน และหดหู่โทนเย็น, ผมไม่รู้กระบวนการนี้ทำขึ้นขณะหรือหลังการถ่ายทำ เพราะหนังถ่ายด้วยกล้อง digital ล้วนๆ และ Marty เคยปรับสีเยอะๆแบบนี้มาแล้วหลังการถ่ายทำในหนังเรื่อง The Aviator, โทนสีใช้เป็นสิ่งแทนอารมณ์ของตัวละคร น่าจะของ Hugo เพียงคนเดียวเท่านั้น สังเกตเสื้อผ้าหน้าผมและสภาพแวดล้อมอากาศ เน้นโทนสีน้ำเงิน/ดำเข้ม เลือกช่วงเวลาหนาวเหน็บที่สุดแห่งปีหิมะตก แสดงถึงความหดหู่อ้างว้าง หนาวเหน็ดเย็นยะเยือกในจิตใจของเด็กชาย จะมีก็แต่ในความฝัน/ความทรงจำ/จินตนาการ และตอนที่มีความสุขเท่านั้น ที่จะใช้โทนสีอ่อน ให้รู้สึกอบอุ่นชื้นใจอยู่บ้าง
งานภาพสามมิติในทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็น post-conversion แปลงภาพหลังการถ่ายทำ คือถ่ายหนังสองมิติธรรมดา แล้วใช้โปรแกรมแปลงภาพให้เป็นสามมิติ, แต่หนังเรื่องนี้ทีมงาน VFX และตากล้อง Richardson ได้ร่วมงานกันตั้งแต่แรก เพื่อใช้กล้องสามมิติถ่ายภาพออกมาให้สมจริงที่สุด ซึ่ง Marty เห็นว่าใส่แว่นสามมิติทุกครั้งเพื่อดูผลลัพท์จากการถ่ายทำ หนังเลยเสร็จออกมาดูตื่นตาตื่นใจมีความสมจริงมากๆตรงตามความต้องการของผู้กำกับมากๆ
“I found 3D to be really interesting, because the actors were more upfront emotionally. Their slightest move, their slightest intention is picked up much more precisely.”
Roger Ebert นักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา เปรียบเทียบงานภาพสามมิติของหนังเรื่องนี้ คล้ายๆกับตอนที่ตัวละคร Méliès ได้เห็นการฉายภาพยนตร์ครั้งแรก ฟีล์มเรื่อง Arrival of a Train at La Ciotat (1897) สร้างโดยพี่น้อง Lumière, ปฏิกิริยาของผู้ชมสมัยนั้นเป็นตำนานเลยละ พอเห็นรถไฟเข้าเทียบชานชาลา ต่างตื่นตระหนกหวาดกลัวและหลบระวัง เพราะคิดว่ารถไฟกำลังพุ่งเข้ามาชน, สมัยนี้คงไม่มีใครเห็นรถไฟพุ่งมาแล้วกระโดดหลบเบือนหน้าหนีแน่ แต่กับภาพยนตร์สามมิตินั้นไม่แน่ ผมเองก็เคยสะดุ้งตกใจกับหนังเรื่องอื่นที่ภาพสามมิติยื่นออกมาใกล้ตัวมากๆ จนหลงคิดไปว่ามันกำลังพุ่งเข้าหาตัว นี่มันไม่ต่างอะไรกับสมัยนั้นเลยนะ
สำหรับไฮไลท์ของงานภาพสามมิติ คือ Intro เปิดหนังช่วง 10 นาทีแรก กล้องมีการเคลื่อนตรงเข้าไปในสถานีรถไฟจบที่เห็นเด็กชาย Hugo หลบซ่อนอยู่ในนาฬิกา, นี่เป็นฉากแรกๆที่มีการออกแบบถ่ายทำ แต่ใช้เวลาสร้าง 1 ปีเต็ม คอมพิวเตอร์กว่า 1,000 เครื่องเพื่อ render แต่ละช็อตออกมาให้มีความสมจริงที่สุด
มีช็อตหนึ่งที่อาจต้องกับผู้รับชมสามมิติเท่านั้นถึงจะสังเกตเห็น ตัวละครของ Sacha Baron Cohen ชอบที่จะยื่นหน้าเข้ามาหากล้อง (ประมาณว่าเสือกเรื่องชาวบ้าน) มีครั้งหนึ่งที่ Hugo อยู่กับ Isabelle แล้วถูกตัวละครนี้เรียกเข้าไปสอบสวน เขาจะค่อยๆยื่นหน้าเข้ามา, นี่เรียกได้ว่า เป็นภาษาภาพยนตร์ของหนังสามมิติ
เกร็ด: มีฉากหนึ่งในความฝันของ Hugo ที่รถไฟพุ่งชนเขาออกมาหน้าสถานี เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงเมื่อเดือนตุลาคม 1895 รถไฟขบวน Granville–Paris Express เบรคไม่อยู่ เลยพุ่งออกมาถึงหน้าสถานีรถไฟ (ดูรูปนะครับ)
เกร็ด: ใครเคยดูหนังเรื่อง Safety Last! (1923) ของ Harold Lloyd คงจดจำภาพของหนุ่มแว่นปีนตึกห้อยโหนอยู่บนนาฬิกาได้เป็นอย่างดี, ในหนังเรื่องนี้ตอนที่ Hugo กับ Isabelle แอบเข้าไปในโรงหนัง พวกเขาได้เห็นฉากนี้พอดี และตอนหลังที่ Hugo หลบหนีจากนายตำรวจ เขาปีนห้อยโหนบนเข็มนาฬิกา ช่างบังเอิญอย่างจงใจเสียกระไร
ตัดต่อโดย Thelma Schoonmaker ขาประจำคนเดียวของ Marty ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก, ได้ Oscar: Best Edited 3 ครั้ง ซึ่งล้วนมาจากหนังของ Marty ทั้งนั้น ประกอบด้วย Raging Bull (1980), The Aviator (2004), The Departed (2006)
หนังใช้มุมมองของ Hugo เล่าผ่านเรื่องราวที่ได้ประสบพบเจอ มองเห็น ความทรงจำ ความฝัน และจินตนาการ, แทบจะครึ่งหนึ่งของหนังเป็นการเล่าย้อนอดีต Flashback เพื่ออธิบายว่าเด็กชายได้เคยพบเจออะไรมา ทำไมถึงกลายเป็นเช่นนี้ ลีลาการตัดต่อแบบนี้เป็นการค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวออกทีละส่วน ให้ผู้ชมเกิดความสนใจใคร่อยากรู้คำตอบ แต่ก็มีหลายจังหวะที่ค่อนข้างช้า ไม่มีบทพูด ใช้ภาษาภาพเล่าเรื่อง
หลายครั้งหนังชอบที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ Hugo มองเห็น อาทิ Madame Emile (รับบทโดย Frances de la Tour) กับ Monsieur Frick (รับบทโดย Richard Griffiths), สาวขายดอกไม้ Lisette (รับบทโดย Emily Mortimer), เจ้าของร้านหนังสือ Monsieur Labisse (รับบทโดย Christopher Lee) ฯ นี่มองได้คือการดำเนินไปของโลก จัดเป็น sub-plot เรื่องราวเล็กๆย่อยๆ คู่ขนานกับเหตุการณ์หลัก ที่ล้วนมีใจความสะท้อนอะไรบางอย่าง
– Madame Emile กับ Monsieur Frick ต้องการที่จะพูดคุยคบหากัน แต่ติดที่สุนัขของเธอก่อกวนสร้างความหงุดหงิดรำคาญ วิธีการคือ Monsieur Frick หาสุนัขเพศผู้อีกตัว ให้พวกมันจู๋จี๋กัน เขาจะได้พูดคุยกับ Madame Emile ได้สำเร็จ, นี่สะท้อนกับตัวละครภรรยาของ Georges Méliès ที่พยายามปกป้องสามี แต่เมื่อถูกยั่วยวนด้วยความหลังอันน่าสนใจ จึงยินยอมคล้อยตาม
– Inspector Gustave Dasté แอบชอบ Lisette แต่มีความหวาดกลัวเกรง เพราะตนเป็นคนกึ่งพิการอาจไม่คู่ควรกับหญิงสาว, นี่สะท้อนถึงจิตใจของ Georges Méliès ที่หวาดกลัวเรื่องราวในอดีต ไม่กล้าที่จะเปิดอกยอมรับความจริง
ฯลฯ
มีฉากย้อนอดีตหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งมากๆ ขณะที่ Hugo นั่งมองหุ่น Automaton พื้นหลังจะเห็นเป็นแสงกระพริบหมุนๆ ได้ยินเสียงเครื่องฉายภาพยนตร์ จากนั้นจะตัดต่อย้อนอดีต เล่าถึงขณะที่พ่อได้นำหุ่นตนนี้มาและตั้งใจจะซ่อมแซมให้ใช้การได้, ตอนที่ Marty สร้าง Raging Bull ในฉากต่อยมวยที่เราจะได้ยินเสียงสิงสาราสัตว์ มีนัยยะบอกถึงความป่าเถื่อนไร้อารยธรรมของกีฬาชนิดนี้ เช่นกันกับฉากนี้ ภาพย้อนอดีตกับเสียงเครื่องฉายภาพยนตร์ มีนัยยะถึงอดีตความทรงจำ เป็นภาพฉายจากแผ่นฟีล์ม
เกร็ด: ช่วงท้ายจะมีตอนที่ Méliès พูดว่า ฉันสามารถจำเสียงเครื่องฉายภาพยนตร์ มีนัยยะถึงฉากนี้ด้วยนะครับ เป็นการท้าผู้ชมว่าจำเสียงเครื่องฉายภาพยนตร์ของฉากนี้ได้หรือเปล่า
มีใครดู End Credit ของหนังบ้างหรือเปล่าเอ่ย ปกติผมก็ไม่ค่อยได้ดูเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้นึกครึ้มอะไรก็ไม่รู้ (คงเพราะเห็นมันไม่ยาวเท่าไหร่) และได้พบกับรายชื่อหนังเงียบทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในหนัง ผมแคปมาให้ 2 ภาพ เผื่อใครสนใจลองหามารับชมดู
เพลงประกอบโดย Howard Shore เต็มไปด้วยกลิ่นอายของประเทศฝรั่งเศส ใช้เครื่องดนตรีอย่าง Accordion สร้างบรรยากาศ, เสียงเปียโนนุ่มๆ สะท้อนความรู้สึกอ้างว้างเจ็บปวด, ไวโอลินประสานเสียงเพิ่มความอลังการสั่นสะท้าน สยิวกาย (ด้วยความหนาวเหน็บ)
ผมชอบแทบจะทุกท่อนที่ได้ยินเสียง Accordion ดังขึ้นมาเลย ให้สัมผัสของ Impressionist เกิดความตราตรึงประทับใจ เนื้อเพลงเต็มไปความความมหัศจรรย์ในโลกที่เต็มไปด้วยจินตนาการ เพ้อฝัน ราวกับมีเวทมนตร์
เพลง The Thief ถือว่าเป็นตัวแทนของ Hugo ในฉากแรกของหนัง มีใจความเป็นบทสรุปชีวิตของเด็กชายโดยย่อ (สอดคล้องกับฉาก Intro ของหนัง) อาศัยอยู่ในกำแพงที่มีทางเดินสลับซับซ้อนไปมา ชอบที่จะแอบมองผู้คน รับรู้เห็นเรื่องราวต่างๆที่ดำเนินไป
บทเพลง The Chase ฟังแล้วไม่ได้เกิดความตื่นเต้นในการไล่ล่าติดตาม (ตามชื่อเพลง) สักเท่าไหร่ ออกไปในทางพิศวงสงสัย ฟังแล้วเกิดความรู้สึกประทับใจ ตราตรึงมากกว่าจะรู้สึกกดดันเครียดอะไร นี่เป็นลักษณะดนตรีของการผจญภัย Adventure ในโลกของเด็กชาย จริงอยู่ตัวละครอาจเกิดความเครียดหวาดกลัว แต่ผู้กำกับนำเสนอให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน (นายตำรวจสะดุดโน่นนี่ ล้มเสียท่าเด็ก จนจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน)
เป็นดนตรีที่เหมาะกับหนังเด็กโดยแท้
บทเพลง The Clock นาฬิกา ใช้เสียงเปียโนเคาะๆ ให้สัมผัสเหมือนกับเสียงติกๆของกลไกนาฬิกา นี่คือชีวิตของ Hugo เขาอาศัยอยู่ด้วยเวลา จมอยู่กับอดีต แต่มันกลับเดินไปข้างหน้าเท่านั้น หน้าที่ของเขาคือไขมัน หยอดน้ำมันให้เดินต่อทำงานได้ แต่ไม่สามารถย้อนเวลากลับไป
Martin Scorsese เกิดที่ Queens, New York ไม่นานนักย้ายไปอยู่ Little Italy, Manhattan พ่อเป็นชาวอิตาลีเกิดที่ Palermo, Sicily ค่อนข้างเคร่งศาสนา Catholic ตอนเด็กเป็นโรคหอบหืด Asthma ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมการแจ้งกับเพื่อนๆได้เลย ครอบครัวและพี่ชายจึงชอบพาเขาไปดูหนัง นั่นทำให้เด็กชาย Marty เกิดความลุ่มหลงใหลในวงการภาพยนตร์, เรียนรู้ศึกษาการเป็นผู้กำกับจากผลงานของคู่หูสองผู้กำกับชาวอังกฤษ Michael Powell และ Emeric Pressburger และต่อมาได้ Powell เป็นเสมือน mentor ช่วยให้คำแนะนำ สอนการสร้างภาพยนตร์ให้
เปรียบเทียบกับชีวิตของ Hugo ที่แม้จะไม่ได้เจ็บป่วยอะไรแต่ก็ไม่สามารถออกไปไหนได้ วันๆทำได้แค่เฝ้ามองเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานีรถไฟ (รับชมภาพยนตร์) ตัวเขาถือว่ามีพรสวรรค์เรื่องการซ่อมกลไกต่างๆ และได้จับพลัดจับพลูมีอาจารย์ Georges Méliès เป็นผู้ให้คำแนะนำ สอนสิ่งต่างๆให้ (ว่าไป Méliès กับ Powell ก็มีเรื่องราวชีวิตใกล้เคียงกันนะครับ ช่วงรุ่งโรจน์นี่ยิ่งใหญ่มากทั้งคู่ แต่พอแก่ตัวเกิดเหตุการณ์บางอย่าง ทำให้ต้องเลิกสร้างภาพยนตร์ อมจมทุกข์อยู่ในอดีต และกลัวการที่จะถูกลืม)
จากความสัมพันธ์นี้จะเห็นว่า Hugo เป็นผลงานที่มีความใกล้ตัว Martin Scorsese เป็นอย่างมาก กับคนที่ติดตามผลงานของเขามาโดยตลอดจะพบว่า ไม่เคยมาก่อนสร้างหนังเกี่ยวกับเด็ก [ไม่นับ Kundun ที่ถือเป็นหนังประวัติศาสตร์] นี่คงเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ทำหนัง feel good ลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง แต่กับคนรักหนังทุกค จะจดจำไม่มีวันหลงลืมชายที่ชื่อ Georges Méliès
ผมถือว่านี่เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของ Georges Méliès ที่เล่าในมุมมองของเด็กชาย Hugo, เขาไม่รู้จักหรอก Méliès คือใคร แต่ชีวิตจับพลัดจับพลูให้ได้พบเจอ เกิดความใคร่สงสัยอยากรู้อยากเข้าใจ ชายผู้นี้เคยทำอะไร? แล้วทำไมปัจจุบันเป็นแบบนี้?
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เมื่อย่างเข้าสู่สูงวัยจะเกิดความหวั่นวิตกกังวล คือกลัวที่จะ’ถูกลืม’ กับคนที่มีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยอู้ฟู่ เป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กาลเวลาผันแปรผ่านไปทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก เริ่มที่จะหลงลืม ไม่สนใจ ความหวาดกลัวนี้ บางครั้งแปรสภาพเป็นภาพหลอกหลอนในใจ ทำไมไม่มีใครจดจำฉันได้ เมื่อก่อนไปไหนใครๆก็รู้จัก, นี่แหละครับชีวิต มีขึ้นก็ต้องมีลง ประสบความสำเร็จสูงสุดก็วกกลับมาตกต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หนีไม้พ้นกับวิถีสัจธรรมของโลก แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ใส่แนวคิดนำเสนอเพิ่มขึ้นมา บอกว่าภาพยนตร์นี่แหละที่จะเป็นสิ่งอมตะยืนยง เพราะต่อให้กาลเวลาผันแปร แต่ผลงานที่สร้างขึ้นมาก ตราบที่ยังไม่สูญหาย กาลเวลาก็มิอาจทำลายเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมันได้ นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่าคลาสสิกเหนือกาลเวลา
ผมไม่รู้ Marty เกิดความรู้สึก’กลัว’ แบบ Georges Méliès หรือเปล่า (จริงๆก็ไม่มีอะไรต้องกลัวนะ เพราะยังไงเสีย Scorsese ก็อยู่ค้างฟ้ากลายเป็นอมตะไปแล้ว) สิ่งที่เราๆรู้กันคือ เขาไม่เคยจะหยุด ตราบใดยังมีแรงก็คิดสร้างภาพยนตร์ต่อไป ตอนนี้ปี 2017 อายุก็ย่างเข้า 74 แล้ว มันยังมีอะไรเหลือให้ชายคนนี้สนใจค้นหาอยู่อีกละ หรือเหตุผลที่เขายังคงสร้างภาพยนตร์ต่อไป เพราะกลัวที่จะถูกลืมจริงๆ
เดิมนั้นหนังวางแผนจะใช้ทุนสร้างประมาณ $100 ล้านเหรียญ แต่คงเพราะ Visual Effect ที่มีมากทำให้งบบานไปถึง $150-$170 ล้านเหรียญ ซึ่งในอเมริกาทำเงินได้เพียง $73.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $185.7 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับอย่างน่าเสียดายจริงๆ
เข้าชิง Oscar 11 สาขา ได้มา 5 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Original Score
– Best Art Direction ** ได้รางวัล
– Best Costume Design
– Best Visual Effects ** ได้รางวัล
– Best Editing
– Best Sound Editing ** ได้รางวัล
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
ในปีนั้น The Artist (2011) คือผู้ชนะที่นอนมา เพราะเป็นหนังหวนระลึกย้อนถึงยุคสมัยหนังเงียบ ว่าไป Hugo ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน เล่าถึงผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกยุคหนังเงียบ, ในความเห็นส่วนตัว Hugo สมควรที่จะเป็นผู้ชนะในปีนั้น เพราะยอดเยี่ยมกว่าทุกๆอย่าง แต่โชคชะตาของ Marty กลับย้อนรอยเป็นแบบเดียวกับหนังเรื่อง The Aviator (2005) เปะๆเลย [จำนวนที่เข้าชิง 11 สาขาได้มา 5 รางวัล เท่ากันด้วยนะ]
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ ช่วงที่ประทับใจสุดคือการ re-creation สร้างใหม่จำลองการสร้างภาพยนตร์ของ Georges Méliès ที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ เข้าใจวิธีการคิด และการทำงานของชายผู้เป็นตำนานนี้ได้ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราหลงรักในโลกภาพยนตร์มากขึ้นเป็นไหนๆ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” กับคอหนังห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องของผู้สร้างภาพยนตร์ในตำนาน, แต่สำหรับผู้ชมทั่วไป เรื่องราวของหนังเป็นการเปิดอกยอมรับอดีต ที่มันอาจจะเคยมีค่าแต่ถูกทำให้สูญเสียความมั่นใจจนกลายเป็น Trauma แทนที่จะปลีกหลีกหนีตัวเอง ไม่ลองเปลี่ยนความคิดให้ ‘ยอมรับ’ สิ่งที่เกิดขึ้น ‘อย่าเสียใจ’ในสิ่งที่เคยทำไป มันมีแต่จะทำให้เป็นทุกข์ จากก้มหน้าลองที่จะเงยขึ้นมา โลกมันสวยกว่าที่อยู่แค่ในความทรงจำนะครับ
จัดเรตทั่วไป เหมาะกับการนั่งดูพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
Leave a Reply