Hum Aapke Hain Koun..! (1994) : Sooraj R. Barjatya ♥♥♥♥
ในทศวรรษที่หนังอินเดียเต็มไปด้วยแนว Action, Gangster, Crime แฝงความรุนแรง หนังเรื่องใหม่ของ Salman Khan กับ Madhuri Dixit ได้แหวกค่านิยมสมัยนั้น ด้วยเรื่องราวแนวรอม-คอม หนุ่มจีบสาว งานเลี้ยงแต่งงาน ครอบครัวสุขสันต์ สนุกสนานได้โดยไร้ความรุนแรง ทำให้ตอนออกฉายสามารถทุบสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินเดียลงได้
ชั่วโมงแรกของหนังนำเสนอ ‘งานแต่งงาน’ แต่ยังไม่ใช่คู่พระนาง Salman Khan กับ Madhuri Dixit นะครับ ทั้งสองประมาณว่าเป็นน้องเจ้าบ่าว กับน้องเจ้าสาว ที่ต่างวางแผนกลั่นแกล้งเล่นกันต่างๆนานา สร้างความปั่นป่วนชุลมุนวุ่นวาย ทำให้งานแต่งนี้มีความครึกครื้นสนุกสนานมากกว่าปกติ ไม่ใช่เพื่อให้งานล่มแต่สร้างความประทับใจให้พี่ๆของตน จดจำตราตรึงเล่าต่อถึงรุ่นลูกหลาน
รับชมหนังเรื่องนี้ชั่วโมงแรกทำให้ผมเข้าใจถึงอารมณ์ 3 ขณะของแต่งงาน เมื่อเจ้าบ่าวและเจ้าสาวได้ข้อสรุปตกลงร่วมกันแล้วว่าจะแต่งงาน
1. คนกลุ่มแรกที่จะเกิดความอลม่าน คือพ่อ-แม่ ครอบครัวของทั้งสองฝั่ง เป็นอารมณ์ของการ ‘หวนระลึก’ (Nostalgia) สมัยตอนฉันยังหนุ่มๆสาวๆ กำลังจะแต่งงาน โอ้! …น้ำตาคลอเบ้า… ผ่านมานานเท่าไหร่แล้วเนี่ย
2. กลุ่มถัดมาคือเหล่าพี่น้อง ลูกหลาน มิตรสหาย พวกเขามางานแต่งงานเพื่อต้องการ ‘ความสนุกสนาน’ พยายามก่อกวนป่วนทุกสิ่งอย่าง ถึงขนาดมีการเล่นแกล้ง ขโมยรองเท้าเจ้าบ่าวเรียกค่าไถ่ไม่งั้นไม่ได้เข้าเรือนหอ
3. สุดท้ายคือคู่เจ้าบ่าว-สาว ในวินาทีที่ทั้งสองเปลี่ยนสถานะกลายเป็น สามี-ภรรยา ความอิ่มเอิบ ตื้นตัน สุขล้น บ่อน้ำตายากจะอดกลั้น นี่คืออารมณ์’ซาบซึ้ง’ ครั้งหนึ่ง(ก็หวังว่าจะครั้งเดียวในชีวิต)ตราตรึงฝังใจไม่รู้ลืม
ผมขอเรียกหนังเรื่องนี้ว่า Musical ‘Rom-Com Classic’ ให้ความรู้สึกคล้ายๆยุคทองของหนังเพลง Hollywood ที่จะทำให้คุณอิ่มเอิบสุขใจ อมยิ้มแทบจะตลอดเวลา บทเพลงเพราะๆ อยากลุกขึ้นมาเต้นเล่นเลียนแบบตาม, กับที่สุดของหนังที่ให้ความรู้สึกคล้ายๆกันนี้ อาทิ Meet Me in St. Louis (1944), Easter Parade (1948), The Band Wagon (1953) ฯ
Sooraj R. Barjatya (เกิดปี 1964) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เจ้าของสตูดิโอ Rajshri Productions สืบทอดมาจากปู่ Tarachand Barjatya (หนังเรื่องนี้อุทิศให้กับท่านที่เพิ่งเสียไปเมื่อปี 1992) เรียกได้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น, เกิดที่ Mumbai มีความชื่นชอบภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเรียนจบได้รับการผลักดันให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานเรื่องแรก Maine Pyar Kiya (1989) นำแสดงโดย Salman Khan ประสบความสำเร็จอย่างสูง แจ้งเกิดให้กับทั้งคู่ในวงการภาพยนตร์
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เป็นพ่อของเขา Rajkumar Barjatya (ปู่ Tarachand ตั้งชื่อสตูดิโอตามชื่อของลูกชาย) ที่แนะนำให้เอาผลงานเก่าๆของ Rajshri Productions มายำรวมๆกัน อะไรดูดีแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จก็นำมาใช้ซ้ำ อะไรไม่ได้เรื่องก็ทิ้งไว้, Sooraj ใช้เวลาพัฒนาบทถึง 21 เดือน ตัดสินใจนำพล็อตหลักจากหนังเรื่อง Nadiya Ke Paar (1982) ส่วนบทเพลงทั้ง 14 มีทั้งการรีไซเคิลทำนอง และเขียนคำร้องขึ้นใหม่
“My attempt in this movie has been to re-expose the cinema-going public to the quintessential family life … not to make people feel that they have come to see a movie, but make them feel as if they have come to visit a big joint family that is preparing for a wedding”
พล็อตของ Hum Aapke Hain Koun..! แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นในยุคสมัยนั้นอย่างมาก ไม่มีบทตัวร้าย ไม่มีความรุนแรง หรือการต่อสู้ระหว่างธรรมะ-อธรรม, คอนเซ็ปของหนังคือเล่าเรื่องวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของชาวอินเดีย เปรียบดั่งครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีทั้งสุข-เศร้า-ซึ้ง ทุ่มเทเสียสละ หลากหลายอารมณ์ความรู้สึก
เรื่องราวของ Prem (รับบท Salman Khan) หนุ่มใหญ่ที่สูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่กับพี่ชาย Rajesh (รับบทโดย Mohnish Bahl) และลุง Kailash (รับบทโดย Alok Nath) ในบ้านคฤหาสถ์หลังใหญ่ มีธุรกิจเกี่ยวกับ…(อะไรสักอย่าง)… ประสบความสำเร็จร่ำรวย วันๆไม่ต้องทำอะไรก็อยู่ได้เป็นสุข วันหนึ่งลุงต้องการหาคู่แต่งงานให้กับพี่ชาย Rajesh โดยเล็งลูกสาวของศาสตราจารย์เพื่อนสนิท Siddharth Chaudhary (รับบทโดย Anupam Kher) ที่มีสองคน คนโต Pooja (รับบทโดย Renuka Shahane) และ Nisha (รับบทโดย Madhuri Dixit) การพบกันของพวกเขา งานแต่งงาน เรื่องราววุ่นๆจึงได้เกิดขึ้น
เอาจริงๆพล็อตหนังไม่ต้องทำความสนใจเลยก็ได้ เพราะไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรเท่าไหร่ ความวุ่นวายสับสนอลม่าน จับพลัดจับพลู ถือว่ามีกลิ่นอายของ Screwball Comedy อยู่ด้วย รับรู้ไปก็อาจไม่ได้ประโยชน์สาระอะไรเท่าไหร่
นำแสดงโดย Salman Khan หน้าละอ่อนหนุ่มแน่น, เกิดที่ Mumbai เป็นลูกคนโตของนักเขียนบทชื่อดัง Salim Khan แสดงเป็นตัวประกอบแรก Biwi Ho To Aisi in (1988) ได้รับบทนำ Maine Pyar Kiya (1989) แจ้งเกิดพร้อมๆกับผู้กำกับ, ระหว่างนั้นมีผลงานประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่รอบ 2-3 ปีล่าสุด เล่นหนังขาดทุนมา 7 เรื่องติด จึงเกิดความเร่าร้อนรน เกี้ยวพา Sooraj ให้ได้บทนำในหนังเรื่องใหม่ ถึงขนาดยอมลดค่าตัว เพื่อให้ได้ประกบนักแสดงหญิงสุดฮอตในทศวรรษนั้น Madhuri Dixit จะได้การันตีโอกาสประสบความสำเร็จ
เกร็ด: บท Prem เคยถูกเสนอให้ Aamir Khan แต่บอกปัดเพราะรู้สึกว่าบทขาดความน่าสนใจ
Prem เป็นคนร่าเริงสดใส High-Tension เหมือนลิงวอก ดูเหมือนจะกระล่อนปลิ้นปล่อน แต่ตัวจริงมั่นคง หนักแน่น พร้อมที่จะเสียสละความสุขของตนเองเพื่อคนอื่น, นี่คงเพราะการสูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่เด็ก จึงไม่ต้องการให้ใครเห็นความทุกข์ทรมาน และการอาศัยอยู่กับลุงและพี่ที่กระทำอะไรเพื่อตนมามาก จึงไม่ต้องการทำตัวเป็นภาระให้คนอื่น เห็นแก่ตัวเสียสละในสิ่งที่ ไม่เป็นธรรมกับตัวเองโดยสิ้นเชิง
ผมไม่ค่อยประทับใจการแสดงของ Salman เสียเท่าไหร่ หล่อไหมก็เฉยๆนะ แต่ความกระล่อนปลิ้นปล่อนให้เต็มร้อย คือภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนจะไว้เนื้อเชื่อใจอะไรไม่ได้ แต่ภายในเข้มแข็งแกร่งหนักแน่นมั่นคง … นี่ถือเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ของ Salman Kkan ที่ติดตาผู้ชมจนถึงปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนชื่นชอบประทับใจการแสดงลักษณะนี้มากๆ ถึงขนาดได้รับยกย่องเป็นหนึ่งใน 3 King Khan ที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ (น่าจะมากสุดในทั้งสามคน และค่าตัวสูงสุดด้วย)
Madhuri Dixit นักแสดง นักเต้นยอดฝีมือ ขณะนั้นกำลังเป็นดาวฮอตร้อนแรงที่สุดในทศวรรษ 90s มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Abodh (1984) ของสตูดิโอ Rajshri Productions ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Tezaab (1988) จากนั้นก็ลากยาวเรียงปีเลย Ram Lakhan (1989), Parinda (1989), Dil (1990), Saajan (1991), Beta (1992), Khalnayak (1993) สำหรับเรื่องที่ประสบความสำเร็จที่สุด น่าจะคือ Hum Aapke Hain Koun..! (1994), Dil To Pagal Hai (1997) และ Devdas (2002)
รับบทคนน้อง Nisha Choudhury หญิงสาวขี้เล่นซุกซน แก่นแก้ว รักสนุกไม่ชอบผูกพัน พอได้หลงคารมตกหลุมรักกับ Prem ก็โงหัวไม่ขึ้น เพ้อคิดวาดฝันไปไกลว่าสักวันคงได้แต่งงานอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อวันนั้นมาถึงมันกลับเกินกว่าที่เธอจะคิดจินตนาการได้
Dixit กับบทบาทนี้ โดดเด่นขโมยซีน Salman ไปหมดสิ้น สายตาของผมจับจ้องแต่ Pooja กับ Nisha รอยยิ้มของพวกเธอทำให้โลกมีความสดใสส่องสว่าง แต่ขณะที่อมทุกข์โศกเศร้าหมอง ราวกับผืนแผ่นดินกำลังแยกแตกสลาย, ความโดดเด่นอีกอย่างของ Dixit คือลีลาการเต้น สมแล้วกับที่ได้รับคำชมว่าคือ ‘หนึ่งในนักเต้นที่ลีลาเร้าใจที่สุดใน Bollywood’
Renuka Shahane รับบทคนพี่ Pooja Choudhury, Shahane ไม่ใช่นักแสดงที่มีชื่อเสียงนัก มีผลงานภาพยนตร์ไม่มาก คงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เลยผันตัวไปเล่นละครโทรทัศน์แทน, ผมหลงในรอยยิ้มของเธอ เพราะความที่ออกมาจากข้างในจริงๆ และมีความละม้ายคล้าย Kajol เป็นอย่างมาก ค้นหาข้อมูลดูก็ไม่พบว่าเป็นพี่น้องญาติอะไรกัน แต่ไฉนราวกับถอดแบบพิมพ์เดียวกันได้ขนาดนี้ เห็นแล้วหัวใจละลาย แถมยังนิสัยดีอีกด้วย ไม่น่าเลย T_T
แถมให้อีกคน … ไม่ใช่สิอีกตัว Redo สุนัขพันธุ์ปอม (Pomeranian) รับบท Tuffy เจ้าหมาแสนรู้ ฉลาดกว่าเจ้านายเสียอีก, เห็นว่าหลังจากหนังเรื่องนี้ สายพันธุ์นี้ในอินเดียได้รับความนิยมเลี้ยงกันสูงมากๆ
ถ่ายภาพโดย Rajan Kinagi, ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นฉากถ่ายภายใน(สตูดิโอ) ซึ่งสามารถทำการควบคุมแสงสี สภาพอากาศฟ้าฝนได้เป็นอย่างดี จุดเด่นหนีไม่พ้นความสดของ Eastmancolor ถ่ายทำด้วยระบบ Cinemascope ภาพกว้างเต็มจอ เก็บรายละเอียดรอบข้างได้อย่างครบถ้วน
การเคลื่อนกล้องมีความรวดเร็วลื่นไหลอย่างมีชีวิตชีวา แทบจะไม่มีวินาทีไหนที่กล้องตั้งอยู่นิ่งๆเฉยๆ ทำให้หนังมีความสนุกสนานเร้าใจ กอปรกับฉากเต้นที่ประสานจังหวะร่วมกับการตัดต่อได้อย่างลงตัว
ตัดต่อโดย Mukhtar Ahmed, หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละคร(คู่)ใดเป็นพิเศษ แค่เวลาของคู่พระนางจะมีมากกว่าคนอื่นก็เท่านั้น ซึ่งเราสามารถมองว่าหนังใช้มุมมองของครอบครัว บ้านทั้งหลัง ที่มีพล็อตรองเกลี่ยกระจายโดยทั่วถึง (ซึ่งตัวละครที่เด่นๆ ก็มักจะมีเรื่องราวเป็นของตนเอง)
ผมประทับใจพล็อตรองหนึ่ง แม่ของ Pooja และ Nisha หนังไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ถ้าสังเกตจากสายตา คำพูด ท่าทางการเล่นตัวขณะที่มองลุง Kailash เหมือนว่าทั้งสองเคยตกหลุมรัก อาจถึงขั้นเป็นแฟนกันตอนสมัยวัยรุ่น แต่เพราะโชคชะตาทำให้เธอต้องแต่งงานกับ Siddharth ฝันนั้นจึงมิอาจเป็นจริง (เหมือนว่า Siddharth ก็รู้นะครับ ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน เลยยินยอมปล่อยให้กลั่นแกล้งภรรยาตัวเองอย่างสาสมเลย), สังเกตว่าเวลา Kailash ขออะไร เธอต้องทำท่าเล่นตัว เหนียมอาย อายุปูนนี้แล้วยังจะ … ถ้าคิดแบบที่ผมว่ามาก็มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว
เพลงประกอบโดย Raamlaxman ชื่อจริง Vijay Patil ถือว่าเป็นขาประจำของ Rajshri Productions และผู้กำกับ Sooraj, บทเพลงส่วนหนึ่งนำทำนองจากหนังเก่าๆของสตูดิโอ แต่ก็มีแต่งใหม่ขึ้นหลายเพลง บันทึกเสียงใหม่ แต่งคำร้องโดย Dev Kohli กับ Ravinder Rawal ส่วนใหญ่ขับร้องโดย Lata Mangeshkar นักร้อง playback singer เจ้าของฉายา Nightingale of India
ขอพูดถึง Lata Mangeshkar เสียหน่อยนะครับ เธอคือนักร้องเสียงทองในตำนาน เกิดที่ Indore, Central India ในครอบครัวพูดภาษา Marathi พ่อเป็นนักแสดงและนักร้องเพลงคลาสสิก เริ่มหัดร้องเพลงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ไม่นานก็สามารถขึ้นการแสดงร่วมกับพ่อและน้องสาว (เธอเป็นพี่คนโต), พ่อเสียชีวิตตอนเธออายุ 13 จากโรคหัวใจล้มเหลว ได้เพื่อนของพ่อช่วยส่งเสีย ส่งเรียน มีโอกาสบันทึกเสียงร้องในหนังภาษา Marathi บทเพลงแรกในชีวิตคือ Mata Ek Sapoot Ki Duniya Badal De Tu จากเรื่อง Gajaabhaau (1943)
หลายพันบทเพลง บ้างว่าถึงหมื่น ด้วยน้ำเสียงแหลมสูงเป็นเอกลักษณ์ที่เหมือนนกไนติงเกล Lata Mangeshkar กลายเป็นนักร้องอินเดียเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ได้รับการยกย่องสูงสุด
– ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับประเทศ ลำดับสูงสุด Bharat Ratna เมื่อปี 2001
– และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของวงการภาพยนตร์ ลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke เมื่อปี 1989
ถ้าคุณรับชมหนัง Bollywood มาพอสมควร การันตีว่าต้องเคยได้ยินน้ำเสียงของ Lata Mangeshkar แน่ๆนะครับ, สำหรับหนังเรื่องนี้ การได้เธอมาขับร้องบทเพลง ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในอัลบัมที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุด ไพเราะทุกเพลง ถึงจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอเห็นเรื่องราวประกอบภาพก็จะสามารถสนุกสนานไปด้วยได้เลย
บทเพลง Title Song ชื่อ Hum Aapke Hain Koun ขับร้องโดย Lata Mangeshkar กับ S. P. Balasubrahmanyam มันดูตลกๆแบบหลอนๆสักนิด แถมการถ่ายใบหน้านักแสดงทั้งสองแบบ Close-Up ทำยังกะ Opening Title ของหนัง James Bond แต่ฟังไปๆมาๆก็เพราะอยู่นะครับ
บทเพลงถัดมา Wah Wah Ramji ขับร้องโดย Lata Mangeshkar, S. P. Balasubrahmanyam เมื่อพี่ชายตัดสินใจตกลงแต่งงานกับหญิงสาว นี่ต้องขอบคุณพระเจ้าที่ได้ช่วยเหลือให้ทั้งสองได้สมหวังในรัก
บทเพลง Didi Tera Devar Deewana ขับร้องโดย Lata Mangeshkar, S. P. Balasubrahmanyam น่าจะเป็นบทเพลงที่ผมหัวเราะหนักมากสุดแล้ว อยู่ประมาณกลางเรื่อง เป็นโปรแกรมของสาวๆ ที่ปกติหนุ่มๆจะไม่มีสิทธิ์เข้ามายุ่งจุ้นจ้าง ซึ่งสิ่งที่พวกเธอร้องเล่นเต้นไม่ใช่อะไรอื่น คือบทเพลงล้อผู้ชายนาย Prim นี่แหละ เรียกเสียงหัวเราะได้กลิ้งเลย
แต่สำหรับบทเพลงที่มีความไพเราะสุดในหนัง Babul ขับร้องโดย Sharda Sinha นี่เป็นบทเพลงที่ทำให้อารมณ์ของหนังในช่วงขณะนั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง, ช่วงสุดท้ายของงานแต่งงาน หลังจากความสนุกสนานครึกครื้นเครงได้จบลง ถึงเวลาคู่บ่าวสาวจูงมือเข้าพิธีแต่งงาน ความสวยงามของฉากนี้ หนังทำให้ผมยิ้มร่าด้วยน้ำตาอย่างอิ่มเอิบ
นอกจากนี้ บทเพลงที่เด่นๆ อาทิ Joote De Do Paise Le Lo, Dhiktana, Ye Mausam Ka Jadoo Hai Mitwa, Pehla Pehla Pyar Hai, Lo Chali Main ฯ นี่ก็เกินครึ่งแล้ว บทเพลงมีความไพเราะสนุกสนาน ถึงพล็อตหนังไม่มีอะไร แต่ก็ช่วยให้ดูสนุกขึ้นได้มาก (นี่กลายเป็นหนึ่งในค่านิยมหนัง bollywood เสียด้วยสิครับ)
Hum Aapke Hain Koun..! แปลว่า Who am I to You, ฉันเป็นใครสำหรับเธอ
ดูหนังผ่านไปสักครึ่งเรื่องผมเกิดคำถามขึ้นมากมาย ชื่อหนังมันมีนัยยะสื่ออะไรกัน? ยิ่งกับบทเพลง Title Song ที่เปิดมาเศร้ามาก แต่เรื่องราวในหนังไม่มีจังหวะให้ซึมหดหู่แม้แต่น้อย ยิ้มร่าตลอดทั่งเรื่อง กว่าจะได้คำตอบนี้ก็ตอนครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เกิดเหตุการณ์บางอย่างไม่คาดฝันขึ้น ข้อสรุปของผมก็คือ เป็นคำพูดปลอบใจตัวเองของทั้งสอง กับสิ่งที่กำลังจะเสียสละเพื่อครอบครัว
‘ความรักคือการเสียสละ’ นี่่น่าจะคือความตั้งใจความของหนัง แต่ผมเชื่อว่าใครๆก็น่าจะรู้สึกได้ กับสถานการณ์ในลักษณะนี้ การเสียสละเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเอาเสียเลย
ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส ไม่มีทางที่จะเสียสละได้แบบพระเวสสันดรอย่างแน่แท้ ซึ่งก็ใช่ว่าท่านจะเริ่มจากให้ลูกให้เมียกับคนอื่นนะครับ นั่นเป็นสิ่งหลังๆสุดท้ายเลยที่ทรงมอบให้ เริ่มจากให้เงินให้ทอง ให้รถให้เสื้อผ้า จนตัวไม่หลงเหลืออะไร ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ สองสิ่งสุดท้ายนั่นก็ต้องมีคนมาขอท่านถึงประทานให้ การเสียสละแบบนี้คืออุดมการณ์สร้างบารมี อันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
เพื่อพี่ชาย เพื่อครอบครัว เพื่ออนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ฉันต้องเสียสละความสุขของตนเอง มอบหญิงที่ตนรักยิ่งให้กับพี่เพื่อ… คนส่วนใหญ่คงยกย่องว่า การกระทำเช่นนี้พ่อพระอย่างแท้ แต่ผมกลับเห็นว่าคือ ‘ความเห็นแก่ตัว’ เพราะความไม่บริสุทธิ์ใจในการเสียสละ
การเสียสละที่ถูกต้องเหมาะสม มันต้องให้อย่างเต็มใจแล้วมีความสุข การให้ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกเจ็บปวด เดือดร้อนเป็นทุกข์ นั่นไม่เรียกว่าเสียสละ แต่คือเพื่อผลประโยชน์บางสิ่งอย่าง สนองความต้องการ เห็นแก่ความสุขของตนเอง
ลองทำความเข้าใจย่อหน้านี้โดยละเอียดลึกซึ้งดูนะครับ แล้วคุณจะเข้าใจเหตุผลที่ว่า ทำไมผมถึงบอกการให้ของพระเวสสันดร ต่างจากการเสียสละของหนังเรื่องโดยสิ้นเชิง
ด้วยทุนสร้าง ₹4.25 Crore เป็นค่าตัวของ Madhuri Dixit ครึ่งหนึ่ง ₹2.75 Crore [น่าจะถือว่าเป็นนักแสดงหญิงค่าตัวสูงสุดในยุคนั้น] หนังทำเงินทั่วโลก 135 Crore (=$21 ล้านเหรียญ) เรียกได้ว่าถล่มทลาย All-Time Blockbuster ทำลายสถิติเก่าของ Sholay (1975) ที่ ₹15 Crore แบบไม่เห็นฝุ่น และยังเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำเงินเกิน 100 Crore
เกร็ด: ฉากเล่นเกมโยนหมอน ผู้แพ้จะต้องแสดงอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าคุณรับชมหนัง Bollywood มามากพอจะรู้ว่า มาจากหนังเรื่อง Kismet (1943), Mother India (1957), Mughal-e-Azam (1960) และ Sholay (1975) ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง เคยเป็นเจ้าของสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอินเดียมาแล้ว
ความสำเร็จนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัย พลิกโฉมวงการภาพยนตร์ของอินเดีย ให้กลายเป็น Modern Cinema แบบเดียวกับที่หนังเรื่อง Breathless (1960) ได้พลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์โลกโดยสิ้นเชิง, นั่นเพราะการเข้ามาของโทรทัศน์ Home Video และการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้ความนิยมของชาวอินเดียในการออกมารับชมหนังที่โรงภาพยนตร์ลดลงมาก, ซึ่งวิธีการของ Hum Aapke Hain Koun..! เริ่มต้นจากการฉายวงจำกัดแค่ไม่กี่โรง เสียงปากต่อปากทำให้เกิดความต้องการแพร่ขยายในวงกว้าง เมื่อฟีล์มหนังไม่เพียงพอ โรงหนังเลยฉวยโอกาสขึ้นค่าตั๋ว เห็นว่าเพิ่มเป็นเท่าๆตัว นั่นทำให้รายรับของหนังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ (แถมหลังจากนี้ก็ไม่ยอมลดราคาลงเท่าเก่าด้วยนะ) ไม่นานนักเลยสามารถแซงสถิติเก่าของ Sholay ลงได้ แต่ถ้าเทียบที่จำนวนผู้ชม (หรือ Adjust Gross) ถือว่าห่างไกลความสำเร็จเมื่อครั้นอดีตอยู่มาก
จากสูตรความสำเร็จของ Hum Aapke Hain Koun..! ทำให้ต่อจากนี้ ต้องมีหนังประสบความสำเร็จระดับเดียวกันนี้เกิดขึ้น อาทิ Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995), Raja Hindustani (1996), Dil To Pagal Hai (1997), Kuch Kuch Hota Hai (1998) ฯ
เกร็ด: สำหรับหนังเรื่องที่ทุบสถิติความสำเร็จของ Hum Aapke Hain Koun..! คือ Kabhi Khushi Kabhie Gham (2001) ทำเงินได้ ₹135.53 Crore
หนังคว้า 2 รางวัลจาก National Film Award
– Best Popular Film Providing Wholesome Entertainment
– Best Choreography
และอีก 4+1 รางวัลจาก Filmfare Award
– Best Film **ได้รางวัล
– Best Director **ได้รางวัล
– Best Actress (Madhuri Dixit) **ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Mohnish Behl)
– Best Supporting Actress (Reema Lagoo)
– Best Supporting Actress (Renuka Shahane)
– Best Performance in a Comic Role (Laxmikant Berde)
– Best Screenplay **ได้รางวัล
– Best Music Director
– Best Lyricist
– Best Male Playback Singer
– รางวัล Special Award มอบให้กับนักร้องหญิงผู้กลายเป็นตำนาน Lata Mangeshkar
จะเห็นว่า Salman Khan ไม่ได้เข้าชิงรางวัลอะไรเลยนะครับ ทั้งๆที่เป็นบทนำแต่จืดจางมาก คารมรูปหล่อเป็นต่อ ฝีมือการแสดงเป็นรอง
ส่วน Lata Mangeshkar จริงๆแล้วอย่างน้อยเธอต้องได้เข้าชิง Best Female Playback Singer แน่ๆ แต่เพราะทศวรรษแรกๆของรางวัลนี้ ช่วงยุค 60s คือเธอกวาดเรียบอ่ะครับ เป็นคนเดียวที่เข้าชิง คนเดียวที่ได้รางวัล เธอจึงประกาศไม่เอาแล้ว ไม่ขอทั้งเข้าชิงและรับรางวัลอะไรอีก แต่กับหนังเรื่องนี้ ทุกบทเพลงของเธอสมบูรณ์แบบมาก ผู้จัดงานเลยหาข้ออ้าง มอบ Special Award ให้เธอเสียเลย
อิทธิพลที่เกิดจาก Hum Aapke Hain Koun..! สามารถพบได้ในธรรมเนียมหนัง Bollywood สมัยใหม่แทบทุกเรื่อง ที่ใช้บทเพลงเป็นจุดขาย เล่าเรื่องราววิถีชีวิต ประเพณี และการแต่งงาน, เป็นจุดเริ่มต้นเทรนด์ ‘big-fat-wedding-film’, ผู้หญิงอินเดียปีนั้น แห่กันใส่สารี่สีม่วง ที่ Madhuri Dixit สวมในบทเพลง Didi Tera Devar Deewana
ผู้กำกับชื่อดัว Karan Johar บอกว่าหนังเรื่องนี้เปลี่ยนทัศนคติ ชีวิตเขาเลย และเป็นอิทธิพลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
“After seeing Hum Aapke Hain Koun..! I realized Indian cinema is about values, tradition, subtlety, romance. There is so much soul in it. I decided to go ahead and be a filmmaker only after watching this film.”
ส่วนตัวชอบแอบตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ ชั่วโมงแรกเป็นอะไรที่ตราตรึงมากๆ โดยเฉพาะวินาทีที่เกมเรียกค่าไถ่จบลง ทำนองเพลงเปลี่ยนจากสนุกสนานกลายเป็นซาบซึ้ง กับบทเพลง Babul นี่ทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอิบใจที่สุดเลย, แต่ไม่ค่อยชอบพล็อตเรื่องช่วงท้ายเท่าไหร่ เป็นการเสียสละของน้องที่ไร้สาระมาก แล้วพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ปิดหูปิดตาไม่เคยสนใจรับรู้เรื่องราวความสนิทเกินหน้าเกินตาของพวกเขาเลยเหรอไร! เป็นไปได้ยังไงกัน
เราสามารถเรียกประเภทของหนังได้ว่า ‘โลกสวย’ แทบทุกตัวละครจะยิ้มแป้นเห็นฟัน ร่าเริงสนุกสนานแทบจะตลอดเวลา นี่อาจเป็นของแสลงสำหรับบางคนที่ไม่ชอบแนวนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปเลยนะครับ
แนะนำกับคอหนัง Bollywood ร้องเล่นเต้น รอม-คอม สนใจประเพณีแต่งงาน, ต้องการรับชมหนังที่ครั้งหนึ่งได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศอินเดีย, แฟนหนัง Salman Khan กับ Madhuri Dixit ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป เหมาะกับนั่งดูพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
Leave a Reply