Husbands

Husbands (1970) hollywood : John Cassavetes ♥♥♡

เมื่อเพื่อนรักพลันด่วนเสียชีวิตจากไป อีกสามคนที่เหลือ Ben Gazzara, Peter Falk และ John Cassavetes จึงต้องพยายามทำบางสิ่งอย่างเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ทางความรู้สึก ‘Midlife crisis’ แต่มันเป็นเรื่องตลกที่ไม่ขบขันเอาเสียเลย!

Husbands เป็นภาพยนตร์ที่ถ้าไม่ชื่นชอบคลั่งไคล้ก็ขยะแขยงคลื่นไส้ เพราะสิ่งที่ผู้กำกับ Cassavetes นำเสนอออกมาคือความสุดโต่งของวิกฤตวัยกลางคนในระดับเสียสติแตก น้อยคนนักจักสามารถอดรนทนรับไหว ผมเองถึงพอเข้าใจแต่ก็กุมขมับส่ายหัว ไม่ไหวจะเคลียร์

ยกตัวอย่างฉากการรุมรังแกนักแสดง Leola Harlow เธอถูกขัดจังหวะทุกครั้งที่พยายามขับร้องเพลง It Was Just a Little Love Affair แรกๆมันก็พอขบขัน สักพักเริ่มรู้สึกมากไป เมื่อถึงจุดๆหนึ่งชักทนไม่ไหว สุดท้ายด่าพ่อล่อแม่แม้งยังไม่เลิกราอีก … จริงอยู่นี่สะท้อนความผิดปกติของสามชายวัยกลางคน ‘Midlife crisis’ แต่มันดัดจริตเกินความผิดปกติไปไกลมากๆ

ตั้งแต่ตอนออกฉายมาจนถึงปัจจุบัน นักวิจารณ์ยังคงเสียงแตกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ กลุ่มชื่นชอบจะยกย่องเรียกว่า Masterpiece อีกฝั่งฝ่ายถ่มถุยด้วยสาเหตุ Artistic Disaster, ส่วนตัวมองปัญหาเกิดจากผู้กำกับ John Cassavetes หลงระเริงในอิสรภาพจนไม่สามารถชั่งน้ำหนักความเพียงพอดีให้กับตนเอง


John Nicholas Cassavetes (1929 – 1989) ผู้กำกับ/นักแสดงสัญชาติ Greek-American เกิดที่ New York City พ่อเป็นชาวกรีก จนถึงอายุ 7 ขวบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักประโยค, เนื่องจากเรียนไม่เก่งเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าศึกษายัง American Academy of Dramatic Arts จากอาจารย์ Don Richardson จบออกมากำกับ เขียนบทละครเวที ทั้งยังสอนการแสดง Method Acting พัฒนาบทภาพยนตร์/กำกับเรื่องแรก Shadows (1959) จากทุนสร้างส่วนตัว $40,000 เหรียญ แม้ไม่ทำเงินแต่คว้ารางวัล Critics Award จากเทศกาลหนังเมือง Venice, สำหรับการแสดงเริ่มต้นจากซีรีย์โทรทัศน์เกรด B ผลงานสร้างชื่อคือ Rosemary’s Baby (1968), The Dirty Dozen (1967), The Fury (1978)  ฯ

Cassavetes ถือเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกหนังอินดี้ Art-House น่าจะเพราะความหงุดหงิดขุ่นเคืองคับข้องกับ Hollywood ที่จู้จี้จุกจิกจากผลงานเคยสร้าง Too Late Blues (1961) และ A Child Is Waiting (1963) หลังจากนั้นเลยเลิก! ตัดขาดสตูดิโอ สรรหาทุนสร้างด้วยตนเองตามมีตามเกิด นักแสดงก็วงในใบหน้าคุ้นเคย และด้วยปรัชญาการทำงาน ‘ทำหนังที่ตนต้องการ’

“I don’t give a fuck what anybody says. If you don’t have time to see it, don’t. If you don’t like it, don’t. If it doesn’t give you an answer, fuck you. I didn’t make it for you anyway”.

– John Cassavetes

ด้วยเหตุนี้ Cassavetes จึงได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในผู้กำกับทรงอิทธิพลที่สุดแห่งครึ่งหลังศตวรรษ 20 ผลงานโดดเด่น อาทิ Faces (1968), Husbands (1970), A Woman Under the Influence (1974), The Killing of a Chinese Bookie (1976), Opening Night (1977), Love Streams (1984) ฯ

หลังความสำเร็จของ Faces ที่ได้เข้าชิง Oscar ถึงสามสาขา ทำให้ Columbia Pictures แสดงความสนใจออกทุนโปรเจคถัดไป พร้อมมอบอิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ การันตีจะไม่เข้าไปยุ่งย่างก่าย

กลายมาเป็น Husbands เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวของ Cassavetes เมื่อครั้นพี่ชายแท้ๆพลันด่วนเสียชีวิตขณะอายุเพียง 30 ปี นำแนวคิดไปนัดพูดคุย Ben Gazzara และ Peter Falk ทั้งคู่ตอบตกลงและช่วยกันครุ่นคิดสรรค์สร้างตัวละครจากบุคลิกภาพพวกเขาเอง

Gus Demetri (รับบทโดย John Cassavetes), Archie Black (รับบทโดย Peter Falk) และ Harry (รับบทโดย Ben Gazzara) เดินทางมาร่วมงานศพเพื่อนสนิท Stuart (รับบทโดย David Rowlands) ผู้ล่วงลับไปก่อนวัยอันควร แม้การแสดงออกภายนอกดูปกติแต่ข้างในคงเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว มิอาจยินยอมรับทำใจได้เลยไม่พร้อมกลับบ้าน ออกเที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา ระรานสร้างความรำคาญใครอื่นไปทั่ว ขนาดว่าลงขันขึ้นเครื่องบินหนีไปกรุง London นอกใจภรรยาพาสาวขึ้นห้อง … เมื่อไหร่กันที่พวกเขาจะกล้าเผชิญหน้ายินยอมรับความจริงเสียที!


คอหนังส่วนใหญ่มักจดจำ John Cassavetes ในฐานะผู้กำกับ แต่เรื่องการแสดงต้องถือว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ช่วงแรกๆในวงการทำงานเป็นครูสอนการแสดง Method Acting เคยเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Dirty Dozen (1967) และยังมีผลงานเด่นๆอย่าง Rosemary’s Baby (1968), The Fury (1978) ฯ

รับบทเป็น Gus Demetri อาชีพหมอฟัน เป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ ขี้เล่นซุกซน มากล้นด้วยเสน่ห์ชวนให้ลุ่มหลงใหล ชอบทุกสิ่งอย่างที่ตรงกันข้ามกับตนเอง แต่ลึกๆคือรักภรรยาและลูกๆไม่ครุ่นคิดนอกใจ แค่ทำทุกสิ่งอย่างไปตามเสียงเรียกร้องผองเพื่อนเท่านั้น

คงไม่มีใครแสดงบทบาทนี้ได้ดีกว่า Cassavetes ที่เคยพานผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสียพี่ชาย ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหวนระลึกจากประสบการณ์ตรง หลายๆเหตุการณ์ก็คงประมาณนั้น และช่วงท้ายคือผู้สามารถตระหนักขึ้นได้ว่า ‘ชีวิตจำต้องก้าวเดินต่อ’ ตัดสินใจกลับบ้านเพราะไม่อาจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง


Biagio Anthony Gazzarra (1930 – 2012) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ครอบครัวอพยพจากประเทศอิตาลี โตขึ้นเข้าเรียนวิศวกรไฟฟ้า City College of New York แต่ด้วยความหลงใหลด้านการแสดงมากกว่า ลาออกมาเข้าเรียน Dramatic Workshop ได้อาจารย์ Erwin Piscator จนมีโอกาสแสดงละครเวที Off-Broadway ซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับการแสดง Broadway เรื่อง Cat On A Hot Tin Roof (1955–56) หลังจากเข้าร่วม Actors Studio ภพยนตร์เรื่องแรก The Stange One (1957) ตามด้วย Anatomy of a Murder (1959), สนิทสนมร่วมงานกับ John Cassavetes สามครั้ง Husbands (1970), The Killing of a Chinese Bookie (1976) และ Opening Night (1977)

รับบท Harry เพื่อนนอกคอกของกลุ่ม มีนิสัยเคร่งขรึมจริงจัง พูดอะไรต้องทำ ชอบรักษาภาพลักษณ์ให้ดูดีสง่างาม แถมยังวางตัวหัวสูงส่งกว่าใคร ปากบอกว่าไม่เป็นไรแต่คือผู้ตัดสินใจออกเดินทางบินตรงสู่ลอนดอน และเมื่อพบเจอบางสิ่งดีกว่า ทอดทิ้งภรรยาและลูกๆไว้เบื้องหลัง

การจากไปของ Stuart ดูภายนอกเหมือนว่า Harry ไม่ค่อยแสดงความแคร์ยี่หร่าออกมาเท่าไหร่ แต่ลึกๆผมว่าเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจที่สุดในกลุ่มแล้วกระมัง สังเกตจากการสร้างภาพเสแสร้งทำ แต่กลับใช้ความรุนแรงลงกับภรรยา แถมเมื่อลักลอบได้ชู้มาที่ลอนดอน ก็พร้อมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง ไม่ต้องการหวนกลับมาผจญความโศกเศร้าหมองอีกต่อไป

ในบรรดาสามเกลอ Gazzarra เป็นคนที่ดูผิดแผกแตกต่างจาก Cassavetes และ Falk อย่างมากทีเดียว วางมาดสุดเนี๊ยบ ภาพลักษณ์ต้องหล่อเท่ห์ตลอดเวลา แต่ลึกๆมีบางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน สังเกตไม่ได้ด้วยสีหน้าอารมณ์ การกระทำแสดงออกคือซึ่งสะท้อนนิสัยตัวตน


Peter Michael Falk (1927 – 2011) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Poland เมื่อตอนอายุสามขวบผ่าตัดตาซ้ายจากโรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) ทำให้ต้องสวมตาปลอมตลอดชีวิต แต่ข้อจำกัดดังกล่าวไม่ใช่ข้ออ้างการไม่ทำอะไร ชื่นชอบเล่นกีฬาเบสบอล บาสเกตบอล ฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเป็นทหาร แม้ถูกปฏิเสธแต่ดื้อรั้นจนได้เป็นพ่อครัวสังกัด United States Merchant Marine ต่อมาเข้าเรียน New School for Social Research จบสาขาวรรณกรรมและรัฐศาสตร์ ท่องเที่ยวยุโรปหลายเดือน หางานทำไม่ได้สักทีเลยกลายเป็นนักแสดง แรกเริ่มเข้าร่วมคณะ Mark Twain Masquers ไต่เต้ามาเรื่อยๆจนถึง Off-Broadway, Broadways, ภาพยนตร์เรื่องแรก Wind Across the Everglades (1958), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Murder Inc. (1960), ได้รับการจดจำสูงสุดจากซีรีย์ Columbo (1968–2003), และยังสนิทสนมกับ Cassavetes ร่วมงานกันเรื่อง Husbands (1970), A Woman Under the Influence (1974) ฯ

รับบท Archie Black สติปัญญาไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนักแต่อารมณ์ขันเป็นเลิศ ชอบหยอกล้อเล่นกับ Harry เพราะต่างมีนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม ขณะเดียวกันเข้าขากันเป็นอย่างดีกับ Gus มองตาแทบเข้าใจ แต่ตอนอยู่ลอนดอนไม่รู้เป็นอะไร เลือกโน่นนี่นั่นผิดวิสัยตนเองทั้งหมดเลย

เอาจริงๆผมไม่รู้ว่าบทบาทนี้ของ Falk ตัวละครสะท้อนนักแสดง หรือนักแสดงสะท้อนตัวละครกันแน่ มีความกลมกลืนเหมือนเปะจนแยกแยะอะไรแทบไม่ออก มักเป็นคนเปิดประเด็นพูดคุย หยอกล้อเล่นสนุกสนาน ไม่ค่อยหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรจริงจัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นชอบความรักแบบอบอุ่นนุ่มนวลไม่ใช่เร่าร้อนรุนแรง

แซว: ถ้าเปรียบเทียบสามเกลอของ Husbands (1970) กับภาพยนตร์เรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1966) จะประมาณว่า
– Clint Eastwood = John Cassavetes
– Lee Van Cleef = Ben Gazzara
– Eli Wallach = Peter Falk


ถ่ายภาพโดย Victor J. Kemper สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของผู้กำกับ Arthur Hiller ผลงานเด่นๆ อาทิ The Candidate (1972), Dog Day Afternoon (1975), The Last Tycoon (1976) ฯ

เมื่อทุนสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หนังสามารถถ่ายทำด้วยฟีล์มสี 35mm อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพ และยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวทำงานถึงกรุง London

งานภาพของหนังแม้มีความเป็น Hollywood มากขึ้น (คือไม่สั่นๆเบลอๆ หรือพบเห็นมุมกล้องแปลกๆบ่อยครั้งนัก) แต่ยังคงสไตล์ลายเซ็นต์ Cassavetes โดดเด่นกับระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้าตัวละคร จนรายละเอียดรอบข้างไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆทั้งนั้น New York หรือ London

อารัมบทร้อยเรียงภาพนิ่งของสี่ครอบครัว เพื่อนำเสนอความสนิทสนมชิดเชื้อ เบ่งโชว์กล้ามวางมาดลูกผู้ชาย ข้านั้นเป็นใหญ่ที่สุดในบ้าน! (ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าช็อตนี้คือภรรยาและลูกๆของพวกเขาเลยหรือเปล่านะ แต่ข้างๆ Cassavetes โอบกอดศรีภรรยา Gena Rowlands และบุตรชาย Nick Cassavetes)

ตั้งแต่ช็อตแรกๆของหนัง พบเห็นตัวละคร Harry ค่อนข้างจะแปลกแยก แตกต่างจาก Gus และ Archie พบเห็นออกเดินนำหน้าไปแสนไกล ทอดทิ้งสองเพื่อนสนิทพูดคุยเพราะยังมิอาจยินยอมรับทำใจได้

ช็อตที่มองอะไรแทบไม่เห็นนี้ คือค่ำคืนหลังงานศพเพื่อนสนิท สามเกลอดื่มด่ำเมามาย ร้องเล่นเต้นรำ ภายนอกดูเหมือนสนุกสนาน แต่แท้จริงเพื่อระบายความเจ็บปวดรวดร้าว เบี่ยงเบนความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมา … ภาพช็อตนี้เลยปกคลุมด้วยความมืดมิด (สะท้อนจิตใจของพวกเขา) ค่อยๆเคลื่อน/ซูมเข้าไปอย่างเชื่องช้า (สัมผัสของความเศร้าสร้อยเคล้าน้ำตา)

ทั้งๆควรจะกลับบ้านได้แล้ว สามเกลอกลับขึ้นรถไฟรอบดึก สัญลักษณ์ของการเดินทางสู่ … มุมมืดมิดภายในจิตใจ?

Long Take ของการเล่นบาสเกตบอล จุดประสงค์ให้เหงื่อออก เพื่อระบายความเจ็บปวดรวดร้าวสะสมอัดอั้นอยู่ภายใน ขณะเดียวกันสังเกตได้ว่า
– Cassavetes ชูตลงแทบทุกลูก
– Falk ลงบ้างไม่ลงบ้าง
– Gazzara มาทีหลังชู้ตไม่ลงสักลูก

พฤติกรรมของสามเกลอฉากนี้ ไม่ใช่แค่ข้ออ้างมึนเมามายแต่ยังสะท้อนความเห็นแก่ตัว โลกต้องหมุนรอบฉัน แสดงออกอย่างเผด็จการ ข้าเป็นใหญ่ทุกคนต้องก้มหัว กลั่นแกล้งทำร้ายจิตใจกันได้เพื่อความสนุกสุขสำราญ

ฉากซึนามิเห็นว่าทำให้ผู้ชมจำนวนมากเดินออกจากโรงภาพยนตร์! อาการ Hangover สะท้อนถึงความมากเกินไป ดื่มกินอย่างขาดสติยับยั้งคิด ซึ่งนั่นเกิดขึ้นกับ Gus และ Archie แต่ไม่ใช่ Harry ที่สามารถควบคุมตนเอง รักษาภาพลักษณ์ไม่ยินยอมอ๊วกอ๊ากออกมาให้ใครเห็น

ว่าไปหนังทั้งเรื่องสะท้อนเข้ากับฉากนี้เต็มๆ สามเกลอผู้มีความทุกข์เศร้าโศกจากการสูญเสียเพื่อน ทำให้พวกเขามึนเมามายจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งท้ายสุดเพียง Harry สามารถทำบางสิ่งอย่างให้เกิดขึ้นนี้

เรื่องราวของ Harry ชัดเจนว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี ไปทำงานอ้างว่ารับผิดชอบต่อหน้าที่ หรืออย่างช็อตนี้พบเห็นแจกันใส่ดอกไม้ แต่จิตใจของเขาแท้จริงแล้วไม่ต่างจากภาพ Abstract ด้านหลัง คล้ายๆกิ้งก่าเปลี่ยนสี พยายามเอาตัวรอดไปที สนองความพึงพอใจของตนเองเท่านั้นพอ

ฉาก Casino ที่กรุงลอนดอน มีความน่าทึ่งในการนำเสนออย่างมาก สังเกตภาพมักจะ Close-Up จับจ้องใบหน้าของตัวละคร ผู้ชมจักไม่เห็นพวกเขากำลังเล่น แทง คะแนนออกอะไร แค่เพียงปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ และหลังจากนี้คือสาวแก่แม่หม้ายที่ทั้งสามพยายามเกี้ยวพาราสี คาดหวังค่ำคืนนี้คงได้ปลดปล่อยระบายความอึดอัดอั้นให้มันคาคลั่งออกไป

Gus (ตัวละครของ Cassavetes) แอ้มสาวที่ตรงกันข้ามกันตนเอง พอขึ้นเตียงกอดรัดฟัดเหวี่ยงด้วยความรุนแรง จนเธอหลงครุ่นคิดว่าเขาเอาจริงจัง ท้ายสุดนั้นก็แค่เพื่อระบายบางสิ่งอย่างออกไปเท่านั้นเอง

Archie (ตัวละครของ Falk) เลือกสาวชาวจีน นิ่งๆเงียบๆไม่ยอมพูดคุยใคร แต่พอขึ้นเตียงกลับแสดงธาตุแท้ออกมา ทำเอาเขาต้องขอให้หยุดแทบเป็นบ้า เธอร่ำร้องไห้และจากเขาไปท่ามกลางสายฝน

Harry (รับบทโดย Gazzara) เป็นคนเดียวได้สาวที่สร้างความพึงพอใจให้สูงสุด และต่อด้วยยามเช้ามีอีกสามสาวในห้องชื่นชอบพึงพอใจเขา … นี่มันสรวงสวรรค์ชัดๆ เรื่องอะไรจะยินยอมหวนกลับบ้าน!

หลังจากผ่านค่ำคืนแห่งการระบาย Gus และ Archie พูดคุยกันในห้องที่มีเพียงเฟอร์นิเจอร์ว่างเปล่า สะท้อนสภาพจิตใจของพวกเขา ไม่หลงเหลืออะไรให้ทำต่ออีกแล้วนอกจากกลับบ้าน ตรงกันข้ามกับห้องของ Harry เต็มไปด้วยสาวๆที่พร้อมจะ…

ระหว่างทางกลับบ้าน เมื่อต้องสูญเสีย/ทอดทิ้งเพื่อนอีกคน สองหนุ่มทั้งสูบ ทั้งดื่ม วัฎจักรแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว หวนกลับมาหาพวกเขาอีกครั้งแบบเซ็งๆ

เจ๋งสุดของหนังผมว่าช็อตนี้เลย สลับแลกของขวัญ … การเดินทางสู่ลอนดอนของพวกเขาล้วนเพื่อตัวตนเองมิได้สนใครอื่น แต่เมื่อกำลังจะกลับบ้านเลยตระหนักขึ้นได้ว่าสมควรมีอะไรติดไม้ติดมือ สลับของฝากวินาทีสุดท้ายนี้ สะท้อนจิตใจที่ยังมิได้หวนคืนสติกลับมาเป็นดั่งเดิมแม้แต่น้อย!

ตัดต่อโดย John Cassavetes, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสามเกลอ Gus, Harry และ Archie ไปไหนไปด้วย อยู่ติดตัวแทบไม่ห่างจากกัน

ฉบับแรกสุดของหนังได้ความยาว 225 นาที แต่ด้วยสัญญาที่เซ็นไว้กับ Columbia Picture ทำให้ต้องตัดโน่นนี่นั่นออกจนเหลือ 138 นาที แต่หลังจากฉายหนังได้เสียงตอบรับย่ำแย่ สตูดิโอเลยหั่นฉากอ๊วกในห้องน้ำออกไป 11 นาที

สำหรับเพลงประกอบล้วนมีลักษณะเป็น Diegetic Music ที่ตัวละครขับร้อง ประสานเสียง ทั้งหมดประกอบด้วย
– Show Me the Way to Go Home (1925)
– When Irish Eyes Are Smiling (1912)
– Jeanie with the Light Brown Hair (1854)
– Jesus Loves Me (1860)
– When It’s Apple Blossom Time in Normandie (1912)
– Happy Birthday to You (1893)
– Blood on the Saddle (1930)
– My Best Girl
– Pack Up Your Troubles in Your Old Kit Bag and Smile, Smile, Smile! (1915)
– It was Just a Little Love Affair
– Good Morning, Mr Zip-Zip-Zip! (1918)
– Dancing in the Dark (1931)

Husbands นำเสนอสภาพจิตใจของชายสามคนหลังการสูญเสียผองเพื่อนรัก ก่อเกิดวิกฤตวัยกลางคน แสดงออกด้วยความคลุ้มคลั่งเสียสติแตก ไม่อาจควบคุมการกระทำ/ความต้องการของตนเองได้

วิกฤตวัยกลางคน ‘midlife crisis’ ปรากฏการณ์ทางจิตใจที่มักเกิดขึ้นช่วงอายุ 45-64 ปี เมื่อมนุษย์เริ่มครุ่นคิดถึงความตาย ตระหนักถึงเป้าหมายยังทำไม่สำเร็จสักที สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความซึมเศร้า กังวล และรู้สึกสูญเสียดายช่วงเวลาหนุ่มสาว ต้องการหวนย้อนกลับมาอ่อนเยาว์วัยอีกครั้ง หรือวาดฝันปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

บุคคลที่มีลักษณะอาการของ ‘midlife crisis’ มักเป็นคนมากด้วยเป้าหมาย ความคาดหวัง หรือหมกมุ่นหลงระเริงไปกับมายาคติ ไม่เคยครุ่นคิดจริงจังถึงชีวิต โลกหลังความตาย พอพบเห็นริ้วร่อยรอยเหี่ยวย่น ผมหงอกขาวโพลน เริ่มเกิดอาการยินยอมรับตนเองไม่ได้

สามตัวละครป่วยด้วยโรควิกฤตวัยกลางคน เพราะพวกเขาต่างใช้ชีวิตสนองความพึงพอใจส่วนตน เมื่อพบเห็นเพื่อนรักพลันด่วนจากไป ยินยอมรับไม่ได้ถึงความตาย ตัดสินใจออกเดินทางสู่ลอนดอน เพื่อทวงคืน/แสวงหาความหนุ่มวัยเยาว์ให้หวนกลับมาอีกครั้ง แต่แล้ว…
– Gus ครุ่นคิดตระหนักขึ้นว่า ทุกสิ่งที่เก็บสะสมสร้างมา บ้าน รถ ครอบครัว และลูกๆ จะให้ทอดทิ้งไปไม่เอาดีกว่า!
– Archie ฉันเป็นของฉันแบบนี้ จะให้ปรับเปลี่ยนแปลงตนเองคงไม่ไหว กลับบ้านดีกว่า!
– Harry ค้นพบเจอโลกใหม่ อิสรภาพที่โหยหา ราวกับสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า เรื่องอะไรจะหวนกลับสู่ขุมนรก

จริงอยู่ว่า Husbands น่าจะคือผลงานใกล้หัวใจที่สุดของผู้กำกับ John Cassavetes ระบายอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดอั้น ถ่ายทอดทุกสิ่งอย่างเคยเกิดขึ้นกับตนเอง แต่ก็ชวนให้สงสัยว่ามันคลุ้มคลั่งเสียสติแตกขนาดนั้นเชียวเลยหรือ วิกฤตวัยกลางคนช่างเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงเสียเหลือเกิน

ในสังคมที่มนุษย์ใช้ชีวิตด้วยอารมณ์ ทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองตัณหาความต้องการส่วนตน ไม่ต่างอะไรกับคนชื่นชอบดื่มสุรามึนเมามาย เสพความสุขเพียงพอใจชั่วขณะหนึ่ง จากนั้นเช้ามาก็ทุกข์ทรมานจากอาการเมาค้าง/Hangover


หนังใช้ทุนสร้างประมาณ $1 ล้านเหรียญ แต่จากเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็นเสี่ยงๆตอนออกฉาย เหมือนจะขาดทุนย่อยยับเยิน แต่ช่วงปลายปีกลับได้ลุ้นตั้งหนึ่งรางวัล Golden Globe Award: Best Screenplay

ส่วนตัวไม่ชอบหนังสักเท่าไหร่ เหนื่อยหน่ายในความเยิ่นเย้อยืดยาว เรื่องราวมีแค่การบันทึกภาพ Cinéma Vérité ไม่ได้ให้ข้อคิดคติสาระใดๆ ก็แค่งานศิลปะสนองตัณหาศิลปิน John Cassavetes เท่านั้นเอง

แนะนำคอหนังอินดี้ สนใจเรื่องราววิกฤตวัยกลางคน, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหา, แฟนๆผู้กำกับ John Cassavetes และนักแสดงนำ Ben Gazzara, Peter Falk ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับพฤติกรรมการแสดงออกที่สะท้อนวิกฤตวัยกลางคน

คำโปรย | Husbands คือภาพยนตร์เห็นแก่ตัวที่สุดของ John Cassavetes ทำในสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น
คุณภาพ | เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย 
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: