I Am a Fugitive from a Chain Gang (1932) hollywood : Mervyn LeRoy ♥♥♥♥♡

Paul Muni รับบทชายที่โดนหลอกให้เป็นโจร ปล้นเงินเพียง 5 ดอลลาร์ แต่กลับได้รับตัดสินโทษใช้แรงงานหนัก 10 ปี ถูกล่ามโซ่ตรวน (Chain Gang) ต้องเดินก้มหน้าก้มตา จะเช็ดหน้ายังต้องขออนุญาตผู้คุม สภาพชีวิตไม่ต่างจากนรกบนดิน นี่มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือ?

ในยุคสมัยอาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง รัฐบาลพยายามออกกฎหมายที่เข้มงวดกวดขัน บีบบังคับใช้งานอย่างจริงจัง โดยไม่สนว่าผู้กระทำผิดเหล่านั้นตั้งใจ พลาดพลั้งไป มีความเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ I Am a Fugitive from a Chain Gang (1932) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ(ของโลก)ที่ตั้งคำถามการทำงานของหน่วยรัฐ ว่ามีความถูกต้องเหมาะสม สะท้อนจิตสำนีกทางสังคม และมนุษยธรรมมากน้อยเพียงใด

I Am a Fugitive from a Chain Gang ดัดแปลงจาก I Am a Fugitive from a Georgia Chain Gang! หนังสืออัตชีวประวัติของ Robert Elliott Burns (1892-1955) ทหารผ่านศึกที่โดนจับกุมข้อหาลักเล็กขโมยน้อย แล้วได้รับตัดสินโทษใช้แรงงานหนัก 10 ปี ถูกล่ามโซ่ตรวน พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของผองพวก ‘Chain Gang’ อดรนทนไม่ไหวจนหาหนทางหลบหนีออกมาสำเร็จ เขียนเรื่องราวดังกล่าวจากประสบการณ์ตรง ตั้งคำถามความถูกต้องเหมาะสม ไหนละจิตสำนึกทางสังคมของชนชั้นผู้นำ

รับชมภาพยนตร์นี้ทำให้ผมแทบคลุ้มคลั่ง ห่อละเหี่ยว หมดสิ้นหวัง อ่านเจอว่าหลังออกฉายก็ไม่ได้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แถมถูกแบนใน Georgia อ้างว่าบิดเบือนไร้ข้อเท็จจริง WTF! นี่นะหรือประชาธิปไตยแห่งสหรัฐอเมริกา สภาพไม่แตกต่างจากเผด็จการยุคสมัยนี้ หน่วยงานรัฐมีแต่ความคอรัปชั่น ทุจริตหน้าด้านๆ ใช้กฎหมายเป็นข้ออ้าง ตอบสนองความพีงพอใจส่วนตนเท่านั้น


I Am a Fugitive from a Georgia Chain Gang! เริ่มต้นตีพิมพ์ลงนิตยสาร True Detective ฉบับเดือนมกราคม 1932 ได้รับความสนใจจาก Jack L. Warner และโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจาก Robert E. Burns มูลค่า $12,500  เหรียญ ท่ามกลางความขัดแย้งไม่เห็นด้วยของแผนกต่างๆใน Warner Bros.

“[T]his book might make a picture if we had no censorship, but all the strong and vivid points in the story are certain to be eliminated by the present censorship board”.

แต่ใครจะกล้าหือเมื่อเจ้าของสตูดิโอ Jack L. Warner ลงมาสั่งการเอง ทีแรกต้องการมอบหมายผู้กำกับ Roy Del Ruth แต่ได้รับการบอกปัด เพราะครุ่นคิดว่าหนังคงไม่ทำเงิน และเนื้อหาหนักเกินไปในช่วงเวลา Great Depression

“This subject is terribly heavy and morbid…there is not one moment of relief anywhere”.

Roy Del Ruth

ก่อนมาลงเอย Mervyn LeRoy ขณะนั้นกำลังเตรียมงานสร้าง 42nd Street (1933) ตัดสินใจทอดทิ้ง/ส่งไม้ต่อให้ Lloyd Bacon แล้วตนเองกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีความน่าสนใจมากกว่า

Mervyn LeRoy (1900-87) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Francisco, California มารดาเชื้อสาย Jews พยายามผลักดันบุตรชายให้ขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ, ช่วงเหตุการแผ่นดินไหว 1906 San Francisco สร้างภาพจำให้เขาถึงช่วงเวลาที่เลวร้าย สูญเสียบ้าน ครอบครัวตกงาน จำต้องต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ยากลำบาก ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน ได้รับการสอนอ่านเขียนจากบิดา พออายุ 12 ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์อยู่แถวๆ Alcazar Theatre ถูกชักชวนโดย Theodore Roberts ร่วมขึ้นเวทีแสดง แรกเล่มเลียนแบบบุคลิก Charlie Chaplin (ที่กำลังโด่งดังขณะนั้น) ต่อมาจับคู่เพื่อนสนิท Clyde Cooper ร่วมการแสดง ‘Two Kids and a Piano’

การมาถึงของ Hollywood ยัง Los Angeles ทำให้ LeRoy สมัครเข้าร่วมสตูดิโอ Famous Players-Lasky เริ่มทำงานฝ่ายเครื่องแต่งกาย ค่าจ้าง $12.5 ต่อสัปดาห์, ด้วยความกระตือรือล้น ตั้งใจทำงาน เลยถูกส่งไปทำงานห้องแลป แผนกลงสี (film tinting) ศึกษาเทคนิคจนมีความโดดเด่น กลายมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง ครั้งหนึ่งเข้าร่วมตัวประกอบ The Ten Commandments (1923) ได้แรงบันดาลใจจาก Cecil B. DeMille ค้นพบเป้าหมายชีวิต ต้องการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ จึงเบนเข็มมาครุ่นคิดร่วมพัฒนาบท The Ghost Breaker (1922) กลายเป็นนักเขียนแก็ก ‘gag man’ กระทั่งได้รับโอกาสกำกับ No Place to Go (1927)

ช่วงทศวรรษ 30s ย้ายมาเข้าร่วมสตูดิโอ Warner Bros. สรรค์สร้างผลงานกว่า 36 เรื่อง (เป็นรองเพียง Michael Curtiz ทศวรรษ 30s สร้างหนังทั้งหมด 44 เรื่อง!) ผลงานเด่นๆอาทิ Little Caesar (1931), I Am a Fugitive From a Chain Gang (1932), Gold Diggers of 1933 (1933), They Won’t Forget (1937), Little Women (1949), Quo Vadis? (1950) ฯ

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Howard J. Green (1893-1965) และ Brown Holmes (1907-74) ทั้งสองเป็นนักเขียนประจำอยู่ Warner Bros. ขณะนั้น

เกร็ด: Howard J. Green ได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของ Screen Writers Guild ก่อตั้งเมื่อปี 1933 เพื่อให้บรรดานักเขียนบท มีอำนาจต่อรองสตูดิโอใหญ่ๆใน Hollywood


ผู้หมวด James Allen (รับบทโดย Paul Muni) เสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ชาติ สงครามโลกครั้งที่หนี่ง เมื่อเดินทางกลับบ้านประกาศกับครอบครัวว่าอยากหางานอิสระ ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่หลังจากออกท่องสหรัฐอเมริกา กลับไม่มีแห่งหนไหนยินยอมรับเข้าทำงาน กระทั่งครั้งหนี่งตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ลักขโมยเศษเงินจากร้านอาหาร ถูกตำรวจควบคุมตัว ได้รับตัดสินโทษใช้แรงงานหนัก 10 ปี

Allen โดนล่ามโซ่ตรวน ถูกผู้คุมใช้ความรุนแรง บีบบังคับสารพัดให้ต้องทำตามกฎ จนเขาเริ่มอดรนทนไม่ไหว โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนโทษจีงสามารถหลบหนีเอาตัวรอดมุ่งสู่ Chicago เริ่มทำงานก่อสร้าง ไต่เต้าจนเป็นวิศวกร ออกแบบก่อสร้างสะพาน ได้รับการยินยอมรับ นับหน้าถือตาในสังคม แต่วันหนี่งถูกทรยศหักหลัง ‘blackmail’ โดยศรีภรรยา เลยถูกตำรวจควบคุมตัว หน่วยงานรัฐอ้างว่าถ้าหวนกลับไปยินยอมรับโทษ จะได้รับทัณฑ์บนในอีกไม่กี่วัน

ครุ่นคิดว่าคำสัญญาของรัฐจะเชื่อถือได้ Allen จีงยินยอมหวนกลับไปใช้แรงงานหนัก แต่ผ่านไปสักระยะกลับได้รับคำตอบว่าศาลไม่อนุมัติทัณฑ์บน ให้อดรนทนไปอีกหนี่งปี ทำตนเป็นแบบอย่างนักโทษชั้นดี แต่พอเวลาเคลื่อนเลยผ่าน เพียงคำกลับกลอกปอกลอก จนเขาตัดสินใจแหกคุกครั้งที่สอง แล้วสาปสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย


Paul Muni ชื่อจริง Frederich Meshilem Meier Weisenfreund (1895-1967) นักแสดงสัญชาติ Austro-Hungarian เชื้อสาย Jews เกิดที่ Lemberg, Austro-Hungarian Empire (ปัจจุบันคือ Lviv, Ukraine) เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ Chicago, ทั้งบิดา-มารดาต่างเป็นนักแสดง ทำให้มีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็กจนได้รับโอกาสเข้าร่วม Yiddish Art Theatre และความชื่นชอบอีกอย่างคือการแต่งหน้า จนได้รับฉายา ‘the new Lon Chaney’ ขณะอายุ 12 สามารถเล่นเป็นตัวละครอายุ 80 ปี

ปี 1929, เซ็นสัญญาสตูดิโอ Fox แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Valiant (1929) แม้ไม่ทำเงินนักแต่มีชื่อเข้าชิง Oscar: Best Actor ระหว่างนั้นก็ไปๆกลับๆระหว่าง Hollywood กับ Broadways จนกระทั่งโด่งดังกับ Scarface (1932) พร้อมๆกับ I Am a Fugitive from a Chain Gang (1932), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Story of Louis Pasteur (1936) ** คว้า Oscar: Best Actor, The Life of Emile Zola (1937), The Last Angry Man (1959) ฯ

รับบท James Allen ทหารผ่านศีกผู้มีความมุ่งมั่น เพ้อฝัน ทะเยอทะยาน แม้ยังไม่รู้ว่าเสร็จจากสงครามจะทำงานอะไร แต่เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาคือดินแดนแห่งโอกาส เสรีภาพ ความหวังใหม่ กระทั่งออกเดินทางไปทั่วประเทศ เริ่มค้นพบว่าทุกแห่งหนล้วนทุกข์ยาก ลำบาก แสนเข็น ไร้ซี่งอาชีพการงาน ความมั่นคง ไม่ต้องมองหาหนทางก้าวหน้าในชีวิต

โชคชะตานำพาให้เขากลายเป็นโจร แม้ไม่ได้เต็มใจ แค่เพียงลักเล็กขโมยน้อย กลับถูกตัดสินโทษทัณฑ์อย่างรุนแรง พยายามดิ้นรนกระเสือกระสน หาหนทางหลบหนี เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ไปสถานที่แห่งหนไหนล้วนถูกทรยศหักหลัง จนมีสภาพคลุ้มคลั่ง วิตกจริต ไม่ยินยอมเชื่อถือใครอีกต่อไป

ผู้กำกับ LeRoy มีโอกาสชมละครเวทีเรื่อง Counsellor at Law (1931) ประทับใจการแสดงของ Muni จีงต้องการให้รับบทนำ แต่พบกันครั้งแรกเหมือนไม่ถูกชะตากันเท่าไหร่ (Muni มองว่า LeRoy ดูเด็กเกินไป) ถีงอย่างนั้นพวกเขากลับกลายเป็นเพื่อนสนิท พบปะสังสรรค์กันอยู่เรื่อยๆ ตราบจนวันตาย (ว่ากันว่างานศพของ Muni มีเพียงผู้จัดการส่วนตัวและ ผกก. LeRoy สองคนเท่านั้นที่มาเข้าร่วม)

ในการตระเตรียมตัวรับบท Muni นัดพบเจอ Robert E. Burns (เจ้าของนวนิยายต้นฉบับ) เพื่อศีกษา/ลอกเลียนสำเนียง การพูด อากัปกิริยา โดยเฉพาะท่วงท่าการเดิน ที่ยังเคยชินติดตัวมาระหว่างถูกล่ามโซ่ตรวน

“I don’t want to imitate you; I want to be you”.

Paul Muni

นอกจากนี้ยังศีกษาข้อกฎหมาย รายละเอียดแต่ละรัฐ พูดคุยผู้คุมที่เคยทำงานอยู่ทางตอนใต้ และวาดฝันอยากไปพบเห็นสภาพความเป็นอยู่จริงๆของนักโทษที่ Georgia แต่ถูกบอกปัดทันทีจากผู้บริหาร Warner Bros. มิอาจแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ … แต่พี่แกก็ขึ้นเรือล่องจาก Los Angeles ไป-กลับช่องแคบ Panama เพื่อท่องบท และเก็บประสบการณ์การเป็นนักเดินเรือ

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Paul Muni คือนักแสดง ‘method acting’ คนแรกๆของ hollywood เลยหรือเปล่า แต่เขานำประสบการณ์จากละครเวที สวมบทบาทกลายเป็นตัวละคร ทุกอากัปกิริยา ท่วงท่าเคลื่อนไหว น้ำเสียงสำเนียงการพูด รวมไปถีงสีหน้าอารมณ์ล้วนกลั่นออกมาจากความรู้สีกภายใน อย่างฉากทุบหินทำถนน แม้อากาศร้อนจัดแค่ไหนก็เล่นเองไม่ยินยอมใช้ตัวแทน (สีผิวเปลี่ยนจริงๆ ไม่ได้มาจากการแต่งหน้า) และช่วงท้ายแสดงอาการคลุ้มคลั่ง วิตกจริต ยิ่งหลอกหลอน สั่นสะท้านขั้วหัวใจ

การมาถีงของยุคหนังพูด (talkie) ทำให้ Hollywood เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนนักแสดง ดาราดังในยุคหนังเงียบหลายๆคนไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้จีงต้องเริ่มนำเข้าจาก Broadway ที่มีความเชี่ยวชำนาญทั้งด้านการแสดง จดจำบทพูด ร้อง-เล่น-เต้น Paul Muni ก็คือหนี่งในนั้น แต่เขาก็ไม่ทอดทิ้งละครเวทีนะครับ ไปๆกลับๆ เลือกรับบทที่อยู่ในความสนใจจริงๆ


ถ่ายภาพโดย Sol Polito ชื่อจริง Salvatore Polito (1892-1960) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน ครอบครัวอพยพสู่สหรัฐอเมริกาปี 1905 ลงหลักปักฐาน New York City จากเคยช่างภาพนิ่ง ผู้ช่วยห้องแลป เลื่อนขึ้นมาจัดแสง ถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ยุคหนังเงียบในสังกัด Warner Bros. ขาประจำร่วมงาน Michael Curtiz และ Mervyn LeRoy ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้ง The Private Lives of Elizabeth and Essex (1939), Sergeant York (1941), Captains of the Clouds (1942)

หนังใช้เวลาโปรดักชั่นเพียงเดือนกว่าๆ ตั้งแต่ปลายกรกฎาคม ถึงต้นกันยายน 1932, สถานที่ถ่ายทำก็คือ Warner Bros. Burbank Studios, Los Angeles ไม่ได้เดินทางไป Georgia หรือ Chicago ใช้เพียงภาพจากคลังเก็บ (Archive Footage)

สังเกตจากมุมกล้อง ทำให้ผมระลึกถึง L’Arrivée d’un train en gare de La Ciotat (1896) แปลว่า The Arrival of a Train โคตรหนังสั้นสรรค์สร้างโดยสองพี่น้อง Lumière ว่ากันว่าเมื่อนำออกฉาย ผู้ชมสมัยนั้นครุ่นคิดรถไฟกำลังเคลื่อนเข้ามาจริงๆ ถึงขนาดโยกตัว กระโดดหลบหนี กลัวว่าจะถูกชนเข้าอย่างจัง … นี่เป็นการอารัมบทนำเข้าเรื่องราว เพราะผู้สร้างต้องการให้หนังเรื่องนี้มีกระแสตอบรับเหมือนกำลังถูกรถไฟพุ่งเข้าชน ตระหนักว่าในสังคมกำลังมีบางสิ่งอย่างไม่ชอบธรรมซ่อนเร้นอยู่

ครอบครัว James Allen พยายามที่จะควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำหนทาง ใช้คำพูดโน้มน้าวราวกับโซ่ตรวนเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ได้รับอิสรภาพ ครุ่นคิดกระทำในสิ่งที่ตนสนใจ … นี่คือจุลภาคเล็กๆที่สามารถสะท้อนกึกก้องกับเนื้อหาสาระของหนัง สหรัฐอเมริกาอ้างว่าคือดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ แต่ไม่ว่าตัวละครจะเดินทางไปสถานที่แห่งหนไหน ล้วนเต็มไปด้วยกฎกรอบ ข้อบังคับ พยายามควบคุมครอบงำ หน่วงเหนี่ยวกักขัง มิอาจดิ้นหลุดพ้นไปไหน

ประเด็นหนึ่งที่หนังวิพากย์วิจารณ์หน่วยงานรัฐอย่างรุนแรง คือการปฏิบัติต่อทหารผ่านศึกหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่มีสวัสดิการ ความช่วยเหลือ ติดตามเอาใจใส่ เรียกว่าใช้เสร็จแล้วก็ทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เหรียญกล้าหาญเอาไปจำนำยังไม่ได้ ไร้มูลค่าราคา เช่นนั้นแล้วการเสียสละของพวกเขา มีประโยชน์อันใด?

จริงๆแล้วแรงงานหนักไม่ได้มีแค่ทุบหินทำถนน หรือก่อสร้างทางรถไฟเท่านั้นนะครับ แต่หนังต้องการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ เพราะนี่คือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและจังหวะ ยกค้อนขึ้นเหนือศีรษะ ทุบลงบนก้อนหิน เหวี่ยงซ้ำไปซ้ำมา ดังกวีรำพรรณา พร้อมเสียงขับร้องประสานเสียง … เรายังสามารถมองว่าการยกค้อน-ทุบลงหิน สะท้อนถึงจุดสูงสุด-ต่ำสุด เวียนวนดั่งวัฎจักรแห่งชีวิต

หลบหนีครั้งแรกของ James Allen ด้วยการดิ้นรนจนหลุดจากห่วงโซ่ตรวน วิ่งหลบหนี แล้วซ่อนตัวอยู่ใต้หนองน้ำ เลยถูกมองข้ามจากผู้คุม (และสุนัขไล่ล่า) ส่วนครั้งหลังลวงล่อหลอกคนขับรถบรรทุก จากนั้นซิ่งหลบหนี แม้ถูกไล่ล่าแต่สามารถโต้ตอบกลับด้วยระเบิดไดนาไมต์ (สำหรับระเบิดเส้นทางทำถนน) และใช้กลไก(ของรถบรรทุก)ตัดโซ่ตรวน

สังเกตว่าการหลบหนีทั้งสองครั้งมีความแตกต่าง ในทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

  • ครั้งแรกเต็มไปด้วยตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัว ใช้การดิ้นรน หลบซ่อนตัว ไม่กล้าโต้ตอบเผชิญหน้า พอหลบหนีสำเร็จค่อยๆก่อร่างสร้างฐาน ไต่เต้า ตั้งตัว จนเป็นที่นับหน้าถือตา พร้อมยืดอกเผชิญหน้ารับความจริง
  • ครั้งหลังเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น โต้ตอบกลับด้วยการล่อหลอก(คนขับรถบรรทุก) ใช้ความรุนแรง ตัดสายสัมพันธ์ แต่หลังจากนั้นตัวละครก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวง หลบซ่อนตัว ไม่เชื่อใจใครอีก

เรื่องราวเจ้าของห้องเช่า Marie Woods (รับบทโดย Glenda Farrell) สะท้อนเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นกับ Robert E Burns ช่วงหลบหนีมาปักหลักอยู่ Chicago แต่งงานกับสาวหม้าย เจ้าของห้องเช่า Emily Del Pino Pacheco เมื่อปี 1926 แต่สามปีให้เขาหลังต้องการหย่าร้าง มีแนวโน้มสูงมากๆว่าเธอจะเป็นคนแจ้งตำรวจให้ควบคุมตัวเขา

ชีวิตของ James Allen ไม่รู้จะโคตรซวยไปถึงไหน ตั้งแต่ถูกล่อลวงให้เป็นโจร ภรรยาคิดคดทรยศหักหลัง หน่วยงานรัฐกลับกลอกต่อคำสัญญา เกิดมาเพื่อให้ถูกประเทศแห่งนี้ปู้ยี้ปู้ยำจนไม่เหลือสภาพความเป็นคน

ชีวิตจริงของ Robert E Burns เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้รับการยกย่อง นับหน้าถือตาในสังคมสักเท่าไหร่ เลยสรรค์สร้างให้ James Allen ไต่เต้าสู่วิศวกรออกแบบสร้างสะพาน ต้องการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่ละรัฐ ประเทศชาติ แต่หลังจากถูกทรยศหักหลังจากทุกคนรอบข้าง ใช้ไดนาไมต์ระเบิดทำลายสะพาน ตัดขาดทุกสิ่งอย่าง ไม่เชื่ออะไรใครอีกต่อไป

Helen (รับบทโดย Helen Vinson) หญิงสาวที่ James Allen ตกหลุมรักอย่างจริงจัง แต่มิอาจครอบครองคู่แต่งงาน แม้จะตัดสินใจหวนกลับไปรับโทษทัณฑ์ คาดหวังไม่นานคงสามารถหวนกลับมา แต่เมื่อถูกหน่วยงานรัฐทรยศหักหลัง จึงมิอาจมอบกายถวายใจให้เธออีกต่อไป กลัวเหตุการณ์มันจะเกิดซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

ในชีวิตจริงของ Robert E. Burns ตกหลุมรักหญิงสาว Lillian Salo อายุ 22 ปี (อ่อนกว่าตนเอง 16 ปี) ต้องการหย่าร้างภรรยาเพื่อแต่งงานใหม่ แต่สุดท้ายก็มิอาจครองคู่อยู่ร่วม

เกร็ด: เพลงที่ได้ยินประกอบพื้นหลังฉากนี้คือ Someone to Care For (1932) แต่ง/ขับร้องโดย Harry Warren

หนึ่งในฉากจบที่โคตรทรงพลัง! ทั้งถ้อยคำพูด น้ำเสียงสั่นๆ ท่าทางรุกรี้รุกรน โดยเฉพาะสีหน้าของ Paul Muni ดวงตาลุกโพลน แล้วค่อยๆถอยหลังจนถูกความมืดมิดกลืนกิน หมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสิ่งใดๆ

Helen: How do you live?
James Allen: I steal.

ว่ากันว่าตอนแรกสุด ผู้กำกับ LeRoy ต้องการฉากนี้แค่ Fade-to-Back แต่ระหว่างการซักซ้อมจู่ๆหลอดไฟดวงหนึ่งไส้แตก แสงสว่างค่อยๆมืดลง (Slow Fade) จึงบังเกิดความแนวคิดให้ตัวละครค่อยๆถอยห่างออกจากแหล่งกำเนิดแสง กลายมาเป็นช็อตนี้ที่โคตรทรงพลัง! ทำให้จิตใจผู้ชมดำดิ่งลงสู่ความมืดมิด สิ้นหวังต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย William Holmes (1904-1978) สัญชาติอเมริกัน ทำงานในสังกัด Warner Bros. คว้ารางวัล Oscar: Best Edited จากเรื่อง Sergeant York (1941)

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมองสายตาของ James Allen ตั้งแต่เสร็จสิ้นภารกิจสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หวนกลับบ้าน แล้วเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ท่องไปทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนโดนจับกุมคุมขังรัฐแห่งหนึ่งทางตอนใต้ (Southern) หลังจากหลบหนีออกมาได้ย้ายไปอยู่ Chicago ไต่เต้าจนประสบความสำเร็จ หลังถูกศรีภรรยาทรยศหักหลัง ยินยอมกลับไปรับโทษทัณฑ์ แล้วทุกอย่างก็ย้อนรอยเวียนวนบังเกิดซ้ำรอบสอง

  • การเดินทางของ James Allen, เสร็จสิ้นภารกิจจากสงคราม หวนกลับบ้าน ออกท่องทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนถูกจับกุมข้อหาลักเล็กขโมยน้อย
  • ครั้งแรกในการเป็น Chain Gang, ร้อยเรียงวิธีชีวิตในหนึ่งวัน ตั้งแต่ตื่นตอน ทานเข้าเช้า ออกเดินทางไปใช้แรงงาน กฎระเบียบข้อบังคับ ค่ำคืนกลับที่พัก คนเข้า-ออก และการหลบหนี
  • เริ่มต้นชีวิตใหม่ใน Chicago, หลังหลบหนีได้สำเร็จ ทำงานไต่เต้าจากกรรมกร หัวหน้าช่าง วิศวกร แต่งงานหญิงสาวไม่ได้ ตกหลุมรักใครบางคน และถูกทรยศหักหลังโดยศรีภรรยา
  • ครั้งที่สองในการเป็น Chain Gang, ยินยอมหวนกลับไปรับโทษทัณฑ์ แต่กลับถูกหน่วยงานรัฐทรยศหักหลัง จึงตัดสินใจหลบหนีออกมาอีกครั้ง

หนังเต็มไปด้วยการเดินทางและ Time Skip ซึ่งจะใช้แผนที่และปฏิทิน ซ้อนภาพสิ่งที่ตัวละครต้องอดรนทนเพื่อพานผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น ยกตัวอย่าง วันเวลาที่ James Allen ต้องอดรนทนใช้แรงงานหนัก ภาพการทุบหินซ้อนปฏิทินปลิดปลิวไปทีละเดือน

ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้นจึงยังไม่มีการใช้ Soundtrack ทั้งหมดล้วนเป็น ‘diegetic music’ ต้องมีแหล่งกำเนิดเสียงจากวงดนตรี วิทยุ เครื่องเล่นแผ่น (phonograph) หรือการขับร้องประสานเสียง (ของเหล่านักโทษ)

แต่หนังมีความโดดเด่นมากๆเรื่อง Sound Effect หลายครั้งดังขึ้นอย่างผิดสังเกต เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ และสภาวะทางจิตใจของตัวละคร ที่แปลกประหลาดสุดๆก็คือตอน James Allen หลบหนีครั้งแรก นอกจากเสียงหมาเห่ายังมีหวูดรถไฟ ซี่งก็ไม่รู้ตังขึ้นจากทิศทางไหน (แต่เราสามารถตีความว่าคือการออกเดินทางครั้งใหม่ของตัวละคร)


ภาพยนตร์ยุคสมัยก่อนเพราะเป็นสื่อประเภทใหม่ ไม่ได้แพร่หลายหารับชมได้ทั่วๆไป จีงทรงอิทธิพลต่อผู้คนในการชวนเชื่อ สร้างค่านิยม ปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติทางสังคม ก็ลองนึกถึง The Arrival of a Train (1896) หนังสั้นเรื่องแรกๆของโลกที่ผู้ชมสมัยนั้น ครุ่นคิดว่ารถไฟกำลังพุ่งเข้าหาจริงๆ

I Am a Fugitive from a Chain Gang (1932) เป็นภาพยนตร์ที่พยายามตีแผ่ความจริง เปิดเผยสิ่งชั่วร้ายซ่อนเร้น ไม่ใช่จากตัวบุคคลแต่พุ่งเป้าไปที่หน่วยงานรัฐ การเลือกปฏิบัติ และข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เมื่อสาธารณะพบเห็นย่อมบังเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ตั้งคำถามว่าเราสามารถยินยอมรับภาพเหตุการณ์/การกระทำเหล่านั้นได้อย่างไร

จริงอยู่ว่าหนังมีการบิดเบือน เรื่องราวของ Robert E. Burns ก็นำเสนอเพียง’มุมมอง’ของตนเอง แต่ก็สามารถจุดประเด็นให้หลายๆหน่วยงานรัฐเริ่มทบทวนข้อกฎหมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างช้าๆ แม้ว่ารัฐ Georgia จะแบนห้ามฉายหนัง แต่ในที่สุด ‘chain gang’ ก็ถูกล้มเลิกหมดสิ้นไปเมื่อปี 1955 (โดย Georgia คือรัฐสุดท้ายที่ยกเลิกข้อกฎหมายดังกล่าว)

ปล. หนังไม่มีการเอ่ยกล่าวชื่อรัฐ Georgia พบเห็นแค่เพียงแผนที่ทางตอนใต้ (Southern) ซี่งสามารถเหมารวมได้ทั้งหมด (แต่ใครๆก็รู้ว่าคือ Georgia เพราะหนังสือต้นฉบับของหนังเน้นไว้อย่างชัดเจน)

ขณะที่ Robert E. Burns หลังหนังเรื่องนี้ออกฉายก็หายตัวอย่างลึกลับ (แบบตัวละครในหนังเปี๊ยบๆ) ก่อนถูกจับกุมอีกครั้งที่ Newark, New Jersey เมื่อธันวาคม 1932 แต่ทางการปฏิเสธส่งตัวคืนให้รัฐ Georgia เพราะอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งกว่าที่ Burns จะได้รับการอภัยโทษ(จาก Georgia)ก็ต้องรอถึงปี 1943

ถีงกฎหมาย ‘chain gang’ จะสูญพันธุ์หมดสิ้นไป แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ตีแผ่ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ ยังมีข้อกฎหมายอีกมากที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการใช้ความรุนแรงต่อนักโทษ/ผู้กระทำความผิด ใส่ร้ายป้ายสี แพะรับบาป ว่ากันตามตรงแทบไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากอดีตมากนัก แค่สร้างภาพภายนอกให้ดูดีขึ้นเฉยๆเท่านั้นละ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเผด็จการ ผู้นำใช้อำนาจในทางคอรัปชั่น ปากว่าตาขมิบตูด ใครชุมนุมต่อต้านก็ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน งัดข้อกฎหมาย(ที่เขียนขึ้นเอง)ลงโทษผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง ไม่สนหลักมนุษยธรรม ศีลธรรม จริยธรรม กฎแห่งกรรม

ในบรรดาภาพยนตร์ของ Mervyn LeRoy แม้ผมเพิ่งมีโอกาสรับชมไม่กี่เรื่อง แต่เห็นใน imdb เรื่องนี้คะแนนสูงสุดถึง 8.2 ก็มีแนวโน้มจะเป็นผลงานชิ้นเอก ได้รับการจดจำสูงสุด แม้แต่ Luis Buñuel ยังยกให้เป็นหนังเรื่องโปรด


ด้วยทุนสร้าง $228,000 เหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $650,000 เหรียญ รายรับทั่วโลก $1.599 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับ 3 แห่งปี 1932-33 รองจาก Gold Diggers of 1933 (1933) และ 42nd Street (1933)

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar สามสาขา แต่ไม่ได้สักรางวัล

  • Best Picture พ่ายให้กับ Cavalcade (1933)
  • Best Actor – Paul Muni พ่ายให้กับ Charles Laughton จากเรื่อง The Private Life of Henry VIII (1933)
  • Best Sound Recording พ่ายให้กับ A Farewell to Arms (1932)

เกร็ด: งานประกาศรางวัล Academy Award ตั้งแต่ครั้ง 2-6 จะนับคาบระหว่างปีระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 31 กรกฎาคม (ของปีถัดไป) ซี่งรอบนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย นับหนังเข้าฉายวันที่ 1 สิงหาคม 1932 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 1933 หลังจากนี้ก็จะเป็นต่อปีมาถีงจนปัจจุบัน

ส่วนตัวมีความคลุ้มคลั่งกับหนังเรื่องนี้มากๆ รู้สึกเครียด กดดัน แม้พอคาดเดาได้ว่าชะตากรรมตัวละครมันต้องบัดซบแน่ๆ แต่ก็ยังห่อละเหี่ยวเกินอดรนทนไหว Paul Muni เล่นโคตรดีสุดๆ สมควรได้ Oscar มากกว่า Charles Laughton อย่างแน่นอน!

ทีแรกผมอยากจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่หลังจากครุ่นคิดสักพักใหญ่ๆ ก็รู้สึกว่ามันมีการ ‘Provocative’ สุดโต่งมากเกินไป! จ้องโจมตี จับผิดแต่หน่วยงานรัฐ นำเสนอเพียงมุมมองด้านเดียว ทุกคนอื่นล้วนเป็นผู้ร้าย จนหลายคน ‘ชวนเชื่อ’ สนิทใจว่ายุคสมัยนั้นล้วนเป็นแบบนี้

ผมไม่ได้จะเข้าข้างหน่วยงานรัฐนะครับ ก็รู้ๆอยู่ว่ามันบัดซบขนาดไหน แต่มุมดีๆเชื่อว่ามัน’ต้อง’พอมีอยู่บ้าง ไม่ได้เลวร้ายสุดโต่งอย่างที่หนังนำเสนอออกมา คือถ้าคุณถอยออกมาก้าวใหญ่ๆ ไม่ปล่อยตัวกายใจให้ถูกชี้ชักนำทางอารมณ์ ก็อาจพบเห็นมุมมองบางอย่างแตกต่างออกไป … จงอย่าเชื่อแม้แต่ความรู้สีกนีกคิดของตนเอง

จัดเรต 15+ กับความอยุติธรรม คอรัปชั่นหน้าด้านๆ บรรยากาศตึงเครียด แทบคลุ้มคลั่ง

คำโปรย | I Am a Fugitive from a Chain Gang สร้างจิตสำนึกทางสังคมได้อย่างทรงพลัง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยินยอมรับความจริงนั้น
คุณภาพ | ลั
ส่วนตัว | แทบคลุ้มคลั่ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: