I Know Where I'm Going

I Know Where I’m Going! (1945) British : Powell & Pressburger ♥♥♥♥

Wendy Hiller รับรู้ตัวว่ากำลังจะไปไหนจริงๆนะหรือ? บางครั้งฟากฝั่งฝันอาจไม่ใช่เป้าหมายปลายทางแท้จริง ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นอยู่กับจิตใจของเราเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

I just saw a new masterpiece … I reached the point of thinking there were no more masterpieces to discover, until I saw I Know Where I’m Going.

ผู้กำกับ Martin Scorsese

I’ve never seen a picture which smelled of the wind and rain in quite this way nor one which so beautifully exploited the kind of scenery people actually live with, rather than the kind which is commercialised as a show place.

นักเขียน Raymond Chandler

เมื่อตอนก่อนที่ผมเขียนถึงคอลเลคชั่นของ Powell & Pressburger ไม่เคยเหลียวแลภาพยนตร์เลยนะ จนกระทั่งลองไล่ชาร์ทจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ค้นหาว่ายังขาดเรื่องไหนไม่ได้เขียนถึง จึงพบเจอ I Know Where I’m Going! (1945) ติดอันดับ 183 ลองค้นหาข้อมูลก็บังเกิดความโคตรๆประหลาดใจ ไฉนมองข้ามเรื่องนี้ได้อย่างไร??

I Know Where I’m Going! (1945) แค่ชื่อก็ทำการปักธง บอกใบ้ว่าตัวละครต้องไม่รับรู้ตัวเองแน่ๆว่ากำลังจะไปไหน! แต่พล็อตเรื่องราวที่แม้คาดเดาได้ กลับมีความลงตัว กลมกล่อม สมบูรณ์แบบมากๆ ‘perfect screenplay!’ รวมถึงภาพถ่ายทิวทัศน์สวยๆของ Erwin Hillier, ดนตรีพื้นเมือง Scottish & Irish แต่งโดย Allan Gray และไฮไลท์ล่องเรือออกทะเล เผชิญหน้ากระแสน้ำวน ยุคสมัยนั้นช่างดูสมจริง ยิ่งใหญ่ และแนบเนียนสุดๆ … ชวนให้ผมนึกถึงไคลน์แม็กซ์หนังไทย อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓)


Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท


หลังเสร็จงานสร้าง A Canterbury Tale (1944) โปรเจคที่ Powell & Pressburger ต่างมีความสนใจก็คือ A Matter of Life and Death แต่เพราะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฟีล์มสี (Technicolor) เป็นสิ่งหาได้ยาก มีปริมาณจำกัด เลยจำต้องมองหาโปรเจคอื่นขัดตาทัพไปก่อน

Pressburger ต้องการสานต่อแนวคิดของ A Canterbury Tale (1944) เกี่ยวกับ ‘Crusade against Materialism’ แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เข้าถึงผู้ชมง่ายขึ้นด้วยแนว Romantic-Comedy นำเสนอเรื่องราวหญิงสาวต้องการเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด จนตอนจบเธอก็ไปไม่ถึง และล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด

Michael Powell: Why does she want to go to the island?
Emeric Pressburger: Let’s make the film and find out.

ด้วยความสนใจในวัฒนธรรม Scottish ของผู้กำกับ Powell ร่วมกับ Pressburger และตากล้อง Erwin Hillier ออกเดินทางสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ ก่อนตัดสินใจเลือกเกาะ Mull, Argyll and Bute ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ Scotland จากนั้นพวกเขาปักหลัก พักอาศัย ใช้ชีวิตอยู่หลายสัปดาห์ เพื่อค้นคว้าประวัติศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิต และตอนเริ่มพัฒนาบทหนัง Pressburger ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น!

It just burst out, you couldn’t hold it back. I wrote the full script in four days.

Emeric Pressburger

สำหรับชื่อหนัง ดั้งเดิมนั้นครุ่นคิดว่าจะใช้ The Misty Island เพื่อสื่อถึงเกาะลึกลับที่สุดท้ายไม่มีใครไปถึง จนกระทั่ง Frankie Reidy ภรรยาของผู้กำกับ Powell แนะนำบทเพลงพื้นบ้าน Scottish Folk Song (บางแหล่งว่าเป็น Irish Folk Song) ชื่อว่า I Know Where I’m Going! เกี่ยวกับหญิงสาวหัวรั้น เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ซึ่งโดยไม่รู้ตัวสอดคล้องพล็อตหนังของ Pressburger

I know where I’m going
And I know who goes with me
I know whom I love
But the devil/dear knows who I’ll marry

เกร็ด: ประโยคที่สี่ของบทเพลงนี้ คำอ่านออกเสียงตามภาษา old Scottish คือ ‘deil’ แปลว่า devil มันจึงเป็นความก้ำๆกึ่งๆในการตีความหมาย


เรื่องราวของ Joan Webster (รับบทโดย Wendy Hiller) หมั้นหมายกับมหาเศรษฐี Sir Robert Bellinger กำลังจะเดินทางไปแต่งงานยังเกาะ(สมมติ) Isle of Kiloran แต่ด้วยสภาพอากาศอันย่ำแย่ เธอเลยติดเกาะอยู่ยัง Isle of Mull เฝ้ารอคอยเช้าวันฟ้าใส จักได้ดำเนินสู่เป้าหมายวาดฝันไว้

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับเธอ วันแล้ววันเล่าสภาพอากาศก็ยังไม่เป็นใจ ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Torquil MacNeil (รับบทโดย Roger Livesey) นาวาทหารเรือได้รับอนุญาตขึ้นฝั่ง (Shore Leave) กำลังรอคอยขึ้นเรือกลับบ้าน โดยไม่รู้ตัวต่างฝ่ายต่างตกหลุมรัก ขณะที่ฝ่ายชายพยายามเอาอกตามใจ ให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง แต่ฝ่ายหญิงกลับปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเป้าหมายปลายทาง ความตั้งใจดั้งเดิมของตนเอง

จนกระทั่งวันหนึ่ง Joan เกิดอาการร้อนรน มิอาจอดทนรอคอยได้อีกต่อไป ตัดสินใจว่าจ้างเด็กชายหนุ่มให้ออกเรือมุ่งสู่เกาะ Kiloran ทั้งรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย Torquil ก็ติดตามขึ้นเรือ เผชิญหน้าฟ้าฝน ลมพายุ และวังน้ำวน โชคล้วนๆสามารถเอาตัวรอดกลับขึ้นฝั่ง … แต่หลังจากนั้น Joan เลยตัดสินใจล้มเลิกแผนแต่งงาน และ Torquil หวนกลับไปรับราชการทหาร


Dame Wendy Margaret Hiller (1912-2003) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bramhall, Cheshire พออายุ 18 เข้าร่วมคณะการแสดง Manchester Repertory Company จนพอมีชื่อเสียงจากละครเวที West End แล้วแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Lancashire Luck (1937), โด่งดังกับ Pygmalion (1938), I Know Where I’m Going! (1945), Separate Tables (1958)**คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Sons and Lovers (1960), Toys in the Attic (1963), A Man for All Seasons (1966), Murder on the Orient Express (1974), The Elephant Man (1980) ฯ

รับบท Joan Webster หญิงสาวชาวอังกฤษ อายุ 25 ปี เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นคนทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เชื่อมั่นในความครุ่นคิดของตนเอง ปากอ้างว่ารับรู้ทิศทาง/ค้นพบเป้าหมายชีวิต ต้องการแต่งงานมหาเศรษฐี เพื่อจะได้มีชีวิตสุขสบาย แค่เพียงเดินทางไปให้ถึงเกาะ Kiloran เท่านั้น! แต่แล้วทุกสิ่งอย่างวาดฝันก็พังทลายลง เพียงเพราะสภาพอากาศ ฟ้าฝนไม่เป็นใจ และการพบเจอ Torquil MacNeil ทำให้เรียนรู้วิถีชีวิตแปลกใหม่ ประทับใจวัฒนธรรม Scottish ตระหนักว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง แม้ยากจนข้นแค้น แต่มนุษย์เราก็ยังมีความสุขได้

ตัวเลือกแรกของหนังคือ Deborah Kerr แต่เพราะไม่สามารถต่อรองสตูดิโอ MGM เลยเปลี่ยนมาเป็น Wendy Hiller ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกือบได้ร่วมงาน Powell & Pressburger ภาพยนตร์ The Life and Death of Colonel Blimp (1943) แต่บังเอิญว่าตอนนั้นเธอกำลังครรภ์ เลยจำต้องขอถอนตัวออกไป

ความเริดเชิดเย่อหยิ่งของ Hiller ในช่วงแรกๆแสดงออกมาได้อย่างน่าหมั่นไส้ ยัยนี่จะดัดจริตไปไหน แต่ระหว่างเรื่องราวดำเนินไป จะเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติอะไรบางอย่าง ท่าทางรุกรี้รุกรน เหมือนคนอยากรู้อยากเห็น ซ่อนเร้นความแก่นแก้วไร้เดียงสา ราวกับว่าทุกสิ่งอย่างเคยแสดงออกมา เพียงการสร้างภาพลวงตา เพราะความคาดหวังจากครอบครัว/ชนชั้นทางสังคม หาใช่ตัวตน ความต้องการแท้จริงจากภายใน

ในตอนแรกผมรู้สึกว่า Hiller เป็นนักแสดงที่ดูตื้นเขิน หน้าตาบ้านๆ ห่างชั้นกับ Deborah Kerr ถ้าได้เธอมาแสดงนำ คงทำให้หนังมีมิติลุ่มลึกล้ำ แต่หลังจากเพิ่งรับชม Black Narcissus (1947) เกิดความตระหนักว่า Kerr เคร่งเครียดจริงจัง อาจสร้างมิติให้ตัวละครสลับซับซ้อนเกินไป!

กลายเป็นผมรู้สึกว่า Hiller มีความพอดิบพอดี เหมาะสมกับบทบาทอย่างมากๆ เพราะเมื่อหวนกลับมาดูผ่านๆรอบสอง การแสดงที่เคยดูจริงๆจังๆ กลับสร้างความตลกขบขัน … มิติการแสดงอาจไม่ได้ซับซ้อน แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสความบริสุทธิ์จริงใจของตัวละคร แค่นั้นก็เพียงพอแล้วละ!


Roger Livesey (1906-76) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Barry, Wales สำเร็จการศึกษา Westminster City School, London โตขึ้นได้เป็น Understudy ของ Italia Conti จนมีโอกาสแสดงละครเวที West End ออกทัวร์แอฟริกา, New York, ขณะที่ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946), The Master of Ballantrae (1953), The League of Gentlemen (1960) ฯ

รับบท Torquil MacNeil นาวาทหารเรือ ช่วงระหว่างวันหยุดพักผ่อนกำลังรอคอยขึ้นเรือกลับบ้าน พบเจอกับ Joan Webster พูดคุยกันอย่างถูกคอ เลยให้คำแนะนำโน่นนี่นั่น พาไปเปิดมุมมองโลกทัศน์เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเกาะ แล้วเปิดเผยตนเองว่าเป็นบุตรชายเจ้าของเกาะ Kiloran แต่นั่นเหมือนจะสร้างความไม่พึงพอใจ จู่ๆเธอแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน พยายามตีตนออกห่าง แถมยังหัวดื้อรั้นจนสร้างความยุ่งยากลำบาก โดยไม่รู้ตัวนั่นคือความหวาดกลัว เพราะถ้าความรู้สึกดังกล่าวยังพัฒนาไปต่อ อาจทำให้พวกเขาไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทางวาดฝันไว้

เกร็ด: Torquil มาจากรูปแบบภาษา Anglicised (Norwegian & Swedish) ถ้าเขียนตาม Scottish Gaelic จะคือ Torcall หรือตามปรัมปรา Old Norse จะหมายถึงเทพเจ้าสายฟ้า Thor

ตัวเลือกแรกของหนังคือ James Mason เห็นว่าเซ็นสัญญาไว้แล้วด้วย แต่ก่อนหน้าถ่ายทำหกสัปดาห์ขอถอนตัว เพราะไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง (จริงๆเห็นว่า Powell ไม่ยอมจ่ายค่าเดินทางให้ภรรยาของ Mason ติดตามไปด้วย), สำหรับ Roger Livesey แม้มีความกระตือรือล้นหลังเข้ามาทดสอบหน้ากล้อง แต่ผู้กำกับ Powell มองว่าอีกฝ่ายดูแก่เกินไป น้ำหนักก็เยอะด้วย ปรากฎว่าพี่แกย้อมผมดำ พร้อมลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม (20 ปอนด์) การถอนตัวพลันด่วนของ Mason ทำให้มองหานักแสดงอื่นไม่ได้ด้วยก็เลยจำยอมตอบตกลง … แต่สุดท้าย Livesey ก็ไม่ได้เดินทางไป Scotland เพราะติดคิวการแสดงละครเวที West End –“

ผมรู้สึกว่า Livesey แก่เกินกว่าบทบาทไปมากจริงๆ พี่แกดูเหมือนชายสูงวัย เต็มไปด้วยประสบการณ์ พานผ่านโลกมามาก ไม่มีภาพลักษณ์คนหนุ่มหัวร้อน เคมีกับ Hiller ก็แค่ไม้เบื่อไม้เมา ไม่รู้ไปตกหลุมรักกันตอนไหน และโดยเฉพาะน้ำเสียงอันแหบแห้ง ยิ่งทำให้ตัวละครดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา หาความน่าสนใจไม่ได้สักเท่าไหร่!

James Mason ก็ไม่น่าใช่ตัวเลือกที่ดีนัก อายุอานามพอๆกับ Livesey (อ่อนกว่าแค่เพียง 3 ปี) แถมท่าทางเข้มๆ สีหน้าจริงจัง ดูไม่ค่อยเหมาะกับหนังรอม-คอม ที่ต้องต่อล้อต่อเถียงกับ Hiller (แต่ถ้า Mason ประกบ Kerr ก็อาจเข้าขากันได้อยู่นะ) … สรุปแล้วผมรู้สึกว่าตัวละครนี้ ยังหานักแสดงเหมาะสมกับบทบาทไม่ได้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Erwin Hillier (1911-2005) ตากล้องสัญชาติเยอรมัน เชื้อสาย Jews ระหว่างกำลังศึกษาศิลปะในกรุง Berlin บังเอิญมีภาพวาดหนึ่งถูกใจผู้กำกับ F.W. Murnau ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้ช่วยตากล้อง Tabu (1931) แต่ถูกบิดาขัดขวางเพราะรสนิยมทางเพศของอีกฝ่าย เลยแนะนำบอกต่อ Fritz Lang จนมีโอกาสช่วยงาน M (1931) จากนั้นเดินทางสู่เกาะอังกฤษ เข้าทำงานสตูดิโอ Gaumont Pictures ตามด้วย Elstree Studios ทำให้ได้รับรู้จัก Michael Powell ชักชวนมา The Archers ร่วมงาน The Silver Fleet (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945) ฯลฯ

ผมมีความรู้สึกแปลกๆกับหลายช็อตฉากในหนัง บางครั้งทิวทัศน์ดูสวยงามมากๆ แต่ประเดี๋ยวมืด ประเดี๋ยวสว่าง เดี๋ยวเบลอๆ เดี๋ยวลอยๆ มันมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า? ก่อนพบว่า Hillier ถ่ายทำหนังโดยไม่มีการใช้ Light Meter (สำหรับวัดความสว่างของแสง) และนักแสดงนำ Roger Livesey ติดคิวโปรดักชั่นละครเวที ไม่สามารถเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง เลยต้องใช้ Rear Projection เสียส่วนใหญ่

ถึงงานภาพของหนังจะดูเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ แต่โดยไม่รู้ตัวนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศลึกลับ น่าพิศวง ราวกับต้องมนต์ ดินแดนที่ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทั้งสภาพอากาศ ลมฟ้าฝน แสงสว่าง-ความมืดมิด เดี๋ยวเบลอ-เดี๋ยวชัด อารมณ์ตัวละครก็เฉกเช่นเดียวกัน

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังก็คือ Isle of Mull, Argyll and Bute ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ Scotland ด้วยอาณาบริเวณ 875.35 ตารางกิโลเมตร (338 ตารางไมล์) มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของเกาะอังกฤษ (Great Britain) จำนวนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2020 ประมาณ 3,000 คน!

  • บ้านพักของ Erraig ถ่ายทำยัง House of Carsaig
  • ท่าเรือ Carsaig Pier บริเวณ Carsaig Bay
  • ปราสาทต้องคำสาป Moy Castle, Lochbuie
  • โรงแรม Western Isles Hotel
  • ปราสาทของตระกูล Sorne ถ่ายทำยัง Duart Castle
  • ปราสาทของตระกูล Achnacroish ถ่ายทำยัง Torosay Castle

ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่สตูดิโอ Denham Film Studios ตั้งอยู่ยัง Denham, Buckinghamshire ภายนอกกรุง London (ปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางอากาศ) ซึ่งเคยทำโปรดักชั่นของ The Archers ตั้งแต่ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945) และ A Matter of Life and Death (1946)

โดยปกติแล้วตัวอักษร i ที่หมายถึงฉัน มักจะต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ I แต่เครดิตชื่อหนังกลับใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็ก แม้มันไม่ได้ผิดอะไร แต่ผมรู้สึกตะงิดๆกับเครื่องหมายตกใจ ! (อัศเจรีย์) มันมีลักษณะเหมือนตัวอักษร i กลับหัว ราวกับหนังต้องการสื่อว่า ทิศทางที่หญิงสาวรับรู้ว่ากำลังจะดำเนินไปไหน แท้จริงแล้วมันอาจไม่เป็นเช่นนั้น … ตอนจบของหนังถือว่ากลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยก็ว่าได้

ผมว่าบางคนแค่ได้รับชม Opening Credit ก็อาจยกย่องสรรเสริญหนัง ระดับมาสเตอร์พีซแล้วละ! เพราะแค่เสียงบรรยายภาพแรก สามารถสร้างรอยยิ้มกริ่ม อึ้งทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ ย่นย่อชีวประวัติ Joan Webster ผ่าน 3-4 ช่วงเวลา

  • เมื่อครั้นเป็นทารก คลานต้วมเตี้ยมตรงสู่เตียงนอน
    • แต่เหมือนเธอกลับถูกใครบางคนยืนขวางทาง (มารดากระมัง)
  • เมื่อครั้นเป็นเด็กหญิง เขียนจดหมายถึงซานต้า อยากได้ถุงน่องผ้าไหมแท้
    • แต่กลับได้รับเพียงถุงน่องผ้า ราคาถูกๆ
  • โตขึ้นมาหน่อยอยากมีรถหรูมารับหน้าโรงเรียน
    • แต่ก็ได้เพียงรถม้าเทียมเกวียน
  • วัยรุ่นสาวเกี้ยวพาราสีชายคนหนึ่ง
    • แต่ก็คาดเดาไม่ยากว่า ประเดี๋ยวคงเลิกรา
  • และพออายุ 25 ปี บอกกับบิดากว่ากำลังจะแต่งงาน
    • หนังทั้งเรื่องพยายามโน้มน้าวเธอว่า นั่นไม่ใช่ความเป้าหมายปลายทางที่แท้จริง!

ทีแรกผมก็แอบงงๆว่าชายคนนี้คือใคร? นายธนาคาร? บิดาของ Joan? หรือหนึ่งในชู้รัก? แต่รูปปั้นชายโรมันเปลือยกายที่อยู่ระหว่างพวกเขา สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงบุรุษในอุดมคติ (ของ Joan) ซึ่งก็คือภาพลักษณ์แบบชายสูงวัยคนนี้ มั่นคง ร่ำรวย ที่เธอครุ่นคิดอยากจะแต่งงานด้วย (Electra Complex)

ในเครดิตตัวละครนี้ขึ้นชื่อว่า Mr. Webster (รับบทโดย George Carney) ย่อมคือบิดาแท้ๆของ Joan ประกอบอาชีพนายธนาคาร ถือเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง เข้าใจได้ไม่ยากว่าต้องพยายามปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอนบุตรสาว ให้รู้จักมูลค่าความสำคัญของเงิน

ระหว่างโดยสารรถไฟตู้นอน Joan กำลังพร่ำเพ้อฝัน จินตนาการถึงวันแต่งงาน จะมีการซ้อนภาพ …

  • กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาชุดแต่งงาน แต่มันกลับสะท้อนแสงระยิบระยับของถุงพลาสติก (ที่สวมใส่ชุดแต่งงาน)
  • เมื่อตัดไปภาพบาทหลวงระหว่างทำพิธี จะมีการซ้อนภาพเครื่องจักรกล (ในลักษณะ Invert Shot)
  • ในความฝันนี้จะไม่พบเห็นเจ้าบ่าว แต่บาทหลวงจะเงยศีรษะขึ้นท้องฟ้า (ราวกับว่าบุคคลนั้นยืนอยู่เบื้องบนสรวงสวรรค์)
  • และเสียงตอบรับ “I do” ของฝ่ายชาย สิ่งที่ผู้ชมจักได้ยินก็คือหวูดรถไฟ ปู้น!!!

นี่ราวกับว่างานแต่งงานของ Joan เจ้าบ่าวตัวจริงไม่ใช่มหาเศรษฐี Sir Robert Bellinger แต่คือความมั่งคั่งร่ำรวย เครื่องจักรกล โรงงานอุตสาหกรรมคือสัญลักษณ์ของวัตถุนิยม (Materialism)

ใครเป็นแฟนหนังตัวยงของ Powell & Pressburger น่าจะรับรู้จักหนึ่งในสไตล์ลายเซ็นต์ เลื่องชื่อลือชาด้านการถ่ายทำด้วยเทคนิค Rear Projection ระหว่างรับชมผมก็ไม่ได้เอะใจอะไรหรอกนะ แค่ตะหงิดๆว่าทำไมแสงสว่าง-ความมืด มันดูผิดๆเพี้ยนๆ เพราะภาพขาว-ดำมันมีความแนบเนียนกว่าฟีล์มสี อย่างสองช็อตนี้สังเกตความแตกต่างออกไหมเอ่ย?

  • ภาพซ้ายถ่ายทำยังสถานที่จริง ทิวทัศน์ยามตะวันใกล้ตกดิน แต่เพราะ Hiller เข้าฉากกับนักแสดงแทน Livesey (นั่นเพราะ Livesey ไม่ได้เดินทางไปยัง Scotland) จึงต้องพยายามถ่ายภาพย้อนแสง ให้ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด มองเห็นไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไหร่
  • ส่วนภาพขวาถ่ายทำในสตูดิโอ Denham Film Studios พื้นหลังใช้เครื่องฉาย Rear Projection สังเกตใบหน้านักแสดงทั้งสอง มีแสงไฟ(จากการจัดแสงในสตูดิโอ)สาดส่องให้พบเห็นอย่างชัดเจน

รายละเอียดเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์และความช่างสังเกตพอสมควร แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ดูหนังแบบผ่านๆ โดยไม่รู้ตัวนี่เป็นสร้างบรรยากาศลึกลับ น่าพิศวง ราวกับต้องมนต์ ดินแดนมหัศจรรย์ที่ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้สร้าง

Isle of Kiloran คือเกาะสมมติ (Fiction Island) แต่ดูจากแผนที่ในหนัง ชาวอังกฤษ/สก็อตแลนด์น่าจะรับรู้ว่าได้คือภาพของ Isle of Colonsay (อยู่ทางตอนใต้ของ Isle of Mull) รวมถึงชื่ออ่าว Kiloran Bay ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ (ส่วนหนึ่งของ Colonsay Bay) และยังเป็นดินแดนบรรพบุรุษตระกูล Macfie และ MacNeil

แซว: เกาะแห่งนี้ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากช่างไม่ต่างจากแชงกรีล่า (Shangri-La) ดินแดนแห่งอุดมคติที่มีความลึกลับ น่าพิศวง และหญิงสาวเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล ถึงอย่างนั้นหนังกลับไม่มีฟุตเทจสักช็อตของ Kiloran หรือ Colonsay ค้างๆคาๆไว้ให้เป็น MacGuffin

Cèilidh (ผันมาจาก Cèle ภาษา Old Irish แปลว่า ‘companion’) กิจกรรมเกี่ยวกับการรวมตัว พบปะสังสรรค์ของชาว Scottish & Irish มักมีการดื่ม-กิน ร้อง-เล่น-เต้น ว่าจ้างวงดนตรี ปี่สก็อต มาบรรเลงเพลงพื้นบ้าน Gaelic ซึ่งครานี้เป็นงานเฉลิมฉลองครบรอบแต่งงานปู่-ย่าคู่นี้ ในหนังเหมือนไม่ได้บอกว่ากี่ปี แต่ผมอ่านเจอว่า Diamond Wedding Anniversary คือระยะเวลา 60 ปี!

แซว: หนังของ Powell & Pressburger มักต้องมีตัวละครต่างสัญชาติ พูดคนละภาษา (ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) อาจจะเพราะ Pressburger เป็นชาวเยอรมัน สามารถแฝงนัยยะถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ-ภาษา

ฉากที่มีความซับซ้อนมากสุดของหนังก็คือวังน้ำวน Corryvreckan Whirlpool บริเวณนี้มีอยู่จริงในอ่าว Gulf of Corryvreckan ทางตอนใต้ของ Isle of Mull, ตะวันออกเฉียงเหนือของ Isle of Kilolan ซึ่งจะมีช่องแคบเล็กๆระหว่างเกาะ Jura และ Scarba ทำให้เกิดกระแสน้ำวนขึ้นบ่อยครั้ง

ตามปรัมปรา Scottish Mythology เล่าว่าเทพเจ้าฤดูหนาว Cailleach Bheur มักลงมาสรงน้ำในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจาก Autumn → Winters (ซึ่งก็คือช่วงที่เกิดกระแสน้ำวนขึ้นบ่อยครั้ง) และหลังจากชำระคราบสกปรก เสื้อผ้าที่มีความขาวสะอาด จักกลายเป็นหิมะปกคลุมทั่วเกาะ

อีกปรัมปราที่มีการอ้างอิงถึงในหนัง เล่าเรื่องเจ้าชาย Breacan หรือ Vreckan แห่ง Scandinavian (ในหนังบอกว่าเป็นเจ้าชายจาก Norwegian) ตกหลุมรักหญิงสาวชาวเกาะคนหนึ่ง แต่บิดาของเธอเรียกร้องให้เขาพิสูจน์ความรัก ด้วยการล่องเรือผ่านวังน้ำวน ผลปรากฎว่าเรืออับปาง ไม่สามารถเอาชนะกระแสน้ำ หลงเหลือเพียงร่างไร้จิตวิญญาณเกยตื้นขึ้นฝั่ง … ก็เลยตั้งชื่อกระแสวังน้ำวน CorryVreckan เพื่ออุทิศให้กับเจ้าชายผู้ล่วงลับ

วังน้ำวนที่พบเห็นในหนังคือการผสมผสานระหว่างภาพถ่ายจากสถานที่จริง ซ้อนเข้ากับ Special Effect สร้างขึ้นในแท้งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งได้ทำการผสมเจลาตินเพื่อให้ขึ้นรูป/คงสภาพ (ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ The Ten Commandments (1923) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille) และติดตั้งใบพัดไว้ใต้น้ำ ปล่อยหมุนไปเรื่อยๆจนเห็นเป็นกระแสน้ำวน … มูลค่าเฉพาะฉากนี้สูงถึง £40,000 ปอนด์ (1 ใน 5 ของทุนสร้างตั้งต้น)

myself and the operator went out in a boat and almost got ourselves drowned in the whirlpool collecting that stuff!

ตากล้อง Erwin Hillier เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตายในการถ่ายทำวังน้ำวนจากสถานที่จริง

นอกจากนี้ยังมีการใช้โมเดลจำลอง สร้างเรือลำเล็กพบเห็นขณะกำลังเคลื่อนไหลไปตามทิศทางกระแสน้ำวน, ขณะที่ช็อตโคลสอัพตัวละครบนเรือ ล้วนถ่ายทำด้วย Rear Projection ไม่มีนักแสดงคนไหนเสี่ยงอันตราย นอกจากตากล้องไปเก็บภาพยังสถานที่จริง

ผมละขำกลิ้งกับนกอินทรีชื่อ Torquil เดียวกับตัวละครของ Roger Livesey ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราวคู่ขนานกันได้เลย ช่วงแรกๆต่างถูกใส่ร้ายป้ายสี มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ผมจะชี้นำช่วงท้ายให้นิดนึง ระหว่างที่เจ้าตัวนี้โฉบลงมาจับกินเหยื่อ (พบเห็นจิกลำไส้ขึ้นมาเลยนะ!) สื่อถึงการที่ Torquil สามารถสยบ Joan (หลังจากเอาตัวรอดจากวังน้ำวน) ทำให้เธอยินยอมศิโรราบแทบเท้า ล้มเลิกความตั้งใจหลบหนีเอาตัวรอด

Moy Castle เริ่มต้นทำการก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1360 โดย Hector Reaganach Maclean, 1st Laird of Lochbuie ต้นตระกูล Macleans ผู้ปกครอง Lochbuie, Mull ถือเป็นปราสาทที่มีความเก่าแก่ เมื่อเรื่องเล่าปรัมปรามากมาย จนกระทั่งถูกทิ้งขว้างเมื่อปี ค.ศ. 1752

เรื่องเล่าในหนังเชื่อว่า Powell & Pressburger น่าจะได้รับฟังมาจากชาวเกาะ Mull เท่าที่ผมหาข้อมูลก็พอมีเค้าโครงความจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่กับแท่นหินคำสาปนี้นะครับ มันดูสะอาดเอี่ยมอ่องเกินกว่าจะเป็นข้อความแกะสลักเมื่อหลายร้อยปีก่อน … และข้อความคำสาปมันเหมือนเป็นการอำนวยอวยพร เรื่องของความรักเสียมากกว่า

The Curse of Catriona Maclaine of Erraig

My curse on MacNeil of Kiloran and every MacNeil after him. If he shall ever cross the threshold of Moy, never shall he leave it a free man. He shall be chained to a woman till the end of his days and he shall die in his chains.

เกร็ด: เห็นว่าหนังมีอีกตอนจบ (Alternate Ending) ที่ Joan Webster แอบติดตาม Torquil MacNeil เข้ามาในปราสาท Moy Castle แต่ผู้กำกับ Powell ปรับเปลี่ยนเป็น Torquil กลับลงหา Joan (ที่มาพร้อมกับนักดนตรีปี่สก็อต) แค่นั้นแทน … จบแบบหนังดีกว่านะครับ เพราะแสดงให้เห็นว่า Torquil ได้ค้นพบปลายทางของตนเองเช่นกัน (ถ้าจบแบบ Alternate Ending มันเหมือนจะมีแค่ Joan ได้ค้นพบปลายทางของตนเอง)

ตัดต่อโดย John Seabourne Sr. สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการตั้งแต่ทศวรรษ 30s ด้วยการเป็นนักตัดต่อ Newsreels ให้กับสตูดิโอ Gaumount-British ผลงานเด่นๆ อาทิ Sweeney Todd (1936), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), A King in New York (1957) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Joan Webster เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นทารก เติบโตสาวแรกรุ่น ค้นพบเป้าหมายต้องการแต่งงานกับมหาเศรษฐี แต่ระหว่างออกเดินทางมุ่งสู่เกาะ Koloran เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดมากมาย จนสุดท้ายความฝันพังทลาย ไปไม่ถึงฟากฝั่งฝัน

  • อารัมบท, ตั้งแต่เกิดจนโตเป็นสาว
    • ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นทารก จนกระทั่งเติบโตเป็นสาว Joan Webster ล้วนรับรู้เป้าหมายที่อยากดำเนินไป
    • พออายุครบ 25 ปี ขอเงินก้อนสุดท้ายจากบิดา เพื่อออกเดินทางขึ้นรถ-เรือไปแต่งงานยังเกาะ Kirolan
  • ค่ำคืนแรกบนเกาะ Mull
    • แต่พอเดินทางมาถึงเกาะ Mull สภาพอากาศที่เคยปลอดโปร่ง จู่ๆมืดครื้ม ทำให้เรือไม่สามารถออกจากฝั่ง
    • นั่นทำให้ Joan ต้องขออาศัยบ้านพักของ Catriona Potts ทำให้รับรู้จักนาวาทหารเรือ Torquil MacNeil กำลังจะเดินทางกลับบ้านที่เกาะ Kirolan เช่นกัน
  • วันที่สองบนเกาะ Mull
    • Joan และ Torquil จับรถโดยสารเดินทางสู่ Tobermory ทำให้รับรู้จักตัวจริงของ Kirolan
    • Joan ได้พูดคุยกับว่าที่สามีผ่านวิทยุสื่อสาร
    • และค่ำคืนนี้เข้าพักยัง Western Isles Hotel
  • วันที่สามบนเกาะ Mull
    • Joan เดินทางไปยัง Achnacroish พบเจอกับเพื่อน/ญาติของว่าที่สามี ร่วมทานอาหาร รับฟังเล่าเรื่อง แต่กลับยังไม่สามารถหลบหนีจาก Torquill
    • Torquill นำพา Joan ไปรับชมการร้อง-เล่น-เต้น ในกิจกรรมพบปะสังสรรค์ Cèilidh
  • วันที่สี่บนเกาะ Mull
    • ด้วยเหตุผลบางอย่าง Joan มิอาจอดรนทน รอคอยให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งอีกต่อไป จึงว่าจ้างเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้ขับเรือไปส่ง
    • Torquill พยายามพูดโน้มน้าว หาหนทางหักห้ามปราม จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ เขาจึงจำต้องร่วมออกเดินทาง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
    • การผจญภัยพายุ ลมมรสุม และวังน้ำวน Corryvreckan whirlpool โชคดีสามารถหวนกลับขึ้นฝั่งได้สำเร็จ
  • ปัจฉิมบท, วันสุดท้ายบนเกาะ Mull
    • เช้าวันนี้อากาศแจ่มใส Torquill เตรียมตัวออกเดินทางกลับไปรับใช้ชาติ
    • ระหว่างทางตัดสินใจเข้าไปยังปราสาทต้องห้าม Moy Castle พบเห็นคำสาปจารึกไว้ และตระหนักถึงอิทธิฤทธิ์ของมัน

โครงสร้างของหนังอาจดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยใช้การแบ่งออกเป็นวันๆ ซึ่งจะมีพัฒนาการเรื่องราวทีละลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน และทุกองก์ยังพบเห็นไคลน์แม็กซ์เล็กๆ เพื่อนำเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์หลักของหนัง (เหมือนเปะกับกราฟอารมณ์ที่เป็นสูตรสำเร็จการเขียนบท) นี่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบในวิธีนำเสนอ หรือที่เรียกว่า ‘perfect screenplay’ สามารถใช้เป็นแม่พิมพ์ ต้นแบบอย่างสำหรับการเขียนบทภาพยนตร์ได้เลยละ!

ส่วนไฮไลท์ตัดต่อต้องยกให้การลำดับไคลน์แม็กซ์ ตั้งแต่เรือออกจากท่า เผชิญหน้าลมฝน ซึ่งจะตัดสลับระหว่างตัวละคร ภายใน-นอกเรือ และภาพมุมกว้างสภาพอากาศ ซึ่งจะค่อยๆไล่ระดับความรุนแรง จนมาถึงบริเวณวังน้ำวน ปล่อยเรือแล่นตามกระแสน้ำ จนกระทั่งเครื่องยนต์ซ่อมเสร็จ ขับหนีเอาตัวรอดกลับเกาะ Mull ได้อย่างหวุดหวิด! … เรียกว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจในแบบคลาสสิก (จริงๆผมว่าดูสนุกกว่าหนัง Action บางเรื่องเสียอีกนะ!)


เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish เกิดในครอบครัวนักดนตรี บิดาเป็นนักไวโอลินคอนเสิร์ต โตขึ้นร่ำเรียนกับอาจารย์ Arnold Schönberg เริ่มจากแต่งเพลง Jazz ประกอบการแสดงคาบาเร่ต์ แล้วมีโอกาสร่วมงานโปรดักชั่นละครเวทีของ Max Reinhardt, สำหรับภาพยนตร์มีผลงาน อาทิ Emil and the Detectives (1931), The Countess of Monte Cristo (1932), แล้วอพยพสู่อังกฤษในช่วงการเรืองอำนาจของนาซี กลายเป็นขาประจำยุคแรกๆของ The Archer อาทิ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ

งานเพลงของหนังเป็นการเรียบเรียง/ดัดแปลง I Know Where I’m Going บทเพลงพื้นบ้าน Scottish (แต่บางแห่งก็อ้างว่าเป็นของ Irish) ที่คือแรงบันดาลใจชื่อหนัง โดยท่วงทำนอง Main Theme ยังสะท้อนตัวตนของ Joan Webster ภายนอกเต็มไปด้วยมุ่งมั่น เพ้อฝัน อ้างว่าฉันรับรู้เป้าหมาย/ความต้องการชีวิต แต่ภายในจิตใจกลับมีบางสิ่งอย่างขาดหาย โหยหาที่จะได้รับการเติมเต็ม

ชื่อเสียงของ Gray อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนอกจากการร่วมงาน Powell & Pressburger แต่หลังจากผมรับฟัง Soundtrack ที่มาพร้อมกับเสียง Sound Effect คลื่นลม พายุฝน แอบรู้สึกอึ้งทึ่งว่าสามารถเสริมเติมเต็มกันและกันได้อย่างกลมกล่อม จนเกิดภาพความประทับใจ ‘impressionist’ ขึ้นมาทันที!

ตอนรับชมผมไม่ได้เอะใจอะไรเลยนะ รับรู้สึกแค่ว่า Soundtrack กลมกลืนไปกับเสียง Sound Effect เพิ่งมาตระหนักถึงวิธีการของ Gray พยายามแต่งท่วงทำนองให้มีความละม้ายคล้ายเสียงธรรมชาติ เพื่อว่าเวลาผสมผสานกันแล้วจะเกิดการสอดพ้องจอง นี่คือลักษณะของดนตรีพรรณนา Tone poem (หรือ Symphonic poem) ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวี ภาพวาด หรือตำนานต่างๆ มุ่งใช้เสียงดนตรีบรรยายให้ผู้ฟังจินตนาการเห็นภาพหรือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเสียงเพลงเหล่านั้น

I Know Where I’m Going ฉบับได้ยินในหนังไม่มีเครดิตขับร้อง คาดกันว่าน่าจะคือ Jean Houston หนึ่งในสมาชิกวง Glasgow Orpheus Choir ที่ร่วมทำการแสดงในหนัง แต่น่าเสียดายตัดจบแบบห้วนๆ เพราะจริงๆมันยังไม่จบเพลงนะครับ ขาดย่อหน้าสุดท้ายไปนิสนึง

I know where I’m going,
And I know who’s going with me,
I know who I love
But the dear knows who I’ll marry!

I have stockings of silk,
Shoes of fine green leather,
Combs to buckle my hair,
And a ring for every finger.

Some say he’s black, (คาดกันว่าคือสีผมนะครับ ไม่ใช่สีผิว)
But I say he’s bonny,
The fairest of them all
My handsome, winsome Johnny.

(ท่อนที่หายไป)
Feather beds are soft
And painted rooms are bonny
But I would leave them all
To go with my love my Johnny.

แต่บทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนังคือเพลงพื้นบ้าน Scottish ในซีเควนซ์ Cèilidh เรียบเรียงโดย John Laurie ทำการแสดงโดย Glasgow Orpheus Choir ร่วมกับปี่สก็อต (Pipers หรือ Bagpipes) เท่าที่พอหาข้อมูลได้ อาทิ

  • Macaphee Turn the Cattle
  • The Nut Brown Maiden
  • The Campbells Are Coming
  • Ho ro, mo nighean donn bhòidheach (แปลว่า Ho ro My Nut Brown Maiden)
    • ท่วงทำนองเพลงนี้จะได้ยินอีกครั้งช่วงท้ายของหนัง บรรเลงโดยปี่สก็อต ขณะกำลังเดินผ่าน Moy Castle

สำหรับบทเพลงอะแคปเปลลา (แต่เห็นเรียกว่า Mouth Music) ชื่อว่า Macaphee Turn the Cattle (บางทีก็เขียนว่า Mcafee Turn the Cattle) ดั้งเดิมเป็นเพลงพื้นบ้านภาษา Scottish Gaelic แต่ที่ได้ยินในหนังแปลเป็นภาษาอังกฤษ

Scottish Gaelicแปลอังกฤษ
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Goididh e na gobhair air teadhair air a’ mhòine Stad

A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
Chan fhaod mi, chan fhaod mi, ‘s na laoigh a’ dol don erna

Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Gus an gabh mi chan fhaod mi, ‘s na laoigh a’.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Here and there and everywhere,
The cows are in the corn.

A waiting at the shielin o mhairi ban machree.
Waiting at the shielin, oh far away to sea.
Hame will come the bonny boats,
Mhairi ban machree.
Hame will come the bonny lads, hi ho and hee.

Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macafee turn the cattle roon loch a forum.
Here and there and everywhere,
The cows are in the corn.

I Know Where I’m Going! (1945) นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาว อ้างว่ารับรู้ทิศทาง ค้นพบเป้าหมายชีวิต ครุ่นคิดแต่งงานมหาเศรษฐี เพื่อจักมีชีวิตสุขสบาย แต่แล้วทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้กลับพังทลาย เพียงเพราะสภาพอากาศ ลมฟ้าฝนไม่เป็นใจ หรือคือเธอหาได้รับรู้ความต้องการแท้จริงของตนเอง!

Joan Webster เมื่อมีโอกาสพักอาศัย ติดอยู่บนเกาะ Isle of Mull ทำให้เธอพบเห็นโลกกว้าง เปิดมุมมองทางความคิด เรียนรู้จักวิถีชีวิต(ชาวเกาะ)ที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี อัธยาศัยดีงาม แม้มีความยากจนข้นแค้น ไร้เงินติดตัวสักแดง แต่พวกเขาก็ยังคงยิ้มต่อสู้ ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ ชาย-หญิงครองรักจนแก่เถ้า เคารพเรื่องเล่าบรรพบุรุษ นั่นเป็นสิ่งที่หญิงสาวชาวเมือง ผู้ดีอังกฤษ ชนชั้นกลาง ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน

คำกล่าวของผู้ประสบความสำเร็จ ‘เป้าหมายมีไว้พุ่งชน’ แต่ในความจริงไม่ใช่ทุกคนจะได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ดำเนินสู่อีกฟากฝั่งฝัน สำหรับผู้พ่ายแพ้ต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างเลยหรือไร เพราะมันไม่มีทางที่มนุษย์จะมีศักยภาพ/ความสามารถเท่าเทียมกัน

ข้อคิดคติสอนใจของหนัง/คำกล่าวที่ถูกต้องแท้จริง ‘เป้าหมายไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง!’ อุดมคติ ความเพ้อฝัน ชัยชนะจากการแข่งขัน มันอาจไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ทิศทางที่อยากดำเนินไปอย่างแท้จริง นั่นเพราะเราอาจถูกครอบงำโดยบริบททางสังคม ค่านิยมผู้คน ชนชั้น ศาสนา หรือคำกล่าวชวนเชื่ออย่าง เงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง, Adolf Hiter คือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ฯลฯ

จริงอยู่ว่ายุคสมัยนี้เงินทองคือสิ่งจำเป็น ปัจจัยที่ห้าต่อการดำรงชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจะหาซื้อด้วยเงิน โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจอย่างความรัก จนกว่าจะได้เรียนรู้จัก พบเจอบุคคลสามารถเติมเต็มตัวเรา ต่อให้รูปร่างหน้าตาไม่สวย-หล่อ ชนชั้นสูง-ต่ำ ฐานะรวย-จน ล้วนหาได้สลักสำคัญแม้แต่น้อย!

หลายคนอาจมองว่า I Know Where I’m Going! (1945) ดูไม่เหมือนหนังชวนเชื่อ (Propaganda Film) แต่เพราะสร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (แม้ออกฉายภายหลังก็ตามเถอะ) ด้วยเนื้อสาระที่พยายามสร้างแนวคิด ปลูกฝังทัศนคติ Anti-Materialism, Anti-Capitalism ล้วนถือว่ามีลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ ด้วยกันทั้งนั้น

แต่การชวนเชื่อของหนังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ศัตรู ฝ่ายอักษะ หรือนาซีเยอรมันโดยตรง เป้าหมายคือแนวคิด อุดมการณ์ สิ่งที่ Adolf Hitler พยายามขายฝัน ชัยชนะของชาวอารยัน (ที่จะยึดครองโลก) มันมีความจำเป็นอะไรที่เราต้องดำเนินไปให้ถึงฟากฝันนั้น?

ผู้กำกับ Powell & Pressburger น่าจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างระหว่างสงคราม ทำให้เกิดความตระหนักถึงทิศทางของโลก (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยระบอบทุนนิยม (Capitalism) ผู้คนพบเห็นความสำคัญของเงินๆทองๆ คือสิ่งสามารถสร้างความมั่นคง สะดวกสบาย และได้รับอภิสิทธิ์ชนเหนือกว่าคนอื่น แต่มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมจริงๆนะหรือ?

วังน้ำวน คือสัญลักษณ์สำหรับเตือนสติผู้ชม ไม่มีทางที่ใครจะต่อสู้ ฟันฝ่า เอาชนะวิถีแห่งธรรมชาติ ทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น อุดมคติ เป้าหมายปลายทาง ล้วนเป็นเพียงมายา ภาพลวงตา ค่านิยม “ชวนเชื่อ” ล่อหลอกให้ติดกับดัก จนมิอาจดิ้นหลุดพ้น ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม เวียนว่ายตายเกิดวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร


จากทุนสร้างที่ประเมินไว้ £200,000 ปอนด์ (เทียบเท่า £9.2 ล้านปอนด์ในปี ค.ศ. 2021) ใช้เงินไป £30,000 ปอนด์ ไม่มีรายงานรายรับ บอกแค่ว่าทำเงินเกินจุดคุ้มทุนในอังกฤษ ฉายต่างประเทศคือกำไรล้วนๆ

Martin Scorsese คือหนึ่งในผู้มีความประทับใจหนังเรื่องนี้มากๆ ใช้องค์กร The Film Foundation ร่วมกับ BFI National Archive ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมบูรณะ ล่าสุดคุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 … ฉบับที่หารับชมได้ทาง Criterion Channel ยังคุณภาพแค่ HD อยู่นะครับ

แม้ผมจะแอบรำคาญแอ๊คติ้งของสองนักแสดงนำ แต่อย่างอื่นของหนังมีความลงตัวกลมกล่อม ภาพสวยเพลงเพราะ ราวกับต้องมนต์ โดยเฉพาะบทของ Pressburger มีความสมบูรณ์แบบดั่งคำร่ำลือ ‘perfect screenplay’ กลายเป็นต้นแบบอย่างให้ผลงานถัดๆไป หรือจะเรียกว่าสไตล์ของ ‘Powell & Pressburger’ เริ่มต้นอย่างแท้จริงจาก I Know Where I’m Going! (1945)

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกำลังมองหาเป้าหมายชีวิต หรือคนที่มีอยู่แล้วก็อาจได้เปิดโลกทัศน์ทางความคิด มันไม่จำเป็นที่เราต้องดำเนินไปให้ถึงอีกฟากฝั่งฝัน ขอแค่เพียงพึงพอใจในสิ่งที่เรามี บางทีเป้าหมายปลายทางอาจค้นพบอยู่ ณ จุดตั้งต้น

และแนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักเขียน นวนิยาย บทภาพยนตร์ ฯ สำหรับศึกษาโครงสร้างการนำเสนอ เรียนรู้จักพัฒนาการเรื่องราวที่เป็นขั้นเป็นตอน สามารถใช้เป็นต้นแบบ แม่พิมพ์ สูตรสำเร็จในการรังสรรค์ผลงาน

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | I Know Where I’m Going! แม้ไปไม่ถึงฟากฝั่งฝัน แต่ค้นพบเป้าหมายปลายทางของหัวใจ
คุณภาพ | ถึป้
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: