I, Tonya (2017) hollywood : Craig Gillespie ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ชีวประวัติ Tonya Harding นักสเกตลีลา เลื่องชื่อลือชาในทางเสียๆหายๆ แต่จะโทษว่ากล่าวเป็นความผิดของเธอประการเดียวคงไม่ถูกแน่ เพราะทั้งชีวิตทุกคนรอบข้างกาย ไม่มีใครสักคนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้เลย

ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Awaara (1951) ของผู้กำกับ Raj Kapoor ที่พยายามอย่างยิ่งจะพิสูจน์ว่า “เด็กที่เกิดในเชื้อสายวงศ์โจร ไม่จำเป็นต้องเติบโตขึ้นเป็นคนชั่วเสมอไป” แต่ในกรณีของหนังเรื่องนี้ต้องถือว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ความเลวบัดซบจัญไรของ Tonya Harding ไม่ต้องสืบไกล รับอิทธิพลมาจากคนรอบข้างตัวทั้งนั้น แม่ แฟนหนุ่ม เพื่อนสนิท สุดท้ายแล้วผมก็แอบสงสารเห็นใจเธอนะ เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้จริงๆนะแหละ

I, Tonya เป็นภาพยนตร์ที่ผมมีความใคร่อยากดูมากๆ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ ตอนที่เริ่มเข้าไทยจากรอบพิเศษสองทุ่มดึกไป สัปดาห์เข้าฉายดันไม่มีเวลาว่าง สัปดาห์ถัดมาออกจากโรงหมดเกลี้ยง T_T ก็นึกว่าคงต้องรอแผ่นออกสถานเดียวแล้วกระมังแต่ที่ไหนได้ หลังเทศกาลประกาศรางวัล Oscar ผ่านไป โรงหนังมีการนำเอาหลายๆเรื่องที่ได้รางวัลหวนกลับมาฉายใหม่ ขอปรบมือขอบคุณให้กับโอกาสอันดีนี้เลย แม้จะแค่วันละรอบแต่ก็เพียงเกินพอสำหรับผู้สนใจจริงๆ

จุดเริ่มต้นของโปรเจคนี้เกิดจาก Steven Rogers นักเขียนสัญชาติอเมริกันที่เคยมีผลงานอย่าง Kate & Leopold (2001), P.S. I Love You (2007) ฯ ได้มีโอกาสรับชมสารคดีเกี่ยวกับ Ice Skating แล้วผู้บรรยายมีการเอ่ยถึง Tonya Harding (อยากรู้เหมือนกันว่ากล่าวถึงอะไร) ด้วยความสนใจเลยติดต่อนัดสัมภาษณ์ Tonya และอดีตสามี Jeff Gillooly ซึ่งได้สร้างความตกตะลึงงันให้กับเขา เพราะทั้งสองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1994 ต่างออกไป … แล้วใครกันที่เล่าความจริง

“Well, that’s my way in: to put everyone’s point of view out there, and then let the audience decide”.

ติดต่อผู้กำกับได้ Craig Gillespie (เกิดปี 1967) สัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney อพยพย้ายสู่ New York ตอนอายุได้ 19 เรียนออกแบบ Graphic Designer และโฆษณาที่ School of Visual Arts, Manhattan จบออกมาทำงานสาย Commercial อยู่ถึง 15 ปี จนเคยได้เข้าชิงและคว้า DGA สาขา Outstanding Directorial Achievement in Commercials รวมถึงเคยชนะรางวัล Golden Lion Award จากเทศกาล Cannes Lions International Advertising Festival

สู่วงการภาพยนตร์เรื่องแรก Mr. Woodcock (2007) แต่ได้รับเสียงตอบรับแย่ล้นหลามจนลาออกจากตำแหน่งผู้กำกับ กระนั้นก็ยังไม่ลดละมีผลงานที่สองตามมา Lars and the Real Girl (2007) กลับได้เข้าชิง Golden Globe หลายสาขาและ Oscar: Best Original Screenplay, พักฟื้นกับการกำกับซีรีย์หลายๆตอน, Music Video, เมื่อประสบการณ์เพิ่มพูนขึ้น มีผลงานถัดๆมาคือ Fright Night (2011), Million Dollar Arm (2014), The Finest Hours (2016)

นำแสดงโดย Margot Elise Robbie (เกิดปี 1990) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Dalby, Queensland, เข้าเรียนการแสดงที่ Sumerset College มีผลงานภาพยนตร์ Indy หลายเรื่อง จนได้รับเลือกให้มาร่วมแสดงใน The Wolf of Wall Street (2013) ได้รับการจับตามองอย่างกว้างโดยทันที ตามด้วย Focus (2015), Suicide Squad (2016) ฯ

รับบท Tonya Harding นักสเกตลีลาที่มีความกล้าบ้าบิ่น พรสวรรค์คงมี แต่ชอบทำตัวเปรี้ยวแรดแรง จึงไม่ค่อยมีใครชื่นชอบสักเท่าไหร่ และเพราะความที่สามารถทำท่ายาก (Triple Axel) ในการแข่งขันได้เป็นคนแรก จึงได้รับยกย่องอย่างสูง (ผมว่าถ้าทำไม่ได้ คงเป็นเพียงหมาหัวเน่าไม่มีใครเหลียวแลอย่างแน่นอน)

เราสามารถทำความเข้าใจตัวตนของ Tonya ที่กลายมาเป็นแบบนี้เพราะถูกแม่เสี้ยมสั่งสอน ตกหลุมรักแฟนหนุ่มกลายเป็นสามีที่ชอบทุบตีใช้ความรุนแรง แถมมีเพื่อนไม่สมประกอบอีก กล่าวคือคนรอบข้างไม่มีใครปกติสักคน เช่นนี้แล้วจะไม่ให้หญิงสาวมีความบ้าๆบอๆ สังคมไม่ค่อยอยากจะยอมรับได้อย่างไร

ตอน Robbie ตกลงใจรับบทและ Co-Producer เธอไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านี่คือเหตุการณ์จริงจนกระทั่งอ่านบทจบ รีบบินสู่ Oregon ไปพบเจอ Harding หัดเรียนสเกตอยู่ 4 เดือน แต่เธอก็กระโดดท่ายากไม่ได้เลยนะ

เกร็ด: ถึงปัจจุบัน 2018 มีผู้หญิงที่สามารถกระโดด Triple Axel ในการแข่งขันสำเร็จ ว่ากันว่าประมาณ 5-6 คนหลังจาก Tonya เท่านั้นเอง

ผมว่า Robbie กลายเป็น Typecast ไปเรียบร้อยแล้วนะ บทบาทที่เธอได้รับมักต้อง เปรี้ยวแรดร่าน คงเพราะผลงานแจ้งเกิด The Wolf of Wall Street (2013) ทำให้ผู้ชมต่างติดภาพลักษณ์นั้น แถมตามด้วย Suicide Squad (2016) ไหนจะว่าที่ผลงานในอนาคต Once Upon a Time in Hollywood (2019)

กระนั้นสำหรับบทบาท Tonya เพราะความบ้าของตัวละครมีที่มาที่ไป จนทำให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจ มันเลยดูมีมิติที่น่าสนเท่ห์ ยิ่งท่าทางตอนให้สัมภาษณ์ ‘That’s not my fault!’ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งหลายคนน่าจะเริ่มคิดได้ ว่ามันอาจไม่ใช่ความผิดของเธอจริงๆ

Tonya Harding ตัวจริงชื่นชอบหนังมาก โดยเฉพาะประโยค “Suck my dick!” บอกกับ Robbie อยากพูดประโยคนี้ในชีวิตจริงเสียเหลือเกิน

Allison Brooks Janney (เกิดปี 1959) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boston, Massachusetts แม่เป็นอดีตนักแสดง ส่วนพ่อเป็นนักดนตรีแจ๊ส โตขึ้นเรียนการแสดงที่ Neighborhood Playhouse ตามด้วยได้ทุนไปเรียน Royal Academy of Dramatic Art และ The Neighborhood Playhouse กลายเป็นเพื่อนสนิทรู้จักกับ Steven Rogers (ที่เป็นนักเขียนบทหนังเรื่องนี้) เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครซีรีย์ โด่งดังกับ The West Wing (1999 – 2006) คว้า Emmy Award: Best Actress ถึง 4 ครั้ง, สำหรับภาพยนตร์ อาทิ American Beauty (1999), The Hours (2002), Juno (2007), The Help (2011)

รับบท LaVona Golden แม่จอมเผด็จการ ผู้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งยโสโอหัง เธอรักลูก Tonya ในแบบพิศดาร ปกครองด้วยวิธีเผด็จการ ยินยอมเสียสละเป็นสัตว์ประหลาดจอมมารให้รังเกียจต่อต้าน เพื่อแลกมากับพรสวรรค์ความสามารถสุดพิเศษ

หลายคนคงมองว่า ความรักของแม่แบบนี้ค่อนข้างจะเห็นแก่ตัวเกินไปสักหน่อย บีบบังคับลูกจนชีวิตมิสามารถทำอะไรอื่นได้ แต่ผมมองว่ามันก็ไม่ผิดอะไรเท่าไหร่ ตรงกันข้ามน่ายกย่องสรรเสริญในความเสียสละด้วยซ้ำ ผลักดันจนยิ่งใหญ่ได้ดิบได้ดี มีบางสิ่งอย่างในชีวิตให้น่าภาคภูมิใจเสียกระไร

ผู้เขียนบท Rogers พยายามสืบค้นไล่ล่าตามหาแม่ตัวจริงของ Harding แต่ก็ไม่พบตัว เลยสร้างตัวละครนี้โดยมีเพื่อนสนิท Janney เป็นภาพในใจ และโดยไม่รู้ตัวเธอเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ตอนเด็กๆเธอเคยฝึกหัดเป็นนักสเกตลีลาแบบจริงจัง จนอายุ 17 เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มทำให้ผ่าตัดขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน จำต้องเลิกเล่นสเกตอย่างถาวร

ผมละยอมเลยนะ คือต้องเขวี้ยง Oscar ให้กับ Janney เลยจริงๆ แสดงเป็นแม่จอมวายร้ายผู้มีความหวังดีต่อลูกถึงที่สุด เทียบกับสมทบหญิงเรื่องอื่นๆแล้ว ไม่มีใครแรงอลังการได้ถึงขนาดนี้ จับบุหรี่ยังแบบว่าโคตรโอหัง (ด้วยความภาคภูมิใจ) และตอนให้สัมภาษณ์มีเจ้านกเกาะบ่าจิกหูอย่างน่ารำคาญใจ (นัยยะคงเป็นเชิงเสียดสีว่า ที่พูดเล่ามาฟังไม่ขึ้นเลยสักนิด)

Sebastian Stan (เกิดปี 1982) นักแสดงสัญชาติ Romanian เกิดที่ Constanta, Romania ตอนอายุ 8 ขวบ อพยพตามแม่มาที่ Vienna, Austria ช่วง Romanian Revolution ทำงานเป็นนักเปียโน โตขึ้นสอบเข้า Mason Gross School of the Arts มีโอกาสไปเรียนต่อที่ Shakespeare’s Globe Theatre, London เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ที่พอคุ้นหน้าคุ้นตาคือ Rachel Getting Married (2008), Black Swan (2010) ดังพลุแตกกับบท Bucky Barnes เรื่อง Captain America: The First Avenger (2011) ฯ

รับบท Jeff Gillooly สามีของ Tonya ตอนแรกดูเหมือนจะติ๋มๆ แต่พอแต่งงานอยู่ด้วยกันลายเสือเริ่มออก ชอบใช้ความรุนแรงทุบตบตี เมื่อถูกทิ้งก็เกิดความอ้างว้างโหยหาอย่างบ้าคลั่ง ถึงขนาดเอาปืนจ่อขอคืนดี โอกาสมาถึงเมื่อ Tonya ได้ลงแข่งโอลิมปิกสมัยสอง แต่เขากลับทำให้ชีวิตเธอตกต่ำยิ่งกว่าเดิม

ผมละจดจำภาพลักษณ์ Winter Solder ของ Stan จนแทบลบเลือนภาพนั้นไม่ได้ แต่กับหนังเรื่องนี้โอ้โห! ราวกับคนละคร ตอนให้สัมภาษณ์ก็ดูเชื่องๆ แต่ลึกๆเพี้ยนบ้าคลั่งเสียสติแตก ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดทีก็มีเรื่องวุ่นๆให้ต้องเจ็บตัว กลายเป็นตัวละครโหดเหี้ยมกลับกรอกเกินคำบรรยาย

ถ่ายภาพโดย Nicolas Karakatsanis,

คงเฉพาะตอนสัมภาษณ์กระมังที่ตั้งกล้องทิ้งไว้อยู่กับที่หน้าตรง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งจะใช้ขนาดภาพ 4:3 เหมือนถ่ายจากกล้องวีดีโอสมัยก่อน ใช้สำหรับฉายทางโทรทัศน์

ขณะการเล่นสเกต กล้องมีการเลื่อนเคลื่อนโค้งหมุนฉวัดเฉวียนไปมา 360 องศารอบตัว Tonya (เหมือนจะเป็นคนเดียวที่หนังถ่ายให้เห็นฉากเล่น Ice Skate ด้วยนะ) เต็มไปด้วยความรวดเร็ว โฉบเฉี่ยว ตื่นเต้นระทึกใจ และหลายครั้งขณะเล่นท่ายาก มีการย้อนภาพ Replay พร้อมจังหวะสโลโมชั่น คงกลัวผู้ชมเห็นไม่ชัดว่าท่านี้เป็นยังไง ยากตรงไหน ก่อนมักจบลงด้วยช็อต Close-Up ใบหน้า และแสงแฟลชระยิบระยับจากด้านหลังผู้ชม

เพราะ Robbie ไม่ใช่นักสเกตมืออาชีพ และหนังไม่ได้ตัดต่อเล่นมุมกล้องเยอะๆแบบ Black Swan (2010) หลายๆช็อตจึงใช้ Computer Graphic สร้างภาพขึ้น อาจดูเว่อไม่ค่อยเนียนสมจริงสักเท่าไหร่ แต่มีความตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก คาดว่าคงรับอิทธิพลเต็มๆจาก Raging Bull (1980) ครั้งแรกของวงการมวยที่กล้องถ่ายจากมุมมองของนักมวย ไม่ใช่ด้านล่างเวที ซึ่งหนังเรื่องนี้ ถ้าใครเคยรับชมกีฬาสเกต (ดูจากคลิปช่วง End Credit ของหนังก็ได้) ตอนถ่ายทอดก็มักจะแค่ถ่ายจากด้านข้าง ไม่ได้เข้าไปในลานสเกต โฉบเฉี่ยวไปมาขนาดนี้

ช่วงเวลาอื่นๆ ขณะไม่ได้อยู่ในลานน้ำแข็ง ถ่ายทำด้วยกล้อง Hand Held เป็นส่วนใหญ่ งานภาพสั่นๆให้สัมผัสที่สมจริง บางครั้งถือเคลื่อนไหวตามติดตัวละครหมุนไปมารอบๆ Long-Shot บ้าง ให้สัมผัสคล้ายขณะเล่นสเกตแต่อยู่บนบก

ผมเพิ่มมาสังเกตว่า ช่วงแรกๆของการแข่งขัน Tonya จะไม่ได้แต่งหน้าทรงเครื่องจัดนัก (แต่เห็นใส่เหล็กดัดฟันอยู่) กระทั่งพอได้ไปโอลิมปิก มันแบบว่าเข้มแก้มแดงสื่อนัยยะหมายถึง นั่นไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของฉัน ปกปิดเก็บกดอยู่ภายใต้เครื่องสำอางค์อันหนาเตอะ หน้ากากรูปลักษณ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ (Robbie เหมือนจะสวมใส่ฟันปลอมด้วยนะ)

แอบเสียดายที่ผู้กำกับภาพไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ผมคาดคิดว่าเพราะหลายช็อตมันเว่อเกินไปหน่อย คงพึ่ง CG อย่างเยอะเลยละ คณะกรรมการ Academy เลยมองว่าไม่ใช่จากฝีมือการถ่ายภาพจริงๆ (แต่ Avatar ยังเข้าชิงสาขานี้ได้เลยนะ!)

ตัดต่อโดย Tatiana S. Riegel สัญชาติอเมริกัน จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อหนังอย่าง JFK (1991), Pulp Fiction (1994), There Will Be Blood (2007) ฯ ก้าวขึ้นมาเป็นขาประจำของ Gillespie

หนังเริ่มต้นจากปีปัจจุบัน ใช้การสัมภาษณ์ถามเหตุการณ์ย้อนหลังจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ประกอบด้วย Tonya, แม่, ครู/โค้ช, อดีตสามี และอดีต รปภ. (ที่อยู่ในโรงพยาบาลบ้า)

การเล่าเรื่องจะมีลักษณะภาพประกอบคำสัมภาษณ์ ซึ่งสิ่งที่ผู้ชมเห็นจะตรงตามเรื่องราวในมุมมองของผู้เล่า (ของ Tonya กับอดีตสามี Jeff มักจะไม่ค่อยตรงกัน ถือเป็น Rashômon ของใครของมัน) ไล่ย้อนตั้งแต่ Tonya ยังเด็กจนกระทั่งเติบใหญ่ เรียงลำดับตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น

ลีลาความเร็วในการตัดต่อถือว่ามีความบ้าคลั่งอย่างยิ่ง ผสมกับการเคลื่อนกล้องที่บางครั้งรวดเร็วมากๆ เพิ่มความเกรี้ยวกราดรุนแรงให้เกิดขึ้นกับหนัง เทียบแล้วมีความคล้ายคลึงกับ Goodfellas (1990) คือช่วงไหนที่สำคัญๆก็มักให้เวลามากหน่อย มี Long-Take ปรากฎอยู่บ้าง แต่ช่วงระหว่างนั้นก็มักตัดต่อแบบเร็วๆรัวๆ สลับกับภาพขณะสัมภาษณ์ เพื่อไม่ให้ผู้ชมหลงลืมว่าแก่นกลางโครงสร้างของเรื่องราวคืออะไร

เพลงประกอบทั้งหมด นำจากบทเพลงมีชื่อในยุค 70s – 80s รวบรวมโดย Susan Jacobs ใช้วิธีเลือกทำนองและคำร้อง ที่มีความสอดคล้องรับเข้ากับช่วงเวลาขณะนั้นๆของหนัง

Devil Woman (1976) แต่งโดย Terry Britten, Christine Holmes ขับร้องโดย Cliff Richard แนว Pop, Hard Rock ใช้เสียงกีตาร์เป็นหลัก ติดอันดับ Billboard Hot 1000 สูงสุดที่ 6, คงจินตนาการกันได้ว่าใครคือ Devil Woman ในสายตาของ Tonya Harding

The Chain (1976) ขับร้องโดยวง Fleetwood Mac แนว Hard Rock, Psychedelic Rock, โซ่ที่พันธนาการขาของ Tonya Harding เหนี่ยวฉุดรั้งเธอไว้ไม่ให้ดิ้นหลุดได้ถูกคลายออก แต่เพิ่งมาสำนึกได้ว่าไม่น่าตัดให้ขาดเลย

เกร็ด: เพลงนี้อยู่ใน Soundtrack ของ Guardians of the Galaxy Vol. 2 (2017) ด้วยนะ

Free Your Mind (1992) แต่งโดย Denzil Foster, Thomas McElroy ขับร้องโดยวง Girl Group ชื่อ En Vogue ติดอันดับ Billboard Hot 100 สูงสุดอันดับ 8

How Can You Mend a Broken Heart (1971) แต่งโดย Barry Gibb, Robin Gibb ขับร้องโดย Bee Gees ติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100, ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Chris Stills

นำต้นฉบับที่เพราะกว่าของ Bee Gees มาให้รับฟัง

Dream a Little Dream of Me (1931) แต่งโดย Fabian Andre Wilbur Schwandt ต้นฉบับขับร้องโดย Ozzie Nelson ร่วมกับ Wayne King และวงออเครสต้า แต่ฉบับโด่งดังไพเราะสุดคือ Doris Day ปี 1958

เจ๋งมากๆเลยนะกับจังหวะภาพสโลโมชั่น Tonya ทำท่า Triple Axel ค้างสโลโมชั่นกลางอากาศ แล้วเพลงนี้บรรเลงขึ้นมา น้ำเสียงชวนฝันของ Doris Day ทำให้ผมฟินมากๆ รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาสวยงามสุดของหนังเลยละ

สำหรับเพลงที่ Tonya เปิดประกอบขณะแสดงสเกตลีลา นี่นำจากที่เธอใช้จริงๆ Sleeping Bag (1985) แต่งโดย Billy Gibbons, Dusty Hill, Frank Beard ขับร้องโดยวง ZZ Top ไต่ถึงอันดับ 8 ชาร์ท Billboard Hot 100

อีกเพลงหนึ่งที่ Tonya เปิดขณะเล่นสเกตลีลา ชื่อ People Are Still Having Sex (1991) แต่ง/ขับร้องโดย William LaTour เป็นแนว Techno ติดอันดับ Billboard Hot 100 สูงสุดที่ 35

ให้ผมเป็นคณะกรรมการก็คงกุมขมับส่ายหัวเช่นกัน เพลงดีๆมีเป็นล้านดันเลือกเพลงนี้ คงประมาณว่าการเล่นสเกตลีลาของเธอ ราวกับกำลังมีความสุขร่าน Sex อยู่กระมัง

เพลงจบ Ending Credit ชื่อ The Passenger แต่งโดย Ricky Gardiner, Iggy Pop ต้นฉบับปี 1977 ขับร้องโดย Iggy Pop, ฉบับที่หนังนำมาใช้ขับร้องโดย Siouxsie and the Banshees ปี 1987

นัยยะของเพลงนี้ เปรียบเทียบผู้ชมคล้ายกับ ‘ผู้โดยสาร’ ก็อยู่ที่ว่าคุณเห็นอะไรจากการขับรถท่องเมืองมองออกไปนอกหน้าต่าง หรือรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้

หนังเรื่องนี้ให้ข้อคิดอะไร? คงเป็นนิทานสอนใจสำหรับ
– พ่อ-แม่ ผู้ปกครองทั้งหลาย อยากให้ลูกๆเติบโตแบบ Tonya Harding ก็จงเลี้ยงดูแบบทิ้งๆขว้างๆ พูดจาหยาบคาย ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เกรี้ยวกราดก็ตบตีรุนแรง
– สามี-ภรรยา อยากมีชีวิตที่ตื่นเต้น Sex ร้อนเร้าใจ มันต้องแลกกับการทะเลาะขึ้นเสียง รุนแรงตบตีเลือดอาบ โกรธแค้นเคืองเสร็จแล้วเวลาง้อคืนดีมันจะ…
– เพื่อนๆ รักกันมากก็จงคิดล่วงหน้าไว้ 4-5-6 ขั้น ทำทุกอย่างเผื่อไว้ให้เสร็จสรรพ จากนั้นก็ทรยศหักหลังลากมันลงคลองตกขุมนรกด้วยกัน

ทั้งหมดที่ว่ามานี่ประชดนะครับ, บทเรียนจริงๆของหนังเรื่องนี้ก็คือ ศึกษาเรียนรู้จดจำพฤติกรรมทั้งหมดนี้ไว้เป็นแบบอย่าง แล้วอย่าหลงผิดคิดกระทำสิ่งเหล่านั้นให้ความบัดซบจัญไรมันบังเกิดขึ้นเลยนะ

แม่ที่ดี พูดคำหยาบคายก็เรื่องหนึ่ง บีบบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของตนเองก็อีกเรื่อง แต่สิ่งที่ผมรับไม่ค่อยได้คือการทรยศหักหลัง (นี่เหมารวมถึงคิดฆ่าให้ตายด้วยนะ) เพราะความรักสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ความรุนแรงก็ถือเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ถ้าปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ลูกของฉัน เราคงมิอาจเรียกสิ่งมีชีวิตนั้นว่ามนุษย์ได้อีกแล้วนะ

สามี-ภรรยา ตบตีเลือดอาบใช้ความรุนแรงมันก็เรื่องของพวกเขา แต่หึงหวงโหยหาจนใช้อาวุธปืนขู่เข่นฆ่าให้ตาย นั่นเรียกว่าความหมกมุ่นริษยา เมื่อสติไม่อยู่กับตัวคงต้องเรียกคนพวกนี้ว่าสัตว์เดรัจฉาน

เพื่อนที่ดีต้องไม่ล้ำเส้นของกันและกัน คิดแทนได้แต่ไม่ใช่ทำให้ทุกสิ่งอย่าง รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อหนุนจุนเจือ และรู้จักความเพียงพอดีในตัวเอง, คิดเพ้อมโนมากไป ก็ระวังจะกลายเป็นบ้าเสียสติแตก

และในความเป็น Tonya Harding เมื่อความรุนแรงมันกร่อนลึกฝังเข้าไปถึงภายใน โอกาสสองในโอลิมปิกเหมือนจะเป็นโชคช่วยฟ้าประทาน แต่กลับกลายเป็นผลกรรมนำทาง ซวยซ้ำซวยซ้อนจมมิดดิน ซึ่งหลังจากถูกแบนห้ามเล่นสเกตลีลาตลอดชีวิต กีฬาชกมวยเป็นอะไรที่ถือว่าสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง มันคงสามารถระบายความเจ็บปวด คับแค้น ถึงอกถึงใจ ซึ่งเมื่อไหร่เชื้อไฟพลังงานความเกรี้ยวกราดหมดมอดลง ชีวิตเธอคงพบอะไรๆที่ดีขึ้นบ้าง

การได้รับโอกาสสองก็ใช่ว่าสมควรหลงระเริงหยิ่งผยอง ควรตะหนักไว้ในใจเลยว่ามันคือโอกาสครั้งสุดท้ายจริงๆ สติต้องรอบคอบ รักษากฎกติกาอย่างเท่าเทียม ทำแบบ Tonya มันคือการฆ่าตัวตายชัดๆ และผลกรรมมันตามเธอทันควันเลยนะ ซวยชิบหายแค่เชือกรองเท้าขาด สููญเสียความมั่นใจ พ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันออกสู่สนามประลอง แบบใครก็ช่วยอะไรไม่ได้ สุดท้ายเลยกลายเป็นหมาหัวเน่าเสียจริงๆ

พ่อ-แม่ ครอบครัวคงเป็นสิ่งเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนรักและเพื่อน ดีชั่ววัดกันช่วงเวลาเป็นตายแบบนี้ ใครกันกล้าเสี่ยง เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว หนักแน่น และไม่คิดทรยศหักหลัง ผมว่ามันก็ดีแล้วแหละที่อย่างน้อยหลังจากเหตุการณ์นี้ Tonya เลือกตัดขาดจากทุกสิ่ง เริ่มต้นใหม่ด้วยตัวของตนเอง แต่ก็อยากรู้เหมือนกันนะว่าชีวิตเธอจะดีขึ้นหรือเปล่า … ก็น่าจะอาการดีขึ้นบ้างแหละ กล้าออกมาให้สัมภาษณ์พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีอะไรต้องเสียแล้วนิ นี่คือเบื้องต้นของการยอมรับความผิดพลาดของตนเอง

ด้วยทุนสร้าง $11 ล้านเหรียญ ทำเงินคืนทุนแล้วละ เหมือนจะพอดีฉายช่วง Pyongyang 2018 Olympic Winter เลยเกาะกระแสได้มากทีเดียว

เข้าชิง Oscar 3 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Actress (Margot Robbie)
– Best Supporting Actress (Allison Janney) ** คว้ารางวัล
– Best Edited

ส่วนตัวไม่ได้ประทับใจอะไรกับชีวประวัติ Tonya Harding มากนัก แต่หลงใหลในการแสดงของ Margot Robbie ไดเรคชั่นของผู้กำกับ และการตัดต่อที่โคตรบ้าพลัง โดยรวมเลยรุ็สึกชอบสักหน่อยก็ได้ว่ะ

แนะนำกับผู้สนใจในชีวประวัติ Tonya Harding, แฟนๆสเกตลีลา, ชื่นชอบความรุนแรง Sadist, แฟนๆผู้กำกับ Craig Gillespie และนักแสดง Margot Robbie, Sebastian Stan, Allison Janney ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับคำหยาบคาย และความรุนแรงนานับประการ

TAGLINE | “แม้ชีวิตของ Tonya Harding จะไม่มีอะไรดี แต่ Margot Robbie ก็ทำให้เรื่องราว I, Tonya สอนใจคนได้มากทีเดียว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: