I Was Born, But… (1932) : Yasujirô Ozu ♥♥♥♥
เด็กผู้ชายทุกคนมีพ่อเป็นเหมือน Idol ประจำใจ แต่เมื่อโตขึ้นแล้วรู้ว่า พ่อไม่ได้ยอดเยี่ยมอย่างที่วาดฝันไว้ให้เป็น เขาจะยังรักและเคารพพ่ออยู่หรือไม่? อนาคตต่อไปจะยังคงเดินตามรอยเท้าพ่อหรือเลือกจะเป็นคนที่ยอดเยี่ยมกว่า
อีกหนึ่ง Masterpiece ของปรมาจารย์ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Yasujirô Ozu หนังเรื่อง I Was Born, But… จัดว่าเป็นหนังเรื่องแรกๆตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่ปรากฎเรื่องราวที่เป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของ Ozu อยู่เด่นชัดมากๆ ถึงขนาดนิตยสาร Sight & Sound Critic’s Poll จัดอันดับ 183 และเทศกาลหนังเมือง Busan จัดอันดับ 48 ใน Asian Cinema 100 Ranking ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ ผมจัดให้อยู่ในระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
I Was Born, But… ว่าไปถือเป็นหนังเงียบของเอเชียเรื่องแรกที่ผมได้มีโอกาสดู สมัยนี้หนังเงียบแทบทุกเรื่องสามารถหาดูได้จาก Youtube นะครับ และมันมีระบบ Subtitle ให้ด้วย ไม่ต้องห่วงว่าดูแล้วอ่านคำบรรยายไม่เข้าใจ, สำหรับหนังของ Ozu ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ดูหนังของเขาเสียเท่าไหร่ เพราะกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็จะมีลักษณะ แนวทางที่คล้ายๆกัน วิธีนำเสนอก็เหมือนเดิม ทำให้ผมขาดความท้าทายในการดู วิธีที่ผมจะสามารถเพลิดเพลินและเข้าถึงอรรถรสหนังแนว Ozu ได้ดีที่สุดคือ นานๆดูครั้ง ไม่ดูบ่อยๆหรือดูหลายเรื่องติดกัน อยางเรื่องล่าสุดที่ผมรีวิวไปคือ Late Spring ก็ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม นี่เข้าเดือนพฤษภาคมแล้ว ระยะห่างแค่นี้เหลือเฟือครับ
ในขณะขึ้นเครดิตเปิดหนัง จะมีข้อความว่า A Picture Book For Grown-Ups: I Was Born, But… นี่ทำให้ผมข้องใจพอสมควร ชื่อหนัง I Was Born, But… มันคือชื่อย่อของหนังหรือเปล่า? หรือมีความตั้งใจอะไร? … ใช่ครับ มันคือชื่อเล่นและชื่อที่ทำการตลาดต่างประเทศ ที่ตั้งชื่อยาวๆนี้เพราะหนังเป็นส่วนผสมของ Comedy ยุคแรกๆของการเป็นผู้กำกับ Ozu มีชอบอยากทำหนังตลก แต่ไปๆมาๆมันออกไป Drama มากกว่า Comedy สำหรับ I Was Born, But… มีความตลกทั้งแบบตรงๆ และตลกเสียดสี เขาเอาเรื่องราวการต่อสู้ของเด็กๆ สะท้อนเข้ากับภาพการทำงานของผู้ใหญ่ “Ozu uses schoolboy politics to mock the hypocrisies of adult hierarchies.” ชื่อหนังที่ขึ้นว่า A Picture Book For Grown-Ups จึงเปรียบเสมือนสมุดภาพที่เล่าเรื่องสอนผู้ใหญ่ (เรื่องราวของของเด็กๆที่สะท้อนถึงตัวผู้ใหญ่) กระนั้นหนังไม่ได้เหมาะกับแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นนะครับ เด็กๆก็ดูได้ ดีเลยด้วย เพราะจะทำให้เขาเข้าใจ ‘ความจริง’ ของชีวิตมากขึ้น
ร่วมเขียนบทโดย Akira Fushimi และ James Maki (นามปากกาของ Yasujirô Ozu) ในตอนแรก เห็นว่า Ozu ต้องการสร้างหนังเกี่ยวกับเด็ก แต่ไปๆมาๆกลายเป็นเรื่องราวของผู้ใหญ่ไปเสียงั้น “I started to make a film about children and ended up with a film about grownups.” เรื่องราวเริ่มต้นจากครอบครัวหนึ่ง ย้ายบ้านมาอาศัยอยู่ที่ชานเมืองของ Tokyo จากนั้นเรื่องราวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่ง)พ่อกับหัวหน้าที่ทำงาน สอง)ลูกชายทั้งสองกับเพื่อนที่โรงเรียน ทั้ง 2 เรื่องนี้ดำเนินคู่ขนานกันไป ขณะที่สองพี่น้องสามารถไต่เต้า ต่อสู้เอาชนะปัญหาจนกลายเป็นผู้นำแก๊งค์เด็ก แต่พ่อของพวกเขากลับเป็นตัวตลกของเพื่อนร่วมงาน วันๆคอยแต่พยักหน้าเอาใจเจ้านาย เพื่อหวังอนาคตที่จะได้ก้าวหน้า มีเงินมีทองเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อสองเรื่องนี้ประจบเข้าหากัน เด็กๆได้เห็นความจริงของพ่อ พวกเขาจึงเกิดความไม่พอใจ ที่พ่อไม่ใช่คนแบบที่คาดหวังไว้ ณ จุดที่ 2 เหตุการณ์มาประจบกันนี้ เราจะเห็นสไตล์ของ Ozu ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด ความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดและความจริง ระหว่างผู้อ่อนวัยกับผู้สูงวัย (ต่างวัยวุฒิ) และบทสรุปที่ทำให้ตัวละครสามารถยอมรับ เข้าใจและปรับใช้กลายเป็นหนึ่งในข้อคิดของชีวิต นี่แสดงว่า Ozu ค้นพบสไตล์การเล่าเรื่องของตัวเองมาตั้งแต่ยุคแรกๆแล้ว เพียงแต่หนังเรื่องนี้ยังขาดเทคนิคบางอย่างที่ทำให้โลกต้องตะลึง แต่เขาก็จะค้นพบเทคนิคนั้นในอีกไม่ช้า
นักแสดง Tatsuo Saito รับบทเป็นพ่อ, Mitsuko Yoshikawa เป็นแม่, Takeshi Sakamoto เป็นหัวหน้าของพ่อ ทั้ง 3 ถือว่าเป็นขาประจำในหนังของ Ozu ในยุคหนังเงียบ รวมถึง Tomio Aoki รับบทน้องชาย 8 ขวบ (คนเล็ก) ปรากฏในหนังของ Ozu มาแล้วถึง 5 เรื่อง ส่วนพี่ชายคนโตรับบทโดย Hideo Sugawara คนนี้ก็เคยเล่นหนังของ Ozu มาแล้วเช่นกัน
ผมค่อนข้างชอบการแสดงในหนังเงียบเรื่องนี้นะ ไม่รู้หนังเงียบของญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้กันหมดหรือเปล่า คือดูไม่ Over Acting เหมือนฝั่งยุโรปและอเมริกา เป็นธรรมชาติ การเคลื่อนไหวไม่ ‘มาก’ จนเกินไป อาจมีการเคลื่อนไหวที่ดูเก้ๆกังๆ มีการเตี้ยมอยู่บ้าง เช่น ก้าวเดินให้พร้อมกัน, กินพร้อมกัน ฯ แต่เพื่อเป็นการสร้างจังหวะให้กับหนัง ให้มีความลงตัวและพอดี ยุคนั้นได้เท่านี้ถือว่าไม่ธรรมดาเลย, สำหรับข้อความที่ขึ้นมาคั่นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นประโยคคำพูดที่ไม่ยาวมาก ไม่เป็นคำอธิบายที่เยิ่นเย้อ มีความกระชับ รวบรัด บางครั้งที่ไม่มีข้อความขึ้นมา เราก็สามารถคาดเดาได้ว่าตัวละครพูดอะไร ไม่ต้องมีอะไรขึ้นคั่นให้เสียอารมณ์
ถ่ายภาพและตัดต่อโดย Hideo Mohara เท่าที่ผมศึกษามา สไตล์ของ Ozu จะเห็นอย่างเด่นชัดในยุค post-war หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สไตล์ที่ว่านี้กล้องจะตั้งไว้เฉยๆ ตัวละครเดินเข้า-ออกฉาก (ไม่เห็นว่าตัวละครกำลังทำอะไรนอกฉาก) และมักจะไม่มีการเคลื่อนไหวของกล้อง ซึ่งสำหรับ I Was Born, But… เราจะยังไม่ได้เห็นสไตล์นี้ มีหลายฉากที่กล้องเคลื่อนเดินตามตัวละคร แพนกล้อง หมุนกล้อง เหมือนหนังทั่วๆไป แต่มีเทคนิคหนึ่งที่เรายังเห็นได้ นั่นคือการถ่ายภาพระดับต่ำกว่าสายตา ที่เรียกว่า Tatami Shot สังเกตดีๆจะเห็นว่ามุมกล้องอยู่ระดับต่ำกว่าสายตานักแสดงเสมอ มีคนเคยถาม Ozu ว่าทำไมเขาถึงถ่ายภาพแบบนี้ คำตอบคือ ให้เหมือนตัวละครกำลังสนทนากับคนดู แต่ไม่ใช่นักแสดงจ้องมองมาที่กล้องนะครับ ถ้าทำแบบนั้นคนดูจะรู้สึกกระอักระอ่วนมากๆ (แบบหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด) ระดับสายตาของนักแสดงจะสูงกว่ากล้องอยู่นิดนึง ทำให้เราไม่รู้สึกว่านักแสดงกำลังจ้องมองกล้อง จึงรู้สึกเหมือนว่าเขากำลังสนทนากับเรา
มีฉากหนึ่งที่นักวิจารณ์ที่ไหนๆก็พูดกัน และผมคงต้องพูดตามเขา คือฉากที่มีการเคลื่อนกล้องในแนวราบเป็นเส้นตรง เริ่มจากที่ทำงาน: เห็นพนักงานบริษัทกำลังทำงาน โต๊ะทำงานที่วางเรียงใกล้ๆกัน ในห้องเรียน: เห็นนักเรียนในชั้นกำลังหัดเขียนตัวอักษร บนโต๊ะเรียน ทุ่งหญ้านอกห้องเรียน: สองพี่น้องนอนราบอยู่กับพื้น (ทิศทางขนานกับกล้อง) คนพี่นอนเล่น ส่วนคนน้องกำลังหัดเขียนตัวอักษร บนพื้น, 3 ฉากนี้มีการเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกัน มุมกล้องเดียวกัน และตัดต่อเปลี่ยนฉากโดยไม่ให้การเคลื่อนภาพสะดุด ฉากนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะมีจังหวะที่ต่อเนื่องที่สวยงามและสื่อความหมาย นัยยะความเหมือนในความแตกต่าง โต๊ะเรียนสมัยเด็ก กับโต๊ะทำงานตอนเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายเติบใหญ่ขึ้น วัยวุฒิ วุฒิภาวะมากขึ้น แต่อะไรๆยังคล้ายๆเดิม เราสามารถมองได้ในเชิงเปรียบเทียบ, เสียดสี, หรือการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ (หรือวัยผู้ใหญ่เป็นวัยเด็ก)
ปมเรื่องพ่อ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้กับเด็กผู้ชายแทบทุกคน สมัยเด็กๆ ผมคิดว่าตัวเองก็น่าจะเคยคุยข่มกับเพื่อนเหมือนกันว่า พ่อใครเจ๋งกว่า แน่นอนว่าพ่อตัวเองย่อมเจ๋งที่สุดอยู่แล้ว แต่เจ๋งกว่า…อะไรเจ๋ง? ไม่รู้สิครับความคิดแบบเด็กๆบางทีก็เป็นนามธรรมแบบจับต้องไม่ได้แบบนี้ หนังเรื่องนี้จึงทำความเจ๋งให้กลายเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนดูจับต้องได้, ความเจ๋งในหนัง ตามที่ผมเข้าใจคือ ความดูดี เป็นผู้นำ มีสิ่งที่คนอื่นไม่มี ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ และได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น ตอนที่สองพี่น้องได้พบความจริงว่าพ่อไม่เป็นแบบที่คิดไว้เลย มันเหมือนศรัทธาของพวกเขาได้สิ้นสุดลง พ่อคือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อพ่อไม่ได้เป็นอย่างที่วาดฝันไว้ แล้วพ่อเป็นอะไร? … การประท้วงไม่กินข้าว มันคือช่วงการไม่ยอมรับ (deny) เพื่อเรียกคืนความเชื่อของพวกเขา คำถามของลูกคนโตเมื่อทำไมพ่อไม่เป็นเจ้านายเขาละ … เป็นผมเจอเด็กถามมาแบบนี้ ไม่รู้จะตอบยังไงเลยละครับ อธิบายอะไรไปก็คงไม่เข้าใจ ไล่ให้ไปนอนนี่แหละดีที่สุด ให้เวลาเป็นเครื่องเยียวยา เพราะเด็กๆจดจำอะไรพวกนี้ได้ไม่นานอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ลืม พอเช้าแล้วก็เริ่มต้นใหม่ วันถัดมายังไงพวกเขาก็ต้องกินข้าว ไปโรงเรียน ประท้วงแบบนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรอยู่แล้ว แต่เด็กๆย่อมคิดไม่ได้, ตอนเช้ามา พวกเขาได้รับการง้อนิดหน่อย จากแม่เอาอาหารมายั่วก็ทนไม่ได้แล้ว นี่แหละครับเด็ก บางอย่างไม่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจก็ได้ โตขึ้นเดี๋ยวก็จะเข้าใจเองได้, ปมเรื่องพ่อ สุดท้ายแล้วจบที่เด็กๆก็เลิกเถียงกัน พ่อของใครของใครก็เจ๋ง เออ! บทจะจบก็จบแบบไม่ต้องเข้าใจอะไรเลยนี่แหละ
ปี 1929 ที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก (stock market crash) และระบบการเงินของทั่วโลกก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ พนักงานกินเงินเดือนสมัยนั้นตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทุกๆ 5 คนมีคนตกงาน 1 คน ในหนังไม่ได้บอกว่าเรื่องราวดำเนินขึ้นในช่วงปีไหน แต่มีความเป็นไปได้ว่าเหตุผลที่พ่อต้องเลียแข้งเลียขาเจ้านาย อาจเพราะสาเหตุประมาณนี้ก็ได้ ครั้งหนึ่งพ่ออาจตกงาน หางานทำไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตกับแม่เลี้ยงลูกอย่างลำบาก (ตอนนั้นพวกเขาคงยังไม่รู้เรื่องอะไรด้วยซ้ำ) นั่นทำให้พ่อพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตนถูกไล่ออกหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ครอบครัวต้องลำบากอีก
Ozu ถ่ายหนังเรื่องนี้ในช่วง พฤศจิกายน 1931 ถึง เมษายน 1932 เห็นว่าระหว่างถ่ายทำมีนักแสดงเด็กได้รับบาดเจ็บ ทำให้ต้องหยุดกองถ่ายชั่วคราว ช่วงเวลาว่าง Ozu จึงไปกำกับหนังอีกเรื่องหนึ่งแทน พอกลับมาถ่ายหนังเห็นว่า Ozu ได้มีการเปลี่ยนแปลงฉากจบ ที่แบบเดิมจะเป็นพี่คนโตหนีออกจากบ้าน และทหารญี่ปุ่น (ที่กำลังเตรียมไปสงคราม) มาเจอตัว ขณะที่เขากำลังจะตายเพราะความหิวโหย นี่เป็นตอนจบที่คลุมเคลือมากๆ เพราะมันเปิดกว้างไม่ใช่สไตล์ของเขาเลย ผมดีใจมากๆที่หนังไม่ได้จบแบบนี้ คนดูคงจะรู้สึกสิ้นหวังและมองไม่เห็นทางออกของปัญหาแน่ๆ จบแบบในหนังผมคิดว่าลงตัวที่สุดแล้ว กลายเป็นตำนานไปเลย
เหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะช่วงท้าย ขณะที่พ่อจ้องมองลูกชายทั้งสองที่กำลังหลับอยู่ เขาพูดว่า โตขึ้นอย่างเป็นแบบพ่อก็แล้วกัน “Don’t become miserable apple-polishers like me, boys” ใช่เลยละครับ นี่อาจจะไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เด็กๆพึงพอใจ แต่มันแสดงว่าพ่อก็รู้ตัวเอง เขาเป็นแค่คนธรรมดาๆคนหนึ่ง ไม่ได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน เมื่อลูกรู้แล้วว่าพ่อเป็นยังไง โตขึ้นก็อย่าเป็นแบบพ่อแล้วกัน ซีนต่อมาตัดไปที่แม่ ที่ค่อยๆกุมมือเหมือนกำลังอธิษฐาน แสดงให้เห็นว่า คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกลำบาก ถึงตอนนี้ลูกๆจะยังไม่เข้าใจพวกเขา โตขึ้นจะต้องเข้าใจได้อย่างแน่นอน นี่เป็นช่วงเวลาตราตรึงมากๆ ใครไม่ได้ดูก่อนตายนี่น่าเสียดายสุดๆ
แนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคน เน้นกับครอบครัว พ่อ-แม่ ลูก ดูได้ทั้งครอบครัว แฝงข้อคิดที่ดีมากๆ ใครแฟนหนังของ Ozu ก็ห้ามพลาด กับคนรุ่นใหม่หนังเงียบอาจไม่ค่อยถูกชะตากันเสียเท่าไหร่ แนะนำสำหรับคนมีประสบการณ์การดูหนังมาบ้าง (Amatuer) หรือมีคนที่สามารถแนะนำให้เข้าใจหนังได้ จัดเรต G (General) เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
Leave a Reply