Il bidone (1955) : Federico Fellini ♥♥♥♡
ผลงานที่ถูกหลงลืมของ Federico Fellini เพราะโดนขนาบข้างโดย La Strada (1954) และ Le notti di Cabiria (1957), เรื่องราวของสามโจรกระจอก เก่งแต่หลอกปล้นคนจน มันช่างบดขยี้หัวจิตหัวใจผู้ชม แช่งช่างเมื่อไหร่กรรมจะสนองพวกแม้งสักที!
The Swindlers เป็นภาพยนตร์ที่จะปลุกผู้ชมชนชั้นล่าง ให้ตื่นขึ้นจากความเพ้อฝันหวาน เพราะไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆโดยง่ายดาย ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง ก็มีแนวโน้มสูงจักโดนต้มตุ๋นหลอกลวง เสียค่าโง่แบบไม่มีวันได้รับกลับคืน
เหตุผลจริงๆที่นักวิจารณ์สมัยนั้นไม่ค่อยปลื้ม Il bidone สักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่มักนำไปเปรียบเทียบกับ La Strada (1954) ที่เพิ่งคว้ารางวัล Silver Lion: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice พบเห็นว่ามันเป็นการก้าวถอยหลัง หวนกลับสู่ Neorealist ที่ Fellini พยายามดีดตัวเองออกมา และเรื่องราวอาชญากรรม มันช่างบีบเค้นคั้น รวดร้าวทุกข์ทรมาน บดขยี้หัวใจผู้ชมจนแหลกละเอียด (ผู้ชมส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบหนัง ก็เพราะความรุนแรงแบบไม่บันยะบันยังนี้แหละ)
กาลเวลาทำให้ผู้ชมรุ่นใหม่พบเห็นความทรงคุณค่าของหนัง โดยเฉพาะสไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque กำลังพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่นชัด และมีการเหมารวมเรียกไตรภาคแห่งความโดดเดี่ยว ‘Trilogy of Loneliness’ (น่าจะเป็นนักวิจารณ์เหมารวมเรียกนะครับ ไม่น่าใช่ความตั้งใจของ Fellini)
– La Strada (1954)
– Il bidone (1955)
– Le notti di Cabiria (1957)
Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Italy ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์ รับชมภาพยนตร์ ละครเวที, พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เอาเวลาไปเขียนบททความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, พบเจอ Giulietta Masino ปี 1942 แต่งงานกันปีถัดมา ลูกคนแรกแท้งเพราะตกบันได ลูกคนที่สองเกิดปี 1945 อายุเพียงเดือนเดียวเสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) พวกเขาจึงเพียงพอไม่เอาอีกแล้ว, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951), และฉายเดี่ยว The White Sheik (1952)
สำหรับ Il bidone ร่วมพัฒนาบทกับสองนักเขียนขาประจำ Ennio Flaiano และ Tullio Pinelli โดยเรื่องราวมีศูนย์กลางที่หัวขโมยสูงวัย ฝีมือเก่งกาจก็ไม่ใช่ กำลังต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกขัดย้อนแย้ง ราวกับเกิดจิตสำนึกมโนธรรมขึ้นภายในจิตใจ
Augusto (รับบทโดย Broderick Crawford) ปลอมตัวเป็นบาทหลวง ร่วมกับ Roberto (รับบทโดย Franco Fabrizi) และ Picasso (รับบทโดย Richard Basehart) ทำการต้มตุ๋นชาวนาจนๆ แสร้งขุดพบกล่องสมบัติ(ที่ลักลอบแอบฝังไว้ก่อนหน้า) เพื่อแลกข้ออ้างบางอย่าง หลอกให้พวกเขาจ่ายเงินก้อนโตแล้วเอาสมบัตินั้นไป เสร็จแล้วปรนเปรอตนเองด้วยสุรา นารี รถหรูหรา เงินหมดเมื่อไหร่ค่อยหวนกลับมาออกปล้นครั้งถัดไป
เพราะประกอบอาชีพนี้มานานหลายปี Augusto มีบุตรสาวเติบใหญ่กำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่เพราะไร้เงินทุนคนเป็นพ่อจึงขันอาสาหาเงินก้อนใหญ่ให้ แต่การออกปล้นครั้งนี้เขาต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อ มีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน นั่นทำให้ลึกๆนั้น ย่อมต้องมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ
นำแสดงโดย William Broderick Crawford (1911 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ครอบครัวเป็นนักแสดงเร่ แม่เคยสมทบหนัง Top Hat, Swing Time, ด้วยเหตุนี้เลยเขามีความใคร่สนใจด้านการแสดง ได้ทุนเข้าเรียน Havard University แต่บอกปัดเพื่อเข้าสู่วงการ เริ่มจากเป็นละครเวที จัดรายการวิทยุ Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Woman Chases Man (1937), เรื่อยๆเปื่อยๆในบทสมทบหนังเกรด B จนกระทั่งคว้า Oscar: Best Actor จาก All the King’s Men (1949) ถึงได้รับการจดจำเสียที
รับบท Augusto โจรกระจอกสูงวัย ชีวิตทำอะไรไม่เป็นนอกจากการปล้น กะล่อนปลิ้นปล้อน หลอกลวงผู้อื่นไปวันๆ แต่ก็ทำได้แค่กับคนจนๆ ชนชั้นล่างในสังคม เคยพยายามตุ้มต๋นคนรวย ปรากฎว่าไม่เคยสำเร็จสมหวังสักครา กระทั่งว่าหลังจากวงแตก และต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อบุตรสาว กรรมเก่าทั้งหลายเลยหวนกลับมาหลอกหลอน สุดท้ายก็ไม่ตายดี กลิ้งตกเขาสู่จุดตกต่ำ พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาจนกระทั่งลมหายใจเฮือกสุดท้าย
ความตั้งใจแรกของ Fellini อยากได้ Humphrey Bogart แต่พอรับรู้ว่าขณะนั้นป่วยหนัก เลยเปลี่ยนมาเป็น Crawford ประทับใจจากผลงาน All the King’s Men (1949) แต่พี่แกก็ประสบปัญหาดื่มหนัก เมามาย Alcoholism สภาพร่อแร่ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่
แต่ผมว่า Crawford แสดงได้ค่อนข้างดีเลยนะ ทำให้ตัวละครมีความลุกรี้ร้อนรน เป็นคนพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ สมฉายาโจรกระจอก หากินกับความหวังผู้อื่น ตนเองเลยประสบความสิ้นหวังในตอนจบ
John Richard Basehart (1914 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ได้รับการชักชวนจาก Fellini อีกครั้ง หลังจากบทบาท The Fool เรื่อง La Strada (1954), รับบท Picasso คือฉายาได้จากความชื่นชอบวาดภาพ (แต่ก็ไม่ได้มีฝีมือสักเท่าไหร่) ตกหลุมรักแต่งงานกับ Iris (รับบทโดย Giulietta Masina) มีลูกสาววัยกำลังน่ารักน่าชัง แต่เพราะใช้ชีวิตสองโลก สรรหาเงินจากการต้มตุ๋นหลอกลวง กระทั่งเมื่อภรรยาจับได้ต้องการเลิกร้างรา ค่อยๆตระหนักได้ว่านั่นหาใช่สิ่งที่ตนต้องการเลยแม้แต่น้อย เลยคิดจะกลับตัวกลับใจ (สำเร็จไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน)
Franco Fabrizi (1916 – 1995) นักแสดง โมเดลลิ่ง สัญชาติอิตาเลี่ยน เคยร่วมงานกับ Fellini เรื่อง I Vitelloni (1953), รับบท Roberto ผู้มีความฟุ่มเฟือย จับจ่ายใช้สอยสุรุ่ยสุร่าย มากมายในสุรา นารี บ้านหรู รถหรา และแม้เงินทองไม่ขัดสน แต่ก็ติดเป็นสันดานลักขโมยมันทุกสิ่งอย่างจนไม่มีใครอยากไว้เนื้อเชื่อใจ ท้ายสุดก็ไม่รู้เป็นอย่างไร วงแตกแยกย้ายทางใครก็ทางมัน (แต่คาดคิดว่าคงประกอบอาชีพนี้ต่อไป และจบชะตาลงแบบเดียวกับ Augusto)
Giulietta Masina (1921 – 1994) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน ภริยาผู้กำกับ Fellini ที่มักได้รับการเปรียบเทียบ Charlie Chaplin ในบทผู้หญิง, รับบท Iris คนรักของ Picasso ลึกๆคงรับรู้ธาตุแท้ของสามี รู้สึกผิดแปลกที่เงินทองไหลมาเทมา จนกระทั่งจับได้เกือบคาหนังคาเขา คบเพื่อนเลวมีหรือจะไม่โฉดชั่วตาม ประกาศกร้าวถ้าไม่เลิกราก็ต้องกลับตัวมาเป็นคนดีของครอบครัว
ถ่ายภาพโดย Otello Martelli (1902 – 2002) สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Paisan (1946), I Vitelloni (1953), The Gold of Naples (1954), La Strada (1954), La Dolce Vita (1960) ฯ
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ในรัศมีกรุง Rome อาทิ Acquedotto dell’Acqua Felice, Cerveteri, Marino ฯ โดยมีกลิ่นอาย Neorealist ครึ่งหนึ่งบันทึกภาพความยากจน ลำบากข้นแค้นของคนชนชั้นล่าง และเมื่อสามเกลอหวนกลับมาในเมือง พบเห็นวิถีชีวิตชนชั้นกลาง ขุนนาง ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย
ยุคสมัยนั้นที่ยังไม่มีคำเรียก Felliniesque ผมคิดว่าผู้กำกับ Fellini ก็คงไม่รับรู้ตนเองเหมือนกัน ว่ามีหลายๆอย่างในไดเรคชั่นมีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหลกล้องที่ล่องลอยไปมาราวกับอยู่ในความเพ้อฝัน มุมแปลกๆ พฤติกรรมสุดพิศดารของตัวละคร ซึ่งไฮไลท์เรื่องนี้ผมยกให้ฉากงานเลี้ยงวันขึ้นปีใหม่ มันช่างเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน แทบไม่มีวินาทีไหนหยุดคึกคัก ชวนให้หวนระลึกนึกถึง The Rules of the Game (1939) ซึ่งอาจกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ Playtime (1967) [และหลายๆผลงานของ Fellini ที่มากมายด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์]
สำนวน “Wolf in sheep’s clothing” ใช้ได้ดีกับการกระทำของ Augusto ปลอมตัวเป็นบาทหลวงมาต้มตุ๋นคนยากจน สร้างภาพแห่งความหวัง แล้วฉกฉวยโอกาสแห่งศรัทธา สะท้อนเล็กๆถึงความเชื่อในศาสนาของผู้กำกับ Fellini คงไม่ต่างอะไรกับตัวละครนี้ (ขโมยเอาทรัพย์ในดินของประชาชนผู้ยากไร้ ไปแสวงหาความสุขส่วนตน)
อีกครั้งหนึ่งของการพยายามต้มตุ๋น ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เรียกร้องให้คนไร้บ้านจ่ายเงินงวดแรกเป็นการจดจอง นี่ก็แฝงนัยยะตรงๆเลยถึงหน่วยงานรัฐ โกงกินประชาชนจากภาษี สวัสดิการสังคมต่างๆ จนแทบไม่หลงเหลืออะไรตกถึงพวกเขา
ผลลัพท์การกระทำของ Augusto ปากอ้างถึงคุณธรรม แต่จิตใจกลับโฉดชั่วเย็นชา เป็นเหตุให้ระหว่างหลบหนีลื่นไถลตกเขาสู่จุดต่ำสุดในชีวิต โดนก้อนหินเขวี้ยงขว้างโดนศีรษะจนสูญเสียการควบคุม จากนั้นถูกรุมยำแล้วทอดทิ้งไว้ พยายามตะเกียกตะกายกลับขึ้นมา แต่ก็หมดสิ้นลมหายใจเมื่อขึ้นถึงยอด สะท้อนถึงชีวิตที่กู่ไม่กลับ เพราะได้กระทำสิ่งเลวระยำ เห็นแก่ตัว หมดสิ้นความเป็นมนุษย์อีกต่อไป
ตัดต่อโดย Mario Serandrei และ Giuseppe Vari, ดำเนินเรื่องโดยมี Augusto คือจุดศูนย์กลาง และรายล้อมรอบด้วยอีกสองสมาชิกกลุ่ม Picasso และ Roberto
หนังมีการดำเนินเรื่องสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ (นี่ก็สไตล์ Felliniesque อย่างชัดเจน) อาทิ
– ปล้นครั้งแรก ปลอมตัวเป็นกลุ่มบาทหลวง ขุดทรัพย์ในดิน รีดไถเงินชาวนา
– หวนกลับมาเสพสุขสำราญในเมือง
– ปล้นครั้งสอง ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โกงเงินค่างวดซื้อบ้านที่อยู่อาศัย
– หวนกลับมาเสพสุขสำราญในเมือง ร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้วันขึ้นปีใหม่
– ทั้งสามกลับมารวมตัวอีกครั้ง ออกเดินทางไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดมุ่งหมาย
– Augusto กับลูกสาว ตระหนักได้ว่าต้องการทำบางสิ่งอย่าง
– การปล้นครั้งสุดท้ายของ Augusto กับสมาชิกใหม่
เกร็ด: ต้นฉบับของหนังความยาว 114 นาที แต่ก็มีฉบับ DVD ของ Image Entertainment ความยาว 91 นาที ตัดทอนอะไรๆออกไปเยอะทีเดียวเลยละ
เพลงประกอบโดย Nino Rota ขาประจำของ Fellini, แม้บทเพลงจะไม่โดดเด่น ได้รับการจดจำเทียบเท่าผลงานอื่นๆ แต่บรรยากาศ กลิ่นอาย ความมักคุ้นเคยของท่วงทำนอง ผสมผสาน Jazz เข้ากับวงออเครสต้าได้อย่างกลมกล่อมลงตัว แฟนๆ Rota ย่อมไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
Main Theme เริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นรุกเร้าใจ สะท้อนถึงความเพลิดเพลินระหว่างการปล้น ใช้ชีวิตจมกองเงินกองทอง แต่หลังจากนั้นชีวิตเมื่อต้องตื่นขึ้นมาจากความเพ้อฝัน โลกความจริงรายล้อมด้วยความทุกข์เศร้าโศก บางสิ่งอย่างภายในขาดหาย แต่ก็พยายามเติมเต็มด้วยการหวนกลับมาทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ (ออกปล้นรอบสอง สาม สี่) หลายครั้งเข้าเริ่มเฉื่อยชา ไม่เป็นผลอะไร กลับทำให้จิตใจรวดร้าวระทมยิ่งกว่าเดิม จนสุดท้ายอะไรจะเกิดคงต้องปล่อยให้มันเกิด กรรมสนองการกระทำตนเอง
ชาวอิตาเลี่ยนยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะชนชั้นไหนต่างจมปลักอยู่ในความเพ้อฝัน
– ชนชั้นล่าง มักเกิดความเชื่อศรัทธาในใครก็ตามที่นำพาโชคอันดีงามมาสู่ตน โดยขาดสติปัญญาครุ่นคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบถี่ถ้วน
– ชนชั้นกลาง-สูง ต่างจมปลักอยู่ในความเลิศหรูหรา ฟุ่มเฟือย โลกช่างแสนสุขสำราญ ล่องลอยไปอย่างเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน
จะมีก็แต่บุคคลที่คาบเกี่ยว อยู่กึ่งกลางระหว่างโลกทั้งสองใบ ถึงสามารถตระหนักรับรู้ถึงความเป็นจริง ชีวิตมีทั้งสุข-ทุกข์ ร่ำรวย-ยากจน คนฉลาด-โง่เขลา และสามารถที่จะเลือกใช้ชีวิตดี-ชั่ว ยึดถือมั่นอุดมการณ์/ศีลธรรมมโนธรรม หรือละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างในสังคม
เรื่องราวของ Augusto แม้หนังจะไม่เล่ารายละเอียดพื้นหลังเกี่ยวกับตัวละครมากนัก แต่เราสามารถทำความเข้าใจได้จากอีกสองสมาชิกกลุ่ม Picasso และ Roberto ที่ราวกับคัทลอกเลียนแบบ ถอดพิมพ์เดียวกันมาเปะๆ
– Picasso แต่งงานตอนอายุ 18 มีบุตรสาวน่ารัก กำลังจะถูกภรรยาจับได้ว่าเป็นอาชญากรรม, นั่นราวกับชีวิตเมื่อหลายสิบปีก่อนของ Augusto ที่คงเคยแต่งงาน เลิกราภรรยา ปัจจุบันลูกโตเป็นสาวน่ารัก
– Roberto เป็นคนเสเพล ชอบเที่ยวเล่น เหมาหมดสุรา นารี รถหรู บ้านหรา, นั่นน่าจะเป็นเรื่องราวของ Augusto หลังจากเลิกร้างราภรรยา ทอดทิ้งลูกสาว คงเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ต่างกัน ปัจจุบันจึงแทบไม่หลงเหลืออะไรเก็บสะสมเป็นหลักประกัน ความมั่นคงของตนเอง
แซว: จริงๆนัยยะการเล่าเรื่องแบบนี้ ถือว่าโคตรซับซ้อนยิ่งกว่า 8½ (1963) เสียอีกนะ! แต่เพราะผู้ชมสามารถมองสามตัวละครแบบตัวใครตัวมัน ไม่เกี่ยวเนื่องกันเลยก็ได้ ความท้าทายเลยหมดสิ้นไปอย่างเฉิ่มเฉย
เช่นนั้นแล้วสามตัวละครหลักของหนัง สามารถเปรียบเทียบหนึ่งเดียวได้กับ Federico Fellini สร้างภาพยนตร์เพื่อจะฉกฉวยความคาดหวัง เชื่อมั่นศรัทธาจากผู้ชม กลายมาเป็น Il bidone (1955) ที่สามารถบดขยี้ทุกสิ่งอย่างตรงหน้า ตอนจบนอนตายเกลื่อนกลาดเพราะความระยำของเรื่องราว สร้างความรวดร้าวระทมใจแสนสาหัส
เพราะ Fellini ไม่สามารถมีบุตรกับภรรยา Masina ตัวละครลูกสาวน่าจะสะท้อนความเพ้อฝันจินตนาการของพวกเขา อยากจะแสดงความรัก ทำทุกสิ่งอย่างให้ เติมเต็มหน้าที่ความเป็นพ่อ(-แม่) แม้สุดท้ายจะไม่สมหวัง เพราะในความจริงนั้นเรื่องแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นได้
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ที่นั่นเองโดนนักวิจารณ์สับเละเป็นสับปะรด ส่งผลกระทบให้ผู้ชมไม่ค่อยแสดงความสนใจ ขายไม่ออกเท่าไหร่ ขาดทุนย่อยยับเยิน! ถึงกระนั้นบรรดานักวิจารณ์จากนิตยสาร Cahiers du Cinéma ยกให้ติดอันดับ 7 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
ผมรู้สึกว่ากาลเวลาก็ไม่ทำให้ Il bidone ได้รับการจดจำมากขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะผลงานเด่นๆของ Fellini มีมากมายเต็มไปหมด เรื่องนี้จึงถือเป็นหนังเกรดรองๆ เฉพาะแฟนพันธุ์แท้ หรือกำลังศึกษาเรียนรู้จักปรมาจารย์ผู้กำกับท่านนี้ ถึงมีโอกาสแวะเวียนมาเชยชม
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง มีฉากสไตล์ Felliniesque เจ๋งๆมากมาย พบเห็นนัยยะแฝงอย่างที่อธิบายไป สะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ และเพลงประกอบของ Nino Rota แม้ไม่ตราตรึงเท่าเรื่องอื่นแต่ก็สร้างความฟินได้ระดับหนึ่ง
จัดเรต 18+ กับความชั่วช้าสามานย์ของโจรกระจอก
Leave a Reply