Il Sorpasso

Il Sorpasso (1962) Italian : Dino Risi ♥♥♥♥

แม้ชื่อหนังภาษาอังกฤษจะคือ The Easy Life แต่ความหมายตรงๆของ Il Sorpasso แปลว่า Overtaking การติดตามทัน แซงหน้า มักใช้ในบริบทของการขับรถช้า-เร็วกว่า ซึ่งสามารถเหมารวมถึงสถานะทางสังคมสูง-ต่ำ คุณธรรมศีลธรรมดี-ชั่ว รสนิยมทางเพศ หรือแม้แต่เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งสะท้อนเข้ากับประเทศอิตาลียุคสมัยนั้น กำลังถูกแซงหรือโดนตัดหน้าไปไกลแล้วก็ไม่รู้!

“To sorpassare someone is to excel him socially, morally, sexually, and politically. By the same token, to be sorpassato is to lose status, dignity, and reputation”.

แซว: การที่ผู้จัดจำหน่ายเลือกชื่อ The Easy Life เพราะต้องการสานรอยต่อความสำเร็จของ La Dolce Vita (1960) ที่ใช้ชื่ออังกฤษ The Good Life บ่งบอกความเป็นหนังอิตาเลี่ยน คุณภาพเยี่ยม และน่าจะขายดีได้เหมือนกัน

ปี 1960 – 63 เรียกได้ว่า ‘Golden Age of Italian Cinema’ ยุคทองที่เต็มไปด้วยผลงานยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าระดับ Masterpiece นับได้เกินสิบเรื่องเลยนะ
– Federico Fellini เรื่อง La dolce vita (1960) และ 8½ (1963)
– Luchino Visconti เรื่อง Rocco and His Brothers (1960) และ The Leopard (1963)
– Vittorio De Sica เรื่อง Two Women (1960)
– Michelangelo Antonioni กับไตรภาค L’Avventura (1960), La Notte (1961), L’Eclisse (1962)
– Roberto Rossellini เรื่อง Era notte a Roma (1960)
– Pier Paolo Pasolini แจ้งเกิด Accattone (1961), Mamma Roma (1962)
– Taviani Brothers แจ้งเกิด Un uomo da bruciare (1962)
– Ermanno Olmi แจ้งเกิด Il posto (1961)
– Bernardo Bertolucci แจ้งเกิด La Commare Secca (1962)
ฯลฯ

หนึ่งในนั้นโดยผู้กำกับ Dino Risi ผลงานโด่งดังที่สุดคือ Il Sorpasso (1962) เสาหลักไมล์ของภาพยนตร์แนว Road Movie ไม่ได้แค่ขายความบันเทิงเริงรมณ์ สอดแทรกตลกขบขันขัดแย้งขั้วตรงข้ามสองตัวละคร แต่ยังรายล้อมพื้นหลังสองข้างฝั่งถนนด้วยทิวทัศนียภาพประเทศอิตาลี วิถีชีวิตผู้คนตลอดการเดินทาง ราวกับ Time Capsule บันทึกภาพประวัติศาสตร์ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังมีโอกาสรับชม

และเนื้อในของ Il Sorpasso คือภาพยนตร์สะท้อน ‘จิตวิญญาณ’ ชาวอิตาลียุคสมัยนั้น อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากความย่อยยับเยินหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนแบ่งฝั่งฝ่ายออกเป็นสองพวกสุดโต่ง!
– แบบ Bruno Cortona ไม่แคร์ยี่หร่าอะไรในชีวิต อยู่ไปวันๆเรื่อยเปื่อย ขาดความรับผิดชอบ กะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง พึ่งพาอะไรไม่ได้เท่าไหร่
– แบบ Roberto Mariani เคร่งเครียดจริงจัง ตั้งใจเรียนสูงๆ เพ้อวาดฝันอนาคตจักได้ประสบความสำเร็จ สุขสบาย มั่งคง และสามารถเป็นที่พึ่งพักพิงของใครๆ


Dino Risi (1917 – 2008) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Milan, โตขึ้นร่ำเรียนหมอ ตั้งใจเป็นนักจิตวิทยา แต่ด้วยความรักในภาพยนตร์ ผันตัวมาเป็นนักวิจารณ์ เขียนบท ผู้ช่วย Mario Soldati, Alberto Lattauda, จากนั้นกำกับสารคดี หนังสั้น สะสมประสบการณ์จนได้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Vacation with a Gangster (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Sign of Venus (1955), Love and Larceny (1960), A Difficult Life (1961), Scent of a Woman (1974), ฯ

ผลงานของ Risi มักมีส่วนผสมของ Drama Comedy-Satire (มีคำเรียก Commedia all’italiana แปลว่า Italian-style Comedy) มุ่งเน้นความบันเทิงเริงรมณ์ เข้าถึงผู้ชม ขายได้เป็นหลัก ขณะที่คุณค่าทางศิลปะอาจไม่ถึงขั้นโดดเด่นนัก แต่ถือว่าบันทึกประวัติศาสตร์ ค่านิยม แฟชั่นยุคสมัย และยังเคยปลุกปั้น Sophia Loren กับ Vittorio Gassman โด่งดังระดับ Superstar

สำหรับผลงานลำดับสิบห้า Il Sorpasso เป็นความต้องการฉีกแหวกแนว Comedy Satire ด้วยการทดลองใส่ตัวละครดราม่าเข้มข้น คาดคิดว่าคงได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก L’Avventura (1960) ของผู้กำกับ Michelangelo Antonioni [คือมีการกล่าวถึงตรงๆเลยในหนัง] ร่วมงานกับนักเขียนขาประจำ Ruggero Maccari และว่าที่ผู้กำกับดัง Ettore Scola (คว้า Golden Globe: Best Foreign Film เรื่อง A Special Day) พัฒนาบทโดยให้เทศกาล Ferragosto เป็นจุดหมุน

เรื่องราวเริ่มต้น 15 สิงหาคม วันหยุดเทศกาล Ferragosto** ทุกกิจการห้างร้างต่างปิดหยุดพักผ่อน เป็นเหตุให้ Bruno Cortona (รับบทโดย Vittorio Gassman) เจ้าของรถ Lancia Aurelia อุตส่าห์ตื่นเช้าตรู่เกิดความเบื่อหน่าย ขับรถซิ่งไปรอบๆเมืองจนกระทั่งพบเห็น Roberto Mariani (รับบทโดย Jean-Louis Trintignant) นักศึกษาหนุ่มจับจ้องซุ่มมองอยู่บนห้อง ทั้งๆมิได้รู้จักแต่จับพลัดร่วมออกเดินทาง ค่อยๆไกลออกห่างกรุงโรมขึ้นเรื่อยๆในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน กระทั่งมาถึง Lazio, Tuscany

เกร็ด: Ferragosto เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองโอกาสที่พระแม่มาเรียได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญและขึ้นสู่สรวงสวรรค์ไป ชาวอเมริกันจะเรียกว่า The Assumption of the Virgin Mary แต่เฉพาะคนอิตาเลียน ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดหนึ่ง ตรงกับวันที่ 15 สิงหาคมของทุกๆปี แต่อย่างไรก็ดีผู้คนต่างเริ่มฉลองกันตั้งแต่วันที่ 14 ลากยาวจนถึง 16 สิงหาคม ปัจจุบันแทบไม่แตกต่างกับสงกรานต์เมืองไทย ส่วนใหญ่จะหนีร้อนไปเที่ยวทะเล คึกคักครึกครื้นเครงเป็นพิเศษ


Vittorio Gassman (1922 – 2000) นักแสดงชื่อดังค้างฟ้า สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Genoa, Kingdom of Italy พ่อเป็นชาวเยอรมัน ส่วนแม่เชื้อสาย Jews เติบโตขึ้นยังกรุงโรม เข้าศึกษา Accademia Nazionale d’Arte Drammatica กลายเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Preludio d’amore (1946), ผลงานเด่นๆ อาทิ Bitter Rice (1948), War and Peace (1956), La grande guerra (1959), Il Sorpasso (1962), Scent of a Woman (1974) ฯ

รับบท Bruno Cortona ชายวัยกลางคนรูปร่างสูงใหญ่ สติปัญญาคงไม่เท่าไหร่ แต่ชื่นชอบการพูดคุยสนทนา ปลิ้นปล้อนกะล่อนหลอกลวง เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ สนุกสนานเต็มที่กับชีวิต ไม่ครุ่นคิดรับผิดชอบอะไรใคร ด้วยเหตุนี้แม้เคยแต่งงานมีลูกก็อย่าร้างรา ถึงกระนั้นยังคงไปมาหาสู่ราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ทั้งๆก็มิได้รู้จัก Roberto Mariani แต่พอพบเห็นชีวิตอันน่าเบื่อหน่าย เกิดความต้องการเปิดโลกทัศน์หมอนี่ให้ออกจากกะลาคลอบ ใช้วาทะเกลี้ยกล่อมเกลาชักแม่น้ำทั้งห้า จนเขามิอาจบอกปัดปฏิเสธได้ ไปๆมาๆสนิทสนมชิดเชื้อ ไว้เนื้อเชื่อใจ และสุดท้ายกลายเป็นเพื่อนตาย!

ความจัดจ้านด้านการแสดงของ Gassman ทำให้ตัวละครมีความโดดเด่นชัดในบุคลิก ท่วงท่าทาง ลีลา โดยเฉพาะคำพูดพร่ำไม่มีหยุด แถมชอบฉุดชักแม่น้ำทั้งห้า นั่นย่อมทำให้ใครๆรับรู้ว่า คบหาหมอนี่พึงพาอะไรไม่ได้เท่าไหร่ กะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง เว้นเสียแต่ต้องการรอยยิ้มเสียงหัวเราะ ไม่มีทางผิดหวังอย่างแน่นอน

Jean-Louis Xavier Trintignant (เกิดปี 1930) นักแสดง/ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse พออายุครบ 20 ปี มุ่งสู่ Paris ร่ำเรียนการแสดง มีผลงานละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก If All the Guys in the World (1955), ปีถัดมาก็ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ And God Created Woman (1956), ขณะที่ผลงานโด่งดังระดับสากลเริ่มที่ A Man and a Woman (1966), The Man Who Lies (1968), Z (1969), La Femme de ma vie (1986), Three Colors: Red (1994), Those Who Love Me Can Take the Train (1998) และ Amour (2012)

รับบท Roberto Mariani นักศึกษากฎหมายปีสุดท้าย เป็นคนหน้าดำคร่ำเครียด กำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ แต่เช้าวันนั้นดันแอบมองออกนอกหน้าต่าง พบเจอชายแปลกหน้า Bruno Cortona ยินยอมช่วยเหลือเพื่อแสดงน้ำใจมิตรไมตรี แต่กลับค่อยๆถูกเบียดเบียน ชักจูงจมูก จนมิอาจปฏิเสธขัดขืน พยายามหลบหนีแต่กลับเวียนวนหวนกลับมาหา จนในที่สุดแม้แค่เพียงวันคืนกว่าๆ มุมมองโลกทัศน์ต่อชีวิตเขา ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

มันอาจดูเป็นความอ่อนน้อม ขี้เกรงใจของ Roberto Mariani ที่ไม่สามารถปฏิเสธคำร้องขอ ร่วมเดินทางไปกับ  Bruno Cortona แต่ลึกๆผมว่าพี่แกมีความใคร่สนใจในตัวอีกฝ่าย อยากรับรู้เห็นเข้าใจ หมอนี่มีอะไรดี เพราะอะไรทำไมถึงแตกต่าง ช่างกล้าหาญชาญชัยนัก แล้วฉันจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นแบบเขา แค่เศษเสี้ยวส่วนหนึ่งได้บ้างหรือเปล่า

Trintignant เป็นนักแสดงที่มีใบหน้าตึงเคร่งเครียด ภาพลักษณ์จริงจังตลอดเวลา ซึ่งการได้เสียงบรรยายความคิดอ่าน ช่วยอธิบายอารมณ์ความรู้สึกภายในตัวละครได้อย่างลุ่มลึกล้ำ เข้ากับท่วงท่าทาง รอยยิ้มแย้มที่ค่อยๆกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดถือว่าปลดปล่อยจิตวิญญาณ เอ่อล้นด้วยความสุขสนุกสำราญ แตกต่างตรงกันจากต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง

สองตัวละครหลักของหนังถือว่ามีความแตกต่างขั้วตรงกันข้าม ทั้งๆไม่น่าสามารถออกเดินทางร่วมกันไปได้ กลับมีบางสิ่งอย่างยึดเหนี่ยวรั้งสัมพันธ์ภาพนี้ไว้ นั่นคือความใคร่สนใจในตัวอีกฝ่าย ทำไมนายถึงไม่เหมือนฉัน ต้องการศึกษา โน้มน้าว ชักจูงจมูก ค้นหาว่าแท้จริงแล้ว ฝั่งไหน ใคร มีอนาคตสดแจ่มใสกว่ากัน


ถ่ายภาพโดย Alfio Contini ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Il sorpasso (1962), La marcia su Roma (1963), The Night Porter (1974), Beyond the Clouds (1995), Ripley’s Game (2002) ฯ

ในอิตาลีทศวรรษนั้น ฟีล์มขาว-ดำ ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูง (และไม่บันทึกเสียง Sound-on-Film ค่อยไปพากย์ทับเอาตอนหลัง) เพราะหาง่ายราคาถูก และทำให้หนังคงมีความสดใหม่ ไม่จืดจางเสื่อมลงตามกาลเวลาแบบภาพสีสัน

ไดเรคชั่นการถ่ายภาพ หลายฉากจะเป็น ‘One Shot’ เริ่มต้นถึงสิ้นสุด ไม่มีการตัดต่อใดๆแทรกคั่นกลาง อาทิ ขับรถเข้ามาในร้านอาหาร หยุดจอดรถ พูดคุยตัดสินใจ แล้วขับออกไป, หรือตอนแข่งรถ พบเห็นสองคัดขับขี่ฉวัดเฉวียน แซงซ้ายแซงขวา ตัดหน้าปาดหลัง ได้รับชัยชนะเมื่อไหร่ถึงจบฉาก ฯ นี่ต้องใช้การวางแผน ตระเตรียม ซักซ้อมมาอย่างดี เห็นว่าคือสไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Risi เลยก็ว่าได้

ห้องน้ำคือสถานที่ปลดทุกข์ ซึ่งการที่ Roberto Mariani ถูกขังไว้ภายในไม่ใช่เพราะใครอื่น ตัวเขาเองที่บิดแรงจนคันโยกหลุด นี่หาได้แตกต่างอะไรจากพันธนาการกรงขังทางความคิดอ่าน โลกทัศนคติ แถมยังไม่กล้าตะโกนพูดบอก ขอความช่วยเหลือ ได้แต่เฝ้ารอคอยวันเวลาพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยพังประตู … ทำให้คันโยกภายนอกหลุดพังอีกที จึงสามารถยินยอมก้าวออกมาจากกะลาคลอบนั้นได้

หลายครั้งทีเดียวที่งานภาพมีลักษณะของการ ‘จับจ้องมอง’ ผ่านสายตาของสองตัวละครหลัก พบเห็นสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมายบนท้องถนน อาทิ
– สองสาวสวยสุดเซ็กซี่ เลยติดสินใจขับรถติดตามไล่ล่า
– รถบรรทุกกำลังย้ายบ้าน ด้านหลังมีชายคนหนึ่งกำลังกินขนมปัง
– หนึ่งในช็อตที่ผมชื่นชอบมากๆ Bruno & Roberto จับจ้องมองงานเลี้ยงเต้นรำแห่งหนึ่ง พร้อมเสียงบรรยาย Commentary ต่อชาย-หญิง หนุ่ม-แก่ กำลังเต้นสะบัดช่ออย่างเมามันส์
ฯลฯ

ฉากกลางคืน หลายครั้งมีการเล่นกับแสงเงา อย่างช็อตนี้ครึ่งหนึ่งใบหน้าของ Roberto Mariani ปกคลุมด้วยความมืดมิด นี่สะท้อนถึงการครุ่นคิดอ่าน กำลังวางแผนอะไรชั่วร้ายกาจ … กล่าวคือ ตัวละครเริ่มมีลับลมคมใน ไม่บริสุทธิ์เดียงสาเหมือนตอนต้นเรื่องอีกต่อไปแล้ว

หน้ากาก เป็นสัญลักษณ์ของการปลอมตัว ปลอมแปลง ปกปิดบังตัวตนแท้จริง หลบซ่อนเร้นภายใน
– Bruno Cortona สวมใส่เพื่อหยอกล้อกลั่นแกล้ง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
– Roberto Mariani สวมใส่ขณะขับรถและกำลังมึนเมา สะท้อนว่านั่นหาใช่ตัวตนแท้จริงของเขาที่แสดงออกมา

การจัดวางตัวละครในช็อตนี้ แบ่งแยกด้วยเสาและกระจก
– Roberto Mariani อยู่กึ่งกลาง กำลังเมามาย ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง
– Bruno Cortona ยืนอยู่กรอบเดียวกับลูกสาว … พวกเขามีอะไรคล้ายคลึง และยังเห็นพ้องในอะไรหลายๆอย่าง
– ตรงกันข้ามกับภรรยา อยู่คนละฝั่ง คนละเฟรม ไม่สามารถร่วมชายคากับอดีตสามีได้อีกต่อไป

แค่ว่ากางเก้าอี้ชายหาดหลับนอน Bruno Cortona ยังต้องหันทิศทางต่างจาก Roberto Mariani ถือเป็นการสะท้อนความแตกต่างขั้วตรงข้ามของสองตัวละคร
– Roberto Mariani หันหน้าออกทะเล สะท้อนความตรงไปตรงมาของตัวละคร (ใครๆนิยมทำกัน)
– Bruno Cortona เป็นพวกหัวขบถ ขัดแย้ง ทำอะไรตรงข้ามขนบวิถีทางสังคม ด้วยเหตุนี้เลยหันหน้าเข้าหาฝั่ง

แซว: จริงๆผมก็ไม่รู้นะว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางไหน แต่ให้คาดคะเนที่ Bruno Cortona หันทิศทางตำแหน่งนั้น เพราะไม่ต้องการเผชิญหน้าให้แสงอาทิตย์แยงตาอย่างแน่นอน

ฉากนี้เห็นว่าไม่ใช่ Vittorio Gassman ที่โชว์ความสามารถยืนกลับหัวกลับหา เป็นนักแสดงแทน Guard Coast ผู้มีทักษะพิเศษนี้, นัยยะของการยืนกลับหัวกลับหาง ถือว่าสะท้อนบุคลิกนิสัยของ Bruno Cortona เป็นพวกมองเห็นอะไรกลับตารปัตร แปลกแตกต่าง ไม่ค่อยเหมือนคนอื่นสักเท่าไหร่

ช็อตที่ผมถือว่าคือ Masterpiece ของหนัง! การเดินเลียบชายหาดของ Roberto Mariani พานผ่านพบเห็นผู้คน/นักท่องเที่ยว ด้านหน้า-หลัง บน-ล่าง ซึ่งสะท้อนเข้ากับตัวตน/จิตวิญญาณของชายหนุ่มผู้นี้
– พื้นหลัง, ชายคนหนึ่งกางร่มนั่งบนโขดหิน เหม่อมองแบบไม่สนอะไรใคร
– พื้นหลัง, คู่สามีอ่านหนังสือ ภรรยายหันมองไปอีกทิศ
– หญิงสาวนอนอาบแดด กำลังอ่านหนังสือ
– หญิงสูงวัย กางร่ม อ่านหนังสือพิมพ์ จับจ้องมองเก้าอี้ว่างเปล่า (อาจจะสามีเสียชีวิตจากไปแล้ว)
– พื้นหลัง, คนกำลังตกปลา, ยืนมองเรือใบกำลังแล่นไป
– สุนัขเดินผ่าน
– หญิงอ้วนถือร่ม กำลังล้างเท้าในบ่อ
– ด้านล่าง กลุ่มคนกำลังเล่นพนันขันต่อ (กับชีวิต)
ฯลฯ

การเคลื่อนกล้องติดตามตัวละคร ทำให้ทั้งฉากนี้มีลักษณะเหมือนภาพวาดแนวยาว ระบายด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ลงสีผ่านอารมณ์ความรู้สึก ความหมายคือกำลังออกเดินค้นหาเป้าหมาย แต่ยังคงเคว้งคว้างว่างเปล่า ย่ำเหยียบล้างเท้าอยู่กับที่ เอาตัวรอดด้วยการพนันขันต่อไปวันๆ

การแข่งขันปิงปอง ตีโต้ แม้ในเกมจะระหว่าง Bruno Cortona กับ Bibi (รับบทโดย Claudio Gora) แต่ถือว่าสะท้อนเข้ากับสองตัวละครหลักของหนัง ความแตกต่างทำให้พวกเขาอยู่ฝั่งขั้วตรงข้าม … แค่ว่าตอนนี้ Roberto Mariani ค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไป กลายมาเป็นเข้าข้าง Bruno

การเดินทางครั้งสุดท้าย Roberto Mariani แสดงออกราวกับบุคคลผู้เพิ่งออกจากคุก ยิ้มแป้นให้อิสรภาพแห่งชีวิต ด้วยเหตุนี้ความตายที่ใครๆมองว่าคือโศกนาฎกรรม สามารถเทียบแทนถึงการแปรสภาพ ‘Transcendence’ สู่จิตวิญญาณ (อิสรภาพจากพันธการของชีวิต) ณ รอยต่อระหว่างแผ่นดิน-ผืนน้ำ เกิด-ตาย ความจริง-ความฝัน

แซว: ทั้งๆโมเดลรถที่ใช้ตลอดทั้งเรื่องคือ Lancia Aurelia แต่ฉากนี้กลับกลายเป็น Siata 1500 นี่ล่อหลอกคนเล่นรถไม่ได้หรอนะ!

ตัดต่อโดย Maurizio Lucidi ว่าที่ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน, หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Roberto Mariani (และ Bruno Cortona) รวมถึงความคิดอ่านที่ดังขึ้นในหัว สะท้อนความตั้งใจแต่ผลลัพท์กลับมักไม่เคยสมประสงค์ตามนั้น

ระยะเวลาของหนังคือ 2 วัน 1 คืน เริ่มต้นเช้าตรู่วันที่ 15 สิงหาคม สิ้นสุดยามบ่ายวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งถ้าแบ่งตามช่วงเวลาจะได้ว่า
– เช้าวันแรก, แนะนำตัวละคร พบปะผู้คนแปลกหน้า
– บ่ายวันแรก, เยี่ยมบ้านลุงของ Roberto Mariani
– ค่ำวันแรก, ระหว่างที่ Roberto Mariani หาทางกลับ, Bruno Cortona กำลังหลีสาว เต้นรำ เกี้ยวพาราสี
– ดึกดื่นวันแรก, หลังจากดื่มเหล้าเมามาย ขับรถไปที่บ้านอดีตภรรยา Bruno Cortona
– เช้าวันสอง, ชายหาด ล่องเรือท่องทะเล
– บ่ายวันสอง, การเดินทางครั้งสุดท้าย

แซว: ใครช่างสังเกต จักพบเห็นนาฬิกาบอกเวลา หลบซ่อนอยู่หลายๆช็อตฉาก

นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางบนท้องถนน หนังทำการร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ หลายสิ่งอย่างเป็นไปได้ สามารถพบเห็นเกิดขึ้น อาทิ คนโบกรถ, รถเสีย, พลิกคว่ำข้าวของเกลื่อนกลาด, ขับช้า รถเก่า, บีบแตรไล่มอเตอร์ไซด์, ล้อเลียนคนปั่นจักรยาน, ซิ่งแซง แข่งขัน ตัดหน้า ฯ (แต่ว่าไป เหมือนจะขาดรถติดนะ!)


เพลงประกอบโดย Riz Ortolani (1926 – 2014) นักแต่งเพลง Jazz สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่น อาทิ Il Sorpasso (1962), Mondo cane (1962), The Yellow Rolls-Royce (1964), Buona Sera, Mrs. Campbell (1968), Madron (1970), Don’t Torture a Duckling (1972), Cannibal Holocaust (1980) ฯ

มาถึงยังไม่ทันตั้งตัว เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองดนตรี Jazz สร้างสัมผัสบรรยากาศหนัง ชี้ชักนำอารมณ์ผู้ชม บ่งบอกว่าต้องเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เร้าใจ ครึกครื้นเครงอย่างแน่นอน

ส่วนใหญ่ของบทเพลงประกอบ มีลักษณะเป็น Diegetic Music อาทิ
– Vecchio Frak แต่ง/ขับร้องโดย Domenico Modugno, เพลงแรกที่เปิดฟังบนรถ
– Pinne fucili ed occhiali แต่งโดย Carlo Rossi & Edoardo Vianello ขับร้องโดย Edoardo Vianello, ดังขึ้นบนรถ
– Gianni แต่งโดย Nino P. Tassone & Giuseppe Cassia ขับร้องโดย Miranda Martino, ดังขึ้นบนรถ
– Quando Quando Quando แต่งโดย Tony Renis & Alberto Testa ขับร้องโดย Emilio Pericoli, ดังขึ้นในร้านอาหารที่ Roberto Mariani ติดอยู่ในห้องน้ำ
– Guarda come dondolo แต่งโดย Carlo Rossi & Edoardo Vianello ขับร้องโดย Edoardo Vianello, ดังต่อเนื่องในร้านอาหาร หลังเพลง Quando Quando Quando จบไปนานแล้ว
– St. Tropez Twist แต่งโดย Mario Cenci & Peppino Di Capri ขับร้องโดย Peppino Di Capri, บทเพลงที่สองหนุ่มหยุดรถ จับจ้องดูงานเต้นรำ
– Per un attimo แต่งโดย Luigi Naddeo ขับร้องโดย Peppino Di Capri, เพลงหวานๆโรแมนติกระหว่าง Bruno Cortona เต้นรำกับหญิงแต่งงานแล้ว ก่อนทุกอย่างล่มจมเพราะเรื่องชกต่อย
– Don’t play that song (You lied) แต่งโดย Ahmet Ertegun & Betty Nelson ขับร้องโดย Peppino Di Capri, เพลงตอนตีปิงปอง
ฯลฯ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะประเทศแห่งหนไหนล้วนได้รับอิทธิพล ผลกระทบ เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ อิตาลีก็เฉกเช่นเดียวกัน แต่เพราะอดีตท่านผู้นำ Benito Mussolini ได้ทอดทิ้งสิ่งเลวร้ายไว้มาก นั่นทำให้มหาอำนาจผู้ชนะสงครามต่างมองข้าม เพิกเฉย ไม่สนหัว (เพราะอิตาลี ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติใดๆหลงเหลือ) อยากเอาตัวรอดก็ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้

กว่าทศวรรษถัดจากนั้น แม้เศษซากปรักหักพังจะได้รับการซ่อมแซมปรับปรุง แต่สภาพจิตใจผู้คนยังคงเหมือนเดิมไม่แตกต่าง
– Bruno Cortona เพราะพานผ่านสงครามเป็นผู้หมวด เลยได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ แม้หนังไม่นำเสนออาการ PSTD แต่ความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมแสดงออก ค่อนข้างชัดว่าพยายามหลบหลีหนี ใช้ชีวิตสนุกสนานเต็มที่ เอาตัวรอดไปวันๆแบบไม่ใคร่ปักหลัก สนใจอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก
– ขณะที่ Roberto Mariani ดูจากอายุน่าจะเกิดทันช่วงสงคราม แต่ยังไม่ทันรู้เรื่องประสีประสา แค่ว่าเติบโตขึ้นผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก(หลังสงคราม) จึงกลายเป็นคนเก็บกด อึดอัดอั้น เคร่งเครียดจริงจังกับชีวิต คาดคิดว่าการเรียนสูงๆ ทำงานดีๆ ฐานะมั่นคง จักทำให้มีความสุขกายสบายใจ

ผู้กำกับ Risi นำเสนอการเดินทางของสองขั้วตรงข้าม Bruno & Roberto เปรียบเทียบได้กับทิศทางดำเนินไปของประเทศอิตาลี ทศวรรษนั้นถือเป็นช่วงรอยต่อ ผู้คนแบ่งแยกสองฝั่งฝ่ายชัดเจน รุ่นเก่า-ใหม่ (เกิดก่อน-หลังสงคราม) ซ้าย-ขวา ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ปกติแล้วไม่มีทางอาศัยอยู่ร่วมกันได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างต่อเหตุการณ์จับพลัดพลู รับอิทธิพล เกิดความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย

ภรรยาและลูกสาวสุดสวยของ Bruno Cortona ต่างแสดงออกถึงความต้องการผู้ชาย/ใครสักคนไม่ต้องหล่อเหลา แค่มีความมั่นคง จริงใจ พึ่งพาได้ คนแบบ Roberto Mariani ดูเป็นผู้มีอนาคต … นั่นทำให้ลึกๆภายใน Bruno เกิดความอิจฉาริษยา ตนเองคงกลายเป็นแบบนั้นไม่ได้ แต่มี Roberto อยู่ใกล้ๆ คงอาจทำให้ฉันเฉลียวฉลาดขึ้นบ้าง

ตรงกันข้ามกับ Roberto Mariani ด้วยความที่มีชีวิตอันน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ ปลักอยู่ในหนังสือ ราวกับกบในกะลาครอบ นกในกรง ส้วมลูกบิดพัง … พบเห็นการแสดงออกอันเอ่อล้นด้วยอิสรภาพของ Bruno Cortona แรกๆต่อต้าน แต่ค่อยๆยินยอมรับนับถือ ต้องการพัฒนาปรับเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นแบบเขา

ผลลัพท์สุดท้าย มีเพียง Roberto ที่กำลังจะกลายเป็นแบบ Bruno ระหว่างออกเดินทาง ท้าทายให้เขาเร่งความเร็ว ซิ่งแซงรถคันหน้า ด้วยความกล้าบ้าบิ่น ในที่สุดก็ประสบอุบัติเหตุ โศกนาฎกรรม … มุมมองของผู้กำกับ Risi ถ้าเด็กรุ่นใหม่มัวแต่รับอิทธิพลจากคนรุ่นก่อนๆ มอบศรัทธาความเชื่อมั่น ไร้ซึ่งความคิดอ่านกระทำลงมือด้วยตนเอง อนาคตประเทศชาติคงถึงกาลหายนะ ล่มจม ขับรถตกเหว

อนาคตประเทศชาติ ถือว่าอยู่ในกำมือของเด็กรุ่นใหม่ เพราะโลกวิวัฒนาการก้าวหน้าไปทุกโมงยามวันเดือนปี คนรุ่นก่อนแม้มากมีประสบการณ์แต่ก็ไม่อาจปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง เรียนรู้อะไรใหม่ๆได้ทัน สักวันย่อมต้องล้าหลังตกยุคเฉิ่มเชย เราควรต้องเลิกปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ควบคุมครอบงำความคิด ชี้ชักนำจูงจมูก ต้องแบบโน้นนี่นั้น ตามขนบวิถีธรรมเนียมประเพณี พยายามให้พวกเขาเป็นตัวของตนเอง แนะนำขัดเกลาถูกผิดเหมาะสม สิ่งเกิดขึ้นแม้อาจไม่ถูกใจก็เรียนรู้จักปล่อยวาง ไม่มีทางทุกสิ่งอย่างเหมือนคงเดิม ยืนอยู่ยงชั่วนิจนิรันดร์กาล


ความสำเร็จของหนังไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที เสียงตอบรับก็ไม่เท่าไหร่ แต่กระแสปากต่อปากถึงความสนุกสนาน บันเทิงเริงรมณ์ เลยประสบความสำเร็จกำไรล้นหลาม และกาลเวลาทำให้นักวิจารณ์ปรับเปลี่ยนทัศนะ ยกย่องถึงระดับ Masterpiece ไม่เพียงของผู้กำกับ Dino Risi แต่คือวงการภาพยนตร์อิตาลีเลยละ

ส่วนตัวชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้อย่างมาก เกิดรอยยิ้ม เพลิดเพลินบันเทิงรมณ์ อิ่มหนำความงดงามทางศิลปะ การถ่ายภาพอันน่าทึ่ง เพลงประกอบ Jazz สุดมันส์ และสองนักแสดงนำ Vittorio Gassman กับ Jean-Louis Trintignant ขั้วตรงข้าม แต่เข้าขากันอย่างสุดๆ

แนะนำคอหนัง Road Movie เรียกเสียงหัวเราะ Comedy, หลงใหลประเทศอิตาลี ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, แฝงปรัชญา ข้อคิดใช้ชีวิต, แฟนๆผู้กำกับ Dino Risi และนักแสดงนำ Vittorio Gassman, Jean-Louis Trintignant ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความดื้อรัน อันธพาล กะล่อนปลิ้นปล้อนของตัวละคร

คำโปรย | Il Sorpasso ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Dino Risi เปรียบได้กับ Time Capsule บันทึกภาพ จิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ประเทศอิตาลี ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังมีโอกาสรับชม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: