Im Lauf der Zeit (1976)
: Wim Wenders ♥♥♥♥
Kings of the Road แม้เป็นการเดินทางที่ไร้เป้าหมาย แต่พวกเขาทั้งสองต่างใช้โอกาสนี้ พยายามหลบหลีกหนีจากปัญหาให้ไกล แต่สุดท้ายก็ไปไหนไม่พ้น หวนกลับมาตายรังยังจุดเริ่มต้นแห่งชีวิต
หลายคนอาจล่วงรู้จักบทเพลง King of the Road (1964) แนว Country แต่ง/ขับร้องโดย Roger Miller เนื้อหาเกี่ยวกับชายเร่ร่อน พเนจรจัด แม้ยากจนค้นแค้น บุคคลไร้คุณค่าความหมาย ‘man of means by no means’ แต่ชีวิตเอ่อล้นด้วยอิสรภาพ เรียกตนเองว่า ‘King of the Road’
เกร็ด 1: Miller ได้แรงบันดาลใจบทเพลงนี้ระหว่างขับรถ พบเห็นป้ายข้างทางเขียนว่า ‘Trailers for sale or rent’ นั่นกลายเป็นคำร้องท่อนแรกโดยทันที
เกร็ด 2: เพลงนี้ไต่สูงสุดอันดับ 1 ชาร์ท US Country, และอันดับ 4 ชาร์ท Billboard Hot 100
หลายคนอาจครุ่นคิดเข้าใจว่า King of the Road สื่อถึงรถบรรทุก เพราะมีขนาดใหญ่ ชอบยืดครองพื้นที่ถนน ขับฉวัดเฉวียนกินเลนคันอื่น เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจไม่ต่างจากพระราชา! … คือก็ไม่ผิดอะไรนะครับ ทีแรกผมเองมโนไปแบบนั้นเช่นกัน แต่พอมานั่งฟังเนื้อร้องบทเพลงนี้จริงจัง ค่อยรับรู้ว่าเป็นการเปรียบเทียบถึงบุคคล วันๆเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน ดื่มด่ำอิสรภาพ อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่มีเป้าหมายปลายทางใดๆ และไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยนแปลงมุมมองทัศนคติพวกเขาได้ นั่นต่างหากคือมหาบุรุษแห่งชีวิต กษัตริย์ผู้สามารถปกครองตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ภาพยนตร์ Kings of the Road (1976) นำเสนอเรื่องราวการเดินทางของสองผู้ได้รับฉายา King of the Road กับ Kamikaze พระราชาแห่งท้องถนนที่ไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนแปลงจิตใจเขาได้ กับชายผู้เป็นดั่งสายลมสลาตัน พัดมาแล้วก็พัดไป เริ่มต้นต้องการฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ ล่องลอยไปเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อครุ่นคิดขึ้นได้จึงสลายทิฐิ หวนกลับสู่จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง
เกร็ด: Kamikaze เป็นคำภาษาญี่ปุ่น มาจาก Kami หมายถึง พระเจ้า และ Kaze หมายถึง สายลม รวมกันมีความหมาย ลมแห่งสวรรค์/พายุเทพเจ้า (Divine wind), ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอากาศญี่ปุ่นนำมาตั้งชื่อกองบิน Kamikaze กองกำลังจู่โจมพิเศษ ซึ่งมักจะจู่โจมตีแบบพลีชีพ (Suicide Attack)
รับชมหนังของ Wim Wenders สร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าให้ผมอย่างมาก ถึงจะไม่เชื่องช้าระดับ Andrei Tarskovski, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ Béla Tarr แต่อาจทำให้คุณหลับสนิทปลุกไม่ตื่น แนะนำว่าก่อนรับชมควรตระเตรียมกายใจไว้ให้พร้อม สมองโล่งปลอดโปร่ง หาน้ำหรือป๊อปคอร์นขบเคี้ยวเผื่อไว้ด้วยก็ดี เรื่องนี้ความยาว 175 นาที สู้ตาย!
Ernst Wilhelm ‘Wim’ Wenders (เกิดปี 1945) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Düsseldorf ในครอบครัวเคร่งคาทอลิก เติบโตเรียนมัธยมที่เมือง Ruhr พ่อประกอบอาชีพศัลยแพทย์ทำให้โตขึ้นเลือกเรียนหมอ ตามด้วยปรัชญา แต่ไม่ชอบทั้งคู่เลยลาออกมุ่งสู่ Paris ตั้งใจเป็นจิตรกรแต่สอบไม่ผ่าน IDHEC ทำงานนักแกะสลักในสตูดิโอของ Johny Friedlander ค่อยๆเกิดความสนใจหลงใหลสื่อประเภทนี้ กลับเยอรมันสมัครเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์ Hochschule für Fernsehen und Film München (University of Television and Film Munich) เป็นครั้งแรกตั้งใจจริงจังจนสามารถสำเร็จการศึกษา! ระหว่างนั้นได้งานวิจารณ์ให้กับหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung, นิตยสาร Twen, Der Spiegel หลังจากสร้างหนังสั้นหลายเรื่อง ผลงานขนาดยาวเรื่องแรก Summer in the City (1970), และค้นพบตนเองกับ Alice in den Städten (1974)
เกร็ด: แม้มิใช่ความตั้งใจของ Wenders ให้เป็นไตรภาค แต่นักวิจารณ์ Richard Roud ให้ข้อสังเกตความคล้ายคลึง และตั้งชื่อ ‘Road Movie Trilogy’ ประกอบด้วย
– Alice in the Cities (1974)
– The Wrong Move (1975)
– Kings of the Road (1976)
สำหรับ Kings of the Road ถือกำเนิดขึ้นในจินตนาการของผู้กำกับ Wenders มีเพียงบทร่าง 1 หน้ากระดาษ สำหรับถ่ายทำฉากอารัมบท นำเสนอต่อโปรดิวเซอร์ของบประมาณเท่านั้น ที่เหลือจากนั้นให้เป็นโชคชะตาของสองนักแสดงนำ Rüdiger Vogler, Hanns Zischler
ช่างซ่อมเครื่องฉายภาพยนตร์ Bruno Winter (รับบทโดย Rüdiger Vogler) พบเจอกับ Robert Lander (รับบทโดย Hanns Zischler) ผู้ซึ่งอยู่ดีๆซิ่งรถ Volkswagen Beetle ลงแม่น้ำ Elbe เหมือนตั้งใจจะฆ่าตัวตาย แต่กลับดิ้นรนเอาตัวรอดขึ้นฝั่ง เลยอาสาให้ความช่วยเหลือ นำพาออกเดินทางไปด้วยบนรถบรรทุก เลียบชายแดน East-West German เพื่อช่วยเหลือโรงหนังเก่าๆใกล้พังให้กลับมามีชีวิตใหม่
นำแสดงโดย Rüdiger Vogler (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Biberach โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Heidelberg กลายเป็นนักแสดงละครเวที Theater am Turm ณ Frankfurt am Main กระทั่งมีโอกาสแสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Goalkeeper’s Fear of the Penalty (1972) จนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ Wim Wenders
รับบท Bruno Winter หรือ King of the Road ชายผู้ชื่นชอบชีวิตสันโดษเดี่ยว อาศัยอยู่กินหลับนอนบนท้องถนน ในรถบรรทุกที่ซื้อมาเมื่อสองปีก่อน ออกเดินทางลัดเลาะตะเข็บชายแดนไปตามเมืองต่าง ซ่อมเครื่องฉายภาพยนตร์เก่าๆให้หวนกลับมาใช้งานอีกครั้ง ลึกๆก็อยากครองคู่ตกหลุมรักหญิงสาว แต่ก็มิอาจทอดทิ้งอิสรภาพแห่งชีวิตนี้ไปได้
การให้ความช่วยเหลือ Robert Lander เพราะความสงสารเห็นใจ ไม่ได้ต้องการมิตรภาพไมตรี หรืออยากล่วงรับรู้อดีตเบื้องหลัง ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร คาดหวังให้เขาใช้เวลาระหว่างการเดินทาง เรียนรู้จักตนเอง คุณค่าชีวิต สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาร้ายๆ อารมณ์สิ้นหวังหดหู่ไปได้
โดยปกติแล้วหนังแนว Road Movie มักทำให้สองตัวละครหลักที่แตกต่างขั้วตรงข้าม สามารถปรับจูนเข้าหาตรงกึ่งกลางพอดิบพอดี แต่สำหรับ Bruno Winter นอกจากภาพลักษณ์จากล่อนจ้อน ค่อยๆมีเสื้อผ้าใส่ โกนหนวดสำเร็จ ดูเป็นผู้เป็นคนขึ้น แต่ภายในของเขามิได้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงใดๆ ตกหลุมรักอิสรภาพ ไม่คิดทอดทิ้งความตั้งใจเดิม … นี่แหละคือสาเหตุผลชื่อฉายา King of the Road
ภาพลักษณ์ Hobo ของ Vogler ทำให้ตัวละครมีความดิบ เถื่อน หยาบกระด้าง -เหมือนกระยาจกมากกว่าพระราชา- โดดเด่นในการใช้ภาษากายสื่อสารมากกว่าคำพูดสนทนา มองตารู้ใจ อ่อนนอกแข็งใน ไม่แสดงความอ่อนไหวออกมาให้ใครพบเห็นโดยง่าย
เกร็ด: Vogler ไม่เพียงสอบใบขับขี่รถบรรทุก ยังเรียนซ่อมแซมเครื่องฉายหนังจนมีความเชี่ยวชำนาญ เก่งจริงไม่ได้โม้
Christoph Johann ‘Hanns’ Zischler (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Nuremberg หลังจากแม่เสีย พ่อส่งเข้าโรงเรียนประจำที่ Ingolstadt สนใจบทเพลงกับปรัชญา จบมหาวิทยาลัยเคยเป็นครูสอนหนังสือ นักแปลภาษาฝรั่งเศส เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครเวที แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Summer in the City (1970) ของผู้กำกับ Wim Wenders ทีแรกไม่คิดจริงจังแต่หลังจาก Kings of the Road (1976) แจ้งเกิดโด่งดัง โกอินเตอร์ สมทบ Europa Europa (1989), Ripley’s Game (2002), Munich (2005) ฯ
รับบท Robert Lander อกหักแฟนทิ้งเลยคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่กลับปอดแหก! ได้รับการช่วยเหลือจาก Bruno Winter พบเห็นวิถีอันเรียบง่าย ระหว่างเดินทางเรียนรู้จักผู้คน บ้างตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายกว่าตนเองเสียอีก ค่อยๆเริ่มตระหนักเข้าใจตนเอง ตัดสินใจเผชิญหน้ากับพ่อ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ถึงเวลาแยกจาก สามารถลุกขึ้นก้าวเดินด้วยลำแข้งได้เองแล้ว
จากเคยรวดร้าวระทมทุกข์ เมื่อพบเห็น Bruno Winter บุคคลผู้มีความตกต่ำต้อยกว่าตนเอง เกิดความใคร่พิศวงสงสัยในตัวตน เพราะอะไร? ทำไม? ถึงเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ก็ไม่เคยพูดซักถาม เฝ้าเรียนรู้สังเกตการณ์ พบปะผู้คน จนกลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ กล้าทำบางสิ่ง และที่สุดคือพร้อมเผชิญหน้าปัญหาด้วยตนเอง
ใบหน้าของ Zischler มีความซีดเผือก เหือดแห้ง หมดสิ้นหวังอาลัย ราวกับตายทั้งเป็น แม้ทั้งเรื่องไม่เคยพบเห็นรอยยิ้ม แต่จิตใจจะค่อยๆชุ่มฉ่ำ สีหน้ามีความสดชื่นขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือภาษากายที่ถ่ายทอดออกมาผ่านดวงตา ท่วงท่าทาง และกำลังวังชา … ชกต่อยทะเลาะวิวาทช่วงท้าย นั่นแปลว่าปีกกล้าขาแข็งพอจะเอาตัวรอดเองได้แล้ว
ถ่ายภาพโดย Robby Müller (1940 – 2018) ตากล้องสัญชาติ Dutch ขาประจำของผู้กำกับ Wim Wenders และ Jim Jarmusch ผลงานเด่นๆ อาทิ Alice in the Cities (1974), Kings of the Road (1976), Paris, Texas (1984), Down by Law (1986), Korczak (1990), Dead Man (1995), Breaking the Waves (1996) ฯ
แม้ผลงานก่อนหน้า The Wrong Move (1975) จะถ่ายทำด้วยฟีล์มสี แต่เรื่องนี้ Wenders และ Müller ตัดสินใจย้อนกลับไปใช้ฟีล์มขาว-ดำ ด้วยกล้อง Arriflex BL 35mm ที่โหยหาต้องการมาตั้งแต่ Alice in the Cities (1974)
“[Black-White is] much more realistic and natural than color”.
ถึงกระนั้นด้วยขนาดภาพบังคับของสตูดิโอคือ 4:3 (สำหรับฉายโทรทัศน์ได้ด้วย) แต่ก็ตระเตรียมวางแผนเผื่อไว้อนาคต ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเมื่อไหร่ ตัดขอบบนล่างออกกลายเป็น Widescreen 16:9 ได้โดยทันที
หนังถ่ายทำไล่เลียงตามลำดับเหตุการณ์ (Chronological Order) เริ่มต้นจาก Lüneberger Heide เลียบตะเข็บรอยต่อ East-West Germany มุ่งสู่ตอนใต้ระยะทาง 340 ไมล์สิ้นสุดเมือง Hof ใกล้ๆ Bavaria** ใช้ระยะเวลา 4 เดือนเต็ม กรกฏาคม-ตุลาคม 1975
เกร็ด: Bavaria ถือว่าเป็นบ้านเกิดของ New German Cinema และสถานที่จัดเทศกาลหนัง Hofer Filmtage
ใครเคยรับชม Out of the Past (1947) โคตรหนังนัวร์นำแสดงโดย Robert Mitchum น่าจะคุ้นเคยกับลีลารถเลี้ยวโค้งเข้าจอดยังปั๊มน้ำมัน ซึ่งกลางๆเรื่องจะพบเห็นภาพใบหน้า Mitchum ติดอยู่ในรถบรรทุกของ Bruno Winter
หลายๆช็อตของหนังนำเสนอความแตกต่าง แบ่งแยกซ้าย-ขวา ระหว่าง Bruno Winter กับ Robert Lander พวกเขาคือสองขั้วตรงข้ามตามสูตรสำเร็จของ Road Movie แต่ก็มีบางสิ่งเฉพาะตัวแตกต่างหลบซ่อนเร้นอยู่ด้วย
ช็อตลักษณะนี้มักเป็นการใช้รถลากขับนำหน้า ซึ่งทำให้นักแสดงไม่ต้องขับรถจริงๆ (แต่ Vogler มีใบขับขี่รถบรรทุกด้วยนะ ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาสักเท่าไหร่)
อีกไฮไลท์ของการถ่ายช็อตลักษณะนี้ คือภาพสะท้อนทิวทัศน์สองข้างทางบนกระจก ผมไม่ได้ครุ่นคิดตามว่าหนังแฝงนัยยะอะไรไว้บ้างหรือเปล่า แต่บางเรื่องซ่อนเร้นความหมายลุ่มลึกซึ้งมากๆ
ว่าด้วยเรื่องการโกนหนวด วิวัฒนาการเสื้อผ้าของ Bruno Winter จากล่อนจ้อน สวมเอี๊ยมยีนส์ โค้ทคลุม พอมีนัดสาวก็ใส่เสื้อเชิ้ต มีความเป็นผู้เป็นคนขึ้นเรื่อยๆ
ปกติแล้วการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ หนวดเครา/ทรงผม/เสื้อผ้า มักสะท้อนถึงตัวตนภายในที่มีปรับเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ในบริบทของ Bruno Winter ความคิดอ่านตั้งใจ ภายในยังคงเหมือนเดิม คงเป็นการสื่อถึงอิทธิพลภายนอก วิวัฒนาการโลก ไม่สามารถควบคุมครอบงำอะไรเขาได้
ละครเงาของ Bruno Winter และ Robert Lander ราวกับเพื่อเคารพคารวะ ย้อนรอยยุคสมัยหนังเงียบของวงการภาพยนตร์ที่หมดความนิยมสิ้นสูญไปนานแล้ว และเป็นการสะท้อน เงาชีวิต=ภาพยนตร์ เบื้องหน้าเบื้องหลังไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แค่ว่าภาพที่ปรากฎ สามารถให้ความบันเทิงเริงรมณ์แก้ผู้ชมก็เพียงพอแล้ว
การเดินทางของ Bruno Winter กับ Robert Lander ประสบพบเจอผู้คนมากมาย ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน ไม่พึงพอใจกับชีวิตเป็นอยู่
สถานที่พบเจอชายผู้ภรรยาขับรถชนต้นไม้เสียชีวิต คือโรงสีข้าว เกษตรกรรม แฝงนัยยะลึกๆว่าอาชีพนี้กำลังจะหมดสิ้นสูญ/ตายจากไปใน West German เพราะการมาถึงของอุตสาหกรรมแปรรูปแบบใหม่
หนึ่งในช็อตงดงามมากๆของหนัง ตำแหน่งที่ Robert Lander ยืนอยู่ น่าจะคือสถานที่ลำเลียงส่งของขึ้นรถบรรทุก แต่ขณะนั้นมันว่างเปล่า สูงแต่หนาว ไม่มีอะไรรองรับถ้าตกลงมา … นี่ประเทศของเราจะก้าวไปข้างหน้า โดยทอดทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังได้จริงๆนะหรือ
การพบเจอกันของ Bruno Winter กับ Pauline (รับบทโดย Lisa Kreuzer) ในสวนสนุกรถบั๊ม ที่สามารถขับชนไปชนมา สะเปะสะปะ เอาแน่เอานอนไม่ได้
ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่านั่นรูปปั้นใคร แต่การจุดเทียนบนศีรษะ อาจสื่อถึงความหวังอันสูงส่ง … แต่นั่นก็เป็นสิ่งหลอกลวง เพราะ Bruno ไม่ใช่ผู้ดูแลรถบั๊มแห่งนี้ เขาแค่หยอกล้อกลั่นแกล้งเธอเล่นเท่านั้นเอง
จากแค่เกี้ยมยีนส์ช็อตด้านบน นัดเดทสาวฉากนี้จัดเต็มยศ เสื้อเชิ้ตพร้อมเสื้อกั๊ก … แต่มีแย่งซีนคือผู้กำกับ Wim Wenders มารับเชิญ Cameo ช็อตนี้ด้วย สังเกตเห็นกันหรือเปล่าเอ่ย??
การเผชิญหน้ากับพ่อของ Robert Lander เพื่อให้เขายินยอมความผิดที่เคยกระทำอะไรแย่ๆไว้กับแม่ นั่นเป็นสิ่งย้อนแย้งเข้าหาตัวเขาที่เพิ่งเลิกร้างราภรรยา ถือว่าใช้บุคคลอื่นเป็นกันชนชั่วคราว เพื่อให้ตนเองสามารถก้าวข้ามผ่านความรู้สึกแย่ๆ ทุกข์ทรมานอัดแน่นเต็มอก … แต่นั่นยังไม่ใช่การเผชิญหน้าแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เป็นความพยายามเบี่ยงเบน อ้อมโลก โบ้ยป้ายสีความผิดให้ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การเดินทางจึงยังดำเนินต่อไป
ทั้ง Bruno & Robert ต่างมีช่วงเวลาในหนังที่หวนกลับบ้านเก่า ย้อนสู่จุดเริ่มต้นของชีวิต ขับรถมอไซด์เสริมข้าง ลงเรือลำเดียวกันข้ามฝั่ง เพื่อให้ค้นพบตนเอง ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาชีวิต แล้วออกเดินทางต่อไปตามความเชื่ออุดมการณ์ตนเอง
– สำหรับ Robert ได้พบเจอพ่อ ที่แม้ยังขุ่นเคืองขัดแย้ง แต่ต้องถือว่าทุกสิ่งอย่างในตัวเขาล้วนรับอิทธิพล ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’
– ขณะที่ Bruno ไม่พบเจอใครในบ้าน แต่ถึงกระนั้นกระเทาะบันไดขั้นล่างสุดออก หลบซ่อนสิ้งของสะสมวัยเด็ก หวนระลึกถึงความทรงจำวันวาน เกิดรอยยิ้มแย้ม พึงพอใจในตนเอง
หลังจากพานผ่านอะไรมามาก ช็อตนี้นำเสนอ Robert Lander ชูมือสองข้าวราวกับกำลังได้รับชัยชนะ อิสรภาพ กล่าวคือสามารถก้าวข้ามผ่านความทุกข์ยากทางใจ พร้อมแล้วจะเผชิญหน้าแก้ปัญหา ใกล้จะเริ่มต้นออกเดินทางใหม่ของตนเอง ร่ำลาจาก Bruno Winter ได้เสียที
ความขัดแย้งของสองหนุ่ม เกิดขึ้นท่ามกลางแสงเทียนคนละเล่ม (สััญลักษณ์ของจิตวิญญาณ) ซึ่งต่างพูดถ้อยความแทงใจดำกันและกัน เป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท ชกต่อยตี เลยจำต้องแยกทาง ถึงจุดสิ้นสุดมิตรภาพระหว่างกัน
จุดตัดทางแยกระหว่างรถบรรทุกกับรถไฟ สื่อถึงการร่ำลาจากระหว่างสองขั้วบุคคล ความคิด ทัศนคติ มุมมองการเมือง และประเทศชาติ ต่อจากนี้ก็ทางใครทางมัน ทำเรื่องของตนเองให้ดีที่สุดเป็นพอ
ช็อตสุดท้ายของหนังเผื่อใครไม่ทันสังเกต ป้ายไฟทางฝั่งขวามือ คำที่ยังสว่างอยู่คืือ END
เกร็ด: คำว่า Weisse Wand ภาษาเยอรมันแปลว่า White Wall, กำแพงสีขาว ในบริบทนี้คือชื่อโรงหนัง แต่ไม่แน่ใจจะสื่อถึงกำแพงเบอร์ลิน หรือจุดสิ้นสุดของวงการภาพยนตร์กันแน่
ตัดต่อโดย Peter Przygodda (1941 – 2001) ผู้กำกับ/นักตัดต่อ สัญชาติ German ขาประจำของผู้กำกับ Wim Wenders, ด้วยฟุตเทจจำนวนมหาศาล ความยาวถึง 161,000 ฟุต (49,000 เมตร) ฉบับสุดท้ายของหนัง 175 นาที ความยาว 15,620 ฟุต (4,760 เมตร)
หนังดำเนินเรื่องผ่านสองตัวละคร Bruno Winter และ Robert Lander เมื่อพวกเขาไม่ได้ออกเดินทางร่วมกัน จะมีการตัดสลับไปมา สะท้อนการกระทำที่แม้ไม่เหมือนเปะๆ แต่สื่อความคล้ายคลึง-คู่ขนาน-ตรงกันข้าม อาทิ
– เริ่มต้นพบเจอ Bruno Winter จอดรถเฉยๆ กำลังเตรียมโกนหนวดเครา, Robert Lander ขับรถซิ่ง อยากจะต้องการฆ่าตัวตาย
– กลางเรื่อง Bruno Winter ซ่อมแซมโปรเจคเตอร์ฉายหนัง, Robert Lander ซ่อมแซมจัดเรื่องเครื่องพิมพ์หนังสือพิมพ์
– ช่างท้ายแยกจาก Bruno Winter ขับรถบรรทุก, Robert Lander นั่งเฉยๆบนรถไฟกำลังเคลื่อนไป
ไดเรคชั่นการเล่าเรื่อง จะไม่เร่งรีบร้อนเปิดเผยรายละเอียด พื้นหลังตัวละคร หรือแม้แต่ภายในรถบรรทุกมีอะไรบ้าง ให้เวลาอารัมบทค่อยเป็นค่อยไป อธิบายสิ่งต่างๆทีละเล็กละน้อย ผู้ชมต้องประติดประต่อเรื่องราวส่วนต่างๆด้วยความเข้าใจตนเอง
จุดประสงค์ของความเชื่องช้า เมื่อผู้ชมรู้สึกว่าอะไรๆมันเนิ่นยาวนาน โดยไม่รู้ตัวจะซึมซับสัมพันธ์ภาพตัวละคร ตระหนักถึงความแนบแน่นชิดเชื้อ หรืออารมณ์เหน็ดเหนื่อยหน่ายแห่งชีวิต เข้าถึงจิตวิญญาณพวกเขา ราวกับสัมผัสได้ด้วยตนเอง
เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น องก์
– อารัมบท ก่อนขึ้นเครดิต, Bruno Winter ซ่อมแซมเครื่องฉายภาพยนตร์ สนทนากับชายสูงวัยที่กำลังหวนระลึกถึงยุคหนังเงียบ
– องก์หนึ่ง, พบเจอกันระหว่าง Bruno Winter กับ Robert Lander จบที่ทั้งคู่แนะนำตัวเอง
– องก์สอง, เรียนรู้จักวิถีชีวิตของ Bruno Winter ซ่อมแซมเครื่องฉาย เล่นละครใบ้
– องก์สาม, เรื่องราวของชายผู้สูญเสียภรรยาจากการขับรถชนต้นไม้
– องก์สี่, Bruno Winter เกี้ยวพาราสี Pauline ขณะที่ Robert Lander เดินทางไปหาพ่อ
– องก์ห้า, ณ Rhine หยิบยืมมอเตอร์ไซด์ของ Paul ขับถึงแม่น้ำ พายเรือข้ามไปบ้านของ Bruno Winter
– องก์หก, เลาะเลียบตะเข็บชายแดน มาจนถึงบ้านร้างหลบภัย
– องก์เจ็ด, สองหนุ่มถึงเวลาแยกจากลา
– ปัจฉิมบท, Bruno Winter ซ่อมเครื่องฉายภาพยนตร์ สนทนากับหญิงสูงวัย บ่นอุบว่าไม่อยากปิดกิจการ แต่ให้ฉายหนังติดเรตคงไม่เอา
เพลงประกอบโดย Axel Linstädt แห่งวง Improved Sound Limited แนว Krautrock (เป็นประเภท Experimental Rock ของประเทศเยอรมัน รับอิทธิพลจาก Psychedelic, Electronic, Funk, Jazz ฯ) เริ่มต้นด้วยกีตาร์โปร่งมอบสัมผัสของการเดินทาง ท่อนฮุคมักใช้ Alto Saxophone กลิ่นอาย Jazz ถ่ายทอดอิสรภาพแห่งจิตวิญญาณ โบยบิน ล่องลอย สู่โลกกว้างใหญ่
Closing Credit ชื่อ Nine Feet Over the Tarmac แต่งทำนองโดย Axel Linstädt คำร้องโดย Bernd Linstädt ขับร้องโดย Johnny Fickert แห่งวง Improved Sound Limited
สำหรับ Diegetic Music มักดังจากแผ่นเสียง เครื่องเล่น นอกเหนือยจาก King of the Road ที่กล่าวไปแล้ว ยังมี
– Just Like Eddie (1963) แต่งโดย Geoff Goddard ขับร้องโดย Heinz Burt
– The More I See You (1945) แต่งโดย Mack Gordon, Harry Warren ขับร้องโดย Chris Montez,
– So Long (1966) แต่ง/ขับร้องโดย Crispian St. Peters
ฯลฯ
Im Lauf der Zeit ชื่อหนังภาษาเยอรมัน แปลว่า in the course of time, เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องพานพบเจอเรื่องทุกข์โศกเศร้า เจ็บปวดรวดร้าว จนอาจครุ่นคิดสั้นต้องการฆ่าตัวตาย แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า เมื่อเราพานผ่านค่ำคืนร้ายๆนั้นมา ใช้เวลาอีกไม่นานเท่าไหร่หรอก ย่อมสามารถทำใจยินยอมรับมันได้
เรื่องราวของ Robert Lander ก็เฉกเช่นกัน พานผ่านอดีตที่น่าผิดหวังจนคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่สันชาตญาณชักนำพาให้เอาตัวรอดมาได้ ออกเดินทางร่วมกับ Bruno Winter แค่เสี้ยวเวลาหนึ่ง ‘Im Lauf der Zeit’ ไม่นานนักก็สามารถทำใจยินยอมรับทุกสิ่งอย่างได้เสียที
สำหรับ Bruno Winter การเดินทางของเขาแม้ไร้จุดหมายปลายทาง แต่มันคือความรักต่ออิสรภาพ สุขในงานที่ทำ พึงพอใจทุกสิ่งมี แค่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิต ไม่ต้องการอะไรอื่นมากเกิน
ในมุมชาวตะวันตก พฤติกรรมของ Bruno Winter ถือว่าเสียชาติเกิด มีชีวิตทั้งทีควรใช้ให้คุ้ม สนองตัณหาความต้องการ ไต่เต้าให้ถึงขีดสุด!, แต่สำหรับชาวตะวันออก นั่นคืออุดมคติแห่งความพอเพียง ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวาย สุขทางใจล้ำค่ายิ่งกว่าสำราญกาย
ผู้กำกับ Wim Wenders เพราะเคยร่ำเรียนปรัชญา แม้มิได้ชื่นชอบแต่ก็ได้ซึมซับ ซาบซึ้งแนวคิด ทัศนคติ และค้นพบตัวตนเอง สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการเดินทาง เพื่อออกค้นหาเป้าหมายชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างสรรค์สองตัวละครที่สามารถเทียบแทนด้วย ปรัชญาตะวันออก-ตก
– Bruno Winter ตัวแทนแนวคิดปรัชญาตะวันออก รักอิสรภาพ ความพอเพียงในชีวิต ยินยอมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกตามยุคสมัย แต่มิใช่จิตวิญญาณภายใน มิมีใครสามารถสั่นคลอนอุดมคตินั้นลงได้
– Robert Lander ตัวแทนแนวคิดปรัชญาตะวันตก ผู้ยังลุ่มหลงใหลในกิเลส ตัณหา ราคะ ตัดไม่ได้แม้มีปัญหากับภรรยา แต่ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว จนสามารถทำใจยินยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าปัญหาด้วยตนเอง
ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ สะท้อนค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวเยอรมันยุคสมัยนั้น เพราะการมาถึงของสื่อใหม่โทรทัศน์ ทำให้โรงหนังเล็กๆตามชนบทต่างทะยอยปิดตัว เลิกกิจการ แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว บางแห่งยังอยู่ได้เพราะฉายหนังติดเรตโป๊เปลือย จับกลุ่มผู้ชมเฉพาะทาง … ถือเป็นจุดตกต่ำ/ยุคมืดมิดของวงการภาพยนตร์เยอรมันโดยแท้!
ประเด็นการเมืองที่แม้ไม่โดดเด่นชัดนัก แต่พื้นหลังสถานที่ถ่ายทำ เส้นทางริมตะเข็บชายแดน East-West Germany เส้นแบ่งคอมมิวนิสต์-ประชาธิปไตย สหภาพโซเวียต-สหรัฐอเมริกา นั่นเป็นบริเวณที่สองฟากฝั่ง สองตัวละครซ้าย-ขวา จะสามารถพบเจอ ร่วมออกเดินทาง ประสานรอยร้าว หรือแตกแยกชั่วนิรันดร์
และความที่ West Germany ฝักใฝ่ประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา ซึ่งสถานที่ค่ำคืนสุดท้ายของสองตัวละคร บ้านพักหลังหนึ่ง พบเห็นข้อความภาษาอังกฤษ ดื่มเหล้า Jack Daniel พูดประโยคอมตะ
“The Yanks have colonized our subconscious!”
การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ ไม่มีทางที่ใครสามารถเอาตัวรอดด้วยการว่ายเวียนวนอยู่กับที่ ทุกอย่างต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง! นั่นถือว่าเป็นสิ่งทำให้ปรัชญาตะวันออกสั่นคลอนรุนแรง เพราะชาวตะวันตกพยายามสร้างค่านิยม ครอบงำความคิด ปลูกฝังลึกลงไปถึงสำนึก จิตวิญญาณ โดยหารู้ตัวไม่ พวกเรากลายเป็นทาสทุนนิยม หลงใหลวัตถุ สิ่งของ เงินตรา อำนาจ ลาภยศ ชื่อเสียง ความสำเร็จ จนหลงลืมไปว่า ความสุขแท้จริงคืออะไร?
มนุษย์เกิดมาทำไม? เป้าหมายชีวิตคืออะไร? ตายแล้วไปไหน? ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบอะไรไว้ แต่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิด สังเกตพฤติกรรมตัวละคร ใครกันแน่มีความสุขกับตนเองมากกว่า ชีวิตแบบไหนที่เราขวนไขว่คว้า ไม่แน่ว่าอาจทำให้คุณค้นพบคำตอบปริศนาธรรมเหล่านี้ก็เป็นได้
หนังใช้ทุนสร้าง DM 730,800 เท่ากับ $315,000 ล้านเหรียญ โดยส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงมหาดไทย (Federal Ministry of the Interior) จำนวน DM 250,000
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้พลาด Palme d’Or แต่คว้ารางวัล FIPRESCI Prize ได้รับยกย่องสรรเสริญโดยนักวิจารณ์อย่างเอกฉันท์
ส่วนตัวแม้จะหลับไปสองตื่น แต่ก็ชื่นชอบหนังอย่างมาก คลั่งไคล้การมาถึงของ Lisa Kreuzer ใบหน้าเศร้าๆหมดอาลัยของเธอ สะท้อนทุกสิ่งอย่างของเรื่องราวนี้เลยละ
เหตุผลจริงๆคือ ตัวผมเองก็มีลักษณะไม่แตกต่างจาก ‘King of the Road’ ตกหลุมรักอิสรภาพ อยากที่จะครองคู่หญิงสาว แต่ก็มิอาจทอดทิ้งความสันโดษนี้ลงได้ … มันช่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจริงๆ
แนะนำคอหนัง Road Movie ชื่นชอบการเดินทาง แฝงปรัชญา ตั้งคำถามชีวิต, ถ่ายภาพสวยๆตะเข็บพรมแดน East-West Germany, และแฟนๆผู้กำกับ Wim Wender ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ภาพโป๊เปลือย บรรยากาศตึงเครียดหดหู่ การฆ่าตัวตาย
Leave a Reply