In a Lonely Place

In a Lonely Place (1950) hollywood : Nicholas Ray ♥♥♥♥♡

Humphrey Bogart ในบทบาทใกล้เคียงกับตัวจริงมากที่สุด! แสดงเป็นนักเขียนขี้เมา เลือดร้อน ชอบใช้ความรุนแรง จับพลัดพลูพัวพันคดีฆาตกรรม พร้อมๆตกหลุมรัก Gloria Grahame ไม่นานนักเธอเริ่มเกิดความหวาดระแวง ครุ่นคิดว่าเขาอาจคือฆาตกรตัวจริง และเมื่ออยู่ดีๆถูกขอแต่งงาน … หนังนัวร์ที่จะทำผู้ชมจิตใจแตกสลาย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นิตยสารออนไลน์ Paste Magazine ให้คำนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

“One of the great noirs of all time and one of the great feel-bad movies of all time”.

สิ่งเกิดขึ้นในช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนัง ถึงจะไม่ใช่เหตุการณ์โศกนาฎกรรมแบบ Romeo & Juliet แต่มีความรุนแรงระดับล้างผลาญ มอดไหม้วอดวาย ‘ตายทั้งเป็น’ ไม่ต่างจากอารมณ์ตอนจบของ Burning (2018) [เนื้อเรื่องราวไม่ได้เหมือนกัน แต่สัมผัสทางอารมณ์ตอนจบผมว่าคล้ายคลึงมากๆ]

ผมเองตั้งแต่พอเริ่มจับทิศทางของเรื่องราวได้ เกิดอาการอกสั่นขวัญผวา หวาดหวั่นกลัวว่าตอนจบมันจะลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม ตระเตรียมกายใจไว้พร้อมแต่กลับผิดคาดคิดไม่ถึง เห้ย! จบแบบนี้รวดร้าวรุนแรงยิ่งกว่ามีคนตายเสียอีกนะ

Nicholas Ray ชื่อจริง Raymond Nicholas Kienzle (1911-1979) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wisconsin ในบริเวณที่เต็มไปด้วยเด็กเกเร เที่ยวกลางคืน ซิ่งรถ ติดเหล้าเมายา ซึ่งเด็กชายก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนักท่องรัตติกาล ‘Nightlife’ แห่งยุค Al Capone, Ray เป็นเด็กเรียนไม่เก่ง แต่มีความสามารถด้านการพูดในที่สาธารณะ ถึงขนาดได้ทุนเลือกเข้าเรียนที่ไหนก็จบได้ ชื่นชอบการแสดง ได้งานที่ Federal Theater Project รู้จักกับ Elia Kazan, Orson Welles, Burt Lancaster, Joseph Cotten, Sidney Lumet ฯ ด้วยวิสัยทัศน์อันโดดเด่นไม่นานก็ได้กำกับ Broadway เรื่องแรก(และเรื่องเดียว) Beggar’s Holiday (1946) ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก They Live by Night (1948) ผลงานอื่นที่มีชื่อเสียง อาทิ In a Lonely Place (1950), Johnny Guitar (1954), Rebel Without a Cause (1955), Bigger Than Life (1956), King of Kings (1961) ฯ

ผลงานของ Ray จัดว่ามีอิทธิพลต่อ French New Wave เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard เคยเขียนชื่นชมไว้ว่า ‘ภาพยนตร์คือ Nicholas Ray’

“There was theatre (Griffith), poetry (Murnau), painting (Rossellini), dance (Eisenstein), music (Renoir). Henceforth there is cinema. And the cinema is Nicholas Ray.”

ต้นฉบับของ In a Lonely Place (1947) คือนวนิยายแนวลึกลับ แต่งโดย Dorothy B. Hughes (1904 – 1993) นักเขียน/นักข่าวหญิง สัญชาติอเมริกัน เธอมีผลงานสามเรื่องได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
– The Fallen Sparrow (1943) นำแสดงโดย John Garfield
– Ride the Pink Horse (1947) กำกับ/นำแสดงโดย Robert Montgomery
– และ In a Lonely Place (1950)

เรื่องราวของ Dixon Steele อดีตทหารอากาศ (Airman) หลังปลดประจำการจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักสืบ Brub ในการค้นหาตัวฆาตกรต่อเนื่อง … ซึ่งแท้จริงแล้ว Dix เองนั่นแหละที่คือฆาตกรโรคจิต

Edmund H. North (The Day the Earth Stood Still, Patton) รับหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์ด้วยความซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยายมากๆ แต่กลับไม่ถูกใจโปรดิวเซอร์ Robert Lord และผู้กำกับ Ray เลยมอบหมายให้ Andrew Solt ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นมากมาย จนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมนอกจากชื่อตัวละครและพื้นหลัง

Dixon ‘Dix’ Steele (รับบทโดย Humphrey Bogart) นักเขียนบทภาพยนตร์ที่อยู่ในช่วงตกต่ำขาหลัง ไม่มีผลงานประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ช่วงสงคราม นัดพบเจอผู้จัดการส่วนตัว Mel Lippman (รับบท Art Smith) ที่ผับบาร์ร้านประจำ แนะนำให้ดัดแปลงนวนิยายเล่มหนึ่ง ตัวเขาแม้มิได้ใคร่สนใจนัก แต่ก็ได้ชักชวน Mildred Atkinson (รับบทโดย Martha Stewart) ที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ให้ไปที่ห้องแล้วพูดเล่าสรุปเนื้อหาโดยย่อ … เช้าวันถัดมาเพื่อนเก่าก่อน Brub Nicolai (รับบทโดย Frank Lovejoy) มาเคาะยังประตูห้อง แจ้งข่าวว่า Mildred ถูกฆาตกรรม นั่นทำให้ Dixon กลายเป็นผู้ต้องสงสัยโดยทันที

ที่อพาร์ทเม้นท์ของ Dixon ห้องเช่าชั้นสองฝั่งตรงข้ามมีผู้พักอาศัยคือหญิงสาวสวย Laurel Gray (รับบทโดย Gloria Grahame) เธอกลายเป็นพยานสำคัญ ให้การว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการฆาตกรรม การพบเจอกันที่สถานีตำรวจนั้น ทำให้ทั้งสองมีโอกาสพูดคุย ถูกคอ ตกหลุมรัก แต่แล้วหญิงสาวกลับเกิดความหวาดระแวง เพราะถูกชี้ชักนำ(จากตำรวจ) และพฤติกรรมอันแปรปรวนรวนเรของ Dix เอาแน่เอานอนไม่ได้ แนวโน้มสูงมากๆที่จะเป็นฆาตกรตัวจริง นั่นทำให้เมื่อตอนถูกขอแต่งงาน อ้ำอึ้งพูดตอบไม่ถูก ถ้าปฏิเสธไปก็อาจโดนเข่นฆ่าทำร้าย แล้วนี่ฉันจะทำอย่างไรดี?

นำแสดงโดย Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยใคร่สน เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อหลีสาว ปลดประจำการออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash เมื่อปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่สนิทสนม John Huston ขี้เมาหัวราน้ำพอๆกัน High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท], ตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก], ความสำเร็จของ Casablanca (1942) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า, และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The African Queen (1951)

อาจเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลกระทบต่อ Dixon ‘Dix’ Steele แสดงอาการคล้ายๆ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) กลายเป็นระเบิดเวลาที่พอมีอะไรกระทบกระทั่ง จักต้องใช้ความรุนแรงโต้ตอบสนอง ซึ่งการได้พบเจอตกหลุมรัก Laurel Gray ทำให้อะไรๆกำลังพัฒนาสู่หนทางดีขึ้น แต่เพราะความหวาดระแวงเข้าใจผิด ทุกสิ่งอย่างพลันล่มสลายลงโดยทันที

เมื่อ Bogart ได้อ่านบทหนัง มีความชื่นชอบประทับใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดขันอาสาออกทุนสร้างให้ จากสตูดิโอของตนเองที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานนัก Santana Productions และเขาหมดสัญญาจ้างกับ Warner Bros. พอดิบพอดี เลยสามารถทุ่มเทเวลาให้โปรเจคนี้อย่างเต็มที่

จริงๆแล้วตัวละครนี้ควรอยู่ในวัย 30 แต่ Bogart ขณะนั้นก้าวย่างสู่ปีที่ 50 ริ้วรอยเหี่ยวย่นตีนกาขึ้นเต็มใบหน้า (คงประกอบกับการดื่มเหล้าหนักจัด ร่างกายเลยดูทรุดโทรม ซีดเซียว แก่ก่อนวัยไปมาก) แต่ก็สะท้อนกับเข้าสภาพของ Dix บุคคลผู้สะสมความเหน็ดเหนื่อยหน่าย เบื่อโลก อ้างว้างเดียวดาย การอยู่คนเดียวทำให้ไม่เคยต้องจัดระเบียบ ควบคุมสติอารมณ์ตนเองให้เป็นปกติ จมปลักอยู่กับจินตนาการ/บทภาพยนตร์ พลาดโอกาสเรียนรู้จักชีวิตและโลกกว้าง

สิ่งโดดเด่นมากๆคือใบหน้าของ Bogart แสดงออกหลากหลายอารมณ์มากๆ เริ่มจากหน้าละห้อย เหงาหงอย อมทุกข์โศก พอตกหลุมรักทุกอย่างก็พลันสดใส ยิ้มแย้มเบิกบาน ดวงตาเป็นประกาย ขณะหมกมุ่นจริงจัง ทำตาโต เพ่งเขม็งขึงขัง และพอครุ่นคิดได้ก็หมดสิ้นเรี่ยวแรง อาลัยตายอยาก (สีหน้าอาการเหมือนคนตายทั้งเป็น)

นักแสดงหญิงชื่อดัง Louise Brooks เขียนบทความชื่อ ‘Humphrey and Bogey’ แสดงความเห็นถึงบทบาท Dixon ว่ามีความใกล้เคียงตัวจริงของ Bogart ที่เคยพบเห็นรู้จัก

“In a Lonely Place gave him a role that he could play with complexity because the character’s pride in his art, his selfishness, his drunkenness, his lack of energy stabbed with lightning strokes of violence, were shared equally by the real Bogart.”

– Louise Brooks

เพราะตัวละครมีความใกล้เคียงบุคลิก/ตัวตนของ Bogart อย่างที่สุด นักวิจารณ์หลายๆสำนักจึงมักยกย่องให้คือ ‘บทบาทการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิต’ แต่ส่วนตัวยังคงประทับใจ The African Queen (1951) กับ The Maltese Falcon (1941) มากกว่า [แต่เรื่องนี้ก็มาเป็นอันดับ 3 นะ และตามด้วย Casablanca (1942)]

Gloria Grahame ชื่อเดิม Gloria Grahame Hallward (1923 – 1981) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California ในครอบครัว Methodist มีแม่เป็นแบบอย่างนักแสดงละครเวที พี่สาว Joy Hallward ก็เป็นนักแสดงแต่งงานกับ John Mitchum (น้องชายของ Robert Mitchum) โตขึ้นเข้าเรียน Hollywood High School ไม่ทันจบกลายเป็นนักแสดง Broadways เข้าตา Louis B. Mayer จับเซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM ผลงานเรื่องแรก Blonde Fever (1944), พลุแตกกับ It’s a Wonderful Life (1946), ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Crossfire (1947), In a Lonely Place (1950), The Greatest Show on Earth (1952), The Bad and the Beautiful (1952) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actress, The Big Heat (1953) ฯ

รับบท Laurel Gray หญิงสาวสวยที่เพิ่งเข้ามาพักอาศัยในอพาร์ทเม้นต์แห่งนี้ไม่นาน คงด้วยความต้องการยากเป็นหนูตกถังข้าวสาร ทีแรกเห็นเล็งจับ Mr. Baker เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (เหมือนจะเจ้าของอพาร์ทเม้นต์แห่งนี้ด้วยนะ) แต่กลับโปรยเสน่ห์แสดงความสนใจ Dixon Steele น่าจะเพ้อวาดฝันเผื่อมีโอกาสกลายเป็นนักแสดงดาวดาราค้างฟ้าเข้าสักวัน แต่เมื่อเริ่มเรียนรู้จักตัวตน พฤติกรรมแสดงออกอันคลุ้มคลั่งเสียสติแตกของเขา ครุ่นคิดเครียดคลั่งไปไกล จากเคยรักมากแปรสภาพเป็นหวาดระแวง สะพรึงกลัว พยายามดิ้นรนหนีเอาตัวรอด จนสุดท้าย…

นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกคือ Lauren Bacall ภรรยาของ Bogart ซึ่งก็ได้ร่วมงานกันมาหลายครั้ง แต่ถูกกีดกันโดย Warner Bros. ไม่ยินยอมปล่อย Bacall จากสัญญาทาส, บุคคลถัดมาคือ Ginger Rogers แต่ผู้กำกับ Ray ขอเลือก Gloria Grahame ภรรยาของตนเองขณะนั้น ที่กำลังมีความกระท่อนกระแท่นใกล้เลิกร้างรา ช่างเหมาะกับบทบาทนี้เสียเหลือเกิน แถมบีบบังคับให้เซ็นสัญญาด้วยเนื้อหา

“my husband [Ray] shall be entitled to direct, control, advise, instruct, and even command my actions during the hours from 9 a.m. to 6 p.m., every day except Sunday. I acknowledge that in every conceivable situations his will and judgment shall be considered superior to mine, and shall prevail.”

ทีมงานในกองถ่ายไม่มีใครล่วงรับรู้ข้อเท็จจริง ถึงความสัมพันธ์อันกระท่อนกระแท่นระหว่าง Ray กับ Grahame นอกเหนือเวลางานไม่เคยอยู่ร่วม พบหน้า สบตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าได้รับการถ่ายทอดออกมาตรงๆผ่านเรื่องราว/ตัวละครในหนัง

เกร็ด: จุดแตกหักเลิกร้างราเกิดขึ้นปี 1952 เมื่อ Ray พบเห็น Grahame ร่วมรักหลับนอนกับลูกชาย Anthony Ray ขณะนั้นอายุเพียง 13 ปี! (Anthony เป็นลูกของ Ray กับภรรยาคนแรก Jean Evans) นี่ผมก็เพิ่งรู้นะเนี่ย ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ได้แต่งงานอยู่กินร่วมกัน (มาคล้ายๆกับ Woody Allen)

Grahame เป็นนักแสดงที่มีฝีมือพอตัว แต่ไม่ค่อยได้รับโอกาสทางอาชีพสักเท่าไหร่ (เห็นว่าถูกหึงหวงโดยสามี เหนี่ยวรั้งกักขังราวกับนกในกรง) ซึ่งเรื่องนี้นักวิจารณ์ต่างลงความเห็นสอดคล้อง คือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิต [ขณะที่ผลงานคว้า Oscar: Best Supporting Actress ปรากฎตัวเพียง 9 นาที ออกมาแย่งซีนเท่านั้นเอง] ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันปั่นป่วนพลุกพล่าน สับสนวุ่นวาย คลุ้มคลั่งจากภายในได้อย่างสมจริงจับต้องได้ พบเห็นบ่อยครั้งกับการเลิกคิ้ว หลิ่วตา แสดงออกด้วยสีหน้าแปลกประหลาดใจ คาดคิดไม่ถึงว่าชีวิตตนเองจะกลายมาเป็นแบบนี้

ชุดของตัวละครไม่เพียงมีความหลากหลาย แต่ยังงดงาม และแฝงนัยยะซ่อนเร้นทั้งหมด, กับตัวนี้ที่ผมชื่นชอบสุด แหกแหวกอกเปิดออกเต็มที่ และตุ้มหูที่ดูเหมือนพวงองุ่น ในช่วงเวลาที่หญิงสาวไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีวิต หนักอกหนักใจหนักหู เลยจำต้องปล่อยล่องไหลตามน้ำไปก่อน เฝ้ารอคอยจังหวะปลีกหนีดิ้นรนเอาตัวรอด

ถ่ายภาพโดย Burnett Guffey (1905 – 1983) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของสองผลงาน Oscar: Best Cinematography เรื่อง From Here to Eternity (1953) และ Bonnie and Clyde (1967) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ All the King’s Men (1949), In a Lonely Place (1950), Birdman of Alcatraz (1962) ฯ

งานภาพของเรื่องนี้จะไม่เน้นความหวือหวา แปลกตา Stylish เหมือนหนังนัวร์ทั่วๆไปนัก แต่ต้องถือว่า Ray เป็นคนใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อุปกรณ์ประกอบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม และหลายๆไดเรคชั่นมีความโดดเด่นเฉพาะตัว

อย่างอพาร์ทเม้นท์ของ Dixon และ Laurel คัทลอกเลียนแบบ ได้แรงบันดาลใจจากที่อยู่อาศัยของ Ray เองเลย เมื่อตอนย้ายมาปักหลักอยู่ Hollywood ครั้งแรกๆ
– ช่วงต้น Dixon มองขึ้นไป เปรียบได้ว่าหญิงสาวราวกับนางฟ้า อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์
– ช็อตสุดท้ายมองลงมา Dixon กำลังเดินลับหายไป มุ่งสู่ขุมนรกแห่งวังวนชีวิต

การพูดคุยสนทนากันครั้งแรกระหว่าง Dixon และ Laurel ณ สถานีตำรวจ ดูไปช็อตนี้เหมือนไม่มีอะไร แต่สังเกตแขนเสื้อของหญิงสาว กับถุงเท้าของพระเอก ลวดลายคล้ายตารางหมากรุกเหมือนกัน นี่แปลว่าทั้งคู่ต่างมีความแพรวพราวซ่อนเร้นในการให้ปากคำครั้งนี้

ไดเรคชั่นที่เจ๋งมากๆของหนัง เมื่อตอน Dixon เล่าถึงสิ่งที่เขาครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ฆาตกรรม ให้กับเพื่อนตำรวจและแฟนสาว แสงไฟสาดส่องตรงใบหน้า ตาลุกโพลงไม่กระพริบ พูดด้วยน้ำเสียงอันตื่นเต้นเร้าใจขึ้นเรื่อยๆ (ดูยังไงก็เหมือนคนโรคจิต) ตัดไปพบเห็นปฏิกิริยาอีกฝั่ง โดยไม่รู้ตัว Brub กำลังรัดคอแฟนสาวอย่างแน่น เกือบหายใจไม่ออก!

หนังนัวร์หลายๆเรื่อง ชอบเลือกฉากโรแมนติกให้คู่พระ-นาง นั่งนอนอยู่ริมชายหาด, ช็อตนี้คาดว่ารับอิทธิพลจาก Out of the Past (1947) สังเกตตำแหน่งทิศทางของทั้งสอง ในลักษณะตั้งฉากกัน |_ แม้จะหันหน้าเข้าหาสบตา แต่ภายในแสดงว่ารู้สึกตรงกันข้าม (สวมชุดก็สีตัดกันด้วยนะ ขาว-ดำ)

ฉากแห่งความคลุ้มคลั่งเสียสติของ Dixon ขับรถด้วยความเร็วสูง ต้องการหาเรื่องระบาย ชกต่อผู้อื่น ช็อตนี้แม้ทั้งสองจะหันหน้าไปทางเดียวกัน แต่สิ่งที่หญิงสาวครุ่นคิดจับจ้องมอง นี่ฉันกำลังครุ่นคิดตัดสินใจผิดหรือเปล่า ที่เลือกคบหาผู้ชาย ‘ระเบิดเวลา’ คนนี้ โอกาสสูงมากๆที่เขาจะคือฆาตกรตัวจริง … ถ้าไม่ตะโกนบอกให้หยุดเสียก่อน!

ห้องนอน คือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของจิตใจ เมื่อถูกปิดล็อกกุญแจไว้ ก็แปลว่าหญิงสาวมิได้ต้องการเปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมา ทั้งๆที่พวกเขากำลังจะแต่งงานในอีกไม่กี่วัน นี่ค่อยๆทำให้พระเอกครุ่นคิดว่าอาจมีลับลมคมใน?

ถึงจะมิได้พังประตูเข้าไป แต่หลังจากหญิงสาวเปิดค้างไว้เพื่อหยิบแหวนสวม ก็เกิดตระหนักครุ่นคิดได้จึงลุกล้ำเข้าไปดู ค้นพบข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่าง เลยพยายามตรงเข้ามาบีบรัดคอ ต้องการทำลายความทะเยอทะยานให้ขาดอากาศหายใจ แต่ก็หยุดยั้งเรียกสติกลับคืนมาได้เพราะเสียงโทรศัพท์จากโลกภายนอกดังขึ้น

ตอนจบดั้งเดิมของบทหนัง, Dixon บีบรัดคอจน Laurel สิ้นลมหายใจ ขณะเดียวกันเพื่อนตำรวจ Brub เดินทางมาถึงกำลังจะแจ้งข่าวดีว่าฆาตกรรับสารภาพ แต่กลับต้องสวมใส่กุญแจมือจับเพื่อนรักเข้าคุก … เห็นว่า Ray ไม่ชื่นชอบตอนจบโศกนาฎกรรมนี้ แต่ก็ได้ถ่ายทำไว้ก่อน (เหมือนฟุจเทจดังกล่าวจะสูญหายไปแล้ว) แล้วไล่ทีมงานกลับบ้าน หลงเหลือเพียงตัวเขา ตากล้อง Bogart และ Grahame ระดมสมองถ่ายทำตอบจบแบบใหม่

มาตระหนักรับรู้ตัวว่าเข้าใจผิดเมื่อสาย ก็มิอาจสามารถกระทำอะไรได้ ความโง่เขลาเบาปัญญาสะท้อนการ ‘เห็นแก่ตัว’ ของหญิงสาว เพราะรักตนเองมากกว่า เลยไม่สามารถเผื่อแผ่เมตตา หรือทุ่มเท ‘รัก’ เขาอย่างบริสุทธิ์ใจ

สาเหตุที่หญิงสาวเป็นคนเช่นนี้ เพราะตัวตนแท้จริงของเธอไม่ได้ต้องการตกหลุมรักใคร แค่อยากตกถังข้าวสาร ใครก็ได้ที่ร่ำรวยเงินทอง หรือสามารถเป็นบันได ใบเบิกทางสู่ความสำเร็จดาวดารา, ความสั่นคลอนระหว่างคบหา Dixon ทำให้เกิดการลังเลไม่แน่ใจ หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว ครุ่นคิดได้ข้อสรุป ชีวิตฉันต่างหากที่สำคัญสุด พยายามกีดกันปฏิเสธ … จนในที่สุดเมื่อรับรู้ข้อเท็จจริง เธอก็สูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง (รวมถึงจิตวิญญาณของตนเอง)

ตัดต่อโดย Viola Lawrence (1894 – 1973) นักตัดต่อหญิงคนแรกของ Hollywood เคยเข้าชิง Oscar: Best Film Editing สองครั้งจาก Pal Joey (1957) และ Pepe (1960), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Queen Kelly (1929), Bulldog Drummond (1929), Only Angels Have Wings (1939), The Lady from Shanghai (1947), In a Lonely Place (1950) ฯ

เริ่มต้นมาหนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Dixon ‘Dix’ Steele แต่หลังจากพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว ครึ่งหลังเปลี่ยนมาใช้มุมมองของ Laurel Gray เล่าเรื่องแทนทั้งหมด

ฟังดูถือว่าผิดแผกแปลกแตกต่างจากหนังนัวร์ทั่วๆไป ที่มักใช้มุมมองดำเนินเรื่องของพระเอกเพียงคนเดียว แต่มันผิดอะไรถ้าด้านมืดภายในจิตใจคน สามารถถูกส่งต่อเปลี่ยนมือ ครึ่งแรกสะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจของ Dixon ที่จะค่อยๆสว่างขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับ Laurel เริ่มจากเจิดจรัสเป็นประกาย ค่อยๆตกต่ำทรามลงเรื่อยๆจนดำสนิท

เพลงประกอบโดย George Antheil (1900 – 1959) คีตกวี นักเปียโน แต่งเพลงแนว Avant-Gard สัญชาติอเมริกัน ที่พอย้ายมา Hollywood ได้รับความนิยมอย่างสูง ผลงานเด่นๆ อาทิ The Scoundrel (1935), The Plainsman (1936), In a Lonely Place (1950) ฯ

ถึงผมจะไม่รู้สึกว่าเพลงประกอบเรื่องนี้มีความเป็น Avant-Garde สักเท่าไหร่ แต่ช่วยขับเน้นสถานการณ์นั้นๆ ให้ทวีความเข้มข้นรุนแรง ตื่นเต้นลุ้นระทึก หรือหวาดหวั่นน่าสะพรึงกลัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ช่วงขณะไฮไลท์ อาทิ
– Dixon กำลังบรรยายเล่าถึงสิ่งที่ตนเองครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ฆาตกรรม บทเพลงจะทวีความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ดึงดูดผู้ชมให้รู้สึกหวาดหวั่นสะพรึงกลัว แม้แต่ตัวละครที่ฟังยังคล้ายทำตาม
– ขณะขับรถด้วยความเร็วสูง นำเสนอดนตรีอันคลุ้มคลั่ง ลุ้นระทึก โฉบเฉี่ยวเฉียดตายไปมา
– ไคลน์แม็กซ์ของหนัง เต็มไปด้วยความปั่นป่วน รวนเร เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เอาแน่เอานอนไม่ได้ รุกเร้าบีบคั้นก่อนค่อยๆผ่อนลงแล้วเงียบหาย นี่ถือว่าสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาอย่างชัดเจน

I Hadn’t Anyone Till You แต่งโดย Ray Noble, ในหนังเดี่ยวเปียโน/ขับร้องโดย Hadda Brooks, นำมาให้ฟังคือ ต้นฉบับขับร้องโดย Tony Martin ขึ้นสูงสุดอันดับ 4 ชาร์ท Billboard Hot 100,

แค่ชื่อเพลงก็บ่งบอกเรื่องราวใจความ สอดคล้องกับช่วงขณะเหตุการณ์ที่ Dixon ตกหลุมรัก Laurel ฉันไม่มีใครอื่นกระทั่งได้พบเจอกับเธอ แต่น่าเสียดายที่ในหนังฟังไม่ทันจบ พบเห็นคู่อริเลยชักชวนกันไปที่อื่นดีกว่า … เป็นการบ่งบอกกลายๆว่า เรื่องราวของพวกเขาคงไม่จบลงโดยดีแน่

In a Lonely Place สถานที่คืออพาร์ทเมนต์ของชายโสด-หญิงสาว เดินสวนผ่านไปมาหลายครั้ง ห่างกันแค่ชั้น มองเห็นผ่านหน้าต่าง แต่กลับไม่เคยรู้จักพูดคุยทักทาย ราวกับอาศัยอยู่กันคนละซีกโลกจักรวาล!

อารัมภบทเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ได้ทำการสะท้อนสภาพสังคมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มนุษย์เริ่มที่จะใช้ชีวิตอย่างสันโดษเดี่ยว อาศัยอยู่ตัวคนเดียว เป็นเอกเทศมากขึ้น … ลากยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ลักษณะดังกล่าวนั้นก็ยังเป็นอยู่อย่างเด่นชัดเจน

ผมเองก็เป็นคนหนึ่ง เวลาพบเห็นหญิงสาวสวยน่ารักถูกใจ แต่ถ้าแค่เดินผ่านก็ต้องปล่อยไป ไม่มีเหตุอันใดให้ตรงรี่เข้าไปพูดคุยขอเบอร์ คือมันต้องมีเหตุการณ์บางอย่าง ความบังเอิญ หรือแรงกระตุ้นผลักดันเกิดขึ้นก่อน เมื่อนั้นถึงกล้าเอยปากสนทนา สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย การสุ่มสี่สุ่มห้าโผล่หน้าเข้าไป ถ้าไม่ถูกถีบหงายเงิบ แทบทั้งนั้นครุ่นคิดว่ามิจฉาชีพแหงๆ

Dixon และ Laurel ต่างเฝ้ารอคอยที่จะสนทนากันมาสักพักใหญ่ หลังจ้องหน้าสบตาอยู่หลายทีแต่ยังไม่มีโอกาสดี กระทั่งเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม ทำให้พวกเขาจมปลักอยู่สถานีตำรวจเดียวกัน แต่นี่ไม่ใช่สถานที่น่าอภิรมณ์เลยสักนิดในการสร้างความสนิทสนมชิดเชื้อ

ยุคสมัยที่มนุษย์มีความเป็น ‘ปัจเจกชน’ ส่วนตนมากขึ้น นั่นมักทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธา เข้าใจกันและกันลดน้อยลง มองหน้าถูกโชคชะตาก็เร่งรีบร้อนถาโถมเข้าใส่ ไม่ทันไรขอเธอแต่งงาน ยังมิได้สนิทสนมชิดเชื้อ รู้จักเบื้องหลังตัวตน ครอบครัวญาติมิตรสหายด้วยซ้ำไป

และเมื่อมนุษย์มีความเป็น ‘ปัจเจก’ ก็ย่อมครุ่นคิดถึงแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง สนเพียงความสุขสำราญ ผลประโยชน์ พึงพอใจส่วนตน เลิกครุ่นคิดแทนผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลารับล่วงรู้ข่าวลือ/สารอะไรบางอย่าง ยังมิทันได้ค้นหาคำตอบความจริงก็ปลักใจเชื่อมั่น แสดงความหวาดหวั่นระแวง ขยะแขยงต่อต้านไว้ก่อน เงิบทีหลังก็ช่างแม้ง ด้านได้อายอด

ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสลด ใจหายวาบ ความรักที่เคยเป็นดั่งพายุ กลับถูกพัดพรากจากเพราะเชื่อมั่นหลงผิด

“I can’t live with a maniac!”

ทั้ง Dixon และ Laurel ต่างถือเป็น ‘คนบ้า’ ในมุมมองที่แตกต่างกัน
– Dixon แสดงออกด้วยอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตก ทุกครั้งที่ถูกกระแทกกระทั้น แดกดัน ใครอื่นทำอะไรไม่เป็นที่พึงพอใจ
– Laurel เก็บกดอัดอั้นภายในอย่างคลุ้มคลั่ง แสดงออกด้วยความปลิ้นปล้อนกะล่อนหลอกลวง ปากไม่เคยตรงใจ เกลียดตัวกินไก่ หาความเชื่อถือมั่นคงไม่ได้เลยสักนิด

สรุปแล้ว In a Lonely Place ผมว่าผู้กำกับ Ray คงต้องการสื่อถึง โลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่สังคมกำลังค่อยๆแปรสภาพสู่ความเป็นปัจเจกชน ตัวใครตัวมัน อาศัยอยู่ร่วมในอพาร์ทเม้นต์เดียวกันแท้ๆ แต่จะมีสักกี่ห้องหับที่พูดคุยรู้จัก (นอกจากแม่บ้านและเจ้าของหอ) เฉกเช่นเดียวกับหนุ่ม-สาว ชาย-หญิง คนเคยรักกัน เมื่อถึงวันไม่สามารถพูดคุยสนทนา สบตามองหน้ากันติด นั่นเป็นสิ่งน่าเศร้าสลด หัวใจแตกสลาย

เมื่อตอนออกฉาย หนังได้เสียงตอบรับแค่ดี ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้ $1.375 ล้านเหรียญ ดูแล้วคงจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่การเวลาผ่านไปเมื่อส่งออกฉายต่างประเทศ ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม โดยเฉพาะจากกลุ่มนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma ว่าที่ผู้กำกับรุ่น French New Wave ต่างยกย่องสรรเสริญ โปรดปรานผลงานของ Ray เป็นพิเศษ

ผมเริ่มตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่วินาทีที่ตัวละครของ Bogart ขอแต่งงาน Grahame ปัญหาทุกสิ่งอย่างเริ่มรุมเร้า กดดัน บดขยี้ความรู้สึก เครียดคลั่ง นี่ฉันจะทำอย่างไรดี? กรีดกรายเมื่ออะไรๆถลำลึกลงไป กระทั่งเริ่มสามารถจับไต๋ เกิดความรุนแรง คลุ้มคลั่ง เสียสติแตก เสียงโทรศัพท์ช่วยชีวิตไว้แท้ๆ แต่นั่นก็คือจุดจบของความรัก

“I was born when she kissed me. I died when she left me. I lived a few weeks while she loved me”.

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรื่องของความเข้าใจผิด มักทำให้คนเราสูญเสียความสามารถในการครุ่นคิด มืดบอดต่อการตัดสินใจ ทำไมไม่ใช่สติกันสักนิด เริ่มจากหายใจเข้าลึกๆ หันหน้าคุยกันเปิดอกซึ่งๆหน้า ระบายสิ่งคั่งค้างคาใจออกมา การแต่งงานมิใช่สิ่งต้องรีบร้อนปัจจุบันทันด่วน อย่าให้มันจบลงแบบโง่งี่เง่าขนาดนี้ เพราะจะกลายเป็นตราบาปฝังใจ ไม่มีทางที่อดีตจะหวนย้อนเวลากลับคืนมาได้

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนุ่ม-สาว สามี-ภรรยา ในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อเลิก-ไม่เลิก พยายามหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยอย่างมีสติไม่ใช่ด้วยอารมณ์ รับฟังและยกโทษให้อภัยกันและกัน ชีวิตคู่คงจะยั่งยืนยาวนานจนถึงวัยแก่เฒ่า

จัดเรต 18+ กับการใช้ความรุนแรง ขาดสติของตัวละคร

คำโปรย | “In a Lonely Place โคตรหนังนัวร์ที่จะทำให้ผู้ชมจิตใจแตกสลาย”
คุณภาพ | เตร์พี
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: