In the Mood for Love (2000) : Wong Kar-Wai ♥♥♥♥♡
(19/12/2016) ในห้วงอารมณ์แห่งความรัก ชายหญิงมีความใกล้ชิดสนิทสนม ต้องการเป็นของกันและกัน แต่เพราะมีเส้นบางๆกีดกั้น ขัดขวางทางพวกเขาไว้ ใครคนหนึ่งจำต้องเดินจากไป, เมื่อเวลาเคลื่อนผ่าน หลงเหลือเพียงความทรงจำ กระซิบบอกซากโบราณสถาน ให้เก็บความลับนี้ไว้ชั่วนิรันดร์
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่คงอยู่นิรันดร์, เด็กชายหว่องกาไว เกิดที่เซี่ยงไฮ้ ตอนอายุ 5 ขวบ ย้ายมาที่เกาะฮ่องกง ลี้ภัยตอนสมัยเหมาเจ๋อตุงปฏิวัติจีน ยึดอำนาจ เติบโตขึ้นที่อพาร์ทเมนท์เล็กๆ แคบๆ ด้านล่างมีร้านขายก๋วยเตี๋ยว ห้องข้างๆมีชายหนุ่มหญิงสาว ที่เพิ่งอพยพมาจากเซี่ยงไฮ้เช่นกัน พวกเขาพยายามจะทำให้สถานที่แห่งนี้มีกลิ่นอาย กลายเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาด้วยกัน, ปัจจุบัน ตึกที่หว่องกาไวเคยอาศัยอยู่ ไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว ถูกทุบทำลาย ก่อสร้าง พัฒนาขึ้นใหม่ กลายเป็นห้างสรรพสินค้า/ตึกสูง มีความทันสมัยตามโลกยุคโลกาภิวัฒน์
In the Mood for Love (ชื่อไทย ห้วงรักอารมณ์เสน่หา) มีพื้นหลังในช่วงปี 1962 ที่เกาะฮ่องกง ชุมชนชาวจีนที่อพยพ ลี้ภัย ถูกขับไล่จากเซี่ยงไฮ้ ด้วยความหวังที่ว่า สักวันหนึ่งคงได้กลับไปสู่แผ่นดินบ้านเกิด แต่โชคชะตากลับไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาต้องดิ้นรน อดทนต่อสู้ ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับไป อาศัยอยู่ที่นั่น ตราบจนวันเสียชีวิต
หนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ เพราะอย่างที่บอกไป บ้านของหว่องกาไวถูกเปลี่ยนเป็นอะไรไปแล้วไม่รู้ แต่ไชน่าทาวน์ ที่เยาวราช ยังคงมีลักษณะคล้ายกับ Hong Kong ยุคก่อน, ไม่มีบท ไม่มีสคริป ใช้เวลาถ่ายทำถึง 15 เดือน ขนาดว่าตากล้องเพื่อนสนิท ขาประจำของหว่องกาไว Christopher Doyle ต้องถอนตัวไปเพื่อถ่ายหนังเรื่องอื่น แต่นักแสดงนำทั้งสอง เหลียงเฉาเหว่ย (Tony Leung Chiu-Wai) และจางม่านอวี้ (Maggie Cheung) ถอนตัวไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องอยู่ร่วมเป็นร่วมตายกันจนถึงวันสุดท้าย
‘คิดว่าเพราะพื้นหลังของผมเอง’ หว่องกาไวให้สัมภาษณ์ที่นิวยอร์ก ตอนที่หนังเรื่องนี้ออกฉายในเทศกาล New York Film Festival เล่าให้ฟังว่า ‘ตอนปี 1997 ก่อนที่ฮ่องกงจะคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ พวกเราต้องทำบัตรประชาชนใหม่ ตอนนั้นทำให้ผมตระหนักขึ้นได้ว่า ฉันอยู่ที่นี่มา 33 ปีแล้วหรือนี่ หลงคิดว่าที่นี่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดถาวรของตนเองไปแล้ว ตลกคือตอนเป็นเด็กคิดอยู่เสมอว่า สักวันคงได้กลับเซี่ยงไฮ้ แต่วันนั้นไม่เคยมาถึงเลย’
”In 1997, just before Hong Kong’s hand over to China, we had to re-register our identity cards,And I realized that though I’ve been staying in Hong Kong for 33 years, it still feels like a permanent vacation, a transition that lasts forever. It’s weird and fun. We were always prepared, as kids, that we would move on, to somewhere else or back to Shanghai. There was no sense that you belonged to this place or city.”
เทียบกับคนพื้นที่ (คนที่พูดภาษากวางตุ้ง) ชาวเซี่ยงไฮ้ที่อพยพเข้ามามีความซับซ้อน และเป็นพวกหัวสูง อาศัยในชุมชนด้วยภาษาของเราเอง เพลง อาหาร นิตยสาร หรือแม้แต่ภาพยนตร์, พวกเราไม่เคยแสดงออกเหมือนฮ่องกงคือบ้านเกิด คิดอยู่เสมอว่าสักวันจะได้กลับเซี่ยงไฮ้ และในขณะเดียวกันก็สร้างอาณาเขตที่เหมือน เมืองเซียงไฮ้เล็กๆ (Small Shanghai) ขึ้นในฮ่องกง
”Compared to the local Cantonese population, these people from Shanghai are very sophisticated and are considered very snobbish,They live in their own neighborhood, with their own language, music, food, magazines and cinemas. They never treat Hong Kong as a hometown. They think they will go back to Shanghai when things get better. At the same time, they recreate a small Shanghai in Hong Kong. It’s like building a dream there.”
หว่องกาไว สร้างหนังเรื่องนี้จากความทรงจำ/ความฝันวัยเด็ก เป็นเหมือนจดหมายรักส่งถึง สถานที่/กาลเวลา ที่ได้ สูญหาย/พ้นผ่าน จากไปแล้วชั่วนิรันดร์
ตอนที่ Days of Being Wild ออกฉายในปี 1990 หนังได้เปิดประตูสู่ภาพยนตร์รูปแบบใหม่ ของจีนและเกาะฮ่องกง โดยมีหว่องกาไวเป็นศูนย์กลางตาพายุ และมีแผนที่จะสร้างภาคต่อ (จากฉากจบที่ให้เหลียงเฉาเว่ยแต่งตัวเตรียมออกไปทำอะไรสักอย่าง) แต่เพราะหนังทำเงินได้น้อยน่าผิดหวัง โปรดิวเซอร์จึงหาข้ออ้างโน้มน้าว ให้หว่องกาไวไปสร้างหนังเรื่องอื่น ที่ทุนสร้างน้อยกว่า เตรียมงานสั้นกว่า และขอให้ทำเงินหลายๆเรื่อง จึงค่อยกลับมาทำหนังที่ตนสนใจ ซึ่งหว่องกาไวก็ยอมตกลง, ผ่านไป 10 ปีเต็ม …
พล็อตคร่าวๆในตอนแรก คือเรื่องราวต่อจาก Days of Being Wild ตั้งชื่อหนัง (Working Title) ว่า A Story of Food เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาว พบกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง ตกหลุมรัก แล้วพบว่าต่างคนก็แต่งงานมี สามี/ภรรยา อยู่แล้ว
หว่องกาไว เรียกภาคต่อนี้ แถว่าคือ ‘Sequel in Spirit’ คือจิตวิญญาณต่อเนื่องกัน ในขณะสร้าง In the Mood for Love หว่องกาไวมองเห็นความเป็นไปได้ของหนังอีกเรื่อง เพื่อปิดไตรภาค ‘จีนแผ่นดินใหญ่ & ฮ่องกง’ (ส่วนใหญ่คนจะเรียกว่า Wong Kar-wai Trilogy) ชื่อเรื่อง 2046 ฉายปี 2004
คุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) กับคุณโจวหวิน (เหลียงเฉาเหว่ย) บังเอิญมาเช่าห้องในอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน ขนของย้ายเข้ามาอยู่ในวันเดียวกันด้วย ถือเป็นเรื่องปกติของคนสมัยนั้น หากห้องหนึ่งจะอาศัยอยู่ด้วยกันหลายครอบครัว เพราะที่อยู่อาศัยมีจำกัด จำต้องแบ่งปันห้องน้ำ ห้องครัว หรือแม้แต่อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ กับเพื่อนห้องข้างๆ
คุณนายเฉินแต่งงานแล้ว เป็นเลขานุการ (Secretary) บริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ สามีมักจะเดินทางไปทำงานญี่ปุ่นอยู่เสมอ, คุณโจวหวินเป็นนักข่าว/หนังสือพิมพ์ (journalist) ภรรยาทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรมแห่งหนึ่ง, หนังจงใจไม่ให้ผู้ชมเห็นหน้าของ คุณเฉิน และ คุณนายโจวหวิน ตลอดทั้งเรื่อง แต่จะได้ยินเสียง/เห็นข้างหลัง/พูดถึง อยู่แทบตลอดเวลา นี่แสดงถึง พวกเขาไม่มีความสำคัญ/หน้าตา เป็นคนทั่วๆไปที่มีบังเอิญใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไป ความห่างเหิน/ขัดแย้ง กับคู่สมรสในครอบครัว ทำให้ คุณนายเฉินและคุณโจวหวิน สนิทสนมกันโดยไม่รู้ตัว จากที่แค่เดินสวนกันเป็นทักทาย พูดคุย โทรศัพท์หา แสดงความห่วงใย เล่นตัว ความรักค่อยๆก่อขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่ทั้งสองพูดคุยกัน
คำพูดของคุณนายเฉิน กับคุณโจวหวิน ต่างเป็นเหมือนกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน
– กระเป๋า = สัญลักษณ์ของการเก็บรักษา ซุกซ่อนบางสิ่งอย่างไว้ข้างใน
– เนคไท = สัญลักษณ์ของการมีชีวิต ลมหายใจ (รัดคอแน่นเกินไป=หายใจไม่ออก), มองได้อีกอย่าง คือ การถูกชักจูง ครอบงำ (เหมือนสายรัดคอสุนัข)
For us to do the same thing, would mean we are no better than they are.
นี่เป็นข้อตกลงของทั้งสอง เมื่อได้รับรู้ความจริงของคู่สมรสตนที่เป็นชู้กัน ด้วยความหวังว่า คุณธรรม ของพวกเขาจะสูงส่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น, แต่ในความจริงแล้ว เพราะคำพูดประโยคนี้แหละที่กลายเป็นเส้นบางๆ คั่นกลางระหว่างทั้งสอง ไม่ให้ได้สมหวังในอารมณ์รัก
– เขียนนิยายกำลังภายใน, นี่เป็นสิ่งยอดฮิตในประเทศจีนยุค 60s (เป็นช่วงเวลาดังของ โกวเล้ง, กิมย้ง, เนี่ยอู้เซ็ง ฯ) มีนัยยะถึงการต่อสู้กับความอัดอั้นทางกาย ด้วยกำลังภายใน (จิตใจ)
– ห้องเช่า 2046 เปรียบได้กับสถานที่ปลดปล่อยทางกายใจ ความคิด เสมือนโลกแฟนตาซี/จินตนาการ ของพระเอก/นางเอก/ผู้กำกับ, ถ้าต้องการคำอธิบายที่เด่นชัด ให้ดูหนังเรื่อง 2046 ต่อนะครับ
– สัญลักษณ์อื่นๆ อาทิ ควันบุหรี่ = ความคิดที่ฟุ้งซ่าน, หลอดไฟ = ไอเดีย แนวคิด,
เมื่อถึงจุดที่ทั้งสองไม่สามารถหักห้ามใจได้อีกต่อไปแล้ว มีวิธีแก้ปัญหาเพียง 2 วิธี
1) ทั้งสองเปิดเผยความรักออกมา ยอมรับว่าตัวเองก็มีคุณธรรมชั้นต่ำ ไม่ต่างจากคู่สมรส
2) ใครสักคนต้องจากไป
สิ่งที่ตัวละครทั้งสองในหนังเรื่องเลือกคือข้อ 2) คุณโจวหวินเลือกที่จะเสียสละเดินจากไป แต่สุดท้ายชีวิตสมรสของทั้งสองหลังแยกจาก ก็ไปไม่รอด (เพราะพวกเขาคงทนหลอกตนเอง ในสิ่งที่ตนเป็น ต่อไปไม่ได้แล้ว) แต่การที่จะหวนมาพบเจอ รักกันใหม่ กลับไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่ไม่มีความเป็นไปได้ ขนาดว่าเฉียดกันไปมา แต่ไม่มีโอกาสได้พบเห็น เจอหน้า คลาดกันทุกครั้งไป (สวรรค์เล่นตลก), นี่เปรียบเสมือนภาพเหตุการณ์/ความทรงจำ/สถานที่/กาลเวลา ที่เมื่อเกิดขึ้น/เคลื่อนผ่าน/เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีทาง ที่สามารถหวนย้อนกลับคืนมาได้
นั่นทำให้ตอนจบ คุณโจวหวิน ตัดสินใจเดินทางไปที่กัมพูชา นครวัต เพื่อระบายความอัดอั้นในรักของตน ให้กับโบราณสถาน สิ่งเก่าแก่ที่มีอายุนับพันปี รับฟัง เพื่อเป็นการบอกให้โลกจดจำอารมณ์ ความรู้สึกของเขาไว้ชั่วนิรันดร์
การแสดงของทั้งพี่เหลียง และจางม่านอวี้ เหนือชั้นมากๆ มาดนิ่งๆ ลุ่มลึก แต่ก้องกังวาล สะท้านไกล ผ่านการเคลื่อนไหว ท่าทาง สายตา ไม่แสดงออกมาทางสีหน้าเท่าไหร่, กับหนังที่ถ่ายนานๆ มันยากที่นักแสดงจะรักษา คงสภาพความคิด อารมณ์ของตัวละครไว้ต่อเนื่องยาวนาน แต่เพราะพวกเขา ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะถ่ายต่อไปคืออะไร (บทหนังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามอารมณ์หว่อง) มันเลยเป็นความเฉพาะหน้า ที่ทุกฉาก ทุกวินาที ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
เหลียงเฉาเหว่ย สามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้ นับเป็นวีรบุรุษเอเชียคนที่สอง ถัดจากจีหยู่ (Ge You) ที่ได้รางวัลเดียวกันนี้จากหนังเรื่อง To Live (1994), ส่วนจางม่านอวี้ แม้ครั้งนี้จะพลาดรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่ในปี 2004 เธอก็สามารถคว้ารางวัลนี้จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้ จากเรื่อง Clean (2004)
ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle และ Mark Lee Ping Bin, เพราะโปรดักชั่นที่ยาวเกินไป ทำให้ Doyle ต้องถอนตัวออกกลางคัน ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งอะไรกับหว่องกาไวนะครับ ซึ่ง Doyle ก็กลับมาร่วมงานกันหว่องกาไวอีกใน 2046 [แต่ก็ประสบเหตุการณ์เดียวกันอีก คือการถ่ายทำล่าช้า จน Doyle ถอนตัวกลางคัน และ Mark Lee Ping Bin ขาประจำของ Hou Hsiao-Hsien ต้องเข้ามารับหน้าที่สานต่อ]
โดยปกติแล้ว หน้าที่การจัดแสงถ่ายภาพ หว่องกาไวจะเชื่อใจเพื่อนสนิท โยนงานให้เขาทุกอย่าง เป็นแบบนี้ตั้งแต่หนังเรื่องแรกที่ร่วมงานกัน, แต่กับหนังเรื่องนี้ เพราะ Doyle จำต้องออกจากงานกลางคัน ทำให้หว่องกาไวต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจกระบวนการ งานถ่ายภาพ จัดแสงทั้งหมด เพื่อให้หนังเกิดความต่อเนื่อง เมื่อทำงานกับผู้กำกับภาพคนใหม่ (นั่นทำให้เขารู้ตัวเองเลยว่า ได้พึ่งพา Doyle มากแค่ไหน)
จุดเด่นของงานภาพคือการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อาทิ ภาษากายของนักแสดง (มือ,ขา,สะโพน, ศีรษะ ฯ), ลีลาการเคลื่อนกล้อง ที่ชอบหลบมุม คดโค้งไปมา (เหมือนมีบางสิ่งอย่าง แอบซ่อนไว้ ไม่ต้องการให้เห็น) และในความแออัดคับแคบของสถานที่ ที่แทบทุกฉากจะต้องเห็นผนังไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งเสมอ (ให้ความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนม)
ออกแบบศิลป์โดย William Chang Suk-Ping (เป็นคนตัดต่อหนังด้วย) ออกแบบโดยให้ลวดลายของฉาก/พื้นหลัง/ผ้าม่าน ตัดกับเสื้อผ้า ทรงผมของตัวละคร ฯ เน้นความเข้มของสีแดง เหลือง น้ำเงิน และเงามืด (เหมือนสีสดของ film noir) ให้กลิ่นอายของฮ่องกงยุค 60s ที่เต็มไปด้วยสีสัน และความตื่นเต้น (ทั้งๆที่เรื่องราวความรักของทั้งคู่ ต้องปกปิด เก็บเป็นความลับ กลัวแม้แต่จะให้เพื่อนบ้านซุบซิบนินทา)
เสื้อผ้าของคุณนายเฉินที่สุดสดใส เห็นว่ามีประมาณ 20 กว่าชุดใส่ไม่ซ้ำตลอดทั้งเรื่อง เป็นเทรนด์แฟชั่นชุดประจำชาติจีน ของคนระดับกลางยุคนั้น สีสันลวดลายแสดงออกซึ่งอารมณ์ (Mood) ของตัวละครขณะนั้น และทุกวัน จางม่านอวี้ต้องแต่งหน้าทำผมประมาณ 4 ชั่วโมง (ซึ่งเธอใช้เวลานั้นอ่านบท ที่เพิ่งเขียนเสร็จมาสดๆจากหว่องกาไว)
เกร็ด: เห็นว่าสไตล์การแต่งตัวของคุณนายเฉิน ได้อิทธิพลมาจาก หนังเพลงเรื่อง The Umbrellas of Cherbourg (1964)
การตัดต่อ มีลีลาที่กระชับฉับไว ล้อรับกับงานภาพที่เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้อย่างครบถ้วน ทุกๆ 10 นาที จะมีเพลงประกอบ Yumeji’s Theme ของ Shigeru Umebayashi (เดิมประกอบหนังเรื่อง Yumeji-1991) บรรเลงดังขึ้น แล้วภาพจะสโลโมชั่น เหมือนเป็นการหยุดพักให้ผู้ชม/ตัวละคร ได้หยุดพัก ครุ่นคิด ทำความเข้าใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วง 5-10 นาทีนี้บ้าง เป็นการสร้างจังหวะที่มีสไตล์ เหมือนจังหวะการเต้น Waltz ที่จะมีจังหวะช้าเร็ว เดี๋ยวเร่งเดี๋ยวผ่อน (เพลง Yumeji’s Theme ถือเป็นจังหวะ Waltz นะครับ)
มุมมองการเล่าเรื่อง ใช้การตัดสลับไปมาทั้งสองตัวละครตลอดทั้งเรื่อง ดูเวลาน่าจะเท่าๆกันเลย เพราะทุกเหตุการณ์ แม้แต่คำพูด/สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวละครหนึ่ง ล้วนต้องเกิดขึ้นกับตัวละครหนึ่ง, บางทีมีการเล่นซักซ้อมคำพูด ซึ่งจะมีการสลับผู้พูด/ผู้ฟัง สลับมุมมองความคิดเห็น/การแสดงออกมา เพื่อเป็นการสะท้อนทุกสิ่งอย่างของพวกเขา, มีครั้งหนึ่ง … ไม่สิ อาจจะสองครั้ง ที่ถึงเป็นแค่การซักซ้อม แต่สำหรับหญิงสาว มันเหมือนเป็นความจริงสำหรับเธอ
Don’t be serious, it’s only a rehearsal. Don’t Cry!
I didn’t expect it to hurt so much.
เพลงประกอบ หว่องกาไวบอกว่า ‘สำหรับเขา บทเพลงไม่ใช่แค่สำหรับประกอบอารมณ์ แต่ยังถือเป็นเสียงของหนังด้วย’ ตอนที่เขามาถึงฮ่องกง ความประทับใจแรกสุดของที่นี่คือ ‘เสียงของเมือง’ ที่แตกต่างจากเซี่ยงไฮ้โดยสิ้นเชิง
“For me, music is not only for the mood, but also the sound. I came to Hong Kong when I was five, and the first things that impressed me were the sounds of the city, which were totally different from Shanghai.”
สิ่งที่หว่องกาไวทำกับเพลงประกอบหนัง คือ สร้างโลกของเสียง ให้เหมือนอยู่ใน Hong Kong ยุค 60s ผู้คนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ภาษา/อาหาร/บทเพลงที่ชื่นชอบ ฯ เขาหยิบเอาเพลงประกอบที่จดจำ ได้ยินจนติดหู (ฟังจากวิทยุ) ซึ่งมีตั้งแต่เพลงคลาสสิก จนถึงเพลงป็อปสมัยใหม่ ประกอบใส่เข้าไปในหนัง
กับ Yumeji’s Theme เครื่องสายบรรเลงด้วยทำนองอึดอัด คับข้อง ลังเล ไม่แน่ใจ เมื่อเทียบกับเพลง Waltz การก้าวย่างไปด้วยกันของชายหญิง แสดงออกถึงความต้องการ (Passion) อันยั่วเย้ายวน
‘สมัยนั้นเพลงตะวันตกก็มีเยอะเหมือนกันในฮ่องกง บางวงดนตรีมาจากฟิลิปปินส์ นั่นทำให้หลายเพลงเป็นภาษาละติน’
We had a lot of Western music in Hong Kong at that time, and most of the band musicians were from the Philippines, so there was a lot of Latin music. In the Mood for Love features many songs popular in that period.
สำหรับเพลง Quizás, Quizás, Quizás (แปลว่า บางที, Perharp) ต้นฉบับเขียนโดย Osvaldo Farrés ชาวคิวบาเป็นภาษาสเปน ขับร้องโดย Bobby Capó เมื่อปี 1947 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ขับร้องโดย Nat King Cole (นักร้องคนโปรดของแม่หว่องกาไว) แต่ยังคงท่อนฮุค Quizás ไว้ไม่แปล เพื่อให้ได้กลิ่นอาย อารมณ์เช่นเดิม, ผมเอาต้นฉบับแท้ๆมาให้ฟังนะครับ
มี 3 เพลงที่ Michael Galasso แต่งขึ้นประกอบหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือ Angkor Wat Theme, ITMFL และ Casanova/Flute ผมเลือก Angkor Wat Theme มาแทรกให้ฟังอีกเพลง เป็นเชลโล่ล้วนๆ เสียงบาดลึกเข้าไปในจิตใจ เป็นอารมณ์โหยหา เจ็บปวด ในสิ่งที่รู้ว่าไม่มีวันได้หวนคืน, เชลโล่ยังให้อีกอารมณ์หนึ่งด้วย คือความเก่า ขลัง มีมนต์เสน่ห์ เมื่อกล้องค่อยๆเคลื่อนผ่านโบราณสถานนครวัต นี่ให้ความรู้สึกอมตะ นิรันดร์ (คือสิ่งที่สูญเสีย/จบสิ้น/ผ่านไปแล้ว จะไม่มีวันเกิดขึ้นย้อนกลับไปได้อีก)
จริงๆแล้วหนังมีฟุตเทจ Alternate Ending อยู่นะครับ ที่นครวัตแห่งนี้ บังเอิญทั้งสองได้มาพบกัน ถือเป็นตอนจบแบบ Happy Ending, เหตุที่หว่องกาไว ไม่เลือกจบแบบนี้ คงเพราะ มันเหมือนหนังอเมริกันไปสักนิด และนัยยะตอนจบจะไม่ตรงกับใจความของหนัง (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งต่างๆ เมื่อสูญหาย/จบสิ้น/ผ่านไปแล้วในอดีต จะกลับมาหวนเกิดขึ้นอีกในปัจจุบันได้ยังไง)
ปล. ใน Youtube จะมีคลิปเบื้องหลัง, Delete Scene อีกหลายฉากที่ถ่ายไว้แล้วไม่ได้ใช้ ใครซื้อแผ่นแท้ของ Criterion ก็มีโอกาสเจออะไรเด็ดๆพวกนี้ มีเยอะเลยนะครับ, เห็นว่ามีฉากที่คู่พระนาง Love Scene กันโดยหักห้ามใจไม่ได้ด้วย
หนังจบลงที่ปี 1966 เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้น Cultural Revolution (ทำลายสิ่งที่เป็นของเก่า โบราณให้สิ้นซาก) ส่วนฮ่องกงเกิดการประท้วน ต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ นี่ทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ที่อาศัยอยู่ฮ่องกง ต้องตัดสินใจเลือก คนรวยมีเงิน มักจะย้ายไปอยู่อเมริกา/ยุโรป ส่วนคนที่ไม่สนใจอะไร ก็ต้องอาศัยอยู่ฮ่องกงอย่างถาวร, ซึ่งครอบครัวของหว่องกาไว ตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ในฮ่องกงไม่ย้ายไปไหน
สิ่งหนึ่งที่น่าพิศวงกับหนังเรื่องนี้ คือ คุณธรรม ศักดิ์ศรี หรืออะไรที่ค้ำคอให้ชายหญิงสองคน ไม่ให้ล่วงเกินกันไปมากกว่าอารมณ์แห่งรัก… ผมคิดว่าเหตุผลของมันไม่ใช่หน้าหนัง เรื่องคุณธรรม/ศักดิ์ศรี หรือค่านิยมในสังคมสมัยนั้นนะครับ แต่เป็นนัยยะ (แบบเดียวกับตอนจบ ที่ทำไมทั้งสองถึงไม่มีโอกาสพบเจอกันอีก) ที่ต้องการอุปไมยถึง สถานที่/เหตุการณ์ ที่อยู่ในความทรงจำ เป็นสิ่งที่เป็นได้แค่หวนระลึกถึง ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งกันได้อีก [ความรัก=ความทรงจำ]
He remembers those vanished years.
As though looking through a dusty window pane,
the past is something he could see, but not touch.
And everything he sees is blurred and indistinct.
ชื่อหนังภาษาจีน 花樣年華 (Hua Yang De Nian Hua) แปลว่า’the age of blossoms’ หรือ ‘the flowery years’ ในยุคสมัยแห่งการเบิกบาน (ดอกไม้เบิกบาน คือการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ) ที่ประเทศจีน เป็นคำอุปมาถึงช่วงเวลาลี้ภัยสู่ฮ่องกงของชาวจีนแผ่นดินใหญ่, ส่วนชื่อหนังภาษาอังกฤษ มาจากชื่อเพลง I’m in the Mood for Love แต่งโดย Dorothy Fields ทำนองโดย Jimmy McHugh ปี 1935 ร้องโดย Louis Armstrong
นี่เป็นหนังเรื่องแรกของหว่องกาไว ที่ผมได้ดูเมื่อหลายปีก่อน เคยเป็นหนังเรื่องโปรด ชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ในความสไตล์ลิส สีสัน อารมณ์และการแสดงที่โดดเด่น เมื่อสักปีที่แล้วก็ยังชอบอยู่นะครับ แต่มาตอนนี้กลับรู้สึกเฉยๆ (คงเพราะดูหนังมาหลายรอบ เข้าใจทุกอย่างจนไม่รู้จะชื่นชอบอะไรได้อีก) ความชอบที่ลดลงไม่ได้แปลว่าหนังมีคุณภาพแย่ลงประการใด แต่เป็นบทบริทของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา, ไม่แน่ว่าอีกสิบปีถัดจากนี้ ผมกลับมาดูหนังเรื่องนี้ใหม่ หลังจากจดจำอะไรไม่ได้แล้ว มันก็มีความเป็นไปได้ที่อาจกลับมาหลงใหล คลั่งไคล้อีกก็เป็นได้
คงต้องเขียนถึงเหตุผลที่ผมชอบน้อยลงไว้ด้วย เพราะเมื่อกลับมาอ่านในอนาคตจะได้เข้าใจ ว่าทำไมวันนี้ถึงชอบหนังลดลง, ความสไตล์ลิสคือเสน่ห์ของหนัง แต่มันเหมือนเทรนด์แฟชั่น ที่เมื่อเราได้พบอะไรใหม่ๆ ล้ำยุคล้ำสมัย หรือพบของมีค่ามากกว่า จึงไม่แปลกที่เมื่อกลับมาเห็นของเก่าจะรู้สึกเชย ล้าหลัง ไม่น่าพึงพอใจเหมือนครั้งแรกที่เห็น, กระนั้นหนังยังมีคำถามหนึ่งที่ค้างคาไว้ ยังให้คำตอบไม่ได้ คือหนังสามารถเป็น Timeless/Classic เหนือกาลเวลาได้หรือเปล่า เพราะ Days of being Wild ที่สร้างก่อนเกือบ 10 กลายเป็นหนังที่ดูเก่าเขรอะไปแล้ว แต่ In the Mood for Love วันนี้ยังดูสดใหม่ ทั้งๆที่เหตุการณ์เกิดในยุค 60s ถ่ายทำในยุค 2000s ทำไมเป็นเช่นนั้น อีก 10-20 ปี ถัดจากนี้จะให้คำตอบได้หรือเปล่า
แนะนำกับคอหนัง ผู้คลั่งไคล้สไตล์ของหว่องกาไว ชื่นชอบแนวโรแมนติกไม่สมหวัง คิดถึง โหยหา นำพาอารมณ์ Nostalgia, แฟนหนัง เหลียงเฉาเหว่ย และจางม่านอวี้ ไม่ควรพลาดเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชื่นชอบกลิ่นอายของ Hong Kong บรรยากาศในยุค 60s เสื้อผ้าหน้าผม เพลงประกอบ, ถ้าคุณเกิดทัน หรือเคยมีชีวิตผ่านช่วงเวลานั้น ก็ไม่ควรพลาดเลยนะครับ
ถึงชื่อหนัง และโปสเตอร์ จะทำให้คนจินตนาการไปไกล 18+ แต่หนังจัดเรตแค่ 13+ ก็เหลือเฟือแล้ว
TAGLINE | “In the Mood for Love ในห้วงอารมณ์รักสไตล์ลิสของ Wong Kar-Wai มี Tony Leung Chiu-Wai ที่จะโหยระลึกหา Maggie Cheung ไปชั่วนิรันดร์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
In the Mood for Love (2000)
(22/12/2015) ผู้กำกับในยุค Second Wave ของ Hong Kong หนึ่งในนั้นคือ Wong Kar-wai เป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงมากๆคนหนึ่ง นับจาก Days of Being Wild ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างหนังที่มีความแตกต่างไปจากหนังจีนทั่วๆไป Wong Kar-wai เขาเป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์มากๆ ว่ากันว่าเกิดจากส่วนผสมจากความขี้เล่นของ Jean-Luc Godard ความแฟนตาซีของ Federico Fellini ความเป็นปัจเจกของ Michelangelo Antonioni และความหวั่นไหวของ Ingmar Bergman เหล่านี้ถูกคลุกเคล้ากลายเป็น “หนังสไตล์ Wong Kar-wai”
In the Mood for Love เป็นหนังที่ได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้จะไม่ได้ Palme d’Or แต่ได้ 2 รางวัลคือ Best Actor โดย Tony Leung Chiu-wai และ Technical Grand Prize นอกจากนี้หนังก็กวาดรางวัลนับไม่ถ้วน แต่น่าเสียดายที่หนังเข้าฉายปีเดียวกับ Crouching Tiger, Hidden Dragon ซึ่งก็ถูกรัศมีกลบไปพอสมควร แต่ในบรรดาชาร์ทจัดอันดับหนังอย่าง Asian Cinema 100 ของ Busan International Film Festival ที่วาง In the Mood for Love สูงถึงอันดับ 3 นิตยสาร Sight & Sound อยู่อันดับ 24 ซึ่งหนังตั้งแต่ปี 2000 มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่ติด Top50 ของชาร์ทนี้ (อีกเรื่องคือ Mulholland Drive) ซึ่งสูงกว่า Crouching Tiger, Hidden Dragon มากทีเดียว
Tony Leung น่าจะเป็นนักแสดงที่เล่นหนังของ Wong Kar-Wai มากเรื่องที่สุด(แล้วมั้ง) ซึ่งพี่แกก็ได้รางวัล Best Actor จากหนังของ Wong Kar-Wai หลายเรื่องเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถือว่าประสบความสำเร็จทั้งนั้น ใน In the Mood for Love ซึ่งถือกันอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นภาค 2 ของ Sequence นับจาก Days of Being Wild และ 2046 การแสดงของพี่เหลียงใน In the mood for Love เหมือนอาการ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” มาก เป็นความรู้สึกที่ ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจยังไงดี ความลังเล ไม่แน่ใจได้รับการถ่ายทอดออกมาได้อย่างอึดอัด แต่ขณะเดียวกันมันก็สุดยอดเลย เมื่อมาเข้าคู่กับ Maggie Cheung หนึ่งในนักแสดงหญิงจีนที่ผมชอบเธอมากๆ จะเรียกว่าเป็น “เจ้าแม่แห่งวงการภาพยนตร์ฮ่องกง” เพราะเธอกวาดรางวัลนักแสดงนำหญิงมาแทบทุกสำนักเลย รวมถึง Best Actress จาก Cannes ได้ 5 รางวัลของ Golden Horse และ Hong Kong Film Award น่าเสียดายที่ตอนนี้เธอพักงานการแสดงไว้ ไม่รู้ว่าเธอจะกลับมาแสดงหนังอีกหรือเปล่า บทของ Maggie Cheung ในเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสุดยอดการแสดงเลย เสื้อผ้า หน้าผม จัดเต็ม สายตา รอยยิ้มและน้ำตา โดยเฉพาะเทคนิคการกำกับจังหวะของ Wong Kar-wai ทำให้การแสดงของเธอเรียกว่า “พูดน้อย ต่อยหนัก” สะท้านไปถึงทรวง
Christopher Doyle เป็นชาว Australian-Hong Kong ที่คนไทยน่าจะเคยได้ยินชื่อบ่อยๆ เขาเป็นผู้กำกับภาพที่น่าจะเป็นมือ 1 ของเอเชียก็ว่าได้ งานภาพของเขาหลายเรื่องกับ Wong Kar-Wai ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับหนังเอเชีย โดยเฉพาะการเล่นกับสีที่เป็นเอกลักษณ์มาก ใน In the Mood for Love แทบจะไม่มีฉาก Landscape เลย มีตอนก่อนจบนิดนึง ซึ่งเพราะความที่หนังโฟกัสอยู่กับตัวละคร การเคลื่อนไหวกล้องในที่คับแคบ ตัวละครเดินเบียดกันไปมา สร้างความอึดอัดให้กับคนดูไม่น้อย ซึ่งหนังเองก็เกี่ยวกับความอึดอัด คับข้องใจ ไม่แน่ใจ ผมชอบจังหวะ slow-motion มาก ซึ่งจังหวะนี้จะใช้ฟีล์มอีกชนิดถ่าย ด้วยความเร็วปกติจะได้จำนวนภาพต่อวินาทีสูง แต่เมื่อเอามาฉายด้วยเครื่องความเร็วปกติ ภาพมันจะ slow-motion สวยมากๆ และแถมทุกจังหวะ slow จะมีเพลงดังขึ้นด้วย
Shigeru Umebayashi คือคนแต่งเพลง ซึ่งใช้เชลโล่ 2 ตัว ตัวหนึ่งสี ตัวหนึ่งดีด ให้อารมณ์ที่กระอักกระอ่วมมาก ว่าไปผมได้ยินอยู่ทำนองเดียวทั้งเรื่องจนติดหูเลย สังเกตทุกๆ 10 นาทีจะได้ยินครั้งหนึ่ง พร้อมกับฉาก slow-motion ใน 10 นาทีนั้นจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น และจบลง มองเป็น chapter เลยได้ แปลกที่พอจบแต่ละ chapter และเพลงนี้ขึ้น ความอึดอันมันยิ่งเพิ่มพูนขึ้นมากๆ เพลงนี้เหมือนกับเว้นว่างให้เราได้หายใจ ก่อนที่จะตัดไปฉากต่อไป ลองฟังเพลงนี้ดูนะครับ
แต่ละ chapter จะมีความต่อเนื่อง มีพัฒนาการของมันเอง ไปจนถึงช่วงท้ายๆ ที่ภาพและจังหวะการ slow เปลี่ยนไป ตอนผมดูตอนแรกก็งงๆกับตอนจบนิดนึง มาดูอีกครั้งก็ไม่งงแล้ว เพราะหนังได้มีการอธิบายไว้ก่อนหน้านั้นนิดนึง พระเอกเคยพูดไว้ว่า คนเรามักจะอึดอัดเวลามีความลับ คนสมัยก่อนเลยหาที่ระบายโดยการหาต้นไม้ที่มีรูและกระซิบความลับผ่านรูนั้น ผมไม่รู้ว่าบทมันเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือมีผู้กำกับเกิดเปลี่ยนใจหรือเปล่า ตอนจบเปลี่ยนจากต้นไม้เป็นนครวัดเฉยเลย ซึ่งการตีความก็เปลี่ยนไปมากนะ เพราะนครวัด ผมมองว่ามันมีมนต์ขลังบางอย่าง เพราะมันเป็นสถานที่ไม่เหมือนต้นไม้ที่มีเกิด เติบโต ตาย แต่สถานที่ถ้ามันไม่ถูกทำลายมันก็ยังอยู่ตรงนั้นเป็นนิรันดร์กว่า และหลังจากพระเอกกระซิบเสร็จ ภาพก็ทำการถ่ายมุมกว้าง ให้เห็นนครวัดโดยรอบๆ (ผมเห็นฉากนี้ครั้งแรก คิดเลยนะว่า ที่ต้องใส่ฉากนี้เข้ามาเพราะ ไหนๆก็อุตส่าห์ยกกองมาถ่ายที่กัมพูชา จะให้ถ่ายแค่ 1-2 นาทีจบก็ใช่เรื่อง ต้องใช้งบให้คุ้มหน่อยโดยการถ่ายให้เห็นรอบๆบ้าง) คิดไปคิดมาชอบแหะ ฉากนี้มันเหมือนเสียงก้อง หรือเสียงสะท้อน คือเราไม่สามารถถ่ายเสียงได้ใช่ไหมละ ก็คงทำได้แค่เล่นกล้องเคลื่อนไหวไปมา ในทิศทางที่ค่อยๆถอยห่างไปเรื่อยๆ ก็สามารถตีความเหมือนเสียงก้องได้ ซึ่งเสียงก้องนี้มันเงียบ และค่อยๆจางหายไป ความลับที่กระซิบใส่รู มันก็จะเป็นความลับต่อไปจนนิรันดร์
เห็นว่า Wong Kar-wai ตอนถ่ายตั้งชื่อหนังเป็นภาษาจีนไว้แล้ว 花樣年華 (Hua Yang De Nian Hua) แปลว่า “the age of blossoms” หรือ “the flowery years” ทีความหมายถึง ความงาม ความรักและความเยาว์ที่ผ่านไป ซึ่งมาจากชื่อเพลงของ Zhou Xuan ในปี 1946 ซึ่งในหนังก็มีเพลงนี้เปิดด้วยนะครับตอนต้นเรื่องเลย ไปฟังกัน
ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ Wong ได้ฟังเพลง I’m in the Mood for Love แล้วชอบ เลยตั้งชื่อหนังจากเพลงนี้ ลองฟังเพลงนี้ดูนะครับ แต่งโดย Dorothy Fields ทำนองโดย Jimmy McHugh ปี 1935 ร้องโดย Louis Armstrong
Wong Kar-wai เปรียบเทียบ In the Mood for Love ว่าได้แรงบันดาลใจจาก Vertigo ของ Alfred Hitchcock และตัวละครของ Tony Leung ก็คล้ายกับ James Stewart ตรงที่ตัวละครทั้งสองต่างมีด้านมืดที่ไม่อยากแสดงออกมา แต่ด้วยความที่ทั้ง Tony และ James ต่างมีใบหน้าที่ innocent มาก คนดูมักจะไม่คิดว่าทั้งสองเป็นคนเลวอะไร แต่จริงๆแล้วข้างในของทั้งสองมีความกระหายที่รุนแรงมากๆ
ผมชอบหนังเรื่องนี้มากๆนะ ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นหนังเรื่องโปรดของผมด้วย เพราะผมทึ่งในเทคนิคการเล่าเรื่องมาก เราเห็นพระเอก เราเห็นนางเอก แต่เราไม่เป็นภรรยาพระเอก และไม่เห็นสามีนางเอง … คือทึ่งครับ หนังทำได้ไงเนี่ย ราวกับทั้งสองไม่มีตัวตนเลย ขนาดว่าเจ้าของบ้านยังมีฉากให้เห็นหน้า คือยังมีตัวตนในมุมมองของพวกเขา และจังหวะ slow-motion ที่ผมว่าเป็นหนังที่มีฉาก slow-motion ที่สวยงามที่สุดแล้ว และดนตรีประกอบที่ ใช่เลย มีแค่นี้แหละ เพลงเดียวเล่นวนทั้งเรื่อง คือเรื่องอะไรๆมันก็เจ๋งอ่ะ ตัวเนื้อเรื่องมันก็กระอักกระอ่วมมาก นางเอกก็สวยสง่า ชุดก็สวย เสื้อผ้าหน้าผม ไม่มีจังหวะโทรมๆให้เห็น พระเอกก็หล่อเนียบ หวีผมใส่เจลมันควับ สมบูรณ์มากๆ
อีกเหตุผลที่ผมชอบเรื่องนี้มากๆ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรมาแทรกสอดเลย ไม่มีการเมือง ไม่มีสงคราม หนังมีเรื่องราวเดียว มีเป้าหมายเดียว และองค์ประกอบอื่นๆก็เพื่อสนับสนุนทิศทางของหนังนั้น การจะคุมโทนไม่ให้หนังหลุดกรอบทำได้ยากทีเดียว แต่หนังได้สลัดทิ้งทุกอย่าง อะไรไม่จำเป็นเราก็จะไม่ได้เห็น อะไรที่ไม่มีความหมายก็ไม่ถูกใส่มา และจังหวะ มันช่างพิดีลงตัวมากๆ ความอึดอัดในหนังที่สมจริงมากๆ ส่วนหนึ่งคงมาจากความยาวนานในการถ่ายทำ ที่ว่ากันว่านักแสดงนำทั้งสองถึงจุด Break Point เลย (หนังถ่าย 15 เดือน) แต่ละฉากก็ถ่ายกันไม่ต่ำกว่า 30 เทค จะไม่ได้อารมณ์นั้นก็ให้มันรู้ไปสิ
หนังเรื่องนี้เหมือนจะ 18+ แต่คิดว่าไม่ใช่นะครับ คือชื่อเรื่องมันก็พาลให้คิด 18+ ได้ แค่ความ Erotic ของมันผมให้ประมาณ 13+ คือหนังมันมีบรรยากาศแบบนั้น แต่ไม่มีอะไรที่โจ่งแจ้งให้นี่เป็นหนังติดเรทได้ และหนังพูดถึงศีลธรรมด้วย ถึงมันจะไม่เด่นชัด แต่ผู้กำกับก็มีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องในกรอบ ถึงอารมณ์มันจะพาให้เราสามารถเตลิดไปไกล แต่หนังเองกลับไม่มีอะไรไปไกลกว่านั้น เพราะมันเป็นเพียงแค่ In a mood for Love
คำโปรย : “In a mood for Love หนังที่ดีที่สุดของ Wong Kar-Wai โดยการแสดงที่แสนอึดอัดจาก Tony Leung และ Maggie Cheung อารมณ์คุณจะเตลิดไปกับเรื่องราวความรักต้องห้ามผ่านการนำเสนอที่สวยงาม ภาพ เสียง องค์ประกอบ นักแสดง เสื้อผ้า หน้าผม จัดเต็ม สวยงามทุกกระเบียดนิ้ว”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply