In This Corner of the World (2016)
: Sunao Katabuchi ♥♥♥♥♡
ในมุมเล็กๆบนโลกใบนี้ หญิงสาวธรรมดาๆคนหนึ่ง วาดฝันถึงชีวิตที่เป็นสุข แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันจะเป็นไปได้ยังไง, คว้ารางวัลภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Japan Academy Prize “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น เชื่อว่าใครๆย่อมต้องรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Hiroshima-Nagasaki มันเป็นความทรมานทุกครั้งที่ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องราวลักษณะนี้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอะไรต้องเกิดขึ้น ความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน โศกเศร้า หนีไม่พ้นต้องนำเสนอด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ว่ามา แต่ความน่าสนเท่ห์อยู่ที่ ยังมีอะไรน่าสนใจหลงเหลือที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมาอยู่อีก
สำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่นเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไม่ย้อนนับอนิเมะแนว Propaganda สมัยสงครามโลก) คนส่วนใหญ่คงรู้จักสุสานหิ่งห้อย Grave of the Fireflies (1988) ผมจะแนะนำเพิ่มอีกเรื่องคือ Barefoot Gen (1983) มีโอกาสแล้วจะเขียนถึงสองเรื่องนี้แน่นอน
Kono Sekai no Katasumi ni ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนของ Fumiyo Kōno เขียนขึ้นระหว่างปี 2007 – 2009 ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Manga Action รวมทั้งหมด 3 เล่ม สามารถคว้ารางวัล Excellence Prize (ที่2) ในงาน Japan Media Arts Festival เมื่อปี 2009
Kōno เป็นชาว Hiroshima โดยกำเนิด เริ่มวาดการ์ตูนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม (เพราะครอบครัวไม่ชอบซื้อหนังสือการ์ตูนให้ เลยประชดกลายเป็นนักวาดเสียเลย) มีผลงานแรกเมื่อปี 1995 เรื่อง Machikado Hana Da yori (Street-corner tidings of flowers), สำหรับผลงานสร้างชื่อคือ Yuunagi no Maji, Sakura no Kuni (Town of Evening Calm, Country of Cherry Blossoms) เล่าเรื่องราวของ Hiroshima ผ่านสายตาผู้คนหลายยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน สามารถคว้ารางวัล Grand Prize จาก Japan Media Arts Festival ปี 2004 และ Creative Award จาก Tezuka Osamu Cultural Prize ปี 2005
‘ผู้คนนอก Hiroshima แทบไม่มีใครรู้เลยว่า ระเบิดปรมาณูในวันนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเราอย่างไร’ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Kōno เขียนมังงะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ Hiroshima ประหนึ่งเสมือนเป็นหน้าที่ของตนจะต้องเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้อื่นฟัง
เรื่องราวตามติดชีวิตของว่าที่เจ้าสาว Suzu Urano จาก Hiroshima กำลังจะแต่งงานกับ Houjou Shūsaku ย้ายไปอยู่กับครอบครัวใหม่ที่เมือง Kure ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, นำเสนอในมุมมองคนธรรมดาทั่วไป ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด หาทางมีชีวิตผ่านช่วงเวลายากลำบากของสงคราม
เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นโดย Sunao Katabuchi ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ถือว่าเป็นคนคร่ำหวอดในวงการอนิเมชั่นมานาน เคยทำงานในสตูดิโอจิบลีเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Kiki’s Delivery Service (1989) ออกมาแล้วมีผลงานกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Princess Arete (2001), Mai Mai Miracle (2009) และเคยกำกับอนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Black Lagoon (2006)
เมือง Kure เป็นท่าเรือและอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มักถูกโจมตีทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง ผิดกับ Hiroshima ที่แม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่กลับไม่ค่อยถูกโจมตีเท่าไหร่ (ยกเว้นครั้งนั้น ที่ถูกทิ้งระเบิดปรมาณู)
Katabuchi เลือกสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการนำเสนอภาพสงครามแบบเดิมๆ อยากเล่าเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป (Slice-Of-Life) ของคนธรรมดาๆที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการสงคราม
สำหรับทีมพากย์นำโดย Rena Nōnen ไอดอลสาวชื่อดัง ให้เสียง Suzu, เธอเป็นนักแสดงที่มีผลงานละครเช้าของ NHK เรื่อง Amachan (2013) โด่งดังกลายเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ผลงานการแสดงภาพยนตร์ อาทิ Confessions (2010), Hot Road (2014), Princess Jellyfish (2014) ฯ แต่ภายหลังมีปัญหาด้านสัญญากับต้นสังกัด หายหน้าไปจากวงการหลายปี กลับมาครั้งนี้ให้เสียงอนิเมชั่น In this Corner of the World ถือเป็นการพากย์เสียงอนิเมะครั้งแรกของเธอด้วย
Katabuchi กล่าวถึง ทันทีที่เห็น Nōnen ในบท Amachan ก็รู้ทันทีว่าต้องคนนี้แหละเสียง Suzu เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ที่ตัวเองไม่เคยรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ยังต้องอยู่อย่างเข้มแข็ง และสร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบข้างได้ด้วย
Suzu เป็นหญิงสาวเปิ่นๆ โก๊ะๆ เชื่องช้าแต่ใสซื่อบริสุทธิ์ ชื่นชอบจินตนาการเพ้อฝัน วาดรูปเก่ง แต่งานบ้านงานเรือนไม่เป็นเท่าไหร่, ความเรื่อยเปื่อยในชีวิตของ Suzu ไม่มีที่มาที่ไป ตั้งแต่เด็กก็เห็นเธอเป็นเช่นนั้นแล้ว สำหรับชายหนุ่มที่มาของเธอแต่งงาน บอกตามตรงผมจำเขาไม่ได้ (รู้สึกตัวเองเหมือน Suzu ไม่มีผิด) ถ้าไม่เพราะ Flashback ภาพย้อนอดีตช่วงท้ายที่หวนระลึกว่าทั้งสองเจอกันยังไง ก็คงป้ำๆเป๋อๆและสงสัยว่า กามเทพตนไหนที่ทำให้ทั้งสองมาเจอกัน
สำเนียงเหน่อๆของ Suzu ฟังค่อนข้างยากสำหรับคนที่พอเข้าใจภาษาญี่ปุ่น ผมเรียกสำเนียงคันไซนี้ว่า ‘สำเนียงคนแก่’ มันทำให้ตัวละครเหมือนหญิงชราที่ชอบพูดช้าๆยืดๆ (แต่หลายคนอาจรู้สึกตลก เพราะมันเหน่อ) ผมชอบเสียงพากย์สำเนียงแบบนี้นะ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ ไม่เคร่งเครียด เข้ากับบุคลิกของ Suzu เลยละ, ใครฟังญี่ปุ่นออกเชื่อว่าจะดูสนุกขึ้นประมาณ 30%
Houjou Shūsaku ให้เสียงโดย Yoshimasa Hosoya นักพากย์เสียงหนุ่มหล่อ มีผลงานดังอย่าง Arata Wataya จาก Chihayafuru, รุ่นพี่ Junpei Hyūga จาก Kuroko no Basketball, Reiner Braun จาก Shingeki no Kyojin
Shūsaku สามีของ Suzu เป็นคนเงียบๆชีวิตจืดชืดแสนธรรมดา รักสงบ มีความขยันขันแข็ง ช่วงหลังจับพลัดจับพลูต้องกลายเป็นทหาร ที่ไม่เข้ากับตัวเองแม้แต่น้อย, ตัวละครนี้ดูไม่มีอะไรโดดเด่น แต่คือคู่ขนานของ Suzu ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก แค่เปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย และบทบาททางสังคมที่ต่างกัน
Shūsaku ตกหลุมรัก Suzu คงเพราะหลงใหลในความเฉลียวฉลาดของเธอ และฝีมือการวาดรูปที่สร้างความประทับใจให้กับเขา แต่ก็เท่านั้นนะครับ ชีวิตรักของทั้งคู่ว่าไปก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่เป็นสัญลักษณะแทนความธรรมดาทั่วไปของคนในสังคม … ลองถามตัวเองสำหรับคนแต่งงานแล้ว ชีวิตของคุณมีอะไรตื่นเต้นเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่านับจากวันนั้น ก็แบบพวกเขาคู่นี้นะครับ
Kuromura Keiko ให้เสียงโดย Omi Minami นักพากย์หญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง บทส่วนใหญ่ที่ได้รับมักเป็นเด็กผู้ชาย หรือไม่ก็เด็กผู้หญิงที่มีบุคลิกโก๊ะๆ บทที่สร้างชื่อให้กับเธอคือ Ruri Hoshino จาก Martian Successor Nadesico
Keiko คือพี่สะใภ้ของ Suzu ที่มีความจริงจัง เข้มงวด งานบ้านงานฝีมือรวดเร็วเรียบร้อย อาจดูเย็นชาไปบ้าง เพราะชีวิตของเธอไม่สมหวังอะไรเลย มีความสุขแค่ชั่วครั้งคราวแล้วก็สูญเสียไป แต่ทุกอย่างเพราะเธอตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่นานนักก็สามารถทำใจเริ่มต้นใหม่ได้
เหมือนว่า Keiko จะไม่ชอบ Suzu ยิ่งแถมเกิดเหตุการณ์แบบนั้นด้วย แต่มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด, ผมค่อนข้างเห็นใจเธอนะ แต่ก็อดจะชื่นชมในความคิดไม่ได้ ‘ทุกสิ่งอย่างฉันเลือกเอง มันจึงไม่มีอะไรต้องเสียใจ’ ถือว่าตัวละครที่มีความเป็นตัวของตนเองอย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นได้เลย
Mizuhara Tetsu ให้เสียงโดย Daisuke Ono นักพากย์หนุ่มชื่อดัง ที่มีผลงานอย่าง Sebastian Michaelis จาก Black Butler, Jotaro Kujo จาก JoJo’s Bizarre Adventure: Stardust Crusaders, Shintarō Midorima จาก Kuroko no Basketball., Erwin Smith จาก Shingeki no Kyojin ฯ
Tetsu เป็นเพื่อนวัยเด็กของ Suzu ที่ต้องเคยแอบชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ยื้อยักชักช้าเล่นตัวจนเสียเธอไปให้คนอื่น, นิสัยของ Tetsu มุทะลุดุดันเอาแต่ใจ น้ำเสียงใหญ่แสดงถึงความใจกล้าบ้าบิ่น เต็มที่กับชีวิต สมัครเป็นทหารประจำการบนเรือ ครั้งหนึ่งขึ้นบกพบกับ Suzu ที่แต่งงานแล้ว คืนนั้นเธอสารภาพว่าเคยรักเขา แต่ตอนนี้อะไรๆมันสายเกินไปแล้ว
Suzu วาดภาพ ‘Sea Waves and White Rabbits’ ให้กับ Tetsu เป็นภาพที่สวยงามมากๆ มีลักษณะคล้าย Impressionist ใช้โทนสีอ่อน แทนคลื่นด้วยกระต่ายกำลังกระโดด เป็นจินตนาการที่บรรเจิดมาก (เปรียบได้เหมือนกับชีวิตที่กระโดดไปมาเรื่อยๆ บนผิวน้ำ ไม่สามารถหยุดได้เพราะจะจมลงไป)
ออกแบบตัวละคร (Character Design) และกำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Hidenori Matsubara ที่เคยมีผลงาน เป็น Key Animation ให้กับ Evangelion ฉบับฉายโรงภาพยนตร์, Perfect Blue (1997), Steamboy (2005) ฯ ออกแบบตัวละคร Sakura Wars, Ah! My Goddess ฯ
สำหรับตัวละคร เหมือนว่าพวกเขาจะดูตัวเล็กๆ (เพราะส่วนใหญ่จะเป็นภาพ Long Shot, Full Shot เห็นเต็มตัวตั้งแต่หัวถึงขา มีช็อต Close-Up ไม่เยอะเท่าไหร่) ที่ใช้การนำเสนอแบบนี้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยสงครามไม่ได้ยิ่งใหญ่สูงส่งอะไร ก็แค่คนธรรมดาเดินดินตัวเล็กๆเท่านั้น
ผมชอบมองดวงตาของตัวละคร มีขนตาเส้นเดียว เวลาเขินอายจะหลับตาปี๋เห็นเป็นเส้นสามเส้นโมเอะเหลือเกิน ถ้าเป็นอนิเมะทั่วๆไป มักจะแสดงกิริยาท่าทางออกมาอย่าง Over-Acting บิดไปบิดมา แต่เรื่องนี้เราจะเห็นความรู้สึกถ่ายทอดออกมาผ่านใบหน้าของตัวละคร (ใบหน้ามักจะหันเข้าหาผู้ชมเต็มๆเสมอ)
การเคลื่อนไหวของตัวละคร กับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการรับชมอนิเมชั่น น่าจะรู้สึกได้ว่ามันแปลกๆ (แต่รับชมไปสักพักไม่นานคงเริ่มชิน) ท่าเดิน ขยับแขนขาดูเทอะทะ เชื่องช้า ไม่ค่อยมีความลื่นไหลเสียเท่าไหร่ นั่นเพราะการออกแบบตัวละครลักษณะนี้ ได้จำกัดรูปแบบการเคลื่อนไหวพอสมควร (อาจเพราะงบไม่สูงด้วยส่วนหนึ่ง จึงทำออกมาลักษณะนี้) กระนั้นผมมองการเคลื่อนไหวแบบนี้ ให้สัมผัสถึงของความเก่า กลิ่นอาย Nostalgia ของอนิเมชั่นยุคเก่า ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับเรื่องนี้พอสมควร
การวาดตัวละครอ้างอิงมาจากมังงะล้วนๆ เพื่อเป็นการเคารพต้นฉบับ ซึ่งสไตล์การวาดของ Kōno มีลักษณะเป็น Impressionist ที่มีความสวยงามอย่างประณีตในทุกๆภาพ เก็บครบทุกรายละเอียด (พื้นหลังนำมาจากภาพถ่ายเก่าๆ ที่ยังคงหลงเหลือถึงปัจจุบัน)
เพลงประกอบโดย Kotringo [kotori=small birds, ringo=apple] ชื่อจริงคือ Rieko Miyosh นักร้อง นักแต่งเพลง และนักเปียโนสาวมากความสามารถ ผลงานมีทั้งออกอัลบัมของตนเอง และทำเพลงประกอบให้อนิเมชั่นเรื่อง Beck, เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Katabuchi มาแล้วครั้งหนึ่งจาก Mai Mai Miracle
เพลงเปิดของอนิเมชั่นเรื่องนี้ นำเอาบทเพลง Kanashikute Yarikirenai (เจ็บเกินจะทนทาน) ของวง The Folk Crusaders มาทำใหม่โดยใช้กีตาร์ไฟฟ้า เบส และเปียโน มีความร่วมสมัยและให้สัมผัสลงตัว เข้ากับงานภาพของหนัง
ลองฟังต้นฉบับ
เทียบกับบทเพลงที่ใช้ในอนิเมชั่น
ถึงจะเพลง/คำร้องเดียวกัน แต่ให้สัมผัสทางดนตรีต่างโดยสิ้นเชิง, ผมชอบทั้งสองฉบับนะครับ เป็นการตีความบทเพลงได้ร่วมสมัยมาก (คือฟังแล้วว่าเป็นดนตรียุคไหน) ซึ่งพอฟังจบจะเห็นภาพเดียวกัน คือความเจ็บปวดรวดร้าวของอดีต ที่ยากเกินจะทานทน
ส่วนเพลงประกอบอื่นๆ จะให้สัมผัสล่องลอย เคลิบเคลิ้ม หลงใหล คล้ายดอกแดนดิไลออน (Dandelion เป็นดอกในวงศ์ทานตะวัน) ที่หลุดจากรวงแล้วปลิวพัดหายไปกับสายลม
ในมุมเล็กๆบนโลกใบนี้ คนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน ต่างก็สามารถใช้ชีวิตมีความสุขได้ เพียงแค่ ‘มองโลกในแง่ดี’ จริงอยู่ชีวิตมันไม่ได้ง่าย หลายครั้งต้องทนทุกข์ลำบาก แต่ถ้าเรามีความสุขใจ ถึงกายจะทุกข์ก็สามารถทำให้เป็นสุขได้
ความสวยงามของอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือการที่ผู้ชมจะได้ทำความเข้าใจเรื่องราวของ Suzu มันคือ Slice-Of-Life ชีวิตประจำวันของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีพื้นหลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษย์เรายังต้องกิน นอน อาบน้ำ ไปทำงาน แต่งงาน พบเจอ พลัดพราก ฯ วิถีชีวิตปกติยังต้องดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพิ่มเติมคือความเครียด วิตกกังวล หวาดหวั่น ชีวิตไม่รู้สึกปลอดภัย ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
ความตายถือว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวมากๆ แต่มนุษย์เราในยุคสมัยแห่งสันติ มักไม่ค่อยที่จะครุ่นคิดถึงมรณานุสติเสียเท่าไหร่, อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ตักเตือนให้ผมระลึกถึง คนที่มีชีวิตผ่านยุคสมัยของสงคราม ทุกวินาทีของพวกเขาล้วนต้องครุ่นคิดถึงความตาย ทำอย่างไรถึงจะเอาตัวรอดมีชีวิตอยู่ ใครๆอาจมองว่ามันคือช่วงเวลาที่โหดร้ายเจ็บปวด แต่ผมมองว่านั่นเป็นช่วงเวลาพิสูจน์จิตใจของมนุษย์ ถ้าคุณสามารถยอมรับ ปรับตัว เข้าใจ เอาตัวรอดได้ มองโลกในแง่บวก ทัศนคตินี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต แต่กับคนที่หวาดหวั่นระแวง รับไม่ได้ ทุกข์ทรมาน หลังสงครามก็มักจะกลายเป็นโรคหดหู่ (Depression) ดังยุคสมัยหนึ่งของยุโรปและอเมริกาหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง มีชื่อเรียกว่า Great Depression แต่จะมีเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่แพ้สงครามก็จริง แต่กลับสามารถก้าวเดินพัฒนาประเทศ จนกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ (คิดว่าน่าจะ)ไม่มีช่วงเวลาให้ผู้คนในชาติตกอยู่ในสภาวะหดหู่แม้แต่น้อย
มันอาจจะมีช่วงเวลานั้นนะครับ แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ฟูมฟายเป็นเวลานาน พวกเขาสามารถรับรู้ได้เร็วว่า ชีวิตต้องดำเนินต่อไป จึงลุกขึ้นเช็ดน้ำตาแล้วก้าวเดินต่อ ไม่นั่งรอคอยพระอินทร์พระพรหม จะมาดลบันดาลอะไรให้ สองมือของพวกเขานี่แหละที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง
ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จากการระดมทุน (crowdfunding) ในเว็บ makuake เมื่อเดือนมีนาคม 2015 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ ¥20 ล้านเยน (ประมาณ 6 ล้านบาท) ปรากฎว่าแค่วันเดียวก็ทะลุเป้าแล้ว ครบกำหนดมีผู้สนับสนุน 3,374 คน ทำเงินได้ ¥39 ล้านเยน
หลังอนิเมชั่นจากฉายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ผู้สร้างได้ออกอีกแคมเปญหนึ่ง ‘To All Corner of the World’ ระดมทุนเพื่อส่งอนิเมชั่นไปฉายประเทศต่างๆทั่วโลก พร้อมเป็นค่าเดินทางของผู้กำกับและทีมงาน เป้าหมายอยู่ที่ ¥10 ล้านเยน สำเร็จได้ในเวลาเพียง 11 ชั่วโมง
ด้วยทุนสร้าง ¥250 ล้านเยน (= $2.2 ล้านเหรียญ) ทำเงินในญี่ปุ่นไปแล้ว ¥2 พันล้านเยน, เข้าชิง 3 รางวัล Japan Academy Prize กวาดเรียบ
– Excellent Animation of the Year
– Best Animation of the Year
– Outstanding Achievement in Music
นิตยสาร Kinema Junpo (นิตยสารภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น) จัดอันดับให้ In this Corner of the World เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอันดับ 1 แห่งปี 2016 ซึ่งไม่มีอนิเมชั่นเรื่องไหนทำได้มาตั้งแต่ My Neighbor Totoro (1989)
ส่วนตัวหลงรักอนิเมชั่นเรื่องนี้ ในความเรื่อยเปื่อยไร้เดียงสาของนางเอก คือเธอสามารถแปรสภาพความเครียดทั้งหลายให้กลายเป็นความสุขสันต์ ดูภาพยนตร์จบจึงรู้สึกอิ่มเอิบ ได้กำลังใจ มากกว่าเจ็บปวดเศร้าเสียใจ
อีกอย่างคือประทับใจใน direction ของอนิเมะอย่างมาก ถึงจะบอกว่ามีความเรื่อยเปื่อย แต่เตรียมการวางแผนนำเสนอมาอย่างสวยงาม ชอบมากๆตอนคลื่นกลายเป็นกระต่าย, ระเบิดกลายเป็นเหมือนพลุ สีสันสดใส, ภาพความจริงแปรสภาพเป็นรูปวาด และไฮไลท์คือตอน Suzu โดนระเบิด พื้นหลังสีดำภาพเป็นเส้นขาดๆหายๆในจินตนาการ ยอมรับยกย่องเลยว่า บรรเจิดจริงๆ
กับคนที่ไม่ใช่คออนิเมชั่นก็ขอแนะนำนะครับ วิธีการนำเสนอถือว่ามีความเป็นศิลปะค่อนข้างสูงทีเดียว และเรื่องราวแฝงข้อคิดการใช้ชีวิต ของคนมองโลกในแง่ดี ต่อให้ตกอยู่ในสถานการณ์ทุกข์ยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่มีวันทำให้พวกเขาทนทุกข์ซึมเศร้าเสียใจไปได้
แนะนำอย่างยิ่งกับนักประวัติศาสตร์ อนิเมชั่นเรื่องนี้มีสาระความรู้ประกอบหลายเรื่องทีเดียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น สำหรับผู้สนใจไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด
จัดเรต PG กับความรุนแรงโหดร้ายของสงคราม
Leave a Reply